ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 659อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 679อ่านอรรถกถา 31 / 695อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาวรรค
๒. อิทธิกถา

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               ส่วนนางอุตตราอุบาสิกาธิดาของปุณณเศรษฐีผู้มีทรัพย์มากในกรุงราชคฤห์ ในเวลาเป็นกุมาริกานั่นเองได้บรรลุโสดาปัตติผลพร้อมกับมารดาบิดา.
               นางเจริญวัยแล้วมารดาบิดาได้ยกนางให้แก่บุตรของราชคหเศรษฐีผู้เป็นมิจฉาทิฎฐิด้วยความเกี่ยวดองกันมาก นางอุตตราอุบาสิกาไม่ได้โอกาสเพื่อจะเห็นพระพุทธเจ้า เพื่อจะฟังธรรมและเพื่อให้ทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เป็นผู้กระวนกระวายจึงเรียกหญิงแพศยาชื่อว่าสิริมา ในนครนั้นเองแล้วให้กษาปณะ ๑๕,๐๐๐ ที่นางนำมาจากเรือนของบิดา เพื่อทำบุญตามโอกาสแก่นางสิริมานั้น แล้วบอกว่า เจ้าจงถือเอากหาปณะเหล่านี้ แล้วบำเรอเศรษฐีบุตรตลอดกึ่งเดือนนี้ให้นางสิริมาอิ่มเอิบกับสามีตนเอง อธิษฐานองค์อุโบสถ ดีใจว่าเราจักได้เห็นพระพุทธเจ้าเป็นต้นตลอดกึ่งเดือนนี้ นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอดปวารณาได้ถวายมหาทานตลอดกึ่งเดือน ภายหลังอาหารให้จัดแจงของเคี้ยวของบริโภคในโรงครัวใหญ่.
               ส่วนสามีของนางคิดว่าพรุ่งนี้จะเป็นวันปวารณาจึงยืนที่หน้าต่างกับนางสิริมาแลออกไปภายนอก เห็นนางอุตตราเดินอยู่อย่างนั้น เหงื่อโทรามเต็มไปด้วยขี้เถ้าเปรอะไปด้วยเขม่าจึงหัวเราะว่า หญิงโง่ไม่บริโภคสมบัติของตนทำแต่กุศล. แม้นางอุตตราก็แลดูสามีหัวเราะว่า คนโง่ไม่ทำกุศลเพื่อภพหน้า.
               นางสิริมาเห็นกิริยาของคนทั้งสองสำคัญว่า เราเป็นเจ้าของเรือนจึงเกิดริษยาโกรธนางอุตตราคิดว่า เราจักทำให้นางอุตตราลำบาก จึงลงจากปราสาท. นางอุตตรารู้เหตุนั้นจึงนั่งบนตั่งแผ่จิตเมตตาไปยังนางสิริมานั้น. นางสิริมาลงจากปราสาท เข้าโรงครัวเอาเนยใส่ที่เดือดเต็มกระบวยเพราะหุงเป็นขนมลาดลงบนศีรษะของนางอุตตรา เนยใสกลายไปดุจน้ำเย็นบนใบปทุม.
               พวกทาสีพากันโบยนางสิริมาด้วยมือและเท้าให้ล้มลงบนแผ่นดิน. นางอุตราออกจากเมตตาฌานแล้วจึงห้ามพวกทาสี
               นางสิริมาขอโทษนางอุตตรา.
               นางอุตตรากล่าวว่า พรุ่งนี้เจ้าจงขอขมาต่อพระพักตร์ของพระศาสดา แล้วบอกการปรุงอาหารแก่นางสิริมาผู้วิงวอนขอรับใช้ทางกาย นางสิริมาปรุงอาหารแล้ว มีหญิงแพศยา ๕๐๐ บริวารของตนอังคาสพระศาสดากับพระสงฆ์แล้วกล่าวว่า พวกเจ้าจงเป็นเพื่อนในการให้นางอุตตรายกโทษเถิด วันรุ่งขึ้น พร้อมด้วยหญิงแพศยาเหล่านั้น เมื่อพระศาสดาเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้วจึงถวายบังคมพระศาสดาทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า หม่อมฉันได้ผิดต่อนางอุตตรา ขอให้นางอุตตรายกโทษให้แก่หม่อมฉันเถิด.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนอุตตรา เจ้าจงยกโทษเถิด เมื่อนางทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันยกโทษให้แล้ว ทรงแสดงธรรมมีอาทิว่า อกฺโกเธน ชิเน โกธ๑- พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ.
____________________________
๑- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๗

               นางอุตตรานำสามีพ่อผัวแม่ผัวเข้าไปเฝ้าพระศาสดา เฉพาะพระพักตร์ เมื่อจบเทศนา ชนทั้ง ๓ เหล่านั้นและหญิงแพศยาทั้งหมดตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.
               ความไม่มีเจ็บปวดด้วยเนยใสที่เดือดของนางอุตตราอุบาสิกาเป็นฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยสมาธิ.
               อุบาสิกาสามาวดีอัครมเหสีของพระเจ้าอุเทน กรุงโกสัมพี. พระเจ้าอุเทนนั้นได้มีอัครมเหสี ๓ องค์ มีหญิงบริวารองค์ละ ๕๐๐.
               บรรดามเหสีเหล่านั้น นางสามาวดีเป็นธิดาของภัททิยเศรษฐีในภัททิยนคร เมื่อบิดาถึงแก่กรรม มีหญิง ๕๐๐ เป็นบริวารเติบโตในเรือนของโฆสิตเศรษฐี ในกรุงโกสัมพีผู้เป็นสหายของบิดา.
               พระราชาทอดพระเนตรเห็นนางเจริญวัยแล้ว ทรงเกิดความสิเนหา จึงนำนางพร้อมด้วยบริวารไปยังพระราชมณเฑียร ได้ทรงประกอบการอภิเษกสมรส.
               มเหสีอีกองค์หนึ่งชื่อว่า วาสุลทัตตา พระธิดาของพระเจ้าจัณฑปโชต.
               ธิดาของมาคัณฑิยพราหมณ์ ซึ่งบิดายกให้เป็นบาทบริจาริกา ได้ฟังคาถาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า๒-
                                   แม้ความพอใจในเพราะเมถุนมิได้มี เพราะเห็น
                         นางตัณหา นางอรดีและนางราคา ความพอใจอะไร
                         จักมี เพราะเห็นสรีระธิดาของท่าน ซึ่งเต็มไปด้วยมูตร
                         และกรีส เราไม่ปรารถนาถูกต้องสรีระธิดาของท่านนั้น
                         แม้ด้วยเท้า.

____________________________
๒- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๑๖

               ได้ผูกอาฆาตในพระผู้มีพระภาคเจ้า มารดาบิดาของนางได้บรรลุอนาคามิผล ในเมื่อจบมาคัณฑิยสุตตเทศนา จึงบวชแล้วบรรลุพระอรหัต.
               มาคัณฑิยพราหมณ์อาของนางนำไปกรุงโกสัมพี ถวายนางแด่พระราชา นางจึงได้เป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระราชา.
               ครั้นนั้นแล เศรษฐี ๓ คน คือ โฆสิตเศรษฐี กุกกุฏเศรษฐี ปาวาริกเศรษฐีได้สดับว่า พระตถาคตทรงอุบัติขึ้นในโลก จึงไปเฝ้าพระศาสดายังพระมหาวิหารเชตวัน ฟังธรรมแล้วบรรลุโสดาปัตติผล ถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอดกึ่งเดือน ทูลอาราธนาพระศาสดาเสด็จไปกรุงโกสัมพี ชนทั้ง ๓ สร้างอาราม ๓ แห่ง คือ โฆสิตาราม กุกกุฏาราม ปาวาริการาม ยังพระศาสดาผู้เสด็จมาในที่นั้นให้ประทับอยู่ในวิหารละหนึ่งวันตามลำดับ.
               เศรษฐีคนหนึ่งๆ ได้ถวายมหาทานแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์.
               อยู่มาวันหนึ่ง นายมาลาการชื่อว่าสุมนะ อุปัฏฐากของเศรษฐีเหล่านั้น ได้ขอร้องต่อเศรษฐี ขอให้พระศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์ให้นั่งในเรือนของตนเพื่อฉันภัตตาหาร.
               ขณะนั้น นางขุชชุตตรา ทาสีรับใช้ของพระนางสามาวดีรับเอา ๘ กหาปณะ ได้ไปยังเรือนของนายมาลาการนั้น.
               นายมาลาการพูดว่า ท่านจงเป็นเพื่อนในหารอังคาสพระศาสดาเถิด.
               นางขุชชุตตราได้ทำอย่างนั้น.
               เมื่อพระศาสดาเสวยเสร็จแล้ว ฟังพระธรรมเทศนาเป็นโสดาบัน.
               ในกาลอื่นถือเอา ๔ กหาปณะเพื่อตน เพราะไม่ควรถือเอาสิ่งที่เขาไม่ให้ จึงซื้อดอกไม้ ๘ กหาปณะ นำเข้าไปให้แก่พระนางสามาวดี. เมื่อพระนางสามาวดีตรัสถามถึงเหตุที่ดอกไม้มีมาก นางจึงทูลบอกตามความเป็นจริงเพราะไม่ควรพูดเท็จ.
               พระนางสามาวดีตรัสถามว่า เพราะเหตุไร วันนี้เจ้าจึงไม่รับ.
               นางขุชชุตตราทูลตอบว่า ฉันฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วได้ทำให้แจ้งซึ่งอมตธรรมแล้ว.
               พระนางสามาวดีตรัสว่า แม่อุตตราจงบอกอมตธรรมนั้นแก่พวกเราบ้าง.
               นางทูลว่า ถ้าเช่นนั้น พระองค์ขอให้ฉันอาบน้ำแล้ว ให้คู่ผู้บริสุทธิ์ ให้นั่งบนอาสนะสูง พวกท่านทั้งหมดจงนั่ง ณ อาสนะต่ำ.
               หญิงทั้งหมดเหล่านั้นได้ทำอย่างนั้น นางขุชชตตราเป็นอริยสาวิกาบรรลุเสขปฏิสัมภิทาจึงนุ่งผู้ผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง ถือพัดวิชนีแสดงธรรมแก่หญิงเหล่านั้น.
               พระนางสามาวดีและหญิง ๕๐๐ ได้บรรลุโสดาปัตติผล หญิงทั้งหมดเหล่านั้นไหว้นางขุชชตตราแล้วกล่าวว่า ข้าแต่แม่ ตั้งแต่วันนี้ไป ท่านไม่ต้องทำการรับใช้ ตั้งอยู่ในฐานะมารดา อาจารย์ของพวกเราฟังธรรมที่พระศาสดาทรงแสดงแล้ว จงกล่าวแก่พวกเรา.
               นางขุชชตตราทำตามนั้น.
               ต่อมาเป็นผู้ทรงไตรปิฎก พระศาสดาทรงตั้งในฐานะเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายผู้เป็นพหูสูต นางได้ตำแหน่งเป็นผู้เลิศ.
               หญิงที่อยู่กับพระนางสามาวดีกระหยิ่งการเห็นพระพุทธเจ้า เมื่อพระทศพลทรงดำเนินถึงระหว่างถนน เมื่อหน้าต่างไม่พอก็เจาะฝามองดูพระศาสดา กระทำการไหว้และบูชา.
               นางมาคันทิยาไปในที่นั้นเห็นช่องเหล่านั้น แล้วจึงถามเหตุในที่นั้น รู้ว่าพระศาสดาเสด็จมา ด้วยความอาฆาตในพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงโกรธหญิงเหล่านั้น ได้ทูลพระราชาว่า มหาราชเพคะ หญิงที่อยู่กับนางสามาวดีมีความปรารถนาในภายนอก เจาะฝามองดูพระสมณโคดม ในไม่ช้าก็จะฆ่าพระองค์.
               พระราชาแม้เห็นช่องก็ไม่เชื่อคำเพ็ททูลของนางมาคัณทิยาประสงค์จะให้พระราชาทำลายหญิงเหล่านั้น จึงให้นำไก่เป็นมา ๘ ตัว แล้วทูลว่า มหาราชเพคะ เพื่อทดลองหญิงเหล่านั้น ขอพระองค์ทรงส่งไก่เหล่านี้ไปด้วยรับสั่งว่า ท่านจงฆ่าไก่เหล่านี้แกงให้เรา. พระราชาทรงส่งไปตามนั้น.
               เมื่อพระนางสามาวดีตรัสว่าพวกเราไม่ทำปาณาติบาต นางมาคัณทิยาจึงพูดอีกว่า จงแกงส่งไปถวายพระสมณโคดมนั้น.
               เมื่อพระราชาทรงส่งไปอย่างนั้น นางมาคัณทิยาทูลตามนั้นแล้ว จึงส่งไก่ตายไป ๘ ตัว. พระนางสามาวดีจึงแกงส่งไปถวายพระทศพล. แม้ด้วยเหตุนั้น นางมาคัณทิยาก็ไม่อาจให้พระราชาทรงพิโรธได้.
               พระราชาประทับอยู่ตำหนักละ ๗ วัน ในตำหนักที่มเหสีองค์หนึ่งๆ ในมเหสี ๓ องค์ประทับอยู่. พระราชาทรงถือพิณเรียกช้าง เสด็จไปยังที่ที่พระองค์เสด็จไป ในเวลาพระราชาเสด็จไปยังตำหนักของพระนางสามาวดี นางมาคัณทิยาให้นำลูกงูเห่าตัวหนึ่งมาเอายาล้างเขี้ยว แล้วให้ใส่ลงในข้อไม้ไผ่แล้วใส่ในภายในพิณ เอากลุ่มดอกไม้ปิดช่องไว้.
               ในเวลาที่พระราชาเสด็จไปในที่นั้น นางมาคัณทิยาทำเป็นเดินไปเดินมาแล้ว เอากลุ่มดอกไม้นั้นออกจากช่องพิณ. งูเลื้อยออกมาพ่นพิษแผ่พังพานนอนบนตั่งบรรทม นางมาคัณทิยาร้องเสียงดังว่า งู พระทูลกระหม่อม พระราชาทรงเห็นงูแล้วทรงพิโรธ.
               พระนางสามาวดีรู้ว่าพระราชาทรงพิโรธ จึงได้นัดหมายแก่หญิง ๕๐๐ ว่า วันนี้พวกเจ้าจงแผ่เมตตาแก่พระราชา ด้วยโอทิสสกเมตตา (แผ่เจาะจง). แม้พระนางเองก็ได้ทรงทำอย่างนั้น.
               พระราชาทรงจับสหัสสถามธนู (ธนูใช้กำลังคนหนึ่งพัน) ขึ้นสาย หมายจะยิงพระนางสามาวดีก่อนแล้วให้ถึงหญิงเหล่านั้นทั้งหมดตามลำดับ ทรงสอดลูกศรอาบด้วยยาพิษ ประทับยืนบรรจุลูกธนูแล้ว ไม่สามารถจะซัดลูกศรไปได้ ไม่สามารถยกลงได้ พระเสโทไหลจากพระวรกาย ทรงเจ็บปวดพระวรกาย พระเขฬะไหลออกจากพระโอฐ ไม่เห็นสิ่งควรยึดถือได้.
               ลำดับนั้น พระนางสามาวดีทูลถามพระราชาว่า ข้าแต่มหาราชเพคะ พระองค์ทรงลำบากหรือ. พระราชาตรัสว่า ถูกแล้วพระเทวี เราลำบากมาก เจ้าจงเป็นที่พึ่งของเราเถิด. พระนางสามาวดีทูลว่า ข้าแต่มหาราช ดีแล้ว ขอพระองค์จงทำลูกศรให้มีหน้าตรงแผ่นดินเถิด.
               พระราชาได้ทรงทำดำลงไปในน้ำ มีผ้าเปียก มีพระเกสาเปียก ทรงหมอบลงแทบเท้าของพระนางสามาวดี ตรัสว่า พระเทวียกโทษให้เราเถิด เราลุ่มหลงงมงาย ทิศทั้งหมดมืดมิดแก่เรา แม่สามาวดีจงช่วงเรา จงเป็นที่พึ่งของเราเถิด.
               พระนางสามาวดีทูลว่า พระองค์อย่าถึงหม่อมฉันเป็นที่พึ่งเลย หม่อมฉันถึงพระพุทธเจ้าพระองค์ใดเป็นที่พึ่ง ขอพระองค์จงทรงถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นเป็นที่พึ่งเถิด และขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งของหม่อมฉันด้วย.
               พระราชาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น เราจะขอถึงท่านและพระศาสดาเป็นที่พึ่ง อนึ่ง เราจำให้พรแก่เจ้า.
               พระนางสามาวดีทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงให้หม่อมฉันรับพรเถิด. พระราชาเสด็จไปเฝ้าพระศาสดา ขอถึงเป็นที่พึ่งแล้วนิมนต์ถวายมหาทานแก่ภิกษุ ๕๐๐ เถิด หม่อมฉันจักฟังธรรม.
               พระราชาถวายบังคมพระศาสดาแล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงเสด็จมา ณ ที่นี้กับภิกษุ ๕๐๐ เป็นประจำเถิด พวกหญิงที่อยู่กับพระนางสามาวดีก็กล่าวว่า หม่อมฉันทั้งหลายจักฟังธรรม.
               พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร การไปยังที่แห่งเดียวเป็นประจำไม่สมควรแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย แม้มหาชนก็ยังหวังจะให้ไปอยู่. พระราชาทูลว่า ถ้าเช่นนั้นขอพระองค์ตรัสสั่งภิกษุเถิด.
               พระศาสดาตรัสสั่งกะพระอานนทเถระ. พระเถระพาภิกษุ ๕๐๐ ไปยังราชตระกูลเป็นประจำ.
               แม้หญิงทั้งหลายมีพระเทวีเป็นประมุขเหล่านี้นก็อังคาสพระเถระแล้วพากันฟังธรรม. อนึ่ง พระศาสดาทรงตั้งพระนางสามาวดีไว้ในฐานะเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายผู้มีเมตตาวิหารธรรม.
               ความที่พระราชาไม่สามารถปล่อยลูกศรไปได้เป็นฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยสมาธิของพระนางสามาวดีอุบาสิกาด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง ในที่นี้ท่านเรียกว่าอุบาสิกา เพราะเข้าใกล้พระรัตนตรัยด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง ในที่นี้ท่านเรียกว่าอุบาสิกา เพราะเข้าใกล้พระรัตนตรัยด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ด้วยความเลื่อมใสอันลึกซึ้ง หรือด้วยการถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง.
               พึงทราบวินิจฉัยในอริยิทธินิเทศดังต่อไปนี้.
               บทว่า อริยา อิทฺธิ ฤทธิ์ของพระอริยะ ท่านกล่าวว่าฤทธิ์ของพระอริยะ เพราะเกิดแก่พระอริยะผู้เป็นพระขีณาสพผู้ถึงความชำนาญทางจิต.
               บทว่า อิธ ภิกฺขุ คือ ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพในศาสนานี้.
               บทว่า อนิฏฺฐสฺมึ วตฺถุสฺมึ ในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา คือในวัตถุ ในสัตว์ หรือในสังขารที่ไม่ชอบใจ ด้วยอารมณ์ปกติ.
               บทว่า เมตฺตาย วา ผรติ ภิกษุแผ่ไปด้วยเมตตา คือหากเป็นสัตว์ ย่อมแผ่ไปด้วยเมตตาภาวนา.
               บทว่า ธาตุโต วา อุปสํหรติ น้อมเข้าไปโดยความเป็นธาตุ คือหากว่าเป็นสังขาร ย่อมน้อมเข้าไปซึ่งธาตุมนสิการว่า สักว่าเป็นธาตุ การน้อมเข้าไปแม้ในสัตว์ว่าเป็นธาตุก็ควร.
               บทว่า อสุภาย วา ผรติ ย่อมแผ่ไปโดยความไม่งาม คือหากว่าเป็นสัตว์ ย่อมแผ่ไปโดยอสุภภาวนา.
               บทว่า อนิจฺจโต วา อุปสํหรติ ย่อมน้อมเข้าไปโดยความเป็นของไม่เที่ยง คือหากว่าเป็นสังขารย่อมน้อมเข้าไปซึ่งมนสิการว่า เป็นของไม่เที่ยง.
               บทว่า ตทุภยํ ตัดบทเป็น ตํ อุภํ ได้แก่ ทั้งสองนั้น.
               บทว่า อุเปกฺขโก มีอุเบกขา คือมีอุเบกขาด้วยอุเบกขามีองค์.
               บทว่า สโต มีสติ คือเพราะถึงความเป็นผู้ไพบูลย์ด้วยสติ.
               บทว่า สมฺปชาโน มีสัมปชัญญะ เพราะเป็นผู้มีความรู้สึกด้วยปัญญา.
               บทว่า จกฺขนา รูปํ ทิสฺวา เห็นรูปด้วยจักษุ คือเห็นรูปด้วยจักษุวิญญาณอันสามารถในการเห็นรูปที่ได้ โวหารว่าจักษุ ด้วยอำนาจแห่งเหตุ.
               แต่พระโบราณาจารย์กล่าวว่า จักษุย่อมไม่เห็นรูป เพราะจักษุไม่มีจิต จิตย่อมไม่เห็นรูป เพราะจิตไม่มีจักษุ แต่ในเมื่อกระทบกันทางทวารารัมมณะ ย่อมเห็นได้ด้วยจิตมีปสาทเป็นวัตถุ.
               อนึ่ง กถาเช่นนี้ นี้ชื่อว่าสสัมภารกถา (กถาเจือปนกัน) ดุจในบทว่า แทงด้วยธนู เพราะฉะนั้น ในบทนี้จึงมีอธิบายว่า เห็นรูปด้วยจักษุวิญญาณ.
               อีกอย่างหนึ่ง เห็นรูปด้วยจักษุเป็นเหตุ.
               บทว่า เนว สุมโน โหติ ไม่ดีใจ คือปฏิเสธความโสมนัสอาศัยเรือน มิใช่โสมนัสเวทนาอันเป็นกิริยา.
               บทว่า น ทุมฺมโน ไม่เสียใจ คือปฏิเสธโทมนัสทั้งหมด.
               บทว่า อุเปกฺขโก วิหรติ เป็นผู้วางเฉยอยู่ คือเป็นผู้วางเฉยอยู่ด้วยอุเบกขา คือวางตนเป็นกลางในอารมณ์นั้น อันได้ชื่อว่าอุเบกขามีองค์ ๖ เพราะเป็นไปในทวาร ๖ อันเป็นอาการแห่งการไม่ละความบริสุทธิ์เป็นปกติ ในคลองแห่งอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์. แม้ในบทมีอาทิว่า โสเตน สทฺทํ สุตฺวา ฟังเสียงด้วยหูก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               พึงทราบวินิจฉัยในกัมมวิปากชิทธินิเทศดังต่อไปนี้.
               บทว่า สพฺเพสํ ปกฺขีนํ แห่งนกทั้งปวง คือการไปทางอากาศเว้นฌานและอภิญญา ของนกทั้งหลายทุกชนิด การไปทางอากาศของเทวดาทั้งปวง และการเห็นเป็นต้นก็อย่างนั้น.
               บทว่า เอกจฺจานํ มนุสฺสานํ แห่งมนุษย์บางพวก คือแห่งมนุษย์ผู้อยู่ครั้งปฐมกัป.
               บทว่า เอกจฺจานํ วินิปาติกานํ แห่งวินิบาตบางพวก คือฤทธิ์เกิดแต่ผลกรรมมีการไปทางอากาศเป็นต้นของวินิปาติกเปรตพวกอื่น เพราะตกไปจากกายอันเป็นความสุขมีอาทิอย่างนี้ คือปิยังกรมารดา ปุนัพพสุกมารดา ผุสสมิตตา ธัมมคุตตา.
               พึงทราบวินิจฉัยในอิทธินิเทศของผู้มีบุญดังต่อไปนี้.
               บทว่า ราชา ชื่อว่าราชา เพราะยังคนอื่นให้ยินดีโดยธรรม ชื่อว่า จกฺกวตฺตี เพราะยังรัตนจักรให้เป็นไป.
               บทว่า เวหาสํ คจฺฉติ เหาะไปยังอากาศ เป็นทุติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งอัจจันตสังโยค.
               บทว่า จตุรงฺคินิยา ด้วยจตุรงคินีเสนา ได้แก่เสนามีองค์ ๔ คือ ช้าง ม้า รถและพลเดินเท้า.
               บทว่า เสนา คือ รวมองค์ ๔ เหล่านั้น.
               บทว่า อนฺตมโส โดยที่สุด คนดูแลม้า ชื่อว่า อสฺสพนฺธา คนดูแลโค ชื่อว่า โคปุริสา.
               บทว่า อุปาทาย หมายถึง คือไม่ปล่อย. อธิบายว่า การเหาะไปยังอากาศของชนเหล่านั้นอย่างนี้เป็นฤทธิ์ของผู้มีบุญ.
               บทว่า โชติยสฺส คหปติสฺส ปุญฺญวโต อิทฺธิ ฤทธิ์ของโชติยคหบดีผู้มีบุญ คือเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ ผู้สะสมบุญญาธิการไว้ในพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายในก่อน ชื่อว่าโชติกะ.
               ได้ยินว่า ในเวลาที่โชติกะนั้นเกิดสรรพาวุธในนครทั้งสิ้นลุกโพลง แม้เครื่องอาภรณ์ที่แต่งไว้ในกายของชนทั้งปวงก็เปล่งแสงสว่างดุจลุกโพลง นครได้มีแสงสว่างรุ่งโรจน์เป็นอันเดียวกัน.
               ลำดับนั้น ในวันที่ตั้งชื่อกุมารนั้นจึงชื่อว่าโชติกะ เพราะนครทั้งสิ้นรุ่งโรจน์เป็นอันเดียวกัน.
               ครั้นโชติกะเจริญวัย เมื่อชำระพื้นที่เพื่อสร้างเรือน ท้าวสักกเทวราชเสด็จมาปรับพื้นดินในที่ประมาณ ๑๖ กรีส สร้างปราสาท ๗ ชั้นสำเร็จด้วยแก้ว ๗ ประการ สร้างกำแพง ๗ ชั้นประกอบด้วยซุ้มประตู ๗ ซุ้มสำเร็จด้วยแก้ว ๗ ประการ ในท้ายกำแพงปลุกต้นกัลปพฤกษ์ไว้ ๖๔ ต้น ใน ๔ มุมของปราสาท ฝังหม้อขุมทรัพย์ประมาณโยชน์หนึ่ง ๓ คาวุต ๒ คาวุต ๑ คาวุต ใน ๔ มุมของปราสาท ต้นอ้อยสำเร็จด้วยทองคำ ๔ ต้นประมาณเท่าลำตาลอ่อนเกิดขึ้น ใบของต้นอ้อยเหล่านั้นสำเร็จด้วยแก้วมณี ข้อสำเร็จด้วยทองคำ ที่ซุ้มประตูทั้ง ๗ ซุ้มหนึ่งๆ มียักษ์ ๗ ตนมีบริวารตนละ ๑,๐๐๐ ๒,๐๐๐ ๓,๐๐๐ ๔,๐๐๐ ๕,๐๐๐ ๖,๐๐๐ ๗,๐๐๐ คอยอารักขา.
               พระเจ้าพิมพิสารมหาราชทรงสดับถึงการสร้างปราสาทเป็นต้น แล้วจึงส่งเศวตฉัตรของเศรษฐีไปให้.
               เศรษฐีนั้นจึงชื่อว่าโชติกเศรษฐี เป็นผู้ปรากฏไปทั่วชมพูทวีป เสวยมหาสมบัติอยู่ ณ ปราสาทนั้นกับภริยาซึ่งเทวดาทั้งหลายนำมาจากอุตตรกุรุทวีป แล้วให้นั่งเหนือห้องอันเป็นสิริซึ่งถือเอาข้าวสารทะนานหนึ่งและแผ่นหินให้เกิดไฟ ๓ แผ่นมาด้วย ภัตรย่อมเพียงพอแก่เขาด้วยข้าวสารทะนานหนึ่งตลอดชีวิต.
               ได้ยินว่า หากชนทั้งหลายประสงค์จะบรรทุกข้าวสารลงในเกวียน ๑๐๐ เล่ม ทะนานข้าวสารนั้นแหละก็ยังตั้งอยู่ ในเวลาหุงข้าว ใส่ข้าวสารลงในหม้อข้าวแล้ววางไว้ข้างบนแผ่นหินเหล่านั้น แผ่นหินก็จะลุกเป็นไฟขึ้นทันที เมื่อข้าวสุกก็ดับ ด้วยสัญญาณนั้น ชนทั้งหลายก็รู้ว่าข้าวสุกแล้ว.
               แม้ในเวลาแกงเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               อาหารของชนเหล่านั้นย่อมหุงต้มด้วยหินให้เกิดไฟอย่างนี้ ชนทั้งหลายย่อมอยู่ด้วยแสงสว่างแห่งแก้วมณี ย่อมไม่รู้จักแสงสว่างของไฟหรือของประทีป.
               โชติกเศรษฐีได้ปรากฏไปทั่วชมพูทวีปว่า มีสมบัติถึงปานนี้ มหาชนขึ้นยานเป็นต้น มาเพื่อจะเห็น.
               โชติกเศรษฐีให้ภัตตาหารแห่งข้าวสารจากอุตตรกุรุทวีปแก่คนที่มาแล้วๆ สั่งว่า ชนทั้งหลายจงถือเอาผ้าและอาภรณ์จากต้นกัลปพฤกษ์เถิด สั่งว่า ชนทั้งหลายจงเปิดปากหม้อขุมทรัพย์คาวุตหนึ่งแล้วถือเอาให้เพียงพอ.
               เมื่อชาวชมพูทวีปทั้งสิ้นถือเอาทรัพย์ไป หม้อขุมทรัพย์ก็มิได้พร่องแม้เพียงองคุลี นี้เป็นฤทธิ์ของท่านผู้มีบุญนั้น.
               บทว่า ชฏิลสฺส คหปติสฺส ปุญฺญวโต อิทฺธิ ฤทธิ์ของชฎิลคหบดีผู้มีบุญ คือเศรษฐีในเมืองตักกสิลาสะสมบุญ สร้างธาตุเจดีย์ของผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ชื่อชฎิล.
               นัยว่ามารดาของชฎิลนั้นเป็นธิดาของเศรษฐี ในกรุงพาราณสีมีรูปสวยยิ่งนัก. เมื่อธิดามีอายุได้ ๑๕-๑๖ ปี มารดาบิดาให้นางอยู่บนพื้นบนของปราสาท ๗ ชั้นเพื่อดูแล.
               วันหนึ่ง วิชาธรเหาะไปทางอากาศเห็นนางเปิดหน้าต่างมองดูภายนอกเกิดสิเนหา จึงเข้าไปทางหน้าต่างทำสันถวะกับนาง. นางจึงตั้งครรภ์ด้วยเหตุนั้น.
               ลำดับนั้น ทาสีเห็นนางจึงถามว่า นี่อะไรกันแม่. นางกล่าวว่า อย่าเอ็ดไป เจ้าอย่าบอกใครๆ เป็นอันขาด. ทาสีก็นิ่งเพราะความกลัว. ครบ ๑๐ เดือน นางก็คลอดบุตร ให้ทาสีนำภาชนะใหม่มาให้ทารกนอนบนภาชนะนั้น แล้วปิดภาชนะนั้นเสีย วางพวงดอกไม้ไว้ข้างบนสั่งทาสีว่า เจ้าจงยกภาชนะนี้เทินศีรษะไปทิ้งที่แม่น้ำคงคา เมื่อผู้คนถามว่า นี้อะไร เจ้าพึงบอกว่าเป็นพลีกรรมของแม่เจ้าของฉัน. ทาสีได้ทำตามนั้น.
               ที่แม่น้ำคงคาทางใต้น้ำ หญิงสองคนอาบน้ำเห็นภาชนะนั้น ลอยน้ำมา คนหนึ่งพูดว่า นั่นภาชนะของฉัน คนหนึ่งกล่าวว่า สิ่งที่อยู่ภายในภาชนะนั้นเป็นของฉัน เมื่อภาชนะลอยมาถึง หญิงคนหนึ่งแบกภาชนะนั้นมาวางไว้บนบก ครั้นเปิดออกเห็นทารก จึงกล่าวว่า ทารกต้องเป็นของฉัน เพราะเธอพูดว่า ภาชนะเป็นของฉัน.
               หญิงคนหนึ่งพูดว่า ทารกเป็นของฉัน เพราะเธอพูดว่าสิ่งที่อยู่ภายใน ภาชนะนั้นเป็นของฉัน.
               หญิงทั้งสองนั้นเถียงกัน พากันไปศาลเมื่อผู้พิพากษาไม่อาจตัดสินได้ ได้พากันไปเฝ้าพระราชา.
               พระราชาทรงสดับคำของหญิงทั้งสองนั้นแล้วตรัสสั่งว่า เจ้าจงรับทารกไป เจ้าจงรับภาชนะไป.
               หญิงที่ได้ทารกไปเป็นอุปัฏฐากของพระมหากัจจายนเถระ.
               นางเลี้ยงดูทารกนั้นด้วยหวังว่าจะให้บวชในสำนักของพระเถระ.
               ในวันที่ทารกนั้นคลอด เพราะไม่ล้างทินของครรภ์แล้วนำออกไป ผมจึงยุ่งด้วยเหตุนั้น จึงชื่อว่า ชฎิล.
               เมื่อทารกนั้นเดินได้ พระเถระเข้าไปบิณฑบาตยังเรือนนั้น. อุบาสิกานิมนต์พระเถระให้นั่งแล้วถวายอาหาร.
               พระเถระเห็นทารก จึงถามว่า อุบาสิกา ท่านได้ทารกมาหรือ.
               นางตอบว่า เจ้าค่ะ ดิฉันเลี้ยงดูมาด้วยหวังว่าจะให้บวชในสำนักของพระคุณท่านเจ้าค่ะ.
               พระเถระรับว่าดีละ แล้วพาทารกนั้นไป ตรวจดูว่าทารกนี้จะมีบุญกรรมเพื่อเสวยสมบัติของคฤหัสถ์ไหมหนอ คิดว่า สัตว์ผู้มีบุญจักได้เสวยมหาสมบัติตอนเป็นหนุ่มก่อน แม้ญาณของเขาก็ยังไม่แก่กล้าพอ จึงพาทารกนั้นไปเรือนของอุปัฏฐากคนหนึ่งในเมืองตักกสิลา.
               อุปัฏฐากนั้นยืนไหว้พระเถระเห็นทารกจึงถามว่าได้ทารกมาหรือ. พระเถระตอบว่า ถูกแล้วอุบาสก ทารกนี้จักบวช แต่ยังหนุ่มนักขอให้อยู่กับท่านไปก่อน อุบาสกรับว่าดีแล้วพระคุณท่าน จึงตั้งทารกนั้นไว้ในฐานะบุตรประดับประคองอย่างดี.
               อนึ่ง ในเรือนของอุปัฏฐากนั้นมีสินค้าสะสมมาตลอด ๑๒ ปี อุปัฏฐากนั้นไปในระหว่างบ้านนำสินค้านั้นทั้งหมดไปตลาดบอกราคาของสินค้านั้นแก่ชฎิลกุมารแล้วกล่าวว่า เจ้าพึงรับทรัพย์เท่านี้ๆ แล้วให้ไป.
               ในวันนั้น เทวดาผู้รักษานครบันดาลให้ผู้มีความต้องการโดยที่สุด แม้ยี่เหร่าและพริกให้มุ่งหน้าไปตลาดของชฎิลกุมารนั้น ชฎิลกุมารนั้นขายสินค้าที่สะสมมาตลอด ๑๒ ปี หมดในวันเดียวเท่านั้น กุฎุมพีมาไม่เห็นอะไรๆ ในตลาด จึงพูดว่า พ่อคุณ เจ้าทำสินค้าหายไปหมดแล้วหรือ. ชฎิลกุมารบอกไม่หายดอกพ่อ ฉันขายหมดตามที่พ่อสั่งไว้ว่าของอย่างโน้นราคาเท่านี้ ของอย่างนี้ราคาเท่านั้น เพราะเหตุนั้น สินค้าทั้งหมดจึงได้ตามราคา.
               กุฎุมพีเลื่อมใสคิดว่า ชายที่หาค่ามิได้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ไม่ว่าในกาลไหนๆ จึงยกลูกสาวของตนซึ่งเจริญวัยแล้วให้แก่เขาแล้ว สั่งคนงานว่าจงสร้างเรือนให้ชฎิลกุมาร เมื่อสร้างเรือนเสร็จจึงกล่าวว่า เจ้าทั้งสองจงไปอยู่ที่เรือนของตนเถิด.
               ในขณะที่เขาเข้าเรือน พอเท้าข้างหนึ่งเหยียบธรณีประตู สุวรรณบรรพตประมาณ ๘๐ ศอก ผุดขึ้นในพื้นที่ส่วนหลังสุดของเรือน นัยว่าพระราชาทรงสดับว่า สุวรรณบรรพตผุดขึ้นทำลายพื้นที่ในเรือนของชฎิล จึงทรงส่งเศวตฉัตรไปให้ชฎิลนั้น ชฎิลนั้นจึงได้ชื่อว่าชฎิลเศรษฐี.
               นี่เป็นฤทธิ์ของผู้มีบุญนั้น.
               บทว่า เมณฺฑกสฺส คหปติสฺส ปุญฺญวโต อิทฺธิ ฤทธิ์ของเมณฑกคหบดีผู้มีบุญ๓- คือเครษฐีในภัททิยนคร แคว้นมคธ ได้สะสมบุญญาธิการในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ชื่อเมณฑกะ.
____________________________
๓- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๘๓

               ได้ยินว่า ที่หลังเรือนของเศรษฐีนั้นมีแกะทองคำประมาณเท่าช้าง ม้าและโคอุสภะในที่ประมาณ ๘ กรีส ทำลายแผ่นดินผุดขึ้นหลังกับหลังชนกันลูกคลีหนังของด้าย ๕ สี ใส่ไว้ในปากของแกะทองคำเหล่านั้น ชนทั้งหลายเมื่อมีความต้องการด้วยเนยใส น้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้นก็ดี ด้วยเครื่องปกปิดเงินและทองเป็นต้นก็ดี ดึงลูกคลีหนังออกจากปากของแกะทองคำเหล่านั้น เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง เครื่องนุ่งห่มเงินและทองเพียงพอแก่ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น ออกจากปากของแกะแม้ตัวหนึ่ง. ตั้งแต่นั้นมา เศรษฐีนั้นก็ปรากฏชื่อว่าเมณฑกเศรษฐี.
               นี้เป็นฤทธิ์ของผู้มีบุญนั้น.
               บทว่า โฆสิตสฺส คหปติสฺส ปญฺญวโต อิทฺธิ ฤทธิ์ของโฆสิตคหบดีผู้มีบุญ คือเศรษฐีในกรุงโกสัมพี แคว้นสักกะ สะสมบุญญาธิการในพระปัจเจกพุทธเจ้า ชื่อว่าโฆสิต.
               นัยว่า เศรษฐีนั้นจุติจากเทวโลกบังเกิดในท้องของหญิงงามเมืองในกรุงโกสัมพี ในวันคลอด หญิงงามเมืองนั้นให้ทารกนอนบนกระด้งแล้วให้เอาไปทิ้งที่กองหยากเยื่อ กาและสุนัขทั้งหลายนั่งห้อมล้อมทารกนั้น
               ชายคนหนึ่งเห็นดังนั้น จึงได้ความสำคัญว่าเป็นบุตรคิดว่า เราได้บุตรแล้วจึงนำไปเรือน.
               ในกาลนั้น โกสัมพิกเศรษฐีเห็นปุโรหิตจึงถามว่า ท่านอาจารย์วันนี้ ท่านตรวจดูฤกษ์ดิถีแล้วหรือ เมื่อปุโรหิตตอบว่า ดูแล้วท่านมหาเศรษฐี จึงถามว่าจักมีอะไรแก่ชนบท.
               ปุโรหิตตอบว่า ในนครนี้เด็กเกิดวันนี้จักเป็นเศรษฐีผู้ใหญ่.
               ในกาลนั้น ภริยาของเศรษฐีมีครรภ์แก่ เพราะฉะนั้น เศรษฐีนั้นจึงรีบสั่งคนไปเรือนสั่งว่า เจ้าจงไป จงรู้ว่าภริยาของเราคลอดทารกหรือยังไม่คลอด ครั้นสดับว่ายังไม่คลอด จึงไปเรือนเรียกนางกาฬีทาสีมาให้ทรัพย์ ๑,๐๐๐ สั่งว่า เจ้าจงไป จงสืบดูในนครนี้แล้วนำทารกที่เกิดในวันนี้มา.
               ทาสีไปเที่ยวสืบดูก็ไปถึงเรือนนั้น เห็นทารกรู้ว่าเกิดในวันนั้นจึงให้ทรัพย์ ๑,๐๐๐ นำทารกมาให้แก่เศรษฐี เศรษฐีคิดว่าถ้าลูกสาวของเราจักเกิด เราจะแต่งงานทารกนั้นให้กับลูกสาวแล้วให้ดำรงตำแหน่งเศรษฐี ถ้าเป็นบุตรชายเกิด เราจักฆ่าทารกนั้นเสีย แล้วเลี้ยงดูทารกนั้นให้เติบโตในเรือน.
               ลำดับนั้นล่วงไป ๒-๓ วัน ภริยาของเศรษฐีคลอดบุตรชาย เศรษฐีคิดว่าเมื่อไม่มีทารกนี้ บุตรของเราก็จักได้ตำแหน่งเศรษฐี บัดนี้ เราควรจะฆ่าทารกนั้นเสียแล้วเรียกนางกาฬีสีมาสั่งว่า นี่แน่แม่สาวใช้ ในเวลาโคออกจากคอก เจ้าจงให้ทารกนี้นอนขวางในท่ามกลางประตูคอก แม่โคทั้งหลายจักเหยียบทารกนั้นให้ตาย เจ้ารู้ว่าทารกนั้นถูกแม่โคเหยียบหรือไม่เหยียบแล้วจงกลับมา.
               นางกาฬีสีไป พอคนเลี้ยงโคปิดประตูคอกก็ให้ทารกนั้นนอนเหมือนอย่างนั้น.
               โคอุสภะหัวหน้าฝูงโคครั้งก่อนๆ ออกภายหลังโคทั้งหมด แต่วันนั้นออกก่อนโคทั้งหมด ยืนคร่อมทารกไว้ในระหว่างเท้าทั้ง ๔ แม่โคหลายร้อยตัวออกเสียดสีข้างทั้งสองของโคอุสภะ.
               แม้คนเลี้ยงโคก็คิดว่า โคอุสภะนี้เมื่อก่อนออกภายหลังโคทั้งหมด แต่วันนี้ออกก่อนยืนนิ่งที่กลางประตู นี่มันอะไรกันหนอ จึงเดินไปเห็นทารกนอนอยู่ภายใต้โคอุสภะนั้น จึงได้ความสิเนหาในบุตรคิดว่า เราได้บุตรแล้ว จึงนำไปเรือน.
               นางกาฬีทาสีกลับไปเศรษฐีถามจึงบอกความทั้งหมด เศรษฐีบอกว่าเจ้าจงไปให้ทรัพย์ ๑,๐๐๐ นี้แก่คนเลี้ยงโค แล้วนำทารกนั้นมาอีก.
               ครั้นนั้น เศรษฐีจึงบอกนางกาฬีทาสีว่า แม่ทาสีในเมืองนี้มีเกวียน ๕๐๐ เล่ม ออกในย่ำรุ่งไปทำการค้าขาย เจ้าจงนำทารกนี้ให้นอนที่ทางล้อหรือโคทั้งหลายจักเหยียบทารกนั้น หรือล้อจักขยี้เสีย เจ้ารู้ความเป็นไปแล้วกลับมา. นางทาสีไปให้ทารกนอนที่ทางล้อ หัวหน้าคนขับเกวียนได้ออกไปข้างหน้า.
               ลำดับนั้น โคของหัวหน้าคนขับเกวียนถึงที่นั้นแล้วจึงสลัดแอก แม้คนขับเกวียนยกขึ้นบ่อยๆ แล้วขับไปก็ไม่ยอมไปข้างหน้า เมื่อคนขับเกวียนนั้นพยายามอยู่กับโคเหล่านั้นอย่างนี้ อรุณขึ้นแล้ว คนขับเกวียนคิดว่าโคทำอะไร ครั้นเห็นทารกจึงคิดว่ากรรมหนักหนอ ดีในว่าเราได้บุตร จึงนำทารกนั้นไปเรือน.
               แม้นางกาฬีก็กลับ ถูกเศรษฐีถามเล่าเรื่องให้ฟัง เศรษฐีกล่าวว่าเจ้าจงไปให้ทรัพย์ ๑,๐๐๐ แล้วนำทารกนั้นมา. นางกาฬีก็ได้ทำตามนั้น.
               ลำดับนั้น เศรษฐีกล่าวกะนางกาฬีนั้นว่า บัดนี้เจ้าจงนำทารกนั้นไปป่าช้าผีดิบแล้วให้นอนระหว่างกอไม้ สุนัขเป็นต้น ณ ที่นั้น จักเคี้ยวกินเสีย หรืออมนุษย์จักประหารเสีย เจ้าพึงรู้ว่าทารกนั้นตายหรือไม่ตาย นางกาฬีนั้นนำทารกนั้นไปให้นอน ณ ที่นั้นแล้วยืนในข้างหนึ่ง สุนัขเป็นต้นหรือมนุษย์ไม่สามารถจะเข้าใกล้ได้.
               ลำดับนั้น คนเลี้ยงแพะคนหนึ่งนำแพะไปหาอาหารข้างป่าช้า.
               แพะตัวหนึ่งเคี้ยวกินใบไม้อยู่เข้าไประหว่งกอไม้เห็นทารกแล้วยืนคุกเข่าให้นมทารก เมื่อคนเลี้ยงแพะให้เสียงว่า เฮ้ เฮ้ ก็ไม่ออกไป คนเลี้ยงแพะคิดว่าเราจะต้องตีแพะนั้นนำออกไป จึงเข้าไปในระหว่างกอไผ่ เห็นแพะยืนคุกเข่าให้ทารกดื่มนมได้ความสิเนหาในทารกว่าเป็นบุตร คิดว่าเราได้บุตรแล้ว จึงพากลับไป.
               นางกาฬีกลับไปถูกเศรษฐีถามจึงเล่าเรืองให้ฟัง เศรษฐีกล่าวว่าเจ้าจงไปจงให้ทรัพย์คนเลี้ยงแพะ ๑,๐๐๐ แล้วนำทารกมาอีก นางกาฬีได้ทำตามนั้น.
               ลำดับนั้น เศรษฐีจึงพูดกะนางกาฬีว่า เจ้าจงพาทารกนี้ไปขึ้นภูเขาเหวโจร แล้วโยนลงในเหว ทารกก็จะถูกกระแทรกที่หลืบเขาเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจักตกลงบนพื้น เจ้าพึงรู้ว่าทารกนั้นตายหรือไม่ตายแล้วกลับมา นางกาฬีนำทารกนั้นไปตามนั้นยืนอยู่บนยอดเขาแล้วโยนทารกลงไป พุ่มไผ่ใหญ่อาศัยหลืบภูเขานั้นงอกงามไปตามภูเขาพุ่มชะเอมหนาทึบคลุมยอดพุ่มไผ่นั้น ทารกเมื่อตกลงไป ก็ได้ตกลงบนพุ่มชะเอมนั้นดุจตกในเปลฉะนั้น.
               ในวันนั้น หัวหน้าช่างจักสานถึงเวลาจะตัดไม้ไผ่จึงไปกับบุตรเริ่มจะตัดพุ่มไม้ไผ่นั้น เมื่อพุ่มไม้ไผ่ไหว ทารกได้ร้อง เขาได้ยินเหมือนเสียงทารกจึงขึ้นอีกข้างหนึ่งเห็นทารกนั้น ดีใจว่าเราได้บุตรแล้ว จึงพาทารกกลับ.
               นางกาฬีกลับไปถูกเศรษฐีถามจึงเล่าเรื่องให้ฟัง เศรษฐีบอกว่าเจ้าจงไปให้ทรัพย์ ๑,๐๐๐ แล้ว จงนำทารกนั้นมา นางกาฬีได้ทำตามนั้น.
               เมื่อเศรษฐีทำแล้วๆ อยู่อย่างนี้ ทารกก็เติบโตขึ้น เพราะทารกนั้นส่งเสียงร้องมากจึงมีชื่อว่าโฆสิตะ.
               โฆสิตะนั้นปรากฏแก่เศรษฐีดุจหนามที่ลูกตา ไม่อาจดูตรงๆ ได้ เศรษฐีจึงคิดหาอุบายเพื่อจะฆ่าโฆสิตะนั้น จึงไปหาช่างหม้อของตนถามว่า เมื่อไรท่านจักเผาหลุม เมื่อช่างหม้อบอกพรุ่งนี้ เศรษฐีจึงพูดว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจงรับทรัพย์ ๑,๐๐๐ นี้ไว้ แล้วทำธุระอย่างหนึ่งแก่เรา ช่างหม้อถามว่า ทำอะไรเล่านาย.
               เศรษฐีบอกว่าเรามีบุตรเป็นอวชาตบุตรอยู่คนหนึ่ง เราจะส่งมาหาท่าน ทีนั้นท่านพึงให้บุตรนั้นเข้าไปยังห้อง เอามีดที่คมตัดให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยใส่ลงในตุ่มแล้วฝังในหลุม นี้ทรัพย์ ๑,๐๐๐ ของท่านเป็นการรับคำ อนึ่ง ที่ยิ่งไปกว่านั้นเราจักสมนาคุณท่านในภายหลัง. ช่างหม้อรับคำ.
               รุ่งขึ้นเศรษฐีเรียกโฆสิตะมาสั่งว่า เมื่อวานพ่อได้สั่งช่างหม้อให้ทำธุระอย่างหนึ่ง มาเถิดลูกไปหาช่างหม้อนั้นแล้วบอกว่า เมื่อวานนี้พ่อสั่งให้ท่านทำธุระอย่างหนึ่งให้เสร็จดังนี้แล้วส่งไป โฆสิตะรับคำแล้วก็ไป บุตรคนหนึ่งของเศรษฐีกำลังเล่นลูกข่างอยู่กับพวก ทารกเห็นโฆสิตะกำลังเดินมาถึงที่นั่นจึงร้องเรียกถามว่าจะไปไหน เมื่อโฆสิตะบอกว่าพ่อสั่งให้ไปหาช่างหม้อ บุตรเศรษฐีบอกว่าฉันไปที่นั้นเอง.
               ทารกเหล่านี้ชนะเราไปหลายคะแนนแล้ว ท่านชนะคะแนนนั้นแล้วจงให้แก่เรา. โฆสิตะบอกว่า ฉันกลัวพ่อ ลูกเศรษฐีบอกว่า อย่ากลัวเลยพี่ ฉันจะนำข่าวนั้นไปเอง แล้วบอกต่อไปว่า พวกทารกเป็นอันมากชนะไปแล้ว ท่านจงชนะคืนคะแนนให้ฉันจนกว่าฉันจะกลับมา.
               นัยว่า โฆสิตะฉลาดในการเล่นลูกข่าง. ด้วยเหตุนั้น บุตรเศรษฐีจึงแค่นไค้เขาอย่างนั้น.
               โฆสิตะบอกว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงไปบอกกะช่างหม้อว่า เมื่อวานนี้ พ่อฉันสั่งให้ท่านทำธุระอย่างหนึ่ง ขอให้ท่านทำธุระนั้นให้เสร็จเถิด แล้วส่งบุตรเศรษฐีไป.
               บุตรเศรษฐีนั้นไปหาช่างหม้อแล้วได้บอกตามนั้น.
               ครั้งนั้น ช่างหม้อจึงจับบุตรเศรษฐีนั้นตามที่เศรษฐีสั่ง แล้วโยนลงไปในหลุม. โฆสิตะเล่นอยู่ตลอดวัน ตอนเย็นจึงกลับเรือน เมื่อเศรษฐีถามว่า ไม่ได้ไปหรือลูก เขาจึงบอกเหตุที่ตนไม่ไปและเหตุที่น้องไป.
               เศรษฐีร้องเสียงดังลั่นว่า ตายแล้ว ตายแล้ว! เป็นเหมือนโลหิตร้อนผ่าวไปทั่วตัวประคองแขนคร่ำครวญว่า พ่อช่างหม้อจ๋า อย่าฆ่าลูกฉันๆ ได้ไปหาช่างหม้อ. ช่างหม้อเห็นเศรษฐีมาอย่างนั้นจึงกล่าวว่า อย่าเอะอะไปเลยนาย ธุรกิจสำเร็จแล้ว.
               เศรษฐีถูกความโศกใหญ่หลวง ดุจภูเขาท่วมทับ เสวยโทมนัสไม่น้อย.
               แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ เศรษฐีก็ไม่อาจมองดูโฆสิตะตรงๆ ได้ คิดอยู่ว่าเราจะฆ่าโฆสิตะนั้นได้อย่างไร เห็นอุบายว่า เราจักส่งไปหาผู้จัดการทรัพย์สินใน ๑๐๐ หมู่บ้านของเราแล้วให้ฆ่าเสีย จึงเขียนหนังสือส่งให้ผู้จัดการทรัพย์ มีความว่า บุตรคนนี้เป็นอวชาตบุตรของเรา ขอให้ฆ่าเสียผลักลงในหลุมคูถ ก็เมื่อทำอย่างนี้แล้ว เราจักสมนาคุณแก่ลุง แล้วกล่าวกะโฆสิตะว่า พ่อโฆสิตะ พ่อมีผู้จัดการทรัพย์ใน ๑๐๐ หมู่บ้าน เจ้าจงนำหนังสือนี้ไปให้เขาแล้วผูกหนังสือที่ชายผ้าของโฆสิตะ. โฆสิตะไม่รู้อักขรสมัย เพราะตั้งแต่เป็นเด็ก
               เศรษฐีจะฆ่าเขาท่าเดียวก็ไม่อาจฆ่าได้ จักให้เรียนอักขรสมัยได้อย่างไร โฆสิตะจึงผูกใบมรณะของตนไว้ที่ชายผ้า.
               เมื่อจะออกไปกล่าวว่า พ่อ ฉันไม่มีเสบียงเลย เศรษฐีกล่าวว่าไม่ต้องเสบียงดอกลูก เศรษฐีสหายของพ่อมีอยู่ที่บ้านโน้นในระหว่างทาง เจ้าจงกินอาหารเช้าที่เรือนของเพื่อนนั้นแล้วเดินต่อไป.
               โฆสิตะรับคำแล้วไหว้บิดา ออกไปถึงบ้านนั้น ถามหาเรือนเศรษฐี ไปเห็นภรรยาของเศรษฐี. เมื่อภรรยาเศรษฐีถามว่า พ่อมาจากไหน เขาบอกว่ามาจากภายในเมือง ภรรยาเศรษฐีถามว่า พ่อเป็นบุตรใคร ตอบว่า เป็นบุตรเศรษฐีผู้เป็นสหายของท่านจ้ะแม่. ถามว่า พ่อชื่อโฆสิตะใช่ไหม ตอบว่าใช่จ้ะแม่.
               พอเห็นเท่านั้นภรรยาเศรษฐีก็เกิดความสิเนหาในโฆสิตะว่าเป็นบุตร. เศรษฐีมีลูกสาวอยู่คนหนึ่ง อายุ ๑๕-๑๖ รูปร่างสวย น่าชม. มารดาบิดาให้ทาสีรับใช้คนหนึ่ง เพื่อดูแล นางให้นอนในห้องสิริชั้นบนของปราสาท ๗ ชั้น. ในขณะนั้น ลูกสาวเศรษฐีส่งทาสีนั้นไปตลาด.
               ลำดับนั้น ภรรยาเศรษฐีเห็นทาสีนั้น ถามว่า เจ้าจะไปไหน เมื่อทาสีตอบว่า ธิดาของแม่เจ้าให้ไปตลาดจ้ะ จึงกล่าวว่า จงมานี่ก่อน งดไปตลาดไว้ก่อน เจ้าจงปูตั่งให้บุตรของเรา หาน้ำมาล้างเท้า ทาน้ำมัน ปูที่นอนให้ ภายหลังจึงไปตลาด. ทาสีได้ทำตามนั้น.
               ลูกสาวเศรษฐีดุทาสีมาช้า. ทาสีจึงบอกกะธิดาว่า อย่าโกรธฉันเลย โฆสิตะบุตรเศรษฐีมา ฉันทำโน่นบ้าง นี่บ้างให้แก่โฆสิตะนั้นแล้วก็ไปตลาด เสร็จแล้วจึงกลับมานี่แหละจ้ะ.
               ลูกสาวเศรษฐี ครั้นได้ฟังชื่อว่าโฆสิตะบุตรเศรษฐีเท่านั้น ความรักด้วยอำนาจบุพเพสันนิวาส ตัดผิวหนังเป็นต้นจดเยื่อกระดูกตั้งอยู่. นางจึงถามทาสีนั้นว่า เขานอนที่ไหนเล่า. ตอบว่า นอนหลับบนที่นอนจ้ะ. ถามว่า มีอะไรที่มือของเขาบ้าง. ตอบว่า มีหนังสือที่ชายผ้าจ้ะ.
               นางคิดว่า นั่นหนังสืออะไรหนอ เมื่อโฆสิตะกำลังหลับ เมื่อมารดาบิดาไม่เห็นเพราะส่งใจไปอื่น จึงไปหาโฆสิตะนั้นแก้หนังสือออก ถือเข้าไปห้องของตนเปิดประตู เปิดหน้าต่าง เพราะนางฉลาดในอักขรสมัย จึงอ่านหนังสือนั้น คิดว่า โอ! ช่างโง่เสียจริง ผูกใบมรณะของตนไว้ที่ชายผ้าเที่ยวไป หากเราไม่เห็น เขาก็จะไม่มีชีวิต จึงฉีกหนังสือนั้นเสียแล้ว เขียนหนังสืออื่นแทนด้วยคำของเศรษฐีว่า บุตรของเราชื่อโฆสิตะให้นำบรรณาการจาก ๑๐๐ หมู่บ้านมาทำการมงคลสมรสกับธิดาของเศรษฐีชนบทนี้ ให้ปลูกเรือน ๒ ชั้น ท่ามกลางบ้านเป็นที่อยู่ของตนแล้วจัดการอารักขาให้ดี ด้วยการล้อมกำแพงและตั้งยามคุ้มกัน เมื่อทำทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว จงส่งข่าวให้เราทราบด้วย เมื่อทำอย่างนี้เสร็จแล้ว เราจะสมนาคุณแก่ลุง ครั้นเขียนเสร็จจึงม้วนหนังสือ ผูกไว้ที่ชายผ้าของเขา.
               โฆสิตะนอนหลับตลอดวัน ลุกขึ้นบริโภคอาหารแล้วก็กลับไป รุ่งขึ้นไปบ้านนั้นแต่เช้าตรู่ เห็นผู้จัดการทรัพย์สินกำลังทำการงานในบ้าน. ผู้จัดการทรัพย์สินเห็นโฆสิตะจึงถามว่า อะไรพ่อคุณ โฆสิตะบอกว่า พ่อของฉันส่งหนังสือมาให้ท่าน เขารับหนังสือไปอ่านดีใจ สั่งช่างทำเรือนว่า ดูเถิด นายของเราเขารักเรา ส่งบุตรมาหาเรา ขอให้ทำพิธีมลคลสมรสแก่บุตรคนโตของเขากับลูกสาวของเรา พวกท่านรีบไปหาไม้เป็นต้นมาเถิด แล้วให้ปลูกเรือนตามที่กล่าวแล้ว ในท่ามกลางบ้านให้นำเครื่องบรรณาการมาจาก ๑๐๐ หมู่บ้านแล้วนำธิดาเศรษฐีชนบทมาทำพิธีมงคลสมรส เสร็จแล้วส่งข่าวไปให้เศรษฐีทราบว่า ได้ทำทุกอย่างเสร็จแล้ว.
               เศรษฐีได้ฟังดังนั้นก็เกิดเสียใจใหญ่หลวงว่า ธุระที่เราให้ทำไม่สำเร็จ ธุระที่เราไม่ให้ทำสำเร็จ พร้อมกับความโศกถึงบุตร ความโศกนั้นประดังเข้ามาอีก จึงเกิดร้อนท้องถึงกับท้องร่วง แม้ลูกสาวเศรษฐีก็สั่งว่า หากมีใครมาจากสำนักของเศรษฐี จงบอกเรา อย่าบอกแก่บุตรของเศรษฐีก่อน.
               แม้เศรษฐีก็คิดว่า บัดนี้เราจะไม่ให้บุตรชั่วเป็นเจ้าของสมบัติของเรา จึงกล่าวกะผู้จัดการทรัพย์อีกคนหนึ่งว่า ลุง ฉันอยากเห็นบุตรของฉัน ลุงส่งคนใกล้ชิดคนหนึ่งแล้วเขียนหนังสือฉบับหนึ่งส่งไป เรียกบุตรของเรามา.
               ผู้จัดการทรัพย์สินรับคำแล้วให้หนังสือส่งบุรุษคนหนึ่งไป ลูกสาวเศรษฐีได้พาโฆสิตกุมารไปในเวลาที่เศรษฐีเจ็บหนัก เศรษฐีได้ถึงแก่กรรมเสียแล้ว เมื่อบิดาถึงแก่กรรม พระราชาทรงประทานสมบัติที่บิดาใช้สอย ทรงมอบตำแหน่งเศรษฐีพร้อมด้วยฉัตรให้.
               โฆสิตะเศรษฐีดำรงอยู่ในมหาสมบัติ รู้ว่าตนพ้นจากความตายในฐาน ๗ ครั้งตั้งแต่ตามคำของลูกสาวเศรษฐีและนางกาฬี จึงสละทรัพย์วันละ ๑,๐๐๐ บริจาคทาน.
               ความที่โฆสิตะเศรษฐีไม่มีโรคในฐานะ ๗ ครั้งอย่างนี้เป็นฤทธิ์ของผู้มีบุญ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า คห คือ เรือน. ผู้เป็นใหญ๋ในเรือนคือคหบดี.
               บทนี้เป็นชื่อของผู้เป็นใหญ่ในตระกูลมหาศาล ในบางคัมภีร์เขียนเมณฑกเศรษฐีไว้ในลำดับของโฆสิตเศรษฐี.
               ในบทว่า ปญฺจนฺน มหาปญฺญานํ ปุญฺญวโต อิทฺธิ ฤทธิ์ของท่านผู้มีบุญ ๕ คน เป็นฤทธิ์ของท่านผู้มีบุญนี้.
               มีความว่า พึงเห็นบุญฤทธิ์ของผู้มีบุญมาก ๕ คน ชน ๕ คนเหล่านี้ ชื่อว่าผู้มีบุญมาก ๕ คือ เมณฑกเศรษฐี ๑ นางจันทปทุมา ภริยาเมณฑกเศรษฐี ๑ ธนัญชัยเศรษฐีบุตร ๑ นางสุมนาเทวีสะใภ้ ๑ นายปุณณทาส ๑ ได้สะสมบุญญาธิการในพระปัจเจกพุทธเจ้า.
               ในชนเหล่านั้น เมณฑกเศรษฐีสร้างฉางไว้ ๑,๒๕๐ ฉาง ลูบศีรษะแล้วนั่งที่ประตู แหงนดูเบื้องบน สายข้าวสาลีแดงหล่นจากอากาศเต็มฉางทั้งหมด. ภริยาของเมณฑกเศรษฐีนั้นเอาข้าวสารประมาณทะนานหนึ่งหุงข้าว แล้วทำแกงในสูปะและพยัญชนะอย่างหนึ่ง ประดับด้วยเครื่องประดับทุกชนิด นั่งเหนืออาสนะที่ปูไว้ที่ซุ้มประตู ประกาศเรียกว่า ผู้มีความต้องการภัตตาหารทั้งปวงจงมาเถิด ถือทัพพีทองคำตักใส่ภาชนะที่คนมาแล้วๆ นำเข้าไปแล้วให้ แม้เมื่อนางให้อยู่ตลอดวันก็ปรากฎเพียงถือเอาด้วยทัพพีคราวเดียวเท่านั้น.
               บุตรของเมณฑกเศรษฐีลูบศีรษะแล้วถือเอาถุงทรัพย์ ๑,๐๐๐ ถุง ประกาศว่า ผู้มีความต้องการกหาปณะจงมาเถิด แล้วใส่ภาชนะที่คนมาแล้วๆ ให้ไป กหาปณะ ๑,๐๐๐ ถุงก็ยังอยู่
               สะใภ้ของเศรษฐีประดับด้วยเครื่องประดับทุกชนิด ถือเอาตะกร้าข้าวเปลือก ๔ ทะนาน นั่งบนที่นั่งประกาศว่า ผู้มีความต้องการพืชข้าวจงมาเถิด แล้วตักใส่ภาชนะที่คนถือมาแล้วๆ ให้ ตะกร้าก็ยังเต็มอย่างเดิม.
               ทาสของเศรษฐีประดับด้วยเครื่องประดับทุกชนิด เชือกทองคำเทียมโคที่แอกทองคำ ถือด้ามปฎักทองคำ ให้นิ้วทั้ง ๕ ของโคมีกลิ่นหอม สวมปลอกทองคำที่เขาทั้งสองข้างขับไปนา ไถรอยไถไว้ ๗ แห่ง คือข้างนี้ ๓ ข้างนี้ ๓ ท่ามกลาง ๑ แล้วไป. ชาวชมพูทวีปถือเอาภัตร พืช เงินและทองเป็นต้น จากเรือนเศรษฐีตามความชอบใจ.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงภัททิยนครโดยลำดับ ผู้มีบุญทั้ง ๕ และนางวิสาขาธิดาของธนัญชัยเศรษฐี ได้บรรลุโสดาปัตติผล ด้วยการฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               นี้ฤทธิ์ของผู้มีบุญมาก ๕ คนเป็นฤทธิ์ของท่านผู้มีบุญ.
               แต่โดยสังเขปความวิเศษแห่งความสำเร็จในการสะสมบุญที่ถึงความแก่กล้าเป็นฤทธิ์ของผู้มีบุญ.
               พึงทราบวินิจฉัยในวิชชามยิมธินิเทศดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่า วิชฺชาธรา เพราะทรงไว้ซึ่งวิชชาของชาวคันธาระ มีอาการให้สำเร็จ หรือวิชชาอื่นอันสำเร็จใกล้เคียง อันสำเร็จตามความปรารถนา.
               บทว่า วิชฺช ปริชปฺเปตฺวา ร่ายวิชชา คือร่ายวิชชาตามที่ใกล้เคียงด้วยปาก.
               บทที่เหลือมีอรรถดังได้กล่าวแล้วนั่นแล.
               พึงทราบวินิจฉัยในสัมมาปโยคิทธินิเทศดังต่อไปนี้.
               ท่านถามเพียงอาการแห่งความสำเร็จ ไม่ถามว่า กตมา เป็นไฉน เพราะไม่มีคุณวิเศษอย่างอื่น แล้วถามเพียงประการเท่านั้น จึงตั้งคำถามว่า กถ อย่างไร แล้วสรุปว่า เอว อย่างนี้.
               อนึ่ง ในนิเทศนี้บาลีเช่นกับบาลีมีในก่อนมาแล้วด้วยการแสดง การประกอบชอบ กล่าวคือการปฏิบัตินั่นเอง แต่มาในอรรถว่า ความวิเศษเกิดขึ้นเพราะทำการกรรมนั้น หมายถึงการเตรียมการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยทำสกฏพยุหะ (การตั้งค่ายรบแบบกองเกวียน) เป็นต้น ศิลปกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เวชกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง การเรียนไตรเพท การเรียนพระไตรปิฎก โดยที่สุดการไถและการหว่านเป็นต้น ชื่อว่าฤทธิ์ด้วยความสำเร็จ เพราะเหตุแห่งการประกอบชอบในส่วนนั้นๆ ตัวประการดังนี้.


               จบอรรถกถาอิทธิกถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาวรรค ๒. อิทธิกถา จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 659อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 679อ่านอรรถกถา 31 / 695อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=10090&Z=10320
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=6954
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=6954
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :