ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 689อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 708อ่านอรรถกถา 34 / 719อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
นิกเขปกัณฑ์ อาสวโคจฉกะ

               ว่าด้วยนิทเทสอาสวทุกะ               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสอาสวทุกะ ต่อไป.
               ราคะประกอบด้วยเบญจกามคุณ ชื่อว่ากามาสวะ. ฉันทราคะในรูปภพและอรูปภพ ความใคร่ชอบใจอันเป็นไปในฌาน ราคะสหรคตด้วยสัสสตทิฏฐิ ความปรารถนาด้วยอำนาจแห่งภพ ชื่อว่าภวาสวะ. ทิฏฐิ ๖๒ ชื่อว่าทิฏฐาสวะ. ความไม่รู้ในฐานะ ๘ ชื่อว่าอวิชชาสวะ.
               ก็เพื่อมิให้หลงใหลในอาสวะทั้งหลายที่ตรัสไว้ในที่นั้นๆ พึงทราบความต่างกันแห่งอาสวะมีอาสวะหมวดหนึ่งเป็นต้น เพราะเมื่อว่าโดยอรรถ อาสวะเหล่านี้มีอย่างเดียวเท่านั้น อย่างนี้คือ ชื่อว่าอาสวะ เพราะอรรถว่าเป็นของหมักดอง แต่ในพระวินัย ตรัสอาสวะ ๒ อย่าง คือ เพื่อปิดกั้นอาสวะอันเป็นไปในปัจจุบัน เพื่อป้องกันอาสวะอันเป็นไปในสัมปรายิกภพ ดังนี้.
               ในพระสูตรในสฬายตนะ มีอาสวะ ๓ อย่างว่า ดูก่อนอาวุโส อาสวะ ๓ เหล่านี้ คือ กามาสวะ ภวาสวะและอวิชชาสวะ ดังนี้.
               ในนิพเพธิกปริยายสูตร มีอาสวะ ๕ อย่าง ที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะที่เป็นเหตุให้ตกนรกก็มี อาสวะเป็นเหตุให้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็มี อาสวะที่ให้ไปสู่ปิตติวิสัยก็มี อาสวะที่ให้ไปสู่มนุษยโลกก็มี อาสวะที่ให้ไปสู่เทวโลกก็มี.
               ในฉักกนิบาต อาหุเนยยสูตรตรัสอาสวะ ๖ อย่างว่า อาสวะที่พึงละด้วยสังวรก็มี อาสวะที่พึงละด้วยการเสพก็มี อาสวะที่พึงละด้วยการอดกลั้นก็มี อาสวะที่พึงละด้วยหลีกออกก็มี อาสวะที่พึงละด้วยการบรรเทาก็มี อาสวะที่พึงละด้วยภาวนาก็มี.
               ในสัพพาสวปริยายสูตร ตรัสอาสวะ ๗ อย่าง กับทัสสนปหาตัพพธรรม.
               แต่ในที่นี้ อาสวะเหล่านั้นตรัสไว้ ๔ อย่าง โดยประเภทแห่งกามาสวะเป็นต้น ในอาสวะ ๔ เหล่านั้นมีวจนัตถะ ดังต่อไปนี้.
               อาสวะในกามกล่าวคือเบญจกามคุณ ชื่อว่ากามาสวะ. อาสวะในภพ แม้ทั้ง ๒ คือกัมมภพและอุปปัตติภพ ได้แก่ รูปภพและอรูปภพ ชื่อว่าภวาสวะ. อาสวะคือทิฏฐิ ชื่อว่าทิฏฐาสวะ อาสวะคืออวิชชา ชื่อว่าอวิชชาสวะ.
               บทว่า กาเมสุ (ในกามทั้งหลาย) ได้แก่ กามคุณ ๕.
               บทว่า กามฉนฺโท ได้แก่ ความพอใจคือความใคร่ มิใช่ความพอใจของบุคคลผู้ใคร่จะทำ และมิใช่ธรรมฉันทะ ความกำหนัดคือความใคร่ด้วยอำนาจแห่งความพอใจและด้วยอำนาจแห่งความกำหนัด ชื่อว่ากามราคะ.
               กามาสวะที่ชื่อว่า กามนนฺที (ความเพลิดเพลินคือความใคร่) เพราะอรรถว่าความเพลิดเพลินคือกามด้วยอำนาจแห่งความใคร่และความเพลิดเพลิน. บัณฑิตทราบอรรถแห่งกามะในบททั้งปวงอย่างนี้ พึงทราบว่า ที่ชื่อว่ากามตัณหา (ตัณหาคือความใคร่) โดยความหมายของตัณหา ที่ชื่อว่า กามสิเนโห (สิเนหาคือความใคร่) โดยความหมายของความรัก. ที่ชื่อว่า กามปริฬาโห (ความเร่าร้อนคือความใคร่) โดยความหมายแห่งการแผดเผา. ที่ชื่อว่า กามมุจฺฉา (ความสยบคือความใคร่) โดยความหมายของการซบเซา. พึงทราบว่า กามชฺโฌสานํ (ความหมกมุ่นคือความใคร่) โดยความหมายของการกลืนหมดสิ้น.
               บทว่า อยํ วุจฺจติ (นี้เรียกว่า) ความว่า อาสวะที่จำแนกด้วยบททั้ง ๘ นี้ ตรัสเรียกชื่อว่ากามาสวะ.
               บทว่า ภเวสุ ภวฉนฺโท (ความพอใจในภพ ในภพทั้งหลาย) ความว่า ความพอใจอันเป็นไปด้วยอำนาจการปรารถนาภพ ในรูปภพและอรูปภพ ชื่อว่าภวฉันทะ (ความพอใจในภพ).
               พึงทราบแม้บทที่เหลือโดยนัยนี้แล.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสประเภทแห่งทิฏฐิด้วยอาการ ๑๐ อย่างมีอาทิว่า สสฺสโต โลโก (ความเห็นว่าโลกเที่ยง).
               บรรดาทิฏฐิเหล่านั้น คำว่า สสฺสโต โลโก (โลกเที่ยง) มีอธิบายว่า ทิฏฐิอันเป็นไปด้วยอาการแห่งการยึดถือว่า เที่ยง ของบุคคลผู้ยึดเบญจขันธ์ว่า เป็นโลก แล้วถือว่า โลกนี้เที่ยง ยั่งยืน มีอยู่ตลอดกาลเป็นนิตย์.
               บทว่า อสสฺสโต (โลกไม่เที่ยง) อธิบายว่า ทิฏฐิอันเป็นไปด้วยอาการที่ยึดถือการขาดสูญ ของบุคคลผู้ยึดถือโลกนั้นนั่นแหละว่า ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ.
               บทว่า อนฺตวา (โลกมีที่สุด) ความว่า ทิฏฐิที่เป็นไปด้วยอาการแห่งการยึดถือว่า โลกมีที่สุด ของบุคคลผู้ได้ฌานมีกสิณเล็กน้อยเป็นอารมณ์ หรือผู้เข้าสมาบัติในกสิณมีประมาณเท่ากระด้งหรือขันน้ำ ผู้ยึดถือในรูปและอรูปธรรมอันเป็นไปภายในสมาบัติว่าเป็นโลก และว่ามีที่สุด ด้วยการกำหนดกสิณ. ทิฏฐินั้นเป็นสัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง) บ้าง เป็นอุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่าขาดสูญ) บ้าง. แต่บุคคลผู้ได้กสิณไพบูลย์เข้าสมาบัติกสิณนั้น ยึดถือรูปธรรมอรูปธรรมที่เป็นไปภายในสมาบัติว่าเป็นโลก และเห็นว่าไม่มีที่สุด ด้วยการกำหนดกสิณ มีความเห็นเป็นไปด้วยอาการแห่งการยึดถือว่า โลกไม่มีที่สุด. ทิฏฐิ (ความเห็น) นั้นเป็นสัสสตทิฏฐิบ้าง เป็นอุจเฉททิฏฐิบ้าง.
               บทว่า ตํ ชีวํ ตํ สรีรํ (ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น) ความว่า ทิฏฐิอันเป็นไปด้วยอาการถือการขาดสูญว่า เมื่อสรีระขาดสูญ แม้ชีพก็ขาดสูญ เพราะถือว่า ชีพของสรีระนั่นแหละมีความแตกดับเป็นธรรมดา.
               แม้ในบทที่ ๒ ทิฏฐิที่เป็นไปด้วยอาการที่ยึดถือความเที่ยงว่า เมื่อสรีระแม้ขาดสูญอยู่ แต่ชีพจักไม่ขาดสูญ เพราะการยึดถือชีพเป็นอย่างอื่นจากสรีระ.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า โหติ ตถาคโต ปรํมรณา (สัตว์ยังเป็นอยู่เบื้องหน้าแต่มรณะ) ดังนี้ สัตว์ชื่อว่าตถาคต เมื่อยึดถือว่า สัตว์นั้นยังเป็นอยู่เบื้องหน้าแต่มรณะดังนี้ เป็นสัสสตทิฏฐิข้อที่หนึ่ง เมื่อถือว่า ไม่เป็นอยู่ก็เป็นอุจเฉททิฏฐิข้อที่ ๒ เมื่อถือว่า เป็นอยู่ก็มี ไม่เป็นอยู่ก็มี ก็เป็นเอกัจจสัสสตทิฏฐิ ข้อที่ ๓ เมื่อถือว่าเป็นอยู่ก็มิใช่ ไม่เป็นอยู่ก็มิใช่ ก็เป็นอมราวิกเขปทิฏฐิ ข้อที่ ๔.
               บทว่า อิเม ธมฺมา อาสวา (สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าธรรมเป็นอาสวะ) ความว่า สภาวธรรมเหล่านี้รวมกามาสวะและภวาสวะเป็นอันเดียวกันด้วยอำนาจแห่งราคะ โดยย่อเป็นธรรม ๓ โดยพิสดารเป็น ๔ ชื่อว่าสภาวธรรมเป็นอาสวะ.
               ถามว่า ก็ฉันทราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ) ย่อมเกิดขึ้นในวิมาน ต้นกัลปพฤกษ์และอาภรณ์ของพรหม เป็นกามาสวะหรือไม่?
               ตอบว่า ไม่เป็น เพราะเหตุไร? เพราะความที่ราคะอันเป็นเบญจกามคุณ ท่านละได้แล้วในโลกนี้แหละ.
               ก็เพ่งถึงเหตุโคจฉกะแล้ว โลภะชื่อว่าเป็นเหตุ. เพ่งถึงคัณฐโคจฉกะแล้ว โลภะชื่อว่าอภิชฌากายคัณฐะ เพ่งถึงกิเลสโคจฉกะแล้ว โลภะชื่อว่าเป็นกิเลส.
               ถามว่า ก็ราคะเกิดพร้อมกับทิฏฐิ เป็นกามาสวะหรือไม่?
               ตอบว่า ไม่เป็น ธรรมนี้ชื่อว่า ทิฏฐิราคะ ข้อนี้สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า ขึ้นชื่อว่า ทานที่บุคคลให้ในบุรุษบุคคลผู้ยังยินดีด้วยทิฏฐิราคะ ย่อมไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ดังนี้.
               ก็อาสวะเหล่านี้ ควรนำมาตามลำดับกิเลสบ้าง ตามลำดับแห่งมรรคบ้าง ว่าโดยลำดับแห่งกิเลส อนาคามิมรรคย่อมละกามาสวะ อรหัตมรรคย่อมละภวาสวะ โสดาปัตติมรรคย่อมละทิฏฐาสวะ อรหัตมรรคย่อมละอวิชชาสวะ. ว่าโดยลำดับแห่งมรรค โสดาปัตติมรรคละทิฏฐาสวะ อนาคามิมรรคละกามาสวะ อรหัตมรรคละภวาสวะและอวิชชาสวะ ดังนี้.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ นิกเขปกัณฑ์ อาสวโคจฉกะ จบ.
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 689อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 708อ่านอรรถกถา 34 / 719อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=6261&Z=6336
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=10632
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=10632
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๑  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :