ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 189อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 190อ่านอรรถกถา 34 / 191อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
จิตตุปปาทกัณฑ์ กุศลธรรม รูปาวจรกุศล พรหมวิหารฌาน ๔

               อธิบายพรหมวิหารฌาน               
               บัดนี้ เพื่อแสดงรูปาวจรกุศลเป็น ไปด้วยอำนาจพรหมวิหารมีเมตตาฌานเป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มคำเป็นต้นว่า กตเม ธมฺมา กุสลา ดังนี้ อีก.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า กตเม ธมฺมา กุสลา เป็นต้นนั้นต่อไป.
               คำว่า เมตฺตาสหคตํ (สหรคตด้วยเมตตา) ได้แก่ ประกอบด้วยเมตตา แม้ในคำว่า สหรคตด้วยกรุณาเป็นต้นข้างหน้าก็นัยนี้เหมือนกัน. ก็พระโยคาวจรนั้นปฏิบัติแล้วโดยวิธีใด จึงเข้าถึงฌานอันสหรคตด้วยเมตตาเป็นต้นอยู่ วิธีการเจริญเมตตาเป็นต้นนั้น ข้าพเจ้าให้พิสดารไว้ในวิสุทธิมรรคแล้ว ส่วนเนื้อความพระบาลีที่เหลือ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในปฐวีกสิณนั่นแหละ.
               ก็แต่ว่าในปฐวีกสิณได้ธรรมหมวด ๙ รวม ๒๕ หมวดเท่านั้น ในพรหมวิหารนี้ได้ธรรมหมวด ๗ รวม ๒๕ หมวด ด้วยสามารถแห่งพระบาลี มีคำว่า ติกฌาน (ฌานหมวด ๓) และจตุกฌาน (ฌานหมวด ๔) เป็นต้น ในพรหมวิหาร ๓ ข้างต้น แต่ละหมวดได้ ๒๕ หมวด ด้วยอำนาจแห่งฌานที่ ๔ ในอุเบกขา แต่ในฌานที่สหรคตด้วยกรุณาและมุทิตา ย่อมมีเยวาปนกธรรมแม้เหล่านี้ คือกรุณาและมุทิตา กับธรรม ๔ มีฉันทะเป็นต้น.
               อนึ่ง ความเป็นทุกขาปฏิปทาเป็นต้นในพรหมวิหารนี้ พึงทราบการข่มพยาบาทด้วยเมตตาก่อน พึงทราบการข่มวิหิงสาด้วยกรุณา พึงทราบการข่มอรติด้วยมุทิตา พึงทราบการข่มราคปฏิฆะด้วยอุเบกขา มีอยู่ด้วยประการฉะนี้. ส่วนเนื้อความที่แปลกกันมีว่า ความเป็นปริตตารมณ์ย่อมไม่มีด้วยอำนาจแห่งสัตว์จำนวนมากเป็นอารมณ์ ส่วนความเป็นอัปปมาณารมณ์ย่อมมีด้วยอำนาจมีสัตว์มากเป็นอารมณ์ ดังนี้ คำที่เหลือเป็นเช่นเดียวกันทั้งหมด.
                                   บัณฑิตครั้นทราบพรหมวิหารเหล่านี้
                         อันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพรหมอันสูงสุด
                         ตรัสแล้วด้วยอาการอย่างนี้ก่อนแล้วพึงทราบ
                         แม้ปกิณณกกถา ในพรหมวิหารฌานเหล่านี้
                         ให้ยิ่งขึ้นไป.
               จริงอยู่ บรรดาพรหมวิหาร คือ เมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาเหล่านั้น ว่าโดยอรรถ ธรรมที่ชื่อว่าเมตตา เพราะอรรถว่าย่อมรักใคร่ คือว่าย่อมเสน่หา. อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าเมตตา เพราะอรรถว่าธรรมนี้มีในมิตร หรือว่าย่อมเป็นไปเพื่อมิตร.
               ธรรมที่ชื่อว่ากรุณา เพราะอรรถว่าย่อมกระทำหทัยของสาธุชนทั้งหลายให้หวั่นไหว ในเพราะคนอื่นมีทุกข์. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ากรุณา เพราะอรรถว่าย่อมบำบัด หรือย่อมเบียดเบียน คือย่อมยังทุกข์ของผู้อื่นให้พินาศ. อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่ากรุณา เพราะอรรถว่าย่อมทำให้กระจายไปให้ออกไปด้วยการแผ่ไปในสัตว์ผู้เป็นทุกข์.
               ธรรมที่ชื่อว่ามุทิตา เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องบันเทิงของผู้พรั่งพร้อมด้วยมุทิตานั้น หรือย่อมยินดีเอง หรือว่าเป็นเพียงความยินดีเท่านั้น. ธรรมที่ชื่อว่าอุเบกขา เพราะอรรถว่าย่อมแลดูด้วยการละความพยาบาทมีอาทิว่า ขอสัตว์ทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีเวรเถิด ดังนี้ และด้วยความเข้าถึงความเป็นกลาง.
               อนึ่ง ในพรหมวิหารเหล่านี้ ว่าโดยลักษณะเป็นต้น พึงทราบว่า เมตตามีความเป็นไปแห่งอาการที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลเป็นลักษณะ มีการน้อมเข้าไปซึ่งประโยชน์เป็นกิจ มีการกำจัดความอาฆาตเป็นปัจจุปัฏฐาน มีการดูแต่สิ่งที่น่าพอใจของสัตว์เป็นปทัฏฐาน เมตตานี้มีการสงบพยาบาทเป็นสมบัติ มีการเกิดขึ้นแห่งเสน่หาเป็นวิบัติ.
               กรุณามีการเป็นไปแห่งอาการช่วยบำบัดทุกข์เป็นลักษณะมีการกำจัดทุกข์ผู้อื่นเป็นรส มีความไม่เบียดเบียนเป็นปัจจุปัฏฐาน มีการเห็นสัตว์ผู้ถูกทุกข์ครอบงำแล้ว เป็นผู้ไม่มีที่พึ่งเป็นปทัฏฐาน กรุณานี้มีความสงบจากความเบียดเบียนเป็นสมบัติ มีความเกิดขึ้นแห่งความโศกเป็นวิบัติ.
               มุทิตามีการบันเทิงใจเป็นลักษณะ มีความไม่ริษยาในความดีเป็นรส มีความกำจัดอรติเป็นปัจจุปัฏฐาน มีการเห็นสมบัติของสัตว์ทั้งหลายเป็นปทัฏฐาน มุทิตานี้มีการสงบอรติเป็นสมบัติ มีการเกิดขึ้นแห่งความร่าเริงเป็นวิบัติ.
               อุเบกขามีการเป็นไปโดยอาการเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลายเป็นลักษณะ มีความเห็นสัตว์ทั้งหลายโดยความเสมอกันเป็นรส มีการเข้าไปสงบความโกรธและความรักเป็นปัจจุปัฏฐาน มีความเห็นสัตว์มีกรรมเป็นของตน อย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน สัตว์เหล่านั้นจักมีความสุข หรือจักพ้นจากทุกข์ หรือจักไม่เสื่อมจากสมบัติตามความพอใจของใครดังนี้ เป็นปทัฏฐาน อุเบกขานั้นมีความสงบความโกรธและความรักเป็นสมบัติ มีความเกิดขึ้นแห่งอัญญาณูเบกขาซึ่งอาศัยเรือนเป็นวิบัติ.
               ก็ความสุขในวิปัสสนา และภวสมบัติเป็นสาธารณประโยชน์ของพรหมวิหารเหล่านั้นแม้ทั้ง ๔ แต่ความกำจัดพยาบาทเป็นต้นเป็นประโยชน์เฉพาะองค์.
               จริงอยู่ ในอภิธรรมนี้ เมตตามีการกำจัดพยาบาทเป็นประโยชน์ พรหมวิหาร ๓ แม้นอกนี้มีการกำจัดความเบียดเบียน ความไม่ยินดีและราคะเป็นประโยชน์.
               ข้อนี้ สมดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เพราะธรรมชาติ คือเมตตาเจโตวิมุตตินี้ เป็นเครื่องสลัดออกซึ่งความพยาบาท ... ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เพราะธรรมชาติ คือกรุณาเจโตวิมุตตินี้ เป็นเครื่องสลัดออกซึ่งความเบียดเบียน ... ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เพราะธรรมชาติ คือมุทิตาเจโตวิมุตตินี้ เป็นเครื่องสลัดออกซึ่งอรติ ... ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เพราะธรรมชาติ คืออุเบกขาเจโตวิมุตตินี้ เป็นเครื่องสลัดออกซึ่งราคะ ดังนี้.
               ก็ในพรหมวิหารเหล่านี้มีธรรมที่เป็นข้าศึกอย่างละ ๒ โดยอำนาจแห่งความเป็นข้าศึกใกล้และไกล.
               จริงอยู่ เมตตาพรหมวิหารมีราคะเป็นเหตุใกล้ เพราะเห็นว่าเป็นคุณเท่ากัน เหมือนศัตรูของบุรุษผู้เที่ยวไปใกล้กัน ราคะนั้นย่อมได้โอกาสได้ เพราะฉะนั้น พึงรักษาเมตตาให้ดีจากราคะนั้น พยาบาทเป็นข้าศึกไกล เพราะความเป็นสภาคะและวิสภาคะ เหมือนศัตรูของบุรุษซึ่งอาศัยอยู่ในที่รกชัฏมีภูเขาเป็นต้น เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรพึงแผ่เมตตาออกไปโดยปราศจากความกลัวต่อพยาบาทนั้น ข้อที่ว่า บุคคลจักแผ่เมตตาและจักโกรธพร้อมกัน นั่นมิใช่เหตุที่มีได้.
               โทมนัสอาศัยเรือนที่ตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า บุคคลเมื่อเล็งเห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ประกอบด้วยโลกามิส โดยเป็นของอันตนไม่ได้เฉพาะ หรือหวนระลึกถึงรูปที่เคยได้เฉพาะในกาลก่อน อันล่วงไปแล้ว อันดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ย่อมเกิดโทมนัส โทมนัสเช่นนี้ เราเรียกว่าโทมนัสอาศัยเรือน ดังนี้ เป็นข้าศึกใกล้ของกรุณาพรหมวิหาร เพราะเห็นความวิบัติเหมือนกัน ความเบียดเบียนเป็นข้าศึกไกล เพราะเป็นวิสภาคะต่อสภาคะ ข้อที่ว่า ชื่อว่าบุคคลจักทำกรุณา และจักเบียดเบียนสัตว์ด้วยการประหารด้วยฝ่ามือเป็นต้นพร้อมกัน ดังนี้ นั่นมิใช่เหตุที่เป็นไปได้.
               โสมนัสอาศัยเรือนที่ตรัสไว้โดยนัยว่า บุคคลเมื่อเล็งเห็นความได้เฉพาะซึ่งรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ อันประกอบด้วยโลกามิส โดยเป็นของอันตนได้เฉพาะ หรือหวนระลึกถึงรูปที่เคยได้เฉพาะแล้วในกาลก่อน อันล่วงไปแล้ว อันดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ย่อมเกิดโสมนัส โสมนัสเช่นนี้ เรียกว่าโสมนัสอาศัยเรือน ดังนี้ เป็นข้าศึกใกล้ของมุทิตาพรหมวิหาร เพราะเห็นว่าเป็นสมบัติเสมอกัน อรติเป็นข้าศึกไกล เพราะเป็นวิสภาคะต่อสภาคะ เพราะฉะนั้น พึงเจริญมุทิตาไปโดยปราศจากความกลัวต่อข้าศึกนั้น ข้อที่ว่า บุคคลจักเป็นผู้ชื่นชมยินดีและจักเบื่อหน่ายในเสนาสนะอันสงัดและในกุศลธรรมอันยิ่งพร้อมกัน ดังนี้ มิใช่ฐานะที่เป็นได้.
               อัญญาณุเบกขาที่อาศัยเรือน ที่ตรัสโดยนัยเป็นต้นว่า เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ อุเบกขาจึงเกิดขึ้นแก่ปุถุชนคนโง่เขลา ยังไม่ชนะกิเลส ยังไม่ชนะวิบาก ไม่เห็นโทษ ไม่ได้สดับ เป็นคนหนาแน่น อุเบกขาเช่นนี้นั้นไม่ละเลยรูปไปได้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าอุเบกขาอาศัยเรือน ดังนี้ เป็นข้าศึกใกล้ของอุเบกขาพรหมวิหาร เพราะเป็นธรรมเสมอกันด้วยอำนาจแห่งการไม่ใคร่ครวญถึงโทษและคุณ ราคะและปฏิฆะเป็นข้าศึกไกล เพราะเป็นวิสภาคะต่อสภาคะ เพราะฉะนั้น พึงแผ่อุเบกขาไปโดยปราศจากความกลัวแต่ข้าศึกนั้น ขึ้นชื่อว่า บุคคลจักแผ่อุเบกขาไป จักยินดี จักโกรธพร้อมๆ กันนั้น มิใช่เหตุที่มีได้.
               อนึ่ง ความพอใจใคร่เพื่อจะทำ (กตฺตุกมฺยตาฉนฺโท) เป็นเบื้องต้น การข่มนิวรณ์เป็นต้นเป็นท่ามกลาง อัปปนาเป็นปริโยสานของพรหมวิหารเหล่านั้นแม้ทั้งหมด สัตว์ตนหนึ่งหรือมาก เป็นอารมณ์ของพรหมวิหารนั้น โดยบัญญัติธรรม อารมณ์บัญญัติธรรมนั้น เมื่อถึงอุปจาระหรืออัปปนาแล้ว จึงขยายอารมณ์ได้.
               ในอธิการว่าด้วยพรหมวิหารนั้น มีลำดับแห่งการขยายอารมณ์ ดังต่อไปนี้.
               พระโยคาวจรพึงกำหนดอาวาสหนึ่งก่อนทีเดียวแล้ว พึงเจริญเมตตาไปในสัตว์ทั้งหลายในอาวาสนี้นั้น โดยนัยว่า สตฺตา อเวรา โหนฺตุ ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีเวรเถิด ดังนี้เป็นต้น เหมือนชาวนาผู้ฉลาดกำหนดสถานที่ตนพึงไถแล้วจึงไถ ฉะนั้น พระโยคาวจรพึงทำจิตให้อ่อนและควรแก่การงานในอาวาสนั้น แล้วพึงกำหนดอาวาส ๒ แห่ง จากนั้นก็กำหนดอาวาส ๓ แห่ง ๔ แห่ง ๕ แห่ง ๖ แห่ง ๗ แห่ง ๘ แห่ง ๙ แห่ง ตรอกหนึ่ง กึ่งหมู่บ้าน หนึ่งหมู่บ้าน ชนบทหนึ่ง รัฐหนึ่ง ทิศหนึ่ง จนกระทั่งจักรวาลหนึ่ง หรือยิ่งกว่านั้น แล้วเจริญเมตตาไปในสัตว์นั้นๆ กรุณาพรหมวิหารเป็นต้นก็เหมือนกัน นี้เป็นลำดับแห่งการขยายอารมณ์ในพรหมวิหาร ๔ ดังนี้.
               ในพรหมวิหาร ๔ เหล่านี้ อุเบกขาพรหมวิหารเป็นผลไหลออกของพรหมวิหาร ๓ ข้างต้น เหมือนรูปสมาบัติเป็นผลไหลออกของกสิณทั้งหลาย เนวสัญญานาสัญญายตนะเป็นผลไหลออกของอรูปสมาธิ ผลสมาบัติเป็นผลไหลออกของวิปัสสนา นิโรธสมาบัติเป็นผลไหลออกของสมถะและวิปัสสนาฉะนั้น เหมือนอย่างว่า บุคคลสร้างบ้านยังไม่ได้ยกเสาทั้งหลายขึ้นตั้ง ยังมิได้ยกขื่อและอกไก่ ก็ไม่สามารถจะยกยอดเรือนและกลอนหลังคาตั้งไว้ในอากาศได้ฉันใด พระโยคาวจรเว้นตติยฌานที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น ก็ไม่อาจเพื่อจะเจริญจตุตถฌานได้ฉันนั้น ก็แต่ว่า อุเบกขาพรหมวิหารนี้ ย่อมไม่เกิดขึ้นแม้แก่บุคคลผู้ยังตติยฌานให้เกิดขึ้นแล้วในกสิณทั้งหลาย เพราะเป็นอารมณ์มีส่วนไม่เสมอกัน.
               ก็ในพรหมวิหารเหล่านั้น หากจะมีคำถามว่า
               เพราะเหตุไร เมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา จึงตรัสเรียกว่า พรหมวิหาร?
               เพราะเหตุไร พรหมวิหารจึงมี ๔ และลำดับของพรหมวิหารเหล่านั้นเป็นอย่างไร?
               เพราะเหตุไร ในวิภังค์ จึงตรัสเรียกว่า เป็นอัปปมัญญาเล่า?
               ตอบว่า ความเป็นพรหมวิหารในธรรมมีเมตตาเป็นต้นเหล่านี้ พึงทราบด้วยอรรถว่าประเสริฐ และความเป็นธรรมไม่มีโทษก่อน.
               จริงอยู่ ธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าเป็นธรรมเครื่องอยู่อันประเสริฐ เพราะเป็นความปฏิบัติโดยชอบในสัตว์ทั้งหลาย ก็พรหมทั้งหลายมีจิตปราศจากโทษอยู่ฉันใด พระโยคีทั้งหลายผู้ประกอบด้วยพรหมวิหารเหล่านี้ ย่อมเป็นผู้เสมอกับพรหมอยู่ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกธรรมเหล่านั้นว่าพรหมวิหาร เพราะอรรถว่าประเสริฐและความเป็นธรรมปราศจากโทษ.
               ส่วนปัญหามีคำว่า เพราะเหตุไร จึงเป็น ๔ เป็นต้น มีคำวิสัชนาดังนี้ว่า
                                   พรหมวิหาร ชื่อว่ามี ๔ เพราะเป็นทางหมดจดเป็นต้น
                         อนึ่ง ลำดับแห่งพรหมวิหารเหล่านั้นย่อมมี เพราะอาการมี
                         ประโยชน์เกื้อกูลเป็นต้น และพรหมวิหารเหล่านั้น ย่อม
                         เป็นไปในอารมณ์ไม่มีประมาณ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า
                         อัปปมัญญา ดังนี้.
               จริงอยู่ บรรดาพรหมวิหารเหล่านั้น เมตตาเป็นทางหมดจดของบุคคลผู้มากด้วยพยาบาท กรุณาเป็นทางหมดจดของบุคคลผู้มากด้วยวิหิงสา มุทิตาเป็นทางหมดจดของบุคคลผู้มากด้วยอรติ อุเบกขาเป็นทางหมดจดของบุคคลผู้มากด้วยราคะ.
               อนึ่ง มนสิการในสัตว์ทั้งหลายของพรหมวิหารก็มี ๔ อย่างนั่นแหละ ด้วยอำนาจการน้อมเข้าไปซึ่งประโยชน์เกื้อกูล ๑ การนำออกซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ๑ การพลอยยินดีด้วยสมบัติผู้อื่น ๑ และการไม่ผูกใจ ๑.
               เหมือนอย่างว่า มารดามีลูก ๔ คน บรรดาลูก ๔ คนเป็นเด็กคนหนึ่ง เป็นคนป่วยคนหนึ่ง เป็นหนุ่มสาวคนหนึ่ง และกำลังประกอบกิจทั้งปวงคนหนึ่ง มารดาย่อมปรารถนาให้ลูกคนเล็กเจริญเติบโต มีความปรารถนากำจัดความป่วยไข้ของลูกที่ป่วย มีความปรารถนาให้ลูกผู้เป็นหนุ่มสาวดำรงอยู่ในสมบัติแห่งความเป็นหนุ่มสาวตลอดกาลนาน และไม่ได้ขวนขวายกิจการงานในการงานอะไรของลูกคนที่ประกอบการแล้ว ฉันใด แม้พระโยคาวจรผู้มีอัปปมัญญาเป็นเครื่องอยู่ก็ฉันนั้น พึงเจริญไปด้วยอำนาจแห่งอัปปมัญญามีเมตตาเป็นต้นในสัตว์ทั้งปวง เพราะฉะนั้น อัปปมัญญาจึงมี ๔ อย่าง เพราะอำนาจแห่งทางหมดจดเป็นต้นนี้.
               ก็พระโยคาวจรผู้ใคร่จะเจริญอัปปมัญญาเหล่านั้นแม้ทั้ง ๔ พึงปฏิบัติในสัตว์ทั้งหลายด้วยอำนาจแห่งความเป็นไปด้วยอาการอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลก่อน ด้วยว่า เมตตามีการเป็นไปแห่งอาการเกื้อกูลแก่สัตว์เป็นลักษณะ แต่นั้นก็พึงปฏิบัติในสัตว์ทั้งหลาย ด้วยอำนาจความเป็นไปแห่งอาการที่เห็น หรือได้ฟัง หรือกำหนดสัตว์ทั้งหลายผู้อันความทุกข์ครอบงำที่ตนปรารถนาจะเกื้อกูลด้วยประการฉะนี้แล้วช่วยนำทุกข์ออกไป ด้วยว่ากรุณามีการเป็นไปแห่งอาการนำทุกข์ออกไปเป็นลักษณะ ลำดับนั้น ก็พึงปฏิบัติในสัตว์ทั้งหลาย ด้วยอำนาจความยินดีในสมบัติ เพราะเห็นสมบัติ (คือการถึงพร้อม) แห่งสัตว์ที่ตนปรารถนาเกื้อกูลแล้ว มีทุกข์ไปปราศแล้วเหล่านั้น ด้วยว่ามุทิตามีการบันเทิงใจต่อสมบัติผู้อื่นเป็นลักษณะ เบื้องหน้าแต่นั้น ก็พึงปฏิบัติในสัตว์ทั้งหลาย โดยอาการแห่งความเป็นกลาง กล่าวคือความเป็นผู้วางเฉย เพราะความไม่มีกิจที่พึงทำอีก ด้วยว่าอุเบกขามีความเป็นไปแห่งอาการแห่งความเป็นกลางเป็นลักษณะ เพราะฉะนั้น จึงตรัสเมตตาไว้ก่อน ด้วยอำนาจแห่งความเป็นไปด้วยอาการมีการเกื้อกูลเป็นต้น ต่อจากนั้นก็พึงทราบว่า ลำดับนี้ คือ กรุณา มุทิตาและอุเบกขาโดยประการดังกล่าวมานี้.
               ก็อัปปมัญญาเหล่านี้ทั้งหมดย่อมเป็นไปในอารมณ์ไม่มีประมาณ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า จริงอยู่ สัตว์ไม่มีประมาณเป็นอารมณ์ของอัปปมัญญาเหล่านี้ และพึงเจริญเมตตาเป็นต้นไปในประเทศเท่านี้ต่อสัตว์หนึ่ง ดังนี้แล้ว ไม่ถือเอาประมาณอย่างนี้ แล้วให้เป็นไปด้วยอำนาจแห่งการแผ่ไปทั้งสิ้นนั่นแหละ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าอัปปมัญญา ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า
                                   พรหมวิหารชื่อว่ามี ๔ เพราะเป็นทางหมดจดเป็นต้น
                         อนึ่ง ลำดับแห่งพรหมวิหารเหล่านั้นย่อมมี เพราะอาการมี
                         ประโยชน์เกื้อกูลเป็นต้น และพรหมวิหารเหล่านั้น ย่อม
                         เป็นไปในอารมณ์ไม่มีประมาณ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า
                         อัปปมัญญา ดังนี้.
               ก็อัปปมัญญาเหล่านั้น แม้มีอารมณ์เป็นลักษณะอย่างเดียวกัน โดยความเป็นอารมณ์ไม่มีประมาณอย่างนี้ แต่อัปปมัญญา ๓ ข้างต้นย่อมเป็นไปในฌาน ๓ และฌาน ๔. เพราะเหตุไร เพราะฌานเหล่านั้นยังไม่ปราศจากโสมนัส. ก็เพราะเหตุไร อัปปมัญญา ๓ ข้างต้น จึงยังไม่ปราศจากโสมนัส เพราะอัปปมัญญา ๓ ข้างต้นเป็นธรรมสลัดพยาบาทเป็นต้น อันมีโทมนัสเป็นสมุฏฐานออกไป ส่วนอัปปมัญญาข้อสุดท้ายฌานเดียวที่ไม่มีโสมนัสเหลือ เพราะเหตุไร เพราะประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา. จริงอยู่ อุเบกขาในพรหมวิหารเป็นไปโดยอาการเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย เว้นอุเบกขาเวทนา ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย.
               พรหมวิหารกถา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ กุศลธรรม รูปาวจรกุศล พรหมวิหารฌาน ๔ จบ.
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 189อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 190อ่านอรรถกถา 34 / 191อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=1921&Z=1979
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=6164
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=6164
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :