ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 472อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 482อ่านอรรถกถา 34 / 501อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
จิตตุปปาทกัณฑ์ อัพยากตธรรม กามาวจรกิริยา รูปาวจรกิริยา อรูปาวจรกิริยา

               อรรถกถาแสดงกิริยาอัพยากฤต               
               ว่าด้วยมโนธาตุที่เป็นกิริยาจิต               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประสงค์จะทรงจำแนกกิริยาอัพยากฤต (มโนธาตุที่เป็นกิริยาจิต) จึงเริ่มตรัสพระบาลีมีอาทิว่า กตเม ธมฺมา อพฺยากตา (ธรรมเป็นอัพยากฤตเป็นไฉน) ต่อไป.
               บรรดาบทอัพยากฤตเหล่านั้น บทว่า กิริยา ได้แก่ สักว่ากระทำ.
               จริงอยู่ ในกิริยาจิตทุกดวงทีเดียว กิริยาจิตใดไม่ถึงความเป็นชวนะ กิริยาจิตนั้นย่อมไม่มีผล เหมือนดอกไม้ลม๑- กิริยาจิตใดถึงความเป็นชวนะ กิริยาจิตนั้นก็ไม่มีผล เหมือนดอกไม้ที่ต้นมีรากขาดแล้ว ย่อมเป็นเพียงการกระทำเท่านั้น เพราะเป็นไปด้วยอำนาจยังกิจนั้นๆ ให้สำเร็จ เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า กิริยา (การกระทำ).
____________________________
๑- บาลีว่า วาตปุปฺผํ วิย คงหมายถึงดอกไม้ไร้ประโยชน์.

               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า เนว กุสลานากุสลา (ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล) เป็นต้นต่อไป.
               สภาวธรรมที่ชื่อว่าไม่ใช่กุศล เพราะความไม่มีกุศลเหตุกล่าวคือกุศลมูล. ที่ชื่อว่าไม่ใช่อกุศล เพราะความไม่มีอกุศลเหตุ กล่าวคืออกุศลมูล. ที่ชื่อว่าไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล (เนว กุสลานากุสลา) เพราะความไม่มีกุศลและอกุศลเป็นปัจจัย ไม่มีแม้โยนิโสมนสิการ และอโยนิโสมนสิการ. ที่ชื่อว่าไม่ใช่กรรมวิบาก เพราะไม่มีเหตุให้เกิดขึ้นกล่าวคือกุศลและอกุศล.
               ในนิทเทสแห่งเอกัคคตาแห่งจิตที่เป็นกิริยามโนธาตุแม้นี้ ย่อมได้เพียงการตั้งอยู่ในปวัตติกาลเท่านั้น จริงอยู่จิต ๑๗ ดวงเหล่านี้ คือ
                         ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง
                         มโนธาตุ ๓ ดวง
                         มโนวิญญาณธาตุ ๓ ดวง
                         วิจิกิจฉาสหคตจิต ๑ ดวง
               เพราะความที่จิตเหล่านี้เป็นสภาพทุรพล จึงไม่ได้ในพระบาลีว่า สณฺฐิติ อวฏฺฐิติ (ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต) เป็นต้น. คำที่เหลือทั้งหมด พึงทราบโดยนัยที่กล่าวในนิทเทสแห่งวิบากมโนธาตุ เว้นแต่ฐานแห่งการเกิดขึ้น. เพราะจิตนั้น (มโนธาตุที่เป็นวิบาก) ย่อมเกิดขึ้นในลำดับปัญจวิญญาณ. แต่มโนธาตุที่เป็นกิริยาจิตนี้ ย่อมเกิดก่อนทุกดวงในปวัตติกาลในวิถีแห่งปัญจทวาร.
               ข้อนี้เป็นอย่างไร? คือว่า ในจักขุทวารก่อน เมื่อรูปารมณ์ทั้งหลายอันเป็นอิฏฐารมณ์ อิฏฐมัชฌัตตารมณ์ อนิฏฐารมณ์และอนิฏฐมัชฌัตตารมณ์ อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งกระทบประสาท มโนธาตุที่เป็นกิริยาจิตก็รับอารมณ์นั้น ยังภวังค์ให้เปลี่ยนไปเกิดขึ้น เป็นไปก่อนด้วยอำนาจแห่งอาวัชชนะ แม้ในโสตทวารเป็นต้นก็นัยนี้แล.
               มโนธาตุที่เป็นกิริยาจิต จบ.               

               ว่าด้วยมโนวิญญาณธาตุเป็นกิริยาจิตสหรคตด้วยโสมนัส               
               จิตนี้ในพระบาลีว่า มโนวิญฺญาณธาตุ อุปฺปนฺนา โหติ ฯเปฯ โสมนสฺสสหคตา (มโนวิญญาณเป็นกิริยา ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่กรรมวิบาก สหรคตด้วยโสมนัส) ดังนี้ เป็นจิตเฉพาะบุคคลไม่ทั่วไป แก่สัตว์เหล่าอื่นนอกจากพระขีณาสพเท่านั้น ย่อมได้ในทวาร ๖.
               จริงอยู่ ในจักขุทวาร พระขีณาสพเห็นที่อันสมควรแก่การทำความเพียรย่อมถึงโสมนัสด้วยจิตนี้. ในโสตทวาร ท่านถึงที่ซึ่งควรแก่การจำแนกแจกภัณฑะ เมื่อบุคคลผู้ละโมบทำเสียงดังถือเอาอยู่ ท่านก็ถึงโสมนัสด้วยจิตนี้ว่า ตัณหาเป็นเหตุให้หวั่นไหวชื่อเห็นปานนี้เราละได้แล้วดังนี้. ในฆานทวาร เมื่อพระขีณาสพบูชาพระเจดีย์ด้วยของหอม หรือดอกไม้ก็ถึงโสมนัสด้วยจิตนี้. ในชิวหาทวาร พระขีณาสพแบ่งบิณฑบาตที่ถึงพร้อมด้วยรสที่ได้มาฉันอยู่ ก็ถึงโสมนัสด้วยจิตนี้ว่า สาราณิยธรรม (ธรรมที่ควรระลึกถึง) เราบำเพ็ญแล้วหนอ ดังนี้. ในกายทวาร พระขีณาสพบำเพ็ญอภิสมาจาริกวัตรอยู่ ก็ถึงโสมนัสด้วยจิตนี้ว่า ก็วัตรของเราเต็มรอบแล้ว ดังนี้ พระขีณาสพย่อมได้ในปัญจทวารอย่างนี้ก่อน.
               แต่ในมโนทวารจิตของพระขีณาสพย่อมเกิดขึ้นปรารภอดีตและอนาคต.
               จริงอยู่ พระตถาคตทรงระลึกถึงเหตุที่ทรงกระทำแล้วในครั้งที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นโชติปาละ เป็นท้าวมฆเทวราชและเป็นกัณหดาบสเป็นต้น จึงทรงกระทำการแย้มให้ปรากฏ ก็การระลึกนั้นเป็นกิจ (หน้าที่) ของบุพเพนิวาสญาณและสัพพัญญุตญาณ ก็ในเวลาสิ้นสุดแห่งความเป็นไปของญาณทั้งสองเหล่านั้น จิตดวงนี้ย่อมเกิดร่าเริง. ในอนาคต พระองค์ก็ได้ทรงทำการแย้มให้ปรากฏว่า จักมีพระปัจเจกพุทธะ มีเสียงดังเสียงพิณ มีเสียงดังตะโพน ดังนี้ ก็การระลึกนั้นเป็นกิจของอนาคตังสญาณและสัพพัญญุตญาณ ก็ในเวลาสิ้นสุดแห่งความเป็นไปของญาณทั้งสองเหล่านั้น จิตนี้ย่อมเกิดร่าเริง.
               ก็ในนิทเทสวารแห่งหสิตุปบาทจิตนี้ ทรงตั้งเอกัคคตาแห่งจิตไว้ถึงสมาธิพละ เพราะมีกำลังกว่าอเหตุจิตที่เหลือ ถึงวิริยะก็ทรงตั้งไว้ถึงวิริยพละ แต่เพราะในอุทเทสมิได้ตรัสไว้ว่า สมาธิพละย่อมมี วิริยพละย่อมมี ดังนี้ ชื่อว่าพละ (สติพละ วิริยพละ) ทั้งสองนี้จึงไม่มีด้วยอรรถว่าเป็นกำลัง ก็เพราะจิตดวงนี้ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต ฉะนั้น จึงไม่ตรัสตั้งไว้ว่าเป็นพละ ดังนี้ และเพราะจิตดวงนี้ไม่ใช่พละโดยนิปปริยาย (โดยตรง) ฉะนั้น แม้ในสังคหวารก็มิได้ตรัสว่า ทั้ง ๒ (สติพละ วิริยพละ) เป็นพละดังนี้ คำที่เหลือทั้งหมดพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในนิทเทสอเหตุกมโนวิญญาณธาตุที่สหรคตด้วยโสมนัสนั่นแหละ.

               ว่าด้วยมโนวิญญาณธาตุเป็นกิริยาจิตสหรคตด้วยอุเบกขา               
               บทว่า อุเปกฺขาสหคตํ (มโนวิญญาณธาตุสหรคตด้วยอุเบกขา) อธิบายว่า จิตดวงนี้ทั่วไปแก่สัตว์ผู้มีจิตทุกจำพวกในภพทั้ง ๓ ชื่อว่าย่อมไม่เกิดขึ้นแก่สัตว์ผู้มีจิตบางพวกหามีไม่ แต่ว่า เมื่อเกิดในปัญจทวารย่อมทำโวฏฐัพพนกจ เกิดในมโนทวารย่อมทำอาวัชชนกิจ แม้อสาธารณญาณ (ญาณที่ไม่ทั่วไปแก่สัตว์อื่น) ๖ ย่อมรับอารมณ์อันจิตนี้รับแล้วเหมือนกัน.
               จิตนี้ ชื่อว่า มหาคช๑- ขึ้นชื่อว่า สิ่งที่ไม่เป็นอารมณ์ของจิตนี้มิได้มี เมื่อคำถามว่า จิตที่มิใช่สัพพัญญุตญาณ แต่ชื่อว่ามีคติอย่างสัพพัญญุตญาณเป็นจิตดวงไหน? พึงตอบว่า จิตดวงนี้ (มโนวิญญาณธาตุเป็นกิริยาจิตสหรคตด้วยอุเบกขา) คำที่เหลือในจิตนี้ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในจิตดวงก่อน (มโนวิญญาณธาตุเป็นกิริยาจิตสหรคตด้วยโสมนัส) นั่นแหละ ก็ในหสนจิต (มโนวิญญาณธาตุเป็นกิริยาจิตสหรคตด้วยโสมนัส) นั้น ทรงจำแนกสังขารขันธ์มีองค์ ๙ เพราะมีปีติ แต่ในจิตดวงนี้ ทรงจำแนกสังขารขันธ์มีองค์ ๘ เพราะไม่มีปีติ.
____________________________
๑- ฉบับนี้ว่า มหาราช นาเมตํ จิตฺตํ แต่ของพม่าเป็น มหาคช นาเมตํ จิตฺตํ
แปลตามฉบับไทย จิตนี้ชื่อว่ามหาราช ฉบับพม่าแปลว่า จิตนี้ชื่อว่าช้างใหญ่

               ว่าด้วยมหากิริยาจิต ๘ ดวง               
               บัดนี้ มหากิริยาจิต ๘ ดวง นั่นแหละของกุศลเหล่าใด กิริยาจิตเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้ว เพราะความเกิดขึ้นแห่งพระขีณาสพ เพราะฉะนั้น มหากิริยาจิตเหล่านั้น พึงทราบโดยนัยตามที่กล่าวในกุศลนิทเทสนั่นแหละ.

               ว่าด้วยหสนจิต ๑๓ ดวง               
               บัณฑิตพึงยังหสนจิตให้ตั้งประชุมลงในที่นี้.
               ถามว่า ก็หสนจิตเหล่านี้ มีเท่าไร?
               ตอบว่า มี ๑๓ ดวง.
               จริงอยู่ ปุถุชนย่อมหัวเราะด้วยจิต ๘ ดวง คือ
                         กุศลจิตสหรคตด้วยโสมนัส ๔ ดวง
                         อกุศลจิตสหรคตด้วยโสมนัส ๔ ดวง
               พระเสกขะย่อมหัวเราะด้วยจิต ๖ ดวง คือ
                         กุศลจิตที่สหรคตด้วยโสมนัส ๔ ดวง
                         อกุศลจิตที่สหรคตด้วยโสมนัสไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ ๒ ดวง
               พระขีณาสพย่อมหัวเราะด้วยจิต ๕ ดวง คือ
                         หสิตุปบาทจิตสหรคตด้วยโสมนัส ๑ ดวง
                         มหากิริยาจิตที่สหรคตด้วยโสมนัส ๔ ดวง

               อรรถกถาแสดงรูปาวจรอรูปาวจรกิริยา               
               พึงทราบวินิจฉัยนิทเทสแห่งรูปาวจรและอรูปาวจรกิริยาต่อไป.
               บทว่า ทิฏฺฐิธมฺมสุขวิหารํ (เป็นแต่ทิฏฐธรรมสุขวิหาร) ได้แก่ เพียงอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม คือในอัตภาพนี้เท่านั้น. ในสมาบัติเหล่านั้น สมาบัติที่พระขีณาสพให้เกิดขึ้นในเวลายังเป็นปุถุชนมีอยู่ ตราบใดที่พระขีณาสพยังไม่เข้าสมาบัติอันนั้น สมาบัตินั้นก็เป็นกุศลนั้นแหละ เมื่อท่านเข้าสมาบัตินั้นแล้ว สมาบัตินั้นก็เป็นกิริยา แต่สมาบัติที่พระขีณาสพนั้นให้บังเกิดขึ้นในเวลาที่ท่านเป็นพระขีณาสพแล้ว สมาบัตินั้นย่อมเป็นกิริยาเท่านั้น.
               คำที่เหลือทั้งหมด พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในกุศลนิทเทส เพราะเป็นเหมือนกับกุศลนั้น ฉะนี้แล.

               กถาว่าด้วยจิตตุปปาทกัณฑ์ในอัฏฐสาลินี ธัมมสังคหกถา จบ               
               แต่บทอัพยากฤต (รูปและนิพพาน) ยังไม่จบก่อน               
               อรรถกถาจิตตุปปาทกัณฑ์ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ อัพยากตธรรม กามาวจรกิริยา รูปาวจรกิริยา อรูปาวจรกิริยา จบ.
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 472อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 482อ่านอรรถกถา 34 / 501อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=4005&Z=4132
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=8763
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=8763
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :