ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 157อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 158อ่านอรรถกถา 32 / 159อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑๖. พันธุชีวกวรรค
๖. กทัมพปุปผิยเถราปทาน (๑๕๖)

               ๑๕๖. อรรถกถากทัมพปุปผิยเถราปทาน               
               อปทานของท่านพระกทัมพปุปผิยเถระมีคำเริ่มต้นว่า หิมวนฺตสฺสาวิทูเร ดังนี้.
               แม้พระเถระรูปนี้ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระชินวรพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ทุกๆ ภพนั้นจะสั่งสมแต่บุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานเป็นประจำเสมอ.
               เมื่อโลกกำลังสูญจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้เกิดในตระกูลแห่งหนึ่ง เจริญวัยแล้วอยู่ครองเรือน มองเห็นโทษในการอยู่ครองเรือนนั้น จึงละเพศฆราวาสบวชเป็นดาบส สร้างอาศรมอยู่ที่ภูเขาชื่อว่ากุกกุฏะ ใกล้ภูเขาหิมวันต์.
               เขาได้พบเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๗ พระองค์ในสถานที่นั้นแล้ว มีใจเลื่อมใส เลือกเก็บเอาดอกกระทุ่มที่บานแล้วมาบูชาพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นแล้ว.
               แม้พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นก็ได้กระทำอนุโมทนาแล้วด้วยคำว่า อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ดังนี้เป็นต้น.
               ด้วยบุญอันนั้น เขาจึงได้ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ได้เสวยสมบัติในโลกทั้งสองแล้ว.
               ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้บังเกิดในเรือนอันมีสกุลในกรุงสาวัตถี เจริญวัยแล้วได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว ได้มีศรัทธาบวชแล้ว ไม่นานนักก็ได้เป็นพระอรหันต์ ระลึกถึงบุพกรรมของตนได้เกิดความโสมนัสใจ เมื่อจะประกาศถึงเรื่องราวที่ตนเคยได้ประพฤติมาแล้วในกาลก่อน จึงกล่าวคำเริ่มต้นว่า หิมวนฺตสฺสาวิทูเร ดังนี้.
               คำนั้นมีเนื้อความดังที่ได้กล่าวไว้แล้วนั่นแล.
               บทว่า กุกฺกุโฏ นาม ปพฺพโต ความว่า ภูเขาที่เรียกกันว่ากุกกุฏะ เพราะยอดภูเขาทั้งหลายมีลักษณะคล้ายกับหงอนไก่ตรงที่ข้างทั้งสองของภูเขานั้น.
               ชื่อว่าปัพพตะ เพราะตั้งมั่นโดยอาการปิดขวาง.
               บทว่า ตมฺหิ ปพฺพตปาทมฺหิ แปลว่า ในที่ใกล้ภูเขาลูกนั้น.
               บทว่า สตฺต พุทฺธา วสนฺติ ความว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์นั้นย่อมอยู่ ณ บรรณศาลาใกล้เชิงภูเขากุกกุฏะนั้น.
               บทว่า ทีปราชํว อุคฺคตํ ได้แก่ พระราชาแห่งทวีปทั้งหลาย ชื่อว่าทีปราชา.
               อธิบายว่า พระราชาเป็นใหญ่แห่งทวีปทั้งสิ้น แต่พระจันทร์เป็นใหญ่แห่งหมู่ดาวที่ส่องแสงทั้งหมด จึงเรียกว่าทีปราชา.
               อีกอย่างหนึ่ง พระราชาเป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ คือชมพูทวีป ปุพพวิเวหทวีป อปรโคยานทวีปและอุตตรกุรุทวีป กับทวีปเล็กๆ อีก ๒,๐๐๐ ทวีป.
               อธิบายว่า เราได้เห็นต้นกระทุ่มซึ่งมีดอกเบ่งบานสะพรั่ง คล้ายกับพระจันทร์ลอยเด่นท่ามกลางท้องฟ้าฉะนั้น แล้วเลือกเก็บดอกไม้จากต้นกระทุ่มนั้นแล้ว เอามือทั้งสองข้างประคอง คือถือเอาโดยวิธีอย่างหนึ่ง เกลี่ยด้วยดีคือได้บูชาโดยเอื้อเฟื้อซึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์นั้นแล้ว.
               คำที่เหลือมีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล.
               จบอรรถกถากทัมพปุปผิยเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑๖. พันธุชีวกวรรค ๖. กทัมพปุปผิยเถราปทาน (๑๕๖) จบ.
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 157อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 158อ่านอรรถกถา 32 / 159อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=4313&Z=4325
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=4310
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=4310
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :