ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 10อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 30อ่านอรรถกถา 31 / 56อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
ทุติยภาณวาร

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               [๔๐] พระสารีบุตรได้ชี้แจงถึงการวิสัชนา ๑๘ ข้อมีปตาปนัฏฐะ - สภาพที่อริยมรรคให้สว่างเป็นต้นด้วยอริยมรรค.
               จริงอยู่ อริยมรรคที่เกิดขึ้นแก่จิตใด ย่อมยังจิตนั้นให้สว่างคือให้รุ่งเรือง ฉะนั้นจึงชื่อว่าปตาปนะ - อริยมรรคให้สว่าง. ชื่อว่าปตาปนัฏฐะ - สภาพที่อริยมรรคนั้นให้สว่าง.
               ชื่อว่า วิโรจนฏฺโฐ - สภาพที่อริยมรรคให้รุ่งเรือง เพราะความที่อริยมรรคนั้นเองประภัสสรยิ่งนัก. ชื่อว่า สนฺตาปนฏฺโฐ - สภาพที่อริยมรรคให้กิเลสเร่าร้อน ด้วยให้กิเลสทั้งหลายเหือดแห้งไป. ชื่อว่า อมลฏฺโฐ สภาพที่อริยมรรคไม่มีมลทิน เพราะอริยมรรคมีนิพพานอันไม่มีมลทินเป็นอารมณ์.
               ชื่อว่า วิมลฏฺโฐ - สภาพที่อริยมรรคปราศจากมลทิน เพราะไม่มีมลทินเกลือกกลั้ว.
               ชื่อว่า นิมฺมลฏฺโฐ - สภาพที่อริยมรรคหมดมลทิน เพราะไม่มีมลทินทำให้เป็นอารมณ์.
               อีกอย่างหนึ่ง อมลฏฺโฐ - สภาพไม่มีมลทิน ด้วยโสดาปัตติมรรค.
               วิมลฏฺโฐ - สภาพที่อริยมรรคปราศจากมลทิน ด้วยสกทาคามิมรรคและอนาคามิมรรค.
               นิมฺมลฏฺโฐ - สภาพที่อริยมรรคหมดมลทิน ด้วยอรหัตมรรค.
               อีกอย่างหนึ่ง อมลฏฺโฐ - สภาพที่อริยมรรคไม่มีมลทิน ด้วยมรรคของพระสาวก.
               วิมลฏฺโฐ - สภาพที่อริยมรรคปราศจากมลทิน ด้วยมรรคของพระปัจเจกพุทธะ.
               นิมฺมลฏฺโฐ - สภาพที่อริยมรรคหมดมลทิน ด้วยมรรคของพระสัมมาสัมพุทธะ.
               ชื่อว่า สมฏฺโฐ - สภาพที่อริยมรรคสงบ เพราะไม่มีความไม่สงบคือกิเลส.
               ชื่อว่า สมยฏฺโฐ - สภาพที่อริยมรรคให้กิเลสระงับ ในสภาพที่อริยมรรคประหาณกิเลส ดุจในบาลีมีอาทิว่า สมฺมา มานาภิสมยา๑- เพราะอริยมรรคให้กิเลสระงับต่างๆ โดยชอบ.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๙

               ชื่อว่า วิเวกฏฺโฐ - สภาพแห่งวิเวก เพราะสมุจเฉทวิเวก.
               ในวิเวก ๕ คือ วิกขัมภนวิเวก ๑ ตทังควิเวก ๑ สมุจเฉทวิเวก ๑ ปฏิปัสสัทธิวิเวก ๑ นิสสรณวิเวก ๑.
               ชื่อว่า วินาภาวฏฺโฐ - สภาพแห่งความพราก.
               ชื่อว่า วิเวกจริยฏฺโฐ - สภาพแห่งความประพฤติในวิเวก เพราะประพฤติในนิพพานอันเป็นนิสสรณวิเวก.
               ชื่อว่า วิราคฏฺโฐ - สภาพที่คลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดเป็นสมุจเฉทในวิราคะ ๕.
               ชื่อว่า วิราคจริยฏฺโฐ - สภาพแห่งความประพฤติในความคลายกำหนัด เพราะเที่ยวไปในนิพพานอันเป็นนิสสรณวิเวก.
               ชื่อว่า นิโรธฏฺโฐ - สภาพที่ดับ เพราะดับเป็นสมุจเฉทในนิโรธ ๕.
               ชื่อว่า นิโรธจริยฏฺโฐ - สภาพแห่งความประพฤติเพื่อความดับ เพราะเที่ยวไปในนิพพานอันเป็นความดับทุกข์.
               ชื่อว่า โวสฺสคฺคฏฺโฐ - สภาพที่ปล่อย เพราะปล่อยด้วยการบริจาคและการแล่นไป.
               อริยมรรค ชื่อว่าปล่อยด้วยการบริจาค เพราะละกิเลสด้วยอำนาจสมุจเฉทปหาน และชื่อว่าปล่อยด้วยการแล่นไป เพราะแล่นไปสู่นิพพานด้วยกระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์.
               อนึ่ง วิปัสสนาชื่อว่าปล่อยด้วยการบริจาค เพราะละกิเลสด้วยตทังคปหาน. ชื่อว่าปล่อยด้วยการแล่นไป เพราะแล่นไปสู่นิพพาน ด้วยการเอียงไปสู่นิพพานนั้น.
               ในนิทเทส ท่านหมายถึงอริยมรรคนั้น.
               ชื่อว่า โวสฺสคฺคจริยฏฺโฐ - สภาพแห่งความประพฤติในความปล่อย เพราะละกิเลสด้วยสมุจเฉทปหาน.
               ชื่อว่า วิมุตฺตฏฺโฐ - สภาพที่พ้น เพราะพ้นด้วยสมุจเฉทปหานในวิมุตติ ๕.
               ชื่อว่า วิมุตฺติจริยฏฺโฐ - สภาพแห่งความประพฤติในความพ้นเพราะประพฤติในนิสสรณวิมุตติ.
               [๔๑] พระสารีบุตรได้ชี้แจงถึงการวิสัชนา ๔๐ ข้อมี ฉนฺทฏฺโฐ สภาพแห่งฉันทะเป็นต้น ด้วยสามารถอิทธิบาท ๔ อย่างละ ๑๐ ด้วยอิทธิบาทหนึ่งๆ ในอิทธิบาท ๔ คือ ฉันทะ วีริยะ จิตตะ วีมังสา.
               ชื่อว่า ฉนฺทฏฺโฐ - สภาพแห่งฉันทะ คือสภาพที่ใคร่จะทำ.
               ชื่อว่า มูลฏฺโฐ - สภาพที่เป็นมูลแห่งฉันทะ ในเวลาเริ่มภาวนา ตั้งฉันทะไว้เป็นหลัก.
               ชื่อว่า ปาทฏฺโฐ - สภาพที่เป็นบาทแห่งฉันทะ เพราะความเป็นหลักแห่งสหชาตธรรม. ปาฐะว่า ปทฏฺโฐ ก็มี.
               ชื่อว่า ปธานฏฺโฐ - สภาพที่เป็นปรธานแห่งฉันทะ เพราะความเป็นใหญ่ยิ่ง ให้ถึงความสำเร็จ.
               ชื่อว่า อิชฺฌนฏฺโฐ - สภาพที่สำเร็จแห่งฉันทะ ในเวลาประกอบความเพียร.
               ชื่อว่า อธิโมกฺขฏฺโฐ - สภาพที่น้อมไปแห่งฉันทะ เพราะประกอบด้วยสัทธา.
               ชื่อว่า ปคฺคหฏฺโฐ - สภาพที่ประคองไว้แห่งฉันทะ เพราะประกอบความเพียร.
               ชื่อว่า อุปฏฺฐานฏฺโฐ - สภาพที่ตั้งมั่นแห่งฉันทะ เพราะประกอบด้วยสติ.
               ชื่อว่า อวิกฺเขปฏฺโฐ - สภาพที่ไม่ฟุ้งซ่านแห่งฉันทะ เพราะประกอบด้วยสมาธิ.
               ชื่อว่า ทสฺสนฏฺโฐ - สภาพที่เห็นแห่งฉันทะ เพราะประกอบด้วยปัญญา.
               [๔๒] ชื่อว่า วีริยฏฺโฐ - สภาพแห่งวีริยะ คือสภาพที่ประคองไว้.
               ชื่อว่า มูลฏฺโฐ - สภาพที่เป็นมูลแห่งวีริยะ ในเวลาเริ่มภาวนา ตั้งวีริยะไว้เป็นหลัก.
               ชื่อว่า ปคฺคหฏฺโฐ - สภาพที่ประคองไว้แห่งวีริยะ เพราะมีความเพียรด้วยตนเอง.
               [๔๓] ชื่อว่า จิตฺตฏฺโฐ - สภาพแห่งจิต คือมากด้วยความคิด.
               ชื่อว่า มูลฏฺโฐ สภาพที่เป็นมูลแห่งจิต ในเวลาเริ่มภาวนา ตั้งจิตไว้เป็นหลัก.
               [๔๔] ชื่อว่า วีมํสฏฺโฐ - สภาพแห่งวีมังสา คือสภาพที่เข้าไปสอบสวน.
               ชื่อว่า มูลฏฺโฐ - สภาพที่เป็นมูลแห่งวีมังสา ในเวลาเริ่มภาวนา ตั้งวีมังสาไว้เป็นหลัก.
               ชื่อว่า ทสฺสนฏฺโฐ - มีสภาพที่เห็นแห่งวีมังสา เพราะพิจารณาด้วยตนเอง.
               [๔๕] พระสารีบุตรได้ชี้แจงถึงการวิสัชนา ๑๖ ข้อมีบทว่า ทุกฺขสฺส ปีฬนฏฺโฐ - สภาพที่ทุกข์บีบคั้นเป็นต้น ด้วยลักษณะอันถ่องแท้แห่งสัจจะ.
               ชื่อว่า ปีฬนฏฺโฐ - สภาพที่ทุกข์บีบคั้น เพราะการเห็นทุกข์นั่นเอง.
               ชื่อว่า สงฺขตฏฺโฐ - สภาพที่ทุกข์ถูกปัจจัยปรุงแต่ง เพราะการเห็นสมุทัยอันประมวลมาซึ่งทุกข์.
               ชื่อว่า สนฺตาปฏฺโฐ - สภาพที่ทุกข์ทำให้เดือดร้อน เพราะการเห็นมรรคอันเป็นความเย็น เพราะนำสภาพที่ทุกข์ทำให้เดือดร้อนออกไปเสีย.
               ชื่อว่า วิปริณามฏฺโฐ - สภาพที่ทุกข์แปรปรวน เพราะการเห็นความดับสิ่งที่ไม่แปรปรวน.
               ชื่อว่า อายุหนฏฺโฐ - สภาพที่สมุทัยประมวลมา เพราะเห็นสมุทัยนั่นเอง.
               ชื่อว่า นิทานฏฺโฐ - สภาพที่สมุทัยเป็นเหตุ เพราะการเห็นทุกข์ที่ประมวลมาด้วยสมุทัย.
               ชื่อว่า สญฺโญคฏฺโฐ - สภาพที่สมุทัยเกี่ยวข้อง เพราะการเห็นนิโรธอันเป็นวิสัญโญคะ - สมุทัยไม่เกี่ยวข้อง.
               ชื่อว่า ปลิโพธฏฺโฐ - สภาพที่สมุทัยพัวพัน เพราะการเห็นมรรคอันเป็นนิยยานะ - การนำออกไป.
               ชื่อว่า นิสฺสรณฏฺโฐ - สภาพที่สลัดออก เพราะเห็นพระนิพพานนั่นเทียว.
               ชื่อว่า วิเวกฏฺโฐ - สภาพที่นิโรธเป็นวิเวก เพราะการเห็นสมุทัยอันไม่เป็นวิเวก.
               ชื่อว่า อสงฺขตฏฺโฐ - สภาพที่นิโรธเป็นอสังขตะ เพราะการเห็นมรรคอันเป็นสังขตะ.
               ชื่อว่า อมตฏฺโฐ - สภาพที่นิโรธเป็นอมตะ เพราะการเห็นทุกข์อันเป็นพิษ.
               ชื่อว่า นิยฺยานฏฺโฐ - สภาพที่มรรคนำออก เพราะการเห็นมรรคนั่นเอง.
               ชื่อว่า เหตฏฺโฐ - สภาพที่มรรคเป็นเหตุ เพราะการเห็นสมุทัยอันมิใช่เหตุแห่งการบรรลุนิพพาน.
               ชื่อว่า ทสฺสนฏฺโฐ - สภาพที่มรรคเห็น เพราะการเห็นนิโรธที่เห็นได้แสนยาก.
               ชื่อว่า อาธิปเตยฺยฏฺโฐ - สภาพที่มรรคเป็นอธิบดีเช่นกับตระกูลที่ใหญ่โต เพราะการเห็นทุกข์เช่นกับคนยากไร้. อธิบายว่า ย่อมปรากฏ.
               พระสารีบุตรกล่าวถึงสัจจะหนึ่งๆ มีลักษณะอย่างละ ๔ ด้วยการเห็นสัจจะนั้นๆ และด้วยการเห็นสัจจะอื่นนอกจากสัจจะนั้น ด้วยประการฉะนี้.
               [๔๖] พระสารีบุตรได้ชี้แจงถึงการวิสัชนา ๑๒ ข้อมี ตถฏฺโฐ - สภาพที่ถ่องแท้เป็นต้นด้วย ๑๒ บทอันสงเคราะห์ในธรรมทั้งหมด.
               บทว่า ตถฏฺโฐ - สภาพที่ถ่องแท้ ได้แก่สภาพตามความเป็นจริง.
               บทว่า อนตฺตฏฺโฐ - สภาพที่เป็นอนัตตา ได้แก่สภาพที่เว้นจากอัตตา.
               บทว่า สจฺจฏฺโฐ - สภาพที่เป็นสัจจะ ได้แก่การที่ไม่พูดหลอกลวง.
               บทว่า ปฏิเวธฏฺโฐ - สภาพที่เป็นปฏิเวธะคือการแทงตลอด ได้แก่สภาพที่ควรแทงตลอด.
               บทว่า อภิชานนฏฺโฐ ได้แก่ สภาพที่ควรรู้ยิ่ง.
               บทว่า ปริชานนฏฺโฐ ได้แก่ สภาพที่ควรกำหนดรู้ เพราะกำหนดรู้ด้วยความรู้.
               บทว่า ธมฺมฏฺโฐ - สภาพที่เป็นธรรม คือมีอรรถว่าทรงสภาพไว้เป็นต้น.
               บทว่า ธาตฏฺโฐ - สภาพที่เป็นธาตุ คือมีอรรถว่าเป็นของสูญเป็นต้น.
               บทว่า ญาตฏฺโฐ ได้แก่ สภาพที่รู้ คืออาจรู้ได้.
               บทว่า สจฺฉิกิริยฏฺโฐ คือ สภาพที่ควรทำให้แจ้ง.
               บทว่า ผสฺสนฏฺโฐ คือ สภาพที่ควรสัมผัสด้วยญาณ.
               บทว่า อภิสมยฏฺโฐ - สภาพที่ควรตรัสรู้ ได้แก่สภาพที่ควรถึงโดยชอบอย่างยิ่ง ด้วยการพิจารณาหรือควรได้เฉพาะด้วยญาณ.
               แม้การได้เฉพาะท่านก็กล่าวว่าการตรัสรู้ ดุจในบทมีอาทิว่า อตฺถาภิสมยา ธีโร๒- คนมีปัญญาเพราะตรัสรู้ยิ่งซึ่งอรรถ.
____________________________
๒- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๓๘๕

               [๔๗] พระสารีบุตรได้ชี้แจงถึงการวิสัชนา ๗ ข้อมีเนกขัมมะเป็นต้น ด้วยอุปจารฌาน.
               บทว่า เนกฺขมฺมํ ได้แก่ ความไม่โลภอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกามฉันทะ.
               บทว่า อาโลกสญฺญา ได้แก่ สัญญาในอาโลกนิมิตอันเป็นปฏิปักษ์ต่อถีนมิทธะ.
               บทว่า อวิกฺเขโป ได้แก่ ความไม่ฟุ้งซ่านอันเป็นปฏิปักษ์ต่ออุทธัจจะ.
               บทว่า ธมฺมววตฺถานํ - ความกำหนดธรรม ได้แก่ญาณอันเป็นปฏิปักษ์ต่อวิจิกิจฉา.
               บทว่า ญาณํ ได้แก่ ญาณอันเป็นปฏิปักษ์ต่ออวิชชา.
               บทว่า ปามุชฺชํ ได้แก่ ปีติอันเป็นปฏิปักษ์ต่ออรติ.
               พระสารีบุตรได้ชี้แจงถึงการวิสัชนา ๘ ข้อมีปฐมฌานเป็นต้นด้วยรูปสมาบัติและอรูปสมาบัติ.
               อนึ่ง พระสารีบุตรได้ชี้แจงพรหมวิหาร ๔ โดยเชื่อมรูปฌานไว้ในลำดับรูปสมาบัติ.
               [๔๘] พระสารีบุตรได้ชี้แจงถึงบทมี อนิจฺจานุปสฺสนา การพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงเป็นต้นด้วยมหาวิปัสสนา ๑๘ ในส่วนเบื้องต้นของโลกุตรมรรค.
               พระสารีบุตรได้กล่าวถึงอนุปัสสนา ๗ เข้าไปประกอบด้วยรูปเป็นต้นในหนหลัง, แต่ในนิทเทสนี้ ท่านกล่าวไว้ทั้งหมด.
               หากถามว่า เพราะเหตุไรจึงไม่กล่าวถึงอุทยัพพยานุปัสสนา - การพิจารณาเห็นความเกิดและความดับ ด้วยการพิจารณาเป็นกลาปะ - กอง.
               ตอบว่า เมื่อท่านกล่าวถึงอนุปัสสนาเหล่านี้เป็นอันท่านกล่าวถึงอนุปัสสนาแม้ทั้งสองเหล่านี้ด้วย เพราะอนิจจานุปัสสนาเป็นต้นสำเร็จด้วยอำนาจวิปัสสนา ๒ เหล่านั้น, หรือเมื่อกล่าวถึงวิปัสสนาเหล่านี้เป็นอันกล่าวถึงวิปัสสนาเหล่านั้นด้วย เพราะวิปัสสนา ๒ เหล่านั้นเว้นอนิจจานุปัสสนาเป็นต้นเสียแล้วก็จะเป็นไปไม่ได้.
               บทว่า ขยานุปสฺสนา - การพิจารณาเห็นความสิ้นไป ได้แก่การเห็นและการรู้ ความดับแห่งรูปขันธ์เป็นต้นที่เป็นปัจจุบัน และการเห็นและการรู้ความดับแห่งจิตและเจตสิกอันมีขันธ์เป็นอารมณ์ในลำดับความดับแห่งขันธ์นั้นๆ.
               บทว่า วยานุปสฺสนา - การเห็นความเสื่อมไป ได้แก่การเห็นการรู้ความดับแห่งขันธ์ในอดีตอนาคตอันสืบเนื่องกันไปกับขันธ์นั้นในลำดับแห่งการเห็นและการรู้ความดับแห่งขันธ์ในปัจจุบัน.
               บทว่า วิปริณามานุปสฺสนา ได้แก่ การพิจารณาเห็นความแปรปรวนแห่งขันธ์ทั้งปวงว่า ขันธ์ที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันแม้ทั้งหมดมีความแปรปรวน เพราะน้อมไปในนิโรธอันได้แก่ความดับนั้น.
               บทว่า อนิมิตฺตานุปสฺสนา - การพิจารณาเห็นความไม่มีเครื่องหมาย ได้แก่อนิจจานุปัสนา การพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของพระโยคาวจรผู้เห็นความแปรปรวนของสังขารทั้งปวงอย่างนี้แล้วพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ชื่อว่า อนิมิตฺตานุปสฺสนา เพราะไม่มีเครื่องหมายอันเป็นความเที่ยง ด้วยการละเครื่องหมายอันเป็นความเที่ยงเสียได้.
               บทว่า อปฺปณิหิตานุปสฺสนา - การเห็นธรรมไม่มีที่ตั้ง ได้แก่การพิจารณาเห็นทุกข์อันเป็นไปในลำดับแห่งอนิจจานุปัสนา. ชื่อว่า อปฺปณิหิตานุปสฺสนา เพราะไม่มีที่ตั้ง ด้วยการละความปรารถนาสุข.
               บทว่า สุญฺญตานุปสฺสนา - การพิจารณาเห็นความว่างเปล่า ได้แก่การพิจารณาเห็นอนัตตาอันเป็นไปในลำดับทุกขานุปัสนา. ชื่อว่า สุญฺญตานุปสฺสนา เพราะเห็นความเป็นของว่างเปล่าจากตน ด้วยการละความยึดมั่นตัวตน.
               บทว่า อธิปญฺญาธมมฺวิปสฺสนา - การพิจารณาเห็นธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง ได้แก่วิปัสสนาเป็นไปเพราะถือความว่างเปล่าด้วยการดับว่า สังขารของพระโยคาวจรผู้เห็นแล้วๆ เล่าๆ ซึ่งความดับของสังขารอย่างนี้ แล้วพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น ย่อมดับไป, นอกจากความดับของสังขาร ย่อมไม่มีอะไรอื่น.
               วิปัสสนานั้นท่านกล่าวว่า อธิปญฺญาธมฺมวิปสฺสนา เพราะทำเป็นรูปวิเคราะห์ว่า อธิปญฺญา จ ธมฺเมสุ จ วิปสฺสนา - อธิปัญญาและความเห็นแจ้งในธรรมทั้งหลาย.
               บทว่า ยถาภูตญาณทสฺสนํ - ความรู้ความเห็นตามความเป็นจริง ได้แก่ภยตูปัฏฐานญาณ - ปรีชาคำนึงเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว อันเป็นไปแล้วว่า สภยา สงฺขารา - สังขารทั้งหลายน่ากลัว เพราะเห็นความดับแล้วๆ เล่าๆ.
               บทว่า อาทีนวานุปสฺสนา - การพิจารณาเห็นโทษ ได้แก่การเห็นการรู้โทษด้วยภยตูปัฏฐานญาณ อันเกิดขึ้นแล้วในภพทั้งปวงเป็นต้น.
               เมื่อท่านกล่าวถึง อาทีนวานุปสฺสนา - การพิจารณาเห็นโทษด้วยภยตูปัฏฐานญาณ เป็นอันท่านกล่าวถึงนิพพิทานุปัสนา การพิจารณาเห็นด้วยความเบื่อหน่ายไว้ในนิทเทสนี้ด้วย เพราะบาลีว่า ธรรมเหล่านี้ คือภยตูปัฏฐานญาณ อาทีญาณและนิพพิทาญาณ มีอรรถอย่างเดียวกัน, พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน.๓-
               ในนิทเทสนี้ ท่านไม่กล่าวไว้ เพราะท่านกล่าวทำบทที่ ๔ ไว้แต่ต้นแล้ว.
____________________________
๓- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๕๐๗

               บทว่า ปฏิสงฺขานุปสฺสนา - การพิจารณาหาทาง ได้แก่ อนิจจานุปัสสนาญาณ ทุกขานุปัสสนาญาณ อนัตตานุปัสสนาญาณ เกิดขึ้นด้วยมุญฺจิตุกัมยตาญาณ - ปรีชาคำนึงถึงด้วยความใคร่จะพ้นไปเสีย กระทำอุบายเพื่อพ้น กำหนดรู้ด้วยปฏิสังขานุปัสสนา.
               เมื่อท่านกล่าวถึงปฏิสังขานุปัสสนาเป็นอันท่านกล่าวถึงมุญจิตุกัมยตาญาณและสังขารุเบกขาญาณ - ปรีชาคำนึงด้วยความวางเฉยในสังขารด้วย เพราะบาลีว่า ธรรมเหล่านี้คือมุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขานุปัสสนาญาณและสังขารุเบกขาญาณ มีอรรถอย่างเดียวกัน, พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน.๔-
____________________________
๔- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๕๐๘

               บทว่า วิวฏฺฏนานุปสฺสนา - การพิจารณาการเห็นอุบายที่จะหลีกไป ได้แก่โคตรภูญาณ - ญาณซึ่งเป็นลำดับแห่งอริยมรรค เกิดขึ้นด้วยอนุโลมญาณ - ญาณอันสมควรแก่การกำหนดรู้.
               เมื่อท่านกล่าวถึงโคตรภูญาณเป็นอันกล่าวอนุโลมญาณด้วย เพราะโคตรภูญาณสำเร็จด้วยอนุโลมญาณ.
               ท่านกล่าวถึงลำดับแห่งมหาวิปัสสนา ๑๘ อย่างนี้ย่อมรวมในบาลี ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอินทริยกถาว่า๕-
                                   อินทรีย์ ๕ ด้วยสามารถปฐมฌานสลัดไป
                         จากอินทรีย์ ๕ ในส่วนเบื้องต้น, อินทรีย์ ๕ ด้วย
                         สามารถทุติยฌานสลัดออกจากอินทรีย์ ๕ ใน
                         ปฐมฌาน.
____________________________
๕- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๔๓๕

               ท่านกล่าวถึงอินทรีย์ตามลำดับยิ่งๆ ขึ้นไปโดยนัยต้นตลอดถึงอรหัตผล. เพราะฉะนั้นมหาวิปัสนา ๑๘ ย่อมสมควรในบาลีโดยลำดับดังที่กล่าวแล้ว.
               ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคว่า
                         บทว่า ขยานุปสฺสนา ได้แก่ ญาณของพระโยคาวจร
               ผู้แยกฆนสัญญา - ก้อน ออกแล้วเห็นความสิ้นไปว่า ชื่อว่า
               ไม่เที่ยง เพราะอรรถว่าสิ้นไป.
                         บทว่า วิปริณามานุปสฺสนา ได้แก่ การก้าวล่วงขั้นตอน
               นั้นๆ ด้วยรูปสัตตกะและอรูปสัตตกะเป็นต้น แล้วเห็นความ
               เป็นไปโดยประการอื่น.
                         อีกอย่างหนึ่ง การเห็นความปรวนแปรด้วยอาการ ๒
               คือ ด้วยชราและมรณะของสัตว์ผู้เกิดมาแล้ว.
                         บทว่า ยถาภูตญาณทสฺสนํ - การรู้และการเห็นตาม
               ความเป็นจริง ได้แก่ การกำหนดนามรูปพร้อมด้วยปัจจัย.

               บทนั้น ในบาลีปรากฏเป็นเหมือนบทผิด บทว่า วิวฏฺฏนานุปสฺนา - การพิจารณาเห็นอุบายที่จะออกไป ท่านกล่าวว่า ได้แก่สังขารุเบกขาญาณและอนุโลมญาณ.
               อนึ่ง บทนั้นในบาลีดูเหมือนจะผิด. เพราะท่านกล่าวไว้ในจริยากถาว่า๖-
                         อัพยากตธรรมอันเป็นกิริยาของอาวัชนะเพื่อ
               ประโยชน์ในการพิจารณาเห็นความเป็นของไม่เที่ยง
               ชื่อว่าวิญญาณจริยา. การพิจารณาเห็นความเป็นของ
               ไม่เที่ยง ชื่อว่าญาณจริยา ฯลฯ อัพยากตธรรมอันเป็น
               กิริยาของอาวัชนะ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาหา
               ทาง ชื่อว่าวิญญาณจริยา. ปฏิสังขานุปัสนาญาณเป็น
               ญาณจริยา.

____________________________
๖- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๑๖๙

               ท่านกล่าวถึงอาวัชนะต่างหากกันของญาณที่ได้อาวัชนะต่างๆ กัน. แต่ท่านไม่กล่าวถึงอาวัชนะเพื่อพิจารณาเห็นอุบายที่จะออกไปแล้วกล่าวว่า วิวัฏฏานุปัสนาเป็นญาณจริยา.
               ผิว่า สังขารุเบกขาญาณและอนุโลมญาณจะพึงเป็นวิวัฏฏานุปัสนาญาณได้, ก็ควรกล่าวถึงอาวัชนะเพื่อประโยชน์แก่ญาณนั้น เพราะอาวัชนะของญาณนั้นมีพร้อม, แต่ท่านไม่กล่าวถึงอาวัชนะเพื่อประโยชน์แก่ญาณนั้น.
               โคตรภูญาณไม่มีอาวัชนะต่างๆ กัน เพราะเกิดขึ้นในอาวัชนวิถีแห่งอนุโลมญาณนั่นเอง. เพราะฉะนั้น โคตรภูญาณนั่นแลเป็นวิวัฏฏนานุปัสนา ถูกต้อง เพราะท่านไม่กล่าวถึงอาวัชนะ เพื่อประโยชน์แก่วิวัฏฏนานุปัสนา.
               [๔๙] พระสารีบุตรได้ชี้แจงถึงการวิสัชนา ๘ ข้อมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ด้วยอำนาจแห่งมรรคและผลอันเป็นโลกุตระ.
               การถึงกระแสแห่งมรรค ชื่อว่า โสตาปตฺติ, โสตาปตฺติ นั่นแลเป็นมรรค ชื่อว่าโสตาปัตติมรรค.
               ผลแห่งการถึงกระแส ชื่อว่าโสดาปัตติผล, ชื่อว่าสมาปัตติ เพราะอรรถว่าเข้าถึง. โสดาปัตติผลนั่นแลเป็นสมาบัติ ชื่อว่าโสดาปัตติผลสมาบัติ.
               ชื่อว่าสกทาคามี เพราะอรรถว่ามาสู่โลกนี้คราวเดียวเท่านั้นด้วยอำนาจปฏิสนธิ, มรรคแห่งสกทาคามีนั้นชื่อว่าสกทาคามิมรรค.
               ชื่อว่าอนาคามี เพราะอรรถว่า ไม่มาสู่กามภพด้วยอำนาจปฏิสนธินั่นแล, มรรคแห่งอนาคามีนั้นชื่อว่าอนาคามิมรรค. ผลแห่งอนาคามีชื่อว่าอนาคามิผล.
               ชื่อว่า อรหํ เพราะไกลจากกิเลสทั้งหลาย, เพราะกำจัดข้าศึกคือกิเลส, เพราะหักซี่ล้อของสังสารจักรเสียได้, เพราะไม่มีความลับในการทำบาป, เพราะควรแก่ปัจจัยเป็นต้น. ความเป็นอรหันต์ ชื่อว่า อรหตฺตํ นั้นคืออะไร? คืออรหัตผล. มรรคแห่งอรหัตชื่อว่าอรหัตมรรค. ผลแห่งอรหัตนั่นแลชื่อว่าอรหัตผล.
               [๕๐-๕๓] พระสารีบุตรได้ชี้แจงถึงการวิสัชนา ๓๓ ข้อมีบทว่า อธิโมกฺขฏฺเฐน สทฺธินฺทฺริยํ ได้แก่ สัทธินทรีย์ด้วยความว่าน้อมใจเชื่อเป็นต้น,
               บทว่า ตถฏฺเฐน สจฺจา ได้แก่ สัจจะด้วยความว่าเที่ยงแท้เป็นที่สุด.
               ได้ชี้แจงการวิสัชนาเสมอกันด้วยการวิสัชนา ๓๓ ข้อมีบทว่า อินฺทฺริยสฺส อธิโมกฺขฏฺโฐ - สภาพที่น้อมใจเชื่อแห่งสัทธินทรีย์เป็นต้นในภายหลัง. ได้ชี้แจงอรรถด้วยธรรมทั้งหลาย ในบทนั้นสิ้นเชิง,
               ในบทนี้ได้ชี้แจงธรรมทั้งหลายด้วยอรรถ นี้เป็นความต่างกัน.
               พึงทราบความต่างกันแห่งการวิสัชนา ๔ ข้อมีบทว่า อวิกฺเขปฏฺเฐน สมโถ - สมถะด้วยความว่าไม่ฟุ้งซ่านเป็นต้น และการวิสัชนา ๔ ข้อมีบทว่า สมถสฺส อวิกฺเขปฏฺโฐ - สภาพไม่ฟุ้งซ่านแห่งสมถะเป็นต้น โดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               [๕๔] พระสารีบุตรได้ชี้แจงถึงการวิสัชนา ๘ ข้อมีบทว่า สํวรฏฺเฐน - ด้วยความว่าสำรวมเป็นต้นด้วยอำนาจธรรมมีศีลเป็นต้น มีพละเป็นที่สุด.
               บทว่า สีลวิสุทฺธิ - ความหมดจดแห่งศีล ได้แก่ ศีล ๔ อย่างมีปาติโมกขสังวรศีลอันบริสุทธิ์ด้วยดีเป็นต้น.
               ชื่อว่า สีลวิสุทฺธิ เพราะชำระมลทิน คือความเป็นผู้ทุศีล.
               บทว่า จิตฺตวิสุทฺธิ - ความหมดจดแห่งจิต ได้แก่ สมาบัติ ๘ พร้อมด้วยอุปจาร.
               ในบทนี้ ท่านกล่าวสมาธิด้วยหัวข้อว่าจิตตะ สมาธินั้นชื่อว่าจิตตวิสุทธิ เพราะชำระมลทินของจิต.
               ชื่อว่า ทิฏฺฐิวิสุทฺธิ - ความบริสุทธิ์แห่งทิฏฐิ ได้แก่ การเห็นนามรูปตามที่เป็นจริง ชื่อว่าทิฏฐิวิสุทธิ เพราะชำระมลทินของทิฏฐิ ๗.
               บทว่า มุตฺตฏฺเฐน - ด้วยความว่าหลุดพ้น ได้แก่ หลุดพ้นจากอุปกิเลสด้วยอำนาจตทังควิมุตติและน้อมไปในอารมณ์.
               บทว่า วิโมกฺโข ได้แก่ ความหลุดพ้นด้วยตทังควิมุตติ.
               บทว่า ปฏิเวธฏฺเฐน วิชฺชา - วิชชาด้วยความว่าแทงตลอด ได้แก่บุพเพนิวาสานุสติญาณ ชื่อว่าวิชชา ด้วยความว่าแทงตลอดในภพก่อน.
               บทว่า ปฏิเวธฏฺเฐน ได้แก่ ด้วยความว่ารู้แจ้ง.
               บทว่า ปริจฺจาคคฏฺเฐน วิมุตฺติ - ความหลุดพ้นด้วยการสละ ได้แก่ ชื่อว่าผลวิมุตติ เพราะพ้นจากการสละ.
               บทว่า สมุจฺเฉทฏฺเฐน ขเย ญาณํ - ญาณในความสิ้นไปด้วยความตัดขาด ได้แก่ ญาณในอริยมรรคกระทำความสิ้นกิเลสด้วยความตัดกิเลสได้ขาด.
               บทว่า ปฏิปฺปสฺสทฺธฏฺเฐน อนุปฺปาเท ญาณํ - ญาณในความไม่เกิดขึ้นด้วยความว่าระงับ ได้แก่ ญาณในอริยผลอันเกิดขึ้นในที่สุดแห่งความไม่เกิดขึ้นแห่งกิเลสอันฆ่าด้วยมรรคนั้นๆ อันเป็นความไม่เกิดด้วยปฏิสนธิ เพราะระงับปโยคะคือมรรคกิจเสียได้.
               พระสารีบุตรได้ชี้แจงถึงการวิสัชนา ๙ ข้อมีบทว่า ฉนฺโท มูลฏฺเฐน - ฉันทะด้วยความว่าเป็นมูลฐานเป็นต้น ด้วยอำนาจอริยมรรคอันเป็นเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด.
               บทว่า ฉนฺโท มูลฏฺเฐน ได้แก่ ฉันทะคือความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำกุศลธรรมทั้งหลาย ด้วยความว่าเป็นมูลฐาน เพราะเป็นมูลแห่งการปฏิบัติและแห่งความสำเร็จ.
               บทว่า มนสิกาโร สมุฏฺฐานฏฺเฐน - มนสิการด้วยความว่าเป็นสมุฏฐาน ได้แก่โยนิโสมนสิการ ด้วยความว่าเป็นสมุฏฐาน เพราะยังกุศลธรรมทั้งหมดให้ตั้งขึ้น.
               บทว่า ผสฺโส สโมธานฏฺเฐน - ผัสสะด้วยความว่าประมวลมา ได้แก่ เพราะเวทนาเป็นปธานเหตุแห่งตัณหาโดยเฉพาะ.
               อนึ่ง เมื่อจะละตัณหา ย่อมละด้วยเวทนาที่กำหนดรู้โดยเฉพาะ, และผัสสะเป็นปธานเหตุแห่งเวทนานั้น, เมื่อกำหนดรู้ผัสสะแล้วเป็นอันกำหนดรู้เวทนาด้วย, ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวผัสสะในวัตถุที่ควรรู้ยิ่ง ๗ ก่อน.
               ก็ผัสสะนั้น ชื่อว่าควรรู้ยิ่งด้วยความว่าประมวลมา เพราะท่านกล่าวว่า ติกสนฺนิปาตปจฺจุปฏฺฐาโน - มีการประมวลมา รวมกันระหว่างวัตถุ อารมณ์และวิญญาณ ๓ อย่างเป็นอาการปรากฏ เพราะประกาศด้วยอำนาจเหตุของตน กล่าวคือการประมวลมาแห่งธรรมทั้ง ๓.
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ผัสสะ คือญาณผัสสะ.
               ก็เพราะเวทนายังจิตและเจตสิกให้เป็นไปในอำนาจของตน ย่อมประชุมคือย่อมเข้าไปในจิตเจตสิกนั้น, หรือเข้าไปสู่จิตสันดานนั่นเอง, ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สโมสรณฏฺเฐน อภิญฺเญยฺยา - เวทนาควรรู้ยิ่งด้วยความว่าประชุม.
               ส่วนอาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า การกำหนดรู้แม้ทั้งหมดย่อมประชุมลงในเวทนาทั้งหลาย, เมื่อกำหนดรู้เวทนาแล้วเป็นอันกำหนดรู้ที่ตั้งของตัณหาทั้งหมดได้.
               นั่นเพราะเหตุไร? เพราะตัณหาทั้งหมดมีเวทนาเป็นปัจจัย.
               ฉะนั้น เวทนาจึงควรรู้ยิ่งด้วยความว่าประชุม เพราะสมาธิชื่อว่าเป็นประมุข เป็นใหญ่ของกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะประมวลไว้ซึ่งจิตและเจตสิกทั้งหลาย ดุจช่อฟ้ากูฏาคารเป็นประมุข เพราะยึดไว้ด้วยไม้จันทัน, ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สมาธิ ปมุขฏฺเฐน - สมาธิด้วยความว่าเป็นประธาน. ปาฐะว่า ปามุกฺขฏฺเฐน บ้าง.
               เพราะสติเป็นใหญ่ในการกำหนดอารมณ์ของผู้เจริญสมถวิปัสสนา, เมื่ออารมณ์กำหนดไว้ได้ด้วยสติ กุศลธรรมแม้ทั้งหมดย่อมยังกิจของตนๆ ให้สำเร็จ, ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สติ อาธิปเตยฺยฏฺเฐน - สติด้วยความว่าเป็นใหญ่.
               บทว่า ปญฺญา ตทุตฺตรฏฺเฐน - ปัญญาด้วยความว่าประเสริฐกว่ากุศลนั้นๆ ได้แก่ อริยมรรคปัญญา ชื่อว่าควรรู้ยิ่ง ด้วยความว่ายิ่งคือประเสริฐกว่ากุศลธรรมนั้นๆ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ตทุตฺตรา เพราะอรรถว่าก้าวล่วงยิ่งจากกิเลสทั้งหลาย หรือจากสังสารวัฏ, อรรถแห่ง ตทุตฺตรา นั้นชื่อว่า ตทุตฺตรฏฺโฐ ความว่า ประเสริฐกว่ากุศลธรรมนั้นๆ. ด้วย ตทุตฺรฏฺโฐ นั้น. ปาฐะว่า ตตุตฺรฏฺเฐน บ้าง ความว่าด้วยความยิ่งกว่าธรรมนั้น.
               บทว่า วิมุตฺติ สารฏฺเฐน - วิมุตติด้วยความว่าเป็นแก่นสาร ได้แก่ ผลวิมุตติชื่อว่าเป็นแก่นสาร เพราะความมั่นคงโดยไม่เสื่อม, แม้เพราะก้าวล่วงสิ่งนั้นแล้วไม่มีสิ่งอื่นที่พึงแสวงหา ก็ชื่อว่าเป็นแก่นสาร. วิมุตตินั้นควรรู้ยิ่งด้วยความว่าเป็นแก่นสารนั้น.
               บทว่า อมโตคธํ นิพฺพานํ - นิพพานอันหยั่งลงในอมตะ.
               ชื่อว่าอมตะ เพราะนิพพานไม่มี มตะคือความตาย, ชื่อว่าอมตะ เพราะเป็นยาแก้พิษคือกิเลสบ้าง,
               ชื่อว่า โอคธํ เพราะเป็นหลักของสัตว์ทั้งหลายด้วยการทำให้แจ้ง.
               ชื่อว่า นิพฺพานํ คือดับเพราะสงบจากทุกข์ในสงสาร, ชื่อว่า นิพฺพานํ เพราะในนิพพานนี้ไม่มีเครื่องร้อยรัดคือตัณหา.
               นิพพานนั้นควรรู้ยิ่งด้วยความว่าเป็นที่สุด เพราะคำสอนเสร็จสิ้นแล้ว.
               ในอภิญเญยยนิทเทสนี้ รวมการวิสัชนาได้ ๗,๗๔๐ บทด้วยประการฉะนี้.
               [๕๕] บัดนี้ สรุปธรรมเหล่านั้นที่พระสารีบุตรได้ชี้แจงไว้แล้วอย่างนี้ว่า ธรรมใดๆ ที่รู้ยิ่งแล้ว, ธรรมนั้นๆ เป็นคุณที่รู้แล้ว.
               อธิบายว่า เป็นคุณที่รู้แล้ว เพราะทำบทนั้นให้เป็นประธาน.
               บทว่า ตํญาตฏฺเฐน ญาณํ - ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น.
               ความว่า ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมมีประการดังกล่าวแล้วนั้น.
               บทว่า ปชานนฏฺเฐน ปญฺญา - ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ทั่ว คือรู้โดยอาการ.
               คำถามที่ท่านถามไว้แต่ต้นว่า เตน วุจฺจติ ท่านแสดงสรุปไว้.
               ด้วยเหตุนั้นจึงมีความว่า ปัญญาเครื่องทรงจำที่ได้สดับมา คือเครื่องรู้ชัดธรรมที่ได้สดับมาแล้วนั้นว่า ธรรมเหล่านี้ควรรู้ยิ่งเป็นสุตปัญญา ด้วยประการฉะนี้.


               จบอรรถกถาทุติยภาณวาร               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา ทุติยภาณวาร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 10อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 30อ่านอรรถกถา 31 / 56อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=305&Z=455
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=2304
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=2304
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :