ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 23อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 24อ่านอรรถกถา 33.2 / 25อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
๒๓. โกนาคมนพุทธวงศ์

               พรรณนาวงศ์พระโกนาคมนพุทธเจ้าที่ ๒๓               
               ภายหลังต่อมาจากสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้ากกุสันธะ เมื่อพระศาสนาของพระองค์อันตรธานแล้ว เมื่อสัตว์ทั้งหลายเกิดมามีอายุสามหมื่นปี.
               พระศาสดาพระนามว่าโกนาคมนะ ผู้มีไม้ดีดพิณมาเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่นก็อุบัติขึ้นในโลก.
               อีกนัยหนึ่ง พระศาสดาพระนามว่าโกณาคมนะ เพราะเป็นที่มาแห่งอาภรณ์ทองเป็นต้น อุบัติขึ้นในโลก. ทอง เครื่องประดับมีทองเป็นต้นมาตกลง ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใดทรงอุบัติ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงพระนามว่าโกณาคมนะ.
               โดยนัยแห่งนิรุกติศาสตร์ เพราะอาเทศ เป็น โก, อาเทศ เป็น ณา ลบ เสียตัวหนึ่ง ในคำว่า โกณาคมโน นั้น
               ก็ในข้อนี้ อายุท่านทำให้เป็นเสมือนเสื่อมลงโดยลำดับ แต่มิใช่เสื่อมอย่างนี้ พึงทราบว่า เจริญแล้วเสื่อมลงอีก.
               อย่างไร. ในกัปนี้เท่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ากกุสันธะทรงบังเกิดในเวลาที่มนุษย์มีอายุสี่หมื่นปี แต่อายุนั้นกำลังลดลงจนถึงอายุสิบปี แล้วกลับเจริญขึ้นถึงอายุนับไม่ถ้วน (อสงไขย) แต่นั้นก็ลดลงตั้งอยู่ในเวลาที่มนุษย์มีอายุสามหมื่นปี. ครั้งนั้น พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าโกนาคมนะ ทรงอุบัติขึ้นในโลก.
               แม้พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลาย แล้วบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต จุติจากนั้นแล้วก็ถือปฏิสนธิในครรภ์ของพราหมณีชื่ออุตตรา ผู้ยอดเยี่ยมด้วยคุณมีรูปเป็นต้น ภริยาของยัญญทัตตพราหมณ์ กรุงโสภวดี ถ้วนกำหนดทศมาสก็เคลื่อนออกจากครรภ์ของชนนี ณ สุภวดีอุทยาน.
               เมื่อพระองค์สมภพ ฝนก็ตกลงมาเป็นทองทั่วชมพูทวีป ด้วยเหตุนั้น เพราะเหตุที่ทรงเป็นที่มาแห่งทอง พระประยูรญาติจึงเฉลิมพระนามว่า กนกาคมนะ. ก็พระนามนั้นของพระองค์แปรเปลี่ยนมาโดยลำดับ เป็นโกนาคมนะ.
               พระองค์ทรงครองฆราวาสวิสัยอยู่สามพันปี มีปราสาท ๓ หลังชื่อว่า ดุสิตะ สันดุสิตะและสันตุฏฐะ มีนางบำเรอหนึ่งหมื่นหกพันนางมีนางรุจิคัตตาพราหมณีเป็นประมุข.
               เมื่อบุตรชื่อสัตถวาหะ ของนางรุจิคัตตาพราหมณีเกิด พระองค์ทรงเห็นนิมิต ๔ ก็ขึ้นคอช้างสำคัญ ออกอภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือช้าง ทรงผนวช บุรุษสามหมื่นก็บวชตาม.
               พระองค์อันบรรพชิตเหล่านั้นแวดล้อม ก็บำเพ็ญเพียร ๖ เดือน ในวันวิสาขบูรณมี ก็เสวยข้าวมธุปายาสที่อัคคิโสณพราหมณกุมารี ธิดาของอัคคิโสณพราหมณ์ถวาย พักกลางวัน ณ ป่าตะเคียน เวลาเย็นรับหญ้า ๘ กำที่คนเฝ้าไร่ข้าวเหนียวชื่อชฏาตินทุกะถวาย จึงเข้าไปยังโพธิพฤกษ์ชื่อต้นอุทุมพร คือไม้มะเดื่อ ซึ่งมีขนาดที่กล่าวแล้วในต้นปุณฑรีกะ ที่พรั่งพร้อมด้วยความเจริญแห่งผล ทางด้านทักษิณ ทรงลาดสันถัตหญ้ากว้าง ๒๐ ศอก นั่งขัดสมาธิ กำจัดกองกำลังของมาร ทรงได้ทศพลญาณ ทรงเปล่งอุทานว่า อเนกชาติสํสารํ ฯเปฯ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา ดังนี้
               ทรงยับยั้งอยู่ ๗ สัปดาห์ ทรงเห็นอุปนิสัยสมบัติของภิกษุสามหมื่นที่บวชกับพระองค์ เสด็จไปทางอากาศ เสด็จลงที่อิสิปตนะมิคทายวัน ใกล้กรุงสุทัสสนนคร อยู่ท่ามกลางภิกษุเหล่านั้น ทรงประกาศธรรมจักร.
               ครั้งนั้น อภิสมัยครั้งที่ ๑ ได้มีแก่สัตว์สามหมื่นโกฏิ.
               ต่อมาอีก ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ณ โคนต้นมหาสาละ ใกล้ประตูสุนทรนคร ทรงยังสัตว์สองหมื่นโกฏิให้ดื่มอมฤตธรรม นั้นเป็นอภิสมัยครั้งที่ ๒.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอภิธรรมปิฎกโปรดเทวดาทั้งหลายที่มาประชุมกันในหมื่นจักรวาล มีนางอุตตราพระชนนีของพระองค์เป็นประธาน อภิสมัยครั้งที่ ๓ ได้มีแก่สัตว์หมื่นโกฏิ.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         ต่อมาจากสมัยของพระกกุสันธพุทธเจ้า ก็มีพระ
               ชินสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ สูงสุดแห่งสัตว์
               สองเท้า เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจในนรชน.
                         ทรงบำเพ็ญบารมีธรรม ๑๐ ก้าวล่วงทางกันดาร
               ทรงลอยมลทินทั้งปวง ทรงบรรลุพระโพธิญาณอันสูง
               สุด.
                         เมื่อพระโกนาคมนะผู้นำ ทรงประกาศพระธรรม
               จักร อภิสมัยครั้งที่ ๑ ได้มีแก่สัตว์สามหมื่นโกฏิ.
                         และเมื่อทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ย่ำยีคำติเตียน
               ของฝ่ายปรปักษ์ อภิสมัยครั้งที่ ๒ ได้มีแก่สัตว์สองหมื่น
               โกฏิ.
                         ต่อนั้น พระชินสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงฤทธิ์ต่างๆ
               เสด็จไปยังเทวโลก ประทับอยู่เหนือบัณฑุกัมพลศิลา-
               อาสน์ ณ เทวโลกนั้น.
                         พระมุนีพระองค์นั้นประทับจำพรรษาแสดงพระ
               อภิธรรม ๗ คัมภีร์ อภิสมัยครั้งที่ ๓ ได้มีแก่เทวดาหมื่น
               โกฏิ.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทส ธมฺเม ปูรยิตฺวาน ได้แก่ บำเพ็ญบารมีธรรม ๑๐.
               บทว่า กนฺตารํ สมติกฺกมิ ได้แก่ ก้าวล่วงชาติกันดาร.
               บทว่า ปวาหิย แปลว่า ลอยแล้ว.
               บทว่า มลํ สพฺพํ ได้แก่ มลทิน ๓ มีราคะเป็นต้น.
               บทว่า ปาฏิหีรํ กโรนฺเต จ ปรวาทปฺปมทฺทเน ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำปาฏิหาริย์ในการย่ำยีวาทะของฝ่ายปรปักษ์.
               บทว่า วิกุพฺพนํ ได้แก่ แสดงฤทธิ์ต่างๆ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ใกล้ประตูกรุงสุนทรนคร แล้วเสด็จไปเทวโลก จำพรรษาเหนือพระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ในเทวโลกนั้น.
               ถามว่า ทรงจำพรรษาอย่างไร
               ตอบว่า ทรงแสดงอภิธรรม ๗ คัมภีร์.
               อธิบายว่า ทรงอยู่จำพรรษา แสดงพระอภิธรรมปิฎก ๗ คัมภีร์แก่เทวดาทั้งหลายในเทวโลกนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระอภิธรรม ณ ที่นั้นอย่างนี้ อภิสมัยได้มีแก่เทวดาหมื่นโกฏิ.
               แม้พระโกนาคมนพุทธเจ้าผู้มาบำเพ็ญบารมีอันบริสุทธิ์ มีสาวกสันนิบาตครั้งเดียว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อประทับอยู่ ณ สุรินทวดีอุทยาน กรุงสุรินทวดี ทรงแสดงธรรมโปรดพระราชโอรสสองพระองค์คือภิยโยสราชโอรสและอุตตรราชโอรส พร้อมทั้งบริวาร ทรงยังชนเหล่านั้นทั้งหมดให้บวชด้วยเอหิภิกขุบรรพชา ประทับท่ามกลางภิกษุเหล่านั้น ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ณ วันมาฆบูรณมี.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         พระโกนาคมนพุทธเจ้า ผู้เป็นเทพแห่งเทพ
               พระองค์นั้น ทรงมีสันนิบาตประชุมพระสาวกขีณาสพ
               ผู้ไร้มลทิน มีจิตสงบ คงที่ ครั้งเดียว.
                         ครั้งนั้น เป็นสันนิบาตประชุมภิกษุสาวกสาม
               หมื่น ผู้ข้ามพ้นโอฆะ ผู้หักรานมัจจุได้แล้ว.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอฆานํ ได้แก่ โอฆะมีกาโมฆะเป็นต้น.
               คำนี้เป็นชื่อของโอฆะ ๔. โอฆะเหล่านั้นของผู้ใดมีอยู่ ย่อมคร่าผู้นั้นให้จมลงในวัฏฏะ เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าโอฆะ.
               โอฆะเหล่านั้นพึงเห็นฉัฏฐีวิภัตติลงในอรรถทุติยาวิภัตติ ความว่า ผู้ก้าวล่วงโอฆะ ๔ อย่าง.
               แม้ในคำว่า ภิชฺชิตานํ นี้ ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน.
               บทว่า มจฺจุยา ก็คือ มจฺจุโน.
               ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ของเราเป็นพระราชาพระนามว่าพระเจ้าปัพพตะ กรุงมิถิลนคร.
               ครั้งนั้น พระราชาพร้อมทั้งราชบริพาร ทรงสดับข่าวว่าพระโกนาคมนะพุทธเจ้าผู้เป็นที่มาแห่งสรรพสัตว์ผู้ถึงสรณะ เสด็จถึงกรุงมิถิลนครแล้ว จึงเสด็จออกไปรับเสด็จ ถวายบังคมนิมนต์พระทศพล ถวายมหาทาน ทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับจำพรรษา ณ มิถิลนครนั้น บำรุงพระศาสดาพร้อมทั้งพระสงฆ์สาวกตลอดไตรมาส ถวายของมีค่ามากเช่นผ้าไหมทำในเมืองปัตตุณณะ ผ้าทำในเมืองจีน ผ้ากัมพล ผ้าแพร ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้ายเป็นต้น ผ้าเนื้อละเอียด ฉลองพระบาทประดับทองและบริขารอื่นเป็นอันมาก.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้พระองค์นั้นก็ทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์นั้นว่า ในภัทรกัปนี้นี่แล ท่านผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้า.
               ลำดับนั้น มหาบุรุษนั้นสดับคำพยากรณ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ก็ทรงบริจาคราชสมบัติยิ่งใหญ่ ทรงผนวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         สมัยนั้น เราเป็นกษัตริย์นามว่าปัพพตะ พรั่งพร้อม
               ด้วยมิตรอำมาตย์ มีกำลังพลและพาหนะหาที่สุดมิได้.
                         เข้าไปเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า สดับธรรมอันยอดเยี่ยม
               นิมนต์พระองค์พร้อมทั้งพระสงฆ์พุทธชิโนรส ถวายทาน
               จนพอต้องการ.
                         ได้ถวายผ้าไหมทำในเมืองปัตตุณณะ ผ้าทำใน
               เมืองจีน ผ้าแพร ผ้ากัมพล ฉลองพระบาทประดับทอง
               แด่พระศาสดาและพระสาวก.
                         พระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้นประทับนั่ง ณ ท่าม
               กลางสงฆ์ ทรงพยากรณ์เราว่า ในภัทรกัปนี้ ท่านผู้นี้จัก
               เป็นพระพุทธเจ้า.
                         พระตถาคต ออกอภิเนษกรมณ์จากกรุงกบิลพัสดุ์
               อันน่ารื่นรมย์ ฯลฯ จักอยู่ต่อหน้าของท่านผู้นี้.
                         เราสดับคำของพระองค์แล้ว จิตก็ยิ่งเลื่อมใส จึง
               อธิษฐานข้อวัตรยิ่งยวดขึ้นไปเพื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ให้
               บริบูรณ์.
                         เรากำลังแสวงหาพระสัพพัญญุตญาณ ถวายทาน
               แด่พระผู้สูงสุดในนรชน สละราชสมบัติยิ่งใหญ่ บวชใน
               สำนักของพระชินพุทธเจ้า.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนนฺตพลวาหโน ความว่า กำลังพลและพาหนะมีช้างม้าเป็นต้นของเรามีมาก ไม่มีที่สุด.
               บทว่า สมฺพุทฺธทสฺสนํ ก็คือ สมฺพุทฺธทสฺสนตฺถาย เพื่อเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า.
               บทว่า ยทิจฺฉกํ ความว่า จนพอแก่ความต้องการ คือทรงเลี้ยงดูพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ด้วยอาหาร ๔ อย่าง จนทรงห้ามว่า พอ! พอ! เอาพระหัตถ์ปิดบาตร.
               บทว่า สตฺถุสาวเก ได้แก่ ถวายแด่พระศาสดาและพระสาวกทั้งหลาย.
               บทว่า นรุตฺตเม ก็คือ นรุตฺตมสฺส แด่พระผู้สูงสุดในนรชน.
               บทว่า โอหาย ได้แก่ ละ เสียสละ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าโกนาคมนพระองค์นั้นทรงมีพระนครชื่อว่าโสภวดี พระชนกเป็นพราหมณ์ชื่อว่ายัญญทัตตะ พระชนนีเป็นพราหมณีชื่อว่าอุตตรา คู่พระอัครสาวกชื่อว่าพระภิยโยสะและพระอุตตระ พระพุทธอุปัฏฐากชื่อว่าพระโสตถิชะ คู่พระอัครสาวิกาชื่อว่าพระสมุททาและพระอุตตรา โพธิพฤกษ์ชื่อว่าต้นอุทุมพร พระสรีระสูง ๓๐ ศอก พระชนมายุสามหมื่นปี ภริยาเป็นพราหมณีชื่อรุจิคัตตา โอรสชื่อพระสัตถวาหะ ออกอภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือช้าง.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         พระนครชื่อว่า โสภวดี มีกษัตริย์พระนามว่า
               โสภะ ตระกูลของพระสัมพุทธเจ้าเป็นตระกูลใหญ่
               อยู่ในนครนั้น.
                         พระโกนาคมนพุทธเจ้า ผู้เป็นพระศาสดา มี
               พระชนกเป็นพราหมณ์ชื่อว่ายัญญทัตตะ พระชนนี
               เป็นพราหมณี ชื่อว่าอุตตรา.
                         พระโกนาคมนศาสดา มีพระอัครสาวกชื่อว่า
               พระภิยโยสะและพระอุตตระ พระพุทธอุปัฏฐากชื่อ
               ว่าพระโสตถิชะ.
                         พระอัครสาวิกาชื่อว่าพระสมุททาและพระ
               อุตตรา โพธิพฤกษ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์
               นั้น เรียกว่าต้นอุทุมพระ.
                         พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น สูง ๓๐ ศอก ประดับ
               ด้วยพระรัศมีทั้งหลาย เหมือนทองในเบ้าช่างทอง.
                         ในยุคนั้น พระชนมายุของพระพุทธเจ้าสามหมื่น
               ปี พระองค์ทรงพระชนม์ยืนถึงเพียงนั้น จึงยังหมู่ชน
               เป็นอันมากให้ข้ามโอฆะ.
                         พระองค์ทั้งพระสาวก ทรงยกธรรมเจดีย์อัน
               ประดับด้วยผ้าธรรม ทรงทำเป็นพวงมาลัยดอกไม้
               ธรรมแล้วดับขันธปรินิพพานแล้ว.
                         พระสาวกของพระองค์พิลาสฤทธิ์ยิ่งใหญ่ พระ
               ผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ประกาศธรรมอันเป็นสิริ ทั้งนั้นก็
               อันตรธานไปสิ้น สังขารทั้งปวงก็ว่างเปล่า แน่แท้.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุกฺกามุเข ได้แก่ เตาของช่างทอง.
               บทว่า ยถา กมฺพุ ก็คือ สุวณฺณนิกฺขํ วิย เหมือนแท่งทอง.
               บทว่า เอวํ รํสีหิ มณฺฑิโต ได้แก่ ประดับตกแต่งด้วยรัศมีทั้งหลายอย่างนี้.
               บทว่า ธมฺมเจติยํ สมุสฺเสตฺวา ได้แก่ ประดิษฐานพระเจดีย์สำเร็จด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗.
               บทว่า ธมฺมทุสฺสวิภูสิตํ ได้แก่ ประดับด้วยธงธรรมคือสัจจะ ๔.
               บทว่า ธมฺมปุปฺผคุฬํ กตฺวา ได้แก่ ทำให้เป็นพวงมาลัยดอกไม้สำเร็จด้วยธรรม.
               อธิบายว่า พระศาสดาพร้อมทั้งพระสงฆ์สาวก โปรดให้ประดิษฐานพระธรรมเจดีย์ เพื่อมหาชนที่อยู่ ณ ลานพระเจดีย์สำหรับบำเพ็ญวิปัสสนา จะได้นมัสการ แล้วก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน.
               บทว่า มหาวิลาโส ได้แก่ ผู้ถึงความพิลาสแห่งฤทธิ์ยิ่งใหญ่.
               บทว่า ตสฺส ได้แก่ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น.
               บทว่า ชโน ได้แก่ ชน คือพระสาวก.
               บทว่า สิริธมฺมปฺปกาสโน ความว่า และพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประกาศโลกุตรธรรม พระองค์นั้น ทั้งนั้นก็อันตรธานไปสิ้น.
               ในคาถาที่เหลือทุกแห่ง คำชัดแล้วทั้งนั้นแล.
                                   สุเขน โกนาคมโน คตาสโว
                                   วิกามปาณาคมโน มเหสี
                                   วเน วิเวเก สิรินามเธยฺเย
                                   วิสุทฺธวํสาคมโน วสิตฺถ.

               พระโกนาคมนพุทธเจ้า ทรงมีอาสวะไปแล้วโดยสะดวก
               ผู้เป็นที่มาแห่งสัตว์ผู้ปราศจากกาม ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่
               ผู้เป็นที่มาแห่งวงศ์ของพระผู้บริสุทธิ์ ประทับอยู่ ณ ป่า
               อันมีนามเป็นสิริ อันสงัด.
               จบพรรณนาวงศ์พระโกนาคมนพุทธเจ้า               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๓. โกนาคมนพุทธวงศ์ จบ.
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 23อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 24อ่านอรรถกถา 33.2 / 25อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=8394&Z=8445
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=8225
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=8225
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :