ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 7อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 8อ่านอรรถกถา 32 / 9อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค
๘. อุปาลีเถราปทาน (๖)

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               บทว่า ตเถว ตวํ มหาวีร เชื่อมความว่า ข้าแต่พระวีรบุรุษผู้สูงสุด พระราชานั้นทรงสมบูรณ์ด้วยองค์มีองค์แห่งเสนาบดีเป็นต้น ปิดกั้นประตูพระนครทรงอาศัยอยู่ฉันใด พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นพระธรรมราชา คือเป็นพระราชาโดยธรรม โดยเสมอของชาวโลก พร้อมทั้งเทวโลกคือของชาวโลกผู้เป็นไปกับทั้งเทวดาทั้งหลาย ดุจกษัตริย์กำจัดอมิตรได้ คือกำจัดข้าศึกได้แล้ว มหาชนเรียกว่า คือกล่าวว่าพระธรรมราชา เพราะทรงเป็นพระราชาโดยทรงบำเพ็ญธรรมคือบารมี ๑๐ ทัศให้บริบูรณ์.
               บทว่า ติตฺถิเย นีหริตฺวาน ความว่า เพราะความเป็นพระธรรมราชา จึงทรงนำออกคือนำไปโดยไม่เหลือซึ่งพวกเดียรถีย์ทั้งสิ้นซึ่งเป็นปฏิปักษ์ กระทำให้หมดพยศ และแม้มารพร้อมทั้งเสนา คือแม้วสวัตดีมารพร้อมทั้งเสนาก็ทรงนำออกหมด.
               บทว่า ตมนฺธการํ วิธมิตฺวา ความว่า ขจัด คือกำจัดความมืดคือโมหะ กล่าวคือความมืด.
               อธิบายว่า ทรงให้สร้าง คือทรงนิรมิต ได้แก่ทรงประดิษฐานธรรมนคร คือนครกล่าวคือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ หรือกล่าวคือธรรม คือขันธ์ อายตนะ ธาตุ ปฏิจจสมุปบาท พละ โพชฌงค์และสมันตปัฏฐานอันมีนัยลึกซึ้ง.
               บทว่า สีลํ ปาการกํ ตตฺถ ได้แก่ ในธรรมนครที่ให้ประดิษฐานไว้นั้นมีปาริสุทธิศีลเป็นกำแพง.
               บทว่า ญาณํ เต ทฺวารโกฏฺฐกํ ความว่า ญาณของพระองค์มีพระสัพพัญญุตญาณ อาสยานุสยญาณ อนาคตังสญาณและอตีตังสญาณเป็นต้นนั่นแหละ เป็นซุ้มประตู.
               บทว่า สทฺธา เต เอสิกา วีร ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงบากบั่นไม่ย่อหย่อน ผู้เจริญศรัทธาคือความเชื่อของพระองค์ อันมีพระสัพพัญญุตญาณเป็นเหตุ เริ่มแต่บาทมูลของพระพุทธทีปังกร เป็นเสาอันประดับประดาด้วยเครื่องอลังการที่ยกขึ้นตั้งไว้.
               บทว่า ทฺวารปาโล จ สํวโร ความว่า ความสังวรอันเป็นไปในทวาร ๖ ของพระองค์คือการรักษา การป้องกันและคุ้มครอง เป็นนายทวารบาลคือเป็นผู้รักษาประตู.
               บทว่า สติปฏฺฐานมฏฺฏาลํ ความว่า พระองค์มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นป้อมซึ่งมีเครื่องมุงเกลี้ยงๆ.
               บทว่า ปญฺญา เต จจฺจรํ มุเน ความว่า ข้าแต่พระมุนีผู้มีพระญาณผู้เจริญ ปัญญาของพระองค์มีอย่างต่างๆ มีปาฏิหาริยปัญญาเป็นต้น เป็นทางสี่แพร่งคือเป็นที่ชุมทาง ได้แก่เป็นทางไปสู่พระนคร.
               บทว่า อิทฺธิปาทญฺจ สิงฺฆาฏํฐ ความว่า อิทธิบาท ๔ กล่าวคือฉันทะ วีริยะ จิตตะและวีมังสา ของพระองค์เป็นทางสี่แยก คือเป็นที่ต่อของทาง ๔ สาย.
               บทว่า ธมฺมวีถิ สุมาปิตํ ความว่า ธรรมนครนั้น พระองค์ทรงสร้างคือตกแต่งไว้เรียบร้อย ด้วยถนนกล่าวคือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ.
               บทว่า สุตฺตนฺตํ อภิธมฺมญฺจ ความว่า ในธรรมนครนี้ของพระองค์มีพระสุตตันปิฎก พระอภิธรรมปิฎกและพระวินัยปิฎก คือพระพุทธพจน์มีองค์ ๙ มีสุตตะ เคยยะเป็นต้นทั้งหมดคือทั้งสิ้น เป็นธรรมสภาคือเป็นศาลตัดสินอธิกรณ์โดยธรรม.
               บทว่า สุญฺญตํ อนิมิตฺตญฺจ ความว่า สุญญตวิหารธรรมที่ได้ด้วยอำนาจอนัตตานุปัสสนา และอนิมิตตวิหารธรรมที่ได้ด้วยอำนาจอนิจจานุปัสสนา.
               บทว่า วิหารญฺจปฺปณิหิตํ ได้แก่ อัปปณิหิตวิหารธรรมที่ได้ด้วยอำนาจทุกขานุปัสสนา.
               บทว่า อาเนญฺชญฺจ ได้แก่ อาเนญชวิหารธรรม กล่าวคือสามัญผล ๔ อันไม่หวั่นไหว ไม่โยกคลอน.
               บทว่า นิโรโธ จ ได้แก่ พระนิพพานอันเป็นที่ดับทุกข์ทั้งมวล.
               บทว่า เอสา ธมฺมกุฏี ตว ความว่า นี้กล่าวคือโลกุตรธรรม ๙ ทั้งหมดเป็นธรรมกุฎี คือเป็นเรือนที่อยู่ของพระองค์.
               บทว่า ปญฺญาย อคฺโค นิกฺขิตฺโต ความว่า พระเถระที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแต่งตั้งไว้คือทรงตั้งไว้ว่า เป็นผู้เลิศแห่งภิกษุทั้งหลายผู้มีปัญญาด้วยอำนาจปัญญา ผู้ฉลาดคือเฉลียวฉลาดในปฏิภาณ คือในกิจที่จะพึงทำด้วยปัญญา หรือว่าในยุตตมุตตปฏิภาณการโต้ตอบ ปรากฏโดยนามว่าสารีบุตร เป็นธรรมเสนาบดีของพระองค์ คือเป็นใหญ่ เป็นประธาน โดยการทรงจำกองธรรมคือพระไตรปิฎกที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว ย่อมกระทำกิจของกองทัพ.
               บทว่า จุตูปปาตกุสโล ความว่า ข้าแต่พระมุนีผู้เจริญ พระโมคคัลลานเถระเป็นผู้ฉลาด คือเป็นผู้เฉลียวฉลาดในจุตูปปาตญาณ คือในจุติและอุปบัติ.
               บทว่า อิทฺธิยา ปารมึ คโต เชื่อมความว่า พระโมคคัลลานเถระชื่อว่าโกลิตะโดยชื่อ ผู้ถึงคือบรรลุบารมี คือที่สุดแห่งความแตกฉานด้วยฤทธิ์ที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า แม้คนเดียวก็เป็นหลายคนได้ แม้หลายคนก็เป็นคนเดียวได้ เป็นโปโรหิจจะคือเป็นปุโรหิตของพระองค์.
               บทว่า โปราณกวํสธโร ความว่า ข้าแต่พระมุนีผู้มีพระญาณผู้เจริญ พระมหากัสสปเถระผู้ทรงไว้ หรือผู้รู้สืบๆ มาซึ่งวงศ์เก่าก่อน เป็นผู้มีเดชกล้าคือมีเดชปรากฏ หาผู้เทียมถึงได้ยากคือยาก ได้แก่ไม่อาจทำให้ขัดเคืองคือกระทบกระทั่ง.
               บทว่า ธุตวาทีคุเณนคฺโค ความว่า พระมหากัสสปเถระเป็นผู้เลิศ คือประเสริฐด้วยธุตวาทีคุณ เพราะกล่าวคือกล่าวสอนธุดงค์ ๑๓ มีเตจีวริกังคธุดงค์เป็นต้น และด้วยธุดงคคุณ เป็นผู้พิพากษาของพระองค์ คือเป็นประธานในการกระทำตามบัญญัติ คือการตัดสิน.
               บทว่า พหุสฺสุโต ธมฺมธโร ความว่า ข้าแต่พระมุนีผู้เจริญ พระอานนท์ชื่อว่าเป็นพหูสูต เพราะได้ฟังพระธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ เป็นอันมาก คือเพราะได้เรียนมาจากพระผู้มีพระภาคเจ้าและจากภิกษุสงฆ์. ชื่อว่าผู้ทรงธรรม เพราะทรงธรรมคือนิกายนับได้หกแสนมิใช่น้อย และปรมัตถธรรมมีสติปัฏฐานเป็นต้น.
               บทว่า สพฺพปาลี จ สาสเน ความว่า พระเถระมีนามชื่อว่าอานนท์ ชื่อว่าผู้ชำนาญพระบาลีทั้งปวง เพราะเป็นผู้เลิศคือเป็นผู้ประเสริฐแห่งภิกษุทั้งปวง ผู้กล่าวคือผู้สาธยายพระบาลีทั้งปวงในพระพุทธศาสนา.
               บทว่า ธมฺมารกฺโข ตว ความว่า เป็นผู้อารักขาคือเป็นผู้รักษา ปกครองธรรม ได้แก่ภัณฑะคือพระไตรปิฏกธรรมของพระองค์. อธิบายว่า เป็นคลังธรรม.
               บทว่า เอเต สพฺเพ อติกฺกมฺม ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีภัคยะคือบุญ ทรงละคือทรงเว้นพระเถระทั้งหลายแม้ผู้มีอานุภาพมากมีพระสารีบุตรเป็นต้นเหล่านี้เสีย ทรงประมาณคือได้ทรงกระทำประมาณ ได้แก่ได้ทรงใส่พระทัยเฉพาะเราเท่านั้น.
               บทว่า วินิจฺฉยํ เม ปาทาสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมอบ คือได้ทรงประทานโดยปการะแก่เรา ซึ่งการวินิจฉัยคือการพิจารณาโทษในพระวินัย อันบัณฑิตทั้งหลายผู้รู้วินัยแสดงไว้แล้ว คือประกาศไว้แล้ว.
               บทว่า โย โกจิ วินเย ปญฺหํ ความว่า ภิกษุพุทธสาวกรูปใดรูปหนึ่งถามปัญหาอันอิงอาศัยวินัยกะเรา, เราไม่ต้องคิด คือไม่เคลือบแคลงสงสัยในปัญหาที่ถามนั้น. เชื่อมความว่า เรากล่าวเนื้อความนั้นเท่านั้น คือความที่ถามนั้นเท่านั้น.
               บทว่า ยาวตา พุทฺธเขตฺตมฺหิ เชื่อมความว่า ในพุทธอาณาเขตในที่มีกำหนดเพียงไร คือมีประมาณเท่าไร (ก็ตาม) เว้นพระมหามุนี คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเสีย ไม่มีบุคคลผู้เหมือนเราคือเช่นกับเราในเรื่องวินัย หรือในการกระทำวินิจฉัยพระวินัยในพระวินัยปิฎก เราเท่านั้นเป็นผู้เลิศ, ผู้ยิ่งกว่าคือยิ่งกว่าเรา จักมีมาแต่ไหน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโคดม ประทับนั่งในหมู่ภิกษุ คือประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ แล้วทรงประกาศอย่างนี้ คือทรงกระทำสีหนาท.
               ทรงประกาศอย่างไร?
               ทรงประกาศอย่างนี้ว่า ไม่มีผู้เสมอคือแม้นเหมือนอุบาลี ในเรื่องวินัยคืออุภโตวิภังค์ในขันธกะทั้งหลาย คือมหาวรรคและจูฬวรรค และในบริวาร ด้วย ศัพท์.
               บทว่า ยาวตา ความว่า นวังคสัตถุศาสน์มีสุตตะ เคยยะเป็นต้น มีประมาณเท่าใดอันพระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือทรงแสดงไว้ทั้งหมด พระศาสดาทรงประกาศแก่ผู้มีปกติเห็น คือเห็นอยู่อย่างนี้ว่า นวังคสัตถุศาสน์นั้นหยั่งลงในพระวินัย คือเข้าอยู่ภายในพระวินัย มีพระวินัยเป็นมูลราก.
               บทว่า มม กมฺมํ สริตฺวาน เชื่อมความว่า พระโคดมศากยะผู้ประเสริฐ คือผู้เป็นประธานในศากยวงศ์ ทรงระลึกคือทรงรู้ประจักษ์แจ้งกรรมของเรา คือความปรารถนาในกาลก่อนของเรา ด้วยพระอตีตังสญาณ เสด็จไปในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ทรงตั้งเราไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาลีนี้เป็นเลิศแห่งภิกษุสาวกทั้งหลายของเราผู้เป็นวินัยธร ดังนี้.
               บทว่า สตสหสฺสุปาทาย ความว่า เราได้ปรารถนาตำแหน่งนี้ใดเริ่มมาแสนกัป ประโยชน์ของเรานั้น เราถึงแล้วโดยลำดับ คือบรรลุแล้วโดยเฉพาะแล้ว ถึงความยอดเยี่ยมคือถึงที่สุดในพระวินัย.
               เมื่อก่อนคือในกาลก่อน เราได้เป็นช่างกัลบก ทำความยินดีให้เกิด คือทำความโสมนัสแก่เจ้าศากยะทั้งหลาย คือแก่พระราชาในศากยวงศ์ทั้งหลาย. เราละคือละทิ้งโดยวิเศษซึ่งชาตินั้น คือตระกูลนั้นได้แก่กำเนิดนั้น เกิดเป็นบุตรของพระมเหสีเจ้า คือของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า. อธิบายว่า ถึงการนับว่าเป็นศากยบุตร เพราะทรงคำสอนไว้ได้.
               เบื้องหน้าแต่นั้น เมื่อจะแสดงอปทานแห่งกาลบังเกิดในตระกูลทาสของตน จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อิโต ทุติยเก กปฺเป ดังนี้.
               ในคำนั้นเชื่อมความว่า ในกัปที่สองภายหลังภัทรกัปนี้ไป มีขัตติยราชพระองค์หนึ่งพระนามว่าอัญชสะโดยพระนาม มีพระเดชานุภาพหาที่สุดมิได้ คือมีพระเดชานุภาพล่วงพ้นจากการนับ มีพระยศนับไม่ได้ คือมีบริวารพ้นจากนับประมาณ มีทรัพย์มาก คือมีทรัพย์หลายแสนโกฏิ ทรงเป็นภูมิบาลคือทรงปกครองรักษาปฐพี.
               บทว่า ตสฺส รญฺโญ เชื่อมความว่า เราเป็นโอรสของพระราชานั้นคือผู้เช่นนั้น ได้เป็นกษัตริย์ คือเป็นขัตติยกุมารนามว่าจันทนะ. อธิบายว่า เรานั้นเป็นคนกระด้างคือแข็งกร้าว ถือตัวด้วยความเมาเพราะชาติ ยศและโภคะ.
               บทว่า นาคสตสหสฺสานิ เชื่อมความว่า ช้างแสนเชือกเกิดในตระกูลมาตังคะ แตกมันโดยส่วนสาม คือมันแตก ได้แก่มันไหลจากที่ ๓ แห่งคือตาหูและอัณฑะ ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง คือประดับด้วยเครื่องประดับสำหรับช้างทุกชนิด ห้อมล้อมเราอยู่ทุกเมื่อ คือตลอดกาลทั้งปวง.
               บทว่า สพเลหิ ปเรโตหํ เชื่อมความว่า ในกาลนั้น เราอันพลของตน คืออันพลแห่งกองทัพของตนห้อมล้อม ประสงค์จะไปอุทยาน จึงขึ้นขี่ช้างชื่อว่าสิริกะ ออกจากพระนครไป.
               บทว่า จรเณน จ สมฺปนฺโน ความว่า พระสัมพุทธเจ้าคือพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าเทวละ ประกอบด้วยจรณธรรม ๑๕ มีศีลสังวรเป็นต้น คุ้มครองทวารคือปิดทวารทั้ง ๖ มีจักขุทวารเป็นต้น สำรวมเรียบร้อยคือรักษากายและจิตไว้ด้วยดี มาคือถึงเบื้องหน้าคือตรงหน้าเรา.
               บทว่า เปเสตฺวา สิริกํ นาคํ ความว่า เราเห็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นมาแล้ว จึงไสช้างชื่อว่าสิริกะไปตรงหน้า ให้ขัดเคืองคั่งแค้น คือให้ทำร้ายพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า.
               บทว่า ตโต สญฺชาตโกโป โส ความว่า เพราะเหตุนั้น คือเพราะบีบบังคับไสไปนั้น ช้างนั้นได้เกิดความโกรธในเรา จึงไม่ยอมย่างเท้า. อธิบายว่า เป็นช้างหยุดนิ่งอยู่.
               บทว่า นาคํ ทุฏฺฐมนํ ทิสฺวา ความว่า เราเห็นช้างมีใจประทุษร้ายคือมีจิตโกรธ จึงได้กระทำความโกรธคือยังโทสะให้เกิดขึ้นในพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า.
               บทว่า วิเหสยิตฺวา สมฺพุทฺธํ เชื่อมความว่า เราทำร้ายคือเบียดเบียนพระเทวละปัจเจกพุทธะแล้ว ได้ไปยังอุทยาน.
               บทว่า สาตํ ตตฺถ น วินฺทามิ ความว่า เราไม่ได้ประสบความยินดีในการทำให้ขัดเคืองนั้น. อธิบายว่า เราไม่ได้สุขอันอร่อย ซึ่งมีการให้ขัดเคืองเป็นเหตุ.
               บทว่า สิโร ปชฺชลิโต ยถา ความว่า หัวคือศีรษะของเราเป็นเหมือนลุกโพลงแล้ว คือเป็นเหมือนลุกโพลงอยู่.
               บทว่า ปริฬาเหน ฑยฺหามิ ความว่า เราทำความโกรธในพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ย่อมเร่าร้อนคือมีจิตร้อนด้วยความเร่าร้อนอันตามเผาอยู่ในภายหลัง.
               บทว่า สาครนฺตา ความว่า เพราะกำลังของกรรมอันลามกนั้นนั่นเอง มหาปฐพีทั้งสิ้นอันมีสาครเป็นที่สุด คือมีสาครเป็นที่สุดรอบ ย่อมเป็นคือย่อมปรากฏแก่เรา เสมือนไฟติดทั่วแล้วคือเสมือนไฟลุกโพลงแล้ว.
               บทว่า ปิตุ สนฺติกุปาคมฺม ความว่า เมื่อภัยเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ เราจึงเข้ามา คือเข้าไปยังสำนักแห่งพระราชบิดาของตน แล้วได้กล่าวคือกราบทูลคำนี้.
               บทว่า อาสีวิสํว กุปิตํ เชื่อมความว่า หม่อมฉันทำพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์ใดผู้เป็นสยัมภู คือเป็นพุทธะด้วยตนเอง ผู้เดินมาเหมือนอสรพิษทั้งปวงโกรธ ดุจกองไฟไหม้โพลง และประหนึ่งกุญชรคือช้างชั้นสูง ที่ฝึกมาแล้วซึ่งตกมัน คือแตกมัน ๓ แห่ง ให้ท่านขัดเคืองคือให้ขุ่นเคือง.
               บทว่า อาสาทิโต มยา พุทฺโธ ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์นั้นผู้อันหม่อมฉันทำให้ขัดเคืองคือให้ขุ่นเคือง เป็นผู้น่ากลัวคือชื่อว่าน่ากลัว เพราะคนอื่นๆ ไม่อาจต่อตีได้ ผู้มีตบะยิ่งใหญ่คือมีตบะปรากฏ ผู้ชนะคือผู้ชนะมารทั้ง ๕.
               อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้สมบูรณ์ด้วยคุณอย่างนี้ หม่อมฉันกระทบกระทั่งแล้ว.
               บทว่า ปุรา สพฺเพ วินสฺสาม ความว่า เพราะกระทำความไม่เอื้อเฟื้อในพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น พวกเราทั้งหมดจักพินาศ คือจักฉิบหายโดยอาการต่างๆ. อธิบายว่า จะเป็นเหมือนเถ้าธุลี.
               บทว่า ขมาเปสฺสาม ตํ มุนึ ความว่า พวกเราจักให้พระปัจเจกสัมพุทธมุนีนั้นอดโทษ ตราบเท่าที่จักไม่ฉิบหาย.
               บทว่า โน เจ ตํ นิชฺฌาเปสฺสาม ความว่า หากเราทั้งหลายจักไม่ยังพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ผู้ฝึกตนแล้วคือผู้ฝึกจิตแล้ว ผู้มีจิตตั้งมั่นคือมีจิตแน่วแน่ ให้ยกโทษคือให้อดโทษ. ภายใน ๗ วัน คือในส่วนภายใน ๗ วัน ได้แก่ไม่เกิน ๗ วัน แว่นแคว้นอันสมบูรณ์ของเราจักทำลายคือจักฉิบหายหมด.
               บทว่า สุเมขโล โกสิโย จ ความว่า พระราชา ๔ พระองค์มีพระเจ้าสุเมขละเป็นต้นเหล่านี้รุกรานคือกระทบกระทั่งพระฤาษีทั้งหลาย ได้แก่กระทำความไม่เอื้อเฟื้อ พร้อมทั้งชาวรัฐคือพร้อมกับชาวชนบทในแว่นแคว้น กลายเป็นคนเข็ญใจ คือพากันถึงความพินาศ.
               บทว่า ยทา กุปฺปนฺติ อิสโย เชื่อมความว่า ในกาลใด พระฤาษีทั้งหลายผู้สำรวมคือผู้สำรวมด้วยการสำรวมทางกายเป็นต้น เป็นผู้สงบมีปกติประพฤติพรหมจรรย์ คือมีปกติประพฤติสูง ได้แก่มีปกติประเสริฐ พากันโกรธคือเป็นผู้โทมนัส ในกาลนั้น จักทำโลกพร้อมทั้งเทวโลก พร้อมทั้งสาครภูเขา ให้พินาศ.
               บทว่า ติโยชนสหสฺสมฺหิ เชื่อมความว่า เรารู้อานุภาพของฤาษีเหล่านั้น จึงให้ประชุมเหล่าบุรุษในประเทศประมาณสามพันโยชน์ เพื่อขอให้ท่านอดโทษ คือเพื่อต้องการแสดง คือเพื่อต้องการประกาศโทษในความล่วงเกินคือความผิด.
               บทว่า สยมฺภุํ อุปสงฺกมึ ความว่า ข้าพเจ้าเข้าไปหา คือเข้าไปใกล้พระสยัมภูคือพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า.
               บทว่า อลฺลวตฺถา ความว่า ชนทั้งปวงเป็นหมวดหมู่พร้อมกับเรามีผ้าเปียก คือมีผ้าอุตราสงค์เปียกน้ำ มีหัวเปียกคือมีผมเปียก กระทำอัญชลีคือกระทำพุ่มแห่งอัญชลีไว้เหนือศีรษะ หมอบลงคือนอนลงที่เท้า คือใกล้เท้าของพระพุทธะคือพระปัจเจกมุนี ได้กล่าวคำนี้.
               อธิบายว่า ได้กล่าวคือกล่าวคำมีอาทิว่า ข้าแต่พระมหาวีระ ขอพระองค์จงอดโทษเถิด.
               ข้าแต่พระมหาวีระ คือข้าแต่พระองค์ผู้เป็นวีรบุรุษชั้นสูง ได้แก่พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้เจริญ ขอท่านจงอดโทษคือจงบรรเทาโทษผิดที่ข้าพระองค์กระทำในพระองค์ เพราะความไม่รู้.
               อธิบายว่า ขออย่าทรงใส่ใจเลย.
               ชนคือหมู่ชนวิงวอนพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นว่า ขอพระองค์จงบรรเทาความเร่าร้อน คือความเร่าร้อนเพราะทุกข์ทางจิตที่ทำด้วยโทสะและโมหะแก่พวกข้าพระองค์ คือขอจงกระทำให้เบาบาง.
               อธิบายว่า ขอพระองค์อย่าทรงทำแว่นแคว้น คือชาวชนบทในแว่นแคว้นทั้งสิ้นของพวกข้าพระองค์ ให้พินาศเลย.
               บทว่า สเทวมานุสา สพฺเพ ความว่า หมู่มนุษย์ทั้งปวงพร้อมทั้งเทพทั้งทานพ คือพร้อมทั้งเหล่าอสูรมีปหาราทะอสูรเป็นต้นพร้อมทั้งรากษส จะเอาค้อนเหล็กคือค้อนใหญ่ต่อยคือทำลายหัวของเรา คือกระหม่อมของเราอยู่ทุกเมื่อ คือตลอดกาลทั้งปวง.
               เบื้องหน้าแต่นั้น เมื่อจะประกาศความที่พระพุทธะทั้งหลายอดโทษและไม่โกรธ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ทเก อคฺคิ น สณฺฐาติ.
               ในคำนั้นมีอธิบายว่า
               ไฟย่อมไม่ตั้งคือไม่ตั้งอยู่เฉพาะในน้ำฉันใด พืชย่อมไม่งอกบนหินคือบนเขาหินฉันใด หนอนคือสัตว์มีชีวิตย่อมไม่ตั้งอยู่ในยาคือโอสถฉันใด ความโกรธคือจิตโกรธ ได้แก่ความมีใจประทุษร้ายย่อมไม่เกิด คือย่อมไม่เกิดขึ้นในพระพุทธะ คือในพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้แทงตลอดสัจจะได้แล้ว ฉันนั้น.
               เมื่อจะประกาศอานุภาพของพระพุทธะทั้งหลายซ้ำอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ยถา จ ภูมิ ดังนี้.
               ในคำนั้นมีอธิบายว่า เหมือนอย่างว่า ภาคพื้นคือปฐพีไม่หวั่นไหวคือนิ่งฉันใด พระพุทธะเป็นผู้นิ่งฉันนั้น.
               อธิบายว่า สาครคือมหาสมุทรประมาณไม่ได้ คือไม่อาจประมาณคือถือเอาประมาณฉันใด พระพุทธะก็ประมาณไม่ได้ฉันนั้น.
               อธิบายว่า อากาศคืออากาศที่ถูกต้องไม่ได้ ไม่มีที่สุดคือเว้นที่สุดรอบฉันใด พระพุทธะก็ฉันนั้น อันใครๆ ให้กำเริบไม่ได้ คือใครๆ ไม่อาจให้กำเริบ คือให้วุ่นวาย.
               เบื้องหน้าแต่นั้น เมื่อจะแสดงคำขอขมาต่อพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า จึงกล่าวคำมีอาทิว่า สทา ขนฺตา มหาวีรา ดังนี้.
               ในคำนั้นมีการเชื่อมความว่า
               พระมหาวีรเจ้าทั้งหลาย คือพระพุทธะทั้งหลายผู้มีวิริยะสูงสุด มีตบะคือประกอบด้วยวิริยะอันได้นามว่าตบะ เพราะเผาบาปทั้งหลาย ผู้อดทนคือถึงพร้อมด้วยขันติ และเป็นผู้อดโทษ คืออดกลั้นความผิดของผู้อื่นทุกเมื่อ คือตลอดกาลทั้งปวง.
               บทว่า ขนฺตานํ ขมิตานญฺจ ความว่า พระพุทธะเหล่านั้นผู้อดทน คือประกอบด้วยขันติและอดโทษ คืออดกลั้นความผิดของผู้อื่น ย่อมไม่มีการถึง คือถึงอคติมีฉันทาคติเป็นต้น.
               อธิบายในตอนนี้ว่า
               พระสัมพุทธเจ้าคือพระปัจเจกพุทธเจ้า ครั้นกล่าวคำนี้ด้วยประการดังนี้แล้ว เมื่อจะบรรเทาคือคลายความเร่าร้อนคือความร้อนที่เกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย จึงเหาะขึ้นยังนภากาศในกาลนั้นต่อหน้ามหาชนคือต่อหน้าชนหมู่ใหญ่พร้อมทั้งพระราชาผู้มาประชุมกันอยู่.
               บทว่า เตน กมฺเมนหํ ธีร ความว่า ข้าแต่พระธีรเจ้า คือข้าแต่พระองค์ผู้สมบูรณ์ด้วยธิติ เพราะกรรมนั้น คือเพราะกรรมคือความไม่เอื้อเฟื้อที่ได้กระทำไว้ในพระปัจเจกพุทธเจ้า ในอัตภาพสุดท้ายนี้ ข้าพระองค์จึงเข้าถึง คือถึงพร้อมซึ่งความเลวทรามคือความลามก ได้แก่ความเกิดในการทำการงานเป็นช่างกัลบกของพระราชาทั้งหลาย.
               บทว่า สมติกฺกมฺม ตํ ชาตึ ความว่า ล่วง คือล่วงพ้นไปด้วยดีซึ่งความเกิด อันเนื่องด้วยผู้อื่นนั้น.
               บทว่า ปาวิสึ อภยํ ปุรํ ความว่า ข้าพระองค์เข้าไปแล้ว คือเป็นผู้เข้าไปสู่นิพพานบุรี คือนิพพานมหานครอันปลอดภัย.
               บทว่า ตทาปิ มํ มหาวีร ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นวีรบุรุษ ผู้สูงสุด แม้ในกาลนั้นคือแม้ในสมัยที่ทำพระปัจเจกพุทธเจ้าให้ขัดเคืองนั้น พระสยัมภูคือพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ทรงบรรเทาคือทรงทำให้ห่างไกล ซึ่งความเร่าร้อนคือความกระวนกระวายทางกายและจิตอันเกิดขึ้นเพราะเหตุแห่งความขัดเคือง.
               เชื่อมความว่า
               พระสยัมภูทรงเห็นโทษอันตั้งอยู่ดีแล้ว คือตั้งอยู่ด้วยดีในการแสดงความเป็นโทษ จึงอดโทษเราผู้เร่าร้อน คือเดือดร้อนอยู่ด้วยความเดือดร้อนในภายหลัง คือด้วยความรำคาญใจนั้นนั่นแหละ คืออดกลั้นความผิดนั้น.
               บทว่า อชฺชาปิ มํ มหาวีร ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดแห่งวีรชน แม้วันนี้ คือแม้ในกาลที่พระองค์มาประชุมกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทำข้าพระองค์ผู้ถูกไฟ ๓ กอง คือถูกไฟ ๓ กอง คือราคะ โทสะและโมหะ หรือไฟ คือนรก เปรตและสังสาระแผดเผาอยู่คือได้เสวยทุกข์อยู่ ให้ถึงคือให้ถึงพร้อมด้วยความเย็น ได้แก่ความเย็น กล่าวคือความสงบกายและจิต เพราะโทมนัสพินาศไป หรือพระนิพพานนั่นเอง.
               เชื่อมความว่า ทรงทำไฟ ๓ กอง คือไฟ ๓ กองนั้น ซึ่งมีประการดังกล่าวแล้วให้ดับ คือให้เข้าไปสงบ.
               ครั้นแสดงอปทานอันเลวของตนแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยประการอย่างนี้แล้ว เมื่อจะกล่าวชักชวนแม้คนอื่นๆ ให้ฟังอปทานอันเลวนั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า เยสํ โสตาวธานตฺถิ ดังนี้.
               ในคำนั้น มีใจความว่าท่านเหล่าใดมีการเงี่ยโสต คือการตั้งโสตลง ท่านเหล่านั้นจงฟัง คือจงใส่ใจคำของเราผู้กล่าวอยู่.
               บทว่า อตฺถํ ตุมฺหํ ปวกฺขามิ เชื่อมความว่า เราเห็นบทคือพระนิพพานโดยประการใด เราจักกล่าวปรมัตถ์กล่าวคือพระนิพพานแก่ท่านทั้งหลายโดยประการนั้น.
               เมื่อจะแสดงข้อนั้นจึงกล่าวคำมีอาทิว่า สยมฺภุํ ตํ วิมาเนตฺวา ดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำนั้นดังต่อไปนี้ :-
               เราดูหมิ่นคือกระทำความไม่เอื้อเฟื้อพระสยัมภู คือพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นเอง คือผู้เกิดในอริยชาติ ผู้มีจิตสงบ มีใจมั่น เพราะกรรมนั้นคือเพราะอกุศลที่ทำแล้วนั้น จึงเป็นผู้เกิดคือเป็นผู้บังเกิดในชาติต่ำ คือในชาติที่เนื่องกับคนอื่น คือในชาติเป็นช่างกัลบก ในวันนี้คือในปัจจุบันนี้.
               บทว่า มา โข ขณํ วิราเธถ ความว่า ท่านทั้งหลายอย่าพลาด คืออย่าทำให้พลาดขณะที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น,
               จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายผู้ล่วงพ้นขณะ คือก้าวล่วงขณะที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ย่อมเศร้าโศก. อธิบายว่า ย่อมเศร้าโศกอย่างนี้ว่า พวกเราเป็นผู้ไม่มีบุญ มีปัญญาทราม ดังนี้. ท่านทั้งหลายจงพยายาม คือจงกระทำความเพียรในประโยชน์ของตน คือในความเจริญของตน.
               อธิบายว่า ท่านทั้งหลายจงทำขณะคือสมัยที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นให้ถึงเฉพาะ คือให้สำเร็จ ได้แก่ถึงแล้ว.
               เบื้องหน้าแต่นั้น เมื่อจะแสดงโทษของผู้ที่ไปในสงสาร โดยอุปมาอุปไมย จึงกล่าวคำมีอาทิว่า เอกจฺจานญฺจ วมนํ ดังนี้.
               ในคำนั้นเชื่อมความว่า
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกยาสำรอก คือยาทำให้อาเจียนแก่บุคคลบางพวก ยารุคือยาถ่ายแก่บุคคลบางพวก ยาพิษร้ายคือยาพิษอันทำให้สลบแก่บุคคลบางพวก และยาคืออุบายสำหรับรักษาแก่บุคคลบางพวกโดยลำดับ ด้วยประการอย่างนี้.
               บทว่า วมนํ ปฏิปนฺนานํ เชื่อมความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกการสำรอก คือการทิ้งสงสาร ได้แก่การพ้นสงสารแก่คนผู้ปฏิบัติ คือผู้มีความพร้อมพรั่งด้วยมรรค.
               เชื่อมความว่า ตรัสบอกการถ่ายคือการไหลออกจากสงสารแก่ผู้ตั้งอยู่ในผล. ตรัสบอกโอสถคือพระนิพพานแก่ผู้มีปกติได้ผล คือได้ผลแล้วดำรงชีวิตอยู่. ตรัสบอกพระสงฆ์ผู้เป็นบุญเขต แก่ผู้แสวงหา คือผู้แสวงหามนุษย์สมบัติ เทวสมบัติและนิพพานสมบัติ.
               บทว่า สาสเนน วิรุทฺธานํ เชื่อมความว่า ตรัสบอกยาพิษอันร้ายแรง คือความแตกตื่น ได้แก่บาปอกุศล แก่คนผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อพระศาสนา.
               บทว่า ยถา อาสีวิโส เชื่อมความว่า ยาพิษอันร้ายแรงย่อมเผา คือเผาลนนระนั้น คือนระผู้ไม่มีศรัทธาทำแต่บาปนั้น ได้แก่ทำให้ซูบซีดในอบายทั้ง ๔ เช่นกับอสรพิษ คือเหมือนอสรพิษ คืองูชื่อว่าทิฏฐวิสะ เพราะกระทำให้เป็นเถ้าธุลีโดยสักแต่ว่าเห็น ย่อมแผดเผานระที่ตนเห็นคือทำให้ลำบากฉะนั้น.
               บทว่า สกึ ปีตํ หลาหลํ ความว่า ยาพิษอันร้ายแรงที่ดื่มเข้าไป ย่อมเข้าไปปิดกั้นชีวิต คือทำชีวิตให้พินาศไปคราวเดียว คือวาระเดียว แต่บุคคลผิดแล้ว คือทำความผิดในพระศาสนา ย่อมถูกเผา คือย่อมถูกแผดเผาในโกฏิกัป คือในกัปนับด้วยโกฏิ.
               ครั้นแสดงผลวิบากของบุคคลผู้ไม่มีศรัทธาอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะแสดงอานุภาพของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ขนฺติยา ดังนี้.
               ในคำนั้นมีอธิบายว่า
               พระพุทธเจ้าผู้ตรัสบอกการสำรอกเป็นต้นนั้น ย่อมยังโลกพร้อมทั้งเทวโลก คือเป็นไปกับด้วยเทวดาทั้งหลาย ให้ข้ามคือก้าวพ้น ได้แก่ให้ดับด้วยขันติคือความอดทน ด้วยอวิหิงสาคือการไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย และด้วยความมีเมตตาจิตคือมีจิตเมตตา เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลาย อันพวกท่านไม่ควรผิดพลาดคือไม่อาจผิดพลาด.
               อธิบายว่า พึงปฏิบัติตามพระพุทธศาสนา.
               อธิบายในคาถาต่อไปว่า ย่อมไม่ข้อง คือไม่คบ ไม่ติดในลาภและในการไม่มีลาภ.
               พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่หวั่นไหว ในการนับถือคือในการกระทำความเอื้อเฟื้อ และในการดูหมิ่นคือการกระทำความไม่เอื้อเฟื้อ ย่อมเป็นเช่นกับแผ่นดิน เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ท่านทั้งหลายไม่ควรคิดร้าย คือไม่พึงมุ่งร้าย คือไม่อาจมุ่งร้าย.
               เมื่อจะแสดงความที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายพระองค์เป็นกลาง จึงกล่าวคำมีอาทิว่า เทวทตฺเต ดังนี้.
               ในคำนั้นมีอธิบายว่า พระมุนีคือพระพุทธมุนี เป็นผู้เสมอคือมีพระมนัสเสมอในสัตว์ทั้งปวงทั้งผู้ฆ่าและผู้ไม่ฆ่า.
               บทว่า เอเตสํ ปฏิโฆ นตฺถิ เชื่อมความว่า ปฏิฆะคือความดุร้าย ได้แก่ความเป็นผู้มีจิตประกอบด้วยโทสะ ย่อมไม่มีแก่พระพุทธเจ้าเหล่านี้ ราคะย่อมไม่มีแก่พระพุทธเจ้าเหล่านี้.
               อธิบายว่า แม้ราคะคือความกำหนัด ได้แก่การติดใจย่อมไม่มี คือย่อมไม่ได้แก่พระพุทธเจ้าเหล่านี้ เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงเป็นผู้เสมอ คือมีพระทัยเสมอต่อสัตว์ทั้งปวงคือต่อผู้ฆ่าและพระโอรส.
               เมื่อจะแสดงอานุภาพเฉพาะของพระพุทธเจ้าทั้งหลายซ้ำอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ปนฺเถ ทิสฺวาน กาสาวํ ดังนี้.
               ในคำนั้นมีอธิบายว่า
               ใครๆ เห็นผ้ากาสาวะ คือจีวรย้อมด้วยน้ำฝาดอันเปื้อนคูถ คือระคนด้วยคูถ อันเป็นธงชัยของพระฤาษี ได้แก่เป็นธงคือบริขารของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ที่เขาทิ้งไว้ในหนทาง จึงกระทำอัญชลี คือกระทำการประชุมนิ้วทั้ง ๑๐ ได้แก่กระพุ่มอัญชลีเหนือศีรษะแล้วพึงไหว้ด้วยเศียรเกล้า คือพึงไหว้ พึงนับถือ พึงบูชาธงของฤาษีคือธงของพระอรหัต ได้แก่จีวรอันแสดงความเป็นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวก.
               บทว่า อพฺภตีตา ความว่า พระพุทธเจ้าเหล่าใดอัสดงคตไปยิ่งแล้ว คือดับไปแล้ว พระพุทธเจ้าเหล่าใดกำลังเป็นไปอยู่ คือเกิดแล้วในบัดนี้ และพระพุทธเจ้าเหล่าใดยังไม่มีมา คือยังไม่เกิด ไม่เป็น ไม่บังเกิด คือยังไม่ปรากฏ.
               บทว่า ธเชนาเนน สุชฺฌนฺติ ความว่า พระพุทธเจ้าเหล่านี้ย่อมหมดจดคือบริสุทธิ์ งดงามด้วยธงของฤาษี คือด้วยจีวรนี้. เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านี้จึงควรนอบน้อม นมัสการ กราบไหว้.
               บาลีว่า เอตํ นมสฺสิยํ ดังนี้ก็มี.
               บาลีนั้นมีใจความว่า พึงนมัสการธงของฤาษีนั้น.
               เบื้องหน้าแต่นั้นไป เมื่อจะแสดงคุณของตน จึงกล่าวคำมีอาทิว่า สตฺถุกปฺปํ ดังนี้.
               ในคำนั้นมีอธิบายว่า เราทรงจำไว้ด้วยหทัยคือด้วยจิต ได้แก่เราพิจารณาด้วยการฟังและการทรงจำเป็นต้น ซึ่งพระวินัยอันถูก ต้อง คือพระวินัยอันดีงาม ได้แก่การฝึกไตรทวารด้วยอาการอันงาม เหมือนกับพระศาสดา คือเหมือนกับพระพุทธเจ้า.
               อธิบายว่า เรานมัสการคือไหว้พระวินัย ได้แก่พระวินัยปิฎก จักกระทำความเอื้อเฟื้อในพระวินัยอยู่ คือสำเร็จการอยู่ทุกกาล ได้แก่ในกาลทั้งปวง.
               บทว่า วินโย อาสโย มยฺหํ ความว่า พระวินัยปิฎกเป็นโอกาส คือเป็นเรือนของเรา ด้วยอำนาจการฟัง การทรงจำ การมนสิการ การเล่าเรียน การสอบถามและการประกาศ.
               บทว่า วินโย ฐานจงฺกมํ ความว่า พระวินัยเป็นฐานที่ยืนและเป็นฐานที่จงกรม ด้วยการทำกิจมีการฟังเป็นต้นของเรา.
               บทว่า กปฺเปมิ วินเย วาสํ ความว่า เราสำเร็จคือกระทำการอยู่ คือการนอนในพระวินัยปิฎก คือในแบบแผนแห่งพระวินัย ด้วยอำนาจการฟัง การทรงจำและการประกาศ.
               บทว่า วินโย มม โคจโร ความว่า พระวินัยปิฎกเป็นโคจรคือเป็นอาหาร ได้แก่เป็นโภชนะของเราด้วยอำนาจการทรงจำและการมนสิการเป็นนิจ.
               บทว่า วินเย ปารมิปฺปตฺโต ได้แก่ ถึงความยอดเยี่ยม คือที่สุดในวินัยปิฎกทั้งสิ้น.
               บทว่า สมเถ จาปิ โกวิโท ความว่า เป็นผู้ฉลาดคือเป็นผู้เฉลียวฉลาดในการระงับ คือในการสงบระงับ และการออกจากกองอาบัติทั้ง ๗ มีปาราชิกเป็นต้น,
               อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่เป็นผู้ฉลาดยิ่งคือเป็นผู้เฉลียวฉลาดในอธิกรณสมถะ
               คือในอธิกรณ์ที่ท่านกล่าวว่า
                         ท่านรู้กันว่า อธิกรณ์มี ๔ คือวิวาทาธิกรณ์ อนุวาทาธิกรณ์
               อาปัตตาธิกรณ์ และกิจจาธิกรณ์.

               และในอธิกรณสมถะ ๗ ที่กล่าวไว้อย่างนี้ว่า
                         สัมมุขาวินัย สติวินัย อมูฬหวินัย ปฏิญญาตกรณะ
               เยภุยยสิกา ตัสสปาปิยสิกา และติณวัตถารกะ.

               บทว่า อุปาลิ ตํ มหาวีร ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญผู้มีความเพียรใหญ่ยิ่ง คือผู้มีความเพียร เพื่อบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ในสี่อสงไขยแสนกัป พระอุบาลีภิกษุย่อมไหว้ คือย่อมกระทำความนอบน้อมที่พระบาท คือที่พระบาทยุคลของพระองค์ผู้เป็นศาสดา คือผู้พร่ำสอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
               เชื่อมความว่า ข้าพระองค์นั้นบวชแล้วนมัสการอยู่ คือกระทำการนอบน้อมพระสัมพุทธเจ้าอยู่ และรู้ว่าพระธรรมคือโลกุตรธรรม ๙ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงแสดงแล้ว เป็นธรรมดีคือว่าเป็นธรรมงาม จึงนมัสการพระธรรมอยู่ จักเที่ยวไปจากบ้านสู่บ้าน จากบุรีสู่บุรี คือจากนครสู่นคร.
               บทว่า กิเลสา ฌาปิตา มยฺหํ ความว่า กิเลสทั้งหมดนับได้ ๑,๕๐๐ ซึ่งอยู่ในจิตตสันดานของข้าพระองค์ อันข้าพระองค์เผา คือทำให้ซูบซีด เหือดแห้ง พินาศไปแล้ว ด้วยอรหัตมรรคญาณที่แทงตลอดแล้ว.
               บทว่า ภวา สพฺเพ สมูหตา ความว่า ภพทั้งหมด ๙ ภพมีกามภพเป็นต้น ข้าพระองค์ถอนแล้ว คือถอนหมดแล้ว ได้แก่ทำให้สิ้นแล้ว ขจัดแล้ว.
               บทว่า สพฺพาสวา ปริกฺขีณา ความว่า อาสวะทั้งหมด ๔ อย่างคือกามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะและอวิชชาสวะ สิ้นไปรอบแล้ว คือถึงความสิ้นไปโดยรอบ.
               อธิบายว่า บัดนี้ คือในกาลที่บรรลุพระอรหัตแล้วนี้ ภพใหม่คือภพ กล่าวคือการเกิดอีก ได้แก่การเป็น การเกิด ย่อมไม่มี.
               เมื่อจะเปล่งอุทานด้วยความโสมนัสอย่างยิ่ง จึงกล่าวคำมีอาทิว่า สฺวาคตํ ดังนี้.
               ในคำนั้นเชื่อมความว่า การที่ข้าพระองค์มาในสำนักคือในที่ใกล้หรือในนครเดียวกันแห่งพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ คือแห่งพระพุทธเจ้าผู้สูงสุด เป็นการมาดีแล้ว คือเป็นการมาดี เป็นการมาอย่างงดงามโดยแท้ คือโดยส่วนเดียว.
               บทว่า ติสฺโส วิชฺชา ความว่า ข้าพระองค์บรรลุ คือถึงพร้อม ได้แก่ทำให้ประจักษ์วิชชา คือบุพเพนิวาสญาณ ทิพพจักขุญาณและอาสวักขยญาณ.
               บทว่า กตํ พุทฺธสฺส สาสนํ ความว่า คำสั่งสอนคือการพร่ำสอนอันพระพุทธเจ้า คือพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว ข้าพระองค์กระทำแล้ว คือให้สำเร็จแล้ว ได้แก่ยังวัตรปฏิบัติให้บริบูรณ์ มนสิการกรรมฐานแล้วให้สำเร็จด้วยการบรรลุอรหัตมรรคญาณ.
               บทว่า ปฏิสมฺภิทา จตสฺโส ความว่า ปัญญา ๔ ประการ มีอัตถปฏิสัมภิทาเป็นต้น ข้าพระองค์ทำให้แจ้งแล้ว คือทำให้ประจักษ์แล้ว.
               บทว่า วิโมกฺขาปิ จ อฏฺฐิเม เชื่อมความว่า วิโมกข์คืออุบายเครื่องพ้นจากสงสาร ๘ ประการเหล่านี้ คือมรรคญาณ ๔ ผลญาณ ๔ ข้าพระองค์ทำให้แจ้งแล้ว.
               บทว่า ฉฬภิญฺญา สจฺฉิกตา ความว่า อภิญญา ๖ เหล่านี้ คือ
                                   อิทธิวิธะ แสดงฤทธิ์ได้ ทิพพโสตะ หูทิพย์ เจโตปริยญาณ
                         กำหนดใจคนอื่นได้ ปุพเพนิวาสญาณ ระลึกชาติได้ ทิพพจักขุ
                         ตาทิพย์ และอาสวักขยญาณ ความรู้ในการทำอาสวะให้สิ้นไป.

               ข้าพระองค์ทำให้แจ้งแล้ว คือทำให้ประจักษ์แล้ว, คำสอนของพระพุทธเจ้าชื่อว่าทำเสร็จแล้ว เพราะการทำให้แจ้งญาณเหล่านี้.
               บทว่า อิตฺถํ ได้แก่ ด้วยประการดังกล่าวในหนหลังนี้.
               ศัพท์ว่า สุทํ เป็นนิบาตใช้ในอรรถสักว่าทำบทให้เต็ม.
               บทว่า อายสฺมา อุปาลิ เถโร ความว่า สาวกผู้ประกอบด้วยคุณมีศีลอันมั่นคงเป็นต้นได้ภาษิต คือกล่าวคาถาเหล่านี้ อันแสดงอปทานแห่งความประพฤติในกาลก่อน.

               จบพรรณนาอุบาลีเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๘. อุปาลีเถราปทาน (๖) จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 7อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 8อ่านอรรถกถา 32 / 9อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=801&Z=1074
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=8280
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=8280
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :