ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 736อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 748อ่านอรรถกถา 34 / 761อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
นิกเขปกัณฑ์ นีวรณโคจฉกะ

               อธิบายนีวรณโคจฉกะ               
               ว่าด้วยถีนมิทธนิทเทส               
               พึงทราบวินิจฉัยในถีนมิทธนิทเทสแห่งนีวรณโคจฉกะ ต่อไป.
               บทว่า จิตฺตสฺส อกลฺยตา (ความไม่สมประกอบแห่งจิต) คือภาวะแห่งคนป่วยไข้.
               จริงอยู่ คนป่วยไข้ ตรัสเรียกว่า อกลฺยโก (ผู้มีสุขภาพไม่ดี) แม้ในวินัยก็กล่าวไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สามารถ ดังนี้.
               บทว่า อกมฺมญฺญตา (ความไม่ควรแก่การงาน) ได้แก่ อาการแห่งความไม่ควรแก่การงานคือความเป็นไข้แห่งจิต.
               บทว่า โอลียนา (ความท้อแท้) ได้แก่ อาการที่ท้อถอย.
               จริงอยู่ จิตที่ยังอิริยาบถให้เกิดขึ้น เมื่อไม่อาจเพื่อให้อิริยาบถทรงอยู่ ย่อมท้อแท้ ดุจค้างคาวเล็กห้อยอยู่บนต้นไม้ ย่อมท้อถอยดุจหม้อน้ำดื่มห้อยไว้ที่เสาเขื่อนฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ความท้อแท้ ดังนี้ ทรงหมายถึงอาการนั้นของจิตนั้น.
               บทที่ ๒ (สลฺลียนา ความถดถอย) ทรงเพิ่มด้วยอำนาจบทอุปสรรค.
               บทว่า ลีนํ (ความหดหู่) ได้แก่ ขดงอแล้ว เพราะความไม่แผ่ออกไป.
               บททั้ง ๒ นอกนี้ (คือ ลียนา ลียิตตฺตํ อาการที่หดหู่ ภาวะที่หดหู่) เป็นบทแสดงถึงอาการและภาวะของจิตนั้น.
               บทว่า ถีนํ (ความซบเซา) ความว่า ที่ชื่อว่าถีนะ โดยความเป็นแท่ง เพราะไม่แผ่ไปเหมือนก้อนเนยใส.
               บทว่า ถียนา (อาการที่ซบเซา) เป็นการแสดงอาการของจิต ภาวะแห่งอาการที่จิตซบเซาแล้ว ชื่อว่า ถียิตตฺตํ (ความซบเซา).
               อธิบายว่า ความที่จิตเป็นธรรมชาติกระด้างด้วยสามารถแห่งการไม่แผ่ออกไปนั้นเทียว.
               บทว่า กายสฺส (แห่งกาย) ได้แก่ นามกายคือขันธ์ ๓.
               บทว่า อกลฺยตา อกมฺมญฺญตา (ความไม่สมประกอบแห่งนามกาย ความไม่ควรแก่การงานแห่งนามกาย) มีนัยดังกล่าวไว้ในหนหลังนั่นแหละ. ที่ชื่อว่า โอนาโห (ความปกคลุม) เพราะอรรถว่าย่อมปกคลุมกาย เหมือนก้อนเมฆปกคลุมอากาศฉะนั้น. การปกคลุมโดยส่วนทั้งหมด ชื่อว่า ปริโยนาโห (ความหุ้มห่อ).
               ที่ชื่อว่า อนฺโตสโมโรโธ (ความปิดบังไว้ภายใน) เพราะอรรถว่าย่อมปิดกั้นไว้ภายใน. เหมือนอย่างว่า นครที่เขาปิดแล้ว พวกมนุษย์ย่อมไม่ได้เพื่ออันออกไปภายนอก ฉันใด ธรรมทั้งหลายอันมิทธะ (ความง่วงเหงา) ปิดไว้แล้วย่อมไม่ได้เพื่ออันแผ่ออกไป ฉันนั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า อนฺโตสโมโรโธ (ความปิดบังไว้ภายใน).
               ที่ชื่อว่า มิทฺธํ (ความง่วงเหงา) เพราะอรรถว่าย่อมกำจัด.
               อธิบายว่า ย่อมเบียดเบียนโดยความไม่ควรแก่การงาน.
               ที่ชื่อว่า โสปฺปํ (ความหาวนอน) เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้หลับ.
               ที่ชื่อว่า ปจลายิกา (อาการที่โงกง่วง) เพราะอรรถว่าย่อมทำให้เปลือกตาเป็นต้นงับลง.
               บทว่า สุปนา สุปิตตฺตํ กิริยาที่หาวนอน ภาวะที่หาวนอน เป็นบทแสดงอาการและภาวะของจิตนั้น แต่ว่า บทว่า ความหาวนอน ข้างหน้าของบทเหล่านั้นอันใด เหตุในการกล่าวซ้ำของบทนั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วทั้งนั้น.
               บทว่า อิทํ วุจฺจติ ถีนมิทฺธนิวรณํ ถีนะและมิทธะนี้เรียกว่า ถีนมิทธนิวรณ์ คือรวมถีนะและมิทธะนี้เข้าด้วยกัน เรียกว่าถีนมิทธนิวรณ์ ด้วยอรรถว่ากางกั้น. ถีนมิทธนิวรณ์ใด ย่อมเกิดขึ้นในเวลาก่อนหรือหลังความหลับแก่พระเสกขะและปุถุชนทั้งหลายโดยมาก ถีนมิทธนิวรณ์นั้น อรหัตมรรคตัดขาดแล้ว แต่การก้าวลงสู่ภวังค์ของพระขีณาสพทั้งหลาย ย่อมมีด้วยความทุรพลแห่งกรชกาย (กายเกิดแต่ธุลี)๑- เมื่อภวังค์นั้นไม่ระคนด้วยอารมณ์อื่นเป็นไปอยู่ พระขีณาสพเหล่านั้นย่อมหลับ นั้นชื่อว่าความหลับย่อมมีแก่พระขีณาสพเหล่านั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า๒- ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ก็เราแลย่อมรู้เฉพาะ ในท้ายเดือนฤดูร้อน เรากลับจากบิณฑบาต ภายในกาลภายหลังภัตปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น แล้วเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะก้าวลงสู่ความหลับโดยปรัศว์เบื้องขวา ดังนี้.
____________________________
๑- รูปอันเกิดสืบต่อมาด้วยสมุฏฐาน ๔.
๒- ม. มู. เล่มที่ ๑๒/ข้อ ๔๓๐/หน้า ๔๖๑.

               ว่าด้วยมิทธะมิใช่อกุศล               
               ก็ความที่กรชกายอ่อนเพลีย (ทุรพล) นี้ เห็นปานนี้ ไม่ใช่ภาวะที่มรรคพึงฆ่า ความที่กายทุรพลนี้ย่อมได้ทั้งในรูปที่มีใจครอง และในรูปที่ไม่มีใจครอง เมื่อจะได้ในรูปที่มีใจครอง ย่อมได้ในเวลาที่พระขีณาสพเดินทางไกล หรือทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่งเหน็ดเหนื่อย เมื่อได้ในรูปที่ไม่มีใจครอง ย่อมได้ในใบไม้ดอกไม้ทั้งหลาย.
               จริงอยู่ ใบไม้ของต้นไม้บางชนิดย่อมคลี่ออกไปด้วยแสงแดด ในเวลาราตรีย่อมงอกลับ ดอกปทุมเป็นต้น ย่อมบานด้วยแสงพระอาทิตย์ แต่ในเวลาราตรีย่อมหุบ ก็มิทธะนี้ย่อมมีแก่พระขีณาสพทั้งหลาย เพราะความที่มิทธะนั้นไม่เป็นอกุศล ฉะนี้แล.
               ในอธิการแห่งมิทธะนั้น ถ้าพึงมีผู้สงสัยว่า มิทธะมิใช่อกุศล เพราะเหตุไร เพราะมิทธะเป็นรูป ก็รูปเป็นอัพยากตะและมิทธะนี้ก็เป็นรูป ด้วยเหตุนั้นในอธิการนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสกระทำกายศัพท์ว่า ความไม่สมประกอบแห่งนามกาย ความไม่ควรแก่การงานแห่งนามกาย ดังนี้.
               ข้อนี้ พึงเฉลยว่า ถ้าว่ามิทธะนี้เป็นรูปด้วยเพียงคำที่ตรัสว่า กายสฺส (แห่งกาย) เท่านั้นไซร้ ธรรมทั้งหลายแม้มีกายปัสสัทธิเป็นต้นก็พึงเป็นรูปไปทั้งหมด แม้การเสวยสุขและการกระทำให้แจ้งซึ่งปรมัตถสัจจะที่ตรัสไว้ว่า เสวยสุขด้วยกาย กระทำให้แจ้งปรมัตถสัจจะด้วยกาย ดังนี้ ก็พึงเป็นรูปเท่านั้น เพราะฉะนั้น ไม่ควรพูดว่ามิทธะนี้เป็นรูป ดังนี้.
               ถามว่า ก็ในอธิการนี้ นามกาย ชื่อว่า กาย เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร จึงตรัสว่า โสปฺปํ ปจลายิกา (ความหาวนอน ความโงกง่วง) ดังนี้เล่า ด้วยว่านามกายย่อมไม่หาวนอน ย่อมไม่โงกง่วง.
               ตอบว่า เพราะความหาวนอนและความโงกง่วงนั้นเป็นผลของมิทธะนั้น เหมือนเพศเป็นต้นเป็นผลของอินทรีย์ฉะนั้น เหมือนอย่างว่า ทรวดทรงมีเพศเป็นต้นเหล่านี้ คือเพศหญิง นิมิตหญิง มารยาหญิง กิริยาของหญิง ตรัสไว้เพราะความเป็นผลของอิตถินทรีย์ ฉันใด ความหาวนอนเป็นต้นก็ตรัสไว้ เพราะความเป็นผลแห่งมิทธะ กล่าวคือความป่วยไข้แห่งนามกายแม้นี้ฉันนั้น. ด้วยว่า เมื่อมิทธะมีอยู่ ความหาวนอนเป็นต้นนั้นก็มี เพราะฉะนั้น จึงตรัสมิทธะแม้เป็นอรูป (นาม) โดยผลูปจารนัย (มุ่งถึงผล) ว่าความหาวนอน ความโงกง่วง กิริยาที่หาวนอน ความหาวนอน.
               อนึ่ง แม้ด้วยวจนัตถะ (ความหมายของคำ) ว่า ที่ชื่อว่า ปจลายิกา (ความโงกง่วง) เพราะอรรถว่าย่อมทำให้เปลือกตาเป็นต้นปิดลงดังนี้ ก็ให้สำเร็จความหมายนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น มิทธะจึงไม่ใช่รูป.
               อนึ่ง ความที่มิทธะนั้นเป็นอรูป พระองค์ก็ทรงแสดงแม้ด้วยความปกคลุมเป็นต้นนั่นแหละ เพราะว่า รูปจะเป็นความปกคลุม หุ้มห่อ ปิดบังไว้ภายในซึ่งนามกายหาได้ไม่.
               ถ้ามีผู้ท้วงอีกว่า ก็มิทธะนี้เป็นรูปด้วยเหตุ (มีการปกคลุมเป็นต้น) นี้แหละมิใช่หรือ เพราะอรูป (นาม) ย่อมปกคลุม หุ้มห่อ ปิดบังไว้ในภายในซึ่งอะไรๆ ไม่ได้เลย.
               ข้อนี้ตอบว่า ถ้าอย่างนั้น แม้ความกางกั้นกุศลธรรมก็ไม่พึงมี เพราะฉะนั้น พึงทราบความที่มิทธะแม้นี้เป็นความปกคลุมเป็นต้น ด้วยอรรถมีความปกคลุมเป็นต้น เหมือนอรูปธรรมมีกามฉันทะเป็นต้น ที่ชื่อว่านิวรณ์ ด้วยอรรถว่ากางกั้นฉะนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านท้วงว่า มิทธะแม้นี้ชื่อว่าเป็นอรูป เพราะพระบาลีว่า ละนิวรณ์ ๕ เพราะทำจิตให้เศร้าหมองบั่นทอนปัญญา ดังนี้ เพราะรูปทำจิตให้เศร้าหมองไม่ได้ ทอนปัญญาก็ไม่ได้ ดังนี้ เพราะเหตุไร จึงเป็นไม่ได้ คำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์บางพวกดื่มสุราเมรัยไม่ละเว้นการดื่มสุราและเมรัย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง) ของสมณพราหมณ์ข้อที่หนึ่งดังนี้มีอยู่มิใช่หรือ.
               อีกข้อหนึ่งก็ได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อนคหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ในฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทคือการดื่มสุราและเมรัยที่พึงเห็นในปัจจุบันมี ๖ อย่างคือ เสียทรัพย์ ๑ ก่อการทะเลาะวิวาท ๑ เป็นบ่อเกิดของโรค ๑ ทำให้เสียชื่อเสียง ๑ ทำให้ไม่รู้จักอาย ๑ บั่นทอนปัญญา ๑ รวมเป็นข้อที่ ๖ ดังนี้ แม้พระบาลีย่อมเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ทีเดียว เพราะประจักษ์อยู่ ก็เพราะเหตุที่น้ำเมาเข้าถึงท้อง จิตย่อมเศร้าหมอง ปัญญาย่อมทุรพล ฉะนั้น แม้มิทธะก็เปรียบเหมือนน้ำเมาพึงทำจิตให้เศร้าหมองบั่นทอนปัญญามิใช่หรือ.
               ตอบว่า ไม่ควรเห็นอย่างนั้น เพราะทรงแสดงถึงความเป็นปัจจัย.
               จริงอยู่ ถ้าน้ำเมาพึงเป็นสังกิเลส (ทำจิตให้เศร้าหมอง) ไซร้ สังกิเลสนั้นก็พึงมาสู่นิทเทสในนิทเทสแห่งอุปกิเลสทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้อันทำจิตให้เศร้าหมองดังนี้
               หรือว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุปกิเลสของจิต ๕ อย่างเหล่านี้แล ฉันนั้นนั่นแหละเป็นเครื่องทำจิตให้เศร้าหมอง เป็นเครื่องทำจิตมิให้อ่อน ไม่ให้ควรแก่การงาน มิให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง มิให้ตั้งมั่นโดยชอบ มิใช่เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ธรรมเครื่องเศร้าหมอง ๕ เป็นไฉน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กามฉันทะเป็นอุปกิเลสของจิตดังนี้
               หรือว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อุปกิเลสของจิตเป็นไฉน? อภิชฌาวิสมโลภะเป็นอุปกิเลสของจิตดังนี้ ก็เพราะเมื่อน้ำเมาแม้นั้นอันบุคคลดื่มแล้ว กิเลสทั้งหลายอันทำจิตให้เศร้าหมองและบั่นทอนปัญญาย่อมเกิดขึ้น ฉะนั้น น้ำเมานั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนี้โดยแสดงชี้ถึงปัจจัย เพราะความที่น้ำเมาเหล่านั้นเป็นปัจจัยแก่อุปกิเลส. ส่วนมิทธะเป็นสังกิเลสแห่งจิตด้วยตนเอง และบั่นทอนปัญญา เพราะฉะนั้น มิทธะ คืออรูปเท่านั้น.
               ยังมีเนื้อความบางอย่างที่จะพึงกล่าวให้ยิ่งกว่านี้ โดยการกล่าวถึงสัมปโยคะ.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถีนมิทธนิวรณ์เป็นนิวรณ์และสัมปยุตด้วยนิวรณ์ ด้วยอวิชชานิวรณ์ เพราะฉะนั้น มิทธะนี้จึงไม่ใช่รูป เพราะตรัสถึงการสัมปโยคะ เพราะรูปจะนับเข้าด้วยธรรมที่สัมปยุตด้วยกันหาได้ไม่ดังนี้.
               แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจารย์ผู้กล่าวถึงมิทธะก็จะพึงท้วงว่า คำนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งธรรมตามที่หาได้ เหมือนอย่างพระดำรัสที่ตรัสด้วยอำนาจประกอบความตามที่ได้อย่างนี้ว่า ทั้งหอยกาบและหอยโข่ง ทั้งก้อนกรวดและกระเบื้อง ทั้งฝูงปลาเที่ยวไปบ้าง ตั้งอยู่บ้าง ดังนี้ ความจริง ก้อนกรวดและกระเบื้องตั้งอยู่อย่างเดียวไม่เที่ยวไป อีกสองอย่างนอกนี้ย่อมเที่ยวไปบ้าง ย่อมตั้งอยู่บ้าง ข้อนี้ฉันใด แม้ในอธิการแห่งมิทธะนี้ก็ฉันนั้น มิทธะเป็นนิวรณ์อย่างเดียวไม่สัมปยุตด้วยอกุศล ถีนะเป็นนิวรณ์ด้วย เป็นธรรมสัมปยุตด้วย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถีนมิทธะทั้งหมดรวมกันด้วยสามารถแห่งธรรมตามที่ได้ว่า เป็นนิวรณ์และสัมปยุตด้วยนิวรณ์ดังนี้ แต่มิทธะเป็นนิวรณ์อย่างเดียวไม่สัมปยุตกับอกุศล เหมือนก้อนกรวดและกระเบื้องตั้งอยู่อย่างเดียวไม่เที่ยวไปฉันนั้น เพราะเหตุนั้น มิทธะจึงเป็นรูปเท่านั้น ดังนี้.
               ตอบว่า ท่านไม่ควรเห็นเช่นนั้น เพราะมิทธะไม่สำเร็จความเป็นรูปได้จริง คำว่า ก้อนกรวดและกระเบื้องย่อมไม่เที่ยวไป ดังนี้ แม้เว้นจากพระสูตรก็เข้าใจได้ เพราะฉะนั้น เนื้อความด้วยสามารถที่หาได้ในพระสูตรนี้จงยกไว้ แต่คำที่กล่าวว่า มิทธะเป็นรูป นี้ไม่ควร ใครๆ ไม่อาจเพื่อจะให้มิทธะนั้นเป็นรูปได้ด้วยสูตรนี้ เพราะฉะนั้น มิทธะนี้มิได้ตรัสด้วยอำนาจความตามที่ได้ เพราะมิทธะไม่สำเร็จความเป็นรูป เหตุนั้น มิทธะจึงเป็นอรูปเท่านั้น.
               ถ้อยคำที่ควรจะกล่าวให้ยิ่งขึ้นไปกว่าคำที่กล่าวแล้ว ก็เพราะมีพระบาลีว่า จตฺตตฺตา (เพราะสละแล้ว) เป็นต้น.
               จริงอยู่ในวิภังคปกรณ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำมีอาทิว่า เพราะสละแล้ว อย่างนี้ว่า ภิกษุชื่อว่ามีถีนมิทธะไปปราศแล้ว เพราะสละแล้ว เพราะคายแล้ว เพราะปล่อยแล้ว เพราะละแล้ว เพราะสละคืนแล้ว ซึ่งถีนมิทธะนั้น ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า ผู้มีถีนมิทธะไปปราศแล้ว ดังนี้ และว่า ภิกษุทำจิตนี้ให้หมดจด ให้หมดจดวิเศษ ให้บริสุทธิ์ ให้หลุดพ้น ให้พ้นวิเศษ ให้ปลดเปลื้องจากถีนมิทธะนี้ ดังนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า ทำจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ดังนี้ ส่วนรูป พระองค์มิได้ตรัสอย่างนี้ เพราะเหตุนั้นแหละ มิทธะจึงเป็นอรูปเท่านั้น.
               อาจารย์ผู้กล่าวมิทธะแย้งว่า ท่านไม่ควรกล่าว โดยความที่ถีนมิทธะไม่เกิดแต่จิต แท้จริง มิทธะมี ๓ อย่าง คือเกิดแต่จิต ๑ เกิดแต่อุตุ ๑ เกิดแต่อาหาร ๑ ในบรรดามิทธะทั้ง ๓ เหล่านี้ มิทธะใด เกิดแต่จิตในวิภังค์แห่งมิทธะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ความไม่มีแต่ฌานจิตทั้งหลาย เพราะฉะนั้น มิทธะจึงไม่สำเร็จเป็นอรูป เหตุนั้น มิทธะจึงเป็นรูปเท่านั้น ดังนี้.
               ตอบว่า ข้อนี้ไม่ควรเห็นมิทธะเป็นรูปได้เลย จริงอยู่ ครั้นความที่มิทธะสำเร็จเป็นรูป ใครๆ ก็อาจได้คำพูดนั่นว่า ความไม่เกิดแห่งมิทธะอันเกิดแต่จิต พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วในวิภังค์นั้น และความที่มิทธะเป็นรูปนั่นเทียว ย่อมไม่ควร เพราะฉะนั้น มิทธะจึงเป็นอรูปเท่านั้น.
               ถ้อยคำที่จะพึงกล่าวให้ยิ่งไปกว่าโดยการกล่าวถึงการละ (ประหาณ) มีอยู่.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละแม้มิทธะไว้ ในพระบาลีทั้งหลายมีอาทิว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการได้แล้วก็อาจเข้าปฐมฌานอยู่ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน? คือกามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑ ถีนมิทธะ ๑ อุทธัจจะ ๑ กุกกุจจะ ๑ วิจิกิจฉา ๑ ก็โทษในกามทั้งหลายแล ชื่อว่าอันบุคคลนั้นเห็นดีแล้วด้วยสัมปชัญญะ ดังนี้ และว่า ภิกษุละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้แล้วจักรู้ประโยชน์ตนบ้าง ประโยชน์ผู้อื่นบ้าง ด้วยปัญญาที่มีกำลัง ดังนี้ ส่วนรูปอันบุคคลไม่พึงละ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า รูปขันธ์อันบุคคลพึงรู้ยิ่ง พึงกำหนดรู้ แต่ไม่พึงละ ไม่พึงเจริญ ดังนี้ มิทธะจึงเป็นอรูปเท่านั้น เพราะกล่าวถึงการละมิทธะแม้นี้.
               อาจารย์ผู้กล่าวมิทธะค้านว่า ท่านไม่ควรกล่าวอย่างนั้น เพราะพระดำรัสการละแม้ซึ่งรูปก็มีอยู่ เพราะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละ แม้ซึ่งรูปนั่นแหละในพระบาลีนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละรูปนั้นเสีย ดังนี้ เพราะฉะนั้น คำว่า มิทธะเป็นอรูปนี้ จึงไม่ถูกต้อง.
               อาจารย์ผู้ชี้แจ้งกล่าวว่า ท่านไม่ควรเห็นอย่างนั้น เพราะพระดำรัสนั้นตรัสโดยประการอื่น.
               จริงอยู่ ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละรูปด้วยสามารถแห่งการละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การกำจัดฉันทราคะ (ความกำหนัดด้วยสามารถความพอใจ) ในรูปอันใด การกำจัดนั้นเป็นการละในรูปนั้น ดังนี้ มิทธะจึงไม่ใช่รูป เพราะตรัสไว้โดยประการอื่นว่า คำว่ารูปตรัสว่าเป็นธรรมควรละ เหมือนการละธรรม ๖ อย่าง ละนิวรณ์ ๕ อย่าง หามิได้ เพราะฉะนั้น พระสูตรเหล่าใดที่ตรัสไว้มีอาทิว่า ภิกษุละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้อันทำใจให้เศร้าหมอง ดังนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า มิทธะเป็นอรูปเท่านั้นโดยพระสูตรเหล่านี้ด้วย โดยพระสูตรเหล่าอื่นด้วย.
               จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระสูตรมิใช่น้อยอันส่องถึงความที่มิทธะนั้นเป็นอรูปเท่านั้นมีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์เป็นเครื่องกางกั้น ท่วมทับจิต บั่นทอนปัญญา ๕ ประการเหล่านี้ ๕ ประการเป็นไฉน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กามฉันทะ ฯลฯ ถีนมิทธะเป็นนิวรณ์เครื่องกางกั้น ท่วมทับจิต บั่นทอนปัญญา ดังนี้
               และว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถีนมิทธะเป็นนิวรณ์ทำให้มืด ไม่ทำจักษุ ไม่ทำญาณ ดับปัญญา เป็นพวกพิฆาต ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน ดังนี้
               และว่า ดูก่อนพราหมณ์ ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล สมัยใด บุคคลถูกถีนมิทธะกลุ่มรุมจิต ถูกถีนมิทธะครอบงำจิตอยู่ ดังนี้
               และว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมนสิการอยู่โดยอุบายไม่แยบคาย กามฉันทะที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้น ฯลฯ ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ดังนี้
               และว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กองแห่งอกุศลล้วนๆ นี้ คือนิวรณ์ ๕ นี้ ดังนี้ ก็เพราะมิทธะนี้เป็นอรูป ฉะนั้น จึงเกิดขึ้นแม้ในอรูปธรรม.
               จริงอยู่ คำนี้ตรัสไว้ในปัฏฐานมหาปกรณ์ว่า ธรรมคือนิวรณ์อาศัยธรรมคือนิวรณ์เกิดขึ้น มิใช่อาศัยปุเรชาตปัจจัยเกิดขึ้น พุทธวจนะทั้งหมดในวิภังค์พระดำรัสนี้ว่า อาศัยกามฉันทนิวรณ์ ในความเป็นอรูปย่อมเกิดถีนมิทธะ อุทธัจจะและอวิชชานิวรณ์ ดังนี้ ให้พิสดาร เพราะฉะนั้น ในอธิการนี้พึงถึงความตกลงว่า มิทธะเป็นอรูปเท่านั้น ดังนี้.

               ว่าด้วยกุกกุจจนิทเทส               
               พึงทราบวินิจฉัยในกุกกุจจนิทเทส ต่อไป.
               บทว่า อกปฺปิเย กปฺปิยสญฺญิตา (ความสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร) เป็นต้นตรัสไว้เพื่อแสดงกุกกุจจะโดยมูล.
               จริงอยู่ ในการก้าวล่วงที่ทำแล้ว โดยมีความสำคัญอย่างนี้ เมื่อภิกษุมีสติระลึกถึงวัตถุและอัชฌาจารที่สำเร็จแล้วอีก ก็เดือดร้อนอยู่เนืองๆ อย่างนี้ว่า เราทำกรรมชั่วแล้วดังนี้ กุกกุจจะนี้จึงเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งการตามเดือดร้อนในภายหลัง ด้วยเหตุนั้น เพื่อทรงแสดงกุกกุจจะนั้นโดยมูล จึงตรัสคำมีอาทิว่า อกปฺปิเย กปฺปิยสญฺญิตา ดังนี้.
               ในพระพุทธพจน์นั้น อธิบายว่า ภิกษุมีความสำคัญว่าควรย่อมฉันอาหารที่ไม่ควร มีความสำคัญว่าเนื้อที่ควรย่อมฉันเนื้ออันไม่ควร คือย่อมขบฉัน (เคี้ยวกิน) เนื้อหมีด้วยสำคัญว่าเป็นเนื้อสุกร หรือย่อมขบฉันเนื้อเสือเหลืองด้วยสำคัญว่าเป็นเนื้อกวาง เมื่อกาลผ่านไปแล้วสำคัญว่ายังเป็นกาลอยู่ ห้ามภัตแล้วสำคัญว่าไม่ได้ห้ามภัต เมื่อของที่ยังมิได้รับประเคนตกไปในบาตร ย่อมฉันด้วยสำคัญว่ารับประเคนแล้ว อย่างนี้ชื่อว่ากระทำการก้าวล่วงด้วยความสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร. ภิกษุเมื่อขบฉันเนื้อสุกรด้วยความสำคัญว่าเป็นเนื้อหมี และฉันอาหารในเวลาด้วยสำคัญว่านอกเวลา ชื่อว่ากระทำการก้าวล่วงด้วยความสำคัญในของที่ควรว่าไม่ควร.
               อนึ่ง สิ่งบางอย่างไม่มีโทษภิกษุกระทำด้วยความสำคัญว่ามีโทษและที่มีโทษทำความสำคัญว่าไม่มีโทษ ชื่อว่ากระทำการก้าวล่วงด้วยความสำคัญในสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ ด้วยความสำคัญในสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ. ก็เพราะกุกกุจจะนี้ย่อมเกิดขึ้นเพราะการก้าวล้วงที่ทำแล้ว ความสำคัญว่ามีโทษในของที่ไม่มีโทษอย่างนี้ว่า กรรมอันดีเรายังมิได้กระทำหนอ กุศลเรายังมิได้กระทำ เครื่องป้องกันของคนกล้ายังมิได้กระทำหนอ บาปเรากระทำแล้วหนอ ความหยาบช้า เรากระทำแล้ว ความร้ายกาจเรากระทำแล้ว ดังนี้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงอนุญาตวัตถุแม้อื่นแก่ภิกษุผู้มีกุกกุจจะนั้นจึงตรัสคำมีอาทิว่า การรำคาญ ฯลฯ ซึ่งมีลักษณะเห็นปานนี้ อันใด ดังนี้.
               ในอธิการนี้ บทว่า กุกกุจจะ มีอรรถง่ายทั้งนั้น. อาการแห่งความรำคาญ ชื่อว่า กุกฺกุจฺจายนา (กิริยาที่รำคาญ) ภาวะแห่งธรรมอันกุกกุจจะให้เป็นไปแล้ว ชื่อว่า กุกฺกุจฺจายิตตฺตํ (ความรำคาญ).
               ในคำว่า เจตโส วิปฺปฏิสาโร (ความเดือดร้อนใจ) นี้ ความว่า การเผชิญหน้าต่อกรรมที่ทำแล้วและยังไม่ทำ หรือเผชิญหน้าต่อสิ่งที่มีโทษและไม่มีโทษ ชื่อว่าวิปฏิสาร (ความเดือดร้อน) ก็เพราะความวิปฏิสารนั้นย่อมทำบาปอันทำแล้วให้เป็นกรรมที่ยังไม่กระทำ หรือย่อมไม่กระทำความดีที่ยังไม่ทำแล้วให้เป็นอันตนทำแล้ว ฉะนั้น การหวนระลึกไปผิดรูปหรือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าวิปฏิสาร.
               อนึ่ง เพื่อให้ทราบว่า วิปฏิสารนั้นเป็นของจิต มิใช่ของสัตว์ ดังนี้ จึงตรัสว่า เจตโส วิปฺปฏิสาโร (ความเดือดร้อนของจิต) ดังนี้. เนื้อความนี้เป็นการอธิบายสภาวะของกุกกุจจะนั้น.
               ก็กุกกุจจะเมื่อเกิดขึ้น ย่อมสลักใจอยู่เหมือนปลายเหล็กแหลมขีดภาชนะสำริดอยู่นั่นแหละเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า มโนวิเลโข (ความยุ่งใจ) เนื้อความนี้อธิบายกิจ (หน้าที่) ของกุกกุจจะนั้น.
               ส่วนกุกกุจจะ (ความรังเกียจ) ใดที่ตรัสไว้ในพระวินัยว่า ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรรังเกียจว่า การอยู่ฉันอาหารในโรงฉันเป็นประจำ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามไว้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ยอมรับ ดังนี้ กุกกุจจะ (การรังเกียจ) นั้นไม่เป็นนิวรณ์. เพราะพระอรหันต์ไม่มีความเดือดร้อนในภายหลังว่า สิ่งนี้เราทำผิดแล้ว ดังนี้ ก็ชื่อว่า กุกกุจจะ (ความรังเกียจ) ในพระวินัยกล่าวคือการพิจารณานี้ว่า สิ่งนี้ควร สิ่งนี้ไม่ควร เป็นนีวรณปฏิรูปกะ (คล้ายกับนิวรณ์).

               ว่าด้วยธรรมเป็นนิวรณ์และสัมปยุตตธรรม               
               ในนิทเทสบทว่า กตเม ธมฺมา นีวรณา เจว นีวรณสมฺปยุตฺตา (ธรรมเป็นนิวรณ์และสัมปยุตด้วยนิวรณ์ เป็นไฉน?) ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสแยกว่า ถีนมิทธนิวรณ์เป็นนิวรณ์และสัมปยุตด้วยนิวรณ์โดยอวิชชานิวรณ์ เพราะถีนะและมิทธะมิได้เว้นซึ่งกันและกัน ดังนี้.
               แต่เพราะเมื่ออุทธัจจะมีอยู่ กุกกุจจะก็ไม่มี อุทธัจจะแม้เว้นจากกุกกุจจะก็เกิดได้ ฉะนั้น จึงตรัสแยกอุทธัจจะนั้น.
               อนึ่ง นิวรณ์ใด ไม่ถึงการประกอบเข้ากับนิวรณ์ใด พึงทราบว่า นิวรณ์นั้นพระองค์มิได้ทรงประกอบไว้ ก็นิวรณ์เหล่านี้ควรเพื่อนำมากล่าวตามลำดับแห่งกิเลสบ้าง ตามลำดับแห่งมรรคบ้าง.
               ว่าด้วยลำดับแห่งกิเลส กามฉันทนิวรณ์และพยาปาทนิวรณ์อันอนาคามิมรรคย่อมละ. ถีนมิทธนิวรณ์และอุทธัจจนิวรณ์อันอรหัตมรรคย่อมละ. กุกกุจจนิวรณ์และวิจิกิจฉานิวรณ์อันโสดาปัตติมรรคย่อมละ. อวิชชานิวรณ์อันอรหัตมรรคย่อมละ.
               ว่าโดยลำดับแห่งมรรค กุกกุจจะและวิจิกิจฉาย่อมละได้ด้วยโสดาปัตติมรรค กามฉันทะและพยาบาทย่อมละได้ด้วยอนาคามิมรรค ถีนมิทธะ อุทธัจจะและอวิชชาย่อมละได้ด้วยอรหัตมรรค ดังนี้.
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ นิกเขปกัณฑ์ นีวรณโคจฉกะ จบ.
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 736อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 748อ่านอรรถกถา 34 / 761อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=6572&Z=6694
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=10827
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=10827
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๑  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :