ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 663อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 689อ่านอรรถกถา 34 / 708อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
นิกเขปกัณฑ์ เหตุโคจฉกะ

               อรรถกถานิกเขปกัณฑ์               
               ว่าด้วยเหตุโคจฉกะ               
               ว่าด้วยนิทเทสแห่งอโทสะ               
               พึงทราบวินิจฉัยนิทเทสแห่งอโทสะในเหตุโคจฉกทุกะ ต่อไป.
               ธรรมที่ชื่อว่าไมตรี ด้วยอำนาจแห่งกิริยาที่สนิทสนม. อาการแห่งไมตรี ชื่อว่ากิริยาที่สนิทสนม. ความเป็นมิตรที่พรั่งพร้อมด้วยเมตตาอันไมตรีให้เป็นไป ชื่อว่า เมตฺตายิตตฺตํ คือความสนิทสนม.
               ที่ชื่อว่า อนุทฺทา คือการเอ็นดู เพราะอรรถว่า ย่อมเอื้อเฟื้อ คือย่อมคุ้มครอง. อาการที่เอ็นดู ชื่อว่า อนุทฺทยนา คือกิริยาที่เอ็นดู. ความเป็นแห่งกิริยาที่เอ็นดู ชื่อว่า อนุทฺทายิตตฺตํ คือความเอ็นดู.
               การแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ชื่อว่า หิเตสิตา คือ ความแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล.
               ชื่อว่า อนุกมฺปา คือ ความสงสารด้วยอำนาจการอนุเคราะห์.
               พระองค์ตรัสถึงเมตตาที่บรรลุอุปจารสมาธิและอัปปนา ด้วยบทเหล่านี้แม้ทั้งหมด ตรัสถึงอโทสะเป็นโลกิยะและโลกุตระด้วยบทที่เหลือ.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสอโมหะ ต่อไป.
               บทว่า ทุกฺเข ญาณํ (ความรู้ในทุกข์) ได้แก่ ปัญญาในทุกขสัจจะ.
               แม้ในบทมีอาทิว่า ทุกฺขสมุทเย ญาณํ เป็นต้นก็นัยนี้.
               ก็บรรดาความรู้ในทุกข์เป็นต้นนั้น ความรู้ในทุกข์ (ทุกเข ญาณํ) ย่อมเป็นไปใน การฟัง การเข้าใจ การแทงตลอดและการพิจารณา ความรู้ทุกขสมุทัยก็เป็นไปอย่างนั้น. แต่ความรู้ในนิโรธ ย่อมเป็นไปในการฟัง การแทงตลอดและการพิจารณานั่นแหละ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาก็เหมือนกัน.
               บทว่า ปุพฺพนฺเต (ในส่วนอดีต) ได้แก่ ในส่วนที่ล่วงไปแล้ว.
               บทว่า อปรนฺเต (ในส่วนอนาคต) ได้แก่ ในส่วนที่ยังไม่มาถึง.
               บทว่า ปุพฺพนฺตาปรนฺเต ได้แก่ ในส่วนทั้ง ๒ นั้น.
               คำว่า อิทปฺปจฺจยตา ปฏิจฺจสมุปฺปนฺเนสุ ญาณํ (ความรู้ในอิทัปปัจจยตาธรรมและปฏิจจสมุปบาทธรรม) ได้แก่ ความรู้เนื้อความในปัจจัยทั้งหลายและในธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยอย่างนี้ว่า นี้เป็นปัจจัย ธรรมนี้เกิดขึ้นเพราะอาศัยธรรมนี้ ดังนี้.

               ว่าด้วยนิทเทสแห่งโลภะ               
               เนื้อความแห่งบททั้งหลายที่ยังมิได้กล่าวไว้ในหนหลังแม้ในโลภนิทเทส พึงทราบดังต่อไปนี้.
               สภาวะที่ชื่อว่าราคะ (ความกำหนัด) ด้วยสามารถความยินดี. ที่ชื่อว่าสาราคะ (ความกำหนัดนัก) ด้วยอรรถว่าความยินดีมีกำลัง. ที่ชื่อว่า อนุนโย (ความคล้อยตามอารมณ์) เพราะยังสัตว์ทั้งหลายให้คล้อยไปในอารมณ์ทั้งหลาย. ที่ชื่อว่า อนุโรโธ (ความยินดี) เพราะอรรถว่าย่อมพอใจ. อธิบายว่า ย่อมยังสัตว์ให้ใคร่. ที่ชื่อว่า นนฺที (ความเพลิดเพลิน) เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้สัตว์เพลิดเพลินในภพใดภพหนึ่ง หรือตัวเองย่อมเพลิดเพลิน. ความเพลิดเพลินนั้นด้วย ความกำหนัดด้วยอรรถว่าความยินดีนั้นด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นนฺทีราโค (ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน) ในนันทีราคะนั้น ตัณหาเกิดขึ้นครั้งเดียวในอารมณ์หนึ่ง ชื่อว่า นันที (ความเพลิดเพลิน) เมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ จึงตรัสเรียกว่า นันทีราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน).
               บทว่า จิตฺตสฺส สาราโค (ความกำหนัดหนักแห่งจิต) ได้แก่ ความกำหนัดใดที่ตรัสไว้ว่า สาราโค (ความกำหนัดหนัก) ด้วยอรรถว่าความยินดีมีกำลังในหนหลัง ความกำหนดหนักนั้นเป็นความกำหนัดหนักของจิตเท่านั้น มิใช่ของสัตว์.
               สภาวะที่ชื่อว่า อิจฺฉา (ความอยาก) เพราะอรรถว่าเป็นเหตุอยากอารมณ์. ที่ชื่อว่า มุจฺฉา (สยบ) เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้สัตว์สยบเพราะความที่กิเลสมีกำลัง. ที่ชื่อว่า อชฺโฌสานํ (ความหมกมุ่น) ด้วยอำนาจการถือเอาโดยการกลืนให้สิ้นไป. ที่ชื่อว่า เคโธ (ความใคร่) เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้สัตว์มักมากด้วยราคะนี้ คือให้ถึงความตะกละตะกลาม.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า เคโธ (ความใคร่) ด้วยอรรถว่าหนาแน่น. จริงอยู่ อรรถว่าหนาแน่นนี้แหละ เหมือนที่ตรัสว่า ความใคร่เป็นดังไพรสณฑ์ทึบ (หนาแน่น) ดังนี้.
               บทต่อไปคือ ปลิเคโธ (ความรักใคร่) ท่านเพิ่มด้วยอำนาจอุปสรรค.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ปลิเคโธ (ความรักใคร่) เพราะอรรถว่าเป็นความละโมบโดยส่วนทั้งปวง. ที่ชื่อว่า สงฺโค (ความข้อง) เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้สัตว์ติดอยู่.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า สงฺโค ด้วยอรรถว่าติดอยู่. ที่ชื่อว่า ปงฺโก (ความจมอยู่) ด้วยอรรถว่าจมลง. ที่ชื่อว่า เอชา (ธรรมชาติผู้คร่ามา) ด้วยอำนาจแห่งการคร่ามา.
               จริงอยู่ คำนี้ตรัสไว้ว่า ธรรมชาติผู้คร่ามา ย่อมชักลากบุรุษไปเพื่อเกิดขึ้นเฉพาะในภพนั้นๆ โดยแท้. ที่ชื่อว่า มายา (ธรรมชาติหลอกลวง) ด้วยอรรถว่าล่อสัตว์ไว้. ที่ชื่อว่า ชนิกา (ธรรมชาติผู้ยังสัตว์ให้เกิด) ด้วยอรรถว่ายังสัตว์ให้เกิดในวัฏฏะ. จริงอยู่ คำนี้ตรัสไว้ว่า ตัณหาย่อมยังสัตว์ให้เกิด จิตของสัตว์นั้นย่อมพล่านไป. ที่ชื่อว่า สญฺชนนี (ธรรมชาติผู้ยังสัตว์ให้เกิดพร้อม) เพราะอรรถว่ายังสัตว์ให้เกิดผูกมัดไว้ด้วยความทุกข์ในวัฏฏะ. ที่ชื่อว่า สิพฺพินี (ธรรมชาติอันร้อยรัด) เพราะอรรถว่าย่อมร้อยรัดสัตว์ไว้ด้วยการสืบต่อ.
               จริงอยู่ ตัณหานี้ย่อมร้อยรัดสัตว์ไว้ในวัฏฏะ ให้สืบต่อด้วยอำนาจจุติปฏิสนธิ เหมือนช่างชุน ชุนผ้าท่อนเก่ากับผ้าท่อนเก่า เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า ตัณหานี้ย่อมร้อยรัดสัตว์ไว้ ด้วยอรรถว่ากระทำให้สืบต่อ. ที่ชื่อว่า ชาลินี (ธรรมชาติมีข่าย) เพราะอรรถว่าข่ายคืออารมณ์มีประการมากมาย หรือว่าข่ายคือการเข้าไปดิ้นรนของตัณหานั้นมีประการต่างๆ.
               ที่ชื่อว่า สริตา (ธรรมชาติอันกำเริบใจ) เพราะอรรถว่าเหมือนแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว ด้วยอรรถว่าคร่ามา. อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่า สริตา ด้วยอรรถว่าชุ่มใจ เหมือนที่ตรัสไว้ว่า โสมนัสเป็นธรรมชาติชุ่มใจ เป็นความเสนหาย่อมมีแก่สัตว์ผู้เกิด. ก็ในบาลีนั้นอธิบายว่า ตัณหานี้เป็นความชุ่มชื่นและความสนิทสนมกัน. ที่ชื่อว่า วิสตฺติกา (ธรรมชาติอันซ่านไป) เพราะอรรถว่าหลั่งไหลไป.
               อีกอย่างหนึ่ง ตัณหาชื่อว่า วิสตฺติกา เพราะอรรถว่าซึมซาบไป. ชื่อว่า วิสตฺติกา เพราะอรรถว่ากว้างขวาง. ชื่อว่า วิสตฺติกา เพราะอรรถว่าย่อมกระสับกระส่าย. ชื่อว่า วิสตฺติกา เพราะอรรถว่าหลอกลวง. ชื่อว่า วิสตฺติกา เพราะอรรถว่าย่อมบั่นทอนโดยประการต่างๆ. ชื่อว่า วิสตฺติกา เพราะอรรถว่ามีรากเป็นพิษ. ชื่อว่า วิสตฺติกา เพราะอรรถว่ามีผลเป็นพิษ คือว่าความเกิดขึ้นแห่งทุกข์เป็นผลมาแต่ตัณหานั้น เหตุนั้น ตัณหานั้นท่านจึงเรียกว่า มีรากเป็นพิษ. ชื่อว่า วิสตฺติกา เพราะอรรถว่ามีการบริโภคเป็นพิษ ก็หรือชื่อว่า วิสตฺติกา เพราะอรรถว่าตัณหานั้นซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ คือแพร่หลาย ขยายไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในธรรม ในตระกูล ในคณะ.
               ที่ชื่อว่า สุตฺตํ (ธรรมชาติเหมือนเส้นด้าย) เพราะอรรถว่า ดุจเส้นด้ายที่ผูกเต่าไว้ ด้วยอรรถว่าให้ถึงความเสื่อมและความพินาศ. สมดังพระดำรัสที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติเหมือนเส้นด้ายนี้แล เป็นชื่อของนันทิราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน).
               ที่ชื่อว่า วิสฏา (ธรรมชาติอันแผ่ไป) ด้วยอรรถว่าแผ่ขยายไปในอารมณ์แม้มีรูปเป็นต้น. ที่ชื่อว่า อายูหนี (ธรรมชาติผู้ประมวลมา) เพราะอรรถว่ายังสัตว์ให้ขวนขวายเพื่อการได้วัตถุนั้นๆ. ที่ชื่อว่า ทุติยา (ธรรมชาติเป็นเพื่อนสอง) ด้วยอรรถว่าเป็นสหายเพราะการไม่ให้เพื่ออันเงยหน้า.
               จริงอยู่ ตัณหานี้ย่อมไม่ให้สัตว์ทั้งหลายเงยหน้าในวัฏฏะ คือย่อมให้อภิรมย์ เหมือนสหายรักในที่ๆ ตนไปแล้ว ฉะนั้น ด้วยเหตุนั้นจึงตรัสว่า๑-
                         ตณฺหาทุติโย ปุริโส   ทีฆมทฺธาน สํสรํ
                         อิตฺถภาวญฺญถาภาวํ  สํสารํ นาติวตฺตตํ
                                        บุรุษ (สัตว์) มีตัณหาเป็นเพื่อนสอง
                         ท่องเที่ยวไปอยู่สิ้นกาลนาน ย่อมไม่ก้าวล่วง
                         สงสาร อันมีความเป็นอย่างนี้ (คือเป็นมนุษย์)
                         และความเป็นอย่างอื่น (คือเป็นเทวดาเป็นต้น).
____________________________
๑- อํ. อตุกฺก เล่ม ๒๑/ข้อ ๙/หน้า ๑๒.

               ที่ชื่อว่า ปณิธิ ด้วยสามารถแห่งการตั้งความปรารถนา. ที่ชื่อว่า ภวเนตฺติ (ธรรมชาตินำไปสู่ภพ) เพราะอรรถว่า ย่อมนำไปสู่ภพ. จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายถูกตัณหานี้นำไปสู่ที่ที่ตนปรารถนาแล้วๆ เหมือนโคทั้งหลายที่ถูกเชือกผูกคอไว้ ฉะนั้น.
               ที่ชื่อว่า วนํ (ตัณหาเหมือนป่า) เพราะอรรถว่าย่อมประชุม คือย่อมคบ ย่อมยึดซึ่งอารมณ์นั้นๆ. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วนํ เพราะอรรถว่าย่อมอ้อนวอน. บทว่า วนโถ (ตัณหาเหมือนดง) ทรงเพิ่มบทโดยพยัญชนะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วนํ (ตัณหาเหมือนป่า) เพราะอรรถว่าดุจป่า ด้วยอรรถว่ายังทุกข์อันเป็นความเสื่อมเสียให้ตั้งขึ้น และด้วยอรรถว่ารกชัฏ. คำว่า ป่า นี้เป็นชื่อของตัณหาที่มีกำลังแรง. ส่วนตัณหาที่มีกำลังแรงกว่านั้น ชื่อว่า วนโถ ด้วยอรรถว่าเป็นดงชัฏ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า๒-
                         วนํ ฉินฺทถ มา รุกฺขํ   วนโต ชายเต ภยํ
                         เฉตฺวา วนํ วนถญฺจ   นิพฺพนา โหถ ภิกฺขโว
                                        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตัดป่า
                         (คือกิเลสมีราคะเป็นต้น) อย่าตัดต้นไม้ ภัย (มีความเกิด
                         เป็นต้น) ย่อมเกิดแต่ป่าคือกิเลส เธอทั้งหลายครั้นตัดป่า
                         (คือกิเลสอันเกิดขึ้นก่อน) และหมู่ไม้ในป่า (คือกิเลสที่
                         เกิดภายหลัง) แล้ว จักเป็นผู้ไม่มีป่า คือตัณหา.
____________________________
๒- ธมฺมปท. มคฺควคฺค เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๐/หน้า ๕๒.

               ตัณหานั้น ชื่อว่า สนฺถโว (ความเกี่ยวข้อง) ด้วยอรรถว่าสนิทสนม. อธิบายว่า คลุกคลีแล้ว. สันถวะคือความเกี่ยวข้องนั้นมี ๒ อย่าง คือ
                         ตณฺหาสนฺถโว ความสนิทสนมด้วยอำนาจตัณหา
                         มิตฺตสนฺถโว ความสนิทสนมด้วยอำนาจมิตร.
               ในบรรดาสันถวะทั้ง ๒ นั้น ในที่นี้ ทรงประสงค์เอาตัณหาสันถวะ คือความเกี่ยวข้องหรือสนิทสนมด้วยอำนาจตัณหา.
               ที่ชื่อว่า สิเนโห (ความเยื่อใย) ด้วยอำนาจความเสนหา.
               ที่ชื่อว่า อเปกฺขา (ความห่วงใย) เพราะอรรถว่าย่อมเพ่งด้วยอำนาจการทำความอาลัย ข้อนี้สมด้วยพระบาลีที่ตรัสไว้ใน (มหาสุทัสสนสูตร) ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระนครแปดหมื่นสี่พัน มีเมืองกุสาวดีราชธานีเป็นประมุขเหล่านี้เป็นของพระองค์ ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์จงยังความพอพระทัยให้เกิดในพระนครเหล่านี้เถิด จงมีความห่วงใยในพระชนม์ชีพเถิด ดังนี้.
               จริงอยู่ ในพระบาลีนี้ ท่านอธิบายว่า จงทำความอาลัย ดังนี้.
               ตัณหาที่ชื่อว่า ปฏิพนฺธุ (ความผูกพัน) เพราะอรรถว่าย่อมผูกไว้เฉพาะแต่ละอารมณ์. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ปฏิพนฺธุ (ความผูกพัน) เพราะอรรถว่าเฉพาะแต่อารมณ์ที่ผูกพันด้วยความหมายว่าเป็นญาติ. จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่าพันธุ คือพวกพ้องเสมอด้วยตัณหา ย่อมไม่มีแก่สัตว์ทั้งหลาย ด้วยอรรถว่าอาศัยอยู่เป็นนิตย์.
               ตัณหาที่ชื่อว่า อาสา (การหวัง) เพราะการหวังอารมณ์ทั้งหลาย. อธิบายว่า เพราะครอบงำและเพราะการบริโภคไม่รู้จักอิ่ม. ที่ชื่อว่า อาสึสนา (กิริยาที่หวัง) ด้วยอำนาจแห่งความหวัง. ภาวะแห่งความหวัง ชื่อว่า อาสึสิตตฺตํ (ความหวัง).
               บัดนี้ เพื่อทรงแสดงฐานะแห่งการเป็นไปของตัณหานั้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า รูปาสา (ความหวังรูป) ดังนี้. ในพระบาลีมีอาทิว่า ความหวังในรูปเป็นต้นนั้น พึงทราบบทแม้ ๙#- อย่างนี้ว่า ความหวังในรูป ชื่อว่า รูปาสา โดยถือเอาอรรถแห่งความหวังว่า ชื่อว่า อาสา (ความหวัง) ด้วยอำนาจความปรารถนา. ก็ในบรรดาบททั้ง ๙ นี้ ๕ บทข้างต้นตรัสด้วยอำนาจเบญจกามคุณ. บทที่ ๖ ตรัสด้วยอำนาจความโลภในบริขาร บทที่ ๖ นั้นเป็นของพวกบรรพชิตโดยพิเศษ ๓ บทต่อจากนั้นเป็นของพวกคฤหัสถ์ด้วยอำนาจแห่งวัตถุเป็นอารมณ์ไม่รู้จักอิ่ม เพราะวัตถุอันเป็นที่รักยิ่งกว่าทรัพย์ บุตร ชีวิต ของพวกคฤหัสถ์เหล่านั้นมิได้มี.
____________________________
#- บททั้ง ๙ คือ ความหวังในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ลาภ ทรัพย์ บุตร ชีวิต.

               ตัณหาที่ชื่อว่า ชปฺปา (ธรรมชาติผู้กระซิบ) เพราะอรรถว่า ยังสัตว์ให้พูดอุบอิบอย่างนี้ว่า นี่ของฉัน นี่ของฉัน หรือว่า สิ่งนี้บุคคลโน้นให้แก่เรา สิ่งนี้บุคคลโน้นให้แก่เรา ดังนี้. สองบทต่อจากนั้นคือ ปชปฺปา อภิชปฺปา (ธรรมชาติผู้กระซิบทั่ว ธรรมชาติผู้กระซิบยิ่ง) ทรงเพิ่มอุปสรรคเข้ามา.
               ต่อจากนั้นไป ทรงตรัสคำว่า ชปฺปา (การกระซิบ) อีก เพราะทรงปรารภ เพื่อจะจำแนกโดยอาการอื่น. คืออาการกระซิบชื่อว่า ชปฺปายนา (กิริยาที่กระซิบ ภาวะแห่งการกระซิบ ชื่อว่า ชปฺปิตตฺตํ (ความกระซิบ)
               ที่ชื่อว่า โลลุโป (การละโมบ) เพราะอรรถว่าย่อมปล้น คือกระชากมาในอารมณ์บ่อยๆ ภาวะแห่งการละโมบ ชื่อว่า โลลุปฺปํ (กิริยาที่ละโมบ) อาการแห่งกิริยาที่ละโมบ
               ชื่อว่า โลลุปฺปายนา (ความละโมบ) ภาวะแห่งบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยความละโมบ ชื่อว่า โลลุปฺปายิตตฺตํ.
               บทว่า ปุญฺจิกตา (ธรรมชาติเป็นเหตุซมซาน) ความว่า สัตว์ทั้งหลายเที่ยวหัวเราะระริกไป เหมือนพวกสุนัขสั่นหางอยู่ในที่เป็นที่ตั้งแห่งความอยากด้วยตัณหาใด นั้นเป็นชื่อแห่งตัณหาอันให้เกิดหัวเราะระริกไปนั้น.
               บทว่า สาธุกมฺยตา (ความใคร่ในอารมณ์ที่ดี) ความว่า อยากได้อารมณ์ที่ชอบใจที่ชื่นใจอันดี เรียกว่าความใคร่ในอารมณ์ที่ดี ภาวะแห่งความใคร่ในอารมณ์ที่ดีนั้น ชื่อว่า สาธุกมฺยตา (ความใคร่ในอารมณ์ที่ดี).
               ตัณหาที่ชื่อว่า อธมฺมราโค (ความกำหนัดในฐานะอันไม่ควร) เพราะอรรถว่ามีความกำหนัดในฐานะอันไม่ควรมีมารดาและน้าเป็นต้น. ความโลภที่เกิดขึ้นมีกำลังแรง แม้ในฐานะที่ควร ชื่อว่า วิสมโลโภ (ความโลภเกินขนาด).
               อีกอย่างหนึ่ง ฉันทราคะคือ (ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ) เกิดขึ้นในฐานะที่ควรหรือในฐานะที่ไม่ควร โดยพระบาลีที่ตรัสไว้ว่า ราโควิสมํ (ความกำหนัดไม่สม่ำเสมอ) เป็นต้น พึงทราบว่า ชื่อว่า อธมฺมราโค (ความกำหนัดในฐานะอันไม่ควร) ด้วยอรรถว่าไม่เป็นธรรม และชื่อว่า วิสมโลโภ (ความโลภเกินขนาด) ด้วยอรรถว่าปราศจากความสม่ำเสมอ ดังนี้.
               ตัณหาที่ชื่อว่า นิกนฺติ (ความติดใจ) ด้วยอำนาจแห่งความใคร่ในอารมณ์ทั้งหลาย. อาการแห่งความใคร่ในอารมณ์ทั้งหลาย ชื่อว่า นิกามนา (กิริยาที่ติดใจ). ที่ชื่อว่า ปฏฺฐนา (ความปรารถนา) ด้วยอำนาจแห่งความตั้งใจ. ที่ชื่อว่า ปิหนา (ความกระหยิ่มใจ) ด้วยอำนาจความริษยา. ความปรารถนาด้วยดี ชื่อว่า สมฺปฏฺฐนา (ความปรารถนาหนัก).
               ตัณหาในกามคุณ ๕ ชื่อว่ากามตัณหา ตัณหาในรูปภพและอรูปภพ ชื่อว่าภวตัณหา ตัณหาในวิภวะกล่าวคือ ความขาดสูญ ชื่อว่าวิภวตัณหา ตัณหาในรูปภพล้วนอย่างเดียว ชื่อว่ารูปตัณหา ตัณหาในอรูปภพ ชื่อว่าอรูปภวตัณหา. ความยินดีสหรคตด้วยอุจเฉททิฏฐิ ชื่อว่าทิฏฐิราคะ ตัณหาในนิโรธ ชื่อว่านิโรธตัณหา ตัณหาในรูป ชื่อว่ารูปตัณหา ตัณหาในเสียง ชื่อว่าสัททตัณหา ตัณหาในกลิ่น ชื่อว่าคันธตัณหา. แม้ในรสเป็นต้นก็นัยนี้แหละ. คำว่า โอฆะเป็นต้นมีเนื้อความตามที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               ที่ชื่อว่า อาวรณํ (อาวรณ์) เพราะย่อมกั้นกุศลธรรมทั้งหลาย ที่ชื่อว่า ฉาทนํ (เครื่องปิดบัง) ด้วยอำนาจการปกปิด. ที่ชื่อว่า พนฺธนํ (เครื่องผูก) เพราะย่อมผูกสัตว์ไว้ในวัฏฏะ ที่ชื่อว่า อุปกิเลส เพราะเข้าถึงจิตแล้วให้เศร้าหมอง คือทำให้เศร้าหมอง ที่ชื่อว่า อนุสัย เพราะย่อมนอนเนื่อง คือเป็นไปด้วยอรรถว่ามีกำลัง ที่ชื่อว่า ปริยุฏฐาน เพราะเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต. อธิบายว่า ยึดความเป็นกุศลโดยไม่ให้เพื่อเกิดขึ้น.
               จริงอยู่ ในประโยคมีอาทิว่า พวกโจรปล้นในหนทาง พวกนักเลงดักทำร้ายในหนทาง คือยึดทางไว้ ชื่อว่า ถือเอาซึ่งทาง ฉันใด แม้ในปริยุฏฐานนี้ ก็พึงทราบปริยุฏฐานด้วยอรรถว่า ถือเอา ฉันนั้น.
               ตัณหาที่ชื่อว่า ลตา (เหมือนเถาวัลย์) เพราะเป็นเหมือนเถาวัลย์ โดยความหมายว่า พันไว้รอบ. ตัณหานี้ ตรัสเรียกว่า เถาวัลย์ แม้ในที่ตรัสไว้ว่า ลตา อุพฺภิชฺช ติฏฺฐติ (ตัณหาเหมือนเถาวัลย์แตกแขนงตั้งอยู่) ดังนี้.
               ที่ชื่อว่า เววิจฺฉํ (ความปรารถนาวัตถุมีอย่างต่างๆ) เพราะปรารถนาวัตถุมีอย่างต่างๆ.
               ที่ชื่อว่า ทุกฺขมูลํ (รากเหง้าแห่งทุกข์) เพราะเป็นมูลแห่งวัฏทุกข์.
               ที่ชื่อว่า ทุกฺขนิทานํ (เหตุแห่งทุกข์) เพราะเป็นเหตุเกิดของทุกข์นั้นนั่นแหละ.
               ที่ชื่อว่า ทุกฺขปฺปภโว (แดนเกิดแห่งทุกข์) เพราะทุกข์นั้นย่อมเกิดจากตัณหานี้.
               ที่ชื่อว่า ปาโส (บ่วง) เพราะเหมือนบ่วง ด้วยอรรถว่าเครื่องผูก.
               บ่วงแห่งมารชื่อว่า มารปาโส. ที่ชื่อว่า พลิสํ (เบ็ด) เพราะเป็นเหมือนเบ็ด ด้วยอรรถว่าสำรอกออกยาก. เบ็ดของมาร ชื่อว่า มารพลิสํ. สัตว์ผู้ถูกตัณหาครอบงำแล้วย่อมไม่ก้าวล่วงวิสัยแห่งมาร มารย่อมยังอำนาจให้เป็นไปในเบื้องบนสัตว์เหล่านั้น โดยปริยายนี้ จึงเรียกว่า แดนแห่งมาร เพราะเป็นวิสัยของมาร.
               แม่น้ำคือตัณหา ชื่อว่า ตณฺหานที ด้วยอรรถว่าไหลไป. ข่ายคือตัณหา ชื่อว่า ตณฺหาชาลํ ด้วยอรรถว่าปกคลุมไว้. สุนัขทั้งหลายที่เขาเอาเชือกผูกไว้ ย่อมถูกนำไปตามปรารถนา ฉันใด สัตว์ทั้งหลายที่ถูกตัณหาผูกไว้ก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้น ตัณหานั้น จึงชื่อว่า คทฺทุลํ (เหมือนเชือก) เพราะเป็นเหมือนเชือกด้วยอรรถว่าผูกไว้แน่น. เชือกคือตัณหา ชื่อว่า ตณฺหาคทฺทุลํ. สมุทร (ทะเล) คือตัณหาด้วยอรรถว่าให้เต็มได้ยาก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าตัณหาเหมือนสมุทร.

               ว่าด้วยนิทเทสแห่งโทสะ               
               พึงทราบวินิจฉัยในโทสนิทเทส ต่อไป.
               คำว่า อนตฺถํ เม อจริ (ผู้นี้ได้กระทำความเสื่อมเสียแก่เรา) คือได้กระทำความไม่เจริญแก่เรา. พึงทราบเนื้อความในบททั้งปวงโดยอุบายนี้.
               คำว่า อฏฺฐาเน วา ปน อาฆาโต (หรืออาฆาตอันเกิดขึ้นได้ในฐานะอันมิใช่เหตุ) ได้แก่ ความโกรธย่อมเกิดขึ้นในฐานะอันมิใช่เหตุ.
               จริงอยู่ บุคคลบางคนย่อมโกรธในฐานะอันมิใช่เหตุว่า ฝนย่อมตกเกินไป ย่อมโกรธว่า ฝนไม่ตก ย่อมโกรธว่า พระอาทิตย์ร้อน ย่อมโกรธว่า พระอาทิตย์ไม่ร้อน เมื่อลมพัดอยู่ก็โกรธ ลมไม่พัดก็โกรธ เมื่อไม่สามารถจะกวาดลานก็โกรธใบโพธิ์ทั้งหลาย เมื่อไม่สามารถจะห่มจีวรได้ก็โกรธลมพัด สะดุดหกล้มก็โกรธตอไม้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงความโกรธนี้จึงตรัสว่า อฏฺฐาเน วา ปน อาฆาโต ชายติ (หรืออาฆาตย่อมเกิดขึ้นได้ในฐานะอันมิใช่เหตุ) ดังนี้. บรรดาความโกรธเหล่านั้น ความแตกแห่งกรรมบถย่อมมีเพราะอาฆาตเกิดขึ้น ปรารภสัตว์ทั้งหลายในฐานะ ๙ ข้างต้น แต่อาฆาตในฐานะอันมิใช่เหตุเกิดในสังขาร ย่อมไม่ทำการแตกกรรมบถ.
               โทสะที่ชื่อว่า จิตอาฆาต เพราะอรรถว่าเกิดขึ้นยังจิตให้อาฆาตอยู่. ความอาฆาตที่แรงกว่านั้น ชื่อว่า ปฏิฆาโต (ความขัดเคือง).
               ที่ชื่อว่า ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่ง) ด้วยอำนาจความหงุดหงิด.
               ที่ชื่อว่า ปฏิวิโรโธ (ความแค้น) เพราะคับแค้นใจ.
               ที่ชื่อว่า โกโป (ความเคือง) ด้วยอำนาจแห่งความโกรธ.
               บทว่า ปโกโป สมฺปโกโป (ความขุ่นเคือง ความพลุ่งพล่าน) ทรงเพิ่มบทด้วยอุปสรรค.
               ที่ชื่อว่า โทโส (โทสะ) ด้วยอำนาจการประทุษร้าย.
               บทว่า ปโทโส สมฺปโทโส (ความคิดประทุษร้าย ความมุ่งคิดประทุษร้าย) ทรงเพิ่มบทด้วยอุปสรรค.
               คำว่า จิตฺตสฺส พฺยาปตฺติ (ความขุ่นจิต) ความว่า อาการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพราะจิตวิบัติ.
               ชื่อว่า มโนปโทโส (ธรรมชาติประทุษร้ายใจ) เพราะเกิดขึ้นประทุษร้ายใจ.
               ที่ชื่อว่า โกโธ (โกรธ) ด้วยสามารถแห่งการโกรธ.
               อาการแห่งการโกรธ ชื่อว่า กุชฺฌนา (กิริยาที่โกรธ).
               ภาวะแห่งจิตที่โกรธ ชื่อว่า กุชฺฌิตตฺตํ (ความโกรธ).
               บัดนี้ เพื่อทรงแสดงนัยที่ตรัสไว้ในอกุศลนิทเทส จึงตรัสคำมีอาทิว่า โทโส ทุสฺสนา (การคิดประทุษร้าย กิริยาที่คิดประทุษร้าย) ดังนี้ เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทำการประกอบในนิทเทสนี้อย่างนี้ว่า โทสะเห็นปานนี้อันใดที่ตรัสไว้ในที่นี้ว่า จิตอาฆาต ฯลฯ ความโกรธ และที่ตรัสไว้แล้วในหนหลังโดยนัยมีอาทิว่า โทโส ทุสฺสนา (การประทุษร้าย กิริยาที่ประทุษร้าย) นี้เรียกว่าโทสะ. ด้วยว่า เมื่อมีคำที่กล่าวไว้อย่างนี้ ย่อมเป็นอันท่านกันข้อเสียหายในการพูดซ้ำ นิทเทสแห่งโมหะ พึงทราบโดยนัยที่เป็นปฏิปักษ์กับคำที่กล่าวไว้ในนิทเทสแห่งอโมหะ ก็นิทเทสแห่งโมหะนี้จักมีแจ้งในอรรถกถาแห่งวิภังคปกรถโดยอาการทั้งปวง.
               คำว่า เตหิ ธมฺเมหิ เย ธมฺมา สเหตุกา (ธรรมเหล่าใดมีเหตุโดยธรรมที่เป็นเหตุเหล่านั้น) ความว่า ธรรมเหล่าใดที่เป็นเหตุก็ดี ไม่เป็นเหตุก็ดี อื่นใด ธรรมเหล่านั้นชื่อว่า สเหตุกา (มีเหตุ) ด้วยเหตุธรรมเหล่านั้น. แม้ในบทว่า อเหตุกะ ก็นัยนี้เหมือนกัน. ก็ในที่นี้ ธรรมที่เป็นเหตุย่อมเป็นเหตุอย่างเดียว และเป็นธรรมมีเหตุ (สเหตุกะ) ในการเกิดพร้อมกัน ๓ เหตุหรือ ๒ เหตุ. ส่วนโมหะที่สหรคตด้วยวิจิกิจฉาและอุทธัจจะเป็นเหตุแต่ไม่มีเหตุประกอบ. แม้ในนิทเทสแห่งทุกะที่สัมปยุตด้วยเหตุก็นัยนี้แหละ.

               ว่าด้วยนิทเทสสังขตทุกะ               
               ในนิทเทสสังขตทุกะ พระองค์ทรงทำนิทเทสไว้ด้วยอำนาจธรรมเป็นเอกวจนะว่า โย เอว โส ธมฺโม (ธรรมที่ไม่มีปัจจัยนั้นใดเล่า) ดังนี้ ทรงหมายเอาอสังขตธาตุตามที่ตรัสไว้ในทุกะแรก แต่ในทุกะแรกนี้ทรงทำเป็นพหุวจนะไว้โดยนัยปุจฉานุสนธิว่า อิเม ธมฺมา อปฺปจฺจยา (ธรรมเหล่านี้ไม่มีปัจจัย) ดังนี้ เพราะทรงยกขึ้นถามด้วยอำนาจแห่งบทพหุวจนะ. แม้ในบทมีอาทิว่า อิเม ธมฺมา สนิทสฺสนา (สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมที่เห็นได้) ก็นัยนี้เหมือนกัน.

               ว่าด้วยนิทเทสวิญเญยยทุกะ               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งเกนจิวิญเญยยทุกะ ต่อไป.
               บทว่า จกฺขุวิญฺเญยฺยา (ธรรมที่จักขุวิญญาณรู้ได้) ได้แก่ อันจักขุวิญญาณพึงรู้แจ้ง. แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน. อนึ่ง ในนิทเทสนี้ คำว่า จิตบางดวงรู้ได้ คือในบรรดาจิตทั้งหลายมีจักขุวิญญาณเป็นต้น จักขุวิญญาณหรือโสตวิญญาณดวงใดดวงหนึ่งพึงรู้ได้.
               คำว่า จิตบางดวงรู้ไม่ได้ คือจักขุวิญญาณหรือโสตวิญญาณไม่พึงรู้ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่มีทุกะนี้ว่า เย เต ธมฺมา จกฺขุวิญฺเญยฺยา น เต ธมฺมา โสตวิญฺเญยฺยา (ธรรมเหล่าใดจักขุวิญญาณรู้ได้ ธรรมเหล่านั้นโสตวิญญาณรู้ไม่ได้) ดังนี้ เพราะความที่ทุกะนั้นข้าพเจ้ากล่าวไว้ในหนหลังว่า ย่อมเป็นหมวดทุกะได้เพราะความต่างกันแห่งเนื้อความของบทแม้ทั้งสองดังนี้. แต่พึงถือเอาเนื้อความนี้ว่า รูปอันจักขุวิญญาณพึงรู้ได้ เสียงอันจักขุวิญญาณรู้ไม่ได้ แล้วพึงทราบทุกะหนึ่งนี้ว่า ธรรมเหล่าใดจักขุวิญญาณพึงรู้ได้ ธรรมเหล่านั้นโสตวิญญาณไม่พึงรู้ได้ ก็ หรือว่า ธรรมเหล่าใดที่โสตวิญญาณรู้ได้ ธรรมเหล่านั้นจักขุวิญญาณไม่พึงรู้ได้ ดังนี้. บัณฑิตพึงทราบว่า พระองค์ทรงจำแนกทุกะละ ๔ หมวด มีอินทรีย์ (มีจักขุนทรีย์เป็นต้น) ละหนึ่งเป็นมูล (มีอินทรีย์ที่เหลือเป็นมูลี หมุนไป) อย่างนี้ จึงเป็น ๒๐ หมวด ดังนี้.
               ถามว่า ก็ธรรมที่มโนวิญญาณบางดวงพึงรู้ได้ บางดวงไม่พึงรู้ได้ ไม่มีหรือ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงมิได้ตรัสเป็นทุกะไว้ในที่นี้.
               ตอบว่า มิใช่ไม่มี แต่เพราะไม่มีการกำหนดจึงมิได้ตรัสไว้ เพราะว่า การกำหนดว่า ธรรมที่จักขุวิญญาณไม่พึงรู้ได้เลยดังนี้ โดยประการใด แม้มโนวิญญาณก็ไม่พึงรู้ได้ โดยประการนั้น มิได้มีอยู่ เพราะฉะนั้น เพราะไม่มีโดยการกำหนด จึงไม่ตรัสทุกะในมโนวิญญาณนี้ไว้ในที่นี้ แต่เนื้อความนี้มีอยู่ว่า ธรรมที่มโนวิญญาณพึงรู้ได้มีอยู่ ที่ไม่พึงรู้ก็มี ดังนี้ เพราะฉะนั้น เนื้อความนั้นแม้มิได้ตรัสไว้ บัณฑิตก็พึงทราบด้วยสามารถตามที่หาได้.
               จริงอยู่ ธรรมคือกามาวจรทั้งหลายนั่นแหละ อันกามาวจรธรรมทั้งหลายอันถึงการนับว่า มโนวิญญาณ บางดวงพึงรู้ได้ บางดวงก็ไม่พึงรู้ได้ก่อน แม้ธรรมมีรูปาวจรเป็นต้น อันกามาวจรเหล่านั้นนั่นแหละบางดวงพึงรู้ได้ บางดวงรู้ไม่ได้ กามาวจรทั้งหลายแม้อันรูปาวจรเหล่านั้นบางดวงรู้ได้ บางดวงก็รู้ไม่ได้. แม้รูปาวจรเป็นต้น อันรูปาวจรเหล่านั้นแหละบางดวงรู้ได้ บางดวงรู้ไม่ได้.
               แต่ว่า กามาวจรทั้งหลาย รูปาวจรทั้งหลาย และโลกุตรธรรมทั้งหลายอันอรูปาวจรทั้งหลายไม่พึงรู้ได้เลย ส่วนอรูปาวจรทั้งหลาย อันมโนวิญญาณบางดวงพึงรู้ได้ บางดวงก็รู้ไม่ได้.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรมเหล่านั้นอันมโนวิญญาณบางดวงเท่านั้นพึงรู้ได้ บางดวงก็รู้ไม่ได้. ธรรมทั้งหลายมีกามาวจรเป็นต้นไม่พึงรู้ได้ด้วยโลกุตรธรรมทั้งหลาย ก็โลกุตรธรรมทั้งหลายอันมโนวิญญาณบางดวงพึงรู้ได้ บางดวงก็รู้ไม่ได้ เพราะความที่โลกุตรธรรมเหล่านั้นอันพระนิพพานไม่พึงรู้ และโลกุตรธรรมเหล่านั้น พึงรู้ด้วยมโนวิญญาณบางดวงไม่พึงรู้ด้วยมโนวิญญาณบางดวง เพราะความที่มรรคและผลทั้งหลาย อันพระนิพพานไม่พึงรู้ ดังนี้.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ นิกเขปกัณฑ์ เหตุโคจฉกะ จบ.
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 663อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 689อ่านอรรถกถา 34 / 708อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=6042&Z=6260
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=10453
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=10453
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :