ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 544อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 557อ่านอรรถกถา 31 / 574อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรค
๓. โพชฌงคกถา

               อรรถกถาโพชฌงคกถา               
               บัดนี้จะพรรณนาความตามลำดับที่ยังไม่เคยพรรณนาแห่งโพชฌงคกถาอันมีพระสูตรเป็นเบื้องต้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงความวิเศษของโพชฌงค์ให้สำเร็จการแทงตลอดสัจจะตรัสไว้แล้ว.
               พึงทราบวินิจฉัยในพระสูตรนั้นดังต่อไปนี้.๑-
               บทว่า โพชฺฌงฺคา ท่านกล่าวว่า ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งการตรัสรู้หรือแห่งบุคคลผู้ตรัสรู้.
               พระอริยสาวกย่อมตรัสรู้ด้วยธรรมสามัคคีอันได้แก่ สติ ธรรมวิจยะ วีริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิและอุเบกขา อันเกิดขึ้นในขณะแห่งโลกุตรมรรค เป็นปฏิปักษ์แห่งอันตรายทั้งหลายไม่น้อย มีความหดหู่ ฟุ้งซ่าน ตั้งอยู่รวบรวม ประกอบกามสุข ทำตนให้ลำบาก อุจเฉททิฏฐิ สัสสตทิฏฐิและความถือมั่นเป็นต้น เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า โพธิ ผู้ตรัสรู้.
____________________________
๑- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๔๒๘

               บทว่า พุชฺฌติ ย่อมตรัสรู้. ท่านอธิบายว่า ออกจากความหลับอันเป็นสันดานของกิเลส หรือแทงตลอดอริยสัจ ๔ หรือทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน.
               เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า๒- ผู้เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ.
____________________________
๒- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๗๔

               ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ อันได้แก่ธรรมสามัคคีนั้น ดุจองค์แห่งฌานและองค์แห่งมรรคเป็นต้น.
               แม้พระอริยสาวกใดย่อมตรัสรู้ด้วยธรรมสามัคคีนั้นมีประการตามที่กล่าวแล้ว ท่านเรียกพระอริยสาวกนั้นว่าโพธิ.
               ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งผู้ตรัสรู้นั้น ดุจองค์เสนาและองค์รถเป็นต้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งบุคคลผู้ตรัสรู้. ท่านกล่าวอรรถแห่งสติสัมโพชฌงค์เป็นต้นไว้ในอภิญเญยยนิเทศ.
               พึงทราบวินิจฉัยในโพชฌังคัตถนิเทศดังต่อไปนี้.
               บทว่า โพธิยํ สํวตฺตนฺติ ย่อมเป็นไปในความตรัสรู้ คือย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้.
               เพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้ของใคร.
               เพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้ของผู้มีกิจอันทำแล้วด้วยการพิจารณานิพพานด้วยมรรคและผล หรือเพื่อประโยชน์แก่การตื่นจากความหลับเพราะกิเลส.
               ท่านอธิบายว่า เพื่อประโยชน์แก่ความเป็นผู้ตรัสรู้ด้วยผล.
               โพชฌงค์ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ แม้มีวิปัสสนาเป็นกำลัง. นี้เป็นอธิบายทั่วไปของโพชฌงค์อันเป็นวิปัสสนามรรคและผล. โพชฌงค์เหล่านั้นย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ในฐานะ ๓ เพื่อแทงตลอดนิพพาน.
               ด้วยบทนี้ เป็นอันท่านกล่าวถึงคำว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งการตรัสรู้.
               ที่เกิดของโพชฌงค์ ท่านกล่าวไว้ด้วยจตุกะ ๕ มีอาทิว่า พุชฺฌนฺตีติ โพชฺฌงฺคา ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะอรรถว่าตรัสรู้ ท่านกล่าวไว้ในอภิญเญยยนิเทศ.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า พุชฺฌนฺติ ชี้แจงถึงผู้ทำ เพื่อให้เห็นความเป็นผู้สามารถในการทำกิจของตนแห่งโพชฌงค์.
               บทว่า พุชฺฌนฏฺเฐน เพราะอรรถว่าตรัสรู้ แม้ความเป็นผู้สามารถในการทำกิจของตนมีอยู่ ก็ขี้แจงถึงภาวะเพื่อให้เห็นความไม่มีผู้ทำ.
               บทว่า โพเธนฺติ ให้ตรัสรู้ เมื่อพระโยคาวจรตรัสรู้ด้วยการเจริญโพชฌงค์ ชี้แจงถึงเหตุกัตตา (ผู้ใช้ให้ทำ) แห่งโพชฌงค์ เพราะเป็นผู้ประกอบ.
               บทว่า โพธนฏฺเฐน เพราะอรรถว่าให้ตรัสรู้ คือชี้แจงถึงภาวะของผู้ใช้ให้ทำ เพราะเป็นผู้ประกอบตามนัยดังกล่าวแล้วครั้นแรกนั่นแหละ.
               บทว่า โพธิปกฺขิยฏฺเฐน เพราะอรรถว่าเป็นไปในฝ่ายตรัสรู้ คือเพราะเป็นไปในฝ่ายของพระโยคาวจรผู้ได้ชื่อว่าโพธิ เพราะอรรถว่าให้ตรัสรู้.
               นี้เป็นการชี้แจงความที่โพชฌงค์เหล่านั้นเป็นอุปการะแก่พระโยคาวจร.
               ด้วยบทเหล่านี้ ท่านอธิบายว่า ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งผู้ตรัสรู้.
               พึงทราบวินิจฉัยในลักษณะมีอาทิว่า พุทฺธิลภนฏฺเฐน เพราะอรรถให้ได้ความตรัสรู้.
               บทว่า พุทฺธิลภนฏฺเฐน คือ เพราะอรรถให้พระดยคาวจรถึงความตรัสรู้.
               บทว่า โรปนฏฺเฐน เพราะอรรถว่าปลูกความตรัสรู้ คือเพราะอรรถให้สัตว์ทั้งหลายดำรงอยู่.
               บทว่า ปาปนฏฺเฐน เพราะอรรถให้ถึงความตรัสรู้ คือเพราะอรรถให้สำเร็จความที่ให้สัตว์ดำรงอยู่.
               อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า โพชฌงค์อันเป็นวิปัสสนาเหล่านี้ คือโพชฌงค์เป็นมรรคผลต่างกันด้วยอุปสรรค ๓ ศัพท์ คือ ปฏิ-อภิ-สํ เฉพาะ-ยิ่ง-พร้อม.
               พึงทราบว่า ท่านอธิบายไว้ว่า ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ โพชฌงค์ทั้งหลายที่ท่านชี้แจงไว้ด้วยธรรมโวหารแม้ทั้งหมด.

               อรรถกถามูลมูลกาทิทสกกถา               
               พึงทราบวินิจฉัยในมูลมูลทสกะมีอาทิว่า มูลฏฺเฐน ดังต่อไปนี้.
               บทว่า มูลฏฺเฐน เพราะอรรถว่าเป็นมูล คือในวิปัสสนาเป็นต้น เพราะอรรถว่าโพชฌงค์ก่อนๆ เป็นมูลของโพชฌงค์หลังๆ ของสหชาตธรรมและของกันและกัน.
               บทว่า มูลจริยฏฺเฐน เพราะอรรถว่า ประพฤติตามอรรถที่เป็นมูล คือประพฤติเป็นไปเป็นมูล ชื่อว่ามูลจริยา เพราะอรรถว่าประพฤติเป็นมูลนั้น.
               อธิบายว่า เพราะอรรถว่าเป็นมูลแล้วจึงเป็นไป.
               บทว่า มูลปริตคหฏฺเฐน เพราะอรรถว่ากำหนดธรรมที่เป็นมูล คือโพชฌงค์เหล่านั้นชื่อว่ากำหนด เพราะกำหนดเพื่อต้องการให้เกิดตั้งแต่ต้น การกำหนดมูลนั่นแหละ.
               ชื่อว่า มูลปริคฺคหา เพราะอรรถว่ากำหนดธรรมที่เป็นมูลนั้น เพราะอรรถว่ามีธรรมเป็นบริวาร ด้วยเป็นบริวารของกันและกัน เพราะอรรถว่ามีธรรมบริบูรณ์ด้วยการบำเพ็ญภาวนา เพราะอรรถว่ามีธรรมแก่กล้า ด้วยให้บรรลุความสำเร็จ.
               ชื่อว่า มูลปฏิสมฺภิทา แตกฉานในธรรมอันเป็นมูล เพราะมูล ๖ อย่างเหล่านั้น และชื่อว่าปฏิสัมภิทา เพราะแตกฉานในประเภท เพราะอรรถว่าแตกฉานในธรรมอันเป็นมูล.
               บทว่า มูลปฏิสมฺภิทาปาปนฏฺเฐน เพราะอรรถว่าให้ถึงความแตกฉานในธรรมอันเป็นมูล คือเพราะอรรถว่าให้ถึงความแตกฉานในธรรมอันเป็นมูลของพระโยคาวจรผู้ขวนขวายในการเจริญโพชฌงค์ เพราะอรรถว่าเจริญความชำนาญ ด้วยความแตกฉานในธรรมอันเป็นมูลนั้นของพระโยคาวจรนั้นนั่นเอง.
               ในโวหารของบุคคลเช่นนี้แม้ที่เหลือ พึงทราบว่า ท่านกล่าวว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งผู้ตรัสรู้.
               พึงทราบว่า โพชฌงค์เป็นผลในการไม่กล่าวถึงความสำเร็จแม้เช่นนี้ ในบทว่า มูลปฏิสมฺภิทาย วสีภาวปตฺตานมฺปิ แม้ของผู้ถึงความชำนาญในความแตกฉานธรรมอันเป็นมูล.
               ปาฐะว่า วสีภาวํ ปตฺตานํ ของผู้ถึงความชำนาญบ้าง.
               จบมูลมูลกทสกะ               

               ในทสกะ ๙ มีเหตุมูลกะเป็นต้น แม้ที่เหลือพึงทราบอรรถแห่งคำทั่วไปโดยนัยนี้แล.
               โพชฌงค์ตามที่กล่าวแล้วในคำไม่ทั่วไป ชื่อว่าเหตุ เพราะให้เกิดธรรมตามที่กล่าวแล้ว. ชื่อว่าปัจจัย เพราะช่วยค้ำจุน. ชื่อว่าวิสุทธิ เพราะเป็นความหมดจดแห่งตทังคะ สมุจเฉทะและปฏิปัสสัทธิ. ชื่อว่าไม่มีโทษ เพราะปราศจากโทษ.
               ชื่อว่าเนกขัมมะ เพราะบาลีว่า สพฺเพปิ กุสลา ธมฺมา เนกฺขมฺมํ กุสลธรรมแม้ทั้งหมดเป็นเนกขัมมะ. ชื่อว่าวิมุตติ ด้วยสามารถแห่งตทังควิมุตติเป็นต้น เพราะพ้นจากกิเลสทั้งหลาย.
               โพชฌงค์อันเป็นมรรคและผล ชื่อว่าอนาสวะ เพราะปราศจากอาสวะอันเป็นขอบเขต.
               โพชฌงค์แม้ ๓ อย่างชื่อว่าวิเวก ด้วยสามารถแห่งตทังควิเวกเป็นต้น เพราะว่างเปล่าจากกิเลสทั้งหลาย.
               โพชฌงค์อันเป็นวิปัสสนาและมรรค ชื่อว่า โวสฺสคฺคา เพราะปล่อยวางการสละและเพราะปล่อยวางการแล่นไป. โพชฌงค์อันเป็นผล ชื่อว่า โวสฺสคฺคา เพราะปล่อยวางการแล่นไป.
               ทสกะ ๙ ท่านชี้แจงด้วยบทหนึ่งๆ มีอาทิว่า มูลฏฺฐํ พุชฺฌนฺติ ตรัสรู้สภาพอันเป็นมูล พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ.
               ส่วนบทว่า วสีภาวปฺปตฺตานํ ท่านไม่บอกเพราะไม่มีคำเป็นปัจจุบันกาล.
               การกำหนดเป็นต้นมีอรรถดังกล่าวแล้วในอภิญเญยยนิเทศ.
               พระเถระครั้นยกสูตรที่ตนแสดงขึ้นแล้วประสงค์จะแสดงโพชฌงค์วิธีด้วยการชี้แจงสูตรนั้น จึงกล่าวนิทานมีอาทิว่า เอกํ สมยํ แล้วยกสูตรขึ้นแสดง.
               อนึ่ง ในสูตรนี้ เพราะเป็นสูตรที่ตนแสดงเอง ท่านจึงไม่กล่าวว่า เอวํ เม สุตํ.
               อนึ่งในบทว่า อายสฺมา สารีปุตฺโต นี้ ท่านกล่าวทำตนดุจคนอื่นเพื่อความฉลาดของผู้แสดง. เพราะอาจารย์ทั้งหลายประกอบคำเช่นนี้ไว้มากในคันถะทั้งหลายในโลก.
               บทว่า ปุพฺพณฺหสมยํ คือ ตลอดเวลาเข้าทั้งสิ้น.
               บทนี้เป็นทุติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งอัจจันตสังโยคะ.
               แม้ในสองบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า สติสมฺโพชฌงฺโค อิติ เจ เม อาวุโส โหติ ดูก่อนอาวุโส หากว่าสติสัมโพชฌงค์ของเรามีอยู่ดังนี้ คือ หากสติสัมโพชฌงค์ของเรามีอยู่อย่างนี้.
               บทว่า อปฺปมาโณติ เม โหติ สติสัมโพชฌงค์ของเราก็หาประมาณมิได้ คือสติสัมโพชฌงค์ของเราหาประมาณมิได้ มีอยู่อย่างนี้.
               บทว่า สุสมารทฺโธ เม โหติ ปรารภแล้วด้วยดี คือสติสัมโพชฌงค์ของเราบริบูรณ์ด้วยดีอย่างนี้.
               บทว่า ติฏฺฐนฺตํ ตั้งอยู่ คือตั้งอยู่ด้วยเป็นไปในนิพพานารมณ์.
               บทว่า จวติ เคลื่อนไป คือหลีกไปจากนิพพานารมณ์.
               แม้ในโพชฌงค์ที่เหลือก็มีนัยนี้.
               บทว่า ราชมหามตฺตสฺส คือ แห่งมหาอำมาตย์ของพระราชา หรือผู้ประกอบด้วยประมาณโภคสมบัติ เพราะมีโภคสมบัติมาก.
               บทว่า นานารตฺตานํ เต็มด้วยผ้าสีต่างๆ คือผ้าย้อมด้วยสีต่างๆ.
               บทนี้เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ลงในอรรถบริบูรณ์. อธิบายว่า ด้วยสีต่างๆ.
               บทว่า ทุสฺสกรณฺฑโก คือ เปรียบเหมือนตู้เก็บผ้า.
               บทว่า ทุสฺสยุคํ ผ้าคู่ คือคู่ผ้า.
               บทว่า ปารุปิตุํ คือ เพื่อปกปิด.
               ในสูตรนี้ ท่านกล่าวถึงโพชฌงค์อันเป็นผลของพระเถระ.
               จริงอยู่ ในกาลใด พระเถระกระทำสติสัมโพชฌงค์ให้เป็นหัวข้อ แล้วเข้าถึงผลสมาบัติ ในกาลนั้น โพชฌงค์นอกนี้ก็ตามสติสัมโพชฌงค์นั้นไป ในกาลใดเข้าถึงธรรมวิจยสัมโพชฌงค์เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ในกาลนั้น โพชฌงค์แม้ที่เหลือก็ตามธรรมวิจยสัมโพชฌงค์นั้นไป เพราะเหตุนั้น พระเถระเมื่อจะแสดงความที่ตนมีความชำนาญในความประพฤติผลสมาบัติอย่างนั้น จึงกล่าวสูตรนี้.

               อรรถกถาสุตตันตนิเทศ               
               ในบทว่า กถํ สติ สมฺโพชฺฌงฺโค อิติ เจ เม โหติ ถ้าสติสัมโพชฌงค์ของเรามีอยู่ดังนี้นั้นมีอยู่อย่างไร.
               บทว่า โพชฌงโค ความว่า เมื่อพระโยคาวจรเข้าผลสมบัติ ทำสติสัมโพชฌงค์ให้เป็นประธาน เมื่อโพชฌงค์อื่นมีอยู่ สติสัมโพชฌงค์นี้ย่อมมีอย่างนี้ เพราะเหตุนั้น หากว่า เมื่อสติสัมโพชฌงค์เป็นไปแล้วอย่างนี้ สติสัมโพชฌงค์นั้นมีอยู่อย่างไร.
               บทว่า ยาวตา นิโรธุปฏฺฐาติ นิโรธย่อมปรากฏเพียงใด คือนิโรธย่อมปรากฏโดยกาลใด.
               อธิบายว่า นิพพานย่อมปรากฏโดยอารมณ์ในกาลใด.
               บทว่า ยาวตา อจฺฉิ เปลวไฟมีเพียงใด คือเปลวไฟมีโดยประมาณเพียงใด.
               บทว่า กถํ อปฺปมาโณ อิติ เจ โหตีติ โพชฺฌงฺโค โพชฌงค์ในข้อว่า สติสัมโพชฌงค์ของเราก็ชื่อว่าหาประมาณมิได้นั้นมีอยู่อย่างไร.
               ความว่า เมื่อสติสัมโพชฌงค์แม้หาประมาณมิได้มีอยู่ สติสัมโพชฌงค์นี้ก็ย่อมหาประมาณมิได้ ด้วยอาการอย่างนี้ เพราะเหตุนั้น หากว่าสติสัมโพชฌงค์หาประมาณมิได้นั้นมีอยู่แก่พระโยคาวจรผู้เป็นไปแล้วอย่างไร.
               บทว่า ปมาณวนฺตา มีประมาณ๑- คือกิเลสทั้งหลาย ปริยุฏฺฐานกิเลส และสังขารอันทำให้เกิดภพใหม่ ชื่อว่ามีประมาณ.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๐๔

               ราคะเป็นต้น เพราะคำว่า ราคะ โทสะ โมหะ กระทำประมาณย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ใด กระทำประมาณแก่ผู้นั้นว่า นี้ประมาณเท่านี้ ชื่อว่าประมาณ. กิเลสเป็นต้นเป็นเครื่องผูกติดอาศัยในประมาณนั้น ชื่อว่ามีประมาณ.
               บทว่า กิเลสา คือ เป็นอนุสัย.
               บทว่า ปริยุฏฺฐานา คือ กิเลสที่ถึงความฟุ้งซ่าน.
               บทว่า สงฺขารา โปโนพฺภวิกา สังขารอันให้เกิดภพใหม่ คือการเกิดบ่อยๆ ชื่อว่าปุนัพภวะ. ชื่อว่า โปนพฺภวิกา เพราะมีภพใหม่เป็นปกติ การมีภพใหม่นั่นแหละ ชื่อว่า โปโนพฺภวิกา. สังขาร ได้แก่กุศลกรรมและอกุศลกรรม.
               บทว่า อปฺปมาโณ หาประมาณมิได้ คือ ชื่อว่าหาประมาณมิได้ เพราะไม่มีประมาณอันมีประมาณดังกล่าวแล้ว เพื่อความวิเศษจากนั้น เพราะแม้มรรคและผลก็ไม่มีประมาณ.
               บทว่า อจลฏฺเฐน อสงฺขตฏฺเฐน เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหว เพราะอรรถว่าเป็นอสังขตธรรมได้กล่าวไว้แล้ว ชื่อว่าไม่หวั่นไหว เพราะไม่มีความดับ ชื่อว่าเป็นอสังขตะ เพราะไม่มีปัจจัย.
               จริงอยู่ ทั้งไม่หวั่นไหว ทั้งเป็นสังขตะปราศจากประมาณอย่างยิ่ง.
               บทว่า กลํ สุสมารทฺโธ อิติ เม โหตีติ โพชฺฌงฺโค สติสัมโพชฌงค์ ชื่อว่าเราปรารภแล้วด้วยดีนั้นมีอยู่อย่างไร คือพึงประกอบโดยนัยดังกล่าวแล้วในลำดับ.
               บทว่า วิสมา ไม่เสมอ ชื่อว่าวิสมา เพราะไม่เสมอเอง และเพราะเป็นเหตุแห่งความไม่เสมอ.
               บทว่า สทฺธมฺโม ชื่อว่าธรรมเสมอ เพราะอรรถว่าเป็นธรรมสงบ เป็นธรรมประณีต ชื่อว่าสงบ เพราะไม่มีประมาณ ชื่อว่าประณีต เพราะอรรถว่าเป็นธรรมสูงสุดกว่าธรรมทั้งปวง เพราะพระบาลีว่า๒- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายที่เป็นสังขตธรรมก็ดี อสังขตธรรมก็ดี มีประมาณเพียงใด เรากล่าววิราคะว่าเป็นธรรมเลิศกว่าธรรมทั้งหลายเหล่านั้น.
____________________________
๒- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๓๔

               ปรารภแล้วในธรรมเสมอด้วยดีดังกล่าวแล้วว่าในสมธรรมนั้น ชื่อว่า สุสมารทฺโธ ปรารภแล้วด้วยดี.
               บทว่า อาวชฺชิตตฺตา เพราะความนึกถึง ท่านกล่าวหมายถึงกาลอันเป็นไปแล้วด้วยผลสมบัติ.
               ท่านอธิบายไว้ว่า เพราะมโนทวาราวัชชนะเกิดขึ้นแล้วในนิพพพานกล่าวคือ อนุปฺปาทาทิ (นิพพานอันไม่มีความเกิด) เป็นต้น.
               บทว่า ติฏฺฐติ ตั้งอยู่ คือเป็นไปอยู่.
               บทว่า อุปฺปาทํ (ความเกิด) เป็นต้น มีอรรถดังที่ท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลัง.
               ในวาระแม้ที่เป็นโพชฌงค์มูลกะที่เหลือ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

               จบอรรถกถาโพชฌงคกถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรค ๓. โพชฌงคกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 544อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 557อ่านอรรถกถา 31 / 574อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=8154&Z=8448
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=5334
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=5334
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :