ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 44อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 45อ่านอรรถกถา 32 / 46อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๕. อุปาลีวรรค
๓. ภัททิยกาฬิโคธายปุตตเถราปทาน (๔๓)

               ๔๓. อรรถกถากาฬิโคธาปุตตภัททิยเถราปทาน               
               อปทานของท่านพระกาฬิโคธาปุตตภัททิยเถระมีคำเริ่มต้นว่า ปทุมุตฺตรสมฺพุทฺธํ ดังนี้.
               พระเถระแม้นี้ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ บังเกิดในตระกูลแห่งหนึ่งอันสมบูรณ์ด้วยสมบัติ เจริญวัยแล้ว เจริญด้วยบุตรและภรรยา เห็นชาวพระนครพากันทำบุญ แม้ตนเองก็ประสงค์จะทำบุญ จึงนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ให้ปูที่นอนอันควรแก่ค่ามาก มีเครื่องปูลาดมีลายดอกไม้ติดกันมากเป็นต้นเป็นอเนก เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งในที่นั้นพร้อมด้วยสงฆ์แล้ว จึงให้เสวยพระกระยาหารอันประณีต แล้วได้ถวายมหาทาน.
               ท่านบำเพ็ญบุญทั้งหลายจนตลอดอายุด้วยอาการอย่างนี้ เสวยสมบัติทั้งสองในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ครั้นต่อมาในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดเป็นบุตรแห่งพระนางกาฬิโคธาเทวี.
               ท่านบรรลุนิติภาวะแล้ว ได้ปรากฏนามว่าภัททิยะ กาฬิโคธาบุตร เพราะเจริญด้วยรูปสมบัติ คือมือและเท้ายาวและใหญ่ และเพราะเป็นบุตรแห่งพระนางกาฬิโคธาเทวี.
               ท่านเลื่อมใสในพระศาสดา ทำให้มารดาบิดาโปรดปราน แล้วบวชไม่นานนักก็ได้เป็นพระอรหันต์.
               ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ระลึกถึงบุพกรรมของตน เกิดโสมนัส เมื่อจะประกาศปุพพจริตาปทาน จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ปทุมุตฺตรสมฺพุทฺธํ ดังนี้.
               คำนั้นมีอรรถดังท่านกล่าวในหนหลังแล.
               บทว่า เมตฺตจิตฺตํ ความว่า ชื่อว่าเมตตา เพราะรักใคร่ เยื่อใย ยินดีในสัตว์ทุกจำพวก. จิตประกอบด้วยเมตตานั้น ชื่อว่าเมตตาจิต. จิตประกอบด้วยเมตตานั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีอยู่ เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ชื่อว่าผู้มีจิตประกอบด้วยเมตตา. ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นผู้มีจิตประกอบด้วยเมตตา.
               บทว่า มหามุนึ ได้แก่ ภิกษุทั้งสิ้น. ชื่อว่า มหามุนิ เพราะเป็นผู้ใหญ่. เชื่อมความว่า ซึ่งพระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระนั้น.
               บทว่า ชนตา สพฺพา ความว่า หมู่ชนทั้งหมด. อธิบายว่า ชาวพระนครทั้งสิ้น.
               บทว่า สพฺพโลกคฺคนายกํ เชื่อมความว่า ประชุมชนย่อมเข้าถึง คือเข้าไปใกล้พระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้เลิศประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งสิ้น. ชื่อว่าผู้นำ เพราะนำไปให้ถึงพระนิพพาน.
               บทว่า สตฺตุกญฺจ พทฺธกญฺจ ความว่า ได้อามิส กล่าวคือสัตตุก้อนและสัตตุผง.
               ก็อีกอย่าง เชื่อมความว่า ชนทั้งหลายย่อมถือเอาอามิสคือปานะและโภชนะ อันเป็นยาวกาลิก มีภัต ขนม ของเคี้ยว ของบริโภคและยาคูเป็นต้นแล้ว ถวายแด่พระสาวกผู้เป็นบุญเขตอันยอดเยี่ยม.
               บทว่า อาสนํ พุทฺธยุตฺตกํ ความว่า ซึ่งอาสนะอันสำเร็จด้วยรัตนะ ๗ อันควรแก่พระพุทธเจ้า คืออันเหมาะสมแก่พระพุทธเจ้า.
               คำที่เหลือมีอรรถรู้ได้ง่ายทั้งนั้นแล.
               จบอรรถกถากาฬิโคธาปุตตภัททิยเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๕. อุปาลีวรรค ๓. ภัททิยกาฬิโคธายปุตตเถราปทาน (๔๓) จบ.
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 44อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 45อ่านอรรถกถา 32 / 46อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=2224&Z=2257
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=1811
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=1811
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :