ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 530อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 534อ่านอรรถกถา 31 / 544อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรค
๑. ยุคนัทธกถา

               ยุคนัทธวรรค               
               อรรถกถายุคนัทธกถา               
               บัดนี้จะพรรณนาตามลำดับความที่ยังไม่เคยกล่าวแห่งยุคนัทธกถาอันมีสูตรเป็นบทนำ อันพระอานนทเถระแสดงถึงคุณของยุคนัทธธรรม (ธรรมที่เทียมคู่) แห่งอริยมรรคอันเป็นคุณธรรมผ่องใส ควรดื่ม กล่าวแล้ว.
               ก็เพราะพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชายังทรงพระชนม์ ได้ปรินิพพานในปีที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชาเสด็จปรินิพพาน.
               ฉะนั้น พึงทราบว่าเมื่อพระธรรมราชายังทรงพระชนม์อยู่นั่นเอง พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรสดับสูตรนี้ซึ่งพระอานนท์ผู้เป็นธรรมภัณฑาคาริก (คลังพระธรรม) แสดงไว้ เฉพาะหน้าของพระอานนท์นั้น แล้วจึงกล่าวว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อายสฺมา เป็นคำพูดน่ารัก เป็นคำพูดแสดงความเคารพ เป็นคำพูดแสดงความมีคารวะและความยำเกรง. อธิบายว่า ผู้มีอายุ.
               บทว่า อานนฺโท เป็นชื่อของพระเถระนั้น. เพราะพระเถระนั้น เมื่อเกิดได้ทำความพอใจ ความยินดีอย่างมากในตระกูล ฉะนั้น พระเถระนั้นจึงได้ชื่อว่าอานนท์.
               บทว่า โกสมฺพิยํ ใกล้นครมีชื่ออย่างนั้น. เพราะนครนั้น มีต้นสะคร้อขึ้นหนาแน่นในที่นั้นๆ มีสวนและสระโบกขรณีเป็นต้น ฉะนั้น นครนั้นจึงชื่อว่าโกสัมพี อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า เพราะฤษีกุสุมพะสร้างไว้ ไม่ไกลจากอาศรม.
               บทว่า โฆสิตาราเม ณ โฆสิตาราม คือ ณ อารามที่โฆสิตเศรษฐีสร้างไว้.
               ในกรุงโกสัมพี ได้มีเศรษฐี ๓ คน คือ โฆสิตเศรษฐี กุกกุฏเศรษฐี ปาวาริกเศรษฐี.
               เศรษฐีทั้ง ๓ นั้นได้ฟังว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วในโลก จึงให้เตรียมอุปกรณ์ในการให้ทานด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่มไปกรุงสาวัตถี จัดที่พักใกล้พระเชตวันแล้วไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคม นั่งทำปฏิสันถาร ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล นิมนต์พระศาสดา ถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขประมาณกึ่งเดือน แล้วหมอบลง ณ บาทมูลของพระผู้มีพระภาคเจ้า อาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเสด็จไปยังชนบทของตน.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนคหบดีทั้งหลาย พระตถาคตทั้งหลายย่อมยินดียิ่งในสุญญาคาร.
               ครั้นทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้ปฏิญญาแก่พวกเราแล้ว จึงยินดีอย่างยิ่ง ถวายบังคมพระทศพล ออกไปสร้างวิหาร เพื่อเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้าในที่โยชน์หนึ่งๆ ในระหว่างทางถึงกรุงโกสัมพีโดยลำดับ ทำการบริจาคทรัพย์เป็นอันมากในอารามของตนๆ แล้วสร้างวิหารทั้งหลายถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ในเศรษฐีเหล่านั้น โฆสิตเศรษฐีสร้างอารามชื่อว่าโฆสิตาราม กุกกุฏเศรษฐีสร้างอารามชื่อว่ากุกกุฏาราม ปาวาริกเศรษฐีสร้างในสวนอัมพวัน ชื่อว่าปาวาริกัมพวัน.
               ท่านกล่าวว่า โฆสิตเสฏฺฐินา การิเต อาราเม ในอารามอันโฆสิตเศรษฐีสร้าง หมายถึงโฆสิตารามนั้น.
               ในบทว่า อาวุโส ภิกฺขโว ดูก่อนภิกษุผู้อาวุโสทั้งหลาย นี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อตรัสเรียกสาวกทั้งหลาย ย่อมตรัสเรียกว่า ภิกฺขโว.
               ส่วนสาวกทั้งหลายคิดว่า เราจงอย่างเป็นเช่นกับพระพุทธเจ้าทั้งหลายเลย จึงกล่าวว่า อาวุโส ก่อนแล้วจึงกล่าวว่า ภิกฺขโว ภายหลัง.
               อนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรียก ภิกษุสงฆ์ย่อมรับว่า ภทนฺเต เมื่อสาวกเรียก ภิกษุสงฆ์รับว่า อาวุโส.
               บทว่า โย หิ โกจิ รูปใดรูปหนึ่ง เป็นคำไม่แน่นอน.
               ด้วยบทนี้ เป็นการหมายเอาภิกษุทั้งหมดเช่นนั้น.
               บทว่า มม สนฺติเก ในสำนักของเรา. คือในที่ใกล้เรา.
               บทว่า อรหตฺตปฺปตฺตํ คือบรรลุพระอรหัตด้วยตนเอง.
               รูปสำเร็จเป็นนปุงสกลิงค์ หรือตัดบทว่า อรหตฺตํ ปตฺตํ บรรลุซึ่งพระอรหัต. ความว่า พระอรหัตอันตนบรรลุแล้ว หรือปาฐะที่เหลือว่าตนบรรลุพระอรหัตแล้ว.
               บทว่า จตูหิ มคฺเคหิ ด้วยมรรค ๔ คือด้วยปฏิปทามรรค ๔ ซึ่งท่านกล่าวไว้ในตอนบน มิใช่ด้วยอริยมรรค. เพราะท่านกล่าวไว้แผนกหนึ่ง ด้วยบทว่า จตูหิ มคฺเคหิ ด้วยมรรค ๔ พึงทราบว่าปฏิปทามรรคมี ๔ อย่างนี้ คือ มรรคมีธรรมุทธัจจะเป็นหัวหน้าแห่งอริยมรรคต้นของพระอรหันต์รูปใดรูป ๑ มรรคมีสมถะเป็นหัวหน้าแห่งอริยมรรค ๑ มรรคมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้นแห่งอริยมรรค ๑ มรรคมียุคนัทธธรรม (ธรรมที่เทียมคู่) เป็นเบื้องต้นแห่งอริยมรรค ๑.
               บทว่า เอเตสํ วา อญฺญตเรน หรือด้วยมรรคเหล่านั้น มรรคใดมรรคหนึ่ง คือหรือด้วยมรรคหนึ่ง บรรดาปฏิปทามรรค ๔ เหล่านั้น.
               ความว่า พระอานนทเถระพยากรณ์การบรรลุพระอรหัต ด้วยปฏิปทามรรค.
               จริงอยู่ เมื่อพระอรหันต์ผู้เป็นสุกขวิปัสสก บรรลุโสดาปัตติมรรคอันมีธรรมุทธัจจะเป็นเบื้องต้น แล้วบรรลุมรรค ๓ ที่เหลือด้วยวิปัสสนาล้วน การบรรลุพระอรหัตย่อมเป็นมรรคมีธรรมุทธัจจะเป็นเบื้องต้น การบรรลุพระอรหัตของพระอรหันต์ผู้มีมรรค ๔ อันตนบรรลุแล้วก็ดี ยังไม่บรรลุแล้วก็ดี ซึ่งธรรมถูกอุทธัจจะกั้นไว้ บรรลุแล้วด้วยสามารถแห่งปฏิปทามรรค ๓ มีสมถะเป็นเบื้องต้น เป็นต้นมรรคหนึ่งๆ ย่อมเป็นมรรคมีมรรคหนึ่งๆ นอกนี้เป็นเบื้องต้น.
               ฉะนั้น พระอานนทเถระจึงกล่าวว่า เอเตสํ วา อญฺญตเรน.
               บทว่า สมถปุพฺพงฺคมํ วิปสฺสนํ ภาเวติ ย่อมเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้น คือเจริญวิปัสสนาทำสมถะให้เป็นเบื้องต้น คือให้ไปถึงก่อน.
               ความว่า ยังสมาธิให้เกิดก่อน แล้วจึงเจริญวิปัสสนาภายหลัง.
               บทว่า มคฺโค สญฺชายติ มรรคย่อมเกิด คือโลกุตรมรรคย่อมเกิดก่อน.
               ในบทมีอาทิว่า โส ตํ มคฺคํ ภิกษุนั้นย่อมเสพมรรคนั้น ชื่อว่าการเสพเป็นต้นของมรรค อันมีขณะจิตเดียวย่อมไม่มี ภิกษุยังทุติยมรรคเป็นต้นให้เกิด ท่านกล่าวว่า ภิกษุเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น.
               บทว่า สญฺโญชนานิ ปหียนฺติ อนุสยา พฺยนฺตี โหนฺติ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป คือย่อมละสังโยชน์ทั้งปวงได้ตามลำดับตลอดถึงอรหัตมรรค อนุสัยย่อมสิ้นไป.
               อนึ่ง บทว่า อนุสยา พยนฺตีโหนฺติ ความว่า อนุสัยปราศจากไปโดยไม่เกิดขึ้นอีก.
               บทว่า ปุน จปรํ อีกประการหนึ่ง คือยังมีเหตุอื่นอีก.
               บทว่า วิปสฺสนาปุพฺพงฺคมํ สมถ ภาเวติ ย่อมเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น คือ ภิกษุเจริญสมถะ ทำวิปัสสนาให้เป็นเบื้องต้น คือให้ไปถึงก่อน.
               ความว่า ยังวิปัสสนาให้เกิดก่อน แล้วจึงเจริญสมาธิภายหลัง.
               บทว่า ยุคนทฺธํ ภาเวติ เจริญคู่กันไป คือเจริญทำให้คู่กันไป.
               ในบทนี้ไม่อาจเข้าสมาบัติด้วยจิตนั้น แล้วพิจารณาสังขารทั้งหลายด้วยจิตนั้นได้ แต่ภิกษุนี้เข้าสมาบัติได้เพียงใด ย่อมพิจารณาถึงสังขารทั้งหลายได้เพียงนั้น. พิจารณาถึงสังขารได้เพียงใด ย่อมเข้าสมาบัติได้เพียงนั้นอย่างไร. ภิกษุเข้าปฐมฌาน ครั้นออกจากปฐมฌานนั้นแล้วย่อมพิจารณาสังขารทั้งหลาย ครั้นพิจารณาสังขารทั้งหลายแล้วย่อมเข้าทุติยฌาน ครั้นออกจากทุติยฌานนั้นแล้ว ย่อมพิจารณาสังขารทั้งหลาย ครั้นพิจารณาสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมเข้าตติยฌาน ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญาสมาบัติ ครั้นออกจากเนวสัญญานาสัญญาสมาบัตินั้นแล้ว ย่อมพิจารณาถึงสังขารทั้งหลาย.
               ด้วยประการฉะนี้ ภิกษุชื่อว่าเจริญสมถะและวิปัสสนาอันเป็นธรรมคู่กัน.
               ในบทนี้ว่า ธมฺมุทฺธจฺจวิคฺคหิตมานสํ มีใจนึกถึงโอภาสอันเป็นธรรมถูกอุทธัจจะกั้นไว้ คือ อุทธัจจะคือความฟุ้งซ่าน ด้วยบังเกิดจิตอันสหรคตด้วยอุทธัจจะ ด้วยสามารถแห่งหมุนเคว้งไปในธรรม ๑๐ ประการมีโอภาสเป็นต้น อันเป็นที่รู้กันว่าเป็นอุปกิเลสแห่งวิปัสสนา เพราะผู้เจริญวิปัสสนามีปัญญาอ่อน ชื่อว่าธรรมุทธัจจะ มีใจอันธรรมุทธัจจะนั้นกั้นไว้ คือถือเอาผิดรูปให้ถึงความพิโรธ ชื่อว่ามีใจนึกถึงโอภาสอันเป็นธรรมถูกอุทธัจจะกั้นไว้ หรือมีใจถูกธรรมมุทธัจจะนั้นอันเป็นเหตุกั้นไว้ ด้วยความเกิดแห่งตัณหา มานะ ทิฏฐิ อันมีธรรมุทธัจจะนั้นเป็นเหตุ.
               ปาฐะว่า ธมฺมุทฺธจฺจวิคฺคหิตมานสํ.
               ด้วยบบทนี้ว่า โหติ โส อาวุโส สมโย ดูก่อนอาวุโส สมัยนั้น พระอานนทเถระห้ามธรรมมุทธัจจะนั้น ด้วยกำหนดมรรคและมิใช่มรรค แล้วแสดงถึงปฏิบัติวิถีแห่งวิปัสนาอีก.
               บทว่า ยํ ตํ จิตฺตํ จิตนั้นใด คือในสมัยใด จิตนั้นก้าวลงสู่วิถีแห่งวิปัสสนาเป็นไปแล้ว.
               บทว่า อชฺฌตฺตเมว สนฺติฏฺฐติ จิตย่อมตั้งมั่นอยู่ภายใน คือจิตก้าวลงสู่วิถีแห่งวิปัสสนาแล้ว ย่อมตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ กล่าวคือภายในแห่งอารมณ์ในสมัยนั้น.
               บทว่า สนฺนิสีทติ จิตสงบ คือสงบโดยชอบด้วยความเป็นไปในอารมณ์นั้นนั่นเอง.
               บทว่า เอโกทิ โหติ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น คือมีอารมณ์เป็นหนึ่ง.
               บทว่า สมาธยติ ตั้งมั่นอยู่ คือจิตตั้งมั่นโดยชอบ ตั้งมั่นด้วยดี.
               นี้อรรถกถาพระสูตร               

               อรรถกถาสุตตันตนิเทศ               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศกถาแห่งสูตรนั้นดังต่อไปนี้.
               บทว่า ตตฺถ ธมฺเม ชาเต ธรรมที่เกิดในสมาธินั้น คือจิตเจตสิกธรรมที่เกิดในสมาธินั้น.
               พระอานนทเถระแสดงถึงประเภทแห่งวิปัสสนา ด้วยบทมีอาทิว่า อนิจฺจโต อนุปสฺสนฏฺเฐน ด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็นโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง.
               บทว่า สมฺมาทิฏฐิ มคฺโค ได้แก่มรรคคือสัมมาทิฏฐิ. ในองค์แห่งมรรค ๘ แม้องค์หนึ่งๆ ท่านก็เรียกมรรค.
               บทว่า อาเสวติ ย่อมเสพ คือย่อมเสพด้วยอำนาจแห่งโสดาปัตติมรรค.
               บทว่า ภาเวติ ย่อมเจริญ คือย่อมเจริญด้วยอำนาจแห่งสกทาคามิมรรค.
               บทว่า พหุลีกโรติ ย่อมทำให้มาก คือย่อมทำให้มาก ด้วยให้เกิดอนาคามิมรรคและอรหัตมรรค แม้เมื่อความไม่ต่างกันแห่งหน้าที่ของมรรค ๓ เหล่านี้มีอยู่ เพราะอาวัชชนจิตเป็นต้น เป็นจิตทั่วไป ท่านจึงแก้เหมือนกัน.
               ในไปยาลในระหว่างอาโลกสัญญาและปฏินิสสัคคานุปัสสนา ท่านย่อความไม่ฟุ้งซ่านเป็นต้น ฌาน สมาบัติ กสิณ อนุสติและอสุภะ และลมหายใจเข้ายาวเป็นต้นไว้ เพราะท่านได้ชี้แจงไว้แล้วในสมาธิญาณนิเทศในลำดับ.๑-
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๒๑๓

               อนึ่ง ในบทเหล่านั้น บทว่า อวิกฺเขปวเสน ด้วยอำนาจแห่งความไม่ฟุ้งซ่าน พึงถือเอาด้วยความไม่ฟุ้งซ่านอันเป็นส่วนเบื้องต้น.
               ในบทมีอาทิว่า อนิจฺจานุปสฺสี อสฺสาสวเสน ด้วยสามารถความเป็นผู้พิจารณาเห็นความเป็นสภาพไม่เที่ยงหายใจเข้า พึงทราบวิปัสสนามีกำลัง มีสมาธิสัมปยุตด้วยวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น ในกาลแห่งวิปัสสนาอ่อนในจตุกะที่ท่านกล่าวแล้วด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาล้วน.
               พึงทราบวินิจฉัยในวาระแห่งวิปัสสนาเป็นเบื้องต้นดังต่อไปนี้.
               ท่านกล่าววิปัสสนาไม่กำหนดอารมณ์ ด้วยบทมีอาทิว่า อนิจฺจโต ก่อน กล่าวกำหนดอารมณ์ด้วยบทมีอาทิว่า รูปํ อนิจฺจโต ในภายหลัง.
               บทว่า ตตฺถ ชาตานํ เกิดแล้วในวิปัสสนานั้น คือจิตเจตสิกธรรมเกิดแล้วในวิปัสสนานั้น.
               การปล่อยในบทนี้ว่า โวสฺสคฺคารมฺมณตา ความที่จิตมีการปล่อยเป็นอารมณ์ คือนิพพาน เพราะนิพพาน ท่านกล่าวว่า โวสฺสคฺโค เพราะปล่อยสังขตธรรม เพราะสละ.
               วิปัสสนาและธรรมสัมปยุตด้วยวิปัสสนานั้น มีนิพพานเป็นที่ตั้ง มีนิพพานเป็นอารมณ์ เพราะน้อมไปสู่นิพพาน และเพราะตั้งอยู่ในนิพพานด้วยสามารถแห่งอัธยาศัย.
               แม้การตั้งไว้ก็ชื่อว่าอารมณ์ เพราะหน่วงเหนี่ยวไว้ มีนิพพานเป็นอารมณ์ ด้วยอรรถว่าตั้งอยู่ในนิพพานนั่นเอง.
               จริงอยู่ แม้ในบาลีในที่อื่น การตั้งไว้ท่านก็กล่าวว่า อารมฺมณํ เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวบทมีอาทิว่า๒- ดูก่อนอาวุโส เหมือนบุรุษเอาคบเพลิงหญ้าที่ติดไฟจุดเรือนมุงด้วยไม้อ้อ เรือนมุงด้วยหญ้าแห้งเป็นโพรงค้างปี ทางทิศตะวันออก ไฟพึงได้โอกาส พึงได้อารมณ์ เพราะฉะนั้น เพราะความที่จิตมีการปล่อยธรรมทั้งหลายที่เกิดในวิปัสสนานั้นเป็นอารมณ์ ความไม่ฟุ้งซ่านใดอันมีประเภทเป็นอุปจาระและอัปปนา กล่าวคือความไม่ฟุ้งซ่านนั้น ท่านชี้แจงว่าเป็นสมาธิ คือมีความตั้งมั่นอันเป็นส่วนแห่งการแทงตลอดให้สมาธิเกิดในภายหลัง เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อิติ ปฐมํ วิปสฺสนา ปจฺฉา สมโถ ด้วยประการดังนี้ วิปัสนาก่อน สมถะภายหลัง.
____________________________
๒- สํ. สฬา. เล่ม ๑๘/ข้อ ๓๒๙

               พึงทราบวินิจฉัยในยุคนัทธนิเทศดังต่อไปนี้.
               เพราะลำดับแห่งธรรมที่เป็นคู่ ท่านกล่าวไว้แล้วในอรรถกถาแห่งสูตรในภายหลัง ปรากฏแล้วโดยนัยแห่งนิเทศทั้งสองในก่อน ส่วนลำดับแห่งธรรมที่เป็นคู่ในขณะแห่งมรรคยังไม่ปรากฏ.
               เพราะฉะนั้น พระอานนทเถระไม่กล่าวถึงการเจริญธรรมที่เป็นคู่อันมีอยู่ไม่น้อยในส่วนเบื้องต้น เมื่อจะแสดงถึงการเจริญธรรมที่เป็นคู่ อันได้โดยส่วนเดียวในขณะแห่งมรรค จึงกล่าวคำมีอาทิว่า โสฬสหิ อากาเรหิ ด้วยอาการ ๑๖.
               ในบทเหล่านั้น ธรรมคู่ที่ท่านยกขึ้นแสดงในที่สุดในอาการ ๑๗ อย่างมีอาทิว่า อารมมณฏเฐน ด้วยความเป็นอารมณ์ละธรรมคู่นั้น เพราะตั้งอยู่ในที่เดียวกันด้วยเป็นบทมูลเหตุแล้วกล่าวว่า โสฬสหิ ด้วยอาการ ๑๖ ด้วยอำนาจแห่งอาการที่เหลือ.
               บทว่า อารมฺมณฏฺเฐน คือ ด้วยความหน่วงเหนี่ยว. อธิบายว่า ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์.
               บทว่า โคจรฏฺเฐน ด้วยความเป็นอารมณ์ เมื่อมีบทว่า อารมมณฏเฐน อยู่แล้ว. บทว่า โคจรฏฺเฐน คือ ฐานะควรอาศัย.
               บทว่า ปหานฏฺเฐน คือ ด้วยความละ.
               บทว่า ปริจฺจาคฏฺเฐน ด้วยความสละ คือเมื่อการละมีอยู่แล้วก็ด้วยความไม่ยึดถือด้วยความเสียสละ.
               บทว่า วุฏฺฐานฏฺเฐน ด้วยความออก คือด้วยความออกไป.
               บทว่า วิวฏฺฏนตฺเถน ด้วยความหลีกไป คือเมื่อการออกไปมีอยู่แล้วก็ด้วยการไม่หมุนกลับมาอีก ด้วยการกลับไป.
               บทว่า สนฺตฏฺเฐน ด้วยความเป็นธรรมสงบ คือด้วยความดับ.
               บทว่า ปณีตฏฺเฐน ด้วยความเป็นธรรมประณีต คือแม้เมื่อมีความดับอยู่แล้วก็ด้วยความเป็นธรรมสูงสุด หรือด้วยความเป็นธรรมไม่เดือดร้อน.
               บทว่า วิมุตฺตฏฺเฐน ด้วยความหลุดพ้น คือด้วยความปราศจากเครื่องผูกพัน.
               บทว่า อนาสวฏฺเฐน ด้วยความไม่มีอาสวะ คือแม้เมื่อมีการพ้นจากเครื่องผูกพันแล้วก็ด้วยความปราศจากอาสวะอันทำอารมณ์ยังเป็นไปอยู่.
               บทว่า ตรณฏฺเฐน ด้วยความเป็นเครื่องข้าม คือด้วยความไม่จมแล้วลอยไป.
               บทว่า อนิมิตฺตฏฺเฐน ด้วยความไม่มีนิมิต คือด้วยความปราศจากสังขารนิมิต.
               บทว่า อปฺปณิหิตฏฺเฐน ด้วยความไม่มีที่ตั้งคือ ด้วยความปราศจากที่ตั้ง.
               บทว่า สุญฺญตฏฺเฐน ด้วยความว่างเปล่า คือด้วยความปราศจากเครื่องยึด.
               บทว่า เอกรสฏฺเฐน ด้วยความเป็นธรรมมีกิจเป็นอันเดียวกัน คือด้วยกิจอย่างเดียวกัน.
               บทว่า อนติวตฺตนฏฺเฐน ด้วยความไม่ล่วงเกินกัน คือด้วยความไม่ล่วงเกินกันและกัน.
               บทว่า ยุคนทฺธฏฺเฐน คือ ด้วยความเป็นคู่กัน.
               บทว่า อุทฺธจฺจํ ปชหโต อวิชฺชํ ปชหโต เมื่อภิกษุละอุทธัจจะ ละอวิชชา ท่านกล่าวด้วยสามารถการละธรรมเป็นปฏิปักษ์ของกรรมนั้นๆ ของพระโยคาวจร.
               อนึ่ง นิโรธ ในที่นี้คือนิพพานนั้นเอง.
               บทว่า อญฺญมญฺญํ นาติวตฺตนฺติ ไม่ล่วงเกินกันและกัน คือ หากสมถะล่วงเกินวิปัสสนา จิตพึงเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เพราะสมถะเป็นไปในฝ่ายหดหู่.
               หากว่า วิปัสสนาล่วงเกินสมถะ จิตพึงเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่านเพราะวิปัสสนาเป็นไปในฝ่ายแห่งความฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้น สมถะเมื่อไม่ล่วงเกินวิปัสสนาย่อมไม่ตกไปในความเกียจคร้าน วิปัสสนาไม่ล่วงเกินสมถะ ย่อมไม่ตกไปในความฟุ้งซ่าน สมถะเป็นไปเสมอย่อมรักษาวิปัสสนาจากการตกไปสู่ความฟุ้งซ่าน วิปัสสนาเป็นไปเสมอย่อมรักษาสมถะจากการตกไปสู่ความเกียจคร้าน.
               สมถะและวิปัสสนาทั้ง ๒ มีกิจอย่างเดียวกันด้วยกิจคือ การไม่ล่วงเกินกันและกันด้วยประการฉะนี้.
               สมถะและวิปัสสนาเป็นไปเสมอไม่ล่วงเกินกันและกัน ย่อมทำประโยชน์ให้สำเร็จ. ความที่สมถะและวิปัสสนานั้นเป็นธรรมคู่กันในขณะแห่งมรรคย่อมมีได้ เพราะเป็นธรรมคู่กันในขณะแห่งวิปัสสนาอันเป็นวุฏฐานคามินี.
               เพื่อความเข้าใจกิจของมรรคทั้งสิ้น เพราะท่านกล่าวการทำการละ การสละ การออกและการหลีกไปด้วยอำนาจแห่งกิจของมรรค ท่านจึงชี้แจงกิเลสสหรคตด้วยอุทธัจจะและขันธ์ และกิเลสสหรคตด้วยอวิชชาและขันธ์ เพราะท่านกล่าวขันธ์ที่เหลืออย่างนั้นแล้ว จึงไม่ชี้แจงถึงอุทธัจจะและอวิชชาด้วยอำนาจแห่งการเข้าใจเพียงธรรมอันเป็นปฏิปักษ์.
               บทว่า วิวฏฺฏโต คือ หลีกไป.
               บทว่า สมาธิ กามาสวา วิมุตฺโต โหติ สมาธิพ้นจากกามาสวะ ท่านกล่าวเพราะสมาธิเป็นปฏิปักษ์ของกามฉันทะ.
               บทว่า ราควิราคา เพราะคลายราคะ ชื่อว่า ราควิราโค เพราะมีการคลาย การก้าวล่วงราคะหรือเป็นปัญจมีวภัตติว่า ราควิราคโต จากการคลายราคะ.
               อนึ่ง เพราะคลายอวิชชา.
               บทว่า เจโตวิมุตฺติ คือ สมาธิสัมปยุตด้วยมรรค.
               บทว่า ปญฺญาวิมุตฺติ ปัญญาสัมปยุตด้วยมรรค.
               บทว่า ตรโต คือ ผู้ข้าม.
               บทว่า สพฺพปณิธีหิ ด้วยที่ตั้งทั้งปวง คือด้วยที่ตั้งคือราคะ โทสะ โมหะ หรือด้วยความปรารถนาทั้งปวง.
               พระอานนทเถระครั้นแก้อาการ ๑๔ อย่าง อย่างนี้แล้ว จึงไม่แก้ความมีกิจอย่างเดียวกัน และความไม่ก้าวล่วงแล้วกล่าวว่า อิเมหิ โสฬสหิ อากาเรหิ ด้วยอาการ ๑๖ อย่างเหล่านี้.
               เพราะเหตุไร เพราะในที่สุดของอาการอย่างหนึ่งๆ แห่งอาการ ๑๔ เหล่านั้น.
               ท่านชี้แจงไว้ว่า อาการทั้งหลายมีกิจอย่างเดียวกัน เป็นธรรมคู่กัน ไม่ก้าวล่วงกันและกันดังนี้ จึงเป็นอันท่านแสดงอาการแม้ทั้งสองเหล่านั้นทีเดียว ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า โสฬสหิ.
               ส่วนอาการมีความเป็นธรรมคู่ท่านไม่ได้กล่าวไว้ แม้ในนิเทศเลย.
               จบอรรถกถาสุตตันตนิเทศ               

               อรรถกถาธรรมุทธัจจวารนิเทศ               
               พึงทราบวินิจฉัยในธรรมุทธัจจวาระดังต่อไปนี้.
               บทว่า อนิจฺจโต มนสิกโรโต โอภาโส อุปฺปชฺชติ เมื่อภิกษุมนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โอภาสย่อมเกิดขึ้น คือภิกษุตั้งอยู่ในอุทยัพพยานุปัสสนาเห็นแจ้งสังขารทั้งหลายด้วยอนุปัสสนา ๓ บ่อยๆ มีจิตบริสุทธิ์ด้วยการละกิเลสด้วยตทังคปหานะในวิปัสสนาญาณอันถึงความแก่กล้า โอภาสย่อมเกิดความปกติด้วยอานุภาพแห่งวิปัสสนาญาณในขณะมนสิการ โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ หรือโดยความไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวถึงโอภาสของภิกษุผู้มนสิการ โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงก่อน.
               ภิกษุผู้เจริญวิปัสสนาไม่ฉลาด เมื่อโอภาสนั้นเกิดคิดว่า โอภาสเห็นปานนี้ ยังไม่เคยเกิดแก่เรามาก่อนจากนี้เลยหนอ เราเป็นผู้บรรลุมรรค บรรลุผลแน่แท้แล้ว จึงถือเอาสิ่งที่ไม่ใช่มรรคนั่นแหละว่าเป็นมรรค สิ่งที่ไม่ใช่ผลนั่นแหละว่าเป็นผล.
               เมื่อภิกษุนั้นถือเอาสิ่งที่ไม่ใช่มรรคว่าเป็นมรรค สิ่งที่ไม่ใช่ผลว่าเป็นผล ก้าวออกจากวิปัสสนาวิถี.
               ภิกษุนั้นสละวิปัสสนาวิถีของตนถึงความฟุ้งซ่าน หรือสำคัญโอภาสด้วยความสำคัญแห่งตัณหาและทิฏฐินั่งอยู่.
               ก็โอภาสนี้นั้นเกิดให้สว่างเพียงที่นั่งของภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเท่านั้น ภายในห้องของภิกษุบางรูป แม้นอกห้องของภิกษุบางรูป ทั่วทั้งวิหารของภิกษุบางรูป คาวุตหนึ่งกึ่งโยชน์ ๒ โยชน์ ฯลฯ ทำแสงสว่างเป็นอันเดียวกันตั้งแต่พื้นดินจนถึงอกนิษฐพรหมโลกของภิกษุบางรูป แต่ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเกิดโอภาสตลอดหมื่นโลกธาตุ เพราะโอภาสนี้ยังที่นั้นๆ ให้สว่างย่อมเกิดในเวลามืดอันประกอบด้วยองค์ ๔.
               บทว่า โอภาโส ธมฺโมติ โอภาสํ อาวชฺชติ ภิกษุนึกถึงโอภาสว่า โอภาสเป็นธรรม คือภิกษุทำไว้ในใจถึงโอภาสนั้นๆ ว่า โอภาสนี้เป็นมรรคธรรมหรือเป็นผลธรรมดังนี้.
               บทว่า ตโต วิกฺเขโป อุทฺธจฺจํ เพราะนึกถึงโอภาสนั้น ความฟุ้งซ่านจึงเป็นอุทธัจจะ คือเพราะโอภาสนั้นหรือเพราะนึกถึงว่า โอภาสเป็นธรรม ความฟุ้งซ่านจึงเกิดขึ้น นั่นคืออุทธัจจะ.
               บทว่า เตน อุทฺธจฺเจน วิคฺคหิตมานโส ภิกษุมีใจอันอุทธัจจะนั้นกั้นไว้ คือภิกษุมีใจอันอุทธัจจะซึ่งเกิดขึ้นอย่างนั้นกั้นไว้ หรือผู้เจริญวิปัสสนามีใจอันอุทธัจจะนั้นเป็นเหตุกั้นไว้โดยเกิดกิเลสอันมีอุทธัจจะนั้นเป็นมูลเหตุ เพราะก้าวลงสู่วิปัสสนาวิถี หรือความฟุ้งซ่านแล้วตั้งอยู่ในกิเลสอันมีความฟุ้งซ่านนั้นเป็นมูลเหตุ ย่อมไม่รู้ความปรากฏโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความไม่ใช่ตัวตนตามความเป็นจริง.
               พึงประกอบ อิติ ศัพท์อย่างนี้ว่า เตน วุจฺจติ ธมฺมุทฺธจฺจวิคฺคหิตมานโส ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีใจที่นึกถึงโอภาสอันเป็นธรรมถูกอุทธัจจะกั้นไว้.
               บทว่า โหติ โส สมโย สมัยนั้นคือ หากว่า การสอบสวนเกิดขึ้นแก่พระโยคาวจรแม้ผู้มีจิตเศร้าหมองด้วยความพอใจ พระโยคาวจรนั้นย่อมรู้อย่างนี้ว่า ธรรมดาวิปัสสนามีสังขารเป็นอารมณ์ มรรคและผลมีนิพพานเป็นอารมณ์ แม้จิตเหล่านี้มีสังขารเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น โอภาสนี้มิใช่มรรค อุทยัพพยานุปัสสนาเท่านั้นเป็นมรรคของนิพพาน.
               พระโยคาวจรกำหนดมรรคและมิใช่มรรคแล้วเว้นความฟุ้งซ่านนั้นตั้งอยู่ในอุทยัพพยานุปัสสนา พิจารณาสังขารทั้งหลายด้วยดี โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความไม่ใช่ตัวตน. เมื่อพระโยคาวจรสอบสวนอยู่อย่างนี้นั้นเป็นสมัย แต่เมื่อไม่สอบสวนอยู่อย่างนี้ เป็นผู้มีมานะจัดว่า เราเป็นผู้บรรลุมรรคและผลดังนี้.
               บทว่า ยํ ตํ จิตตํ ได้แก่ วิปัสสนาจิตนั้น.
               บทว่า อชฺฌตฺตเมว ในภายใน คือในภายในโคจรอันเป็นอารมณ์แห่งอนิจจานุปัสสนา
               บทว่า ญาณํ อุปฺปชฺชติ ญาณย่อมเกิดขึ้น คือ เมื่อพระโยคาวจรนั้นพิจารณาอย่างรอบคอบถึงรูปธรรมและอรูปธรรม วิปัสสนาญาณอันเฉียบแหลม แข็งแกร่งกล้ายิ่งนัก มีกำลังไม่ถูกกำจัดย่อมเกิดขึ้นดุจวชิระของพระอินทร์ที่ปล่อยออกไปฉะนั้น.
               บทว่า ปีติ อุปฺปชฺชติ ปีติย่อมเกิดขึ้น คือ ในสมัยนั้น ปีติสัมปยุตด้วยวิปัสสนา ๕ อย่างนี้ คือ ขุททกาปีติ (ปีติอย่างน้อย) ๑ ขณิกาปีติ (ปีติชั่วขณะ) ๑ โอกกันติกาปีติ (ปีติเป็นพักๆ) ๑ อุพเพงคาปีติ (ปีติอย่างโลดโผน) ๑ ผรณาปีติ (ปีติซาบซ่าน) ๑ ย่อมเกิดขึ้นแก่พระโยคาวจนั้นยังสรีระทั้งสิ้นให้อิ่มเอม.
               บทว่า ปสฺสทฺธิ อุปฺปชฺชติ ความสงบย่อมเกิดขึ้น คือในสมัยนั้น พระโยคาวจรนั้นไม่มีความกระวนกระวายของกายและจิตไม่มีความหนัก ไม่มีความหยาบ ไม่มีความไม่ควรแก่การงาน ไม่มีความไข้ ไม่มีความคด แต่ที่แท้พระโยคาวจรนั้นมีกายและจิตสงบเบาอ่อน ควรแก่การงานคล่องแคล่วเฉียบแหลม ตรง.
               พระโยคาวจรนั้นมีกายและจิตอันเป็นปัสสัทธิเป็นต้นเหล่านี้อนุเคราะห์แล้ว ย่อมเสวยความยินดีอันมิใช่ของมนุษย์ในสมัยนั้น.
               ท่านกล่าวหมายถึงความยินดีว่า๓-
                                   ความยินดีอันมิใช่ของมนุษย์ ย่อมมีแก่ภิกษุ
                         ผู้เข้าไปสู่เรือนว่าง ผู้มีจิตสงบ ผู้เห็นแจ้งธรรมโดย
                         ชอบ แต่กาลใดๆ ภิกษุย่อมพิจารณาความเกิดและ
                         ความเสื่อมแห่งขันธ์ทั้งหลาย แต่กาลนั้นๆ ภิกษุย่อม
                         ได้ปีติและปราโมทย์ ปีติและปราโมทย์นั้นเป็นอมตะ
                         ของภิกษุผู้รู้แจ้งทั้งหลาย.
____________________________
๓- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๕

               ความสงบแห่งกายและจิตสัมปยุตด้วยวิปัสสนา พร้อมด้วยความเป็นของเบาเป็นต้น ยังความยินดีอันมิใช่ของมนุษย์นี้ให้สำเร็จย่อมเกิดแก่ภิกษุนั้น.
               บทว่า สุขํ อุปฺปชฺชติ สุขย่อมเกิดขึ้น คือสุขสัมปยุตด้วยวิปัสสนาอันยังสรีระทั้งสิ้นให้ชุ่มชื้น ย่อมเกิดขึ้นในสมัยนั้นแก่ภิกษุนั้น.
               บทว่า อธิโมกฺโข อุปฺปชฺชติ อธิโมกข์ (ความน้อมใจเชื่อ) ย่อมเกิดขึ้น คือศรัทธาสัมปยุตด้วยวิปัสสนาอันเป็นความเลื่อมใสอย่างแรงของจิตและเจตสิกย่อมเกิดขึ้นในสมัยนั้นแก่ภิกษุนั้น.
               บทว่า ปคฺคาโห อุปฺปชฺชติ ปัคคาหะ (ความเพียร) ย่อมเกิดขึ้น คือความเพียรสัมปยุตด้วยวิปัสสนาอันประคองไว้ดีแล้ว ไม่ย่อหย่อนและไม่ตึงจนเกินไป ย่อมเกิดขึ้นในสมัยนั้นแก่ภิกษุนั้น.
               บทว่า อุปฏฺฐานํ อุปฺปชฺชติ อุปัฏฐานะ (ความตั้งมั่น) ย่อมเกิดขึ้น คือสติสัมปยุตด้วยวิปัสสนา ตั้งไว้ด้วยดีแล้ว ฝังแน่น ไม่หวั่นไหว เช่นกับภูเขาหลวงย่อมเกิดขึ้นในสมัยนั้นแก่ภิกษุนั้น.
               ภิกษุนั้นย่อมนึกถึง รวบรวม ทำไว้ในใจ พิจารณาถึงฐานะใดๆ ฐานะนั้นๆ แล่นออกไป ย่อมปรากฏแก่ภิกษุนั้นด้วยสติดุจปรโลก ปรากฏแก่ผู้ได้ทิพยจักษุฉะนั้น.
               บทว่า อุเปกฺขา คือ ความวางเฉยด้วยวิปัสสนาอันเป็นกลางในสังขารทั้งปวง มีกำลังย่อมเกิดขึ้นในสมัยนั้น แม้ความวางเฉยด้วยการพิจารณา ย่อมเกิดในมโนทวาร.
               จริงอยู่ ความวางเฉยด้วยการพิจารณานั้นเมื่อภิกษุนั้นพิจารณาถึงฐานะนั้นๆ เป็นความกล้าแข็ง ย่อมนำไปดุจวชิระของพระอินทร์ที่ปล่อยออกไป และดุจลูกศรเหล็กอันร้อนที่แล่นออกไปที่ภาชนะใบไม้. ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคอย่างนี้.
               อนึ่ง ในบทนี้ว่า วิปสฺสนูเปกฺขา อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า ได้แก่ อุเบกขา คือวางตนเป็นกลางในอารมณ์นั้นๆ สัมปยุตด้วยวิปัสสนา.
               จริงอยู่ เมื่อยึดถือวิปัสสนาญาณ ก็จะมีโทษด้วยคำพูดอีกว่า ญาณ ย่อมเกิด เพราะวิปัสสนาญาณมาถึงแล้ว.
               อนึ่ง ในการพรรณนาถึงตติยฌานท่านกล่าวว่า แม้สังขารุเบกขาและวิปัสสนุเบกขา โดยอรรถก็เป็นอันเดียวกัน เพราะเป็นปัญญาเหมือนกัน ต่างกันเป็น ๒ ส่วนด้วยอำนาจแห่งหน้าที่ เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงอุเบกขา คือ ความเป็นกลางในอารมณ์นั้น สัมปยุตด้วยวิปัสสนาจึงไม่มีโทษในการพูดอีก และสมด้วยการพรรณนาตติยฌาน.
               ก็เพราะในอินทรีย์ ๕ ท่านชี้แจงถึงปัญญินทรีย์ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์และสตินทรีย์ว่า ฌาน อธิโมกข์ ปัคคหะ อุปัฏฐานะ. ส่วนสมาธินทรีย์ท่านไม่ชี้แจงไว้.
               อนึ่ง พึงชี้แจงสมาธินทรีย์เท่านั้น ด้วยสามารถแห่งธรรมคู่กัน ฉะนั้น พึงทราบว่า สมาธิเป็นไปแล้วเสมอท่านกล่าวว่า อุเบกขา เพราะทำการละความขวนขวายในการตั้งมั่น.
               บทว่า นิกนฺติ อุปฺปชฺชติ นิกันติ (ความพอใจ) ย่อมเกิดขึ้น คือความพอใจมีอาการสงบ สุขุมทำความอาลัยในวิปัสสนาอันประดับด้วยโอภาสเป็นต้นอย่างนี้ย่อมเกิดขึ้น ความพอใจใดไม่อาจแม้กำหนดลงไปว่าเป็นกิเลส ดุจในโอภาส เมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น.
               พระโยคาวจรคิดว่าญาณเห็นปานนี้ ไม่เคยเกิดแก่เรามาก่อนจากนี้ ปีติ ปัสสัทธิ อธิโมกข์ ปัคคหะ อุปัฏฐานะ อุเบกขา นิกันติ เห็นปานนี้เคยเกิดแล้ว เราเป็นผู้บรรลุมรรค เราเป็นผู้บรรลุผลแน่นอน แล้วถือเอาสิ่งมิใช่มรรคว่าเป็นมรรค สิ่งมิใช่ผลว่าเป็นผล.
               เมื่อพระโยคาวจรนั้นถือเอาสิ่งมิใช่มรรคว่าเป็นมรรค และสิ่งมิใช่ผลว่าเป็นผล วิปัสสนาวิถีย่อมหลีกออกไป.
               พระโยคาวจรนั้นสละมูลกรรมฐานของตนแล้วนั่ง ยินดีความพอใจนั้นเท่านั้น.
               อนึ่ง ในบทนี้ท่านกล่าวโอภาสเป็นต้นว่าเป็นอุปกิเลส เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง เพราะไม่ใช่อกุศล ส่วนนิกันติเป็นอุปกิเลสด้วยเป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมองด้วย. อุปกิเลสเหล่านี้มี ๑๐ อย่างด้วยสามารถแห่งวัตถุ มี ๓๐ ด้วยสามารถแห่งการถือเอา อย่างไร. เมื่อพระโยคาวจรถือว่า โอภาสเกิดแล้วแก่เรา ย่อมเป็นการถือเอาด้วยทิฏฐิ เมื่อถือว่าโอภาสน่าพอใจหนอเกิดแล้ว ย่อมเป็นการถือเอาด้วยมานะ เมื่อยินดีโอภาส ย่อมเป็นการถือเอาด้วยตัณหา การถือเอา ๓ อย่างด้วยสามารถแห่งทิฏฐิมานะและตัณหาในโอภาสด้วยประการดังนี้. แม้ในอุปกิเลสที่เหลือก็อย่างนั้น. อุปกิเลส ๓๐ ด้วยอำนาจแห่งการถือเอาย่อมมีด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ทุกฺขโต มนสิกโรโต อนตฺตโต มนสิกโรโต เมื่อภิกษุมนสิการโดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา.
               พึงทราบความโดยนัยนี้แม้ในวาระทั้งหลาย.
               ในบทนี้พึงทราบความเกิดแห่งวิปัสสนูปกิเลสแห่งวิปัสสนาหนึ่งๆ ด้วยสามารถแห่งอนุปัสสนาหนึ่งๆ มิใช่อย่างเดียวเท่านั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในอนุปัสสนา ๓ ดังต่อไปนี้.
               พระอานนทเถระ ครั้นแสดงอุปกิเลสทั้งหลายด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนา โดยไม่ต่างกันอย่างนี้ แล้วเมื่อจะแสดงด้วยอำนาจแห่งความต่างกันอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า รูปํ อนิจฺจโต มนสิกโรโต เมื่อภิกษุมนสิการรูปโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ชรามรณํ อนิจฺจโต อุปฏฺฐานํ ชรามรณะอันปรากฏโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง คือความปรากฏของชราและมรณะโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง.
               เพราะพระโยคาวจรผู้ไม่ฉลาด ไม่เปรื่องปราชญ์ด้วยอำนาจแห่งอุปกิเลส ๓๐ ดังกล่าวแล้วในบทก่อน ย่อมหวั่นไหวในโอภาสเป็นต้น ย่อมพิจารณาโอภาสเป็นต้นอย่างหนึ่งๆ ว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา ฉะนั้นพระอานนทเถระเมื่อจะแสดงความนั้น จึงกล่าวคาถา ๒ คาถามีอาทิว่า โอภาเสว เจว ญาเณ จ ในโอภาสและญาณดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า วิกมฺปติ ย่อมกวัดแกว่ง คือ ย่อมกวัดแกว่ง หวั่นไหว ๓ อย่างด้วยอำนาจกิเลสต่างๆ ในอารมณ์มีโอภาสเป็นต้น.
               บทว่า เยหิ จิตฺตํ ปเวเธติ จิตย่อมหวั่นไหว คือ จิตย่อมกวัดแกว่งหวั่นไหวด้วยปัสสิทธิและสุขโดยประการต่างๆ ด้วยอำนาจกิเลสต่างๆ เพราะฉะนั้น พึงทราบความสัมพันธ์ ความว่า พระโยคาวจรย่อมกวัดแกว่งในปัสสัทธิและในสุข.
               บทว่า อุเปกฺขา วชฺชนาย เจว จากความนึกถึงอุเบกขา คือ จิตย่อมกวัดแกว่ง จากความนึก คือ อุเบกขา.
               อธิบายว่า ย่อมกวัดแกว่งจากความวางเฉยในการนึกถึง.
               แต่ในวิสุทธิมรรคท่านกล่าวไว้ว่า อุเปกฺขาวชฺชนายญฺจ ในการนึกถึงอุเบกขา.
               บทว่า อุเปกฺขาย จ ความวางเฉย คือ จิตย่อมกวัดแกว่งด้วยความวางเฉยมีประการดังกล่าวแล้ว.
               อธิบายว่า ย่อมกวัดแกว่งด้วยความพอใจ.
               อนึ่ง ในบทนี้ เพราะท่านชี้แจงถึงอุเบกขา ๒ อย่าง จึงกล่าวอรรถโดยประการทั้งสองในฐานะที่ท่านกล่าวแล้วว่า อุเปกฺขา อุปฺปชฺชติ อุเบกขาย่อมเกิด.
               อนุปัสสนาอย่างหนึ่งๆ เพราะความปรากฏแห่งความวางเฉยด้วยการนึกถึงแห่งอนุปัสสนาหนึ่งๆ ในอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น ท่านกล่าวว่า เจริญบ่อยๆ ว่า อนิจฺจํ อนิจฺจํ ทุกฺขํ ทุกฺขํ อนตฺตา อนตฺตา.
               อนึ่ง เพราะพระโยคาวจรเป็นผู้ฉลาด เป็นบัณฑิต เปรื่องปราชญ์ สมบูรณ์ด้วยความรู้ เมื่อโอภาสเป็นต้นเกิดขึ้น ย่อมกำหนด ย่อมสอบสวนโอภาสนั้นด้วยปัญญาว่า โอภาสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็โอภาสนั้นแลเป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นสิ่งปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายราคะเป็นธรรมดา มีการดับกิเลสเป็นธรรมดาด้วยประการดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พระโยคาวจรนั้นมีความดำริอย่างนี้.
               หากโอภาสพึงเป็นตัวตน พึงควรที่จะถือเอาว่าเป็นตัวตน แต่โอภาสนี้มิใช่ตัวตน ยังถือกันว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรเมื่อเห็นว่า โอภาสนี้มิใช่ตัวตน เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ จึงถอนทิฏฐิเสียได้.
               หากว่า โอภาสพึงเป็นสภาพเที่ยง พึงควรเพื่อถือเอาว่าเป็นสภาพเที่ยง แต่โอภาสนี้เป็นสภาพไม่เที่ยง ยังถือกันว่าเป็นสภาพเที่ยง เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรนี้เมื่อเห็นว่าเป็นสภาพไม่เที่ยง เพราะมีแล้วไม่มีย่อมถอนมานะเสีย.
               หากว่า โอภาสพึงเป็นความสุข พึงควรถือเอาว่า เป็นความสุข แต่โอภาสนี้เป็นความทุกข์ ยังถือเอาว่าเป็นความสุข เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรนี้เมื่อเห็นว่าเป็นความทุกข์ เพราะเกิดขึ้นสิ้นไปและบีบคั้น ย่อมถอนความพอใจ ดุจในโอภาส.
               แม้ในบทที่เหลือก็อย่างนั้น.
               พระโยคาวจรครั้นพิจารณาอย่างนี้แล้ว ย่อมพิจารณาเห็นโอภาสว่า นั่นไม่ใช่เรา เราไม่ใช่นั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่กวัดแกว่ง ไม่หวั่นไหว ในโอภาสเป็นต้น เพราะฉะนั้น พระอานนทเถระเมื่อแสดงความนั้น จึงกล่าวคาถาว่า อิมานิ ทส ฐานานิ ฐานะ ๑๐ ประการเหล่านี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ทส ฐานานิ คือ มีโอภาสเป็นต้น.
               บทว่า ปญฺญายสฺส ปริจฺจิตา ภิกษุนั้นกำหนดด้วยปัญญา คือ กำหนดถูกต้อง อบรมบ่อยๆ ด้วยปัญญา พ้นจากอุปกิเลส.
               บทว่า ธมฺมุทฺธจฺจกุสโล โหติ เป็นผู้ฉลาด ในความนึกถึงโอภาสเป็นต้น อันเป็นธรรมฟุ้งซ่าน คือพระโยคาวจรเป็นผู้กำหนดฐานะ ๑๐ อย่างด้วยปัญญา เป็นผู้ฉลาดด้วยการแทงตลอดตามความเป็นจริงแห่งธรรมุทธัจจะ มีประการดังกล่าวแล้วในตอนก่อน.
               บทว่า น จ สมฺโมหคจฺฉติ ย่อมไม่ถึงความหลงใหล คือไม่ถึงความหลงใหลด้วยการถอนตัณหา มานะและทิฏฐิ เพราะเป็นผู้ฉลาดในธรรมุทธัจจะ.
               บัดนี้ พระอานนทเถระครั้นยังวิธีที่กล่าวไว้แล้วในตอนก่อน ให้แจ่มแจ้งโดยปริยายอื่นอีก เมื่อจะแสดงจึงกล่าวคาถามีอาทิว่า วิกมฺปติเจว กิลิสฺสติ จิตกวัดแกว่งและเศร้าหมอง.
               ในบทนั้นพระโยคาวจรมีปัญญาอ่อนย่อมถึงความฟุ้งซ่านในโอภาสเป็นต้น และความเกิดแห่งกิเลสที่เหลือ.
               พระโยคาวจรมีปัญญาปานกลาง ย่อมถึงความฟุ้งซ่าน ไม่ถึงความเกิดแห่งกิเลสที่เหลือ พระโยคาวจรนั้นย่อมเป็นผู้มีมานะจัด. พระโยควจรมีปัญญาคมกล้า แม้ถึงความฟุ้งซ่านก็ยังละมานะจัดนั้นแล้วปรารภวิปัสสนา. ส่วนพระโยคาวจรผู้มีปัญญาคมกล้ายิ่งนัก จะไม่ถึงความฟุ้งซ่าน และไม่ถึงความเกิดขึ้นแห่งกิเลสที่เหลือ.
               บทว่า วิกมฺปติเจว ย่อมกวัดแกว่ง ได้แก่ บรรดาพระโยคาวจรเหล่านั้น พระโยคาวจรผู้มีปัญญาอ่อนย่อมถึงความฟุ้งซ่านคือธรรมุทธัจจะ.
               บทว่า กิลิสฺสติ จ ย่อมเศร้าหมอง คือย่อมเศร้าหมองด้วยกิเลส คือตัณหา มานะและทิฏฐิ.
               ความว่า ย่อมเดือดร้อน ถูกเบียดเบียน.
               บทว่า จวติ จิตฺตภาวนา จิตเคลื่อนจากจิตภาวนา คือเคลื่อนจากจิตภาวนา คือวิปัสสนาของพระโยคาวจรนั้นผู้มีปัญญาอ่อน เพราะไม่กำจัดความเป็นปฏิปักษ์จากฐานะในกิเลสทั้งหลายนั่นเอง อธิบายว่า ตกไป.
               บทว่า วิกมฺปติ กิลิสฺสติ จิตย่อมกวัดแกว่งเศร้าหมอง คือพระโยคาวจรผู้มีปัญญาปานกลาง ย่อมกวัดแกว่ง ด้วยความฟุ้งซ่าน ย่อมไม่เศร้าหมองด้วยกิเลส.
               บทว่า ภาวนา ปริหายติ ภาวนาย่อมเสื่อมไป คือวิปัสสนาย่อมเสื่อม.
               อธิบายว่า เป็นไปไม่ได้ โดยไม่มีการเริ่มวิปัสสนา เพราะพระโยคาวจรผู้มีปัญญาปานกลางนั้นมีมานะจัด.
               บทว่า วิกมฺปติ กิลิสฺสติ แม้พระโยคาวจรผู้มีปัญญาคมกล้า ก็ย่อมกวัดแกว่งด้วยความฟุ้งซ่าน ไม่เศร้าหมองด้วยกิเลส.
               บทว่า ภาวนา น ปริหายติ ภาวนาย่อมไม่เสื่อม คือ พระโยคาวจรผู้มีปัญญาคมกล้านั้น เมื่อยังมีความฟุ้งซ่าน วิปัสสนาภาวนาย่อมไม่เสื่อม คือยังเป็นไปได้ เพราะยังมีการละความฟุ้งซ่านแห่งมานะจัดนั้นแล้วเริ่มวิปัสสนา.
               บทว่า น จ วิกฺขิปฺปติ จิตฺตํ น กิลิสฺสติ จิตไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เศร้าหมอง คือจิตของพระโยคาวจรผู้มีปัญญาคมกล้ายิ่งนัก ย่อมไม่ฟุ้งซ่านด้วยความฟุ้งซ่าน และไม่เศร้าหมองด้วยกิเลสทั้งหลาย.
               บทว่า น จวติ จิตฺตภาวนา จิตย่อมไม่เคลื่อนจากจิตภาวนา คือไม่เคลื่อนจากจิตภาวนาคือวิปัสสนาของพระโยคาวจรนั้น.
               อธิบายว่า ตั้งอยู่ในที่เดิม เพราะไม่มีกิเลสอันทำให้ฟุ้งซ่าน.
               ด้วยฐานะอันเป็นเหตุหรือเป็นการกระทำ ๔ เหล่านี้ ซึ่งท่านกล่าวไว้ในบัดนี้ ในบทมีอาทิว่า อิเมหิ จตูหิ ฐาเนหิ ด้วยฐานะ ๔ เหล่านี้ พระโยคาวจรที่ ๔ เป็นผู้ฉลาด มีปัญญามาก มีใจอันความหดหู่และความฟุ้งซ่านแห่งจิตกั้นไว้ในฐานะ ๑๐ มีโอภาสเป็นต้น เป็นผู้ปราศจากความเกิดขึ้นแห่งกิเลสอันทำให้ฟุ้งซ่าน ย่อมรู้โดยประการต่างๆ ว่า พระโยคาวจร ๓ มีพระโยคาวจรปัญญาอ่อนเป็นต้น ย่อมมีใจเป็นอย่างนี้และอย่างนี้ เพราะเหตุนั้น พึงทราบการพรรณนาอรรถโดยการสัมพันธ์ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า สงฺเขโป ความหดหู่ พึงทราบความที่จิตหดหู่ด้วยสามารถความเกิดจิตฟุ้งซ่านและกิเลสทั้งหลาย.
               บทว่า วิกฺเขโป ความฟุ้งซ่าน คือพึงทราบความที่จิตฟุ้งซ่านด้วยสามารถแห่งความฟุ้งซ่านดังกล่าวแล้วในฐานะทั้งหลาย ๒ ว่า วิกมฺปติ กิลิสฺสติ จิตย่อมกวัดแกว่งเศร้าหมอง ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาธรรมุทธัจจวารนิเทศ               
               จบอรรถกถายุคนัทธกถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรค ๑. ยุคนัทธกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 530อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 534อ่านอรรถกถา 31 / 544อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=7564&Z=7861
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=4845
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=4845
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :