ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 621อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 633อ่านอรรถกถา 31 / 659อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรค
๑๐. สุญกถา

               อรรถกถาสุญญกถา               
               บัดนี้จะพรรณนาตามลำดับความที่ยังไม่เคยพิจารณาแห่งสุญญกถาอันมีพระสูตรเป็นเบื้องต้น มีโลกุตรสุญญตาเป็นที่สุด อันพระอานนทเถระกล่าวแล้วในลำดับแห่งพลกถาอันมีโลกุตรพละเป็นที่สุด
               พึงทราบวินิจฉัยในพระสูตรดังต่อไปนี้ก่อน.
               บทว่า อถ เป็นนิบาตลงในความถือมั่นในถ้อยคำ.
               ด้วยบทนั้น ท่านทำการถือมั่นถ้อยคำมีอาทิว่า อายสฺมา.
               บทว่า โข เป็นนิบาตลงในอรรถแห่งบทบูรณ์ (ทำบทให้เต็ม).
               บทว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ พระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงที่ประทับ เป็นตติยาวิภัตติลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ เพราะฉะนั้นพึงเห็นอรรถในบทนี้อย่างนี้ว่า ยตฺถ ภควา ตตฺถ อุปสฺงกมิ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ ที่ใด เข้าไปเฝ้าแล้ว ณ ที่นั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นอรรถในบทนี้อย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าอันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พึงเข้าไปเฝ้าด้วยเหตุใด เข้าไปเฝ้าแล้วด้วยเหตุนั้น.
               อนึ่ง พึงเห็นอรรถในบทนี้อย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าอันเทวดาและมนุษย์พึงเข้าไปเฝ้าด้วยเหตุอะไร ด้วยประสงค์บรรลุคุณวิเศษมีประการต่างๆ ดุจต้นไม้ใหญ่ซึ่งผลิตผลอยู่เป็นนิจ อันหมู่นกทั้งหลายพึงเข้าไปด้วยประสงค์กินผลไม้มีรสอร่อยฉะนั้น เข้าไปหาแล้วด้วยเหตุนั้น.
               อนึ่ง บทว่า อุปสงฺกมิ ท่านอธิบายว่า เข้าไปแล้ว.
               บทว่า อุปสงฺกมิตฺวา ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว เป็นบทแสดงถึงที่สุดแห่งการเข้าเฝ้า.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านอธิบายว่า ไปแล้วอย่างนี้ คือไปยังที่ระหว่างอาสนะจากที่นั้น กล่าวคือใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               บทแสดงถึงที่สุดแห่งการเข้าเฝ้า.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านอธิบายว่า ไปแล้วอย่างนี้ คือไปยังที่ระหว่างอาสนะจากที่นั้น กล่าวคือใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               บทว่า อภิวาเทตฺวา คือ ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์.
               บัดนี้ พระอานนทเถระประสงค์จะทูลถามข้อความที่ตนมาอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นบุคคลเลิศในโลก จึงยกมือขึ้นถวายบังคมเหนือศีรษะแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               บทว่า เอกมนฺตํ แสดงถึงเป็นภาวนปุงสกดุจในประโยคมีอาทิว่า๑- ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เดินไม่สม่ำเสมอ เพราะฉะนั้น พึงเห็นอรรถในบทนี้ อย่างนี้ว่า พระอานนท์นั่งโดยอาการที่นั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง บทนี้เป็นทุติยาวิภัตติลงในอรรถสัตตมีวิภัตติ.
____________________________
๑- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๗๐

               บทว่า นิสีทิ คือ สำเร็จการนั่ง.
               จริงอยู่ เทวดาและมนุษย์ผู้ฉลาด ครั้นเข้าไปหาท่านผู้ที่เคารพ ยอมนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง เพราะเป็นผู้ฉลาดในอาสนะ พระเถระนี้ก็เป็นรูปหนึ่งของบรรดาผู้ฉลาดเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง.
               ก็นั่งอย่างไรเล่าจึงชื่อว่า นั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง.
               คือ เว้นโทษของการนั่ง ๖ ประการ คือ ไกลเกินไป ๑ ใกล้เกินไป ๑ เหนือลม ๑ ที่ไม่มีระหว่าง ๑ ตรงหน้าเกินไป ๑ หลังเกินไป ๑.
               เพราะนั่งไกลเกินไป หากประสงค์จะพูดก็ต้องพูดด้วยเสียงดัง.
               นั่งใกล้เกินไปย่อมเบียดเสียด.
               นั่งเหนือลมก็จะรบกวนด้วยกลิ่นตัว.
               นั่งไม่มีระหว่าง ประกาศความไม่เคารพ.
               นั่งตรงหน้าเกินไป หากประสงค์จะเห็นตาต่อตาก็จะจ้องกัน.
               นั่งหลังเกินไป หากประสงค์จะเห็นก็ต้องเหยียดคอมองดู.
               เพราะฉะนั้น พระอานนทเถระนี้จึงนั่งเว้นโทษของการนั่ง ๖ ประการเหล่านี้ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เอกมนฺตํ นิสีทิ นั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง.
               บทว่า เอตทโวจ คือได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               บทว่า สุญฺโญ โลโก สุญฺโญ โลโกติ ภนฺเต วุจฺจติ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า โลกสูญ โลกสูญ ดังนี้.
               ความว่า ภิกษุผู้ปฏิบัติในศาสนานี้ย่อมกล่าวว่า โลกสูญ โลกสูญ ดังนี้ เพราะคำเช่นนั้นพูดกันมากในที่นั้นๆ เพื่อสงเคราะห์ภิกษุทั้งหมดเหล่านั้นจึงพูกซ้ำๆ เมื่อกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็เป็นอันรวมคำเหล่านั้นทั้งหมด.
               บทว่า กิตฺตาวตา คือ ด้วยประมาณเท่าไร.
               ศัพท์ว่า นุ หนอ เป็นนิบาตลงในอรรถแห่งความสงสัย.
               บทว่า สุญฺญํ อตฺเตน วา อตฺตนิเยน วา สูญจากตนหรือสิ่งที่เนื่องด้วยตน คือสูญจากตนที่โลกกำหนดไว้อย่างนี้ว่า ผู้ทำ ผู้เสวย ผู้มีอำนาจเอง และจากบริขารอันเป็นของตน เพราะความไม่มีตนนั่นแหละ จักษุเป็นต้นทั้งหมดเป็นธรรมชาติของโลก จักษุเป็นต้นนั่นแหละ ชื่อว่าโลก เพราะอรรถว่าสลายไป.
               อนึ่ง เพราะตนไม่มีในโลกนี้ และสิ่งที่เนื่องด้วยตนก็ไม่มีในโลกนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สุญฺโญ โลโก โลกสูญ แม้โลกุตรธรรมก็สูญเหมือนกัน เพราะเป็นสิ่งเนื่องด้วยตน แต่ท่านกล่าวถึงโลกิยธรรมเท่านั้นโดยสมควรแก่คำถาม.
               อนึ่ง บทว่า สุญฺโญ ท่านไม่กล่าวว่า ธรรมไม่มี ท่านกล่าวถึงความไม่มีตนและสาระอันเนื่องด้วยตนในธรรมนั้น.
               อนึ่ง เมื่อชาวโลกพูดว่าเรือนสูญ หม้อสูญ ก็มิใช่กล่าวถึงความไม่มีเรือนและหม้อ กล่าวถึงความไม่มีสิ่งอื่นในเรือนและในหม้อนั้น.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสความนี้ไว้ว่า ก็สิ่งใดแลไม่มีในสิ่งนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาสิ่งนั้นว่าสูญด้วยเหตุนั้น แต่สิ่งใดมีเหลืออยู่ในสิ่งนั้น สิ่งนั้นมีอยู่ ภิกษุย่อมรับรู้ว่าสิ่งนี้มีอยู่ดังนี้.
               ในญายคันถะ (คัมภีร์เพื่อความรู้) และในสัททคันถะ (คัมภีร์ศัพท์) ก็มีความอย่างนี้เหมือนกัน.
               ในพระสูตรนี้ ท่านกล่าวถึงอนัตตลักขณสูตรเหล่านั้นด้วยประการดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในสุตตันตนิเทศดังต่อไปนี้.
               ท่านยกบทมาติกา ๒๕ บทมีอาทิว่า สุญฺญํ สุญฺญํ ขึ้นด้วยเชื่อมคำว่าสูญ แล้วชี้แจงบทมาติกาเหล่านั้น.
               พึงทราบความในมาติกานั้นดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่า สุญญํ สุญญํ เพราะสูญคือว่างเปล่า ไม่แปลกไปจากบทอื่น.
               อนึ่ง ในบทนี้เพราะไม่ชี้แจงว่า อสุกํ โน้น ท่านไม่เพ่งถึงความเป็นของสูญ แล้วจึงทำให้เป็นคำนปุงลิงศ์.
               แม้ในบทที่เหลือก็อย่างนี้.
               ชื่อว่า สังขารสูญ เพราะสังขารนั่นแหละสูญจากสังขารที่เหลือ.
               ชื่อว่า วิปริณามสูญ เพราะสูญผิดรูป เปลี่ยนแปลง แปรปรวนไปด้วยชราและความดับ สูญเพราะวิปริณามธรรมนั้น.
               ชื่อว่า อัคคสูญ เพราะอัคคบทนั้นเป็นเลิศจากตนและสิ่งที่เนื่องด้วยตน หรือสูญจากสังขารทั้งปวง.
               ชื่อว่า ลักษณสูญ เพราะลักษณะนั่นแหละสูญจากลักษณะที่เหลือ.
               ชื่อว่า วิกขัมภนสูญ เพราะสูญเพราะการข่มมีเนกขัมมะเป็นต้น.
               แม้ในสุญญะ ๔ มีตทังคสูญ (สูญเพราะองค์นั้นๆ) เป็นต้น มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ชื่อว่า อัชฌัตตสูญ (ภายในสูญ) เพราะภายในนั้นสูญจากตนและสิ่งที่เนื่องด้วยตนเป็นต้น.
               ชื่อว่า พหิทธาสูญ (ภายนอกสูญ) เพราะภายนอกนั้นสูญจากตนและสิ่งที่เนื่องด้วยตนเป็นต้น.
               ชื่อว่า ทุกโตสูญ (ทั้งภายในและภายนอกสูญ) เพราะทั้งสองนั้นสูญจากตนและสิ่งที่เนื่องด้วยตน.
               ชื่อว่า สภาคสูญ (ส่วนที่เสมอกันสูญ) เพราะวิสภาคะปราศจากส่วนเสมอกัน วิสภาคะนั้นสูญจากตนและสิ่งที่เนื่องด้วยตน. ความว่า สูญไม่เหมือนกัน.
               ในบางคัมภีร์เขียนไว้ว่า สภาคสุญญํ วิสภาคสุญญํ อยู่ในลำดับ นิสสรณ สุญญํ (สูญเพราะสลัดออก).
               ชื่อว่า เอสนาสูญ (ความแสวงหาสูญ) เพราะการแสวงหาเนกขัมมะเป็นต้นสูญจากกามฉันทะเป็นต้น.
               แม้ในสุญญะ ๓ มีปริคฺคหสุญฺญา (ความกำหนดสูญ) เป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ชื่อว่า เอกัตตสูญ (ความเป็นอย่างเดียวสูญ) เพราะความเป็นอย่างเดียวนั้นสูญจากความเป็นต่างกัน เพราะตั้งอยู่ในอารมณ์เดียวกัน เพราะไม่มีความฟุ้งซ่านในอารมณ์ต่างๆ กัน.
               ชื่อว่า นานัตตสูญ (ความเป็นต่างๆ สูญ) เพราะความเป็นต่างๆ นั้นสูญจากความเป็นอันเดียวกัน เพราะตรงกันข้ามกับความเป็นอย่างเดียวกันนั้น.
               ชื่อว่า ขันติสูญ เพราะความอดทนในเนกขัมมะเป็นต้นสูญจากกามฉันทะเป็นต้น.
               อธิษฐานสูญและความมั่นคงสูญมีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า สมฺปชานสฺส ผู้มีสัมปชัญญะ คือพระอรหันต์ผู้ปรินิพพานประกอบด้วยสัมปชัญญะ.
               บทว่า ปวตฺตปริยาทานํ การครอบงำความเป็นไป คืออนุปาทาปรินิพพาน (ปรินิพพานเพราะไม่เกิดอีก).
               บทว่า สพฺพสุญฺญตานํ คือ กว่าความสูญทั้งปวง.
               บทว่า ปรมตฺถสุญฺญํ คือ ความสูญอันเป็นประโยชน์อย่างสูงสุด เพราะไม่มีสังขารทั้งปวง.
               พึงทราบวินิจฉัยในมาติกานิเทศดังต่อไปนี้.
               บทว่า นิจฺเจน วา จากความเที่ยง คือสูญจากความเที่ยง เพราะไม่มีความเที่ยงไรๆ อันก้าวล่วงความดับแล้วเป็นไปอยู่ได้.
               บทว่า ธุเวน วา จากความยั่งยืน คือสูญจากความยั่งยืนเพราะไม่มีความมั่นคงไรๆ ที่เป็นไปเนื่องด้วยปัจจัย แม้ในกาลที่มีอยู่.
               บทว่า สสฺสเตน วา จากความมั่นคง คือสูญจากความมั่นคง เพราะไม่มีอะไรๆ ที่มีอยู่ในกาลทั้งปวงซึ่งตัดขาดไปแล้ว.
               บทว่า อวิปริณามธมฺเมน วา จากความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา คือสูญจากความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะไม่มีอะไรๆ ซึ่งปกติจะไม่แปรปรวนไปด้วยความดับ เมื่อกล่าวถึงความสูญจากตนโดยพระสูตรแล้ว เพื่อแสดงความสูญจากความเป็นของเที่ยงและความสูญจากความสุข ท่านจึงกล่าวบทมีอาทิว่า นิจฺเจน ไว้ในที่นี้.
               เมื่อกล่าวถึงความสูญจากความเป็นของเที่ยง เพราะความเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์โดยถูกบีบคั้น เป็นอันท่านกล่าวถึงแม้ความสูญจากความสุขด้วย.
               อนึ่ง พึงทราบว่าท่านย่อวิสัย ๖ มีรูปเป็นต้น วิญญาณ ๖ มีจักษุวิญญาณเป็นต้น ผัสสะ ๖ มีจักษุสัมผัสเป็นต้น และเวทนา ๖ มีจักษุสัมผัสสชาเวทนาเป็นต้นไว้ในที่นี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า ปุญฺญาภิสงฺขาโร ดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่าบุญ เพราะกลั่นกรองการกระทำของตน ยังอัธยาศัยของบุคคลนั้นให้เต็ม และยังความเจริญน่าบูชาให้เกิด. ชื่อว่าอภิสังขาร เพราะปรุงแต่งวิบากและกฎัตตารูป. การปรุงแต่ง ชื่อว่าปุญญาภิสังขาร.
               การปรุงแต่งบาปโดยตรงกันข้ามกับบุญ ชื่อว่าอปุญญาภิสังขาร.
               ชื่อว่าอเนญชาภิสังขาร เพราะปรุงแต่งความไม่หวั่นไหว.
               ปุญญาภิสังขารมีเจตนา ๑๓ คือ กามาวจรกุศลเจตนา ๘ เป็นไปด้วยอำนาจแห่งทาน ศีล ภาวนาเป็นต้น และรูปาวจรกุศลเจตนา ๕ เป็นไปด้วยอำนาจแห่งภาวนา.
               อปุญญาภิสังขารมีอกุศลเจตนา ๑๒ เป็นไปด้วยอำนาจแห่งปาณาติบาตเป็นต้น.
               อเนญชาภิสังขารมีอรูปาวจรเจตนา ๔ เป็นไปด้วยอำนาจแห่งภาวนาเท่านั้น เพราะเหตุนั้น สังขาร ๓ มีเจตนา ๒๙.
               ในกายสังขารเป็นต้นมีความดังนี้.
               ชื่อว่ากายสังขาร เพราะเป็นไปทางกาย หรือปรุงแต่งกาย.
               แม้ในวจีสังขารและจิตตสังขาร ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ท่านกล่าวติกะนี้เพื่อให้เห็นความเป็นไปทางทวารแห่งปุญญาภิสังขารเป็นต้น ในขณะประมวลกรรมไว้.
               เจตนา ๒๑ คือ กามาวจรกุศลเจตนา ๘ อกุศลเจตนา ๑๒ อภิญญาเจตนา ๑ ยังกายวิญญัติ (ให้รู้ทางกาย) ให้ตั้งขึ้นแล้วเป็นไปทางกายทวาร ชื่อว่ากายสังขาร.
               เจตนาเหล่านั้นนั่นแหละยังวจีวิญญัติ (ให้รู้ทางวาจา) ให้ตั้งขึ้น แล้วเป็นไปทางวจีทวาร ชื่อว่าวจีสังขาร.
               ส่วนเจตนา ๒๙ แม้ทั้งหมดเป็นไปในมโนทวาร ชื่อว่าจิตตสังขาร.
               ในบทมีอาทิว่า อตีตา สงฺขารา สังขารส่วนอดีต มีความดังต่อไปนี้.
               สังขตธรรมแม้ทั้งหมด ถึงคราวของตนดับไป ชื่อว่าสังขารส่วนอดีต. สังขตธรรมยังไม่ถึงคราวของตน ชื่อว่าสังขารส่วนอนาคต. สังขตธรรมถึงคราวของตน ชื่อว่าสังขารส่วนปัจจุบัน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงถึงสังขารส่วนปัจจุบัน ในการสูญเพราะความแปรปรวนแล้ว จึงทรงแสดงปัจจุบันธรรมก่อนว่า ความแปรปรวนของสังขารส่วนปัจจุบันนั้นๆ สามารถกล่าวได้ง่าย.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ชาตํ รูปํ รูปเกิดแล้ว คือรูปส่วนปัจจุบัน.
               พึงทราบความในบทนี้ว่า สภาเวน สุญญํ สูญไปจากสภาพ ดังต่อไปนี้.
               ความเป็นเอง ชื่อว่าสภาพ. อธิบายว่า เกิดเอง หรือความเป็นของตน ชื่อว่าสภาพ. อธิบายว่า ความเกิดของตนเอง. ชื่อว่าสูญจากสภาพ เพราะความเป็นเอง เว้นปัจจัย เพราะความเป็นไปเนื่องด้วยปัจจัย หรือจากความเป็นของจนไม่มีในสภาพนี้.
               ท่านอธิบายว่า สูญจากความเป็นเอง หรือจากความเป็นตน.
               อีกอย่างหนึ่ง ความเป็นของตนชื่อว่าสภาพ เพราะว่าธรรมหนึ่งๆ ในรูปธรรมและอรูปธรรมไม่น้อย มีปฐวีธาตุเป็นต้น ชื่อว่าตนประสงค์ผู้อื่นด้วย.
               อนึ่ง บทว่า ภาโว นี้ เป็นคำกล่าวโดยธรรมปริยาย.
               อนึ่ง ธรรมคือความเป็นอื่นไม่มีแก่ธรรมหนึ่ง เพราะฉะนั้น ชื่อว่าสูญจากความเป็นอื่นของตน ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวความที่ธรรมนั้นเป็นสภาพอย่างเดียวกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สภาเวน สุญฺญํ สูญไปจากสภาพ คือสูญไปจากสภาพอันเป็นความสูญ.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร
               ท่านอธิบายไว้ว่า สูญเพราะความเป็นสภาพ สูญ สูญ มิใช่สูญเพราะความเป็นสภาพสูญโดยปริมาณอย่างอื่น.
               หากอาจารย์บางพวกพึงกล่าวว่า ความเป็นตนชื่อว่าสภาพ สูญจากสภาพนั้น อธิบายไว้อย่างไร.
               ธรรมชื่อว่าภาวะ ภาวะนั้นเติมบท เข้าไปประสงค์เอาผู้อื่น จึงเป็นสภาวะ. เพราะธรรมไม่มีแก่ใครๆ ท่านจึงกล่าวความไม่มีแห่งรูปว่า รูปเกิดแล้วสูญไปจากสภาพ ดังนี้. เมื่อเป็นอย่างนั้น ย่อมผิดด้วยคำว่า ชาตํ รูปํ รูปเกิดแล้ว. เพราะรูปปราศจากความเกิด จะชื่อว่ารูปเกิดแล้วไม่ได้ นิพพานต่างหากปราศจากความเกิด นิพพานนั้นจึงไม่ชื่อว่าเกิดแล้ว.
               อนึ่ง ชาติ ชราและมรณะ ปราศจากความเกิดก็ไม่ชื่อว่าเกิดแล้ว.
               ด้วยเหตุนั้นแหละ ในบทนี้ท่านจึงไม่ยกขึ้นอย่างนี้ ว่าชาติเกิดแล้ว สูญไปจากสภาพ ชรามรณะเกิดแล้ว สูญไปจากสภาพ แล้วจึงชี้แจงทำภพนั่นแหละให้เป็นที่สุด.
               ผิว่า คำว่า ชาตํ เกิดแล้วพึงควรแม้แก่ผู้ปราศจากความเกิด ก็ควรกล่าวได้ว่า ชาตา ชาติ ชาตํ ชรามรณํ ชาติเกิดแล้ว ชราและมรณะเกิดแล้ว เพราะเมื่อชาติชราและมรณะปราศจากความเกิด ท่านก็ไม่กล่าวคำว่า ชาติ ฉะนั้น คำว่า สูญ คือไม่มีจากสภาพ จึงผิดด้วยคำว่า ชาตํ เพราะปราศจากความเกิดของความไม่มี.
               อนึ่ง เมื่อไม่มี คำว่า สุญฺญํ ก็ผิดด้วยคำของชาวโลกที่กล่าวแล้วในหนหลัง ด้วยพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า และด้วยคำในญายคันถะและสัทธาคันถะ และผิดด้วยข้อยุติไม่น้อย เพราะฉะนั้น พึงทิ้งคำนั้นเสียเหมือนทิ้งขยะ.
               ในบทนี้เป็นอันยุติว่า ธรรม ธรรมทั้งหลายมีอยู่ในขณะของตนด้วยประมาณพระพุทธพจน์มิใช่น้อย และด้วยยุติไม่น้อย มีอาทิว่า๒-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่บัณฑิตทั้งหลายในโลกสมมติว่ามีอยู่ แม้เราก็กล่าวว่าสิ่งนั้นมีอยู่.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่บัณฑิตทั้งหลายในโลกสมมติว่าไม่มี แม้เราก็กล่าวว่าสิ่งนั้นไม่มี.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่บัณฑิตทั้งหลายในโลกสมมติว่ามี เราก็กล่าวว่าสิ่งนั้นมี.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ที่บัณฑิตทั้งหลายในโลกสมมติว่ามีแม้เราก็กล่าวว่า สิ่งนั้นว่ามี.
____________________________
๒- สํ. ขนฺธ. เล่ม ๑๗/ข้อ ๒๓๙

               บทว่า วิคตํ รูปํ รูปหายไป คือรูปส่วนอดีตดับ เพราะเกิดแล้วถึงความดับ.
               บทว่า วิปริณตญฺเจว สุญฺญญจ รูปแปรปรวนไปและหายไป คือรูปถึงความผิดรูป ความแปรปรวนด้วยชราและความดับ และสูญจากความแปรปรวนนั้น เพราะปรากฎความแปรปรวนแห่งรูปที่กำลังเป็นไปอยู่ เพราะไม่มีความแปรปรวนแห่งรูปส่วนอดีต.
               แม้ในบทว่า ชาตา เวทนา เวทนาเกิดแล้วเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               อนึ่ง ชาติ ชรา และมรณะไม่ควรในที่นี้ โดยไม่ได้ด้วยภาระของตน เพราะยังไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น ท่านจึงละนัยทั้งสองอาทิว่า ชาติเกิดแล้ว ชราและมรณะเกิดแล้ว แล้วทำนัยมีภพเป็นต้นแหละให้เป็นที่สุดตั้งไว้.
               บทว่า อคฺคํ คือ เป็นผู้อยู่ในความเลิศ.
               บทว่า เสฏฺฐํ คือ น่าสรรเสริฐอย่างยิ่ง.
               บทว่า วิสิฏฺฐํ คือ วิเศษยิ่ง. ปาฐะว่า วิเสฏฺฐํ บ้าง.
               แม้โดยอาการ ๓ อย่างนั้น คือ อคฺคํ เสฏฺฐํ วิสิฏฺฐํ ได้แก่ นิพพานอันประเสริฐ ชื่อว่าบท เพราะความปฏิบัติด้วยปฏิปทาชอบ.
               บทว่า ยทิทํ ตัดบทเป็น ยํ อิทํ.
               บัดนี้ พระอานนทเถระชี้แจงถึงนิพพานอันควรกล่าวไว้ เพราะความสงบสังขารทั้งปวงย่อมมีได้เพราะอาศัยนิพพาน ความสละอุปธิทั้งหลายอันได้แก่ ขันธูปธิ กิเลสูปธู อภิสังขารูปธิ กามคุณูปธิ ย่อมมีได้ ความสิ้นตัณหา ความสำรอกกิเลสและความดับย่อมมีได้ ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า สพฺพสงฺขารสมโถ สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโค ตณฺหกฺขโย วิราโค นิโรโธ ความสงบสังขารทั้งปวง ความสละอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสำรอกกิเลส ความดับ.
               บทว่า นิพฺพานํ คือ ออกไปจากลักษณะอันเป็นสภาพ.
               พึงทราบวินิจฉัยในลักษณะทั้งหลายดังต่อไปนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๓-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พาลลักษณะ พาลนิมิต พาลปทาน (เรื่องราวของคนพาล) ของคนพาลมี ๓ อย่าง. ๓ อย่างเป็นไฉน.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาลในโลกนี้มีความคิดชั่ว พูดชั่วและทำกรรมชั่ว.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๓ อย่างเหล่านี้แลเป็นพาลลักษณะ พาลนิมิต พาลปทานของคนพาล.
               พาลลักษณะ ๓ อย่างของคนพาล บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่าพาล เพราะลักษณะของตน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๔-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตลักษณะ บัณฑิตนิมิต บัณฑิตปทาน (เรื่องราวของบัณฑิต) ของบัณฑิตมี ๓ อย่างเหล่านี้. ๓ อย่างเป็นไฉน.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตในโลกนี้คิดดี พูดดีและทำกรรมดี.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๓ อย่างเหล่านี้แลเป็นบัณฑิตลักษณะ บัณฑิตนิมิตและบัณฑิตปทานของบัณฑิต.
               บัณฑิตลักษณะ ๓ อย่างของบัณฑิต บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่าบัณฑิต เพราะลักษณะของตน.
____________________________
๓- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๔๖๘  ๔- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๔๘๔

               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๕-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขตลักษณะของสังขตธรรม ๓ เหล่านี้. ๓ อย่างเป็นไฉน. ความเกิดปรากฏ ๑ ความเสื่อมปรากฏ ๑ เมื่อตั้งอยู่ความแปรไปปรากฏ ๑.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๓ อย่างเหล่านี้แหละเป็นสังขตลักษณะของสังขตธรรม.
____________________________
๕- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๔๘๖

               ด้วยบทนี้แสดงถึงความไม่มีลักษณะ ๒ ที่เหลือในขณะเกิด ลักษณะ ๒ ที่เหลือในขณะตั้งอยู่ ลักษณะ ๒ ที่เหลือในขณะดับ.
               อนึ่ง ในบทนี้ท่านกล่าวถึงลักษณะมีความเกิดเป็นต้นแห่งชาติ และชรามรณะโดยไปยาลมุข (ละข้อความ). ลักษณะนั้นละชาติชราและมรณะเสีย เพราะความสูญจากความแปรปรวนจึงพลาดไปด้วยคำแห่งนัยอันมีภพเป็นที่สุดและด้วยลัทธิที่ไม่พูดถึงความเกิดเป็นต้นแห่งความเกิดเป็นต้น แต่เพราะตกไปในกระแสแห่งลักษณะพึงทราบว่าท่านเขียนทำให้ตกไปในกระแส.
               อนึ่ง ท่านกล่าวว่าในอภิธรรมมิได้ยกขึ้นว่า๖- องค์แห่งฌานแม้ได้ในสังคหวารแห่งมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุอันเป็นอเหตุกวิบาก ก็ตกไปในกระแสแห่งวิญญาณ ๕ ฉันใด แม้ในที่นี้ก็พึงทราบความที่ลักษณะตกไปในกระแสฉันนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ความเกิดเป็นต้นแห่งสังขารทั้งหลายอันมีชาติ ชราและมรณะ พึงทราบว่าท่านกล่าวทำสังขารเหล่านั้นดุจในบทว่า๗- เห็นชาติชราและมรณะโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง.
____________________________
๖- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๔๗๙  ๗- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๑๘๒

               บทว่า เนกฺขมฺเมน กามจฺฉนฺโท วิกฺขมฺภิโต เจว สุญฺโญ จ กามฉันทะอันเนกขัมมะข่มแล้วและสูญไป คือ กามฉันทะอันเนกขัมมะข่มแล้วและสูญไปเพราะเนกขัมมะ กล่าวคืออันเนกขัมมะนั้นแหละข่ม เพราะไม่มีเนกขัมมะในกามฉันทะนั้น.
               แม้ในบทที่เหลือก็พึงทำการประกอบอย่างนั้น.
               อนึ่ง แม้ในตทังคปหานะและสมุจเฉทปหานะท่านก็กล่างถึงการข่มด้วยอรรถว่าทำให้ไกลด้วยบทนี้ว่า ละด้วยตทังคะและสมุจเฉทะเป็นอันทำให้ไกลแล้วนั่นเอง.
               บทว่า เนกฺขมฺเมน กามฉนฺโท ตทงฺคสุญฺโญ กามฉันทะเป็นตทังคสูญ (สูญเพราะองค์นั้นๆ) เพราะเนกขัมมะ คือกามฉันทะละได้ด้วยเนกขัมมะ สูญไปด้วยองค์คือเนกขัมมะนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง กามฉันทะอย่างใดอย่างหนึ่งสูญไปด้วยองค์นั้นอันเป็นเนกขัมมะ เพราะไม่มีเนกขัมมะในกามฉันทะนั้น.
               แม้ในบทที่เหลือก็พึงทราบการประกอบอย่างนั้น.
               อนึ่ง ในบทนี้ท่านชี้แจงความสูญเพราะองค์นั้นๆ ด้วยอุปาจารฌานและอัปปนาฌานและด้วยวิปัสสนาเพียงความไม่มีองค์นั้นๆ ในกามฉันทะนั้นๆ แต่ท่านชี้แจงวิปัสนาทำวัฏฏานุปัสสนา (การเห็นนิพพาน) ให้เป็นที่สุด เพราะไม่มีคำแสดงถึงการละ ท่านมิได้ชี้แจงถึงมรรค ๔.
               ในบทมีอาทิว่า เนกฺขมฺเมน กามฉนฺโท สมุจฺฉินฺโน เจว สุญฺโญ จ กามฉันทะอันเนกขัมมะตัดแล้วและสูญไป
               พึงทราบอรรถในบทนี้โดยนัยดังกล่าวแล้วในวิกขัมภนะ (การข่ม) นั้นแล.
               ท่านกล่าวถึงสมุจเฉทะ (การตัด) โดยปริยายนี้ว่านิวรณ์ทั้งหลาย แม้ละแล้วด้วยตทังคะและวิกขัมภนะ ก็ชื่อว่าตัดขาดแล้ว เพราะไม่มีความปรากฏขึ้น พึงทราบว่าท่านกล่าวด้วยสามารถให้สำเร็จในการตัดกามฉันทะนั้นๆ หรือด้วยสามารถเนกขัมมะอันสัมยุตด้วยมรรคเป็นต้น.
               อนึ่ง ในปฏิปัสสัทธิสูญ (สูญเพราะระงับ) และนิสสรณสูญ (สูญเพราะสลัดออก) พึงทราบอรรถตามนัยดังกล่าวแล้วในบทนี้นั่นแหละ.
               ส่วนในตทังคปหานะ วิกขัมภนปหานะและสมุจเฉทปหานะ ท่านกล่าวถือเอาเพียงความสลัดออก เพราะเพียงระงับในบทนี้.
               ในสุญญะ ๕ เหล่านี้ เนกขัมมะเป็นต้นกล่าวโดยชื่อว่า วิกขัมภนสูญ ตทังคสูญ สมุจเฉทสูญ ปฏิปัสสัทธิสูญและนิสสรณสูญ.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ คือ มีในภายใน.
               บทว่า พหิทฺธา คือ มีในภายนอก.
               บทว่า ทุภโต สุญญํ คือ สูญทั้งภายในและภายนอกทั้งสอง.
               คำว่า โต ย่อมมีแม้ในปัจจัตตะ (ปฐมาวิภัตติ) เป็นต้น.
               อายตนะภายใน ๖ เป็นต้น เป็นส่วนเสมอกันโดยความเป็นอายตนะภายใน ๖ เป็นต้น เป็นส่วนไม่เสมอกันด้วยอายตยะทั้งหลายอื่น.
               อนึ่ง ในบทมีอาทิว่า วิญฺญาณกายา ด้วยหมวดวิญญาณ ในที่นี้ ท่านกล่าวถึงวิญญาณเป็นต้นด้วยคำว่า กายะ.
               ใน เนกขฺมเมสนา (การแสวงหาเนกขัมมะ) เป็นต้น พึงทราบความดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่า เอสนา เพราะอันวิญญูชนทั้งหลายผู้มีความต้องการเนกขัมมะนั้นย่อมแสวงหาเนกขัมมะนั่นแหละ.
               อีกอย่างหนึ่ง แม้การแสวงหาเนกขัมมะเป็นต้น ในส่วนเบื้องต้นก็สูญไปจากกามฉันทะเป็นต้น. ท่านอธิบายว่า แม้เนกขัมมะเป็นต้นก็ไม่ต้องพูดถึง.
               ใน ปริคฺคห (ความกำหนด) เป็นต้นพึงทราบความดังต่อไปนี้
               ท่านกล่าวว่า ชื่อว่า ปริคฺคห เพราะวิญญูชนแสวงหาเนกขัมมะเป็นต้นในส่วนเบื้องต้น กำหนดเอาในส่วนเบื้องปลาย ชื่อว่าปฏิลาภ (ความได้) เพราะวิญญูชนกำหนดเนกขัมมะย่อมได้ด้วยการบรรลุ และชื่อว่าปฏิเวธ (การแทงตลอด) เพราะวิญญูชนได้เนกขัมมะแล้วย่อมแทงตลอดด้วยญาณ.
               เพราะอานนทเถระถามถึงความเป็นอย่างเดียวสูญและความเป็นต่างๆ สูญ คราวเดียวกันแล้วแก้ความเป็นอย่างเดียวสูญ ไม่แก้ความเป็นต่างๆ สูญแล้วทำการสรุปคราวเดียวกัน.
               หากถามว่า เพราะเหตุไรจึงไม่แก้.
               ตอบว่า พึงทราบว่า ไม่แก้ เพราะท่านเพ่งถึงการประกอบดังนี้ เนกขัมมะเป็นอย่างเดียว กามฉันทะเป็นความต่าง กามฉันทะเป็นความต่าง สูญไปจากความเป็นอย่างเดียว คือเนกขัมมะ.
               แม้ในบทที่เหลือพึงทราบการประกอบอย่างนี้.
               ในบทมีอาทิว่า ขนฺติ พึงทราบความดังต่อไปนี้.
               เนกขัมมะเป็นต้น ท่านกล่าวว่าขันติ เพราะอดทนชอบใจ กล่าวว่าอธิฏฐาน เพราะเข้าไปตั้งไว้ซึ่งความชอบใจ และกล่าวว่าปริโยคาหนะ (ความมั่นคง) เพราะเมื่อเข้าไปตั้งแล้วเสพตามความชอบใจ.
               ปรมัตถสุญญนิเทศมีอาทิว่า สมฺปชาโน (รู้ตัว) ท่านพรรณนาไว้แล้วในปรินิพพานญาณนิเทศนั่นแหละ.
               อนึ่ง ในสุญญะทั้งหมดเหล่านี้ สังขารสุญญะ (สังขารสูญ) วิปริณามสุญญะ (ความแปรปรวนสูญ) และลักขณสุญญะ (ลักษณสูญ) ท่านกล่าวเพื่อให้เห็นความไม่ปนกันและกันของธรรมทั้งหลายตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว.
               อนึ่ง ท่านกล่าวถึงความสูญไปจากธรรมฝ่ายกุศลแห่งธรรมฝ่ายอกุศลในฐานะใด เพื่อให้เห็นโทษในอกุศลด้วยฐานะนั้น. ท่านกล่าวถึงความสูญไปจากธรรมฝ่ายอกุศลแห่งธรรมฝ่ายกุศลด้วยฐานะใด เพื่อให้เห็นอานิสงส์ในกุศลด้วยฐานะนั้น.
               ท่านกล่าวถึงความสูญไปจากตนและสิ่งที่เนื่องด้วยตนในฐานะใด เพื่อให้เกิดความเบื่อหน่ายฐานะนั้นในสังขารทั้งปวง.
               พึงทราบว่าท่านกล่าวถึงอัคคสูญและปรมัตถสูญ เพื่อให้เกิดอุตสาหะในนิพพาน.
               ในความสูญเหล่านั้น ความสูญ ๒ อย่าง คือ อัคคสูญและปรมัตถสูญ โดยอรรถได้แก่นิพพานนั่นเอง ท่านกล่าวทำเป็น ๒ อย่างด้วยอำนาจแห่งความเลิศและมีประโยชน์อย่างยิ่ง และด้วยอำนาจแห่งสอุปาทิเสส และอนุปาทิเสส.
               ความสูญ ๒ อย่างเหล่านั้น มีส่วนเสมอกันเพราะสูญจากตนและสิ่งที่เนื่องด้วยตนและสูญจากสังขาร.
               ความสูญ ๖ อย่างเหล่านี้ คือ สูญสูญ ๑ ภายในสูญ ๑ ภายนอกสูญ ๑ ทั้งภายในและภายนอกสูญ ๑ ส่วนเสมอกันสูญ ๑ ส่วนไม่เสมอกันสูญ ๑ เป็นอันสูญสูญทั้งหมด.
               อนึ่ง ท่านกล่าวความสูญ ๖ อย่างโดยประเภทมีภายในสูญเป็นต้น.
               อนึ่ง ความสูญ ๖ อย่างเหล่านี้ชื่อว่ามีส่วนเสมอกัน เพราะสูญจากตนและสิ่งที่เนื่องด้วยตนเป็นต้น.
               ความสูญ ๑๗ อย่าง คือ สังขารสูญ ๑ วิปริณามธรรมสูญ ๑ ลักษณสูญ ๑ วิกขัมภนสูญ ๑ ตทังคสูญ ๑ สมุจเฉทสูญ ๑ ปฏิปัสสัทธิสูญ ๑ นิสสรณสูญ ๑ เอสนาสูญ ๑ ปริคคหสูญ ๑ ปฏิลาภสูญ ๑ ปฏิเวธสูญ ๑ เอกัตตสูญ ๑ นานัตตสูญ ๑ ขันติสูญ ๑ อธิษฐานสูญ ๑ ปริโยคาหสูญ ๑ ท่านกล่าวไว้ต่างหากกันด้วยอำนาจแห่งความไม่มี เพราะสูญจากธรรมนั้นๆ อันไม่มีในตน.
               อนึ่ง สังขารสูญ วิปริณามธรรมสูญ ลักษณสูญมีส่วนเสมอกันด้วยการไม่ปนกับความสูญนอกนั้น.
               ความสูญ ๕ มีวิกขัมภนสูญเป็นต้น ชื่อว่ามีส่วนเสมอกัน เพราะความสูญไปด้วยธรรมฝ่ายกุศล.
               ความสูญ ๔ มีเอสนาสูญเป็นต้น และความสูญ ๓ มีขันติสูญเป็นต้น ชื่อว่ามีส่วนเสมอกัน เพราะสูญไปจากธรรมฝ่ายอกุศล.
               เอกัตตสูญและนานัตตสูญ มีส่วนเสมอกันด้วยตรงข้ามของกันและกัน.
                                   ท่านผู้รู้อรรถแห่งความสูญ ย่อมพรรณนาไว้ใน
                         ศาสนานี้ว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงโดยย่อเป็นความสูญ
                         ๓ ส่วน ๒ ส่วน และ ๑ ส่วน.
               อย่างไร. ธรรมทั้งปวงที่เป็นโลกิยธรรม ชื่อว่าสูญจากความยั่งยืน ความงาม ความสุขและตัวตนเพราะปราศจากความยั่งยืน ความงามความสุขและตัวตน.
               ธรรมอันเป็นมรรคและผล ชื่อว่าสูญจากความยั่งยืนความสุขและตัวตน เพราะปราศจากความยั่งยืนความสุขและตัวตน.
               ความเป็นสภาพไม่เที่ยงนั่นแหละสูญไปจากความสุข.
               ความไม่มีอาสวะสูญไปจากความงาม.
               นิพพานธรรมชื่อว่าสูญจากตัวตน เพราะไม่มีตัวตน.
               สังขตธรรมแม้ทั้งหมดทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ ชื่อว่าสูญจากสัตว์ เพราะไม่มีสัตว์อะไรๆ.
               นิพพานธรรมอันเป็นอสังขตะ ชื่อว่าสูญจากสังขาร เพราะไม่มีแม้สังขารทั้งหลายเหล่านั้น.
               ส่วนธรรมทั้งหมดทั้งที่เป็นสังขตธรรมและอสังขตธรรม ชื่อว่าสูญจากตัวตนเพราะไม่มีบุคคล กล่าวคือตัวตน ด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาสุญญกถา               
               แห่งอรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค ชื่อว่าสัทธัมมปกาสินี               
               และ               
               จบการพรรณนาตามลำดับความที่ยังไม่เคยพรรณนา               
               แห่งมัชฌิมวรรค               
               -----------------------------------------------------               

               รวมกถาที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. ยุคนัทธกถา
                         ๒. สัจจกถา
                         ๓. โพชฌงคกถา
                         ๔. เมตตากถา
                         ๕. วิราคกถา
                         ๖. ปฏิสัมภิทากถา
                         ๗. ธรรมจักรกถา
                         ๘. โลกุตรกถา
                         ๙. พลกถา
                         ๑๐. สุญกถา
               นิกายอันประเสริฐนี้ท่านตั้งไว้แล้ว เป็นวรมรรคอันประเสริฐที่ ๒ ไม่มีวรรคอื่นเสมอ ฉะนี้แล ฯ
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรค ๑๐. สุญกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 621อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 633อ่านอรรถกถา 31 / 659อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=9514&Z=9682
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=6246
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=6246
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :