ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 85อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 86อ่านอรรถกถา 31 / 92อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
สีลมยญาณนิทเทส

หน้าต่างที่ ๔ / ๔.

               บัดนี้ เพราะเจตนาและเจตสิกเป็นอันไม่ก้าวล่วงสังวรด้วยกัน ฉะนั้นพระสารีบุตรเมื่อจะประกอบการไม่ก้าวล่วงสังวร โดยลำดับทั่วไปตลอดถึงอรหัตมรรค จึงกล่าวบทมีอาทิว่า ปาณาติปาตํ สํวรฏฺเฐน สีลํ, อวีติกฺกมฏฺเฐน สีลํ - ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวมและไม่ก้าวล่วงปาณาติบาตดังนี้.
               เพราะการเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น ย่อมสำรวมสิ่งเป็นข้าศึกของตนๆ และย่อมไม่ก้าวล่วงสิ่งเป็นข้าศึกนั้น, ฉะนั้นชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม เพราะอรรถว่าไม่ก้าวล่วง เพราะสำรวมและเพราะไม่ก้าวล่วง.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปาณาติปาตํ สํวรฏฺเฐน - ได้แก่ ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าปิดปาณาติบาต.
               ศีลข้อนั้นคืออะไร? คือ ปาณาติปาตา เวรมณี.
               อนึ่ง ปาณาติปาตา เวรมณี นั้นสำรวมศีลข้อนั้น ไม่ก้าวล่วงศีลนั้น เพราะเหตุนั้น ชื่อว่า สีลํ เพราะอรรถว่าไม่ก้าวล่วง.
               ศีลข้อ อทินฺนาทานา เวรมณี เป็นต้น พึงประกอบอนภิชฌาอัพยาบาทและสัมมาทิฏฐิเข้าด้วยกัน.
               ในบทมีอาทิว่า ปาณาติปาตํ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               การยังสัตว์ให้ตกไปในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ชื่อว่า ปาณาติบาต, ท่านอธิบายว่า การประหารสัตว์ การฆ่าสัตว์.
               อนึ่ง ในบทว่า ปาโณ นี้โดยโวหาร ได้แก่ สัตว์, โดยปรมัตถ์ได้แก่ชีวิตินทรีย์. สัตว์มีชีวิตก็รู้ว่ามีชีวิต เจตนาที่จะฆ่าเป็นไปในทวารใดทวารหนึ่งแห่งกายทวารและวจีทวาร ตั้งความพยายามในอันที่จะตัดชีวิตินทรีย์ ชื่อว่าปาณาติบาต. บรรดาสัตว์ทั้งหลายมีสัตว์เดียรัจฉานเป็นต้นไม่มีคุณ ปาณาติบาตนั้นก็มีโทษน้อยในสัตว์เล็กๆ, มีโทษมากในสัตว์ใหญ่.
               เพราะเหตุไร? เพราะใช้ความพยายามมาก. เพราะแม้ในการพยายามก็ต้องใช้เครื่องมือใหญ่,
               ในมนุษย์เป็นต้น ผู้มีคุณพึงทราบว่า ปาณาติบาตมีคุณน้อยในมนุษย์ผู้มีคุณน้อย, มีโทษมากในมนุษย์ผู้มีคุณมาก.
               เมื่อร่างกายและคุณเสมอกัน ปาณาติบาตมีโทษน้อย เพราะกิเลสและความพยายามอ่อน, มีโทษมาก เพราะกิเลสและความพยายามกล้า.
               ปาณาติบาตนั้นมีองค์ ๕ คือ
                         ๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต
                         ๒. ปาณสญฺญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
                         ๓. วธกจิตฺตํ จิตคิดจะฆ่า
                         ๔. อุปกฺกโม พยายามที่จะฆ่า
                         ๕. เตน มรณํ สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น.
               การถือเอาของที่เขาไม่ให้ เป็นอทินนาทาน, ท่านอธิบายการนำของๆ คนอื่นไป มีจิตคิดจะลัก เป็นหัวขโมย.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า อทินฺนํ - ของที่เขาไม่ให้ คือของที่คนอื่นหวงแหน. คนอื่นได้รับของที่ตนทำตามความประสงค์ เป็นผู้ไม่ควรได้รับอาชญา และไม่ควรติเตียนในวัตถุใด, เมื่อวัตถุนั้นคนอื่นหวงแหน ตนก็รู้ว่าคนอื่นหวงแหน เจตนาว่าจะลักเป็นไปในทวารใดทวารหนึ่งแห่งกายทวารและวจีทวาร อันตั้งขึ้นด้วยความพยายามที่จะถือเอาของนั้น ชื่อว่าอทินนาทาน.
               อทินนาทานนั้นมีโทษน้อย ในของของคนอื่นที่เลว, มีโทษมากในของที่ประณีต.
               เพราะเหตุไร? เพราะวัตถุประณีต.
               เมื่อวัตถุเสมอกันมีโทษมากในวัตถุอันเป็นของ ของผู้ยิ่งด้วยคุณ, มีโทษน้อยในวัตถุอันเป็นของ ของผู้มีคุณเลวกว่าผู้ยิ่งด้วยคุณนั้นๆ หมายเอาวัตถุนั้นๆ มีคุณยิ่ง.
               อทินนาทานนั้นมีองค์ ๕ คือ
                         ๑. ปรปริคฺคหิตํ - ของอันคนอื่นหวงแหน
                         ๒. ปริปริคฺคหิตสญฺญิตา - รู้ว่าคนอื่นหวงแหน
                         ๓. เถยฺยจิตฺตํ - จิตคิดจะลัก
                         ๔. อุปกฺกโม - พยายามที่จะลัก
                         ๕. เตน หรณํ - นำไปด้วยความพยายามนั้น.
               บทว่า กาเมสุ ได้แก่ การประพฤติในเมถุน.
               บทว่า มิจฺฉาจาโร ได้แก่ ประพฤติลามกที่ถูกติเตียนโดยส่วนเดียว. แต่โดยลักษณะ เจตนาที่จะก้าวล่วงฐานะหญิงที่ไม่ควร ถึงเป็นไปในกายทวารโดยประสงค์จะประพฤติชั่ว - อสัทธรรม ชื่อว่า กาเมสุ มิจฉาจาร.
               ในบทนั้นหญิง ๒๐ จำพวก คือ หญิงอันมารดาคุ้มครองเป็นต้น ๑๐ จำพวก คือ มารดาคุ้มครอง ๑ บิดาคุ้มครอง ๑ มารดาบิดาคุ้มครอง ๑ พี่ชายคุ้มครอง ๑ พี่สาวคุ้มครอง ๑ ญาติคุ้มครอง ๑ โคตรคุ้มครอง ๑ ธรรมคุ้มครอง ๑ มีผู้อารักขา ๑ มีโทษทัณฑ์ ๑.
               หญิง ๑๐ จำพวก คือ หญิงที่ได้มาด้วยทรัพย์เป็นต้น ๑๐ จำพวก คือ หญิงได้มาด้วยทรัพย์ ๑ อยู่ด้วยความพอใจ ๑ อยู่ด้วยโภคะ ๑ อยู่ด้วยให้ผ้า ๑ หิ้วถังน้ำ ๑ เทินภาชนะบนศีรษะ ๑ ภริยาที่เป็นทาสี ๑ ภรรยาที่เป็นกรรมกร ๑ นำมาด้วยธง ๑ อยู่ชั่วคราว ๑ ชื่อว่า อคมนียฐาน คือ ฐานะหญิงที่บุรุษไม่ควรถึง ของบุรุษทั้งหลาย.
               ก็ในบรรดาหญิงทั้งหลาย บุรุษอื่นชื่อว่าเป็นอคมนียฐานของหญิง ๑๒ จำพวก คือ หญิงที่มีผู้คุ้มครองและหญิงถูกลงโทษทัณฑ์ ๒ และหญิงที่ไถ่มาด้วยทรัพย์เป็นต้น ๑๐ จำพวกนี้.
               อนึ่ง มิจฉาจารนั้นมีโทษน้อยในหญิงที่เป็นอคมนียฐานผู้ไม่มีคุณธรรมมีศีลเป็นต้น, มีโทษมากในหญิงผู้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมมีศีลเป็นต้น.
               มิจฉาจารนั้นมีองค์ ๔ คือ
                         ๑. อคมนียวตฺถุ - วัตถุที่ไม่ควรถึง
                         ๒. ตสฺมึ เสวนจิตฺตํ - จิตคิดจะเสพในวัตถุที่ไม่ควรถึงนั้น
                         ๓. เสวนปฺปโยโค - พยายามที่จะเสพ
                         ๔. มคฺเคน มคฺคปฏิปตฺติอธิวาสนํ - มรรคจดมรรค.
               บทว่า มุสา ได้แก่ วจีปโยคะหรือกายปโยคะ อันหักประโยชน์ของผู้ที่มุ่งจะพูดให้ผิด. เจตนาตั้งขึ้นด้วยกายปโยคะและวจีปโยคะของผู้พูดให้ผู้อื่นเข้าใจผิด โดยประสงค์ให้เขาเข้าใจผิด ชื่อว่ามุสาวาท.
               อีกนัยหนึ่ง บทว่า มุสา ได้แก่ เรื่องไม่จริง ไม่แท้.
               บทว่า วาโท ได้แก่ พูดให้เขารู้โดยความจริง โดยความแท้.
               แต่โดยลักษณะ เจตนาตั้งขึ้นด้วยความบอกเล่าอย่างนั้น ของผู้ประสงค์จะให้ผู้อื่นรู้เรื่องไม่จริงโดยความเป็นจริง ชื่อว่ามุสาวาท.
               มุสาวาทนั้นมีประโยชน์น้อย เพราะประโยชน์ที่หักน้อย, มีโทษมากเพราะประโยชน์มาก.
               อีกอย่างหนึ่ง มีโทษน้อยเป็นไปโดยนัยมีอาทิว่า ของของตนไม่มี เพราะประสงค์จะไม่ให้แก่คฤหัสถ์, มีโทษมาก เป็นพยายามพูดเพื่อหักล้างประโยชน์. มีโทษน้อยเป็นไปโดยนัยที่บรรพชิตได้น้ำมันหรือเนยใสน้อย แล้วพูดแดกดันด้วยประสงค์จะหัวเราะเล่นว่า วันนี้ในบ้านคงจะมีน้ำมันไหลมาดุจแม่น้ำซินะ, มีโทษมากแก่ผู้พูดโดยนัยมีอาทิว่า ไม่เห็นแล้ว ยังพูดว่าเห็นดังนี้.
               มุสาวาทมีองค์ ๔ คือ
               ๑. อตถํ วตฺถํ - เรื่องไม่จริง
               ๒. วิสํวาทนจิตฺตํ - จิตคิดจะพูดให้ผิด
               ๓. ตชฺโช วายาโม - พยายามเกิดจากจิตคิดจะพูดให้ผิดนั้น
               ๔. ปรสฺส ตทตฺถวิชานนํ - ผู้อื่นรู้ความประสงค์ของคำพูดนั้น.
               วาจาที่พูดทำความน่ารักของตนในหัวใจของผู้นั้น และทำผู้อื่นให้เสียหาย ชื่อว่า ปิสุณาวาจา - วาจาส่อเสียด.
               วาจาที่ทำตนเองบ้าง ผู้อื่นบ้าง ให้หยาบ แม้วาจาเองก็หยาบ ไม่สบายหูหรือไม่สบายใจ ชื่อว่า ผรุสาวาจา - วาจาหยาบ.
               วาจาที่พูดพร่ำเหลาะแหละไม่มีประโยชน์ ชื่อว่า สมฺผปฺปลาโป - พูดเพ้อเจ้อ.
               แม้เจตนาอันเป็นมูลเหตุของมุสาวาทเหล่านั้น ก็ได้ชื่อมีปิสุณาวาจาเป็นต้น. ปิสุณาวาจานั่นแล ท่านประสงค์เอาในที่นี้.
               ในบทว่า ปิสุณา วาจา นั้น เจตนาของผู้มีจิตเศร้าหมอง ตั้งขึ้นด้วยกาย ปโยคะและวจีปโยคะ เพื่อทำลายผู้อื่นหรือเพื่อประสงค์ให้เป็นที่รักของตน ชื่อว่าปิสุณาวาจา.
               ปิสุณาวาจานั้น ชื่อว่ามีโทษน้อย เพราะทำความทำลายแก่ผู้ที่มีคุณธรรมน้อย, ชื่อว่ามีโทษมาก เพราะทำความทำลายแก่ผู้มีคุณธรรมมาก.
               ปิสุณวาจานั้นมีองค์ ๔ คือ
               ๑. ผู้อื่นอันตนควรทำลาย.
               ๒. มุ่งความทำลายว่าคนเหล่านี้จักเป็นไปต่างๆ ประสงค์ให้เป็นที่รักว่า เราจักเป็นที่รัก จักเป็นที่คุ้นเคย,
               ๓. ความพยายามเกิดจากความประสงค์นั้น,
               ๔. ให้ผู้นั้นรู้ความประสงค์ของความพยายาม.
               ก็เมื่อผู้อื่นยังไม่แตกกัน กรรมบถยังไม่แตก, เมื่อเขาแตกกันแล้วกรรมบถจึงแตก.
               เจตนาหยาบโดยส่วนเดียวตั้งขึ้นด้วยกายปโยคะและวจีปโยคะ ตัดความรักของผู้อื่น เป็นผุรสาวาจา.
               ปโยคะ แม้ตัดความรักก็ยังไม่เป็นผุรสาวาจา เพราะจิตยังอ่อน.
               จริงอยู่ มารดาบิดาบางครั้งย่อมพูดกะบุตรน้อยอย่างนี้ว่า ขอให้โจรจับพวกเจ้าสับให้เป็นชิ้นๆ เถิด ดังนี้. อันที่จริงแล้วมารดาบิดาไม่ปรารถนาแม้จะให้ใบบัวตกลงบนศีรษะของบุตรน้อยเหล่านั้นเลย.
               อนึ่ง อาจารย์และอุปัชฌาย์บางครั้งยังกล่าวกะพวกนิสิตอย่างนี้ว่า อะไรพวกนี้ช่างไม่มีหิริโอตตัปปะกันเสียบ้างเลย, ไล่ออกไปให้หมด. แต่ที่แท้แล้วอาจารย์และอุปัชฌาย์ปรารถนาให้นิสิตเหล่านั้นถึงพร้อมด้วยการศึกษาเล่าเรียน และบรรลุด้วยกันทั้งนั้น.
               วาจาหยาบมีไม่ได้เพราะจิตอ่อนฉันใด, แม้วาจาไม่หยาบก็มีไม่ได้เพราะคำพูดอ่อนฉันนั้น. ผู้ประสงค์จะให้คนตายพูดว่า พวกท่านจงให้คนนี้นอนให้สบายเถิดดังนี้เป็นวาจาหยาบ, วาจานี้เป็นวาจาหยาบเพราะจิตหยาบ,
               วาจาหยาบนั้นมีโทษน้อย เพราะผู้ที่กล่าวหมายถึงนั้นเป็นผู้มีคุณน้อย, ชื่อว่ามีโทษมากเพราะผู้ที่กล่าวหมายถึงนั้นมีคุณมาก.
               ผรุสวาจานั้นมีองค์ ๓ คือ
               ๑. อกฺโกสิตพฺโพ ปโร - คนอื่นที่ควรด่า,
               ๒. กุปิตจิตฺตํ - มีจิตโกรธเคือง,
               ๓. อกฺโกสนา - การด่า.
               เจตนาเป็นอกุศลตั้งขึ้นด้วยกายปโยคะและวจีปโยคะ เพื่อให้รู้ความฉิบหาย ชื่อว่าสัมผัปปลาปะ. สัมผัปปลาปะนั้นมีโทษน้อย เพราะอาเสวนะน้อย, มีโทษมากเพราะอาเสวนะมาก.
               สัมผัปปลาปะมีองค์ ๒ คือ
               ๑. มุ่งพูดเรื่องไม่เป็นเรื่อง มีเรื่องภารตยุทธ์และเรื่องชิงนางสีดาเป็นต้น,
               ๒. การพูดเรื่องอย่างนั้น.
               ก็เมื่อคนอื่นไม่เชื่อเรื่องนั้น กรรมบถยังไม่แตก. เมื่อคนอื่นเชื่อคำพูดเพ้อเจ้อนั้น กรรมบถจึงแตก.
               ชื่อว่าอภิชฌา เพราะอรรถว่าเพ่ง, อธิบายว่า เป็นผู้มุ่งภัณฑะของผู้อื่น ย่อมเป็นไปเพราะจิตน้อมไปในภัณฑะนั้น. อภิชฌานั้นมีลักษณะเพ่งภัณฑะของผู้อื่นอย่างนี้ว่า ทำอย่างไรหนอภัณฑะนี้จึงจะเป็นของเราได้.
               อภิชฌานั้นมีโทษน้อยและมีโทษมาก ดุจอทินนาทาน.
               อภิชฌานั้นมีองค์ ๒ คือ
               ๑. ปรภณฺฑํ - ภัณฑะของผู้อื่น,
               ๒. อตฺตโน ปริณามญฺจ - น้อมไปเพื่อตน.
               เมื่อความโลภในวัตถุอันเป็นของของผู้อื่น แม้เกิดขึ้นแล้ว กรรมบถก็ยังไม่แตก ตลอดเวลาที่ยังไม่น้อมไปเพื่อตนว่า ทำอย่างไรหนอ ภัณฑะนี้จึงจะเป็นของเราได้ดังนี้.
               ชื่อว่าพยาบาท เพราะอรรถว่ายังประโยชน์เกื้อกูลและความสุข ให้ถึงความพินาศ. พยาบาทนั้นมีใจมุ่งความพินาศแก่ผู้อื่น มีลักษณะประทุษร้าย, มีโทษน้อยและมีโทษมาก ดุจผรุสวาจา.
               พยาบาทนั้นมีองค์ ๒ คือ
               ๑. ปรสตฺโต - สัตว์อื่น,
               ๒. ตสฺส วินาสจินฺตา - คิดความพินาศแก่สัตว์อื่นนั้น.
               เมื่อความโกรธในสัตว์อื่น แม้เกิดขึ้นแล้ว กรรมบถก็ยังไม่แตกก่อนตลอดเวลาที่ยังไม่คิดถึงความพินาศแก่สัตว์นั้นว่า ทำอย่างไรหนอ ผู้นี้จึงจะล่มจมพินาศไปเสียทีดังนี้.
               ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่าเห็นผิดโดยไม่มีการถือความจริง.
               มิจฉาทิฏฐินั้นมีลักษณะเห็นวิปริตโดยนัยมีอาทิว่า นตฺถิ ทินฺนํ - ทานที่ให้แล้วไม่มีผล, มิจฉาทิฏฐิมีโทษน้อยและมีโทษมาก ดุจสัมผัปปลาปะ.
               อีกอย่างหนึ่ง มีโทษน้อยไม่แน่นอน, มีโทษมากแน่นอน.
               มิจฉาทิฏฐินั้นมีองค์ ๒ คือ
               ๑. ความที่วัตถุวิปริตจากอาการที่ถือไว้,
               ๒. ความปรากฏแห่งวัตถุนั้นโดยความไม่เป็นอย่างที่ถือไว้.
               ในมิจฉาทิฏฐินั้น กรรมบถแตกย่อมมีได้ด้วยนัตถิกทิฏฐิ - ความเห็นว่าไม่มี, อเหตุกทิฏฐิ - ความเห็นว่าไม่เป็นเหตุ, อกิริย- ทิฏฐิ - ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ, มิใช่ด้วยทิฏฐิอื่น.
               อกุศลกรรมบถ ๑๐ เหล่านี้พึงทราบวินิจฉัยโดยอาการ ๕ คือ โดยธรรม ๑ โดยโกฏฐาส คือ ส่วน ๑ โดยอารมณ์ ๑ โดยเวทนา ๑ โดยมูลเหตุ ๑.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า ธมฺมโต - โดยธรรม ได้แก่เจตนาธรรม ๗ อย่าง อกุศลกรรมบถ ๓ อย่างมีอภิชฌาเป็นต้น สัมปยุตด้วยเจตนาย่อมมีตามลำดับในอกุศลกรรมบถเหล่านั้น.
               บทว่า โกฏฺฐาสโต - โดยส่วน ได้แก่ ธรรม ๘ เหล่านี้ คือเจตนาธรรม ๗ ตามลำดับและมิจฉาทิฏฐิ เป็นกรรมบถแน่นอน, มิใช่เป็นมูลเหตุ. อภิชฌา และพยาบาท เป็นทั้งกรรมบถ เป็นทั้งมูลเหตุ.
               จริงอยู่ อภิชฌา โลภะเป็นอกุศลมูลเพราะถึงแล้วซึ่งมูลเหตุ, พยาบาท โทสะเป็นอกุศลมูล.
               บทว่า อารมฺมณโต - โดยอารมณ์ ได้แก่ ปาณาติบาตมีสังขารเป็นอารมณ์ โดยเป็นอารมณ์ของชีวิตินทรีย์.
               อทินนาทานมีสัตว์เป็นอารมณ์หรือมีสังขารเป็นอารมณ์.
               มิจฉาจารมีสังขารเป็นอารมณ์ด้วยอำนาจโผฏฐัพพะ,
               อาจารย์พวกหนึ่ง กล่าวว่ามีสัตว์เป็นอารมณ์ดังนี้บ้าง.
               มุสาวาทมีสัตว์เป็นอารมณ์หรือมีสังขารเป็นอารมณ์. ปิสุณาวาจาก็อย่างนั้น. ผรุสวาจามีสัตว์เป็นอารมณ์อย่างเดียว. สัมผัปปลาปะมีสัตว์เป็นอารมณ์หรือมีสังขารเป็นอารมณ์โดยสามารถรูปที่เห็น เสียงที่ฟัง กลิ่นรสสัมผัสที่รู้และธรรมที่ทราบ, อภิชฌาก็อย่างนั้น. พยาบาทมีสัตว์เป็นอารมณ์อย่างเดียว. มิจฉาทิฏฐิมีสังขารเป็นอารมณ์อย่างเดียว ด้วยอำนาจธรรมเป็นไปในภูมิ ๓.
               บทว่า เวทนาโต - โดยเวทนา ได้แก่ ปาณาติบาต เป็นทุกขเวทนา.
               อันที่จริง พระราชาทรงเห็นโจร แม้ทรงพระสรวล ก็ยังตรัสว่า ดูก่อนพนาย พวกเจ้าจงไปฆ่ามันเสียดังนี้, ถึงดังนั้น เจตนาที่ตกลงใจของพระราชาทั้งหลาย ก็สัมปยุตด้วยทุกข์.
               อทินนาทานเป็นเวทนา ๓. เพราะอทินนาทานนั้นเป็นสุขเวทนาแก่ผู้เห็นภัณฑะของผู้อื่นแล้วรื่นเริงดีใจฉวยเอาไป, เป็นทุกขเวทนาแก่ผู้ฉวยเอาไป มีความหวาดกลัว.
               อนึ่ง เมื่อพิจารณาวิบากและผลที่หลั่งไหลมาก็เป็น อทุกขมสุขเวทนา แก่ผู้ที่ถือเอาตั้งอยู่ในความเป็นกลางในเวลาฉวยเอาไป. มิจฉาจารมีเวทนา ๒ ด้วยสามารถแห่งสุขเวทนา และความเป็นกลาง, เวทนาในความเป็นกลาง ย่อมไม่มีในจิตที่ตกลงทำ.
               มุสาวาทมีเวทนา ๓ โดยนัยดังกล่าวแล้ว ในอทินนาทานนั่นแล, ปิสุณาวาจาก็อย่างนั้น. ผรุสาวาจาเป็นทุกขเวทนา.
               สัมผัปปลาปะมีเวทนา ๓. เมื่อผู้อื่นให้สาธุการยกผ้าเป็นต้นขึ้นโบกผู้นั้นมีสุขเวทนาในเวลากล่าวมีเรื่องชิงนางสีดาและภารตยุทธ์เป็นต้นของผู้รื่นเริงยินดี, เมื่อคนหนึ่งผู้ให้สินจ้างไว้ก่อนแล้ว แต่มาภายหลังกล่าวว่า ท่านจงเล่าตั้งแต่ต้นเถิด เขาย่อมมีทุกขเวทนาในเวลากล่าวของผู้ที่เกิดโทมนัสว่า เราจักกล่าวเรื่องเบ็ดเตล็ดติดต่อกันไปไม่ให้มีเหลือหรือจักไม่กล่าวหนอ. ย่อมเป็นอทุกขสุขเวทนาแก่ผู้กล่าวเป็นกลางๆ.
               อภิชฌามีเวทนา ๒ ด้วยสามารถแห่งสุขเวทนาและความเป็นกลาง, มิจฉาทิฏฐิก็อย่างนั้น, พยาบาทเป็นทุกขเวทนา.
               บทว่า มูลโต คือ ปาณาติบาตมี ๒ มูลเหตุด้วยสามารถแห่งโทสะและโมหะ,
               อทินนาทานมี ๒ มูลเหตุด้วยสามารถโทสะและโมหะ หรือด้วยสามารถแห่งโลภะและโมหะ,
               มิจฉาจารมี ๒ มูลเหตุด้วยสามารถแห่งโลภะและโมหะ,
               มุสาวาทมี ๒ มูลเหตุด้วยโทสะและโมหะหรือด้วยสามารถแห่งโลภะและโมหะ, ปิสุณาวาจาและสัมผัปปลาปะก็อย่างนั้น. ผรุสวาจามี ๒ มูลเหตุด้วยสามารถแห่งโทสะและโมหะ,
               อภิชฌามี ๑ มูลเหตุด้วยสามารถแห่งโมหะ, พยาบาทก็อย่างนั้น. มิจฉาทิฏฐิมี ๒ มูลเหตุด้วยสามารถแห่งโลภะและโมหะ ด้วยประการฉะนี้.

               จบอกุศลกรรมบถกถา               
               -----------------------------------------------------               

               ชื่อว่ากุศลกรรมบถมี ๑๐ อย่างเหล่านี้ คือ การเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น และอนภิชฌา อัพยาบาท สัมมาทิฏฐิ.
               ชื่อว่า วิรติ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น หรือเว้นเอง หรือเพียงเว้นเท่านั้น. การเว้นสัมปยุตด้วยกุศลจิตของผู้เว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น มี ๓ อย่าง คือ สัมปัตวิรัติ ๑ สมาทานวิรัติ ๑ สมุจเฉทวิรัติ ๑.
               ในวิรัติ ๓ อย่างนั้น วิรัติเกิดแก่ผู้ยังไม่สมาทานสิกขาบท ผู้พิจารณาถึงชาติ วัย พาหุสัจจะเป็นต้นของตนแล้วไม่ก้าวล่วงสัมปัตตวัตถุ ด้วยคิดว่า การทำบาปเห็นปานนี้ไม่สมควรแก่เราดังนี้ ชื่อว่าสัมปัตตวิรัติ.
               วิรัติเกิดแก่ผู้สมาทานสิกขาบท ผู้สละแม้ชีวิตของตนในการสมาทานสิกขาบท และยิ่งกว่านั้นแล้วไม่ก้าวล่วงวัตถุ ชื่อว่าสมาทานวิรัติ.
               วิรัติสัมปยุตด้วยอริยมรรค ชื่อว่าสมุจเฉทวิรัติ. แม้จิตมีอาทิว่า เราจักฆ่าสัตว์เป็นต้น ก็มิได้เกิดแก่พระอริยบุคคลตั้งแต่เกิดสมุจเฉทวิรัติ.
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยกุศลกรรมบถเหล่านี้โดยอาการ ๕ อย่าง คือ โดยธรรม ๑ โดยโกฏฐาส ๑ โดยอารมณ์ ๑ โดยเวทนา ๑ โดย มูลเหตุ ๑ ดุจอกุศลกรรมบถ.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า ธมฺมโต ได้แก่ แม้เจตนา ๗ อย่าง แม้วิรัติกุศลกรรมบถ ๓ ในที่สุดสัมปยุตด้วยเจตนา ย่อมสมควรตามลำดับในกุศลกรรมบถเหล่านั้น.
               บทว่า โกฏฺฐาสโต ได้แก่ กรรมบถ ๗ อย่างนั่นแลตามลำดับ, มิใช่มูลเหตุ. กุศลกรรมบถ ๓ ในที่สุดเป็นทั้งกรรมบถ เป็นทั้งมูลเหตุ. อนภิชฌา อโลภะเป็นกุศลมูล เพราะถึงแล้วซึ่งมูลเหตุ. อัพยาบาท อโทสะเป็นกุศลมูล, สัมมาทิฏฐิ คืออโมหะเป็นกุศลมูล.
               บทว่า อารมฺมณโต ได้แก่ อารมณ์ของปาณาติบาตเป็นต้นนั่นแลเป็นอารมณ์ของกรรมบถเหล่านั้น.
               ชื่อว่าเวรมณี เพราะควรก้าวล่วงนั่นเอง.
               อริยมรรคมีนิพพานเป็นอารมณ์ ย่อมละกิเลสทั้งหลายฉันใด, กรรมบถเหล่านั้นมีชีวิตินทรีย์เป็นต้นเป็นอารมณ์ก็ฉันนั้น ย่อมละความเป็นผู้ทุศีลมีปาณาติบาตเป็นต้น.
               บทว่า เวทนาโต ได้แก่ กุศลกรรมบถทั้งหมดเป็นสุขเวทนา หรือมัชฌัตเวทนา.
               จริงอยู่ กุศลกรรมบถไม่มีทุกขเวทนา เพราะถึงกุศลแล้ว.
               บทว่า มูลโต ได้แก่ กุศลกรรมบถ ๗ ตามลำดับมีมูลเหตุ ๓ ด้วยสามารถแห่งอโลภะ อโทสะ อโมหะของผู้เว้นด้วยจิตสัมปยุตด้วยญาณ, มีมูลเหตุ ๒ ด้วยสามารถอโลภะ อโทสะของผู้เว้นด้วยจิตไม่ประกอบด้วยญาณ, อนภิชฌามีมูลเหตุ ๒ ด้วยสามารถอโทสะ อโมหะของผู้เว้นด้วยจิตสัมปยุตด้วยญาณ, มีมูลเหตุ ๑ ด้วยสามารถอโทสะของผู้เว้นด้วยจิตไม่ประกอบด้วยญาณ.
               ส่วนอโลภะไม่เป็นมูลเหตุของตนด้วยตนเอง.
               แม้ในอัพยาบาทก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               สัมมาทิฏฐิมีมูลเหตุ ๒ ด้วยสามารถอโลภะ อโทสะแล.
               จบกุศลกรรมบถกถา               
               -----------------------------------------------------               

               พระสารีบุตรครั้นแสดงศีลด้วยสามารถแห่งกุศลกรรมบถ ๑๐ อย่างนี้แล้ว บัดนี้เพื่อจะแสดงธรรม ๓๗ มีเนกขัมมะเป็นต้นมีอรหัตมรรคเป็นปริโยสาน จึงกล่าวบทมีอาทิว่า เนกฺขมฺเมน กามจฺฉนฺทํ สํวรฏฺเฐน สีลํ, อวีติกฺกมฏฺเฐน สีลํ - ชื่อว่าศีล ด้วยอรรถว่าสำรวมและไม่ก้าวล่วงกามฉันทะ ด้วยเนกขัมมะ.
               ในบทนั้นมีอธิบายว่า
               เพราะภิกษุสำรวมไม่ก้าวล่วงกามฉันทะด้วยเนกขัมมะ, ฉะนั้น เนกขัมมะจึงเป็นศีล.
               อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า เนกขัมมะเป็นตติยาวิภัตติลงในอรรถปฐมาวิภัตติ.
               ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้.
               แต่ในบาลี ท่านแสดงเนกขัมมะและอัพยาบาทแล้วย่อบทที่เหลือ เพราะมีนัยดังได้กล่าวแล้วในหนหลัง แล้วจึงแสดงพระอรหัตมรรคเท่านั้นไว้ในที่สุด.
               [๙๐] พระสารีบุตรครั้นแสดงศีลด้วยสามารถ การสำรวมและการไม่ก้าวล่วง อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อแสดงทั้งสองอย่างนั้นจึงกล่าวบทมีอาทิว่า ปญฺจ สีลานิ ปาณาติปาตสฺส ปหานํ สีลํ - ศีล ๕ คือการละปาณาติบาตเป็นศีล.
               อนึ่ง ในบทนี้พึงประกอบว่า การละปาณาติบาตเป็นศีล, การเว้นจากปาณาติบาตเป็นศีล, เจตนาเป็นปฏิปักษ์ต่อปาณาติบาตเป็นศีล, ความสำรวมปาณาติบาตเป็นศีล การไม่ก้าวล่วงปาณาติบาตเป็นศีล.
               บทว่า ปหานํ - การละ. ความว่า ชื่อว่าธรรมไรๆ เว้นจากเพียงไม่ให้เกิดปาณาติบาตเป็นต้น ดังกล่าวแล้วย่อมไม่มี, เพราะการละนั้นๆ ชื่อว่าเป็นการรับรอง ด้วยอรรถว่าเป็นที่ตั้งของกุศลธรรมนั้นๆ, และชื่อว่าเป็นที่รวม เพราะไม่ทำสภาพที่กระจัดกระจาย, ฉะนั้น ท่านจึงกล่าว สีลํ เพราะอรรถว่าเป็นการปฏิบัติกล่าวคือเป็นที่รับรองและเป็นที่รวม ดังกล่าวไว้แล้วในตอนต้นนั่นแล.
               ธรรม ๔ อย่างนอกนี้ ท่านกล่าวหมายถึงสภาพที่เป็นไปของจิต ด้วยสามารถการเว้นจากปาณาติบาตนั้น ด้วยการสำรวมปาณาติบาตนั้น ด้วยเจตนาสัมปยุตด้วยการเว้นและการสำรวมทั้งสองนั้น และด้วยการไม่ล่วงของผู้ไม่ล่วงปาณาติบาตนั้นๆ.
               อีกอย่างหนึ่ง แม้การละก็ยังมีอยู่โดยธรรมดานั่นเอง.
               อย่างไร?
               ชื่อว่า ปหานํ เพราะย่อมละสิ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อปาณาติบาตเป็นต้น ด้วยการเว้นและการสำรวมนั้น, หรือย่อมละสิ่งเป็นปฏิปักษ์นั้น.
               สิ่งเป็นปฏิปักษ์นั้น คืออะไร? กุศลธรรมแม้ทั้งหมด.
               แต่อาจารย์พวกอื่นกล่าวว่า แม้ในเนกขัมมะเป็นต้น ชื่อว่าวิรัติเป็นอันเดียวกันกับความแน่นอนในกุศลทั้งหมด เพราะถือเพียงคำว่า เวรมณี สีลํ - การเว้นเป็นศีล ยังมีอยู่, ในที่นี้ไม่เป็นอย่างนั้น.
               ท่านกล่าวอปริยันตศีลเท่านั้น ในศีลสองอย่าง คือปริยันตศีลและอปริยันตศีล ทำให้พิเศษด้วยบท ๕ บทมีปหานะเป็นต้น. เพราะฉะนั้น พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า เอวรูปานิ สีลานิ จิตฺตสฺส อวิปฺปฏิสาราย สํวตฺตนฺติ ฯเปฯ สจฺฉิกาตพฺพํ สจฺฉิกโรนฺโต สิกฺขติ - ศีลทั้งหลายเห็นปานนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เดือดร้อนแห่งจิต ฯลฯ เมื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าย่อมศึกษาดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อวิปฺปฏิสาราย สํวตฺตนฺติ๑- ความว่า ย่อมเป็นไปโดยชอบ เพื่อความไม่เดือดร้อน เพราะพระบาลีว่า ความสำรวม เพื่อความไม่เดือดร้อน และว่า ดูก่อนอานนท์ ศีลมีความไม่เดือดร้อนเป็นประโยชน์ มีความไม่เดือดร้อนเป็นอานิสงส์.๒-
____________________________
๑- วิ. ป. เล่ม ๘/ข้อ ๑๐๘๔  ๒- องฺ. เอกาทสก. เล่ม ๒๔/ข้อ ๒๐๘

               ย่อมเป็นไปเพื่อความปราโมทย์ เพราะบาลีว่า ความไม่เดือดร้อนย่อมเป็นไปเพื่อความปราโมทย์ และว่า ความปราโมทย์ย่อมเกิดแก่ผู้ใส่ใจโดยแยบคาย.๓-
               ย่อมเป็นไปเพื่อปีติ เพราะบาลีว่า ความปราโมทย์ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ปีติ และว่า ปีติย่อมเกิดแก่ผู้ปราโมทย์.๔-
               ย่อมเป็นไปเพื่อปัสสัทธิ เพราะบาลีว่า ปีติย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ปัสสัทธิ และว่า กายย่อมสงบแก่ผู้มีใจปีติ.๔-
               ย่อมเป็นไปเพื่อโสมนัส เพราะบาลีว่า ปัสสัทธิย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ความสุข๕- และว่า กายที่สงบย่อมเสวยความสุข.๔- เพราะความสุขทางจิต ท่านกล่าวว่าเป็นโสมนัส.
____________________________
๓- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๑๘๓  ๔- องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๒๖
๕- วิ. ป. เล่ม ๘/ข้อ ๑๐๘๔

               บทว่า อาเสวนาย - เพื่อการเสพโดยเอื้อเฟื้อ ได้แก่ การเสพโดยเอื้อเฟื้ออย่างหนัก.
               เสพอะไร? ความสุขที่แท้ เพราะความสุข ท่านกล่าวด้วยคำว่าโสมนัสเป็นลำดับ.
               สมาธิเป็นสุขที่แท้ เพราะบาลีว่า จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น.๖- การเสพสมาธิที่แท้ ด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๖- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๓๐๒

               ศีลเห็นปานนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความเสพโดยเอื้อเฟื้อสมาธินั้น. อธิบายว่า ศีลทั้งหลายย่อมเป็นไปเพื่อความมีกำลังคล่องแคล่ว.
               บทว่า ภาวนาย - เพื่อความเจริญ ได้แก่ เพื่อความเจริญของสมาธินั้นนั่นเอง.
               บทว่า พหุลีกมฺมาย - เพื่อทำให้มาก ได้แก่ เพื่อทำสมาธินั้นบ่อยๆ.
               ย่อมเป็นไปเพื่อเป็นเครื่องประดับ โดยให้สำเร็จเป็นเครื่องประดับมีสัทธินทรีย์เป็นต้น ของสมาธิอันเป็นมูลเหตุแห่งความเป็นไปมีความไม่เดือดร้อนเป็นต้น.
               ย่อมเป็นไปเพื่อเป็นบริขาร โดยให้สำเร็จสัมภาระของสมาธิมีความไม่เดือดร้อนเป็นต้น.
               ปริกฺขาร ศัพท์ในบทนี้มีความว่าของใช้ ดุจในประโยคมีอาทิว่า๗- เย จ โข อิเม ปพฺพชิเตน ชีวิตปริกฺขารา สมุทาเนตพฺพา - ของใช้สำหรับชีวิตเหล่านี้อันบรรพชิตควรจัดหาไว้.
               มีความว่าเครื่องประดับ ดุจในประโยคมีอาทิว่า๘- รโถ สีลปริกฺขาโร, ฌานกฺโข จกฺกวีริโย - รถคือกาย มีศีลเป็นเครื่องประดับ, เพลาคือฌาน มีความเพียรเป็นจักร.
               มีอรรถว่าบริวาร ดุจในบทมีอาทิว่า๙- สตฺตหินครปริกฺขาเรหิ สุปริกฺขตํ โหติ - นครเป็นอันคุ้มกันด้วยดี ด้วยการแวดล้อมนคร ๗ ประการ.
____________________________
๗- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๓๗  ๘- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๒๔
๙- องฺ. สตฺตก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๖๔

               แต่ในที่นี้ ท่านกล่าว สมฺภารตฺโถ มีความว่า สัมภาระ เพราะอลังการและบริวารมาแยกกัน.
               อนึ่ง อรรถแห่งสัมภาระมีความว่าปัจจัย.
               ศีลย่อมเป็นไปเพื่อเป็นบริวารด้วยให้สำเร็จธรรมสมบัติมีผัสสะสัมปยุตด้วยสมาธิเป็นต้น โดยความเป็นมูลเหตุนั่นเอง, ย่อมเป็นไปเพื่อความบริบูรณ์ เพราะให้สำเร็จความบริบูรณ์ ด้วยให้ถึงความเป็นปทัฏฐานแห่งสมาธิและวิปัสสนา และด้วยให้ถึงความเป็นผู้ชำนาญ.
               พระสารีบุตรครั้นแสดงสมาธิบริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง โดยอุปนิสัยแห่งศีลอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะแสดงยถาภูตญาณทัสนะเป็นต้นอันเป็นปทัฏฐานของสมาธิ มีศีลเป็นมูล.
               เพราะบาลีว่า๑๐-
               สมาหิเต จิตฺเต ยถาภูตํ ปชานาติ, ยถาภูตํ ชานํ ปสฺสํ นิพฺพินฺทติ, นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ, วิราคา วิมุจฺจติ. - เมื่อจิตตั้งมั่นย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง, เมื่อรู้เมื่อเห็นตามความเป็นจริงย่อมเบื่อหน่าย, เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด, เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้นดังนี้.
               จึงกล่าวบทมีอาทิว่า เอกนฺตนิพฺพิทาย - เพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว. เมื่อแสดงความเบื่อหน่ายแล้วก็เป็นอันแสดงยถาภูตญาณทัสนะอันเป็นปทัฏฐานแห่งความเบื่อหน่ายนั้นนั่นแล. เมื่อยถาภูตญาณทัสนะนั้นยังไม่สำเร็จ ความเบื่อหน่ายก็ยังไม่สำเร็จ.
____________________________
๑๐- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๑๘๒

               ก็บทเหล่านั้นมีอรรถดังได้กล่าวไว้แล้วนั้นแล.
               แต่ในที่นี้ ยถาภูตญาณทัสนะกำหนดเอานามรูปพร้อมด้วยปัจจัย.
               พระสารีบุตรครั้นแสดงถึงประโยชน์ของศีลอันมีอมตมหานิพพานเป็นที่สุดอย่างนี้แล้ว บัดนี้ประสงค์จะแสดงความที่ศีลนั้นเป็นอธิศีลสิกขา และอธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขาอันมีอธิศีลสิกขาเป็นมูล จึงกล่าวบทมีอาทิว่า เอวรูปานํ สีลานํ สํวรปริสุทฺธิ อธิสีลํ - ความบริสุทธิ์แห่งความสำรวมศีลเห็นปานนี้เป็นอธิศีล.
               ในบทเหล่านั้น ความบริสุทธิ์ คือ ความสำรวมนั่นเอง ชื่อว่าสังวรปาริสุทธิ.
               ความบริสุทธิ์แห่งความสำรวมศีลอาศัยวิวัฏฏะ อันเป็นศีลไม่มีที่สุดเห็นปานนี้ ท่านกล่าวว่าเป็นอธิศีล เพราะเป็นศีลยิ่งกว่าศีลที่เหลือ เพราะอาศัยวิวัฏฏะ.
               บทว่า สํวรปาริสุทฺธิยา ฐิตํ จิตฺตํ - จิตตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์ ด้วยความสำรวม.
               ความว่า จิตตั้งอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ ด้วยความสำรวมศีลเช่นนี้ ย่อมไม่ถึงความฟุ้งซ่าน เพราะนำความไม่เดือดร้อนเป็นต้น มาด้วยดี, คือตั้งอยู่ในสมาธิ.
               ความบริสุทธิ์ คือ ความไม่ฟุ้งซ่าน ชื่อว่าอวิกเขปปาริสุทธิ.
               สมาธิอันเป็นส่วนแห่งการแทงตลอด เว้นจากมลทินทั้งปวง ท่านกล่าวว่า อธิจิตฺตํ เพราะเป็นสมาธิยิ่งกว่าสมาธิที่เหลือ.
               ในบทนี้ ท่านชี้แจงถึงสมาธิด้วยหัวข้อว่า จิตฺตํ.
               บทว่า สํวรปาริสุทฺธึ สมฺมา ปสฺสติ - พระโยคาวจรย่อมเห็นความบริสุทธิ์ด้วยความสำรวมโดยชอบ.
               ความว่า ย่อมเห็นความบริสุทธิ์ คือความสำรวมด้วยศีลโดยชอบ ด้วยสามารถแห่งญาตปริญญาและตีรณปริญญา, ย่อมเห็นสมาธิอันบริสุทธิ์ กล่าวคือความบริสุทธิ์ คือความที่จิตไม่ฟุ้งซ่านอย่างนั้นนั่นแลโดยชอบ.
               เมื่อพระโยคาวจรเห็นอย่างนั้นความบริสุทธิ์ กล่าวคือความเห็น ชื่อว่า ทสฺสนปาริสุทฺธิ - ความบริสุทธิ์แห่งทัสนะ.
               ทัสนปาริสุทธินั่นแล ท่านกล่าวว่าเป็น อธิปญฺญา เพราะยิ่งกว่าปัญญาที่เหลือ.
               บทว่า โย ตตฺถ คือ ในความสำรวม ความไม่ฟุ้งซ่านและทัสนะนั้น.
               บทว่า สํวรฏฺโฐ คือ ความสำรวม.
               พึงทราบความไม่ฟุ้งซ่านและความเห็น ก็อย่างนั้นเหมือนกัน,
               สิกขาคืออธิศีลนั่นแล ชื่อว่าอธิสีลสิกขา.
               แม้นอกนั้นก็พึงทราบอย่างนี้.
               พระสารีบุตรครั้นแสดงสิกขา ๓ อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะแสดงถึงลำดับของสิกขาเหล่านั้นให้บริบูรณ์ จึงกล่าวบทมีอาทิว่า อิมา ติสฺโส สิกฺขาโย อาวชฺเชนฺโต สิกฺขติ - พระโยคาวจรเมื่อนึกถึงสิกขา ๓ เหล่านี้ ชื่อว่าย่อมศึกษา.
               บทนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้.
               พระโยคาวจร แม้เมื่อนึกถึงเพื่อยังสิกขาอย่างหนึ่งๆ ให้บริบูรณ์ ก็ชื่อว่าย่อมศึกษา, ครั้นนึกถึงแล้วแม้รู้อยู่ว่า สิกขาชื่ออย่างนี้ก็ชื่อว่าย่อมศึกษา, ครั้นรู้แล้วแม้เห็นอยู่บ่อยๆ ก็ชื่อว่าย่อมศึกษา, ครั้นเห็นแล้ว แม้พิจารณาตามที่เห็น ก็ชื่อว่าย่อมศึกษา, ครั้นพิจารณาแล้ว แม้ตั้งมั่นทำจิตไม่ให้หวั่นไหวในสิกขานั้น ก็ชื่อว่าย่อมศึกษา, แม้ทำกิจของตนๆ ด้วยศรัทธา วีริยะ สติ สมาธิและปัญญาอันสัมปยุตด้วยสิกขานั้นๆ ก็ชื่อว่าย่อมศึกษา, เมื่อทำกิจนั้นๆ แม้ในกาลมีความรู้ยิ่งในสิ่งที่ควรรู้ยิ่งเป็นต้น ก็ชื่อว่าย่อมศึกษาสิกขาแม้ ๓ อย่าง.
               บทว่า ปญฺจ สีลานิ เป็นต้นอีกครั้ง มีความดังได้กล่าวแล้วนั่นแล.
               [๙๑] อนึ่ง พึงทราบความในบทมีอาทิว่า อรหตฺตมคฺเคน สพฺพกิเลสานํ ดังต่อไปนี้.
               บทเหล่านั้นถูกต้องทีเดียว เพราะความไม่มีความเดือดร้อนเป็นต้น และเพราะความมีการเสพโดยเอื้อเฟื้อเป็นต้นด้วยดีของพระอรหันต์ทั้งหลาย.
               พึงประกอบบทมีอาทิว่า เอกนฺตนิพฺพิทานาย - เพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว ในขณะแห่งมรรค ดุจสติปัฏฐานและสัมมัปปธาน.
               พึงประกอบคำทั้งสองนี้ว่า สํวรปาริสุทฺธึ สมฺมา ปสฺสติ, อวิกฺเขปปาริสุทฺธึ สมฺมา ปสฺสติ - พระโยคาวจรย่อมเห็นความบริสุทธิ์ด้วยสังวรโดยชอบเป็นศีล, ย่อมเห็นความบริสุทธิ์ด้วยจิตไม่ฟุ้งซ่านโดยชอบเป็นศีล ด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาเพื่อประโยชน์แก่ผลสมาบัติ.
               คำที่สองย่อมถูกต้อง แม้ด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนา เพื่อประโยชน์แก่นิโรธสมาบัติ.
               ในคำทั้ง ๕ มีอาทิว่า อาวชฺชนฺโต สิกฺขติ พึงทราบว่า ท่านกล่าวว่า สิกฺขติ เพราะสภาพมีสีลขันธ์ของพระอเสกขะเป็นต้น แม้ในความไม่มีสิ่งที่ต้องศึกษาของพระอรหันต์.
               บทมีอาทิว่า สทฺธาย อธิมุจฺจนฺโต สิกฺขติ - พระโยคาวจรน้อมไปด้วยศรัทธา ก็ชื่อว่าย่อมศึกษา ท่านกล่าวหมายถึงขณะแห่งมรรคนั่นเอง.
               พึงประกอบคำแม้อื่นที่ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งอุปจาระ อัปปนา วิปัสสนาและมรรคตามสมควร.

               จบอรรถกถาสีลมยญาณนิทเทส               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา สีลมยญาณนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 85อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 86อ่านอรรถกถา 31 / 92อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=951&Z=1087
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=4865
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=4865
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :