ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 143อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 144อ่านอรรถกถา 32 / 145อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑๕. ฉัตตวรรค
๒. ถัมภาโรปกเถราปทาน (๑๔๒)

               ๑๔๒. อรรถกถาถัมภาโรปกเถราปทาน               
               อปทานของท่านพระถัมภาโรปกเถระมีคำเริ่มต้นว่า นิพฺพุเต โลกนาถมฺหิ ดังนี้.
               พระเถระแม้นี้ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ทุกๆ ภพนั้นจะสั่งสมแต่บุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานเป็นประจำเสมอ.
               ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าธัมมทัสสี ได้เกิดในเรือนอันมีสกุล มีศรัทธาเลื่อมใส.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ได้ปักเสายกธงไว้ที่ห้องพระบรมธาตุ (พระเจดีย์) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า. ได้ร้อยดอกมะลิเป็นอันมากขึ้นไปบนบันไดแล้วบูชา.
               เขาดำรงชีวิตอยู่ตลอดอายุ ทำกาละแล้วได้ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ได้เสวยสมบัติในโลกทั้งสองจนครบถ้วนแล้ว.
               ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้บังเกิดในเรือนอันมีสกุลแห่งหนึ่ง ตั้งแต่เริ่มเป็นหนุ่มมาก็เป็นผู้ควรแก่การบูชา มีศรัทธาเกี่ยวเนื่องกับพระศาสนา จึงได้บวชแล้ว ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ ระลึกถึงบุพกรรมของตนได้เกิดความโสมนัสใจ เมื่อจะประกาศถึงเรื่องราวที่ตนเคยได้ประพฤติมาแล้วในกาลก่อน จึงกล่าวคำเริ่มต้นว่า นิพฺพุเต โลกนาถมฺหิ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิพฺพุเต โลกนาถมฺหิ ความว่า ก็เมื่อพระศาสดาผู้ทรงเป็นนาถะ ทรงเป็นประธาน ทรงเป็นที่พึ่งอาศัยของชาวโลกทั้งสิ้น ปรินิพพานแล้วด้วยขันธปรินิพพาน ล่วงลับดับไปมองไม่เห็น คล้ายกับแสงประทีปที่ดับไปแล้วฉะนั้น.
               บทว่า ธมฺมทสฺสีนราสเภ มีรูปวิเคราะห์ว่า
               ชื่อว่าธัมมทัสสี เพราะย่อมได้เห็นสัจธรรม ๔ ประการ (อริยสัจ ๔).
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าธัมมทัสสี เพราะมีปกติได้เห็น ได้เห็นประจักษ์แจ้งซึ่งโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการมีสติปัฏฐานเป็นต้น.
               ชื่อว่านราสโภ เพราะอาจหาญ ประเสริฐสูงสุดกว่านรชนทั้งหลาย.
               ธัมมทัสสีศัพท์ ๑ นราสภะศัพท์ ๑ รวมเป็นธัมมทัสสีนราสภะ.
               ในพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าธัมมทัสสี ผู้ประเสริฐกว่านรชน พระองค์นั้น.
               บทว่า อาโรเปสึ ธชํ ถมฺภํ ความว่า เราได้ปักเสาที่ห้องพระเจดีย์ ยกธงไว้ที่เสานั้น ผูกประดิษฐานไว้แล้ว.
               บทว่า นิสฺเสณึ มาปยิตฺวาน มีรูปวิเคราะห์ว่า
               ชนทั้งหลายย่อมไป ย่อมเดินไป ย่อมขึ้นไปอาศัยบนสิ่งนั้น เหตุนั้น สิ่งนั้นจึงชื่อว่าบันได.
               เชื่อมความว่า เราได้ให้ช่างสร้างบันไดสำหรับประชาชนจะได้ขึ้นไปยังสถูปอันประเสริฐได้.
               บทว่า ชาติปุปฺผํ คเหตฺวาน มีวิเคราะห์ว่า
               ชื่อว่าชาติสุมนะ เพราะเมื่อดอกไม้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำความดีใจให้แก่ชนทั้งหลาย คือดอกมะลินั่นเอง. ในเมื่อควรจะกล่าวว่า ชาติสุมนปุปผะ เพื่อสะดวกแก่การผูกคาถา ท่านจึงกล่าวไว้ว่า ชาติปุปผะ เพราะลบสุมนะศัพท์ออกเสีย.
               ความว่า เก็บดอกมะลินั้นร้อยแล้วยกขึ้นไว้บนสถูป ครั้นยกขึ้นแล้วก็บูชา.
               คำที่เหลือมีเนื้อความพอจะรู้ได้เองแล.
               จบอรรถกถาถัมภาโรปกเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑๕. ฉัตตวรรค ๒. ถัมภาโรปกเถราปทาน (๑๔๒) จบ.
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 143อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 144อ่านอรรถกถา 32 / 145อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=4108&Z=4120
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=4025
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=4025
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :