ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 162อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 167อ่านอรรถกถา 34 / 178อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
จิตตุปปาทกัณฑ์ กุศลธรรม รูปาวจรกุศล อารมณ์ ๔ เป็นต้น

               อธิบายอารมณ์ของฌาน ๔               
               บัดนี้ ชื่อว่า ฌานนี้มี ๔ อย่าง แม้โดยประเภทอารมณ์ เหมือนประเภทปฏิปทา เพราะฉะนั้น เพื่อทรงแสดงประเภทอารมณ์นั้นแห่งฌานนั้น จึงเริ่มคำเป็นต้นว่า กตเม ธมฺมา กุสลา ดังนี้อีก.
               พึงทราบวินิจฉัยในรูปาวจรกุศลฌานนั้นมีคำเป็นต้นว่า ปริตฺตํ ปริตฺตารมฺมณํ (ฌานมีกำลังน้อย มีอารมณ์เล็กน้อย) ต่อไป ฌานใดไม่คล่องแคล่ว (มีคุณน้อย) ไม่สามารถเป็นปัจจัยแก่ฌานในเบื้องบน ฌานนี้ชื่อว่าปริตตะ. ส่วนฌานใด เป็นไปในอารมณ์มีนิมิตเท่ากระด้ง หรือเท่าขันน้ำ ซึ่งขยายขึ้นไม่ได้ ฌานนี้ชื่อว่าปริตตะ อารมณ์เป็นปริตตะของฌานนี้มีอยู่ เพราะเหตุนั้น ฌานนั้นจึงชื่อว่าปริตตารมณ์ (มีอารมณ์เล็กน้อย). ฌานใดคล่องแคล่ว อบรมดีแล้ว สามารถเป็นปัจจัยแก่ฌานเบื้องบน ฌานนี้ชื่อว่าอัปปมาณ. ฌานใดเป็นไปในอารมณ์อันกว้างขวาง ฌานนั้นก็ ชื่อว่า อัปปมาณ เพราะกำหนดนิมิตที่เจริญได้. อารมณ์เป็นอัปปมาณ มีอยู่แก่ฌานนั้น เพราะเหตุนั้น ฌานนั้นจึงชื่อว่า อัปปมาณารมณ์ (อารมณ์ไม่มีประมาณ).
               อนึ่ง พึงทราบนัยที่เจือกันเพราะความที่ลักษณะตามที่กล่าวแล้วเจือกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมหมวด ๙ ไว้ ๔ หมวด แม้ด้วยสามารถแห่งอารมณ์ ดังพรรณนามาฉะนี้. อนึ่ง การนับจิตในประเภทแห่งอารมณ์นี้ เหมือนกับประเภทแห่งปฏิปทานั่นแล.
               อารมณ์ของฌาน ๔ จบ.               

               อธิบายอารมณ์และปฏิปทาเจือกัน               
               บัดนี้ เพื่อแสดงนัย ๑๖ ครั้ง เจือด้วยอารมณ์และปฏิปทา จึงทรงเริ่มคำเป็นต้นว่า กตเม ธมฺมา กุสลา ดังนี้. บรรดานัยเหล่านั้น ฌานพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในนัยแรก ชื่อว่าหีนะ เพราะเหตุ ๔ อย่าง คือ เพราะเป็นทุกขาปฏิปทา (ปฏิบัติลำบาก) เพราะเป็นทันธาภิญญา (รู้ได้ช้า) เพราะเป็นปริตตะ (ไม่ชำนาญ) เพราะเป็นปริตตารัมมณะ (มีอารมณ์เล็กน้อย) ฌานที่ตรัสไว้ในนัยที่ ๑๖ ชื่อว่า ปณีตะ เพราะเหตุ ๔ อย่าง คือ เพราะเป็นสุขาปฏิปทา เพราะเป็นขิปปาภิญญา เพราะเป็นอัปปมาณะ (ชำนาญ) เพราะเป็นอัปปมาณารัมมณะ (มีอารมณ์ไม่มีประมาณ). ในนัยที่เหลือ ๑๔ นัย พึงทราบความเป็นหีนะและปณีตะ ด้วยเหตุหนึ่งเหตุสองและเหตุสาม.
               ถามว่า ก็นัยนี้ท่านแสดงไว้เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะความเกิดขึ้นแห่งฌาน เป็นเหตุ.
               จริงอยู่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงสุทธิกฌานในปฐวีกสิณด้วยสามารถแห่งฌานจตุกนัยและฌานปัญจกนัย ทรงแสดงสุทธิกปฏิปทาและสุทธิการมณ์ในปฐวีกสิณด้วยสามารถแห่งฌานจตุกนัยและฌานปัญจกนัยเหมือนกัน. บรรดาจตุกนัยและปัญจกนัยทั้งสองเหล่านั้น เทวดาเหล่าใดย่อมอาจเพื่อจะตรัสรู้สุทธิกฌานในปฐวีกสิณที่พระองค์แสดงอยู่ด้วยสามารถแห่งฌานจตุกนัย ก็ทรงแสดงจตุกนัยในสุทธิกฌานด้วยสามารถแห่งสัปปายะแก่เทวดาเหล่านั้น.
               เทวดาเหล่าใดย่อมอาจเพื่อจะตรัสรู้สุทธิกฌานในปฐวีกสิณที่พระองค์ทรงแสดงด้วยสามารถแห่งฌานปัญจกนัย ก็ทรงแสดงปัญจกนัยด้วยสามารถแห่งสัปปายะแก่เทวดาเหล่านั้น.
               เทวดาเหล่าใดย่อมอาจเพื่อจะตรัสรู้สุทธิกฌานในสุทธิกปฏิปทาและในสุทธิการมณ์ ที่ทรงแสดงด้วยสามารถจตุกนัยก็ทรงแสดงจตุกนัยในสุทธิกปฏิปทาและในสุทธิการมณ์ ด้วยสามารถสัปปายะแก่เทวดาเหล่านั้น.
               เทวดาเหล่าใดย่อมอาจเพื่อจะตรัสรู้สุทธิกฌานในสุทธิกปฏิปทาและในสุทธิการมณ์ ที่ทรงแสดงด้วยสามารถแห่งปัญจกนัย ก็ทรงแสดงปัญจกนัยในสุทธิกปฏิปทาและสุทธิการมณ์ ด้วยสามารถแห่งสัปปายะแก่เทวดาเหล่านั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำเทศนาด้วยสามารถแห่งอัธยาศัยของบุคคลตามที่กล่าวด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้เทศนาไพเราะ ทรงแตกฉานในปฏิสัมภิทา ทรงมีพระทศพลญาณและเวสารัชชญาณบริสุทธิ์ สามารถกำหนดเทศนาด้วยอำนาจแห่งนัยใดๆ ก็ได้ เพราะความที่พระองค์ฉลาดในการบัญญัติธรรม โดยที่ธรรมทั้งหลายพระองค์ทรงแทงตลอดดีแล้วตามความเป็นจริงพร้อมทั้งรสและลักษณะ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงทำเทศนาด้วยสามารถแห่งฌานสุทธิกจตุกนัยเป็นต้นในปฐวีกสิณนั้น เพราะเหตุที่ทรงเทศนาไพเราะนี้ (เทสนาวิลาส).
               ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งยังฌานให้เกิดขึ้น เว้นอารมณ์และปฏิปทาก็ไม่สามารถจะให้ฌานเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น จึงตรัสนัยสิ้น ๑๖ ครั้งนี้เพราะการบรรลุฌานเป็นเหตุโดยการกำหนด ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ เป็นอันตรัสหมวด ๙ ไว้ ๒๕ นัย คือสุทธิกนวกะ ๑ นัย ปฏิปทานวกะ ๔ นัย อารัมมณกะ ๔ นัย และนวกะ ๑๖ นัยนี้แหละ. บรรดานวกธรรม ๒๕ นัยเหล่านั้น ในนวกะหนึ่งๆ มีนัย ๕๐ คือจตุกนัย ๒๕ ปัญจกนัย ๒๕.
               บรรดานัย ๕๐ เหล่านั้นว่าโดยพระบาลีได้ฌานจิต ๒๒๕ ดวง คือ นัย ๒๕ ในจตุกนัย ได้ ๑๐๐ นัย (๒๕ x ฌาน ๔) ในปัญจกนัยได้ ๑๒๕ นัย แต่เมื่อว่าโดยอรรถได้จิต ๑๒๕ ดวงเท่านั้น เพราะความที่ฌานจตุกนัยก็รวมเขาในฌานปัญจกนัย. ก็ในนิทเทสแห่งจิตแต่ละดวงในบรรดาจิต ๒๒๕ ดวงเหล่านั้น ในพระบาลี มีมหาวาระ คือธรรมววัฏฐานะเป็นต้น มีอย่างละ ๓. ก็มหาวาระเหล่านั้นในที่นั้นๆ ท่านย่อแสดงพอเป็นนัยเท่านั้น ดังนี้แล.
               ปฐวีกสิณ จบ.               

               อธิบายอาโปกสิณเป็นต้น               
               บัดนี้ ฌานเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นแม้ในอาโปกสิณเป็นต้น เพราะฉะนั้น เพื่อแสดงฌานเหล่านั้น จึงทรงเริ่มคำเป็นต้นว่า กตเม ธมฺมา กุสลา ดังนี้อีก. ในฌานเหล่านั้น นัยแห่งบาลีทั้งหมด การอธิบายเนื้อความ การนับจำนวนจิต การย่อวาระ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในปฐวีกสิณนั่นแหละ แต่นัยแห่งภาวนาแม้ทั้งหมดตั้งแต่ทำบริกรรมกสิณ ข้าพเจ้าประกาศไว้ในวิสุทธิมรรคทั้งนั้น.
               ก็แต่ว่าในมหาสกุลุทายิสูตร ท่านกล่าวกสิณไว้ ๑๐ อย่าง ในกสิณ ๑๐ เหล่านั้น มหัคคตวิญญาณที่เป็นไปในอากาศก็ดี วิญญาณัญจายตนสมาบัติที่เกิดขึ้นเพราะกระทำบริกรรมในอากาศนั้นก็ดี รวมเทศนาไว้ในอรูปโดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น วิญญาณกสิณ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสไว้ในที่นี้.
               ก็กสิณุคฆาฏิมากาศ (อากาศที่เพิกกสิณทั้ง ๙ ออกเว้นอากาสกสิณ) ก็ดี ขันธ์ทั้งหลายที่เป็นไปเพราะทำอากาศที่เพิกนั้นให้เป็นอารมณ์ก็ดี ปริจเฉทากาศมีนิมิตที่พึงถือเอาในช่องฝาเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ฌานจตุกนัยและฌานปัญจกนัยที่เกิดขึ้นเพราะทำอากาศนั้นให้เป็นอารมณ์ก็ดี เรียกว่าอากาสกสิณ. บรรดาอากาสกสิณทั้ง ๔ นั้น นัยเบื้องต้น (๒ นัยแรก) รวมอยู่ในอารูปเทศนา นัยหลัง (๒ นัยหลัง) รวมอยู่ในรูปาวจรเทศนา ด้วยประการฉะนี้ อากาสกสิณ จึงไม่กล่าวไว้ในรูปาวจรเทศนานี้เพราะความเป็นของปะปนกัน แต่ฌานที่เกิดขึ้นในการกำหนดปริจเฉทากาศ ย่อมเป็นมรรคเพราะความเข้าถึงรูปภพ เพราะฉะนั้น จึงควรถือเอาฌานนั้น ฌานที่เป็นจตุกนัยและปัญจกนัยเท่านั้น ย่อมเกิดขึ้นในปริจเฉทากาศนั้น อรูปฌานย่อมไม่เกิดขึ้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร จึงไม่เกิด.
               ตอบว่า เพราะไม่ได้เพิกกสิณออก.
               จริงอยู่ อากาสกสิณนั้นแม้เพิกอยู่บ่อยๆ ก็เป็นอากาศนั่นแหละ ย่อมไม่ได้การเพิกกสิณขึ้นในอรูปฌานนั้น เพราะฉะนั้น ปริจเฉทากาศฌาน ซึ่งเกิดขึ้นในที่นั้น จึงเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบันเป็นเหตุแห่งอภิญญา เป็นบาทให้วิปัสสนา ไม่เป็นบาทให้นิโรธ แต่ว่า การดับโดยลำดับในรูปาวจรฌานนี้จนถึงปัญจมฌานเป็นเหตุแห่งวัฏฏะเท่านั้น ก็ฌานนี้ (ปริจเฉทากาศ) ฉันใด แม้ฌานทั้งหลายที่เกิดขึ้นในกสิณก่อนก็ฉันนั้น แต่ความที่กสิณก่อนเป็นบาทแห่งนิโรธ จึงเป็นการแปลกกันในปริจเฉทากาศนั้น.
               คำที่เหลือในที่นี้ คำใดที่ควรจะกล่าวในอากาสกสิณ คำทั้งหมดนั้นได้กล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคนั่นแล.
               ส่วนพระโยคาวจรผู้ปรารถนาแสดงฤทธิ์ต่างๆ มีนัยอาทิว่า แม้คนเดียวก็เป็นหลายคนได้ ดังนี้ ทำสมาบัติ ๘ ให้เกิดในกสิณ ๘ อันเป็นเบื้องต้นแล้วพึงฝึกจิตโดยอาการ ๑๔ อย่างเหล่านี้ คือ
               ๑. กสิณานุโลมโต (เข้าฌานลำดับกสิณ)
               ๒. กสิณปฏิโลมโต (เข้าฌานย้อนกสิณ)
               ๓. กสิณานุโลมปฏิโลมโต (เข้าฌานตามลำดับและย้อนกสิณ)
               ๔. ฌานานุโลมโต (เข้าตามลำดับฌาน)
               ๕. ฌานปฏิโลมโต (เข้าย้อนลำดับฌาน)
               ๖. ฌานานุโลมปฏิโลมโต (เข้าฌานตามลำดับและย้อนฌาน)
               ๗. ฌานุกันติกโต (เข้าฌานโดยข้ามลำดับ)
               ๘. กสิณุกันติกโต (เข้าฌานโดยข้ามกสิณ)
               ๙. ฌานกสิณุกันติกโต (ข้ามทั้งฌานและกสิณ)
               ๑๐. อังคสังกันติโต (เข้าฌาน ๕ โดยก้าวล่วงองค์)
               ๑๑. อารัมมณสังกันติโต (เข้าฌานโดยเปลี่ยนอารมณ์)
               ๑๒. อังคารัมมณสังกันติโต (เข้าตามลำดับฌานและกสิณ)
               ๑๓. อังคววัฏฐานโต (กำหนดรู้องค์ฌาน)
               ๑๔. อารัมมณววัฏฐานโต (กำหนดรู้อารมณ์).
               เรื่องพิสดารแห่งการฝึกจิตเหล่านั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคทั้งนั้นแล ก็พระโยคาวจรไม่เคยอบรมมาก่อน เป็นอาทิกัมมิกะ ไม่ฝึกจิตโดยอาการ ๑๔ อย่าง อย่างนี้ จักยังการแสดงฤทธิ์ต่างๆ ให้สำเร็จ ด้วยประการที่กล่าวมานี้ นั่นมิใช่ฐานะที่มีได้.
               จริงอยู่ แม้การบริกรรมกสิณของพระโยคาวจรผู้เริ่มเป็นภาระ (ของยาก) ก็บรรดาผู้เริ่มบริกรรมกสิณตั้งร้อยองค์พันองค์ องค์เดียวย่อมสามารถ. พระโยคาวจรผู้ทำกสิณบริกรรมแล้ว การที่จะทำนิมิตให้เกิดขึ้นก็เป็นภาระ (ของยาก) ในบรรดาร้อยองค์ พันองค์ องค์เดียวเท่านั้นย่อมสามารถ. เมื่อนิมิตเกิดขึ้นแล้ว ขยายนิมิตให้เจริญขึ้นแล้วบรรลุอัปปนาก็เป็นภาระ (ของยาก) ในร้อยองค์พันองค์ องค์เดียวเท่านั้นย่อมสามารถ แม้ผู้บรรลุอัปปนาได้แล้ว การฝึกจิตโดยอาการ ๑๔ ก็เป็นภาระ (ของยาก) ในร้อยองค์พันองค์ องค์เดียวย่อมสามารถ แม้ผู้ฝึกจิตโดยอาการ ๑๔ อย่างแล้ว ชื่อว่าการแสดงฤทธิ์ต่างๆ ก็เป็นภาระ (ของยาก) ในร้อยองค์พันองค์ องค์เดียวเท่านั้นย่อมสามารถ แม้ผู้แสดงฤทธิ์ได้แล้ว ชื่อว่าการเข้าฌานได้รวดเร็วก็เป็นภาระ (ของยาก) ในบรรดาร้อยองค์พันองค์ จะมีองค์หนึ่งเท่านั้นเข้าฌานได้รวดเร็ว เหมือนพระรักขิตเถระผู้มีพรรษา ๘ โดยการอุปสมบท ในบรรดาท่านผู้มีฤทธิ์ประมาณสามแสนองค์ ผู้มาพยาบาลพระมหาโรหณคุตตเถระผู้อาพาธในเถรัมพัตถลวิหาร เรื่องพิสดารในวิสุทธิมรรคนั่นแล.
               กสิณกถา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ กุศลธรรม รูปาวจรกุศล อารมณ์ ๔ เป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 162อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 167อ่านอรรถกถา 34 / 178อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=1450&Z=1592
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=5963
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=5963
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :