ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 294อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 362อ่านอรรถกถา 31 / 423อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค
๓. อานาปาณกถา

หน้าต่างที่ ๕ / ๕.

               พึงทราบวินิจฉัยในรัสสนิเทศดังต่อไปนี้.
               บทว่า วิตฺตรสงฺขาเต ในขณะที่นับได้นิดหน่อย คือในกาลที่นับได้เล็กน้อย.
               บทที่เหลือพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในนิเทศนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในสัพพกายปฏิสังเวทินิเทศดังต่อไปนี้.
               เพื่อถือเอาความสุขเพราะเวทนาในอรูปธรรมหยาบ ท่านจึงกล่าวถึงเวทนาเสวยอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ก่อน แต่นั้นกล่าวถึงสัญญาถือเอาอาการแห่งอารมณ์ของเวทนาอย่างนี้ว่า บุคคลย่อมรู้พร้อมถึงเวทนาที่เสวย แต่นั้นกล่าวถึงเจตนาอันเป็นอภิสังขารด้วยอำนาจแห่งสัญญา แต่นั้นกล่าวถึงผัสสะ เพราะบาลีว่า๑- สัมผัสแล้วย่อมเสวยอารมณ์ สัมผัสแล้วย่อมรู้เวทนา สัมผัสแล้วย่อมคิดถึงเวทนา แต่นั้นกล่าวถึงมนสิการอันมีลักษณะทั่วไปแห่งเวทนาทั้งปวง กล่าวถึงสังขารขันธ์ด้วยเจตนาเป็นต้น เมื่อท่านกล่าวถึงขันธ์ ๓ อย่าง อย่างนี้เป็นอันกล่าวถึงวิญญาณขันธ์อาศัยขันธ์นั้น.
____________________________
๑- สํ. ข. เล่ม ๑๘/ข้อ ๑๒๖

               บทว่า นามญฺจ ได้แก่ นามมีประการดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า นามกาโย จ นี้ ท่านกล่าวเพื่อนำนามนั้นออก เพราะท่านสงเคราะห์นิพพานเข้าโดยนาม และเพราะโลกุตรธรรมไม่เข้าถึงวิปัสสนาเป็นอันท่านนำเอานิพพานออกด้วยคำว่า กาโย เพราะนิพพานพ้นจากกอง.
               บทว่า เย จ วุจฺจนฺติ จิตฺตสงฺขารา ท่านกล่าวจิตตสังขารว่าเป็นนามกาย คือท่านกล่าวว่าจิตตสังขาร แม้กล่าวอย่างนี้ว่า๒- สัญญาและเวทนาเป็นเจตสิก ธรรมเหล่านี้เนื่องด้วยจิต เป็นจิตตสังขาร ก็สงเคราะห์เข้าด้วยนามกายในที่นี้.
____________________________
๒- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๔๑๐

               บทว่า มหาภูตา มหาภูตรูปชื่อว่ามหาภูตา เพราะเป็นใหญ่โดยความปรากฏใหม่ โดยความสามัญเป็นของใหญ่ โดยบริหารใหญ่ โดยผิดปกติใหญ่.
               มหาภูตรูปมี ๔ อย่าง คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย.
               บทว่า จตุนฺนญฺจ มหาภูตานํ อุปาทายรูปํ รูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ เป็นฉัฏฐีวิภัตติลงในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ ความว่า รูปที่ยังไม่ละยังเป็นไป เพราะอาศัยซึ่งมหาภูตรูป ๔. ก็อุปาทายรูปนั้นมี ๒๔ อย่าง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รส หญิง ชาย ชีวิต หทัยวัตถุ โอชะ กายวิญญัติ วจีวิญญัติ อากาศธาตุ รูปเบา อ่อน ควรแก่การงาน การสะสม การสืบต่อ ความคร่ำคร่า ความไม่เที่ยง.
               บทว่า อสฺสาโส จ ปสฺสาโส จ คือ ลมอัสสาสะปัสสาสะตามปกตินั่นเอง. แม้ปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นเพราะอาศัยลมอัสสาสะปัสสาสะก็ได้ชื่อนั้น ดุจปฐวีกสิณเป็นต้น.
               อนึ่ง เพราะเห็นคล้ายรูปปฏิภาคนิมิต จึงได้ชื่อว่ารูป ดุจในประโยคมีอาทิว่า เห็นรูปในภายนอก.๓-
____________________________
๓- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๑๗๘

               บทว่า นิมิตฺตญฺจ อุปนิพนฺธนา คือ ที่สัมฝัสลมอัสสาสะปัสสาสะเป็นนิมิตแห่งการเนื่องกันด้วยสติ.
               บทว่า เย จ วุจฺจนฺติ กายสงฺขารา ท่านกล่าวกายสังขารว่าเป็นรูปกาย คือท่านกล่าวว่า กายสังขารแม้กล่าวอย่างนี้ว่า ลมอัสสาสะปัสสาสะเป็นไปในกาย ธรรมเหล่านี้เนื่องด้วยกาย เป็นกายสังขาร๔- ก็สงเคราะห์เข้าด้วยรูปกายในที่นี้.
____________________________
๔- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๔๐๖

               บทว่า เต กายา ปฏิวิทิตา โหนฺติ กายเหล่านั้นย่อมปรากฏ คือกายมีลมอัสสาสะปัสสาสะเป็นนิมิต ในขณะแห่งฌาน กายมีรูปและไม่มีรูปที่เหลือในขณะแห่งวิปัสสนาย่อมปรากฏโดยอารมณ์ ในขณะแห่งมรรคย่อมปรากฏโดยความไม่หลง.
               ท่านกล่าวบทมีอาทิว่า ทีฆํ อสฺสาสปสฺสาสวเสน ด้วยสามารถแห่งลมอัสสาสะปัสสาสะยาวหมายถึง แม้ในวิปัสสนามรรคเกิดขึ้นแล้วแก่พระโยคาวจรผู้ได้ฌานด้วยสามารถแห่งลมอัสสาสะปัสสาสะ.
               บทมีอาทิว่า อาวชฺชโต ปชานโต เมื่อคำนึงถึง เมื่อรู้มีความดังได้กล่าวแล้วในศีลกถา. ท่านทำกายทั้งหลายมีประการดังกล่าวแล้วเหล่านั้นไว้ในภายในแล้วกล่าวว่า สพฺพกายปฏิสํเวที เป็นผู้รู้แจ้งกองลมทั้งปวง.
               ในบทมีอาทิว่า สพฺพกายปฏิสํเวที อสฺสาสปสฺสานํ สํวรฏฺเฐน ด้วยอรรถว่าความเป็นผู้รู้แจ้งกองลมทั้งปวง ระวังลมหายใจเข้าลมหายใจออก พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ความสำรวมในฌานวิปัสสนามรรคอันเกิดขึ้นแล้ว แต่ลมอัสสาสะปัสสาสะดังท่านกล่าวว่า สพฺพกายปฏิสํเวที เป็นผู้รู้แจ้งกองลมทั้งปวง เป็นศีลวิสุทธิด้วยอรรถว่าระวัง ความไม่ฟุ้งซ่านเป็นจิตวิสุทธิด้วยอรรถว่าไม่ฟุ้งซ่าน ปัญญานั่นแลเป็นทิฏฐิวิสุทธิด้วยอรรถว่าเห็น เพียงความไม่มีบาป แม้ในความไม่มีวิรัติในฌานและวิปัสสนาก็พึงทราบว่าชื่อว่าสำรวม.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศแห่งบทมีอาทิว่า ปสฺสมฺภยํ ระงับ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า กายิกา เป็นไปทางกาย คือ มีในรูปกาย.
               บทว่า กายปฏิพทฺธา คือ เนื่องด้วยกาย อาศัยกาย. เมื่อกายมี ลมอัสสาสะปัสสาสะก็มี เมื่อกายไม่มี ลมอัสสาสะปัสสาสะก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ลมอัสสาสะปัสสาสะจึงชื่อว่ากายสังขาร เพราะลมอัสสาสะปัสสาสะเหล่านั้นปรุงขึ้นด้วยกาย.
               บทว่า ปสฺสมฺเภนโต ระงับ คือให้ดับให้สงบ. ความระงับกายสังขารอย่างหยาบ สำเร็จด้วยคำว่า ปสฺสมฺภน.
               บทว่า นิโรเธนฺโต ดับ คือดับด้วยไม่ให้กายสังขารอย่างหยาบเกิดขึ้น.
               บทว่า วูปสเมนฺโต สงบ คือนำความสงบโดยนัยแห่งการแปรปรวนสันตติอย่างหนึ่งในกายสังขารอย่างหยาบนั่นแล.
               บทว่า สิกฺขติ ย่อมเชื่อมความว่า ย่อมศึกษาว่า เราจักหายใจเข้าด้วยสามารถแห่งอธิการ (หน้าที่) หรือย่อมศึกษาไตรสิกขา.
               บัดนี้เพื่อแสดงถึงความระงับกายสังขารอย่างหยาบ ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า ยถารูเปหิ เพราะกายสังขารเห็นปานใด.
               บทว่า อานมนา ความอ่อนไป คืออ่อนไปข้างหลัง.
               บทว่า วินมนา ความน้อมไป คือน้อมไปทั้งสองข้าง.
               บทว่า สนฺนมนา ความเอนไป คือเอนไปเป็นอย่างดีของกายสังขารที่เอนไปแม้โดยข้างทั้งปวง.
               บทว่า ปณมนา ความโอนไป คือโอนไปข้างหน้า.
               บทว่า อิญฺชนา ความหวั่นไหว คือสั่นไป.
               บทว่า ผนฺทนา ความดิ้นรน คือส่ายไปนิดหน่อย.
               บทว่า ปกมฺปนา ความโยก คือโคลงไปมามาก.
               พึงทำการเชื่อมว่า ความอ่อนไป ฯลฯ ความโยกกายด้วยกายสังขารเห็นปานใด ระงับกายสังขารเห็นปานนั้น และความอ่อนไป ฯลฯ ความโยกใดแห่งกาย ระงับความอ่อนไปเป็นต้นนั้น เพราะเมื่อการสังขารระงับ ก็เป็นอันระงับความอ่อนไปเป็นต้นของกาย.
               พึงทราบโดยการเชื่อมความว่า กายไม่มีการน้อมไปเป็นต้น ด้วยกายสังขารเห็นปานใด ระงับกายสังขารแม้ละเอียดสุขุมเห็นปานนั้นได้. กายไม่มีการน้อมไปเป็นต้นใด ระงับกายสังขารอันละเอียดสุขุมนั้นได้.
               บทว่า สนฺตํ สุขุมํ ละเอียดสุขุมนี้เป็นภาวนปุงสกะ (เป็นนปุงสกลิงค์) ในบทว่า อิติ กิร นี้
               บทว่า อิติ มาในความว่า เอวํ อย่างนี้.
               บทว่า กิร มาในความว่า ยทิ ผิว่า คือ ผิว่า เล่าลือกันมาว่า ภิกษุย่อมศึกษาว่า เราจักระงับลมอัสสาสะปัสสาสะแม้สุขุมอย่างนี้ หายใจเข้าและหายใจออก ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า กิร ท่านอธิบายว่า เพราะเป็นคำเล่าลือ จึงควรลงในอรรถว่าไม่น่าเชื่อ ไม่น่าอดกลั้น และคนอื่นเขาพูดมา เราจึงไม่เชื่อ ไม่อดกลั้น ไม่ประจักษ์แก่เราว่า ภิกษุย่อมศึกษาความระงับกายสังขารแม้สุขุมด้วยประการฉะนี้ ดังนี้.
               บทว่า เอวํ สนฺเต เมื่อเป็นอย่างนี้ คือเมื่อระงับกายสังขารอันสุขุมอย่างนี้มีอยู่.
               บทว่า จาตูปลทฺธิยา จ ปภาวนา น โหติ ความได้ลมก็ไม่ปรากฏ คือได้ลมอัสสาสะปัสสาสะ.
               บทว่า อุปลทฺธิ ความได้ คือความรู้สึก. ความว่า ความรู้สึกในการภาวนาอันมีลมอัสสาสะปัสสาสะนั้นเป็นอารมณ์ ซึ่งได้รับลมอัสสาสะปัสสาสะมาย่อมไม่ปรากฏคือไม่เกิด อารมณ์นั้นไม่มีภาวนา.
               บทว่า อสฺสาสปสฺสาสานญฺจ ปภาวนา น โหติ ลมอัสสาสะปัสสาสะก็ไม่ปรากฏ. ความว่า เพราะดับลมอัสสาสะปัสสาสะแม้สุขุมด้วยภาวนา ลมอัสสาสะปัสสาสะเหล่านั้นก็ไม่เกิด ไม่ปรากฏ.
               บทว่า อานาปานสติยา จ ปภาวนา น โหติ อานาปานสติก็ไม่ปรากฏ คือสติสัมปยุตด้วยความรู้สึกในภาวนา อันมีอานาปานสตินั้นเป็นอารมณ์ เพราะไม่มีลมอัสสาสะปัสสาสะก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น การเจริญอานาปานสติสมาธิอันสัมปยุตด้วยความรู้สึกในภาวนานั้นย่อมไม่มี.
               บทว่า จ นํ ในบทนี้ว่า น จ นํ ตํ เป็นเพียงนิบาตดุจในบทว่า ภิกฺขุ จ นํ เป็นอาทิ.
               เชื่อมความว่า บัณฑิตทั้งหลายจะเข้าสมาบัติอย่างที่กล่าวแล้วนั้นก็หามิได้ แม้จะออกจากสมาบัตินั้น ก็หามิได้.
               บทว่า อิติ กิร คือ ด้วยประการอย่างนี้ โดยเป็นถ้อยคำของฝ่ายเล่าลือ.
               พึงเห็นว่า กิร ศัพท์ในบทนี้ลงในอรรถว่า ด้วยประการอย่างนี้.
               บทว่า เอวํ สนฺเต คือ เมื่อความระงับมีอยู่อย่างนี้.
               บทว่า ยถา กตํ วิย ข้อนั้นเหมือนอะไร คือถามความเปรียบเทียบว่า ข้อนั้นเหมือนวิธีที่กล่าวไว้อย่างไร ท่านแสดงความเปรียบเทียบนั้น ด้วยบทว่า เสยฺยถาปิ เหมือนอย่างว่า.
               บทว่า กํเส กังสดาล คือภาชนะทำด้วยโลหะ.
               บทว่า นิมิตฺตํ คือ อาการแห่งเสียงเหล่านั้น.
               อนึ่ง บทว่า นิมิตฺตํ เป็นทุติยาวิภัตติลงในอรรถแห่งฉัฏฐีวิภัตติ. ความว่า แห่งนิมิต นิมิตแห่งเสียงไมใช่อื่นจากเสียง.
               บทว่า สุคฺคหิตตฺตา คือ เพราะถือเอาด้วยดี.
               บทว่า สุมนสิกตตฺตา คือ เพราะนึกด้วยดี.
               บทว่า สุปธาริตตฺตา เพราะทรงจำไว้ด้วยดี คือตั้งไว้ในจิตด้วยดี.
               บทว่า สุขุมสทฺทนิมิตฺตารมฺมณตฺตาปิ แม้เพราะนิมิตแห่งเสียงค่อยเป็นอารมณ์ คือเพราะเสียงแม้ค่อยในกาลนั้นดับไป จิตแม้มีนิมิตแห่งเสียงเป็นอารมณ์ค่อยกว่าย่อมเป็นได้ เพราะทำนิมิตแห่งเสียงค่อยกว่า แม้ไม่เป็นอารมณ์แห่งนิมิตเสียงตามที่หมายไว้.
               อีกอย่างหนึ่ง แม้เพราะความเป็นนิมิตแห่งเสียงค่อยกว่าเป็นอารมณ์.
               พึงทราบความแม้ในอัปปนาโดยนัยนี้แล.
               ในบทมีอาทิว่า ปสฺสมฺภยํ พึงทราบการประกอบว่า ลมอัสสาสะปัสสาสะ ท่านกล่าวว่า ระงับกายสังขาร คือกาย หรือลมอัสสาสะปัสสาสะ ในบทนี้ว่า ระงับกายสังขาร คือกาย.
               เมื่อพระโยคาวจรมีความคิดคำนึงว่า เมื่อกายสังขารแม้ระงับไปด้วยภาวนาวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งภาวนา) เราจะระงับกายสังขารอย่างหยาบ ดังนี้ ชื่อว่าระงับอย่างยิ่ง ด้วยความเอาใจใส่นั้น ความหายใจอย่างสุขุมก็ยังไม่ปรากฏ.
               บทว่า อฏฺฐ อนุปสฺสเน ญาณานิ ญาณในการพิจารณา ๘ ได้แก่อนุปัสนาญาณ ๘ คือ เมื่อกล่าววัตถุ ๔ ว่า เป็นผู้รู้แจ้งกองลมทั้งปวงยาวสั้น ระงับกายสังขารด้วยอำนาจลมอัสสาสะ ๔ ด้วยอำนาจลมปัสสาสะ ๔.
               บทว่า อฏฺฐ จ อุปฏฺฐานานุสฺสติโย อนุสติที่ปรากฏ ๘ ได้แก่อุปัฏฐานานุสติ ๘ คือ เมื่อท่านกล่าวถึงวัตถุ ๔ โดยนัยมีอาทิว่า๕- เมื่อรู้ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจแห่งลมหายใจเข้ายาว สติย่อมตั้งมั่นด้วยอำนาจแห่งลมอัสสาสะ ๔ ด้วยอำนาจแห่งลมปัสสาสะ ๔.
____________________________
๕- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๔๐๔

               บทว่า จตฺตาริ สุตฺตนฺติกวตฺถูนิ เรื่องอันมีมาในพระสูตร ๔ คือสุตตันติกวัตถุ ๔ ด้วยสามารถแห่งจตุกะที่ ๑ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วในอานาปานสติสูตร.๖-
____________________________
๖- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๒๘๒

               จบอรรถกถาปฐมจตุกนิเทศ               
               จบภาณวาร               

               พึงทราบวินิจฉัยในปีติปฏิสังเวทินิเทศแห่งจตุกะที่ ๒ ดังต่อไปนี้.
               ในบทว่า อุปฺปชฺชติ ปีติปามุชฺชํ ปีติและปราโมทย์ย่อมเกิดนี้.
               บทว่า ปีติ เป็นมูลบท.
               บทว่า ปามุชฺชํ เป็นบทขยายความ คือความปราโมทย์.
               ในบทมีอาทิว่า ยา ปีติ ปามุชฺชํ ท่านกล่าวว่า ปีติย่อมได้ชื่อมีอาทิอย่างนี้ว่าปีติและปราโมทย์.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปีติ เป็นบทแสดงสภาวะ. ความเป็นแห่งความปราโมทย์ ชื่อว่า ปามุชชํ. อาการแห่งความเบิกบาน ชื่อว่า อาโมทนา. อาการแห่งความบันเทิง ชื่อว่า ปโมทนา.
               อีกอย่างหนึ่ง การทำเภสัช น้ำมัน หรือน้ำร้อนน้ำเย็นให้รวมเป็นอันเดียวกัน ท่านเรียกว่าโมทนา ฉันใด แม้ด้วยการทำธรรมทั้งหลายให้รวมเป็นอันเดียวกันก็เรียกว่าโมทนา ฉันนั้น. ท่านกล่าวว่า อาโมทนา ปโมทนา เพราะเพิ่มบทอุปสรรคลงไป.
               ชื่อว่า หาโส เพราะอรรถว่าความหรรษา. ชื่อว่า ปหาโส เพราะอรรถว่าความรื่นเริง.
               บทนี้เป็นชื่อของความหรรษาร่าเริง.
               ชื่อว่า วิตฺติ เพราะความปลื้มใจ. บทนี้เป็นชื่อของทรัพย์.
               อนึ่ง ชื่อว่า วิตฺติ เพราะเป็นปัจจัยแห่งโสมนัส เพราะทำให้เกิดความสบายใจ. เหมือนอย่างว่า ความโสมนัสย่อมเกิดแก่คนมีทรัพย์ เพราะอาศัยทรัพย์ฉันใด ความโสมนัสย่อมเกิดแม้แก่คนมีปีติ เพราะอาศัยปีติฉันนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า วิตฺติ ความปลื้มใจ.
               จริงอยู่ บทนี้เป็นชื่อของปีติอันดำรงสภาวะแห่งความยินดีไว้.
               อนึ่ง บุคคลผู้มีปีติท่านเรียกว่า อุทคฺโค ผู้ยินดี เพราะเป็นผู้มีกายและใจสูง สูงยิ่ง. ส่วนแห่งความเป็นผู้มีใจสูง ชื่อว่า โอทคฺยํ. ความเป็นผู้มีใจเป็นของตน ชื่อว่า อตตฺมนตา ความดีใจ.
               จริงอยู่ ใจของผู้ไม่ยินดี เพราะมีทุกข์เป็นเหตุ ไม่ชื่อว่ามีใจของตน. ใจของผู้ยินดี เพราะสุขเป็นเหตุ ชื่อว่ามีใจของตน. ความเป็นผู้มีใจเป็นของตน ชื่อว่า อตฺตมนตา ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง เพราะความเป็นผู้มีใจเป็นของตน ไม่ใช่ของใครๆ อื่น ความเป็นแห่งจิตนั่นแล ชื่อว่าเจตสิกธรรม ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า อตฺตมนตา จิตฺตสฺส ความมีจิตเป็นของตน.
               บทที่เหลือพึงทราบประกอบโดยนัยที่ท่านกล่าวไว้แล้วในที่นี้ ในตอนก่อนและตอนหลัง.
               พึงทราบวินิจฉัยใน สุขปฏิสํเวทินิเทศ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า เทฺว สุขานิ สุขมี ๒ อย่าง ท่านกล่าวเพื่อแสดงถึงภูมิของสมถะและวิปัสสนา. เพราะกายิกสุข (สุขทางกาย) เป็นภูมิของวิปัสสนา. เจตสิกสุข (สุขทางใจ) เป็นภูมิของสมถะและวิปัสสนา.
               บทว่า กายิกํ กายิกสุข ชื่อว่า กายิกํ เพราะประกอบแล้วในกายโดยเกิดขึ้นตามลำดับเว้นปสาทกาย.
               บทว่า เจตสิกํ เจตสิกสุข ชื่อว่าเจตสิก เพราะประกอบไว้ในใจโดยไม่พรากไป.
               ในสองบทนั้นปฏิเสธเจตสิกสุข ด้วยบทว่า กายิก. ปฏิเสธกายิกทุกข์ ด้วยบทว่า สุข.
               อนึ่ง ปฏิเสธกายิกสุข ด้วยบทว่า เจตสิก. ปฏิเสธเจตสิกทุกข์ ด้วยบทว่า สุข.
               บทว่า สตํ ความสำราญ คือความหวาน หวานด้วยดี.
               บทว่า สุขํ คือ สุขนั่นเอง มิใช่ทุกข์.
               บทว่า กายสมฺผสฺสชํ คือ เกิดในกายสัมผัส.
               บทว่า สาตํ สุขํ เวทยิตํ ความสุขที่ได้เสวยเป็นความสำราญ คือความสุขที่ได้เสวยเป็นความสำราญที่ไม่ได้เสวยไม่เป็นความสำราญ ความสุขที่ได้เสวย มิใช่ความทุกข์ที่ได้เสวย ๓ บทต่อไป ท่านกล่าวด้วยเป็นอิตถีลิงค์. ความในบทนี้มีว่า สาตา เวทนา น อสาตา สุข เวทนา น ทุกฺขา สุขเวทนาเป็นความสำราญ มิใช่ความไม่สำราญ เวทนาเป็นสุข มิใช่เป็นทุกข์.
               พึงประกอบเจตสิกสุขนิเทศ โดยนัยตรงข้ามกับที่ท่านกล่าวแล้ว.
               บทว่า เต สุขา สุขเหล่านั้นเป็นลิงควิปลาส. ท่านกล่าวว่า ตานิ สุขานิ.
               บทที่เหลือในนิเทศนี้ พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในปฐมจตุกะหลังในจตุกะ
               พึงทราบสุตตันติกวัตถุ (เรื่องอันมีในพระสูตร) ด้วยอำนาจแห่งทุติยจตุกะ.
               จบอรรถกถาทุติยจตุกนิเทศ               
               จบภาณวาร               

               พึงทราบวินิจฉัยในตติยจตุกนิเทศดังต่อไปนี้.
               บทว่า จิตฺตํ เป็นมูลบท.
               บทว่า วิญฺญาณํ เป็นบทขยายความ.
               บทมีอาทิว่า ยํ จิตฺตํ จิตใด.
               พึงประกอบโดยนัยดังกล่าวแล้วในปีติ.
               ในบทมีอาทิว่า จิตฺตํ นั้น ชื่อว่า จิตฺตํ เพราะวิจิตรด้วยจิต. ชื่อว่า มโน เพราะรู้กำหนดอารมณ์.
               บทว่า มานสํ คือ ใจนั่นเอง. ท่านกล่าวธรรมอันสัมยุตแล้วว่า มานโส ในบทนี้ว่า บ่วงใดมีใจเที่ยวไปในอากาศ๑- ดังนี้เป็นต้น.
               พระอรหัต ท่านกล่าว มานสํ ในบทนี้ว่า๒-
                                   ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ปรากฏในหมู่ชน
                         สาวกของพระองค์ยินดีในพระศาสนา ยังไม่ได้บรรลุ
                         พระอรหัต ยังเป็นพระเสขะอยู่ ไฉนจะพึงทำกาละ
                         เสียเล่า.
____________________________
๑- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๔๕๙  ๒- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๔๙๐

               บทว่า หทยํ คือ จิต. อุระ ท่านกล่าวว่าหทัย ในบทมีอาทิว่า๓- เราจักทำจิตของท่านให้พลุ่งพล่าน หรือจักฉีกอกของท่าน. ท่านกล่าวว่า จิตในบทมีอาทิว่า๔- เห็นจะถากจิตจากจิตด้วยความไม่รู้. ท่านกล่าวหทยวัตถุ ในบทว่า๕- ม้าม หทัย.
____________________________
๓- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๘๐๘  ๔- ม. ม. เล่ม ๑๒/ข้อ ๗๒
๕- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๒๗๗

               แต่ในที่นี้ จิต ท่านกล่าวว่าหทัย เพราะอรรถว่าอยู่ภายใน.
               จิตนั้นชื่อว่า ปณฺฑรํ ขาว เพราะอรรถว่าบริสุทธิ์ ท่านกล่าวหมายถึงภวังคจิต.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ประภัสสร แต่จิตนั้นถูกอุปกิเลสทั้งหลายที่จรมาจึงเศร้าหมอง.
               อนึ่ง แม้จิตอกุศล ท่านก็กล่าวว่า ปัณฑระเหมือนกัน เพราะอกุศลออกจากจิตนั้นแล้ว ดุจแม่น้ำคงคาไหลออกจากแม่น้ำคงคา และดุจแม่น้ำโคธาวรี ไหลออกจากแม่น้ำโคธาวรีฉะนั้น.
               อนึ่ง เพราะจิตมีลักษณะรู้อารมณ์ จึงไม่เป็นกิเลสด้วยความเศร้าหมองโดยสภาวะเป็นจิตบริสุทธิ์ทีเดียว แต่เมื่อประกอบด้วยอุปกิเลสจิตจึงเศร้าหมอง แม้เพราะเหตุนั้นจึงควรเพื่อกล่าว่า ปัณฑระ (ขาวผ่อง).
               อนึ่ง การถือเอามโน ในบทนี้ว่า มโน มนายตนํ เพื่อแสดงถึงความเป็นอายตนะของใจ.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงแสดงถึงบทว่า มนายตนะ นี้ ว่ามิใช่ชื่อว่ามนายตนะ เพราะเป็นอายตนะของใจ ดุจเทวายตนะ (ที่อยู่ของเทวดา) ที่แท้ใจนั่นแหละเป็นอายตนะ จึงชื่อว่ามนายตนะ.
               อรรถแห่งอายตนะท่านกล่าวไว้ในหนหลังแล้ว.
               ชื่อว่า มโน เพราะรู้. ความว่า รู้แจ้ง.
               ส่วนพระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า ชื่อว่า มโน เพราะรู้แจ้งอารมณ์ ดุจดวงด้วยทะนานและดุจทรงชั่งด้วยเครื่องชั่งใหญ่.
               ชื่อว่า อินฺทฺริยํ เพราะทำประโยชน์ใหญ่ในลักษณะรู้. ใจนั่นแหละเป็นอินทรีย์ จึงชื่อว่ามนินทรีย์.
               ชื่อว่า วิญฺญาณํ เพราะอรรถว่ารู้แจ้ง. วิญญาณนั้นเป็นขันธ์ จึงชื่อว่าวิญญาณขันธ์.
               ท่านกล่าวว่า ขันธ์งอกขึ้น วิญญาณหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิญญาณขันธ์ด้วยอรรถว่าเป็นกอง.
               เพราะฉะนั้น ท่านกล่าวว่า บุคคลเมื่อตัดส่วนหนึ่งของต้นไม้ชื่อว่าตัดต้นไม้ฉันใด วิญญาณแม้หนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิญญาณขันธ์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ท่านจึงกล่าวว่า วิญญาณขันธ์งอกขึ้น.
               อนึ่ง เพราะอรรถแห่งกอง มิใช่เป็นอรรถแห่งขันธ์ อรรถแห่งส่วนจึงเป็นอรรถแห่งขันธ์เท่านั้น ฉะนั้น จึงมีความว่า วิญฺญาณโกฏฺฐาโส ส่วนแห่งวิญญาณดังนี้บ้าง เพราะเป็นอรรถแห่งส่วน.
               บทว่า ตชฺชา มโนวิญฺญาณธาตุ มโนวิญญาณธาตุอันสมควรแก่จิตนั้น คือมโนวิญญาณธาตุอันสมควรแก่สัมปยุตธรรมมีผัสสะเป็นต้นเหล่านั้น.
               จริงอยู่ ในบทนี้จิตดวงเดียวเท่านั้น ท่านกล่าวโดย ๓ ชื่อคือชื่อว่า มโน เพราะอรรถว่านับ. ชื่อว่า วิญฺญาณํ เพราะอรรถว่ารู้แจ้ง. ชื่อว่า ธาตุ เพราะอรรถว่าเป็นสภาวะ หรือเพราะอรรถว่ามิใช่สัตว์.
               บทว่า อภิปฺปโมโท ความเบิกบาน คือความยินดียิ่ง.
               พึงทราบวินิจฉัยในสมาธินิเทศดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่า ฐีติ ความตั้งอยู่ เพราะตั้งอยู่ในอารมณ์โดยความไม่หวั่นไหว.
               สองบทต่อไปเพิ่มอุปสรรคเข้า ชื่อว่า สณฺฐิติ ความตั้งอยู่ดี เพราะประมวลสัมปยุตธรรมทั้งหลายไว้ด้วยอารมณ์แล้วตั้งอยู่ ชื่อว่า อวฏฺฐิติ ความตั้งมั่นเพราะเข้าไปเหนี่ยวอารมณ์ตั้งอยู่.
               ธรรม ๔ อย่างในฝ่ายกุศลคือ ศรัทธา สติ สมาธิ ปัญญา ย่อมเหนี่ยวอารมณ์ไว้. ด้วยเหตุนั้นศรัทธาท่านจึงกล่าวว่า โอกปฺปนา ความเชื่อถือ. สติท่านกล่าวว่า อปิลาปนตา ความไม่ใจลอย. สมาธิท่านกล่าวว่า อวฏฺฐิติ ความตั้งมั่น. ปัญญาท่านกล่าวว่า ปริโยคาหนา การหยั่งลง.
               ส่วนธรรม ๓ อย่างในฝ่ายอกุศล คือ ตัณหา ทิฏฐิ อวิชชา ย่อมเหนี่ยวอารมณ์ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวธรรมเหล่านั้นว่า โอฆะ ห้วง.
               ชื่อว่า อวิสาหาโร ความไม่กวัดแกว่ง เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อความกวัดแกว่งอันเป็นไปแล้วด้วยสามารถแห่งอุทธัจจะและวิจิกิจฉา. จิตไปด้วยอำนาจแห่งความฟุ้งซ่านและความสงสัย ชื่อว่าย่อมฟุ้งซ่าน. สมาธินี้ไม่เป็นอย่างนั้น จึงชื่อว่า อวิกฺเขโป ความไม่ฟุ้งซ่าน.
               จิตชื่อว่ากวัดแกว่งด้วยอำนาจแห่งอุทธัจจะและวิจิกิจฉา ย่อมส่ายไปข้างโน้นข้างนี้. แต่สมาธินี้มีใจไม่กวัดแกว่ง.
               บทว่า สมโถ ความสงบ ได้แก่ ความสงบ ๓ อย่าง คือ จิตสงบ ๑ อธิกรณ์สงบ ๑ สังขารทั้งปวงสงบ ๑.
               ในความสงบ ๓ อย่างนั้น ชื่อว่าจิตสงบ เพราะจิตมีอารมณ์เป็นอย่างเดียวในสมาบัติ ๘ เพราะความหวั่นไหวแห่งจิต ความดิ้นรนแห่งจิตย่อมสงบ ย่อมเข้าไปสงบเพราะอาศัยจิตสงบนั้นฉะนั้น ท่านจึงกล่าวสมาธินั่นว่า จิตฺตสมโถ จิตสงบ.
               ชื่อว่าอธิกรณ์สงบ อธิกรณ์มี ๗ อย่างมีสัมมุขาวินัยเป็นต้น เพราะอธิกรณ์เหล่านั้นสงบ เข้าไปสงบเพราะอาศัยอธิกรณสมถะนั้น ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวสมาธินั้นว่า อธิกรณสมโถ อธิกรณ์สงบ.
               อนึ่ง เพราะสังขารทั้งหลายทั้งปวงสงบ เข้าไปสงบ เพราะอาศัยนิพพาน ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวสมาธินั้นว่า สพฺพสงฺขารสมโถ สังขารทั้งปวงสงบ. ในอรรถนี้ท่านประสงค์เอาจิตสงบ. ชื่อว่า สมาธินฺทฺริยํ เพราะทำความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งสมาธิ. ชื่อว่า สมาธิพลํ เพราะไม่หวั่นด้วยอุทธัจจะ.
               บทว่า สมฺมาสมาธิ ได้แก่ สมาธิแน่นอน สมาธิทำให้พ้นทุกข์
               กุศลสมาธิ ท่านกล่าวถึงการเปลื้องจิตจากวัตถุแห่งกิเลส ๑๐ อย่างมีอาทิว่า ราคโต วิโมจยํ จิตตํ เปลื้องจิตจากราคะ.
               อนึ่ง ในบทนี้ท่านรวมมิทธศัพท์ด้วยถีนศัพท์ และรวมกุกกุจจศัพท์ด้วย อุทธัจจศัพท์ด้วย เหตุนั้น ท่านจึงอธิบายถึงการเปลื้องจากนิวรณ์เป็นต้น ด้วยปฐมฌานเป็นต้นด้วยกล่าวถึงการเปลื้องจากวัตถุอันเป็นกิเลส เพราะไปร่วมกันในปาฐะเหล่าอื่น และการเปลื้องจากนิจจสัญญาเป็นต้น ด้วยอนิจจานุปัสนาเป็นต้น.
               อนึ่ง ในไปยาลนี้ว่า กถํ ตํ จิตฺตํ อนุปสฺสติ ย่อมพิจารณาจิตนั้นอย่างไร เป็นอันท่านกล่าวถึงการละนิจจสัญญาเป็นต้น ด้วยอนิจจานุปัสสนา.
               พึงทราบเรื่องมาในพระสูตร ๔ ด้วยสามารถแห่งตติยจตุกะด้วยประการฉะนี้.
               จบอรรถกถาตติยจตุกนิเทศ               

               พึงทราบวินิจฉัยในจตุตถจตุกนิเทศดังต่อไปนี้.
               ท่านตั้งคำถามด้วยคำเป็นนปุงสกลิงค์ว่า อนิจฺจนฺติ กึ อนิจฺจํ บทว่า อนิจฺจํ อะไรไม่เที่ยง.
               บทว่า อุปฺปาทวยฏฺเฐน เพราะอรรถว่าเกิดขึ้นและเสื่อมไป.
               ความว่า เพราะสภาวะคือความเกิดและความเสื่อม.
               ในบทนี้ เบญจขันธ์เป็นสภาวลักษณะความเกิดและความเสื่อมของเบญจขันธ์เป็นวิการลักษณะ (ลักษณะความเปลี่ยนแปลง) ด้วยบทนี้เป็นอันท่านกล่าวว่า ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะเป็นแล้วไม่เป็น.
               ส่วนในอรรถกถาแม้ท่านกล่าวว่า ความไม่เที่ยงด้วยอำนาจแห่งสังขตลักษณะ และว่าความที่เบญจขันธ์เหล่านั้นมีเกิดเสื่อมและเป็นอย่างอื่น ก็ยังกล่าวว่า ความเป็นแล้วไม่เป็นดังนี้.
               ด้วยบทนี้ อาการคือเป็นแล้วไม่เป็น ท่านกล่าวว่าเป็นอนิจจลักษณะ. ท่านกล่าวทำไปยาลว่า เมื่อเห็นความเกิดและความเสื่อมแห่งเบญจขันธ์ย่อมเห็นลักษณะ ๕๐ เหล่านี้.
               บทว่า ธมฺมา คือ ธรรมตามที่ท่านกล่าวแล้วมีรูปขันธ์เป็นต้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในวิราคานุปัสสีนิเทศดังต่อไปนี้.
               บทว่า รูเป อาทีนวํ ทิสฺวา เห็นโทษในรูป คือเห็นโทษในรูปขันธ์ด้วยการตั้งอยู่ในความไม่เที่ยงเป็นต้น ดังที่ท่านกล่าวแล้วข้างหน้าตั้งแต่ภังคานุปัสสนาญาณ.
               บทว่า รูปวิราโค ในความคลายกำหนัดในรูป คือนิพพาน เพราะบุคคลอาศัยนิพพาน คลายกำหนัดรูป ย่อมดับด้วยการถึงความไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า คลายความกำหนัดในรูป.
               บทว่า ฉนฺทชาโต โหติ เป็นผู้เกิดฉันทะ คือมีฉันทะในธรรมอันเกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งการฟัง.
               บทว่า สทฺธาธิมุตฺโต น้อมใจไปด้วยศรัทธาคือน้อมไป ตัดสินใจไปในนิพพานนั้นด้วยศรัทธา.
               บทว่า จิตฺตญฺจสฺสสฺยาธิฏฺฐีตํ และมีจิตตั้งมั่นดี พึงทราบโดยเชื่อมความว่า จิตของพระโยคาวจรนั้นตั้งมั่นด้วยดี ประดิษฐานไว้ด้วยดีด้วยสามารถแห่งอารมณ์ในการทำลายรูปอันได้แก่ ความคลายกำหนัดในความสิ้นไปด้วยสามารถแห่งการได้ยินได้ฟัง นิพพานอันคลายความกำหนัดในรูป กล่าวคือคลายความกำหนัดหมดสิ้น.
               บทว่า รูเป วิราคานุปสฺสี พิจารณาความคลายกำหนัดในรูป.
               ท่านกล่าวความคลายกำหนัดในความสิ้นไปแห่งรูปด้วยสัตตมีวิภัตติว่า รูเป วิราโค ความคลายกำหนัดในรูป.
               ท่านกล่าวความคลายกำหนัดหมดสิ้นแห่งรูปด้วยสัตตมีวิภัตติลงในอรรถแห่งนิมิตว่า รูเป วิราโค ความคลายกำหนัดในเพราะรูป.
               ท่านกล่าวความคลายกำหนัดแม้ทั้งสองอย่างนั้น มีการพิจารณาโดยอารมณ์และโดยอัธยาศัยเป็นปกติว่า รูเป วิราคานุปสฺสี พิจารณาความคลายกำหนัดในรูป. ในเวทนาเป็นต้นมีนัยนี้.
               แม้ในนิเทศแห่งบทว่า นิโรธานุปสฺสี ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ก็ในบทนี้ว่า กตีหากาเรหิ ด้วยอาการเท่าไร มีความพิเศษดังต่อไปนี้.
               ท่านแสดงถึงการดับโทษ แม้แห่งรูปเป็นต้นด้วยการเห็นการดับโทษแห่งองค์ของปฏิจสมุปบาทมีอวิชชาเป็นต้น เพราะอวิชชาเป็นต้นเหล่านั้น ไม่ล่วงองค์แห่งปฏิจสมุปบาทไปได้ ด้วยคำพิเศษนี้แหละเป็นอันท่านกล่าวถึงความพิเศษแห่งนิโรธานุปัสนา เพราะพิจารณาเห็นความคลายกำหนัด.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อนิจฺจฏฺเฐน ด้วยอรรถว่าไม่เที่ยง คือด้วยอรรถว่าสิ้นไป หรือด้วยอรรถว่าเป็นแล้วไม่เป็น.
               บทว่า ทุกฺขฏฺเฐน ด้วยอรรถว่าเป็นทุกข์ คือด้วยอรรถว่าน่ากลัว หรือด้วยอรรถว่าบีบคั้น.
               บทว่า อนตฺตฏฺเฐน ด้วยอรรถว่าเป็นอนัตตา คือด้วยอรรถว่าหาสาระมิได้ หรือด้วยอรรถว่าไม่เป็นไปในอำนาจ.
               บทว่า สนฺตาปฏฺเฐน ด้วยอรรถว่าเป็นเหตุให้เดือดร้อน คือด้วยอรรถว่ากิเลสเป็นเหตุให้เดือดร้อน.
               บทว่า ปริณามฏฺเฐน ด้วยอรรถว่าแปรปรวน คือด้วยอรรถว่าแปรปรวนโดย ๒ ส่วน ด้วยอำนาจแห่งชรา และภังคะ (ความดับ).
               บทว่า นิทานนิโรเธน ด้วยนิทานดับ คือด้วยไม่มีเหตุปัจจัย.
               บทว่า นิรุชฺฌติ ย่อมดับ คือไม่มี.
               บทว่า สมุทยนิโรเธน ด้วยสมุทัยดับ คือด้วยความไม่มีปัจจัยอันใกล้. เพราะเหตุปัจจัย ท่านกล่าวว่า นิทาน ดุจโภชนะไม่เป็นที่สบายแก่คนเจ็บป่วย ปัจจัยอันใกล้ ท่านกล่าวสมุทัย ดุจลมน้ำดีและเสมหะของคนเจ็บป่วย. เพราะนิทาน ย่อมให้ผลด้วยการวินิจฉัย สมุทัยเป็นเหตุเกิดผลด้วยดี.
               บทว่า ชาตินิโรเธน ด้วยชาติดับ คือด้วยไม่มีการเกิดแห่งปัจจัย.
               บทว่า ปภวนิโรเธน ด้วยภพดับ คือด้วยไม่มีการเกิดแห่งปัจจัยอันใกล้ (อาสันนปัจจัย) ควรกล่าวว่า ชื่อว่าภพ เพราะชาติเป็นเหตุให้เกิดทุกข์.
               บทว่า เหตุนิโรเธน ด้วยเหตุดับ คือด้วยไม่มีปัจจัยให้เกิดชนกปัจจัย.
               บทว่า ปจฺจยนิโรเธน ด้วยปัจจัยดับ คือด้วยไม่มีปัจจัยอุปถัมภ์ แม้เหตุปัจจัยก็เป็นทั้งอาสันนปัจจัย ชนกปัจจัยและอุปถัมภกปัจจัยนั่นเอง. ด้วยปัจจัยเหล่านั้น ท่านกล่าวการดับชั่วคราว ในขณะวิปัสสนากล้าแข็ง. การดับเด็ดขาดในขณะแห่งมรรค.
               บทว่า ญาณุปฺปาเทน ด้วยญาณเกิด คือด้วยความเกิดแห่งวิปัสสนาญาณกล้าแข็ง หรือแห่งมรรคญาณ.
               บทว่า นิโรธุปฏฺฐาเนน ด้วยนิโรธปรากฏ คือด้วยความปรากฏแห่งนิพพาน กล่าวคือนิโรธด้วยอำนาจแห่งการได้ฟังถึงการดับความสิ้นไปโดยประจักษ์ในขณะแห่งวิปัสสนา และด้วยความปรากฏแห่งนิพพานโดยประจักษ์ในขณะแห่งมรรค.
               ด้วยบทเหล่านี้เป็นอันท่านทำความแน่นอนด้วยอินทรีย์อันเป็นวิสัย และท่านกล่าวถึงความดับชั่วคราวและดับเด็ดขาด.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศแห่งบทว่า ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี (พิจารณาความสละคืน) ดังต่อไปนี้.
               บทว่า รูปํ ปริจฺจชติ สละรูป คือสละรูปขันธ์ เพราะไม่เพ่งถึงด้วยการเห็นโทษ.
               บทว่า ปริจฺจาคปฏินิสฺสคฺโค สละคืนด้วยการบริจาค. ท่านอธิบายว่า ชื่อว่า ปฏินิสฺสคฺโค เพราะอรรถว่าสละ.
               ด้วยบทนี้ เป็นอันท่านกล่าวถึงอรรถแห่งการบริจาคแห่งบทว่า ปฏินิสสัคคะ เพราะฉะนั้น อธิบายว่า ได้แก่ การละกิเลสทั้งหลาย.
               อนึ่ง ในบทนี้ วิปัสสนาอันเป็นวุฏฐานคามินี (ญาณเป็นเครื่องออกไป) ย่อมสละกิเลสทั้งหลายได้โดยชั่วคราว มรรคย่อมสละได้โดยเด็ดขาด.
               บทว่า รูปนิโรเธ นิพพาเน จิตฺตํ ปกฺขนฺทติ จิตย่อมแล่นไปในนิพพานอันเป็นที่ดับรูป คือวิปัสสนาอันเป็นวุฏฐานคามินีย่อมแล่นไป เพราะน้อมไปในนิพพานนั้น มรรคย่อมแล่นไปด้วยการทำให้เป็นอารมณ์.
               บทว่า ปกฺขนฺทนปฏินิสฺสคโค ความสละคืนด้วยการแล่นไป.
               ท่านอธิบายว่า ชื่อว่าปฏินิสสัคคะ เพราะอรรถแล่นไป.
               ด้วยบทที่ท่านกล่าวถึงอรรถแห่งความแล่นไปของบทว่า ปฏินิสสัคคะ เพราะฉะนั้นจึงมีความว่า ได้แก่ การสละจิตลงในนิพพาน.
               พึงทราบเรื่องอันมาในพระสูตร ๔ เรื่อง ด้วยสามารถแห่งจตุตถจตุกะ.
               ในจตุกะนี้ พึงทราบถึงบทที่ควรกล่าวถึงชราและมรณะโดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               อนึ่ง ในสติปัฏฐานทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านทำการชี้แจงเป็นเอกวจนะโดยกล่าวถึงกายและจิตเป็นอย่างเดียวว่า กาเย กายานุปสฺสนา พิจารณากายในกาย จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสนา พิจารณาจิตในจิต ทำการชี้แจงเป็นพหุวจนะ โดยกล่าวถึงความต่างๆ กันของเวทนาและธรรมว่า เวทนาสุ เวทนานุปสฺสนา พิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสนา พิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลายด้วยประการฉะนี้.
               จบอรรถกถาจตุตถจตุกนิเทศ และ               
               จบอรรถกถาสโตการญาณนิเทศ               

               อรรถกถาญาณราสิฉักกนิเทศ               
               บัดนี้เป็นสมาธิ ๒๔ ในวัตถุ ๑๒ คือสมาธิละสอง คือสมาธิหนึ่งด้วยสามารถลมอัสสาสะ สมาธิหนึ่งด้วยสามารถลมปัสสาสะ ในวัตถุละหนึ่งๆ แห่งวัตถุ ๑๒ ด้วยสามารถจตุกะ ๓ มีกายานุปัสสนาเป็นต้น ในสมาธิญาณนิเทศ ๒๔ ในญาณที่ท่านแสดงไว้แล้วด้วยกองทั้ง ๖ กอง. ญาณสัมปยุตด้วยสมาธิเหล่านั้น ในขณะฌานด้วยอำนาจแห่งสมาธิ ๒๔.
               พึงทราบวินิจฉัยในวิปัสสนาญาณนิเทศ ๗๒ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า ทีฆํ อสฺสาสา เพราะลมอัสสาสะที่ท่านกล่าวแล้วว่า ยาว ท่านกล่าวไว้อย่างไร.
               ท่านกล่าวไว้ว่า ชื่อว่า วิปสฺสนา เพราะอรรถว่าพิจารณาเห็นโดยความไม่เที่ยงในขณะวิปัสสนาด้วยจิตตั้งมั่น เพราะได้ฌาน เพราะเหตุลมหายใจเข้ายาว.
               แม้ในอรรถอื่นก็มีนัยนี้.
               ในวัตถุ ๑๒ คืออนุปัสสนาอย่างละ ๖ อนุปัสสนา ๓ ด้วยสามารถแห่งลมอัสสาสะ. อนุปัสสนา ๓ ด้วยสามารถแห่งลมปัสสาสะในวัตถุละหนึ่งๆ แห่งวัตถุ ๑๒ เหล่านั้น รวมเป็นอนุปัสสนา ๗๒. อนุปัสสนา ๗๒ เหล่านั้นแลเป็นญาณด้วยสามารถแห่งวิปัสสนา ๗๒.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิพพิทาญาณนิเทศดังต่อไปนี้.
               บทว่า อนิจฺจานุปสฺสี อสฺสาสํ พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจเข้า คือพิจารณาหายใจเข้าโดยความเป็นของไม่เที่ยง ความว่า พิจารณาเป็นไปโดยความเป็นของไม่เที่ยง.
               อนึ่ง คำว่า อสฺสาสํ นี้ พึงเห็นว่าลงในอรรถแห่งเหตุ.
               บทว่า ยถาภูตํ ปชานาติ ปสฺสตีติ นิพพิทาญาณํ ชื่อว่านิพพิทาญาณ เพราะรู้เห็นตามความเป็นจริง คือ ตั้งแต่พิจารณาเป็นกองๆ ไปจนถึงพิจาณาเห็นความดับ ย่อมรู้ตามความเป็นจริงของสังขารทั้งหลาย ย่อมเห็นด้วยญาณจักษุนั้นดุจเห็นด้วยจักษุ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นิพพิทาญาณ.
               ท่านอธิบายว่า ชื่อว่านิพพิทาญาณในสังขารทั้งหลาย.
               พึงทราบว่า วิปัสสนาญาณเป็นนิพพิทาญาณตามที่ได้กล่าวแล้วในนิเทศนี้ เพราะญาณทั้งหลายมีภยตูปัฏฐานญาณ (ปรีชาคำนึงเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว) เป็นต้นและมุญจิตุกัมยตาญาณ (ปรีชาคำนึงด้วยความใคร่จะพ้นไป) เป็นต้นเป็นธรรมต่างกัน.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศแห่งนิพพิทานุโลมญาณดังต่อไปนี้.
               บทว่า อนิจฺจานุปสฺสี อสฺสาสํ พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงหายใจเข้า คือพิจารณาหายใจเข้าโดยเป็นของไม่เที่ยง.
               บทว่า ภยตุปฏฺฐาเน ปญฺญา ปัญญาในความปรากฏเป็นของน่ากลัว เป็นอันท่านกล่าวถึง ภยตุปัฏฐานญาณ อาทีนวานุปัสนาญาณและนิพพิทานุปัสนาญาณ ด้วยคำนั้นแล เพราะญาณทั้ง ๓ มีลักษณะอย่างเดียวกัน.
               ญาณ ๓ เหล่านี้ ท่านกล่าวว่านิพพิทานุโลมญาณ เพราะอนุโลมโดยความอนุกูลของนิพพิทาญาณดังที่กล่าวแล้วโดยลำดับ.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศแห่งนิพพิทาปฏิปัสสัทธิญาณดังต่อไปนี้.
               บทว่า อนิจฺจานุปสฺสี อสฺสาสํ เช่นเดียวกับที่กล่าวมาตามลำดับนั่นแหละ.
               บทว่า ปฏิสงฺขา สนฺติฏฺฐนา ปญฺญา ปัญญาพิจารณาหาทางวางเฉยอยู่ เป็นอันท่านกล่าวถึง มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ (ปรีชาคำนึงถึงด้วยพิจารณาหาทาง) สังขารอุเบกขาญาณ (ปรีชาคำนึงด้วยความวางเฉยอยู่) ด้วยคำนั้นเอง เพราะญาณทั้ง ๓ มีลักษณะอย่างเดียวกัน.
               แม้อนุโลมญาณและมรรคญาณท่านก็รวมไว้ด้วยคำว่า ปฏิสงฺขา สนติฏฺฐนา นั่นแหละ.
               แม้สังขารุเบกขาญาณและอนุโลมญาณก็ชื่อว่า นิพพิทาปฏิปัสสัทธิญาณด้วยละความขวนขวายในการเกิดนิพพิทา เพราะนิพพิทาถึงยอดแล้ว.
               ส่วนมรรคญาณ ชื่อว่านิพพิทาปฏิปัสสัทธิญาณ เพราะเกิดในที่สุด นิพพิทาปฏิปัสสัทธิญาณ เพราะเหตุนั้นจึงควรอย่างยิ่ง. การไม่ถือเอามุญจิตุกัมยตาญาณอันเป็นเบื้องต้นดุจในนิพพิทานุโลมญาณแล้วถือเอาญาณสองหมวด ในที่สุดว่า ปฏิสงฺขา สนฺติฏฺนา เพื่อสงเคราะห์เข้าในมรรคญาณ. เพราะเมื่อท่านกล่าวว่า มุญฺจิตุกมฺตา ย่อมสงเคราะห์เอาอนุโลมญาณด้วย มิได้สงเคราะห์เอามรรคญาณ. เพราะมรรคญาณมิได้ชื่อว่า มุญฺจิตุกมฺยตา.
               อนึ่ง ปัญญาชื่อว่า สนฺติฏฺฐนา เพราะวางเฉยอยู่ในความสำเร็จกิจ.
               อนึ่ง แม้ในอรรถกถาท่านก็กล่าวว่า บทว่า ผุสนา ความถูกต้อง คือ อปฺปนา ความแนบแน่น.
               ปัญญาชื่อว่า สนฺติฏฺฐนา ความวางเฉย เพราะทำมรรคญาณนี้เป็นอัปปนาในนิพพาน ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงสงเคราะห์แม้มรรคญาณด้วยคำว่า สนฺติฏฺฐนา แม้นิพพิทานุโลมญาณ โดยอรรถก็เป็นนิพพิทาญาณนั่นเอง เพราะเหตุนั้น ท่านจึงสงเคราะห์นิพพิทานุโลมญาณเหล่านั้นด้วยนิพพิทาญาณแล้วใช้ศัพท์นิพพิทาว่า นิพพิทาปฏิปสฺสทฺธิ ญาณานิ ดังนี้ ไม่ใช่ศัพท์ว่า นิพฺพิทานุโลม.
               ในวัตถุ ๔ คือ ญาณละ ๒ คือ ญาณหนึ่งด้วยสามารถแห่งลมอัสสาสะ ญาณหนึ่งด้วยสามารถแห่งลมปัสสาสะในวัตถุหนึ่ง แห่งวัตถุ ๔ ที่ท่านกล่าวแล้วด้วยอำนาจแห่งธรรมานุปัสนาจตุกะที่ ๔ ในญาณัฏฐกนิเทศ ๓ เหล่านี้ จึงรวมเป็ญาณ ๘.
               พึงทราบวินิจฉัยในวิมุตติสุขญาณนิเทศดังต่อไปนี้.
               พระสารีบุตรเถระ ครั้นแสดงการละด้วยบทว่า ปหีนตฺตา เพราะละแล้วเมื่อจะแสดงการละนั้นด้วยสมุจเฉทปหาน จึงกล่าวว่า สมุจฺฉินฺนตฺตา เพราะตัดขาด.
               บทว่า วิมุตฺติสุเข ญาณํ ญาณในวิมุตติสุข คือญาณสัมปยุตด้วยวิมุตติสุขอันเป็นผล และญาณคือการพิจารณาวิมุตติสุขอันเป็นผลเป็นอารมณ์.
               เพื่อแสดงว่า การละวัตถุทุจริตที่กลุ้มรุมด้วยการละกิเลสอันเป็นวัตถุนอนเนื่องในสันดาน ท่านจึงกล่าวถึงการละกิเลสอันเป็นอนุสัยอีก.
               ท่านทำการคำนวณญาณด้วยการคำนวณกิเลสที่ละได้แล้ว หมายถึงผลญาณ ๒๑. และท่านคำนวณปัจเวกขณญาณอันเป็นผลด้วยการคำนวณพิจารณาถึงกิเลสที่ละได้แล้ว หมายถึงปัจจเวกขณญาณ.

               จบอรรถกถาญาณราสิฉักกนิเทศ               
               จบอรรถกถาอานาปานสติกถาแห่งอรรถกถา               
               ปฏิสัมภิทามรรคชื่อว่าสัทธัมมปกาสินี               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๓. อานาปาณกถา จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 294อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 362อ่านอรรถกถา 31 / 423อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=4070&Z=5199
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=1781
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=1781
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :