ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 17อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 18อ่านอรรถกถา 32 / 19อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๒. สีหาสนิวรรค
๖. ราหุลเถราปทาน (๑๖)

               ๑๖. อรรถกถาราหุลเถราปทาน               
               อปทานของท่านพระราหุลเถระมีคำเริ่มต้นว่า ปทุมุตฺตรสฺส ภควโต ดังนี้.
               ท่านผู้มีอายุแม้นี้ก็ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อน สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสนัยแห่งพระนิพพานในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ บังเกิดในเรือนมีตระกูล ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว ฟังพระธรรมเทศนาอยู่ในสำนักพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในฐานะอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ต่อการศึกษา เมื่อปรารถนาตำแหน่งนั้นด้วยตนเอง บำเพ็ญบุญอันยิ่งมีการชำระเสนาสนะทำให้สว่างไสวเป็นต้น แล้วได้ตั้งปรารถนาไว้. ท่านจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เสวยสมบัติทั้งสอง.
               ในพุทธุปบาทกาลนี้ เพราะอาศัยพระโพธิสัตว์ของเรา จึงบังเกิดในพระครรภ์ของพระนางยโสธราเทวี ได้นามว่าราหุลกุมาร ทรงเจริญด้วยขัตติยบริวารเป็นอันมาก.
               วิธีบรรพชาของท่านมาแล้วในขันธกะนั่นเอง.
               ท่านบรรพชาแล้วได้รับพระโอวาทด้วยดี ด้วยสุตตบทเป็นอันมากในสำนักพระศาสดา มีญาณแก่กล้า เจริญวิปัสสนาบรรลุพระอรหัต. ก็ท่านเป็นพระอรหัต พิจารณาข้อปฏิบัติของตน เมื่อพยากรณ์พระอรหัตผลจึงได้ภาษิตคาถา ๔ คาถาเหล่านี้ว่า
                                   ชนทั้งหลายย่อมรู้จักเราว่า พระราหุลผู้เจริญ สมบูรณ์
                         ด้วยคุณสมบัติทั้ง ๒ ประการคือ ชาติสมบัติ ๑ ปฏิปัตติสมบัติ ๑
                         เพราะเป็นโอรสของพระพุทธเจ้า และเป็นผู้มีปัญญาเห็นธรรม
                         ทั้งหลาย.
                                   อนึ่ง เพราะอาสวะของเราสิ้นไป และภพใหม่ไม่มีต่อไป
                         เราเป็นพระอรหันต์เป็นพระทักขิไณยบุคคล มีวิชชา ๓ เป็น
                         ผู้เห็นอมตธรรม.
                                   สัตว์ทั้งหลายเป็นดังคนตาบอด เพราะเป็นผู้ไม่เห็นโทษ
                         ในกาม ถูกข่ายคือตัณหาปกคลุมไว้ ถูกหลังคาคือตัณหาปกปิด
                         ไว้ ถูกมารผูกแล้วด้วยเครื่องผูก คือความประมาท เหมือนปลา
                         ในปากลอบฉะนั้น.
                                   เราถอนกามนั้นขึ้นได้แล้ว ตัดเครื่องผูกของมารได้แล้ว
                         ถอนตัณหาพร้อมทั้งรากขึ้นแล้ว เป็นผู้มีความเยือกเย็นดับแล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุภเยเนว สมฺปนฺโน ความว่า ผู้สมบูรณ์ คือประกอบด้วยคุณสมบัติทั้งสอง คือชาติสมบัติ ๑ ปฏิปัตติสมบัติ ๑.
               บทว่า ราหุลภทฺโทติ มํ วิทู ความว่า เพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายรู้จักเราว่า ราหุลภัททะ.
               จริงอยู่ พระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงทราบว่า พระราหุลนั้นประสูติแล้ว ทรงยึดเอาถ้อยคำที่พระโพธิสัตว์ตรัสว่า ราหุ (เครื่องผูก) เกิดแล้ว เครื่องผูกพันเกิดแล้ว จึงยึดเอาพระนามว่าราหุลดังนี้. ในข้อนั้น พระองค์ทรงยึดเอาปริยายที่พระบิดาตรัสแล้วแต่ต้นนั่นเอง จึงตรัสว่า ราหุลภทฺโทติ มํ วิทู ดังนี้.
               บทว่า ภทฺโท เป็นคำกล่าวสรรเสริญนั่นเอง.
               ในกาลต่อมา พระศาสดาทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศ โดยภาวะเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาว่า ภิกษุทั้งหลาย ราหุลนี้เป็นผู้เลิศแห่งภิกษุสาวกของเราผู้ใคร่ต่อการศึกษา.
               ท่านได้รับตำแหน่งเอตทัคคะอย่างนี้แล้ว ระลึกถึงบุพกรรมของตน เกิดโสมนัส ประกาศถึงปุพพจริยาปทาน จึงตรัสว่า ปทุมุตฺตรสฺส ภควโต ดังนี้เป็นอาทิ.
               บทว่า สตฺตภูมิมฺหิ ปาสาเท ความว่า ชื่อว่าปาสาทะ เพราะยังความเลื่อมใสคือยังความโสมนัสให้เกิด. ภูมิทั้ง ๗ ตั้งอยู่ในชั้นสูงๆ ในปราสาทใด ปราสาทนี้นั้นชื่อว่าสัตตภูมิ ปราสาท ๗ ชั้น.
               บทว่า อาทาสํ สนฺถรึ อหํ ความว่า เราได้ทำพื้นแว่นให้สำเร็จแล้วได้ลาดถวาย.
               อธิบายว่า ได้ลาดบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐของโลกผู้คงที่.
               บทว่า ขีณาสวสหสฺเสหิ ความว่า เกลื่อนกล่น คือแวดล้อมไปด้วยพระอรหันต์ ๑,๐๐๐ องค์.
               ชื่อว่า ทฺวิปทินฺโท เป็นจอมแห่งสัตว์สองเท้า คือเป็นจอม เป็นเจ้าแห่งสัตว์สองเท้า เป็นผู้องอาจกว่านระ เป็นมหามุนี เข้าไปหาคือเข้าไปยังพระคันธกุฎี พร้อมด้วยสัตว์สองเท้าเหล่านั้น.
               บทว่า วิโรเจนฺโต คนฺธกุฏี ความว่า พระศาสดาผู้ประเสริฐ ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพทั้งหลาย ชื่อว่า เทวเทโว, ผู้องอาจกว่านระทั้งหลายชื่อว่า นราสโภ ยังพระคันธกุฎีนั้นให้สว่างไสว ประทับนั่ง ณ ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ได้ตรัสภาษิตพยากรณ์คาถาเหล่านี้.
               บทว่า เยนายํ โชติตา เสยฺยา ความว่า ที่นอนกล่าวคือปราสาทนี้ อันอุบาสกใดให้โชติช่วงแล้ว คือสว่างไสวรุ่งเรืองแล้ว. เราได้ลาดด้วยดีคือทำให้เสมอ เหมือนคันฉ่องทำพื้นให้ใสดุจกระจก อันสำเร็จด้วยสัมฤทธิ์และโลหะฉะนั้น.
               อธิบายว่า เราจักยกย่องอุบาสกนั้น คือจักกระทำให้ปรากฏ.
               คำที่เหลือรู้ได้ง่ายทั้งนั้น.
               บทว่า อฏฺฐานเมตํ ยํ ตาทิ ความว่า เป็นผู้คงที่ด้วยเหตุใด คือชื่อว่าเป็นผู้คงที่เพราะเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ได้ประสบคือถึงความยินดี คือไม่เกียจคร้านในเรือนคือในการครองเรือน.
               อธิบายว่า แต่เหตุที่เขาจะคงที่ถึงความยินดีในเรือนนั้น ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ คือไม่เป็นเหตุ.
               บทว่า นิกฺขมิตฺวา อคารสฺมา ความว่า เขาจักออกจากการอยู่ครองเรือน สละการครองเรือนนั้นเหมือนสละใบหญ้า ออกบวชเป็นผู้มีวัตรดีศึกษาดีงาม.
               บทว่า ราหุโล นาม นาเมน ความว่า ชื่อว่าราหุล เพราะเป็นพระนามที่พระสิทธัตถะ พระราชบิดาตรัสว่า ราหุล (เครื่องผูก) เกิดแล้ว เครื่องผูกเกิดแล้ว เพราะสดับข่าวว่า พระกุมารประสูติแล้วที่พระเจ้าสุทโธมหาราชทรงส่งไป.
               พึงเห็นว่าพระองค์ตรัสว่า ราหุล (เครื่องผูก) เกิดแล้ว โดยประสงค์ว่า พระกุมารนี้เกิดมาเหมือนทำอันตรายต่อบรรพชา คือการออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่เป็นต้นของเรา เหมือนราหูจอมอสูรตั้งขึ้นเคลื่อนไป เพราะกระทำแสงสว่างแห่งวิมานแห่งพระจันทร์และพระอาทิตย์ให้หม่นหมองฉะนั้น.
               บทว่า อรหา โส ภวิสฺสติ ความว่า ท่านคือผู้เช่นนั้น ผู้สมบูรณ์ด้วยธรรมอันเป็นอุปนิสัย ประกอบการขวนขวายในวิปัสสนาจักเป็นพระอรหันตขีณาสพ.
               บทว่า กิกีว อณฺฑํ รกฺเขยฺย ความว่า พึงเป็นผู้ไม่ประมาทรักษาศีล เหมือนนกต้อยตีวิดรักษาฟองไข่คือพืชฉะนั้น.
               บทว่า จามรี วิย วาลธึ ความว่า พึงสละแม้ชีวิต ไม่ทำลายศีลรักษาไว้ เหมือนจามรีรักษาขนหาง ไม่ดึงขนหาง คือเมื่อขนหางติดคล้องในท่อนไม้ก็ไม่ดึงมา เพราะกลัวขาดยอมตาย.
               ปัญญาท่านเรียก นิปกะ ในบทว่า นิปโก สีลสมฺปนฺโน นี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ผู้ประกอบด้วยปัญญาเครื่องรักษาตนนั้น ชื่อว่านิปกะ จักเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล เพราะรักษาไว้ไม่ขาด ไม่ทำลายเป็นต้น.
               ท่านบรรลุพระอรหัตผลอย่างนี้แล้ว วันหนึ่งนั่งในที่อันสงัดกล่าวคำมีอาทิว่า เรารักษาพระมหามุนีอย่างนี้ด้วยสามารถแห่งโสมนัส.
               คำที่เหลือรู้ได้ง่ายทั้งนั้นแล.
               จบอรรถกถาราหุลเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๒. สีหาสนิวรรค ๖. ราหุลเถราปทาน (๑๖) จบ.
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 17อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 18อ่านอรรถกถา 32 / 19อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=1347&Z=1379
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=364
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=364
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :