ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 634อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 663อ่านอรรถกถา 34 / 689อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
นิกเขปกัณฑ์ ติกะ

               อัฏฐสาลินี อรรถกถาธรรมสังคณี               
               อธิบายนิกเขปกัณฑ์               
               โดยลำดับแห่งคำมีอาทิว่า กตเม ธมฺมา กุสลา ดังนี้ เพียงเท่านี้ กุศลติกะย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พิสดาร ด้วยนัยกล่าวคือการจำแนกบทธรรมมีกุศลเป็นต้นทั้งหมด ก็นัยกล่าวคือการจำแนกบทแม้แห่งกุศลติกะนี้ใดที่ตรัสไว้แล้ว ก็นัยนี้นั่นแหละเป็นนัยแห่งการจำแนกต่างๆ ของติกะและทุกะที่เหลือ อันบัณฑิตทั้งหลายอาจเพื่อกำหนดนัยกล่าวคือการจำแนกต่างๆ ในติกะและทุกะทั้งหมดตามลำดับมีอาทิว่า “ธรรมสัมปยุตด้วยสุขเวทนา เป็นไฉน? ในสมัยใด กามาวจรกุศลจิต สหรคตด้วยโสมนัส สัมปยุตด้วยญาณ มีรูปเป็นอารมณ์ ก็หรือว่าเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารัมณ์ ฯลฯ ก็หรือว่า ในสมัยนั้น นามธรรมแม้อื่นใดที่อิงอาศัยเกิดขึ้น เว้นเวทนาขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าสัมปยุตด้วยสุขเวทนา” ดังนี้ เหมือนในการจำแนกกุศลติกะนี้ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น เพื่อทรงสรุปความเทศนาอันพิสดารนั้นแล้ว ทรงแสดงจำแนกธรรมหมวดติกะและทุกะทั้งหมดด้วยนัยที่ไม่ย่อเกินไปและไม่พิสดารเกินไปอีกอย่างหนึ่ง จึงทรงเริ่มนิกเขปกัณฑ์ว่า กตเม ธมฺมา กุสลา (ธรรมเป็นกุศล เป็นไฉน?) ดังนี้.
               จริงอยู่ จิตตุปปาทกัณฑ์ (ที่กล่าวแล้ว) เป็นเทศนาพิสดาร แต่อรรถกถากัณฑ์เป็นเทศนาย่อ ก็นิกเขปกัณฑ์นี้เทียบกับจิตตุปปาทกัณฑ์ นับว่าเป็นเทศนาย่อ เทียบกับอรรถกถากัณฑ์ ก็เป็นเทศนาพิสดาร เพราะฉะนั้น นิกเขปกัณฑ์นี้จึงเป็นเทศนาที่ไม่ย่อเกินไปและไม่พิสดารเกินไป กัณฑ์นี้นั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ชื่อนิกเขปกัณฑ์ เพราะทรงสรุปเทศนาพิสดารแสดงไว้บ้าง ด้วยอำนาจแห่งเหตุที่กล่าวไว้ในหนหลังบ้าง.
               จริงอยู่ คำนี้ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วว่า
                         มูลโต ขนฺธโต จาปิ     ทฺวารโต จาปิ ภูมิโต
                         อตฺถโต ธมฺมโต จาปิ   นามโต จาปิ ลิงฺคโต
                         นิกฺขิปิตฺวา เทสิตตฺตา  นิกฺเขโปติ ปวุจฺจติ
                                        ท่านเรียกว่า นิกเขปะ เพราะแสดง
                         สรุปไว้โดยมูลบ้าง โดยขันธ์บ้าง โดยทวารบ้าง
                         โดยภูมิบ้าง โดยอรรถบ้าง โดยธรรมบ้าง
                         โดยนามบ้าง โดยลิงค์บ้าง ดังนี้.

               ก็นิกเขปกัณฑ์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสรุปโดยมูล ด้วยนัยมีอาทิว่า กุศลมูล ๓ ทรงแสดงสรุปโดยขันธ์ด้วยนัยมีอาทิว่า เวทนาขันธ์สัมปยุตด้วยกุศลมูลนั้น ทรงแสดงสรุปโดยทวารด้วยนัยมีอาทิว่า กายกรรมมีกุศลมูลนั้นเป็นสมุฏฐาน เพราะกรรมเป็นไปทางกายทวารเรียกว่ากายกรรม ทรงแสดงสรุปโดยภูมิด้วยนัยโดยอาทิว่า ในภูมิอันเป็นสุข คือกามาวจร พึงทราบชื่อว่านิกเขปกัณฑ์ ที่พระองค์ทรงแสดงสรุปเนื้อความเป็นต้น เพราะแสดงด้วยสามารถแห่งอรรถ ธรรม ลิงค์และนามในที่นั้นๆ.

               ว่าด้วยนิทเทสกุศลติกะที่ ๑               
               ในพระบาลีนั้นพึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งกุศลบทก่อน.
               คำว่า ๓ เป็นคำกำหนดจำนวน. สภาวธรรมที่ชื่อว่ากุศลมูล ด้วยอรรถว่าธรรมเหล่านั้นเป็นกุศลด้วย เป็นมูลด้วย หรือว่าเป็นมูล ด้วยอรรถว่าเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เป็นแดนเกิด เป็นชนก เป็นสมุฏฐานและเป็นตัวให้เกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดง ด้วยสามารถแห่งอรรถอย่างนี้แล้ว บัดนี้ ทรงประสงค์เพื่อแสดงด้วยสามารถแห่งนาม จึงตรัสว่า อโลภะ อโทสะ อโมหะ ด้วยลำดับแห่งคำเพียงเท่านี้ พระธรรมราชา ชื่อว่าทรงแสดงถือเอากุศลอันเป็นไปในภูมิทั้ง ๔ ด้วยมูลทั้ง ๓ เพราะธรรมดากุศลพ้นจากมูลย่อมไม่มี.
               บทว่า ตํสมฺปยุตฺโต (สัมปยุตด้วยกุศลมูลนั้น) ได้แก่ สัมปยุตด้วยมูลเหล่านั้นมีอโลภะเป็นต้น. ในข้อนั้น แม้อโทสะและอโมหะ ในสังขารขันธ์อันสัมปยุตด้วยอโลภะ ก็สัมปยุตด้วยอโลภะถึงการนับว่า เป็นสังขารขันธ์เหมือนกัน. แม้ในสัมปโยคะด้วยสามารถแห่งกุศลมูล ๒ ที่เหลือก็นัยนี้แหละ. พระธรรมราชา ชื่อว่าทรงแสดงกำหนดถือเอากุศลอันเป็นไปในภูมิทั้ง ๔ ด้วยสามารถแห่งนามขันธ์ ๔ อันสัมปยุตด้วยกุศลมูลนั้นอีก ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ตํสมุฏฺฐานํ (มีกุศลมูลนั้นเป็นสมุฏฐาน) ได้แก่ ตั้งขึ้นด้วยกุศลมูลเหล่านั้นมีอโลภะเป็นต้น. โดยนัยแม้นี้ พระธรรมราชาชื่อว่าทรงแสดงกำหนดกุศลอันเป็นไปในภูมิทั้ง ๔ นั้นนั่นเอง ด้วยสามารถแห่งกรรมทวารทั้ง ๓. กุศลในฐานะทั้ง ๓ เป็นอันพระองค์ทรงแสดงกำหนดเอาก่อนด้วยประการฉะนี้. แม้ในอกุศลก็นัยนี้เหมือนกัน.
               จริงอยู่ บรรดาอกุศลจิต ๑๒ แม้อกุศลหนึ่งชื่อว่าพ้นไปจากมูล ย่อมไม่มี พระธรรมราชาจึงทรงกำหนดอกุศลเหล่านั้นแสดงไว้ด้วยมูลทั้ง ๓ ขึ้นชื่อว่าอกุศลที่นอกไปจากนามขันธ์ ๔ อันสัมปยุตด้วยอกุศลมูลนั้นมิได้มี เพราะฉะนั้น พระธรรมราชาจึงทรงกำหนดเอาอกุศลจิต ๑๒ เหล่านั้นนั่นเอง แสดงไว้ด้วยสามารถแห่งนามขันธ์ ๔.
               อนึ่ง เพราะอกุศลจิต ๑๒ เหล่านี้มีสภาวะเป็นไปด้วยสามารถแห่งกายกรรมเป็นต้น พระองค์จึงทรงกำหนดแสดงไว้ด้วยอำนาจกรรมทวาร แต่พระบาลีใดที่ตรัสไว้ในอกุศลนิทเทสนี้มีอาทิว่า ตเทกฏฺฐา จ กิเลสา (และกิเลสทั้งหลายที่ตั้งอยู่ฐานเดียวกับอกุศลมูลนั้น) ดังนี้ พึงทราบวินิจฉัยในพระบาลีนั้นว่า กิเลสที่ชื่อว่าตั้งอยู่ในฐานเดียวกัน เพราะอรรถว่าตั้งอยู่ในจิตดวงเดียวกัน หรือในบุคคลเดียวกัน.
               ในบรรดาอกุศลที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันทั้ง ๒ นัยนั้น อกุศลที่ตั้งอยู่ในจิตดวงเดียวกัน ชื่อว่าตั้งอยู่ร่วมกัน อกุศลที่ตั้งอยู่ในบุคคลเดียวกัน ชื่อว่าตั้งอยู่ในฐานเดียวกันในการประหาณ. อกุศลที่ชื่อว่าตั้งอยู่ที่เดียวกับอกุศลมูลนั้น เพราะอรรถว่าตั้งอยู่ในจิตดวงเดียวกันกับอกุศลมูลมีโลภะเป็นต้นนั้น หรือตั้งอยู่ในฐานอื่นที่ทรงแสดงไว้ในที่นั้นๆ.
               ในการละกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันนั้น อกุศลที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันโดยเกิดพร้อมกันมาในฐานเท่าที่กล่าวมานี้ คือ ในสังกิลิฏฐติกะว่า๑- ธรรมที่เศร้าหมองและเป็นอารมณ์ของสังกิเลส เป็นไฉน? อกุศลมูล ๓ คือโลภะ โทสะ โมหะและกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับอกุศลมูลนั้น ดังนี้
               ในหีนติกะตรัสว่า ธรรมทราม เป็นไฉน? อกุศลมูล ๓ คือโลภะ โทสะ โมหะและกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับอกุศลมูลนั้น ดังนี้ ในอกุศลติกะนี้ ตรัสว่า ธรรมเป็นอกุศล เป็นไฉน? อกุศลมูล ๓ คือโลภะ โทสะ โมหะและกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับอกุศลมูลนั้น ดังนี้ ในกิเลสโคจฉกะตรัสว่า ธรรมเศร้าหมอง เป็นไฉน? อกุศลมูล ๓ คือโลภะ โทสะ โมหะและกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับอกุศลมูลนั้น ดังนี้ ในสรณทุกะ๒- ตรัสว่า ธรรมเกิดกับกิเลส เป็นไฉน? อกุศลมูล ๓ คือโลภะ โทสะ โมหะและกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับอกุศลมูลนั้น ดังนี้.
____________________________
๑- ธรรมสังคณี ข้อ ๖๖๗.
๒- ธรรมสังคณี ข้อ ๘๓๕.

               แต่ในทัสสเนนปหาตัพพติกะตรัสว่า สังโยชน์ ๓ เหล่านี้และกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับสังโยชน์ ๓ เหล่านั้น ดังนี้. แม้ในทัสสเนนปหาตัพพเหตุกติกะก็ตรัสว่า สังโยชน์ ๓ เหล่านี้และกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับสังโยชน์ ๓ เหล่านั้น ดังนี้ ในทัสสเนนปหาตัพพเหตุกติกะนั้นนั่นแหละตรัสอีกว่า ธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ ๓ คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส อันพระโสดาปัตติมรรคพึงประหาณ และธรรมเหล่านี้คือโลภะ โทสะ โมหะที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับสังโยชน์ ๓ เหล่านั้น เป็นสัมปยุตเหตุอันพระโสดาปัตติมรรคพึงประหาณ และกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับโลภะ โทสะ โมหะเหล่านั้น เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ที่สัมปยุตกันกับโลภะ โทสะ โมหะนั้น กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมอันมีโลภะ โทสะ โมหะนั้นเป็นสมุฏฐาน ธรรมเหล่านี้เป็นสัมปยุตเหตุอันพระโสดาปัตติมรรคพึงประหาณ ดังนี้.
               ก็ในสัมมัปปธานวิภังค์ตรัสไว้ ในบรรดาธรรมเหล่านั้น อกุศลธรรมอันลามก เป็นไฉน? อกุศลมูล ๓ คือโลภะ โทสะ โมหะ แม้กิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับอกุศลมูลนั้น ดังนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า กิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันในการประหาณมาแล้วในฐานะเหล่านี้ มีประมาณเท่านี้.

               ว่าด้วยนิทเทสอัพยากตธรรม               
               นิทเทสแห่งอัพยากตบท มีเนื้อความตื้นทั้งนั้น ท่านอาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า ลักษณะ ๓ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น บัญญัติ ๓ กสิณุคฆาฏิมากาส อัชชฏากาส อารมณ์ของอากิญจัญญายตนสมาบัติ และนิโรธสมาบัติ ย่อมไม่ได้ในติกะนี้ ดังนี้.

               ว่าด้วยนิทเทสเวทนาติกะที่ ๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งเวทนาติกะต่อไป.
               ในคำว่า สุขภูมิยํ (ที่เกิดแห่งสุขเวทนา) นี้ อธิบายว่า เขาเรียกพื้นดินว่า ตัมพภูมิ (แผ่นดินสีแดง) กัณหภูมิ (แผ่นดินสีดำ) ฉันใด สุขเวทนาก็ชื่อว่าสุขภูมิ ฉันนั้น. ที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งอ้อยและข้าวสาลี เขากล่าวว่า อุจฉุภูมิ (ที่เป็นที่เกิดแห่งอ้อย) สาลิภูมิ (ที่เป็นที่เกิดแห่งข้าวสาลี) ฉันใด แม้จิตอันเป็นที่เกิดแห่งความสุข ก็ชื่อว่าสุขภูมิ ฉันนั้น จิตนั้นทรงประสงค์เอาในคำว่า สุขภูมิ นี้ ก็เพราะสุขภูมินั้นมีอยู่ในกามาวจรบ้าง ในรูปาวจรเป็นต้นบ้าง ฉะนั้นเพื่อทรงแสดงประเภทแห่งสุขภูมินั้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า กามาวจร ดังนี้.
               บทว่า สุขเวทนํ ฐเปตฺวา (เว้นสุขเวทนา) ได้แก่ เว้นสุขเวทนาในสุขภูมินั้น.
               บทว่า ตํสมฺปยุตฺโต ได้แก่ อันสัมปยุตด้วยสุขเวทนาที่ตั้งอยู่แล้วนั้น. แม้สองบทที่เหลือก็พึงทราบเนื้อความโดยนัยนี้แหละ ในติกะนี้ ย่อมไม่ได้สภาวธรรมนี้ คือ เวทนา ๓ รูปทั้งหมดและนิพพาน เพราะติกะนี้ ชื่อว่าพ้นแล้วจากส่วนทั้ง ๓ เหล่านี้ที่ไม่ได้ในกุศลติกะ ก็คำใดที่ควรจะกล่าวโดยพระบาลีและอรรถกถาในติกะและทุกะอื่นจากนี้ คำทั้งหมดนั้นข้าพเจ้ากล่าวไว้ในมาติกากถาโดยลำดับและนิทเทสแห่งกุศลเป็นต้นนั่นแล.

               ว่าด้วยนิทเทสวิปากติกะที่ ๓               
               ก็คำใดในที่มีความต่างกัน ข้าพเจ้าจักกล่าวคำนั้นนั่นแหละ ในติกทุกะนั้น พึงทราบวินิจฉัยในวิปากติกะก่อน. แม้ว่ารูปธรรมทั้งหลายที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานยังมีอยู่เหมือนอรูปธรรมแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น รูปธรรมเหล่านั้นก็ไม่เหมือนกับกรรม เพราะความที่รูปธรรมเหล่านั้นไม่มีอารมณ์ เพราะฉะนั้น อรูปธรรมที่มีอารมณ์เท่านั้น ตรัสเรียกว่าวิบาก เพราะเป็นเหมือนกับกรรม เหมือนผลคล้ายพืชฉะนั้น.
               จริงอยู่ เมื่อเขาหว่านพืชข้าวสาลีแล้ว แม้ในเวลาที่ออกหนอและใบเป็นต้นแล้ว เขาก็ยังไม่เรียกว่า ผลของข้าวสาลี แต่เมื่อใด รวงข้าวสาลีสุกแล้วน้อมลงแล้ว เมื่อนั้นข้าวสาลีเช่นเดียวกับพืชนั่นแหละ เขาจึงเรียกว่าผลแห่งข้าวสาลี ส่วนหนอและใบเป็นต้น ที่เกิดจากพืช เขาเรียกว่าเป็นสิ่งที่เกิดแต่พืช ฉันใด แม้รูปก็ฉันนั้นเหมือนกัน ควรเพื่อจะเรียกว่าเกิดแต่กรรม (กัมมชะ) หรือเรียกว่าอุปาทินนรูป ดังนี้.

               ว่าด้วยนิทเทสอุปาทินนติกะที่ ๔               
               พึงทราบวินิจฉัยในอุปาทินนติกะต่อไป.
               ขันธ์ทั้งหลายของพระขีณาสพ แม้จะเป็นปัจจัยแก่อุปาทานแก่ชนเหล่าอื่นผู้พูดอยู่ว่า พระเถระผู้เป็นลุงของพวกเรา พระเถระผู้เป็นอาของพวกเรา ดังนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้น มรรคผลและนิพพาน อันตัณหามานทิฏฐิมิได้ยึดไว้ มิได้ถือไว้ มิได้มีความยึดถือไว้เลย ด้วยว่ามรรคผลนิพพานเหล่านั้น ย่อมไม่เป็นปัจจัยแก่การถือเอาด้วยอำนาจตัณหามานทิฏฐิ เพราะอุดมด้วยเดช เหมือนก้อนเหล็กแดงที่ลุกโชนตลอดวันไม่เป็นปัจจัยแก่การเกาะของพวกแมลงวัน ฉะนั้น. ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า อิเม ธมฺมา อนุปาทินฺนอนุปาทานิยา (สภาวธรรมเหล่านั้น อันเจตนากรรมที่สัมปยุตด้วยตัณหามานทิฏฐิไม่ยึดครองและไม่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน) ดังนี้.
               แม้ในอสังกิลิฏฐอสังกิเลสิกธรรมทั้งหลาย ก็นัยนี้แล.

               ว่าด้วยนิทเทสวิตักกะที่ ๖ เป็นต้น               
               ในวิตักกติกะ สภาวธรรมย่อมไม่ได้อยู่ในกุศลติกะกับวิจารที่เกิดพร้อมกับวิตก. ในปีติสหติกะ ธรรมมีปีติเป็นต้นให้ภาวะแห่งธรรมที่เกิดร่วมกับตนเป็นธรรมสหรคตกับปีติเป็นต้นแล้ว ตนเองก็เป็นธรรมหมุนไปข้างหลัง ในติกะนี้ ไม่ได้สภาวธรรมแม้นี้คือ โทมนัสสสหคตจิตตุปบาท ๒ ทุกขสหคตกายวิญญาณ อุเปกขาเวทนา รูปและนิพพาน เพราะติกะนี้ เมื่อไม่ได้กุศลติกะนั่นแหละก็ชื่อว่า พ้นไปจากส่วนทั้ง ๕ แม้นี้.

               ว่าด้วยนิทเทสทัสสนติกะที่ ๘               
               ในทัสสเนน ปหาตัพพติกะ บทว่า สญฺโญชนานิ (สังโยชน์) ได้แก่ เครื่องผูก.
               บทว่า สกฺกายทิฏฺฐิ (สักกายทิฏฐิ) ความว่า เมื่อกายกล่าวคือเบญจขันธ์มีอยู่ ด้วยอรรถว่า ปรากฏอยู่ หรือตนเองมีความเห็นผิดในกายที่มีอยู่นั้น เพราะเหตุนั้น ความเห็นผิดนั้นจึงชื่อว่าสักกายทิฏฐิ. ส่วนความยึดมั่นที่ยึดถือว่า สัตว์อาจเพื่อบริสุทธิ์ด้วยศีล อาจเพื่อบริสุทธิ์ด้วยวัตร อาจเพื่อบริสุทธิ์ด้วยศีลพรตดังนี้ ชื่อสีลัพพตปรามาส.
               แม้คำว่า อิธ เป็นนิบาตใช้ในอรรถอ้างถึงประเทศ อิธศัพท์นี้นั้นในที่บางแห่งตรัสหมายถึงโลก เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า พระตถาคตเจ้าย่อมทรงอุบัติขึ้นในโลกนี้ ดังนี้ ในที่บางแห่งหมายถึงศาสนา เหมือนที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ มีอยู่ในศาสนานี้เท่านั้น ดังนี้
               ในที่บางแห่งหมายถึงโอกาสเหมือนที่ตรัสไว้ว่า
                         อิเธว ติฏฺฐมานสฺส    เทวภูตสฺส เม สโต
                         ปุนรายุ จ เม ลทฺโธ   เอวํ ชานาหิ มาริส
                                        เมื่อเรา (ท้าวสักกะ) ผู้เป็นเทพดำรง
                         อยู่ในโอกาส (ถ้ำอินทสาล) นี้แหละ เราก็ได้มีอายุ
                         ต่อไป ดูก่อนผู้นิรทุกข์ ท่านจงทราบอย่างนี้ ดังนี้.

               ในที่บางแห่ง ตรัสหมายเพียงทำบทให้เต็มเท่านั้น เหมือนที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเสวยแล้ว ดังนี้. แต่ในที่นี้บัณฑิตพึงทราบว่า พระองค์ตรัสหมายถึงโลก.
               ก็ในบทว่า อสฺสุตวา ปุถุชฺชโน (ปุถุชนผู้มิได้รับการศึกษา) นี้มีวินิจฉัยว่า บุคคลผู้อันบัณฑิตควรทราบว่าที่ชื่อว่า ผู้มิได้สดับ เพราะไม่มีการศึกษาและการบรรลุมรรคผล.
               จริงอยู่ บุคคลใดไม่มีการศึกษาเพราะเว้นการศึกษา การสอบถาม การวินิจฉัยธรรม มีขันธ์ ธาตุ อายตนะ ปัจจยการและสติปัฏฐานเป็นต้น ไม่มีมรรคผล เพราะไม่ได้บรรลุมรรคผลที่ตนพึงบรรลุได้ด้วยการปฏิบัติ เป็นผู้ปฏิเสธอยู่ด้วยมิจฉาทิฏฐิ บุคคลนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ผู้ไร้การศึกษา เพราะไม่มีการศึกษาและการบรรลุมรรคผล ด้วยประการฉะนี้
                                   บุคคลนี้เท่านั้น บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นปุถุชน
                         ด้วยเหตุทั้งหลาย มีการยังกิเลสเป็นอันมากให้เกิดขึ้น
                         เป็นต้น อีกอย่างหนึ่ง ชนนี้ ชื่อว่าปุถุ (ผู้หนาแน่น)
                         เพราะความเป็นผู้อยู่ภายในแห่งปุถุชน ดังนี้.
               จริงอยู่ ชนนั้น ชื่อว่าปุถุชน ด้วยเหตุทั้งหลายมีการยังกิเลสเป็นต้นมากมายมีประการต่างๆ ให้เกิดขึ้นก็มี เหมือนอย่างที่กล่าวไว้ว่า ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าย่อมยังกิเลสมากให้เกิด. ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าเป็นพวกที่ยังมิได้ฆ่าสักกายทิฏฐิ. ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าเป็นพวกที่คอยมองดูหน้าศาสดาต่างๆ. ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าเป็นพวกที่ออกไปจากคติทั้งปวงไม่ได้. ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าเป็นพวกสร้างอภิสังขารต่างๆ. ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าเป็นพวกถูกห้วงโอฆะต่างๆ พัดไปอยู่. ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าเป็นพวกเร่าร้อนอยู่ด้วยความเร่าร้อนต่างๆ. ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าเป็นพวกถูกเผาอยู่ด้วยความร้อนต่างๆ. ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าเป็นพวกกำหนัด ยินดี รักใคร่ สยบ หมกมุ่น ติดข้องพัวพันในกามคุณ ๕. ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าเป็นพวกถูกนิวรณ์ ๕ กางกั้นแล้ว หุ้มห่อแล้ว ปกคลุมแล้ว ปิดบังแล้ว ซ่อนเร้นไว้แล้ว ให้ถอยกลับแล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าปุถุชน แม้เพราะความที่พวกชนเป็นอันมาก เป็นผู้อยู่ภายในแห่งชนทั้งหลายเหลือคณนา ล้วนแต่เบือนหน้าหนีธรรมของพระอริยะ และมีการประพฤติธรรมต่ำทรามเสมอ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าชนนี้เป็นพวกถึงการนับแยกไว้ต่างหากบ้าง ชนนี้เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องกับพระอริยะทั้งหลายผู้ประกอบด้วยคุณมีศีลและสุตะเป็นต้นบ้าง.
               ด้วยบททั้งสองว่า อสฺสุตวา ปุถุชฺชโน (ปุถุชนผู้ไร้การศึกษา) ตามที่กล่าวแล้วนี้.
                         ทุเว ปุถุชฺชนา วุตฺตา   พุทฺเธนาทิจฺจพนฺธุนา
                         อนฺโธ ปุถุชฺชโน เอโก  กลฺยาเณโก ปุถุชฺชโน
                         อันพระพุทธเจ้าผู้เผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
                         ตรัสปุถุชนเหล่าใดเป็น ๒ พวกคือ อันธปุถุชน ๑
                         กัลยาณปุถุชน ๑

               ปุถุชน ๒ พวกเหล่านั้น เป็นอันตรัสแล้วด้วยประการฉะนี้ บรรดาปุถุชน ๒ พวกเหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ในที่นี้ตรัสอันธปุถุชน.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า อริยานํ อทฺสสาวี (ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า) ต่อไป.
               พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย พุทธสาวกทั้งหลายเรียกว่าพระอริยเจ้า เพราะไกลจากกิเลส เพราะไม่ดำเนินไปในทางเสื่อม เพราะดำเนินไปในทางเจริญ และเพราะอันโลกพร้อมทั้งเทวโลกพึงบูชา. แต่ในที่นี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น ชื่อว่าพระอริยเจ้า เหมือนอย่างที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคต ฯลฯ บัณฑิตเรียกว่าอริยะ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ดังนี้.
               ส่วนในคำว่า สัตบุรุษ นี้ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย สาวกของพระตถาคตทั้งหลาย พึงทราบว่า ชื่อสัตบุรุษทั้งหลาย. จริงอยู่ พระปัจเจกพุทธะเป็นต้นเหล่านั้น ชื่อว่าสัตบุรุษ เพราะอรรถว่าเป็นบุรุษผู้งามด้วยการประกอบด้วยโลกุตรคุณ.
               อีกอย่างหนึ่ง พระอริยเจ้าทั้งหมดก็ตรัสชื่อไว้ ๒ อย่าง. จริงอยู่ แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ชื่อว่าเป็นพระอริยเจ้าและเป็นสัตบุรุษ พระปัจเจกพุทธะและพระสาวกของพระตถาคตเจ้าชื่อว่าพระอริยเจ้าและสัตบุรุษ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
                                   บุคคลใดแล เป็นคนกตัญญูกตเวที มีปัญญา
                         เป็นกัลยาณมิตร และเป็นผู้ภักดีมั่นคง ย่อมทำกิจ
                         โดยเคารพแก่บุคคลผู้มีทุกข์ บัณฑิตทั้งหลายย่อม
                         เรียกบุคคลเช่นนั้นว่าสัตบุรุษ.
               ก็ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ว่า เป็นกัลยาณมิตร เป็นผู้ภักดีมั่นคง ดังนี้ ตรัสถึงสาวกของพระพุทธเจ้า ด้วยคำว่า เป็นคนกตัญญูเป็นต้น ตรัสถึงพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า ดังนี้.
               บัดนี้ พึงทราบว่า บุคคลใดมีปรกติไม่เห็นพระอริยเจ้าเหล่านั้น และไม่มีสาธุการในการเห็น บุคคลนั้นชื่อว่าไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า. ก็บุคคลผู้ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้านั้นมี ๒ อย่าง คือไม่เห็นด้วยจักขุและไม่เห็นด้วยญาณ ในการไม่เห็นทั้ง ๒ นั้น ในที่นี้ พระองค์ทรงประสงค์เอาผู้ไม่เห็นด้วยญาณ.
               จริงอยู่ พระอริยเจ้าทั้งหลาย แม้บุคคลเห็นด้วยมังสจักษุหรือทิพยจักษุก็ไม่ชื่อว่าเห็นได้เลย เพราะความที่จักษุเหล่านั้นถือเอาเพียงสี (วรรณะ) เป็นอารมณ์ มิใช่คุณธรรมมีความเป็นพระอริยะเป็นอารมณ์ แม้สัตว์ทั้งหลายมีสุนัขบ้านและสุนัขจิ้งจอกเป็นต้นก็ย่อมเห็นพระอริยเจ้าทั้งหลายด้วยจักษุ แต่สัตว์เหล่านั้นไม่ชื่อว่าเห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย ในข้อนั้น มีเรื่องต่อไปนี้ เป็นอุทาหรณ์.

               เรื่องการไม่เห็นพระอริยะ               
               ได้ยินว่า พระอุปัฏฐากของพระขีณาสพเถระผู้อยู่ในวิหารจิตตลบรรพต เป็นพระบวชเมื่อแก่ วันหนึ่ง เมื่อเที่ยวไปบิณฑบาตกับพระเถระรับบาตรจีวรของพระเถระแล้วก็เดินตามหลังไป ถามพระเถระว่า ท่านขอรับ ชื่อว่าพระอริยะทั้งหลายเป็นเช่นไร? พระเถระตอบว่า คนแก่บางคนในโลกนี้รับบาตรจีวรของพระอริยะทั้งหลาย ทำวัตรปฏิบัติแล้ว แม้เที่ยวไปด้วยกันก็ไม่รู้พระอริยะทั้งหลาย ดูก่อนอาวุโส พระอริยะทั้งหลายรู้ได้ยากอย่างนี้ ดังนี้. แม้พระเถระพูดอย่างนี้ พระขรัวตานั้นก็หาเข้าใจไม่.
               เพราะฉะนั้น การเห็นด้วยจักษุไม่ชื่อว่าเห็น การเห็นด้วยญาณเท่านั้นจึงชื่อว่าเห็น เหมือนอย่างที่ตรัสว่า ดูก่อนวักกลิ มีประโยชน์อะไรแก่เธอ ด้วยการเห็นกายอันเปื่อยเน่านี้ ดูก่อนวักกลิ บุคคลใดแลเห็นธรรม บุคคลนั้นชื่อว่าเห็นเรา (ตถาคต) ดังนี้ ฉะนั้น บุคคลแม้เห็นพระอริยะด้วยจักษุ แต่ไม่เห็นอยู่ซึ่งลักษณะมีความไม่เที่ยงเป็นต้น ซึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยญาณ ยังไม่บรรลุธรรมที่พระอริยเจ้าบรรลุแล้ว ก็พึงทราบว่า บุคคลนั้นไม่เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย เพราะไม่เห็นธรรมอันกระทำความเป็นพระอริยะและความเป็นพระอริยะ ดังนี้.
               บทว่า อริยธมฺมสฺส อโกวิโท (ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า) ได้แก่ ความเป็นผู้ไม่ฉลาดในอริยธรรมอันต่างด้วยธรรมมีสติปัฏฐานเป็นต้น.
               ก็ในพระบาลีว่า อริยธมฺเม อวินีโต (ไม่ได้ฝึกฝนในธรรมของพระอริยเจ้า) นี้ มีวินิจฉัยว่า
                                   ชื่อว่าวินัยมี ๒ อย่าง ในวินัย ๒ อย่างนี้
                         แต่ละอย่างแบ่งออกเป็น ๕ บุคคลนี้ ท่านเรียกว่า
                         ผู้ไม่ได้ฝึกฝน เพราะความไม่มีวินัยนั้น ดังนี้.

               ว่าด้วยวินัย ๒ อย่าง               
               จริงอยู่ วินัยมี ๒ อย่าง คือ สังวรวินัย และ ปหานวินัย ก็บรรดาวินัยแม้ทั้ง ๒ นี้ วินัยแต่ละอย่างยังแยกออกเป็น ๕ อย่าง แม้สังวรวินัยก็มี ๕ อย่าง คือ
                         ศีลสังวร (ความสำรวมด้วยศีล) ๑
                         สติสังวร (ความสำรวมด้วยสติ) ๑
                         ญาณสังวร (ความสำรวมด้วยญาณ) ๑
                         ขันติสังวร (ความสำรวมด้วยขันติ) ๑
                         วิริยสังวร (ความสำรวมด้วยความเพียร) ๑.
               แม้ปหานวินัยก็มี ๕ อย่าง คือ
                         ตทังคปหาน (การละด้วยองค์ญาณนั้น) ๑
                         วิกขัมภนปหาน (การละด้วยการข่มไว้) ๑
                         สมุทเฉทปหาน (การละด้วยอริยมรรค) ๑
                         ปฏิปัสสัทธิปหาน (การละด้วยอริยผล) ๑
                         นิสสรณปหาน (การละด้วยนิพพาน) ๑.
               บรรดาสังวร ๕ เหล่านั้น ภิกษุผู้เข้าถึงแล้ว เข้าถึงดีแล้วด้วยสังวรคือปาฏิโมกข์นี้ นี้ชื่อว่าศีลสังวร ภิกษุย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ นี้ชื่อว่าสติสังวร.
                         ยานิ โสตานิ โลกสฺมึ  สติ เตสํ นิวารณํ
                         โสตานํ สํวรํพฺรูมิ      ปญฺญาเยเต ปิถิยฺยเร
                                        พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอชิตะ
                         กระแสเหล่าใดในโลก สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น
                         เราย่อมกล่าวการกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านี้
                         บุคคลย่อมปิดด้วยปัญญา นี้ชื่อว่า ญาณสังวร.

               บุคคลผู้อดทนต่อความหนาวความร้อน นี้ชื่อว่าขันติสังวร บุคคลผู้ยังกามวิตกที่เกิดขึ้นแล้วมิให้ท้วมทับตน นี้ชื่อว่าวิริยสังวร.
               สังวรนี้แม้ทั้งหมด ตรัสเรียกว่าสังวร เพราะการป้องกัน และตรัสเรียกว่าวินัย เพราะการนำออกซึ่งกายทุจริตเป็นต้น อันควรแก่การป้องกัน และควรแก่การนำออกอันสมควรแก่ศีลสังวรเป็นต้นของตน บัณฑิตพึงทราบว่า สังวรวินัยย่อมจำแนกออก ๕ อย่าง ด้วยประการฉะนี้ก่อน.
               อนึ่ง บรรดาวิปัสสนาญาณทั้งหลายมีนามรูปปริจเฉทญาณเป็นต้น การละธรรมอันหาประโยชน์มิได้นั้นด้วยวิปัสสนาญาณนั้นๆ เพราะเป็นปฏิปักษ์กันดุจละเสียซึ่งความมืดด้วยแสงสว่างแห่งดวงประทีปฉะนั้น อย่างไร? คือ
               การละสักกายทิฏฐิด้วยกำหนดแยกนามรูป (นามรูปปริจเฉทญาณ) ละทิฏฐิที่เห็นว่านามรูปไม่มีเหตุ และมีเหตุไม่เสมอกันด้วยการกำหนดรู้ปัจจัย (ปัจจยปริคคหญาณ) ละความสงสัยด้วยกังขาวิตรณญาณในกาลอื่นอีกของปัจจยปริคคหญาณนั้นนั่นแหละ ละความยึดถือว่า เรา ของเรา ด้วยกลาปสัมมสนญาณ ละความสำคัญในสิ่งที่ไม่ใช่ทาง ว่าเป็นทาง ด้วยการกำหนดทางและไม่ใช่ทาง ละอุจเฉททิฏฐิด้วยเห็นความเกิด ละสัสสตทิฏฐิด้วยเห็นความเสื่อม ละความเห็นในสิ่งที่มีภัยว่าไม่มีภัยด้วยความเห็นว่ามีภัย ละความสำคัญในสิ่งที่ชอบใจด้วยการเห็นอาทีนพ ละความสำคัญอันชอบใจยิ่งด้วยนิพพิทานุปัสสนา ละความเป็นผู้ไม่ปรารถนาจะหลุดพ้นด้วยมุญจิตุกัมยตาญาณ ละความไม่วางเฉยในสังขารด้วยอุเบกขาญาณ ละธรรมฐิติ (ปฏิจจสมุปบาท) ด้วยอนุโลมญาณ ละความเป็นปฏิโลมด้วยนิพพาน ละความยึดถือนิมิตคือสังขารด้วยโคตรภูญาณ อันใด นี้ชื่อว่าตทังคปหาน (การละด้วยองค์ของวิปัสสนาญาณนั้นๆ).
               การละธรรมมีนิวรณ์เป็นต้นนั้นๆ โดยห้ามความเป็นไปแห่งธรรมมีนิวรณ์เป็นต้นนั้นด้วยสมาธิอุปจาระและอัปปนา ดุจการละสาหร่ายบนหลังน้ำ มิให้สืบต่อ อันใดนี้ชื่อว่าวิกขัมภนปหาน.
               การละหมู่กิเลสอันเป็นฝ่ายสมุทัยโดยมิให้เป็นไปโดยสิ้นเชิงดังที่ตรัสไว้ โดยนัยมีอาทิว่า เพื่ออันละเสียซึ่งทิฏฐิทั้งหลายในสันดานของตนโดยมีมรรคนั้นๆ เพราะความที่อริยมรรค ๔ อันตนอบรมแล้ว อันใด นี้ชื่อว่าสมุจเฉทปหาน.
               ก็ความที่กิเลสทั้งหลายสงบระงับในขณะแห่งผล อันใด นี้ชื่อว่าปฏิปัสสัทธิปหาน.
               พระนิพพานมีสังขตธรรมทั้งปวงอันละได้แล้ว เพราะเป็นธรรมสลัดสังขตธรรมทั้งปวงออกไป อันใด นี้ชื่อว่านิสสรณปหาน.
               ก็เพราะการละแม้ทั้งหมดนี้ ชื่อว่าปหานะ ด้วยอรรถว่าสละ. ชื่อว่าวินัย ด้วยอรรถว่ากำจัด เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกว่าปหานวินัย. อีกอย่างหนึ่ง ปหานะนี้เรียกว่าปหานวินัย เพราะความเกิดขึ้นแห่งการละด้วยตทังคปหานเป็นต้นนั้นๆ บ้าง เพราะความเกิดขึ้นแห่งการกำจัดนั้นๆ บ้าง. บัณฑิตพึงทราบว่า แม้ปหานวินัยก็ย่อมจำแนกได้ ๕ อย่างด้วยประการฉะนี้.
               วินัยนี้โดยย่อมี ๒ ประเภท โดยการจำแนกมี ๑๐ ประเภท เพราะย่อมไม่มีแก่ปุถุชนผู้ไร้การศึกษานี้ เพราะมีสังวรอันทำลายแล้ว และเพราะละธรรมที่ควรละยังไม่ได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า ผู้มิได้ฝึกฝนนี้ เพราะความไม่มีวินัยนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               แม้ในคำว่า บุคคลผู้ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ผู้ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ผู้ไม่ได้ฝึกฝนในธรรมของสัตบุรุษ นี้ก็นัยนั้นเหมือนกัน เพราะว่า โดยอรรถ คำว่า สัตบุรุษกับพระอริยเจ้านี้ ไม่มีเหตุที่แตกต่างกัน เหมือนที่กล่าวว่า บุคคลเหล่าใดเป็นพระอริยเจ้า บุคคลเหล่านั้นนั่นแหละ ชื่อว่าสัตบุรุษ บุคคลเหล่าใดเป็นสัตบุรุษ บุคคลเหล่านั้นนั่นแหละ ชื่อว่าพระอริยเจ้า ธรรมใดเป็นของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ธรรมนั้นๆ นั่นแหละ ชื่อว่าเป็นของสัตบุรุษ ธรรมใดเป็นของสัตบุรุษ ธรรมนั้นๆ นั่นแหละ ชื่อว่าเป็นธรรมของพระอริยเจ้า วินัยของพระอริยะก็คือวินัยของสัตบุรุษ วินัยของสัตบุรุษก็คือวินัยของพระอริยะ. คำว่า อริยะ หรือคำว่า สัตบุรุษ ก็ได้แก่ อริยธรรมหรือสัปปุริสธรรม คำว่า อริยวินัยหรือสัปปุริสวินัยนี้นั้นเป็นอันเดียวกัน ตั้งอยู่ในที่เดียวกัน เสมอกัน มีส่วนเสมอกัน หรือมีความเป็นอันเดียวกันนั่นแหละ.
               คำว่า รูปํ อตฺตโต สมนุปสฺสติ (ย่อมเห็นรูปเป็นตน) ความว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมเห็นรูปเป็นตน ย่อมเห็นรูปและตนไม่ใช่เป็นภาวะ ๒ อย่าง คือเห็นว่า รูปอันใดเราก็อันนั้น เราอันใดรูปก็อันนั้น เปรียบเหมือนเมื่อประทีปน้ำมันลุกขึ้นไหม้อยู่ บุคคลย่อมเห็นเปลวไฟและสีไฟนั้นไม่ใช่เป็น ๒ อย่างว่าเปลวไฟอันใดสีก็อันนั้น สีไฟอันใดเปลวก็อันนั้นดังนี้ ชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมเห็นรูปเป็นตนฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลย่อมเห็นรูปเป็นตนด้วยการเห็นอันเป็นทิฏฐิอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               คำว่า รูปวนฺตํ วา อตฺตานํ (หรือเห็นตนมีรูป) ความว่า บุคคลถือว่า อรูป (นาม) เป็นตน จึงเห็นตนนั้นมีรูป เหมือนเห็นต้นไม้มีเงาฉะนั้น.
               คำว่า อตฺตนิ วา รูปํ (เห็นรูปในตน) ความว่า บุคคลถืออรูป (นาม) นั่นแหละว่าเป็นตน ย่อมเห็นรูปในตน เหมือนกลิ่นมีในดอกไม้ฉะนั้น.
               คำว่า รูปสฺมึ วา อตฺตานํ (เห็นตนในรูป) ความว่า บุคคลถืออรูปนั่นแหละเป็นตน ย่อมเห็นตนในรูป เหมือนเห็นแก้วมณีในขวดฉะนั้น.
               แม้ในขันธ์มีเวทนาเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ในบรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ย่อมเห็นรูปเป็นตน พระองค์ตรัสว่า สุทธรูป คือรูปล้วนๆ เท่านั้นว่าเป็นตน. ตรัสว่า อรูปเป็นตนไว้ในฐานะทั้ง ๗ เหล่านี้ รูปวนฺตํ วา อตฺตานํ อตฺตนิ วา รูปํ รูปสฺมึ วา อตฺตานํ เวทนํ อตฺตโต ฯ เป ฯ สญฺญํ สงฺขาเร วิญฺญาณํ อตฺตโต สมนุปสฺสติ คือ หรือเห็นตนมีรูป ๑ หรือเห็นรูปในตน ๑ หรือเห็นตนในรูป ๑ เห็นเวทนาเป็นตน ๑ ฯลฯ เห็นสัญญาเป็นตน ๑ เห็นสังขารเป็นตน ๑ เห็นวิญญาณเป็นตน ๑. ตรัสว่า ตนระคนด้วยรูปและอรูปในฐานะ ๑๒ ด้วยอำนาจแห่งขันธ์ละ ๓ อย่าง ในขันธ์ ๔ อย่างนี้ว่า หรือเห็นตนมีเวทนา ๑ หรือเห็นเวทนาในตน ๑ หรือเห็นตนในเวทนา ๑.
               บรรดาทิฏฐิเหล่านั้น ตรัสอุจเฉททิฏฐิในฐานะทั้ง ๕ คือ ย่อมเห็นรูปเป็นตน ๑ ย่อมเห็นเวทนาเป็นตน ๑ ย่อมเห็นสัญญาเป็นตน ๑ ย่อมเห็นสังขารเป็นตน ๑ ย่อมเห็นวิญญาณเป็นตน ๑. ในฐานะที่เหลือตรัสสัสสตทิฏฐิ ในที่นี้จึงเป็นภวทิฏฐิ ๑๕ วิภวทิฏฐิ ๕ ด้วยประการฉะนี้ พึงทราบทิฏฐิเหล่านั้น แม้ทั้งหมดห้ามมรรคแต่ไม่ห้ามสวรรค์ อันมรรคที่หนึ่งพึงประหาณดังนี้.

               ว่าด้วยความสงสัย               
               บรรดาบทเหล่านั้น คำว่า สตฺถริ กงฺขติ (เคลือบแคลงสงสัยในพระศาสดา) ความว่า ปุถุชนย่อมเคลือบแคลงในพระสรีระหรือในคุณของพระศาสดาหรือทั้ง ๒ อย่าง. เมื่อเคลือบแคลงในพระสรีระย่อมเคลือบแคลงว่า พระสรีระชื่อว่าประดับด้วยลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ มีอยู่หรือไม่หนอ ดังนี้. เมื่อเคลือบแคลงในพระคุณย่อมเคลือบแคลงว่า พระสัพพัญญุตญาณอันสามารถรู้อดีต อนาคตและปัจจุบัน มีอยู่หรือไม่หนอ ดังนี้. เมื่อเคลือบแคลงในสิ่งทั้ง ๒ นั้น ย่อมเคลือบแคลงว่า ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยความสำเร็จแห่งพระสรีระ อันรุ่งเรืองด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ หรือพระรัศมีซ่านไปวาหนึ่ง ทรงแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณสามารถรู้ไญยธรรมทั้งปวงดำรงอยู่ ทรงเป็นผู้นำของโลก มีอยู่หรือไม่หนอ ดังนี้.
               จริงอยู่ ปุถุชนนี้เมื่อยังเคลือบแคลงในพระอัตภาพ หรือในพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธะนั้น ชื่อว่าเคลือบแคลงในสิ่งทั้งสองนี้.
               บทว่า วิจิกิจฺฉติ (สงสัย) ความว่า ปุถุชนเมื่อไม่สามารถตัดสินอารมณ์ได้ ย่อมยาก ย่อมลำบาก ย่อมไม่น้อมใจเชื่อ ในอธิการนี้เท่านั้น ย่อมไม่ได้อธิโมกข์ (การน้อมใจเชื่อ).
               บทว่า น สํปสีทติ (ย่อมไม่ผ่องใส) ได้แก่ ไม่สามารถจะทำจิตที่ขุ่นมัวให้เลื่อมใส คือย่อมไม่เลื่อมใสในคุณทั้งหลาย.
               ส่วนในข้อว่า ธมฺเม กงฺขติ (เคลือบแคลงในพระธรรม) เป็นต้น ก็เมื่อเคลือบแคลงอยู่ว่า ชื่อว่า อริยมรรค ๔ ที่ละกิเลส สามัญผล ๔ สงบระงับจากกิเลสทั้งหลาย อมตมหานิพพานเป็นอารัมมณปัจจัยแก่มรรคและผล มีอยู่หรือไม่หนอ ดังนี้บ้าง เมื่อเคลือบแคลงว่า ธรรมนี้เป็นนิยยานิกธรรม เป็นธรรมนำออก หรือเป็นอนิยยานิกธรรม เป็นธรรมไม่นำออกหรือหนอ ดังนี้ ชื่อว่าเคลือบแคลงในพระธรรม. เมื่อเคลือบแคลงว่า สังฆรัตนะนี้คือบุคคลผู้ตั้งอยู่ในมรรค ๔ ผู้ตั้งอยู่ในผล ๔ ว่ามีอยู่หรือไม่หนอ ดังนี้ก็ดี เมื่อเคลือบแคลงว่า พระสงฆ์นี้เป็นผู้ปฏิบัติดีหรือปฏิบัติชั่วหนอ ดังนี้ก็ดี เมื่อเคลือบแคลงว่า วิบากผลแห่งทานที่ถวายในสังฆรัตนะนี้ มีอยู่หรือไม่หนอ ดังนี้ก็ดี ชื่อว่าเคลือบแคลงในพระสงฆ์. เมื่อเคลือบแคลงว่า ก็สิกขา ๓ มีอยู่หรือไม่หนอ ดังนี้ก็ดี เมื่อเคลือบแคลงว่า สิกขา ๓ มีอานิสงส์ เพราะการศึกษาเป็นเหตุหรือไม่หนอ ดังนี้ก็ดี ชื่อว่าเคลือบแคลงในสิกขา.
               ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ที่ล่วงไปแล้ว เรียกว่าปุพพันตะ (ส่วนอดีต) ที่ยังไม่มาถึงเรียกว่าอปรันตะ (ส่วนอนาคต). ในบรรดาส่วนทั้ง ๒ นั้น เมื่อเคลือบแคลงว่า ขันธ์ในส่วนอดีตในธรรมทั้งหลาย มีขันธ์ที่เป็นส่วนอดีตเป็นต้น มีอยู่หรือไม่มี? ชื่อว่าเคลือบแคลงในขันธ์เป็นต้นในส่วนอดีต. เมื่อเคลือบแคลงว่า ขันธ์เป็นต้นที่เป็นส่วนแห่งอนาคตในอนาคต มีอยู่หรือไม่หนอ ชื่อว่าเคลือบแคลงในขันธ์เป็นต้นในส่วนอนาคต. เมื่อเคลือบแคลงในส่วนทั้ง ๒ ชื่อว่าเคลือบแคลงในปุพพันตะและอปรันตะ (ส่วนอดีตและอนาคต). เมื่อเคลือบแคลงว่าวัฏฏปัจจยาการ ๑๒ บท มีอยู่หรือไม่หนอ ชื่อว่าเคลือบแคลงในพระธรรม อันเป็นอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปปันนะ ในธรรมที่เป็นอิทัปปัจจยตาเป็นต้นนั้น พึงทราบวจนัตถะต่อไปนี้
               ปัจจัยทั้งหลายของชราและมรณะเป็นต้นเหล่านี้ ชื่อว่าอิทัปปัจจยา ความเป็นแห่งอิทัปปัจจยาทั้งหลาย ชื่อว่าอิทัปปัจจยตา.
               อีกอย่างหนึ่ง อิทัปปัจจยานั่นเองชื่อว่าอิทัปปัจจยตา คำว่า อิทัปปัจจยตา นี้เป็นชื่อของธรรมมีชาติเป็นต้น. ธรรมทั้งหลายที่อิงอาศัยธรรมนั้นๆ ในบรรดาธรรมทั้งหลายมีชาติเป็นต้น เกิดขึ้นพร้อมแล้ว ชื่อว่าปฏิจจสมุปปันธรรม ข้อนี้มีอธิบายว่า ย่อมเคลือบแคลงในอิทัปปัจจยตาและในปฏิจจสมุปปันธรรม.
               บทว่า สีเลน ได้แก่ โคศีลเป็นต้น (ประพฤติเหมือนโค).
               บทว่า วเตน (ด้วยพรต) ได้แก่ ด้วยโคพรตเป็นต้น.
               บทว่า สีลพฺพเตน (ด้วยศีลพรต) ได้แก่ ด้วยบททั้ง ๒ นั้น.
               บทว่า สุทฺธิ ได้แก่ บริสุทธิ์จากกิเลส อีกอย่างหนึ่ง พระนิพพานเท่านั้น เป็นความบริสุทธิ์อย่างยอดเยี่ยม.
               ก็ในบทว่า ตเทกฏฺฐา (ตั้งอยู่ในที่เดียวกัน) นี้ ได้แก่ เป็นธุระ ตั้งอยู่ในที่เดียวกันแห่งการประหาณ. ก็ในพระบาลีนี้ ตรัสกิเลส ๒ อย่างเท่านั้น คือทิฏฐิกิเลสและวิจิกิจฉากิเลส ส่วนกิเลส ๘ ที่ไม่ตรัสไว้ในที่นี้ คือโลภะ โทสะ โมหะ มานะ ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะเหล่านี้ บัณฑิตก็พึงนำมาแสดง. ด้วยว่า บรรดากิเลส ๘ เหล่านี้ เมื่อทิฏฐิและวิจิกิจฉาถูกประหาณอยู่ กิเลสเหล่านี้แม้ทั้งหมด คือโลภะ โทสะ โมหะ มานะ ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะที่นำไปสู่อบาย เป็นกิเลสตั้งอยู่ในฐานเดียวกันแห่งการประหาณ ย่อมถูกประหาณ ส่วนกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันโดยเกิดพร้อมกัน ก็ควรนำมาแสดง เพราะจิต ๕ อย่างเหล่านี้ คือจิตที่สหรคตด้วยทิฏฐิ ๔ และจิตที่สหรคตด้วยวิจิกิจฉา ๑ ย่อมถูกประหาณด้วยโสดาปัตติมรรค.
               บรรดาจิตที่สหรคตด้วยกิเลสทั้ง ๕ เหล่านั้น เมื่อจิตที่สหรคตด้วยทิฏฐิเป็นอสังขาริก ๒ ถูกประหาณอยู่ กิเลสเหล่านี้คือโลภะ โทสะ โมหะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะที่เกิดพร้อมกับอสังขาริกทิฏฐิจิต ๒ เหล่านั้นก็ย่อมถูกประหาณด้วยอำนาจแห่งกิเลสที่ตั้งอยู่ฐานเดียวกันโดยการเกิดพร้อมกัน. ทิฏฐิกิเลสที่เหลือและวิจิกิจฉากิเลส ก็ย่อมถูกประหาณไปด้วยอำนาจกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวแห่งการประหาณ.
               เมื่อแม้จิตที่เป็นสสังขาริกสัมปยุตด้วยทิฏฐิทั้งหลายอันบุคคลประหาณอยู่ กิเลสเหล่านี้คือโลภะ โทสะ โมหะ ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะซึ่งเกิดพร้อมกันกับจิตที่เป็นสสังขาริกสัมปยุตด้วยทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมถูกประหาณด้วยอำนาจแห่งกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันโดยการเกิดพร้อมกัน. ทิฏฐิกิเลสที่เหลือ และวิจิกิจฉากิเลสก็ย่อมถูกประหาณไปด้วยอำนาจแห่งกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันในการประหาณ บุคคลย่อมได้กิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันโดยความเกิดพร้อมกันในกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันด้วยการประหาณ เพราะฉะนั้น ท่านจึงนำกิเลสที่ตั้งอยู่ฐานเดียวกันโดยการเกิดพร้อมกันนี้มาแสดงไว้ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ตํสมฺปยุตฺโต (อันสัมปยุตด้วยสังโยชน์ ๓ นั้น) ได้แก่ สัมปยุตด้วยกิเลส ๘ ซึ่งตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับสังโยชน์ ๓ นั้นเหล่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง พึงทำการแยกแสดงความเป็นขันธ์สัมปยุตแต่ละขันธ์อย่างนี้ คือ สัมปยุตด้วยโลภะนั้น และสัมปยุตด้วยโทสะนั้น. บรรดากิเลสเหล่านั้น เมื่อถือโลภะ หมู่กิเลสซึ่งเป็นสังขารขันธ์นี้ คือโมหะ มานะ ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ ก็ชื่อว่าสัมปยุตด้วยโลภะ เมื่อถือเอาโทสะ หมู่กิเลสซึ่งเป็นสังขารขันธ์นี้ คือโมหะ ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ ก็ชื่อว่าสัมปยุตด้วยโทสะ เมื่อถือเอาโมหะ หมู่กิเลสซึ่งเป็นสังขารขันธ์นี้ คือโลภะ โทสะ มานะ ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ ก็ชื่อว่าสัมปยุตด้วยโมหะ เมื่อท่านถือเอามานะ หมู่กิเลสซึ่งเป็นสังขารขันธ์นี้ คือโลภะ โทสะ โมหะ ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ ซึ่งเกิดพร้อมกับมานะนั้น ก็ชื่อว่าสัมปยุตด้วยมานะ.
               โดยอุบายนี้ บัณฑิตพึงทำการประกอบว่า ขันธ์สัมปยุตด้วยถีนะนั้น สัมปยุตด้วยอุทธัจจะนั้น สัมปยุตด้วยอหิริกะ สัมปยุตด้วยอโนตตัปปะนั้นดังนี้.
               บทว่า ตํสมุฏฺฐานํ ได้แก่ ตั้งขึ้นด้วยโลภะนั้น ฯลฯ ตั้งขึ้นด้วยอโนตตัปปะ.
               ในบทว่า อิเม ธมฺมา ทสฺสเนน ปหาตพฺพา (สภาวธรรมเหล่านี้ อันโสดาปัตติมรรคพึงประหาณ) นี้อธิบายว่า โสดาปัตติมรรค ชื่อว่าทัสสนะ. อธิบายว่า ธรรมทั้งหลายอันโสดาปัตติมรรคนั้นพึงละ.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร โสดาปัตติมรรคจึงชื่อว่าทัสสนะ.
               ตอบว่า เพราะเห็นพระนิพพานก่อน.
               ถามว่า โคตรภู เห็นพระนิพพานก่อนกว่ามิใช่หรือ.
               ตอบว่า ไม่เห็นก็ไม่ใช่ แต่เห็นแล้วมิได้ทำกิจที่ควรทำ เพราะมิได้ประหาณสังโยชน์ทั้งหลาย ฉะนั้นจึงไม่ควรจะกล่าวว่า โคตรภูญาณย่อมเห็นดังนี้. ในข้อนี้ มีชาวชนบทเป็นตัวอย่าง๑- ก็ชาวชนบทนั้นแม้เห็นพระราชา ในที่ใดที่หนึ่งแล้ว ถึงกระนั้นก็กล่าวอยู่ว่า ข้าพเจ้ายังมิได้เฝ้าพระราชา เพราะยังมิได้ทำหน้าที่ถวายเครื่องบรรณาการให้สำเร็จ ดังนี้.
               บทว่า อวเสโส โลโภ (โลภะที่เหลือ) ได้แก่ โลภะที่เหลือจากโสดาปัตติมรรคประหาณแล้ว. แม้ในโทสะและโมหะเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน. เพราะว่าโสดาปัตติมรรคประหาณกิเลสที่นำไปสู่อบายเท่านั้น เพื่อทรงแสดงกิเลสอื่นจากกิเลสที่นำไปสู่อบายเหล่านั้น จึงตรัสคำนี้ว่า ตเทกฏฺฐา (กิเลสที่ตั้งอยู่ในที่เดียวกันกับโลภะ โทสะ โมหะนั้น). จริงอยู่ กิเลส ๕ อย่างเหล่านั้นตั้งอยู่ในฐานเดียวกันโดยสัมปโยคะบ้าง โดยการประหาณบ้างจากกิเลสทั้ง ๓ นั้นที่มาในพระบาลี.
               บทว่า เนวทสฺสเนน น ภาวนาย๒- (ธรรมอันโสดาปัตติมรรคและมรรคเบื้องสูง ๓ ไม่พึงประหาณ) นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาภาวธรรมอันมรรคเหล่านั้นพึงประหาณ ดุจการประหาณสังโยชน์เป็นต้น. ส่วนการประหาณธรรมมีกุศลเป็นต้น ที่ท่านอนุญาตไว้โดยนัยมีอาทิว่า ธรรมเหล่าใด คือนามและรูปพึงเกิดขึ้นในสังสารวัฏอันมีเบื้องต้นและที่สุดอันไปตามอยู่รู้ไม่ได้แล้ว เว้น ๗ ภพ เพราะโสดาปัตติมรรคญาณดับอภิสังขารวิญญาณ ธรรมคือนามและรูปเหล่านั้น ย่อมดับในภพนี้ ดังนี้ อันใด พึงทราบว่า การประหาณนั้น ท่านกล่าวหมายเอาปริยายนี้ว่า ธรรมเหล่าใดพึงเกิดขึ้นเพราะความที่มรรคเหล่านั้นยังมิได้เกิด ธรรมเหล่านั้นชื่อว่าละได้แล้ว เพราะการประหาณกิเลสทั้งหลายอันเป็นที่อาศัยอย่างแรงกล้าเป็นปัจจัย (อุปนิสฺสยปจฺจยานํ) ดังนี้.
____________________________
๑- อรรถกถาว่า ยตฺถ กตฺถจิ ราชานํ ทิสฺวาปิ ปณฺณาการํ ทตฺวา กิจฺจนิปฺผตฺติยา อนิฏฺ ฐตฺตาปิ ราชานํ น ปสฺสามีติ วทนฺโต ในโยชนาบอกสัมพันธ์การแปลว่า บทว่า ทิสวาปิ เป็นบุพพกาลกิริยาของ วทนฺโต บทว่า ทตฺวา วีเสสนะของ กิจฺจนิปฺผตฺติยา และมีศัพท์หลังเป็น สัมภาวนัตถะ.
๒- ธรรมที่ไม่พึงประหาณ คือ กุศลจิต ๒๑ วิบากจิต ๓๖ กิริยาจิต ๒๐ เจตสิก ๓๘ รูปทั้งหมดและนิพพาน.

               ว่าด้วยนิทเทสทัสสนเหตุติกะที่ ๙               
               ในทัสสเนนปหาตัพพเหตุกติกะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้จบลงด้วยพระดำรัสว่า ธรรมเหล่านี้ สภาวธรรมเหล่านี้มีเหตุพึงประหาณโดยโสดาปัตติมรรคมีอยู่ ดังนี้ เพื่อทรงแสดงธรรมที่ควรประหาณดีแล้วแสดงเหตุธรรมและสเหตุกธรรม โดยความเป็นฐานอันเดียวกันกับสังโยชน์เหล่านั้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า ตีณิ สญฺโญชนานิ (สังโยชน์ ๓) ดังนี้อีก.
               บรรดาเหตุธรรมและสเหตุกธรรมเหล่านั้น ในเหตุธรรมอันโสดาปัตติมรรคพึงประหาณ มีโมหะสหรคตด้วยโลภะก็เป็นธรรมมีโลภะเป็นเหตุประกอบ โมหะสหรคตด้วยโทสะเป็นธรรมมีโทสะเป็นเหตุประกอบ อนึ่ง โลภะและโทสะก็เป็นเหตุประกอบกับโมหะ เพราะฉะนั้น โมหะที่สหรคตด้วยโลภะเป็นต้นเหล่านั้น ย่อมถึงการสงเคราะห์ลงในเหตุธรรมและสเหตุกธรรมอันจะพึงละแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น โมหะที่สหรคตด้วยวิจิกิจฉา ชื่อว่าเป็นเหตุธรรมอย่างเดียว ไม่มีเหตุประกอบ เพราะไม่มีเหตุที่สัมปยุตแห่งกันและกัน เพราะฉะนั้น เพื่อแสดงการประหาณโมหะที่ไม่มีเหตุประกอบนั้น จึงตรัสคำว่า อิเม ธมฺมา ทสฺสเนปหาตพฺเหตุ สภาวธรรมเหล่านี้ มีเหตุพึงประหาณโดยโสดาปัตติมรรค ดังนี้.
               ในทุติยบท พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์จะแสดงการประหาณโมหะที่สหรคตด้วยอุทธัจจะ จึงตรัสคำว่า อิเม ธมฺมา ภาวนาย ปหาตพฺพเหตุ (สภาวธรรมเหล่านี้มีเหตุพึงประหาณด้วยภาวนาคือมรรคเบื้องบน ๓ มีอยู่) ดังนี้. ด้วยว่า โมหะอันสหรคตด้วยอุทธัจจะนั้น กระทำสัมปยุตตธรรมกับตน ให้เป็นสเหตุกะและหมุนไปข้างหลัง จะจัดเป็นปหาตัพพเหตุกบทก็ไม่ได้ เพราะไม่มีสัมปยุตตเหตุแห่งกันและกัน เหมือนโมหะที่สหรคตด้วยวิจิกิจฉา ฉะนั้น.
               ในตติยบท บทว่า อวเสสา กุสลากุสลา (กุศลและอกุศลที่เหลือ) ความว่า การถืออกุศลอีกทรงกระทำไว้เพื่ออันรวมโมหะทั้งหลายอันสหรคตด้วยวิจิกิจฉาและอุทธัจจะ เพราะโมหะเหล่านั้นไม่ชื่อว่า มีเหตุที่จะพึงละ เพราะไม่มีสัมปยุตตเหตุ.

               ว่าด้วยนิทเทสปริตตารัมมณติกะที่ ๑๓               
               พึงทราบวินิจฉัยในปริตตารัมมณติกะ ต่อไป.
               บทว่า อารพฺภ (ปรารภ) ได้แก่ กระทำให้เป็นอารมณ์.
               จริงอยู่ ตัวเองจะเป็นปริตตธรรม หรือเป็นมหัคคตธรรมก็ตาม ธรรมใดทำปริตตธรรมให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น ธรรมนั้นชื่อว่าปริตตารมณ์ (มีอารมณ์เป็นปริตตะ) ธรรมใดทำมหัคคตะทั้งหลายให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น ธรรมนั้นชื่อว่ามหัคคตารมณ์ (มีอารมณ์เป็นมหัคคตะ) ธรรมเหล่าใดทำอัปปมาณธรรมทั้งหลายให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น ธรรมนั้นชื่อว่าอัปปมาณารมณ์ (มีอารมณ์เป็นอัปปมาณะ). อธิบายว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นปริตตะบ้าง เป็นมหัคคตะบ้าง เป็นอัปปมาณะบ้าง.

               ว่าด้วยนิทเทสมิจฉัตตติกะที่ ๑๕               
               พึงทราบวินิจฉัยในมิจฉัตตติกะ ต่อไป.
               บทว่า อานนฺตริกานิ (อนันตริยกรรม) นี้ เป็นชื่อของการทำมาตุฆาตเป็นต้นเป็นธรรมให้ผลโดยไม่มีอะไรขัดขวางทีเดียว ด้วยว่าในบรรดาอนันตริยกรรมเหล่านั้น เมื่อบุคคลทำกรรมแม้อย่างหนึ่ง กรรมอื่นจะห้ามอนันตริยกรรมนั้นแล้วก็ไม่สามารถเพื่อทำโอกาสให้วิบากของตน. เพราะว่าเมื่อสร้างพระสถูปทองแม้เท่าเขาสิเนรุ หรือสร้างวิหารมีปราการสำเร็จด้วยแก้ว เท่าเขาจักรวาล แล้วถวายปัจจัย ๔ แก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ผู้นั่งเต็มวิหารนั้นตลอดชีวิตก็ดี กุศลกรรมนั้นก็ไม่อาจเพื่อจะห้ามวิบากของอนันตริยกรรมเหล่านั้นได้.
               บทว่า ยา จ มิจฺฉาทิฏฺฐิ นิยตา (และนิยตมิจฉาทิฏฐิ) ได้แก่ บรรดาอเหตุกวาทะ อกิริยวาทะ นัตถิกวาทะทั้งหลาย มิจฉาทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยว่าพระพุทธเจ้าร้อยองค์ก็ดี พันองค์ก็ดี ก็ไม่สามารถเพื่อยังบุคคลผู้ถือมิจฉาทิฏฐิดำรงอยู่นั้นให้ตรัสรู้ได้.

               ว่าด้วยนิทเทสมัคคารัมมณติกะที่ ๑๖               
               พึงทราบวินิจฉัยในมัคคารัมมณติกะ ต่อไป.
               บทว่า อริยมคฺคํ อารพฺภ (ปรารภอริยมรรค) ได้แก่ กระทำโลกุตรมรรคให้เป็นอารมณ์ ก็ธรรมมีมรรคเป็นอารมณ์เหล่านั้น เป็นปริตตะบ้าง เป็นมหัคคตะบ้าง.
               ในนิทเทสมัคคเหตุกธรรม (ทุติยบท) พึงทราบว่า ความที่ขันธ์ทั้งหลายสัมปยุตด้วยมรรคเป็นสเหตุกะทรงแสดงไว้ด้วยเหตุ มีปัจจัยเป็นอรรถโดยนัยแรก พึงทราบความที่มัคคังคะที่เหลือเป็นสเหตุกะ ทรงแสดงด้วยเหตุ กล่าวคือสัมมาทิฏฐิเป็นมรรคโดยนัยที่ ๒. โดยนัยแห่งตติยบท ทรงแสดงความที่สัมมาทิฏฐิเป็นสเหตุกะ ด้วยบทว่า มคฺเคน อุปฺปนฺนเหตุ ด้วยเหตุอันเกิดขึ้นด้วยมรรค ดังนี้.
               บทว่า อธิปตึ กริตฺวา (กระทำมรรคให้เป็นอธิบดี) ได้แก่ กระทำให้เป็นอารัมมณาธิบดี ธรรมที่มีอารมณ์เหล่านั้นแล เป็นปริตตธรรม. เพราะว่า ในเวลาพระอริยสาวกทั้งหลายกระทำมรรคของตนให้หนักแล้วพิจารณา ย่อมได้กระทำให้เป็นอารัมมณาธิบดี แต่พระอริยสาวกเมื่อพิจารณามรรคของผู้อื่นด้วยเจโตปริยญาณแม้กระทำให้หนักก็กระทำให้หนักเหมือนมรรคอันตนแทงตลอดแล้วไม่ได้.
               ถามว่า พระอริยสาวกเห็นพระตถาคตทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์อยู่ ย่อมกระทำมรรคของพระตถาคตให้หนักหรือไม่.
               ตอบว่า ย่อมกระทำ แต่กระทำให้หนักเหมือนมรรคของตนไม่ได้. ในถ้อยคำของอรรถกถาแม้นี้ว่า พระอรหันต์ไม่ทำธรรมอะไรๆ ให้หนัก เว้นแต่มรรคผลและนิพพานดังนี้ เป็นการอธิบายความนี้ทีเดียว.
               บทว่า วิมํสาธิปเตยฺเยน (เจริญมรรคมีวิมังสาเป็นอธิบดี) นี้ ตรัสเพื่อแสดงสหชาตาธิปติ. เพราะว่า เมื่อบุคคลเจริญมรรคทำฉันทะให้เป็นใหญ่ ฉันทะก็ชื่อว่าอธิบดี มิใช่มรรคเป็นอธิบดี แม้ธรรมที่เหลือก็ชื่อว่ามีฉันทะเป็นอธิบดี มิใช่มีมรรคเป็นอธิบดี. แม้ในจิตตะก็นัยนี้แหละ แต่เมื่อบุคคลเจริญมรรคกระทำวิมังสาให้เป็นใหญ่อยู่ วิมังสาธิบดีนั่นแหละย่อมเกิด มรรคก็เกิด เพราะฉะนั้น แม้ธรรมที่เหลือก็ย่อมชื่อว่ามีมรรคเป็นอธิบดี. แม้ในวิริยะก็นัยนี้เหมือนกัน.

               ว่าด้วยนิทเทสอุปปันนติกะที่ ๑๗               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งอุปปันนติกะ ต่อไป.
               บทว่า ชาตา (เกิดแล้ว) ได้แก่ บังเกิดแล้ว คือมีภาวะของตนอันได้เฉพาะแล้ว. บทว่า ภูตา (เป็นแล้ว) เป็นต้นเป็นไวพจน์ของคำว่า เกิดแล้วเป็นต้นเหล่านั้นนั่นแหละ. จริงอยู่ การเกิดนั่นแหละ ชื่อว่าเป็นแล้ว เพราะความเกิดขึ้นแห่งภาวะของตน ชื่อว่าสัญชาต (เกิดพร้อมแล้ว) เพราะเกิดขึ้นด้วยการประกอบพร้อมแห่งปัจจัยทั้งหลาย ชื่อว่านิพพัตตา (บังเกิดแล้ว) เพราะถึงลักษณะแห่งการเกิดขึ้น ส่วนคำที่ตรัสว่า อภินิพฺพตฺตา (บังเกิดเฉพาะแล้ว) ท่านเพิ่มบทด้วยอุปสรรค. ที่ชื่อว่า ปาตุภูตา (ปรากฏแล้ว) เพราะเป็นสภาวะปรากฏแล้วมีแล้ว. ที่ชื่อว่า อุปปันนา (เกิดขึ้นแล้ว) เพราะพ้นไปจากอดีต คำว่า สมุปฺปนฺนา (เกิดขึ้นพร้อมแล้ว) ท่านเพิ่มบทด้วยอุปสรรค. ที่ชื่อว่า อุฏฺฐิตา (ตั้งขึ้นแล้ว) เพราะตั้งเบื้องบนด้วยความหมายว่าเกิดขึ้นแล้ว. ที่ชื่อว่า สมุฏฐิตา (ตั้งขึ้นพร้อมแล้ว) เพราะตั้งขึ้นแล้วด้วยการประกอบแห่งปัจจัย พึงทราบเหตุกระทำถ้อยคำว่า อุปฺปนฺนา อีกโดยนัยที่กล่าวในหนหลังนั่นแหละ.
               บทว่า อุปฺปนฺนํเสน สงฺคหิตา (สงเคราะห์ด้วยส่วนที่เกิดขึ้นแล้ว) ได้แก่ ถึงการนับโดยส่วนที่เกิดขึ้น. คำว่า รูปเวทนาสัญญาสังขารและวิญญาณ นี้เป็นคำแสดงสภาวะของธรรมเหล่านั้น.
               ในนิทเทสแห่งบทที่ ๒ พึงทราบโดยนัยปฏิเสธธรรมที่กล่าวแล้ว
               นิทเทสแห่งบทที่ ๓ มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.
               ก็ติกะนี้พระองค์ทรงแสดงเต็มอัทธา (กาล) ทั้ง ๒. จริงอยู่ วิบากแห่งกรรมที่มีโอกาสอันได้แล้วมี ๒ อย่าง คือ วิบากที่ถึงขณะแล้ว และที่ยังไม่ถึงแล้ว. บรรดาวิบากกรรม ๒ เหล่านั้น วิบากที่ถึงขณะ (ทั้ง ๓) แล้วชื่อว่าอุปปันนะ (เกิดขึ้นแล้ว). วิบากที่ยังไม่ถึงขณะ (ทั้ง ๓) จะเกิดขึ้นในลำดับแห่งจิต หรือในกาลก้าวล่วงไปอีกแสนกัปจะชื่อว่าไม่มี ย่อมไม่เป็นได้ ด้วยอรรถว่าเป็นสภาวะปัจจัยที่แน่นอน จึงชื่อว่าธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้น.
               เหมือนอย่างในพระบาลีนี้ว่า ดูก่อนโปฏฐปาทะ อัตตาที่ไม่มีรูปนี้สำเร็จด้วยสัญญาตั้งอยู่ ทีนั้น เพราะละสัญญานั้นแล้ว สัญญาอื่นทีเดียวย่อมเกิดแก่บุรุษนี้ สัญญาอื่นนั้นแหละก็ย่อมดับไป ดังนี้.
               มูลภวังคสัญญา (สัญญาสัมปยุตด้วยมูลภวังค์) ย่อมดับไป ในกาลเป็นไปแห่งสัญญาในกามาวจร ในอรูปภูมิแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ในกาลแห่งสัญญาฝ่ายกามาวจรดับแล้ว สัญญาสัมปยุตด้วยมูลภวังค์นั้น จักเกิดขึ้นแน่นอน เพราะฉะนั้น อัตตากล่าวคืออรูปจึงไม่ถึงการนับว่าย่อมไม่มี เกิดแล้วว่า ชื่อว่ายังดำรงอยู่ทีเดียว ข้อนี้ ฉันใด วิบากแห่งกรรมมีโอกาสอันได้แล้วก็ฉันนั้นเหมือนกัน มี ๒ อย่าง ฯลฯ ชื่อว่า ย่อมไม่มี ย่อมไม่เป็นไปด้วยอรรถว่าเป็นสภาวะแห่งปัจจัยที่แน่นอน จึงชื่อว่าธรรมทั้งหลายที่จะต้องเกิดแน่นอน.
               ก็ผิว่า กุศลกรรมและอกุศลกรรมที่สัตว์ทำไว้แล้ว พึงให้วิบากทั้งหมดไซร้ โอกาสแห่งกรรมอื่นก็ไม่พึงมี. แต่กรรมนั้นมี ๒ อย่าง คือ ให้วิบากแน่นอนและให้วิบากไม่แน่นอน.
               บรรดากรรมที่ให้วิบากแน่นอนและไม่แน่นอนเหล่านั้น อนันตริยกรรม ๕ สมาบัติ ๘ อริยมรรค ๔ ชื่อว่ากรรมมีวิบากที่แน่นอน ก็กรรมที่ให้วิบากที่แน่นอนนั้นถึงขณะ (ทั้ง ๓) แล้วก็มี ที่ยังไม่ถึงขณะก็มี. ในกรรมทั้ง ๒ นั้น กรรมที่ถึงขณะ (ทั้ง ๓) แล้วชื่อว่า อุปฺปนฺนํ (เกิดขึ้นแล้ว) ที่ยังไม่ถึงขณะ ชื่อว่า อนุปฺปนฺนํ (ยังไม่เกิดขึ้น) วิบากของกรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นนั้น จงเกิดขึ้นในลำดับแห่งจิต หรือในก้าวล่วงไปอีกแสนกัปก็ตาม ชื่อว่าไม่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่มี เพราะอรรถว่าเป็นภาวะแห่งปัจจัยที่แน่นอน ธรรมเหล่านี้แหละชื่อว่าจะเกิดขึ้น เหมือนอย่างมรรคของพระเมตไตรยโพธิสัตว์ ชื่อว่าอนุปปันนะ (ยังไม่เกิดขึ้น) และผลจึงชื่อว่า ธรรมทั้งหลายจะเกิดแน่นอน.

               ว่าด้วยนิทเทสอตีตติกะที่ ๑๘               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งอตีตติกะ ต่อไป.
               บทว่า อตีตา (ล่วงไปแล้ว) ได้แก่ ก้าวล่วงไป ๓ ขณะ (อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ).
               บทว่า นิรุทฺธา (ดับแล้ว) ได้แก่ ถึงความดับแล้ว.
               บทว่า วิคตา (ปราศไปแล้ว) ได้แก่ ถึงความพินาศไปแล้ว หรือถึงจากไปแล้ว.
               บทว่า วิปริณตา (แปรไปแล้ว) ได้แก่ ถึงการแปรปรวนโดยละปกติไป.
               ที่ชื่อว่าอัสดงคตแล้ว เพราะอรรถว่าถึงแล้วซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้ กล่าวคือความดับ.
               บทว่า อพฺภตฺถงฺคตา (ถึงความดับสูญแล้ว) ท่านเพิ่มบทด้วยอุปสรรค.
               บทว่า อุปฺปชฺชิตฺวา วิคตา (เกิดขึ้นแล้วปราศไป) ได้แก่ เกิดขึ้นแล้วก็จากไป เหตุโดยการตรัสอดีตอีกข้าพเจ้ากล่าวไว้ในหนหลังแล้วทั้งนั้น. แม้ในธรรมมีอนาคตเป็นต้นข้างหน้าก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า อตีตํเสน สงฺคหิตา (สงเคราะห์โดยส่วนที่ล่วงไปแล้ว) ได้แก่ ถึงการนับโดยส่วนธรรมที่เป็นอดีต. ก็ธรรมที่ล่วงแล้วเหล่านั้นเป็นไฉน? ธรรมที่ล่วงแล้วเหล่านั้นคือรูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ. แม้ในธรรมที่เป็นอนาคตเป็นต้นข้างหน้า ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ในนิทเทสอตีตารัมมณติกะ (ที่ ๑๙) ในบททั้งหลายมีอาทิว่า อตีเต ธมฺเม อารพฺภ (ปรารภอดีตธรรม) ดังนี้ บัณฑิตพึงทราบเฉพาะปริตตธรรมและมหัคคตธรรมเท่านั้น เพราะว่า ธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่านั้นปรารภธรรมเป็นอดีตเป็นต้นเกิดขึ้น.

               ว่าด้วยนิทเทสอัชฌัตตติกะที่ ๒๐               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสอัชฌัตตติกะ ต่อไป.
               ด้วยบททั้งสองว่า เตสํ เตสํ (เหล่านั้นๆ) ได้แก่ ทรงกำหนดเอาสัตว์ทั้งหมด.
               บททั้งสองว่า อชฺฌตฺตํ ปจฺจตฺตํ (เป็นภายในเป็นเฉพาะตน) เป็นชื่อของธรรมที่เป็นภายในเกิดในตน.
               บทว่า นิยตา ได้แก่ เกิดแก่ตน.
               บทว่า ปาฏิปุคฺคลิกา ได้แก่ เป็นของเฉพาะแต่ละบุคคล.
               บทว่า อุปาทินฺนา (เป็นอุปาทินนะ) ได้แก่ เป็นของตั้งอยู่ในสรีระ.
               จริงอยู่ ธรรมเหล่านั้นเกิดด้วยกรรมหรือไม่ก็ตาม แต่ในอัชฌัตตติกนิทเทสนี้ ตรัสว่าอุปาทินนะ ด้วยอำนาจตัณหายึดถือไว้และทิฏฐิลูบคลำแล้ว.
               บทว่า ปรสตฺตานํ (ของสัตว์อื่น) ได้แก่ สัตว์ที่เหลือเว้นตนเอง.
               คำว่า ปรปุคฺคลานํ (บุคคลอื่น) เป็นไวพจน์ของคำว่า ปรสตฺตานํ นั่นเอง.
               คำที่เหลือเช่นกับคำที่กล่าวในหนหลังนั่นแหละ.
               บทว่า ตทุภยํ ตัดบทเป็น ตํ อุภยํ แปลว่า ธรรมทั้ง ๒ นั้น.
               ในปฐมบทแห่งอัชฌัตตารัมมณติกะ (ที่ ๒๑) พึงทราบว่า ได้แก่ ธรรมที่เป็นปริตตะและมหัคคตะ.
               ทุติเย อปฺปมาณาปิ.
               ในทุติยบท พึงทราบว่า ได้แก่ ธรรมทั้งหลาย (ปริตตธรรมและมหัคคตธรรม) แม้อัปปมาณธรรม.
               ในตติยบท พึงทราบว่า ได้แก่ ปริตตธรรมและมหัคคตธรรมเท่านั้น. แต่ว่าอัปปมาณธรรม (ในทุติยบท) ไม่กระทำอารมณ์ในภายนอกและในภายในตามกาล (นิพพานเป็นกาลวิมุตติ).
               นิทเทสแห่งสนิทัสสนติกะ (ที่ ๒๒) มีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ นิกเขปกัณฑ์ ติกะ จบ.
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 634อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 663อ่านอรรถกถา 34 / 689อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=5746&Z=6041
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=10016
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=10016
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :