ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 0อ่านอรรถกถา 31 / 1อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค
มาติกา

หน้าต่างที่ ๓ / ๗.

               ๘. อรรถกถาอาทีนวญาณุทเทส               
               ว่าด้วยอาทีนวญาณ               
               คำว่า ภยตูปฏฺฐาเน ปญฺญา มีความว่า ปัญญาในการปรากฏขึ้นแห่งอุปปาทะความเกิด ปวัตตะความเป็นไป นิมิตเครื่องหมาย อายูหนาการประมวลมา และปฏิสนธิการเกิดในภพใหม่ โดยความเป็นภัย คือในการเข้าไปยึดถือว่ามีภัยปรากฏอยู่เฉพาะหน้า โดยการประกอบด้วยความเบียดเบียนอยู่เนืองๆ. ย่อมปรากฏโดยความเป็นภัย ฉะนั้นจึงชื่อว่าภยตูปัฏฐาน คืออารมณ์. ปัญญาในภยตูปัฏฐานนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าภยตูปัฏฐานคือปัญญา เพราะอรรถว่าปรากฏโดยความเป็นภัย คำนั้นย่อมเป็นคำอธิบาย อันท่านกล่าวแล้วว่า ภยตูปัฏฐาน.
               คำว่า อาทีนเว ญาณํ เป็นภุมมวจนะ คือสัตตมีวิภัตติ. เพราะพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรได้กล่าวไว้ว่า๑-
                                   ธรรมเหล่านั้น คือ ปัญญาในความปรากฏโดย
                         ความเป็นภัย ๑, อาทีนวญาณ ๑, นิพพิทาญาณ ๑,
                         มีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น.
____________________________
๑- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๕๐๗

               แม้จะกล่าวเพียงคำเดียว (ญาณเดียว) ก็ย่อมเป็นอันกล่าวทั้ง ๓ โดยประเภทแห่งการกำหนด ดุจมุญจิตุกัมยตาญาณเป็นต้น ฉะนั้น แม้ไม่กล่าวว่า เมื่อภยตูปัฏฐานและอาทีนวานุปัสสนาสำเร็จแล้ว นิพพิทานุปัสสนาก็ย่อมสำเร็จ ดังนี้ ก็พึงทราบว่า เป็นอันกล่าวแล้วทีเดียว.
               สังขารทั้งหลายอันจำแนกไว้ในภพ ๓, กำเนิด ๔, คติ ๕, วิญญาณฐิติ ๗ และสัตตาวาส ๙ ย่อมปรากฏเป็นมหาภัยแก่พระโยคี บุคคลผู้เสพอยู่ เจริญอยู่ กระทำให้มากอยู่ซึ่งภังคานุปัสสนามีความดับไปแห่งสังขารทั้งปวงเป็นอารมณ์ เหมือนอย่างสีหะ, เสือโคร่ง, เสือเหลือง, หมี, เสือดาว, ยักษ์, รากษส, โคดุ, สุนัขดุ, ช้างซับมันดุ, งูดุ, ฟ้าผ่า, ป่าช้า, สมรภูมิ, หลุมถ่านเพลิงที่คุกรุ่นเป็นต้น ย่อมปรากฏเป็นภัยใหญ่แก่บุรุษผู้กลัวภัยใคร่มีชีวิตอยู่เป็นสุข, ภยตูปัฏฐานญาณย่อมเกิดขึ้นได้ในฐานะนี้แก่พระโยคีบุคคลผู้เห็นอยู่ว่า สังขารทั้งหลายในอดีตก็ดับไปแล้ว, ในปัจจุบันก็กำลังดับ, ถึงแม้ในอนาคตก็จักดับไปอย่างนี้เหมือนกัน
               ในภพ, กำเนิด, คติ, ฐิติและสัตตาวาสทั่วทุกแห่งหน ที่ต้านทาน ที่ซ่อนเร้น ที่ไป ที่พึ่ง ย่อมไม่ปรากฏเลยแก่พระโยคีบุคคลผู้เสพอยู่เจริญอยู่กระทำให้มากอยู่ซึ่งภยตูปัฏฐานญาณนั้น, ความปรารถนาก็ดี ความถือมั่นก็ดี ย่อมไม่มีในสังขารทั้งหลายอันมีในภพ, กำเนิด, คติ, ฐิติ, นิวาสะ แม้สักสังขารเดียว,
               ภพทั้ง ๓ ปรากฏดุจหลุมถ่านเพลิงที่เต็มด้วยถ่านเพลิงไม่มีเปลว, มหาภูตรูป ๔ ปรากฏดุจอสรพิษที่มีพิษร้าย, ขันธ์ ๕ ปรากฏดุจเพชฌฆาตที่กำลังเงื้อดาบ, อัชฌัตติกายตนะ ๖ ปรากฏดุจเรือนว่างเปล่า, พาหิรายตนะ ๖ ปรากฏดุจโจรปล้นชาวบ้าน, วิญญาณฐิติ ๗ และสัตตาวาส ๙ ปรากฏดุจถูกไฟ ๑๑ กองลุกเผาอยู่โชติช่วง.
               สังขารทั้งหลายทั้งปวงปรากฏแก่ผู้นั้นเหมือนเป็นฝี, เป็นโรค, เป็นลูกศร, เป็นไข้, เป็นอาพาธ, ปราศจากความแช่มชื่น, หมดรส, เป็นกองแห่งโทษใหญ่ เป็นเหมือนป่าชัฏที่มีสัตว์ร้าย แม้จะตั้งขึ้นโดยอาการที่น่ารื่นรมย์แก่บุรุษผู้กลัวภัยใคร่จะมีชีวิตอยู่เป็นสุข เป็นเหมือนถ้ำที่มีภูเขาไฟพ่นอยู่, เป็นเหมือนสระน้ำที่มีรากษสสิงสถิตอยู่, เป็นเหมือนข้าศึกที่กำลังเงื้อดาบขึ้น. เป็นเหมือนโภชนะที่เจือด้วยยาพิษ, เป็นเหมือนหนทางที่เต็มไปด้วยโจร, เป็นเหมือนเรือนที่ไฟติดทั่วแล้ว, เป็นเหมือนสนามรบที่เหล่าทหารกำลังต่อยุทธกัน.
               เหมือนอย่างว่า บุรุษนั้นอาศัยภัยมีป่าชัฏที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายเป็นต้นเหล่านี้ กลัวแล้ว ตกใจแล้ว ขนลุกชูชัน ย่อมเห็นโทษ อย่างเดียวรอบด้านฉันใด, พระโยคาวจรนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ครั้นเมื่อสังขารทั้งปวงปรากฏแล้วโดยความเป็นภัยด้วยอำนาจภังคานุปัสสนา ก็ย่อมเห็นแต่โทษอย่างเดียวปราศจากรสหมดความแช่มชื่นอยู่รอบด้าน.
               อาทีนวานุปัสสนาญาณย่อมเกิดขึ้นแก่พระโยคีบุคคลนั้นผู้เห็นอยู่อย่างนี้.
               พระโยคีบุคคลนั้นเมื่อเห็นสังขารทั้งปวงโดยความเป็นโทษอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย กระวนกระวาย ไม่ยินดีในสังขารทั้งหลาย อันมีประเภทในภพ, กำเนิด, คติ, วิญญาณฐิติและสัตตาวาสทั้งปวง.
               เหมือนอย่างว่าพญาหงส์ทองผู้ยินดีเฉพาะเชิงเขาจิตรกูฏ ย่อมไม่ยินดีบ่อน้ำแถบประตูบ้านคนจัณฑาลซึ่งไม่สะอาด, ย่อมยินดีเฉพาะสระใหญ่ทั้ง ๗ เท่านั้นฉันใด, พญาหงส์คือพระโยคีนี้ย่อมไม่ยินดีสังขารอันมีประเภทต่างๆ ล้วนแล้วด้วยโทษอันตนเห็นแจ่มแจ้งแล้ว, แต่ย่อมยินดียิ่งในอนุปัสสนา ๗ เท่านั้น เพราะยินดีในภาวนาคือเพราะประกอบด้วยความยินดีในภาวนาก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
               และเหมือนสีหะผู้มิคราชาถูกจับขังไว้ แม้ในกรงทองก็ไม่ยินดี, แต่ย่อมยินดีในหิมวันตประเทศอันกว้างใหญ่ถึง ๓,๐๐๐ โยชน์ฉันใด, สีหะคือพระโยคีบุคคลแม้นี้ย่อมไม่ยินดีแม้ในสุคติภพทั้ง ๓ แต่ย่อมยินดีในอนุปัสสนา ๓ เท่านั้น.
               อนึ่ง เหมือนพญาช้างฉัททันต์ เผือกผ่องทั้งตัวมีที่ตั้งดี ๗ สถาน มีฤทธิเหาะไปในเวหาส ย่อมไม่ยินดีในใจกลางพระนคร, แต่ย่อมยินดีในสระใหญ่ชื่อฉัททันต์เท่านั้นฉันใด.
               พระโยคีบุคคลเพียงดังช้างตัวประเสริฐนี้ ย่อมไม่ยินดีในสังขารธรรมแม้ทั้งปวง, แต่ย่อมยินดีในสันติบทคือพระนิพพานเท่านั้น อันท่านแสดงแล้วโดยนัยเป็นต้นว่า การไม่เกิดขึ้นเป็นการปลอดภัย,๒- มีใจน้อมไปโน้มไปเงื้อมไปในสันติบทคือพระนิพพานนั้น.
               นิพพิทานุปัสสนาญาณย่อมเป็นอันเกิดขึ้นแล้วแก่พระโยคีนั้นด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๒- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๑๑๕

               ๙. อรรถกถาสังขารุเปกขาญาณุทเทส               
               ว่าด้วยสังขารุเปกขาญาณ               
               คำว่า มุญฺจิตุกมฺยตาปฏิสงฺขาสนฺติฏฺฐนา ปญฺญา สงฺขารุเปกฺขาสุ ญาณํ ความว่า พระโยคีบุคคลใดมีความประสงค์คือปรารถนาเพื่อจะพ้นเพื่อจะสละ ฉะนั้น พระโยคีบุคคลนั้นจึงชื่อว่า มุญฺจิตุกมฺโย แปลว่า ผู้ใคร่จะพ้น, ความเป็นผู้ใคร่จะพ้นชื่อว่า มุญฺจิตุกมฺยตา,
               ปัญญาใดย่อมพิจารณา ย่อมใคร่ครวญ ฉะนั้น ปัญญานั้นจึงชื่อว่า ปฏิสงฺขา. อีกอย่างหนึ่ง การไตร่ตรอง ชื่อว่า ปฏิสงฺขา,
               ปัญญาใดย่อมตกลง ย่อมวางเฉยเสียได้ ฉะนั้น ปัญญานั้นชื่อว่า สนฺติฏฺฐนา แปลว่า วางเฉย, อีกอย่างหนึ่ง การวางเฉยชื่อว่า สนฺติฏฺฐนา.
               ปัญญาชื่อว่า มุญฺจิตุกมฺยตานั้นด้วย ปฏิสงฺขาด้วย สนฺติฏฺฐนาด้วย ฉะนั้นจึงชื่อว่า มุญฺจิตุกมฺยตาปฏิสงฺขาสนฺติฏฺฐนา แปลว่า ความใคร่จะพ้น, การพิจารณาและการวางเฉย.
               ความเป็นผู้ใคร่จะสลัดเสียซึ่งความเกิดเป็นต้นของพระโยคีบุคคลผู้เบื่อหน่ายด้วยนิพพิทาญาณในเบื้องต้น ชื่อมุญจิตุกัมยตา.
               การใคร่ครวญสังขารทั้งหลายที่พิจารณาแล้ว เพื่อทำอุบายแห่งการละในท่ามกลาง ชื่อปฏิสังขา.
               การปล่อยวางแล้ววางเฉยได้ในที่สุด ชื่อสันติฏฐนา.
               ปัญญา ๓ ประการโดยประเภทแห่งการกำหนดอย่างนี้ ชื่อว่าความรู้ในการพิจารณาสังขารทั้งหลาย. ก็พระโยคีบุคคลผู้ปรารถนาความเข้าไปวางเฉยในสังขาร ด้วยปัญญาแม้ทั้ง ๓ ต่างด้วยประเภทการกำหนด
               กล่าวคือ
               ๑. มุญจิตุกัมยตา ปรารถนาจะพ้นการเกิดเป็นต้น
               ๒. ปฏิสังขา พิจารณาสังขารทั้งหลาย
               ๓. สันติฏฐนา วางเฉยในสังขารทั้งหลาย
               คำว่า ปญฺญา และคำว่า สงฺขารุเปกฺขาสุ ท่านทำเป็นพหุวจนะไว้, คำว่า ญาณํ พึงทราบว่า ท่านทำไว้เป็นเอกวจนะ เพราะแม้จะต่างกันโดยประเภทแห่งการกำหนดก็เป็นอย่างเดียวกัน.
               สมจริงดังคำที่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้ว่า ธรรมเหล่านี้ คือมุญจิตุกัมยตา ปฏิสังขานุปัสสนาและปฏิสังขารุเปกขา มีเนื้อความเป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น.๑-
____________________________
๑- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๕๐๘

               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า คำว่า สงฺขารุเปกฺขาสุ นี้เป็นพหุวจนะ เพราะสังขารุเปกขาเป็นของมากด้วยสามารถแห่งสมถะและวิปัสสนาดังนี้ก็มี.
               ก็คำว่า สงฺขารุเปกฺขาสุ ในการเพ่งสังขารทั้งหลาย พึงทราบว่า เพ่งการกระทำ.
               แต่จิตของพระโยคีบุคคลผู้เบื่อหน่ายอยู่ ระย่ออยู่ด้วยนิพพิทาญาณนั้นด้วยประเภทแห่งการกำหนด ย่อมไม่ติด ย่อมไม่ข้อง ย่อม ไม่เกี่ยวอยู่ในสังขารทั้งหลายทุกประเภท อันอยู่ในภพ, กำเนิด, คติ, วิญญาณฐิติและสัตตาวาสทั้งปวง, จิตนั้นก็ใคร่ที่จะพ้น ใคร่ที่จะสลัดทิ้งสัพพสังขารทั้งหมด.
               อีกอย่างหนึ่ง เสมือนปลาที่ติดอยู่ในข่าย, กบที่อยู่ในปากงู, ไก่ป่าที่ถูกขังอยู่ในกรง, มฤคที่ติดบ่วงแน่น, งูที่อยู่ในกำมือของหมองู, ช้างที่แล่นไปตกหล่มใหญ่, นาคราชอยู่ในปากของครุฑ, พระจันทร์ที่เข้าไปอยู่ในปากของราหู, บุรุษถูกศัตรูล้อมไว้เหล่านี้เป็นต้นล้วนเป็นผู้ใคร่เพื่อจะพ้นเพื่อจะหลุดรอดไปจากพันธนาการนั้นๆ ด้วยกันทั้งสิ้นฉันใด, จิตของพระโยคีบุคคลนั้นย่อมใคร่ที่จะพ้น ใคร่ที่จะหลุดรอดจากสังขารทั้งปวงก็ฉันนั้น.
               ก็เมื่อกล่าวอยู่อย่างนี้ พระปาฐะว่า มุญฺจิตุกามสฺส มุญฺจิตุกมฺยตา แปลว่า ความใคร่ที่จะพ้นของพระโยคีบุคคลผู้ใคร่จะพ้น ก็ย่อมถูกต้อง. เมื่อเป็นเช่นนี้ก็พึงกล่าวได้ว่า ในบทว่า อุปฺปาทํ มุญฺจิตุกมฺยตา เป็นต้นก็ควรเป็น อุปฺปาทา มุญฺจิตุกมฺยตา เป็นต้น, เพราะฉะนั้น เนื้อความก่อนนั่นแหละดีกว่า.
               ก็แลมุญจิตุกัมยตาญาณย่อมเกิดแก่พระโยคีบุคคลนั้นผู้ทอดอาลัยในสังขารทั้งปวง ผู้ใคร่จะพ้นจากสังขารทั้งปวง. พระโยคีบุคคลเป็นผู้ใคร่จะพ้นสังขารทุกประเภทบรรดามี ในภพกำเนิดคติวิญญาณฐิติและสัตตาวาสทั้งปวง จึงยกสังขารเหล่านั้นขึ้นสู่พระไตรลักษณ์อีกเพื่อจะทำอุบายแห่งการพ้นให้สำเร็จ แล้วจึงเห็นแจ้งด้วยปฏิสังขานุปัสสนาญาณ.
               ก็เมื่อพระโยคีบุคคลนั้นเห็นแจ้งอยู่อย่างนี้แล ปฏิสังขาญาณเป็นนิมิตด้วยอนิจจลักษณะ ย่อมเกิดขึ้น, ปฏิสังขาญาณอันเป็นไปด้วยทุกขลักษณะ ย่อมเกิดขึ้น และปฏิสังขาญาณเป็นนิมิตและเป็นไปแล้วด้วยอนัตตลักษณะ ก็ย่อมเกิด.
               พระโยคีบุคคลนั้นเห็นว่า สพฺเพ สงฺขารา สุญฺญา แปลว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นของว่าง ดังนี้แล้วจึงยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ พิจารณาสังขารทั้งหลายอยู่จึงละความกลัวและความยินดีเสียได้ก็ย่อมวางเฉย มีตนเป็นกลางในสังขารทั้งหลาย ดุจบุรุษเห็นโทษของภริยาแล้วทิ้งภริยาเสีย แล้ววางเฉย มีตนเป็นกลางในร่างกายของภริยานั้น, พระโยคีบุคคลนั้นย่อมไม่ถืออหังการว่า เรา หรือ มมังการว่า ของเรา.
               จิตของพระโยคีบุคคลนั้น เมื่อรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ ก็ย่อมหลีกออก ถอยกลับ หมุนกลับ ไม่ยินดีในภพทั้ง ๓.
               เหมือนใบบัวโอนไปหน่อยหนึ่ง หยาดน้ำทั้งหลายย่อมไหลไป ถอยกลับ หมุนกลับ ไม่ไหลลื่นไป, หรือเหมือนขนไก่หรือเอ็นและหนังที่เขาใส่ในไฟย่อมหลีกออก งอกลับ ม้วนกลับ ไม่คลี่ออกแม้ฉันใด.
               จิตของพระโยคีบุคคลนั้นย่อมหลบหลีก ถอยกลับ หมุนกลับ ไม่ยินดีในภพทั้ง ๓ ฉันนั้น.
               อุเบกขา ความวางเฉยก็ย่อมตั้งขึ้น.
               สังขารุเปกขาญาณย่อมเป็นอันเกิดขึ้นแล้วแก่พระโยคีบุคคลนั้นด้วยประการฉะนี้.
               อนุโลมญาณกับสังขารุเปกขาญาณนี้ เป็นเหตุให้สำเร็จโคตรภูญาณในเบื้องบน แม้จะมิได้กล่าวไว้ด้วยญาณต้นและญาณหลัง ก็พึงทราบว่า ย่อมเป็นอันกล่าวไว้แล้วทีเดียว.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๒-
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นสังขารไรๆ
               โดยความเป็นของเที่ยง จักเป็นผู้ประกอบด้วยขันติที่สมควร
               ข้อนั้นย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้,
                         ไม่ประกอบด้วยขันติที่สมควร จักก้าวลงสู่ความเป็น
               แห่งความเห็นชอบและความแน่นอน ข้อนั้นย่อมไม่เป็น
               ฐานะที่จะมีได้,
                         เมื่อไม่ก้าวลงสู่ความเป็นแห่งความเห็นชอบและความ
               แน่นอน จักกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล
               อนาคามิผลหรืออรหัตผล ข้อนั้นย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

               ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๒- องฺ. ฉกฺก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๓๖๙

               และพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรได้กล่าวคำเป็นต้นว่า๓-
                         ภิกษุย่อมได้อนุโลมขันติด้วยอาการเท่าไร,
                         ย่อมก้าวลงสู่สัมมัตตนิยามด้วยอาการเท่าไร.
               ภิกษุย่อมได้อนุโลมขันติด้วยอาการ ๔๐,
               ย่อมก้าวลงสู่สัมมัตตนิยามด้วยอาการ ๔๐ ดังนี้.
____________________________
๓- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๗๓๕

               และในปัฏฐานปกรณ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำเป็นต้นว่า๔-
                         อนุโลมเป็นปัจจัยแก่โคตรภูด้วยอำนาจของอนันตรปัจจัย
                         อนุโลมเป็นปัจจัยแก่โวทานด้วยอำนาจของอนันตรปัจจัย.
____________________________
๔- อภิ. ป. เล่ม ๔๐/ข้อ ๕๐๕.

               จริงอยู่ เมื่อพระโยคีบุคคลนั้นเสพอยู่ เจริญอยู่ กระทำให้มากอยู่ซึ่งสังขารุเปกขาญาณนั้น อธิโมกขสัทธาก็ย่อมมีกำลังยิ่ง, วิริยะก็ประคองไว้ได้ด้วยดี, สติก็ตั้งมั่น, จิตก็เป็นสมาธิ, สังขารุเปกขาญาณก็ย่อมเป็นไปอย่างแก่กล้า.
               จิตนั้นพิจารณาสังขารทั้งหลายว่า อนิจฺจา ไม่เที่ยง, ทุกฺขา เป็นทุกข์, หรือ อนตฺตา ไม่ใช่ตัวตนด้วยสังขารุเปกขาโดยหวังว่า "มรรคจักเกิดขึ้นในบัดนี้ดังนี้" แล้วก็ลงสู่ภวังค.
               ต่อจากภวังค์ มโนทวาราวัชชนะก็เกิดขึ้นทำสังขารทั้งหลายโดยนัยที่สังขารุเปกขาทำแล้วนั้นแหละให้เป็นอารมณ์ว่า อนิจจา ไม่เที่ยง, ทุกขา เป็นทุกข์, หรืออนัตตา ไม่ใช่ตัวตน.
               ต่อจากมโนทวาราวัชชนะนั้น ชวนจิตก็เกิดขึ้น ๒ ขณะ, ๓ ขณะหรือ ๔ ขณะ รับเอาสังขารทั้งหลายทำให้เป็นอารมณ์ เหมือนอย่างนั้นนั่นแล.
               ญาณอันสัมปยุตกับชวนจิตนั้น ชื่อว่าอนุโลมญาณ.
               จริงอยู่ อนุโลมญาณนั้นย่อมอนุโลมตามวิปัสสนาญาณ ๘ ในเบื้องต้น เพราะเป็นกิจแห่งสัจญาณ และอนุโลมตามโพธิปักขิธรรม ๓๗ อันเป็นธรรมที่จะพึงบรรลุในเบื้องหน้า.
               เหมือนอย่างว่า ธรรมิกราชาประทับนั่งบนบัลลังก์เป็นที่วินิจฉัย ทรงสดับการวินิจฉัยของอำมาตย์ผู้ฉลาดในโวหาร ๘ คน แล้วทรงละอคติวางพระองค์เป็นกลาง อนุโมทนาว่าเป็นอย่างนั้นเถิด ย่อมอนุโลมตามข้อวินิจฉัยของอำมาตย์ทั้ง ๘ คนเหล่านั้น และอนุโลมตามโบราณราชธรรม.
               ในข้ออุปมานั้น อนุโลมญาณเปรียบเหมือนพระราชา, วิปัสสนาญาณ ๘ เปรียบเหมือนมหาอำมาตย์ผู้ฉลาดในโวหาร, โพธิปักขิยธรรม ๓๗ เปรียบเหมือนโบราณราชธรรม, พระราชาทรงอนุโมทนาว่าเป็นอย่างนั้นเถิด ชื่อว่าย่อมอนุโลมตามข้อวินิจฉัยของเหล่าอำมาตย์ผู้ฉลาดในโวหารด้วยตามราชธรรมด้วยฉันใด, อนุโลมญาณนี้ก็ฉันนั้น ย่อมอนุโลมตามวิปัสสนาญาณ ๘ ที่เกิดขึ้นปรารภสังขารทั้งหลายด้วยสามารถแห่งพระไตรลักษณ์มีอนิจจลักษณะเป็นต้น เพราะเป็นกิจแห่งสัจจะ, และอนุโลมตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการอันเป็นธรรมที่จะพึงบรรลุในเบื้องหน้า. เพราะฉะนั้น ญาณนี้ท่านจึงเรียกว่าอนุโลมญาณ ฉะนี้แล.

               ๑๐. อรรถกถาโคตรภูญาณุทเทส               
               ว่าด้วยโคตรภูญาณ               
               ในคำว่า พหิทฺธา วุฏฺฐานวิวฏฺฏเน ปญญา โคตฺรภูญาณํ แปลว่า ปัญญาในการออกและหลีกไปจากสังขารนิมิตภายนอกเป็นโคตรภูญาณ นี้มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               บทว่า พหิทฺธา ได้แก่ สังขารนิมิต.
               เพราะว่า สังขารนิมิตนั้น ท่านกล่าวว่า พหิทธา - ภายนอก เพราะอาศัยอกุศลขันธ์ในจิตสันดานในภายใน. เพราะฉะนั้นโคตรภูญาณนั้นย่อมออก คือตั้งอยู่ในเบื้องบน ปราศจากสังขารนิมิตภายนอก ฉะนั้นโคตรภูญาณนั้นจึงชื่อว่าวุฏฐานะ, โคตรภูญาณนั้นย่อมหลีกออก ย่อมหมุนกลับ คือหันหลังให้ ฉะนั้นโคตรภูญาณนั้นจึงชื่อว่าวิวัฏฏนะ,
               วุฏฐานะนั้นด้วย วิวัฏฏนะนั้นด้วย ฉะนั้นจึงชื่อว่าวุฏฐานวิวัฏฏนะ.
               เพราะเหตุนั้น ท่านพุทธโฆสาจารย์จึงกล่าวว่า๑-
                                   โคตรภูญาณ ยังไม่ออกจากปวัตตขันธ์
                         เพราะตัดสมุทัยยังไม่ขาด, แต่ออกจากนิมิตได้
                         เพราะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ฉะนั้นจึงชื่อว่า
                         เอกโตวุฏฐานะ คือออกจากสังขารนิมิตโดยส่วน
                         เดียว ดังนี้.
____________________________
๑- ปัญญานิทเทสแห่งวิสุทธิมรรค.

               ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำเสียได้ซึ่งโคตรปุถุชน และเพราะก้าวขึ้นสู่โคตรอริยะ. เพราะโคตรภูญาณนี้กระทำพระนิพพาน ชื่อว่าอนิมิตตะ ไม่มีนิมิตให้เป็นอารมณ์ในที่สุดแห่งอาเสวนะแห่งอนุโลมญาณของจิตที่เหนื่อยหน่ายจากสังขารทั้งปวงดุจน้ำตกจากใบบัว, ก้าวล่วงเสียซึ่งโคตรปุถุชน ซึ่งอันนับว่าปุถุชน, ซึ่งภูมิแห่งปุถุชน, หยั่งลงสู่โคตรแห่งอริยะ อันนับว่าอริยะ เป็นภูมิแห่งอริยะ, ยังความเป็นปัจจัยให้สำเร็จแก่มรรคด้วยอำนาจปัจจัย ๖ คือ อนันตระ, สมนันตระ, อาเสวนะ, อุปนิสยะ, นัตถิ, วิคตะ อันเป็นไปในครั้งแรก ความเสพในครั้งแรก, อันประชุมพร้อมกันในครั้งแรกในอารมณ์คือนิพพาน, ถึงยอดเป็นศีรษะวิปัสสนา ย่อมเกิดขึ้นกระทำให้เป็นสภาพที่ให้หมุนกลับอีกไม่ได้.

               ๑๑. อรรถกถามัคคญาณุทเทส               
               ว่าด้วยมรรคญาณ               
               ในคำว่า ทุภโต วุฏฺฐานวิวฏฺฏเน ปญฺญา มคฺเค ญาณํ แปลว่า ปัญญาในการออกและหลีกจากขันธ์และนิมิตทั้ง ๒ เป็นมรรคญาณ นี้มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               คำว่า ทุภโต แปลว่า ทั้ง ๒.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวอธิบายว่า ทั้งคู่.
               มรรคญาณย่อมออกคือย่อมหมุนกลับจากกิเลสทั้งหลาย และขันธ์อันเป็นไปตามกิเลสเหล่านั้น กับทั้งจากสังขารนิมิตทั้งปวงในภายนอกจากการกระทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์ เพราะตัดกิเลสทั้งหลายได้ขาดแล้ว ฉะนั้นจึงชื่อว่าปัญญาในการออกและหลีกจากขันธ์และนิมิตทั้ง ๒.
               เพราะเหตุนั้น พระพุทธโฆสาจารย์จึงกล่าวว่า๑-
                                   มรรคญาณแม้ทั้ง ๔ ออกจากนิมิต เพราะ
                         มีพระนิพพานอันไม่มีนิมิตเป็นอารมณ์, และย่อม
                         ออกจากปวัตตขันธ์ เพราะตัดสมุทัยได้ขาด ฉะนั้น
                         จึงชื่อว่าทุภโตวุฏฐานะ คือออกโดยส่วนทั้งสอง ดังนี้.
____________________________
๑- ปัญญานิทเทสแห่งวิสุทธิมรรค.

               ธรรมชาติใดย่อมขวนขวาย ย่อมเพ่งเล็งพระนิพพาน, หรือพระโยคีบุคคลผู้ต้องการพระนิพพาน ย่อมขวนขวายคือย่อมแสวงหา, หรือว่าธรรมชาติใดยังกิเลสทั้งหลายให้ตายไป เป็นไปอยู่ ฉะนั้นธรรมชาตินั้นชื่อว่ามรรค, ญาณในมรรคนั้น ชื่อว่า มคฺเค ญาณํ - มรรคญาณ.
               มรรคญาณท่านทำเป็นเอกวจนะโดยชาติศัพท์.
               ก็มรรคญาณนั้นเกิดขึ้น ทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์ต่อจากโคตรภูญาณ, ตัดกิเลสอันจะพึงฆ่าได้เองโดยไม่มีส่วนเหลือ, เผาผลาญห้วงสมุทรคือทุกข์ในสังสารวัฏอันมีเบื้องต้นและที่สุดอันบุคคลไปตามอยู่รู้ไม่ได้แล้วให้เหือดแห้งไป, ปิดประตูอบายทั้งปวงเสีย, กระทำอริยทรัพย์ ๗ ให้ปรากฏอยู่ต่อหน้า, ละมิจฉามรรคประกอบด้วยองค์ ๘, ทำเวรภัยทั้งปวงให้สงบ, นำตนเข้าสู่ความเป็นบุตรผู้เกิดแต่พระอุระแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้อานิสงส์อื่นๆ อีกหลายร้อยเท่าเหมือนคำที่กล่าวว่า
                                   บุรุษผู้ปรารถนาจะโดดข้ามแม้น้ำน้อยขึ้นไป
                         ยืนอยู่บนฝั่งโน้น จึงจับเชือกหรือท่อนไม้ ที่ติดอยู่
                         กับต้นไม้บนฝั่งนี้ แล้วโดดข้ามไปโดยเร็ว จนตัวไป
                         ตกอยู่บนฝั่งโน้น เมื่อตัวตกที่ฝั่งโน้นแล้วก็ละความ
                         หวาดหวั่นนั้น ยืนอยู่บนฝั่งได้ฉันใด,
                                   พระโยคีบุคคลผู้ปรารถนาจะข้ามพ้นกิเลสทั้ง
                         หลายเห็นภัยฝั่งนี้ล้วนแล้วด้วยสักกายทิฏฐิ แล้วยืน
                         อยู่ที่ฝั่งคือพระนิพพานอันไม่มีภัย จึงจับเชือกคือรูป-
                         ขันธ์เป็นที่ยึดโดดมาโดยเร็วด้วยอุทยัพพยานุปัสสนา
                         เป็นเบื้องแรก หรือจับไม้กล่าวคือนามขันธ์นั้นไว้ด้วย
                         ดี กระโดดมาด้วยอาวัชชนจิตโดยนัยตามที่กล่าวแล้ว
                         ในก่อน โดดขึ้นด้วยอนุโลมญาณ แล้วโน้มไปในพระ
                         นิพพาน เข้าไปสู่ที่ใกล้แห่งพระนิพพานนั้น ก็ปล่อย
                         อารมณ์คือสังขารธรรมนั้นเสียได้ด้วยโคตรภูญาณ
                         แล้วตกลงที่ฝั่งอื่นคือพระนิพพานอันเป็นอสังขตธรรม
                         แต่นั้นก็ตั้งอยู่ด้วยมรรคญาณฉันนั้น.
                                   นระผู้ใคร่จะดูพระจันทร์ ในเวลาที่พระจันทร์
                         ถูกเมฆหมอกบดบังไว้ ครั้นเมื่อเมฆหมอกถูกพายุพัด
                         ไปตามลำดับ จากหนาทึบเป็นบางและบางเข้าก็เห็น
                         พระจันทร์ได้ฉันใด.
                                   โคตรภูญาณที่กำลังเพ่งอมตนิพพานอยู่ เมื่อ
                         โมหะที่ปกปิดสัจจะไว้ถูกทำลายให้พินาศไปด้วย
                         อนุโลมญาณตามลำดับก็ฉันนั้นเหมือนกัน อนุโลม-
                         ญาณก็มิได้เห็นอมตนิพพาน เหมือนลมเหล่านั้นก็
                         มิได้เห็นพระจันทร์ โคตรภูญาณก็บรรเทาความมืด
                         ไม่ได้ เหมือนบุรุษก็บรรเทาเมฆหมอกไม่ได้ฉะนั้น.
                                   แต่มรรคญาณนี้เป็นไปในพระนิพพาน มิได้ละ
                         สัญญาอันโคตรภูญาณให้แล้ว จึงทำลายกองกิเลสมี
                         กองโลภะเป็นต้นได้ เหมือนจักรยนต์ที่ใช้เป็นเป้า
                         กำลังหมุนอยู่ นายขมังธนูยืนจ้องจะยิงอยู่แล้ว พอ
                         สัญญาอันคนอื่นให้แล้ว ก็ยิงลูกศรไปทะลุแผ่นเป้า
                         ได้ตั้ง ๑๐๐ ฉะนั้น.
                                   มรรคญาณนั้นนั่นแลทำทะเลหลวงคือสังสาร-
                         ทุกข์ให้เหือดแห้งไป ปิดประตูทุคติเสียได้ ทำคน
                         ที่มีหนี้คือกิเลสให้เป็นเสฏฐบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วย
                         อริยทรัพย์ ละมิจฉามรรคเสียได้. ทำเวรและภัยทั้ง
                         หลายให้สงบ, ทำตนให้เป็นลูกผู้เกิดแต่อกแห่งพระ
                         พุทธเจ้าผู้เป็นนาถะของโลก, ญาณนี้ย่อมให้ซึ่ง
                         อานิสงส์อื่นๆ อีกหลายร้อยอย่าง.

               ๑๒. อรรถกถาผลญาณุทเทส               
               ว่าด้วยผลญาณ               
               ในคำว่า ปโยคปฺปฏิปฺปสฺสทฺธิปญฺญา ผเล ญาณํ แปลว่า ปัญญาในการระงับปโยคะเป็นผลญาณ นี้มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               บทว่า ปโยโค แปลว่า การประกอบอย่างแรงกล้า, คือความพยายามที่ออกจากกิเลสและขันธ์ทั้ง ๒ ได้ด้วยมรรคภาวนาโดยทำให้แจ้งซึ่งผล, ความสงบปโยคะคือความพยามนั้น คือการถึงที่สุดแห่งโยคะ ชื่อว่าปโยคปฏิปัสสัทธิ.
               ปโยคปฏิปัสสัทธินั้นอย่างไร? คือการสิ้นสุดแห่งกิจในมรรคทั้ง ๔.
               ปัญญาในผลเป็นไปแล้ว เพราะปโยคปฏิปัสสัทธินั้นเป็นเหตุ ชื่อว่าปโยคปฏิปัสสัทธิปัญญา. ปัญญานี้เป็นผล เพราะอรรถว่าย่อมผลิตผล คือย่อมให้เกิดวิบาก,
               ในผลนั้น ญาณอันสัมปยุตกับด้วยผลจิตนั้น (ชื่อว่า ผเล ญาณํ) ก็ต่อจากมรรคญาณหนึ่งๆ ผลจิตอันเป็นวิบากแห่งมรรคจิตนั้นๆ นั่นแหละมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เกิดขึ้น ๓ ขณะก็มี ๒ ขณะก็มี ๑ ขณะก็มี.
               และเพราะผลจิตนั้นเป็นวิบากเกิดขึ้นในลำดับแห่งโลกุตรกุศลทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สมาธิมานนฺตริกญฺญมาหุ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวสมาธิอันประกอบด้วยผลญาณ ซึ่งเกิดต่อจากมรรคญาณว่าเป็นธรรมอันบัณฑิตพึงรู้ทั่วถึง,
               และตรัสคำเป็นต้นว่า ทนฺธํ อานนฺตริกํ ปาปุณาติ อาสวานํ ขยาย๑- - พระโยคีบุคคลบรรลุธรรมวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะช้า.
____________________________
๑- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๑๖๒

               อนุโลมจิตของพระโยคีบุคคลใดมี ๒ ขณะ, ที่ ๓ เป็นโคตรภู ที่ ๔ เป็นมรรคจิต ผลจิตอีก ๓ ขณะ ย่อมมีแก่พระอริยบุคคลนั้น. (รวมเป็น ๗ ตามชวนนิยาม)
               อนุโลมจิตของพระโยคีบุคคลใดมี ๓ ขณะ, ที่ ๔ เป็นโคตรภู ที่ ๕ เป็นมรรคจิต ผลจิตอีก ๒ ขณะ ย่อมมีแก่พระอริยบุคคลนั้น. (รวมเป็น ๗ ตามชวนนิยาม)
               อนุโลมจิตของพระโยคีบุคคลใดมี ๔ ขณะ, ที่ ๕ เป็นโคตรภู ที่ ๖ เป็นมรรคจิต ผลจิตอีก ๑ ขณะ ย่อมมีแก่พระอริยบุคคลนั้น. (รวมเป็น ๗ ตามชวนนิยาม)
               นี้เป็นผลในมรรควิถี.
               ส่วนผลในระหว่างกาล เกิดขึ้นด้วยอำนาจสมาบัติ และเกิดขึ้นแก่ผู้ออกจากนิโรธสมาบัติก็สงเคราะห์ด้วยผลญาณนี้เหมือนกัน.

               ๑๓. อรรถกถาวิมุตติญาณุทเทส               
               ว่าด้วยวิมุตติญาณ               
               คำว่า ฉินฺนวฏุมานุปสฺสเน ปญฺญา แปลว่า ปัญญาในการพิจารณาเห็นอุปกิเลสอันอริยมรรคตัดขาดแล้ว.
               ความว่า ปัญญาในการเห็นภายหลังซึ่งอุปกิเลสนั้นๆ อันอริยมรรคนั้นๆ ตัดขาดแล้ว.
               คำว่า วิมุตฺติญาณํ เป็นวิมุตติญาณ ความว่า ญาณในวิมุตติ.
               คำว่า วิมุตฺติ ได้แก่ จิตบริสุทธิหลุดพ้นจากอุปกิเลสทั้งหลาย, หรือความที่จิตนั้นหลุดพ้นแล้ว, ญาณคือความรู้ในวิมุตตินั้น ชื่อว่าวิมุตติญาณ.
               ท่านกล่าวอธิบายการพิจารณากิเลสที่ละแล้วด้วยญาณนี้ว่า พระอริยบุคคลเมื่อพิจารณาความสืบต่อแห่งจิตที่หลุดพ้นจากกิเลสแล้วก็ดี ซึ่งความหลุดพ้นจากกิเลสก็ดี เว้นกิเลสเสียก็พิจารณาไม่ได้ดังนี้.
               ก็คำว่า วิมุตฺตสฺมึ วิมุตฺตมิติ ญาณํ โหติ แปลว่า เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้วดังนี้ ท่านกล่าวหมายเอาวิมุตติญาณนี้นั่นแล.
               ส่วนการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่ แม้ไม่ได้กล่าวไว้แล้ว ก็พึงถือเอาว่าเป็นอันกล่าวแล้วด้วยวิมุตติญาณนี้แล.
               และท่านกล่าวไว้ว่า
                                   แม้กล่าวในเอกธรรม ก็เป็นอันกล่าวทั้งหมด
                         เพราะสภาวธรรมนั้นมีลักษณะเป็นอันเดียวกัน,
                         นี้เป็นลักษณะ เป็นหาระ ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่าเป็นอันกล่าวถึงการพิจารณากิเลสที่ละแล้วซึ่งพระอริยบุคคล ๔ จะพึงได้ เพราะพระอรหันต์ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่.
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มาติกา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 0อ่านอรรถกถา 31 / 1อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=1&Z=94
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :