ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 17อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 18อ่านอรรถกถา 33.2 / 19อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
๑๗. ติสสพุทธวงศ์

               พรรณนาวงศ์พระติสสพุทธเจ้าที่ ๑๗               
               ต่อมาภายหลังจากสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าสิทธัตถะพระองค์นั้น ก็ว่างพระพุทธเจ้าไปกัปหนึ่ง ที่สุดเก้าสิบสองกัปนับแต่กัปนี้ ก็บังเกิดพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ในกัปหนึ่ง คือพระติสสะและพระปุสสะ.
               บรรดาพระพุทธเจ้าทั้ง ๒ พระองค์นั้น พระมหาบุรุษพระนามว่าติสสะ ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต จุติจากนั้นแล้วทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางปทุมาเทวีผู้มีพระเนตรงามดังกลีบปทุม อัครมเหสีของพระเจ้าชนสันธะ กรุงเขมกะ ถ้วนกำหนดทศมาสก็ประสูติจากพระครรภ์พระชนนี ณ อโนมราชอุทยาน.
               ทรงครองฆราวาสวิสัยอยู่เจ็ดพันปี พระองค์มีปราสาท ๓ หลัง ชื่อว่าคุหาเสละ นาริสยะและนิสภะ มีพระสนมนารีสามหมื่นสามพันนางมีพระนางสุภัททาเทวีเป็นประมุข.
               เมื่ออานันทกุมารพระโอรสของพระนางสุภัททาเทวีสมภพ พระมหาบุรุษทรงเห็นนิมิต ๔ เสด็จขึ้นทรงม้าต้นตัวเยี่ยมชื่อว่าโสนุตตระ ออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงผนวช มนุษย์โกฏิหนึ่งก็บวชตามเสด็จ.
               พระองค์อันภิกษุเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียร ๘ เดือน ในวันวิสาขบูรณมี เสวยข้าวมธุปายาสที่ธิดาวีรเศรษฐี ณ วีรนิคม ถวายแล้ว ทรงยับยั้งพักกลางวัน ณ สลลวัน ป่าต้นช้างน้าว (อ้อยช้างก็ว่า) เวลาเย็นทรงรับหญ้า ๘ กำที่คนเฝ้าไร่ข้าวเหนียวชื่อวิชิตสังคามกะถวายแล้ว เสด็จเข้าไปยังโพธิพฤกษ์ชื่ออสนะ คือต้นประดู่ ทรงลาดสันถัตหญ้ากว้าง ๔๐ ศอก ประทับนั่งขัดสมาธิเหนือบัลลังก์หญ้านั้น ทรงกำจัดกองกำลังมารพร้อมด้วยตัวมาร บรรลุสัพพัญญุตญาณ ทรงเปล่งพระอุทานว่า อเนกชาติสํสารํ ฯเปฯ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา.
               ทรงเห็นพระราชโอรสกรุงยสวดีสองพระองค์ พระนามว่าพรหมเทวะและอุทยะ พร้อมด้วยบริวาร ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยสมบัติ เสด็จไปทางอากาศ เสด็จลงที่ยสวดีมิคทายวัน โปรดให้พนักงานเฝ้าพระราชอุทยานเชิญพระราชโอรสมาแล้ว ทรงยังหมื่นโลกธาตุให้เข้าใจด้วยพระสุรเสียงดังพรหม ไม่พร่า ไพเราะซาบซึ้ง ประกาศพระธรรมจักรแก่พระราชโอรสทั้งสองพระองค์นั้นกับทั้งบริวาร.
               ครั้งนั้น ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๑ ได้มีแก่สัตว์ร้อยโกฏิ.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         ต่อจากสมัยของพระสิทธัตถพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า
               พระนามว่าติสสะ ผู้ไม่มีผู้เสมอ ไม่มีผู้เทียบ มีพระเดชไม่มี
               ที่สุด มีพระบริวารยศหาประมาณมิได้ เป็นผู้นำเลิศแห่งโลก.
                         พระมหาวีระผู้ประกอบด้วยความเอ็นดู ผู้มีจักษุ
               ทรงกำจัดอนธการคือความมืด ยังโลกทั้งเทวโลกให้สว่าง
               ทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก.
                         พระวรฤทธิ์ของพระองค์ก็ชั่งไม่ได้ ศีลและสมาธิ
               ก็ชั่งไม่ได้ ทรงบรรลุพระบารมีในธรรมทั้งปวง ทรงให้พระ
               ธรรมจักรเป็นไปแล้ว.
                         พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงประกาศพระวาจา
               อันสะอาด ให้สัตว์ร้อยโกฏิในหมื่นโลกธาตุตรัสรู้ธรรม
               ในการแสดงธรรมครั้งที่ ๑.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพตฺถ ความว่า ถึงฝั่งในธรรมทั้งปวง.
               บทว่า ทสสหสฺสิมฺหิ ก็คือ ทสสหสฺสิยํ ในหมื่นโลกธาตุ.
               ภายหลังสมัยต่อมา ในสมัยที่พระมหาบุรุษทรงละการอยู่เป็นหมู่แล้ว เสด็จเข้าไปยังโคนโพธิพฤกษ์ ภิกษุที่บวชกับพระติสสศาสดาจำนวนโกฏิหนึ่ง ก็แยกไปเสียที่อื่นแล้ว.
               ครั้นภิกษุโกฏิหนึ่งนั้นทราบข่าวว่าพระติสสสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรมจักร ก็พากันมาที่ยสวดีมิคทายวัน ถวายบังคมพระทศพลแล้ว ก็นั่งล้อมพระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดภิกษุเหล่านั้น.
               ครั้งนั้น อภิสมัยครั้งที่ ๒ ได้มีแก่สัตว์เก้าสิบโกฏิ.
               ต่อมาอีกในมหามงคลสมาคม ในเมื่อจบมงคล อภิสมัยครั้งที่ ๓ ก็ได้มีแก่สัตว์หกสิบโกฏิ.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         อภิสมัยครั้งที่ ๒ การตรัสรู้ธรรมได้มีแก่สัตว์เก้าสิบโกฏิ
               อภิสมัยครั้งที่ ๓ การตรัสรู้ธรรมได้มีแก่สัตว์หกสิบโกฏิ
                         ในครั้งนั้น พระติสสพุทธเจ้าทรงเปลื้องสัตว์คือมนุษย์
               และเทวดาทั้งหลายจากเครื่องผูก.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุติโย นวุติโกฏินํ ความว่า อภิสมัยครั้งที่ ๒ ได้มีแก่สัตว์เก้าสิบโกฏิ.
               บทว่า พนฺธนาโต ก็คือ พนฺธนโต แปลว่า จากเครื่องผูก. ความว่า ทรงเปลื้องจากสังโยชน์ ๑๐.
               บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงถึงสัตว์ที่ทรงเปลื้อง โดยสรุป จึงตรัสว่า นรมรู.
               บทว่า นรมรู ก็คือ นรามเร ได้แก่ มนุษย์และเทวดา.
               ได้ยินว่า พระติสสพุทธเจ้าอันพระอรหันต์ที่บวชภายในพรรษา ในยสวดีนครแวดล้อมแล้ว ทรงปวารณาพรรษาแล้ว นั้นเป็นสันนิบาตครั้งที่ ๑.
               เมื่อพระโลกนาถพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงนาริวาหนนคร นาริวาหนกุมาร โอรสของพระเจ้าสุชาตะ ผู้เกิดดีทั้งสองฝ่าย พร้อมด้วยบริวาร เสด็จออกไปรับเสด็จ นิมนต์พระทศพลพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ ถวายอสทิสทาน ๗ วัน จึงมอบราชสมบัติของพระองค์แก่พระโอรส พร้อมด้วยบริวารก็ทรงผนวชด้วยเอหิภิกขุบรรพชาในสำนักของพระติสสสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นใหญ่แห่งโลกทั้งปวง.
               นัยว่า การบรรพชาของพระองค์ปรากฏโด่งดังไปทุกทิศ เพราะฉะนั้น มหาชนมาจากทิศนั้นๆ บวชตามเสด็จพระนาริวาหนกุมาร.
               ครั้งนั้น พระตถาคตเสด็จไปท่ามกลางภิกษุเก้าล้าน ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง นั้นเป็นสันนิบาตครั้งที่ ๒.
               ต่อมาอีก ชนแปดล้านฟังธรรมกถาเรื่องพุทธวงศ์ ในสมาคมพระญาติ กรุงเขมวดี ก็พากันบวชในสำนักของพระองค์แล้วบรรลุพระอรหัต. พระสุคตเจ้าอันภิกษุเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง นั้นเป็นสันนิบาตครั้งที่ ๓.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         พระติสสพุทธเจ้าผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ ทรงมีสันนิบาต
               ประชุมพระสาวกขีณาสพ ผู้ไร้มลทิน มีจิตสงบ คงที่ ๓ ครั้ง.
                         การประชุมพระสาวกขีณาสพแสนหนึ่งเป็นสันนิบาต
               ครั้งที่ ๑ ประชุมพระสาวกขีณาสพเก้าล้านเป็นสันนิบาตครั้ง
               ที่ ๒.
                         ประชุมพระสาวกขีณาสพ ผู้ไร้มลทิน ผู้บานแล้วด้วย
               วิมุตติแปดล้าน เป็นสันนิบาตครั้งที่ ๓.

               สมัยนั้น พระโพธิสัตว์ของเราเป็นพระราชาพระนามว่าสุชาตะ กรุงยสวดี ทรงสละราชอาณาจักรที่มั่นคงรุ่งเรือง กองทรัพย์หลายโกฏิและคนใกล้ชิดที่มีใจจงรักภักดี สังเวชใจในทุกข์มีชาติทุกข์เป็นต้น จึงออกผนวชเป็นดาบส มีฤทธานุภาพมาก สดับข่าวว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วในโลก ก็มีพระวรกายอันปิติ ๕ อย่างถูกต้องแล้วมีความยำเกรง ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าติสสะถวายบังคมแล้วดำริว่า จำเราจักบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดอกไม้ทิพย์มีดอกมณฑารพ ดอกปาริฉัตตกะเป็นต้น.
               ครั้นดำริอย่างนั้นแล้วก็ไปโลกสวรรค์ด้วยฤทธิ์ เข้าไปยังสวนจิตรลดา บรรจุผอบที่สำเร็จด้วยรัตนะขนาดคาวุตหนึ่ง ให้เต็มด้วยดอกไม้ทิพย์มีดอกปทุม ดอกปาริฉัตตกะและดอกมณฑารพเป็นต้น พามาทางท้องนภากาศ บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยดอกไม้ทิพย์ที่มีกลิ่นหอม และกั้นดอกปทุมต่างฉัตรคันหนึ่ง ซึ่งมีด้ามเป็นมณี มีเกสรเป็นทอง มีใบเป็นแก้วทับทิม เหมือนฉัตรที่สำเร็จด้วยเกสรหอม ไว้เหนือพระเศียรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ยืนอยู่ท่ามกลางบริษัท ๔.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์นั้นว่าเก้าสิบสองกัปนับแต่กัปนี้ จักเป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะ.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         สมัยนั้น เราเป็นกษัตริย์นามว่า สุชาตะ สละโภค
               สมบัติยิ่งใหญ่ บวชเป็นฤษี.
                         เมื่อเราบวชแล้ว พระผู้นำโลกก็อุบัติเพราะสดับ
               เสียงว่าพุทโธ เราก็เกิดปีติ.
                         เราใช้มือทั้งสองประคองดอกไม้ทิพย์ คือดอก
               มณฑารพ ดอกปทุม ดอกปาริฉัตตกะ สะบัดผ้าคากรอง
               เข้าไปเฝ้า.
                         เราถือดอกไม้นั้น กั้นพระติสสชินพุทธเจ้า ผู้
               นำเลิศแห่งโลก อันบริษัท ๔ แวดล้อมแล้วไว้เหนือพระ
               เศียร.
                         พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ประทับนั่งท่ามกลาง
               ชน ทรงพยากรณ์เราว่า เก้าสิบสองกัปนับแต่กัปนี้
               ท่านผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้า.
                         พระตถาคตทรงทำความเพียรฯลฯ จักอยู่ต่อ
               หน้าของท่านผู้นี้.
                         เราฟังพระดำรัสของพระองค์แล้ว ก็ยิ่งเลื่อมใส
               จึงอธิษฐานข้อวัตรยิ่งยวดขึ้นไป เพื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐
               ให้บริบูรณ์.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มยิ ปพฺพชิเต ได้แก่ เมื่อเราเข้าถึงความเป็นนักบวช.
               อาจารย์ทั้งหลายเขียนไว้ในคัมภีร์ว่า มม ปพฺพชิตํ สนฺตํ ปาฐะนั้นพึงเห็นว่าเขียนพลั้งเผลอ.
               บทว่า อุปปชฺชถ ก็คือ อุปฺปชฺชิตฺถ อุบัติขึ้นแล้ว.
               บทว่า อุโภ หตฺเถหิ ก็คือ อุโภหิ หตฺเถหิ.
               บทว่า ปคฺคยฺห แปลว่า ถือแล้ว.
               บทว่า ธุนมาโน ได้แก่ สะบัดผ้าเปลือกไม้.
               บทว่า จาตุวณฺณปริวุตํ แปลว่า อันบริษัท ๔ แวดล้อมแล้ว.
               อธิบายว่า อันบริษัทคือกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดีและสมณะ แวดล้อมแล้ว.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า จตุวณฺเณหิ ปริวุตํ อันวรรณะ ๔ แวดล้อมแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงมีพระนครชื่อเขมะ พระชนกพระนามว่าพระเจ้าชนสันธะ พระชนนีพระนามว่าพระนางปทุมา คู่พระอัครสาวกชื่อว่าพระพรหมเทวะและพระอุทยะ พระพุทธอุปัฏฐากชื่อว่าพระสมังคะ คู่พระอัครสาวิกาชื่อพระผุสสาและพระสุทัตตา โพธิพฤกษ์ชื่ออสนะ ต้นประดู่ พระสรีระสูง ๖๐ ศอก พระชนมายุแสนปี พระอัครมเหสีพระนามว่าพระนางสุภัททา พระโอรสพระนามว่าอานันทะ เสด็จออกอภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือม้า.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         พระติสสพุทธเจ้า ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ ทรงมีพระนคร
               ชื่อเขมกะ พระชนกพระนามว่าชนสันธะ พระชนนีพระนาม
               ว่าพระนางปทุมา.
                         พระติสสพุทธเจ้า ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ มีพระอัครสาวก
               ชื่อพระพรหมเทวะและพระสุทัตตา โพธิพฤกษ์ของพระผู้มี
               พระภาคเจ้าพระองค์นั้น เรียกว่าอสนะ ต้นประดู่.
                         พระชินพุทธเจ้าพระองค์นั้น โดยส่วนสูง ๖๐ ศอก
               ไม่มีผู้เปรียบ ไม่มีผู้เสมือน ปรากฎดังภูเขาหิมวันต์.
                         พระผู้มีจักษุดำรงอยู่ในโลกแสนปี พระผู้มีพระเดช
               ไม่มีผู้เทียบพระองค์นั้น ก็มีพระชนมายุเท่านั้น.
                         พระองค์ทั้งพระสาวก เสวยพระยศยิ่งใหญ่ อันสูงสุด
               เลิศ ประเสริฐ รุ่งเรืองแล้วก็ปรินิพพานไป ดังกองไฟที่ดับไป
               ฉะนั้น.
                         พระองค์ทั้งพระสาวกก็ปรินิพพานไป เหมือนพลาหก
               เมฆฝน หายไปเพราะลม เหมือนน้ำค้างเหือดหายไปเพราะ
               ดวงอาทิตย์ เหมือนความมืดหายไปเพราะดวงประทีปฉะนั้น.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุจฺจตฺตเน ก็คือ อุจฺจภาเวน โดยส่วนสูง.
               บทว่า หิมวา วิย ทิสฺสติ ได้แก่ ปรากฎเด่นเหมือนภูเขาหิมวันต์ หรือปาฐะก็อย่างนี้เหมือนกัน.
               ความว่า หิมวันต์ปัญจบรรพตสูงร้อยโยชน์ ปรากฎเด่นชัดน่ารื่นรมย์ยิ่ง เพราะแม้แต่อยู่ไกลแสนไกล ก็สูงและสงบเรียบร้อยฉันใด แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ปรากฎเด่นชัดฉันนั้น.
               บทว่า อนุตฺตโร ได้แก่ ไม่ยืนนัก ไม่สั้นนัก. อธิบายว่า พระชนมายุแสนปี.
               บทว่า อุตฺตมํ ปวรํ เสฏฺฐํ เป็นไวพจน์ของกันและกัน.
               บทว่า อุสฺสโว ได้แก่ หยาดหิมะ.
               อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งพระสาวกอันลมดวงอาทิตย์และดวงประทีป คือความเป็นอนิจจังเบียดเบียนแล้วก็ปรินิพพาน เหมือนพลาหกน้ำค้างและความมืด อันลมดวงอาทิตย์และดวงประทีปเบียดเบียนก็เหือดหายไป
               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าติสสะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ พระวิหารสุนันทาราม กรุงสุนันทวดี
               คำที่เหลือในคาถาทั้งหลายทุกแห่งชัดแล้วทั้งนั้นแล.
               จบพรรณนาวงศ์พระติสสพุทธเจ้า               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๗. ติสสพุทธวงศ์ จบ.
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 17อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 18อ่านอรรถกถา 33.2 / 19อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=8092&Z=8143
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=7273
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=7273
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :