ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 84อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 85อ่านอรรถกถา 31 / 86อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
มัคคสัจนิทเทส

หน้าต่างที่ ๔ / ๔.

               อรรถกถาสัจจปกิณณกะ               
               ก็ในสัจจะ ๔ เหล่านั้น ทุกขสัจจะมีลักษณะเบียดเบียน, สมุทยสัจจะมีลักษณะเป็นแดนเกิด, นิโรธสัจจะมีลักษณะสงบ, มรรคสัจจะมีลักษณะนำออก.
               อีกอย่างหนึ่ง อริยสัจมีปวัตติ - การเป็นไป, มีปวัตตกะ - ผู้ให้เป็นไป, มีนิวัตติ - การไม่เป็นไป และมีนิวัตตกะ - เหตุไม่เป็นไป เป็นลักษณะโดยลำดับ และมีสังขตะคือทุกข์ มีตัณหาคือเหตุให้เกิดทุกข์ มีอสังขตะคือนิพพาน และมีทัสนะคือมรรคเป็นลักษณะเหมือนกัน.
               หากมีคำถามว่า ก็เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวอริยสัจ ๔ ไม่หย่อนไม่ยิ่ง?
               เพราะไม่มีอย่างอื่น และเพราะไม่ควรทำอย่างใดอย่างหนึ่งออกไป. เพราะว่า สิ่งอื่นหรือยิ่งไปกว่านี้ หรืออริยสัจเหล่านั้นจะพึง นำออกแม้อย่างเดียว ไม่มี.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์
                         พึงมาในที่นี้ กล่าวว่า ข้อที่พระสมณโคดมแสดง
                         ไม่ใช่ทุกขอริยสัจ ทุกขอริยสัจเป็นอย่างอื่นนั้น,
                         เราจักบัญญัติทุกขอริยสัจอย่างอื่น เว้นทุกขอริย-
                         สัจ ๔ ดังนี้ ข้อนั้นมิใช่ฐานะที่จะมีได้ดังนี้เป็นต้น.
               ตรัสไว้อีกว่า๑-
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์
                         เหล่าใดเหล่าหนึ่ง พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้อที่พระ
                         สมณโคดมแสดงว่านี้มิใช่ทุกข์ อันเป็นอริยสัจ
                         ข้อที่ ๑, เราจักบัญญัติทุกข์อื่นอันเป็นอริยสัจ
                         ข้อที่ ๑ โดยบอกปัดทุกข์นี้อันเป็นอริยสัจข้อที่ ๑
                         เสียดังนี้ ข้อนั้นมิใช่ฐานะที่จะมีได้ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๑- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๖๙๓

               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงบอกปวัตติ - ความเป็นไป จึงทรงบอกพร้อมด้วยเหตุ, และบอกนิวัตติคือพระนิพพาน พร้อมด้วยอุบายคือมรรค. เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอริยสัจ ๔ โดยเป็นธรรมอย่างยิ่งไปกว่านั้นแห่งเหตุทั้ง ๒ ประการ คือของปวัตติ - ความเป็นไปและนิวัตติ - การกลับไป.
               อนึ่ง ท่านกล่าวถึงอริยสัจ ๔ ด้วยสามารถแห่งตัณหาวัตถุ ตัณหา ตัณหานิโรธและอุบายดับตัณหา, และความอาลัย ยินดีในความอาลัย ถอนความอาลัยและอุบายในการถอนความอาลัย, อันควรกำหนดรู้ ควรละ ควรทำให้แจ้งและควรทำให้เกิด.
               อนึ่ง ในอริยสัจนี้ ท่านกล่าวทุกขสัจเป็นข้อที่ ๑ เพราะทุกขสัจ รู้ได้ง่าย เพราะเป็นของหยาบ และเพราะเป็นของทั่วไปแก่สัตว์ทั้งปวง. เพื่อแสดงถึงเหตุแห่งทุกขสัจนั้น ท่านจึงกล่าวสมุทยสัจในลำดับต่อไป, เพื่อให้รู้ว่าการดับผลได้ เพราะดับเหตุ จึงกล่าวนิโรธสัจต่อจากนั้น, เพื่อแสดงอุบายให้บรรลุนิโรธสัจนั้นจึงกล่าวมรรคสัจ ในที่สุด.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวถึงทุกขสัจก่อนเพื่อให้เกิดความสังเวชแก่สัตว์ทั้งหลายผู้ถูกมัดด้วยความพอใจในความสุขในภพ ทุกข์นั้นบุคคลไม่ทำแล้วย่อมไม่มาถึง, ย่อมไม่มีโดยไม่ถือตัวว่าเป็นใหญ่เป็นต้น, แต่ย่อมมีได้โดยเหตุนี้ เพื่อให้รู้ดังนี้ ท่านจึงกล่าวสมุทยสัจในลำดับจากทุกขสัจนั้น เพื่อให้เกิดความปลอดโปร่งใจ ด้วยการเห็นอุบายสลัดออกของผู้แสวงหาอุบายสลัดออกจากทุกข์ มีความสลดใจ เพราะถูกทุกข์พร้อมด้วยเหตุครอบงำ ท่านจึงกล่าวนิโรธสัจต่อจากนั้น, จากนั้นเพื่อบรรลุนิโรธ ท่านจึงกล่าวมรรคอันให้ถึงนิโรธ.
               นี้เป็นลำดับของอริยสัจเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง ในอริยสัจเหล่านี้ควรเห็นทุกขสัจดุจเป็นภาระ, ควรเห็นสมุทยสัจดุจแบกภาระ, ควรเห็นนิโรธสัจดุจการวางภาระ, ควรเห็นมรรคสัจดุจอุบายวางภาระ.
               อีกอย่างหนึ่ง ควรเห็นทุกขสัจดุจโรค, ควรเห็นสมุทยสัจดุจเหตุของโรค, ควรเห็นนิโรธสัจดุจโรคสงบ, ควรเห็นมรรคสัจดุจเภสัช.
               อีกอย่างหนึ่ง ควรเห็นทุกขสัจดุจข้าวยากหมากแพง, ควรเห็นสมุทยสัจดุจฝนแล้ง, ควรเห็นนิโรธสัจดุจข้าวปลาหาง่าย, ควรเห็นมรรคสัจดุจฝนตกต้องตามฤดูกาล.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงประกอบอริยสัจเหล่านี้แล้ว พึงทราบโดยเปรียบเทียบด้วยคนมีเวร เหตุของเวร การถอนเวร อุบายการถอนเวร, ด้วยต้นไม้มีพิษ รากต้นไม้ การทำลายราก และอุบายทำลายรากนั้น, ด้วยภัย เหตุของภัย ความไม่มีภัยและอุบายบรรลุถึงความไม่มีภัยนั้น, ด้วยฝั่งใน ห้วงน้ำใหญ่ ฝั่งนอก และความพยายามให้ถึงฝั่งนอกนั้นด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง พึงทราบสัจจะเหล่านี้ทั้งหมดโดยปรมัตถ์ว่า สูญ เพราะไม่มีผู้เสวย ผู้ทำ ผู้ดับและผู้ไป.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                                   ทุกฺขเมว หิ น โกจิ ทุกฺขิโต
                                   การโก น กิริยาว วิชฺชติ,
                                   อตฺถิ นิพฺพุติ น นิพฺพุโต ปุมา
                                   มคฺคมตฺถิ คมโก น วิชฺชติ.

                                   ความจริงทุกข์เท่านั้นมีอยู่ แต่ไม่มีใครๆ ถึง
                         ทุกข์ กิริยาคือการทำมีอยู่ แต่ผู้ทำไม่มี, ความดับ
                         มีอยู่ แต่คนดับไม่มี ทางมีอยู่ แต่ผู้เดินไม่มี.

               อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวว่า
                         ธุวสุภสุขตฺตสุญฺญํ  ปุริมทฺวยมตฺตสุญฺญมมตํ ปทํ
                         ธุวสุขตฺตวิรหิโต   มคฺโค อิติ สุญฺญตา เตสุ.
                                   ความว่างในสัจจะ ๔ เหล่านั้น พึงทราบ
                         อย่างนี้ว่า สัจจะ ๒ บทแรกคือทุกข์สมุทัย ว่าง
                         จากความเที่ยง ความงาม ความสุข และอัตตา
                         อมตบท คือพระนิพพาน ว่างจากอัตตา มรรค
                         ว่างจากความยั่งยืน ความสุข และอัตตา ดังนี้.

               อีกอย่างหนึ่ง สัจจะ ๓ อย่างสูญจากนิโรธ, และนิโรธก็สูญจากสัจจะ ๓ อย่างที่เหลือ.
               อีกอย่างหนึ่ง ในสัจจะ ๔ เหล่านี้ เหตุสูญจากผล เพราะไม่มีทุกข์ในสมุทัย, และไม่มีนิโรธในมรรค, เหตุไม่ร่วมครรภ์กับผล ดุจปกติของลัทธิทั้งหลายมีปกติวาทีเป็นต้น.
               อนึ่ง ผลก็สูญจากเหตุ เพราะทุกข์สมุทัยและนิโรธมรรคไม่ได้เสมอกัน, ผลนั้นมิได้เป็นอย่างเดียวกับเหตุ แต่เป็นเหตุเป็นผล ดุจสองอณูของลัทธิทั้งหลายมีสมวายวาทีเป็นต้น.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         ตยมิธ นิโรธสุญฺญํ  ตเยน เตนาปิ นิพฺพุตี สุญฺญา
                         สุญฺโญ ผเลน เหตุ  ผลมฺปิ ตํเหตุนา สุญฺญํ.
                                   ในที่นี้สัจจะ ๓ อย่าง สูญจากนิโรธ นิโรธ
                         ก็สูญจากสัจจะ ๓ อย่างแม้นั้น สัจจะที่เป็นเหตุ
                         สูญจากสัจจะที่เป็นผล แม้สัจจะที่เป็นผล ก็สูญ
                         จากสัจจะที่เป็นเหตุนั้น ดังนี้.

               สัจจะทั้งหมดเป็นสภาคะของกันและกัน โดยความจริงแท้ โดยสูญจากตัวตน และโดยแทงตลอดสิ่งที่ทำได้ยาก.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
                                   ดูก่อนอานนท์ เธอย่อมสำคัญความข้อนั้น
                         เป็นอย่างไร, อย่างไหนจะทำได้ยากกว่ากันหรือ
                         จะให้เกิดขึ้นได้ยากกว่ากัน คือการที่ยิงลูกศรให้
                         เข้าไปติด ๆ กันทางช่องดาลอันเล็ก แต่ที่ใกล้ได้
                         ไม่ผิดพลาด กับการที่บุคคลแทงปลายขนทราย
                         ด้วยปลายขนทรายที่แบ่งออกแล้วเป็น ๗ ส่วน.๒-
                                   พระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
                         การแทงปลายขนทราย ด้วยปลายขนทรายที่แบ่ง
                         ออกแล้วเป็น ๗ ส่วน กระทำได้ยากกว่า และให้เกิด
                         ได้ยากกว่า พระเจ้าข้า.
                                   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์
                         ชนเหล่าใด ย่อมแทงตลอดตามความเป็นจริงว่านี้
                         ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ชนเหล่านั้น
                         ย่อมแทงตลอดได้ยากกว่าโดยแท้๓- ดังนี้.
____________________________
๒- สี. ม. เป็นสตธา ร้อยส่วน
๓- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๗๓๘

               สัจจะทั้งหลายเป็นวิสภาคะกันเพราะกำหนดด้วยลักษณะของตน.
               สัจจะสองข้างต้นเป็นสภาคะกัน ด้วยอรรถว่าเรียนรู้ยาก เพราะลึกซึ้ง เพราะเป็นโลกิยะ และเพราะมีอาสวะ, เป็นวิสภาคะกัน เพราะต่างเป็นเหตุผลกัน และเพราะควรกำหนดรู้และควรละ.
               แม้สองข้อหลังก็เป็นสภาคะกันด้วยความเป็นธรรมลึกซึ้ง เพราะเรียนรู้ได้ยาก เพราะเป็นโลกุตระ และเพราะไม่มีอาสวะ, เป็นวิสภาคะกัน เพราะต่างก็เป็นใหญ่ในวิสัย และเพราะควรทำให้แจ้ง ควรทำให้เกิด.
               ปฐมตติยานิ จาปิ สภาคานิ ผลาปเทสโต วิสภาคานิ สงฺขตาสงฺขตโต ฯ
               แม้ข้อที่ ๑ และข้อที่ ๓ ก็เป็นสภาคะกันโดยอ้างถึงผล, เป็นวิสภาคะกันโดยเป็นสังขตะและอสังขตะ.
               แม้ข้อที่ ๒ และข้อที่ ๔ ก็เป็นวิสภาคะกันโดยอ้างถึงเหตุ เป็นวิสภาคะกันโดยเป็นกุศลและอกุศลส่วนเดียว.
               สัจจะที่ ๑ และที่ ๔ เป็นสภาคะกัน เป็นสังขตธรรมด้วยกัน, เป็นวิสภาคะกันโดยเป็นโลกิยะและโลกุตร.
               ธรรมข้อที่ ๒ และข้อที่ ๓ ก็เป็นสภาคะกันโดยความเป็นเสกขะก็ไม่ใช่ อเสกขะก็ไม่ใช่, เป็นวิสภาคะกันโดยมีอารมณ์ และไม่มีอารมณ์.
               ท่านกล่าวไว้ว่า
                         อิติ เอวํ ปกาเรหิ  นเยหิ จ วิจกฺขโณ
                         วิชญฺญา อริยสจฺจานํ  สภาควิสภาคตํ
                                   บัณฑิตผู้เห็นแจ้งโดยประการ และโดยนัย
                         อย่างนี้ พึงรู้แจ้งความที่อริยสัจทั้งหลายเป็นสภาคะ
                         คือมีส่วนเสมอกัน และวิสภาคะ คือมีส่วนไม่เสมอ
                         กันด้วยประการฉะนี้.

               อนึ่ง ในอริยสัจนี้ ทุกข์ทั้งหมดเป็นอย่างเดียวกันโดยความเป็นไป,
               เป็น อย่างโดยนามและรูป,
               เป็น อย่างโดยประเภทแห่งภพที่เกิด คือกามภพ รูปภพและอรูปภพ,
               เป็น อย่างโดยประเภทของอาหาร ๔,
               เป็น อย่าง โดยประเภทของอุปาทานขันธ์ ๕.
               แม้สมุทัยก็เป็นอย่างเดียวโดยให้วัฏฏะเป็นไป.
               เป็น อย่างโดยสัมปยุตและไม่สัมปยุตด้วยทิฏฐิ,
               เป็น อย่างโดยประเภทแห่งกามตัณหา ภวตัณหาและวิภาวตัณหา,
               เป็น อย่างโดยเป็นธรรมอันมรรค ๔ พึงละ,
               เป็น อย่าง โดยประเภทการยินดียิ่งในรูปเป็นต้น,
               เป็น อย่าง โดยประเภทแห่งหมู่ตัณหา ๖.
               แม้นิโรธก็เป็นอย่างเดียวกันโดยความเป็นอสังขตธาตุ,
               แต่โดยปริยายมี อย่างโดยเป็นสอุปาทิเสสะและอนุปาทิเสสะ,
               เป็น อย่างโดยเข้าไปสงบภพทั้ง ๓,
               เป็น อย่างโดยควรบรรลุมรรค ๔,
               เป็น อย่างโดยเข้าไปสงบความยินดียิ่ง ๕,
               เป็น อย่างโดยประเภทแห่งความสิ้นหมู่ตัณหา ๖.
               แม้มรรคก็เป็นอย่างเดียวโดยควรทำให้เกิด,
               เป็น อย่างโดยประเภทแห่งสมถะและวิปัสสนา, หรือโดยประเภทแห่งทัศนะและภาวนา,
               เป็น อย่างโดยประเภทแห่งขันธ์ ๓.
               จริงอยู่ มรรคนี้เพราะเป็นสัปปเทสธรรม จึงสงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๓ (สีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์) ที่เป็นนิปเทสธรรม ดุจเมืองสงเคราะห์รวมเข้าด้วยราชอาณาจักร ฉะนั้น
               ดังที่ท่านกล่าวว่า
                                   ดูก่อนอาวุโสวิสาขะ ขันธ์ ๓ ไม่สงเคราะห์
                         เข้าด้วยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นอริยะ. ดูก่อนอาวุโส
                         วิสาขะ มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นอริยะ สงเคราะห์เข้า
                         ด้วยขันธ์ ๓.
                                   ดูก่อนอาวุโสวิสาขะ ธรรมเหล่านี้คือ สัมมา-
                         วาจา สัมมากัมมันโต และสัมมาอาชีโว สงเคราะห์
                         เข้าในศีลขันธ์. ธรรมเหล่านี้คือ สัมมาวายาโม สัมมา
                         สติ และสัมมาสมาธิ สงเคราะห์เข้าในสมาธิขันธ์.
                         ธรรมเหล่านี้คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สงเคราะห์
                         เข้าในปัญญาขันธ์.๔-
____________________________
๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๐๘

               มรรค อย่างสงเคราะห์ด้วยโสดาปัตติมรรคเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง สัจจะทั้งหมดเป็นอย่างเดียวกัน เพราะความเป็นสิ่งจริงแท้, หรือ เพราะความเป็นสิ่งควรรู้ยิ่ง.
               เป็น อย่าง โดยเป็นโลกิยะและโลกุตระ หรือโดยเป็นสังขตะและอสังขตะ.
               เป็น อย่าง โดยเป็นสิ่งควรละ โดยเป็นสิ่งไม่ควรละ และโดยเป็นสิ่งควรละก็หามิได้ เป็นสิ่งไม่ควรละก็หามิได้ จากทัสนะและภาวนา.
               เป็น อย่าง โดยเป็นสิ่งควรกำหนดรู้ ควรละ ควรทำให้แจ้งและควรทำให้เกิด.
               ท่านกล่าวว่า
                         เอวํ อริยสจฺจานํ       ทุพฺโพธานํ พุโธ วิธึ
                         อเนกเภทโต ชญฺญา  หิตาย จ สุขาย จ.
                                   พระพุทธเจ้าทรงรู้วิธีของอริยสัจอย่างนี้
                         ที่รู้ได้ยาก โดยประเภทไม่น้อย เพื่อประโยชน์
                         และเพื่อความสุข ดังนี้.

               จบอรรถกถาสัจจปกิณณกะ               
               -----------------------------------------------------               

               บัดนี้ พระธรรมเสนาบดีชี้แจงสัจจตุกนัยในที่สุดตามลำดับที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วนั่นแล แล้วแสดงสรุปสุตมยญาณด้วยสัจจตุกนัยมีอาทิว่า ตํ ญาตฏฺเฐน ญาณํ - ชื่อว่าญาณ ด้วยอรรถว่ารู้ธรรมนั้น.
               ครั้นแล้วพระธรรมเสนาบดีแสดงสรุปอริยสัจทั้งหมดที่ท่านกล่าวไว้ในครั้งก่อนว่า โสตาวธาเน ปญฺญา สุตเยญาณํ - ปัญญาในการทรงจำธรรมที่ได้สดับมาแล้ว ชื่อว่าสุตมยญาณ ด้วยประการฉะนี้

               จบอรรถกถาสุตมยญาณนิทเทส               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา มัคคสัจนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 84อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 85อ่านอรรถกถา 31 / 86อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=906&Z=950
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=3890
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=3890
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :