ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 2อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 3อ่านอรรถกถา 32 / 4อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค
๓. สารีปุตตเถราปทาน (๑)

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               ดาบสนั้นได้รับพยากรณ์อย่างนี้แล้ว ถึงความโสมนัส เมื่อจะเปล่งอุทานด้วยอำนาจปีติโสมนัส จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อโห เม สุกตํ กมฺมํ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น ศัพท์ว่า อโห เป็นนิบาต ลงในอรรถว่าน่าอัศจรรย์. อธิบายว่า กรรมคือโกฏฐาสแห่งบุญที่เราทำดีแล้ว คือทำด้วยดีแล้ว ได้แก่เชื่อแล้วกระทำแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี ผู้เป็นศาสดาคือเป็นครู เป็นกรรมน่าอัศจรรย์ คือน่าพิศวง มีอานุภาพเป็นอจินไตย.
               เชื่อมความว่า เราได้ทำอธิการคือบุญสมภารแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด ถึงความเต็มเปี่ยมคือที่สุด ได้แก่ถึงพร้อมซึ่งที่สุดอันยอดเยี่ยมในที่ทั้งปวง คือในคณะแห่งคุณทั้งสิ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นผู้น่าอัศจรรย์ คือน่าพิศวง.
               บทว่า อปริเมยฺเย เป็นต้น ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงกุศลกรรมที่ทำไว้ในกาลอันล่วงพ้นการนับ ว่ามีผลคือวิบากในอัตภาพหลังสุดนี้แก่เรา. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้วด้วยผลแห่งบุญนั้น เหมือนกำลังเร็วแห่งศรอันพ้นดีแล้ว คือหลุดไปดีแล้ว ได้แก่ที่นายขมังธนูผู้ฉลาดยิงไปแล้วฉะนั้น.
               ท่านพระสารีบุตรเมื่อจะประกาศความเพียรเฉพาะของตน จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อสงฺขตํ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสงฺขตํ แปลว่า ปรุงแต่งไม่ได้.
               อธิบายว่า อันปัจจัยทั้งหลายประชุมกันทำไม่ได้.
               เชื่อมความว่า เรานั้นแสวงหานิพพานที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้นั้น ชื่อว่าไม่หวั่นไหว เพราะไม่มีความปฏิกูลด้วยกิเลส. ชื่อว่าบท เพราะเป็นที่ตั้งแห่งบุญสมภารที่ทำไว้แล้ว. ค้นหาคือเข้าไปพิจารณาพวกเดียรถีย์ทั้งปวงคือเจ้าลัทธิทั้งสิ้น ได้แก่บุคคลผู้ก่อให้เกิดทิฏฐิ จึงท่องเที่ยว คือวนเวียนไปในภพมีกามภพเป็นต้น.
               เมื่อจะประกาศความประสงค์ของตน จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ยถาปิ พฺยาธิโต โปโส ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พฺยาธิโต เชื่อมความว่า ชายคือบุรุษถูกพยาธิเบียดเบียนจะต้องแสวงหาโอสถฉันใด เราก็ฉันนั้น เมื่อจะแสวงหาอมตบทคือนิพพานอันปรุงแต่งไม่ได้ จึงบวชเป็นฤาษี ๕๐๐ ชาติคือในอัตภาพ ๕๐๐ ชาติอันไม่ปะปนกันคือไม่ขาดสาย ติดต่อกันไป.
               บทว่า กุติตฺเถ สญฺจรึ อหํ ความว่า เราท่องเที่ยวไปในท่าคือทางไปอันลามก.
               ชายผู้ต้องการแก่น คือบุรุษผู้แสวงหาแก่น.
               บทว่า กทลึ เฉตฺวาน ผาลเย ความว่า พึงตัดต้นกล้วยแล้วผ่าออกสองซีก.
               บทว่า น ตตฺถ สารํ วินฺเทยฺย ความว่า ก็แหละครั้นผ่าออกแล้วไม่พึงประสบ คือไม่พึงได้แก่นในต้นกล้วยนั้น.
               เชื่อมความว่า บุรุษนั้นเป็นผู้ว่าง คือเปล่าจากแก่น.
               เชื่อมความว่า ต้นกล้วยว่างเปล่าคือเปล่าจากแก่นฉันใด พวกเดียรถีย์คือชนมากผู้มีทิฏฐิคติต่างๆ ในโลก ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้ว่างคือเปล่าจากพระนิพพานอันเป็นอสังขตะ.
               ศัพท์ว่า เส เป็นเพียงนิบาต.
               อธิบายในคาถานี้ว่า ในภพหลังสุดคือในชาติสุดท้าย เราได้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ คือเกิดในตระกูลพราหมณ์.
               บทว่า มหาโภคํ ฉฑฺเฑตฺวาน ความว่า เราทิ้งกองโภคทรัพย์ใหญ่เหมือนก้อนเขฬะ บวชคือปฏิบัติเป็นบรรพชิต ได้แก่เป็นผู้เว้นจากกรรมมีกสิกรรมและพาณิชกรรมเป็นต้น คือบวชเป็นดาบส.

               พรรณนาปฐมภาณวารจบบริบูรณ์               

               บทว่า อชฺฌายโก ฯเปฯ มุนึ โมเน สมาหิตํ ความว่า ญาณเรียกว่าโมนะ. ผู้ประกอบด้วยโมนะนั้น ชื่อว่ามุนี. ผู้มีจิตตั้งคือตั้งลงโดยชอบ ชื่อว่าตั้งมั่นในโมนะนั้น.
               ชื่อว่านาค เพราะไม่กระทำบาปคือโทษ ได้แก่พระอัสสชิเถระ ซึ่งพระมหานาคนั้นผู้ไพโรจน์ เหมือนดอกปทุมอันแย้มบานดีแล้วฉะนั้น.
               บทว่า ทิสฺวา เม ฯเปฯ ปุจฺฉิตุํ อมตํ ปทํ มีเนื้อความง่ายๆ ทั้งนั้น.
               บทว่า วีถินฺตเร เชื่อมความว่า เราเข้าไป คือไปใกล้พระเถระนั้นผู้ถึงแล้วโดยลำดับ คือผู้ถึงพร้อมแล้ว ได้แก่เข้าไปแล้วในระหว่างถนนแล้วจึงถาม.
               บทว่า กีทิสํ เต มหาวีร เชื่อมความว่า ข้าแต่มหาวีระผู้บรรลุพระอรหัต ในการประกาศพระธรรมจักรครั้งแรก ในระหว่างพระอรหันต์ทั้งหลายในศาสนาของบุรุษผู้มีปัญญาทรงจำได้ทั้งสิ้น ข้าแต่ท่านผู้มียศใหญ่ เพราะเป็นผู้มากด้วยบริวารอันเกิดตามมา พระพุทธเจ้าของท่านมีศาสนธรรมคือศาสนา กล่าวคือธรรมเทศนาเป็นเช่นไร.
               อธิบายว่า ท่านผู้เจริญ คือท่านผู้มีหน้าอันผ่องใส ขอท่านจงบอก คือจงกล่าวคำสอนอันดีคือเจริญแก่ข้าพเจ้า.
               ลำดับนั้น พระสารีบุตรเมื่อจะแสดงอาการที่ถาม จึงกล่าวคำมีอาทิว่า โส เม ปุฏฺโฐ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส โยค อสฺสชิตฺเถโร. พระอัสสชิเถระอันเราถามแล้วคือกล่าวว่า คำสอนเป็นเช่นไร? จึงกล่าวถ้อยคำทั้งหมด.
               เชื่อมความในตอนนี้ว่า คำสอนทั้งหมดชื่อว่าลึกซึ้ง เพราะลึกโดยอรรถ ชื่อว่าลึกซึ้ง เพราะลึกโดยเทศนา ธรรมและปฏิเวธ เป็นบทอันละเอียดคือเป็นพระนิพพาน เพราะประกาศปรมัตถสัจเป็นต้น เป็นธรรมฆ่าลูกศรคือกิเลส ได้แก่กระทำให้พินาศ เป็นเครื่องบรรเทาสังสารทุกข์ทั้งปวง คือเป็นธรรมทำความสิ้นสังสารทุกข์ทั้งปวง.
               เมื่อแสดงอาการที่พระอัสสชิเถระกล่าวจึงกล่าวคำมีอาทิว่า เย ธมฺมา ดังนี้.
               เชื่อมความว่า ธรรมเหล่าใดคือสภาวธรรมเหล่าใด พร้อมทั้งปัจจัย มีเหตุเป็นแดนเกิด คืออุบัติ เกิด เป็น เกิดพร้อม บังเกิด บังเกิดเฉพาะ จากเหตุ คือจากการณ์ มีอยู่ มีพร้อม ได้อยู่, พระตถาคตตรัสเหตุคือการณ์ของธรรมเหล่านั้น.
               บทว่า เตสญฺจ โย นิโรโธ ได้แก่ ความดับคือสภาวะแห่งการดับอันใดแห่งธรรมอันมีเหตุเหล่านั้น
               บทว่า เอวํวาที มหาสมโณ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าชื่อว่ามหาสมณะ เพราะเป็นผู้ใหญ่ด้วยบริวารคือคุณมีศีล สมาธิ ปัญญาเป็นต้น และเพราะเป็นผู้กำจัดบาปได้แล้ว มีปกติตรัสอย่างนี้ คือตรัสการสงบระงับเหตุเป็นต้นเป็นปกติ ตรัสไว้.
               ครั้นฟังธรรมที่พระเถระกล่าวแล้ว แต่นั้น เมื่อจะแสดงประการที่ตนกระทำให้ประจักษ์ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า โสหํ ดังนี้. คำนั้นง่ายทั้งนั้น.
               บทว่า เอเสว ธมฺโม ยทิ ตาวเทว ความว่า แม้ถ้าว่า ไม่มียิ่งไปกว่านี้ไซร้ ก็พึงบรรลุเฉพาะเท่านี้คือเฉพาะโสดาปัตติผลนี้เท่านั้น. ก็เหมือนอย่างนั้นคือพึงบรรลุธรรมนี้แหละ. พระองค์รู้แจ้งคือแทงตลอดบทคือพระนิพพานอันไม่เศร้าโศก. บทนี้ชื่อว่าอันข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ได้เคยพบเห็น ล่วงเลยไปหลายหมื่นกัป.
               บทว่า ยฺวาหํ ธมฺมํ คเวสนฺโต ความว่า ข้าพระองค์ใด เมื่อแสวงหาคือเสาะหาธรรมคือสันติบท จึงท่องเที่ยวไป คือวนเวียนไปในท่าที่ผิด คือท่าอันน่าเกลียด ได้แก่ท่าอันควรตำหนิ.
               บทว่า โส เม อตฺโถ อนุปฺปตฺโต ความว่า ประโยชน์ที่ควรแสวงหานั้น ข้าพระองค์ถึงแล้วโดยลำดับ คือถึงพร้อมแล้ว ก็บัดนี้เป็นกาลที่ข้าพระองค์ไม่ประมาท คือเป็นผู้ไม่ประมาท.
               อธิบายว่า ข้าพระองค์อันพระอัสสชิเถระให้ยินดีแล้ว คือทำความโสมนัสให้แล้ว ถึงคือบรรลุบทคือนิพพานอันไม่หวั่นไหวคือไม่เคลื่อนไหว.
               เมื่อแสวงหาคือไปหาสหายคือโกลิตมาณพ จึงได้ไปยังอาศรมบท.
               บทว่า ทูรโตว มมํ ทิสฺวา ความว่า สหายของข้าพระองค์สำเหนียกดี เห็นข้าพระองค์มาแต่ที่ไกลจากอาศรมบท เขาเป็นผู้สมบูรณ์คือพรั่งพร้อมด้วยอิริยาบถมีการยืนและการนั่งเป็นต้น ได้กล่าวคือพูดคำที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้านี้.
               อธิบายว่า นี่แน่ะสหายผู้เจริญ ท่านเป็นผู้มีหน้าตาผ่องใส คือเป็นผู้ประกอบด้วยหน้าและตาผ่องใสคืองดงาม ได้แก่โชติช่วง. ราวกะว่าความเป็นมุนีท่านเห็นได้คือปรากฏแก่ท่าน. ท่านถึงความเป็นอย่างนี้ ได้บรรลุอมตนิพพานแล้ว ข้าพเจ้าขอถามท่านว่า ท่านได้บรรลุบทคือพระนิพพานอันไม่จุติแลหรือ.
               บทว่า สุภานุรูโป อายาสิ ความว่า ท่านเป็นผู้สมควรแก่ความงามคือวรรณะอันผ่องใสมาแล้ว.
               ด้วยบทว่า อาเนญฺชการิโต วิย นี้ โกลิตมาณพถามว่า นี่แน่ะท่านผู้ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะเป็นผู้ลอยบาปแล้ว ท่านเป็นเหมือนผู้ฝึกมาแล้ว คือเหมือนได้ศึกษามาอย่างดีถึง ๓ เดือน เหมือนช้างถูกแทงด้วยหอกซัดเป็นต้นก็ไม่หวั่นไหว ผู้มีการฝึกอันฝึกแล้ว คือมีสิกขาอันได้ศึกษาแล้ว เป็นผู้เข้าไปสงบแล้วในบทคือพระนิพพาน.
               อุปติสสมาณพถูกโกลิตมาณพนั้นถาม จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อมตํ มยา ดังนี้. คำนั้นมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.
               บทว่า อปริโยสิตสงฺกปฺโป ความว่า ผู้มีความดำริยังไม่ถึงที่สุดแห่งความปรารถนาที่ปรารถนาไว้ว่า เราพึงเป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคต. เราท่องเที่ยวคือหมุนไปรอบๆ ในท่าอันผิดคือในทางที่ไม่ควรไป.
               อธิบายว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คือข้าแต่พระโคดมผู้เจริญที่สุดในโลก เพราะอาศัยคือเพราะได้บรรลุทัสสนะของพระองค์ ความดำริของข้าพระองค์คือความปรารถนาของข้าพระองค์จึงเต็มแล้ว คือบริบูรณ์แล้วด้วยการบรรลุอรหัตมรรค คือด้วยการบรรลุสาวกบารมีญาณ.
               บทว่า ปฐวิยํ ปติฏฺฐาย ความว่า ต้นไม้ที่เกิดบนแผ่นดิน ย่อมบานคือแย้มบานในสมัย คือในฤดูเหมันต์. กลิ่นทิพย์คือกลิ่นหอมย่อมฟุ้งคือฟุ้งตลบไป ย่อมยังสัตว์ทั้งปวงคือยังเทวดาและมนุษย์ทั้งปวงให้ยินดี คือกระทำให้ประกอบด้วยโสมนัสฉันใด.
               ในบทว่า ตเถวาหํ มหาวีร เชื่อมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรใหญ่ คือผู้มีพระโอรสในศากยตระกูลเป็นมหาบริวาร ข้าพระองค์ตั้งอยู่เฉพาะแล้วในศาสนาของพระองค์ จึงหาคือแสวงหาสมัยคือกาลเพื่อจะบาน คือเพื่อแย้มบานด้วยอรหัตมรรคญาณฉันนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า วิมุตฺติปุปฺผํ ความว่า ชื่อว่าวิมุตติ เพราะพ้นหรือหลุดพ้น. หาอยู่ คือแสวงหาดอกไม้ กล่าวคืออรหัตผลวิมุตติอันเป็นที่พ้นจากภพสงสารนั้น คือการท่องเที่ยว คือการไปในภพมีกามภพเป็นต้น ชื่อว่าภวสังสาระ. การพ้นจากภวสังสาระนั้น ชื่อว่าภวสังสารโมจนะ.
               บทว่า วิมุตฺติปุปฺผลาเภน ความว่า ชื่อว่าวิมุตติ เพราะหลุดพ้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวิมุตติ เพราะเป็นเครื่องหลุดพ้นแห่งบุคคลผู้มีบุญสมภารอันทำไว้แล้วคืออัครผล ได้แก่พระอรหัตผล.
               ชื่อว่า ปุปฺผํ ดอกไม้ เพราะเป็นเครื่องบานคือแย้มบานแห่งเวไนย.
               ดอกไม้คือวิมุตติ ชื่อว่าวิมุตติปุปผะ, การได้ชื่อว่าลาภะ, การได้ดอกไม้คือวิมุตติ ชื่อว่าวิมุตติปุปผลาภะ, ข้าพระองค์ยังสัตว์ทั้งปวงคือเหล่าสรรพสัตว์ให้ยินดี คือให้ถึงความโสมนัสด้วยการได้ดอกไม้คือวิมุตติ ได้แก่ด้วยการบรรลุนั้น.
               ในบทว่า ยาวตา พุทฺธเขตฺตมฺหิ ดังนี้เป็นต้น เชื่อมความว่า
               ข้าแต่พระองค์มีจักษุคือมีจักษุด้วยจักษุ ๕. อาณาคืออานุภาพแห่งพระปริตรมีรัตนสูตรเป็นต้น ย่อมเป็นไปในที่ประมาณเท่าใดในพุทธเขตกล่าวคือในที่แสนโกฏิจักรวาลมีประมาณเท่านั้น เว้นพระมหามุนีคือเว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรดาสัตว์ทั้งหลายที่เหลือ ใครๆ อื่นผู้จะเหมือนคือเสมอด้วยปัญญาแห่งบุตรของพระองค์ คือข้าพระองค์ผู้เป็นบุตรของพระองค์ย่อมไม่มี.
               คำที่เหลือง่ายทั้งนั้น.
               บทว่า ปฏิปนฺนา เป็นต้น ความว่า พระอริยภิกษุทั้ง ๘ เหล่านี้คือท่านผู้พรั่งพร้อมด้วยมรรค ๔ ท่านผู้ตั้งอยู่ในผลคือตั้งอยู่ในอรหัตผล และพระเสขะผู้พรั่งพร้อมด้วยผล คือท่านผู้ประกอบด้วยผลทั้ง ๓ เบื้องต่ำ หวังคือแสวงหาประโยชน์อันสูงสุดคือพระนิพพาน แวดล้อมพระองค์ผู้มีปัญญา คือเสวนา คบหา เข้าไปนั่งใกล้อยู่ทุกเมื่อ คือตลอดกาลทั้งปวง.
               เป็นผู้ฉลาด คือเฉลียวฉลาดในสติปัฏฐาน ๔ กล่าวคือ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนาและธัมมานุปัสสนา ยินดีติดแน่นในการอบรมคือการเจริญโพชฌงค์ทั้ง ๗ มีสติสัมโพชฌงค์เป็นต้น.
               พระองค์ย่อมงดงามเหมือนอุฬุราชา คือเหมือนราชาแห่งดาวคือพระจันทร์.
               ชื่อว่า ธรณี เพราะทรงต้นไม้ ภูเขา รัตนะและสัตว์เป็นต้น, ต้นไม้ทั้งหลาย ชื่อว่า ธรณีรุหา เพราะงอกขึ้นคือเกิด และเจริญบนธรณี. ต้นไม้ทั้งหลายตั้งอยู่บนปฐพี ย่อมงอกและย่อมเจริญ คือย่อมถึงความเจริญงอกงาม ชื่อว่าย่อมถึงความไพบูลย์ คือความบริบูรณ์, ต้นไม้เหล่านั้นย่อมแสดงผล คือย่อมทรงผลโดยลำดับ.
               เมื่อจะสรรเสริญเฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้อีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า สินฺธุ สรสฺสตี ดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำนั้นต่อไป.
               แม่น้ำชื่อว่าสินธุวาทิ แม่น้ำชื่อว่าสรัสสดี แม่น้ำชื่อว่านันทิยะ แม่น้ำชื่อว่าจันทภาคา แม่น้ำชื่อว่าคงคา แม่น้ำชื่อว่ายมุนา แม่น้ำชื่อว่าสรภู และแม่น้ำชื่อว่ามหี. สาครเท่านั้นคือมหาสมุทรเท่านั้นย่อมรับคือรับเอา ได้แก่ทรงไว้ซึ่งแม่น้ำเหล่านี้ซึ่งไหลไปคือกำลังไปอยู่. ในกาลนั้น แม่น้ำทั้งหมดเหล่านี้ย่อมละคือทิ้งชื่อเดิม ได้แก่ชื่อและบัญญัติโวหารเดิมมีแม่น้ำสินธุวาทิเป็นต้น ย่อมรู้คือย่อมปรากฏชื่อว่าสาครเท่านั้นฉันใด.
               วรรณะทั้ง ๔ เหล่านี้คือตระกูลทั้ง ๔ คือกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์และศูทร ก็ฉันนั้นเหมือนกัน พากันบวชในสำนักของพระองค์ คือในสำนักได้แก่ในที่ใกล้พระองค์ ทรงบาตรและผ้ากาสายจีวรบำเรออยู่ ย่อมละคือย่อมสละชื่อเดิมคือบัญญัติ โวหารอันมีชื่อว่ากษัตริย์เป็นต้น พึงรู้กันคือเป็นผู้ปรากฏว่าพุทธบุตร คือว่าพุทธโอรส.
               พระจันทร์คือดวงจันทร์ชื่อว่าปราศจากมลทิน คือมีมลทินไปปราศแล้ว ได้แก่ไม่มีมลทิน เพราะปราศจากเครื่องเศร้าหมอง ๕ ประการ คือหมอก น้ำค้าง ธุลี ควันและราหู โคจรไปอยู่ในอากาศธาตุคือท้องฟ้า ย่ำยีหมู่ดาวทั้งหมดด้วยรัศมี ไพโรจน์คือสว่างจ้าอยู่ในโลกฉันใด พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ.
               บัวขาวและบัวเผื่อนเกิดในน้ำ คือเจริญในน้ำมีมากมาย คือล่วงพ้นการนับ ไม่เปื้อนคือไม่ติดด้วยน้ำ เปือกตมและโคลน ฉันใด สัตว์เป็นอันมากคือสัตว์ไม่มีประมาณก็ฉันนั้นเหมือนกัน เกิดคือเจริญอยู่ในโลก อันราคะและโทสะเบียดเบียนคือผูกพันไว้ ย่อมงอกงาม เหมือนโกมุทงอกงามคือเกิดในเปือกตมฉะนั้น. ปทุม ชื่อว่า เกสรี.
               บทว่า รมฺมเก มาเส ได้แก่ ในเดือน ๑๒ เพราะท่านกล่าวไว้ว่า ในวันเพ็ญแห่งเดือนทั้ง ๔ อันเป็นที่บานแห่งดอกโกมุท.
               เชื่อมความว่า ดอกไม้เป็นอันมากเกิดในน้ำ ได้แก่ดอกปทุมเป็นต้นย่อมบานคือแย้มขยาย ดอกไม้ที่เกิดในน้ำย่อมล่วงเลยเดือนนั้นคือเดือน ๑๒ นั้นไปไม่ได้.
               บทว่า สมโย ปุปฺผนาย โส ความว่า เดือน ๑๒ นั้นเป็นสมัยคือเวลาแห่งการบาน คือแย้มบาน. ดอกไม้ทั้งหลายย่อมบานฉันใด ข้าแต่พระศากยบุตร พระองค์ทรงเป็นผู้บานคือแย้มบานแล้วฉันนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า ปุปฺผิโต เต วิมุตฺติยา ความว่า ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นศิษย์ของพระองค์ กระทำบุญสมภารไว้แล้ว เป็นผู้บานแล้วคือเป็นผู้แย้มบานแล้วด้วยวิมุตติ คือด้วยญาณในอรหัตผล.
               อธิบายว่า ปทุมที่เกิดในน้ำย่อมไม่ล่วงพ้นเวลาที่บานฉันใด สัตว์เหล่านั้นย่อมไม่ล่วงเลย คือไม่ล่วงพ้นคำสอนคือโอวาทานุสานีของพระองค์ฉันนั้น.
               บทว่า ยถาปิ เสโล หิมวา ได้แก่ ภูเขาล้วนแล้วด้วยหินชื่อว่าหิมวันต์.
               ภูเขาหิมวันต์นั้นมีโอสถ คือมีโอสถสำหรับสัตว์ทั้งปวง คือสำหรับสัตว์ผู้ป่วยไข้ทั้งหมด เป็นที่อยู่คือเป็นบ้านเรือนของเหล่านาค อสูรและเทวดาทั้งปวงฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงเป็นประดุจโอสถ เพราะทรงปลดเปลื้องสัตว์ทั้งปวงให้พ้นจากชรา พยาธิและมรณะเป็นต้น.
               เชื่อมความว่า ภูเขาหิมวันต์นั้นเป็นที่อยู่ของพวกนาคเป็นต้นฉันใด สัตว์ทั้งหลายผู้ถึงคือผู้บรรลุความเต็มเปี่ยม คือที่สุดแห่งวิชชา ๓ อภิญญา ๖ และอิทธิฤทธิ์ ก็ย่อมอาศัยพระองค์อยู่ ฉันนั้น.
               นัยที่คาถาทั้งหลายเนื่องสัมพันธ์กันด้วยอุปมาและอุปไมย ในหนหลังหรือในเบื้องหน้า บัณฑิตพึงเข้าใจได้ดีทีเดียว.
               ในคำว่า อาสยานุสยํ ญตฺวา นี้ อัธยาศัยคือจริยา ชื่อว่าอาสยะ, กิเลสอย่างแรงกล้า ชื่อว่าอนุสยะ.
               อธิบายว่า ทรงทราบอัธยาศัยและอนุสัยคือความเป็นของกิเลส โดยนัยมีอาทิว่า ผู้นี้เป็นราคจริต ผู้นี้เป็นโทสจริต ผู้นี้เป็นโมหจริต.
               บทว่า อินฺทฺริยานํ พลาพลํ ความว่า ทรงรู้อินทรีย์ ๕ มีสัทธินทรีย์เป็นต้นมีกำลังและไม่มีกำลังอย่างนี้ว่า มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการไม่ดี ให้รู้ได้ง่าย ให้รู้ได้ยาก.
               บทว่า ภพฺพาภพฺเพ วิทิตฺวาน ความว่า ข้าแต่พระสัพพัญญูผู้เจริญ พระองค์ทรงรู้แจ้งคือทรงทำให้ประจักษ์ว่า บุคคลนี้ควรคือสามารถ บุคคลนี้ไม่ควรเพื่อรู้แจ้งธรรมที่เราแสดงแล้ว จึงทรงบันลือ คือทรงกระทำจักรวาลทั้งสิ้นให้มีการบันลือเป็นอย่างเดียวกัน ด้วยการบันลืออันไม่หวาดกลัว ด้วยการบันลือดุจสีหะในการแสดงธรรม เหมือนมหาเมฆอันตั้งขึ้นในทวีปทั้ง ๔ บันลืออยู่ฉะนั้น.
               บทว่า จกฺกวาฬปริยนฺตา ความว่า บริษัทพึงนั่งเต็มห้องจักรวาลโดยรอบ.
               พวกเขานั่งอยู่อย่างนั้นมีทิฏฐิต่างๆ กัน คือมีการถือทัสสนะมิใช่น้อย กล่าวต่างๆ กัน เกิดแคลงใจ วิวาทกันอยู่ เพื่อจะตัดความสงสัย คือเพื่อต้องการจะตัดความรู้ผิดของพวกเขา พระองค์ผู้เป็นมุนีทรงฉลาดในข้ออุปมา คือทรงมีความชำนาญในอุปมาอุปไมย ทรงทราบจิตคือทรงทราบการเที่ยวไปแห่งจิตของสัตว์ทั้งปวง ตรัสปัญหาเดียวเท่านั้นก็ตัดความเคลือบแคลงสงสัยของสัตว์ทั้งหลายผู้นั่งอยู่ในห้องแห่งจักรวาลทั้งสิ้นเสียได้ คือทรงกระทำให้หมดความสงสัย โดยการตรัสปัญหาเดียวเท่านั้น.
               บทว่า อุปทิสสทิเสเหว นี้ มีวิเคราะห์ดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่าอุปทิสะ เพราะเขาเห็นกัน คือเป็นของปรากฏอยู่บนน้ำ ได้แก่พวกจอกแหน. ผู้เช่นกับพวกจอกแหน ชื่อว่าอุปทิสสทิสา ได้แก่พวกมนุษย์.
               เหมือนอย่างว่า อุปทิสะ คือจอกแหนทั้งหลายทำน้ำไม่ให้ปรากฏ แผ่ตั้งอยู่บนน้ำนั้นฉันใด พสุธาคือแผ่นดินก็ฉันนั้น พึงเต็มด้วยพวกมนุษย์ผู้เช่นกับจอกแหนนั้นนั่นแหละผู้ยืนแผ่ติดๆ กันไป.
               มนุษย์ทั้งหมดนั้นยืนเต็มปฐพี ประนมอัญชลีคือประคองอัญชลีไว้บนศีรษะ พึงประกาศคุณพระโลกนายก คือพึงกล่าวคุณของพระพุทธเจ้าผู้โลกนายก.
               หรือว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหมดนั้นประกาศอยู่ คือแม้จะกล่าวพระคุณอยู่ตลอดกัปคือตลอดกัปทั้งสิ้น ก็จะพึงประกาศด้วยพระคุณต่างๆ คือด้วยพระคุณมีประการต่างๆ แม้ถึงอย่างนั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหมดนั้นก็จะไม่พึงถึงคือจะไม่ถึงพร้อม คือจะไม่อาจเพื่อจะนับประมาณ คือเพื่อจะกล่าวประมาณพระคุณได้.
               พระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้าประมาณไม่ได้ คือมีพระคุณล้นเหลือ จนนับประมาณไม่ได้. ท่านแสดงความเป็นผู้มีพระคุณยิ่งใหญ่ด้วยคำว่า อปฺปเมยฺโย นี้.
               อธิบายในคาถานี้ว่า
               พระพุทธเจ้าผู้ทรงชนะแล้วคือผู้ทรงชนะกิเลส เป็นผู้อันเราประกาศคือชมเชยแล้วด้วยเรี่ยวแรงของตน คือด้วยกำลังของตน โดยอุปมาอุปไมยในหนหลังฉันใด เทวดาและมนุษย์ทั้งปวงประกาศอยู่โกฏิกัปก็ดี ร้อยโกฏิกัปก็ดี ก็จะพึงประกาศคือพึงกล่าวฉันนั้นเหมือนกัน.
               เพื่อจะแสดงพระคุณทั้งหลายหาประมาณมิได้ซ้ำอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า สเจ หิ โกจิ เทโว วา ดังนี้.
               บทว่า ปูริตํ ปริกฑฺเฒยฺย ความว่า บุคคลใดจะพึงชักน้ำอันเต็มในมหาสมุทรรอบทุกด้าน บุคคลนั้นพึงได้ คือพึงถึงความคับแค้นคือความทุกข์เท่านั้น.
               บทว่า วตฺเตมิ ชินสาสนํ ความว่า เราย่อมประพฤติปฏิบัติ คือรักษาพระไตรปิฎกทั้งสิ้นอันพระชินเจ้าตรัสแล้ว.
               บทว่า ธมฺมเสนาปติ ความว่า ชื่อว่าเป็นธรรมเสนาบดี เพราะเป็นใหญ่ คือเป็นประธานในบริษัทกล่าวคือบริษัท ๔ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยธรรม คือด้วยปัญญา.
               อธิบายว่า ในศาสนาของพระศากยบุตรคือของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราจะรักษาพระพุทธศาสนาทั้งสิ้นในวันนี้ คือในกาลที่กำลังเป็นไปอยู่นี้ เหมือนเชษฐโอรสของพระเจ้าจักรพรรดิฉะนั้น.
               เมื่อจะแสดงความหมุนเวียนไปในสงสารของตน จึงกล่าวคำมีอาทิว่า โย โกจิ มนุโช ภารํ ดังนี้.
               เชื่อมความในคำนี้ว่า
               มนุษย์คนใดคนหนึ่งพึงวางภาระ คือภาระบนศีรษะไว้บนกระหม่อมคือบนศีรษะแล้วทูนไว้ คือพึงนำไป มนุษย์นั้นพึงมีความลำบากเพราะภาระนั้น คือพึงเป็นผู้ถูกภาระนั้นเบียดเบียน ครอบงำอยู่ทุกเมื่อ คือตลอดกาล. ภาระได้แก่ภาระที่แบก เราแบกไว้แล้ว คือแบกไว้มากยิ่งนัก. เราถูกไฟ ๓ กองกล่าวคือไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ เผาอยู่อย่างนั้น คือโดยประการนั้น แบกคือเป็นทุกข์ด้วยภาระคือภพ ได้แก่ภาระคือการเข้าถึงภพสงสาร เหมือนถอนภูเขาคือเหมือนถอนคือยกเขามหาเมรุบรรพตขึ้นวางไว้บนศีรษะ ท่องเที่ยวคือหมุนไปรอบๆ ในภพทั้งหลาย.
               บทว่า โอโรปิโต จ เม ภาโร ความว่า บัดนี้ เราปลงคือวางภาระคือภพนั้น.
               บทว่า ภวา อุคฺฆาฏิตา มยา ความว่า ภพใหม่ทุกภพเรากำจัดแล้ว.
               กรณียะคือกรรมในการกำจัดกิเลสโดยลำดับ มรรคที่จะต้องกระทำอันใดมีอยู่ในศาสนาของพระศากยบุตร คือพระผู้มีพระภาคเจ้า กรณียะทั้งหมดนั้นเราทำเสร็จแล้ว.
               เมื่อจะแสดงความวิเศษของตนอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ยาวตา พุทฺธเขตฺตมฺหิ ดังนี้.
               ในคำนั้น ท่านแสดงว่า ในพุทธเขตกล่าวคือหมื่นจักรวาลมีกำหนดเพียงใดคือมีประมาณเท่าใด เว้นพระศากยะผู้ประเสริฐ คือพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญที่สุดในศากยตระกูล บรรดาสัตว์ที่เหลือทั้งหลาย สัตว์แม้ไรๆ ผู้เสมอเราด้วยปัญญาย่อมไม่มี. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เราเป็นผู้เลิศด้วยปัญญา ไม่มีใครเหมือนเราดังนี้.
               เมื่อจะแสดงอานุภาพของตนอีก จึงกล่าวคำ สมาธิมฺหิ ดังนี้เป็นต้น. คำนั้นเข้าใจได้ง่ายทั้งนั้น.
               บทว่า ฌานวิโมกฺขานขิปฺปปฏิลาภี ความว่า เป็นผู้พลันได้ฌานมีปฐมฌานเป็นต้นและวิโมกข์อันเป็นโลกุตระ ๘ อันถึงการนับว่าวิโมกข์ เพราะพ้นจากโลก ชื่อว่าย่อมบรรลุได้เร็ว.
               เมื่อจะประกาศความที่ตนแม้มีอานุภาพมากอย่างนั้น ก็เป็นผู้มีความนับถือมาก ด้วยความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อุทฺธตวิโสว ดังนี้.
               ในคำนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้
               บัดนี้ เราเป็นผู้มีความหยิ่งด้วยมานะอันวางลงแล้ว คือเป็นผู้มีความหยิ่งด้วยมานะ มีความเมาเพราะโคตรเป็นต้นอันทิ้งเสียแล้ว เหมือนงูถูกถอนพิษเสียแล้ว คือมีพิษกล้าอันเพิกทิ้งแล้ว (และ) เหมือนโคเขาขาดคือถูกตัดเขาเสียแล้ว ย่อมเข้าไปคือเข้าถึงคณะคือสำนักสงฆ์ด้วยความเคารพหนัก คือด้วยความนับถือมากด้วยความเต็มใจ.
               บัดนี้ เมื่อจะประกาศความใหญ่แห่งปัญญาของตน จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ยทิรูปินี ดังนี้.
               อธิบายว่า ปัญญาใหญ่ของเราเห็นปานนี้เป็นของไม่มีรูปร่าง ถ้าจะพึงมีรูปร่าง ในกาลนั้น ปัญญาของเราก็จะสมคือจะเสมอกับพระเจ้าแผ่นดิน คือพระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน.
               ครั้นแสดงความเป็นใหญ่แห่งปัญญาของตนอย่างนี้แล้ว แต่นั้นได้ระลึกถึงบุพกรรมด้วยบุพเพนิวาสานุสสติญาณ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อโนมทสฺสิสฺส ดังนี้.
               ในคำนั้นมีอธิบายว่า ความเป็นใหญ่แห่งปัญญาของเรานี้ เป็นผลแห่งการสรรเสริญญาณอันเรากระทำแล้วแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี.
               ก็ จักกศัพท์ในคำว่า ปวตฺติตํ ธมฺมจกฺกํ นี้ ย่อมเป็นไปในอรรถว่าพาหนะ เช่นในประโยคมีอาทิว่า จตุจกฺกยานํ ยานมีล้อ ๔ ล้อ.
               เป็นไปในอรรถว่าเทศนา เช่นในประโยคว่า ปวตฺติเต จ ปน ภควตา ธมฺมจกฺเก ก็แหละ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศจักรคือธรรม.
               เป็นไปในอรรถว่าบุญกิริยาวัตถุ คือทานมัย เช่นในประโยคมีอาทิว่า จงยังจักรคือทานให้เป็นไปแก่สัตว์ทั้งปวง.
               เป็นไปในอรรถว่าอิริยาบถ เช่นในประโยคมีอาทิว่า ย่อมยังจักรคืออิริยาบถให้เป็นไปตลอดวันและคืน.
               เป็นไปในอรรถว่าจักรกรด เช่นในประโยคมีอาทิว่า จักรย่อมหมุนอยู่บนกระหม่อมของคนผู้ถูกความอยากครอบงำ.
               เป็นไปในอรรถว่าจักรรัตนะ เช่นในประโยคมีอาทิว่า พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นไปด้วยอานุภาพแห่งจักร.
               ก็ในที่นี้ จักกศัพท์นี้ย่อมเป็นไปในเทศนา.
               เชื่อมความว่า
               เราประกาศตาม คือประกาศไปตามได้โดยชอบคือโดยไม่ผิดแผก ได้แก่แสดงคือกระทำการแสดงพระธรรมจักร กล่าวคือพระไตรปิฎกอันพระศากยบุตรคือพระโคดมสัมพุทธเจ้าผู้คงที่ คือผู้ประกอบด้วยตาทิคุณ ทรงประกาศคือทรงแสดงไว้แล้ว. การประกาศตามคือการแสดงภพไปตามพระธรรมจักรที่ทรงแสดงแล้วนี้ เป็นผลของการสรรเสริญพระญาณที่เรากระทำแล้วแก่พระพุทธเจ้าองค์ก่อน.
               แต่นั้น เมื่อจะแสดงผลแห่งบุญมีสัปปุริสูปนิสสยะและโยนิโสมนสิการะเป็นต้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า มา เม กทาจิ ปาปิจฺโฉ ดังนี้.
               ในคำนั้นเชื่อมความว่า
               บุคคลผู้มีความปรารถนาลามกคือผู้ประกอบด้วยความอยากอันลามก ได้แก่มีปกติประพฤติลามก ผู้เกียจคร้านในการกระทำวัตรปฏิบัติ ในการยืนและการนั่งเป็นต้น ผู้มีความเพียรเลวในการเจริญฌาน สมาธิและมรรคเป็นต้น ชื่อว่าผู้มีสุตะน้อย เพราะเว้นจากคันถธุระและวิปัสสนาธุระ และชื่อว่าผู้ไม่มีอาจาระ เพราะเว้นจากอาจาระในอาจารย์และอุปัชฌาย์เป็นต้น จงอย่าได้มาร่วมคือสมาคมกับเราในที่ไหนๆ ในกาลไรๆ เลย.
               บทว่า พหุสฺสุโต ได้แก่ บุคคลผู้เป็นพหูสูต ๒ อย่างด้วยอำนาจปริยัติและปฏิเวธ.
               บทว่า เมธาวี ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยเมธาคือปัญญา.
               บทว่า สีเลสุ สุสมาหิโต ความว่า ตั้งมั่นแล้ว คือมีจิตตั้งมั่นแล้วในปาริสุทธิศีล ๔ ศีลอันสัมปยุตด้วยมรรค และอุโบสถศีลมีองค์ ๘ เป็นต้น.
               บทว่า เจโตสมถานุยุตฺโต ได้แก่ บุคคลผู้ประกอบเอกีภาพแห่งจิต. อธิบายว่า บุคคลเห็นปานนี้จงตั้งอยู่บนกระหม่อมโดยแท้ คือจงตั้งอยู่แม้บนศีรษะอันเป็นกระหม่อมของเรา.
               พระสารีบุตรเถระครั้นกล่าวผลานิสงส์ที่ตนได้แล้ว เมื่อจะชักชวนคนอื่นในข้อนั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ตํ โว วทามิ ภทฺทนฺเต ดังนี้. คำนั้นเข้าใจดีแล้วทั้งนั้น.
               บทว่า ยมหํ ความว่า พระอัสสชิเถระใด เราเห็นครั้งแรกคือเบื้องต้น ได้เป็นผู้ปราศจากมลทิน คือเว้นจากมลทินเพราะละกิเลสทั้งหลายมีสักกายทิฏฐิเป็นต้น โดยการได้โสดาปัตติมรรค พระอัสสชิเถระนั้นเป็นอาจารย์เรา คือเป็นผู้ให้สำเหนียกโลกุตรธรรม. เราได้เป็นธรรมเสนาบดีในวันนี้ เพราะการได้ฟัง คือเพราะการพร่ำสอนของพระอัสสชิเถระนั้น. เราถึงความเต็มเปี่ยมคือถึงที่สุดในที่ทั้งปวง คือในคุณทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะคือไม่มีกิเลสอยู่.
               เมื่อจะแสดงความมีความเคารพในอาจารย์ของตน จึงกล่าวคำมีอาทิว่า โย เม อาจริโย ดังนี้.
               เชื่อมความว่า พระเถระใดชื่อว่าอัสสชิผู้เป็นสาวกของพระศาสดา ได้เป็นอาจารย์ของเรา พระเถระนั้นย่อมอยู่ในทิศใดคือในทิศาภาคใด เราทำทิศาภาคนั้นไว้เหนือศีรษะเรา คือเหนือส่วนเบื้องบนแห่งศีรษะ.
               แต่นั้น เมื่อจะแสดงถึงความที่ตนเป็นผู้ได้ฐานันดร จึงกล่าวคำมีอาทิว่า มม กมฺมํ ดังนี้.
               เชื่อมความว่า พระโคดมคือพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นศากยะผู้ประเสริฐ คือผู้เป็นเกตุของศากยตระกูล ทรงระลึกคือทรงทราบกรรมที่ทำไว้ในกาลก่อนของเราด้วยพระสัพพัญญุตญาณ ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ทรงตั้งเราไว้ในตำแหน่งอันเลิศ คือตำแหน่งพระอัครสาวก.
               ปฏิสัมภิทา ๔ เหล่านี้ คืออรรถปฏิสัมภิทา ธรรมปฏิสัมภิทา นิรุตติปฏิสัมภิทา ปฏิภาณปฏิสัมภิทา และความแตกต่างแห่งปฏิสัมภิทาเหล่านั้น ท่านกล่าวไว้แล้วในปฏิสัมภิทามรรค วิโมกข์ ๘ ว่าด้วยมรรค ๔ และผล ๔ หรือว่าด้วยรูปฌานและอรูปฌาน ได้แก่ธรรมเครื่องหลุดพ้นจากสงสาร และอภิญญา ๖ มีอิทธิวิธะการแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ เป็นต้น เรากระทำให้แจ้งแล้วคือกระทำให้ประจักษ์แล้ว.
               บทว่า ตํ พุทฺธสฺส สาสนํ ความว่า การพร่ำสอนได้แก่คำสั่งสอน กล่าวคือโอวาทของพระพุทธเจ้า เราทำเสร็จแล้วคือให้สำเร็จแล้วด้วยอรหัตมรรคญาณ.
               ศัพท์ว่า อิตฺถํ ในคำว่า อิตฺถํ สุทํ นี้ เป็นนิบาตใช้ในอรรถว่าชี้แจง. อธิบายว่า โดยประการนี้. ด้วยคำนั้น ท่านบ่งถึงอปทานของพระสารีบุตรทั้งสิ้น.
               ศัพท์ว่า สุทํ เป็นนิบาตใช้ในอรรถว่าทำบทให้เต็ม.
               บทว่า อายสฺมา เป็นคำเรียกด้วยความเคารพหนัก.
               บทว่า สาริปุตฺโต ได้แก่ พระเถระที่เขาตั้งชื่อตามนามของมารดา.
               บทว่า อิมา คาถาโย ความว่า ได้ภาษิต คือกล่าวคาถาว่าด้วยอปทานของพระสารีบุตรเถระทั้งมวลเหล่านี้.
               อิติ ศัพท์ เป็นนิบาตลงในอรรถว่าจบบริบูรณ์. อธิบายว่า อปทานของพระสารีบุตรทั้งมวลจบแล้ว.
               จบพรรณนาสารีปุตตเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๓. สารีปุตตเถราปทาน (๑) จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 2อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 3อ่านอรรถกถา 32 / 4อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=290&Z=675
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=6204
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=6204
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :