ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 423อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 469อ่านอรรถกถา 31 / 517อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค
๕. วิโมกขกถา

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระครั้นแสดงถึงประธานแห่งวิโมกข์ทั้งหลาย ๓ ที่ยกขึ้นแสดงแต่ต้นแล้ว ประสงค์จะแสดงอินทรียวิเศษ และบุคคลวิเศษอันเป็นประธานเป็นหัวหน้าของวิโมกข์ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ตีณิ โข ปนิมานิ วิโมกข์อันเป็นประธาน ๓ เหล่านี้แล.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า วิโมกขมุขานิ คือ ประธานแห่งวิโมกข์ ๓.
               บทว่า โลกนิยฺยานาย สํวตฺตนฺติ ย่อมเป็นไปเพื่อนำออกไปจากโลก คือย่อมเป็นไปเพื่อนำออกไปจากไตรโลกธาตุ.
               บทว่า สพฺพสงฺขาเร ปริจฺเฉทปริวฏุมโต สมนุปสฺสนตาย โดยความพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวง โดยความหมุนเวียนไปตามกำหนด คือโดยความพิจารณาเห็นโดยความกำหนด และโดยความหมุนเวียนไป ด้วยอำนาจความเกิดและความเสื่อมแห่งสังขารทั้งหลายทั้งปวง.
               ปาฐะที่เหลือว่า โลกนิยฺยานํ โหติ เป็นการนำออกไปจากโลก.
               จริงอยู่ อนิจจานุปัสสนากำหนดว่า ก่อนแต่เกิด สังขารทั้งหลายไม่มีแล้วแสวงหาคติของสังขารเหล่านั้น พิจารณาเห็นโดยความหมุนเวียนและโดยที่สุดว่า เบื้องหน้าแต่ความเสื่อม สังขารทั้งหลายย่อมไม่ถึง สังขารทั้งหลายย่อมอันตรธานไปในที่นี้แหละ.
               จริงอยู่ สังขารทั้งปวงกำหนดที่สุดเบื้องต้นด้วยความเกิด กำหนดที่สุดเบื้องปลายด้วยความเสื่อม.
               บทว่า อนิมิตฺตตาย จ ธาตุยา จิตฺตสมฺปกฺขนฺทนตาย ด้วยความที่จิตแล่นไปในอนิมิตธาตุ คือเป็นการนำออกไปจากโลก เพราะจิตน้อมไปในนิพพาน แม้ในขณะวิปัสสนา และเพราะนิพพานธาตุ กล่าวคืออนิมิตเข้าไปสู่จิต โดยปรากฏด้วยอาการแห่งอนิมิต.
               บทว่า มโนสมุตฺเตชนตาย โดยความองอาจแห่งใจ คือโดยความสลดใจ เพราะจิตย่อมสลดในสังขารทั้งหลาย ด้วยทุกขานุปัสสนา.
               บทว่า อปฺปณิหิตาย จ ธาตุยา ในอัปปณิหิตธาตุ (ธาตุที่ไม่ตั้งอยู่) คือนิพพานธาตุ อันได้แก่อัปปณิหิตะโดยปรากฏด้วยการที่ตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะจิตน้อมไปในนิพพานแม้ในขณะวิปัสสนา.
               บทว่า สพฺพธมฺเม ท่านไม่กล่าวว่า สงฺขาเร กล่าวว่า สพฺพธมฺเม เพราะมีสภาพเป็นอนัตตา แม้ในความที่นิพพานยังไม่เข้าถึงวิปัสสนา.
               บทว่า ปรโต สมนุปสฺสนตาย โดยพิจารณาเห็นโดยความเป็นอย่างอื่น คือโดยพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตาอย่างนี้ว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เพราะอาศัยปัจจัย เพราะไม่อยู่ในอำนาจและเพราะไม่เชื่อฟัง.
               บทว่า สุญฺญตาย จ ธาตุยา ในสุญญตธาตุ คือในนิพพานธาตุ กล่าวคือสุญญตา โดยความปรากฏโดยอาการเป็นของสูญ เพราะจิตน้อมไปในนิพพาน แม้ในขณะแห่งวิปัสสนา.
               คำ ๓ เหล่านี้ ท่านกล่าวด้วยอำนาจแห่งอนิจจานุปัสสนา ทุกขานุปัสสนาและอนัตตานุปัสสนาด้วยประการฉะนี้.
               ด้วยเหตุนั้นแล ท่านจึงกล่าวบทมีอาทิว่า อนิจฺจโต มนสิกโรโต เมื่อมนสิการโดยความเป็นของไม่เที่ยง ในลำดับต่อจากนั้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ขยโต คือ โดยความสิ้นไป.
               บทว่า ภยโต โดยความเป็นของน่ากลัว คือโดยความมีภัย.
               บทว่า สุญฺญโต โดยความเป็นของสูญ คือโดยความปราศจากตน.
               บทว่า อธิโมกฺขพหุลํ จิตมากด้วยความน้อมไป คือจิตมากด้วยศรัทธาของความเชื่อในพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสจริงหนอ ด้วยเห็นความดับในขณะ โดยประจักษ์ของผู้ปฏิบัติด้วยศรัทธาว่า สังขารทั้งหลายย่อมแตกไป ด้วยอำนาจแห่งการดับในขณะ ด้วยอนิจจานุปัสสนา.
               อีกอย่างหนึ่ง จิตมากด้วยความน้อมไป เพราะเห็นความไม่เที่ยงของสังขารทั้งหลาย อันเป็นปัจจุบันแล้วน้อมไปว่า สังขารทั้งปวงทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ไม่เที่ยงด้วยอาการอย่างนี้.
               บทว่า ปสฺสทฺธพหุลํ มากด้วยความสงบ คือจิตมากด้วยความสงบ เพราะไม่มีความกระวนกระวายแห่งจิต เพราะละความตั้งใจอันทำให้จิตกำเริบด้วยทุกขานุปัสสนา.
               อีกอย่างหนึ่ง จิตมากด้วยความสงบ เพราะไม่มีความฟุ้งซ่าน เพราะเกิดความสังเวช และเพราะตั้งความสังเวชไว้โดยแยบคาย ด้วยทุกขานุปัสสนา.
               บทว่า เวทพหุลํ มากด้วยความรู้ คือจิตมากด้วยญาณของผู้เห็นอนัตตลักษณะอันลึกซึ้ง ซึ่งคนภายนอกไม่เห็น ด้วยอนัตตานุปัสสนา.
               อีกอย่างหนึ่ง จิตมากด้วยความยินดีของผู้ยินดีว่า เห็นอนัตตลักษณะที่โลกพร้อมทั้งเทวโลกยังไม่เห็น.
               บทว่า อธิโมกฺขพหุโล สทฺธินฺทฺริยํ ปฏิลภติ ผู้มากด้วยความน้อมใจไปย่อมได้สัทธินทรีย์ คือความน้อมใจไปในส่วนเบื้องต้นเป็นไปมาก ชื่อว่าสัทธินทรีย์ ด้วยการบำเพ็ญภาวนา บุคคลนั้นย่อมได้สัทธินทรีย์นั้น.
               บทว่า ปสฺสทฺธิพหโล สมาธินฺทฺริยํ ปฏิลภติ ผู้มาด้วยปัสสัทธิ ย่อมได้สมาธินทรีย์ คือบุคคลผู้มากด้วยปัสสัทธิ ย่อมได้สมาธินทรีย์นั้น เพราะปัสสัทธิเป็นปัจจัย ด้วยการบำเพ็ญภาวนา โดยบาลีว่า ผู้มีกายสงบย่อมเสวยสุข จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น.
               บทว่า เวทพหุโล ปญฺญินฺทฺริยํ ปฏิลภติ ความรู้ในส่วนเบื้องต้นเป็นไปมาก ชื่อว่าปัญญินทรีย์ ด้วยการบำเพ็ญภาวนา บุคคลนั้นย่อมได้ปัญญินทรีย์นั้น.
               บทว่า อาธิปเตยฺยํ โหติ อินทรีย์ที่เป็นใหญ่ คือแม้เมื่อฉันทะเป็นต้นเป็นใหญ่ อินทรีย์ย่อมเป็นใหญ่ เป็นประธาน ด้วยสามารถยังกิจของตนให้สำเร็จได้.
               บทว่า ภาวนาย เป็นสัตตมีวิภัตติ หรือเพื่อประโยชน์แก่การเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป.
               บทว่า ตทนฺวยานิ โหนฺติ คือ ไปตามอินทรีย์นั้นคล้อยไปตามอินทรีย์นั้น.
               บทว่า สหชาตปจฺจยา โหนฺติ เป็นสหชาตปัจจัย (ปัจจัยเกิดร่วมกัน) คือ เมื่อเกิดย่อมเป็นอุปการะ เพราะความที่เกิดร่วมกัน ดุจประทีปเป็นอุปการะแก่แสงสว่าง ฉะนั้น.
               บทว่า อญฺญมญฺญปจฺจยา โหนฺติ เป็นอัญญมัญญปัจจัย (เป็นปัจจัยของกันและกัน) คือเป็นอุปการะแก่กันและกัน โดยความช่วยเหลือให้เกิด ดุจไม้ ๓ อันช่วยเหลือกันและกัน.
               บทว่า นิสฺสยปจฺจยา โหนฺติ เป็นนิสสยปัจจัย (ปัจจัยที่อาศัยกัน) คือเป็นอุปการะโดยอาการตั้งใจ และโดยอาการเป็นที่อาศัย ดุจพื้นดินเป็นต้นเป็นอุปการะของความงอกงามแห่งต้นไม้.
               บทว่า สมฺปยุตฺตปจฺจยา โหนฺติ เป็นสัมปยุตตปัจจัย (ปัจจัยที่ประกอบกัน) คือเป็นอุปการะโดยความเป็นสัมปยุตตปัจจัย กล่าวคือมีวัตถุอันเดียวกัน อารมณ์อันเดียวกัน เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน.
               บทว่า ปฏิเวธกาเล ในกาลแทงตลอด คือในกาลแทงตลอดสัจจะ ในขณะแห่งมรรค.
               บทว่า ปญฺญินฺทฺริยํ อาธิปเตยฺยํ โหติ ปัญญินทรีย์เป็นใหญ่ คือปัญญินทรีย์นั่นแลทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ในขณะแห่งมรรค ย่อมเป็นใหญ่ด้วยสามารถทำกิจคือเห็นสัจจะ และด้วยสามารถทำกิจคือละกิเลส.
               บทว่า ปฏิเวธาย แห่งการแทงตลอด คือเพื่อต้องการแทงตลอดสัจจะ.
               บทว่า เอกรสา มีรสอย่างเดียวกัน คือด้วยวิมุตติรส.
               บทว่า ทสฺสนฏฺเฐน เพราะอรรถว่าเห็น คือเพราะอรรถว่าเห็นสัจจะ.
               บทว่า เอวํ ปฏิวิชฺฌนฺโตปิ ภาเวติ ภาเวนฺโตปิ ปฏิวิชฺฌติ ด้วยอาการอย่างนี้ แม้บุคคลผู้แทงตลอดก็ย่อมเจริญ แม้บุคคลผู้เจริญก็ย่อมแทงตลอด ท่านกล่าวเพื่อแสดงความเป็นไปทั้งปวง แห่งการเจริญและการแทงตลอดคราวเดียวเท่านั้นในขณะแห่งมรรค.
               ท่านประกอบ อป ศัพท์ในบทว่า ปฏิเวธกาเลปิ เพราะปัญญินทรีย์นั่นแลเป็นใหญ่ แม้ในขณะแห่งวิปัสสนา ด้วยอนัตตานุปัสสนา.
               บทมีอาทิว่า อนิจฺจโต มนสิกโรโต กตมินฺทฺริยํ อธิมตฺตํ โหติ เมื่อมนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง อินทรีย์อะไรมีประมาณยิ่ง ท่านกล่าวเพื่อแสดงบุคคลวิเศษด้วยสามารถแห่งอินทรีย์.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อธิมตฺตํ คือ ยิ่ง.
               ในบทนั้นพึงทราบความที่สัทธินทรีย์ สมาธินทรีย์และปัญญินทรีย์มีประมาณยิ่งด้วยความวางเฉยในสังสาร.
               ในบทว่า สทฺธาวิมุตฺโต น้อมใจเชื่อนี้ ท่านกล่าวว่าเป็นสัทธาวิมุต ในฐานะ ๗ เหล่านี้เว้นโสดาปัตติมรรค เพราะแม้เมื่อท่านกล่าวไม่แปลกกันในบทนี้ ก็กล่าวแปลกกันในบทต่อไป.
               ท่านกล่าวว่า บุคคลเป็นสัทธาวิมุต เพราะความที่สัทธินทรีย์มีประมาณยิ่ง มิใช่เป็นสัทธาวิมุต เพราะสัทธินทรีย์มีประมาณยิ่งในที่ทั้งปวง.
               อาจาย์ทั้งหลายกล่าวว่า ในอินทรีย์ที่เหลือแม้เมื่อมีสมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์มีประมาณหนึ่ง เพราะสัทธินทรีย์มีประมาณยิ่งในขณะแห่งโสดาปัตติมรรค บุคคลก็เป็นสัทธาวิมุตได้เหมือนกัน.
               บทว่า กายสกฺขี โหติ บุคคลเป็นกายสักขี (มีกายเป็นสักขี) คือ บุคคลชื่อว่าเป็นกายสักขีในฐานะ ๘ อย่าง.
               บทว่า ทิฏฺฐปฺปตฺโต โหติ บุคคลเป็นทิฏฐิปัตตะ (ถึงแล้วซึ่งทิฏฐิ) พึงทราบตามนัยดังกล่าวแล้วในสัทธาวิมุตนั่นแล.
               บทว่า สทฺทหนฺโต วิมุตฺโตติ สทฺธาวิมุตฺโต บุคคลชื่อว่าสัทธาวิมุต เพราะเชื่อน้อมใจไป. ท่านอธิบายว่า ชื่อว่าสัทธาวิมุต เพราะเชื่อในขณะโสดาปัตติมรรคเพราะสัทธินทรีย์มีประมาณยิ่ง น้อมใจไปในขณะแห่งผลแม้ ๔.
               บัดนี้จักกล่าวถึงความเป็นสัทธาวิมุตในขณะมรรค ๓ ข้างบน แต่จักกล่าวความที่เป็นสัทธานุสารี (แล่นไปตามศรัทธา) ในขณะแห่งโสดาปัตติมรรคในภายหลัง.
               บทว่า ผุฏฺฐตฺตา สจฺฉิกโตติ กายสกฺขี บุคคลชื่อว่าเป็นกายสักขี เพราะทำให้แจ้ง เพราะเป็นผู้ถูกต้องธรรม เมื่อความเป็นสุกขวิปัสสกมีอยุ่ เมื่อความที่ผลแห่งอุปจารฌานได้รูปฌานและอรูปฌานมีอยู่ บุคคลชื่อว่าเป็นกายสักขี เพราะทำให้แจ้งนิพพาน เพราะเป็นผู้ถูกต้องผลของรูปฌานและอรูปฌาน.
               ท่านอธิบายว่า เป็นสักขีในการสัมผัสฌานและในนิพพานมีประการดังกล่าวแล้วโดยนามกาย.
               บทว่า ทิฏฺฐตฺตา ปตฺโตติ ทิฏฺฐิปฺปตฺโต บุคคลชื่อว่าเป็นทิฏฐิปัตตะเพราะบรรลุแล้ว เพราะเป็นผู้เห็นธรรม คือบุคคลชื่อว่าเป็นทิฏฐิปัตตะ เพราะบรรลุนิพพานด้วยอำนาจแห่งโสดาปัตติผลเป็นต้น ในภายหลัง เพราะเห็นนิพพานก่อนด้วยปัญญินทรีย์สัมปยุตในขณะแห่งโสดาปัตติมรรค.
               ท่านอธิบายว่า บรรลุนิพพานด้วยทิฏฐิ คือปัญญินทรีย์. แต่จักกล่าวความถี่เป็นธัมมานุสารี (แล่นไปตามธรรม) ในขณะโสดาปัตติมรรคในภายหลัง.
               บทว่า สทฺทหนฺโต วิมุจฺจตีติ สทฺธาวิมุตฺโต บุคคลชื่อว่าเป็นสัทธาวิมุต เพราะเชื่ออยู่ย่อมน้อมใจไป คือ บุคคลชื่อว่าเป็นสัทธาวิมุต เพราะเชื่ออยู่น้อมใจไปในขณะแห่งสกทาคามิมรรค อนาคามิมรรคและอรหัตมรรค เพราะความที่สัทธินทรีย์มีประมาณยิ่ง แม้น้อมใจไปในสัทธินทรีย์นั้น ท่านก็กล่าวว่า วิมุต ด้วยอำนาจแห่งการกล่าวที่เป็นจริงด้วยความหวัง.
               บทว่า ฌานผสฺสํ ถูกต้องฌาน คือถูกต้องฌาน ๓ อย่าง.
               ท่านกล่าวบทมีอาทิว่า ฌานผสฺสํ และบทมีอาทิว่า ทุกฺขา สงฺขารา ก่อนแล้วจึงกล่าวทั้งสองบทให้ต่างกัน.
               บทว่า ญาณํ โหติ เป็นอาทิมีความดังได้กล่าวแล้วในหนหลัง.
               อนึ่ง ในบทนี้ อาจารย์ทั้งหลายอธิบายว่า บุคคลผู้ได้ฌานครั้นออกแล้วด้วยทุกขานุปัสสนาอันอนุกูลแก่สมาธินทรีย์ ย่อมบรรลุมรรคผล.
               บทว่า สิยา แปลว่า พึงมี พึงเป็น. บทนี้เป็นชื่อของวิธีเท่านั้น.
               บทว่า ตโย ปุคฺคลา บุคคล ๓ จำพวก คือบุคคล ๓ จำพวก ท่านกล่าวแล้วด้วยวิปัสสนานิยมและด้วยอินทรีย์นิยม.
               บทว่า วตฺถุวเสน ด้วยสามารถแห่งวัตถุคือด้วยสามารถแห่งอินทรีย์วัตถุหนึ่งๆ ในอนุปัสสนา ๓.
               บทว่า ปริยาเยน คือ โดยปริยายนั้นนั่นเอง.
               ด้วยวาระนี้ท่านแสดงถึงอะไร.
               ท่านแสดงว่า ท่านกล่าวถึงความเป็นใหญ่แห่งอินทรีย์หนึ่งๆ ด้วยอนุปัสสนาหนึ่งๆ โดยเยภุยนัย และบางคราวความเป็นใหญ่แห่งอินทรีย์หนึ่งๆ ในอนุปัสสนาแม้ ๓.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อมีสัทธาวิมุตเป็นต้น ย่อมมีในขณะแห่งมรรคและผล เพ่งถึงความเป็นใหญ่แห่งอินทรีย์เหล่านั้นๆ ในวิปัสสนาอันเป็นส่วนเบื้องต้นเหล่านั้น เพราะมีอนุปัสสนาแม้ ๓ ในขณะแห่งวิปัสสนาอันเป็นส่วนเบื้องต้น เพราะเมื่อกล่าวอยู่อย่างนี้ ความเป็นใหญ่แห่งอินทรีย์และบุคคลนิยม ท่านทำไว้ในเบื้องบนแห่งวิปัสสนาอันเป็นวุฏฐานคามินีในหนหลัง และเป็นอันท่านทำดีแล้ว ไม่หวั่นไหวเลย.
               ในอนันตวาระ บทว่า สิยาติ อญฺโญเยว พึงเป็นอย่างอื่น คือพึงเป็นอย่างนี้.
               ในบทนี้ท่านกล่าวถึงความนิยมในบทก่อน.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระ เพื่อแสดงจำแนกบุคคลวิเศษด้วยสามารถแห่งมรรคและผล จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อนิจฺจโต มนสิกโรโต ฯลฯ โสตาปตฺติมคฺคํ ปฏิลภติ เมื่อมนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง สัทธินทรีย์มีประมาณยิ่ง เพราะสัทธินทรีย์มีประมาณยิ่ง บุคคลจึงได้โสดาปัตติมรรค.
               ในบทเหล่านั้น บุคคลชื่อว่าเป็นสัทธานุสารี เพราะระลึกถึง คือไปตามศรัทธา หรือระลึกถึงไปตามนิพพานด้วยศรัทธา.
               บทว่า สจฺฉิกตา ทำให้แจ้ง คือทำให้ประจักษ์.
               บทว่า อรหตฺตํ คืออรหัตผล.
               ชื่อว่าธรรมานุสารี เพราะระลึกถึงธรรมกล่าวคือปัญญา หรือระลึกถึงนิพพานด้วยธรรมนั้น.
               พระสารีบุตรเถระประสงค์จะพรรณนาถึงบุคคลวิเศษด้วยความวิเศษแห่งอินทรีย์ ๓ โดยปริยายอื่นอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า เย หิ เกจิ บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ภาวิตา วา เจริญแล้ว คือเจริญแล้วในอดีต.
               บทว่า ภาเวนฺติ วา ย่อมเจริญ คือเจริญในปัจจุบัน.
               บทว่า ภวิสฺสติ วา จักเจริญ คือจักเจริญในอนาคต.
               บทว่า อธิคตา วา บรรลุแล้วเป็นต้น ท่านกล่าวเพื่อขยายอรรภแห่งบทก่อนๆ อันมีที่สุดเป็นอย่างหนึ่งๆ.
               บทว่า ผสฺสิตา วา ถูกต้องแล้ว คือถูกต้องแล้วด้วยญาณผุสนา.
               บทว่า วสิปฺปตฺตา ถึงความชำนาญ คือถึงความเป็นอิสระ.
               บทว่า ปารมิปฺปตฺตา ถึงความสำเร็จ คือถึงที่สุด.
               บทว่า เวสารชฺชปฺปตฺตา ถึงความแกล้วกล้า คือถึงความมั่นใจ. สัทธาวิมุตเป็นต้นในที่ทั้งปวงถึงแล้ว ในขณะที่ท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลัง.
               สติปัฏฐานเป็นต้นถึงแล้วในขณะแห่งมรรคนั่นแล.
               บทว่า อฏฺฐ วิโมกฺเข วิโมกข์ ๘ คือ บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งบรรลุแล้วด้วยการบรรลุปฏิสัมภิทามรรคมีอาทิว่า๑- รูปี รูปานิ ปสฺสติ ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๔๖๙

               บทว่า ติสฺโส สิกฺขา สิกขา ๓ คืออธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา บรรลุมรรคแล้วยังศึกษาอยู่.
               บทว่า ทุกฺขํ ปริชานนฺติ กำหนดรู้ทุกข์เป็นต้น กำหนดรู้ในขณะแห่งมรรคนั่นเอง.
               บทว่า ปริญฺญาปฏิเวธํ ปฏิวิชฺฌติ แทงตลอดทุกขสัจ เป็นการแทงตลอดด้วยปริญญา ชื่อว่าปริญญาปฏิเวธะ เพราะแทงตลอดด้วยการแทงตลอดด้วยปริญญา หรือพึงแทงตลอดด้วยปริญญา.
               แม้ในบทที่เหลือก็อย่างนั้น ท่านกล่าวคำมีอาทิว่า อภิญญาปฏิเวธะ แทงตลอดด้วยอภิญญา เพราะให้แปลกจากธรรมทั้งปวงเป็นต้น. ส่วนแทงตลอดด้วยสัจฉิกิริยาพึงทราบด้วยสามารถความสำเร็จญาณในการพิจารณานิพพานในขณะแห่งมรรคนั่นเอง.
               ในที่นี้เป็นอันท่านชี้แจงถึงอริยบุคคล ๕ ไว้อย่างนี้ ไม่ชี้แจงถึงอริยบุคคล ๒ เหล่านี้คือ อุภโตภาควิมุตและปัญญาวิมุต.
               แต่ในที่อื่นท่านกล่าวไว้ว่า บุคคลใดมนสิการโดยความเป็นทุกข์ มากด้วยปัสสัทธิย่อมได้สมาธินทรีย์ บุคคลนั้นชื่อว่ากายสักขีในที่ทั้งปวง ส่วนบุคคลบรรลุอรูปฌานแล้วบรรลุผลเลิศ ชื่อว่าอุภโตภาควิมุต.
               อนึ่ง บุคคลใดมนสิการโดยความเป็นอนัตตามากด้วยความรู้ย่อมได้ปัญญินทรีย์ บุคคลนั้นชื่อว่าธรรมานุสารีในขณะแห่งโสดาปัตติมรรค ชื่อว่าทิฏฐิปัตตะ ในฐานะ ๖ ชื่อว่าปัญญาวิมุตในผลอันเลิศ. ในที่นี้ท่านสงเคราะห์บุคคลเหล่านั้นด้วยกายสักขีและทิฏฐิปัตตะ แต่โดยอรรถชื่อว่าอุภโตภาควิมุต เพราะพ้นโดยส่วนสองคือด้วยอรูปฌานและด้วยอริยมรรค ชื่อว่าปัญญาวิมุต เพราะรู้อยู่จึงพ้น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้เป็นอันท่านชี้แจงถึงความวิเศษของอินทรีย์และบุคคล.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระประสงค์จะแสดงถึงวิโมกขวิเศษ อันเป็นหัวหน้าของวิโมกข์และบุคคลวิเศษ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อนิจฺจโต มนสิกโรโต เมื่อมนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า เทฺว วิโมกฺขา วิโมกข์ ๒ คือ อัปปณิหิตวิโมกข์และสุญญตวิโมกข์. มรรคได้ชื่อว่า อนิมิตตวิโมกข์ด้วยสามารถถึงอนิจจานุปัสสนา ย่อมได้แม้ชื่อว่าอัปปณิหิตวิโมกข์ โดยความมีคุณเพราะไม่มีราคะ โทสะ โมหะเป็นที่ตั้งและโดยอารมณ์ เพราะทำนิพพานอันได้ชื่อว่าอัปปณิหิต เพราะไม่มีปณิธิเหล่านั้นให้เป็นอารมณ์.
               อนึ่ง ย่อมได้แม้ชื่อว่าสุญญตวิโมกข์โดยความมีคุณ เพราะว่างเปล่าจากราคะโทสะและโมหะ และโดยอารมณ์เพราะทำนิพพานอันได้ชื่อว่าสุญญตะ เพราะว่างเปล่าจากราคะเป็นต้นนั่นแล ให้เป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น วิโมกข์ ๒ เหล่านั้น จึงชื่อว่าไปตามอนิมิตตวิโมกข์.
               อนึ่ง พึงทราบว่า ปัจจัยมีสหชาตปัจจัยเป็นต้น แม้ไม่อื่นไปจากมรรคอันเป็นอนิมิตตะ ย่อมเป็นด้วยสามารถแห่งองค์มรรคหนึ่งๆ ขององค์มรรค ๘.
               บทว่า เทฺว วิโมกฺขา อีกครั้ง คือสุญญตวิโมกข์และอนิมิตตวิโมกข์.
               จริงอยู่ มรรคได้ชื่อว่าอัปปณิหิตวิโมกข์ ด้วยสามารถแห่งการถึงทุกขานุปัสสนา ย่อมได้แม้ชื่อว่าอนิมิตตวิโมกข์ โดยความมีคุณ เพราะไม่มีรูปนิมิต ราคนิมิตและนิจจนิมิตเป็นต้น และโดยอารมณ์ เพราะทำนิพพานกล่าวคืออนิมิตตะ เพราะไม่มีนิมิตเหล่านั้นเลยให้เป็นอารมณ์.
               พึงประกอบบทที่เหลือโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               บทว่า เทฺว วิโมกฺขา อีกครั้ง คืออนิมิตตวิโมกข์และอัปปณิหิตวิโมกข์.
               การประกอบมีนัยดังกล่าวแล้วในบทนี้นั่นแล.
               บทว่า ปฏิเวธกาเล ในกายแทงตลอด ท่านกล่าวแล้วตามลำดับของอินทรีย์ทั้งหลายดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว.
               อนึ่ง ชื่อว่าวิโมกข์ย่อมไม่มีในขณะแห่งวิปัสสนาเพราะปล่อยขณะแห่งมรรคเสีย แต่ท่านแสดงมรรควิโมกข์ที่กล่าวไว้แล้วครั้งแรกให้แปลกไปจากคำว่า ปฏิเวธกาเล.
               ท่านย่อวาระละ ๒ มีอาทิว่า บุคคลใดเป็นสัทธาวิมุต และวาระว่า เมื่อบุคคลมนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงย่อมได้โสดาปัตติมรรค แต่พึงทราบเพราะประกอบด้วยอำนาจแห่งวิโมกข์โดยพิสดาร.
               พึงทราบวาระมีอาทิว่า เย หิ เกจิ เนกฺขมฺมํ ตามนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้เป็นอันท่านชี้แจงถึงความวิเศษของวิโมกข์และบุคคล.
               พระสารีบุตรเถระประสงค์จะชี้แจงประธานของวิโมกข์ และวิโมกข์โดยส่วนไม่น้อยอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อนิจฺจโต มนสิกโรนฺโต เมื่อบุคคลมนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ยถาภูตํ ตามความเป็นจริง คือตามสภาวะ.
               บทว่า ปชานาติ ย่อมรู้ คือรู้ด้วยญาณ.
               บทว่า ปสฺสติ ย่อมเห็น คือเห็นด้วยญาณนั่นเอง ดุจเห็นด้วยจักษุ.
               บทว่า ตทนฺวเยน คือ โดยความเป็นไปตามสัมมาทัศนะนั้น. อธิบายว่า โดยไปตามสัมมาทัศนะนั้นที่เห็นแล้วด้วยญาณโดยประจักษ์.
               บทว่า กงฺขา ปหียติ ย่อมละความสงสัยได้ คือความสงสัยว่าเที่ยงหรือไม่เที่ยง ย่อมละได้ด้วยอนิจจานุปัสสนา ความสงสัยนอกนี้ย่อมละได้ด้วยอนุปัสสนานอกนี้.
               บทว่า นิมิตฺตํ นิมิต คือย่อมรู้สังขารนิมิตอันเป็นอารมณ์ ตามความเป็นจริง เพราะละนิจจสัญญาได้ด้วยการแยกสันตติแลฆนะออกไป.
               บทว่า เตน วุจฺจติ สมฺมาทสฺสนํ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าสัมมาทัศนะ เพราะรู้ตามความเป็นจริงนั้น ท่านจึงกล่าวญาณนั้นว่า สัมมาทัศนะ.
               บทว่า ปวตฺตํ ความเป็นไป คือรู้ความเป็นไปอันเป็นวิบาก แม้รู้ว่าสุขตามความเป็นจริง เพราะละตัณหากล่าวคือปณิธิได้ด้วยการถอนสุขสัญญาในอาการอันถึงทุกข์แล้ว ละด้วยสุขสัญญา.
               บทว่า นิมิตตญฺจ ปวตฺตญฺจ ย่อมรู้ย่อมเห็นนิมิตและความเป็นไป คือย่อมรู้สังขารนิมิต และความเป็นไปอันเป็นวิบากตามความเป็นจริง เพราะละอัตตสัญญา แม้โดยประการทั้งสองด้วยการถอนฆนะอันรวมกันอยู่ด้วยมีมนสิการถึงธาตุต่างๆ. บัดนี้ ท่านกล่าวถึง ๓ บทเท่านั้นมีอาทิว่า ยญจ ยถาภูตํ ญาณํ ยถาภูตญาณ มิได้กล่าวถึงบทอื่น.
               บทว่า ภยโต อุปฏฺฐาติ ย่อมปรากฏโดยความเป็นของน่ากลัว คือนิมิตนั้นย่อมปรากฏโดยความเป็นของน่ากลัวตามลำดับ เพราะเห็นความไม่มีสุขเป็นนิจและตัวตน.
               ด้วยบทมีอาทิว่า ยา จ ภยตูปฏฺฐาเน ปญฺญา ปัญญาในความปรากฏโดยความเป็นของน่ากลัว ท่านกล่าวถึงญาณ ๓ ตั้งอยู่ในญาณเดียวอันแตกต่างกันโดยประเภทของหน้าที่ สัมพันธ์กับภยตูปัฏฐานญาณในวิปัสสนาญาณ ๙ กล่าวคือ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติ) ที่ท่านกล่าวไว้แล้วคือ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ปรีชาคำนึงเห็นทั้งความเกิดทั้งความดับ) ๑ ภังคานุปัสสนาญาณ (ปรีชาคำนึงเห็นความดับ) ๑ ภยตุปัฏฐานญาณ (ปรีชาคำนึงเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว) ๑ อาทีนวานุปัสสาญาณ (ปรีชาคำนึงเห็นโทษ) ๑ นิพพิทานุปัสสนาญาณปรีชาคำนึงถึงความเบื่อหน่าย) ๑ มุญจิตุกัมยตาญาณ (ปรีชาคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย) ๑ ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ (ปรีชาคำนึงด้วยพิจารณาหาทาง) ๑ สังขารุเบกขาญาณ (ปรีชาคำนึงด้วยความวางเฉยเสีย) ๑ อนุโลมญาณ (ปรีชาเป็นไปโดยสมควรแก่กำหนดรู้อริยสัจ) ๑ ไม่กล่าวถึงญาณที่เหลือ.
               พระสารีบุตรเถระ เพื่อแสดงความที่สุญญตานุปัสสนาญาณร่วมกันนั้น ตั้งอยู่ในที่เดียวกัน โดยสัมพันธ์แห่งอนัตตานุปัสสนาอันเป็นลำดับ ตั้งอยู่ในที่สุดแห่งในอนุปัสสนา ๓ อีก จึงกล่าวบทมีอาทิว่า ยา จ อนตฺตานุปสฺสนา ยา จ สุญฺญตานุปสฺสนา ธรรมเหล่านี้คือ อนัตตานุปัสสนาและสุญญตานุปัสสนา. เพราะญาณ ๒ เหล่านี้โดยอรรถเป็นอย่างเดียวกัน แต่ต่างกันโดยประเภทของหน้าที่.
               อนิจจานุปัสสนาและอนิมิตตานุปัสสนาโดยอรรถเป็นญาณอันเดียวกัน ทุกขานุปัสสนาและอัปปณิหิตานุปัสสนา โดยอรรถเป็นญาณอย่างเดียวกัน ต่างกันโดยประเภทของหน้าที่เท่านั้น เหมือนญาณเหล่านี้.
               เมื่อท่านกล่าวความที่อนัตตานุปัสสนา และสุญญตานุปัสสนาตั้งอยู่เป็นอันเดียวกัน เป็นอันท่านกล่าวถึงความที่ญาณแม้ทั้งสองเหล่านั้น ตั้งอยู่เป็นอันเดียวกัน เพราะมีลักษณะอย่างเดียวกัน.
               บทว่า นิมิตฺตํ ปฏิสงฺขา ญาณํ อุปฺปชฺชติ ญาณคือการพิจารณานิมิตย่อมเกิด คือญาณย่อมเกิดเพราะรู้ด้วยอำนาจแห่งอนิจจลักษณะว่า สังขารนิมิตไม่ยั่งยืนเป็นไปชั่วกาล ถึงแม้ญาณเกิดขึ้นภายหลังเพราะรุ้ก่อนก็จริง ถึงดังนั้นโดยโวหาร ท่านกล่าวอย่างนี้ดุจบทมีอาทิว่า มโนวิญญาณย่อมเกิดเพราะอาศัยใจและธรรม.๒-
____________________________
๒- สํ. สฬา. เล่ม ๑๘/ข้อ ๖๓

               อนึ่ง แม้ผู้รู้คัมภีร์ศัพทศาสตร์ย่อมปรารถนา บทนี้แม้ในกาลเสมอกันดุจในบทมีอาทิว่า ความมืดย่อมปราศจากไปเพราะดวงอาทิตย์โผล่.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่าท่านกล่าวอย่างนี้ เพราะทำบทต้นและบทท้าย เป็นอันเดียวกันโดยนัยแห่งความเป็นอันเดียวกัน.
               โดยนัยนี้ พึงทราบอรรถในสองบทนอกนี้. ความที่ญาณ ๓ มีมุญจิตุกัมยตาญาณเป็นต้น ตั้งอยู่อย่างเดียวกันมีนัยดังได้กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               บทว่า นิมิตฺตา จิตฺตํ วุฏฺฐาติ จิตย่อมออกไปจากนิมิตคือ จิตชื่อว่าย่อมออกไปจากสังขารนิมิต เพราะไม่ติดอยู่ในสังขารนิมิต ด้วยเห็นโทษในสังขารนิมิต.
               บทว่า อนิมิตฺเต จิตฺตํ ปกฺขนฺทติ จิตย่อมแล่นไปในนิพพานอันหานิมิตมิได้ คือจิตย่อมเข้าไปในนิพพานอันหานิมิตมิได้ โดยเป็นปฏิปักษ์ต่อสังขารนิมิต เพราะจิตน้อมไปในนิพพานนั้น.
               แม้ในอนุปัสสนาทั้งสองที่เหลือก็พึงทราบความโดยนัยนี้.
               บทว่า นิโรธนิพฺพานธาตุยา ในนิพพานธาตุอันเป็นที่ดับ คือในบทนี้เป็นอันท่านกล่าวถึงแม้สองอนุปัสสนาแรก ปาฐะว่า นิโรเธ บ้าง.
               บทว่า พหิทฺธาวุฏฺฐานวิวฏฺฏเน ปญฺญา ปัญญาในความออกไปและความหลีกไปภายนอก คือท่านกล่าวถึงโคตรภูญาณโดยการสัมพันธ์ด้วยการออก.
               บทว่า โคตฺรภูธมฺมา คือ โคตรภูญาณนั่นเอง. เพราะความที่โคตรภูญาณตั้งอยู่อย่างเดียวกัน ด้วยประการนอกนี้ ย่อมไม่ควร.
               พึงทราบว่า ท่านทำเป็นพหุวจนะ ดุจในบทมีอาทิว่า๓- ธรรมทั้งหลายที่เป็นอสังขตะ ธรรมทั้งหลายที่ไม่เป็นปัจจัย หรือด้วยสามารถแห่งมรรค ๔ เพราะวิโมกข์ก็คือมรรค และมรรคออกไปจากส่วนทั้งสอง ฉะนั้น ด้วยความสัมพันธ์นั้น ท่านจึงกล่าวบทมีอาทิว่า ยา จ ทุภโตวุฏฺฐานวิวฏฺเน ปญฺญา ปัญญาในความออกไปและหลีกออกไปจากส่วนทั้งสอง.
____________________________
๓- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๓

               พระสารีบุตรเถระประสงค์จะแสดงปริยายในขณะเดียวกัน แห่งขณะต่างกันของวิโมกข์ทั้งหลายอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า กตีหากาเรหิ ด้วยอาการเท่าไร.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อธิปเตยฺยฏฺเฐน คือ ด้วยความเป็นใหญ่.
               บทว่า อธิฏฺฐานฏฺเฐน คือ ด้วยความตั้งมั่น.
               บทว่า อภินีหารฏฺเฐน คือ ด้วยความน้อมจิตไปโดยวิปัสสนาวิถี.
               บทว่า นิยฺยานฏฺเฐน ด้วยความนำออกไป คือด้วยการเข้าถึงนิพพาน.
               บทว่า อนิจฺจโต มนสิกโรโต มนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง คือในขณะแห่งวิปัสสนาอันเป็นวุฏฐานคามินีนั่นเอง.
               ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้.
               บทว่า จิตตํ อธิฏฺฐาติ ย่อมตั้งจิตมั่นไว้ คือทำจิตให้ยิ่งตั้งมั่นไว้. อธิบายว่า ยังจิตให้ตั้งมั่น.
               บทว่า จิตฺตํ อภินีหรติ ย่อมน้อมจิตไป คือน้อมจิตไปโดยวิปัสสนาวิถี.
               บทว่า นิโรธํ นิพฺพานํ นิยฺยาติ ย่อมนำจิตออกไปสู่นิพพานอันเป็นที่ดับ คือท่านแสดงความที่ขณะต่างกัน ๔ ส่วนโดยความต่างกันด้วยอาการอย่างนี้ว่า บุคคลย่อมเข้าถึงนิพพานกล่าวคือความดับ.
               บทว่า สโมธานฏฺเฐน ด้วยความประชุมลง เพราะมีขณะเดียวกัน คือด้วยความประชุมรวมกัน.
               บทว่า อธิคมนฏฺเฐน ด้วยความบรรลุ คือด้วยความรู้.
               บทว่า ปฏิลาภฏฺเฐน ด้วยความได้ คือด้วยการถึง.
               บทว่า ปฏิเวธฏฺเฐน ด้วยความแทงตลอด คือด้วยความแทงตลอดด้วยญาณ.
               บทว่า สจฺฉิกรณฏฺเฐน ด้วยความทำให้แจ้ง คือด้วยทำให้ประจักษ์.
               บทว่า ผสฺสนฏฺเฐน ด้วยความถูกต้อง คือด้วยความถูกต้องด้วยสัมผัสญาณ.
               บทว่า อภิสมยฏฺเฐน ด้วยความตรัสรู้ คือด้วยความมาถึงพร้อมเฉพาะหน้า.
               ในบทว่า สโมธานฏฺเฐน นี้ เป็นบทมูลเหตุ.
               บทที่เหลือเป็นไวพจน์ของความสำเร็จ เพราะฉะนั้นแล ท่านจึงทำการแก้บททั้งหมดเป็นอันเดียวกัน.
               บทว่า นิมิตฺตา มุจฺจติ ย่อมพ้นจากนิมิต คือพ้นจากนิมิตว่าเป็นสภาพเที่ยง ด้วยบทนี้ท่านกล่าวถึงอรรถของวิโมกข์.
               บทว่า ยโต มุจฺจติ พ้นจากอารมณ์ใด คือพ้นจากนิมิตใด.
               บทว่า ตตฺถ น ปณิทหติ ย่อมไม่ตั้งอยู่ในอารมณ์นั้น คือไม่ทำความปรารถนาในนิมิตนั้น.
               บทว่า ยตฺถ น ปณิทหติ ย่อมไม่ตั้งอยู่ในอารมณ์ใด คือย่อมไม่ตั้งอยู่ในนิมิตใด.
               บทว่า เตน สุญฺโญ เป็นผู้ว่างเปล่าจากอารมณ์ใด คือเป็นผู้ว่างเปล่าจากนิมิตนั้น.
               บทว่า เยน สุญโญ เป็นผู้ว่างเปล่าจากอารมณ์ใด คือเป็นผู้ว่างเปล่าจากนิมิตใด ด้วยบทนี้ว่า เตน นิมิตฺเตน อนิมิตฺโต ไม่มีนิมิตเพราะนิมิตนั้น ท่านกล่าวถึงความไม่มีนิมิต.
               บทว่า ปณิธิยา มุจฺจติ ย่อมพ้นจากความปรารถนาอันเป็นที่ตั้ง. ปาฐะว่า ปณิธิ มุจฺจติ มีอรรถเป็นปัญจมีวิภัตติ คือพ้นจากปณิธิ ด้วยบทนี้ท่านกล่าวถึงวิโมกข์.
               บทว่า ยตฺถ น ปณิทหติ บุคคลย่อมไม่ตั้งอยู่ในอารมณ์ใด คือไม่ตั้งอยู่ในทุกข์ใด.
               บทว่า เตน สุญฺโญ เป็นผู้ว่างเปล่าจากอารมณ์นั้น คือว่างเปล่าจากทุกข์นั้น.
               บทว่า เยน สุญฺโญ เป็นผู้ว่างเปล่าจากอารมณ์ใด คือว่างเปล่าจากทุกขนิมิตใด.
               บทว่า เยน นิมิตฺเตน เพราะนิมิตใด คือเพราะทุกขนิมิตใด.
               ด้วยบทนี้ว่า ตตฺถ น ปณิทหติ บุคคลไม่ตั้งอยู่ในนิมิตนั้น ท่านกล่าวถึงความไม่ตั้งไว้.
               ด้วยบทนี้ว่า อภินิเวสา มุจฺจติ พ้นจากความยึดมั่น ท่านกล่าวถึงวิโมกข์.
               บทว่า เยน สุญฺโญ เป็นผู้ว่างเปล่าจากอารมณ์ใด คือเป็นผู้ว่างเปล่านิมิตคือความยึดมั่นใด.
               บทว่า เยน นิมิตฺเตน เพราะนิมิตใด คือ เพราะนิมิตคือความยึดมั่นใด.
               บทว่า ยตฺถ นปณิทหติ เตน สุญฺโญ บุคคลไม่ตั้งอยู่ในอารมณ์ใด เป็นผู้ว่างเปล่าจากอารมณ์นั้น คือไม่ตั้งอยู่ในนิมิตคือความยึดมั่นใด เป็นผู้ว่างเปล่าจากนิมิต คือความยึดมั่นนั้น ด้วยบทนี้ท่านกล่าวถึงเนื้อความสุญญตะ
               พระสารีบุตรเถระประสงค์จะแสดงวิโมกข์ ๘ เป็นต้นอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อตฺถิ วิโมกฺโข วิโมกข์มีอยู่ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทมีอาทิว่า นิจฺจโต อภินิเวสา พ้นจากความยึดมั่น โดยความเป็นของไม่เที่ยง พึงทราบโดยนัยที่ท่านกล่าวแล้วในสัญญาวิโมกข์.
               บทว่า สพฺพาภินิเวเสหิ จากความยึดมั่นทั้งปวง คือจากความยึดมั่นมีประการดังกล่าวแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
               ชื่อว่าสุญญตวิโมกข์ ด้วยสามารถแห่งการพ้นจากความยึดมั่น.
               ชื่อว่าอนิมิตตวิโมกข์ ด้วยสามารถแห่งความพ้นจากนิมิตมีความเป็นสภาพเที่ยงเป็นต้น.
               ชื่อว่าอัปปณิหิตวิโมกข์ ด้วยสามารถแห่งความพ้นจากความปรารถนาอันเป็นที่ตั้งมีความเป็นสภาพเที่ยงเป็นต้น.
               อนึ่ง ในบทนี้ว่า ปณิธิ มุจฺจติ พึงทราบว่าเป็นปัญจมีวิภัตติในที่ทั้งปวง แปลว่า พ้นจากปณิธิ หรือปาฐะว่า ปณิธิยา มุจจติ แปลอย่างเดียวกันว่า พ้นจากปณิธิ.
               มีตัวอย่างในบทนี้ว่า สพฺพปณิธีหิ มุจฺจติ พ้นจากปณิธิทั้งปวง. ท่านกล่าวอนุปัสสนา ๓ อย่างนี้ว่า วิโมกข์โดยปริยาย เพราะความที่วิโมกข์เป็นองค์ของวิปัสสนานั้น และเพราะเป็นปัจจัยแห่งสมุจเฉทวิโมกข์
               บทว่า ตตฺถ ชาตา เกิดในมรรควิโมกข์นั้น. ท่านอธิบายว่า เมื่อวิปัสสนาวิโมกข์แม้มีอยู่ในลำดับ กุศลธรรมทั้งหลายเกิดในมรรควิโมกข์นั้น เพราะกถานี้เป็นอธิการแห่งมรรควิโมกข์.
               บทว่า อนวชฺชกุสลา กุศลธรรมอันไม่มีโทษ คือกุศลปราศจากโทษมีราคะเป็นต้น หรือทำการตัดเด็ดขาด.
               บทว่า โพธิปกฺขิยา ธมฺมา โพธิปักขิยธรรม (ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้) คือโพธิปักขิธรรม ๓๗ ที่ท่านกล่าวไว้๔- คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘.
____________________________
๔- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๔๔

               บทว่า อิทํ มุขํ นี้ ธรรมเป็นประธาน.
               ท่านอธิบายว่า ธรรมชาติมีประการดังกล่าวแล้วนี้ ชื่อว่าธรรมเป็นประธาน เพราะเป็นประธานแห่งการเข้าไปสู่นิพพานโดยอารมณ์.
               บทว่า เตสํ ธมฺมานํ แห่งธรรมเหล่านั้น คือแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น.
               บทว่า อิทํ วิโมกฺขมุขํ นี้เป็นธรรมอันเป็นประธานแห่งวิโมกข์ คือนิพพานเป็นนิสสรณวิโมกข์ ในบรรดาวิกขัมภนวิโมกข์ ตทังควิโมกข์ สมุจเฉทวิโมกข์ ปฏิปัสสัทธิวิโมกข์ฮและนิสสรณวิโมกข์. นิพพานชื่อว่า วิโมกฺขมุขํ เพราะเป็นประธานด้วยอรรถว่าสูงสุด.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๕- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขตธรรมหรืออสังขตธรรมมีประมาณเท่าใด วิราคะท่านกล่าวว่าเลิศกว่าธรรมเหล่านั้น.
____________________________
๕- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๓๔

               ท่านกล่าวอรรถนี้ด้วยอำนาจแห่งกัมมธารยสมาสว่า วิโมกข์นั้นด้วยเป็นประธานด้วย ชื่อว่า วิโมกฺขมุขํ.
               ในบทว่า วิโมกฺขญฺจ นี้เป็นลิงควิปลาส.
               บทว่า ตีณิ อกุสลมูลานิ อกุศลมูล ๓ คือ ราคะ โทสะ โมหะ.
               บทว่า ตีณิ ทุจฺจริตานิ ทุจริต ๓ คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต.
               บทว่า สพฺเพปิ อกุสลา ธมฺมา อกุศลธรรมแม้ทั้งหมด คืออกุศลธรรม สัมปยุตด้วยอกุศลมูล สัมปยุตและไม่สัมปยุตด้วยทุจริต เว้นโทมนัสที่ควรเสพเป็นต้น.
               บทว่า กุสลมูลสุจริตานิ สุจริตอันเป็นกุศลมูล พึงทราบโดยเป็นปฏิปักษ์กับทุจริตอันเป็นอกุศลมูลดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า สพฺเพปิ กุสลา ธมฺมา กุสลธรรมแม้ทั้งหมด คือกุศลธรรมแม้ทั้งหมดเป็นอุปนิสัยแห่งวิโมกข์ สัมปยุตและไม่สัมปยุตด้วยกุศลมูลตามนัยดังกล่าวแล้ว.
               วิวัฏฏกถา (กถาว่าด้วยการหลีกออกไป) ท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลัง. แต่ในที่นี้ท่านกล่าวถึงวิวัฏฏะที่เหลือโดยสัมพันธ์กับวิโมกขวิวัฏฏ.
               บทว่า อาเสวนา การเสพ คือเสพแต่ต้น.
               บทว่า ภาวนา การเจริญ คือการเจริญแห่งวิโมกข์นั้นนั่นเอง.
               บทว่า พหุลีกมฺมํ การทำให้มาก คือทำบ่อยๆ ด้วยการถึงความชำนาญแห่งวิโมกข์นั้น.
               อนึ่ง พึงทราบการเสพเป็นต้น ด้วยสามารถยังกิจให้สำเร็จในขณะเดียวแห่งมรรคนั่นเอง.
               บทมีอาทิว่า ปฏิลาโภ วา วิปาโก วา การได้หรือวิบากมีอรรถดังได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล ด้วยประการฉะนี้.


               จบอรรถกถาวิโมกขกถา               
               แห่งสัทธัมมปกาสินี อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๕. วิโมกขกถา จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 423อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 469อ่านอรรถกถา 31 / 517อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=6186&Z=7125
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=3868
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=3868
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :