ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 286อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 294อ่านอรรถกถา 31 / 362อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค
๒. ทิฐิกถา

หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

               อรรถกถาอัตตานุทิฏฐินิเทศ               
               (แสดงถึงอัตตานุทิฏฐิ)               
               พึงทราบวินิจฉัยในอัตตานุทิฏฐิดังต่อไปนี้.
               บทว่า อสฺสุตวา ปุถุชฺชโน (ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ) คือ ผู้ควรรู้ไม่ได้สดับ เพราะไม่มีการศึกษาเล่าเรียนและการบรรลุ. ผู้ที่ชื่อว่าไม่มีการศึกษา ทำการปฏิเสธอัตตานุทิฏฐิ เพราะปราศจากการเล่าเรียน การสอบถามและการวินิจฉัย ในขันธ์ ธาตุ อายตนะ สัจจะ ปัจจยาการและสติปัฏฐานเป็นต้น. และผู้ที่ชื่อว่าไม่บรรลุ เพราะไม่บรรลุข้อปฏิบัติที่ควรบรรลุ. ชื่อว่าเป็นไญยบุคคลผู้ไม่ได้สดับ เพราะไม่มีการศึกษาและการบรรลุ.
               จริงอยู่ บทว่า สุตํ (สดับแล้ว) คือ มีการศึกษาพุทธวจนะ และบรรลุด้วยการกล่าวถึงเหตุ เพราะมีสุตะเป็นผล ชื่อว่า สุตวา ผู้สดับเพราะมีสุตะนั้น ผู้ไม่มีสุตะ ชื่อว่าผู้ไม่ได้สดับ.
               บุคคลผู้ไม่ได้สดับนี้นั้น
                                   เป็นปุถุชนด้วยเหตุยังกิเลสหนาให้เกิดเป็นต้น
                         ชนนี้เป็นผู้ชื่อว่า มีกิเลสหนาเพราะเป็นผู้ยังกิเลสหนา
                         ให้เกิดขึ้นหยั่งลงถึงภายใน.
               จริงอยู่ ชนนั้นเป็นปุถุชนด้วยเหตุยังกิเลสเป็นต้นอันหนามีประการต่างๆ ให้เกิดขึ้น.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า๑- ชื่อว่าปุถุชน เพราะยังกิเลสหนาให้เกิดขึ้น, เพราะกำจัดสักกายทิฏฐิอันหนาไม่ได้, เพราะเห็นแก่หน้าของศาสดาทั้งหลายเป็นอันมาก, เพราะร้อยรัดไว้ด้วยคติต่างๆ เป็นอันมาก เพราะปรุงแต่งอภิสังขารต่างๆ มาก, เพราะถูกห้วงคือกิเลสต่างๆ มากพัดพาไป เพราะเดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนต่างๆ เป็นอันมาก, เพราะถูกความเร่าร้อนต่างๆ เป็นอันมากเผาผลาญ, เพราะกำหนัดอยากยินดี สยบ ซบ ติด คล้อง พัวพันในกามคุณ ๕ เป็นอันมาก, เพราะกั้น ล้อม ขัดขวาง ปิด ปกปิด ครอบด้วยนิวรณ์ ๕ เป็นอันมาก.
____________________________
๑- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๔๒๙

               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าปุถุชน เพราะเป็นชนมีความประพฤติธรรมต่ำหยั่งลงในภายใน มีการเบือนหน้าจากอริยธรรม จะเลยการนับครั้งที่หนึ่งเป็นอันมาก หรือเพราะชนนี้มากแยกพวกออกไปไม่สมาคมกับพระอริยะผู้ประกอบด้วยคุณมีศีลและสุตะเป็นต้น.
               ด้วยบท ๒ บทเหล่านี้ว่า อสฺสุตวา ปุถุชฺชโน ท่านกล่าวปุถุชน ๒ จำพวกว่า
                         พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ ตรัสถึง
                         ปุถุชนไว้ ๒ จำพวก คือ อันธปุถุชน ๑ กัลยาณปุถุชน ๑.
               ในปุถุชน ๒ จำพวกนั้น พึงทราบว่า ท่านกล่าวถึงอันธปุถุชน.
               บทว่า อริยา ในบทมีอาทิว่า อริยานํ อทสฺสาวี ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายและพระพุทธสาวกทั้งหลาย ท่านกล่าวว่าเป็นอริยะ ในที่นี้พระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้นเป็นอริยะ เพราะเป็นผู้ไกลจากกิเลส เพราะไม่ทรงนำไปในทางเสื่อม เพราะทรงนำไปในทางเจริญ เพราะยังโลกพร้อมด้วยเทวโลกให้พ้นทุกข์.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๒- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในโลกพร้อมด้วยเทวโลก ฯลฯ เรากล่าวว่า ตถาคตเป็นอริยะ.
____________________________
๒- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๗๐๘

               อนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกของพระตถาคต พึงทราบว่าเป็นสัตบุรุษ ในบทว่า สปฺปุริสา นี้.
               จริงอยู่ ท่านเหล่านั้นชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ เพราะเป็นบุรุษผู้งามด้วยการประกอบโลกุตรคุณ.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านเหล่านั้นทั้งหมด ท่านก็กล่าวไว้ทั้งสองอย่าง แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย แม้พระพุทธสาวกทั้งหลาย เป็นทั้งพระอริยะและเป็นทั้งสัตบุรุษ.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๓-
                                   ผู้ใดแลเป็นคนกตัญญูกตเวที เป็นนักปราชญ์
                         เป็นกัลยาณมิตร และเป็นผู้มีความภักดีมั่นคง ย่อมทำ
                         กิจของผู้ได้รับทุกข์โดยเคารพ นักปราชญ์ทั้งหลาย
                         ย่อมกล่าวถึงผู้เป็นอย่างนั้นว่า เป็นสัตบุรุษ.
____________________________
๓- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๒๔๖๖

               ในบทนี้ ท่านกล่าวพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าว่า เป็นผู้กตัญญูกตเวทีเป็นนักปราชญ์ ท่านกล่าวพระพุทธสาวกว่าเป็น กัลยาณมิตรและเป็นผู้มีความภักดีมั่นคง กล่าวพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ย่อมทำกิจของผู้ได้รับทุกข์โดยความเคารพ.
               บัดนี้ พึงทราบว่า ผู้ที่ปกติไม่เห็นพระอริยะเหล่านั้น และไม่ทำความดีในการเห็นว่า เป็นผู้ไม่เห็นพระอริยะทั้งหลาย.
               อนึ่ง ผู้นั้นมี ๒ อย่าง คือไม่เห็นด้วยจักษุ ๑ ไม่เห็นด้วยญาณ ๑.
               ใน ๒ อย่างนั้น ในที่นี้ท่านประสงค์เอาไม่เห็นด้วยญาณ.
               จริงอยู่ พระอริยะทั้งหลาย แม้เห็นด้วยมังสจักษุ หรือด้วยทิพยจักษุก็ไม่เป็นอันเห็น เพราะจักษุเหล่านั้นถือเอาเพียงสี เพราะไม่เป็นอารมณ์แห่งความเป็นอริยะ. เพราะว่า แม้สุนัขบ้านและสุนัขจิ้งจอกเป็นต้นก็เห็นพระอริยะด้วยจักษุ. ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่เห็นพระอริยะ. เพราะฉะนั้น การเห็นด้วยจักษุจึงไม่เป็นการเห็น การเห็นด้วยญาณเท่านั้นจึงเป็นการเห็น.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๔- ดูก่อนวักกลิ ประโยชน์อะไรด้วยการที่เธอเห็นกายอันเปื่อยเน่านี้. ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา.
____________________________
๔- สํ. ข. เล่ม ๑๗/ข้อ ๒๑๖

               เพราะฉะนั้น แม้เห็นด้วยจักษุก็มิได้เห็นด้วยลักษณะมีอนิจจลักษณะเป็นต้นที่พระอริยะเห็นแล้วด้วยญาณ และไม่บรรลุธรรมที่พระอริยะบรรลุแล้ว พึงทราบว่า ชื่อว่าไม่เห็นพระอริยะทั้งหลาย เพราะไม่เห็นความเป็นอริยะของธรรมอันทำให้เป็นอริยะ.
               บทว่า อริยธมฺมสฺส อโกวิโท ได้แก่ ไม่ฉลาดในธรรมของอริยะ คือไม่ฉลาดในอริยธรรม อันมีสติปัฏฐานเป็นต้น.
               อนึ่ง พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า อริยธมฺมสฺส อโกวิโท ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะนี้ดังต่อไปนี้
                                   ชื่อว่าวินัยมี ๒ อย่าง ในวินัย ๒ อย่างนี้ วินัย
                         ข้อหนึ่งๆ มี ๕ อย่าง เพราะไม่มีวินัยนั้น ท่านจึง
                         กล่าวว่าผู้นี้ไม่ได้รับแนะนำ.
               จริงอยู่ วินัยนี้มี ๒ อย่าง คือ สังวรวินัย ๑ ปหานวินัย ๑.
               ในวินัยแม้ ๒ อย่างนี้วินัยข้อหนึ่งๆ แบ่งเป็น ๕ อย่าง.
               แม้สังวรวินัยก็มี ๕ อย่าง คือ ศีลสังวร ๑ สติสังวร ๑ ญาณสังวร ๑ ขันติสังวร ๑ วีริยสังวร ๑.
               แม้ปหานวินัยก็มี ๕ อย่าง คือ ตทังคปหาน ๑ วิกขัมภนปหาน ๑ สมุจเฉทปหาน ๑ ปฏิปัสสัทธิปหาน ๑ นิสสรณปหาน ๑.
               ในสังวรวินัยนั้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ภิกษุเข้าถึง เข้าถึงพร้อมด้วยปาฏิโมกขสังวร๕- นี้ชื่อว่าศีลสังวร.
               ภิกษุรักษาจักขุนทร์ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์๖- นี้ชื่อว่าสติสังวร.
                         สติเป็นเครื่องกั้นกระแสในโลก เรากล่าวสติว่า
                         เป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านั้น
                         ย่อมปิดได้ด้วยปัญญา.๗-
               นี้ชื่อว่าญาณสังวร.
               เป็นผู้อดทนต่อหนาวและร้อน๘- นี้ชื่อว่าขันติสังวร.
               ไม่ให้กามวิตกที่เกิดขึ้นแล้วทับถมได้๙- นี้ชื่อว่าวีริยสังวร.
____________________________
๕- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๐๒  ๖- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๑๒๒
๗- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๒๕  ขุ. จูฬ. เล่ม ๓๐/ข้อ ๗๕
๘- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๕  ๙- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๗

               สังวรแม้ทั้งหมดนี้ ท่านกล่าวว่า สํวร เพราะสำรวมกายทุจริตเป็นต้นที่ควรสำรวม และที่ควรกำจัดออกไปตามหน้าที่ของตน. ท่านกล่าวว่าวินัย เพราะกำจัดออกไป.
               พึงทราบสังวรวินัยแบ่งออกเป็น ๕ ส่วนด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง การละสิ่งไม่เป็นประโยชน์นั้นๆ ด้วยวิปัสสนาญาณนั้นๆ เพราะเป็นปฏิปักษ์ในวิปัสสนาญาณมีกำหนดนามรูปเป็นต้น ดุจละความมืดด้วยแสงประทีปฉะนั้น เช่นการละสักกกายทิฏฐิด้วยกำหนดนามรูป ละความเห็นว่าไม่มีเหตุและเป็นเหตุลุ่มๆ ดอนๆ ด้วยกำหนดปัจจัย ละความสงสัยด้วยข้ามพ้นความสงสัย ละการถือว่าเป็นเรา เป็นของเราด้วยพิจารณาเป็นกองๆ ละความสำคัญในสิ่งไม่ใช่มรรคว่าเป็นมรรค ด้วยกำหนดมรรคและมิใช่มรรค ละอุจเฉททิฏฐิด้วยเห็นความเกิด ละลัสสตทิฏฐิด้วยเห็นความเสื่อม ละความสำคัญในสิ่งมีภัยว่าไม่มีภัย ด้วยการเห็นภัย ละความสำคัญในสิ่งที่น่าพอใจด้วยการเห็นโทษ ละความสำคัญในสิ่งที่น่ายินดีด้วยการพิจารณาเห็นความเบื่อหน่าย ละความใคร่ในอันที่จะไม่พ้นไป ด้วยญาณคือความใคร่ในอันที่จะพ้นไป ละความไม่วางเฉยด้วยอุเบกขาญาณ ละความโต้แย้งต่อสิ่งที่ตั้งอยู่โดยธรรมและโต้แย้งนิพพาน ด้วยอนุโลมญาณ (กำหนดรู้ด้วยการคล้อยตาม) ละความยึดถือในนิมิตสังขาร ด้วยโคตรภูญาณ (ญาณข้ามพ้นโคตรปุถุชน) นี้ชื่อว่าตทังคปหาน.
               การละธรรมมีนิวรณ์เป็นต้นเหล่านั้นๆ เพราะป้องกันความเป็นไปด้วยสมาธิอันเป็นอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ดุจทำลายสาหร่ายบนหลังน้ำด้วยการเกลี่ยให้กระจายไป นี้ชื่อว่าวิกขัมภนปหาน.
               การละความยึดถือกิเลสอันเป็นฝ่ายแห่งสมุทัยที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า๑๐- เพื่อละทิฏฐิทั้งหลายในสันดานของตนๆ โดยมรรคนั้นๆ เพราะเจริญอริยมรรค ๔ แล้วโดยความไม่ให้เป็นไปอีกต่อไป นี้ชื่อว่าสมุจเฉทปหาน.
____________________________
๑๐- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๑๙๖

               ความที่กิเลสทั้งหลายสงบ ในขณะแห่งผล นี้ชื่อว่าปฏิปัสสัทธิปหาน.
               การดับอันเป็นการละเครื่องปรุงแต่งทั้งหมด เพราะสลัดเครื่องปรุงแต่งทั้งหมดได้แล้ว นี้ชื่อว่านิสสรณปหาน.
               ก็ปหานทั้งหมดนี้ชื่อว่าปหาน เพราะอรรถว่าสละ. ชื่อว่าวินัย เพราะอรรถว่าแนะนำให้วิเศษ ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าปหานวินัย.
               อีกอย่างหนึ่ง ปหานนี้เรียกว่าปหานวินัย เพราะละอกุสลนั้นๆ เพราะมีวินัยนั้นๆ.
               แม้ปหานวินัยพึงทราบว่าแบ่งออกเป็น ๕ อย่าง ด้วยประการฉะนี้.
               วินัยนี้โดยสังเขปมี ๒ อย่างอย่างนี้ และโดยประเภทมี ๑๐ อย่างไม่มีแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับนี้ เพราะขาดสังวรและเพราะไม่ละสิ่งที่ควรละ ฉะนั้นปุถุชนนี้ท่านจึงกล่าวว่าไม่ได้รับแนะนำ เพราะไม่มีวินัยนั้น.
               แม้ในบทว่า สปฺปุริสานํ อทสฺสาวี สปฺปุริสธมฺมสฺส อโกวิโท สปฺปุริสธมฺเม อวินีโต ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของสัตบุรุษนี้ก็มีนัยนี้. โดยความบทนี้ ไม่มีเหตุต่างกันเลย.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               ผู้ใดเป็นอริยะ ผู้นั้นเป็นสัตบุรุษ. ผู้ใดเป็นสัตบุรุษผู้นั้นเป็นอริยะ. ธรรมใดของพระอริยะ ธรรมนั้นของสัตบุรุษ. ธรรมใดของสัตบุรุษ ธรรมนั้นของพระอริยะ. วินัยใดเป็นวินัยของพระอริยะ วินัยนั้นเป็นวินัยของสัตบุรุษ. วินัยใดเป็นวินัยของสัตบุรุษ วินัยนั้นเป็นวินัยของพระอริยะ.
               รวมความว่า อริยะก็ดี สัตบุรุษก็ดี ธรรมของอริยะก็ดี ธรรมของสัตบุรุษก็ดี วินัยของอริยะก็ดี วินัยของสัตบุรุษก็ดีเหล่านั้นเป็นอันเดียวกัน ตั้งอยู่ในที่เดียวกันเสมอกัน เสมอภาคกัน เกิดในที่นั้นเหมือนกันด้วยประการฉะนี้.
               ก็เพราะเหตุไร พระเถระจึงถามว่า อัตตานุทิฏฐิมีความเห็นผิดด้วยอาการ ๒๐ เป็นไฉน แล้วไม่แก้คำถามนั้นกลับอ้างถึงปุถุชนอย่างนี้ว่า ปุถุชนในโลกนี้ไม่ได้สดับดังนี้.
               พึงทราบว่า พระเถระเพื่อจะทำความนั้นให้แจ่มแจ้งด้วยเทศนาอันเป็นบุคลาธิษฐาน จึงอ้างถึงปุถุชนก่อน.
               พระเถระครั้นอ้างถึงปุถุชนอย่างนี้แล้ว บัดนี้เมื่อจะแสดงถึงอุเทศแห่งการถือผิด จึงกล่าวคำมีอาทิว่า รูปํ อตฺตโต สมนุปสฺสติ ปุถุชนย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตนดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทนั้นดังต่อไปนี้.
               บทว่า รูปํ อตฺตโต สมนุปสฺสติ ความว่า ย่อมเห็นรูปขันธ์และกสิณรูปโดยเห็นด้วยทิฏฐิว่าเป็นตัวตน. แต่ในนิเทศพึงทราบว่า ท่านมิได้กล่าวถึงรูปนั้นว่า การถือผิดในรูปขันธ์ของปุถุชนนั้นปรากฏเพราะอธิการแห่งเบญจขันธ์ แล้วกล่าวถึงกสิณรูปโดยเป็นสามัญว่า รูป.
               บทว่า รูปวนฺตํ วา อตฺตานํ (เห็นตนว่ามีรูป) คือถือสิ่งไม่มีรูปว่าตัวตน แล้วเห็นตนนั้นว่ามีรูป.
               บทว่า อตฺตนิ วา รูปํ (เห็นรูปในตน) คือถือสิ่งไม่มีรูปนั่นแลว่าตัวตน แล้วเห็นรูปในตนนั้น.
               บทว่า รูปสฺมึ วา อตฺตานํ (เห็นตนในรูป) คือถือสิ่งไม่มีรูปนั่นแลว่าตัวตน แล้วเห็นตนนั้นในรูป.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า รูปํ อตฺตโต สมนุปสฺสติ เป็นรูปอย่างเดียว ท่านกล่าวว่าเป็นตัวตน. สิ่งไม่ใช่รูปในฐานะ ๗ เหล่านี้ คือ เห็นตนว่ามีรูป ๑ เห็นรูปในตน ๑ เห็นตนในรูป ๑ เห็นเวทนา ๑ สัญญา ๑ สังขาร ๑ วิญญาณ ๑ โดยความเป็นตน ท่านกล่าวว่าเป็นตัวตน.
               ท่านกล่าวถึงตัวตนปนด้วยรูปและอรูปในฐานะ ๑๒ อย่างด้วยอำนาจแห่งเวทนา ๓ ในขันธ์ ๔ อย่างนี้ว่า เห็นตนว่ามีเวทนา เห็นเวทนาในตน เห็นตนในเวทนา.
               อนึ่ง ทิฏฐิแม้ ๒๐ เหล่านั้น ห้ามมรรค ไม่ห้ามสวรรค์ ทำลายเสียด้วยโสดาปัตติมรรค.
               บัดนี้ พระเถระเมื่อจะชี้แจงถึงรูปนั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า กถํ รูปํ เห็นรูปโดยความเป็นตนอย่างไร.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปฐวีกสิณํ ได้แก่ ปฐวีกสิณอันเป็นปฏิภาคนิมิตให้เกิดขึ้นเพราะอาศัยปฐวีมณฑล โดยการแผ่ไปทั่ว.
               บทว่า อหํ ท่านหมายถึงตนนั่นเอง.
               บทว่า อตฺตํ คือ ตน.
               บทว่า อทวยํ ไม่เป็นสอง คือหนึ่งนั่นเอง.
               บทว่า เตลปฺปทีปสฺส คือ ประทีปมีน้ำมัน.
               บทว่า ฌายโต คือ ลุกโพลงอยู่.
               บทมีอาทิว่า ยา อจฺฉิ โส วณฺโณ เปลวไปอันใดแสงสว่างก็อันนั้น ท่านกล่าวเพราะปราศจากเปลวไฟเสียแล้วก็ไม่มีแสงสว่าง.
               บทว่า ยา จ ทิฏฺฐิ ยญฺจ วตฺถุ ทิฏฐิและวัตถุ. อธิบายว่า ท่านทำทั้งสองอย่างนั้นรวมกันแล้วกล่าวว่า อัตตานุทิฏฐิมีรูปเป็นวัตถุ.
               อาโปกสิณเป็นต้น เป็นกสิณนิมิตเกิดขึ้นเพราะอาศัยน้ำเป็นต้น.
               อนึ่ง อากาศกสิณที่กำหนดไว้ แม้เป็นอารมณ์แห่งรูปฌาน เมื่อท่านกล่าวว่าเป็นอากาศกสิณ เป็นอันระคนแล้วด้วยอารมณ์แห่งอรูปฌาน อันเป็นกสิณุคฆาฏิมากาศ เพราะเหตุนั้นพึงทราบว่า ท่านจึงไม่ถือเอา. เพราะอธิการแห่งรูปจึงไม่ควรถือเอาวิญญาณกสิณโดยแท้ฉะนี้แล.
               บทว่า อิเธกจฺโจ เวทนํ สญฺญํ สงฺขาเร วิญฺญาณํ อตฺตโต สมนุปสฺสติ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นตน ท่านไม่แยกขันธ์ ๔ แล้วกล่าวด้วยสามารถการถือรวมกัน.
               จริงอยู่ เพราะไม่สามารถแยกจิตและเจตสิกไว้ต่างหากกันได้ จึงทำขันธ์ทั้งหมดรวมกันแล้วถือเอาว่าเป็นตัวตน.
               ในบทว่า อิมินา รูเปน รูปวา มีรูปด้วยรูปนี้ ย่อมได้สรีรรูปบ้าง กสิณรูปบ้าง.
               บทว่า ฉายาสมฺปนฺโน (ต้นไม้มีเงา) คือต้นไม้ไม่งอกงามถึงพร้อมด้วยเงา.
               ศัพท์ว่า เอน ในบทนี้ว่า ตเมน เป็นเพียงนิบาต เป็น ตเมตํ บ้าง.
               บทว่า ฉายาว คือมีเงา. ท่านกล่าวว่า อัตตานุทิฏฐิมีรูปเป็นวัตถุ เพราะแม้เมื่อไม่ถือว่ารูปเป็นตัวตนก็ไม่ปล่อยรูป จึงเกิดขึ้นด้วยทิฏฐิ.
               บทว่า อตฺตนิ รูปํ สมนุปสฺสติ คือเห็นรูปนั้นในตนอันเป็นกองแห่งอรูปนั้น เพราะสรีรรูปและกสิณรูปอาศัยจิต.
               บทว่า อยํ คนฺโธ นี้กลิ่นหอม กล่าวถึงกลิ่นที่สูดเข้าไป.
               บทว่า อิมสมึ ปุปเผ ในดอกไม้นี้ กล่าวอย่างนี้เพราะกลิ่นหอมอาศัยดอกไม้.
               บทว่า รูปสฺมึ อตฺตานํ สมนุปสฺสติ เห็นตนในรูป คือรูปไป ณ ที่ใด จิตย่อมไป ณ ที่นั้น. เพราะฉะนั้นยึดจิตอาศัยรูปแล้ว เห็นตนอันเป็นกองอรูปนั้น ในรูปนั้น. ท่านกล่าวถึงหีบรองรับของหยาบ เพราะรูปเป็นของหยาบ.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า อิเธกจฺโจ จกฺขุสมฺผสฺสชํ เวทนํ (บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมเห็นจักขุสัมผัสสชาเวทนา)
               ความว่า แม้เมื่อไม่มีการยึดถือทิฏฐิในเวทนาต่างหากกัน ก็ยึดถือโดยถือเป็นอันเดียวกันว่า เวทนา เพราะเวทนาทั้งปวงหยั่งลงในภายใน จึงเป็นอันถือเอาต่างหากกัน เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่า ท่านประกอบไว้ต่างหากกัน. เพราะปุถุชนนั้นย่อมถือเวทนานั่นแลว่าเป็นตัวตน เพราะเวทนาเป็นของหยาบด้วยอำนาจการเสวย.
               บทว่า สญฺญํ สงฺขาเร วิญฺญาณํ รูปํ อตฺตโต สมนุปสฺสติ ปุถุชนย่อมเห็น สัญญา สังขาร วิญญาณ รูป โดยความเป็นตน.
               ความว่า ทำอรูปธรรม มีสัญญาเป็นต้น และรูปรวมกันแล้วเห็นว่าเป็นตัวตน เพราะปุถุชนย่อมถือตามที่ปรากฏ ดุจคนบ้าฉะนั้น.
               ในบทมีอาทิว่า จกฺขุสมฺผสฺสชํ สญฺญํ มีอธิบายว่า ปุถุชนย่อมถือสัญญาว่าเป็นตัวตน เพราะสัญญาปรากฏ ด้วยอำนาจแห่งการรู้พร้อม.
               บทที่เหลือพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในเวทนา.
               ในบทมีอาทิว่า จกฺขุสมฺผสฺสชํ เจตนํ มีอธิบายว่า ท่านแสดงถึงเจตนาเท่านั้น เพราะเจตนาเป็นประธานและปรากฏในธรรมทั้งหลาย อันเนื่องด้วยสังขารขันธ์. แม้ขันธ์นอกนี้ก็เป็นอันว่าท่านแสดงด้วยเจตนานั้น. ส่วนปุถุชนนั้นย่อมถือเจตนาว่าเป็นตัวตน เพราะปรากฏด้วยความเป็นเจตสิก.
               บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ในบทมีอาทิว่า จกฺขุวิญฺญาณํ มีอธิบายว่า ปุถุชนย่อมถือจิตว่าเป็นตัวตน เพราะจิตปรากฏด้วยอำนาจแห่งการรู้แจ้ง.
               บทที่เหลือแม้ในที่นี้ก็มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               จบอรรถกถาอัตตานุทิฏฐินิเทศ               

               อรรถกถามิจฉาทิฏฐินิเทศ               
               มิจฉาทิฏฐิมีเนื้อความดังได้กล่าวไว้แล้วในหนหลัง แต่พึงทราบนัยอื่นดังต่อไปนี้.
               บทว่า นตฺถิ ทินฺนํ ทานที่ให้แล้วไม่มีผล คือปฏิเสธผลของทาน เพราะเป็นอุจเฉททิฏฐิ.
               บทว่า ยิฏฺฐํ การบูชายัญในบทว่า นตฺถิ ยิฏฺฐํ ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มีผลนี้เป็นยัญเล็กน้อย.
               บทว่า หุตํ เซ่นสรวงเป็นมหายัญ. ปฏิเสธผลของยัญทั้งสอง.
               บทว่า นตฺถิ สุกฏทุกฺกฏานํ กมฺมานํ ผลํ วิปาโก ผลวิบากแห่งกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วไม่มี คือปฏิเสธผลแห่งบุญกรรม มีศีลเป็นต้น เพราะปฏิเสธผลแห่งทาน ปฏิเสธผลแห่งบาปกรรมมีปาณาติบาตเป็นต้น.
               บทว่า นตฺถิ อยํ โลโก โลกนี้ไม่มี คือด้วยกรรมที่ทำไว้ในก่อน.
               บทว่า นตฺถิ ปโร โลโก โลกหน้าไม่มี คือด้วยกรรมที่ทำไว้ในโลกนี้.
               บทว่า นตฺถิ มาตา นตฺถิ ปิตา มารดาไม่มี บิดาไม่มี คือปฏิเสธผลของกรรมที่ทำไว้ในมารดาบิดาเหล่านั้น.
               บทว่า นตฺถิ สตฺตา โอปปาติกา สัตว์ผู้ผุดขึ้นก็ไม่มี คือปฏิเสธการผุดขึ้นอันมีกรรมเป็นเหตุ.
               บทว่า นตฺถิ โลเก สมณพฺราหฺมณา ฯลฯ ปเวเทนฺติ สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง แล้วสั่งสอนประชุมชนให้รู้ตาม ไม่มีในโลก คือปฏิเสธปฏิปทาในการได้อภิญญา เพื่อเห็นในโลกนี้และโลกหน้า.
               แต่ในบาลีนี้ บทว่า นตฺถิ ทินฺนํ ได้แก่ วัตถุ คือทานที่ท่านกล่าวว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล. อธิบายว่า วัตถุแห่งทิฏฐินั้น.
               บทว่า เอวํวาโท มิจฺฉา วาทะอย่างนี้ผิด คือวาทะคำพูดว่าทานที่ให้แล้วไม่มีผลอย่างนี้ผิดคือวิปริต.
               จบอรรถกถามิจฉาทิฏฐินิเทศ               

               อรรถกถาสักกายทิฏฐินิเทศ               
               บทว่า สกฺกายทิฏฺฐิ คือ อัตตานุทิฏฐินั่นเอง.
               พึงทราบว่า ท่านกล่าวไว้เพื่อแสดงคำโดยปริยายอันมาแล้วในที่อื่น.
               จบอรรถกถาสักกายทิฏฐินิเทศ               

               อรรถกถาสัสสตทิฏฐินิเทศ               
               บทว่า สกฺกายวตฺถุกาย สสฺสตทิฏฺฐิยา สัสสตทิฏฐิมีสักกายะเป็นวัตถุ เป็นกัมมธารยสมาส.
               พึงเชื่อมบทว่า สมนุปสฺสติ ย่อมเห็นไว้ในท้ายคำ ๑๕ คำมีอาทิว่า รูปวนฺตํ วา อตฺตานํ. เพราะจะได้ไม่ลืมตัวด้วยอย่างอื่น ทิฏฐิที่เหลือ ๑๔ อย่าง แสดงย่อไว้เป็นอย่างเดียวกันว่า รูปวนฺตํ วา อตฺตานํ สมนุปสฺสติ เห็นตนว่ามีรูปด้วยประการฉะนี้.
               จบอรรถกถาสัสสตทิฏฐินิเทศ               

               อรรถกถาอุจเฉททิฏฐินิเทศ               
               บทว่า สกฺกายวตฺถุกาย อุจฺเฉททิฏฺฐิยา อุจเฉททิฏฐิมิสักกายะเป็นวัตถุ คือทิฏฐิที่เหลือ ๔ อย่าง แสดงย่อไว้เป็นอย่างเดียวกันว่า เห็นรูปโดยความเป็นตน ด้วยประการฉะนี้.
               จบอรรถกถาอุจเฉททิฏฐินิเทศ               

               อรรถกถาอันตคาหิกทิฏฐินิเทศ               
               บทว่า อนฺตคาหิกาย ทิฏฺฐิยา ทิฏฐิอันถือเอาที่สุด เป็นการถามตามอาการในวาระที่หนึ่ง ถือเอาตามอาการในวาระที่สอง กล่าวแก้อาการในวาระที่สาม.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า โลโก คือ ตัวตน.
               บทว่า โส อนฺโต โลกนั้นมีที่สุด คือในที่สุดของความเที่ยงและความสูญอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ที่สุดของความเที่ยง ในการถือว่าเที่ยงที่สุดของความสูญในการถือว่าไม่เทียง.
               บทว่า ปริตฺตํ โอกาสํ สู่โอกาสนิดหน่อย คือสู่ที่เล็กน้อยเพียงกระด้งหรือชาม.
               บทว่า นีลกโต ผรติ ทำสีเขียวแผ่ไป คือเป็นอารมณ์ว่าสีเขียว.
               บทว่า อยํ โลโก โลกนี้ ท่านกล่าวหมายถึงตน.
               บทว่า ปริวฏุโม โลกกลม คือ มีกำหนดไว้โดยรอบ.
               บทว่า อนฺตสญฺญี คือ มีความสำคัญว่ามีที่สุด.
               บทว่า ยํ ผรติ คือ กสิณรูปแผ่ไป.
               บทว่า ตํวตฺถุ เจว โลโก จ วัตถุและโลก คือกสิณรูปนั้นเป็นอารมณ์และโลก้วยอรรถว่าพึงแลดู.
               บทว่า เยน ผรติ คือแผ่ไปด้วยจิต.
               บทว่า โส อตฺตา เจว โลโก จ ได้แก่ ตนและโลกทำให้เป็นปุลิงค์เพราะเพ่งตน.
               ท่านอธิบายว่า ตนนั่นแล คือจิตและชื่อว่าโลก เพราะอรรถว่าพึงมองดู.
               บทว่า อนฺตวา คือ มีที่สุด.
               บทว่า โอภาสกโต ผรติ ทำแสงสว่างแผ่ไป คือแสงสว่างด้วยอาโลกกสิณ เตโชกสิณหรือโอทาตกสิณแผ่ไป. เพราะยึดกสิณมีแสงสว่าง ๕ ชนิด มีนีลกสิณเป็นต้น จึงควรถือว่าไม่มีการถือผิดตนด้วยอำนาจปฐวีกสิณ อาโปกสิณและวาโยกสิณ.
               บทว่า วิปุลํ โอภาสํ สู่โอภาสอันกว้าง คือสู่ที่ใหญ่โดยมีประมาณบริเวณลานเป็นต้น.
               บทว่า อนนฺตวา ไม่มีที่สุด คือไม่มีที่สุดกว้างขวาง.
               บทว่า อปริยนฺโต หาที่สุดมิได้ คือหาที่สุดอันกว้างขวางมิได้.
               บทว่า อนนฺตสญฺญี คือ มีความสำคัญว่าโลกไม่มีที่สุด.
               บทว่า ตํ ชีวํ คือชีพอันนั้น.
               อนึ่ง บทว่า ชีโว คือตัวตนนั้นเอง.
               แม้ขันธ์ ๕ มีรูปขันธ์เป็นต้น ก็ชื่อว่าสรีระ เพราะอรรถว่ามีความหมุนไป.
               บทว่า ชีวํ น สรีรํ ชีพไม่ใช่สรีระ คือชีพได้แก่ตน ไม่ใช่สรีระอันได้แก่รูป.
               ในเวทนาเป็นต้นก็มีนัยนี้.
               บทว่า ตถาคโต คือ สัตว์. อาจารย์พวกหนึ่งหล่าวว่า พระอรหันต์.
               บทว่า ปรมฺมรณา เบื้องหน้าแต่ตาย คือในโลกอื่น.
               บทว่า รูปํ อิเธว มรณธมฺมํ รูปมีความตายเป็นธรรมดาในโลกนี้แหละ คือการถือเบญจขันธ์ โดยหัวข้อของขันธ์ที่ปรากฏแก่ตน. อธิบายว่า รูปนั้นปกติสูญหายไปในโลกนี้แหละ.
               แม้ในขันธ์ที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า กายสฺส เภทา แต่กายแตก คือเบื้องหน้าแต่กายคือขันธ ๕ แตก. ท่านกล่าวความของอุเทศนี้ว่า ปรมฺมรณา เบื้องหน้าแต่ตายด้วยคำนี้.
               บทว่า โหติ ในบทมีอาทิว่า โหติปิ เป็นอยู่บ้าง เป็นบทหลัก.
               อปิศัพท์ แม้ในบททั้ง ๔ เป็นสมุจจยัตถะมีความรวม.
               บทว่า ติฏฺฐติ คือ คงอยู่ เพราะเป็นของเที่ยง. อธิบายว่า ไม่จุติ.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่า ท่านกล่าวบทว่า ติฏฺฐติ เพื่อความต่างแห่งความของบทว่า โหติ.
               บทว่า อุปฺปชฺชติ อุบัติขึ้น คืออุบัติขึ้นด้วยเข้าไปสู่กำเนิดที่เป็นอัณฑชะ (เกิดแต่ไข่) และชลาพุชะ (เกิดแต่น้ำ).
               บทว่า นิพฺพตฺติ เกิด คือเกิดด้วยเข้าไปสู่กำเนิดที่เป็นสังเสทชะ (เกิดแต่เหงื่อไคล) โอปปาติกะ (ผุดเกิดขึ้น).
               พึงทราบการประกอบความดังนี้แล.
               บทว่า อุจฺฉิชฺชติ ย่อมขาดสูญ คือด้วยไม่มีการเกี่ยวเนื่องกัน.
               บทว่า วินสฺสติ ย่อมพินาศไป คือด้วยการแตกทำลายไป.
               บทว่า น โหติ ปรมฺมรณา เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก เป็นการขยายความของบทก่อน. อธิบายว่า เบื้องหน้าแต่จุติแล้ว ย่อมไม่เป็นอีก.
               บทว่า โหติ จ น จ โหติ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็มี ไม่เป็นอีกก็มี เป็นทิฏฐิของพวกถือว่า เที่ยงบางอย่าง ความย่อมเป็นโดยปริยายเดียว ไม่เป็นโดยปริยายเดียว. ท่านอธิบายว่า ย่อมเป็นเพราะความเป็นชีพ ไม่เป็นเพราะไม่มีชีพมาก่อน.
               บทว่า เนว โหติ น น โหติ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ เป็นทิฏฐิของพวกอมราวิกเขปิกา (ทิฏฐิซัดส่ายไม่ตายตัว).
               อธิบายว่า มีก็หามิได้ ไม่มีก็หามิได้ ย่อมทำเพียงปฏิเสธนัยที่ท่านกล่าวไว้ก่อน เพราะกลัวถูกติเตียนและเพราะกลัวพูดเท็จ เพราะความมีปัญญาอ่อนและเพราะความงมงาย.
               บทว่า อิเมหิ ปญฺญาสาย อากาเรหิ ด้วยอาการ ๕๐ เหล่านี้ คือด้วยอาการ ๕๐ ด้วยสามารถแห่งหมวด ๕ หมวดละ ๑๐ ตามที่กล่าวแล้ว.
               จบอรรถกถาอันตคาหิกทิฏฐินิเทศ               

               อรรถกถาปุพพันตานุทิฏฐินิเทศ               
               เจ้าทิฏฐิชื่อว่าสัสสตวาทะ เพราะกล่าวถึงความเที่ยงในปุพพันตานุทิฏฐิ (ความตามเห็นขันธ์ในส่วนอดีต) และอปรันตานุทิฏฐิ (ความตามเห็นขันธ์ส่วนอนาคต).
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวาทะ เป็นเหตุกล่าว.
               บทนี้เป็นชื่อของเจ้าทิฏฐิ.
               แม้วาทะว่าเที่ยง ก็ชื่อว่าสสัสตะ เพราะประกอบด้วยสัสสตทิฏฐิ. ชื่อว่าสัสสตวาทะ เพราะมีวาทะว่าเที่ยง.
               อนึ่ง วาทะว่าเที่ยงเป็นบางอย่างชื่อว่าเอกัจจสัสสตะ. ชื่อว่าเอกัจจสัสสติกา เพราะมีทิฏฐิว่า เที่ยงเป็นบางอย่างนั้น.
               อนึ่ง วาทะเป็นไปว่า โลกมีที่สุด ไม่มีที่สุด ทั้งมีที่สุดทั้งไม่มีที่สุด มีที่สุดก็หามิได้ ไม่มีที่สุดก็หามิได้ ชื่อว่าอันตานันตะ. ชื่อว่าอันตานันติกา เพราะมีทิฏฐิว่าโลกมีที่สุดและไม่มีที่สุด.
               ชื่อว่าอมรา เพราะไม่ตาย. อะไรไม่ตาย. ทิฏฐิและวาจาของเจ้าทิฏฐิผู้ปราศจากที่สุดโดยนัยมีอาทิว่า๑- แม้อย่างนี้ก็ไม่มีแก่เรา.
               ความซัดส่ายไปมี ๒ อย่าง คือซัดส่ายไปด้วยทิฏฐิหรือวาจาอันไม่ตายตัว ชื่อว่าอมราวิกเขปะ. ชื่อว่าอมราวิกเขปิกา เพราะมีทิฏฐิซัดส่ายไม่ตายตัว.
               บทว่า อธิจฺจสมุปปนฺโน เกิดขึ้นลอยๆ คือความเห็นว่า ตนและโลกเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุ ชื่อว่าอธิจจสมุปปันนะ ชื่อว่าอธิจจสมุปปันนิกา เพราะมีทิฏฐิว่าตนและโลกเกิดขึ้นลอยๆ.
____________________________
๑- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๓๙
               จบอรรถกถาปุพพันตานุทิฏฐินิเทศ               

               อรรถกถาอปรันตานุทิฏฐินิเทศ               
               เจ้าทิฏฐิชื่อว่าสัญญีวาทะ เพราะกล่าวว่าตนเมื่อตายแล้วมีสัญญา. ชื่อว่าอสัญญีวาทะ เพราะกล่าวว่าตนเมื่อตายแล้วไม่มีสัญญา. ชื่อว่าเนวสัญญีนาสัญญีวาทะ เพราะกล่าวว่าตนเมื่อตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่.
               อีกอย่างหนึ่ง วาทะอันเป็นไปว่ามีสัญญา ชื่อว่าสัญญีวาทะ เจ้าทิฏฐิเท่านั้นชื่อว่าสัญญีวาทะ เพราะมีวาทะว่ามีสัญญา. อสัญญีวาทะและเนวสัญญีนาสัญญีวาทะก็เหมือนอย่างนั้น.
               เจ้าทิฏฐิชื่อว่าอุจเฉทวาทะ เพราะกล่าวว่าสูญ.
               บทว่า ทิฏฺฐธมฺโม คือ ธรรมที่เห็นประจักษ์หมายถึงธรรมเป็นปัจจุบัน.
               บทนี้เป็นชื่อของอัตภาพที่ได้ในปัจจุบันนั้นๆ. นิพพานในปัจจุบันชื่อว่าทิฏฐธรรมนิพพาน.
               ความว่า การเข้าไปสงบทุกข์ในอัตภาพนี้แล. ชื่อว่าทิฏฐิธรรมนิพพานวาทะ เพราะกล่าวถึงนิพพานเป็นปัจจุบันธรรมนั้น.
               อนึ่ง เมื่อบทนี้พิสดารในนิเทศนี้ จึงควรกล่าวพรหมชาลสูตรทั้งสิ้นพร้อมด้วยอรรถกถา. ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ย่อมช้าเกินไป เพราะฉะนั้นจึงไม่ให้พิสดาร. ผู้มีความต้องการสูตรนั้น ควรค้นคว้าหาดูเอาเอง.
               จบอรรถกถาอปรันตานุทิฏฐินิเทศ               

               อรรถกถาสัญโญชนิกทิฏฐินิเทศ               
               เพราะสังโยชนิกทิฏฐิ (ทิฏฐิเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ) เป็นทิฏฐิทั่วไปแก่ทิฏฐิทั้งหมด. ฉะนั้น ท่านจึงแสดงความทั่วไปแก่ทิฏฐิทั้งหมด เพราะสังโยชนิกทิฏฐินั้นเป็นเครื่องประกอบทิฏฐิไว้ทั้งหมด. พึงทราบความนั้นโดยการครอบงำทิฏฐิ ดังได้กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.

               จบอรรถกถาสัญโญชนิกทิฏฐินิเทศ               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๒. ทิฐิกถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 286อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 294อ่านอรรถกถา 31 / 362อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=3332&Z=4069
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=1047
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=1047
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :