ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 22อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 23อ่านอรรถกถา 33.2 / 24อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
๒๒. กุกกุสันธพุทธวงศ์

               พรรณนาวงศ์พระกกุสันธพุทธเจ้าที่ ๒๒               
               เมื่อพระเวสสภูสยัมภูพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เมื่อกัปนั้นล่วงไป ดวงพระทินกรคือพระชินพุทธเจ้าก็ไม่อุบัติขึ้นถึง ๒๙ กัป ส่วนในภัทรกัปนี้บังเกิดพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์แล้วคือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะและพระพุทธเจ้าของเรา. ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าเมตไตรยจักอุบัติในอนาคตกาล.
               ด้วยประการดังกล่าวมานี้ กัปนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงสรรเสริญว่าเป็นภัทรกัป เพราะประดับด้วยการเกิดพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์.
               ใน ๕ พระองค์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายแล้วบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต จุติจากนั้นแล้ว ก็ถือปฏิสนธิในครรภ์ของพราหมณีชื่อว่าวิสาขา เอกภริยาของปุโรหิตชื่อว่าอัคคิทัตตะ ผู้อนุศาสน์อรรถธรรมถวายพระเจ้าเขมังกร กรุงเขมวดี ก็เมื่อใดกษัตริย์ทั้งหลายสักการะเคารพนับถือพราหมณ์ทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ทั้งหลายจึงบังเกิดในสกุลพราหมณ์.
               ก็เมื่อใด พราหมณ์ทั้งหลายสักการะเคารพนับถือบูชากษัตริย์ทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ทั้งหลายจึงบังเกิดในสกุลกษัตริย์.
               ได้ยินว่า ในครั้งนั้น พราหมณ์ทั้งหลายอันกษัตริย์ทั้งหลายสักการะเคารพ เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์ชื่อว่ากกุสันธะ ผู้มั่นอยู่ในสัจจะ เมื่อจะยังหมื่นโลกธาตุให้บันลือหวั่นไหวจึงอุบัติในสกุลพราหมณ์ที่ไม่อากูล แต่อากูลด้วยเหตุเกิดสิริสมบัติ ก็บังเกิดปาฏิหาริย์ดังกล่าวมาแล้วในหนหลัง.
               จากนั้น ถ้วนกำหนดทศมาสก็ประสูติจากครรภ์มารดา ณ เขมวดีอุทยาน เหมือนเปลวไฟแลบออกจากเถาวัลย์ทอง.
               พระโพธิสัตว์นั้นครองฆราวาสวิสัยอยู่สี่พันปี มีปราสาท ๓ หลังชื่อว่ากามะ กามวัณณะและกามสุทธิ ปรากฏมีสตรีบริจาริกาสามหมื่นนางมีนางโรจินีพราหมณี๑- เป็นประมุข.
____________________________
๑- บาลีเป็น โรปินี.

               เมื่อกุมารชื่อว่าอุตตระ ผู้ยอดเยี่ยมของโรจินีพราหมณ์เกิดแล้ว พระโพธิสัตว์นั้นก็เห็นนิมิต ๔ แล้วออกมหาภิเนษกรมณ์ด้วยรถม้าที่จัดเตรียมไว้แล้วบวช บุรุษสี่หมื่นก็บวชตามพระโพธิสัตว์นั้น.
               พระโพธิสัตว์นั้นอันบรรพชิตเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว บำเพ็ญเพียร ๘ เดือน ในวันวิสาขบูรณมี บริโภคข้าวมธุปายาสที่ธิดาวชิรินธพราหมณ์ ณ สุจิรินธนิคม ถวาย พักผ่อนกลางวัน ณ ป่าตะเคียน เวลาเย็นรับหญ้า ๘ กำที่คนเฝ้าไร่ข้าวเหนียวชื่อสุภัททะถวาย เข้าไปยังโพธิพฤกษ์ชื่อสิรีสะ คือต้นซึก ซึ่งมีขนาดเท่าต้นแคฝอย มีกลิ่นหอมเมื่อลมโชย ลาดสันถัตหญ้ากว้าง ๓๔ ศอก นั่งขัดสมาธิ บรรลุพระสัมโพธิญาณ ทรงเปล่งพระอุทานว่า อเนกชาติสํสารํ ฯเปฯ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา ดังนี้.
               ทรงยับยั้งอยู่ ๗ สัปดาห์ ทรงเห็นว่าภิกษุสี่หมื่นที่บวชกับพระองค์เป็นผู้สามารถแทงตลอดสัจจะ วันเดียวเท่านั้น ก็เสด็จเข้าไปยังอิสิปตนะมิคทายวัน ซึ่งมีอยู่แล้วใกล้ๆ มกิลนคร พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ท่ามกลางบรรพชิตเหล่านั้น ทรงประกาศพระธรรมจักร.
               ครั้งนั้น ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๑ ได้มีแก่สัตว์สี่หมื่นโกฏิ.
               ต่อมาอีก ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ณ โคนต้นมหาสาละ ใกล้ประตูกัณกุชนคร ทรงยังธรรมจักษุให้เกิดแก่สัตว์สามหมื่นโกฏิ. นั้นเป็นอภิสมัยครั้งที่ ๒.
               ครั้งยักษ์ชื่อนรเทพ ที่เรียกกันว่าเทพแห่งนรชน ณ เทวาลัยแห่งหนึ่ง ไม่ไกลกรุงเขมวดี ปรากฏตัวเป็นมนุษย์ ยืนอยู่ใกล้สระๆ หนึ่ง ซึ่งมีน้ำเย็นประดับด้วยบัวต้นบัวสายและอุบล มีน้ำเย็นรสอร่อยอย่างยิ่ง มีกลิ่นหอมรื่นรมย์สำหรับชนทั้งปวง อยู่กลางทางกันดาร ล่อลวงสัตว์ทั้งหลายโดยเป็นคนเก็บบัวต้นบัวสายบัวขาวเป็นต้นแล้วกินมนุษย์เสีย.
               เมื่อทางนั้นตัดขาดไม่มีคนไปถึง ยักษ์นรเทพก็เข้าไปดงใหญ่ กินสัตว์ที่ชุมนุมกันในที่นั้นๆ เสียทางนั้น โลกรู้จักกันว่าเป็นทางมหากันดาร. เขาว่า หมู่มหาชนยืนชุมนุมกันใกล้ประตูสองข้างทาง เพื่อช่วยข้ามทางกันดาร.
               ครั้งนั้น พระศาสดากกุสันธะผู้ปราศจากกิเลสเครื่องผูกในภพ วันหนึ่งเวลาใกล้รุ่ง ทรงออกจากมหากรุณาสมาบัติตรวจดูโลก ก็ทรงพบนรเทพยักษ์ผู้มีศักดิ์ใหญ่และกลุ่มชนนั้นเข้าไปในข่ายพระญาณ.
               ครั้นทรงทราบแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จไปทางอากาศ ทั้งที่กลุ่มชนนั้นแลเห็นอยู่นั่นเอง ก็ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์หลายอย่างเสด็จลงที่ภพของนรเทพยักษ์นั้น ประทับนั่งเหนือบัลลังก์อันเป็นมงคล.
               ครั้งนั้น ยักษ์ผู้กินคนตนนั้น เห็นพระทินกรผู้มุนีทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสี ดังดวงทินกรอันสายฟ้าแลบล้อม กำลังเสด็จมาทางอากาศ ก็มีใจเลื่อมใสว่า พระทศพลเสด็จมาที่นี้เพื่อทรงอนุเคราะห์เรา จึงไปป่าหิมพานต์ที่มีหมู่มฤคมาก พร้อมด้วยบริวารยักษ์ รวบรวมดอกไม้ทั้งที่เกิดในน้ำทั้งที่เกิดบนบกอันมีสีและกลิ่นต่างๆ เลือกเอาเฉพาะที่มีกลิ่นหอมจรุงน่ารื่นรมย์ใจอย่างยิ่งมาบูชาพระกกุสันธพุทธเจ้าผู้นำโลกผู้ปราศจากโทษ ซึ่งประทับนั่งเหนือบัลลังก์ของตน ด้วยดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้เป็นต้น แล้วร้องเพลงประสานเสียงสดุดี ทำอัญชลีไว้เหนือเศียร ยืนนมัสการ.
               แต่นั้น มนุษย์ทั้งหลายเห็นปาฏิหาริย์นั้นก็มีจิตใจเลื่อมใส มาประชุมกัน พากันยืนนอบน้อมล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ากกุสันธะ ผู้ไม่มีปฏิสนธิ ทรงยังนรเทพยักษ์ผู้อันมนุษย์และเทวดาบูชายิ่งให้อาจหาญ ด้วยทรงแสดง ความเกี่ยวเนื่องของกรรมและผลของกรรม ให้หวาดสะดุ้งด้วยกถาว่าด้วยนรก แล้วจึงตรัสจตุสัจกถา.
               ครั้งนั้น ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์หาประมาณมิได้ นี้เป็นอภิสมัยครั้งที่ ๓.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         ต่อมาจากสมัยของพระเวสสภูพุทธเจ้า ก็มีพระ
               สัมพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ ผู้สูงสุดแห่งสัตว์สอง
               เท้า ผู้มีพระคุณหาประมาณมิได้ ผู้อันใครๆ เฝ้าได้
               ยาก.
                         ทรงเพิกถอนภพทั้งปวง ถึงฝั่งบำเพ็ญบารมีแล้ว
               ทรงทำลายกรงภพ เหมือนราชสีห์ทำลายกรง ทรงบรรลุ
               พระโพธิญาณอันสูงสุด.
                         เมื่อพระกกุสันธพุทธเจ้าผู้นำโลก ทรงประกาศ
               พระธรรมจักร ธรรมาภิสัยได้มีแก่สัตว์สี่หมื่นโกฏิ.
                         พระองค์ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ กลางพื้นนภากาศ
               ทรงยังเทวดาและมนุษย์สามหมื่นโกฏิให้ตรัสรู้ ในการ
               ประกาศสัจจะ ๔ แก่นรเทพยักษ์นั้น ธรรมาภิสมัยได้มี
               แก่สัตว์นับจำนวนไม่ถ้วน.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุคฺฆาเฏตฺวา แปลว่า ถอนแล้ว.
               บทว่า สพฺพภวํ ได้แก่ ซึ่งภพทั้ง ๙ ภพ. อธิบายว่า กรรมอันเป็นนิมิตแห่งอุปัตติในภพ.
               บทว่า จริยาย ปารมึ คโต ความว่า ทรงถึงฝั่งโดยทรงบำเพ็ญบารมีทุกอย่าง.
               บทว่า สีโหว ปญฺชรํ เภตฺวา ความว่า พระมุนีกุญชรทรงทำลายปัญชรคือภพ เหมือนราชสีห์ทำลายกรง.
               พระกกุสันธพุทธเจ้าผู้รื้อเครื่องผูกภพเสียแล้ว ทรงมีสาวกสันนิบาตครั้งเดียวเท่านั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าอันพระอรหันต์สี่หมื่นซึ่งบวชกับพระองค์ ณ อิสิปนะมิคทายวัน กรุงกัณณกุชชนคร แวดล้อมแล้ว ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ในวันมาฆบูรมี.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                                   พระผู้มีพระภาคเจ้ากกุสันธะ ทรงมีสันนิบาต
                         ประชุมพระสาวกขีณาสพ ผู้ไร้มลทิน มีจิตสงบ คงที่
                         ครั้งเดียว.
                                   ครั้งนั้น เป็นสันนิบาตประชุมพระสาวกสี่หมื่น
                         ผู้บรรลุภูมิของท่านผู้ฝึกแล้ว เพราะสิ้นหมู่กิเลส ดัง
                         ข้าศึกคืออาสวะ.

               ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ของเราเป็นพระราชาพระนามว่าเขมะ ทรงถวายบาตรจีวรเป็นมหาทาน และถวายเภสัชทุกอย่างมียาหยอดตาเป็นต้นแด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน และถวายสมณบริขารอย่างอื่น สดับพระธรรมเทศนาของพระองค์แล้ว มีพระหฤทัยเลื่อมใส ก็ทรงผนวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระศาสดาพระองค์นั้นทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคตกาล ในกัปนี้นี่แหละ ท่านผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้า.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         สมัยนั้น เราเป็นกษัตริย์นามว่า เขมะ ถวายทาน
               มิใช่น้อย ในพระตถาคตและพระสาวกชิโนรส.
                         ถวายบาตรและจีวร ยาหยอดตา ไม้เท้าไม้มะซาง
               ถวายสิ่งของที่ท่านปรารถนาเหล่านี้ๆ ล้วนแต่ของดีๆ
                         พระมุนีกกุสันธพุทธเจ้า ผู้นำวิเศษ แม้พระองค์นั้น
               ก็ได้ทรงพยากรณ์เราว่า ในภัทรกัปนี้แล ท่านผู้นี้จักเป็น
               พระพุทธเจ้า.
                         พระตถาคต ออกอภิเนษกรมณ์จากกรุงกบิลพัสดุ์
               อันน่ารื่นรมย์ ฯลฯ จักอยู่ต่อหน้าของท่านผู้นี้.
                         ครั้งนั้น เราชื่อว่าเขมะ นครชื่อว่าเขมวดี กำลังแสวง
               หาพระสัพพัญญุตญาณ ก็บวชแล้วในสำนักของพระองค์.

               แก้อรรถ               
               ในคาถานั้น อญฺชนํ แปลว่า ยาหยอดตา. ความชัดแล้ว.
               บทว่า มธุลฏฺฐิกํ ได้แก่ ไม้เท้าไม้มะซาง.
               บทว่า อิเมตํ ตัดบทเป็น อิมํ เอตํ.
               บทว่า ปตฺถิตํ แปลว่า ปรารถนาแล้ว.
               บทว่า ปฏิยาเทมิ แปลว่า ถวาย. อธิบายว่า ได้ถวายแล้ว.
               บทว่า วรํ วรํ หมายความว่า ประเสริฐที่สุดๆ.
               ปาฐะว่า ยเทตํ ปตฺถิตํ ดังนี้ก็มี.
               ปาฐะนั้นความว่า เราได้ถวายสิ่งที่พระองค์ปรารถนาทุกอย่างแด่พระองค์. ความนี้ดีกว่า.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้ากกุสันธะ ผู้ไม่ชักช้าพระองค์นั้นมีพระนครชื่อว่าเขมะ พระชนกเป็นพราหมณ์ชื่อว่าอัคคิทัตตะ พระชนนีเป็นพราหมณีชื่อว่าวิสาขา คู่พระอัครสาวกชื่อว่าพระวิธุระและพระสัญชีวะ พระพุทธอุปัฏฐากชื่อว่าพระพุทธิชะ คู่พระอัครสาวิกาชื่อว่าพระสามาและพระจัมปา. โพธิพฤกษ์ชื่อว่าต้นสิรีสะ คือไม้ซึก. พระสรีระสูง ๔๐ ศอก. พระรัศมีแห่งพระสรีระแล่นออกไปรอบๆ ๑๐ โยชน์. พระชนมายุสี่หมื่นปี มีเอกภริยาเป็นพราหมณีชื่อว่าโรจินี โอรสชื่อว่าอุตตระ ออกอภิเนษกรณ์ด้วยรถเทียมม้า.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         พระกกุสันธพุทธเจ้า ผู้เป็นพระศาสดา ทรงมี
               พระชนกเป็นพราหมณ์ชื่อว่าอัคคิทัตตะ พระชนนี
               ชื่อว่าวิสาขา.
                         ตระกูลของพระสัมพุทธเจ้า เป็นตระกูลใหญ่
               ประเสริฐเลิศล้ำกว่านรชนทั้งหลาย เป็นชาติสูง มี
               บริวารยศใหญ่ อยู่ในนครเขมะนั้น.
                         พระกกุสันธพุทธเจ้า ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ มีพระ
               อัครสาวกชื่อว่าพระวิธุระและพระสัญชีวะ พระพุทธ-
               อุปัฏฐากชื่อว่าพระพุทธิชะ.
                         มีพระอัครสาวิกาชื่อว่าพระสามาและพระจัมปา
               โพธิพฤกษ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เรียก
               ว่า ต้นสิรีสะ (ไม้ซึก).
                         พระมหามุนีสูง ๔๐ ศอก พระรัศมีสีทองแล่น
               ออกไปรอบๆ ๑๐ โยชน์.
                         พระกกุสันธพุทธเจ้าพระองค์นั้น มีพระชนมายุ
               สี่หมื่นปี พระองค์ทรงพระชนม์ยืนถึงเพียงนั้น จึงทรง
               ยังหมู่ชนเป็นอันมากให้ข้ามโอฆะ.
                         พระองค์ทั้งพระสาวก ทรงขยายตลาดธรรมแก่
               บุรุษสตรี ในโลกทั้งเทวโลก ทรงบันลือดุจการบันลือ
               ของราชสีห์ แล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน.
                         พระองค์มีพระสุรเสียง มีองค์ ๘ มีศีลบริบูรณ์
               อยู่นิรันดร ทั้งนั้นก็อันตรธานไปสิ้น สังขารทั้งปวง
               ก็ว่างเปล่า แน่แท้.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บาทคาถาว่า วสเต ตตฺถ เขเม ปุเร นี้ พึงทราบว่า ท่านกล่าวเพื่อชี้นครที่พระกกุสันพุทธเจ้าทรงสมภพ.
               บทว่า มหากุลํ ได้แก่ ตระกูลฝ่ายพระชนกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นตระกูลรุ่งเรือง.
               บทว่า นรานํ ปวรํ เสฏฺฐํ ความว่า ประเสริฐเลิศล้ำกว่ามนุษย์ทั้งหมดโดยชาติ.
               บทว่า ชาติมนฺตํ ได้แก่ มีชาติยิ่ง มีชาติสูง.
               บทว่า มหายสํ ได้แก่ มีบริวารมาก. ตระกูลใหญ่นั้นของพระพุทธเจ้าเป็นดังฤา.
               ในคำนั้น พึงเห็นการเชื่อมความกับบทว่า มหากุลํ เขเม ปุเร วสเต ตระกูลใหญ่อยู่ในกรุงเขมะ.
               บทว่า สมนฺตา ทสโยชนํ ความว่า พระรัศมีสีทองออกจากพระสรีระเป็นนิตย์ แล่นแผ่ไป ๑๐ โยชน์โดยรอบ.
               บทว่า ธมฺมาปรณํ ได้แก่ ตลาดกล่าวคือธรรม.
               บทว่า ปสาเรตฺวา ความว่า ขยายตลาดธรรม เหมือนตลาดที่คับคั่งด้วยสินค้านานาชนิด เพื่อขายสินค้า.
               บทว่า นรนารีนํ ได้แก่ เพื่อประสบรัตนะวิเศษ คือฌานสมาบัติและมรรคผล สำหรับบุรุษสตรีทั้งหลาย.
               บทว่า สีหนาทํ ว ก็คือ สีหนาทํ วิย ได้แก่ บรรลือเสียงอภัย ไม่น่ากลัว.
               บทว่า อฏฺฐงฺควจนสมฺปนฺโน ได้แก่ พระศาสดาทรงมีพระสุรเสียงประกอบด้วยองค์ ๘.
               บทว่า อจฺฉิทฺทานิ ได้แก่ ศีลที่เว้นจากภาวะมีขาดเป็นต้น ไม่ขาด ไม่ด่าง ไม่พร้อย. อีกนัยหนึ่ง ศีลที่ไม่ทะลุ ไม่มีช่อง เช่นคู่พระอัครสาวก.
               บทว่า นิรนฺตรํ ได้แก่ เนืองๆ กาลเป็นนิตย์.
               บทว่า สพฺพํ ตมนฺตรหิตํ ความว่า พระศาสดาและคู่พระอัครสาวกเป็นต้นนั้นทั้งหมด เข้าถึงความเป็นพระมุนีแล้ว ก็เข้าถึงความเป็นผู้แลไม่เห็น.
                                        อเปตพนฺโธ กกุสนฺธพุทฺโธ
                                        อทนฺธปญฺโญ คตสพฺพรนฺโธ
                                        ติโลกสนฺโธ กิร สจฺจสนฺโธ
                                        เขเม วเน วาสมกปฺปยิตฺถ.

                              ข่าวว่า พระกกุสันธพุทธเจ้า ทรงปราศจากพันธะ
                    มีพระปัญญาไม่ชักช้า ไปจากโทษทั้งปวง ทรงตั้งมั่น
                    ในไตรโลก ทรงมั่นคงในสัจจะ ประทับอยู่ ณ เขมวัน.

               ในคาถาที่เหลือทุกแห่ง คำชัดแล้วทั้งนั้นแล.
               จบพรรณนาวงศ์พระกกุสันธพุทธเจ้า               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๒. กุกกุสันธพุทธวงศ์ จบ.
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 22อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 23อ่านอรรถกถา 33.2 / 24อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=8347&Z=8393
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=8078
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=8078
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :