ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 32อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 33อ่านอรรถกถา 32 / 34อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๔. กุณฑธานวรรค
๑. กุณฑธานเถราปทาน (๓๑)

               กุณฑธานวรรคที่ ๔               
               ๓๑. อรรถกถากุณฑธานเถราปทาน               
               อปทานของท่านพระกุณฑธานเถระมีคำเริ่มต้นว่า สตฺตาหํ ปฏิสลฺลีนํ ดังนี้.
               พระเถระแม้นี้ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้นๆ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านเกิดในเรือนมีตระกูลในพระนครหังสวดี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล. ฟังธรรมอยู่ เห็นภิกษุรูปหนึ่งอันพระศาสดาทรงแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งภิกษุผู้เลิศแห่งภิกษุผู้จับสลากก่อน ปรารถนาตำแหน่งนั้น กระทำบุญสมควรแก่ฐานันดรนั้น ท่องเที่ยวไปแล้ว.
               ครั้นวันหนึ่ง เขาได้น้อมถวายเครือกล้วยใหญ่สีเหลืองเหมือนจุณแห่งมโนศิลา แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ออกจากนิโรธสมาบัติแล้วประทับนั่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับเครือกล้วยนั้นแล้วเสวย.
               ด้วยบุญกรรมนั้น เขาเสวยราชสมบัติทิพย์ในหมู่เทพ ๑๑ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๔ ครั้ง เขากระทำบุญบ่อยๆ อย่างนี้ แล้วท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดเป็นภุมมเทวดา ในกาลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ.
               ก็ธรรมดาพระพุทธเจ้าผู้ทรงอายุยืนทั้งหลาย. ย่อมไม่มีอุโบสถทุกๆ กึ่งเดือน.
               จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี ได้มีอุโบสถในระหว่าง ๖ ปี. ส่วนพระทศพลทรงพระนามว่ากัสสปะ สวดปาติโมกข์ทุกๆ ๖ เดือน.
               ในการสวดปาติโมกข์นั้น ภิกษุผู้เป็นสหายกัน ๒ รูปผู้อยู่ประจำ เดินไปด้วยคิดว่าจักกระทำอุโบสถ.
               ภุมมเทวดาตนนี้คิดว่า ภิกษุ ๒ รูปนี้รักกันแน่นหนาเหลือเกิน เมื่อมีผู้ทำลาย จะแตกกันหรือไม่หนอ. มองหาโอกาสเพื่อภิกษุทั้งสองอยู่ เดินไปไม่ห่างภิกษุทั้งสองนั้นนัก.
               ครั้งนั้น พระเถระรูปหนึ่งให้พระเถระอีกรูปหนึ่งถือบาตรและจีวรไว้ เดินไปสู่ที่ๆ มีน้ำสะดวก เพื่อขับถ่ายสรีระ ล้างมือล้างเท้า แล้วออกจากที่ใกล้พุ่มไม้.
               ภุมมเทวดาแปลงเพศเป็นหญิงรูปงามเดินตามหลังพระเถระนั้นไป ทำประหนึ่งสยายผมแล้วเกล้าใหม่ ทำประหนึ่งว่าปัดฝุ่นออกจากข้างหลัง และทำประหนึ่งว่านุ่งห่มผ้าสาฎกใหม่ เดินตามหลังพระเถระออกจากพุ่มไม้แล้ว.
               พระเถระผู้เป็นสหายยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง เห็นเหตุนั้นแล้วเกิดโทมนัส คิดว่า บัดนี้ความรักที่ติดต่อกันมาเป็นเวลานานกับภิกษุนี้ฉิบหายแล้ว ถ้าเราพึงรู้ว่าเธอเป็นผู้มีกิเลสอย่างนี้ เราจักไม่ทำความคุ้นเคยกับภิกษุนี้ ตลอดกาลนานประมาณเท่านี้.
               เมื่อพระเถระมาถึงเท่านั้นก็กล่าวว่า นิมนต์รับเอาบาตรจีวรของท่านไปเถิด ผู้อาวุโส เราไม่ปรารถนาจะร่วมทางกับผู้ที่ลามกเช่นท่าน. หทัยของภิกษุผู้ลัชชีนั้นฟังถ้อยคำนั้นแล้ว ได้เป็นประหนึ่งถูกหอกที่คมกริบเสียบแล้ว.
               ลำดับนั้น ลัชชีภิกษุนั้นจึงพูดกับพระเถระผู้เป็นสหายว่า อาวุโส ท่านพูดอะไรเช่นนั้น เรายังไม่รู้อาบัติแม้เพียงทุกกฏตลอดเวลาที่ประมาณเท่านี้ ก็วันนี้ท่านกล่าวเราเป็นคนลามก ท่านเห็นอะไรหรือ?
               พระเถระผู้เป็นสหายจึงพูดว่า เรื่องอื่นที่เห็นแล้วจะมีประโยชน์อะไร ท่านออกมาในที่เดียวกันกับมาตุคามผู้ประดับแล้ว ตกแต่งแล้วอย่างนี้หรือ.
               พระเถระผู้ลัชชีกล่าวว่า อาวุโส เรื่องนี้ไม่มีแก่เราเลย เราไม่เห็นมาตุคามเห็นปานนี้เลย.
               แม้เมื่อพรเถระผู้ลัชชีจะกล่าวอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง พระเถระนอกนี้ก็ไม่เชื่อถ้อยคำ ยึดถือเอาเหตุที่ตนเห็นแล้วนั่นแหละว่าเป็นเรื่องจริง. ไม่เดินทางเดียวกับภิกษุนั้น ไปสู่สำนักของพระศาสดาโดยทางอื่น.
               ต่อแต่นั้นมา ถึงเวลาที่ภิกษุสงฆ์เข้าสู่โรงอุโสบถ ภิกษุนั้นเห็นลัชชีภิกษุนั้นในโรงอุโบสถ รู้ชัดแล้วก็ออกไปเสียด้วยคิดว่า ภิกษุเช่นนี้มีอยู่ในโรงอุโบสถนี้ เราจักไม่กระทำอุโบสถร่วมกับเธอ ดังนี้แล้วได้ยืนอยู่ในภายนอก.
               ลำดับนั้น ภุมมเทวดาคิดว่า เราทำกรรมหนักหนอ แล้วแปลงเพศเป็นอุบาสกแก่ไปยังสำนักของภิกษุนั้นกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เหตุไฉนพระคุณเจ้า จึงยืนอยู่ในที่นี้.
               ภิกษุนั้นตอบว่า ดูก่อนอุบาสก ภิกษุลามกรูปหนึ่งเข้าไปสู่โรงอุโบสถนี้. เราไม่กระทำอุโบสถร่วมกับเธอ เราคิดดังนี้ จึงออกมายืนอยู่ข้างนอก.
               ภุมมเทวดาจึงพูดว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านอย่าถืออย่างนี้เลย ภิกษุนี้มีศีลบริสุทธิ์ ชื่อว่ามาตุคามที่ท่านเห็นแล้ว คือข้าพเจ้าเอง. เพื่อจะทดลองไมตรีของท่านทั้งสองว่า ไมตรีของพระเถระทั้งสองรูปนี้จะมั่งคงหรือไม่มั่นคงหนอดังนี้ ข้าพเจ้าผู้อยากดูความที่ท่านทั้งสองจะแตกไมตรีกันหรือไม่ กระทำกรรมนั้นแล้ว.
               ภิกษุนั้นถามว่า ดูก่อนสัตบุรุษ ก็ท่านเป็นอะไร?
               ภุมมเทวดาตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นภุมมเทวดาตนหนึ่ง.
               เทวบุตรเมื่อชี้แจงเสร็จก็ไม่ดำรงอยู่ในทิพพานุภาพ หมอบลงแทบเท้าของพระเถระ อ้อนวอนพระเถระว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงอดโทษแก่ข้าพเจ้าเถิด พระเถระไม่รู้โทษนั้น ขอท่านจงทำอุโบสถเถิด ดังนี้แล้วนิมนต์ให้พระเถระเข้าไปสู่โรงอุโบสถ.
               พระเถระนั้นได้กระทำอุโบสถในที่เดียวกันก่อนและได้อยู่ในที่เดียวกันกับภิกษุนั้น ด้วยอำนาจความสนิทสนมอีก. ทั้งไม่พูดถึงกรรมของพระเถระนี้. ส่วนพระเถระที่ถูกโจทบำเพ็ญวิปัสสนาบ่อยๆ บรรลุพระอรหัตแล้ว.
               ด้วยผลแห่งกรรมนั้น ภุมมเทวดาไม่รอดพ้นจากภัยในอบายตลอดถึงพุทธันดรหนึ่ง. ก็ถ้าในเวลาไรมาสู่ความเป็นมนุษย์ โทษที่กระทำไว้ด้วยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งอื่นๆ จะหล่นทับถมเขาทีเดียว.
               ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย เขาเกิดในสกุลพราหมณ์ ในนครสาวัตถี คนทั้งหลายได้ขนานนามเขาว่า ธานมาณพ. ธานมาณพเจริญวัยแล้ว เรียนไตรเพทฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาในเวลาแก่. มีศรัทธาบวชแล้ว.
               จำเดิมแต่วันที่ท่านอุปสมบทแล้ว สตรีผู้ประดับแล้ว ตกแต่งแล้วนางหนึ่งจะปรากฏติดตามท่านอยู่เป็นนิตย์อย่างนี้คือ เมื่อท่านเข้าบ้านก็เข้าบ้านพร้อมกับท่าน เมื่อท่านออกก็ออกด้วย เมื่อท่านเข้าวิหารก็เข้าไปด้วย แม้เมื่อท่านยืนอยู่ก็ยืนอยู่ด้วย.
               พระเถระไม่เห็นนางเลย. แต่ด้วยกรรมเก่าของท่าน นางจึงปรากฏแก่คนเหล่าอื่น สตรีทั้งหลายเมื่อถวายข้าวยาคู ถวายภิกษาในบ้านจะพากันพูดว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าวยาคูกระบวยหนึ่งนี้สำหรับท่าน อีกกระบวยหนึ่งสำหรับหญิงผู้เป็นสหายของเราทั้งหลายคนนี้ ดังนี้แล้ว ทำการเย้ยหยัน. เป็นความลำบากอย่างยอดยิ่งแก่พระเถระ.
               สามเณรและภิกษุหนุ่มทั้งหลายก็พากันห้อมล้อมท่านผู้ไปสู่วิหาร พูดเยาะเย้ยว่า พระธานะ มีเหี้ยเกิดแล้ว.
               ครั้งนั้นท่านจึงเกิดมีนามเพิ่มว่า กุณฑธานเถระ ด้วยเหตุนั้นเอง ท่านเพียรพยายามแล้วก็ไม่สามารถจะอดกลั้นความเยาะเย้ยอันสามเณรและภิกษุหนุ่มเหล่านั้นกระทำอยู่ได้ เกิดบ้าขึ้นมาพูดว่า พวกท่านสิเป็นเหี้ย อุปัชฌาย์ของพวกท่านก็เป็นเหี้ย อาจารย์ก็เป็นเหี้ย.
               ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายกราบทูลฟ้องแด่พระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระกุณฑธานะกล่าวคำหยาบอย่างนี้ กับภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลาย.
               พระศาสดาตรัสสั่งให้เรียกพระกุณฑธานเถระมา ตรัสถามว่า ดูก่อนธานะ ได้ยินว่า เธอกล่าวคำหยาบกับสามเณรทั้งหลายหรือ.
               เมื่อพระกุณฑธานะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นความจริงพระเจ้าข้า ดังนี้ จึงตรัสว่า เหตุไฉนเธอจึงกล่าวอย่างนี้. พระกุณฑธานะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดกลั้นความลำบากเป็นประจำไม่ได้ จึงกล่าวอย่างนี้.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอไม่สามารถจะยังกรรมที่เธอทำไว้ในก่อน ให้สลายไปได้จนถึงวันนี้ เธออย่ากล่าวคำหยาบเห็นปานนี้อีก ดังนี้แล้วตรัสว่า
                                   เธออย่าได้กล่าวคำหยาบกะใครๆ ผู้ที่เธอกล่าวแล้วพึง
                         กล่าวตอบเธอ เพราะว่า ถ้อยคำแข่งดีให้เกิดทุกข์ อาชญา
                         ตอบพึงถูกต้องเธอ ถ้าเธอไม่ยังตนให้หวั่นไหวดุจกังสดาล
                         ถูกขจัดแล้ว เธอจักเป็นผู้ถึงพระนิพพาน ความแข่งดีย่อมไม่
                         มีแก่เธอ ดังนี้.

               และชาวเมืองทั้งหลายก็กราบทูลคามที่พระเถระนั้นท่องเที่ยวไปกับมาตุคาม แม้แก่พระเจ้าโกศล.
               พระราชาส่งราชบุรุษไปด้วยตรัสว่า ดูก่อนพนาย พวกท่านจงไป จงใคร่ครวญดู ดังนี้แล้ว แม้พระองค์เองก็เสด็จไปสู่ที่อยู่ของพระเถระด้วยบริวารจำนวนน้อย แล้วเสด็จประทับยืนดูอยู่ แม้หญิงนั้นก็ปรากฏเป็นเหมือนยืนอยู่ในที่ไม่ไกล.
               พระราชาทอดพระเนตรเห็นแล้ว ทรงพระดำริว่า เหตุนี้มีอยู่จึงเสด็จไปยังที่หญิงนั้นยืนอยู่ เมื่อพระราชาเสด็จมา หญิงนั้นก็ทำเป็นเหมือนเข้าไปสู่บรรณศาลาอันเป็นที่อยู่พระเถระ.
               แม้พระราชาก็เสด็จเข้าไปสู่บรรณศาลานั้นแหละพร้อมกับหญิงนั้น ทรงตรวจดูทั่วๆ ไปก็ไม่เห็น จึงเข้าพระทัยว่า นี้ไม่ใช่มาตุคาม คงเป็นกรรมวิบากอย่างหนึ่งของพระเถระ แต่ก่อนแม้ถึงจะเสด็จเข้าไปใกล้พระเถระ ก็ไม่ไหว้พระเถระ ครั้นทรงทราบว่าเหตุนั้นไม่เป็นจริง จึงเสด็จมาไหว้พระเถระแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ตรัสถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระคุณเจ้าไม่ลำบากด้วยอาหารบิณฑบาตบ้างหรือ?
               พระเถระทูลว่า พอสมควรอยู่ มหาบพิตร.
               พระราชาตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมเข้าใจคำพูดของพระคุณเจ้า เมื่อพระคุณเจ้าเที่ยวไปกับสิ่งที่ทำให้เศร้าหมองเช่นนี้ ใครเล่าจะเลื่อมใส จำเดิมแต่นี้ไป พระคุณเจ้าไม่ต้องมีกิจที่จะต้องไปในที่ไหนๆ โยมจะบำรุงพระคุณเจ้าด้วยปัจจัย ๔ ขอพระคุณเจ้าจงอย่าประมาทในโยนิโสมนสิการ ดังนี้แล้ว เริ่มถวายภิกษาเป็นประจำ.
               พระเถระได้พระราชาเป็นผู้อุปถัมภ์ เป็นผู้มีจิตเป็นเอกัคคตารมณ์ เพราะมีโภชนะเป็นที่สบาย เจริญวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัต จำเดิมแต่นั้น หญิงนั้นก็หายไป.
               ครั้งนั้น มหาสุภัททาอุบาสิกาอยู่ในเรือนแห่งตระกูลที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ในอุคคนคร อธิฏฐานอุโบสถด้วยคิดว่า ขอพระศาสดาจงอนุเคราะห์เราให้เป็นหญิงปราศจากกลิ่นดิบ ยืนอยู่บนพื้นปราสาทชั้นบน กระทำสัจจกิริยาว่า ขอดอกไม้เหล่านี้ตั้งอยู่ในภายใน จงตั้งเป็นเพดาน ณ เบื้องบนพระทศพล, ด้วยสัญญานี้ ขอพระทศพลจงรับภิกษาของเราพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป ในวันพรุ่งนี้ แล้วเหวี่ยงดอกมะลิไป ๘ กำมือ.
               ดอกไม้ทั้งหลายลอยไปแล้ว ตั้งเป็นเพดาน ณ เบื้องบนของพระศาสดา ในเวลาที่ทรงแสดงพระธรรมเทศนา. พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นเพดานดอกมะลินั้นแล้ว ทรงรับภิกษาของนางสุภัททาด้วยใจอย่างเดียว.
               ในวันรุ่งขึ้น เมื่ออรุณตั้งขึ้นแล้ว จึงตรัสกะพระอานนทเถระว่า ดูก่อนอานนท์ วันนี้พวกเราจักไปภิกขาจารในที่ไกล. เธออย่าให้สลากแก่ภิกษุที่เป็นปุถุชน จงให้สลากแก่ภิกษุที่เป็นพระอริยะเท่านั้น.
               พระเถระแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโสทั้งหลาย วันนี้พระศาสดาจักเสด็จภิกขาจารในที่ไกล ภิกษุที่เป็นปุถุชนอย่ารับสลาก ภิกษุที่เป็นพระอริยะเท่านั้นจงรับสลากดังนี้. พระกุณฑธานเถระเหยียดมือออกไปก่อนทีเดียว โดยพูดว่า อาวุโส ท่านจงนำสลากมา.
               พระอานนท์กล่าวว่า พระศาสดาไม่ตรัสสั่งให้ให้สลากแก่ภิกษุเช่นท่าน ตรัสสั่งให้แก่ภิกษุที่เป็นพระอริยะเท่านั้น ดังนี้แล้วเกิดปริวิตก ไปกราบทูลพระศาสดาแล้ว.
               พระศาสดาตรัสว่า จงให้สลากแก่ผู้ที่ขอ.
               พระเถระคิดว่า ถ้าการให้สลากไม่ควรให้แก่พระกุณฑธานะ เมื่อเป็นเช่นนั้น พระศาสดาพึงห้ามไว้ ในเรื่องนี้ชะรอยจักมีเหตุ จึงย้อนกลับไปด้วยคิดว่า เราจักให้สลากแก่พระกุณฑธานะ.
               ก่อนแต่พระอานนท์จะมาถึงนั้นแหละ พระกุณฑธานเถระเข้าจตุตถฌานมีอภิญญาเป็นบาท ยืนอยู่ในอากาศด้วยฤทธิ์ กล่าวว่า อาวุโส อานนท์ พระศาสดาทรงรู้จักเรา พระศาสดาไม่ทรงห้ามภิกษุเช่นเรา ผู้จับสลากก่อนหรอก ดังนี้แล้วยื่นมือไปจับสลาก,
               พระศาสดาทรงกระทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัติเหตุ แต่งตั้งพระเถระไว้ในตำแหน่งภิกษุผู้เลิศแห่งภิกษุทั้งหลายผู้จับสลากก่อน.
               เพราะเหตุที่พระเถระนี้มีพระราชาเป็นผู้อุปถัมภ์ เพราะได้อาหารอันเป็นที่สบาย จึงมีจิตเป็นสมาธิกระทำกรรมในวิปัสสนา ได้อภิญญา ๖ เพราะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย.
               ภิกษุผู้เป็นปุถุชนเหล่าใด เมื่อไม่รู้คุณของพระเถระนี้ แม้ผู้เป็นอย่างนี้ว่า ในเวลานั้น ท่านจับสลากนี้ก่อนหรือหนอ. เพื่อจะกำจัดความสงสัยของภิกษุเหล่านั้น พระเถระจึงเหาะขึ้นสู่อากาศแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ พยากรณ์พระอรหัตผล โดยอ้างพระอรหัตผล จึงกล่าวคาถาว่า เธอจงตัดเครื่องผูก ๕ ประการ ดังนี้.
               ท่านบรรลุพระอรหัตโดยสมควรแก่บุญสมภารที่บำเพ็ญมาแล้วอย่างนี้ ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะ ระลึกถึงบุพกรรม เมื่อจะประกาศปุพพจริตาปทาน จึงกล่าวคำมีอาทิว่า สตฺตาหํ ปฏิสลฺลีนํ ดังนี้.
               คำที่เหลือมีอรรถง่ายทั้งนั้นแล.
               จบอรรถกถากุณฑธานเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๔. กุณฑธานวรรค ๑. กุณฑธานเถราปทาน (๓๑) จบ.
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 32อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 33อ่านอรรถกถา 32 / 34อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=1873&Z=1904
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=1221
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=1221
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :