ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 588อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 598อ่านอรรถกถา 31 / 614อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรค
๖. ปฏิสัมภิทากถา

               อรรถกถาปฏิสัมภิทากถา               
               อรรถกถาธรรมจักกัปปวัตตนวาระ               
               บัดนี้จะพรรณนาตามลำดับความซึ่งยังไม่เคยพรรณนามาก่อนแห่งปฏิสัมภิทากถา อันมีธรรมจักกัปปวัตสูตรเป็นเบื้องต้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงประเภทแห่งปฏิสัมภิทามรรค๑- สำเร็จลงด้วยอำนาจแห่งมรรคอันได้แก่วิราคะ ตรัสไว้แล้ว.
____________________________
๑- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๑๖๔

               พึงทราบวินิจฉัยในพระสูตรดังต่อไปนี้.
               บทว่า พาราณสิยํ คือ มีแม่น้ำชื่อว่า พาราณสา. กรุงพาราณสีเป็นนครอยู่ไม่ไกลแม่น้ำพาราณสา. ใกล้กรุงพาราณสีนั้น.
               บทว่า อิสิปตเน มิคทาเย ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน คือชื่อว่าสวนมฤคทายวัน เพราะเป็นที่ให้อภัยแก่มฤคทั้งหลายอันได้ชื่ออย่างนั้น ด้วยสามารถแห่งการลงๆ ขึ้นๆ ของพวกฤาษี. เพราะพวกฤษีสัพพัญญูเกิดขึ้นแล้วๆ ก็ลงไปในป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั้น.
               อธิบายว่า นั่งประชุมกันเพื่อยังธรรมจักรให้เป็นไป แม้พวกฤษีปัจเจกพุทธะออกจากนิโรธสมาบัติ เมื่อล่วงไป ๗ วัน จากเงื้อมเขานันทมูลกะ ล้างหน้าที่สระอโนดาต เหาะมาทางอากาศก็ลงไปประชุมกัน ณ ที่นี้ ประชุมกันเพื่อเป็นสุข เพื่ออุโบสถใหญ่ และเพื่ออุโบสถน้อย เมื่อจะกลับไปสู่เขาคันธมาทน์ ก็เหาะไปจากที่นั้น เพราะเหตุนั้น ด้วยบทนี้ที่นั้นท่านจึงเรียกว่าอิสิปตนะ ด้วยเป็นที่ลงๆ ขึ้นๆ ของพวกฤาษี.
               บาลีว่า อิสิปทนํ ดังนี้บ้าง.
               บทว่า ปญฺจวคฺคิเย ภิกษุเบญจวัคคีย์ (มีพวก ๕) คือ พวกของภิกษุ ๕.
               ดังที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า
                         พระมหาเถระ ๕ เหล่านี้ คือ พระโกณฑัญญะ ๑
                         พระภัททิยะ ๑ พระวัปปะ ๑ พระมหานาม ๑
                         พระอัสสชิ ๑ ท่านเรียกว่า ภิกษุมีพวก ๕.

               ชื่อว่า ปัญจวรรค ชื่อว่า ปัญจวัคคีย์ เพราะเนื่องในพวก ๕ นั้น.
               บทว่า ภิกขู อามนเตสิ ตรัสกะภิกษุทั้งหลาย.
               ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบำเพ็ญบารมีจำเดิม แต่สะสมอภินิหาร ณ บาทมูลของพระทศพลพระนามว่าทีปังกร จนบรรลุภพสุดท้ายโดยลำดับ ในภพสุดท้ายเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงถึงโพธิมณฑลโดยลำดับ ประทับนั่งเหนืออปราชิตบัลลังก์ ณ โพธิมณฑลนั้น ทรงกำจัดมารและพลมาร ทรงระลึกถึงปุพเพนิวาสญาณในปฐมยาม ในมัชฌิมยามทรงยังทิพยจักษุให้บริสุทธิ์ ในที่สุดปัจฉิมยามทรงยังหมื่นโลกธาตุให้บันลือก้องกัมปนาท ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ล่วงไป ๗ สัปดาห์ ณ โพธิมณฑล ท้าวมหาพรหมทูลวิงวอนของให้ทรงแสดงธรรม ทรงตรวจตราสัตวโลกด้วยทิพยจักษุ เสด็จไปกรุงพารานสี เพื่อทรงอนุเคราะห์สัตวโลก มีพระประสงค์จะให้ภิกษุเบญจวัคคีย์ยอมรับแล้ว ทรงยังธรรมจักรให้เป็นไปจึงตรัสเรียก.
               บทว่า เทฺว เม ภิกฺขเว อนฺตา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุด ๒ อย่างนี้ พระสุรเสียงที่เปล่งออกด้วยทรงเปล่งพระดำรัสนี้ ข้างบนถึงภวัคคพรหม ข้างล่างถึงอเวจี แล้วแผ่ไปตั้งอยู่ตลอดหมื่นโลกธาตุ ในสมัยนั้น พรหม ๑๘ โกฏิมาประชุมกัน พระอาทิตย์ตกทางทิศตะวันตก พระจันทร์เต็มดวงประกอบด้วยอาสาฬหนักษัตรขึ้นทางทิศตะวันออก ในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร พระดำรัสมีอาทิว่า เทฺว เม ภิกฺขเว อนฺตา ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปพฺพชิเตน บรรพชิต คือผู้ตัดวัตถุกามอันเกี่ยวข้องด้วยคฤหัสถ์ออกบวช.
               บทว่า น เสวิตพฺพา ไม่ควรเสพ คือไม่ควรใช้สอย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา อันบรรพชิดไม่ควรเสพ เพราะการปฏิบัติอย่างวิเศษเป็นเครื่องรองรับของบรรพชิตทั้งหลาย.
               บทว่า กาเมสุ กามสุขัลลิกานุโยโค การประกอบความพัวพันกามสุขในกามทั้งหลาย คือการประกอบกามสุขคือกิเลสในวัตถุกาม หรือการประกอบอาศัยกามสุขคือกิเลส.
               บทว่า หีโน เป็นของเลวคือลามก.
               บทว่า คมฺโม คือ เป็นของชาวบ้าน.
               บทว่า โปถุชฺชนิโก เป็นของปุถุชน คือปุถุชนได้แก่อันธพาลปุถุชนประพฤติกันเนืองๆ.
               บทว่า อนริโย คือไม่ใช่ของพระอริยเจ้า.
               อีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ของมีอยู่ของพระอริยเจ้าผู้บริสุทธิ์ ผู้สูงสุด.
               บทว่า อนตฺถสญฺหิโต ไม่ประกอบด้วยประโยชน์. ความว่า ไม่อาศัยเหตุอันนำความสุขมาให้.
               บทว่า อตฺตกิลมถานุโยโค การประกอบการทำตนให้ลำบาก. ความว่า ทำความทุกข์ให้แก่ตน.
               บทว่า ทุกฺโข คือนำความทุกข์มาให้ด้วยการทรมานตนมีนอนบนที่ทำด้วยหนามเป็นต้น.
               ในบทนี้ ท่านไม่กล่าวว่า หีโน เพื่อรักษาจิตของผู้บำเพ็ญตบะเหล่านั้น เพราะผู้บำเพ็ญตบะเหล่านั้นถือว่าเป็นตบะอันสูงสุด ไม่กล่าว่า โปถุชฺชนิโก เพราะเป็นธรรมดาของบรรพชิตทั้งหลาย และเพราะไม่ทั่วไปด้วยคฤหัสถ์ทั้งหลาย.
               อนึ่ง ในบทว่า กามสุขลฺลิกานุโยโค นั้นท่านไม่กล่าวว่า ทุกฺโข เพราะพวกปฏิญาณว่าเป็นบรรพชิตพวกใดพวกหนึ่ง มีวาทะว่านิพพานในปัจจุบันถือเอาว่า เพราะตัวตนนี้เปี่ยมเพียบพร้อมบำเรอด้วยกามคุณ ๕ ด้วยเหตุนี้ตัวตนนี้จึงเป็นอันบรรลุนิพพานในปัจจุบัน เพื่อรักษาจิตของผู้บำเพ็ญตบะเหล่านั้น และเพราะการสมาทานธรรมนั้นเป็นความสุขในปัจจุบัน ไม่ควรเสพกามสุขัลลิกานุโยค เพราะเป็นความสุขเศร้าหมองด้วยตัณหาและทิฏฐิในปัจจุบัน เพราะมีทุกข์เป็นผลต่อไป และเพราะผู้ขวนขวายกามสุขัลลิกานุโยคนั้นพัวพันด้วยตัณหาและทิฏฐิ ไม่ควรเสพอัตตกิลมถานุโยค เพราะเป็นทุกข์เศร้าหมองด้วยทิฏฐิในปัจจุบัน เพราะมีทุกข์เป็นผลต่อไป และเพราะผู้ขวนขวายในอัตตกิลมถานุโยคนั้นผูกพันด้วยทิฏฐิ.
               บทว่า เอเต เต คือ เหล่านั้นนี้.
               บทว่า อนุปคมฺม ไม่เกี่ยวข้อง คือไม่เข้าไปใกล้.
               บทว่า มชฺฌิมา สายกลาง ชื่อว่า มชฺฌิมา เพราะเป็นทางสายกลางไม่มีสุขและทุกข์เศร้าหมอง ชื่อว่า ปฏิปทา เพราะเป็นเหตุถึงนิพพาน.
               บทว่า อภิสมฺพุทฺธา ตรัสรู้แล้ว คือแทงตลอดแล้ว.
               ในบทมีอาทิว่า จกฺขุกรณี ทำจักษุมีความดังต่อไปนี้. ชื่อว่า จกฺขุกรณี เพราะทำปัญญาจักษุ.
               บทว่า ญาณกรณี ทำญาณเป็นไวพจน์ของบทว่า จกฺขุกรณี นั้นนั่นแหละ.
               บทว่า อุปสมาย เพื่อความสงบ คือเพื่อสงบกิเลส.
               บทว่า อภิญฺญาย เพื่อความรู้ยิ่ง คือเพื่อประโยชน์แก่ความรู้ยิ่งสัจจะ ๔.
               บทว่า สมฺโพธาย เพื่อความตรัสรู้ คือเพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้สัจจะ ๔ เหล่านั้น.
               บทว่า นิพฺพานาย เพื่อนิพพาน คือเพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า จกฺขุกรณี เพราะทำมรรคญาณ คือทัศนะ.
               ชื่อว่า ญาณกรณี เพราะทำมรรคญาณคือภาวนา เพื่อสงบกิเลสทั้งปวง เพื่อรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง เพื่อตรัสรู้อรหัตผล เพื่อดับกิเลสและขันธ์.
               ท่านกล่าวสัจจกถาไว้ในอภิญเญยยนิเทศแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงประกาศสัจจะอย่างนี้แล้ว ได้สดับลำดับ การแทงตลอดของพระองค์ ของเบญจวัคคีย์เหล่านั้นผู้ยังมีมานะจัดในพระองค์ แล้วทรงยังการปฏิบัติให้หมดจดด้วยการถอนมานะจัด เมื่อทรงเห็นการแทงตลอดสัจจะ จึงทรงแสดงลำดับของการแทงตลอดของพระองค์ ด้วยบทมีอาทิว่า อิทํ ทุกฺขํ อริยสจฺจนฺติ เม ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขอริยสัจ คือ ทรงแสดงลำดับปฏิเวธของพระองค์
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อนนุสฺสุเตสุ ยังไม่เคยได้ฟัง. ความว่า ยังไม่เคยเป็นไปตามผู้อื่น.
               อรรถแห่งบทมีอาทิว่า จกฺขุํ จักมีแจ้ง ข้างหน้า.
               การแทงตลอดความเห็นสัจจะ ๔ คือ นี้ทุกขอริยสัจ ๑ นี้ทุกขสมุทัย ๑ นี้ทุกขนิโรธ ๑ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ๑ ย่อมเป็นไปในเสขภูมิ. การพิจารณาสัจจะ ๔ คือ กำหนดรู้แล้ว ๑ ละแล้ว ๑ ทำให้แจ้งแล้ว ๑ เจริญแล้ว ๑ ย่อมเป็นไปในอเสกขภูมิ.
               บทว่า ติปริวฏฺฏํ มีวนรอบ ๓ คือ เพราะวนรอบ ๓ ด้วยสามารถแห่งวนรอบ ๓ คือ สัจจญาณ (ปรีชาหยั่งรู้อริยสัจ) กิจจญาณ (ปรีชาหยั่งรู้กิจอันควรทำ) กตญาณ (ปรีชาหยั่งรู้กิจอันทำแล้ว).
               ในบทว่า ติปริวฏฺฏํ นี้ การรู้ตามความเป็นจริงในสัจจะ ๔ อย่างนี้ว่า นี้ทุกขอริยสัจ นี้ทุกขสมุทยอริยสัจ นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิทาอริยสัจ ชื่อว่าสัจจญาณ.
               ในสัจจญาณเหล่านั้น ญาณคือความรู้กิจอันควรทำอย่างนี้ว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้ สมุทัยควรละ นิโรธควรทำให้แจ้ง มรรคควรเจริญ ชื่อว่ากิจจญาณ. ญาณคือความรู้ถึงความที่กิจนั้นได้ทำแล้วอย่างนี้ว่า ทุกข์กำหนดรู้แล้ว สมุทัยละได้แล้ว นิโรธทำให้แจ้งแล้ว มรรคเจริญแล้ว ชื่อว่ากตญาณ.
               บทว่า ทฺวาทสาการํ มีอาการ ๑๒ คือ มีอาการ ๑๒ ด้วยสามารถแห่งอาการละ ๓ๆ ในสัจจะละ ๑ๆ เหล่านั้น.
               บทว่า ญาณทสฺสนํ คือ ทัศนะ ได้แก่ ญาณอันเกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งสัจจะเหล่านั้นมีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒.
               บทว่า อตฺตมนา ชื่นชมยินดี คือมีใจเป็นของตน.
               จริงอยู่ ผู้มีใจประกอบด้วยปีติโสมนัส ชื่อว่ามีใจเป็นของตน เพราะสัตว์ทั้งหลายใคร่ความสุข เกลียดทุกข์. อธิบายว่า มีใจเป็นของตน มีใจถือเอาแล้ว มีใจอิ่มเอิบแล้วด้วยปีติและโสมนัส.
               บทว่า อภินนฺทุํ พอใจ คือหันหน้าเข้าหาพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วพอใจ.
               บทว่า เวยฺยากรณสฺมึ ไวยากรณภาษิต พระสูตรที่ไม่มีคาถา ในพระสูตรชื่อว่า เวยฺยากรณํ เพราะทำให้แจ้งอรรถอย่างเดียว.
               บทว่า ภญฺญมาเน คือ ตรัสรู้ ทำให้เป็นปัจจุบันใกล้ปัจจุบัน คือกำลังตรัส.
               บทว่า วิรชุํ ปราศจากธุลี คือปราศจากธุลีมีราคะเป็นต้น.
               บทว่า วีตมลํ ปราศจากมลทินมีราคะเป็นต้น เพราะราคะเป็นต้น ชื่อว่าธุลี เพราะอรรถว่าท่วมทับ ชื่อว่ามลทิน เพราะอรรถว่าประทุษร้าย.
               บทว่า ธมฺมจกฺขุํ ธรรมจักษุ ในที่บางแห่งได้แก่ญาณในปฐมมรรค ในที่บางแห่งได้แก่ญาณมรรคญาณ ๓ เป็นต้น ในที่บางแห่งได้แก่แม้มรรคญาณ ๔ แต่ในที่นี้ ได้แก่ ญาณในปฐมมรรคเท่านั้น.
               บทว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธฺธมฺมํ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา. อธิบายว่า ธรรมจักษุเกิดขึ้นแก่พระโกณฑัญญะผู้เป็นไปแล้วด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนา.
               บทว่า ธมฺมจกฺเก ได้แก่ ปฏิเวธญาณและเทศนาญาณ.
               จริงอยู่ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่เหนือโพธิบัลลังก์ แม้ปฏิเวธญาณมีอาการ ๑๒ เป็นไปในสัจจะ ๔ เมื่อประทับนั่ง ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แม้เทศนาญาณเป็นไปแล้วด้วยสัจจเทศนามีอาการ ๑๒ ชื่อว่าธรรมจักร แม้ทั้งสองอย่างนั้นก็เป็นญาณของพระทศพล.
               ธรรมจักรนั้นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศด้วยเทศนานี้ ชื่อว่าเป็นไปแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมจักรนี้นั้นตลอดเวลาที่พระอัญญาโกณฑัญญเถระยังไม่ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลพร้อมกับพรหม ๑๘ โกฏิ แต่เมื่อพระอัญญาโกณฑัญญะตั้งอยู่แล้ว ธรรมจักรจึงชื่อว่าประกาศแล้ว.
               ท่านหมายถึงเรื่องนั้นจึงกล่าว ปวตฺติเต จ ภควตา ธมฺมจกฺเก เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศพระธรรมจักรแล้ว.
               บทว่า ภุมฺมา เทวา คือ เทวดาที่อยู่บนพื้นดิน.
               บทว่า สทฺทมนุสฺสาเวสุํ ประกาศก้อง คือ ภุมมเทวดาให้สาธุการเป็นเสียงเดียวกันแล้วประกาศก้องมีอาทิว่า เอตํ ภควตา.
               บทว่า อปฺปฏิวตฺติยํ อันใครๆ ให้เป็นไปไม่ได้ คือไม่อาจคัดค้านได้ว่า นี้ไม่เป็นอย่างนั้น.
               อนึ่ง ในบทนี้ พึงทราบว่าเทวดาและพรหมทั้งหลายประชุมกัน เมื่อจบเทศนาได้ให้สาธุการเป็นเสียงเดียวกัน แต่ภุมมเทวดาเป็นต้นยังไม่มาประชุมครั้นได้ฟังเสียงเทวดาและพรหมเหล่านั้นๆ จึงได้ให้สาธุการ.
               อนึ่ง ภุมมเทวดาที่เกิดในภูเขาและต้นไม้เป็นต้นเหล่านั้น แม้ภุมมเทวดาเหล่านั้นจะนับเนื่องในพวกเทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกา ท่านก็กล่าวทำให้แยกกันในบทนี้.
               บทว่า จาตุมฺมหาราชิกา เพราะมีเทวดามหาราชา ๔ ได้แก่ ท้าวธตรฏ วิรุฬหก วิรูปักษ์และกุเวร.
               เทวดาเหล่านั้นสถิตอยู่ ณ ท่ามกลางภูเขาสิเนรุ เทวดาเหล่านั้นอยู่บนภูเขาก็มี อยู่บนอากาศก็มี สืบต่อเทวดาเหล่านั้นไปก็ถึงจักรวาลบรรพต เทวดาแม้ทั้งหมดเหล่านี้ คือ ขิทฑาปโทสิกา มโนปโทสิกา สีตวลาหก อุณหวลาหก จันทิมเทวบุตร สุริยเทวบุตร ก็เป็นเทวดาประดิษฐานอยู่ ณ เทวโลกชั้นจาตุมมหาราชิกานั่นแหละ.
               ชื่อว่า ตาวตึสา เพราะมีชน ๓๓ คนเกิดในเทวโลกนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวว่า ชื่อว่า ตาวตึสา เป็นชื่อของเทวดาเหล่านั้น แม้เทวดาเหล่านั้นประดิษฐานบนภูเขาก็มี บนอากาศก็มี ความสืบเนื่องกันมาแห่งเทวดาเหล่านั้นถึงจักรวาลบรรพต ชั้นยามาเป็นต้นก็อย่างนั้น.
               แม้ในเทวโลกหนึ่ง เทวดาสืบต่อของเทวดาทั้งหลาย ชื่อว่ายังไม่ถึงจักรวาลบรรพตไม่มี.
               ชื่อว่า ยามา เพราะไป ไปถึง ถึงพร้อมซึ่งสุขอันเป็นทิพย์.
               ชื่อว่า ตุสิตา เพราะยินดีร่าเริง.
               ชื่อว่า นิมมานรดี เพราะนิรมิตยินดีสมบัติ ตามความชอบใจในเวลาใคร่จะยินดีโดยส่วนพิเศษจากที่ตกแต่งไว้ตากปกติ.
               ชื่อว่า ปรนิมมิตวสวัตดี เพราะเมื่อผู้อื่นรู้วารจิตแล้วนิรมิตสมบัติให้ย่อมเป็นไปสู่อำนาจ.
               ชื่อว่า พรหมกายิกา เพราะนับเนื่องในพรหมกาย. แม้พรหมกายิกาทั้งหมด ท่านหมายถึงพรหมที่มีขันธ์ ๕ ด้วย.
               ท่านกล่าวว่า เตน มุหุตฺเตน โดยครู่เดียว ท่านกล่าวให้แปลกกับคำว่า เตน ขเณน โดยขณะนั้น โดยขณะก็ได้แก่ครู่ ท่านอธิบายว่า มิใช่โดยขณะทางปรมัตถ์.
               บทว่า ยาว พฺรหฺมโลกา ตลอดพรหมโลก คือทำพรหมโลกให้มีที่สุด.
               บทว่า สทฺโท คือ เสียงสาธุการ.
               บทว่า ทสฺสหสฺสี คือ มีหมื่นจักรวาล.
               บทว่า สงฺกมฺปิ หวั่นไหว คือสะเทือนสะท้านหวั่นไหวขึ้นไปข้างบนด้วยดี.
               บทว่า สมฺปกมฺปิ หวั่นไหวด้วยดี คือสะเทือนสะท้านหวั่นไหวขึ้นข้างบน ลงเบื้องล่างด้วยดี.
               บทว่า สมฺปเวธิ สั่นสะเทือน คือสั่นสะเทือนไปทั่ว ๔ ทิศด้วยดี.
               เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงหยั่งลงสู่พระครรภ์พระมารดา เพื่อความเป็นพระสัมพุทธเจ้า และเมื่อประสูติจากพระครรภ์พระมารดานั้น มหาปฐพีได้หวั่นโหวด้วยเดชแห่งบุญ ในคราวตรัสรู้ได้หวั่นไหวด้วยเดชแห่งญาณคือการแทงตลอด ในคราวประกาศพระธรรมจักร แผ่นดินได้หวั่นไหวดุจให้สาธุการด้วยเดชแห่งญาณคือเทศนา ได้หวั่นไหวด้วยเทวตานุภาพในคราวทรงปลงอายุสังขารและในคราวมหาปรินิพพาน แผ่นดินดุจไม่อดกลั้นความตื่นเต้นได้ด้วยความกรุณาได้หวั่นไหวด้วยเทวตานุภาพ.
               บทว่า อปฺปมาโณ หาประมาณมิได้ คือมีประมาณเจริญ.
               ในบทว่า โอฬาโร อย่างยิ่งนี้ ท่านกล่าวว่า มธุรํ อุฬารํ มีรสอร่อยอย่างยิ่ง ในบทมีอาทิว่า๒- อุฬารานิ อุฬารานิ ขาทนียานิ ขาทนฺติ เคี้ยวของเคี้ยวมีรสอร่อยอย่างยิ่งอย่างยิ่ง.
               ท่านกล่าวว่า ปณีตํ อุฬารํ ประณีตอย่างยิ่ง ในประโยคมีอาทิว่า๓- อุฬาราย วตฺถโภคาย จิตฺตํ นมติ จิตย่อมน้อมไปในผ้าและสมบัติอย่างยิ่ง.
               ท่านกล่าวว่า เสฏฺฐํ อุฬารํ ประเสริฐอย่างยิ่ง ในประโยคมีอาทิว่า๔- อุฬาราย ขลุ ภวํ วจฉายโน สมณํ โคตมํ ปสํสาย ปสํสติ ได้ยินว่า ท่านวัจฉายนะผู้เจริญสรรเสริญพระสมณะโคดมด้วยการสรรเสริญอย่างยิ่ง.
               แต่ในที่นี้ท่านกล่าวว่า วิปุโล อุฬาโร ไพบูลย์อย่างยิ่ง.
____________________________
๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๔๐๗  ๓- องฺ. นวก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๒๒๔
๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๒๙

               บทว่า โอภาโส แสงสว่างคือแสงสว่างเกิดด้วยอานุภาพแห่งเทศนาญาณและเทวตานุภาพ.
               บทว่า โลเก คือ ในหมื่นจักรวาลนั่นเอง.
               บทว่า อติกฺกมฺเมว เทวานํ เทวานุภาวํ ล่วงเสียซึ่งเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย คืออานุภาพของเทวดาทั้งหลายเป็นดังนี้ รัศมีของผ้าที่นุ่งแผ่ไป ๑๒ โยชน์ อานุภาพของสรีระ เครื่องประดับและวิมานก็เหมือนอย่างนั้น แสงสว่างก้าวล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย.
               บทว่า อุทานํ อุทาน คือ พระดำรัสที่เปล่งออกมาสำเร็จด้วยโสมนัสญาณ.
               บทว่า อุทาเนสิ คือ ทรงเปล่ง.
               บทว่า อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ ท่านผู้เจริญโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ พระสุรเสียงที่เปล่งอุทานนี้ แผ่ไปตั้งอยู่ตลอดหมื่นโลกธาตุ.
               บทว่า อญฺญาโกณฺฑญฺโญ ความว่า โกณฑัญญะรู้แล้วอย่างเลิศ.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า ทสฺสนฏฺเฐน เพราะอรรถว่าเห็น ในนิเทศแห่งจักษุเป็นต้นดังต่อไปนี้.
               ญาณหนึ่งนั่นแหละชื่อว่าจักษุ เพราะทำกิจด้วยความเห็น ดุจจักษุของสัตว์ที่พึงแนะนำตามที่ได้กล่าวแล้ว. ชื่อว่าญาณ เพราะทำกิจด้วยญาณ. ชื่อว่าปัญญา เพราะทำกิจด้วยรู้โดยประการต่างๆ. ชื่อว่าวิชชา เพราะทำการแทงตลอดโดยไม่มีส่วนเหลือ. ชื่อว่าอาโลก เพราะทำกิจด้วยแสงสว่างในกาลทั้งปวง.
               แม้ในบทมีอาทิว่า จกฺขุ ธมฺโม จักษุเป็นธรรม มีความดังต่อไปนี้.
               ญาณหนึ่งนั่นแหละท่านพรรณนาไว้โดย ๕ ส่วน ด้วยความต่างกันแห่งกิจ.
               บทว่า อารมฺมณา ด้วยอรรถว่าอุปถัมภ์.
               บทว่า โคจรา ด้วยอรรถว่าเป็นอารมณ์.
               ในบทมีอาทิว่า ทสฺสนฏฺเฐน ท่านกล่าวถึงญาณกิจไว้ โดย ๕ ส่วน.
               โดยนัยนี้พึงทราบญาณ ๖๐ คือ ธรรม ๑๕ อรรถ ๑๕ ทำในวาระหนึ่งๆ มี ๓ วาระ อย่างละ ๕ เป็นนิรุตติ ๓๐ ในนิรุตติ ๓๐ ในปัณณรสกะ ๒ ในธรรม ๑๕ ในอรรถ ๑๕. แม้ในอริยสัจที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               พึงทราบญาณ ๒๔๐ อย่างนี้ คือ ธรรม ๖๐ อรรถ ๖๐ เป็นนิรุตติ ๑๒๐ ในธรรม ๖๐ ในอรรถ ๖๐ ในนิรุตติ ๑๒๐ ในธรรม ๖๐ ในอรรถ ๖๐ ด้วยอำนาจแห่งธรรมและอรรถอย่างละ ๑๕ ในอริยสัจหนึ่งๆ ในอริยสัจ ๔.
               จบอรรถกถาธรรมจักกัปปวัตตนวาระ               

               อรรถกถาสติปัฏฐานวาระเป็นต้น               
               พึงทราบอรรถและการนับในปฏิสัมภิทานิเทศ อันมีสติปัฏฐานสูตรเป็นเบื้องต้น และมีอิทธิปาทสูตรเป็นเบื้องต้น.

               อรรถกถาสัตตโพธิสัตตวาระเป็นต้น               
               ในสูตรหนึ่งๆ ในสูตร ๗ ของพระโพธิสัตว์ ๗ มีธรรม ๑๐ คือในสมุทัย ๕ มีจักษุเป็นต้น ในนิโรธ ๕ มีอรรถ ๑๐ คือในสมุทัย ๕ มีอรรถว่าความเห็นเบื้องต้น. ในนิโรธ ๕ มีนิรุตติ ๒๐ ด้วยสามารถแห่งธรรมและอรรถเหล่านั้น มีญาณ ๔๐ การนับทำไวยากรณภาษิต รวมกันกล่าวเข้าใจง่ายดี.
               พึงทราบวินิจฉัยในปฏิสัมภิทานิเทศ ซึ่งท่านกล่าวแล้วด้วยสามารถแห่งพระสัพพัญญุญาณดังต่อไปนี้.๑-
               ในมูลกะหนึ่งๆ มีธรรม ๒๕ ด้วยสามารถปัญจกะละ ๕ คือ ในคำหนึ่งๆ ใน ๕ คำเหล่านี้ คือ เรารู้แล้ว ๑ เห็นแล้ว ๑ รู้แจ้งแล้ว ๑ ทำให้แจ้งแล้ว ๑ ถูกต้องแล้ว ๑ ด้วยปัญญา ธรรม ๕ มีจักษุเป็นต้น ธรรม ๕ มีอรรถว่าความเห็นเป็นต้น มีอรรถ ๒๕ เป็นนิรุตติคูณด้วย ๒ (๕๐) เป็นญาณคูณด้วย ๒ (๑๐๐) ทำ ๕ อย่างรวมกันแล้วทำ ๕ ๕ ครั้ง แม้ในวาระที่กล่าวทำ ๕ รวมกัน เป็น ๒๕ จึงมีธรรม ๑๒๕ มีอรรถ ๑๒๕ มีนิรุตติ คูณด้วย ๒ (๒๔๐) มีญาณคูณด้วย ๒ (๕๐๐).
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๒๙๓

               บทว่า อฑฺฒเตยฺยานิ คือ มีนิรุตติ ๒๕๐.
               แม้ในขันธ์เป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

               อรรถกถาพุทธธรรมวาระ               
               พึงทราบวินิจฉัยในพุทธธรรมวาระดังต่อไปนี้.
               บทว่า ทิยฑฺฒสตํ มีธรรม ๑๕๐ คือ ๒๕ รวม ๖ ครั้ง เป็นธรรม ๑๕๐ มีนิรุตติ คูณด้วย ๒ (๓๐๐) มีญาณคูณด้วย ๒ (๖๐๐).
               บทว่า ปฏิสมฺภิทาธิกรเณ คือ ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทา.
               บทว่า อฑฺฒนวธมฺมสตา นี้ คือ มีธรรม ๘๕๐ อย่างนี้ คือในสัจจะ ๔ ที่กล่าวแล้วครั้งแรก ๖๐ ในสติปัฏฐาน ๔ รวม ๖๐ ในไวยากรณภาษิตของพระโพธิสัตว์ ๗ ในธรรม ๕ มีตั้งอยู่ในอภิญญาเป็นต้น ๑๒๕ ในธรรม ๕ มีขันธ์เป็นต้น ๑๒๕ ในอริยสัจ ๔ อีก ๑๐๐ ในปฏิสัมภิทา ๔ รวม ๑๐๐ ในพุทธธรรม ๖ รวม ๑๕๐.
               แม้อรรถก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน.
               มีนิรุตติ ๑๒๐ ในฐานะ ๓ มีสัจจะเป็นต้น มีนิรุตติ ๑๔๐ ในไวยากรณภาษิต ๗ มีนิรุตติในอภิญญาเป็นต้น และในขันธ์เป็นต้นอย่างละ ๑๕๐ มีนิรุตติอย่างละ ๒๐๐ ในอริยสัจ ๔ และในปฏิสัมภิทา มีนิรุตติ ๓๐๐ ในพุทธธรรม รวมเป็นมีนิรุตต ๑,๗๐๐. มีญาณ ๓,๔๐๐ อย่างนี้ คือ มีญาณอย่างละ ๒๐๐ ในฐานะ ๓ มีสัจจะเป็นต้นมีญาณ ๖๘๐ ในไวยากรณภาษิต ๗ มีญาณอย่างละ ๕๐๐ ในอภิญญาเป็นต้น และในขันธ์เป็นต้น มีญาณอย่างละ ๔๐๐ ในปฏิสัมภิทา ๔ มีญาณ ๖๐๐ ในพุทธธรรม.

               จบอรรถกถาปฏิสัมภิทากถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรค ๖. ปฏิสัมภิทากถา จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 588อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 598อ่านอรรถกถา 31 / 614อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=8833&Z=9126
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=5626
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=5626
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :