ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 294อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 362อ่านอรรถกถา 31 / 423อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค
๓. อานาปาณกถา

               อานาปานสติกถา ในมหาวรรค               
               ๑. อรรถกถาคณนวาร               
               บัดนี้ ถึงลำดับที่จะพรรณนาความที่ยังไม่เคยพรรณนาแห่งอานาปานสติกถาที่ท่านกล่าวไว้ในลำดับแห่งทิฏฐิกถา.
               จริงอยู่ อานาปานสติกถานี้เป็นสมาธิภาวนาอันทำได้ง่ายเพื่อตรัสรู้ตามความเป็นจริง แห่งโทษของทิฏฐิที่กล่าวไว้ดีแล้วในทิฏฐิกถา แห่งจิตบริสุทธิ์ด้วยดีด้วยการชำระมลทินแห่งมิจฉาทิฏฐิ.
               อนึ่ง ในสมาธิภาวนาทั้งปวง อานาปานสติกถานี้ ท่านกล่าวไว้ในลำดับแห่งทิฏฐิกถาว่าเป็นสมาธิภาวนาและเป็นประธาน เพราะตรัสรู้ตามความเป็นจริง แห่งจิตตั้งมั่นแล้วด้วยสมาธินี้ ณ โพธิมูลของพระสัพพัญญูโพธิสัตว์ทั้งปวง.
               พึงทราบวินิจฉัยในอานาปานสติกถานั้นดังต่อไปนี้.
               บทว่า โสฬสวตฺถุกํ อานาปานสฺสติสมาธึ ภาวยโต สมาธิกานิ เทฺว ญาณสตานิ อุปฺปชฺชนฺติ เมื่อพระโยคาวจรเจริญสมาธิอันปฏิสังยุตด้วยอานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ ญาณ ๒๐๐ อันเนื่องมาแต่สมาธิย่อมเกิดขึ้น เป็นการยกขึ้นแสดงจำนวนญาณ.
               บทมีอาทิว่า อฏฐ ปริปนเถ ญาณานิ ญาณในธรรมอันเป็นอันตราย ๘ เป็นการชี้แจงจำนวนญาณ.
               บทต้นว่า กตมานิ อฏฺฐ ปริปนฺเถ ญาณานิ ญาณในธรรมอันเป็นอันตราย ๘ เป็นไฉน.
               บทสุดท้ายว่า อิมานิ เอกวีสติ วิมุตติสุเข ญาณานิ ญาณในวิมุตติสุข ๒๑ เหล่านี้เป็นการชี้แจงความพิสดารของญาณทั้งปวง.
               พึงทราบการกำหนดบาลีก่อนอย่างนี้ว่า บทมีอาทิว่า โสฬสวตฺถุกํ อานาปานสฺสติสมาธึ ภาวยโต เมื่อพระโยคาวจรเจริญสมาธิอันปฏิสังยุตด้วยอานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ เป็นบทสรุปในที่สุด.
               พึงทราบวินิจฉัยในการยกแสดงจำนวน ในการนับจำนวนว่า อานาปานสติสมาธิมีวัตถุ ๑๖ ก่อนดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่า โสฬสวตฺถุโก เพราะมีวัตถุเป็นที่ตั้ง คือมีอารมณ์ ๑๖ ด้วยสามารถแห่งจตุกะละ ๔ เหล่านี้ คือ ลมหายใจยาวสั้นกำหนดรู้กองลมทั้งปวง สงบกายสังขาร ชื่อว่ากายานุปัสสนาจตุกะ ๑ กำหนดรู้ปีติ สุข จิตสังขาร สงบจิตสังขาร ชื่อว่าเวทนานุปัสสนาจตุกะ ๑ กำหนดรู้จิต จิตยินดียิ่ง จิตตั้งมั่น จิตพ้น ชื่อว่าจิตตานุปัสสนาจตุกะ ๑ พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความคลายกำหนัด การดับทุกข์ การสละ ชื่อว่าธัมมานุปัสสนาจตุกะ ๑. อานาปานสติสมาธิมีวัตถุ ๑๖ นั้น. ก็ในบทนี้ลบวิภัตติด้วยวิธีของสมาส.
               บทว่า อานํ ได้แก่ ลมหายใจเข้าในภายใน.
               บทว่า อปานํ ได้แก่ ลมหายใจออกในภายนอก. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวโดยตรงกันข้าม เพราะหายใจออก ท่านกล่าวว่าอปานะ เพราะปราศจากการหายใจเข้า. แต่ในนิเทศ๑- ท่านกล่าวว่า อาปาน เพราะเพ่งถึงทีฆะ อักษร.
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๓๘๖

               เมื่อมีอานาปานนั้น ชื่อว่าอานาปานสติ. อานาปานสตินี้เป็นชื่อของสติกำหนดอัสสาสะปัสสาสะ (ลมหายใจเข้าและหายใจออก) สมาธิประกอบด้วยอานาปานสติ หรือสมาธิในอานาปานสติ ชื่อว่าอานาปานสติสมาธิ.
               บทว่า ภาวยโต คือ เจริญนิพเพธภาคี (ธรรมเป็นส่วนแห่งการแทงตลอด).
               บทว่า สมาธิกานิ อันเนื่องมาแต่สมาธิ คือเป็นไปกับด้วยความยิ่ง. ความว่า มีความยิ่งเกิน.
               ในบทว่า สมาธิกานิ นี้ อักษรเป็นบทสนธิ.
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า สํ อธิกานิ. เมื่อเป็นอย่างนั้นก็ได้.
               ความว่า ญาณ ๒๐๐ ด้วย ยิ่งด้วย. ข้อนั้นไม่ถูก เพราะญาณ ๒๐๐ เหล่านี้ก็จะเกินไป ๒๐.
               บทว่า ปริปนฺเถ ญาณานิ ญาณในธรรมเป็นอันตราย คือญาณอันเป็นไป เพราะทำอันตรายให้เป็นอารมณ์.
               อนึ่ง ญาณในธรรมเป็นอุปการะในอุปกิเลส.
               บทว่า โวทาเน ญาณานิ ญาณในโวทาน (ความผ่องแผ้ว) คือ ชื่อว่าโวทาน เพราะจิตผ่องแผ้วบริสุทธิ์ด้วยญาณนั้น. ควรกล่าวว่า โวทานญาณานิ ท่านกล่าวว่า โวทาเน ญาณานิ ญาณในโวทานดุจในบทมีอาทิว่า สุตมเย ญาณํ ญาณในสุตมยปัญญา.๒-
____________________________
๒- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/มาติกา

               ชื่อว่า สโตการี เพราะมีสติสัมปชัญญะทำ ญาณของผู้มีสติทำนั้น.
               บทว่า นิพฺพิทาญาณานิ คือ ญาณอันเป็นนิพพิทา (เบื่อหน่าย).
               บทว่า นิพฺพิทานุโลเม ญาณานิ คือ ญาณเกื้อกูลนิพพิทา.
               ปาฐะว่า นิพฺพิทานุโลมิญาณานิ บ้าง.
               ความว่า ชื่อว่า นิพฺพิทานุโลมี เพราะมีญาณเกื้อกูลแก่นิพพิทา.
               บทว่า นิพฺพิทาปฏิปปสฺสทฺธิญาณานิ คือ ญาณในความสงบนิพพิทา.
               บทว่า วิมุตฺติสุเข ญาณานิ คือ ญาณสัมปยุตด้วยวิมุตติสุข.
               ด้วยบทมีอาทิว่า กตมานิ อฏฺฐ (๘) เป็นไฉน ท่านแสดงถึงญาณร่วมกันในธรรมเป็นอันตรายและในธรรมเป็นอุปการะเหล่านั้น เพราะญาณในธรรมเป็นอันตราย และในธรรมเป็นอุปการะเป็นคู่ ตรงกันข้ามและเป็นข้าศึกกัน.
               บทมีอาทิว่า กามจฺฉนฺทเนกฺขมฺมา มีความดังได้กล่าวแล้วในหนหลัง.
               อนึ่ง บทว่า อุปการํ เป็นนปุงสกลิงค์ โดยเป็นลิงควิปลาส.
               บทว่า สพฺเพปิ อกุสลา ธมฺมา อกุศลธรรมแม้ทั้งปวง คืออกุสลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่เหลือดังกล่าวแล้ว.
               อนึ่ง กุสลธรรมทั้งปวงเป็นฝ่ายแห่งการแทงตลอด.
               บทว่า ปริปนฺโถ และอุปการํ เป็นเอกวจนะ เพราะเพ่งถึงบทนั้นๆ นั่นเอง.
               พระสารีบุตรเถระ ครั้นถามถึงญาณในธรรมเป็นอันตรายและญาณในธรรมเป็นอุปการะนี้แล้ว แก้อารมณ์แห่งญาณแหล่านั้นแล้วแสดงสรุปญาณอันมีญาณนั้นเป็นอารมณ์ว่า เป็นอันแก้ญาณเหล่านั้นด้วยธรรมเป็นปริปันถะ และอุปการะเหล่านั้นแล้ว.
               แม้ในบทมีอาทิว่า ญาณในอุปกิเลสก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               จบอรรถกถาคณนวาร               

               ๒. อรรถกถาโสฬสญาณนิเทศ               
               บทว่า โสฬสหิ อากาเรหิ ด้วยอาการ ๑๖ เหล่านี้ คือด้วยส่วนแห่งญาณ ๑๖ ดังได้กล่าวแล้วโดยเป็นฝ่ายทั้งสอง.
               บทว่า อุทุปิตจิตฺตํ สมุทุปิตจิตฺตํ จิตอันฟุ้งซ่านและจิตสงบระงับ.
               ความว่า ในอุปจารภูมิ จิตสะสมไว้เบื้องบน สะสมไว้เบื้องบนโดยชอบ ทำการสะสมสูงขึ้นๆ ทำการสะสมสูงขึ้นๆ โดยชอบ.
               ปาฐะว่า อุทุชิตํ จิตฺตํ สุมุชิตํ บ้าง. ความว่า จิตชนะเพราะความสูง หรือชนะด้วยญาณอันทำความสูง.
               บทว่า สุมุทชิตํ คือชนะเพราะความสูงเสมอ หรือชนะด้วยญาณอันทำความสูง เป็นอันปฏิเสธความไม่เสมอ ในบทนี้ว่า สมา เสมอ. ในปาฐะนี้มีอุปสรรค ๒ ตัว คือ อุ. ทุ. ปาฐะว่า อุรูชิตํ จิตฺตํ สมฺมารูชิตํ บ้าง. แม้ในปาฐะนี้ก็มีความว่าชนะแล้วเหมือนกัน.
               อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า บทว่า อุรู อรู นี้ เป็นเพียงนิบาตเท่านั้น.
               ในอรรถกถาวีโรปมสูตร ท่านกล่าวความว่า ตชฺชิตํ และ สุตชฺชิตํ คือ คุกคามแล้ว คุกคามด้วยดีแล้ว. ความนั้นไม่สมควรในที่นี้.
               บทว่า เอกตฺเต สนฺติฏฺฐติ ย่อมดำรงอยู่ในความเป็นธรรมอย่างเดียว คือย่อมตั้งอยู่ในความเป็นธรรมอย่างเดียวในอุปจารภูมิ โดยไม่มีความฟุ้งซ่านในอารมณ์ต่างๆ.
               ในบทนี้ว่า นิยฺยานาวรณฏฺเฐน นีวรณา ชื่อว่านิวรณ์ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องกั้นธรรมเครื่องนำออก ท่านกล่าวว่า แม้ความไม่ยินดี แม้อกุศลทั้งปวงก็ชื่อว่า นิวรณ์เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องกั้น.
               บทว่า นิยฺยานาวรณฏฺเฐน ชื่อว่านิวรณ์ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องปิดทางมาแห่งธรรมเครื่องนำออก.
               ปาฐะว่า นิยฺยานาวารณฏฺเฐน บ้าง. ความว่า ชื่อว่านิวรณ์ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องห้ามธรรมเครื่องนำออก.
               บทว่า เนกฺขมฺมํ อริยานํ นิยฺยานํ เนกขัมมะเป็นธรรมเครื่องนำออกของพระอริยเจ้าทั้งหลาย คือที่ตั้งแห่งมรรค ชื่อว่าเป็นธรรมเครื่องนำออกของพระอริยเจ้าทั้งหลายด้วยผลูปจาร เพราะเป็นเหตุแห่งอริยมรรค กล่าวคือเป็นธรรมเครื่องนำออกของพระอริยเจ้าทั้งหลาย. พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมนำออกคือเข้าถึงในขณะแห่งมรรค ด้วยผลูปจารนั้นเป็นเหตุ.
               ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวว่า บทว่า นิยฺยานํ คือมรรค. ข้อนั้นไม่ถูก เพราะในที่นี้ ท่านประสงค์เอาอุปจาร และเพราะไม่มีอาโลกสัญญาและกุศลธรรมทั้งปวงในขณะแห่งมรรค.
               บทว่า นิวุตตฺตา เพราะถูกอกุศลธรรมกั้นไว้คือปกปิดไว้.
               บทว่า นปฺปชานาติ ย่อมไม่รู้ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งบุคคล.
               บทว่า วิสุทฺธิจิตฺตสฺส ผู้มีจิตบริสุทธิ์ ได้แก่ในอุปจารภูมินั่นเอง.
               บทว่า ขณิกสโมธานา ความที่จิตตั้งมั่นเป็นไปชั่วขณะ.
               ความว่า ชื่อว่าขณิกา เพราะมีขณะ เพราะเกิดขึ้นในขณะจิต ในขณะจิต ได้แก่อุปกิเลส การตั้งมั่น การประชุม การรวบรวมจิตเป็นไปชั่วขณะ ชื่อว่าขณิกสโมธาน เพราะฉะนั้น จึงมีความที่จิตตั้งมั่นเป็นไปชั่วขณะ.
               ท่านอธิบายไว้ว่า อุปกิเลสทั้งหลายเมื่อเกิด ย่อมเกิดด้วยการเกี่ยวเนื่องกันชั่วขณะ ด้วยการสืบต่อกันมาชั่วขณะ คือไม่เกิดด้วยอำนาจแห่งขณะจิตดวงหนึ่ง.
               จบอรรถกถาโสฬสญาณนิเทศ               

               ๓. อรรถกถาอุปกิเลสญาณนิเทศ               
               ปฐมฉักกะ (ฉักกะที่ ๑)               
               พึงทราบวินิจฉัยในปฐมฉักกะดังต่อไปนี้.
               บทว่า อสฺสาสาทิมชฺฌปริโยสานํ เบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดของลมหายใจเข้า คือปลายจมูก หรือนิมิตปาก เป็นเบื้องต้นของลมเข้าในภายใน หัวใจเป็นท่ามกลาง มีนาภีเป็นที่สุด. เมื่อพระโยคาวจรใช้สติไปตามเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดแห่งลมหายใจเข้านั้น จิตถึงความฟุ้งซ่านในภายใน โดยไปตามความต่างกันแห่งที่ตั้ง จิตถึงความฟุ้งซ่านในภายในนั้น เป็นอันตรายแก่สมาธิ เพราะไม่ดำรงอยู่ในอารมณ์เดียว.
               บทว่า ปสฺสาสาทิมชฺฌปริโยสานํ เบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดของลมหายใจออก คือสะดือเป็นเบื้องต้นของลมออกไปในภายนอก หัวใจเป็นท่ามกลาง ปลายจมูก นิมิตปาก หรืออากาศภายนอกเป็นที่สุด.
               ในที่นี้พึงทราบการประกอบโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               บทว่า อสฺสาสปฏิกงฺขณา นิกนฺติ ตณฺหาจริยา ความในใจ คือความปรารถนาลมหายใจเข้า การเที่ยวไปด้วยตัณหา.
               ความว่า การกำหนดว่ากรรมฐานนี้เนื่องด้วยลมจมูกแล้วพอใจ คือปรารถนาลมหายใจเข้าอันหยาบและหยาบ ความเป็นไปด้วยตัณหา.
               เมื่อมีความเป็นไปแห่งตัณหา ชื่อว่าเป็นอันตรายแก่สมาธิ เพราะไม่ดำรงอยู่ในอารมณ์เดียว.
               บทว่า ปสฺสาสปฏิกงฺขณา นิกนฺติ ความปรารถนาความพอใจลมหายใจออก.
               ความว่า ความพอใจคือความปรารถนาลมหายใจออก ซึ่งเป็นไปก่อนลมหายใจเข้า.
               บทที่เหลือพึงประกอบตามนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               บทว่า อสฺสาเสนาภิตุนฺนสฺส แห่งบุคคลผู้ถูกลมหายใจเข้าครอบงำ.
               ความว่า เมื่อลมหายใจเข้ายาวเกินไป หรือสั้นเกินไป ถูกลมหายใจเข้าทำลายเบียดเบียน เพราะมีความลำบากแห่งกายและจิตอันมีลมหายใจเข้าเป็นมูล.
               บทว่า ปสฺสาสปฏิลาเภ มุจฺฉนา ความหลงในการได้ลมหายใจออก คือเพราะถูกลมหายใจเข้าบีบคั้น ผู้มีความสำคัญในความพอใจในลมหายใจออก ปรารถนาลมหายใจออก ยินดีในการได้ลมหายใจออกนั้น.
               แม้ในลมหายใจออกเป็นมูลก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวเพื่อพรรณนาตามความดังที่ได้กล่าวแล้วดังต่อไปนี้.
               บทว่า อนุคจฺฉนา คือไปตาม.
               บทว่า สติ คือ สติอันเป็นเหตุฟุ้งซ่านในภายในและภายนอก.
               ชื่อว่า วิกฺเขโป เพราะจิตฟุ้งซ่านด้วยลมหายใจนั้น. ความฟุ้งซ่านในภายใน ชื่อว่า อชฺฌตฺตวิกฺเขโป. ความปรารถนา ความฟุ้งซ่านในภายในนั้น ชื่อว่า อชฺฌตฺตวิเขปากงฺขณา ท่านอธิบายว่า ความปรารถนาลมหายใจเข้าอันฟุ้งซ่านในภายใน ด้วยการไม่มีใจชอบ.
               พึงทราบความปรารถนาความฟุ้งซ่านในภายนอกโดยนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า เยหิ คือ ด้วยอุปกิเลสเหล่าใด.
               บทว่า วิกมฺปมานสฺส ผู้หวั่นไหว คือผู้ฟุ้งซ่านถึงความฟุ้งซ่าน.
               บทว่า โน เจ จิตฺตํ วิมุจฺจติ ถ้าจิตไม่หลุดพ้น คือจิตไม่น้อมไปในอารมณ์อันเป็นอัสสาสะปัสสาสะ และไม่หลุดพ้นจากธรรมเป็นข้าศึก.
               พึงทราบการเชื่อมว่า จิตไม่หลุดพ้น และให้ถึงความเชื่อต่อผู้อื่น.
               บทว่า วิโมกฺขํ อปฺปชานนฺตา ไม่รู้ชัดซึ่งวิโมกข์ คือผู้นั้นหรือผู้อื่นไม่รู้ชัดซึ่งวิโมกข์ อันเป็นความพอใจแห่งอารมณ์ และซึ่งวิโมกข์อันเป็นความพ้นจากธรรมเป็นข้าศึกอย่างนี้.
               บทว่า ปรปตฺติยา คือมีคนอื่นเป็นปัจจัย เชื่อคนอื่น ไม่มีญาณที่ประจักษ์แก่ตน.
               เมื่อควรกล่าวว่า ปรปจฺจยิกา ท่านกล่าว ปรปตฺติยา. ความอย่างเดียวกัน.
               จบปฐมฉักกะ               

               ทุติยฉักกะ (ฉักกะที่ ๒)               
               พึงทราบวินิจฉัยในทุติยฉักกะดังต่อไปนี้.
               บทว่า นิมิตฺตํ ที่สัมผัสแห่งลมหายใจเข้าและหายใจออก. เพราะอัสสาสะปัสสาสะกระทบดั้งจมูกของผู้มีจมูกยาว กระทบริมฝีปากบนของผู้มีจมูกสั้น. ถ้าพระโยคาวจรนี้คำนึงถึงนิมิตนั้น จิตของพระโยคาวจรผู้คำนึงถึงนิมิตนั้น ย่อมกวัดแกว่งอยู่ที่ลมหายใจเข้า คือไม่ตั้งอยู่ได้. เมื่อจิตของพระโยคาวจรนั้นไม่ตั้งอยู่ ความกวัดแกว่งนั้นเป็นอันตรายของสมาธิ เพราะไม่มีสมาธิ. หากว่า คำนึงถึงอัสสาสะอย่างเดียว จิตของพระโยคาวจรนั้นย่อมนำมาซึ่งความฟุ้งซ่านด้วยการเข้าไปในภายใน จิตไม่ตั้งอยู่ในนิมิต. เพราะฉะนั้น จิตย่อมกวัดแกว่งในนิมิต โดยนัยนี้พึงทำการประกอบแม้ในบทที่เหลือ.
               บทว่า วิกมฺปติ ในคาถาทั้งหลายได้แก่ ความฟุ้งซ่าน คือถึงความฟุ้งซ่าน.
               จบทุติยฉักกะ               

               ตติยฉักกะ (ฉักกะที่ ๓)               
               พึงทราบวินิจฉัยในตติยฉักกะดังต่อไปนี้.
               บทว่า อตีตานุธาวนํ จิตฺตํ จิตที่แล่นไปตามอตีตารมณ์ คือจิตที่ไปตามอัสสาสะหรือปัสสาสะอันล่วงเลยที่สัมผัสไป.
               บทว่า วิกฺเขปานุปติตํ ตกไปข้างฝ่ายฟุ้งซ่าน คือไปตามด้วยความฟุ้งซ่าน หรือตกไป คือไปตามความฟุ้งซ่านเอง.
               บทว่า อนาคตปฏิกงฺขณํ จิตฺตํ จิตที่ปรารถนาอนาคตารมณ์ คือจิตที่ปรารถนา คือหวังอัสสาสะหรือปัสสาสะอันยังไม่ถึงที่สัมผัส.
               บทว่า วิกมฺปิตํ หวั่นไหว คือหวั่นไหวด้วยความฟุ้งซ่านอันไม่ตั้งอยู่ในอัสสาสะและปัสสาสะนั้น.
               บทว่า ลีนํ จิตหดหู่ คือจิตท้อแท้ด้วยความเพียรอันย่อหย่อนเกินไปเป็นต้น.
               บทว่า โกสชฺชานุปติตํ จิตตกไปข้างฝ่ายเกียจคร้าน คือไปตามความเกียจคร้าน.
               บทว่า อติปคฺคหิตํ จิตที่ประคองไว้จัด คือจิตที่มีความอุตสาหะจัดด้วยปรารภความเพียรจัด.
               บทว่า อุทฺธจฺจานุปติตํ จิตตกไปข้างฝ่ายฟุ้งซ่าน คือไปตามความฟุ้งซ่าน.
               บทว่า อภินตํ จิตที่น้อมเกินไป คือจิตที่น้อมไปยิ่ง คือติดอยู่ในวัตถุแห่งอัสสาสะทั้งหลาย.
               บทว่า อปนตํ จิตที่ไม้น้อมไป คือจิตกระทบในวัตถุแห่งความไม่ยินดี หรือจิตปราศจากวัตถุแห่งความยินดีนั้น หรือยังไม่ปราศจากไป.
               ความว่า ไม่ปราศจากไปจากวัตถุนั้น.
               บทว่า ราคานุปติตํ จิตตกไปข้างฝ่ายความกำหนัด คือเมื่อพระโยคาวจรกำหนดไว้ในใจถึงอัสสาสปัสสาสนิมิต ความกำหนัดตกไปในปีติและสุข หรือในวัตถุที่รื่นเริง รำพันและการเล่นในก่อน.
               บทว่า พฺยาปาทานุปติตํ จิตตกไปข้างฝ่ายพยาบาท คือเมื่อพระโยคาวจรมีจิตไม่ยินดีในการกำหนดไว้ในใจ ความพยาบาทย่อมตกไปตามอำนาจแห่งความโทมนัสที่เกิดขึ้นแล้ว หรือในอาฆาตวัตถุ (วัตถุแห่งความอาฆาต) ที่ประพฤติมาในกาลก่อน.
               บทว่า น สมาธิยติ ในคาถาทั้งหลาย ได้แก่ จิตไม่ตั้งมั่น.
               บทว่า อธิจิตฺตํ อธิจิต คือสมาธิอันยิ่ง ท่านแสดงโดยจิตเป็นประธาน.
               ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระสารีบุตรเถระครั้นแสดงอุปกิเลส ๑๘ ด้วยฉักกะ ๓ แล้วบัดนี้ เมื่อจะแสดงถึงโทษแห่งอุปกิเลสเหล่านั้นโดยให้สำเร็จความเป็นอันตรายแก่สมาธิ จึงกล่าวคาถามีอาทิว่า อสฺสาสาทิมชฺฌปริโยสานํ ดังนี้อีก.
               ความว่า เบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดแห่งลมหายใจเข้า.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า กาโยปิ จิตฺตมฺปิ สารทฺธา จ โหนติ กายและจิตย่อมมีความปรารภ.
               ความว่า แม้รูปกาย ด้วยอำนาจแห่งรูปอันมีความฟุ้งซ่านเป็นสมุฏฐาน แม้จิตด้วยอำนาจแห่งความฟุ้งซ่านเป็นการสืบต่อ ย่อมเป็นอันยุ่งยากด้วยความลำบากและมีความกระวนกระวาย โดยความอ่อนกว่านั้นก็ตื่นเต้นหวั่นไหว โดยความอ่อนกว่านั้นก็ดิ้นรนวุ่นวาย ย่อมมีความยุ่งยาก มีกำลังบ้าง ปานกลางบ้าง อ่อนบ้าง.
               ท่านอธิบายว่า ไม่สามารถจะไม่ให้ยุ่งยากได้.
               บทว่า จิตฺตํ วิกมฺปิตตฺตาปิ คือ เพราะจิตหวั่นไหว.
               บทว่า ปริปุณฺณา อภาวิตา ในคาถาทั้งหลาย คือไม่เจริญเหมือนอย่างที่บำเพ็ญไว้.
               บทว่า อิญฺชิโต คือหวั่นไหว.
               บทว่า ผนฺทิโต ดิ้นรน คือหวั่นไหวอย่างอ่อน. เพราะความที่นิวรณ์ทั้งหลายในเบื้องต่ำไม่มีลำดับ ท่านจึงแสดงด้วยอัจจันตสมีปะ (ใกล้ที่สุด) ด้วยบทมีอาทิว่า ก็และด้วยนิวรณ์ทั้งหลายเหล่านี้.๑-
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๓๖๕

               แต่ในที่นี้ เพราะนิวรณ์ทั้งหลายมีลำดับในบทสรุป ท่านจึงแสดงเป็นปรัมมุขา (ลับหลัง) ด้วยบทมีอาทิว่า ก็และด้วยนิวรณ์ทั้งหลายเหล่านั้น.
               จบอรรถกถาอุปกิเลสญาณนิเทศ               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๓. อานาปาณกถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 294อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 362อ่านอรรถกถา 31 / 423อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=4070&Z=5199
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=1781
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=1781
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :