ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 85อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 86อ่านอรรถกถา 31 / 92อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
สีลมยญาณนิทเทส

หน้าต่างที่ ๒ / ๔.

               ในบทนี้ว่า ตถาคตานํ มีความดังต่อไปนี้
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าตถาคต ด้วยเหตุ ๘ ประการ, พระนามว่าตถาคโต เพราะอรรถว่าเสด็จมาแล้วเหมือนอย่างนั้น, เสด็จไปแล้วเหมือนอย่างนั้น, ตรัสรู้ลักษณะที่เป็นของจริงแท้, ตรัสรู้ธรรมที่จริงแท้โดยความเป็นจริง, เพราะทรงแสดงสิ่งที่จริงแท้, เพราะทรงกล่าวแต่ความจริงแท้, เพราะเป็นผู้กระทำเหมือนอย่างนั้น, เพราะอรรถว่าครอบงำ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าตถาคต เพราะอรรถว่าเสด็จมาแล้วเหมือนอย่างนั้น เป็นอย่างไร?
               เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ก่อน ผู้ถึงความขวนขวายเสด็จมาแล้วเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกทั้งมวล.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร?
               อธิบายไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายแต่ก่อนเสด็จมาแล้วด้วยอภินิหารใด, แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายก็เสด็จมาแล้ว โดยอภินิหารนั้นเหมือนกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าแต่ก่อนทรงบำเพ็ญบารมี ๓๐ ถ้วน คือ บารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ ได้แก่ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วีริยะ ขันติ สัจจะ อธิฏฐานะ เมตตา อุเบกขา, ทรงบริจาคมหาบริจาค ๕ เหล่านี้ คือ บริจาคอวัยวะ ๑ นัยน์ตา ๑ ทรัพย์ ๑ ราชสมบัติ ๑ บุตรภรรยา ๑, ทรงบำเพ็ญญาตัตถจริยาด้วยการทรงบอกธรรมอันควรประกอบในเบื้องต้น และควรประพฤติในเบื้องต้น แล้วถึงที่สุดแห่งพุทธจริยาเสด็จมาแล้ว, แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายก็เสด็จทรงบำเพ็ญมาแล้วเหมือนอย่างนั้น.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าแต่ก่อนทรงเจริญเพิ่มพูนสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ฉันใด, แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายก็เสด็จมาแล้วฉันนั้น เพราะเหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า ตถาคโต.
               บัณฑิตกล่าวว่า
                                   ยเถว ทีปงฺกรพุทฺธอาทโย
                                   สพฺพญฺญุภาวํ มุนโย อิธาคตา.
                                   ตถา อยํ สกฺยมุนีปิ อาคโต
                                   ตถาคโต วุจฺจติ เตน จกฺขุมา.

                                   พระมุนีทั้งหลาย มีพระทีปังกรพุทธเจ้า
                         เป็นต้น ถึงความเป็นพระสัพพัญญูเสด็จมาแล้ว
                         ในโลกนี้ อย่างใด, แม้พระศากยมุนีผู้มีจักขุนี้ก็
                         เสด็จมาแล้วเหมือนอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น บัณฑิต
                         จึงขนานพระนามว่า ตถาคต.

               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าตถาคต เพราะอรรถว่าเสด็จไปแล้วเหมือนอย่างนั้น เป็นอย่างไร?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าแต่ก่อนที่ประสูติแล้ว ในบัดนี้ ชื่อว่าเสด็จไปแล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้น ชื่อว่าเสด็จไปแล้วอย่างไร? เพราะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้นประสูติแล้วในบัดนี้ ประดิษฐานพระบาททั้งสองเสมอกันบนแผ่นดิน หันพระพักตร์ไปทางทิศอุดรเสด็จดำเนินไปด้วยย่างพระบาท ๗ ก้าว.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                                   ดูก่อนอานนท์ พระโพธิสัตว์ที่ประสูติ ในบัดนี้
                         ประดิษฐานพระบาททั้งสองเสมอกันบนแผ่นดิน หัน
                         พระพักตร์ไปทางทิศอุดร เสด็จไปด้วยย่างพระบาท ๗
                         ก้าว เมื่อเทพบุตรกั้นเศวตฉัตรตามเสด็จ พระโพธิสัตว์
                         จะเหลียวดูทิศทั้งปวง, และทรงเปล่งพระวาจาอย่างผู้
                         องอาจว่า อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส. เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส
                         เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส, อยมนฺติมา ชาติ นตฺถิทานิ
                         ปุนพฺภโวติ.๑-
                         แปลว่า เราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก
                         เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย
                         บัดนี้ ภพใหม่จะไม่มีอีก.
____________________________
๑- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๓๗๗

               การดำเนินไปของพระโพธิสัตว์นั้นได้ชื่อว่าเป็นความจริงแท้แน่นอน โดยเป็นบุพนิมิตแห่งการตรัสรู้ธรรมวิเศษมิใช่น้อย. ข้อที่พระโพธิสัตว์นั้นประสูติในบัดนี้ ประดิษฐานพระบาทเสมอกัน นี้เป็นบุพนิมิตแห่งการได้อิทธิบาท ๔ ของพระโพธิสัตว์นั้น, การหันพระพักตร์ไปทางทิศอุดร เป็นบุพนิมิตแห่งความเป็นโลกุตรทั้งหมดของพระโพธิสัตว์, การย่างพระบาท ๗ ก้าวเป็นบุพนิมิตแห่งการได้โพชฌังครัตนะ ๗, ส่วนการยกแส้จามรขึ้นดังกล่าวไว้ในบทนี้ว่า สุวณฺณทณฺฑา วีติปตนฺติ จามรา๒- - จามรด้ามทองตกอยู่ ดังนี้ เป็นบุพนิมิตแห่งการย่ำยีเดียรถีย์ทั้งหมด. การกั้นเศวตฉัตรเป็นบุพนิมิตแห่งการได้เศวตฉัตรอันประเสริฐปราศจากมลทิน ด้วยการหลุดพ้นด้วยอรหัตมรรค การเหลียวดูทิศทั้งหมดเป็นบุพนิมิตแห่งการได้อนาวรณญาณคือความเป็นพระสัพพัญญู, การเปล่งวาจาอันองอาจเป็นบุพนิมิตแห่งการเป็นไปแห่งธรรมจักร อันประเสริฐที่ยังไม่เคยเป็นไป.
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้ ก็เสด็จไปเหมือนอย่างนั้น.
               อนึ่ง การเสด็จดำเนินของพระโพธิสัตว์นั้นได้เป็นความจริงแท้แน่นอน ด้วยความเป็นบุพนิมิตแห่งการบรรลุธรรมวิเศษเหล่านี้นั่นแล.
____________________________
๒- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๘๘

               ด้วยเหตุนั้น พระโบราณาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า
                                   มุหุตฺตชาโตว ควมฺปตี ยถา
                         สเมหิ ปาเทหิ ผุสี วสุนฺธรํ,
                         โส วิกฺกมิ สตฺต ปาทานิ โคตโม
                         เสตญฺจ ฉตฺตํ อนุธารยํ มรู.
                                   คนฺตฺวาน โส สตฺต ปทานิ โคตโม
                         ทิสา วิโลเกสิ สมา สมนฺตโต,
                         อฏฺฐงฺคุเปตํ คิรมพฺภุทีรยิ
                         สีโห ยถา ปพฺพตมุทฺธนิฏฺฐิโต.

                                   พระควัมบดีประสูติได้ครู่เดียวเท่านั้น ทรง
                         สัมผัสแผ่นดินด้วยพระบาทเสมอกัน, พระโพธิสัตว์
                         เหล่ากอแห่งพระโคดมนั้น ทรงย่างพระบาท ๗ ก้าว
                         และเหล่าเทพเจ้าพากันกั้นเศวตฉัตร.
                                   พระโคดมนั้นเสด็จดำเนินไป ๗ ก้าว ทรง
                         เหลียวแลดูทิศอย่างสม่ำเสมอโดยรอบ, ทรงเปล่ง
                         พระวาจาประกอบด้วยองค์ ๘ ดุจสีหะยืนอยู่บน
                         ยอดเขาบันลือสีหนาท ฉะนั้น.

               ทรงพระนามว่าตถาคต เพราะเสด็จไปแล้วเหมือนอย่างนั้น ด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าแต่ก่อนฉันใด, แม้พระผู้มีพระภาคเจ้านี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เสด็จไปแล้วเพื่อละกามฉันทะด้วยเนกขัมมะ ฯลฯ ละนิวรณ์ด้วยปฐมฌาน ฯลฯ ละนิจสัญญาด้วยอนิจจานุปัสสนา ฯลฯ ละกิเลสทั้งหมดด้วยอรหัตมรรค.
               พระนามว่าตถาคต เพราะเสด็จไปแล้วอย่างนั้น ด้วยประการฉะนี้.
               พระนามว่า ตถาคโต เพราะตรัสรู้ลักษณะที่จริงแท้ เป็นอย่างไร?
               ลักษณะที่จริงแท้ คือความเป็นของแข็งเป็นลักษณะแห่งปฐวีธาตุ, การไหลไปเป็นลักษณะแห่งอาโปธาตุ, ความเป็นของร้อนเป็นลักษณะแห่งเตโชธาตุ, การขยายตัวไปมาเป็นลักษณะแห่งวาโยธาตุ การสัมผัสไม่ได้เป็นลักษณะแห่งอากาศธาตุ, การรู้แจ้งเป็นลักษณะแห่งวิญญาณธาตุ.
               การสลายไปเป็นลักษณะแห่งรูป, การเสวยอารมณ์เป็นลักษณะแห่งเวทนา, การรู้พร้อมเป็นลักษณะแห่งสัญญา, การปรุงแต่งเป็นลักษณะแห่งสังขาร, การรู้แจ้งเป็นลักษณะแห่งวิญญาณ.
               การยกขึ้นเป็นลักษณะแห่งวิตก, การเคล้าคลึงเป็นลักษณะแห่งวิจาร, การซ่านไปเป็นลักษณะแห่งปีติ, การยินดีเป็นลักษณะแห่งความสุข, การไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะแห่งความที่จิตมีอารมณ์เดียว, ความถูกต้องเป็นลักษณะแห่งผัสสะ.
               การน้อมใจเชื่อเป็นลักษณะแห่งสัทธินทรีย์, การประคองไว้เป็นลักษณะแห่งวีริยินทรีย์, การตั้งมั่นเป็นลักษณะแห่งสตินทรีย์, การไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะแห่งสมาธินทรีย์, การรู้ทั่วเป็นลักษณะแห่งปัญญินทรีย์.
               ความไม่หวั่นไหวในความไม่เชื่อเป็นลักษณะแห่งสัทธาพละ, ความไม่หวั่นไหวในความเกียจคร้านเป็นลักษณะแห่งวีริยพละ, ความไม่หวั่นไหวในความลุ่มหลงเป็นลักษณะแห่งสติพละ, ความไม่หวั่นไหวในความฟุ้งซ่านเป็นลักษณะแห่งสมาธิพละ, ความไม่หวั่นไหวในอวิชชาเป็นลักษณะแห่งปัญญาพละ.
               ความตั้งมั่นเป็นลักษณะแห่งสติสัมโพชฌงค์, ความค้นคว้าเป็นลักษณะแห่งธรรมวิจยสัมโพชฌงค์, ความประคองไว้เป็นลักษณะแห่งวีริยสัมโพชฌงค์, ความซ่านไปเป็นลักษณะแห่งปีติสัมโพชฌงค์, ความสงบเป็นลักษณะแห่งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์, ความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะแห่งสมาธิสัมโพชฌงค์, ความพิจารณาเป็นลักษณะแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์.
               ความเห็นเป็นลักษณะสัมมาทิฏฐิ, ความยกขึ้นเป็นลักษณะของสัมมาสังกัปปะ, การกำหนดเป็นลักษณะของสัมมาวาจา, การตั้งขึ้นเป็นลักษณะของสัมมากัมมันตะ, ความบริสุทธิ์เป็นลักษณะของสัมมาอาชีวะ, การประคองไว้เป็นลักษณะของสัมมาวายามะ, การเข้าไปตั้งไว้เป็นลักษณะของสัมมาสติ, ความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะของสัมมาสมาธิ.
               ความไม่รู้เป็นลักษณะของอวิชชา, ความคิด-เจตนา เป็นลักษณะของสังขาร, ความรู้แจ้งเป็นลักษณะของวิญญาณ, ความน้อมไปเป็นลักษณะของนาม, ความสลายไปเป็นลักษณะของรูป, ความติดต่อกันเป็นลักษณะแห่งสฬายตนะ, ความถูกต้องเป็นลักษณะแห่งผัสสะ, ความเสวยอารมณ์เป็นลักษณะแห่งเวทนา, เหตุเป็นลักษณะแห่งตัณหา, ความยึดถือเป็นลักษณะแห่งอุปาทาน, การประมวล-อายูหนะ เป็นลักษณะแห่ง ภพ, ความเกิดเป็นลักษณะแห่งชาติ, ความทรุดโทรมเป็นลักษณะแห่งชรา, จุติ-การเคลื่อนไป เป็นลักษณะแห่งความตาย.
               ความเป็นของสูญเป็นลักษณะแห่งธาตุ, ความติดต่อกันเป็นลักษณะแห่งอายตนะ, การเข้าไปตั้งไว้เป็นลักษณะแห่งสติปัฏฐาน, ความเริ่มตั้ง-การทำความเพียร เป็นลักษณะแห่งสัมมัปปธาน, ความสำเร็จเป็นลักษณะแห่งอิทธิบาท, ความเป็นใหญ่เป็นลักษณะแห่งอินทรีย์, ความไม่หวั่นไหวเป็นลักษณะแห่งพละ, ความนำออกเป็นลักษณะแห่งโพชฌงค์, เหตุเป็นลักษณะแห่งมรรค.
               ความจริงแท้เป็นลักษณะแห่งสัจจะ, ความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะแห่งสมถะ, ความพิจารณาเห็นตามเป็นลักษณะแห่งวิปัสสนา, เอกรส - ธรรมรสอันเลิศ เป็นลักษณะแห่งสมถะและวิปัสสนา, ความไม่เปลี่ยนแปลงเป็นลักษณะแห่งธรรมคู่กัน.
               สังวรเป็นลักษณะแห่งสีลวิสุทธิ.
               ความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะแห่งจิตตวิสุทธิ.
               ความเห็นเป็นลักษณะแห่งทิฏฐิวิสุทธิ.
               ความตัดขาดเป็นลักษณะแห่งญาณในความสิ้นไป,
               ความสงบเป็นลักษณะแห่งญาณในความไม่เกิด.
               มูละเป็นลักษณะแห่งฉันทะ, สมุฏฐานะเป็นลักษณะแห่งมนสิการะ, สโมธานะเป็นลักษณะแห่งผัสสะ, สโมสรณะเป็นลักษณะแห่งเวทนา, ปมุขะเป็นลักษณะแห่งสมาธิ, อาธิปเตยยะเป็นลักษณะแห่งสติ, ตทุตตริ-ความรู้ยิ่งกว่านั้น เป็นลักษณะแห่งปัญญา, สาระเป็นลักษณะแห่งวิมุตติ, ปริโยสานะเป็นลักษณะแห่งนิพพานอันหยั่งลงสู่อมตะ.
               นี้คือความจริงแท้.
               พระนามว่า ตถาคโต เพราะตรัสรู้ลักษณะที่จริงแท้นั้นด้วยญาณคติคือทรงบรรลุ บรรลุถึงไม่ผิดพลาด, ตรัสรู้ลักษณะที่จริงแท้ด้วยประการฉะนี้ จึงทรงพระนามว่าตถาคต.
               พระนามว่า ตถาคโต เพราะตรัสรู้ธรรมที่จริงแท้ตามความเป็นจริงนั้น เป็นอย่างไร?
               อริยสัจ ๔ ชื่อว่า ธรรมที่จริงแท้.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๓-
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ อย่างเหล่านี้
                         เป็นธรรมที่จริงแท้แน่นอน ไม่เป็นอย่างอื่น. อริยสัจ
                         ๔ เป็นไฉน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจว่า นี้ทุกข์
                         นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางให้ถึงความ
                         ดับทุกข์ เป็นของจริงแท้แน่นอน ไม่เป็นอย่างอื่น
                         ดังนี้ พึงให้พิสดาร.

____________________________
๓- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๖๙๗

               อนึ่ง เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้อริยสัจเหล่านั้น บัณฑิตจึงขนานพระนามว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้สิ่งจริงแท้.
               คต ศัพท์ในที่นี้มีเนื้อความว่าตรัสรู้.
               อนึ่ง ความจริงแท้แน่นอนไม่เป็นอย่างอื่น มีความบ่งถึงความเป็นจริงว่า ชาติเป็นปัจจัยของชราและมรณะ ฯลฯ มีความบ่งถึงความเป็นจริงว่า อวิชชาเป็นปัจจัยของสังขาร ฯลฯ.
               อนึ่ง ความจริงแท้แน่นอน ไม่เป็นอย่างอื่นของอวิชชามีอรรถว่า เป็นปัจจัยแห่งสังขาร ฯลฯ ความจริงแท้แน่นอน ไม่เป็นอย่างอื่นของชาติ มีอรรถว่า เป็นปัจจัยของชราและมรณะ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้สิ่งทั้งปวงนั้น เพราะฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้ความจริงแท้.
               พระนามว่า ตถาคโต เพราะทรงเห็นความจริงแท้นั้น เป็นอย่างไร?
               ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ทรงเห็นรูปารมณ์อันมาสู่คลองจักษุ ในจักขุทวารของสัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ ในโลกธาตุอันหาประมาณมิได้ ในโลกพร้อมด้วยเทวโลก ฯลฯ เป็นไปกับด้วยเทวดาและมนุษย์มีอยู่โดยอาการทั้งปวง.
               อนึ่ง รูปารมณ์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ทรงเห็นทรงจำแนกไว้โดยนัย ๕๒ โดยวาระ ๑๓ โดยชื่อมากมาย โดยนัยมีอาทิว่า รูปที่เรียกว่า รูปายตนะ เป็นไฉน? รูปใดมีแสงสว่างอาศัยมหาภูตรูป ๔ เป็นไปกับการเห็นได้และมีความกระทบได้ มีสีเขียวคราม สีเหลือง๔- เป็นต้น เป็นความจริงแท้ ไม่มีความเหลวไหล.
               ในเสียงเป็นต้นอันมาสู่คลองในโสตทวารเป็นต้นก็มีนัยนี้.
____________________________
๔- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๕๒๑

               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้ว่า๕-
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปารมณ์ที่เห็นด้วยจักษุ
                         สัททารมณ์ที่ฟังด้วยหู คันธารมณ์ รสารมณ์และโผฏ-
                         ฐัพพารมณ์ ที่รู้ได้ด้วยทวารนั้นๆ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง
                         ด้วยใจ ของโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
                         ของหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์
                         เราได้บรรลุแล้ว เสาะแสวงหาแล้ว ค้นคว้าแล้วด้วยใจ
                         เราย่อมรู้รูปารมณ์ที่เห็นได้ด้วยจักษุเป็นต้นนั้น รู้แล้ว
                         ด้วยปัญญาอันยิ่ง ตถาคตรู้รูปารมณ์เป็นต้นนั้นแจ้งชัด
                         รูปารมณ์เป็นต้นนั้นไม่ปรากฏในตถาคต.

____________________________
๕- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๒๔

               พระนามว่าตถาคต เพราะทรงเห็นความจริงแท้ด้วยประการฉะนี้.
               พึงทราบการเพิ่มบทว่า ตถาคโต ลงในอรรถว่าเห็นความจริงแท้นั้น.
               พระนามว่า ตถาคโต เพราะทรงตรัสแต่ความจริงแท้ เป็นอย่างไร?
               ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอปราชิตบัลลังก์ใต้โพธิมณฑล ในเวลากลางคืนทรงย่ำยียอดมารทั้ง ๔ แล้วตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยม, และข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในระหว่างต้นสาละคู่ในเวลากลางคืน, และข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสุตตะ เคยยะ ฯลฯ เวทัลละในปฐมโพธิกาลบ้าง ในมัชฌิมโพธิกาลบ้าง ในปัจฉิมโพธิกาลบ้าง ในเวลาประมาณ ๔๕ ปี ในระหว่างนี้, ทั้งหมดนั้นทั้งโดยอรรถ ทั้งโดยพยัญชนะ ไม่มีโทษ ไม่ควรติเตียน ไม่หย่อนไม่ยิ่ง บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ถอนความมัวเมา ราคะ โทสะ โมหะ, ไม่มีความผิดพลาด แม้เพียงปลายขนสัตว์ในคำสอนนั้น, ทั้งหมดนั้นเป็นความจริงแท้ ดุจประทับด้วยดวงตราดวงเดียว, ดุจตวงด้วยทะนานเดียว และดุจชั่งด้วยตราชั่งอันเดียว.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๖-
                         ดูก่อนจุนทะ ข้อที่ตถาคตตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอัน
               ยอดเยี่ยม ในเวลากลางคืน, และข้อที่ตถาคตปรินิพพานด้วย
               อนุปาทิเสสนิพพานในเวลากลางคืน, ข้อที่ตถาคตกล่าวชี้แจง
               แสดงในระหว่างนี้ ทั้งหมดนั้นเป็นความจริงแท้ทีเดียว, ไม่เป็น
               อย่างอื่น เพราะฉะนั้น บัณฑิตจึงขนานพระนามว่าตถาคต.

____________________________
๖- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๑๒๐

               คต ศัพท์ในบทนี้ มีอรรถว่าคำพูด
               พระนามว่า ตถาคต เพราะตรัสอย่างนั้นด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง คำพูด ชื่อว่าอาคท, อธิบายว่า การกล่าว.
               คำกล่าวของพระตถาคตเป็นความจริงไม่เปลี่ยนแปลง เพราะแผลง เป็น จึงเป็น ตถาคโต ฉะนั้น
               พึงทราบบทสำเร็จในอรรถนี้ด้วยประการฉะนี้.
               พระนามว่า ตถาคโต เพราะกระทำเหมือนอย่างนั้น เป็นอย่างไร?
               จริงอยู่ กายของพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมคล้อยตามวาจา, วาจาย่อมคล้อยตามกาย, เพราะฉะนั้นจึงมีว่า พูดอย่างใด ทำอย่างนั้น, และทำอย่างใด พูดอย่างนั้น.
               อธิบายว่า วาจาของพระผู้มีพระภาคนั้นเป็นอย่างนี้ฉันใด, แม้กายก็เป็นไปฉันนั้น.
               อนึ่ง พระนามว่า ตถาคโต เพราะกายเป็นอย่างใด, แม้วาจาก็เป็นไปอย่างนั้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า๗-
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตพูดอย่างใด
                         ทำอย่างนั้น, ทำอย่างใด พูดอย่างนั้น. ด้วยเหตุ
                         ที่ตถาคตพูดอย่างใด ทำอย่างนั้น, ทำอย่างใด
                         พูดอย่างนั้น บัณฑิตจึงขนานพระนามว่า ตถาคต.

____________________________
๗- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๒๓.

               พระนามว่าตถาคต เพราะทำอย่างนั้น ด้วยประการฉะนี้.
               พระนามว่า ตถาคโต ด้วยอรรถว่าครอบงำนั้น เป็นอย่างไร?
               พระตถาคตทรงทำที่สุด เบื้องบนถึงภวัคคพรหม เบื้องล่างถึงอเวจีแล้ว ทรงครอบงำสรรพสัตว์ในโลกธาตุอันหาประมาณมิได้ในเบื้องขวาง ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสนะ.
               พระตถาคตนั้นไม่มีการชั่งหรือการคาดคะเน, พระตถาคตไม่มีผู้เปรียบ ไม่มีผู้ควรเทียบได้ เป็นผู้ยอดเยี่ยม เป็นราชายิ่งกว่าราชา เป็นเทวดายิ่งกว่าเทวดา เป็นสักกะยิ่งกว่าสักกะ เป็นพรหมยิ่งกว่าพรหม.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า๗-
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นผู้ยิ่งใหญ่
               ฯลฯ ผู้ครอบงำ เป็นผู้เห็นโดยถ่องแท้ เป็นผู้ยังสัตว์
               ให้อยู่ในอำนาจ เพราะฉะนั้น บัณฑิตจึงขนานพระ
               นามว่า ตถาคต.

____________________________
๗- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๒๓.

               ในบทนั้นพึงทราบบทสำเร็จดังต่อไปนี้.
               พระตถาคตพระนามว่า อคโท เป็นดุจหมอยาผู้วิเศษ. ในบาลีว่า นั่นเป็นใคร? มีความงดงามด้วยเทศนาและเป็นผู้สำเร็จแล้วด้วยบุญ.
               ด้วยเหตุนั้น พระตถาคตจึงมีอานุภาพมาก ย่อมครอบงำลัทธิของผู้อื่นทั้งหมด และโลกกับทั้งเทวโลกได้ ดุจหมองูย่อมปราบงูได้ด้วยยาวิเศษฉะนั้น. ด้วยเหตุนี้ พระตถาคตเป็นอคโท สำเร็จด้วยความงามแห่งเทศนา และสำเร็จด้วยบุญเป็นความจริงแท้ ไม่เปลี่ยนแปลงในการครอบงำโลกทั้งปวง เพราะฉะนั้นพึงทราบว่า พระนามว่า ตถาคโต เพราะแผลง เป็น .
               พระนามว่าตถาคต ด้วยอรรถว่าครอบงำ ด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พระนามว่าตถาคต เพราะอรรถว่าดำเนินไปแล้วด้วยความจริงแท้บ้าง. พระนามว่าตถาคต เพราะอรรถว่าดำเนินไปสู่ความจริงแท้บ้าง.
               บทว่า คโต มีความว่า ก้าวลงแล้ว ล่วงไปแล้ว บรรลุแล้ว ดำเนินไปแล้ว.
               ในบทเหล่านั้น พระตถาคตพระนามว่า ตถาคโต เพราะอรรถว่าก้าวลงสู่โลกทั้งสิ้นด้วยความจริงแท้ คือตีรณปริญญา, พระนามว่า ตถาคโต เพราะอรรถว่าล่วงไปแล้วซึ่งเหตุให้เกิดโลกด้วยความจริงแท้ คือปหานปริญญา, พระนามว่า ตถาคโต เพราะอรรถว่าบรรลุความดับโลกด้วยความจริงแท้ คือสัจฉิกิริยา, พระนามว่า ตถาคโต เพราะอรรถว่าดำเนินไปแล้วสู่ความจริงแท้ คือ โลกนิโรธคามินีปฏิปทา - ปฏิปทาให้ถึงความดับโลก.
               ด้วยเหตุนั้น คำใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า๗-
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกอันตถาคตตรัสรู้แล้ว,
                         ตถาคตพรากจากโลกแล้ว. เหตุให้เกิดโลก ตถาคต
                         ตรัสรู้แล้ว ตถาคตได้ละเหตุให้เกิดโลกแล้ว. ความ
                         ดับโลก ตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตทำให้แจ้งการดับ
                         โลกแล้ว. ปฏิปทาให้ถึงความดับโลก ตถาคตตรัสรู้
                         แล้ว ตถาคตทำให้เกิดปฏิปทาให้ถึงความดับโลก
                         แล้ว.
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปที่เห็นด้วยจักษุ ฯลฯ
                         ธรรมที่รู้ด้วยใจ ของโลกพร้อมด้วยเทวโลกทั้งหมด
                         นั้น ตถาคตตรัสรู้แล้ว. เพราะฉะนั้น บัณฑิตจึงขนาน
                         นามว่า ตถาคต.

____________________________
๗- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๒๓.

               พึงทราบความของคำนั้นแม้อย่างนี้.
               อนึ่ง บทนี้ก็เป็นเพียงมุขในการแสดงความเป็นตถาคตของพระตถาคตนั่นเอง.
               อนึ่ง พระตถาคตเท่านั้นพึงพรรณนาความเป็นตถาคตของพระตถาคตได้โดยอาการทั้งปวง. ก็เพราะพระพุทธเจ้าทั้งปวงเป็นผู้เหมาะสมแม้ด้วยคุณของพระตถาคต, ฉะนั้น พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า ตถาคตานํ ด้วยสามารถของพระพุทธเจ้าทั้งหมด.
               บทว่า อรหนฺตานํ ความว่า พระตถาคตเป็นพระอรหันต์ เพราะทรงไกลจากกิเลสทั้งหลาย, เพราะขจัดข้าศึกและซี่ล้อแห่งจักรทั้งหลาย, เพราะเป็นผู้ควรแก่ปัจจัยเป็นต้น, เพราะไม่มีความลับในการทำบาป.
               จริงอยู่ พระตถาคตนั้นเป็นผู้ไกลคือตั้งอยู่ไกลแสนไกลจากกิเลสทั้งปวง พระนามว่า อรหํ เพราะทรงละกิเลส พร้อมด้วยวาสนาด้วยมรรค.
               บัณฑิตกล่าวคำว่า อรหํ ไว้ ๕ นัย นัยที่ ๑ ว่า
                         โส ตโต อารกา นาม  ยสฺส เยนาสมงฺคิตา
                         อสมงฺคี จ โทเสหิ     นาโถ เตนารหํ มโต.
                               พระตถาคตเจ้าผู้เป็นนาถะ ไม่ถูกกิเลสกลุ้มรุม
                         และไม่ประกอบด้วยโทษ คือวาสนาทั้งหลาย ชื่อว่า
                         ทรงไกลจากกิเลส และโทษเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น
                         บัณฑิตจึงกล่าวว่า อรหํ เป็นพระอรหันต์.
               อนึ่ง พระตถาคตเจ้าทรงกำจัดข้าศึกคือกิเลสเหล่านั้น ด้วยมรรค เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงขนานพระนามว่า อรหํ เพราะทรงกำจัดข้าศึกคือกิเลสทั้งหลายบ้าง.
                         ยสฺมา ราคาทิสงฺขาตา   สพฺเพปิ อรโย หตา
                         ปญฺญาสตฺเถน นาเถน  ตสฺมาปิ อรหํ มโต.
                               เพราะพระนาถะทรงกำจัดข้าศึก คือกิเลสมีราคะ
                         เป็นต้น แม้ทั้งหมดด้วยศัสตราคือปัญญา เพราะฉะนั้น
                         บัณฑิตจึงทราบว่า อรหํ เป็นพระอรหันต์.
               อนึ่ง สังสารจักร - ล้อคือสงสารมีดุมสำเร็จด้วยอวิชชาและภวตัณหา มีเครื่องตกแต่งคือบุญเป็นต้นเป็นซี่ล้อ มีชราและมรณะเป็นกงเจาะสอดไว้ด้วยเพลาคือเหตุเกิดอาสวะ ประกอบในรถคือภพ ๓ เป็นไปโดยกาลอันไม่มีเบื้องต้น,
               พระตถาคตประดิษฐานบนแผ่นดินคือศีล ด้วยพระบาทคือวีริยะ ณ โพธิมณฑล ทรงถือขวานคือญาณ กระทำกรรมให้สิ้นไปด้วยพระหัตถ์คือศรัทธา แล้วทรงกำจัดซี่ล้อทั้งหมดแห่งสังสารจักรนั้น เพราะเหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า อรหํ เป็นพระอรหันต์ เพราะกำจัดซี่ล้อทั้งหลาย. นี้เป็นนัยที่ ๒.
               บัณฑิตกล่าวนัยที่ ๓ ว่า
                         อรา สํสารจกฺกสฺส หตา  ญาณาสินา ยโต
                         โลกนาเถน เตเนส     อรหนฺติ ปวุจฺจติ.
                         เพราะพระโลกนาถทรงกำจัดซี่ล้อแห่งสังสารจักร
                         ด้วยดาบคือญาณ, เพราะเหตุนั้น พระโลกนาถนั้น
                         บัณฑิตจึงขนานพระนามว่า อรหํ เป็นพระอรหันต์.
               อนึ่ง พระตถาคต เพราะเป็นผู้ควรของทำบุญอย่างเลิศ จึงควรรับปัจจัยมีจีวรเป็นต้นและการบูชาวิเศษ.
               ก็ด้วยเหตุนั้นแล เมื่อพระตถาคตอุบัติแล้ว เทวดาและมนุษย์ผู้มีศักดิ์ใหญ่พวกใดพวกหนึ่ง จะไม่ทำการบูชาในที่อื่นเลย.
               เป็นความจริงดังนั้น สหัมบดีพรหมย่อมบูชาพระตถาคตด้วยพวงแก้ว ประมาณเท่าภูเขาสิเนรุ, เทวดาเหล่าอื่นและมนุษย์ทั้งหลายมีพระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าโกศลเป็นต้น ย่อมบูชาตามกำลัง.
               อนึ่ง พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสละทรัพย์ ๙๖ โกฏิอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้เสด็จปรินิพพานแล้ว และสร้างวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลังไว้ในชมพูทวีปทั้งสิ้น, จะพูดไปทำไมถึงการบูชาวิเศษอย่างอื่น.
               เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงทรงพระนามว่า อรหํ เป็นพระอรหันต์ เพราะสมควรแก่ปัจจัยเป็นต้น.
               บัณฑิตกล่าวนัยที่ ๔ ว่า
                                   ปูชาวิเสสํ สห ปจฺจเยหิ
                                   ยสฺมา อยํ อรหติ โลกนาโถ,
                                   อตฺถานุรูปํ อรหนฺติ โลเก
                                   ตสฺมา ชิโน อรหติ นามเมตํ.

                                   เพราะพระโลกนาถนี้ สมควรรับการบูชา
                         วิเศษพร้อมด้วยปัจจัยทั้งหลาย, ฉะนั้นพระชินะ
                         จึงสมควรทรงพระนามว่า อรหํ เป็นพระอรหันต์
                         อันเหมาะสมแก่อรรถะ.

               อนึ่ง พระตถาคตนั้นไม่ว่าในกาลไหนๆ ไม่ทรงทำเหมือนอย่างที่คนพาลทั้งหลายพวกใดพวกหนึ่ง สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ทำบาปในที่ลับด้วยเกรงว่าจะไม่ได้รับการสรรเสริญ เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงเป็นพระอรหันต์ เพราะไม่มีความลับในการทำบาป.
               บัณฑิตกล่าวนัยที่ ๕ ว่า
                         ยสฺมา นตฺถิ รโห    นามปาปกมฺเมสุ ตาทิโน
                         รหาภาเวน เตเนส  อรหํ อิติ วิสฺสุโต.
                              ขึ้นชื่อว่าความลับในบาปกรรมมิได้มีแก่พระ
                         ตถาคตผู้มั่นคง เพราะเหตุนั้น พระตถาคตนั้นจึง
                         ปรากฏพระนามว่า อรหํ เป็นพระอรหันต์ เพราะ
                         ไม่มีความลับ.
               ท่านกล่าวสรุปความทั้งหมดไว้อย่างนี้ว่า
                         อารกตฺตา หตตฺตา จ  กิเลสารีน โส มุนิ
                         หตสํสารจกฺกาโร      ปจฺจยาทีน จารโห,
                         น รโห กโรติ ปาปานิ  อรหํ เตน วุจฺจติ.
                              พระมุนีนั้น เพราะทรงเป็นผู้ไกลจากกิเลส ๑
                         เพราะกำจัดข้าศึก คือกิเลส ๑ เพราะหักซี่ล้อ คือ
                         สังสารจักร ๑ ทรงสมควรแก่ปัจจัยเป็นต้น ๑
                         เพราะไม่ทรงทำบาปในที่ลับ ๑ เพราะเหตุนั้น
                         บัณฑิตจึงขนานพระนามว่า อรหํ เป็นพระอรหันต์.
               ก็เพราะพระพุทธเจ้าทั้งปวงเป็นผู้เหมาะสม แม้ด้วยคุณของพระอรหันต์ ฉะนั้น พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า อรหนฺตานํ ด้วยสามารถแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง.
               บทว่า สมฺมาสมฺพุทฺธานํ ความว่า ชื่อว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ เพราะตรัสรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบและด้วยพระองค์เอง.
               เป็นความจริงอย่างนั้น พระสัมมาสัมพุทธะตรัสรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบด้วยพระองค์เอง คือที่ทรงพระนามว่าพุทธะ เพราะทรงรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้, เพราะทรงกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้, เพราะทรงละธรรมที่ควรละ, เพราะทรงทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง, เพราะเจริญธรรมที่ควรเจริญ.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๘-
                         อภิญฺเญยฺยํ อภิญฺญาตํ  ภาเวตพฺพญฺจ ภาวิตํ
                         ปหาตพฺพํ ปหีนํ เม    ตสฺมา พุทฺโธสฺมิ พฺราหฺมณ.
                              ดูก่อนพราหมณ์ สิ่งที่ควรรู้ยิ่ง เราได้รู้ยิ่งแล้ว
                         สิ่งที่ควรเจริญ เราได้เจริญแล้ว และสิ่งที่ควรละ
                         เราได้ละแล้ว, เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพุทธะ.
____________________________
๘- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๖๐๙

               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่า พระสัมมาสัมพุทธะตรัสรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบและด้วยพระองค์เอง แม้ด้วยการยกบทหนึ่งๆ ขึ้นอย่างนี้ว่า จักษุเป็นทุกขสัจจะ, ปุริมตัณหาอันทำจักษุนั้นให้เกิดขึ้นโดยเป็นเหตุ เป็นสมุทยสัจจะ, ความที่ทุกขสัจจะและสมุทยสัจจะทั้ง ๒ เป็นไปไม่ได้ เป็นนิโรธสัจจะ, ปฏิปทาอันรู้ทั่วถึงการดับ เป็นมรรคสัจจะ.
               ในโสตะ ฆานะ ชิวหาและกาย ก็มีนัยนี้.
               โดยนัยนี้แล พึงประกอบอายตนะ ๖ มีรูปเป็นต้น, กองวิญญาณ ๖ มีจักขุวิญญาณเป็นต้น, ผัสสะ ๖ มีจักขุสัมผัสสะเป็นต้น, เวทนา ๖ มีจักขุสัมผัสสชาเวทนาเป็นต้น, สัญญา ๖ มีรูปสัญญาเป็นต้น, เจตนา ๖ มีรูปสัญเจตนาเป็นต้น, กองตัณหา ๖ มีรูปตัณหาเป็นต้น, วิตก ๖ มีรูปวิตกเป็นต้น, วิจาร ๖ มีรูปวิจารเป็นต้น, ขันธ์ ๕ มีรูปขันธ์เป็นต้น, กสิณ ๑๐, อนุสติ ๑๐, สัญญา ๑๐ ด้วยสามารถอุทธุมาตกสัญญา - ความสำคัญศพที่ขึ้นอืดเป็นต้น, อาการ ๓๒ มีผมเป็นต้น, อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘, ภพ ๙ มีกามภพเป็นต้น, ฌาน ๔ มีปฐมฌานเป็นต้น, อัปปมัญญา ๔ มีเมตตาภาวนาเป็นต้น, อรูปสมาบัติ ๔, และองค์ปฏิจจสมุปบาทมีชรามรณะเป็นต้น โดยปฏิโลม, มีอวิชชาเป็นต้น โดยอนุโลมเข้าด้วยกัน.
               พึงทราบการประกอบบทๆ หนึ่งดังต่อไปนี้
               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ตรัสรู้ยิ่ง แทงตลอดธรรมทั้งปวงโดยชอบด้วยพระองค์เอง ด้วยการยกบทหนึ่งๆ ขึ้นอย่างนี้ว่า ชรามรณะเป็นทุกขสัจจะ, ชาติเป็นสมุทยสัจจะ, การออกไปทั้งสองอย่างนั้นเป็นนิโรธสัจจะ, ปฏิปทาอันรู้ทั่วถึงการดับเป็นมรรคสัจจะ.
               ยังมีสิ่งที่ควรแนะนำอย่างใดอย่างหนึ่งอีก,
               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ เพราะตรัสรู้สิ่งทั้งปวงโดยชอบด้วยพระองค์เอง ด้วยวิโมกขันติกญาณ - ญาณอันเป็นที่สุดแห่งความหลุดพ้น. วิภาคญาณของสัมมาสัมพุทธะนั้นจักมีแจ้งข้างหน้า. ก็เพราะพระพุทธเจ้าทั้งปวงเหมาะสม แม้ด้วยคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้นพระสารีบุตรจึงกล่าวว่า สมฺมาสมฺพุทฺธานํ ด้วยสามารถแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา สีลมยญาณนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 85อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 86อ่านอรรถกถา 31 / 92อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=951&Z=1087
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=4865
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=4865
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :