ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 294อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 362อ่านอรรถกถา 31 / 423อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค
๓. อานาปาณกถา

หน้าต่างที่ ๓ / ๕.

               ๕. อรรถกถาสโตการิญาณนิเทศ               
               พึงทราบวินิจฉัยในสโตการิญาณนิเทศ (ญาณในการทำสติ) ดังต่อไปนี้.
               ในมาติกา บทว่า อิธ ภิกฺขุ คือ ภิกษุในศาสนานี้.
               จริงอยู่ อิธ ศัพท์ในบทนี้ นี้แสดงถึงคำสอนอันเป็นนิสัยของบุคคลผู้ยังอานาปานสติสมาธิ มีประการทั้งปวงให้เกิด และปฏิเสธความเป็นอย่างนั้นของศาสนาอื่น.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะมีในศาสนานี้เท่านั้น ฯลฯ ลัทธิของศาสนาอื่นว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง.
____________________________
๑- ม. มู. ๑๒/๑๕๔

               บทว่า อรญฺญคโต วา รุกฺขมูลคโต วา สุญฺญาคารคโต วา อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นี้แสดงถึงการกำหนดถือเอาเสนาสนะอันสมควรแก่การเจริญอานาปานสติสมาธิของภิกษุนั้น. จิตของภิกษุนั้นคุ้นในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นตลอดกาลนาน ไม่ปรารถนาจะพอกพูนอารมณ์อันเป็นอานาปานสติสมาธิ จิตย่อมแล่นไปนอกทางทีเดียว ดุจรถเทียมด้วยโคโกง เพราะฉะนั้น เปรียบเหมือนคนเลี้ยงโค ประสงค์จะฝึกลูกโคโกงที่ดื่มน้ำนมทั้งหมดของแม่โคนมโกงให้เจริญ จึงนำออกจากแม่โคนม ฝังเสาใหญ่ไว้ข้างหนึ่ง เอาเชือกผูกไว้ที่เสานั้น ทีนั้นลูกโคของเขาไม่อาจดิ้นจากที่นั้นๆ หนีไปได้ จึงหมอบนอนนิ่งอยู่กับเสานั้นเอง ฉันใด
               แม้ภิกษุนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ประสงค์จะฝึกจิตที่ประทุษร้ายให้เจริญ ด้วยการดื่มรสมีรูปารมณ์เป็นต้นตลอดกาลนาน จึงนำออกจากอารมณ์มีรูปเป็นต้น แล้วเข้าไปยังป่าก็ดี โคนไม้ก็ดี เรือนว่างก็ดี ผูกด้วยเชือกคือสติ ที่เสาคือลมอัสสาสะและปัสสาสะนั้น จิตของภิกษุนั้นแม้ดิ้นรนไปข้างโน้นข้างนี้ เมื่อไม่ได้อารมณ์ที่สะสมไว้ในกาลก่อน ก็ไม่สามารถจะตัดเชือกคือสติหนีไปได้ จึงนั่งสงบ นอนนิ่งอยู่กับอารมณ์นั้นนั่นเอง ด้วยสามารถแห่งอุปจารและอัปปนา.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า๒-
                                   นรชนพึงผูกลูกโคที่ควรฝึกไว้ที่เสานี้ ฉันใด
                         ภิกษุพึงผูกจิตของตนไว้ในอารมณ์ ด้วยสติ ให้มั่นคง
                         ฉันนั้น.
____________________________
๒- วิสุทฺธิมคฺค. ๒/๕๕

               เสนาสนะนั้นของภิกษุนั้นสมควรแก่ภาวนา ด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะอานาปานสติกรรมฐาน อันเป็นปทัฏฐานแห่งสุขวิหารธรรมในปัจจุบันของการบรรลุคุณวิเศษ ของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งปวง เป็นยอดในประเภทของกรรมฐานนี้ อันพระโยคาวจรไม่สละท้ายบ้าน อันวุ่นวายไปด้วยเสียงหญิง บุรุษ ช้างและม้าเป็นต้น ทำได้ไม่ง่ายนักเพื่อเจริญ เพราะฌานมีเสียงเสียบแทง.
               ส่วนพระโยคาวจรกำหนดถือเอากรรมฐานนี้ในป่ามิใช่หมู่บ้าน ยังอานาปานสติจตุตถฌานให้เกิด ทำฌานนั้นให้เป็นบาท พิจารณาสังขารทั้งหลายเป็นการทำได้ง่ายเพื่อบรรลุพระอรหัตอันเป็นผลเลิศ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงอ้างถึงเสนาสนะอันสมควรแก่พระโยคาวจรนั้น จึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า อรญฺญคโต วา ดังนี้.
               พระเถระก็เหมือนอย่างนั้น เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ดุจอาจารย์ผู้มีวิชาเกี่ยวกับพื้นที่.
               จริงอยู่ อาจารย์ผู้มีวิชาเกี่ยวกับพื้นที่นั้นเห็นพื้นที่สร้างนครแล้วกำหนดไว้ด้วยดี แนะนำว่า พวกท่านจงสร้างนคร ณ พื้นที่นี้เถิด เมื่อนครสำเร็จลงด้วยดี ย่อมได้สักการะใหญ่ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงกำหนดเสนาสนะอันสมควรแก่พระโยคาวจร แล้วทรงแนะนำว่าควรประกอบกรรมฐาน ณ ที่นี้ แต่นั้นเมื่อพระโยคาวจรประกอบกรรมฐาน ณ ที่นั้น บรรลุพระอรหัตโดยลำดับ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงได้รักสักการะใหญ่ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนอ ดังนี้.
               อนึ่ง ภิกษุนี้ท่านกล่าวว่าเป็นเช่นกับเสือเหลือง.
               พึงทราบว่า เหมือนอย่างพญาเสือเหลืองซุ่มอาศัยหญ้ารกชัฏ ป่ารกชัฏ ภูเขารกชัฏ ในป่าจับเนื้อมีควายป่า กวาง สุกรเป็นต้นฉันใด ภิกษุนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ประกอบกรรมฐานในป่าเป็นต้น ถือเอาโสดาปัตติมรรคสกทาคามิมรรค อนาคามิมรรคและอรหัตมรรคและอริยผลทั้งหลายตามลำดับ.
               ดังที่พระโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า๓-
                                   ธรรมดาเสือเหลืองซุ่มจับเนื้อทั้งหลาย ฉันใด
                         พระพุทธบุตรนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ประกอบความเพียร
                         เจริญวิปัสสนาเข้าไปสู่ป่า ย่อมถือเอาผลอันสูงสุด.
____________________________
๓- วิสุทฺธิมคฺค. ๒/๕๖

               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงเสนาสนะในป่าอันเป็นพื้นที่ประกอบความเพียรอย่างไวจึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า อรญฺญคโต วา ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อรญฺญคโต อยู่ป่า คืออยู่ป่าอันเป็นความสุขเกิดแต่ความสงัดอย่างใดอย่างหนึ่ง มีลักษณะดังกล่าวแล้วในตอนก่อน.
               บทว่า รุกฺขมูลคโต อยุ่โคนไม้ คืออยู่ใกล้ต้นไม้.
               บทว่า สุญฺญาคารคโต อยู่เรือนว่าง คืออยู่โอกาสสงัดว่างเปล่า.
               อนึ่ง ในบทนี้แม้อยู่เสนาสนะ ๗ อย่างที่เหลือเว้นป่าและโคนไม้ก็ควรกล่าวว่า สุญฺญาคารคโต อยู่เรือนว่างได้.
               จริงอยู่ เสนาสนะมี ๙ อย่าง.
               ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า๔- ภิกษุนั้นเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำเขา ป่าช้า ราวป่า ที่แจ้ง กองฟาง.
____________________________
๔- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๕๙๙

               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแนะนำเสนาสนะอันสมควรแก่การเจริญอานาปานสติกรรมฐาน อันเกื้อกูลด้วย ๓ ฤดูและเกื้อกูลด้วยธาตุจริยาแก่ภิกษุนั้น แล้วเมื่อจะทรงแนะนำถึงอิริยาบถอันสงบอันเป็นฝ่ายแห่งความไม่ท้อแท้และไม่ฟุ้งซ่านจึงตรัสว่า นิสีทติ นั่ง ครั้นแล้วเมื่อจะทรงแสดงความที่ภิกษุนั้นนั่งได้มั่นคง ความที่ลมอัสสาสะปัสสาสะเป็นไปปกติ๕- และอุบายกำหนดถือเอาอารมณ์ จึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า ปลฺลงฺกํ อาภุชิตฺวา คู้บัลลังก์ (ขัดสมาธิ).
____________________________
๕- วิสุทฺธิมคฺค. ๒/๕๘

               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปลฺลงฺกํ คือ นั่งพับขาโดยรอบ.
               บทว่า อาภุชิตฺวา คู้ คือพับ.
               บทว่า อุชํ กายํ ปณิธาย ตั้งกายตรง คือตั้งสรีระเบื้องบนให้ตรง ให้กระดูกสันหลัง ๑๘ ท่อนจดกัน เพราะเมื่อนั่งอย่างนี้ หนัง เนื้อ เอ็นจะไม่น้อมลง เวทนาที่เกิดขึ้นทุกๆ ขณะเพราะหนัง เนื้อและเอ็นน้อมลงเป็นเหตุจะไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น เมื่อเวทนาไม่เกิด จิตก็มีอารมณ์เดียว กรรมฐานไม่ตก ย่อมเข้าถึงความเจริญงอกงาม.
               บทว่า ปริมุขํ สตึ อุปฏฺฐเปตฺวา ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า คือ ดำรงสติเฉพาะกรรมฐาน.
               บทว่า โส สโตว อสฺสสติ สโต ปสฺสสติ ภิกษุนั้นเป็นผู้มีสติหายใจเข้า เป็นผู้มีสติหายใจออก คือภิกษุนั้นครั้นนั่งอย่างนี้และดำรงสติไว้อย่างนี้ เมื่อไม่ละสตินั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก.
               ท่านอธิบายว่า เป็นผู้ทำสติ.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงถึงประการที่ภิกษุทำสติ จึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า ทีฆํ วา อสฺสสนฺโต เมื่อหายใจเข้ายาว.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ทีฆํ วา อสฺสสนฺโต เมื่อหายใจเข้ายาว คือลมหายใจเข้าเป็นไปยาว. หายใจเข้าสั้นก็เหมือนอย่างนั้น.
               อนึ่ง พึงทราบความที่ลมหายใจเข้าหายใจออก ยาวและสั้นโดยกาล.
               จริงอยู่ มนุษย์ทั้งหลายบางครั้งหายใจเข้าและหายใจออกยาว เหมือนช้างและงูเป็นต้น บางครั้งสั้นเหมือนสุนัขและกระต่ายเป็นต้น. ลมอัสสาสะปัสสาสะที่เหน็ดเหนื่อยยุ่งยากด้วยประการอื่นไม่มียาวและสั้น. เพราะฉะนั้น ลมอัสสาสะปัสสาสะเมื่อเข้าและออกตลอดกาลนานพึงทราบว่ายาว เมื่อเข้าและออกตลอดกาลสั้นพึงทราบว่าสั้น.
               ในเรื่องนี้ ภิกษุนี้ เมื่อหายใจเข้าและหายใจออกยาวโดยอาการ ๙ อย่างดังกล่าวแล้วในตอนก่อน ย่อมรู้ว่าเราหายใจเข้าหายใจออกยาว. สั้นก็เหมือนกัน.
               อนึ่ง
                         วรรณะ ๔ คือ ยาว สั้น ลมอัสสาสะและลมปัสสาสะเช่นนั้น
                         ย่อมเป็นไป บนปลายจมูกของภิกษุผู้รู้อยู่อย่างนั้น.
               พึงทราบว่า การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานย่อมสมบูรณ์แกภิกษุนั้นด้วยอาการหนึ่งแห่งอาการ ๙ อย่าง
               บทว่า สพฺพกายปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ สพฺพกายปฏิสํเวที ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ภิกษุย่อมศึกษาว่าจักเป็นผู้รู้แจ้งกองลมทั้งปวงหายใจเข้า ย่อมศึกษาว่าจักเป็นผู้รู้แจ้งกองลมทั้งปวง หายใจออก คือภิกษุย่อมศึกษาว่า เราจะทำเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดของกองลมอัสสาสะทั้งสิ้นให้รู้แจ้ง ทำให้ปรากฏ หายใจเข้า ย่อมศึกษาว่า เราจะทำเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดของกองลมปัสสาสะทั้งสิ้นให้รู้แจ้ง ให้ปรากฏ หายใจออก. ภิกษุทำให้รู้แจ้งให้ปรากฏอย่างนี้ หายใจเข้าและหายใจออกด้วยจิตสัมปยุตด้วยญาณ. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อสฺสสิสฺสามิ ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺติ ย่อมศึกษาว่าเราจักหายใจเข้า เราจักหายใจออก.
               จริงอยู่ เบื้องต้นในกองลมอัสสาสะหรือในกองลมปัสสาสะที่เป็นของละเอียดๆ ไหลไปของภิกษุนั้นย่อมปรากฏ แต่ท่ามกลางที่สุดไม่ปรากฏ. ภิกษุนั้นย่อมอาจเพื่อกำหนดถือเอาเบื้องต้นเท่านั้น ย่อมลำบากในท่ามกลางและที่สุด. ภิกษุรูปหนึ่งท่ามกลางปรากฏ เบื้องต้นและที่สุดไม่ปรากฏ. ภิกษุรูปนั้นอาจเพื่อกำหนดถือเอาท่ามกลางเท่านั้น ย่อมลำบากในเบื้องต้นและที่สุด. รูปหนึ่งที่สุดปรากฏ เบื้องต้นและท่ามกลางไม่ปรากฏ. รูปนั้นอาจเพื่อกำหนดถือเอาที่สุดเท่านั้น ย่อมลำบากในเบื้องต้นและท่ามกลาง. รูปหนึ่งปรากฏทั้งหมด รูปนั้นอาจเพื่อกำหนดถือเอาแม้ทั้งหมดได้ ไม่ลำบากในที่ไหนๆ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงว่า ควรเป็นเช่นนั้น จึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า สพฺพกายปฏิสํเวที ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สิกฺขติ ย่อมศึกษา คือเพียรพยายามอย่างนี้.
               พึงทราบความในบทนี้อย่างนี้ว่า
               ภิกษุย่อมศึกษา ย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมทำให้มากซึ่งสิกขา ๓ เหล่านี้ คือความสำรวมของผู้เป็นอย่างนั้นชื่อว่าอธิศีลสิกขา สมาธิของผู้เป็นอย่างนั้นชื่อว่าอธิจิตสิกขา ปัญญาของผู้เป็นอย่างนั้นชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา ในอารมณ์นั้น ด้วยสตินั้น ด้วยมนสิการนั้น.
               ในบทนั้นควรหายใจเข้าและควรหายใจออกอย่างเดียวโดยนัยก่อน ไม่ควรทำอะไรๆ อย่างอื่น แต่จำเดิมแต่นั้นควรทำความเพียรในการให้ญาณเกิดขึ้นเป็นต้น เพราะฉะนั้น เพื่อแสดงอาการอันยังญาณให้เกิดขึ้น ซึ่งท่านกล่าวถึงบาลีด้วยอำนาจแห่งปัจจุบันกาลว่า อสฺสสามีติ ปชานาติ ปสฺสสามีติ ปชานาติ ภิกษุย่อมรู้ว่าเราหายใจเข้า ย่อมรู้ว่าเราหายใจออกแล้วควรทำตั้งแต่นี้ไป พึงทราบว่าท่านยกบาลีขึ้นด้วยอำนาจแห่งอนาคตกาลโดยนัยมีอาทิว่า สพฺพกายปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามีติ เราจักเป็นผู้รู้แจ้งกองลมทั้งปวง หายใจเข้า ดังนี้.
               บทว่า ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ ฯลฯ สิกฺขติ ย่อมศึกษาว่าจักระงับกายสังขาร ฯลฯ คือย่อมศึกษาว่า เราระงับ สงบ ดับและเข้าไปสงบกายสังขาร กล่าวคือลมอัสสาปัสสาสะอย่างหยาบ หายใจเข้าหายใจออก.
               ในบทนั้นพึงทราบถึงความหยาบ ความละเอียด และความสงบด้วยประการอย่างนี้.
               ในกาลที่ภิกษุนี้มิได้กำหนดถือเอาก่อน กายและจิตย่อมกระวนกระวายและเป็นของหยาบ เมื่อกายและจิตหยาบไม่สงบ แม้ลมอัสสาสะลมปัสสาสะก็หยาบด้วย ลมอัสสาสะลมปัสสาสะมีกำลังกว่ายังเป็นไป จมูกไม่เพียงพอ ต้องหายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้างทางปาก.
               อนึ่ง เมื่อใดกายบ้าง จิตบ้าง อันภิกษุนั้นกำหนดถือเอา เมื่อนั้นลมอัสสาสปัสสาสะเหล่านั้นสงบระงับ เมื่อลมอัสสาสะปัสสาสะเหล่านั้นสงบ ลมอัสสาสปัสสาสะมีหรือไม่มี.
               เหมือนอย่างว่า เมื่อบุรุษวิ่งลงจากภูเขาหรือยกภาระหนักลงจากศีรษะยืนอยู่ ลมอัสสาสะปัสสาสะก็หยาบ จมูกไม่เพียงพอ ต้องยืนหายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้างทางปาก.
               อนึ่ง เมื่อใดบุรุษนั้นบรรเทาความเหน็ดเหนื่อยนั้น อาบน้ำ ดื่มน้ำ เอาผ้าสาฎกเปียกปิดอก นอนใต้ร่มเงาเย็น เมื่อนั้นลมอัสสาสะปัสสาสะของบุรุษนั้นละเอียด ย่อมถึงอาการที่ควรค้นคว้าดูว่า ลมอัสสาสปัสสาสะมีหรือไม่มี ฉันใด พึงให้พิสดารว่า ในกาลที่ภิกษุที่กำหนดถือเอาอย่างนั้นก็ฉันนั้น.
               จริงอย่างนั้น ในกาลที่ภิกษุนั้นไม่กำหนดถือเอาก่อน การผูกใจ การรวบรวมและการใส่ใจว่า เราย่อมสงบกายสังขารหยาบๆ ดังนี้ย่อมไม่มี. แต่ในกาลที่กำหนดถือเอาย่อมมี. ด้วยเหตุนั้น ในกาลที่ภิกษุนั้นกำหนดถือเอาจากกาลที่มิได้กำหนดถือเอา กายสังขารเป็นของละเอียด.
               ดังที่พระโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า๖-
                         เมื่อกายและจิตปั่นป่วน กายสังขารย่อมเป็นไปรุนแรง
                         เมื่อกายไม่ปั่นป่วน กายสังขารย่อมเป็นไปอย่างสุขุม.
____________________________
๖- วิสุทฺธิมคฺค. ๒/๖๓

               แม้ในกาลกำหนดถือเอากายสังขารหยาบ ในอุปจารแห่งปฐมฌาน กายสังขารสุขุม. แม้ในอุปจารแห่งปฐมฌานนั้น กายสังขารก็ยังหยาบ ในปฐมฌานจึงสุขุม. ในปฐมฌานและในอุปจารแห่งทุติยฌาน กายสังขารก็ยังหยาบ ในทุติยฌานจึงสุขุม. ในทุติยฌานและในอุปจารแห่งตติยฌานก็ยังหยาบ ในตติยฌานจึงสุขุม. ในตติยฌานและในอุปจารแห่งจตุตถฌานก็ยังหยาบ ในจตุตถฌานจึงสุขุมยิ่งนัก ย่อมถึงการไม่เป็นไปอีกเลย.
               นี้เป็นมติของท่านผู้กล่าวทีฆภาณกสังยุต.
               ส่วนท่านมัชฌิมภาณกาจารย์ย่อมปรารถนาความสุขุมกว่าแม้ในอุปจารแห่งฌานสูงๆ จากฌานต่ำๆ อย่างนี้ว่า ในปฐมฌานยังหยาบ ในอุปจารแห่งทุติยฌานจึงสุขุม. ตามมติของท่านภาณกาจารย์ทั้งปวง กายสังขารที่เป็นไปแล้วในกาลมิได้กำหนดถือเอา ย่อมสงบในกาลที่กำหนดถือเอา กายสังขารที่เป็นไปแล้วในกาลกำหนดถือเอา ย่อมสงบในอุปจารแห่งปฐมฌาน ฯลฯ กายสังขารที่เป็นไปแล้วอุปจารแห่งจตุตถฌาน ย่อมสงบในจตุตถฌาน.
               นี้เป็นนัยในสมถะเท่านั้น.
               ส่วนในวิปัสสนา กายสังขารที่เป็นไปแล้วในกาลที่มิได้กำหนดถือเอายังหยาบ ในกาลกำหนดถือเอามหาภูตรูปจึงสุขุม. แม้กายสังขารนั้นก็ยังหยาบ ในกาลกำหนดถือเอาอุปาทารูปจึงสุขุม. แม้นั้นก็ยังหยาบ ในกาลกำหนดถือเอารูปทั้งสิ้นจึงสุขุม. แม้นั้นก็ยังหยาบ ในกาลกำหนดถือเอาอรูปจึงสุขุม. แม้นั้นก็ยังหยาบ ในกาลกำหนดถือเอารูปและอรูปจึงสุขุม. แม้นั้นก็ยังหยาบ ในกาลกำหนดถือเอาปัจจัยจึงสุขุม. แม้นั้นก็ยังหยาบ ในการเห็นนามรูปพร้อมกับปัจจัยจึงสุขุม. แม้นั้นก็ยังหยาบ ในวิปัสสนาอันมีลักษณะ เป็นอารมณ์จึงสุขุม. แม้นั้นก็ชื่อว่ายังหยาบ เพราะเป็นวิปัสสนายังอ่อน ในวิปัสสนามีกำลังจึงสุขุม.
               พึงทราบความสงบแห่งกายสังขารก่อนๆ ด้วยกายสังขารหลังๆ โดยนัยดังกล่าวแล้วในก่อนนั่นแล.
               ในบทนี้ พึงทราบความที่กายสังขารหยาบและสุขุม และความสงบอย่างนี้.
               นี้เป็นการพรรณนาบทตามลำดับแห่งปฐมจตุกะที่ท่านกล่าวไว้แล้ว ด้วยอำนาจแห่งกายานุปัสสนาในที่นี้
               ก็เพราะในที่นี้ท่านกล่าวจตุกะนี้ด้วยอำนาจแห่งกรรมฐานแห่งอาทิกรรมิก. ส่วนจตุกะ ๓ นอกนี้ ท่านกล่าวด้วยอำนาจแห่งเวทนานุปัสนา จิตตานุปัสนาและธรรมานุปัสนา.
               ฉะนั้น กุลบุตรผู้เป็นอาทิกรรมิกประสงค์จะเจริญกรรมฐานนี้ แล้วบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาแห่งวิปัสสนาอันเป็นปทัฏฐานของจตุกฌาน ทำกิจทั้งปวงมียังศีลให้บริสุทธิ์เป็นต้นโดยนัยดังกล่าวแล้วในวิสุทธิมรรค แล้วพึงเรียนกรรมฐานอันมีสันธิ (การติดต่อ) ๕ ในสำนักของอาจารย์ผู้ประกอบด้วยองค์ ๗.
               สันธิ ๕ เหล่านี้ คือ การเรียน ๑ การสอบถาม ๑ ความปรากฏ ๑ ความแนบแน่น ๑ ลักษณะ ๑.
               ในสันธิเหล่านั้น การเรียนกรรมฐานชื่อว่าอุคคหะ. การสอบถามกรรมฐานชื่อว่าปริปุจฉา๗- ความปรากฏแห่งกรรมฐานชื่อว่าอุปัฏฐานะ. ความแนบแน่นแห่งกรรมฐานชื่อว่าอัปปนา. ลักษณะแห่งกรรมฐานชื่อว่าลักษณะ.
____________________________
๗- วิสุทฺธิมคฺค. ๒/๖๘

               ท่านอธิบายไว้ว่า กรรมฐานนี้เป็นลักษณะอย่างนี้ ได้แก่การไตร่ตรองสภาพของกรรมฐาน.
               กุลบุตรผู้เรียนกรรมฐานมีสันธิ ๕ อย่างนี้ แม้ตนเองก็ไม่ลำบาก แม้อาจารย์ก็ไม่ลำบาก. เพราะฉะนั้น ให้อาจารย์ยกขึ้นหน่อยหนึ่งแล้วใช้เวลาท่องให้มาก เรียนกรรมฐานมีสันธิ ๕ อย่างนี้ เว้นที่อยู่อันประกอบด้วยโทษ ๑๘ อย่าง ในสำนักของอาจารย์หรือในที่อื่น แล้วอยู่ในเสนาสนะประกอบด้วยองค์ ๕ ตัดกังวลเล็กน้อย บริโภคเสร็จแล้วบรรเทาความมัวเมาอาหาร นั่งให้สบาย ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ทำจิตให้ร่าเริง ไม่ให้เสื่อมแม้แต่บทเดียวจากการเรียนจากอาจารย์ พึงทำอานาปานสติกรรมฐานนี้ไว้ในใจ.
               ต่อไปนี้เป็นวิธีมนสิการกรรมฐาน คือ
                         คณนา (การนับ) อนุพัธนา (การติดตาม) ผุสนา
                         (การสัมผัส) การตั้งไว้ ความเห็นแจ้ง ความเจริญ
                         ความบริสุทธิ์ การพิจารณากรรมฐานเหล่านั้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า คณนา คือ การนับนั่นเอง.
               บทว่า อนุพนฺธนา คือ การไปตาม. บทว่า ผุสนา คือ การถูกต้อง.
               บทว่า ฐปนา คือ การแนบแน่น. บทว่า สลฺลกฺขณา คือ การเห็นแจ้ง.
               บทว่า วิวฏฺฏนา คือ มรรค. บทว่า ปาริสุทฺธิ คือ ผล.
               บทว่า เตสญฺจ ปฏิปสฺสนา คือ การพิจารณากรรมฐานเหล่านั้น.
               ในบทนั้น กุลบุตรผู้เป็นอาทิกรรมนี้ พึงใส่ใจกรรมฐานนี้ด้วยการนับก่อน. เมื่อนับไม่ควรให้ต่ำกว่า ๕ ไม่ควรสูงกว่า ๑๐ ไม่ควรแสดงเป็นตอนๆ ในระหว่าง. เมื่อนับต่ำกว่า ๕ จิตตุปบาท ย่อมดิ้นรนในโอกาสคับแคบ ดุจฝูงโคที่ถูกขังไว้ในคอกอันคับแคบ. เมื่อนับเกิน ๑๐ จิตตุปบาทอาศัยการนับเท่านั้น เมื่อแสดงเป็นตอนๆ ในระหว่าง จิตย่อมหวั่นไหวว่า กรรมฐานของเราถึงยอดแล้วหรือยังหนอ เพราะฉะนั้น ควรนับเว้นโทษเหล่านี้เสีย.
               อนึ่ง เมื่อนับควรนับเหมือนการตวงข้าวเปลือกนับช้าๆ ก่อน เพราะตวงข้าวเปลือกให้เต็มทะนาน แล้วนับหนึ่ง แล้วเกลี่ยลง เมื่อเต็มอีก ครั้นเห็นหยากเยื่อไรๆ ก็ทิ้งเสียนับหนึ่ง หนึ่ง. แม้ในการนับสอง สอง ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ผู้ใดกำหนดลมอัสสาสะปัสสาสะ แม้ด้วยวิธีนี้อย่างนี้ กำหนดนับว่าหนึ่ง หนึ่ง ไปจนถึง สิบ สิบ เมื่อผู้นันนับอย่างนี้ ลมอัสสาสะปัสสาสะทั้งเข้าและออกย่อมปรากฏ.
               ต่อแต่นั้น กุลบุตรควรละการนับเหมือนตวงข้าวเปลือกที่นับช้าๆ นั้นเสีย แล้วนับด้วยการนับของคนเลี้ยงโคคือนับเร็ว เพราะโคบาลผู้ฉลาด เอาก้อนกรวดใส่พก ถือเชือกและไม้ไปคอกแต่เช้าตรู่ ตีที่หลังโค นั่งบนปลายเสาเขื่อนดีดก้อนกรวด นับโคที่ไปถึงประตูว่า หนึ่ง สอง. โคที่อยู่อย่างลำบากในที่คับแคบมาตลอด ๓ ยาม จึงออกเบียดเสียดกันและกัน รีบออกเป็นหมู่ๆ. โคบาลนั้นรีบนับว่า สาม สี่ ห้า สิบ. เมื่อโคบาลนับโดยนับก่อน ลมอัสสาสะปัสสาสะปรากฏสัญจรไปเร็วๆ บ่อยๆ.
               แต่นั้น โคบาล ครั้นรู้ว่าลมอัสสาสะปัสสาสะสัญจรบ่อยๆ จึงไม่นับทั้งภายในทั้งภายนอก นับเฉพาะที่ถึงประตูเท่านั้น แล้วรีบนับเร็วๆ ว่า ๑ ๒ ๓ ๔ ๕, ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖, ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗, ๘ ๙ ๑๐.
               จริงอยู่ ในกรรมฐานอันเนื่องด้วยการนับจิต ย่อมมีอารมณ์เป็นหนึ่งด้วยกำลังการนับ ดุจจอดเรือไว้ที่กระแสเชี่ยว ด้วยความค้ำจุนของถ่อ.
               เมื่อกุลบุตรนับเร็วๆ อย่างนี้ กรรมฐานย่อมปรากฏดุจเป็นไปติดต่อกัน เมื่อรู้ว่า กรรมฐานเป็นไปติดต่อกันแล้วไม่กำหนดถือเอาลมภายในและภายนอก รีบนับโดยนัยก่อนนั่นแล เมื่อจิตเข้าไปพร้อมกับลมเข้าไปภายใน จิตกระทบกับลมภายใน ย่อมเป็นดุจเต็มด้วยมันข้น เมื่อนำจิตออกพร้อมกับลมออกภายนอก จิตย่อมฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ของความในภายนอก.
               อนึ่ง เมื่อเจริญเว้นสติในโอกาสสัมผัส ภาวนาย่อมสมบูรณ์ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ไม่พึงกำหนดถือเอาลมภายในและภายนอก แล้วรีบนับโดยนัยก่อนนั่นแล.
               ก็จิตนี้ควรนับนานเพียงไร ตลอดเมื่ออารมณ์แห่งอัสสาสะปัสสาสะยังมีอยู่ เว้นการนับจิตย่อมดำรงอยู่ เมื่ออารมณ์แห่งอัสสาสะปัสสาสะยังมีอยู่ การนับเพื่อให้จิตดำรงอยู่ ทำการตัดวิตกอันซ่านไปในภายนอกเสีย ควรทำไว้ในใจ ด้วยการนับอย่างนี้แล้วทำไว้ในใจด้วยการติดตาม.
               การรวบรวมการนับแล้วติดตามลมอัสสาสะปัสสาสะในลำดับแห่งสติ ชื่อว่า อนุพนฺธนา (การติดตาม). การนับนั้นมิใช่ด้วยอำนาจแห่งการติดตามในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด. เบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด และโทษในการติดตามการนับนั้น ท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.
               เพราะฉะนั้น เมื่อมนสิการด้วยการติดตาม ไม่ควรใส่ใจด้วยอำนาจแห่งเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด.
               อีกอย่างหนึ่ง ควรใส่ใจด้วยอำนาจแห่งการสัมผัสและด้วยอำนาจแห่งการแนบแน่น เพราะว่าไม่มีการใส่ใจไว้ต่างหากด้วยอำนาจแห่งการสัมผัสและแนบแน่น ดุจด้วยอำนาจแห่งการนับและการติดตาม.
               อนึ่ง เมื่อนับในที่สัมผัสย่อมใส่ใจด้วยการนับและด้วยการสัมผัส รวบรวมการนับในที่สัมผัสนั้นแล้วติดตามการนับและการสัมผัสเหล่านั้นด้วยสติและดำรงจิตไว้ด้วยสามารถแห่งอัปปนา ท่านกล่าวว่า ย่อมใส่ใจด้วยการติดตาม ด้วยการสัมผัสและด้วยการแนบแน่น.
               พึงทราบความนี้นั้นด้วยการอุปมาด้วยคนพิการและคนเฝ้าประตู ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาทั้งหลาย และด้วยอุปมาด้วยเลื่อย ดังที่ท่านกล่าวไว้แล้วในบาลีนี้แหละ.
               ต่อไปนี้เป็นอุปมาด้วยคนพิการ.
               เปรียบเหมือนคนพิการแกว่งชิงช้าแก่มารดาและบุตรผู้เล่นอยู่ที่ชิงช้า นั่งอยู่ที่โคนเสาชิงช้านั้นเอง ย่อมเห็นที่สุดทั้งสองและท่ามกลางของกระดานชิงช้าที่แกว่งไปมาตามลำดับ ไม่ขวนขวายเพื่อจะดูที่สุดทั้งสองและท่ามกลางฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันอยู่ที่โคนเสา คือการติดตามด้วยอำนาจแห่งสติ แล้วนั่งแกว่งชิงช้าคือลมอัสสาสและปัสสาสะด้วยสติ ในนิมิตนั้นติดตามเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดของลมอัสสาสและปัสสาสะในที่สัมผัสทั้งไปและมาด้วยสติ ดำรงจิตไว้ ณ ที่นั้นนั้นแลย่อมเห็น และไม่ขวนขวายเพื่อจะดูลมอัสสาสะและปัสสาสะเหล่านั้น.
               นี้อุปมาด้วยคนพิการ.
               ส่วนอุปมาด้วยคนเฝ้าประตูมีดังนี้
               เปรียบเหมือนคนเฝ้าประตู ย่อมไม่ตรวจสอบคนภายในและภายนอกนครว่า ท่านเป็นใคร มาแต่ไหน จะไปไหน อะไรในมือของท่าน เพราะคนเหล่านั้นไม่ใช่หน้าที่ของเขา แต่เขาตรวจสอบเฉพาะคนที่มาถึงประตูแล้วเท่านั้นฉันใด ลมเข้าไปภายในและลมออกไปภายนอกไม่ใช่ภาระของภิกษุนั้นฉันนั้นเหมือนกัน ลมที่ถึงทวารเท่านั้นจึงเป็นภาระ.
               นี้เป็นอุปมาด้วยคนเฝ้าประตู.
               ส่วนอุปมาด้วยเลื่อยได้กล่าวไว้แล้วในอานาปานสติกถาโดยนัยมีอาทิว่า นิมิตฺตํ อสฺสาสปสฺสาสา นิมิต ลมอัสสาสะและลมปัสสาสะ.๘- แต่ในที่นี่พึงทราบว่า เป็นการประกอบเพียงความไม่ใส่ใจด้วยสามารถแห่งการมาและการไปของเลื่อยนั้นเท่านั้น.
____________________________
๘- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๓๘๓

               เมื่อใครๆ มนสิการกรรมฐานนี้ไม่ช้านิมิตย่อมเกิด. และการแนบแน่นกล่าวคืออัปปนา ประดับด้วยองค์ฌานที่เหลือย่อมสมบูรณ์. จำเดิมแต่กาลมนสิการด้วยการนับของใครๆ เปรียบเหมือนผู้มีกายปั่นป่วนนั่งบนเตียงหรือตั่ง เตียงและตั่งย่อมน้อมลงย่อมมีเสียงเอี้ยดอ้าด เครื่องปูลาดย่อมย่นยับ
               ส่วนผู้มีกายไม่ปั่นป่วนนั่ง เตียงและตั่งย่อมไม่น้อมลง ไม่ส่งเสียงเอี้ยดอ้าด เครื่องปูลาดไม่ย่นยับ เตียงและตั่งย่อมเป็นเหมือนเต็มด้วยปุยนุ่น เพราะเหตุไร เพราะผู้มีกายไม่ปั่นป่วนเบาฉันใด จำเดิมแต่กาลมนสิการด้วยการนับอย่างนั้นก็ฉันนั้น เมื่อความกระวนกระวายกายสงบด้วยอำนาจแห่งการดับลมอัสสาสะและปัสสาสะอย่างหยาบตามลำดับ กายก็ดี จิตก็ดีเป็นของเบา ร่างกายเป็นดุจลอยไปบนอากาศ.
               เมื่อลมอัสสาสะและปัสสาสะอย่างหยาบของภิกษุนั้นดับแล้ว จิตมีลมอัสสาสะปัสสาสะละเอียดเป็นนิมิต เป็นอารมณ์ย่อมเป็นไป. แม้เมื่อจิตนั้นดับ ลมอัสสาสะปัสสาสะอันเป็นนิมิต เป็นอารมณ์ละเอียดกว่า ละเอียดกว่านั้นยังเป็นไปๆ มาๆ อยู่นั่นเอง.
               พึงทราบความนี้ด้วยอุปมาด้วยถาดโลหะ๙- ดังกล่าวแล้วในตอนก่อน.
____________________________
๙- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๔๐๖

               กรรมฐานนี้ไม่เหมือนกรรมฐานเหล่าอื่น ซึ่งแจ่มแจ้งแล้วยิ่งๆ ขึ้นไป.
               อนึ่ง กรรมฐานนี้ย่อมถึงความละเอียดแก่ผู้เจริญยิ่งๆ แม้ความปรากฏก็ไม่ถึง เมื่อกรรมฐานนั้นไม่ปรากฏอย่างนี้ ภิกษุนั้นไม่ควรลุกจากอาสนะไป ด้วยคิดว่าเราจักถามอาจารย์หรือว่า บัดนี้กรรมฐานของเราฉิบหายเสียแล้ว ดังนี้ เพราะเมื่อภิกษุยังอิริยาบถให้กำเริบแล้วไป กรรมฐานย่อมมีใหม่ๆ โดยแท้ เพราะฉะนั้น ควรนำกรรมฐานมาจากที่ตามที่นั่งแล้วนั่นแล.
               ต่อไปนี้เป็นอุบายนำกรรมฐานมา.
               ภิกษุนั้นรู้ความที่กรรมฐานไม่ปรากฏ พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ชื่อว่าลมอัสสาสะปัสสาสะเหล่านี้มีอยู่ที่ไหน ไม่มีที่ไหน มีแก่ใครหรือไม่มีแก่ใคร. ครั้นภิกษุสำเหนียกอย่างนี้รู้ว่า ลมอัสสาสะปัสสาสะเหล่านี้ไม่มีแก่คนอยู่ในครรภ์มารดา ไม่มีแก่คนดำน้ำ แก่อสัญญีสัตว์ คนตาย ผู้เข้าจตุตถฌาน ผู้รวมอยู่ในรูปภพ อรูปภพ ผู้เข้านิโรธ แล้วพึงเตือนตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า ดูก่อนบัณฑิต ท่านมิได้อยู่ในครรภ์มารดา มิได้ดำน้ำ มิได้เป็นอสัญญีสัตว์ มิได้ตาย มิได้เข้าจตุตถฌาน มิได้รวมอยู่ในรูปภพ อรูปภพ มิได้เข้านิโรธมิใช่หรือ. ลมอัสสาสะปัสสาสะของท่านยังมีอยู่แน่ๆ แต่ท่านไม่สามารถกำหนดถือเอาได้ เพราะท่านมีปัญญาน้อย.
               ครั้นแล้วภิกษุนั้นควรตั้งจิต ด้วยสัมผัสเป็นปกติแล้วยังมนสิการให้เป็นไป. เพราะว่าลมอัสสาสะปัสสาสะเหล่านี้กระทบดั้งจมูกของผู้จมูกยาวเป็นไป กระทบริมฝีปากบนของผู้มีจมูกสั้น เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นควรตั้งนิมิตว่า ลมอัสสาสะปัสสาสะกระทบที่นี้.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอาศัยอำนาจแห่งประโยชน์ว่า๑๐- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวถึงการเจริญอานาปานสติของผู้มีสติหลง ผู้ไม่มีความรู้สึกดังนี้.
____________________________
๑๐- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๒๘๙  สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๓๖๐

               จริงอยู่ กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมสมบูรณ์แก่ผู้มีสติ ผู้มีสัมปชัญญะโดยแท้ แต่เมื่อมนสิการอื่นจากนี้ กรรมฐานก็ยังปรากฏ.
               อนึ่ง อานาปานสติกรรมฐานนี้ เป็นการเจริญอย่างหนักๆ เป็นภูมิแห่งมนสิการของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระพุทธบุตรผู้เป็นมหาบุรุษนั่นเอง มิได้เป็นนอกไปจากนี้ ทั้งสัตว์นอกนี้มิได้เสพ.
               กรรมฐานเป็นอันสงบและสุขุม โดยประการที่ทำไว้ในใจ เพราะฉะนั้น ในที่นี้พึงปรารถนาสติและปัญญามีกำลัง.
               เหมือนอย่างว่า ในเวลาเย็บผ้าสาฎกเนื้อเกลี้ยง พึงต้องการแม้เข้มที่ละเอียด แม้ด้ายร้อยเข็มก็ยังต้องการละเอียดกว่านั้นฉันใด ในเวลาเจริญกรรมฐานนี้เช่นกับผ้าสาฎกเนื้อเกลี้ยงฉันนั้นเหมือนกัน แม้สติเปรียบด้วยเข็ม ปัญญาสัมปยุตด้วยสตินั้นเปรียบด้วยการร้อยเข็ม ก็พึงปรารถนาที่มีกำลัง ก็แลภิกษุผู้ประกอบด้วยสติปัญญาเหล่านั้น ไม่พึงแสวงหาลมอัสสาสะปัสสาสะเหล่านั้น นอกจากโอกาสที่สัมผัสตามปกติ.
               เหมือนอย่างว่า ชาวนาไถนาแล้วปล่อยโคผู้ไป แล้วนั่นพักบริโภคอาหาร.
               ลำดับนั้น โคผู้เหล่านั้นของเขาวิ่งเข้าดงไป. ชาวนาที่เป็นคนฉลาดประสงค์จะจับโคเหล่านั้นเทียมไถ ไปเที่ยวตามรอยเท้าของโคเหล่านั้นไปยังดง. เขาถือเชือกและปฏักไปยังท่าน้ำที่โคเหล่านั้นลงโดยตรง นั่งบ้าง นอนบ้าง. ครั้นเขาเห็นโคเหล่านั้นเที่ยวไปตลอดวันแล้ว ลงสู่ท่าที่เคยลงอาบและดื่มแล้วขึ้นยืนอยู่ จึงเอาเชือกล่ามเอาปฏักแทงนำมาเทียมไถทำงานต่อไปฉันใด
               ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่พึงแสวงหาลมอัสสาสะปัสสาสะเหล่านั้น นอกจากโอกาสที่สัมผัสตามปกติ พึงถือเชือกคือสติและปฏัก คือปัญญาตั้งจิตไว้ในโอกาสที่สัมผัสตามปกติ แล้วยังมนสิการให้เป็นไป.
               ก็เมื่อภิกษุมนสิการอย่างนี้ ไม่ช้าลมอัสสาสะปัสสาสะเหล่านั้นก็ปรากฏดุจโค ปรากฏที่ท่าที่เคยลง.
               แต่นั้น ภิกษุนั้นพึงผูกด้วยเชือกคือสติประกอบไว้ในที่นั้นแล้วแทงด้วยปฏักคือปัญญา พึงประกอบกรรมฐานบ่อยๆ เมื่อประกอบอย่างนี้ไม่ช้านัก นิมิตย่อมปรากฏ ก็นิมิตนี้นั้นมิได้เป็นเช่นเดียวกันแห่งนิมิตทั้งปวง.
               อีกอย่างหนึ่ง นิมิตยังสุขสัมผัสให้เกิดขึ้นแก่ใครๆ ย่อมปรากฏ ดุจปุยนุ่น ปุยป้ายและสายลม. อาจารย์บางพวกกล่าวไว้ดังนี้.
               ส่วนในอรรถกถาทั้งหลายมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               จริงอยู่ นิมิตนี้มีรูปคล้ายดาวปรากฏแก่ใครๆ ดุจก้อนแก้วมณี และดุจก้อนแก้วมุกดา เป็นสัมผัสแข็งปรากฏแก่ใครๆ ดุจเมล็ดฝ้าย และดุจเสี้ยนไม้แก่น ปรากฏแก่ใครๆ ดุจสายสังวาลยาว ดุจพวงดอกไม้และดุจเปลวควัน ปรากฏแก่ใครๆ ดุจใยแมงมุมอันกว้าง ดุจกลุ่มเมฆ ดุจดอกปทุม ดุจล้อรถ ดุจมณฑลดวงจันทร์และดุจมณฑลดวงอาทิตย์.
               ก็แลนิมิตนั้น เมื่อภิกษุหลายรูปนั่งท่องพระสูตร เมื่อภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่า พระสูตรนี้ปรากฏแก่ท่านทั้งหลายเช่นไร ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่าปรากฏแก่ผมดุจแม่น้ำใหญ่ไหลจากภูเขา. อีกรูปหนึ่งกล่าวว่าปรากฏแก่ผมดุจแนวป่าแห่งหนึ่ง. รูปอื่นกล่าวว่าปรากฏแก่ผมดุจต้นไม้มีร่มเงาเย็น สมบูรณ์ด้วยกิ่งเต็มด้วยผล. สูตรเดียวเท่านั้นปรากฏแก่ภิกษุเหล่านั้นโดยความต่างกัน เพราะสัญญาต่างกัน.
               กรรมฐานเดียวเท่านั้นย่อมปรากฏโดยความต่างกันเพราะสัญญาต่างกันด้วยอาการอย่างนี้ เพราะกรรมฐานนั้นเกิดแต่สัญญามีสัญญาเป็นนิทาน มีสัญญาเป็นแดนเกิด ฉะนั้นพึงทราบว่า ย่อมปรากฏโดยความต่างกันเพราะสัญญาต่างกัน.
               อนึ่ง เมื่อนิมิตปรากฏ ภิกษุนั้นพึงไปหาอาจารย์แล้วบอกให้ทราบว่า ท่านอาจารย์ขอรับ นิมิตปรากฏเห็นปานนี้ ย่อมปรากฏแก่ผม. ส่วนอาจารย์ควรกล่าวว่า ดูก่อนอาวุโส นี้เป็นนิมิต ดูก่อนสัตบุรุษ ท่านจงทำกรรมฐานไว้ในใจบ่อยๆ เถิด แต่นั้นพึงตั้งจิตไว้ในนิมิตเท่านั้น.
               จำเดิมแต่นี้ไป ภิกษุนั้นย่อมมีภาวนาด้วยความแนบแน่นด้วยประการฉะนั้น.
               สมดังที่พระโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า๑๑-
                         ผู้มีปัญญายังจิตให้แนบแน่นในนิมิต เจริญอาการต่างๆ
                         ย่อมผูกจิตของตนในลมอัสสาสะและปัสสาสะ ดังนี้.
____________________________
๑๑- วิสุทฺธิมคฺค. ๒/๗๘

               จำเดิมแต่ความปรากฏแห่งนิมิตอย่างนี้ เป็นอันภิกษุนั้นข่มนิวรณ์ทั้งหลายได้แล้ว. กิเลสทั้งหลายสงบ. จิตตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิ ครั้นแล้วภิกษุนั้นไม่ควรใส่ใจถึงนิมิตนั้นโดยความเป็นสี ไม่ควรพิจารณาโดยความเป็นลักษณะ. แต่แล้วภิกษุควรเว้นอสัปปายะ ๗ มีอาวาสเป็นต้น แล้วเสพสัปปายะ ๗ เหล่านั้น ควรรักษาไว้ให้ดีดุจขัตติยมเหสีรักษาครรภ์ของพระเจ้าจักรพรรดิ และดุจชาวนารักษาท้องข้าวสาลีและข้าวเหนียวฉะนั้น.
               ต่อแต่นั้น พึงรักษานิมิตนั้นไว้อย่างนี้แล้ว ถึงความเจริญงอกงามด้วยมนสิการบ่อยๆ ยังความเป็นผู้ฉลาดในอัปปนา ๑๐ อย่างให้ถึงพร้อม พึงประกอบภาวนาโดยมีความเพียรสม่ำเสมอ เมื่อภิกษุพยายามอยู่อย่างนี้ จตุกฌานและปัญจกฌานย่อมเกิดในนิมิตนั้นตามลำดับดังที่ท่านกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               อนึ่ง ภิกษุผู้มีจตุกฌานเกิดแล้วอย่างนี้ ประสงค์จะเจริญกรรมฐานด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาและมรรคแล้ว บรรลุความบริสุทธิ์จงทำฌานนั้นให้คล่องแคล่วถึงความชำนาญด้วยอาการ ๕ อย่างแล้ว กำหนดนามรูปเริ่มตั้งวิปัสสนา.
               อย่างไร เพราะภิกษุนั้นออกจากสมาบัติแล้ว ย่อมเห็นว่า กรชกายและจิตเป็นเหตุเกิดลมอัสสาสะปัสสาสะ.
               เหมือนอย่างว่า ลมย่อมสัญจรเพราะอาศัยเครื่องสูบของช่องทองและความพยายาม เกิดแต่การสูญเครื่องของบุรุษฉันใด
               ลมอัสสาสะปัสสาสะย่อมสัญจรเพราะอาศัยกายและจิตฉันนั้นเหมือนกัน.
               แต่นั้นย่อมกำหนดกายว่า เป็นรูปในเพราะอัสสาสะปัสสาสะ และกำหนดจิตว่าเป็นอรูปในเพราะธรรมอันสัมปยุตด้วยจิตนั้น.
               ครั้นภิกษุกำหนดนามรูปอย่างนี้ แล้วแสวงหาปัจจัยแห่งนามรูปนั้น เมื่อแสวงหา ครั้นเห็นปัจจัยนั้นแล้ว ปรารภถึงความเป็นไปแห่งนามรูปในกาลแม้ ๓ แล้วจึงข้ามความสงสัยได้ ข้ามความสงสัยได้แล้ว จึงยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ด้วยสามารถแห่งการพิจารณาเป็นกลาปะ (กอง) เมื่อส่วนเบื้องต้นแห่งอุทยัพพยานุปัสสนาเกิด จึงละวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ มีโอภาสเป็นต้น แล้วกำหนดอุทยัพพยานุปัสนาญาณอันพ้นจากอุปกิเลสว่า มรรคละความเกิด ถึงภังคานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความดับ) เมื่อสังขารทั้งปวงปรากฏโดยความเป็นภัย ด้วยภังคานุปัสสนาเป็นลำดับ จึงเบื่อหน่าย พ้นบรรลุอริยมรรค ๔ ตามลำดับ ตั้งอยู่ในอรหัตผลถึงที่สุดแห่งปัจจเวกณาญาณ ๑๙ เป็นทักษิไณยบุคคลผู้เลิศของโลกพร้อมทั้งเทวโลก.
               ด้วยเหตุประมาณเท่านี้ การเจริญอานาปานสติสมาธิ ตั้งต้นแต่การนับลมอัสสาสะปัสสาสะนั้น มีวิปัสสนาเป็นที่สุด เป็นอันครบริบูรณ์. นี้เป็นการพรรณนาปฐมจตุกะโดยอาการทั้งปวง ดังนี้แล.
               อนึ่ง ในจตุกะ ๓ นอกนี้ เพราะไม่มีนัยแห่งกรรมฐานภาวนาไว้ต่างหาก ฉะนั้น พึงทราบความอย่างนี้แห่งจตุกะเหล่านั้นโดยนัยแห่งการพรรณนาอนุบทนั่นแล.
               บทว่า ปีติปฏิสํเวที รู้แจ้งปีติ คือย่อมศึกษาว่าเราทำปีติให้รู้แจ้ง ทำให้ปรากฏ หายใจเข้า หายใจออก.
               ในบทนั้นเป็นอันรู้แจ้งปีติโดยอาการ ๒ คือ โดยอารมณ์และโดยความไม่หลง.
               รู้แจ้งปีติโดยอารมณ์เป็นอย่างไร. ภิกษุย่อมเข้าฌาน ๒ อย่างพร้อมด้วยปีติ ภิกษุนั้นชื่อว่ารู้แจ้งปีติโดยอารมณ์ ด้วยการได้ฌานในขณะสมาบัติ เพราะรู้แจ้งอารมณ์แล้ว.
               รู้แจ้งโดยความไม่หลงเป็นอย่างไร.
               ภิกษุเข้าฌาน ๒ อย่าง ครั้นออกแล้วย่อมพิจารณาปีติอันสัมปยุตด้วยฌานโดยความเป็นของสิ้นไปโดยความเป็นของเสื่อมไป เป็นอันภิกษุนั้นรู้แจ้งปีติโดยความไม่หลง ด้วยการแทงตลอดลักษณะในขณะแห่งวิปัสสนา.
               โดยนัยนี้แลพึงทราบแม้บทที่เหลือโดยอรรถ.
               แต่ในบทนี้มีเนื้อความสักว่าต่างกันนี้ พึงทราบว่า เป็นอันภิกษุรู้แจ้งสุขด้วยสามารถแห่งฌาน ๓ รู้แจ้งจิตตสังขารด้วยสามารถแห่งฌานแม้ ๔.
               บทว่า จิตฺตสงฺขาโร จิตตสังขาร คือเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์.
               บทว่า ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขารํ ระงับจิตตสังขาร. ความว่า ระงับจิตตสังขารหยาบๆ คือดับ.
               พึงทราบจิตตสังขารนั้นโดยพิสดารตามนัยดังกล่าวแล้วในกายสังขาร.
               อีกอย่างหนึ่ง ในบทว่า ปีติ นี้ท่านกล่าวเวทนาโดยหัวข้อแห่งปีติ.
               ในบทว่า สุข ท่านกล่าวเวทนาโดยสรุป.
               ในบทแห่งจิตตสังขารทั้งสอง เวทนาสัมปยุตด้วยสัญญาเพราะบาลีว่า๑๒- สัญญาและเวทนาเป็นเจตสิก ธรรมเหล่านี้เนื่องด้วยจิต เป็นจิตตสังขารด้วย เหตุนั้นพึงทราบว่าท่านกล่าวจตุกะ
____________________________
๑๒- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๔๑๐

               นี้โดยนัยแห่งเวทนานุปัสสนาอย่างนี้.
               แม้ในจตุกะที่ ๓ ก็พึงทราบความเป็นผู้รู้แจ้งจิตด้วยอำนาจแห่งฌาน ๔.
               บทว่า อภิปฺปโมทยํ จิตฺตํ ทำจิตให้บันเทิง คือภิกษุย่อมศึกษาว่าเรายังจิตให้บันเทิง ให้ปราโมทย์ ให้ร่าเริง ให้รื่นเริง จักหายใจเข้า จักหายใจออก.
               ในบทนั้น ภิกษุเป็นผู้บันเทิงด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ ด้วยสามารถแห่งสมาธิและด้วยสามารถแห่งวิปัสนา.
               ด้วยสามารถแห่งสมาธิเป็นอย่างไร.
               ภิกษุเข้าถึงฌานสองอย่างพร้อมด้วยปีติ ครั้นออกแล้วย่อมพิจารณาปีติสัมปยุตด้วยฌานโดยความสิ้นไปโดยความเสื่อมไป. ภิกษุทำปีติสัมปยุตด้วยฌานในขณะแห่งวิปัสสนาอย่างนี้ ให้เป็นอารมณ์ ยังจิตให้ชื่นชมบันเทิง ปฏิบัติอย่างนี้ท่านกล่าวว่า ภิกษุย่อมศึกษาว่าเราจักยังจิตให้บันเทิง หายใจเข้า หายใจออก.
               บทว่า สมาทหํ จิตฺตํ ตั้งจิตไว้ คือตั้งดำรงจิตไว้เสมอในอารมณ์ด้วยอำนาจแห่งปฐมฌานเป็นต้น หรือเข้าฌานเหล่านั้น ครั้นออกแล้ว จิตสัมปยุตด้วยฌานย่อมเกิดขึ้นโดยความสิ้นไป โดยความเสื่อมไป ด้วยการแทงตลอดลักษณะในขณะแห่งวิปัสสนา เพราะจิตมีอารมณ์เดียวชั่วขณะ เมื่อจิตมีอารมณ์เดียวชั่วขณะเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ภิกษุตั้งดำรงจิตไว้เสมอในอารมณ์แม้ด้วยอำนาจ ท่านก็กล่าวว่า ภิกษุย่อมศึกษาว่า เราจักตั้งจิตไว้หายใจเข้า หายใจออก.
               บทว่า สมาทหํ จิตฺตํ ตั้งจิตไว้ คือตั้งดำรงจิตไว้เสมอในอารมณ์ด้วยอำนาจแห่งปฐมฌานเป็นต้น หรือเข้าฌานเหล่านั้น ครั้นออกแล้ว จิตสัมปยุตด้วยฌานย่อมเกิดขึ้นโดยความสิ้นไป โดยความเสื่อมไป วยการแทงตลอดลักษณะในขณะแห่งวิปัสสนา เพราะจิตมีอารมณด์เดียวชั่วขณดะ เมื่อจิตมีอารมณ์เดียวชั่วขณะเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ภิกษุตั้งดำรงจิตไว้เสมอในอารมณ์ แม้ด้วยอำนาจท่านก็กล่าวว่า ภิกษุย่อมศึกษาว่า เราจักตั้งจิตไว้หายใจเข้า หายใจออก.
               บทว่า วิโมจยํ จิตฺตํ เปลื้องจิต คือเปลื้องปล่อยจิตจากนิวรณ์ทั้งหลายด้วยปฐมฌาน เปลื้องปล่อยจิตจากวิตกวิจารด้วยทุติยฌาน จากปีติด้วยตติยฌาน จากสุขและทุกข์ด้วยจตุตถฌาน หรือเข้าฌานทั้งหลายเหล่านั้น ครั้นออกแล้วย่อมพิจารณาจิตสัมปยุตด้วยฌานโดยความสิ้นไป โดยความเสื่อมไป ภิกษุนั้นเปลื้องปล่อยจิตจากนิจจสัญญา ด้วยอนิจจานุปัสสนาในขณะแห่งวิปัสสนา เปลื้องปล่อยจิตจากสุขสัญญาด้วยทุกขานุปัสสนา จากอัตตสัญญาด้วยอนัตตานุปัสสนา จากความเพลิดเพลินด้วยนิพพิทานุปัสสนา จากราคะด้วยวิราคานุปัสสนา จากสมุทัยด้วยนิโรธานุปัสสนา จากความถือมั่นด้วยปฏินิสสัคคานุปัสสนา ย่อมหายใจเข้าและย่อมหายใจออก.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วิโมจยํ จิตฺตํ อสฺสสิสฺสามิ ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺติ ภิกษุย่อมศึกษาว่า เราจักเปลื้องจิตหายใจเข้า หายใจออก.
               พึงทราบว่า จตุกะนี้ ท่านกล่าวด้วยอำนาจแห่งจิตตานุปัสสนา.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๓. อานาปาณกถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 294อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 362อ่านอรรถกถา 31 / 423อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=4070&Z=5199
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=1781
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=1781
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :