ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 695อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 701อ่านอรรถกถา 31 / 715อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาวรรค
๔. วิเวกกถา

               อรรถกถาวิเวกกถา               
               บัดนี้จะพรรณนาตามความที่ยังไม่เคยพรรณนาแห่งวิเวกกถา อันมีพระสูตรเป็นเบื้องต้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอาการละ ในลำดับแห่งอภิสมยกถามีการละเป็นที่สุดตรัสไว้แล้ว.
               พึงทราบวินิจฉัยในพระสูตรนั้นก่อน.๑-
____________________________
๑- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๒๖๔-๒๖๕

               บทว่า เย เกจิ อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นบทรวมยอดไม่มีเหลือ.
               บทว่า พลกรณียา ทำด้วยกำลัง คือพึงทำด้วยกำลังขาและแขน.
               บทว่า กมฺมนฺตา การงาน คือการงานมีวิ่ง กระโดด ไถและหว่านเป็นต้น.
               บทว่า กยีรนฺติ ต้องทำ คืออันผู้มีกำลังต้องทำ.
               บทว่า สีลํ นิสฺสาย อาศัยศีล คือทำจตุปาริสุทธิศีลให้เป็นที่อาศัย.
               บทว่า ภาเวติ ย่อมเจริญ ในที่นี้ท่านประสงค์เอามรรคภาวนาอันเป็นโลกิยะและโลกุตระ เพราะผู้มีศีลขาดแล้วไม่มีมรรคภาวนา.
               บทว่า วิเวกนิสฺสิตํ อาศัยวิเวก คืออาศัยตทังควิเวก สมุจเฉทวิเวก นิสสรณวิเวก.
               บทว่า วิเวโก คือ ความสงัด.
               จริงอยู่ พระโยคาวจรประกอบด้วยอริยมรรคภาวนา ย่อมเจริญอริยมรรคภาวนา อาศัยตทังควิเวกโดยกิจในขณะแห่งวิปัสสนา อาศัยนิสสรณวิเวกโดยอัธยาศัย อาศัยสมุจเฉทวิเวกโดยกิจในขณะมรรค อาศัยนิสสรณวิเวกโดยอารมณ์.
               ในการอาศัยวิราคะเป็นต้นก็มีนัยนี้.
               จริงอยู่ วิเวกนั่นแหละ ชื่อว่าวิราคะ ด้วยอรรถว่าคลายกำหนัด ชื่อว่านิโรธ ด้วยอรรถว่าดับ ชื่อว่าโวสสัคคะ ด้วยอรรถว่าสละ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวิเวก เพราะสงัดจากกิเลสทั้งหลาย ชื่อว่าวิราคะ เพราะคลายจากกิเลสทั้งหลาย ชื่อว่านิโรธ เพราะดับกิเลสทั้งหลาย ชื่อว่าโวสสัคคะ เพราะสละกิเสลทั้งหลาย เพราะปล่อยจิตไปในนิพพาน.
               อนึ่ง โวสสัคคะมี ๒ อย่าง คือ ปริจจาคโวสสัคคะ (ปล่อยด้วยการสละ) และปักขันทนโวสสัคคะ ปล่อยด้วยการแล่นไป.
               ในโวสสัคคะ ๒ อย่างนั้น การละกิเลสด้วยตทังคะในขณะแห่งวิปัสสนา ด้วยสมุจเฉทในขณะแห่งมรรค ชื่อว่าปริจจาคโวสสัคคะ. การแล่นไปสู่นิพพานด้วยความน้อมไปสู่นิพพานนั้นในขณะแห่งวิปัสสนา ด้วยการทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ในขณะแห่งมรรค ชื่อว่าปักขันทนโวสสัคคะ.
               แม้ทั้งสองนั้นก็สมควรในนัยแห่งการพรรณนาความอันเจือด้วยโลกิยะ โลกุตระนี้.
               เป็นความจริงอย่างนั้น ในสัมมาทิฏฐิเป็นต้น ธรรมนี้อย่างหนึ่งๆ ย่อมสละกิเลสโดยประการตามที่กล่าวแล้ว และย่อมแล่นไปสู่นิพพาน.
               บทว่า โวสฺสคฺคปริณามึ น้อมไปในความสละ. ท่านอธิบายว่า น้อมไป โน้มไป อบรม บ่มให้แก่กล้า เพื่อความสละด้วยคำทั้งสิ้นนี้.
               ภิกษุผู้ขวนขวายอริยมรรคภาวนานี้ ย่อมเจริญอริยมรรคนั้นโดยประการที่ธรรมหนึ่งๆ ในสัมมาทิฏฐิเป็นต้น ย่อมอบรมและบ่มให้แก่กล้าเพื่อปล่อยให้สละกิเลส และเพื่อปล่อยให้แล่นไปสู่นิพพาน.
               ในบทว่า พีชคามภูตคามา พืชคามและภูตคามนี้ มีอธิบายว่า พืช ๕ อย่าง คือ พืชจากราก ๑ พืชจากต้น ๑ พืชจากยอด ๑ พืชจากข้อ ๑ พืชจากพืช ๑#- รวมพืชชื่อว่าพืชคาม ชื่อว่าภูตคามจำเดิมแต่ความปรากฏแห่งหน่อเขียวสมบูรณ์แล้ว.
               อธิบายว่า รวมรากหน่อสีเขียวของภูตคามที่เกิดแล้ว.
____________________________
#- วิ. มหา. เล่ม ๒/ข้อ ๓๕๕

               อาจารย์บางคนกล่าวว่า เมื่อเทวดาหวงแหน ย่อมเป็นตั้งแต่เวลามีหน่อสีเขียว เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าภูตคาม เพราะเป็นบ้านของภูตคือเทวดาเหล่านั้น.
               บทว่า วุฑฺฒึ ความเจริญ คือเจริญด้วยหน่อเป็นต้น.
               บทว่า วิรุฬฺหึ งอกงาม คืองอกงามด้วยลำต้นเป็นต้น.
               บทว่า เวปุลฺลํ ไพบูลย์ คือไพบูลย์ด้วยดอกเป็นต้น.
               อนึ่ง ในทางธรรม บทว่า วุฑฺฒึ คือ เจริญด้วยความประพฤติธรรมที่ยังไม่เคยประพฤติ.
               บทว่า วิรุฬฺหึ คือ งอกงามด้วยการทำกิจให้สำเร็จ.
               บทว่า เวปุลฺลํ คือ ความไพบูลย์ด้วยสำเร็จกิจแล้ว. ปาฐะว่า วิปุลฺลตฺตํ คือความเป็นผู้ไพบูลย์บ้าง.
               อีกอย่างหนึ่ง บท ๓ เหล่านี้ประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญา.

               อรรถกถามัคคังคนิเทศ               
               พึงทราบวินิจฉัยในสุตตันตนิเทศดังต่อไปนี้.
               บทว่า สามาทิฏฺฐิยา เป็นฉัฏฐีวิภัตติ แห่งสัมมาทิฏฐิอันเป็นไปอยู่ จากการประกอบตามสมควรและจากอารมณ์ ในฌาน วิปัสสนา มรรค ผลและนิพพาน และในจิตอันสัมปยุตด้วยโลกิยวิรัติ คือแห่งสัมมาทิฏฐิเป็นอันเดียวกัน โดยเป็นสามัญลักษณะ.
               บทว่า วิกฺขมฺภนวิเวโก วิกขัมภนวิเวก คือความสงัดด้วยการข่มไว้ ด้วยการทำให้ไกล แห่งอะไร แห่งนิวรณ์ทั้งหลาย.
               บทมีอาทิว่า ปฐมชฺฌานํ ภาวยโต เจริญปฐมฌาน ท่านกล่าวถึงปฐมฌานด้วยการข่มไว้ เมื่อท่านกล่าวถึงปฐมฌานนั้น ก็เป็นอันกล่าวถึงแม้ฌานที่เหลือด้วยเหมือนกัน.
               ชื่อว่าสัมมาทิกฐิวิเวก เพราะมีสัมมาทิฏฐิแม้ในฌานทั้งหลาย.
               บทว่า ตทงฺควิเวโก คือ ความสงัดด้วยวิปัสสนาญาณนั้นๆ.
               บทว่า ทิฏฺฐิคตานํ ทิฏฐิทั้งหลาย ท่านกล่าวว่าทิฏฐิวิเวก เพราะทิฏฐิวิเวกทำได้ยาก และเพราะเป็นประธาน เมื่อท่านกล่าวถึงทิฏฐิวิเวกก็เป็นอันกล่าวแม้วิเวกมีนิจจสัญญาเป็นต้น.
               บทว่า นิพฺเพธคาคิยํ สมาธึ สมาธิอันเป็นส่วนแห่งการทำลายกิเลส คือสมาธิสัมปยุตด้วยวิปัสสนา.
               บทว่า สมุจฺเฉทวิเวโก สมุจเฉทวิเวก คือความสงัดด้วยการตัดขาดกิเลสทั้งหลาย.
               บทว่า โลกุตฺตรํ ขยคามึ มคฺคํ โลกุตรมรรคอันให้ถึงความสิ้นไป คือโลกุตรมรรคอันให้ถึงนิพพาน กล่าวคือความสิ้นไป.
               บทว่า ปฏิปฺปสฺสทฺธิวิเวโก ปฏิปัสสัทธิวิเวก คือความสงัดในการสงบกิเลสทั้งหลาย.
               บทว่า นิสฺสรณวิเวโก นิสสรณวิเวก คือความสงัดสังขารอันเป็นการนำสังขตธรรมทั้งหมดออกไป.
               บทว่า ฉนฺทชาโต โหติ ภิกษุเป็นผู้เกิดฉันทะ คือเป็นผู้เกิดความพอใจในธรรมในส่วนเบื้องต้น.
               บทว่า สทฺธาธิมุตฺโต คือ เป็นผู้น้อมไปด้วยศรัทธาในส่วนเบื้องต้น.
               บทว่า จิตฺตํ จสฺส สวาธิฏฺฐิตํ มีจิตตั้งมั่นด้วยดี คือจิตของพระโยคาวจรนั้นตั้งมั่นด้วยดี คือมั่นคงด้วยดีในส่วนเบื้องต้น.
               ธรรม ๓ ประการเหล่านี้ คือ ฉันทะ ๑ สัทธา ๑ จิต ๑ ชื่อว่าเป็นที่อาศัย เพราะเป็นที่เข้าไปอาศัยแห่งวิเวกอันเกิดขึ้นแล้วในส่วนเบื้องต้น. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ท่านกล่าวสมาธิว่า มีจิตตั้งมั่นด้วยดี.
               แม้ในวิราคะเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               อนึ่ง พึงทราบวินิจฉัยในนิโรธวารดังต่อไปนี้.
               ท่านแสดงคำปริยายอื่นจากนิโรธศัพท์ แล้วกล่าวว่า อมตา ธาตุ อมตธาตุ พึงทราบในบทที่เหลือต่อไป
               บทว่า นิโรโธ นิพฺพานํ เป็นนิโรธ คือนิพพาน.
               แม้ในบททั้งสองก็เป็นนิพพานเหมือนกัน.
               บทว่า ทฺวาทส นิสฺสยา มีนิสัย ๑๒ คือทำฉันทะ สัทธา จิต อย่างละ ๓ ให้อย่างหนึ่งๆ เป็น ๔ อย่างมีวิเวกเป็นต้น รวมเป็นนิสัย ๑๒.
               แม้สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ ก็พึงทราบการประกอบความโดยนัยนี้เหมือนกัน.
               อนึ่ง พึงทราบว่าท่านกล่าวถึงวิรัติอันเป็นไปอยู่ ด้วยสามารถส่วนเบื้องต้นและส่วนเบื้องปลาย แห่งฌานและวิปัสสนา เพราะไม่มีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะและสัมมาอาชีวะ ในขณะแห่งฌาน ในขณะแห่งวิปัสสนาทำฌานและวิปัสสนาให้อาศัยกัน.
               อนึ่ง พึงทราบว่า วิเวก วิราคะ นิโรธและปฏินิสสัคคะ แห่งนิวรณ์และทิฏฐิ ชื่อว่าวิเวกเป็นต้นแห่งวิรัติทั้งหลายอันเป็นอยู่อย่างนั้น.
               เหมือนที่-พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในอัฏฐกนิบาตว่า๑- ดูก่อนภิกษุ แต่นั้นท่านพึงเจริญสมาธินี้ พร้อมด้วยวิตก พร้อมด้วยวิจาร พึงเจริญแม้เพียงวิจารไม่มีวิตก พึงเจริญแม้ไม่มีทั้งวิตก ไม่มีทั้งวิจาร พึงเจริญพร้อมด้วยปีติ พึงเจริญแม้ไม่มีปีติ พึงเจริญแม้สหรคตด้วยความพอใจ พึงเจริญแม้สหรคตด้วยอุเบกขา.
____________________________
๑- องฺ. อฏฺฐก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๑๖๐

               ท่านกล่าวเมตตาเป็นต้นและกายานุปัสสนาเป็นต้น ด้วยอำนาจแห่งสมาธิอันเป็นมูลภายในของตนดุจกล่าวถึงจตุกฌานและปัญจกฌาน.
               แม้ในบทนี้ก็พึงทราบว่าท่านกล่าวถึงวิรัติด้วยอำนาจส่วนเบื้องต้นและส่วนเบื้องปลายอย่างนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาเพียงพยัญชนฉายา (เงาแห่งพยัญชนะ) จึงไม่ควรกล่าวตู่. เพราะพระพุทธพจน์ลึกซึ้งมาก พึงเข้าไปหาอาจารย์แล้วเรียนเอาโดยความประสงค์.
               แม้ในโพชฌงควาระ พลวาระและอินทริยวาระ ก็พึงทราบความโดยนัยนี้แล.

               จบอรรถกถาวิเวกกถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาวรรค ๔. วิเวกกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 695อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 701อ่านอรรถกถา 31 / 715อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=10432&Z=10559
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=8050
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=8050
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :