ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 294อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 362อ่านอรรถกถา 31 / 423อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค
๓. อานาปาณกถา

หน้าต่างที่ ๔ / ๕.

               พึงทราบวินิจฉัยในจตุกะที่ ๔ ดังต่อไปนี้.
               พึงทราบ อนิจฺจํ ในบทว่า อนิจฺจานุปสฺสี พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงนี้ก่อน.
               พึงทราบอนิจจตา พึงทราบอนิจจานุปัสสนา พึงทราบอนิจจานุปัสสี.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อนิจฺจํ ความไม่เที่ยง ได้แก่ ขันธ์ ๕. เพราะเหตุไร. เพราะเบญจขันธ์มีเกิด เสื่อมและเป็นอย่างอื่น.
               บทว่า อนิจฺจตา ความเป็นของไม่เที่ยง คือความที่เบญจขันธ์เหล่านั้นเกิดเสื่อมและเป็นอย่างอื่น หรือเป็นแล้วไม่เป็น.
               ความว่า การไม่ตั้งอยู่โดยอาการนั้นของสัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วแตกไปโดยการทำลายแห่งขณะ.
               บทว่า อนิจฺจานุปสฺสนา พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง คือพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง ในรูปเป็นต้นด้วยสามารถแห่งความไม่เที่ยงนั้น.
               บทว่า อนิจฺจานุปสฺสี พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง คือประกอบด้วยอนุปัสสนานั้น เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ภิกษุเป็นอย่างนั้นหายใจเข้าและหายใจออก ย่อมศึกษาในที่นี้ว่า เราจักพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง หายใจเข้า หายใจออก ดังนี้.
               ในบทว่า วิราคานุปสฺสี พิจารณาเห็นความคลายกำหนัดนี้ ความคลายกำหนัดมี ๒ อย่าง คือ ความคลายกำหนัดเพราะสิ้นไป และความคลายกำหนัดเพราะล่วงส่วน.
               ใน ๒ บทนั้น บทว่า ขยวิราโค ความคลายกำหนัด เพราะสิ้นไป ได้แก่ความทำลายขณะแห่งสังขารทั้งหลาย.
               บทว่า อจฺจนฺตวิราโค ความคลายกำหนัดเพราะล่วงส่วน ได้แก่นิพพาน.
               บทว่า วิราคานุปสฺสนา พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด ได้แก่วิปัสสนาและมรรคอันเป็นไปแล้ว ด้วยสามารถแห่งการเห็นทั้งสองอย่างนั้น.
               พึงทราบว่า ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยอนุปัสสนาแม้สองอย่าง หายใจเข้าและหายใจออก ย่อมศึกษาว่าเราจักพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้าหายใจออกดังนี้.
               แม้ในบทว่า นิโรธานุปสฺสี ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ความสละคืนในบทว่า ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี พิจารณาเห็นความสละคืนนี้มี ๒ อย่าง คือ สละคืนเพราะบริจาคและสละคืนเพราะการแล่นไป.
               ความพิจารณาเห็นความสละคืน ชื่อว่า ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสนา.
               บทนี้เป็นชื่อของวิปัสสนามรรค เพราะวิปัสสนาย่อมสละกิเลสทั้งหลายพร้อมด้วยขันธาภิสังขารด้วยสามารถแห่งตทังคะ ย่อมแล่นไปเพราะเห็นโทษแห่งสังขตธรรม และเพราะน้อมไปในนิพพานอันตรงกันข้ามกับโทษแห่งสังขตธรรมนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าสละคืนเพราะบริจาค และสละคืนเพราะแล่นไป.
               มรรคย่อมสละกิเลสทั้งหลายพร้อมด้วยขันธาภิสังขาร ด้วยอำนาจแห่งการตัดขาด ย่อมแล่นไปในนิพพานด้วยการทำให้เป็นอารมณ์ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สละคืนเพราะบริจาค สละคืนเพราะแล่นไป.
               แม้ทั้งสองบทนั้น ท่านก็กล่าวว่าเป็นอนุปัสสนา เพราะความเห็นญาณก่อนๆ พึงทราบว่า ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยปฏินิสสัคคานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความสละคืน) แม้สองอย่างนั้น หายใจเข้าและหายใจออกย่อมศึกษาว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นความสละคืน หายใจเข้า หายใจออก.
               อนึ่ง พึงทราบว่า ในบทว่า อนิจฺจานุปสฺสี นี้ ท่านกล่าวด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาอ่อน.
               บทว่า วิราคานุปสฺสี ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งวิปัสสนาอันสามารถคลายความกำหนัดในสังขารทั้งหลายได้ เพราะมีกำลังมากกว่านั้น.
               บทว่า ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี ท่านกล่าวด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาอันกล้าแข็ง ใกล้มรรคเข้าไปแล้ว.
               แม้มรรคก็มิได้ทำลายไปในวิปัสสนาที่ได้ ท่านกล่าวจตุกะนี้ด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาบริสุทธิ์ แต่ ๓ อย่างข้างต้นท่านกล่าวด้วยอำนาจแห่งสมถะและวิปัสสนา.

               จบอรรถกถาอานาปานสติมาติกา               

               บัดนี้ เพื่อแสดงจำแนกมาติกาตามที่วางไว้โดยลำดับ จึงเริ่มบทมีอาทิว่า อิธาติ อิมิสฺสา ทิฏฺฐิยา.
               บทว่า อิธ คือ ในทิฏฐินี้.
               ในบทเหล่านั้น ท่านกล่าวถึงคำสอนของพระสัพัญญุพุทธเจ้าเท่านั้นอันได้แก่ไตรสิกขาด้วยบท ๑๐ บทมีอาทิว่า อิมิสฺสา ทิฏฺฐิยา ในทิฏฐินี้ เพราะคำสอนนั้น ท่านกล่าวว่าทิฏฐิ เพราะพระพุทธเจ้าผู้มีพระภาคทรงเห็นแล้ว ท่านกล่าวว่าขันติ ด้วยสามารถความอดทน กล่าวว่ารุจิ ด้วยสามารถความชอบใจ กล่าวว่าเขต ด้วยสามารถการถือเอา กล่าวว่าธรรม ด้วยอรรถว่าเป็นสภาวธรรม กล่าวว่าวินัย ด้วยอรรถว่าควรศึกษา กล่าวว่าธรรมวินัย แม้ด้วยอรรถทั้งสองนั้น กล่าวว่าปาพจน์ ด้วยสามารถธรรมที่ตรัส กล่าวว่าพรหมจรรย์ ด้วยอรรถว่าเป็นความประพฤติอันประเสริฐ กล่าวว่าสัตถุศาสน์ ด้วยสามารถให้คำสั่งสอน.
               เพราะฉะนั้น ในบทว่า อิมิสฺสา ทิฏฐิยา เป็นต้นพึงทราบความว่า ในความเห็นของพระพุทธเจ้านี้ ในความอดทนของพระพุทธเจ้านี้ ในความชอบใจของพระพุทธเจ้านี้ ในเขตของพระพุทธเจ้านี้ ในธรรมของพระพุทธเจ้านี้ ในวินัยของพระพุทธเจ้านี้ ในธรรมและวินัยของพระพุทธเจ้านี้ ในปาพจน์ของพระพุทธเจ้านี้ ในพรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้านี้ ในสัตถุศาสน์ของพระพุทธเจ้านี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ปาพจน์ทั้งสิ้นอันได้แก่ไตรสิกขานี้ ชื่อว่าทิฏฐิ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นแล้ว เพราะเป็นปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ และเพราะมีสัมมาทิฏฐิเป็นธรรมถึงก่อน ชื่อว่าขันติ ด้วยสามารถความอดทนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่ารุจิ ด้วยสามารถความพอใจ ชื่อว่าอาทาย ด้วยสามารถการถือเอา ชื่อว่าธรรม เพราะทรงไว้ซึ่งผู้ปฏิบัติของตนมิให้ตกไปในอบาย ชื่อว่าวินัย เพราะขจัดฝ่ายเศร้าหมองออกไป ธรรมและวินัยนั้นชื่อว่าธรรมวินัย หรือชื่อว่าธรรมวินัย เพราะขจัดอกุสลธรรมทั้งหลายด้วยกุสลธรรม.
               ด้วยเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า๑-
               ดูก่อนโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใด ธรรมเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อคลายความกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อมีความกำหนัด ฯลฯ
               ดูก่อนโคตมี ท่านพึงทรงไว้โดยส่วนเดียว นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์.
____________________________
๑- วิ จุลฺ. เล่ม ๗/ข้อ ๕๒๓

               หรือชื่อว่าธรรมวินัย เพราะเป็นข้อบังคับโดยธรรม มิใช่ข้อบังคับโดยอาชญาเป็นต้น.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า๒-
                         ชนบางพวกฝึกด้วยอาชญา ด้วยขอและด้วยหวาย
                         พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ไม่ใช้
                         อาชญา ไม่ใช้ศัสตรา ฝึกผู้ประเสริฐ.
               อนึ่ง ชื่อว่าธรรมวินัย เพราะแนะนำโดยธรรมว่าอะไรเป็นความริษยาของผู้รู้ หรือปฏิบัติโดยธรรม.๓-
____________________________
๒- วิ จุลฺ. เล่ม ๗/ข้อ ๓๘๑  ๓- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๗๕

               จริงอยู่ วินัยนั้นเพื่อธรรมไม่มีโทษ มิใช่เพื่ออานิสงส์แห่งโภคสมบัติในภพ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้มิใช่อยู่เพื่อหลอกลวงคน.๔-
               แม้พระปุณณเถระก็กล่าวว่า๕- ดูก่อนอาวุโส การประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน.
____________________________
๔- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๒๕  ๕- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๙๘

               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวินัย เพราะนำไปให้บริสุทธิ์ การนำไปโดยธรรม ชื่อว่าธรรมวินัย. วินัยนั้นย่อมนำไปจากธรรมคือสงสารหรือจากธรรมมีความโศกเป็นต้น สู่นิพพานอันบริสุทธิ์หรือการนำไปสู่ธรรม มิใช่นำไปสู่พวกเจ้าลัทธิ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าธรรมวินัย.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ทรงธรรม วินัยนั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นนั่นแล.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะธรรมทั้งหลายนั่นแล ควรรู้ยิ่ง ควรกำหนดรู้ ควรละควรเจริญและควรทำให้แจ้ง ฉะนั้น วินัยนั้นเป็นการนำไปในธรรมทั้งหลาย มิใช่นำไปในสัตว์ และในสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าธรรมวินัย.
               คำเป็นประธานเพราะคำของคนอื่นโดยพร้อมด้วยอรรถและพร้อมด้วยพยัญชนะ ชื่อว่าคำเป็นประธาน คำเป็นประธานนั่นแล ชื่อว่าปาพจน์. ชื่อว่าพรหมจรรย์ เพราะมีความประพฤติประเสริฐด้วยจริยาทั้งปวง. ชื่อว่าสัตถุศาสน์ เพราะเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย หรือคำสอนอันเป็นของพระศาสดา ชื่อว่าสัตถุศาสน์.
               เพราะพระธรรมวินัยนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นศาสดาในพระบาลีว่า
               ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใดอันเราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว ธรรมและวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของพวกเธอโดยล่วงเราไป.๖-
____________________________
๖- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๑๔๑

               พึงทราบความแห่งบททั้งหลายเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง เพราะภิกษุผู้ยังอานาปานสติสมาธิให้เกิดโดยอาการทั้งปวงมีอยู่ในศาสนานี้เท่านั้น มิได้มีในศาสนาอื่น ฉะนั้น ในบทนั้นๆ ท่านจึงกำหนดความแน่นอนลงไปว่า อิมสฺส แห่งศาสนานี้ และ อิมสฺมึ ในศาสนานี้.
               นี้เป็นอรรถแห่งการชี้แจงของมาติกาว่า อิธ.
               อนึ่ง ท่านไม่กล่าวอรรถแห่งคำของ ภิกฺขุศัพท์ด้วยคำมีอาทิว่า ปุถุชฺชนกลฺยาโก ภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชน แล้วแสดงถึงภิกษุที่ประสงค์เอาในที่นี้เท่านั้น.
               ในบทนั้น ชื่อว่าปุถุชน เพราะเป็นผู้ยังตัดกิเลสไม่ได้ และชื่อว่ากัลยาณชน เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยข้อปฏิบัติมีศีลเป็นต้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่ากัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนนั่นแล ชื่อว่า ปุถุชฺชนกลฺยาณโก.
               ชื่อว่า เสกฺโข เพราะยังศึกษาอธิศีลเป็นต้น ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามีหรือพระอนาคามี.
               ชื่อว่า อกุปฺปธมฺโม เพราะมีธรรมคืออรหัตผล ไม่กำเริบคือไม่อาจให้หวั่นไหวได้.
               จริงอยู่ แม้ผู้มีธรรมไม่กำเริบนั้นก็ยังเจริญสมาธินี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในอรัญญนิเทศดังต่อไปนี้.
               โดยปริยายแห่งวินัย คำว่า ป่า มาในบทมีอาทิว่า๗- ป่าที่เหลือนอกจากบ้านและอุปจารแห่งบ้าน. โดยปริยายแห่งพระสูตร หมายถึงภิกษุผู้อยู่ป่า มาแล้วในบทมีอาทิว่า เสนาสนะท้ายสุดชั่ว ๕๐๐ ธนู ชื่อว่าป่า๘-. พระวินัยและพระสูตรแม้ทั้งสองเป็นปริยายเทศนา (เทศนาแบบบรรยาย) เพื่อแสดงป่าโดยปริยายแห่งอภิธรรมว่า พระอภิธรรมเป็นนิปริยายเทศนา (เทศนาไม่อ้อมค้อม) จึงกล่าวว่า ป่าคือออกนอกเสาเขื่อนไป.
               ปาฐะว่า นิกฺขมิตฺวา พหิ อินฺทขีลํ ท่านกล่าวว่า เลยเสาเขื่อนออกไป.๙-
____________________________
๗- วิ. มหาวิ. เล่ม ๑/ข้อ ๘๕  ๘- วิ. มหาวิ. เล่ม ๒/ข้อ ๗๙๖
๙- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๑๖

               อนึ่ง ในบทว่า อินฺทขีโล นี้ คือธรณีประตูบ้านหรือนคร.
               พึงทราบวินิจฉัยในรุกขมูลนิเทศดังต่อไปนี้.
               เพราะโคนไม้ปรากฏแล้ว ท่านจึงไม่กล่าวถึงโคนไม้นั้น กล่าวคำมีอาทิว่า ยตฺถ ดังนี้.
               บทว่า ยตฺถ คือ ที่โคนไม้ใด. ชื่อว่าอสานะ เพราะเป็นที่นั่ง.
               บทว่า ปญฺญตฺตํ คือ ตั้งไว้แล้ว.
               บทว่า มญฺโจ วา เป็นอาทิ เป็นคำกล่าวถึงประเภทของอาสนะ.
               จริงอยู่ แม้เตียงท่านก็กล่าวไว้ในอาสนะทั้งหลาย ในบทนี้ เพราะเป็นโอกาสนั่งก็ได้.
               อนึ่ง เตียงนั้นเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาเตียงพิเศษคือมสารกะ (เตียงมีแม่แคร่สอดเข้าไปในขา) พุททิกาพัทธ์ (เตียงติดกันเป็นแผง) กุฬีรปาทกะ (เตียงมีเท้าดังตีนปู) อาหัจจปาท (เตียงมีขาจดแม่แคร่).
               บรรดาตั่งเหล่านั้น ตั่งอย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนกัน.
               บทว่า ภิสิ ฟูก ได้แก่ฟูกอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาฟูกทำด้วยขนแกะ ฟูกทำด้วยฝ้า ฟูกทำด้วยเปลือกไม้ ฟูกทำด้วยหญ้า ฟูกทำด้วยใบไม้.
               บทว่า ตฏฺฏิกา เสื่อ คือเสื่อทอด้วยใบตาลเป็นต้น.
               บทว่า จมฺมขณฺโฑ ท่อนหนังคือท่อนหนังอย่างใดอย่างหนึ่งอันสมควรเป็นที่นั่ง. เครื่องลาดทำด้วยหญ้าเป็นต้น คือเอาหญ้าเป็นต้นสุมกันเข้า.
               บทว่า ตตฺถ คือ ที่โคนไม้นั้น.
               ด้วยบทมีอาทิว่า จงฺกมติ วา เดิน ท่านกล่าวถึงความที่โคนไม้ใช้เป็นที่ยังอิริยาบถ ๔ ให้เป็นไปได้.
               ด้วยบททั้งปวงมี บทว่า ยตฺถ เป็นอาทิ ท่านกล่าวถึงความที่โคนไม้มีร่มเงาหนาทึบ และเพราะเป็นที่สงัดจากผู้คน.
               บทว่า เกนจิ ด้วยหมู่ชนใดๆ.
               ท่านแยกหมู่ชนนั้นให้พิสดารออกไปจึงกล่าวว่า คหฏฺเฐน วา ปพฺพชิเตน วา เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม.
               บทว่า อนากิณฺณํ ไม่เกลื่อนกล่น คือไม่มั่วสุม ไม่คับแคบ.
               เสนาสนะใดเป็นที่รกชัฏด้วยภูเขา รกชัฏด้วยป่า รกชัฏด้วยแม่น้ำ คาวุตหนึ่งบ้าง กิ่งโยชน์บ้างโดยรอบ ใครๆ ไม่อาจเข้าไป โดยมิใช่เวลาอันควรได้ เสนาสนะนี้ชื่อว่าไม่เกลื่อนกล่นแม้ในที่ใกล้.
               ส่วนเสนาสนะใดอยู่กึ่งโยชน์หรือโยชน์หนึ่ง เสนาสนะนี้ชื่อว่าไม่เกลื่อนกล่นเพราะอยู่ไกล.
               บทว่า วิหาโร วิหาร ได้แก่ที่อยู่อันเหลือพ้นจากโรงมีหลังคาครึ่งหนึ่งเป็นต้น.
               บทว่า อฑฺฒโยโค โรงมีหลังคาครึ่งหนึ่ง ได้แก่เรือนปีกครุฑ.
               บทว่า ปาสาโท ปราสาท ได้แก่ปราสาทยาวมีช่อฟ้าสอง.
               บทว่า หมฺมิยํ เรือนโล้น ได้แก่ปราสาทมีเรือนยอดตั้งอยู่ ณ พื้นอากาศเบื้องบน.
               บทว่า คุหา ถ้ำ ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาขันธกะอย่างนี้ คือ ถ้ำอิฐ ถ้ำหิน ถ้ำไม้ ถ้ำดิน. ส่วนในอรรถกถาวิภังค์ ท่านกล่าวถึงเสนาสนะที่ทำแสดงทางบริหารโดยรอบ และที่พักกลางคืนและกลางวันไว้ในภายในว่าวิหาร.
               บทว่า คุหา ได้แก่ ถ้ำพื้นดิน ควรได้พักอาศัยตลอดคืนและวัน.
               ท่านกล่าวบททั้งสองนี้ให้ต่างกัน คือถ้ำภูเขาหรือถ้ำพื้นดิน ท่านทำให้เป็นวัตตมานาวิภัตติว่า นิสีทติ ย่อมนั่งด้วยอำนาจแห่งลักษณะทั่วไปแก่กาลทั้งปวงแห่งมาติกา แต่ท่านทำเป็นรูปสำเร็จว่า นิสินฺโน นั่งแล้ว เพื่อแสดงการเริ่มและการสุดท้ายของการนั่ง เพราะมีการเริ่มภาวนาของภิกษุผู้นั่ง ณ ที่นี้.
               อนึ่ง เพราะเมื่อภิกษุนั่งตั้งกายตรง กายย่อมตรง ฉะนั้นท่านไม่เอื้อในพยัญชนะ เมื่อจะแสดงถึงความประสงค์อย่างเดียว จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อุชุโก ตรง.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ฐิโต สุปณิหิโต กายเป็นกายอันภิกษุนั้นตั้งไว้ตรง.
               ความว่า เป็นกายตั้งไว้ตรง เพราะตั้งตรงอยู่แล้ว มิใช่ตั้งไว้ตรงด้วยตนเอง.
               บทว่า ปริคฺคหฏฺโฐ คือ มีความกำหนดถือเอาเป็นอรรถ.
               กำหนดถือเอาอะไร. ถือการนำออก. นำอะไรออก.
               นำอานาปานสติสมาธิตลอดถึงอรหัตมรรคออก ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า นิยฺยานฏฺโฐ มีความนำออกเป็นอรรถ. ท่านกล่าวมีการนำออกเป็นอรรถ จากสงสารด้วยสามารถแห่งอรรถอันเจริญของมุขศัพท์.
               บทว่า อุปฏฺฐานฏฺโฐ มีความเข้าไปตั้งไว้เป็นอรรถ คือมีสภาวธรรมเป็นอรรถ.
               ด้วยบทเหล่านี้ทั้งหมดเป็นอันท่านอธิบายว่า ตั้งสติมีความนำออก กำหนดถือเอา.
               แต่อาจารย์บางพวกพรรณนาว่า บทว่า ปริคฺคหฏฺโฐ คือ มีความกำหนดถือเอาเป็นอรรถด้วยสติ.
               บทว่า นิยฺยานฏฺโฐ คือมีทวารเข้าออกของลมอัสสาสะปัสสาสะ. ท่านอธิบายว่า ตั้งสติมีความนำลมอัสสาสะปัสสาสะที่กำหนดถือเอาออก.
               บทว่า พตฺตึสาย อาการหิ ด้วยอาการ ๓๒ ท่านกล่าวด้วยสามารถการถือเอาโดยไม่มีส่วนเหลือ ของภิกษุทั้งหลายผู้ได้รับตามลำดับ ในสิ่งที่ไม่แน่นอนนั้นๆ.
               บทว่า ทีฆํ อสฺสาสวเสน ด้วยสามารถลมหายใจเข้ายาว คือด้วยสามารถลมอัสสาสะที่กล่าวแล้วว่า ยาว ในมาติกา.
               ในบทที่เหลือก็อย่างนี้.
               บทว่า เอกคฺคตํ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว.
               บทว่า อวิกฺเขปนํ ไม่ฟุ้งซ่าน คือความที่จิตมีอารมณ์เดียว ท่านกล่าวว่าไม่ฟุ้งซ่าน เพราะจิตไม่ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ.
               บทว่า ปชานโต รู้อยู่ คือรู้ รู้ชัดด้วยความไม่หลง หรือรู้ด้วยทำให้เป็นอารมณ์ว่า เราได้ความไม่ฟุ้งซ่านแล้ว.
               บทว่า ตาย สติยา คือ ด้วยสติที่เข้าไปตั้งไว้แล้ว.
               บทว่า เตน ญาเณน คือ ด้วยญาณรู้ความไม่ฟุ้งซ่านนั้น.
               ในบทว่า สโตการี โหติ เป็นผู้ทำสตินี้ เพราะสติสัมปยุตด้วยญาณนั่นแล ท่านประสงค์เอาสติ.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุประกอบด้วยสติและปัญญาอย่างยิ่ง ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ๑๐-. ฉะนั้น แม้ญาณท่านก็ถือเอาด้วยคำว่า สโต มีสติ.
____________________________
๑๐- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๕๔๓

               บทว่า อทฺธานสงฺขาเต คือ ในกาลที่นับยาว.
               ทางยาวท่านก็เรียกว่า อทฺธาโน. แม้กาลนี้ท่านก็กล่าวว่า อทฺธาโน เพราะยาวดุจทางยาว แม้กล่าวลมอัสสาสะ และลมปัสสาต่างหากกันว่า อสฺสสติ หายใจเข้าบ้าง และ ปสฺสสติ หายใจออกบ้าง เพื่อแสดงความเป็นไปตามลำดับแห่งภาวนา ท่านจึงกล่าวย่ออีกว่า อสฺสสติ บ้าง ปสฺสสติ บ้าง.
               บทว่า ฉนฺโท อุปฺปชฺชติ ฉันทะย่อมเกิด คือฉันทะย่อมเกิดเพื่อความยิ่งๆ ขึ้นไปแห่งความเจริญยิ่งของภาวนา.
               บทว่า สุขุมตรํ ละเอียดกว่า ท่านกล่าวเพราะมีความสงบ.
               บทว่า ปามุชฺชํ อุปปชฺชติ ความปราโมทย์ย่อมเกิด คือปีติย่อมเกิด เพราะความบริบูรณ์แห่งภาวนา.
               บทว่า อสฺสาสปสฺสาสาปิ จิตฺตํ วิวฏฺฏติ จิตย่อมหลีกออกจากลมอัสสาสะปัสสาสะ คือเมื่อปฏิภาคนิมิตเกิด เพราะอาศัยลมอัสสาสะปัสสาสะ จิตย่อมตั้งอยู่คือในปฏิภาคนิมิตนั้น มัชฌัตตุเบกขาอันเป็นอุปจาระและอัปปนา ย่อมตั้งอยู่ เพราะไม่มีความขวนขวายในการตั้งไว้ซึ่งการบรรลุสมาธิ.
               บทว่า นวหากาเรหิ ด้วยอาการ ๙ อย่าง ได้แก่ อาการ ๙ อย่าง คืออาการ ๓ ท่านกล่าวว่า อสฺสสติ บ้าง ปสฺสสติ บ้าง ก่อนแต่ฉันทะเกิด ตั้งแต่เริ่มภาวนา อาการ ๓ ก่อนความปราโมทย์เกิดตั้งแต่ฉันทะเกิด อาการ ๓ ตั้งแต่ความปราโมทย์เกิด.
               บทว่า กาโย กาย ชื่อว่ากาย เพราะประชุมลมอัสสาสะและปัสสาสะที่เป็นของละเอียดๆ ขึ้นไป. แม้นิมิตที่เกิดเพราะอาศัยลมอัสสาสะปกติปัสสาสะปกติ ก็ย่อมได้ชื่อว่าลมอัสสาสะปัสสาสะ.
               บทว่า อุปฏฺฐานํ สติ สติปรากฏ ชื่อว่าสติปรากฏ เพราะสติกำหนดอารมณ์นั้นตั้งอยู่.
               บทว่า อนุปสฺสนาญาณํ สติเป็นอนุปัสสนาญาณ.
               ความว่า กายานุปัสสนาเป็นนิมิตด้วยสามารถสมถะอนุปัสสนา คือ นามกาย รูปกาย เป็นญาณด้วยสามารถวิปัสสนา.
               บทว่า กาโยอุปฏฺฐานํ กายปรากฏ คือชื่อว่าปรากฏ เพราะกายมีสติเข้าไปตั้งอยู่.
               บทว่า โน สติ ไม่ใช่สติ. ความว่า กายนั้นไม่ใช่สติ.
               บทว่า ตาย สติยา คือ สติที่กล่าวแล้วในบัดนี้.
               บทว่า เตน ญาเณน ด้วยญาณนั้น คือด้วยญาณที่กล่าวในบัดนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ตํ กายํ อนุปสฺสติ พิจารณาเห็นกายนั้น คือไปตามกายตามที่กล่าวด้วยอำนาจแห่งสมถะและวิปัสสนา แล้วเห็นด้วยญาณสัมปยุตด้วยฌาน หรือด้วยวิปัสสนาญาณ. แม้ในความไม่มีบทมี กาย เป็นต้น ในมาติกา ก็ควรกล่าวในบัดนี้เพราะจตุกะนี้ ท่านกล่าวด้วยสามารถกายานุปัสนา ท่านชี้แจงบทแห่ง กาย หมายถึงคำว่า กาเย กายานุปสฺนา สติปฏฺฐานภาวนา สติปัฏฐานภาวนา คือการพิจารณาเห็นภายในกาย.
               บทว่า กาเย กายานุปสฺสนา คือ การพิจารณาเห็นกายนั้นๆ ในกายหลายอย่าง.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านอธิบายว่า การพิจารณาเห็นกายในกาย มิใช่พิจารณาเห็นธรรมอื่น มิใช่พิจารณาเห็นความเที่ยงความเป็นสุขความงาม ในกายอันเป็นความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาและไม่งาม โดยที่แท้การพิจารณาเห็นกายเท่านั้นโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาและไม่งาม.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านอธิบายว่า การพิจารณาเห็นกายสักแต่ว่ากาย เพราะไม่เห็นใครๆ ที่ควรถือในกายว่า เรา ของเรา หญิงหรือชาย.
               แม้ใน ๓ บทมีอาทิว่า เวทนาสุ เวทนานุปสฺสนา ข้างต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               สตินั้นแลปรากฏชื่อว่าสติปัฏฐาน สติปัฏฐานสัมปยุตด้วยกายานุปัสนา ชื่อว่ากายานุปัสนาสติปัฏฐาน การเจริญกายานุปัสนาสติปัฏฐานนั้น ชื่อว่ากายานุปัสนาสติปัฏฐานภาวนา.
               บทว่า ตํ กายํ ท่านกล่าวทำดุจว่าแสดงแล้วเพราะกายนั้น ท่านสงเคราะห์ด้วย กาย ศัพท์ ในนามกาย รูปกาย แม้ยังมิได้แสดงไว้ เพราะอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น ย่อมได้ในนามกายและรูปกายนั่นเอง ไม่ได้ในกายนิมิต อนุปัสสนาและภาวนาย่อมได้เพราะท่านกล่าวไว้แล้ว.
               บทมีอาทิว่า ทีฆํ อสฺสาสปสฺสาสวเสน ด้วยสามารถลมหายใจเข้า ลมหายใจออกยาว. ท่านกล่าวเพื่อแสดงถึงอานิสงส์แห่งอานาปานสติภาวนา เพราะความที่สติไพบูลย์และญาณไพบูลย์เป็นอานิสงส์อานาปานสติภานานั้น.
               บทว่า จิตฺตสฺส เอกคฺคตํ อวิกฺเขํป ปชานโต เมื่อรู้ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน ท่านกล่าวหมายถึงความที่จิตมีอารมณ์เดียวในกาลเห็นแจ้งฌานที่ได้แล้ว.
               บทว่า วิทิตา เวทนา คือเวทนาซึ่งปรากฎด้วยเห็นการเกิดขึ้นจากความเป็นสามัญ.
               บทว่า วิทิตา อุปฏฺฐหนฺติ ปรากฏเข้าไปตั้งอยู่ คือปรากฏเข้าไปตั้งอยู่โดยความสิ้นไป โดยความเสื่อมไป โดยความสูญ.
               บทว่า วิทิตา อพฺภตฺถํ คจฺฉนฺติ ปรากฏถึงความดับไป คือปรากฏถึงความพินาศด้วยเห็นความเสื่อมโดยความเป็นสามัญ.
               อธิบายว่า ทำลาย.
               แม้ในสัญญาและวิตกก็มีนัยนี้เหมือนกัน
               อนึ่ง เมื่อท่านกล่าวเวทนา สัญญาและวิตก ๓ อย่างเหล่านี้ แม้รูปธรรมที่เหลือก็เป็นอันกล่าวไว้ด้วย เพราะเหตุไรจึงกล่าว ๓ อย่างเท่านั้น. เพราะกำหนดถือเอาได้ยาก สุขทุกข์ปรากฏในเวทนาก่อน แต่อุเบกขาสุขุม กำหนดถือเอาได้ยาก ไม่ปรากฏด้วยดี แม้อุเบกขาก็ยังไม่ปรากฏแก่ภิกษุนั้น. สัญญาคือเอาตามสภาวะ ไม่ปรากฏเพราะถือเอาเพียงอาการ.
               อนึ่ง สัญญานั้นสัมปยุตด้วยวิปัสสนาญาณถือเอาลักษณะเป็นสัญญาตามสภาวะไม่ปรากฏอย่างยิ่ง แม้สัญญาจะปรากฏแก่ภิกษุนั้น วิตกทำไว้ต่างหากจากญาณ เพราะเป็นญาณปฏิรูป จึงกำหนดถือเอายาก เพราะญาณปฏิรูปเป็นวิตก.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ดูก่อนอาวุโสวิสาขะ ธรรมคือสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะสงเคราะห์เข้าไปในปัญญาขันธ์.๑๑-
____________________________
๑๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๐๘

               แม้วิตกนั้นก็ปรากฏแก่ภิกษุนั้น เพราะเหตุนั้น เมื่อกล่าวถึงการกำหนดถือเอายากอย่างนี้ รูปธรรมที่เหลือก็เป็นอันกล่าวแล้วด้วย ในนิเทศแห่งบทเหล่านี้ ท่านถามว่า เวทนาปรากฏเกิดขึ้นอย่างไร ไม้แก้บทนั้นแก้เพียงปรากฏแห่งเวทนาที่เกิดขึ้น จึงเป็นอันแก้ความที่เวทนาปรากฏ เพราะเหตุนั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า กถํ เวทนาย อุปฺปาโท วิทิโต โหติ ความเกิดแห่งเวทนาปรากฏอย่างไร แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน
               บทมีอาทิว่า อวิชฺชาสมุทยา อวิชฺชานิโรธา เพราะอวิชชาเกิด เพราะอวิชชาดับ มีความดังได้กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               แม้สัญญาและวิตกก็พึงทราบโดยนัยนี้แล.
               ในวิตักกวาระ ท่านมิได้กล่าวว่า เพราะผัสสะดับแล้วกล่าวในที่แห่งผัสสะว่า เพราะสัญญาเกิด เพราะสัญญาดับ.
               หากถามว่า ที่กล่าวดังนั้นเพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะวิตกมีสัญญาเป็นมูล เพราะท่านกล่าวไว้ว่า๑๒- ความต่างกันแห่งสังกัปปะเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างแห่งสัญญา.
____________________________
๑๒- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๔๖๑

               อนึ่ง ในบทมีอาทิว่า อนิจฺจโต มนสิกโรโต เมื่อมนสิการโดยความไม่เที่ยง พึงประกอบธรรมนั้นๆ ในวาระนั้นๆ โดยนัยมีอาทิว่า เวทนํ อนิจฺจโต มนสิกโรโต เมื่อมนสิการเวทนาโดยความไม่เที่ยง ก็เพราะเวทนาสัมปยุตด้วยวิปัสนา จึงไม่เป็นอุปการะแก่วิปัสนา เพราะไม่สามารถในการทำกิจแห่งวิปัสสนาได้ฉะนั้นนั่นเอง เวทนาจึงไม่มาในโพธิปักขิยธรรม กิจแห่งสัญญาสัมยุตด้วยวิปัสสนา จึงไม่คลาดเคลื่อน เพราะฉะนั้น สัญญานั้นจึงเป็นอุปการะส่วนเดียวของวิปัสสนา แต่กิจแห่งการเห็นแจ้งเว้นวิตกย่อมไม่มี เพราะวิปัสสนามีวิตกเป็นสหายย่อมทำกิจของตน.
               ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               ปัญญาตามธรรมดาของตนย่อมไม่สามารถจะตัดสินอารมณ์ว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตาได้ แต่เมื่อวิตกกระทบแล้ว กระทบแล้วให้อารมณ์ จึงสามารถตัดสินได้ เหมือนเหรัญญิกวางกหาณะไว้ที่มือ แม้ประสงค์จะตรวจดูในส่วนทั้งหมดก็ไม่สามารถจะพลิกกลับด้วยสายตาได้ แต่ครั้นเอานิ้วมือพลิกกลับไปมาข้างโน้นข้างนี้ ก็สามารถตรวจดูได้ฉันใด ปัญญาก็ฉันนั้นเหมือนกัน ตามธรรมดาของตนไม่สามารถวินิจฉัยอารมณ์ด้วยอำนาจแห่งความไม่เที่ยงเป็นต้นได้ แต่สามารถวินิจฉัยอารมณ์อันวิตกมีการยกขึ้นเป็นลักษณะ มีการกระทบและการจดจ่อเป็นรสอันมาแล้วๆ ให้ได้ ดุจกระทบและพลิกกลับไปมาฉะนั้น.๑๓-
____________________________
๑๓- วิสุทฺธิมคฺค. ๓/๑๐๔

               เพราะฉะนั้น เพื่อแสดงเพียงลักษณะ เพราะเวทนาและสัญญาทั้งหลายเป็นอุปการะแก่วิปัสสนา ท่านจึงชี้แจงด้วยเอกวจนะในบทนั้นๆ เวทนาย สญฺญาย ดังนี้.
               บทว่า ทีฆํ อสฺสาสปสฺสาสวเสน ด้วยสามารถลมหายใจเข้าลมหายใจออกยาวเป็นอาทิ ท่านกล่าวเพื่อแสดงความถึงพร้อมแห่งอานาปานสติภาวนา และผลแห่งภาวนา.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สโมธาเนติ ให้ประชุมลง.
               ความว่า ตั้งไว้ซึ่งอารมณ์หรือยังอารมณ์ให้ตั้งไว้ ชื่อว่าบุคคลย่อมตั้งอารมณ์ เพื่อความบริบูรณ์แห่งภาวนา แม้ในความไม่มีความตั้งมั่นและความขวนขวาย.
               บทว่า โคจรํ อารมณ์ คือสังขารเป็นอารมณ์ในขณะแห่งวิปัสสนาและนิพพานเป็นอารมณ์ในขณะแห่งมรรคและขณะแห่งผล.
               บทว่า สมตฺถํ คือ ความสงบเป็นประโยชน์ หรือชื่อว่า สมตฺโถ เพราะประโยชน์ของความสงบ ซึ่งธรรมมีความสงบเป็นประโยชน์นั้น.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า มคฺคํ สโมธาเนติ ยังมรรคให้ประชุมลง คือนิพพานนั่นเองเป็นโคจรในขณะมรรคและผล.
               บทว่า อยํ ปุคฺคโล บุคคลนี้ คือพระโยคาวจรผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งอานาปานสติภาวนา.
               ในบทว่า อิมสฺมึ อารมฺมเณ ในอารมณ์นี้ คือในอารมณ์อันเป็นสังขตะ กล่าวคือนามกาย รูปกายที่ท่านสงเคราะห์ ด้วยบทว่า กาเย และในนิพพานเป็นอารมณ์อันเป็นมรรคโดยลำดับนั้น.
               ท่านกล่าวศัพท์ว่า อารัมมณะและโคจร มีความอันเดียวกันด้วยบทว่า ยนฺตสฺส เป็นอาทิ.
               บทว่า ตสฺส คือ แห่งบุคคลนั้น.
               บทว่า ปชานาตีติ ปุคฺคโล ปชานนา ปญฺญา ท่านอธิบายว่า บุคคลย่อมรู้ด้วยปัญญา.
               บทว่า อารมฺมณสฺส อุปฏฺฐานํ ความปรากฏซึ่งอารมณ์ คือสติเป็นความปรากฏแห่งสังขารเป็นอารมณ์ในขณะแห่งวิปัสสนาและนิพพานเป็นอารมณ์ในขณะแห่งมรรคผล.
               ในบทที่เป็นฉัฏฐีวิภัตติลงในกรรม (ทุติยาวิภัตติ) เหมือนกล่าวว่าบำรุงซึ่งพระราชา.
               บทว่า อวิกฺเขโป ความไม่ฟุ้งซ่าน คือสมาธิ.
               บทว่า อธิฏฺฐานํ ความตั้งมั่น คือมีสังขารตามที่กล่าวแล้วเป็นอารมณ์และมีนิพพานเป็นอารมณ์ ชื่อว่า อธิฏฺฐานํ เพราะอารมณ์มีจิตตั้งมั่น.
               บทว่า โวทานํ ความผ่องแผ้ว คือ ญาณชื่อว่า โวทานํ เพราะอารมณ์เป็นเหตุให้จิตผ่องแผ้วบริสุทธิ์.
               สมาธิอันเป็นฝ่ายหดหู่ ชื่อว่าสงบ เพราะเป็นความสงบด้วยการถึงความไม่หดหู่. ญาณอันเป็นฝ่ายฟุ้งซ่านชื่อว่าสงบ เพราะเป็นความสงบด้วยภาวะความไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยเหตุนั้นเป็นอันท่านกล่าวถึงความที่สมถะและวิปัสสนาเป็นธรรมเทียมคู่ ในขณะแห่งวิปัสสนามรรคและผล แต่สติชื่อว่าสงบ เพราะอุปการะแก่ความสงบทั้งสองนั้น เพราะมีประโยชน์ทั้งหมด อารมณ์ชื่อว่าสงบเพราะตั้งมั่นด้วยสมถะ.
               บทว่า อนวชฺชฏฺโฐ ธรรมอันไม่มีโทษเป็นประโยชน์ คือสภาวะแห่งวิปัสสนาไม่มีโทษ.
               บทว่า นิกฺกิเลสฏฺโฐ ธรรมอันไม่มีกิเลสเป็นประโยชน์ คือสภาวะแห่งมรรคไม่มีกิเลส.
               บทว่า โวทานฏฺโฐ ธรรมมีความผ่องแผ้วเป็นประโยชน์ คือสภาวะแห่งผลบริสุทธิ์.
               บทว่า ปรมฏฺโธ ธรรมอันประเสริฐเป็นประโยชน์ คือสภาวะแห่งนิพพานเป็นธรรมสูงสุดกว่าธรรมทั้งปวง.
               บทว่า ปฏิวิชฺฌติ ย่อมแทงตลอด คือแทงตลอดสภาวะนั้นๆ โดยความไม่หลง.
               ในบทนี้ท่านกล่าวถึงการแทงตลอดโดยฃอบด้วยบทมีอาทิว่า อารมฺมณสฺส อุปฏฺฐานํ ปรากฏซึ่งอารมณ์.
               อนึ่ง ในบทนี้นั่นแหละ เพราะท่านกล่าวถึงการแทงตลอดธรรมอันมีความผ่องแผ้วเป็นประโยชน์ จึงเป็นอันกล่าวถึงธรรมอันไม่มีโทษเป็นประโยชน์ ธรรมอันไม่มีกิเลสเป็นประโยชน์ และธรรมอันประเสริฐเป็นประโยชน์ มีลักษณะอย่างเดียวกัน.
               ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                                   ธรรมเครื่องนำไปมีลักษณะดังที่ท่านกล่าวว่า
                         เมื่อกล่าวถึงธรรมอย่างเดียวกัน เป็นอันกล่าวถึงธรรม
                         บางอย่างทั้งหมดที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน.
               อนึ่ง ในบทนี้ว่า ธรรมอันไม่มีโทษเป็นประโยชน์ ธรรมอันไม่เศร้าหมองเป็นประโยชน์ ชื่อว่าเป็นธรรมมีความสงบเป็นประโยชน์ เพราะเป็นประโยชน์ของความสงบกล่าวคือความไม่ฟุ้งซ่าน ธรรมอันผ่องแผ้ว เป็นประโยชน์ ชื่อว่าเป็นธรรมมีความสงบเป็นประโยชน์ เพราะความสงบนั่นแหละหมายถึงความผ่องแผ้วแห่งมรรควิปัสสนาเป็นประโยชน์. ชื่อว่าเป็นธรรมมีความสงบเป็นประโยชน์ เพราะประโยชน์แห่งความสงบกล่าวคือความผ่องแผ้วแห่งมรรค หมายถึงความผ่องแผ้วแห่งผล.
               ส่วนธรรมอันประเสริฐเป็นประโยชน์ เป็นธรรมมีความสงบเป็นประโยชน์ เพราะมีความสงบนั่นแลเป็นประโยชน์ หรือเพราะเป็นประโยชน์แห่งความสงบทั้งหมด เพราะประกอบด้วยนิพพาน ความสงบและธรรมอันมีความสงบเป็นประโยชน์มีประการดังกล่าวแล้วนั้น ท่านทำให้เป็นเอกเสสสมาสสรุปเป็นประโยชน์.
               ธรรม คือ อินทรีย์ พละและโพชฌงค์ย่อมได้แม้ในขณะแห่งวิปัสสนามรรคและผล.
               มรรคและวิสุทธิ ๓ ย่อมได้ในขณะมรรคผลนั่นเอง. วิโมกข์วิชชาและความรู้ในความสิ้นไปย่อมได้ในขณะมรรคนั่นเอง. วิมุตติและความรู้ในการไม่เกิด ย่อมได้ในขณะผลนั่นเอง. ที่เหลือย่อมได้แม้ในขณะแห่งวิปัสสนา.
               พึงทราบวินิจฉัยในธรรมวารดังต่อไปนี้
               บทว่า อิเม ธมฺเม อิมสฺมึ อารมฺมเณ สโมธาเนติ ยังธรรมเหล่านี้ให้ประชุมลงในอารมณ์นี้
               พึงทราบธรรมที่เหลือตามความประกอบเว้นนิพพาน.
               ท่านกล่าวบทนี้ด้วยสามารถเป็นเยภุยนัย (เป็นส่วนมาก).
               อนึ่ง ในบทนี้ท่านกล่าวอรรถที่ยังไม่ได้กล่าวไว้แล้วในหนหลัง.
               แม้เมื่อท่านแสดงธรรมเป็นเครื่องนำออกด้วยจตุกะหนึ่งๆ ก็เป็นอันแสดงถึงธรรมเป็นเครื่องนำออกโดยส่วนหนึ่งๆ เพราะความที่ส่วนแม้หนึ่งๆ มีการหยั่งลงไปในที่สุดแห่งจตุกะเป็นอุปนิสัยแห่งธรรมเป็นเครื่องนำออก เพราะเว้นส่วนหนึ่งๆ เสียไม่เป็นการนำออก.
               จบอรรถกถาแสดงลมหายใจเข้าและหายใจออกยาว               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๓. อานาปาณกถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 294อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 362อ่านอรรถกถา 31 / 423อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=4070&Z=5199
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=1781
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=1781
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :