ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 56อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 64อ่านอรรถกถา 31 / 67อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
ตติยภาณวาร - ปหาตัพพนิทเทส

               อรรถกถาปหาตัพพนิทเทส               
               [๖๔] พึงทราบวินิจฉัยในปหาตัพพนิทเทส ดังต่อไปนี้.
               บทว่า อสฺมิมาโน - มานะว่าเป็นเรา ได้แก่ ชื่อว่ามานะ เพราะเป็นเราในอุปาทานขันธ์ ๕ มีรูปเป็นต้น.
               จริงอยู่ เมื่อละมานะนั้นได้เป็นอันได้บรรลุพระอรหัต พึงทราบว่า แม้เมื่อรูปราคะเป็นต้น ยังมีอยู่ก็ไม่กล่าวถึงสังโยชน์ที่เหลือกล่าวถึงอัสมิมานะเท่านั้น เพราะอัสมิมานะนั้นหยาบเทียบได้กับทิฏฐิ.
               บทว่า อวิชฺชา คือความไม่รู้ในฐานะ ๔ มีทุกข์เป็นต้นโดยสุตตันตปริยาย, การไม่รู้ในฐานะ ๘ กับที่สุดของเบื้องต้นเป็นต้นโดยอภิธรรมปริยาย.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑-
                         ในธรรมเหล่านั้น อวิชชาเป็นไฉน?
                         อวิชชาคือความไม่รู้ทุกข์ ๑ ไม่รู้ทุกขสมุทัย ๑
               ไม่รู้ทุกขนิโรธ ๑ ไม่รู้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ๑ ไม่รู้
               ส่วนเบื้องต้น ๑ ไม่รู้ส่วนเบื้องปลาย ๑ ไม่รู้ทั้งส่วนเบื้อง
               ต้นและส่วนเบื้องปลาย ๑ ไม่รู้ปฏิจจสมุปปาทธรรมอัน
               เป็นอิทัปปัจจยตา - สิ่งนี้เป็นปัจจัยของสิ่งนี้ เมื่อสิ่งนี้มี
               สิ่งนี้ย่อมมี.
____________________________
๑- อภิ. สํ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๖๙๑

               บทว่า ภวตณฺหา ได้แก่ ปรารถนาในภพมีกามภพเป็นต้น.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ๒-
                         ในตัณหา ๓ นั้น ภวตัณหาเป็นไฉน?
                         ภวตัณหา คือ ความพอใจในภพ ความกำหนัดในภพ
               ความเพลิดเพลินในภพ ความอยากในภพ ความเสน่หาในภพ
               ความเร่าร้อนในภพ ความสยบในภพ ความพะวงหลงใหลใน
               ภพ.
____________________________
๒- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๙๑๒

               บทว่า ติสฺโส ตณฺหา - ตัณหา ๓ ได้แก่ กามตัณหา ๑ ภวตัณหา ๑ วิภวตัณหา ๑.
               ในอภิธรรม ท่านชี้แจงตัณหาเหล่านั้นไว้อย่างนี้ว่า ในตัณหา ๓ นั้น ภวตัณหาเป็นไฉน? ราคะสหรคตด้วยภวทิฏฐิ ฯลฯ จิตมีราคะ นี้เรียกว่าภวตัณหา.
               วิภวตัณหาเป็นไฉน? ราคะสหรคตด้วยอุจเฉททิฏฐิ ฯลฯ จิตมีราคะ นี้เรียกว่าวิภวตัณหา.
               ตัณหานอกนั้นเป็นกามตัณหา.
               กามตัณหาเป็นไฉน? ราคะประกอบด้วยกามธาตุ ฯลฯ จิตมีราคะ นี้เรียกว่ากามตัณหา.
               ภวตัณหาเป็นไฉน? ราคะประกอบด้วยรูปธาตุและอรูปธาตุ ฯลฯ
               วิภวตัณหา เป็นไฉน? ราคะสหรคตด้วยอุจเฉททิฏฐิ๓- ฯลฯ
____________________________
๓- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๙๓๓

               แต่ในอรรถกถา ท่านกล่าวว่า ราคะเป็นไปในกามคุณ ๕ ชื่อว่ากามตัณหา, ราคะในรูปภพและอรูปภพ ราคะสหรคตด้วยความใคร่ในฌาน และสัสสตทิฏฐิ ความปรารถนาด้วยอำนาจภพ ชื่อว่าภวตัณหา, ราคะสหรคตด้วยอุจเฉททิฏฐิ ชื่อว่าวิภวตัณหา.
               นี้แก้ไว้โดยปริยายแห่งทสุตตรสูตร.
               แม้ตัณหา ท่านกล่าวไว้โดยปริยายแห่งสังคีติ และโดยปริยายแห่งอภิธรรมว่า ตัณหา ๓ อย่างอื่นอีก คือ กามตัณหา รูปตัณหา อรูปตัณหา.
               อย่างอื่นอีก ๓ คือ รูปตัณหา อรูปตัณหา นิโรธตัณหา๔- ถูกต้องในนิทเทสนี้.
               ในตัณหาเหล่านั้น ตัณหา ๕ ประกอบด้วยกามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ, ตัณหาสุดท้ายสหรคตด้วยอุจเฉททิฏฐิ.
____________________________
๔- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๒๒๘.

               บทว่า จตฺตาโร โอฆา - โอฆะ ๔ คือ กาโมฆะ ๑ ภโวฆะ ๑ ทิฏโฐฆะ ๑ อวิชโชฆะ ๑.
               ชื่อว่าโอฆะ เพราะอรรถว่าย่อมยังสัตว์นั้นให้จมลงในวัฏฏะ. โอฆะทั้งหลายเหล่านี้เป็นกิเลสมีกำลัง. โอฆะในกาม ได้แก่กามคุณ ชื่อว่ากาโมฆะ. คำว่า กาโมฆะ นี้เป็นชื่อของกามตัณหา. โอฆะในภพ ๒ อย่าง คือ รูปภพและอรูปภพ จากกรรมและจากอุปบัติ ชื่อว่าภโวฆะ. คำว่า ภโวฆะ นี้เป็นชื่อของภวตัณหา. โอฆะคือทิฏฐินั่นแล ชื่อว่าทิฏโฐฆะ. คำว่า ทิฏฺโฐฆะ นี้เป็นชื่อของทิฏฐิมีอาทิว่า สสฺสโต โลโก - โลกเที่ยง. โอฆะคืออวิชชานั่นแล ชื่อว่าอวิชโชฆะ. คำว่า อวิชโชฆะ นี้เป็นชื่อของความไม่รู้ในทุกข์เป็นต้น.
               บทว่า ปญฺจ นีวรณานิ - นิวรณ์ ๕ คือ กามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑ ถีนมิทธะ ๑ อุทธัจจกุกกุจจะ ๑ วิจิกิจฉา ๑. ชื่อว่า นีวรณานิ - เพราะห้าม คือ รัดรึงจิตไว้. ชื่อว่า กามา - เพราะเป็นเหตุใคร่. ได้แก่ กามคุณ ๕. ความพอใจในกาม ชื่อว่ากามฉันทะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า กาโม เพราะย่อมใคร่. ความพอใจคือกาม, มิใช่ความพอใจใคร่จะทำ มิใช่ความพอใจในธรรม เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่ากามฉันทะ. บทนี้เป็นชื่อของกามตัณหา.
               ชื่อว่า พฺยาปาโท เพราะจิตย่อมปองร้าย คือถึงความเสียด้วยความปองร้ายนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง จิตยังวินัยอาจาระ รูปสมบัติ ประโยชน์ สุข ให้ถึงความพินาศ. บทนี้เป็นชื่อของโทสะ.
               ชื่อว่า ถีนํ เพราะความหดหู่, ชื่อว่า มิทฺธํ เพราะความท้อแท้,
               อธิบายว่า ความไม่เพิ่มพูน ความอุตสาหะและกำจัด ความไม่สามารถ.
               จิตไม่ขะมักเขม้น ชื่อว่าถีนะ, ความที่เจตสิกไม่ควรแก่การงาน ชื่อว่ามิทธะ, ความหดหู่และท้อแท้ ชื่อว่าถีนมิทธะ.
               ความที่จิตฟุ้งซ่าน ชื่อว่า อุทฺธจฺจํ ได้แก่ ความไม่สงบ.
               บทนี้เป็นชื่อของความฟุ้งซ่าน. จิตทำความน่าเกลียด ชื่อว่า กุกฺกตํ, ความที่จิตทำความน่าเกลียด ชื่อว่า กุกฺกุจฺจํ, อธิบายว่า ความเป็นผู้มีกิริยาน่าติเตียน. บทนี้เป็นชื่อของความเดือดร้อนในภายหลัง.
               ชื่อว่า วิจิกิจฺฉา เพราะปราศจากความคิด, อธิบายว่า หมดปัญญา.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวิจิกิจฉา เพราะเป็นเหตุค้นหาความจริง ยาก ลำบาก. บทนี้เป็นชื่อของความสงสัย.
               นิวรณ์ คือกามฉันทะนั่นแล ชื่อว่ากามฉันทนิวรณ์. แม้ในบทที่เหลือก็อย่างนี้.
               บทว่า ฉ ธมฺมา ปาฐะว่า ฉทฺธมฺมา บ้าง.
               บทว่า ฉ ตณฺหากายา - หมวดตัณหา ๖ คือ รูปตัณหา ๑ สัททตัณหา ๑ คันธตัณหา ๑ รสตัณหา ๑ โผฏฐัพพตัณหา ๑ ธรรมตัณหา ๑.
               ตัณหาในรูปชื่อว่า รูปตัณหา. ตัณหานั้นนั่นแล ท่านกล่าวว่าเป็นหมวด ด้วยอรรถว่าเป็นกอง เพราะมีหลายประเภท โดยแยกกันมีกามตัณหาเป็นต้น แม้ในบทที่เหลือก็อย่างนี้.
               บทว่า สตฺตานุสยา - อนุสัย ๗ คือ กามราคานุสัย ๑ ปฏิฆานุสัย ๑ มานานุสัย ๑ ทิฏฐานุสัย ๑ วิจิกิจฉานุสัย ๑ ภวราคานุสัย ๑ อวิชชานุสัย ๑.
               ชื่อว่าอนุสัย เพราะนอนเนื่องโดยอรรถว่าละไม่ได้. ความกำหนัดในกาม ชื่อว่ากามราคะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ราคะคือกาม ชื่อว่ากามราคะ. ชื่อว่าปฏิฆะ เพราะกระทบกระทั่งในอารมณ์. ชื่อว่าทิฏฐิ เพราะอรรถว่าไม่เห็นความเป็นจริง. ชื่อว่ามานะ เพราะสำคัญว่าดีกว่าเขาเป็นต้น. ความกำหนัดในภพ ชื่อว่าภวราคะ.
               กามราคะมีกำลัง ชื่อว่ากามราคานุสัย. แม้ในบทที่เหลือก็อย่างนี้.
               บทว่า อฏฺฐ มิจฺฉตฺตา - ความเป็นผิด ๘ คือ มิจฉาทิฏฐิ ๑ มิจฉาสังกัปปะ ๑ มิจฉาวาจา ๑ มิจฉากัมมันตะ ๑ มิจฉาอาชีวะ ๑ มิจฉาวายามะ ๑ มิจฉาสติ ๑ มิจฉาสมาธิ ๑.
               ชื่อว่ามิจฉัตตา - ความเป็นผิด เพราะมีสภาพผิดโดยที่แม้หวังอย่างนี้ว่า เขาจักนำประโยชน์และความสุขมาให้แก่เราก็ไม่เป็นอย่างนั้น และโดยที่เป็นไปวิปริตในสิ่งไม่งามว่างามเป็นต้น. ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ เพราะเห็นผิด, หรือทิฏฐิเป็นเหตุเห็นผิด,
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ เพราะความเห็นวิปริต หรือเพราะความเห็นไม่จริง หรือเพราะความเห็นเหลวไหล หรือเพราะความเห็นอันบัณฑิตเกลียด เพราะนำความเสื่อมมาให้.
               แม้ในคำว่า มิจฉาสังกัปปะ เป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิ - เห็นผิด ได้แก่ ยึดมั่นสัสสตทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิ.
               บทว่า มิจฺฉาสงฺกปฺโป - ดำริผิด ได้แก่ วิตก ๓ อย่างมีกามวิตกเป็นต้น.
               บทว่า มิจฺฉาวาจา - เจรจาผิด ได้แก่ เจตนา ๔ อย่างมีมุสาวาทเป็นต้น.
               บทว่า มิจฺฉากมฺมนฺโต - การงานผิด ได้แก่ เจตนา ๓ อย่างมีปาณาติบาตเป็นต้น.
               บทว่า มิจฺฉาอาชีโว - อาชีพผิด ได้แก่ เจตนาตั้งขึ้นโดยประกอบมิจฉาอาชีวะ.
               บทว่า มิจฺฉาวายาโม - เพียรผิด ได้แก่ ความเพียรประกอบด้วยอกุศลจิต.
               บทว่า มิจฺฉาสติ - ระลึกผิด ได้แก่ อกุศลจิตเกิดเป็นปฏิปักษ์ต่อสติ.
               บทว่า มิจฺฉาสมาธิ - ตั้งใจผิด ได้แก่ อกุศลสมาธิ.
               บทว่า นว ตณฺหามูลกา๕- - ธรรมมีตัณหาเป็นมูลเหตุ ๙ ได้แก่ เพราะอาศัยตัณหาจึงเกิดการแสวงหา ๑ เพราะอาศัยการแสวงหาจึงเกิดลาภ ๑ เพราะอาศัยลาภจึงเกิดการตกลงใจ ๑ เพราะอาศัยการตกลงใจจึง เกิดการรักใคร่พึงใจ ๑ เพราะอาศัยการรักใคร่พึงใจจึงเกิดการพะวง ๑ เพราะอาศัยการพะวงจึงเกิดการยึดถือ ๑ เพราะอาศัยความยึดถือจึงเกิดความตระหนี่ ๑ เพราะอาศัยความตระหนี่จึงเกิดการป้องกัน ๑ เพราะอาศัยการป้องกัน อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อย คือการถือไม้ ถือมีด การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การกล่าวว่า มึง มึง การพูดคำส่อเสียด การพูดปด ย่อมเกิดขึ้น ๑.
               ธรรมมีตัณหาเป็นมูลเหตุ ๙ เหล่านี้ ชื่อว่าตัณหามูลกา เพราะธรรมมีตัณหาเป็นมูลเหตุ. การแสวงหาเป็นต้น เป็นอกุศลทั้งนั้น.
____________________________
๕- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๕๙

               บทว่า ตณฺหํ ปฏิจฺจ คือ อาศัยตัณหา.
               บทว่า ปริเยสนา คือ การแสวงหาอารมณ์มีรูปเป็นต้น. เพราะเมื่อตัณหามีอยู่ การแสวงหานั้นก็มี.
               บทว่า ลาโภ ได้แก่ การได้อารมณ์มีรูปเป็นต้น, เพราะเมื่อการแสวงหามีอยู่ ลาภนั้นก็มี.
               การตกลงใจมี ๔ อย่าง คือ ญาณ ๑ ตัณหา ๑ ทิฏฐิ ๑ วิตก ๑.
               ในวินิจฉัย คือการตกลงใจเหล่านั้น ชื่อว่า ญาณวินิจฺฉโย๖- - การตกลงใจด้วยความรู้ เพราะพึงรู้สุขวินิจฉัย ครั้นรู้สุขวินิจฉัยแล้วพึงขวนขวายหาความสุขในภายใน.
____________________________
๖- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๖๕๔

               ตัณหาวิจริต ๑๐๘ ที่ปรากฏอย่างนี้ว่า บทว่า วินิจฺฉโย ได้แก่ วินิจฉัย ๒ อย่าง คือ ตัณหาวินิจฉัย ๑ ทิฏฐิวินิจฉัย ๑. ชื่อว่า ตณฺหาวินิจฺฉโย๗- - การตกลงใจด้วยตัณหา.
____________________________
๗- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๔๗๐

               ทิฏฐิ ๖๒ ชื่อว่า ทิฏฺฐิวินิจฺฉโย - การตกลงใจด้วยทิฏฐิ.
               ในที่นี้ ท่านกล่าววิตกว่าวินิจฉยะ มาแล้วในสูตรนี้ว่า ฉนฺโท โข เทวานมินฺท วิตกฺกนิทาโน๘- - ข้าแต่จอมเทพ ฉันทะแลมีวิตกเป็นเหตุ. ครั้นได้ลาภแล้ว ย่อมตัดสินถึงสิ่งที่ชอบไม่ชอบ และดีไม่ดี ด้วยวิตกว่า สิ่งมีประมาณเท่านี้จักมีแก่เราเพื่อประโยชน์แก่รูปารมณ์, มีประมาณเท่านี้จักมีแก่เราเพื่อประโยชน์แก่สัททารมณ์เป็นต้น, มีประมาณเท่านี้จักเป็นของเรา, มีประมาณเท่านี้จักเป็นของผู้อื่น, มีประมาณเท่านี้เราจักใช้สอย, มีประมาณเท่านี้เราจักเก็บไว้. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ลาภํ ปฏิจฺจ วินิจฺฉโย - อาศัยลาภจึงเกิดการตกลงใจ.
____________________________
๘- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๒๕๖

               บทว่า ฉนฺทราโค - การรักใคร่พึงใจ ได้แก่ เมื่อวิตกถึงวัตถุด้วยอกุศลวิตกอย่างนี้แล้ว ย่อมเกิดราคะอย่างอ่อนและอย่างแรง.
               บทว่า ฉนฺโท เป็นชื่อของราคะอย่างอ่อน,
               บทว่า ราโค เป็นชื่อของราคะอย่างแรง.
               บทว่า อชฺโฌสานํ - ความพะวง ได้แก่ การตกลงอย่างแรงว่า เรา ของเรา.
               บทว่า ปริคฺคโห - ความยึดถือ ได้แก่ ทำความยึดถือด้วยตัณหาทิฏฐิ.
               บทว่า มจฺฉริยํ - ตระหนี่ ได้แก่ ไม่ยอมให้เป็นสิ่งสาธารณะแก่คนอื่น, ด้วยเหตุนั้น โบราณาจารย์จึงกล่าวความหมายของบทว่า มัจฉริยะ ไว้อย่างนี้ว่า ท่านกล่าวว่ามัจฉริยะ เพราะเป็นไปในความว่า ของอัศจรรย์นี้จงมีแก่เราเท่านั้น จงอย่ามีแก่ผู้อื่นเลย
               บทว่า อารกฺโข - การป้องกัน ได้แก่ การรักษาด้วยดี ด้วยปิดประตู เก็บไว้ในหีบเป็นต้น.
               ชื่อว่า อธิกรณํ เพราะทำให้ยิ่ง. บทนี้เป็นชื่อของเหตุ.
               บทว่า อารกฺขาธิกรณํ - เป็นภาวนปุงลิงค์ ได้แก่ เหตุแห่งการป้องกัน.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีการถือไม้เป็นต้น ดังต่อไปนี้
               การถือไม้เพื่อป้องกันผู้อื่น ชื่อว่า ทณฺฑาทานํ. การถือศัสตรามีคมข้างเดียวเป็นต้น ชื่อว่า สตฺถาทานํ. การทะเลาะทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ชื่อว่า กลโห. โกรธกันมาครั้งก่อนๆ ชื่อว่า วิคฺคโห. โกรธกันครั้งหลังๆ ชื่อว่า วิวาโท.
               บทว่า ตุวํตุวํ ได้แก่ พูด มึง มึง ด้วยความไม่เคารพ.
               บทว่า ทส มิจฺฉตฺตา - ความเป็นผิด ๑๐ คือ มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ มิจฉาสมาธิ มิจฉาญาณะ มิจฉาวิมุตติ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า มิจฺฉาญาณํ - รู้ผิด ได้แก่ โมหะเกิดขึ้น ด้วยคิดถึงอุบายในการทำชั่ว และด้วยอาการพิจารณาว่า เราทำชั่วก็เป็นการทำของตนเอง.
               บทว่า มิจฺฉาวิมุตฺติ - พ้นผิด ได้แก่ เมื่อยังไม่พ้นสำคัญว่าพ้น.
               [๖๕] บัดนี้ เพื่อแสดงธรรมที่ควรละด้วยปหานะ มีประเภทหลายอย่าง พระสารีบุตรจึงเริ่มบทมีอาทิว่า เทฺว ปหานานิ - ปหานะ ๒ ก็เมื่อรู้แจ้งปหานะแล้วควรรู้ธรรมที่ควรละด้วยปหานะนั้นๆ. ในปหานะ ๕ ท่านกล่าวถึงโลกุตรปหานะ ๒ พร้อมกับปโยคะ ก่อนเว้นปหานะ ๒ ทางโลก และนิสสรณปหานะ การละด้วยอุบายเครื่องสลัดออก อันไม่เป็นปโยคะ.
               ชื่อว่าสมุจเฉทะ เพราะปหานะเป็นเหตุทำให้กิเลสขาดไปโดยชอบ, ชื่อว่าปหานะ เพราะปหานะเป็นเหตุละกิเลส. ชื่อว่าสมุจเฉทปหานะ เพราะละกิเลสอันเป็นสมุจเฉท ไม่ใช่ละกิเลสที่ยังมีเหลือ.
               ชื่อว่าปฏิปัสสัทธิ เพราะกิเลสสงบ, ชื่อว่าปหานะ เพราะละกิเลส, การละอันเป็นความสงบ ชื่อว่าปฏิปัสสัทธิปหานะ. ชื่อว่าโลกุตระ เพราะข้ามโลก. ชื่อว่าขยคามี เพราะถึงความสิ้นไป ได้แก่ นิพพาน. ขยคามีและมรรค ชื่อว่าขยคามิมรรค,
               อธิบายว่า มรรคของผู้เจริญขยคามิมรรค ชื่อว่าสมุจเฉทปหานะ. โลกุตรผล ในขณะแห่งผล ชื่อว่าปฏิปัสสัทธิปหานะ.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า กามานเมตํ นิสฺสรณํ - เนกขัมมะเป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งกามเป็นต้น. ชื่อว่านิสสรณะ เพราะเนกขัมมะเป็นเหตุสลัดออกจากกาม จากรูป จากสังขตะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่านิสสรณะ เพราะออกไปจากกามเหล่านั้น. นิสสรณะ คืออสุภฌาน.
               ชื่อว่าเนกขัมมะ เพราะออกจากกาม. หรือ ได้แก่ อนาคามิมรรค.
               จริงอยู่ อสุภฌานชื่อว่านิสสรณะ เพราะข่มกามไว้ได้.
               ส่วนอุปปาทิตอนาคามิมรรค - อนาคามิมรรคยังฌานให้เกิด ทำฌานนั้นให้เป็นบาท ชื่อว่า อจฺจนฺตนิสฺสรณํ - เป็นอุบายสลัดออกโดยส่วนเดียว เพราะขาดจากกามโดยประการทั้งปวง.
               ชื่อว่า รูปํ เพราะอรรถว่าสลายไป.
               อธิบายว่า อรูปมิใช่รูปเป็นปฏิปักษ์ต่อรูป ดุจอมิตรเป็นปฏิปักษ์ต่อมิตร, และดุจอโลภะเป็นต้น เป็นปฏิปักษ์ต่อโลภะเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อรูปํ เพราะอรรถว่า ในฌานนี้ไม่มีรูปด้วยอำนาจแห่งผล, อรูปนั่นแล ชื่อว่า อารุปฺปํ - อรูปฌาน. อารุปปะ คืออรูปฌาน. อรูปฌานเหล่านั้นเป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป. อรหัตมรรค ชื่อว่าอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูปโดยประการทั้งปวง เพราะห้ามการเกิดใหม่ด้วยอรูปฌาน.
               บทว่า ภูตํ คือ เกิดแล้ว.
               บทว่า สงฺขตํ คือ อาศัยปัจจัยปรุงแต่ง.
               บทว่า ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนํ - ธรรมอาศัยกันเกิดขึ้น ได้แก่ปัจจัยนั้นๆ เกิดขึ้นโดยชอบและร่วมกัน. เป็นอันท่านแสดงความไม่เที่ยง ด้วยแสดงถึงความเกิดครั้งแรก, เมื่อมีความไม่เที่ยงครั้งที่ ๒ ท่านก็แสดงถึงความเป็นไปในเบื้องหน้าด้วยการแสดงถึงอานุภาพของปัจจัย, เมื่อมีความเป็นไปในเบื้องหน้าครั้งที่ ๓ ท่านก็แสดงถึงความเป็นธรรมดาอย่างนี้ ด้วยการแสดงถึงความเป็นผู้ขวนขวายปัจจัย.
               บทว่า นิโรโธ คือ นิพพาน. ท่านกล่าวว่า นิโรโธ เพราะอรรถว่าอาศัยนิพพานดับทุกข์. นิโรธนั้นชื่อว่าเป็นอุบายสลัดออกแห่งสังขตะนั้น เพราะสลัดออกจากสังขตะทั้งหมด.
               ส่วนในอรรถกถา ท่านกล่าวไว้ว่า
                                   ในบทนี้ว่า นิโรโธ ตสฺส นิสฺสรณํ - นิโรธ
                         เป็นอุบายสลัดออกแห่งสังขตะนั้น ท่านประสงค์
                         อรหัตผลว่า นิโรธ. จริงอยู่ เมื่อเห็นนิพพานด้วย
                         อรหัตผล สังขารทั้งปวงก็จะไม่มีต่อไปอีก เพราะ
                         เหตุนั้น ท่านจึงกล่าว นิโรโธ เพราะเป็นปัจจัย
                         แห่งนิโรธอันได้แก่พระอรหัต.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า เนกฺขมฺมํ ปฏิลทฺธสฺส - เมื่อบุคคลผู้ได้เนกขัมมะแล้ว มีดังต่อไปนี้
               เมื่อบุคคลผู้ได้เนกขัมมะเป็นอันละและสละกามได้แล้ว ด้วยวิกขัมภนปหานะ ในเพราะอุบายสลัดออกแห่งอสุภฌาน, ด้วยสมุจเฉทปหานะ ในเพราะอุบายสลัดออกแห่งอนาคามิมรรค. พึงประกอบรูปทั้งหลายอย่างนี้ในเพราะอุบายสลัดออกแห่งอรูปฌานและในเพราะอุบายสลัดออกแห่งอรหัตมรรค. การตัดขาดรูปย่อมมีด้วยการละฉันทราคะในรูปทั้งหลาย,
               อนึ่ง ในบทว่า รูปา นี้เป็นลิงควิปลาส. เมื่อบุคคลผู้ได้นิโรธเป็นอันละและสละสังขารได้แล้วด้วยนิสสรณปหานะ ในเพราะพระนิพพานเป็นเครื่องสลัดออก, ด้วยปฏิปัสสัทธิปหานะ ในเพราะอรหัตผลเป็นเครื่องสลัดออก.
               พึงทราบว่า การได้เฉพาะด้วยสามารถทำให้เป็นอารมณ์ ในเพราะความที่พระนิพพานเป็นเครื่องสลัดออก
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า ทุกฺขสจฺจํ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า ปริญฺญาปฏิเวธํ - การแทงตลอดด้วยการกำหนดรู้เป็นต้น เป็นภาวนปุงสกะ. การแทงตลอดด้วยการกำหนดรู้ ชื่อว่า ปริญฺญาปฏิเวธํ. ทุกขสัจนั้นเป็นการแทงตลอดด้วยการกำหนดรู้. แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้.
               บทว่า ปชหาติ - ย่อมละ พึงถือเอาความว่า บุคคลผู้แทงตลอดได้อย่างนั้นๆ ย่อมละกิเลสที่ควรละได้.
               อธิบายว่า ย่อมละกิเลสเหล่านั้นด้วยละฉันทราคะแม้ในโลกิยะและโลกุตระ. ปาฐะว่า ปชหติ บ้าง.
               มรรคญาณย่อมตรัสรู้อริยสัจ ๔ ในขณะเดียวกันไม่ก่อนไม่หลัง, ย่อมตรัสรู้ทุกข์ ด้วยปริญญาภิสมัย - การตรัสรู้ด้วยการกำหนดรู้, ย่อมตรัสรู้สมุทัย ด้วยปหานาภิสมัย - การตรัสรู้ด้วยการละ, ย่อมตรัสรู้มรรค ด้วยภาวนาภิสมัย - การตรัสรู้ด้วยการทำให้เกิด, ย่อมตรัสรู้นิโรธ ด้วยสัจฉิกิริยาสมัย - การตรัสรู้ด้วยการทำให้แจ้ง.
               เหมือนเรือย่อมทำกิจ ๔ อย่างในขณะเดียวกัน, ย่อมละฝั่งใน, ตัดกระแส, นำสินค้าไป, ย่อมถึงฝั่งโน้น ฉะนั้น.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร?
               พึงทราบว่า ท่านกล่าวถึงปหานะ แม้ในขณะเดียวกันก็ดุจแยกกัน เพราะท่านกล่าวว่า พระโยคาวจรทำนิโรธให้เป็นอารมณ์ ย่อมบรรลุ ย่อมเห็น ย่อมแทงตลอดอริยสัจ ๔.
               พึงทราบวินิจฉัยในปหานะ ๕ ดังต่อไปนี้
               การข่ม การทำให้ไกลซึ่งปัจนิกธรรมมีนิวรณ์เป็นต้น ด้วยโลกิยสมาธินั้นๆ ดุจเอาหม้อเหวี่ยงลงไปในน้ำที่มีแหน ทำให้แหนกระจายไปไกล ฉะนั้น นี้ชื่อว่าวิกขัมภนปหานะ.
               บทว่า วิกฺขมฺภนปหานญฺจ นีวรณานํ ปฐมชฺฌานํ ภาวยโต - การละนิวรณ์ด้วยการข่มไว้ ย่อมมีแก่ผู้เจริญปฐมฌาน พึงทราบว่า ท่านกล่าวถึงการละนิวรณ์ เพราะนิวรณ์ปรากฏ.
               อันที่จริง นิวรณ์ยังไม่ครอบงำจิตเร็วนักทั้งในส่วนเบื้องต้น ทั้งในส่วนเบื้องหลังแห่งฌาน. เมื่อจิตถูกนิวรณ์ครอบงำ ฌานย่อมเสื่อม, แต่วิตกเป็นต้นยังเป็นไปได้ไม่เป็นปฏิปักษ์ทั้งก่อนหลังตั้งแต่ทุติยฌานเป็นต้น. เพราะฉะนั้น การข่มนิวรณ์จึงปรากฏ. การละธรรมที่ควรละนั้นๆ โดยเป็นปฏิปักษ์กันด้วยองค์ฌานอันเป็นส่วนของวิปัสสนานั้นๆ ดุจตามประทีปไว้ในตอนกลางคืนละความมืดเสียได้ นี้ชื่อว่าตทังคปหานะ.
               บทว่า ตทงฺคปฺปหานญฺจ ทิฏฺฐิคตานํ นิพฺเพธภาคิยํ สมาธึ ภาวยโต - การละทิฏฐิด้วยองค์นั้นๆ ย่อมมีแก่ผู้เจริญสมาธิอันเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส พึงทราบว่า ท่านกล่าวถึงการละทิฏฐิโดยเป็นของหยาบ. เพราะทิฏฐิเป็นของหยาบ, นิจสัญญาเป็นต้นละเอียด.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ทิฏฺฐิคตานํ คือ ทิฏฐินั่นแล ชื่อว่าทิฏฐิคตะ ดุจบทมีอาทิว่า คูถคตํ มุตฺตคตํ๙- - คูถ มูตร.
               ทิฏฐิคตะนี้เที่ยวไปด้วยทิฏฐิ เพราะความเป็นของที่ควรไปบ้าง ชื่อว่าทิฏฐิคตะ. ไปในทิฏฐิ เพราะหยั่งลงภายในทิฏฐิ ๖๒ บ้าง ชื่อว่าทิฏฐิคตะ. ทิฏฐิคตะเหล่านั้น ท่านกล่าวเป็นพหุวจนะ.
____________________________
๙- องฺ. นวก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๒๑๕.

               บทว่า นิพฺเพธภาคิยํ สมาธึ - สมาธิอันเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส ได้แก่ สมาธิสัมปยุตด้วยวิปัสสนา. การละโดยอาการที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปแห่งธรรมอันเป็นสังโยชน์ ด้วยอริยมรรคญาณ ดุจต้นไม้ที่ถูกสายฟ้าฟาด นี้ชื่อว่าสมุจเฉทปหานะ.
               บทว่า นิโรโธ นิพฺพานํ - นิโรธ คือนิพพาน ได้แก่นิพพานกล่าวคือนิโรธ.
               [๖๖] เพื่อแสดงธรรมที่ควรละด้วย ปหานะ อย่างนี้แล้วแสดงธรรมที่ควรละอีกโดยสรุป พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพุทธพจน์มีอาทิว่า สพฺพํ ภิกฺขเว ปหาตพฺพํ - ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงควรละ.
               ในธรรมเหล่านั้น ควรละธรรมมีจักษุเป็นต้น ด้วยการละฉันทราคะ.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า รูปํ ปสฺสนฺโต ปชหาติ - เมื่อเห็นรูปย่อมละ ได้แก่ เมื่อพิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น ย่อมละกิเลสที่ควรละได้.
               เมื่อพิจารณาเห็น สำรวจ เพ่งปรารถนา อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ ในสองไปยาลว่า จกฺขํ ฯเปฯ ชรามรณํ ฯเปฯ อมโตคธํ นิพฺพานํ, อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ในโลกุตรธรรมเหล่านั้นมีอาทิว่า ปสฺสนฺโต ปชหาติ - เมื่อพิจารณาเห็น ย่อมละได้ ย่อมละกิเลสที่ควรละ ในขณะแห่งวิปัสสนา เพราะเหตุนั้นควรประกอบโดยอนุรูปแก่ธรรมนั้นๆ.

               จบอรรถกถาปหาตัพพนิทเทส               
               จบอรรถกถาตติยภาณวาร               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา ตติยภาณวาร - ปหาตัพพนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 56อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 64อ่านอรรถกถา 31 / 67อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=515&Z=558
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=2836
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=2836
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๖๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :