ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 133อรรถกถา เล่มที่ 33.1 ข้อ 134อ่านอรรถกถา 33.1 / 135อ่านอรรถกถา 33.1 / 180
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ ๕๕. ภัททิยวรรค
๔. วังคีสเถราปทาน

               ๕๔๔. อรรถกถาวังคีสเถราปทาน               
               พึงทราบเรื่องราวในอปทานที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-
               อปทานของท่านพระวังคีสเถระมีคำเริ่มต้นว่า ปทุมุตฺตโร นาม ชิโน ดังนี้.
               แม้พระเถระรูปนี้ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพนั้นๆ.
               ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านได้บังเกิดในตระกูลที่มีโภคะมากมาย ในหังสวดีนคร เจริญวัยแล้วได้ไปยังพระวิหารพร้อมกับชาวพระนครผู้กำลังเดินไปเพื่อฟังธรรม ขณะกำลังฟังธรรม ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งซึ่งพระศาสดาทรงสถาปนาเธอไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าพวกภิกษุผู้มีปฏิภาณแล้ว ได้บำเพ็ญกรรมที่ดียิ่งแด่พระศาสดาแล้ว ตั้งความปรารถนาไว้ว่า ในอนาคตกาล แม้เราก็พึงเป็นผู้เลิศกว่าพวกภิกษุผู้มีปฏิภาณบ้างดังนี้ ได้รับการพยากรณ์จากพระศาสดาแล้ว ก็บำเพ็ญแก่กุศลกรรมจนตลอดชีวิตแล้ว ได้เสวยสมบัติทั้งสองในเทวโลกและมนุษยโลก.
               ในพุทธุปบาทกาลนี้ เขาได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในกรุงสาวัตถี เพราะมีปริพาชิกาเป็นมารดา ในกาลต่อมาจึงได้ปรากฏว่า ปริพาชก และมีชื่อว่าวังคีสะ เล่าเรียนไตรเพทแล้ว เพราะไตรเพทนั้นจึงทำอาจารย์ให้ยินดี ได้ศึกษามนต์ชนิดที่สามารถจะรู้ได้ด้วยหัวกะโหลก เอาเล็บดีดหัวกะโหลกแล้วย่อมรู้ว่า สัตว์ผู้นี้ได้บังเกิดในกำเนิดโน้น.
               พวกพราหมณ์พากันคิดว่า อาชีพนี้เป็นทางเครื่องเลี้ยงชีวิตของพวกเรา จึงพาวังคีสะนั้นท่องเที่ยวไปในหมู่บ้าน ตำบลและตัวมือง. วังคีสะประกาศให้ผู้คนนำเอาศีรษะ เฉพาะของพวกคนผู้ตายไปแล้ว ภายในขอบเขต ๓ ปีมาแล้วเอาเล็บดีดแล้วกล่าวว่า สัตว์ผู้นี้บังเกิดแล้วในกำเนิดโน้น ดังนี้แล้วให้ชนเหล่านั้นนำเอามา เพื่อกำจัดตัดความสงสัยของมหาชนเสียแล้วก็ให้หัวกะโหลกบอกถึงคติของตนของตน. ด้วยเหตุนั้น มหาชนจึงเลื่อมใสอย่างยิ่งในตัวเขา.
               เขาอาศัยมนต์อันนั้นย่อมได้เงิน ๑๐๐ กหาปณะบ้าง ๑,๐๐๐ กหาปณะบ้างจากมือของมหาชน. พวกพราหมณ์อาศัยวังคีสะพากันเที่ยวไปแล้วตามความสบายใจ.
               วังคีสะได้สดับพระคุณทั้งหลายของพระศาสดาแล้ว ได้มีความประสงค์จะเข้าไปเฝ้าพระศาสดา. พวกพราหมณ์พากันห้ามว่า พระสมณโคดมจักเอามายาเข้ากลับใจท่านเสีย.
               วังคีสะไม่เชื่อคำของพราหมณ์เหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระศาสดา กระทำการปฏิสันถารแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง.
               พระศาสดาตรัสถามเขาว่า วังคีสะ เธอรู้ศิลปะอะไรบ้าง.
               วังคีสะกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ใช่แล้ว ข้าพระองค์ รู้มนต์อย่างหนึ่งชื่อว่ามนต์สำหรับดีดหัวกะโหลก โดยการที่ข้าพระองค์เอาเล็บดีดศีรษะแม้ของคนที่ตายแล้วภายในระยะเวลา ๓ ปี ก็จะรู้ถึงที่ที่เขาไปบังเกิดแล้วได้.
               ลำดับนั้น พระศาสดารับสั่งให้ภิกษุนำเอาศีรษะของผู้ที่บังเกิดในนรก ๑ ศีรษะ ศีรษะของคนที่บังเกิดในหมู่มนุษย์ ๑ ศีรษะ ศีรษะของผู้บังเกิดในหมู่เทวดา ๑ ศีรษะ ศีรษะของผู้ปรินิพพานแล้ว ๑ ศีรษะให้แสดงแก่วังคีสะนั้น.
               เขาดีดศีรษะที่ ๑ แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สัตว์ผู้นี้ไปบังเกิดในนรก.
               พระศาสดาตรัสว่า ดีละ วังคีสะ เธอเห็นแล้วด้วยดี แล้วตรัสถามอีกว่า สัตว์ผู้นี้ไปบังเกิดที่ไหน?
               วังคีสะกราบทูลว่า ในมนุษยโลก พระเจ้าข้า.
               พระศาสดาตรัสถามอีกว่า ได้กราบทูลที่บังเกิดของสัตว์ทั้ง ๓ ได้อย่างถูกต้อง.
               แต่เมื่อเอาเล็บดีดศีรษะของผู้ปรินิพพานแล้ว ก็ไม่เห็นเบื้องต้นและเบื้องปลาย.
               ลำดับนั้น พระศาสดาจึงตรัสถามเขาว่า วังคีสะไม่สามารถหรือ?
               วังคีสะกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์คอยดูนะ ขอให้ข้าพระองค์พิจารณาดูก่อน ดังนี้แล้วแม้จะพยายามร่ายมนต์กลับไปกลับมา ก็ไม่สามารถจะรู้ศีรษะของพระขีณาสพด้วยมนต์ภายนอก.
               ลำดับนั้น เหงื่อได้ไหลออกจากศีรษะของเขาแล้ว. เขาละอายใจได้แต่นิ่งเงียบไป.
               ลำดับนั้น พระศาสดาจึงได้ตรัสกะเขาว่า ลำบากใจนักหรือ วังคีสะ.
               วังคีสะกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ใช่แล้ว ข้าพระองค์ไม่สามารถที่จะรู้ถึงที่บังเกิดของศีรษะนี้ได้ ถ้าพระองค์ทรงทราบขอจงตรัสบอก.
               พระศาสดาตรัสว่า วังคีสะ เรารู้ถึงศีรษะนี้ได้อย่างดี เรารู้ยิ่งกว่านี้ ดังนี้แล้วได้ตรัสพระคาถา ๒ คาถานี้ว่า
                                   ผู้ใดรู้การจุติและการอุบัติของปวงสัตว์ได้ทั้งหมด
                         เรากล่าวผู้นั้น ซึ่งไม่ขัดข้อง ไปดีแล้ว รู้แล้วว่า เป็นพราหมณ์.
                         เทวดา คนธรรพ์และหมู่มนุษย์ ไม่รู้ทางไปของผู้ใด เรากล่าว
                         ผู้นั้น ผู้สิ้นอาสวะ เป็นพระอรหันต์ ว่าเป็นพราหมณ์ ดังนี้.

               วังคีสะนั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้นขอพระองค์จงประทานวิชานั้นให้แก่พระองค์เถิดแล้ว แสดงความเคารพนั่งเฝ้าพระศาสดาแล้ว.
               พระศาสดาตรัสว่า เราจะให้แก่คนที่มีเพศเสมอกับเรา.
               วังคีสะคิดว่า เราควรทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเรียนมนต์นี้ให้ได้ จึงเข้าไปหาพวกพราหมณ์พูดว่า เมื่อเราออกบวช พวกท่านก็อย่าคิดอะไรเลย เราเรียนมนต์แล้วจักได้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ในชมพูทวีปทั้งสิ้น แม้พวกท่านก็จักมีชื่อเสียงไปกับเรานั้นด้วย.
               วังคีสะนั้นเข้าไปเฝ้าพระศาสดาแล้ว ทูลขอบวชเพื่อต้องการมนต์.
               ก็ในเวลานั้น พระนิโครธกัปปเถระอยู่ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งเธอว่า นิโครธกัปปะ เธอจงบวชวังคีสะผู้นี้ด้วยเถิด ดังนี้แล้วทรงบอก (สมถะ) กัมมัฏฐานคืออาการ ๓๒ และวิปัสสนากัมมัฏฐานให้แล้ว.
               พระวังคีสะนั้น เมื่อกำลังสาธยายกัมมัฏฐานคืออาการ ๓๒ อยู่ ก็เริ่มบำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้ว. พวกพราหมณ์เข้าไปหาวังคีสะนั้นแล้ว ถามว่า วังคีสะผู้เจริญ ท่านเล่าเรียนศิลปะในสำนักของพระสมณโคดมจบแล้วหรือ.
               พระวังคีสะตอบว่า ใช่ เราเล่าเรียนจบแล้ว.
               พวกพราหมณ์กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจงมา พวกเราจักไปกัน ประโยชน์อะไรด้วยการศึกษาศิลปะ.
               พระวังคีสะตอบว่า พวกท่านจงไปกันเถิด เราไม่มีกิจที่จะพึงทำร่วมกับพวกท่าน.
               พวกพราหมณ์กล่าวว่า บัดนี้ ท่านตกอยู่ภายใต้อำนาจของพระสมณโคดม พระสมณโคดมใช้มายากลับใจท่านเสียแล้ว พวกเราจักทำอะไรในสำนักของท่านได้ ดังนี้แล้ว จึงหลีกไปตามหนทางที่มาแล้วนั่นเอง.
               พระวังคีสะเจริญวิปัสสนาแล้วกระทำให้แจ้งพระอรหัต.
               พระเถระบรรลุพระอรหัตแล้วอย่างนั้น ก็ระลึกถึงบุรพกรรมของตน เกิดความโสมนัสใจ เมื่อจะประกาศถึงเรื่องราวที่ตนเคยได้ประพฤติมาแล้วในกาลก่อน จึงกล่าวคำเริ่มต้นว่า ปทุมุตฺตโร นาม ชิโน ดังนี้.
               ข้าพเจ้าจักพรรณนาเฉพาะบทที่มีเนื้อความยากเท่านั้น.
               บทว่า ปภาหิ อนุรญฺชนฺโต ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระพระองค์นั้น ทรงเปล่งปลั่ง รุ่งเรือง สวยงาม โชติช่วงด้วยพระรัศมี มีแสงสว่างด้วยฉัพพรรณรังสี มีสีเขียวและสีเหลืองเป็นต้น.
               บทว่า เวเนยฺยปทุมานิ โส ความว่า พระอาทิตย์คือพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงยังดอกปทุมคือเวไนยชนให้ตื่น ให้เบิกบานโดยพิเศษด้วยรัศมีแห่งพระอาทิตย์ กล่าวคือพระดำรัสของพระองค์ ได้แก่ทรงกระทำให้ผลิผลได้ ด้วยการบรรลุอรหัตมรรคแล.
               บทว่า เวสารชฺเชหิ สมฺปนฺโน ความว่า สมบูรณ์ พรั่งพร้อมคือประกอบพร้อมแล้วด้วยจตุเวสารัชชญาณ.
               สมความที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า :-
                         พระพุทธเจ้าทรงแกล้วกล้าเป็นอย่างดีในฐานะ ๔
                         เหล่านี้คือ ในเมื่อมีอันตราย ในธรรมเครื่องนำออก
                         จากวัฏฏะ ในความเป็นพระพุทธเจ้าและในการทำ
                         อาสวะให้สิ้นไป ดังนี้.

               บทว่า วาคีโส วาทิสูทใน ความว่า เป็นใหญ่คือเป็นประธานของพวกนักปราชญ์ คือพวกบัณฑิต
               พึงทราบว่า ควรจะกล่าวว่า วาทีโส แต่กล่าวไว้อย่างนั้น เพราะทำ อักษรให้เป็น อักษร.
               ชื่อว่าวาทิสูทนะ เพราะทำอรรถะของตนให้เป็นอรรถะอื่น คือให้ไหลออก ได้แก่ทำให้ชัดเจน.
               บทว่า มารมสนา มีวิเคราะห์ว่า ชื่อว่ามารมสนะ เพราะถูกต้อง ลูบคลำ ทำลายมาร ๕ มีขันธมารเป็นต้นได้.
               บทว่า ทิฏฐิสูทนา มีวิเคราะห์ว่า ชื่อว่าทิฏฐิสุทนะ เพราะความเห็นทิฏฐิคือจริงตามที่โลกกล่าว ย่อมหลั่งไหลออก คือแสดงถึงความไหลออก.
               บทว่า วิสฺสามภูมิ สนฺตานิ ความว่า ภูมิเป็นที่พัก ที่เป็นที่หยุดอยู่ ได้แก่ที่เป็นที่เข้าไปสงบของสัตว์ผู้ต้องสืบต่อ ผู้ลำบากอยู่ในสงสารสาครทั้งสิ้น ด้วยการบรรลุมรรคมีโสตาปัตติมรรคเป็นต้น.
               บทว่า ตโตหํ วิหตารมฺโภ ความว่า เพราะได้เห็นพระสรีระของพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์นั้น เราฆ่าความหัวดื้อ ทำความแข่งดีให้พินาศไป กำจัดมานะเสียไม่มัวเมาแล้ว จึงอ้อนวอนขอการบวชแล้ว.
               คำที่เหลือมีเนื้อความพอจะรู้ได้โดยง่ายทีเดียวแล.
               จบอรรถกถาวังคีสเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ ๕๕. ภัททิยวรรค ๔. วังคีสเถราปทาน จบ.
อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 133อรรถกถา เล่มที่ 33.1 ข้อ 134อ่านอรรถกถา 33.1 / 135อ่านอรรถกถา 33.1 / 180
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=3621&Z=3719
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=6703
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=6703
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :