ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 33.3 / 1อ่านอรรถกถา 33.3 / 8อรรถกถา เล่มที่ 33.3 ข้อ 9อ่านอรรถกถา 33.3 / 10อ่านอรรถกถา 33.3 / 36
อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก การบำเพ็ญทานบารมี
๙. เวสสันตรจริยา

               อรรถกถาเวสสันตรจริยาที่ ๙               
               พึงทราบวินิจฉัยในเวสสันตรจริยาที่ ๙ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า เม ในบทนี้ว่า ยา เม อโหสิ ชนิกา นางกษัตริย์พระนามว่าผุสดี พระชนนีของเรา. พระศาสดาตรัสหมายถึงพระองค์ครั้งเป็นพระเวสสันดร ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ผุสสตี นาม ขตฺติยา นางกษัตริย์พระนามว่าผุสดี. เป็นความจริงดังนั้น พระมารดาของพระโพธิสัตว์เป็นนางกษัตริย์พระนามว่าผุสดี.
               บทว่า สา อตีตาสุ ชาตีสุ คือ พระนางในชาติที่ล่วงมาแล้วเป็นลำดับจากชาตินั้น.
               จริงอยู่ บทนี้เป็นพหูพจน์ในความเดียวกัน.
               พึงทราบการเชื่อมความว่า พระนางเป็นมเหสีเป็นที่รักของท้าวสักกะ.
               อนึ่ง พระนางได้เป็นพระชนนีของเราในอัตภาพสุดท้าย. ในชาติอันล่วงแล้วนั้น พระนางมีพระนามว่าผุสดี. กษัตริย์ทั้งหลายในชาติอันล่วงแล้วนั้น. เราได้เกิดเป็นเวสสันดรในพระครรภ์ของพระนางในชาติใดก่อนแต่ชาตินั้น พระนางได้เป็นพระมเหสี เป็นที่รักของท้าวสักกะ.
               พึงทราบเรื่องราวเป็นลำดับ ดังต่อไปนี้.
               ในกัป ๙๑ จากกัปนี้พระศาสดาพระนามว่าวิปัสสี ทรงอุบัติขึ้นในโลก.
               เมื่อพระศาสดาพระนามว่าวิปัสสี ประทับอาศัยพันธุมดีนคร ประทับอยู่ ณ มฤคทายวันชื่อเขมะ พระเจ้าพันธุมราชได้พระราชทานแก่นจันทน์มีค่ามากซึ่งพระราชาองค์หนึ่งส่งไปถวาย แก่พระธิดาองค์ใหญ่ของพระองค์.
               พระธิดาได้เอาแก่นจันทน์นั้นบดเป็นผงละเอียดบรรจุลงพระอบ เสด็จไปวิหารบูชาพระสรีระของพระศาสดาซึ่งมีผิวดุจทองคำแล้ว เกลี่ยผงที่เหลือลงในพระคันธกุฎี ทรงตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้หม่อมฉันพึงเป็นมารดาของพระพุทธเจ้าเช่นพระองค์ในอนาคตเถิด.
               ครั้นพระนางจุติจากมนุษยโลกด้วยผลแห่งการบูชาผงจันทน์นั้น มีพระสรีระดุจอบด้วยจันทน์แดง ทรงท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ได้ทรงเกิดเป็นอัครมเหสีของท้าวสักกเทวราชในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์. ครั้นพระนางจะสิ้นพระชนม์ได้เกิดบุรพนิมิต ท้าวสักกเทวราชทรงทราบว่าพระนางจะสิ้นอายุ เพื่ออนุเคราะห์พระนาง จึงตรัสว่า แม่นางผุสดีผู้เจริญ เราจะให้พร ๑๐ ประการแก่เจ้า เจ้าจงรับพรเถิด.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                                   ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบว่า พระนางจะ
                         สิ้นอายุ จึงตรัสดังนี้ว่า เราจะให้พร ๑๐ ประการ
                         แก่เจ้า นางผู้เจริญจะปรารถนาพรอันใด.
               ในบทเล่านั้น บทว่า วร คือ จงเลือกรับพร.
               บทว่า ภทฺเท ยทิจฺฉสิ ท้าวสักกะตรัสว่า นางผุสดีผู้เจริญ เจ้าปรารถนาพรอันใด. พรอันใดเป็นที่รักของเจ้า เจ้าจงเลือกรับพรอันนั้น ๑๐ ประการ.
               บทว่า ปุนิทมพฺรวิ คือ พระนางไม่รู้ว่าตนจะต้องจุติจึงได้ทูลคำเป็นอาทิว่า กึ นุ เม อปราธตฺถิ หม่อมฉันมีความผิดอะไรหรือ? เพราะนางเป็นผู้ประมาทไม่รู้ว่าตนจะสิ้นอายุ เมื่อท้าวสักกะตรัสว่าเจ้าจงรับพร จึงคิดว่า ท้าวสักกะทรงปรารถนาจะให้เราเกิดในที่ไหน จึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า อปราธตฺถิ คือ มีความผิด.
               บทว่า กึ นุ เทสฺสา อหํ ตว พระองค์ทรงเกลียดหม่อมฉันเพราะเหตุไร? คือพระองค์ทรงเกลียด หมดความรักเสียแล้ว.
               บทว่า รมฺมา จาเวสิ มํ ฐานา คือ พระองค์จะให้หม่อมฉันเคลื่อนจากสถานอันน่ารื่นรมย์นี้.
               บทว่า วาโตว ธรณีรุหํ เหมือนลมพัดให้ต้นไม้หวั่นไหวฉะนั้น พระนางทูลถามท้าวสักกะว่า พระองค์มีพระประสงค์จะให้หม่อมฉันเคลื่อนจากเทวโลกนี้ เหมือนลมแรงพัดถอนต้ดไม้ฉะนั้น เพราะเหตุไรหนอ?
               บทว่า ตสฺสิทํ ตัดบทเป็น ตสฺสา อิทํ ความว่า ท้าวสักกะได้ตรัสกะพระนางดังนี้อีก.
               บทว่า น เจว เต กตํ ปาปํ เจ้าไม่ได้ทำความชั่วเลย คือความชั่วไรๆ เจ้ามิได้ทำไว้ ความผิดของเจ้าก็ไม่มี.
               บทว่า น จ เม ตฺวํสิ อปฺปิยา เจ้ามิได้เป็นที่รักของเราก็หามิได้. อธิบายว่า เป็นที่เกลียดชัง ไม่เป็นที่รักก็หามิได้.
               บัดนี้ ท้าวสักกะ เมื่อจะทรงแสดงถึงความประสงค์ที่จะประทานพรจึงตรัสว่า อายุของเจ้ามีประมาณเท่านี้เอง เวลานี้เป็นเวลาที่เจ้าจักต้องจุติ เมื่อจะทรงให้พระนางรับพรจึงตรัสว่า เจ้าจงรับพร ๑๐ ประการอันประเสริฐสุดที่เราให้เถิด.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า วรุตฺตเม คือ พรอันประเสริฐสุดกว่าพรทั้งหลาย.
               บทว่า ทินฺนวรา คือ พรอันท้าวสักกะประทานแล้วด้วยทรงให้ปฏิญญาว่า เราจักให้พร.
               บทว่า ตุฏฺฐหฏฺฐา นางมีพระทัยยินดีร่าเริงคือยินดีด้วยความพอใจในลาภที่พระนางปรารถนาไว้ และร่าเริงด้วยเห็นความปรารถนานั้นถึงที่สุด.
               บทว่า ปโมทิตา คือมีพระทัยเบิกบานด้วยความปราโมทย์มีกำลัง.
               บทว่า มมํ อพฺภนฺตรํ กตฺวา คือ ทรงทำเราไว้ในภายใน ในพรเหล่านั้น.
               บทว่า ทส วเร วริ ความว่า พระนางทรงทราบว่า พระนางจะสิ้นอายุ ท้าวสักกะให้โอกาสเพื่อประทานพร จึงทรงตรวจดูทั่วพื้นชมพูทวีป ทรงเห็นพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสีพีสมควรแก่ตน จึงทรงรับพร ๑๐ ประการเหล่านี้คือ
                         ๑. ขอให้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงสีพีในแคว้นสีพีนั้น
                         ๒. ขอให้มีดวงตาดำ
                         ๓. ขอให้มีขนคิ้วดำ
                         ๔. ขอให้มีชื่อว่าผุสดี
                         ๕. ขอให้ได้โอรสประกอบด้วยคุณวิเศษ
                         ๖. ขออย่าให้ครรภ์นูนโต
                         ๗. ขออย่าให้ถันหย่อนยาน
                         ๘. ขออย่าให้ผมหงอก
                         ๙. ขอให้ผิวละเอียด
                         ๑๐. ขอให้ปล่อยนักโทษที่ต้องประหารชีวิต.
               ครั้นพระนางได้รับพร ๑๐ ประการแล้วก็จุติจากเทวโลกมาบังเกิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้ามัททราช.
               อนึ่ง เมื่อพระนางประสูติมีพระสรีระดุจอบด้วยผงจันทน์. ด้วยเหตุนั้น ในวันขนานพระนามจึงให้ชื่อว่าผุสดี. พระนางผุสดีมีบริวารมาก เมื่อพระชนม์ได้ ๑๖ พระพรรษามีพระรูปพระโฉมงดงามยิ่งนัก.
               ลำดับนั้น พระเจ้าสีพีมหาราชทรงนำพระนางมาเพื่ออภิเษกสมรสกับพระสญชัยกุมารผู้เป็นพระโอรส รับสั่งให้ยกเศวตฉัตรทรงตั้งพระนางผุสดีไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสี ให้เป็นใหญ่กว่าสตรี ๑๖,๐๐๐ คน.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                                   พระนางผุสดีจุติจากดาวดึงส์นั้น แล้ว
                         มาบังเกิดในตระกูลกษัตริย์ ได้อภิเษกสมรส
                         กับพระเจ้ากรุงสญชัยในกรุงเชตุดร.
               พระนางผุสดีนั้นเป็นที่รักเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้ากรุงสญชัย.
               ลำดับนั้น ท้าวสักกะทรงรำพึงเห็นว่า พรที่เราให้แก่พระนางผุสดีไปสำเร็จไปแล้ว ๙ ประการ ทรงดำริว่าพรเกี่ยวกับพระโอรสยังไม่สำเร็จ เราจักให้พรนั้นสำเร็จแก่นาง. ทรงเห็นว่า พระโพธิสัตว์จะสิ้นอายุในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ในครั้งนั้นแล้วจึงเสด็จไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์ตรัสว่า ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านสมควรถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงสญชัยแคว้นสีพีในมนุษยโลก ทรงรับปฏิญญาของพระโพธิสัตว์และเทพบุตร ๖๐,๐๐๐ เหล่าอื่นที่ปฏิบัติตามเทวบัญชา เสร็จแล้วเสด็จกลับวิมานของพระองค์.
               แม้พระมหาสัตว์ครั้นจุติจากชั้นดาวดึงส์นั้น แล้วก็ทรงบังเกิดในแคว้นสีพีนั้น.
               แม้เทพบุตรที่เหลือก็ไปบังเกิดในเรือนของเหล่าอำมาตย์ ๖๐,๐๐๐. เมื่อพระมหาสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ พระนางผุสดีเทวีรับสั่งให้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือที่ประตูพระนคร ๔ แห่ง ท่ามกลางพระนคร ๑ ที่ประตูพระนิเวศน์ ๑ แห่ง ทรงสละทรัพย์ ๖๐๐,๐๐๐ ทุกๆ วัน ได้ทรงแพ้พระครรภ์เมื่อทรงให้ทาน.
               พระราชาทรงสดับว่า พระนางทรงแพ้พระครรภ์ จึงรับสั่งเรียกพราหมณ์ผู้ทำนายโชคชะตามาตรัสถาม ทรงสดับคำกราบทูลว่า ขอเดชะข้าแต่มหาราชเจ้า สัตว์มีบุญมาก ยินดีในทานจะอุบัติในพระครรภ์ของพระเทวี. สัตว์นั้นจักไม่อิ่มด้วยทาน พระเจ้าข้า. ทรงมีพระทัยยินดี ทรงให้ตั้งทานดังได้กล่าวแล้ว. ทรงให้สมณพราหมณ์ คนแก่ คนเดือดร้อน คนยากจน คนเดินทาง วณิพกและยาจกทั้งหลายอิ่มหนำสำราญ.
               ตั้งแต่พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิ คือความเจริญของพระราชา หาประมาณมิได้. ด้วยบุญญานุภาพของพระโพธิสัตว์นั้น พระราชาทั่วชมพูทวีปต่างส่งเครื่องบรรณาการไปถวาย.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                                   ในกาลเมื่อเราลงสู่พระครรภ์ของพระนางผุสดี
                         พระมารดาที่รัก ด้วยเดชของเรา พระมารดาเป็นผู้
                         ยินดีในทานทุกเมื่อ ทรงให้ทานแก่คนยากจน คน
                         ป่วยไข้ คนแก่ ยาจก คนเดินทาง สมณพราหมณ์
                         คนสิ้นเนื้อประดาตัว คนไม่มีอะไรเลย.

               ในบทเหล่านั้น บทว่า มม เตเชน ด้วยเดชของเรา คือด้วยอานุภาพแห่งอัธยาศัยในการให้ของเรา.
               บทว่า ขีเณ คือ หมดสิ้นด้วยโภคะเป็นต้น คือถึงความเสื่อมโทรม.
               บทว่า อกิญฺจเน คือ ไม่มีอะไรยึดถือเลย.
               ในทุกบทเป็นสัตตมีวิภัตติ์ลงในอรรถแห่งวิสัยคือเป็นอารมณ์ เพราะว่า คนไม่มีทรัพย์เป็นต้น เป็นอารมณ์แห่งการบริจาคไทยธรรม.
               พระเทวีทรงได้รับการบริหารพระครรภ์เป็นอย่างมาก เมื่อครบ ๑๐ เดือน มีพระประสงค์จะทอดพระเนตรพระนคร จึงกราบทูลพระราชสวามี.
               พระราชารับสั่งให้ตกแต่งพระนครดุจเทพนคร อัญเชิญพระเทวีขึ้นรถอันประเสริฐแล้วให้ทำประทักษิณพระนคร. เมื่อพระนางเสด็จถึงท่ามกลางถนนของพวกทำการค้า ลมกรรมชวาต (ลมเบ่ง) ได้ปั่นป่วนขึ้นแล้ว.
               พวกอำมาตย์กราบทูลแด่พระราชา.
               พระราชารับสั่งให้สร้างเรือนประสูติแก่พระนางที่ถนนของพวกทำการค้านั่นเองแล้วทรงให้จัดตั้งอารักขา.
               พระนางประสูติพระโอรส ณ ที่นั้นเอง.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                                   พระนางผุสดีทรงพระครรภ์ครบ ๑๐ เดือน
                         เมื่อพระเจ้าสญชัยทรงทำประทักษิณพระนคร
                         พระนางก็ประสูติเรา ณ ท่ามกลางถนนของพวก
                         คนทำการค้า นามของเราจึงไม่เนื่องข้างฝ่ายพระ
                         มารดา และไม่เกิดเนื่องข้างฝ่ายพระบิดา เพราะ
                         เราเกิดที่ถนนของคนค้าขาย ฉะนั้น เราจึงมีชื่อว่า
                         เวสสันดร.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า กโรนฺเต ปุรํ ปทกฺขิณํ คือ เมื่อพระเจ้าสญชัยมหาราชทรงพาพระเทวีกระทำประทักษิณพระนคร.
               บทว่า เวสฺสานํ คือ พวกพ่อค้า.
               บทว่า น มตฺติกํ นามํ คือ นามของเราไม่เนื่องตายายอันมาข้างมารดา.
               บทว่า เปตฺติกสมฺภวํ ชื่อว่า เปตฺติกํ เพราะนี้ฝ่ายบิดา.
               ชื่อว่า สมฺภโว เพราะเกิดจากฝ่ายบิดา.
               ชื่อว่า เปตฺติกสมฺภวํ เพราะเกิดเนื่องข้างฝ่ายบิดา หมายถึงชื่อ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า มิได้ตั้งพระนามด้วยความผูกพันทางมารดาและบิดา.
               บทว่า ชาเตตฺถ ตัดบทเป็น ชาโต เอตฺถ คือเกิดที่ถนนของคนค้าขายนี้. ปาฐะว่า ชาโตมฺหิ บ้างคือเราเกิดแล้ว.
               บทว่า ตสฺมา เวสฺสนฺตโร อหุ คือ เพราะในครั้งนั้น เราเกิด ณ ถนนของคนค้าขาย ฉะนั้นจึงชื่อว่า เวสสันดร.
               อธิบายว่า พระชนกชนนีทรงขนานพระนามว่า เวสฺสนฺตร.
               พระมหาสัตว์ทรงประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ทรงเฉลียวฉลาด ทรงลืมพระเนตรประสูติ. พอทรงประสูตินั่นเองทรงเหยียดพระหัตถ์ให้พระมารดาตรัสว่า แม่จ๋า ลูกจักให้ทาน มีอะไรบ้าง.
               มารดาของพระมหาสัตว์ทรงมอบถุงทรัพย์ ๑,๐๐๐ ที่อยู่ใกล้พระหัตถ์ด้วยพระดำรัสว่า ลูกรักจงให้ทานตามอัธยาศัยเถิด.
               จริงอยู่ พระโพธิสัตว์พอประสูติก็ทรงพูดได้ในที่ ๓ แห่ง คือในอุมมังคชาดก ๑ ในชาดกนี้ ๑ ในอัตภาพสุดท้าย ๑.
               พระราชาทรงให้แม่นม ๖๐ คนมีน้ำนมหวาน เว้นจากโทษมีสูงเกินไปเป็นต้น ดูแลพระมหาสัตว์. พระราชทานแม่นมแก่ทารก ๖๐,๐๐๐ ซึ่งเกิดพร้อมกับพระโพธิสัตว์นั้น. พระโพธิสัตว์ทรงเจริญด้วยบริวารมากพร้อมกับทารก ๖๐,๐๐๐ คน.
               พระราชารับสั่งให้ช่างทำเครื่องประดับพระกุมารมีค่า ๑๐๐,๐๐๐ พระราชทานแก่พระกุมารนั้น. พระกุมารเมื่อมีพระชันษา ๔-๕ ขวบ ทรงเปลื้องเครื่องประดับนั้นให้แก่พวกแม่นม พวกแม่นมถวายคืนอีกก็ไม่ทรงรับ.
               พระราชาทรงสดับดังนั้นจึงตรัสว่า เครื่องประดับที่โอรสของเราให้เป็นอันให้ดีแล้ว แล้วทรงให้ช่างทำเครื่องประดับอย่างอื่นอีก. พระกุมารก็ทรงให้อีก. เมื่อเป็นทารกนั่นเองได้ทรงให้เครื่องประดับแก่พวกแม่นมถึง ๙ ครั้ง.
               เมื่อพระชนม์ได้ ๘ พระพรรษา บรรทมเหนือพระยี่ภู่ทรงดำริว่า เราให้ทานภายนอก ทานนั้นก็ไม่พอใจเรา. เราประสงค์จะให้ทานภายใน หากว่าใครๆ พึงขอหทัยกะเรา เราจะนำหทัยออกให้. หากพึงขอจักษุกะเรา.เราก็จักควักจักษุให้. หากพึงขอเนื้อหรือเลือดในร่างกายทั้งสิ้นของเรา เราก็จะเชือดเนื้อจากร่างกายทั้งสิ้น เอาดาบเจาะเลือดให้. แม้ใครๆ จะพึงกล่าวว่า ขอท่านจงเป็นทาสของเราเถิด เราก็จะประกาศแล้วให้ตนแก่เขา.
               เมื่อพระกุมารทรงดำริตามความจริงพร้อมด้วยสมบัติอันสำคัญอย่างนี้ มหาปฐพีนี้หนา ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์หวั่นไหวจนถึงที่สุดของน้ำ. ภูเขาสิเนรุโน้มแล้วตั้งตรงไปยังพระนครเชตุดร.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                                   ในกาลเมื่อเราเป็นทารกอายุ ๘ ปี แต่กำเนิด
                         ในกาลนั้น เรานั่งอยู่ในปราสาท คิดเพื่อจะให้ทาน
                         ว่าเราพึงให้หทัย จักษุ แม้เนื้อและเลือดเราพึงให้
                         ทานทั้งกาย ถ้าใครได้ยินแล้วพึงขอกะเรา เมื่อเรา
                         คิดถึงความเป็นจริง จิตของเราไม่หวั่นไหว ไม่หดหู่
                         ในขณะนั้นแผ่นดิน ภูเขาสิเนรุได้หวั่นไหว.

               ในบทเหล่านั้น บทว่า สาเวตฺวา คือ ประกาศความเป็นทาสว่า ตั้งแต่วันนี้ไป เราจะเป็นทาสของบุคคลนี้.
               บทว่า ยทิ โกจิ ยาจเย มมํ คือ ผิว่าใครพึงขอกะเรา.
               บทว่า สภาวํ จินฺตยนฺตสฺส เราคิดถึงความเป็นจริง คือเราคิดถึงความเป็นจริงตามสภาพของตน อันไม่วิปริตตามอัธยาศัยอันไม่อิ่ม.
               อธิบายว่า เมื่อเราคิด.
               บทว่า อกมฺปิตํ คือ ปราศจากความหวั่นไหว.
               อสณฺฐิตนฺติ สงฺโกจรหิตํ ฯ บทว่า อสณฺฐิตํ คือ ประกาศความหดหู่.
               อธิบายว่า เพราะจิตหวั่นไหว กล่าวคือจิตหวาดสะดุ้งในการให้จักษุเป็นต้นของผู้ไม่ใช่พระโพธิสัตว์ด้วยความโลภเป็นต้น และจิตซบเซากล่าวคือความหดหู่. เว้นจากจิตนั้น.
               บทว่า อกมฺปิ คือ ได้หวั่นไหว.
               บทว่า สิเนรุวนวฏํสกา คือ สิเนรุวันอันเป็นสวนย่อมกำหนดด้วยนันทวัน ปารุสวัน มิสสวัน จิตรลดาวัน เป็นต้นอันตั้งขึ้นที่ภูเขาสิเนรุ.
               อีกอย่างหนึ่ง สิเนรุและสวนเป็นที่น่ารื่นรมย์ในชมพูทวีปเป็นต้นชื่อว่าสิเนรุวัน.
               ชื่อว่า สิเนรุวนวฏํสกา เพราะสวนนั้นมีลักษณะเป็นเครื่องประดับ.
               อนึ่ง เมื่อแผ่นดินไหวเป็นไปอยู่อย่างนี้ ท้องฟ้ากระหึ่มยังฝนชั่วคราวให้ตก สายฟ้าแลบ ระลอกซัดในมหาสมุทร. ท้าวสักกเทวราชปรบพระหัตถ์ มหาพรหมซ้องสาธุการ. ความเอิกเกริกโกลาหลได้มีขึ้นจนถึงพรหมโลก
               พระมหาสัตว์ เมื่อมีพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษาก็ทรงสำเร็จศิลปะทุกแขนง.
               พระบิดาของพระองค์มีพระประสงค์จะทรงมอบราชสมบัติให้ จึงทรงปรึกษากับพระชนนี นำพระราชกัญญาพระนามว่ามัทรี ผู้เป็นพระธิดาของพระเจ้าลุง จากตระกูลมัททราชแล้วทรงแต่งตั้งให้เป็นพระอัครมเหสี เป็นหัวหน้าของสตรี ๑๖,๐๐๐ นาง แล้วอภิเษกพระมหาสัตว์ให้ครองราชสมบัติ.
               พระมหาสัตว์ตั้งแต่ทรงครองราชสมบัติ ทรงสละพระราชทรัพย์วันละ ๖๐๐,๐๐๐ ทุกวัน ทรงบริจาคมหาทาน เสด็จทรงตรวจตราทานทุกกึ่งเดือน.
               ครั้นต่อมา พระนางมัทรีประสูติพระโอรส. พวกอำมาตย์รับพระองค์ด้วยข่ายทอง เพราะเหตุนั้นจึงขนานพระนามว่าชาลีกุมาร. เมื่อพระชาลีกุมารทรงดำเนินได้ พระนางมัทรีได้ประสูติพระธิดาอีกองค์หนึ่ง. พวกอำมาตย์รับพระธิดานั้นไว้ด้วยหนังหมีดำ เพราะเหตุนั้นจึงขนานพระนามว่ากัณหาชินา.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                                   ในวันอุโบสถเดือนเต็ม ๑๕ ค่ำ ทุกกึ่ง
                         เดือน เราขึ้นคอมงคลหัตถีปัจจัยนาค เข้าไป
                         ยังศาลาเพื่อจะให้ทาน.

               ในบทเหล่านั้น บทว่า อนฺวทฺธมาเส ทุกกึ่งเดือน. อธิบายว่า ทุกๆ กึ่งเดือน.
               บทว่า ปุณฺณมาเส คือ ในเดือนเพ็ญ.
               พึงทราบการเชื่อมความว่า
               เมื่อถึงวัน ๑๕ ค่ำ ในเดือนเพ็ญและพระจันทร์เต็มดวง เราเข้าไปยังโรงทานเพื่อให้ทาน.
               ในบทนั้นโยชนาแก้ไว้ว่า
               เราขึ้นคอมงคลหัตถีปัจจัยนาคเข้าไปยังโรงทานเพื่อให้ทานทุกกึ่งเดือน.
               อนึ่ง ในกาลใด เมื่อเราเข้าไปอย่างนี้ได้เข้าไปเพื่อให้ทานในวันอุโบสถเดือนเพ็ญ ๑๕ ค่ำ ครั้งหนึ่ง. ในกาลนั้น พราหมณ์ชาวแคว้นกาลิงคะได้เข้าไปหาเรา.
               บทว่า ปจฺจยํ นาคํ คือ มงคลหัตถี ชื่อว่าปัจจัยนาค.
               เพราะในวันที่พระโพธิสัตว์ประสูติ แม้ช้างเที่ยวไปในอากาศเชือกหนึ่งนำลูกช้างเผือกตลอดตัว เป็นช้างที่เขาถือว่าเป็นมงคลยิ่งมาปล่อยไว้ในที่ของมงคลหัตถีแล้วก็กลับไป. เพราะช้างนั้นได้มาเพราะ พระมหาสัตว์เป็นปัจจัย จึงตั้งชื่อว่าปัจจัยนาค.
               เราขึ้นช้างมงคลนั้นที่ชื่อว่าปัจจัยนาค เข้าไปยังโรงทานเพื่อให้ทาน.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                                   พราหมณ์ทั้งหลายชาวกาลิงครัฐได้มาหา
                         เรา ได้มาขอพระยาคชสารทรงอันประกอบด้วย
                         มงคลหัตถีกะเราว่า ชนบทฝนไม่ตกเกิดทุพภิกข
                         ภัยอดอยากมากมาย ขอพระองค์โปรดพระราช
                         ทานพระยาคชสารตัวประเสริฐ เผือกผ่องอันเป็น
                         ช้างมงคลอุดม.

               ในบทเหล่านั้น คาถามีอาทิว่า กาลิงฺครฏฺฐวิสยา มาแล้วแม้ในกุรุราชจริยาในหนหลัง. เพราะฉะนั้น ความแห่งคาถาเหล่านั้นและกถามรรค พึงทราบตามนัยดังกล่าวแล้วในกุรุราชจริยานั้นนั่นแล.
               แต่ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สพฺพเสตํ คชุตฺตมํ เป็นช้างเผือกผ่องเป็นมงคลอุดม.
               พระโพธิสัตว์นั้นทรงขึ้นคอพระยาคชสาร เมื่อจะทรงประกาศความยินดีอย่างยิ่งในทานของพระองค์ว่า :-
                                   พราหมณ์ทั้งหลายขอสิ่งใดกะเรา เราย่อมให้
                         สิ่งนั้นไม่หวั่นไหวเลย เราไม่ซ่อนเร้นของที่มีอยู่
                         ใจของเรายินดีในทาน.

               ทรงปฏิญาณว่า :-
                                   เมื่อยาจกมาถึงแล้ว การห้ามไม่สมควรแก่เรา
                         กุสลสมาทานของเราอย่าทำลายเสีย เราจักให้คชสาร
                         ตัวประเสริฐ.

               แล้วเสด็จลงจากคอคชสาร ทรงพิจารณาเพื่อตรวจดูสถานที่ที่มิได้ตกแต่ง มิได้ทรงเห็นสถานที่ที่มิได้ตกแต่ง จึงทรงจับพระเต้าทองเต็มไปด้วยน้ำหอมเจือดอกไม้ ตรัสว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงมาข้างนี้ แล้วทรงจับงวงคชสารเช่นกับพวงเงินที่ตกแต่งแล้ววางไว้บนมือของพวกพราหมณ์ ทรงหลั่งน้ำแล้วพระราชทานพระยาคชสารที่ตกแต่งไว้เป็นอย่างดีแก่พวกพราหมณ์.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า :-
                                   เราได้จับงวงพระยาคชสารวางลงบนมือ
                         พราหมณ์ แล้วจึงหลั่งน้ำในเต้าทองลงบนมือ
                         ได้ให้พระยาคชสารแก่พราหมณ์ทั้งหลาย.

               ในบทเหล่านั้น บทว่า สนฺตํ คือ ไทยธรรมอันมีอยู่.
               บทว่า นปฺปฏิคุยฺหามิ คือ ไม่ปกปิด.
               เพราะผู้ใดคิดว่า ของของตนต้องเป็นของเราเท่านั้นดังนี้ หรือเขาขอแล้วปฏิเสธ. ผู้นั้นชื่อว่าปกปิดแม้ของที่ตั้งไว้ต่อหน้าผู้ขอทั้งหลายโดยใจความ.
               ส่วนพระมหาสัตว์มีพระประสงค์จะพระราชทาน ทานภายในตั้งแต่ศีรษะเป็นต้นของพระองค์. จะทรงปฏิเสธทานภายนอกได้อย่างไร.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สนฺตํ นปฺปฏิคุยฺหามิ เราไม่ซ่อนเร้นของมีอยู่.
               ดังที่ตรัสไว้ว่า ทาเน เม รมเต มโน ใจของเรายินดีในทานดังนี้.
               บทที่เหลือมีความดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               เครื่องประดับที่เท้าทั้ง ๔ ของคชสารนั้นมีค่า ๔๐๐,๐๐๐. เครื่องประดับที่ข้างทั้งสองมีค่า ๒๐๐,๐๐๐. ผ้ากัมพลที่ใต้ท้องมีค่า ๑๐๐,๐๐๐. ข่ายบนหลัง ๓ ข่ายคือข่ายแก้วมุกดา ข่ายแก้วมณี ข่ายทองคำ มีค่า ๓๐๐,๐๐๐. เครื่องประดับหูทั้งสองข้าง มีค่า ๒๐๐,๐๐๐. ผ้ากัมพลที่ลาดบนหลังมีค่า ๑๐๐,๐๐๐. เครื่องประดับกระพองมีค่า ๑๐๐,๐๐๐. พวงมาลัย ๓ พวงมีค่า ๓๐๐,๐๐๐. เครื่องประดับปลายหูมีค่า ๑๐๐,๐๐๐. เครื่องประดับงาทั้งสองข้างมีค่า ๒๐๐,๐๐๐. เครื่องประดับตาบทาบทีงวงมีค่า ๑๐๐,๐๐๐. เครื่องประดับหางมีค่า ๑๐๐,๐๐๐. บันไดพาด มีค่า ๑๐๐,๐๐๐. ภาชนะใส่อาหารมีค่า ๑๐๐,๐๐๐.
               ของประมาณเท่านี้ มีค่าสองล้านสี่แสนนอกจากของที่หาค่ามิได้.
               ของหาค่ามิได้ ๖ อย่างเหล่านี้คือ แก้วมณีที่พุ่มฉัตร ๑ จุฬามณี ๑ แก้วมุกดาหาร ๑ แก้วมณีที่ขอ ๑ แก้วมุกดาหารที่สวมคอคชสาร ๑ แก้วมณีที่กระพอง ๑ แม้ช้างก็หาค่ามิได้เหมือนกัน รวมของหาค่ามิได้ ๗ อย่างกับช้าง.
               พระโพธิสัตว์ได้พระราชทานของทั้งหมดเหล่านั้นแก่พราหมณ์ทั้งหลาย.
               อนึ่ง ได้พระราชทานตระกูลบำรุงช้าง ๕๐๐ ตระกูลพร้อมด้วยควาญช้างและคนเลี้ยงช้าง.
               อนึ่ง พร้อมกับพระราชทานได้เกิดอัศจรรย์มีแผ่นดินไหวเป็นต้น โดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลัง.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                                   เมื่อเราได้ให้พระยาคชสารอันอุดมเผือก
                         ผ่องอีก แม้ในกาลนั้นแผ่นดิน เขาสิเนรุราช
                         และป่าก็ได้หวั่นไหว.
                                   ในเมื่อเราให้คชสารอันประเสริฐ ความ
                         น่ากลัว ความสยดสยองพองขนได้เกิดขึ้น
                         แผ่นดินก็หวั่นไหว.
               บทว่า ตสฺส นาคสฺส ทาเนน เพราะให้คชสารนั้นคือเพราะบริจาคมงคลหัตถีนั้น พร้อมด้วยสิ่งของเครื่องประดับมีค่าสองล้านสี่แสนกับของอันหาค่ามิได้อีก ๖ อย่าง.
               บทว่า สิวโย คือ สีพีราชกุมารทั้งหลายและชาวแคว้นสีพี.
               อนึ่ง บทว่า สิวโย นี้เป็นหัวข้อเทศนา.
               เพราะเหล่าอำมาตย์ ชุมชน พราหมณ์ คหบดี ชาวนิคม ชาวชนบท ชาวเมือง ชาวแคว้นทั้งสิ้นทั้งหมด ยกเว้นพระสญชัยมหาราช พระนางผุสดี และพระนางมัทรี ชื่อว่าชาวสีพีในบทว่า สิวโย นั้น.
               บทว่า กุทฺธา พากันโกรธเคือง คือโกรธเคืองพระโพธิสัตว์ด้วยเทวดาดลใจ.
               บทว่า สมาคตา คือ ประชุมกัน.
               นัยว่า พราหมณ์เหล่านั้น ครั้นได้คชสารแล้วก็ขึ้นคชสารนั้นเข้าไปทางประตูใหญ่พากันดื่มถวายพระพร ณ ท่ามกลางพระนคร.
               อนึ่ง เมื่อมหาชนพูดกันว่า พราหมณ์ผู้เจริญท่านขี่ช้างของเรามาจากไหน. พราหมณ์ทั้งหลายบอกว่า พระเวสสันดรมหาราชพระราชทานแก่พวกเรา พวกท่านเป็นใคร แล้วโบกมือไล่ พากันเดินทางต่อไป.
               ลำดับนั้น มหาชนมีพวกอำมาตย์เป็นต้นพากันมาประชุมที่ประตูพระราชวังกล่าวโทษว่า
               พระราชาควรพระราชทานทรัพย์ ข้าวเปลือก นา ไร่สวน หรือทาสหญิงชายและนางกำนัลแก่พวกพราหมณ์. พระเวสสันดรมหาราชพระราชทานมงคลหัตถีอันเป็นช้างพระที่นั่งนี้ไปได้อย่างไร. บัดนี้ พวกเราจักไม่ให้ราชสมบัติต้องพินาศไปอย่างนี้.
               จึงกราบทูลความนั้นแต่พระเจ้ากรุงสญชัยมหาราช.
               พระเจ้ากรุงสญชัยมหาราชทรงเห็นด้วยตามคำแนะนำ รับจะทำตาม แล้วก็พากันกลับไป.
               แต่พวกพราหมณ์ยังได้กราบทูลว่า :-
                                   พระองค์อย่าฆ่าพระเวสสันดรนั้น ด้วย
                         ท่อนไม้ หรือศัสตราเลย พระเวสสันดรนั้นไม่
                         ควรแก่เครื่องพันธนาการเลย แต่ขอพระองค์
                         จงขับไล่พระเวสสันดรออกจากแว่นแคว้นไป
                         อยู่ ณ เขาวงกตเถิด พระเจ้าข้า.

               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ปพฺพาเชสุํ สกา รฏฺฐา, วงฺกํ คจฺฉตุ ปพฺตํ ชาวกรุงสีพีประชุมกันขับไล่เราจากแคว้นของตนว่า จงไปยังเขาวงกต.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปพฺพาเชสุํ พากันขับไล่ คือได้ทำความพยายามเพื่อให้ไปอยู่ภายนอกจากราชสมบัติ.
               แม้พระราชาก็ทรงดำริว่า นี้เป็นปฏิปักษ์ใหญ่หลวงนัก เอาเถิด โอรสของเราจงอยู่ภายนอกราชสมบัติสักเล็กน้อยก่อน แล้วตรัสว่า :-
                                   หากชาวเมืองสีพีมีความพอใจเช่นนั้น เรา
                         ก็ไม่ขัดความพอใจ แต่ขอให้โอรสของเราอยู่
                         บริโภคกามทั้งหลายตลอดคืนนี้ก่อน จากนั้น
                         เมื่อสิ้นราตรีพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ชาวเมืองสีพี
                         จงพร้อมใจกันขับไล่ เธอจงออกจากแว่นแคว้น
                         เถิด.
               แล้วส่งนักการไปยังสำนักของพระโอรสด้วยพระดำรัสว่า เจ้าจงบอกข่าวนี้แก่โอรสของเรา.
               แม้พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสถามถึงเหตุผลว่า :-
                                   ดูก่อนนักการชาวกรุงสีพี พากันโกรธเรา
                         ในเพราะเรื่องอะไร เรายังไม่เห็นความชั่วของ
                         เรา ท่านจงบอกความชั่วนั้นแก่เรา เพราะเหตุไร
                         จึงพากันขับไล่เรา.
               เมื่อนักการกราบทูลว่า เพราะพระองค์พระราชทานคชสาร พระเจ้าข้า.
               พระเวสสันดรทรงมีความโสมนัสยิ่งนัก ตรัสว่า :-
                                   เราจะให้หทัย ให้จักษุ เงินทอง แก้วมุกดา
                         แก้วไพฑูรย์ และแก้วมณี เป็นเพียงทรัพย์ภายนอก
                         ของเรา จะเป็นอะไร.
                                   เมื่อยาจกมา ถึงแล้วเห็นยาจกแล้ว จะให้
                         แขนขวา ซ้าย เราไม่หวั่นไหว เพราะใจของเรา
                         ยินดีในทาน.
                                   ชาวกรุงสีพีทั้งปวง จงขับไล่ หรือจงฆ่าเรา
                         ก็ตาม หรือจงตัดเราเป็น ๗ ท่อนก็ตามเถิด เราจัก
                         งดการให้ทานเสียมิได้เลย.
               แล้วมีพระดำรัสต่อไปว่า
               ชาวเมืองทั้งหลายจงให้โอกาสแก่เรา เพื่อให้ทานสักวันหนึ่งเถิด พรุ่งนี้เราให้ทานแล้วในวันที่ ๓ จักไป แล้วทรงส่งนักการไปยังสำนักของพวกพราหมณ์ รับสั่งกะอำมาตย์ผู้ดูแลราชกิจทั้งปวงว่า
               พรุ่งนี้เราจักให้สัตตสดกมหาทาน (การให้ทานครั้งใหญ่อย่างละ ๗๐๐) คือช้าง ๗๐๐ ม้า ๗๐๐ รถ ๗๐๐ หญิง ๗๐๐ โคนม ๗๐๐ ทาสชาย ๗๐๐ ทาสหญิง ๗๐๐. ท่านจงเตรียมไว้ จงจัดตั้งข้าวและน้ำเป็นต้น หลายๆ อย่างอันเป็นของควรให้ทั้งหมด.
               แล้วพระองค์องค์เดียวเท่านั้น เสด็จไปยังที่ประทับของพระนางมัทรี แล้วตรัสว่า ดูก่อนแม่มัทรีน้อง เมื่อจะฝังทรัพย์อันจะติดตามไป พึงให้ในผู้มีศีลทั้งหลาย แล้วทรงชักชวนพระนางมัทรีในการบริจาคทาน ทรงแจ้งถึงเหตุที่พระองค์จะเสด็จไปให้พระนางทรงทราบ.
               แล้วตรัสว่า พี่จักไปอยู่ป่า ขอให้น้องจงอยู่ในพระนครนี้เถิด อย่าติดตามไปเลย.
               สา นาหํ มหาราช ตุเมฺหหิ วินา เอกทิวสมฺปิ วสิสฺสามีติ อาห ฯ
               พระนางมัทรีทูลว่า ข้าแต่พระราชสวามี หม่อมฉันเว้นพระองค์เสียแล้วจักขออยู่แม้วันเดียว.
               ในวันที่สอง พระเวสสันดรทรงบริจาคสัตตสดกมหาทาน. เมื่อพระเวสสันดรทรงบริจาคสัตตสดกมหาทานนั่นเองก็ถึงเวลาเย็น. พระองค์เสด็จโดยรถที่ตกแต่งแล้วไปเฝ้าพระมารดาพระบิดา ทูลลาพระมารดาพระบิดาว่า พรุ่งนี้ลูกจักไป.
               เมื่อพระมารดาพระบิดาไม่ทรงประสงค์ ทรงพระกันแสงมีน้ำพระเนตรนองพระพักตร์ พระเวสสันดรถวายบังคมแล้วกระทำประทักษิณ เสด็จออกจากที่นั้น.
               ในวันนั้น พระองค์ประทับอยู่ในพระราชนิเวศน์ของพระองค์ วันรุ่งขึ้นทรงดำริว่าเราจักไปละ จึงเสด็จลงจากปราสาท.
               พระนางมัทรีแม้พระสัสสุ (แม่ผัว) พระสัสสุระ (พ่อผัว) ขอร้องโดยนัยต่างๆ ให้กลับก็มิได้ทรงเชื่อฟังพระดำรัสของพระสัสสุและพระสัสสุระ ถวายบังคมแล้วทรงกระทำประทักษิณ ทรงอำลาบรรดาสตรีที่เหลือ พาพระโอรสและธิดาทั้งสองเสด็จไปหาพระเวสสันดรก่อนประทับยืนอยู่บนรถ.
               พระมหาบุรุษเสด็จขึ้นรถประทับยืนบนรถทรงอำลามหาชน ทรงประทานโอวาทแก่มหาชนว่า พวกท่านจงอย่าประมาทกระทำบุญมีทานเป็นต้น แล้วเสด็จออกจากพระนคร.
               พระมารดาของพระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า โอรสของเราปลาบปลื้มอยู่กับการให้ทาน จงให้ทานเถิด จึงทรงส่งเกวียนเต็มไปด้วยรตนะ ๗ ประการพร้อมด้วยเครื่องอาภรณ์ไปทั้งสองข้าง.
               พระมหาบุรุษพระราชทานเครื่องประดับที่ติดไปกับพระวรกายของพระองค์ แก่ยาจกที่เข้าไปขอถึง ๑๘ ครั้ง ได้พระราชทานสิ่งที่เหลือจนหมด.
               พระองค์เสด็จออกจากพระนคร ได้มีพระประสงค์จะเหลียวทอดพระเนตรพระนคร. ทันใดนั้น ด้วยบุญญานุภาพของพระองค์ มหาปฐพีในที่ชั่วคันรถได้แยกหมุนกลับทำรถให้บ่ายหน้าไปยังพระนคร. พระมหาสัตว์ทอดพระเนตรที่ประทับของพระชนกชนนี. ด้วยพระมหากรุณานั้นมหาปฐพีก็ได้ไหว.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า เตสํ นิจฺฉุภมานานํ ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า นิจฺฉุภมานานํ คือ เมื่อชาวกรุงสีพีเหล่านั้นคร่าออกไป คือขับไล่. หรือเมื่อกษัตริย์เหล่านั้นเสด็จออกไป.
               บทว่า มหาทานํ ปวตฺเตตุํ คือ เพื่อบริจาคสัตตสดกมหาทาน.
               บทว่า อยาจิสฺสํ คือ เราได้ขอแล้ว.
               บทว่า สาวยิตฺวา คือ ประกาศ.
               บทว่า กณฺณเภรึ คือ กลองใหญ่คู่หนึ่ง.
               บทว่า ททามหํ คือ เราให้มหาทาน.
               บทว่า อเถตฺถ ในโรงทานนี้ คือเมื่อเราให้ทานในโรงทานนี้.
               บทว่า ตุมูโล คือ เสียงดังกึกก้องอึงมี่. บทว่า เภรโว คือ น่ากลัว.
               จริงอยู่ เสียงนั้นทำให้คนอื่นกลัว เว้นพระมหาสัตว์. เพื่อทรงแสดงอาการที่เสียงนั้นให้เกิดความกลัวจึงตรัสว่า ทาเนนิมํ ดังนี้.
               ความว่า ชาวกรุงสีพีพากันขับไล่พระเวสสันดรมหาราชนี้ออกจากแว่นแคว้น เพราะเหตุการให้ แม้กระนั้น พระเวสสันดรมหาราชนี้ก็ยังให้ทานเช่นนั้นอยู่อีก.
               บัดนี้เพื่อทรงแสดงทานนั้น จึงตรัสคาถาว่า หตฺถึ ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ควํ คือ แม่โคนม.
               บทว่า จตฺวาหึ รถํ ทตฺวา เราให้ม้าสินธพ ๔ ตัวและรถ คือ ม้าชื่อว่าวาหิน เพราะนำไป. อธิบายว่า ให้ม้าสินธพอาชาไนย ๔ ตัว และรถแก่พวกพราหมณ์.
               จริงอยู่ พระมหาสัตว์ เมื่อเสด็จออกจากพระนครอย่างนั้น ทรงให้อำมาตย์ ๖๐,๐๐๐ และชนที่เหลือซึ่งมีหน้านองด้วยน้ำตา ติดตามไปกลับ ทรงขับรถไปด้วยพระองค์เอง ตรัสกะพระนางมัทรีว่า นี่แน่ะน้อง หากมียาจกตามมาข้างหลัง. น้องคอยดูด้วย. พระนางมัทรีประทับนั่งดูอยู่.
               ลำดับนั้น พราหมณ์ ๔ คนไม่อาจมาทันรับสัตตสดกมหาทานของพระองค์ และทานที่พระองค์ทรงบริจาคในขณะเสด็จได้จึงพากันเดินทางมาถามว่า พระเวสสันดรประทับอยู่ที่ไหน เมื่อเขาตอบว่า พระองค์ทรงให้ทานเสด็จโดยรถกลับไปแล้ว จึงคิดว่าเราจักขอม้า จึงติดตามไป.
               พระนางมัทรีทรงเห็นพราหมณ์เหล่านั้นเดินมา จึงกราบทูลว่า ยาจกมาแล้วพระเจ้าพี่. พระมหาสัตว์ทรงจอดรถ. พวกพราหมณ์เหล่านั้นจึงกราบทูลขอม้า. พระมหาสัตว์ทรงให้ม้า. พวกพราหมณ์รับม้าแล้วก็พากันกลับ.
               ก็เมื่อพระราชทานม้าแล้ว แอกรถก็ตั้งอยู่บนอากาศนั่นเอง.
               ลำดับนั้น เทพบุตร ๔ องค์มาด้วยเพศของละมั่งรับแอกรถไว้แล้วลากไป.
               พระมหาสัตว์ทรงทราบว่าละมั่งนั้นเป็นเทพบุตร จึงตรัสกะพระนางมัทรีว่า
                         ดูก่อนแม่มัทรี เชิญดูเถิด เนื้อละมั่งปรากฏ
                         รูปร่างงดงาม เหมือนม้าที่ชำนาญพาเราไป.

               ในบทเหล่านั้น บทว่า จิตฺตรูปํว มีรูปน่าอัศจรรย์.
               บทว่า ทกฺขิณสฺสา คือ เหมือนม้าที่ชำนาญพาเราไป.
               ครั้งนั้น พราหมณ์อีกคนหนึ่งมาทูลขอรถที่กำลังแล่นอยู่นั้น. พระมหาสัตว์ทรงให้โอรสและมเหสีลง พระราชทานรถ. เมื่อพระราชทานรถแล้ว เทพบุตรก็หายไป. ตั้งแต่นั้นกษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์ก็ทรงดำเนินด้วยพระบาท.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสว่า ดูก่อนแม่มัทรี น้องอุ้มกัณหา พี่จะอุ้มพ่อชาลี. ทั้งสองพระองค์ก็เอาพระกุมารกุมารีทั้งสองเข้าเอวไป ทรงสนทนาปราศรัยเป็นที่รักซึ่งกันและกัน. ตรัสถามทางที่จะไปเขาวงกตกะพวกมนุษย์ที่เดินสวนทางมา. เมื่อต้นไม้ผลโน้มลงมาเอง ก็เก็บผลไม้ให้พระโอรสและธิดา.
               เพราะเทวดาผู้ใคร่ประโยชน์ย่อทางให้ จึงบรรลุถึงเจตรัฐในวันนั้นนั่นเอง.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า จตฺวาหึ รถํ ทตฺวา เป็นอาทิ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ฐตฺวา จาตุมฺมหาปเถ ยืนอยู่ที่ทางใหญ่ ๔ แยก. ความว่า ยืนอยู่ที่ทาง ๔ แพร่ง เพราะทางที่ตนมาและทางที่พราหมณ์นั้นมาทะลุบรรจบกัน แล้วให้รถแก่พราหมณ์นั้น.
               บทว่า เอกากิโย คือ ผู้เดียวไม่มี เพราะไม่มีเพื่อนมีอำมาตย์และเสวกเป็นต้น.
               ดังที่ท่านกล่าวว่า อทุติโย ไม่มีเพื่อน.
               บทว่า มทฺทิเทวึ อิทมพฺรวิ คือ ได้กล่าวกะพระนางมัทรีเทวีดังนี้.
               บทว่า ปทุมํ ปุณฺฑรีกํ ว ดุจดอกประทุมและดุจบัวขาว.
               บทว่า กณฺหาชินคฺคาหี พระนางมัทรีทรงอุ้มแก้วกัณหา.
               บทว่า อภิชาตา คือ สมบูรณ์ด้วยชาติ.
               บทว่า วิสมํ สมํ คือ ภูมิประเทศขรุขระและเรียบ. บทว่า เอนฺติ คือ มา.
               บทว่า อนุมคฺเค ปฏิปฺปเถ คือ เดินตามมาก็ดี สวนทางก็ดี. พึงเห็นว่าลบ วาศัพท์เสีย.
               บทว่า กรุณํ คือ สงสาร. อธิบายว่า คือความเป็นผู้ประกอบด้วยกรุณา.
               บทว่า ทุกฺขํ เต ปฏิเวเทนฺติ กษัตริย์เหล่านั้นคงได้เสวยทุกข์อย่างยิ่ง คือกษัตริย์เหล่านี้เป็นสุขุมาลชาติ ทรงดำเนินด้วยพระบาทอย่างนี้ เขาวงกตจากนี้ยังอีกไกล เพราะเหตุนั้น กษัตริย์เหล่านั้น ตนเองได้รับทุกข์เพราะความสงสารในพวกเราในครั้งนั้น หรือเสวยทุกข์อันเกิดขึ้นแก่ตน.
               บทว่า ปวเน คือ ในป่าใหญ่. บทว่า ผลิเน คือ มีผล.
               บทว่า อุพฺพิทฺธา คือ สูงมาก.
               บทว่า อุปคจฺฉนฺติ ทารเก ความว่า ต้นไม้ทั้งหลายโน้มกิ่งเข้าหาพระกุมารกุมารีเอง โดยที่พระกุมารกุมารีเอื้อมพระหัตถ์จับดึง.
               บทว่า อจฺฉริยํ คือ ประกอบด้วยความอัศจรรย์คือควรแก่ปรบมือให้.
               ชื่อว่า อพฺภูตํ เพราะไม่เคยมีมาก่อน.
               ชื่อว่า โลมหํสนํ เพราะสามารถทำให้ขนลุกขนพอง.
               บทว่า สาหุการํ คือ สาธุการ.
               ชื่อว่า สพฺพงฺคโสภณา เพราะมีอวัยวะทั้งหมดงดงาม.
               บทว่า อจฺเฉรํ วต คือ น่าอัศจรรย์.
               บทว่า เวสฺสนฺตรสฺส เตเชน คือ ด้วยบุญญานุภาพของพระเวสสันดร.
               บทว่า สงฺขิปึสุ ปถํ ยกฺขา ทวยเทพย่นทางให้ คือทวยเทพอันบุญเดชของพระโพธิสัตว์กระตุ้นจึงย่นทางให้ คือทำให้สั้น. ทำดุจกรุณาในพระกุมารกุมารี.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อนุกมฺปาย ทารเก คือ ด้วยความเอ็นดูในพระกุมารกุมารี.
               เพราะภูเขาชื่อว่าสุวรรณคิริตาละจากกรุงเชตุดร ๕ โยชน์. แม่น้ำชื่อว่าโกนติมาราจากภูเขานั้น ๕ โยชน์. ภูเขาชื่อว่ามารัญชนาคีรีจากแม่น้ำนั้น ๕ โยชน์. บ้านทัณฑพราหมณคามจากภูเขานั้น ๕ โยชน์. มาตุลนครจากบ้านทัณฑพราหมณคามนั้น ๑๐ โยชน์. รวม ๓๐ โยชน์จากกรุงเชตุดรถึงแคว้นนั้น.
               ทวยเทพอันบุญเดชของพระโพธิสัตว์กระตุ้นจึงย่นทางให้. กษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์จึงล่วงพ้นที่ทั้งหมดนั้นเพียงวันเดียวเท่านั้น.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า นิกฺขนฺตทิวเสเยว เจตรฏฺฐมุปาคมุํ ในวันที่เราออกจากกรุงสีพีนั้นเอง เราทั้ง ๔ ได้ไปถึงเจตรัฐ.
               พระมหาสัตว์เสด็จถึงมาตุลนคร แคว้นเจตรัฐในตอนเย็น ประทับนั่งในศาลาใกล้ประตูพระนครนั้น.
               ลำดับนั้น พระนางมัทรีทรงเช็ดธุลีที่พระบาทของพระมหาสัตว์แล้วทรงนวดพระบาท ทรงดำริว่า เราจักให้ชนทั้งหลายรู้ว่า พระเวสสันดรเสด็จมาจึงเสด็จออกจากศาลา ประทับยืนที่ประตูศาลา พอที่พระเวสสันดรจะทรงเห็น.
               บรรดาสตรีที่เข้าออกพระนครเห็นพระนางมัทรี จึงพากันแวดล้อม.
               มหาชนเห็นพระนางมัทรีพระเวสสันดรและพระโอรสเสด็จมาอย่างนั้นจึงไปกราบทูลพระราชา. พระราชา ๖๐,๐๐๐ ทรงกันแสงร่ำไร พากันไปเฝ้าพระเวสสันดร บรรเทาความเหน็ดเหนื่อยในการเดินทาง แล้วจึงทูลถามถึงเหตุที่เสด็จมาอย่างนั้น.
               พระมหาสัตว์ตรัสเล่าเรื่องทั้งหมด ตั้งต้นแต่พระราชทานคชสาร.
               พระราชาเหล่านั้นได้สดับดังนั้นแล้ว จึงปรึกษากันมอบราชสมบัติแก่พระองค์.
               พระมหาบุรุษตรัสว่า การที่เราจะรับราชสมบัติของพวกท่านยกไว้ก่อนเถิด พระราชาขับไล่เราออกจากแว่นแคว้น เพราะฉะนั้น เราจักไปเขาวงกต.
               แม้พระราชาเหล่านั้นทูลวิงวอนให้ประทับอยู่ ณ เจตรัฐนั้นมีประการต่างๆ ก็มิได้ทรงพอพระทัยจะรับ ทรงขอร้องให้พระราชาเหล่านั้นจัดอารักขา ประทับอยู่ ณ ศาลานั้น ตลอดราตรี รุ่งขึ้นแต่เช้าตรู่ เสวยพระกระยาหารมีรสเลิศต่างๆ แล้ว แวดล้อมด้วยพระราชาเหล่านั้น เสด็จออกไปสิ้นทาง ๑๕ โยชน์ ประทับ ณ ประตูป่า รับสั่งให้พระราชาเหล่านั้นกลับ ได้เสด็จไปตามทางที่พระราชาเหล่านั้นทูล สิ้นหนทาง ๑๕ โยชน์ข้างหน้า.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                                   ในกาลนั้น พระราชา ๖๐,๐๐๐ องค์ อยู่ใน
                         มาตุลนคร ต่างก็ประนมกรพากันร้องไห้มาหา
                         เราเจรจาปราศรัยกับโอรสของพระเจ้าเจตราช
                         เหล่านี้ อยู่ ณ ที่นั้น ให้โอรสของพระเจ้าเจตราช
                         เหล่านั้น กลับที่ประตูนั้นแล้ว ได้ไปยังเขาวงกต.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ตตฺถ วตฺเตตฺวา สลฺลาปํ คือ เจรจาปราศรัยด้วยคำให้เกิดความเบิกบานกับพระราชาที่มาประชุมกัน ณ ที่นั้น.
               บทว่า เจตปุตฺเตหิ คือ โอรสของพระราชาเจตราช.
               บทว่า เต ตโต นิกขมิตฺวาน คือ ให้พระราชาเหล่านั้นกลับที่ประตู ประตูป่านั้น.
               บทว่า วงฺกํ อคมุ ปพฺพตํ เรา ๔ คนได้มุ่งไปเขาวงกต.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก การบำเพ็ญทานบารมี ๙. เวสสันตรจริยา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 33.3 / 1อ่านอรรถกถา 33.3 / 8อรรถกถา เล่มที่ 33.3 ข้อ 9อ่านอรรถกถา 33.3 / 10อ่านอรรถกถา 33.3 / 36
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=8795&Z=8905
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=52&A=1989
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=52&A=1989
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :