ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 273อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 275อ่านอรรถกถา 34 / 311อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
จิตตุปปาทกัณฑ์ อกุศลธรรม อกุศลจิต ๑๒ จิตดวงที่ ๑

               กถาแสดงธัมมุทเทสวารในบทอกุศล               
               อธิบายอกุศลจิตดวงที่ ๑               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์จะจำแนกแสดงบทอกุศล จึงทรงเริ่มพระดำรัสว่า กตเม ธมฺมา อกุสลา (ธรรมเป็นอกุศล เป็นไฉน) ดังนี้เป็นต้น.
               ในคำว่าอกุศลเป็นต้นเหล่านั้น พึงทราบประเภทวาระมีการกำหนดธรรมเป็นต้น และการวินิจฉัยเนื้อความแห่งบทที่มาแล้วในหนหลัง โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ ก็ข้าพเจ้าจักพรรณนาบทที่เพียงต่างกันในที่นั้นๆ เท่านั้น ในอธิการแห่งอกุศลนั้น จะวินิจฉัยในการกำหนดสมัยก่อน เพราะอกุศลไม่ต่างภูมิกันเหมือนกุศล ฉะนั้น อกุศลนี้แม้เป็นกามาวจรอย่างเดียว พระองค์ก็มิได้ตรัสว่า เป็นกามาวจร.

               วินิจฉัยคำว่าทิฏฐิคตสัมปยุต               
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ นี้ต่อไป.
               ทิฏฐินั่นแหละชื่อว่าทิฏฐิคตะ เหมือนในประโยคทั้งหลายมีอาทิว่า คูถคตํ (คูถ) มุตฺตคตํ (มูตร) ดังนี้. อีกอย่างหนึ่ง ธรรมที่ชื่อว่าทิฏฐิคตะ เพราะอรรถว่าทิฏฐิคตะนี้เป็นเพียงการเป็นไปของทิฏฐิเท่านั้น เพราะไม่มีสิ่งที่ควรรู้ หรือเพราะไม่มีสิ่งที่ควรดำเนินไป. ที่ชื่อว่าทิฏฐิคตสัมปยุต เพราะอรรถว่าสัมปยุตด้วยทิฏฐินั้น.
               ในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิตนั้น บัณฑิตพึงทราบความเกิดขึ้น แห่งความเห็นผิด กล่าวคือทิฏฐิคตะนี้ ด้วยเหตุทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ คือ
               อสทฺธมฺมสวนํ การฟังแต่อสัทธรรม
               อกลฺยาณมิตฺตตา ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว
               อริยานํ อทสฺสนกามตาทีนิ ความเป็นผู้ไม่ต้องการเห็นพระอริยะเป็นต้น
               อโยนิโสมนสิกาโร การทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคาย.
               จริงอยู่ ความเห็นอันนั่น พึงทราบว่า ย่อมเกิดขึ้นด้วยการฟังเว้นจากความใคร่ครวญก้าวล่วงความเป็นกลาง มีมานะหลายอย่างเป็นประธานแห่งอสัทธรรมที่ประกอบด้วยวาทะอันผิดเหล่านั้น ด้วยความเป็นผู้มีอกัลยาณมิตรกล่าวคือความเป็นผู้ซ่องเสพมิตรชั่วผู้มีทิฏฐิวิบัติเหล่านั้น ด้วยไม่ต้องการเห็นพระอริยะทั้งหลายและสัตบุรุษทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ด้วยความเป็นผู้ไม่ฉลาดในอริยธรรมและสัปปุริสธรรมอันต่างด้วยสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น และด้วยความไม่มีวินัยกล่าวคือการแตกแห่งสังวรในอริยธรรม และสัปปุริสธรรมอันมีปาฏิโมกขสังวร อินทรียสังวร สติสังวร ญาณสังวรและปหานสังวร ด้วยการกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันไม่แยบคายด้วยเหตุเหล่านั้นนั่นแหละ อันตนอบรมแล้ว และเพราะความเป็นผู้ขวนขวายในมงคลตื่นข่าวเป็นต้น. ก็พึงทราบความที่จิตนี้เป็นอสังขาร (ไม่มีการชักจูง) โดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ.

               ว่าด้วยธัมมุทเทสมีผัสสะเป็นต้น               
               พึงทราบวินิจฉัยในวาระแห่งธัมมุทเทส (ข้อธรรม) ต่อไป.
               บทว่า ผสฺโส ได้แก่ ผัสสะที่เกิดพร้อมกับอกุศลจิต. แม้ในธรรมมีเวทนาเป็นต้นก็นัยนี้แหละ ธรรมมีผัสสะเป็นต้นเหล่านี้แตกต่างจากธรรมที่แสดงไว้ก่อนเพียงเป็นอกุศลเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า จิตฺตสฺเสกคฺคตา โหติ (เอกัคคตาแห่งจิตย่อมมี) ความว่า เอกัคคตา (สมาธิจิต) ย่อมมี เพราะความไม่ส่งจิตไปอื่นแม้ในปาณาติบาตเป็นต้น.
               จริงอยู่ มนุษย์ทั้งหลายตั้งจิตไว้มั่นไม่ซัดส่ายจึงยังศัสตราให้ตกไปในสรีระของสัตว์ทั้งหลายไม่ผิดพลาด เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วย่อมนำวัตถุอันเป็นของมีอยู่ของคนอื่นไป ย่อมประพฤติมิจฉาจารด้วยจิตมีสภาพยินดีอย่างหนึ่ง เอกัคคตาแห่งจิตย่อมมี แม้ในเพราะประพฤติอกุศล ด้วยประการฉะนี้.
               คำว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิ ได้แก่ ความเห็นไม่มีตามความเป็นจริง. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่าเห็นคลาดเคลื่อนโดยถือเอาผิด. ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่าเป็นทิฏฐิอันบัณฑิตเกลียด เพราะนำมาแต่ความฉิบหายบ้าง. แม้ในมิจฉาสังกัปปะเป็นต้นก็นัยนี้แหละ. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้คนเห็นผิด หรือเห็นผิดเอง หรือทิฏฐินี้ เพียงเห็นผิดเท่านั้น.
               มิจฉาทิฏฐินั้นมีการยึดถือมั่นโดยอุบายไม่แยบคายเป็นลักษณะ (อโยนิโส อภินิเวส ลกฺขณา) มีความยึดมั่นผิดสภาวะเป็นรส (ปรามาสรสา) มีความยึดถือผิดเป็นปัจจุปัฏฐาน (มิจฺฉาภินิเวสนปจฺจุปฏฺฐานา) มีความไม่ต้องการเห็นพระอริยะทั้งหลายเป็นต้นเป็นปทัฏฐาน (อริยานํ อทสฺสนกามตาทิปทฏฺฐานา) พึงเห็นว่าเป็นโทษอย่างยิ่ง. แม้ในมิจฉาสังกัปปะเป็นต้นมีความต่างกันเพียงบทว่า มิจฺฉา เท่านั้น.
               คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยที่กล่าวในอธิการแห่งกุศลนั่นแหละ.
               เนื้อความแห่งพละในข้อว่า อหิริกพละ อโนตตัปปพละ นี้จักแจ่มแจ้งในนิทเทสวาร ส่วนในคำนอกนี้ พึงทราบวจนัตถะดังต่อไปนี้. บุคคลชื่อว่าอหิริโก เพราะอรรถว่าย่อมไม่ละอาย. ภาวะแห่งบุคคลผู้ไม่ละอาย ชื่อว่า อหิริกํ๑- (ความเป็นผู้ไม่ละอาย). สภาวธรรมที่ไม่ใช่โอตตัปปะ ชื่อว่าอโนตตัปปะ (ความเป็นผู้ไม่กลัว).
____________________________
๑- บทนี้เป็น อหิริกฺกํ ท่านลบกะอักษรจึงเป็น อหิริกํ.

               ในธรรมทั้งสองเหล่านั้น อหิริกะมีการไม่รังเกียจกายทุจริตเป็นต้นเป็นลักษณะ หรือมีความไม่ละอายกายทุจริตเป็นต้นเป็นลักษณะ (กายทุจฺจริตาทีหิ อชิคุจฺฉนลกฺขณํ อลชฺชนลกฺขณํ วา). อโนตตัปปะมีความไม่กลัวกายทุจริตเป็นต้นเหล่านั้นนั่นแหละเป็นลักษณะ หรือมีความไม่สะดุ้งกายทุจริตเป็นต้นเหล่านั้นเป็นลักษณะ (เตเหว อสารชฺลกฺณํ อนุตฺตาสนลกฺขณํ วา). พละคืออหิริกะนั่นแหละ ชื่อว่าอหิริกพละ. พละคืออโนตตัปปะนั่นแหละ ชื่อว่าอโนตัปปพละ. เนื้อความสังเขปในอธิการแห่งอกุศลนี้มีเท่านี้. ส่วนความพิสดารพึงทราบด้วยสามารถความเป็นปฏิปักษ์กันตามที่กล่าวในหนหลังนั่นแหละ.
               สภาวธรรมที่ชื่อว่าโลภะ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้คนอยากได้ หรืออยากได้เอง หรือเป็นเพียงอยากได้เท่านั้น. ที่ชื่อว่าโมหะ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้คนหลง หรือหลงเอง หรือเป็นเพียงความหลงเท่านั้น.
               บรรดาสภาวะทั้งสองเหล่านั้น โลภะมีการยึดอารมณ์เป็นลักษณะ (อารมฺมณคฺคหณลกฺขโณ) เหมือนลิงติดตัง มีความติดในอารมณ์เป็นรส (อภิสํครโส) เหมือนชิ้นเนื้อที่ใส่ในกระเบื้องร้อน มีการไม่สละไปเป็นปัจจุปัฏฐาน (อปริจาคปจฺจุปฏฺฐาโน) เหมือนเปื้อนสีน้ำมันและยาหยอดตา มีความเห็นชอบ ใจในธรรมเป็นอารมณ์ของสังโยชน์ เป็นปทัฏฐาน (สญฺโญชนิยธมฺเมสุ อสฺสาททสฺสนปทฏฺฐาโน) เมื่อเจริญขึ้นโดยความเป็นแม่น้ำ คือตัณหา พึงทราบว่า ย่อมพาไปสู่อบายเท่านั้น เหมือนแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว ย่อมไหลพัดพาไปสู่มหาสมุทรฉะนั้น.
               โมหะมีความมืดมนแห่งจิตเป็นลักษณะ หรือมีความไม่รู้เป็นลักษณะ (จิตฺตสฺส อนฺธภาวลกฺโณ อญฺญาณลกฺขโณ วา) มีความไม่แทงตลอดเป็นรส (อสมฺปฏิเวธรโส) หรือมีความปกปิดสภาวะแห่งอารมณ์เป็นรส (อารมมณสภาวจฺฉาทนรโส วา) มีการไม่ปฏิบัติโดยชอบเป็นปัจจุปัฏฐาน (อสมฺมาปฏิปตฺติปจฺจุปฏฺ ฐาโน) หรือมีความมืดมนเป็นปัจจุปัฏฐาน (อนฺธการปจจุปทฏฺฐาโน วา) มีการทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคายเป็นปทัฏฐาน (อโยนิโสมนสิการปทฏฺฐาโน) พึงทราบว่า เป็นมูลของอกุศลธรรมทั้งปวง.
               สภาวธรรมที่ชื่อว่าอภิชฌา เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้คนเพ่งเฉพาะ หรือย่อมเพ่งเฉพาะเอง หรือธรรมนี้เป็นเพียงการเพ่งเฉพาะเท่านั้น. อภิชฌานั้นมีความปรารถนากระทำสมบัติของผู้อื่นให้เป็นของตนเป็นลักษณะ (ปรสมฺปตฺตีนํ สกกรณอิจฺฉาลกฺขณา) มีความเกี่ยวข้องโดยอาการอย่างนั้นเป็นรส (เตนากาเรน ปสงฺคภาวรสา) มีความมุ่งหมายแต่สมบัติของผู้อื่นเป็นปัจจุปัฏฐาน (ปรสมฺปตฺติอภิมุขภาวปจฺจุปฏฺฐานา) มีความยินดียิ่งในสมบัติของผู้อื่นเป็นปทัฏฐาน (ปรสมฺปตฺตีสุ อภิรติปทฏฺฐานา).
               จริงอยู่ อภิชฌานั้นย่อมปรากฏมุ่งหน้าแต่สมบัติของผู้อื่นเท่านั้น ก็เมื่อความยินดียิ่งมีอยู่ อภิชฌานั้นก็ย่อมเป็นไปในสมบัติของผู้อื่น พึงทราบว่า เหมือนจิตเหยียดมือไปในสมบัติเหล่านั้น ฉะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำเป็นต้นว่า สมถะย่อมมี ต่อไป.
               สภาวธรรมที่ชื่อว่าสมถะ เพราะสงบความฟุ้งซ่านในกิจอื่นๆ ที่ชื่อว่าปัคคาหะ เพราะประคองจิตให้เป็นไปในอกุศล. ชื่อว่าอวิกเขปะ เพราะไม่ซัดส่ายไป.
               ในอกุศลจิตนี้ ไม่ถือเอาธรรมเหล่านี้คือ ศรัทธา สติ ปัญญาและธรรม ๖ คู่ เพราะเหตุไร?
               เพราะขึ้นชื่อว่า ความเลื่อมใสในจิตที่ไม่มีศรัทธาหามีได้ไม่ ฉะนั้น เบื้องต้นนี้จึงไม่ถือเอาศรัทธา.
               ถามว่า ก็คนมีทิฏฐิทั้งหลายไม่เชื่อศาสดาของตนๆ หรือ?
               ตอบว่า เชื่อ. แต่การเชื่อนั้นไม่ชื่อว่าเป็นศรัทธา คำเชื่อนี้เป็นเพียงการรับคำเท่านั้น ว่าโดยอรรถ ความเชื่อนั้นย่อมเป็นความเชื่อที่ปราศจากความใคร่ครวญบ้าง เป็นทิฏฐิบ้าง.
               อนึ่ง สติย่อมไม่มีในอกุศลจิตเพราะไม่เป็นที่ตั้งแห่งสติ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่ถือเอา.
               ถามว่า บุคคลผู้มีทิฏฐิทั้งหลายย่อมไม่ระลึกถึงการงานอันตนกระทำบ้างหรือ?
               ตอบว่า ย่อมระลึก แต่การระลึกนั้นไม่ชื่อว่าเป็นสติ เพราะอาการระลึกนั้นเป็นความประพฤติของอกุศลจิตอย่างเดียว ฉะนั้น จึงไม่ทรงถือเอาสติ.
               ถามว่า เมื่อความเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุไร ในพระสูตรจึงตรัสว่า มิจฉาสติ เป็นความระลึกเล่า?
               ตอบว่า เพื่อจะทรงยังมิจฉัตตะแห่งมิจฉามรรคให้บริบูรณ์ เพราะอกุศลขันธ์ทั้งหลายเป็นสภาวะเว้นจากสติ และเป็นปฏิปักษ์ต่อสติ จึงทรงทำเทศนามิจฉาสติไว้ในพระสูตรนั้นโดยปริยาย แต่มิจฉาสตินั้นว่าโดยนิปปริยายย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น จึงไม่ทรงถือเอา.
               อนึ่ง ปัญญา ย่อมไม่มีในจิตของอันธพาลนั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่ทรงถือเอา.
               ถามว่า ความรู้ (ปญฺญา) เป็นเครื่องหลอกลวงของบุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีหรือ?
               ตอบว่า มีอยู่ แต่ความรู้เป็นเครื่องหลอกลวงนั้น ไม่ชื่อว่าปัญญา ความรู้นั้นชื่อว่าเป็นมายา ว่าโดยใจความ มายานั้นก็คือตัณหานั่นเอง. ก็เพราะจิตนี้เป็นจิตกระวนกระวาย หนัก หยาบ แข็ง กระด้าง ไม่ควรแก่การงาน ป่วย คด โกง ฉะนั้น ธรรม ๖ คู่มีปัสสัทธิเป็นต้น พระองค์จึงไม่ทรงถือเอา.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงบท ๓๒ ที่ขึ้นสู่พระบาลีด้วยสามารถองค์แห่งจิตโดยลำดับบทเพียงเท่านี้แล้ว บัดนี้ เพื่อทรงแสดงเยวาปนกธรรมจึงตรัสพระพุทธพจน์มีอาทิว่า เย วา ปน ตสฺมึ สมเย (ก็หรือว่านามธรรมที่อิงอาศัยกันเกิดขึ้นแม้อื่นใด มีอยู่ในสมัยนั้น) ดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำมีอาทิว่า เยวาปนกธรรมนั้นต่อไป.
               ในอกุศลจิตแม้ทั้งหมด ธรรมทั้ง ๑๐ เหล่านี้เท่านั้น คือฉันทะ อธิโมกข์ มนสิการ มานะ อิสสา มัจฉริยะ ถีนะ มิทธะ อุทธัจจะ กุกกุจจะ เป็นเยวาปนกธรรมมาในพระสูตร ย่อมปรากฏในบทพระสูตร เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ในที่นี้ ส่วนในอกุศลจิตนี้มีเยวาปนกธรรม ๔ ประการ กล่าวคือเป็นองค์ที่แน่นอน คือฉันทะ อธิโมกข์ มนสิการ อุทธัจจะ.
               ในบรรดาเยวาปนกธรรมเหล่านั้น ธรรมมีฉันทะเป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ ก็ธรรมมีฉันทะเป็นต้น (ฉันทะ ๑ อธิโมกข์ ๑ มนสิการ ๑ ตัตรมัชฌัตตตา ๑ ตามนัยที่กล่าวแล้วนั้น) เป็นกุศลอย่างเดียว ธรรมมีฉันทะเป็นต้น (คือฉันทะ ๑ อธิโมกข์ ๑ มนสิการ ๑ อุทธัจจะ ๑) เหล่านี้เป็นอกุศล. ส่วนธรรมนอกนี้ ความที่จิตฟุ้งซ่าน ชื่อว่าอุทธัจจะ.
               อุทธัจจะนั้นมีความไม่เข้าไปสงบเป็นลักษณะ (อวูปสมนลกฺขณํ) เหมือนน้ำกระเพื่อมเพราะลมพัด, มีความไม่ตั้งมั่นเป็นรส (อนวฏฺฐานรสํ) เหมือนธงชัยและธงแผ่นผ้าพริ้วไปเพราะลมพัด, มีความพล่านไปเป็นปัจจุปัจฐาน (ภนฺตตฺตปจฺจุปฏฺฐานํ) มีความไม่เข้าไปสงบเหมือนขี้เถ้าฟุ้งขึ้นเพราะแผ่นหินที่ทุ่มลง, มีความมนสิการโดยอุบายไม่แยบคายเป็นปทัฏฐาน (เจตโส อวูปสโม อโยนิโสมนสิการปทฏฺฐานํ) พึงทราบว่าเป็นความฟุ้งซ่านแห่งจิต.
               บทธรรม ๓๒ มีผัสสะเป็นต้น (มีอวิกเขปะเป็นที่สุด) กับบทธรรม ๔ มีฉันทะเป็นต้นที่ตรัสด้วยอำนาจเยวาปนกธรรม รวมทั้งหมดเป็นบทธรรม ๓๖ ในวาระแห่งธัมมุทเทสนี้. บทธรรมที่มาในบาลีเหล่านั้นลดบทธรรมที่เป็นเยวาปนกธรรมที่แน่นอน ๔ อย่าง ออกแล้วก็เหลือ ๓๒ เท่านั้น ด้วยประการฉะนี้.
               แต่ในอุทเทสแห่งอกุศลนี้ เพราะเว้นธรรมที่ไม่ถือเอาจึงเป็นธรรม ๑๖ บท คือ หมวดธรรม ๕ มีผัสสะเป็นต้น๒- วิตก ๑ วิจาร ๑ ปีติ ๑ เอกัคคตาจิต ๑ วิริยินทรีย์ ๑ ชีวิตินทรีย์ ๑ มิจฉาทิฏฐิ ๑ โลภะ ๑ โมหะ ๑ อหิริกะ ๑ อโนตตัปปะ ๑.
____________________________
๒- ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา จิต

               บรรดาธรรม ๑๖ เหล่านั้น ธรรม ๗ จำแนกไม่ได้ ธรรม ๙ จำแนกได้ ธรรม ๗ ที่จำแนกไม่ได้ เป็นไฉน? ธรรมที่จำแนกไม่ได้เหล่านี้คือ ผัสสะ สัญญา เจตนา วิจาร ปีติ ชีวิตินทรีย์ โมหะ. ส่วนธรรมที่จำแนกได้ ๙ เหล่านี้ คือ เวทนา จิต วิตก เอกัคคตาจิต วิริยินทรีย์ มิจฉาทิฏฐิ อหิริกะ อโนตตัปปะ โลภะ.
               บรรดาธรรม ๙ อย่างเหล่านั้น ธรรม ๖ อย่างจำแนกได้ ๒ ฐาน ธรรมอย่างหนึ่งจำแนกได้ ๓ ฐาน ธรรมอย่างหนึ่งจำแนกได้ ๔ ฐาน และธรรมอีกอย่างหนึ่งจำแนกได้ ๖ ฐาน. เป็นอย่างไร? ธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ คือจิต วิตก มิจฉาทิฏฐิ อหิริกพละ อโนตตัปปพละ โลภะ จำแนกได้ ๒ ฐาน.
               จริงอยู่ บรรดาธรรมทั้ง ๖ เหล่านั้น จิตก่อนเพ่งถึงผัสสปัญจกะเรียกว่าจิต เพ่งถึงอินทรีย์เรียกว่ามนินทรีย์. วิตกเพ่งถึงองค์ฌานทั้งหลายเรียกว่าวิตก เพ่งถึงองค์มรรคทั้งหลายเรียกว่ามิจฉาสังกัปปะ. มิจฉาทิฏฐิก็เป็นมิจฉาทิฏฐิเหมือนกันทั้งในองค์มรรคทั้งในกรรมบถ. อหิริกะเพ่งถึงพละทั้งหลายเรียกว่าอหิริกพละ เพ่งถึงหมวดสองแห่งธรรมเป็นเครื่องยังโลกให้พินาศเรียกว่าอหิริกะ แม้ในอโนตตัปปะก็นัยนี้แหละ. โลภะเพ่งถึงมูลเรียกว่าโลภะ เพ่งถึงกรรมบถ เรียกว่าอภิชฌา. ธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ท่านจำแนกในฐานะทั้ง ๒ ด้วยประการฉะนี้.
               ส่วนเวทนาเพ่งถึงผัสสปัญจกะเรียกว่าเวทนา เพ่งถึงองค์ฌานทั้งหลายเรียกว่าสุข เพ่งถึงอินทรีย์ทั้งหลายเรียกว่าโสมนัสสินทรีย์ ธรรม (เวทนา) อย่างเดียวจำแนกได้ ๓ ฐานด้วยประการฉะนี้. ก็วิริยะเพ่งถึงอินทรีย์ทั้งหลายเรียกว่าวิริยินทรีย์ เพ่งถึงองค์มรรคทั้งหลายเรียกว่ามิจฉาวายามะ เพ่งถึงพละเรียกว่าวิริยพละ เพ่งถึงธรรมปิฏฐิทุกะเรียกว่าปัคคาหะ. ธรรม (วิริยะ) อย่างเดียวนี้ท่านจำแนกไว้ ๔ ฐานด้วยประการฉะนี้.
               ก็สมาธิเพ่งถึงองค์ฌานทั้งหลาย เรียกว่าเอกัคคตาจิต เพ่งถึงอินทรีย์ เรียกว่าสมาธินทรีย์ เพ่งถึงองค์มรรคทั้งหลาย เรียกว่ามิจฉาสมาธิ เพ่งถึงพละทั้งหลาย เรียกว่าสมาธิพละ เพ่งถึงธรรมปิฏฐิทุกะ เรียกว่าสมถะ ด้วยสามารถแห่งธรรมหมวดหนึ่งในทุติยทุกะ เรียกว่าอวิกเขปะ โดยทุกะที่สาม. ธรรม (สมถะ) นี้อย่างเดียวท่านจำแนกไว้ ๖ ฐานด้วยประการฉะนี้.
               ก็ธรรมแม้ทั้งหมดเหล่านี้จัดเป็น ๙ กอง คือ
               ผัสสปัญจกะ ๑ องค์ฌาน ๑ อินทรีย์ ๑ องค์มรรค ๑ พละ ๑ มูล ๑ กรรมบถ ๑ โลกนาสกธรรม ๑ ปิฏฐิทุกะ ๑.
               บรรดาธรรม ๙ กองนั้น คำใดที่ข้าพเจ้าพึงกล่าว คำนั้นข้าพเจ้ากล่าวไว้ในนิทเทสแห่งกุศลจิตดวงที่หนึ่งแล้วแล.
               จบกถาว่าด้วยธัมมุทเทสวาร.               

               อรรถกถาแสดงนิทเทสวาร               
               พึงทราบวินิจฉัยนิทเทสเอกัคคตาแห่งจิตในนิทเทสวารก่อน.
               สองบทนี้ที่ตรัสว่า สณฺฐิติ (ความดำรงอยู่) อวฏฺฐิติ (ความมั่นอยู่) เป็นคำไวพจน์ของบท ฐิติ (ความตั้งอยู่) นั่นแหละ ส่วนคำใดที่กล่าวไว้ในนิทเทสแห่งกุศลว่า ชื่อว่า อวฏฺฐิติ (ความมั่นอยู่) เพราะอรรถว่า หยั่งลงคือเข้าไปสู่อารมณ์แล้วตั้งอยู่ ดังนี้ คำนั้นไม่ได้ในนิทเทสแห่งอกุศลนี้ เพราะว่า ในอกุศล เอกัคคตาแห่งจิตมีกำลังทราม เพราะฉะนั้น สองบทว่า (สณฺฐิติและอวฏฐิติ) นี้ ข้าพเจ้าแสดงไว้ในบทหลังตามที่กล่าวแล้วนั้นแล.
               ธรรมที่ชื่อว่า อวิสาหาโร (ความไม่ส่ายไปแห่งจิต) เพราะเป็นสภาพตรงกันข้ามกับความส่ายไป ซึ่งเป็นไปด้วยอำนาจอุทธัจจะและวิจิกิจฉา เพราะฉะนั้น ในนิทเทสแห่งอกุศลนี้ จึงไม่ได้อรรถะแม้เช่นนี้ แต่ในสหชาตธรรม จิตชื่อว่าอวิสาหาร เพราะอรรถว่าย่อมไม่ส่ายไป. ที่ชื่อว่าอวิกเขปะ (ความไม่ฟุ้งซ่าน) เพราะอรรถว่าย่อมไม่ฟุ้งไป. ภาวะแห่งใจที่ไม่ส่ายไปด้วยสามารถเอกัคคตาแห่งจิตที่เป็นอกุศล ชื่อว่าอวิสาหฏมานสตา (ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป). ที่ชื่อว่าสมาธิพละ เพราะอรรถว่าย่อมไม่หวั่นไหวในสหชาตธรรมทั้งหลาย. ที่ชื่อว่ามิจฉาสมาธิ เพราะตั้งมั่นตามความไม่เป็นจริง พึงทราบเนื้อความในอธิการแห่งอกุศลนี้อย่างนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งวิริยินทรีย์ต่อไป.
               นัยมีอาทิว่า ก็นี้เป็นความบากบั่นเพื่อบรรเทากามทั้งหลายอันใดที่ข้าพเจ้ากล่าวในหนหลัง นัยนั้นย่อมไม่ได้ในนิทเทสแห่งอกุศลนี้. พึงทราบว่า ชื่อว่าวิริยพละ ด้วยอรรถว่าไม่หวั่นไหวในสหชาตธรรมทั้งหลายเท่านั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งมิจฉาทิฏฐิต่อไป.
               สภาวะที่ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ ด้วยอรรถว่า เห็นตามความไม่เป็นจริง. ที่ชื่อว่าทิฏฐิคตะ (ความเห็นไปข้างทิฏฐิ) เพราะอรรถว่าความเห็นนี้เป็นไปในทิฏฐิทั้งหลาย เพราะเป็นสภาวะหยั่งลงภายในทิฏฐิ ๖๒. เนื้อความแห่งทิฏฐิแม้นี้ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ. ทิฏฐินั่นแหละ ชื่อว่าทิฏฐิคหณะ (ป่าชัฏคือทิฏฐิ) เพราะอรรถว่าก้าวล่วงไปโดยยาก เหมือนชัฏหญ้า ชัฏป่า ชัฏภูเขา. ทิฏฐินั่นแหละ ชื่อว่าทิฏฐิกันดาร (กันดารคือทิฏฐิ) ด้วยอรรถว่าน่าระแวงและมีภัยเฉพาะหน้า เหมือนกันดารโจร กันดารสัตว์ร้าย กันดารทราย กันดารน้ำ กันดารทุพภิกขภัย. ที่ชื่อว่าทิฏฐิวิสูกายิกะ (ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ) ด้วยอรรถว่าขัดแย้งและทวนกับสัมมาทิฏฐิ.
               จริงอยู่ ความเห็นผิดเมื่อเกิดย่อมขัดแย้ง และทวนสัมมาทิฏฐิไป ที่ชื่อว่าทิฏฐิวิปผันทิตะ (ความผันแปรแห่งทิฏฐิ) เพราะอรรถว่าผันแปรผิดรูปแห่งทิฏฐิ เพราะบางคราวก็ถือเอา ความเที่ยง บางคราวก็ถือเอาความขาดสูญ เพราะว่าคนผู้มีความเห็นผิดย่อมไม่อาจตั้งอยู่ในสิ่งเดียว คือบางคราวก็คล้อยตามความเที่ยง บางคราวก็คล้อยตามความขาดสูญ. ทิฏฐินั่นแหละ ชื่อว่าสัญโญชน์ ด้วยอรรถว่าเป็นเครื่องผูก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าทิฏฐิสัญโญชน์. ที่ชื่อว่าคาหะ (ความยึดถือ) เพราะอรรถว่าย่อมยึดอารมณ์ไว้มั่น เหมือนสัตว์ร้ายมีจระเข้เป็นต้น เอาปากงับคนไว้มั่นฉะนั้น. ที่ชื่อว่าปติฏฐวาหะ๑- (ความตั้งมั่น) เพราะตั้งไว้โดยเฉพาะ.
____________________________
๑- ในธรรมสังคณิเป็น ปฏิคฺคาโห.

               จริงอยู่ ความตั้งมั่นนี้ตั้งมั่นแล้วยึดไว้โดยความเป็นไปอย่างมีกำลัง. ที่ชื่อว่าอภินิเวสะ (ความยึดมั่น) เพราะอรรถว่าย่อมตั้งมั่นโดยความเป็นของเที่ยงเป็นต้น. ที่ชื่อว่าปรามาสะ (ความถือผิด) เพราะอรรถว่าก้าวล่วงสภาวธรรมแล้ว ถือเอาโดยประการอื่นด้วยอำนาจแห่งความเที่ยงเป็นต้น. ที่ชื่อว่ากุมมัคคะ (ทางชั่ว) เพราะอรรถว่าเป็นทางอันบัณฑิตเกลียด เพราะเป็นทางนำความพินาศมาให้ หรือเป็นทางแห่งอบายทั้งหลายที่บัณฑิตเกลียด.
               ที่ชื่อว่ามิจฉาปถะ (ทางผิด) เพราะเป็นทางตามความไม่เป็นจริง ที่ชื่อว่ามิจฉัตตะ (ภาวะที่ผิด) เพราะเป็นสภาพผิดเหมือนกัน. เหมือนอย่างว่า ชนผู้หลงทิศ แม้ยึดถือว่า ทางนี้ชื่อทางของบ้านโน้น ดังนี้ ก็ไม่ยังบุคคลนั้นให้ถึงบ้านได้ ฉันใด บุคคลผู้มิจฉาทิฏฐิ แม้ยึดถือว่าทางนี้เป็นไปสู่สุคติ ดังนี้ ก็ไม่สามารถถึงสุคติได้ ฉันนั้น. ชื่อว่าทางผิด เพราะเป็นทางตามความไม่เป็นจริง ทางนี้ชื่อว่ามิจฉัตตะ เพราะมีสภาพผิด. ที่ชื่อว่าติตถะ (ลัทธิเป็นดังท่า) เพราะเป็นที่ๆ พวกคนพาลข้ามไป โดยการหมุนไปมาในที่นั้นนั่นแหละ ติตถะ (คือลัทธิ) นั้นด้วย เป็นอายตนะ (บ่อเกิด) แห่งความฉิบหายด้วย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าติตถายตนะ (ลัทธิเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ).
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าติตถายตนะ เพราะอรรถว่าเป็นอายตนะด้วยความหมายเป็นส่วนสัญชาติ และด้วยความหมายว่าเป็นที่อาศัยของพวกเดียรถีย์บ้าง.
               ที่ชื่อว่าวิปริเยสัคคาหะ (การถือโดยวิปลาส) เพราะอรรถว่าเป็นการถือสภาวะที่ใคร่ครวญผิด หรือว่าเป็นการถือสภาวะโดยตรงกันข้าม. อธิบายว่า ถือเอาคลาดเคลื่อน.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งอหิริกะและอโนตตัปปะต่อไป.
               บัณฑิตพึงทราบเนื้อความแห่งอหิริกะและอโนตตัปปะโดยปริยายตรงกันข้ามในนิทเทสแห่งหิริและโอตตัปปะ ก็บัณฑิตพึงทราบอหิริกพละและอโนตตัปปพละ เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหวในสหชาตธรรมทั้งหลายเท่านั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งโลภะและโมหะต่อไป
               สภาวะที่ชื่อว่าโลภะ เพราะอรรถว่าอยากได้. อาการที่โลภ ชื่อว่าลุพภนา (กิริยาที่โลภ) จิตที่สัมปยุตด้วยโลภะ หรือบุคคลผู้ประกอบด้วยความโลภ ชื่อว่าลุพภิตะ ภาวะแห่งจิตที่สัมปยุตด้วยโลภะหรือแห่งบุคคลผู้ประกอบด้วยความโลภ ชื่อว่าลุพภิตัตตะ (ความโลภ). ที่ชื่อว่าสาราคะ (ความกำหนัด) เพราะย่อมกำหนัดนัก. อาการแห่งความกำหนัดนัก ชื่อว่าสารัชชนา (กิริยาที่กำหนัดนัก). ภาวะแห่งจิตที่กำหนัดนักชื่อว่าสารัชชิตัตตะ (ความกำหนัด). ชื่อว่าอภิชฌา ด้วยอรรถว่าเพ่งเล็ง.
               การณะ (เหตุ) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโดยศัพท์ว่าโลภะอีก เพราะโลภะนั้นเป็นอกุศลด้วย เป็นมูลด้วย จึงชื่อว่าอกุศลมูล. อีกอย่างหนึ่ง โลภะนั้นเป็นมูลของอกุศลทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอกุศลมูล.
               สภาวะที่ชื่อว่าอัญญาณ (ความไม่รู้) เพราะปฏิปักษ์ต่อญาณ. ที่ชื่อว่าอทัสสนะ (ความไม่เห็น) เพราะปฏิปักษ์ต่อความเห็น. ที่ชื่อว่าอนภิสมัย (ความไม่ตรัสรู้) เพราะอรรถว่าเป็นสภาพเผชิญหน้าก็ไม่ตรัสรู้ตามธรรมได้ คือย่อมไม่ถึงโดยชอบ. ที่ชื่อว่าอนุโพธะ (ตรัสรู้โดยสมควร) เพราะอรรถว่าย่อมตรัสรู้ธรรมโดยสมควร ที่ชื่อว่าอนนุโพธะ (การไม่ตรัสรู้ธรรมโดยสมควร) เพราะความที่อนนุโพธะนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่ออนุโพธะนั้น. ที่ชื่อว่าอสัมโพธะ (ไม่รู้ตามเป็นจริง) เพราะอรรถว่าไม่ประกอบกับสภาวะทั้งหลายมีความไม่เที่ยงเป็นต้นแล้วตรัสรู้. ชื่อว่าอสัมโพธะ เพราะอรรถว่าไม่สงบและไม่ชอบ ดังนี้บ้าง.
               ที่ชื่อว่าอัปปฏิเวธะ (ไม่แทงตลอด) เพราะอรรถว่าย่อมไม่แทงตลอดธรรมคือสัจจะ ๔. ที่ชื่อว่าอสังคาหณา (ไม่ถือเอาให้ถูกต้อง) เพราะอรรถว่าย่อมไม่ถือเอาพร้อมแม้ธรรมหนึ่งในธรรมมีรูปเป็นต้น โดยสามัญลักษณะมีความไม่เที่ยงเป็นต้น. ที่ชื่อว่าอปริโยคาหณา (ไม่หยั่งลงโดยรอบคอบ) เพราะอรรถว่าย่อมไม่หยั่งลงสู่ธรรมนั้นนั่นแหละ. ที่ชื่อว่าอสมเปกขนา (ความไม่พินิจ) เพราะอรรถว่าย่อมไม่เพ่งโดยสม่ำเสมอ. ที่ชื่อว่าอปัจจเวกขณา (ความไม่พิจารณา) เพราะอรรถว่าย่อมไม่เพ่งเฉพาะสภาวะแห่งธรรมทั้งหลาย. ที่ชื่อว่าอปัจจักขกัมมะ (การไม่ทำให้ประจักษ์) เพราะอรรถว่ากรรมแม้ข้อหนึ่งก็ไม่ประจักษ์แก่สภาวะนี้ในบรรดากุศลกรรมและอกุศลกรรมทั้งหลายด้วยความเป็นไปโดยวิปริตบ้าง ด้วยไม่มีการกำหนดโดยสภาวะบ้าง.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าการทำให้ประจักษ์แก่ธรรมไรๆ เองมิได้มี เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอปัจจักขกัมมะ. ที่ชื่อว่าทุมเมชฌะ (ความทรามปัญญา) เพราะอรรถว่าเมื่อโมหะนี้ยังไม่เกิดขึ้น จิตสันดานใดพึงเป็นจิตบริสุทธิ์ คือสะอาดผ่องแผ้ว จิตสันดานอันบริสุทธิ์นั้น อันโมหะนี้ประทุษร้ายแล้ว. ที่ชื่อว่าพาลยะ (ความโง่เขลา) เพราะอรรถว่าเป็นภาวะของพวกคนพาล. ที่ชื่อว่าโมหะ (ความหลง) เพราะอรรถว่าย่อมหลง. โมหะมีกำลังแรงชื่อว่าปโมหะ (ความลุ่มหลง). ที่ชื่อว่าสัมโมหะ (หลงใหล) เพราะอรรถว่าย่อมหลงโดยรอบ. ที่ชื่อว่าอวิชชา เพราะอรรถว่าไม่ใช่วิชชาเพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อวิชชา.
               ความหมายของโอฆะ โยคะและคัณฐะ ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วทั้งนั้น.
               ที่ชื่อว่าอนุสัย เพราะอรรถว่าย่อมนอนเนื่อง โดยอรรถว่ามีกำลัง. ที่ชื่อว่าปริยุฏฐาน เพราะอรรถว่าย่อมกลุ้มรุม คือครอบงำจิต. ที่ชื่อว่าลังคี (ลิ่ม) เพราะอรรถว่าย่อมไม่อาจเพื่อไปมุ่งหน้าเฉพาะต่อประโยชน์ ย่อมติดโดยแท้ เพราะไม่มีการถือเอาประโยชน์ได้ คือย่อมไปลำบาก. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าลังคี เพราะอรรถว่าถอนขึ้นได้ยาก. เหมือนอย่างว่า ลิ่มกล่าวคือกลอนเหล็กใหญ่เป็นของถอนขึ้นโดยยาก ฉันใดอวิชชาแม้นี้ก็ฉันนั้น เป็นราวกะลิ่ม เพราะฉะนั้น อวิชชานั้นจึงชื่อว่าลังคี (ลิ่ม).
               คำที่เหลือมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น เพราะฉะนั้น พึงทราบแม้สังคหวาระและสุญญตวาระโดยอรรถะ ด้วยนัยที่กล่าวไว้ในหนหลังนั่นแล.

               จบอกุศลจิตดวงที่หนึ่ง.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ อกุศลธรรม อกุศลจิต ๑๒ จิตดวงที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 273อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 275อ่านอรรถกถา 34 / 311อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=2642&Z=2795
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=7606
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=7606
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :