ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 84อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 85อ่านอรรถกถา 31 / 86อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
มัคคสัจนิทเทส

               อรรถกถามรรคสัจนิทเทส               
               [๘๕] พึงวินิจฉัยในมรรคสัจนิทเทสดังต่อไปนี้
               บทว่า อยเมว คือ กำหนดธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อมรรคอื่น.
               บทว่า อริโย ชื่อว่าอริยะ เพราะไกลจากกิเลสอันมาด้วยมรรคนั้นๆ, เพราะทำความเป็นพระอริยะ และเพราะทำการได้อริยผล. ชื่อว่าอัฏฐังคิกะ เพราะอรรถว่ามรรคนั้นมีองค์ ๘. มรรคนั้นดุจเสนามีองค์ ๔, องค์มรรคดุจดนตรีมีองค์ ๕, พ้นจากองค์แล้วมีไม่ได้.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเมื่อแสดงว่ามรรคเป็นเพียงองค์เท่านั้น พ้นจากองค์แล้วมีไม่ได้ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า สมฺมาทิฏฺฐิ ฯเปฯ สมฺมาสมาธิ.
               ในบทเหล่านั้น สัมมาทิฏฐิมีการเห็นชอบเป็นลักษณะ. สัมมาสังกัปปะมีการยกขึ้นเป็นลักษณะ. สัมมาวาจามีการกำหนดเป็นลักษณะ. สัมมากัมมันตะมีการให้ตั้งขึ้นเป็นลักษณะ. สัมมาอาชีวะมีการให้ผ่องแผ้วเป็นลักษณะ. สัมมาวายามะมีการประคองไว้เป็นลักษณะ. สัมมาสติมีการเข้าไปตั้งมั่นเป็นลักษณะ. สัมมาสมาธิมีการตั้งไว้เสมอเป็นลักษณะ.
               ในมรรคเหล่านั้น มรรคหนึ่งๆ ย่อมมีกิจอย่างละ ๓. คือสัมมาทิฏฐิย่อมละมิจฉาทิฏฐิกับกิเลสที่เป็นข้าศึกของตน แม้เหล่าอื่นก่อน, ทำนิโรธให้เป็นอารมณ์, และเห็นสัมปยุตธรรม เพราะไม่หลงด้วยสามารถกำจัดโมหะอันปกปิดสัมปยุตธรรมทั้งหลายได้.
               แม้สัมมาสังกัปปะเป็นต้นก็ละมิจฉาสังกัปปะเป็นต้น ได้เช่นเดียวกัน, และทำนิพพานให้เป็นอารมณ์. แต่โดยแปลกกันในบทนี้ สัมมาสังกัปปะยกขึ้นสู่สหชาตธรรมโดยชอบ, สัมมาวาจากำหนดเอาโดยชอบ, สัมมากัมมันตะให้ตั้งขึ้นโดยชอบ, สัมมาอาชีวะให้ผ่องแผ้วโดยชอบ, สัมมาวายามะประคองไว้โดยชอบ, สัมมาสติให้เข้าไปตั้งไว้โดยชอบ, สัมมาสมาธิตั้งมั่นไว้โดยชอบ.
               อีกอย่างหนึ่ง สัมมาทิฏฐินี้ในส่วนเบื้องต้น มีขณะต่างกัน มีอารมณ์ต่างกัน, ในกาลแห่งมรรคมีขณะอย่างเดียวกัน, มีอารมณ์อย่างเดียวกัน. แต่โดยกิจย่อมได้ชื่อ ๔ อย่างมีอาทิว่า ทุกฺเข ญาณํ - ความรู้ในทุกข์.
               แม้สัมมาสังกัปปะเป็นต้น ในส่วนเบื้องต้นก็มีขณะต่างกัน มีอารมณ์ต่างกัน, ในกาลแห่งมรรคมีขณะอย่างเดียวกัน มีอารมณ์อย่างเดียวกัน. ในมรรคเหล่านั้น สัมมาสังกัปปะโดยกิจย่อมได้ชื่อ ๓ อย่างมี เนกฺขมฺมสงฺกปฺโป เป็นต้น.
               มรรค ๓ มีสัมมาวาจาเป็นต้นในส่วนเบื้องต้น เป็นวิรัติบ้าง เป็นเจตนาบ้าง, แต่ในขณะแห่งมรรคเป็นวิรัติอย่างเดียว,
               สองบทนี้คือ สมฺมาวายาโม สมฺมาสติ โดยกิจย่อมได้ชื่อ ๔ อย่าง ด้วยสามารถสัมมัปธานและสติปัฏฐาน.
               ส่วนสัมมาสมาธิ แม้ในส่วนเบื้องต้น แม้ในขณะแห่งมรรคก็เป็นสมาธิเท่านั้น.
               ในธรรม ๘ อย่างเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสัมมาทิฏฐิไว้ก่อน เพราะเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่พระโยคีผู้ปฏิบัติเพื่อถึงนิพพาน. เพราะสัมมาทิฏฐินี้ ท่านกล่าวว่า ปญฺญา ปชฺโชโต ปญฺญาสตฺถํ๑- ปัญญาเป็นแสงสว่าง เป็นดังศัสตรา. ฉะนั้น พระโยคาวจรกำจัดความมืดคืออวิชชาด้วยสัมมาทิฏฐิ กล่าวคือ วิปัสสนาญาณนั้นในส่วนเบื้องต้น แล้วฆ่าโจรคือกิเลสเสียได้ ย่อมถึงนิพพานโดยเกษม. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงสัมมาทิฏฐิไว้ก่อน.
____________________________
๑- อภิ. สํ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๓๕, ข้อ ๔๔

               ส่วนสัมมาสังกัปปะมีอุปการะมากแก่สัมมาทิฏฐินั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ในลำดับต่อไป.
               เหมือนอย่างว่า เหรัญญิกใช้มือพลิกกลับไปกลับมาดูกหาปณะด้วยตาก็ย่อมรู้ว่า นี้ปลอม นี้ไม่ปลอมฉันใด, แม้พระโยคาวจรก็ฉันนั้น ในส่วนเบื้องต้นตรึกแล้วตรึกเล่าด้วยวิตก มองดูด้วยวิปัสสนาปัญญา ย่อมรู้ว่าธรรมเหล่านี้เป็นกามาวจร, เหล่านี้เป็นรูปาวจรเป็นต้น.
               หรือเหมือนอย่างว่า ช่างไม้เอาขวานถากไม้ใหญ่ที่บุรุษจับไว้ที่ปลาย แล้วพลิกไปพลิกมาให้นำเข้าไปใช้ในการงานฉันใด พระโยคาวจรก็ฉันนั้น กำหนดธรรมอันวิตกตรึกไปตรึกมาให้แล้วด้วยปัญญาโดยนัยมีอาทิว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกามาวจร เหล่านี้เป็นรูปาวจรเป็นต้น แล้วนำเข้าไปในการงาน.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสัมมาสังกัปปะไว้ในลำดับสัมมาทิฏฐิ.
               สัมมาสังกัปปะเป็นอุปการะแม้แก่สัมมาวาจา เหมือนเป็นอุปการะแก่สัมมาทิฏฐิฉะนั้น.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนคหบดี พระโยคาวจรตรึกตรองในเบื้องต้นแล้วจึงเปล่งวาจาในภายหลังดังนี้๒- เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสสัมมาวาจาในลำดับจากนั้น.
____________________________
๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๐๙

               อนึ่ง เพราะชนทั้งหลายจัดแจงการงานด้วยวาจาก่อนว่า เราจักทำสิ่งนี้ๆ แล้วจึงประกอบการงานในโลก ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสัมมากัมมันตะไว้ในลำดับของสัมมาวาจา เพราะวาจาเป็นอุปการะแก่การทำงานทางกาย.
               ก็เพราะอาชีวมัฏฐมกศีล - ศีลมีอาชีวะเป็นที่ ๘ ย่อมบริบูรณ์แก่ผู้ละวจีทุจริต ๔ อย่าง กายทุจริต ๓ อย่าง แล้วบำเพ็ญสุจริตทั้งสอง ไม่บริบูรณ์แก่ผู้บำเพ็ญนอกไปจากนี้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสัมมาอาชีวะไว้ในลำดับต่อจากทั้งสองนั้น.
               อันผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ไม่ควรทำความยินดีด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่าอาชีวะของเราบริสุทธิ์ แล้วอยู่ด้วยความหลับและความประมาทอย่างนี้, ที่แท้ควรปรารภความเพียรนี้ในทุกอิริยาบถ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงด้วยประการฉะนี้ จึงตรัสสัมมาวายามะไว้ในลำดับต่อจากนั้น.
               จากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทรงแสดงว่า อันผู้ปรารภความเพียรควรทำความตั้งสติมั่นในวัตถุ ๔ อย่างมีกายเป็นต้น จึงตรัสสัมมาสติไว้ในลำดับต่อจากนั้น.
               เพราะเมื่อสติตั้งมั่นดีอย่างนี้แล้ว จิตแสวงหาคติแห่งธรรมที่เกื้อกูลและไม่เกื้อกูลแก่สมาธิ ย่อมเพียงพอเพื่อตั้งมั่นในอารมณ์ คือ ความเป็นอันเดียว ฉะนั้น พึงทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสัมมาสมาธิในลำดับต่อจากสัมมาสติ.
               พึงทราบวินิจฉัยในสัมมาทิฏฐินิทเทสดังต่อไปนี้
               พระสารีบุตรแสดงจตุสัจกรรมฐานด้วยมีอาทิว่า ทุกฺเข ญาณํ ดังนี้.
               บรรดาสัจจะ ๔ เหล่านั้น สัจจะ ๒ ข้างต้นเป็นวัฏฏะ, ๒ ข้างหลังเป็นวิวัฏฏะ.
               ในสัจจะเหล่านั้น ความยึดมั่นกรรมฐานในวัฏฏะย่อมมีแก่ภิกษุ ความยึดมั่นในวิวัฏฏะย่อมไม่มี. เพราะพระโยคาวจรเรียนสัจจะ ๒ ข้างต้นในสำนักอาจารย์โดยสังเขปอย่างนี้ว่า ปญฺจกฺขนฺธา ทุกฺขํ, ตณฺหา สมุทโย - ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์, และโดยพิสดารว่า กตเม ปญฺจกฺขนฺธา, รูปกฺขนฺโธ ขันธ์ ๕ เป็นไฉน, คือ รูปขันธ์เป็นต้น แล้วท่องกลับไปมาบ่อยๆ ด้วยวาจา ย่อมทำกรรม.
               ส่วนในสัจจะ ๒ นอกนี้ พระโยคาวจรทำกรรมด้วยการฟังเท่านั้นอย่างนี้ว่า นิโรธสจฺจํ อิฏฺฐํ กนฺตํ มนาปํ, มคฺคสจฺจํ อิฏฺฐํ กนฺตํ มนาปํ - นิโรธสัจ น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ มรรคสัจ น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ.
               พระโยคาวจรนั้นเมื่อทำกรรมอย่างนี้ ย่อมแทงตลอดสัจจะ ๔ โดยการแทงตลอดครั้งเดียว ย่อมตรัสรู้โดยการตรัสรู้ครั้งเดียวเหมือนกัน. ย่อมแทงตลอดทุกข์โดยการแทงตลอดด้วยปริญญา ย่อมแทงตลอดสมุทัยโดยการแทงตลอดด้วยปหานะ ย่อมแทงตลอดนิโรธโดยการแทงตลอดด้วยสัจฉิกิริยา, ย่อมแทงตลอดมรรคโดยการแทงตลอดด้วยภาวนา. ย่อมตรัสรู้ทุกข์โดยการตรัสรู้ด้วยปริญญา ฯลฯ ย่อมตรัสรู้มรรคโดยการตรัสรู้ด้วยภาวนา.
               เอวมสฺส ปุพฺพภาเค ทฺวีสุ สจฺเจสุ อุคฺคหปริปุจฺฉาสวนธารณสมฺมสนปฺปฏิเวโธ โหติ ทฺวีสุ สวนปฺปฏิเวโธเยว ฯ
               อปรภาเค ตีสุ กิจฺจโต ปฏิเวโธ โหติ นิโรเธ อารมฺมณปฺปฏิเวโธ ฯ
               ตตฺถ สพฺพมฺปิ ปฏิเวธญาณํ โลกุตฺตรํ สวนธารณสมฺมสนญาณํ โลกิยํ กามาวจรํ ฯ
               ปจฺจเวกฺขณา ปน มคฺคสจฺจสฺส(๑) โหติ อยญฺจ อาทิกมฺมิโก ฯ
               ตสฺมา สา อิธ น วุตฺตา ฯ
               อปรภาเค ปน ทุกฺขํ ปริญฺญาตเมว โหติ ฯเปฯ มคฺโค ภาวิโตว โหติ ฯ
#๑. ม. ปตฺตสจฺจสฺส ฯ

               การแทงตลอดด้วยการเรียน การสอบถาม การฟัง การทรงไว้และการพิจารณาในสัจจะ ๒ ในส่วนเบื้องต้น ย่อมมีแก่ภิกษุนั้น,
               ในสัจจะ ๒ ย่อมมีการแทงตลอดด้วยการฟังอย่างเดียว.
               ในส่วนอื่นย่อมมีการแทงตลอดโดยกิจในสัจจะ ๓ ย่อมมีการแทงตลอดโดยอารมณ์ในนิโรธ.
               ในสัจจะเหล่านั้น ความรู้ด้วยการแทงตลอดแม้ทั้งหมดเป็นโลกุตระ, ความรู้ด้วยการฟัง การทรงไว้และการพิจารณาเป็นโลกิยกามาวจร.
               ส่วนการพิจารณาย่อมมีแก่มรรคสัจจะ นี้เป็นอาทิกัมมิกะกรรมเบื้องต้น. เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่กล่าวการพิจารณานั้นไว้ในที่นี้.
               อนึ่ง การพิจารณาด้วยความผูกใจ ความรวบรวม ความใส่ใจว่า เรารู้ทุกข์ เราละสมุทัย เราทำให้แจ้งนิโรธ เราเจริญภาวนา ดังนี้. ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนี้ผู้กำหนดไว้ก่อน ย่อมมีได้ตั้งแต่ขณะกำหนด. ส่วนในภายหลัง ทุกข์เป็นอันภิกษุกำหนดรู้แล้ว ฯลฯ มรรคเป็นอันภิกษุเจริญแล้ว.
               ในสัจจะเหล่านั้น สัจจะ ๒ ลึกซึ้งเพราะเห็นได้ยาก, สัจจะ ๒ เห็นได้ยาก เพราะลึกซึ้ง.
               จริงอยู่ ทุกขสัจจะปรากฏแต่เกิด, ในขณะถูกตอและหนามทิ่มแทงเป็นต้น ก็ร้องว่าโอยเจ็บ!
               สมุทยสัจจะปรากฏแต่เกิดด้วยอยากจะเคี้ยวอยากจะกินเป็นต้น.
               สัจจะแม้ทั้งสอง ชื่อว่าลึกซึ้ง เพราะแทงตลอดด้วยลักษณะ. สัจจะเหล่านั้น ชื่อว่าลึกซึ้ง เพราะเห็นได้ยากด้วยประการฉะนี้.
               การประกอบความเพียรเพื่อเห็นสัจจะ ๒ อย่าง นอกนั้นก็เหมือนเหยียดมือเพื่อถือเอาภวัคคพรหม เหมือนเหยียดเท้าเพื่อสัมผัสอเวจี และเหมือนการจรดปลายขนทรายที่แยกออกร้อยส่วนด้วยปลายขนทราย. สัจจะเหล่านั้น ชื่อว่าเห็นได้ยาก เพราะลึกซึ้งด้วยประการฉะนี้.
               พระสารีบุตรกล่าวบทมีอาทิว่า ทุกฺเข ญาณํ นี้หมายถึงการเกิดแห่งญาณอันเป็นส่วนเบื้องต้นด้วยการเรียนเป็นต้น ในสัจจะ ๔ ชื่อว่าลึกซึ้ง เพราะเห็นได้ยาก และชื่อว่าเห็นได้ยากเพราะลึกซึ้ง แต่ในขณะแทงตลอดญาณนั้นเป็นอย่างเดียวเท่านั้น.
               ส่วนอาจารย์เหล่าอื่นกล่าวว่า ญาณในสัจจะทั้งหลายมี ๔ อย่าง คือ สุตมยญาณ - ญาณเกิดจากการฟัง ๑ ววัตถานญาณ - ญาณเกิดจากการกำหนด ๑ สัมมสนญาณ - ญาณเกิดจากการพิจารณา ๑ อภิสมยญาณ - ญาณเกิดจากการตรัสรู้ ๑.
               ในญาณเหล่านั้น สุตมยญาณเป็นไฉน?
               พระโยคาวจรฟังสัจจะ ๔ โดยย่อหรือโดยพิสดารย่อมรู้ว่า นี้ทุกข์ นี้สมุทัย นี้นิโรธ นี้มรรค. นี้ชื่อว่าสุตมยญาณ.
               ววัตถานญาณเป็นไฉน?
               พระโยคาวจรนั้นย่อมกำหนดความของการฟัง โดยธรรมดาและโดยลักษณะ ย่อมลงความเห็นว่า ธรรมเหล่านี้นับเนื่องในสัจจะนี้ นี้เป็นลักษณะของสัจจะนี้. นี้ชื่อว่าววัตถานญาณ.
               สัมมสนญาณเป็นไฉน?
               พระโยคาวจรนั้นกำหนดสัจจะ ๔ ตามลำดับอย่างนี้แล้วถือเอาทุกข์เท่านั้น ย่อมพิจารณาตลอดไปถึงโคตรภูญาณ โดยความไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา. นี้ชื่อว่าสัมมสนญาณ.
               อภิสมยญาณเป็นไฉน?
               พระโยคาวจรนั้นตรัสรู้สัจจะ ๔ ด้วยญาณหนึ่ง ในขณะโลกุตรมรรค ไม่ก่อน ไม่หลัง คือย่อมตรัสรู้ทุกข์โดยการตรัสรู้ด้วยการกำหนดรู้, ย่อมตรัสรู้สมุทัย โดยการตรัสรู้ด้วยการละ, ย่อมตรัสรู้นิโรธ โดยการตรัสรู้ด้วยการทำให้แจ้ง, ย่อมตรัสรู้มรรค โดยการตรัสรู้ด้วยการเจริญ. นี้ชื่อว่าอภิสมยญาณ.
               พึงทราบวินิจฉัยในสัมมาสังกัปปนิทเทสดังต่อไปนี้
               ชื่อว่าเนกขัมมสังกัปโป เพราะอรรถว่าออกไปจากกาม.
               ชื่อว่าอัพยาปาทสังกัปโป เพราะอรรถว่าออกไปจากพยาบาท.
               ชื่อว่าอวิหิงสาสังกัปโป เพราะอรรถว่าออกไปจากวิหิงสา.
               ในวิตกเหล่านั้น เนกขัมมวิตกทำการทำลายเหตุ ตัดเหตุของกามวิตก เกิดขึ้น, อัพยาปาทวิตกทำการทำลายเหตุ ตัดเหตุของพยาปาทวิตก เกิดขึ้น, อวิหิงสาวิตกทำการทำลายเหตุ ตัดเหตุของวิหิงสาวิตก เกิดขึ้น,
               อนึ่ง เนกขัมมวิตก อัพยาปาทวิตก อวิหิงสาวิตก เป็นข้าศึกของกามวิตก พยาปาทวิตกและวิหิงสาวิตกเกิดขึ้น.
               ในวิตกเหล่านั้น พระโยคาวจรย่อมพิจารณากามวิตกหรือสังขารอย่างใดอย่างหนึ่งอื่น เพื่อทำลายเหตุแห่งกามวิตก.
               อนึ่ง ความดำริสัมปยุตด้วยวิปัสสนาในขณะแห่งวิปัสสนาของพระโยคาวจรนั้น ทำการทำลายเหตุ ตัดเหตุของกามวิตกด้วยสามารถตทังคะ - ชั่วขณะนั้น เกิดขึ้น, พระโยคาวจรขวนขวายวิปัสสนาแล้วบรรลุมรรค.
               อนึ่ง ความดำริสัมปยุตด้วยมรรคในขณะแห่งมรรคของพระโยคาวจรนั้น ทำการทำลายเหตุ ตัดเหตุของกามวิตกด้วยสามารถสมุจเฉท - การตัดขาด เกิดขึ้น.
               พระโยคาวจรย่อมพิจารณาพยาปาทวิตก หรือสังขารอื่นเพื่อทำลายเหตุแห่งพยาปาทวิตก, พิจารณาวิหิงสาวิตก หรือสังขารอื่นเพื่อทำลายเหตุแห่งวิหิงสาวิตก.
               อนึ่ง พึงประกอบบททั้งปวงว่า อสฺส วิปสฺสนากฺขเณ - ในขณะแห่งวิปัสสนาของพระโยคาวจรนั้น โดยนัยก่อนนั่นแล.
               ก็เมื่อจำแนกอารมณ์ ๓๘ ไว้ในบาลี แม้กรรมฐานอย่างหนึ่งชื่อว่าไม่เป็นข้าศึกแก่วิตก ๓ มีกามวิตกเป็นต้น ย่อมไม่มี.
               ปฐมฌานในอสุภะนั่นแล เป็นข้าศึกของกามวิตกโดยส่วนเดียว. ฌานหมวด ๓ หมวด ๔ แห่งเมตตาเป็นข้าศึกของพยาปาทวิตก, ฌานหมวด ๓ หมวด ๔ แห่งกรุณาเป็นข้าศึกของวิหิงสาวิตก.
               เมื่อพระโยคาวจรนั้นกระทำการบริกรรมอสุภะแล้วเข้าฌาน วิตกสัมปยุตด้วยฌานในขณะแห่งการเข้าสมาบัติเป็นข้าศึกของกามวิตกด้วยสามารถวิกขัมภนะ-การข่มไว้ เกิดขึ้น.
               เมื่อพระโยคาวจรทำฌานให้เป็นบาทแล้วเริ่มตั้งวิปัสสนา ความดำริสัมปยุตด้วยวิปัสนาในขณะแห่งวิปัสนา เป็นข้าศึกของกามวิตกด้วยสามารถชั่วขณะนั้นเกิดขึ้น.
               เมื่อพระโยคาวจรขวนขวายวิปัสสนาแล้วบรรลุมรรค ความดำริสัมปยุตด้วยมรรคในขณะแห่งมรรคเป็นข้าศึกของกามวิตกด้วยสามารถการตัดได้เด็ดขาดเกิดขึ้น.
               ความดำริอันเกิดขึ้นอย่างนี้ พึงทราบว่า ท่านกล่าวว่า เนกฺขมฺมสงฺกปฺโป.
               พึงทราบบททั้งปวงว่า พระโยคาวจรทำบริกรรมด้วยเมตตา, ทำบริกรรมด้วยกรุณาแล้วเข้าฌาน โดยนัยก่อนนั่นแล. ความดำริอันเกิดขึ้นอย่างนี้ พึงทราบว่าท่านกล่าวว่า อพฺยาปาทสงฺกปฺโป อวิหิงฺสาสงฺกปฺโป.
               เนกขัมมสังกัปปะเป็นต้นเหล่านี้ต่างกันในส่วนเบื้องต้น เพราะการเกิดขึ้นต่างกันด้วยอำนาจวิปัสสนาและฌาน, แต่ความดำริที่ เป็นกุศลอย่างเดียวเท่านั้น ยังองค์มรรคให้บริบูรณ์ด้วยทำการไม่เกิดให้สำเร็จ เพราะตัดเหตุแห่งความดำริที่เป็นอกุศลซึ่งเกิดขึ้นในฐานะ ๓ เหล่านี้ ในขณะแห่งมรรคเกิดขึ้น. นี้ชื่อว่าสัมมาสังกัปปะ.
               พึงทราบวินิจฉัยในสัมมาวาจานิทเทสดังต่อไปนี้.
               เพราะภิกษุเว้นจากมุสาวาทด้วยจิตอื่น เว้นจากปิสุณาวาจาเป็นต้น ด้วยจิตอื่นๆ ฉะนั้นการเว้น ๔ อย่างเหล่านี้จึงต่างกันในส่วนเบื้องต้น, แต่ในขณะแห่งมรรค การเว้นที่เป็นกุศลกล่าวคือสัมมาวาจาอย่างเดียวเท่านั้น ยังองค์มรรค ๘ ให้บริบูรณ์ด้วยสามารถทำความไม่เกิดให้สำเร็จได้ เพราะตัดทางแห่งเจตนาอันเป็นอกุศลและความเป็นผู้ทุศีล ๔ อย่างกล่าวคือมิจฉาวาจา ย่อมเกิดขึ้น. นี้ชื่อว่าสัมมาวาจา.
               พึงทราบวินิจฉัยในสัมมากัมมันตนิทเทสดังต่อไปนี้.
               เพราะภิกษุเว้นจากปาณาติบาตด้วยจิตอื่น เว้นจากอทินนาทานด้วยจิตอื่น เว้นจากมิจฉาจารด้วยจิตอื่น ฉะนั้นการเว้น ๓ อย่างเหล่านี้จึงต่างกันในส่วนเบื้องต้น แต่ในขณะแห่งมรรค การเว้นที่เป็นกุศล กล่าวคือสัมมากัมมันตะเป็นอย่างเดียว ยังองค์แห่งมรรคให้บริบูรณ์ด้วย สามารถทำการไม่เกิดให้สำเร็จ เพราะตัดทางแห่งเจตนาอันเป็นอกุศลและความเป็นผู้ทุศีล ๓ อย่างได้แก่มิจฉากัมมันตะ เกิดขึ้น. นี้ชื่อว่าสัมมากัมมันตะ.
               พึงทราบวินิจฉัยในสัมมาอาชีวนิทเทสดังต่อไปนี้.
               บทว่า อิธ ได้แก่ ในศาสนานี้.
               บทว่า อริยสาวโก ได้แก่ สาวกของพระพุทธเจ้าผู้เป็นอริยะ.
               บทว่า มิจฺฉาอาชีวํ ปหาย ได้แก่ ละอาชีวะที่ลามก.
               บทว่า สมฺมาอาชีเวน ได้แก่ อาชีพที่ดีที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ.
               บทว่า ชีวิตํ กปฺเปติ - สำเร็จความเป็นอยู่ ได้แก่ยังความเป็นไปของชีวิตให้เป็นไป.
               เพราะภิกษุในศาสนานี้ เว้นจากการก้าวล่วงทางกายทวารด้วยจิตอื่น เว้นจากการก้าวล่วงทางวจีทวารด้วยจิตอื่น ฉะนั้นอาชีวะย่อมเกิดขึ้นในขณะต่างๆ กันในส่วนเบื้องต้น แต่ในขณะแห่งมรรคการเว้นที่เป็นกุศล กล่าวคือสัมมาอาชีวะเป็นอย่างเดียว ยังองค์แห่งมรรคให้บริบูรณ์ด้วยสามารถทำความไม่เกิดให้เสร็จ เพราะตัดทางแห่งเจตนาอันเป็นมิจฉาอาชีวะ และความเป็นผู้ทุศีลอันเกิดขึ้นด้วยสามารถกรรมบถ ๗ ในทวาร ๒ เกิดขึ้น. นี้ชื่อว่าสัมมาอาชีวะ.
               พึงทราบวินิจฉัยในสัมมาวายามนิทเทสดังต่อไปนี้
               บทว่า อิธ ภิกฺขุ ได้แก่ ภิกษุผู้ปฏิบัติในศาสนานี้.
               บทว่า อนุปฺปนฺนานํ ได้แก่ ยังไม่เกิด.
               บทว่า ปาปกานํ ได้แก่ ลามก.
               บทว่า อกุสลานํ ธมฺมานํ ได้แก่ ธรรมที่เป็นอกุศล.
               บทว่า อนุปฺปาทาย ได้แก่ เพื่อไม่ให้เกิดขึ้น.
               บทว่า ฉนฺทํ ชเนติ - ย่อมยังฉันทะให้เกิดขึ้น ได้แก่ ยังฉันทะในกุศล กล่าวคือความเป็นผู้ใคร่ทำให้เกิด คือให้เกิดขึ้น.
               บทว่า วายมติ - ย่อมพยายาม ได้แก่ ยังความเพียรให้เกิด คือทำความเพียร.
               บทว่า วีริยํ อารภติ - ปรารภความเพียร ได้แก่ ทำความเพียรทางกายและทางจิต.
               บทว่า จิตฺตํ ปคฺคณฺหาติ - ประคองจิต ได้แก่ ยกจิตขึ้นด้วยความเพียรอันรวมกันนั้นนั่นเอง.
               บทว่า ปทหติ - ตั้งจิตไว้ ได้แก่ ทำความเพียรเป็นที่ตั้ง.
               พึงประกอบบท ๔ บทเหล่านี้ด้วยอาเสวนา - การเสพ, ภาวนา - การเจริญ, พหุลีกรรม - การทำให้มาก, สาตัจจกิริยา - การทำติดต่อ ตามลำดับไป.
               บทว่า อุปฺปนฺนานํ - ที่เกิดขึ้นแล้ว ได้แก่ ถึงความไม่ควรจะกล่าวว่า อนุปปนฺนานํ - ที่ยังไม่เกิด.
               บทว่า ปหานาย ได้แก่ เพื่อละ.
               บทว่า อนุปฺปนฺนานํ กุสลานํ ธมฺมานํ ได้แก่ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด.
               บทว่า อุปฺปาทาย ได้แก่ เพื่อให้เกิดขึ้น.
               บทว่า อุปฺปนฺนานํ ได้แก่ ที่เกิดขึ้นแล้ว.
               บทว่า ฐิติยา ได้แก่ เพื่อความตั้งมั่น.
               บทว่า อสมฺโมสาย - เพื่อความไม่ฟั่นเฟือน ได้แก่ เพื่อความไม่ฉิบหาย.
               บทว่า ภิยฺโยภาวาย - เพื่อความเจริญโดยยิ่ง ได้แก่ เพื่อความเจริญบ่อยๆ.
               บทว่า เวปุลฺลาย ได้แก่ เพื่อความไพบูลย์.
               บทว่า ภาวนาย ได้แก่ เพื่อความเจริญ.
               บทว่า ปาริปูริยา ได้แก่ เพื่อความบริบูรณ์.
               ก็สัมมัปธาน ๔ อันได้แก่สัมมาวายามะเหล่านี้เป็นโลกิยะในส่วนเบื้องต้น เป็นโลกุตระในขณะแห่งมรรค. แต่ในขณะแห่งมรรค ความเพียรอย่างเดียวเท่านั้นย่อมได้ชื่อ ๔ อย่าง ด้วยสามารถทำกิจ ๔ อย่างให้สำเร็จ.
               ในสัมมัปธานเหล่านั้น พึงทราบสัมมัปธานที่เป็นโลกิยะ โดยนัยที่ท่านกล่าวไว้ในกัสสปสังยุตนั่นแล.
               ในกัสสปสังยุตนั้น ท่านกล่าวไว้ว่า๓-
                                   ดูก่อนท่านผู้มีอายุ สัมมัปธาน ๔ เหล่านี้.
                         สัมมัปธาน ๔ เป็นไฉน? ดูก่อนอาวุโส ภิกษุใน
                         ศาสนานี้ทำความเพียรว่า อกุศลธรรมอันลามก
                         ยังไม่เกิดแก่เรา เมื่อเกิดพึงเป็นไปเพื่อความฉิบ-
                         หาย, ภิกษุทำความเพียรว่า อกุศลธรรมอันลามก
                         เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เมื่อยังละไม่ได้พึงเป็นไปเพื่อ
                         ความฉิบหาย, ภิกษุทำความเพียรว่า กุศลธรรม
                         ยังไม่เกิดแก่เรา เมื่อไม่เกิดขึ้น จะพึงเป็นไปเพื่อ
                         ความฉิบหาย, ภิกษุทำความเพียรว่า กุศลธรรม
                         เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เมื่อดับไปพึงเป็นไปเพื่อความ
                         ฉิบหายดังนี้.
____________________________
๓- สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๔๖๘

               ในบทเหล่านั้น บทว่า อนุปฺปนฺนา ได้แก่ กิเลสที่ยังไม่เกิดด้วยความไม่ปรากฏ หรือด้วยอารมณ์ที่ยังไม่เกิด. อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดในสงสารอันไม่รู้เบื้องต้นและที่สุดโดยประการอื่น ย่อมไม่มี, อกุศลธรรมเหล่านี้นั่นแหละที่ยังไม่เกิดและเมื่อเกิดก็ย่อมเกิด, แม้เมื่อละก็ย่อมละได้.
               ในบทนั้น กิเลสทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏ ด้วยสามารถวัตร คันถะ ธุดงค์ สมาธิ วิปัสสนา นวกรรมและภพอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ภิกษุบางรูป.
               ถามว่า อย่างไร?
               ตอบว่า เพราะภิกษุบางรูปเป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยวัตร, กิเลสทั้งหลายไม่ได้โอกาสแก่ภิกษุผู้ประพฤติขันธกวัตร ๘๐#- มหาวัตร ๑๔##- และเจติยังคณวัตร - บูชาลานเจดีย์ โพธิยังคณวัตร - บูชาลานโพธิ์ ปานียมาฬกวัตร - ตั้งน้ำดื่มไว้ที่เรือนยอด อุโปสถาคารวัตร - ปฏิบัติในโรงอุโบสถ อาคันตุกวัตร - ต้อนรับภิกษุผู้จรมา คมิกวัตร - ปฏิบัติต่อภิกษุผู้เตรียมจะไป.
               แต่ภายหลังเมื่อภิกษุนั้นสละวัตรทั้งหลาย ทำลายวัตรเที่ยวไป กิเลสทั้งหลายอาศัยความไม่ใส่ใจและความปล่อยสติ ย่อมเกิดขึ้นได้. แม้ด้วยประการฉะนี้ กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่เกิดด้วยยังไม่ปรากฏ ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้น.
____________________________
#- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๑  ##- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๔๑๔

               ภิกษุบางรูปเป็นผู้ประกอบด้วยคันถะ, ย่อมเรียนนิกาย ๑ บ้าง ๒ นิกายบ้าง ๓ นิกายบ้าง ๔ นิกายบ้าง ๕ นิกายบ้าง. กิเลสทั้งหลายย่อมไม่ได้โอกาสแก่ภิกษุนั้นผู้เรียน ท่อง คิด บอก แสดง ชี้แจงพระไตรปิฎกอันเป็นพุทธวจนะ ด้วยบาลี ด้วยการสืบต่อ ด้วยบทต้นบทหลัง. แต่ภายหลัง เมื่อภิกษุนั้นละการเรียนคัมภีร์ เกียจคร้าน เที่ยวเตร่ กิเลสทั้งหลายอาศัยความไม่ใส่ใจ ความปล่อยสติ ย่อมเกิดขึ้นได้.
               แม้ด้วยประการฉะนี้ กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่เกิด ด้วยยังไม่ปรากฏ ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้น.
               ภิกษุบางรูปเป็นผู้ทรงธุดงค์ ปฏิบัติธุดงคคุณ ๑๓, กิเลสย่อมไม่ได้โอกาสแก่ภิกษุนั้นผู้ปฏิบัติธุดงคคุณ แต่ภายหลังเมื่อภิกษุนั้นสละธุดงค์เสีย เวียนมาเพื่อความมักมากเที่ยวเตร่ กิเลสทั้งหลายอาศัยความไม่ใส่ใจ ความปล่อยสติ ย่อมเกิดขึ้น.
               แม้ด้วยประการฉะนี้ กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่เกิด ด้วยยังไม่ปรากฏ ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้น.
               ภิกษุบางรูปเป็นผู้เจริญวิปัสสนา, ปฏิบัติอยู่ในอนุปัสนา ๗###- หรือมหาวิปัสสนา ๑๘####- เมื่อภิกษุนั้นปฏิบัติอยู่อย่างนี้ กิเลสทั้งหลายย่อมไม่ได้โอกาส. แต่ภายหลังเมื่อภิกษุนั้นเลิกบำเพ็ญวิปัสสนามากไปด้วยการยึดมั่นกาย กิเลสทั้งหลายอาศัยความไม่ใส่ใจ ความปล่อยสติ ย่อมเกิดขึ้น. แม้ด้วยประการฉะนี้ กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่เกิดด้วยยังไม่ปรากฏ ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้น.
____________________________
###- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๗๒๗  ####- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๖๑-๖๒

               ภิกษุบางรูปเป็นนวกัมมิกะ, ทำการก่อสร้างโรงอุโบสถและหอฉันเป็นต้น, เมื่อภิกษุนั้นคิดถึงอุปกรณ์การก่อสร้างโรงอุโบสถและหอฉันเหล่านั้นอยู่ กิเลสทั้งหลายยังไม่ได้โอกาส. แต่ภายหลังเมื่อนวกรรมของภิกษุนั้นสำเร็จแล้วหรือทอดทิ้งเสีย กิเลสทั้งหลายอาศัยความไม่ใส่ใจ ความปล่อยสติ ย่อมเกิดขึ้น. แม้ด้วยประการฉะนี้ กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่เกิด ด้วยยังไม่ปรากฏ ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้น.
               ภิกษุบางรูปมาจากพรหมโลก เป็นสัตว์บริสุทธิ์, กิเลสทั้งหลายย่อมไม่ได้โอกาสด้วยการไม่ซ่องเสพของภิกษุนั้น, แต่ภายหลังเมื่อภิกษุนั้นซ่องเสพสิ่งที่ได้มา กิเลสทั้งหลายอาศัยความไม่ใส่ใจ ความปล่อยสติ ย่อมเกิดขึ้น. แม้ด้วยประการฉะนี้ กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่เกิดด้วยยังไม่ ปรากฏ ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้น.
               พึงทราบความที่กิเลสยังไม่เกิด ด้วยยังไม่ปรากฏอย่างนี้.
               กิเลสยังไม่เกิดด้วยอารมณ์ที่ไม่เคยเกิดเป็นอย่างไร?
               ภิกษุบางรูปในศาสนาได้อารมณ์ที่น่าพอใจเป็นต้นซึ่งไม่เคยเกิดมาก่อน, กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้นอาศัยความไม่ใส่ใจ ความปล่อยสติของภิกษุนั้น ย่อมเกิดขึ้น. ด้วยประการฉะนี้ กิเลสที่ยังไม่เกิดด้วยอารมณ์ที่ไม่เคยเกิด ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้น เมื่อมีอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นอย่างนี้ ภิกษุเห็นความฉิบหายของตน ย่อมเจริญสัมมัปธานข้อต้นด้วยเจริญสติปัฏฐาน เพื่อความไม่เกิดแห่งอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเหล่านั้น, เมื่ออกุศลธรรมเหล่านั้นเกิด. ภิกษุเห็นความฉิบหายของตน เพราะไม่ละอกุศลธรรมเหล่านั้น แล้วจึงเจริญสัมมัปธานข้อที่สอง เพื่อละอกุศลธรรมเหล่านั้น.
               บทว่า อนุปฺปนฺนา กุสลา ธมฺมา - กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ได้แก่สมถวิปัสสนาและมรรค.
               ภิกษุเห็นความฉิบหายของตนในเพราะกุศลธรรมเหล่านั้นที่ยังไม่เกิด แล้วจึงเจริญสัมมัปธานข้อที่สาม เพื่อให้กุศลธรรมเหล่านั้นเกิด.
               บทว่า อุปฺปนฺนา กุสลา ธมฺมา - กุศลธรรมที่เกิดแล้ว ได้แก่สมถวิปัสสนานั่นเอง.
               ส่วนมรรคเกิดครั้งเดียวแล้วดับ จะไม่เป็นไปเพื่อความฉิบหายเลย. เพราะมรรคนั้นให้ปัจจัยแก่ผลแล้วก็ดับไป.
               ภิกษุครั้นเห็นความฉิบหายของตน เพราะสมถะและวิปัสสนาเหล่านั้นดับไป จึงเจริญสัมมัปธานข้อที่สี่ เพื่อความตั้งมั่นแห่งสมถะและวิปัสสนาเหล่านั้น. ในขณะแห่งโลกุตรมรรค ย่อมเจริญวิริยะอย่างเดียวเท่านั้น.
               ภิกษุย่อมยังกิจคือความไม่เกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมเหล่านั้น ที่ยังไม่เกิดขึ้นและกิจคือการละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้สำเร็จ เหมือนอย่างที่อกุศลธรรมยังไม่เกิดพึงเกิดขึ้น.
               อนึ่ง ในบทว่า อุปฺปนฺนา นี้ อุปปันนะคือธรรมที่เกิดขึ้นมี ๔ อย่าง คือ
                         วตฺตมานุปฺปนฺนํ - เกิดขึ้นกำลังเป็นไป ๑
                         ภูตาปคตุปฺปนฺนํ - เกิดขึ้นเสพอารมณ์แล้วดับไป ๑
                         โอกาสกตุปฺปนฺนํ - เกิดขึ้นทำโอกาส ๑
                         ภูมิลทฺธุปฺปนฺนํ - เกิดขึ้นในภูมิที่ได้ ๑.
               ในอุปปันนะเหล่านั้น ธรรมที่เกิดมาพร้อมกับอุปปาทะ ชรา ภังคะ - เกิด แก่ ตาย ชื่อว่า วตฺตมานุปฺปนฺนํ.
               กุศลอกุศลเสวยรสอารมณ์แล้วดับไป คือเสพแล้วก็ปราศไป และสังขตธรรมที่เหลือ กล่าวคือเข้าถึงลักษณะ ๓ มีอุปปาทะเป็นต้นแล้วดับไปคือเสพแล้ว เป็นไปทั่วแล้ว ชื่อว่า ภูตาปคตุปฺปนฺนํ.
               ชื่อว่า โอกาสกตุปฺปนฺนํ เพราะห้ามกรรมอันเป็นวิบากอื่นที่มีอยู่แม้ในอดีต ดังที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า กรรมที่ผู้นั้นได้ทำไว้แล้วในชาติก่อน๔- แล้วทำโอกาสแห่งวิบากของตนตั้งอยู่ และเพราะวิบากอันเป็นโอกาสที่ตนทำไว้แล้วอย่างนั้น แม้ยังไม่เกิดก็จะเกิดขึ้นโดยส่วนเดียวในโอกาสที่ตนทำไว้อย่างนั้น.
____________________________
๔- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๔๗๑

               อกุศลที่ยังไม่ถอนในภูมิ ๓ นั้นๆ ชื่อว่า ภูมิลทฺธุปฺปนฺนํ.
               อนึ่ง ในบทนี้พึงทราบความต่างกันของภูมิ และภูมิลัทธะ - ภูมิอันได้แล้ว
               จริงอยู่ ขันธ์ ๕ อันเป็นไปในภูมิ ๓ เป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนา ชื่อว่าภูมิ. กิเลสชาตอันควรเกิดในขันธ์เหล่านั้น ชื่อว่าภูมิลัทธะ, เพราะเหตุที่กิเลสนั้นได้ภูมิ ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าภูมิลัทธะ, ภูมินั้นไม่ได้ด้วยอารมณ์.
               จริงอยู่ กิเลสทั้งหลายปรารภขันธ์แม้ทั้งหมดทั้งในอดีต อนาคต และแม้ที่พระขีณาสพกำหนดรู้แล้ว ย่อมเกิดขึ้นด้วยอารมณ์. ผิว่าอารมณ์จะพึงชื่อว่าภูมิลัทธะแล้ว ใครๆ ก็จะพึงละมูลรากของภพไม่ได้ เพราะละภูมิลัทธะนั้นยังไม่ได้.
               อนึ่ง พึงทราบภูมิลัทธะด้วยสามารถวัตถุ.
               จริงอยู่ ขันธ์ที่กำหนดรู้ไม่ได้ด้วยวิปัสสนาในภูมิลัทธะใดๆ, กิเลสชาตอันเป็นมูลของวัฏฏะจำเดิมแต่ในภูมิลัทธะนั้น ย่อมนอนเนื่องอยู่ในขันธ์เหล่านั้น. พึงทราบว่า กิเลสชาตนั้นชื่อว่าภูมิลัทธะ ด้วยอรรถว่ายังละไม่ได้.
               อนึ่ง ในบทนั้นมีความว่า ขันธ์ทั้งหลายของผู้ที่มีกิเลสนอนเนื่องอยู่ด้วยอรรถว่ายังละไม่ได้ เป็นที่ตั้งแห่งกิเลสเหล่านั้น. ขันธ์ทั้งหลายมิใช่ของคนอื่น
               อนึ่ง ขันธ์ในอดีตเป็นที่ตั้งของกิเลสที่ยังละไม่ได้และนอนเนื่องอยู่ในขันธ์ในอดีต. ขันธ์นอกนี้ไม่เป็นที่ตั้ง.
               ขันธ์ในอนาคตเป็นต้นก็มีนัยนี้.
               อนึ่ง กามาวจรขันธ์นั่นแลเป็นที่ตั้งของกิเลสที่ยังละไม่ได้และนอนเนื่องอยู่ในกามาวจรขันธ์, ขันธ์นอกนี้ไม่เป็นที่ตั้ง.
               ในรูปาวจรขันธ์และอรูปาวจรขันธ์ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               อนึ่ง ในโสดาบันเป็นต้น กิเลสชาตเป็นมูลของวัฏฏะนั้นๆ ในขันธ์ของพระอริยบุคคลใดๆ ละได้ด้วยมรรคนั้นๆ, ขันธ์เหล่านั้นของพระอริยบุคคลนั้นๆ ไม่นับว่าเป็นภูมิ เพราะไม่เป็นที่ตั้งแห่งกิเลสอันเป็นมูลของวัฏฏะเหล่านั้นซึ่งละได้แล้ว.
               กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่บุคคลทำ ย่อมมีแก่ปุถุชนโดยประการทั้งปวง เพราะยังละกิเลสอันเป็นมูลแห่งวัฏฏะยังไม่ได้, วัฏฏะอันเป็นปัจจัยของกรรมกิเลส ย่อมควรแก่ผู้นั้นด้วยประการฉะนี้, กรรมนั้นของบุคคลนั้นๆ เป็นมูลของวัฏฏะในรูปขันธ์นั่นเอง, ไม่ใช่ในเวทนาขันธ์เป็นต้น, หรือในวิญญาณขันธ์เท่านั้น, ไม่ควรกล่าวว่า ไม่ใช่ในรูปขันธ์เป็นต้น.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะกิเลสนอนเนื่องอยู่ในขันธ์แม้ทั้ง ๕ โดยไม่แปลกกัน.
               อย่างไร?
               เหมือนรสดิน (ปฐวีรสํ) เป็นต้นอยู่ในต้นไม้.
               เหมือนอย่างว่า เมื่อต้นไม้ใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นดิน อาศัยรสดินและรสน้ำ (อาโปรสํ) งอกงามด้วยราก ลำต้น กิ่งน้อยใหญ่ ใบอ่อน ใบแก่ ดอกและผล เพราะรสดิน รสน้ำนั้นเต็มฟ้า จนสิ้นกัป สืบเชื้อสายของต้นไม้ด้วยการผลิตพืชต่อๆ กันมาดำรงอยู่, พืชไม้นั้นตั้งอยู่ที่รากมีรสดินเป็นต้นเท่านั้น, ไม่ใช่ที่ลำต้นเป็นต้น, หรือในผลเท่านั้น, ไม่ควรกล่าวว่า ไม่ใช่ที่รากเป็นต้น.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะอาศัยอยู่ในรากเป็นต้นทั้งหมด.
               เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่งไม่พอใจดอกไม้และผลไม้เป็นต้นของต้นไม้นั้น จึงทิ่มหนามพิษ ชื่อว่ามัณฑูกกัณฏกะ - หนามกระเบน ลงไปใน ๔ ทิศ ครั้นต้นไม้นั้นถูกหนามพิษนั้นเข้าไม่สามารถจะสืบต่อไปได้อีก โดยไม่ผลิดอกออกผลได้ตามธรรมดา เพราะรสดินรสน้ำถูกควบคุมเสียแล้วฉันใด,
               กุลบุตรผู้เบื่อหน่ายในความเป็นไปของขันธ์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เริ่มเจริญมรรค ๔ ในสันดานของตน ดุจบุรุษนั้นประกอบหนามพิษลงในต้นไม้ใน ๔ ทิศฉะนั้น.
               เมื่อเป็นเช่นนั้น ขันธสันดานของกุลบุตรนั้นถูกสัมผัสด้วยพิษ คือมรรค ๔ นั้นกระทบแล้ว เป็นประเภทของกรรมทั้งปวงมีกายกรรมเป็นต้น เข้าถึงเพียงสภาวะของกิริยา เพราะกิเลสอันเป็นมูลของวัฏฏะ ถูกครอบงำไว้โดยประการทั้งปวง ไม่สามารถจะสืบสันดานในภพอื่นได้ หมดความยึดถือดับวิญญาณดวงสุดท้ายสิ้นเชิง ดุจไฟไม่มีเชื้อฉะนั้น.
               พึงทราบความต่างกันของภูมิ และภูมิลัทธะ อย่างนี้.
               อุปปันนะ คือ ธรรมที่เกิด ๔ อย่าง.
               อีกอย่างหนึ่ง คือ
                         สมุทาจารุปฺปนฺนํ - สิ่งเกิดขึ้นกำลังเป็นไปอยู่ ๑
                         อารมฺมณาธิคฺคหิตุปฺปนฺนํ - เกิดด้วยการถืออารมณ์ ๑
                         อวิกฺขมฺภิตุปฺปนฺนํ - เกิดด้วยการไม่ข่ม ๑
                         อสมูหตุปฺปนฺนํ - เกิดด้วยการไม่ถอน ๑.
               ในบทอุปปันนะเหล่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังเป็นไปอยู่ ชื่อว่า สมุทาจารุปฺปนฺนํ.
               กิเลสชาตแม้ยังไม่เกิดในส่วนเบื้องต้นในอารมณ์อันไปสู่คลองแห่งจักษุเป็นต้น ท่านกล่าวว่า อารมฺมณาธิคฺคหิตุปฺปนฺนํ โดยเกิดขึ้น โดยส่วนเดียวในกาลอื่น เพราะถือเอาอารมณ์.
               กิเลสชาตไม่ข่มไว้ด้วยสมถะและวิปัสสนาอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ไม่เจริญด้วยการสืบของจิต ก็ชื่อว่า อวิกฺขมฺภิตุปฺปนฺนํ เพราะไม่มีเหตุที่จะห้ามการเกิดได้.
               กิเลสชาตแม้ข่มไว้ด้วยสมถะและวิปัสสนา ท่านก็กล่าวว่า อสมูหตุปฺปนฺนํ เพราะไม่ถอนด้วยอริยมรรค เพราะไม่ล่วงเลยธรรมดาของความเกิด.
               พึงทราบว่า อารมฺมณาธิคฺคหิตุปฺปนฺนํ อวิกฺขมฺภิตุปฺปนฺนํ อสมูหตุปฺปนฺนํ ทั้งสามนี้ ย่อมสงเคราะห์ลงด้วยภูมิลัทธะ นั่นเอง.
               เมื่ออุปปันนธรรมมีประเภทดังกล่าวแล้วนี้เกิดขึ้นแล้ว กิเลสชาตใด ได้แก่วัตตมานะ ภูตาปคตะ โอกาสคตะ สมุทาจาระเกิดขึ้น กิเลสชาตนั้นเป็นอันมรรคญาณใดๆ ไม่พึงละ เพราะไม่ถูกทำลายด้วยมรรค.
               อนึ่ง กิเลสชาตใด กล่าวคือภูมิลัทธะ อารัมมณาธิคหิตะ อวิกขัมภิตะ อสมูหตะเกิดขึ้นแล้ว กิเลสชาตนั้นยังความเกิดในพระโยคีนั้นให้เสื่อมไป เพราะโลกิยญาณและโลกุตรญาณนั้นเกิดขึ้น, ฉะนั้นกิเลสชาตแม้ทั้งหมดนั้นก็เป็นอันมรรคนั้นๆ พึงละได้. ด้วยประการฉะนี้ มรรคย่อมละกิเลสเหล่าใด หมายเอากิเลสเหล่านั้น จึงกล่าวว่า อุปฺปนฺนานํ.
               เมื่อเป็นเช่นนั้น การเจริญเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลที่ยังไม่เกิด ย่อมมีได้ในขณะแห่งมรรคเป็นอย่างไร? และเพื่อความตั้งมั่นแห่งกุศลที่เกิดขึ้นแล้วเป็นอย่างไร? เพื่อเข้าถึงมรรคนั่นเอง. เพราะท่านกล่าวว่า มรรคที่เป็นไปอยู่ ชื่อว่ายังไม่เคยเกิด เพราะไม่เคยเกิดมาก่อน.
               จริงอยู่ มีผู้มาสู่ฐานะที่ไม่เคยมาหรือเสวยอารมณ์ที่ไม่เคยเสวย แล้วกล่าวว่า เรามาสู่ฐานะที่ยังไม่ได้มา เราเสวยอารมณ์ที่ไม่เคยเสวยดังนี้.
               ความเป็นไปแห่งกุศลธรรมนั้น ชื่อว่าฐิติ, ควรกล่าวว่า ฐิติยา ภาเวติ - เจริญเพื่อความตั้งมั่น. นี้คือความเพียรของภิกษุนั้นในขณะแห่งโลกุตรมรรคย่อมได้ชื่อ ๔ อย่าง มีอาทิว่า อนุปฺปนฺนานํ ปาปกานํ อกุสลานํ ธมฺมานํ อนุปาทาย - เพื่อยังอกุศลอันลามกที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น. กถานี้เป็นสัมมัปธานกถาในขณะแห่งโลกุตรมรรค.
               ในบทนี้ ท่านชี้แจงสัมมัปธานเจือด้วยโลกิยะและโลกุตระไว้อย่างนี้.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา มัคคสัจนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 84อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 85อ่านอรรถกถา 31 / 86อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=906&Z=950
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=3890
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=3890
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :