ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 21อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 22อ่านอรรถกถา 33.2 / 23อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
๒๑. เวสสภูพุทธวงศ์

               พรรณนาวงศ์พระเวสสภูพุทธเจ้าที่ ๒๑               
               ต่อจากสมัยของพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระศาสนาของพระองค์อันตรธานแล้ว มนุษย์ที่มีอายุเจ็ดหมื่นปีก็ลดลงโดยลำดับจนมีอายุสิบปี แล้วเพิ่มขึ้นอีกจนมีอายุนับไม่ได้ แล้วก็ลดลงโดยลำดับจนมีอายุหกหมื่นปี.
               ครั้งนั้น พระศาสดาพระนามว่าเวสสภู เทพเจ้าผู้พิชิต ผู้ครอบงำโลกทั้งปวง ผู้เกิดเอง ทรงอุบัติในโลก พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลาย บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต จุติจากนั้นแล้วถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางยสวดีผู้มีศีล อัครมเหสีของพระเจ้าสุปปตีตะ ผู้เป็นที่ยำเกรง กรุงอโนมะ ถ้วนกำหนดทศมาสพระองค์ก็ประสูติจากพระครรภ์พระชนนี ณ อโนมราชอุทยาน
               เมื่อสมภพก็ยังชนให้ยินดี ทรงบันลือดังเสียงวัวผู้ เพราะฉะนั้นในวันเฉลิมพระนามของพระองค์ พระประยูรญาติจึงเฉลิมพระนามว่าเวสสภู เพราะเหตุที่ร้องดังเสียงวัวผู้ พระองค์ทรงครองฆราวาสวิสัยอยู่หกพันปี มีปราสาท ๓ หลังชื่อสุจิ สุรุจิและรติวัฑฒนะ๑- ปรากฏพระสนมกำนัลสามหมื่นนางมีพระนางสุจิตตาเทวีเป็นประมุข.
____________________________
๑- บาลีเป็น รุจิ สุรติและวัฑฒกะ.

               เมื่อพระสุปปพุทธกุมารของพระนางสุจิตตาเทวี สมภพ พระองค์ทรงเห็นนิมิต ๔ เสด็จประพาสพระราชอุทยานด้วยพระวอทอง ทรงรับผ้ากาสายะที่เทวดาถวาย ทรงผนวช. บุรุษเจ็ดหมื่นบวชตามเสด็จ.
               ลำดับนั้น พระองค์อันบรรพชิตเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียร ๖ เดือน ในวันวิสาขบูรณมี เสวยข้าวมธุปายาสที่พระพี่เลี้ยงชื่อว่าสิริวัฒนา ผู้ปรากฏตัว ณ สุจิตตนิคม ถวาย ทรงยับยั้งพักกลางวัน ณ สาลวัน เวลาเย็นทรงรับหญ้า ๘ กำที่พระยานาคชื่อนรินทะ ถวาย เสด็จเข้าไปยังโพธิพฤกษ์ชื่อต้นสาละ ด้านทิศทักษิณ สาละต้นนั้นมีขนาดเท่าขนาดต้นปาฏลีแคฝอยนั้นแล.
               ดอกผลสิริและสมบัติ ก็พึงทราบอย่างนั้นเหมือนกัน.
               พระองค์เสด็จเข้าไปยังโคนต้นสาละ ทรงลาดสันถัตหญ้ากว้าง ๔๐ ศอก ประทับนั่งขัดสมาธิ ทรงได้อนาวรณญาณ ที่ปราศจากนิวรณ์ แต่ห้ามกันความเมาในกามทุกอย่าง ทรงเปล่งพระอุทานว่า อเนกชาติสํสารํ ฯลฯ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา ดังนี้.
               ทรงยับยั้ง ณ โพธิพฤกษ์นั้นนั่นแล ๗ สัปดาห์ ทรงเห็นอุปนิสัยสมบัติของพระโสณกุมารและพระอุตตรกุมาร พระกนิษฐภาดาของพระองค์ จึงเสด็จไปทางอากาศ ลงที่อรุณราชอุทยาน ใกล้กรุงอนูปมะ ทรงให้พนักงานเฝ้าพระราชอุทยานไปอัญเชิญพระกุมารมาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร ท่ามกลางพระกุมารทั้งสองพระองค์นั้นทั้งบริวาร.
               ครั้งนั้น อภิสมัยครั้งที่ ๑ ได้มีแก่สัตว์แปดหมื่นโกฏิ.
               ต่อมาอีก พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเสด็จจาริกไปในชนบท ทรงแสดงธรรมโปรดในถิ่นนั้นๆ ธรรมาภิสมัยก็ได้มีแก่สัตว์เจ็ดหมื่นโกฏิ นั้นเป็นอภิสมัยครั้งที่ ๒.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงทำลายข่ายคือทิฏฐิ [เดียรถีย์] ล้มธงคือมานะของเดียรถีย์ กำจัดความเมาด้วยมานะ ทรงยกธงคือธรรมขึ้น ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ในมนุษยบริษัทกว้างเก้าสิบโยชน์ ในเทวบริษัทประมาณมิได้ ณ กรุงอนูปมะนั่นเอง ยังเทวดาและมนุษย์ให้เลื่อมใสแล้ว ทรงยังสัตว์หกหมื่นโกฏิให้อิ่มด้วยอมตธรรม นั้นเป็นอภิสมัยครั้งที่ ๓.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         ในมัณฑกัปนั้นนั่นเอง พระผู้นำโลกพระนามว่า
               เวสสภู ผู้ไม่มีผู้เสมอ ไม่มีผู้เทียบเคียง ก็ทรงอุบัติในโลก.
                         ทรงทราบว่าโลกสามถูกราคะไหม้แล้ว เป็นถิ่น
               ของตัณหาทั้งหลาย พระองค์ก็ทรงตัดเครื่องพันธนา
               การดุจพระยาช้าง ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณอันสูงสุด.
                         พระเวสสภูพุทธเจ้าผู้นำโลก ทรงประกาศพระ-
               ธรรมจักร อภิสมัยครั้งที่ ๑ ได้มีแก่สัตว์แปดหมื่นโกฏิ.
                         เมื่อพระโลกเชษฐ์ผู้องอาจในนรชน ทรงหลีก
               จาริกไปในแว่นแคว้น อภิสมัยครั้งที่ ๒ ก็ได้มีแก่สัตว์
               เจ็ดหมื่นโกฏิ.
                         พระองค์เมื่อทรงบรรเทาทิฏฐิอย่างใหญ่หลวง
               ของเดียรถีย์ ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ มนุษย์และเทวดา
               ในหมื่นโลกธาตุ ในโลกทั้งเทวโลกก็มาประชุมกัน.
                         เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเห็นมหัศจรรย์ไม่เคย
               มี น่าขนชูชัน ก็ตรัสรู้ธรรมถึงหกหมื่นโกฏิ.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาทิตฺตํ ความว่า สิ้นทั้งสามโลกนี้ ถูกไฟไหม้แล้ว.
               บทว่า ราคคฺคิ แปลว่า อันราคะ.
               บทว่า ตณฺหานํ วิชิตํ ตทา ความว่า ทรงทราบว่า สามโลกเป็นถิ่นแคว้น สถานที่ตกอยู่ในอำนาจของตัณหาทั้งหลาย.
               บทว่า นาโคว พนฺธนํ เฉตฺวา ความว่า ทรงตัดเครื่องพันธนาการดุจเถาวัลย์เน่า ประดุจช้าง ทรงบรรลุถึงพระสัมโพธิญาณ.
               บทว่า ทสสหสฺสี ก็คือ ทสสหสฺสิยํ.
               บทว่า สเทวเก ได้แก่ ในโลกทั้งเทวโลก.
               บทว่า พุชฺฌเร แปลว่า ตรัสรู้แล้ว.
               อนึ่งเล่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเวสสภูทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ณ วันมาฆบูรมี ท่ามกลางพระอรหันต์แปดหมื่นที่บวชในสมาคมของพระโสณะและพระอุตตระ คู่พระอัครสาวก นั้นเป็นสันนิบาตครั้งที่ ๑.
               ครั้งภิกษุนับจำนวนได้เจ็ดหมื่นซึ่งบวชกับพระเวสสภูผู้ครอบงำโลกทั้งปวงพากันหลีกไป สมัยที่พระเวสสภูจะหลีกออกจากคณะไป ภิกษุเหล่านั้นสดับข่าวการประกาศพระธรรมจักรของพระเวสสภูสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงพากันมายังนครโสเรยยะ ก็ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดภิกษุเหล่านั้น ทรงให้ภิกษุเหล่านั้นบวชด้วยเอหิภิกขุบรรพชาทั้งหมด แล้วทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในบริษัทที่ประกอบด้วยองค์ ๔ นั้นเป็นสันนิบาตครั้งที่ ๒.
               อนึ่ง ครั้งพระราชบุตรพระนามว่าอุปสันตะ ทรงขึ้นครองราชย์ในกรุงนาริวาหนะ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปนครนั้นเพื่ออนุเคราะห์พระราชบุตรนั้น.
               แม้พระราชบุตรนั้นทราบข่าวการเสด็จมาของพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งบริวารจึงทรงออกไปรับเสด็จ นิมนต์มาถวายมหาทาน ทรงสดับธรรมของพระองค์ก็มีพระหฤทัยเลื่อมใสแล้วทรงผนวช บุรุษหกหมื่นโกฏิก็บวชตามเสด็จ ภิกษุเหล่านั้นบรรลุพระอรหัตพร้อมกับพระราชบุตรนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเวสสภูนั้นอันภิกษุเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว ก็ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงนั้นเป็นสันนิบาตครั้งที่ ๓.
               ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า
                                   พระเวสสภูพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณยิ่งใหญ่ ทรง
                         มีสันนิบาตประชุมพระสาวกขีณาสพผู้ไร้มลทิน มีจิต
                         สงบ คงที่ ๓ ครั้ง.
                                   ประชุมภิกษุสาวกแปดหมื่น เป็นสันนิบาตครั้ง
                         ที่ ๑ ประชุมภิกษุสาวกเจ็ดหมื่น เป็นสันนิบาตครั้งที่ ๒.
                                   ประชุมภิกษุสาวกหกหมื่น ผู้กลัวแต่ภัยมีชรา
                         เป็นต้น โอรสของพระเวสสภูพุทธเจ้าผู้แสวงคุณยิ่ง
                         ใหญ่ เป็นสันนิบาตครั้งที่ ๓.

               ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ของเราเป็นพระราชาพระนามว่าพระเจ้าสุทัสสนะ ผู้มีทัศนะน่ารักอย่างยิ่ง ณ กรุงสรภวดี. เมื่อพระเวสสภูพุทธเจ้าผู้นำโลกเสด็จถึงกรุงสรภะ ทรงสดับธรรมของพระองค์ มีพระหฤทัยเลื่อมใสแล้วทรงยกอัญชลีอันรุ่งเรืองด้วยทศนขสโมธาน เสมือนดอกบัวตูมเกิดในน้ำ ไม่มีมลทิน ไม่วิกลบกพร่อง ไว้เหนือเศียร ถวายมหาทานพร้อมทั้งจีวรแด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ทรงสร้างพระคันธกุฎี เพื่อเป็นที่ประทับอยู่ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ นครนั้น ทรงสร้างวิหารพันหลังล้อมพระคันธกุฎีนั้น ทรงบริจาคสมบัติทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงผนวช ณ สำนักของพระองค์แล้ว ทรงพร้อมด้วยอาจารคุณ ทรงยินดีในธุดงคคุณ ๑๓ ทรงยินดีในการแสวงหาพระโพธิสมภาร ทรงยินดีในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นก็ทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์นั้นว่า ในอนาคตกาล สามสิบเอ็ดกัปนับแต่กัปนี้ไป ท่านผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะ.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         สมัยนั้น เราเป็นกษัตริย์นามว่าสุทัสสนะ นิมนต์
               พระมหาวีระ ถวายทานอย่างสมควรยิ่งใหญ่ บูชาพระ
               ชินพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระสงฆ์ ด้วยข้าวน้ำและผ้า.
                         เราสดับพระธรรมจักรอันอุดมประณีตที่พระพุทธ
               เจ้าผู้ไม่มีผู้เสมอพระองค์นั้นทรงประกาศแล้วก็ชอบใจ
               การบรรพชา.
                         เราบำเพ็ญมหาทาน ไม่เกียจคร้านทั้งกลางคืน
               กลางวัน ทราบการบรรพชาว่าพร้อมพรั่งด้วยคุณ จึง
               บรรพชาในสำนักของพระชินพุทธเจ้า.
                         เราถึงพร้อมด้วยอาจารคุณ ตั้งมั่นในวัตรและศีล
               แสวงหาพระสัพพัญญุตญาณ จึงยินดีอยู่ในพระศาสนา
               ของพระชินพุทธเจ้า.
                         เราเข้าถึงศรัทธาและปีติ ถวายบังคมพระพุทธเจ้า
               ผู้พระศาสดา เราก็เกิดปีติเพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณ
               นั่นแล.
                         พระสัมพุทธเจ้าทรงทราบว่า เรามีใจไม่ท้อถอย
               จึงทรงพยากรณ์ดังนี้ว่า นับแต่กัปนี้ไปสามสิบเอ็ดกัป
               ท่านผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้า.
                         พระตถาคตออกอภิเนษกรมณ์จากกรุงกบิลพัสดุ์
               อันน่ารื่นรมย์ ฯลฯ จักอยู่ต่อหน้าของท่านผู้นี้.
                         เราฟังพระดำรัสของพระองค์ จิตก็ยิ่งเลื่อมใสจึง
               อธิษฐานข้อวัตรยิ่งยวดขึ้นไปเพื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ให้
               บริบูรณ์.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จกฺกํ วตฺติตํ ได้แก่ ธรรมจักรที่ทรงประกาศแล้ว.
               บทว่า ปณิตํ ธมฺมํ ได้แก่ ธรรมอันยิ่งของมนุษย์.
               ความว่า เรารู้การบวชว่าพรั่งพร้อมด้วยคุณจึงบวช.
               บทว่า วตฺตสีลสมาหิโต ได้แก่ ตั้งมั่นในวัตรและศีล.
               อธิบายว่า มั่นคงในการบำเพ็ญวัตรและศีลนั้นๆ.
               บทว่า รมามิ แปลว่า ยินดียิ่งแล้ว.
               บทว่า สทฺธาปีตึ ได้แก่ เข้าถึงศรัทธาและปีติ.
               บทว่า วนฺทามิ ได้แก่ ถวายบังคมแล้ว.
               พึงเห็นว่าคำที่เป็นปัจจุบันกาล ใช้ในอรรถอดีตกาล.
               บทว่า สตฺถรํ ก็คือ สตฺถารํ.
               บทว่า อนิวตฺตมานสํ ได้แก่ มีใจไม่ท้อถอย.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงมีพระนครชื่อว่าอโนมะ พระชนกมีพระนามว่าพระเจ้าสุปปตีตะ พระชนนีพระนามว่าพระนางยสวดี คู่พระอัครสาวกชื่อว่าพระโสณะและพระอุตตระ พระพุทธอุปัฏฐากชื่อว่าพระอุปสันตะ คู่พระอัครสาวิกาชื่อว่าพระรามาและพระสมาลา โพธิพฤกษ์ชื่อว่าต้นสาละ พระสรีระสูง ๖๐ ศอก พระชนมายุหกหมื่นปี พระอัครมเหสีพระนามว่าพระนางสุจิตตา พระโอรสพระนามว่าพระสุปปพุทธะ เสด็จออกภิเนษกรมณ์ด้วยพระวอทอง.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         พระเวสสภูพุทธเจ้า ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ ทรงมีพระ
               นครชื่ออโนมะ พระชนกพระนามว่าพระเจ้าสุปปตีตะ
               พระชนนีพระนามว่าพระนางยสวดี.
                         พระเวสสภูพุทธเจ้า ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ มีพระอัคร
               สาวกชื่อว่าพระโสณะและพระอุตตระ พระพุทธอุปัฏฐาก
               ชื่อว่า พระอุปสันตะ.
                         มีพระอัครสาวิกา ชื่อว่าพระรามาและพระสมาลา
               โพธิพฤกษ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เรียกว่า
               ต้นมหาสาละ.
                         มีอัครอุปัฏฐาก ชื่อว่าโสตถิกะและรัมมะ อัครอุปัฏ-
               ฐายิกา ชื่อว่าโคตมีและสิริมา.
                         พระเวสสภูพุทธเจ้า สูง ๖๐ ศอก อุปมาเสมอด้วย
               เสาทอง พระรัศมีแล่นออกจากพระวรกาย เหมือนดวงไฟ
               บนเขายามราตรี.
                         พระชนมายุของพระเวสสภูพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณ
               ยิ่งใหญ่พระองค์นั้น หกหมื่นปี พระองค์ทรงมีพระชนม์
               ยืนถึงเพียงนั้น จึงยังหมู่ชนเป็นอันมากให้ข้ามโอฆะ.
                         พระองค์ทั้งพระสาวก ทรงทำธรรมะให้ขยายไป
               กว้างขวาง ทรงจำแนกมหาชน ทรงตั้งธรรมนาวาไว้แล้ว
               ก็ดับขันธปรินิพพาน.
                         ชนทั้งหมด พระวิหาร พระอิริยาบถ ล้วนน่าดู
               ทั้งนั้นก็อันตรธานไปสิ้น สังขารทั้งปวงก็ว่างเปล่าแน่แท้.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เหมยูปสมูปโม ความว่า เสมือนเสาทอง.
               บทว่า นิจฺฉรติ ได้แก่ แล่นไปทางโน้นทางนี้.
               บทว่า รสฺมิ ได้แก่ แสงรัศมี.
               บทว่า รตฺตึว ปพฺพเต สิขี ความว่า รัศมีส่องสว่างในพระวรกายของพระองค์ เหมือนดวงไฟบนยอดเขาเวลากลางคืน.
               บทว่า วิภชิตฺวา ความว่า ทำการจำแนกโดยเป็นอุคฆฏิตัญญูเป็นต้น และโดยเป็นพระโสดาบันเป็นอาทิ.
               บทว่า ธมฺมนาวํ ความว่า ทรงตั้งธรรมนาวาคือมรรคมีองค์ ๘ เพื่อช่วยให้ข้ามโอฆะ ๔.
               บทว่า ทสฺสนียํ ก็คือ ทสฺสนีโย.
               บทว่า สพฺพชนํ ชนทั้งปวงก็คือ สพฺโพชโน. อธิบายว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสงฆ์สาวก.
               บทว่า วิหารํ ก็คือ วิหาโร พึงเห็นว่าทุติยาวิภัตติใช้ในอรรถปฐมาวิภัตติทุกแห่ง
               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเวสสภูเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ เขมมิคทายวัน กรุงอุสภวดี พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์กระจัดกระจายไป
                                   ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเวสสภู พระชินะ
                         ผู้ประเสริฐ เสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสส-
                         นิพพาน ณ พระวิหารใกล้ป่าที่น่ารื่นรมย์ กรุงอุสภวดี
                         ราชธานี

               คำที่เหลือในคาถาทั้งหลายทุกแห่งชัดแล้วทั้งนั้นแล.
               จบพรรณนาวงศ์พระเวสสภูพุทธเจ้า               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๑. เวสสภูพุทธวงศ์ จบ.
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 21อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 22อ่านอรรถกถา 33.2 / 23อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=8294&Z=8346
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=7896
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=7896
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :