ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 1072อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 1073อ่านอรรถกถา 35 / 1087อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
ธัมมหทยวิภังค์ สัพพสังคาหิกวารเป็นต้น

               อรรถกถาธัมมหทยวิภังค์               
               บัดนี้ บัณฑิตพึงทราบการกำหนดพระบาลีในธัมมหทยวิภังค์ อันเป็นอันดับต่อจากขุททกวัตถุวิภังค์ดังต่อไปอย่างนี้ก่อน.
               ก็ในวาระนี้ ชื่อว่าสัพพสังคาหิกวาระ คือวาระว่าด้วยการรวบรวมธรรมทั้งปวงที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งหมวดธรรมทั้งหลาย ๑๒ หมวด เริ่มตั้งแต่ขันธ์เป็นต้นไป.
               วาระที่ ๒ ชื่อว่าอุปปัตตานุปปัตติทัสสนวาระ คือวาระว่าด้วยการแสดงความเกิดขึ้นและความไม่เกิดขึ้นแห่งธรรมทั้งหลายเหล่านั้นนั่นแหละ ในกามธาตุเป็นต้น.
               วาระที่ ๓ ชื่อว่าปริยาปันนาปริยาปันนทัสสนวาระ คือวาระว่าด้วยการแสดงธรรมที่นับเนื่องกันและไม่นับเนื่องกัน ในกามธาตุเหล่านั้นนั่นแหละ.
               วาระที่ ๔ ชื่อว่าวิชชมานาวิชชมานธัมมทัสสนวาระ คือวาระว่าด้วยการแสดงธรรมอันมีและไม่มีอยู่ ในขณะแห่งความเกิดขึ้นในภูมิทั้ง ๓.
               วาระที่ ๕ ชื่อว่าทัสสนวาระ คือวาระว่าด้วยการแสดงธรรมเหล่านั้น ด้วยอำนาจแห่งความเป็นไปในระหว่างภูมิ.
               วาระที่ ๖ ชื่อว่าอุปาทกัมมอายุปปมาณทัสสนวาระ คือวาระว่าด้วยการแสดงประมาณแห่งอายุที่เกิดขึ้นเพราะกรรม ในคติทั้งหลาย.
               วาระที่ ๗ ชื่อว่าอภิญเญยยาทิวาระ คือวาระว่าด้วยธรรมที่พึงรู้ยิ่งเป็นต้น.
               วาระที่ ๘ ชื่อว่าสารัมมณานารัมมณาทิวาระ คือวาระว่าด้วยสารัมมณธรรมและอนารัมธรรมเป็นต้น.
               วาระที่ ๙ ชื่อว่าทัสสนวาระ เพราะสงเคราะห์ธรรมมีขันธ์เป็นต้นเหล่านั้นด้วยสามารถแห่งทิฏฐะและสุตะเป็นต้น.
               วาระที่ ๑๐ ชื่อว่าทัสสนวาระ เพราะสงเคราะห์ธรรมเหล่านั้นด้วยสามารถแห่งติกมาติกามีกุศลติกะเป็นต้น.

               อธิบายสัพพสังคาหิกวาระที่ ๑               
               บัณฑิตพึงทราบเนื้อความในวาระที่หนึ่ง ชื่อว่าสัพพสังคาหิกวาระก่อน โดยพระบาลีที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนดไว้ด้วยวาระทั้ง ๑๐ อย่างนี้ คือ เมื่อตรัสมิได้ตรัสว่า ขันธ์หนึ่ง ฯลฯ หรือว่าขันธ์ ๔ หรือว่าขันธ์ ๖ (ขันธ์ ๖ พวกเดียรถีย์บัญญัติขึ้น) แต่ตรัสถามว่า ขันธ์ทั้งหลาย มีเท่าไรในความเป็นไปในระหว่างแห่งภูมิจำเดิมตั้งแต่อเวจีมหานรกจนถึงภวัคคภูมิ คนอื่นชื่อว่า สามารถเพื่อจะกล่าวว่าขันธ์ ๕ ดังนี้ มิได้มี เพราะฉะนั้นเพื่อแสดงกำลังแห่งพระญาณของพระองค์ จึงตรัสคำวิสัชนาอันสมควรแก่คำถามว่า ปญฺจกฺขนฺธา ดังนี้ ก็บัณฑิตย่อมเรียกคำวิสัชนาตามคำถามในพระกำลังแห่งญาณนี้ว่า ชื่อว่าสัพพัญญพยากรณ์ ดังนี้.
               ในคำทั้งหลาย แม้มีคำว่า อายตนะ ๑๒ เป็นต้นก็นัยนี้. บัณฑิตพึงทราบประเภทแห่งธรรมทั้งหลายมีรูปขันธ์เป็นต้นโดยนัยที่กล่าวแล้วในขันธ์วิภังค์เป็นต้น.

               อธิบายอุปปัตตานุปปัตติทัสสนวาระที่ ๒               
               ในวาระที่ ๒ ธรรมเหล่าใดย่อมเกิดแก่สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดแล้วในกามธาตุในกามภพ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงเคราะห์ธรรมทั้งหลายอันนับเนื่องกันและไม่นับเนื่องกันในกามธาตุเหล่านั้นแล้ว ตรัสคำว่า กามธาตุยา ปญฺจกฺขนฺธา เป็นต้น.
               แม้ในรูปธาตุเป็นต้น ก็นัยนี้แหละ.
               ก็เพราะอายตนะทั้งหลายมีคันธายตนะเป็นต้น ย่อมไม่ทำกิจแห่งอายตนะเป็นต้น เพราะความไม่มีฆานายตนะเป็นต้นของพรหมทั้งหลายผู้นับเนื่องในรูปธาตุ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า รูปธาตุยา ฉ อายตนานิ นว ธาตุโย ดังนี้เป็นต้น.
               อนึ่ง ขึ้นชื่อว่า ธาตุที่ไม่นับเนื่องด้วยสามารถแห่งโอกาส หรือว่าด้วยสามารถแห่งความเกิดขึ้นแห่งสัตว์ ย่อมไม่มี เหตุใด เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสคำว่า อปริยาปนฺนธาตุยา ดังนี้ เพื่อแสดงซึ่งธาตุใดๆ อันไม่นับเนื่องแล้วนั้นๆ นั่นแหละ จึงตรัสว่า อปริยาปนฺเน กติ ขนฺธา เป็นต้น (แปลว่า ขันธ์ไหน ไม่นับเนื่อง).

               อธิบายปริยาปันนาปริยาปันนทัสสนวาระที่ ๓               
               ในวาระที่ ๓ คำว่า กามธาตุปริยาปนฺนา อธิบายว่า ชื่อว่าปริยาปันนา เพราะอรรถว่าการเสพซึ่งกามธาตุ อาศัยกามธาตุ อยู่ภายในกามธาตุนั้น หยั่งลงสู่กามธาตุนั้น จึงถึงซึ่งการนับว่าเป็นกามธาตุนั่นแหละ.
               แม้ในบทที่เหลือ ก็นัยนี้.
               คำว่า ปริยาปนฺนา ได้แก่ เป็นคำกำหนดธรรมเหล่านั้นด้วยสามารถแห่งภพ และด้วยสามารถแห่งโอกาส หรือว่าด้วยสามารถแห่งการเกิดขึ้นแห่งสัตว์.
               คำว่า อปริยาปนฺนา ได้แก่ เป็นคำไม่กำหนด เหมือนอย่างนั้น.

               อธิบายวิชชมานาวิชชมานธัมมทัสสนวาระที่ ๔               
               ในวาระที่ ๔ คำว่า เอกาทสายตนานิ ได้แก่ อายตนะ ๑๑ เว้นสัททายตนะ.
               จริงอยู่ สัททายตนะนั้นย่อมไม่บังเกิดขึ้นในขณะปฏิสนธิแน่แท้. บัณฑิตพึงทราบเนื้อความในบททั้งปวงโดยนัยนี้. ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสคติแห่งเทพและอสูรในหมวดทั้ง ๗ ในวาระนี้ แต่ตรัสคติแห่งคัพภเสยยกะทั้งหลายไว้โดยไม่แปลกกัน. เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า คัพภเสยยกะทั้งหลายย่อมเกิดในที่ใดๆ อายตนะของเทพและอสูรทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมเกิดในที่นั้นๆ.
               ธาตุทั้งหลายก็อย่างนั้น. คำที่เหลือในที่นี้มีอรรถตื้นทั้งนั้นแล.

               อธิบายทัสสนวาระที่ ๕               
               คำใดที่จะพึงกล่าวในวาระที่ ๕ คำนั้น ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในอรรถกถาแห่งธัมมสังคหะนั่นแหละ.

               อธิบายอุปาทกัมมอายุปปมาณทัสสนวาระที่ ๖               
               ในวาระที่ ๖ ชื่อว่า เทพ (เทวดา) เพราะย่อมบันเทิงด้วยเบญจกามคุณมีประการต่างๆ อันวิเศษด้วยฤทธิ์.
               คำว่า สมฺมติเทวา ได้แก่ เทพโดยสมมติของชาวโลกอย่างนี้ คือพระราชา พระเทวี.
               คำว่า อุปฺปตฺติเทวา ได้แก่เป็นเทพโดยอุปบัติ เพราะความบังเกิดขึ้นในเทวโลก.
               คำว่า วิสุทฺธิเทวา ได้แก่ เป็นเทพโดยความหมดจดจากกิเลสทั้งปวง ควรแก่การบูชาของเทพทั้งหมด.
               คำว่า ราชาโน ได้แก่ กษัตริย์ผู้มุรธาภิเษกแล้ว.
               คำว่า เทวิโย ได้แก่เป็นมเหสีของพระราชาเหล่านั้น.
               คำว่า กุมารา ได้แก่ พระกุมารที่เกิดขึ้นในพระครรภ์ของพระเทวี ของพระราชาผู้อภิเษกแล้ว.
               คำว่า อุโปสถกมฺมํ กริตฺวา ได้แก่ เข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ในวัน ๑๔ ค่ำเป็นต้น.
               บัดนี้ เพราะบุญกรรมมีการให้ทานเล็กๆ น้อยๆ เป็นต้น ย่อมเป็นปัจจัยแก่ความเป็นมนุษย์มีรูปงาม. คือว่า บุญกรรมอันตนกระทำแล้วน้อย ย่อมเป็นปัจจัยแก่ความเป็นมนุษย์มีรูปงาม ผิว่าบุญกรรมอันตนกระทำมากยิ่ง ก็ย่อมเป็นปัจจัยแก่ความเป็นกษัตริย์มหาศาลเป็นต้นมีประการต่างๆ อันเป็นส่วนนานัปการในเพราะบุญกรรมอันยิ่ง เหตุใด เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงความต่างกันแห่งความบังเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งบุญกรรมนั้น จึงตรัสคำว่า อปฺเปกจฺเจ คหปติมหาสาลานํ (แปลว่า บางคนเข้าถึงความเป็นคหบดีมหาศาล) เป็นต้น.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า มหนฺโต สาโร เอเตสํ พึงทราบวินิจฉัยว่า สาระ (ความมั่งคั่ง) อันใหญ่ของบุคคลเหล่านั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น บุคคลเหล่านั้น จึงชื่อว่ามหาสาระ (ผู้มั่งคั่ง).
               ก็คำว่า มหาสาระ นี้ ท่านเปลี่ยน อักษรให้เป็น อักษรจึงเป็นมหาสาละ.
               อีกอย่างหนึ่ง คหบดีทั้งหลายนั่นแหละเป็นผู้มหาศาล หรือว่าความมหาศาลทั้งหลาย มีอยู่ในคหบดีทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น คหบดีเหล่านั้นจึงชื่อว่า คหบดีมหาศาล.
               แม้ในคำที่เหลือทั้งหลายก็นัยนี้แหละ.

               คหบดีมหาศาล               
               ในบุคคลเหล่านั้น ในบ้านของบุคคลเหล่าใด มีทรัพย์ต้นทุนเก็บไว้อย่างต่ำสุด ๔๐ โกฏิ และย่อมใช้จ่ายกหาปณะทั้งหลายปรุงอาหารประจำวันละ ๕ อัมพณะ ผู้นี้ชื่อว่าคหบดีมหาศาล.

               พราหมณ์มหาศาล               
               ก็ในบ้านของบุคคลใดมีทรัพย์ต้นทุนอย่างต่ำสุด ๘๐ โกฏิ และย่อมใช้กหาปณะทั้งหลายปรุงอาหารวันละ ๑๐ อัมพณะ บุคคลนี้ชื่อว่าพราหมณ์มหาศาล.

               กษัตริย์มหาศาล               
               ในพระราชมณเฑียรของพระราชาองค์ใด มีพระราชทรัพย์คงพระคลังอย่างต่ำสุด ๑๐๐ โกฏิ และย่อมใช้กหาปณะทั้งหลายปรุงอาหารวันละ ๒๐ อัมพณะ พระราชานี้ชื่อว่ากษัตริย์มหาศาล.
               คำว่า สหพฺยตํ ได้แก่ ความเป็นผู้อยู่ร่วมกัน (เป็นสหายกัน). อธิบายว่า เกิดเสมอกัน.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า จาตุมหาราชิกานํ เป็นต้น.
               เทวดาทั้งหลาย ชื่อว่าจาตุมมหาราชิกา ย่อมมี ณ ท่ามกลางแห่งภูเขา ชื่อสิเนรุ. ในเทวดาเหล่านั้นบางพวกดำรงอยู่ที่ภูเขา บางพวกดำรงอยู่ที่อากาศ. ลำดับแห่งเทวดาเหล่านั้นถึงภูเขาจักรวาล. เทวดาเหล่านี้ คือชื่อว่าขิฑฑาปโทสิกะ ชื่อว่ามโนปโทสิกะ ชื่อว่าสีตวลาหก ชื่อว่าอุณหวลาหก ชื่อว่าจันทิมเทวบุตร ชื่อว่าสุริยเทวบุตร แม้ทั้งปวงดำรงอยู่ในเทวโลกชั้นจาตุมมหาราชิกาเท่านั้น.
               ชนทั้งหลาย ๓๓ คนบังเกิดแล้วในเทวโลกนั้น เพราะเหตุนั้น เทวโลกนั้นจึงชื่อว่าดาวดึงส์ (แปลว่า เทวโลกเป็นที่อยู่ของเทวดา ๓๓ ตน). ก็เทวดาแม้เหล่านั้นดำรงอยู่ที่ภูเขาก็มี ดำรงอยู่ที่อากาศก็มี. อันดับแห่งเทวดาเหล่านั้น ก็ถึงภูเขาจักรวาล. อันดับของเทวดายามาเป็นต้น ก็เหมือนกัน.
               จริงอยู่ แม้ในเทวโลกเดียว อันดับของเทวดาทั้งหลาย ชื่อว่าไม่ถึงภูเขาจักรวาล ย่อมไม่มี.
               ในเทวดาเหล่านั้น เทวดาเหล่าใด ยังชีวิตให้ดำเนินไป ยังชีวิตให้เป็นไปทั่ว ยังชีวิตให้ถึงพร้อมซึ่งความสุขอันเป็นทิพย์ เพราะเหตุนั้น เทวดาเหล่านั้นจึงชื่อว่ายามา.
               เทวดาเหล่าใดเป็นผู้ยินดีแล้ว ร่าเริงแล้ว เพราะเหตุนั้น เทวดาเหล่านั้นจึงชื่อว่าดุสิต.
               เทวดาเหล่าใดเนรมิตแล้วๆ ย่อมยินดีในการบริโภคกาม (กามโภค) ตามชอบใจในเวลาที่ปรารถนาเพื่อยินดีอันยิ่ง โดยความเป็นอารมณ์อันตกแต่งตามปกติ เพราะเหตุนั้น เทวดาเหล่านั้นจึงชื่อว่านิมมานรดี.
               เทวดาเหล่าใดทราบซึ่งอาจาระแห่งจิตแล้วยังอำนาจให้เป็นไปอยู่ในโภคะทั้งหลายอันผู้อื่นเนรมิตให้แล้ว เพราะเหตุนั้น เทวดาเหล่านั้นจึงชื่อว่าปรนิมมิตวสวัตดี.

               อธิบายอายุของมนุษย์และเทวดา               
               คำว่า อปฺปํ วา ภิยฺโย อธิบายว่า อายุของเหล่ามนุษย์นั้นไม่ถึง ๒๐๐ ปี คือว่ามีอายุร้อยปี เกิน ๒๐ ปี หรือว่า ๓๐, ๔๐, ๕๐ ปี หรือว่า ๖๐ ปี เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า อปฺปํ (อายุน้อย) ดังนี้ เพราะไม่ถึง ๒๐๐ ปี.
               พึงทราบวินิจฉัยในพรหมปาริสัชชาเป็นต้น.
               พรหมทั้งหลายเป็นผู้แวดล้อมคือ เพราะเป็นบริวารผู้บำเรอมหาพรหม เหตุนั้น ชื่อว่าพรหมปาริสัชชา. ชื่อว่าพรหมปุโรหิตา เพราะตั้งอยู่ในความเป็นปุโรหิต (อาจารย์) ของพรหมเหล่านั้น. ชื่อว่ามหาพรหมา เพราะเป็นพรหมใหญ่ โดยความเป็นผู้มีวรรณะงามและความเป็นผู้มีอายุยืน. ชนแม้ทั้ง ๓ เหล่านี้ย่อมอยู่ในปฐมฌานภูมิอันเป็นพื้นเดียวกัน. ก็แต่ว่าอายุแห่งพรหมเหล่านั้นต่างกัน.
               พรหมที่ชื่อว่าปริตตาภา เพราะมีรัศมีน้อย. ชื่อว่าอัปปมาณาภา เพราะมีรัศมีหาประมาณมิได้. ที่ชื่อว่าอาภัสสรา เพราะรัศมีจากสรีระของพรหมเหล่านั้นเป็นราวกะเปลวไฟจากประทีบมีด้ามซ่านไป ซ่านออกไปสู่ที่ต่างๆ ราวกะถึงการเจาะทะลุไป. ชนทั้ง ๓ แม้เหล่านี้ ย่อมอยู่ระดับเดียวกันในทุติยฌานภูมิ. ก็แต่ว่าการกำหนดอายุของพรหมเหล่านั้นต่างกัน.
               พรหมที่ชื่อว่าปริตตสุภา เพราะความงามของพรหมเหล่านั้นน้อย. ชื่อว่าอัปปมาณสุภา เพราะความงามของพรหมเหล่านั้นไม่มีประมาณ. ชื่อว่าสุภกิณหา เพราะพรหมเหล่านั้นมีความงามเดียรดาษกว้างขวาง มีรัศมีแห่งสรีระงดงาม มีสีแห่งกายเป็นอันเดียวกัน มีสิริดุจแท่งทองคำรุ่งเรืองสุกใส ตั้งอยู่ในหีบทองคำฉะนั้น. ชนเหล่านี้แม้ทั้ง ๓ ย่อมอยู่ในตติยฌานภูมิอันเป็นระดับเดียวกัน. แต่ว่า การกำหนดอายุของพรหมเหล่านั้นต่างกัน.
               คำว่า อารมฺมณนานตฺตตา (แปลว่า เพราะอารมณ์ที่ต่างกัน) ได้แก่ความเป็นผู้มีอารมณ์ต่างกัน ในคำว่า มนสิการนานตฺตตา เป็นต้น (แปลว่า เพราะมนสิการที่ต่างกัน) ก็นัยนี้. บัณฑิตพึงทราบในการต่างกันแห่งอารมณ์นั้นดังนี้ คือปฐวีกสิณ ย่อมเป็นอารมณ์ของบุคคลคนหนึ่ง ฯลฯ โอทาสิณเป็นอารมณ์ของบุคคลคนหนึ่ง ดังนี้ ชื่อว่าอารัมมณนานัตตะ ซึ่งแปลว่ามีอารมณ์ต่างกัน.
               คำว่า บุคคลหนึ่งมีฉันทะในปฐวีกสิณ ฯลฯ บุคคลหนึ่งมีฉันทะในโอทาตกสิณ นี้ชื่อว่าความเป็นผู้มีฉันทะต่างกัน.
               คำว่า บุคคลผู้หนึ่ง ย่อมกระทำการปรารถนาในปฐวีกสิณ ฯลฯ ผู้หนึ่งย่อมกระทำความปรารถนาในโอทากสิณ นี้ชื่อว่าความเป็นผู้มีปณิธิต่างกัน.
               คำว่า ผู้หนึ่งย่อมน้อมใจไปด้วยสามารถแห่งปฐวีกสิณ ฯลฯ ผู้หนึ่งย่อมน้อมใจไปในโอทาตกสิณ นี้ชื่อว่าความเป็นผู้มีความน้อมใจเชื่อต่างกัน.
               คำว่า บุคคลผู้หนึ่งย่อมยังจิตให้มุ่งไปด้วยสามารถแห่งปฐวีกสิณ ฯลฯ ผู้หนึ่งย่อมให้จิตมุ่งไปด้วยสามารถแห่งโอทาตกสิณ นี้ชื่อว่าความเป็นผู้มีอภินีหารต่างกัน.
               คำว่า บุคคลผู้หนึ่งมีปัญญาสามารถกำหนดปถวีกสิณ ฯลฯ คนหนึ่งมีปัญญาสามารถกำหนดโอทากสิณ นี้ชื่อว่าความเป็นผู้มีปัญญาต่างกัน.
               ในอธิการนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอารมณ์และมนสิการไว้โดยส่วนเบื้องต้น. ฉันทะ ปณิธิ ความน้อมใจเชื่อและอภินีหาร ย่อมเป็นไปในอัปปนาบ้าง ในอุปจาระบ้าง. ส่วนปัญญา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นมิสสกะ คือเป็นทั้งโลกิยะและโลกุตตระ.
               คำว่า อสญฺญสตฺตานํ ได้แก่ สัตว์ที่เว้นจากสัญญา.
               จริงอยู่ สมณะพราหมณ์บางพวกบวชในลัทธิต่างๆ เห็นโทษในจิตว่า เพราะอาศัยจิต ชื่อว่าความยินดี ความยินร้ายและความหลงใหล จึงมีดังนี้ แล้วจึงยังสัญญาวิราคะ (ความหมดความยินดีในสัญญา) ให้เกิด มนสิการว่า ชื่อว่าความเป็นผู้ไม่มีจิต เป็นสิ่งที่พอใจ และนั่นเป็นทิฏฐธัมมนิพพาน ดังนี้ แล้วเจริญสมาบัติเข้าถึงสัญญาวิราคะนั้น จึงเกิดขึ้นในภพที่ไม่มีสัญญานั้น.
               ในขณะแห่งการเกิดของอสัญญสัตตพรหมเหล่านั้น รูปขันธ์อย่างเดียวเท่านั้น ย่อมเกิดขึ้น. พรหมเหล่านั้นเมื่อยืนเกิด ก็ย่อมยืนอยู่นั่นแหละ เมื่อนั่งเกิด ก็ย่อมนั่งอยู่นั่นแหละ เมื่อนอนเกิด ก็ย่อมนอนอยู่นั่นแหละ เป็นดังเช่นรูปจิตรกรรม (รูปวาด) ดำรงอยู่ในภพนั้นตลอด ๕๐๐ กัป ในที่สุดแห่งพรหมเหล่านั้น รูปกายนั้นย่อมอันตรธานไป กามาวจรสัญญาย่อมเกิดขึ้น. ด้วยเหตุนั้น เทวดาเหล่านั้นย่อมปรากฏว่า เคลื่อนแล้วจากกายนั้นเพราะความเกิดขึ้นแห่งสัญญาในโลกนี้ดังนี้.
               พรหมเหล่านั้นที่ชื่อว่าเวหัปผลา เพราะผลของเขาเหล่านั้นไพบูลย์.
               ชื่อว่าอวิหา เพราะย่อมไม่เสื่อม ไม่สูญไปจากสมาบัติของตน.
               ชื่อว่าอตัปปา เพราะย่อมไม่ยังสัตว์ไรๆ ให้เดือดร้อน.
               ชื่อว่าสุทัสสา เพราะอรรถว่าเห็นดี มีรูปงามน่าเลื่อมใส.
               ชื่อว่าสุทัสสี เพราะเทวดาเหล่านั้นย่อมเห็นด้วยดี หรือว่า การเห็นของเทวดาเหล่านั้นดี.
               ชื่อว่าอกนิฏฐา เพราะเป็นผู้เจริญที่สุด ด้วยคุณทั้งหมดทีเดียว และด้วยภวสมบัติสำหรับผู้ที่มีคุณธรรมน้อย ย่อมไม่มีในที่นี้.
               คำว่า อากาสานญฺจายตนํ อุปคตา ได้แก่ เข้าถึงอากาสานัญจายนะ. ในคำแม้นอกนี้ก็นัยนี้แหละ.
               ภูมิคือ กามาวจร ๖ พรหมโลก ๙ สุทธาวาส ๕ อรูป ๔ อสัญญสัตตา ๑ และเวหัปผลา ๑ รวมเป็นเทวโลก ๒๖ ภูมิและมนุษยโลกอีกหนึ่ง จึงเป็น ๒๗ ภูมิด้วยประการฉะนี้.
               บรรดาภูมิทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงกำหนดอายุของมนุษย์และเทวดา มิได้ทรงกำหนดอายุสัตว์ในอบายภูมิ ๔ และในภุมมเทวดาทั้งหลาย.
               ถามว่า เพราะเหตุไร จึงมิทรงกำหนดอายุในอบาย ๔ และภุมมเทวดาเหล่านั้น.
               ตอบว่า ในนรกก่อน กรรมเท่านั้นเป็นประมาณ คือว่า กรรมยังไม่สิ้นไปตราบใด ก็ย่อมไหม้อยู่ในนรกตราบนั้น ในอบายที่เหลือก็เหมือนกัน.
               กรรมนั่นแหละเป็นประมาณแม้ของภุมมเทวดาทั้งหลาย.
               จริงอยู่ เทวดาบางพวกเกิดแล้วในภูมินั้น ย่อมตั้งอยู่เพียง ๗ วัน บางพวกตั้งอยู่กึ่งเดือน บางพวกตั้งอยู่หนึ่งเดือน แม้ตั้งอยู่ถึงหนึ่งกัปก็มี. ในเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น พระโสดาบันผู้ดำรงอยู่ในความเป็นคฤหัสถ์ในมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมบรรลุซึ่งสกทาคามิผลบ้าง อนาคามิผลบ้าง อรหัตตผลบ้าง.
               บรรดาพระอริยะเหล่านั้น พระโสดาบันเป็นต้นย่อมดำรงอยู่ตลอดชีวิต พระขีณาสพทั้งหลายเท่านั้นย่อมปรินิพพาน หรือว่าย่อมบวช.
               ถามว่า เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะว่า ธรรมดาว่าพระอรหัตมีคุณอันประเสริฐที่สุด แต่เพศคฤหัสถ์เป็นเพศต่ำ. เพศแห่งคฤหัสถ์จึงไม่อาจเพื่อทรงคุณอันสูงสุดนั้น เพราะความเป็นเพศต่ำ. เพราะฉะนั้น พระขีณาสพเหล่านั้นจึงใคร่เพื่อจะปรินิพพาน หรือว่าเพื่อจะบวช.
               ส่วนภุมมเทวดา แม้บรรลุพระอรหัตแล้ว ย่อมดำรงอยู่ตลอดชีวิต. พระโสดาบันและพระสกทาคามีนั่นแหละ ในเทวดากามาวจร ๖ ชั้น ย่อมดำรงอยู่ตลอดกาลแห่งชีวิต. พระอนาคามีควรไปสู่รูปภพ. แต่พระขีณาสพ ควรเพื่อปรินิพพาน.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะความไม่มีโอกาส (ที่ว่าง) เพื่อหลีกเร้น.
               พระอริยะแม้ทั้งหมดในรูปาวจรและอรูปาวจร ย่อมดำรงอยู่ตลอดชีวิต. พระโสดาบัน พระสกทาคามี ผู้บังเกิดในรูปาวจรนั้น ย่อมไม่กลับมาในโลกนี้อีก ย่อมปรินิพพานในภพนั้นนั่นแหละ. เพราะว่า พระโสดาบันและพระสกทาคามีเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ไม่กลับมาเพราะฌานลาภี (หมายถึงพระโสดาบัน พระสกทาคามีในรูปภพ มีชื่อว่าฌานลาภีอนาคามีผู้ไม่กลับมาเพราะได้ฌาน)
               ถามว่า ก็อะไร ย่อมกำหนดการได้สมาบัติ ๘?
               ตอบว่า ฌานอันคล่องแคล่วย่อมกำหนด คือว่า ฌานใดของบุคคลนั้นคล่องแคล่ว เพราะความที่ฌานคล่องแคล่วนั้น สมาบัติ ๘ จึงเกิดขึ้น.
               ถามว่า ก็อะไร ย่อมกำหนดฌานทั้งหลายทั้งปวงอันคล่องแคล่ว?
               ตอบว่า ความปรารถนากำหนด คือบุคคลใดย่อมปรารถนาการเกิดขึ้นในที่ใด ย่อมทำฌานแล้วเกิดขึ้นในที่นั้นนั่นแหละ.
               ถามว่า เมื่อความปรารถนาไม่มี อะไรย่อมกำหนด?
               ตอบว่า สมาบัติอันผู้นั้นเข้าถึงแล้วในสมัยใกล้มรณะย่อมกำหนด.
               ถามว่า สมาบัติที่ถึงพร้อมแล้วในสมัยใกล้มรณะไม่มี อะไรย่อมกำหนดเล่า?
               ตอบว่า เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ.
               จริงอยู่ บุคคลนั้นย่อมบังเกิดขึ้นในเนวสัญญานาสัญญายตนภพโดยส่วนเดียว. ความบังเกิดขึ้นในที่นั้นนั่นแหละก็ดี การเกิดขึ้นในเบื้องบนก็ดี ย่อมมีแก่พระอริยสาวกผู้บังเกิดในพรหมโลก ๙ หามีการเกิดขึ้นในภพเบื้องต่ำไม่. ส่วนการเกิดในภพนั้นก็ดี การเกิดในภพที่สูงขึ้นไปก็ดี การเกิดในภพเบื้องต่ำก็ดี ย่อมมีแก่ปุถุชนทั้งหลาย. ความเกิดขึ้นในภพนั้นก็ดี การเกิดขึ้นในภพที่สูงขึ้นไปก็ดี ย่อมมีแก่พระอริยสาวกในสุทธาวาส ๕ และในอรูปภพ ๔. พระอนาคามีผู้บังเกิดในปฐมฌานภูมิ ชำระพรหมโลก ๙ ดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นสูงสุดแล้ว จึงปรินิพพาน. เทวโลกทั้ง ๓ เหล่านี้ คือ เวหัปผลา อกนิฏฐา เนวสัญญานาสัญญายตนะ ชื่อว่าภพอันประเสริฐที่สุด. พระอนาคามีในภพทั้ง ๓ เหล่านี้ย่อมไม่ไปสู่ภพเบื้องบนและไม่ลงมาสู่ภพเบื้องต่ำ ย่อมปรินิพพานในภพนั้นๆ นั่นแหละ ดังนี้
               นี้เป็นปกิณณกะในวาระที่ ๖ แล.

               อภิญเญยยาทิวาระที่ ๗               
               ในวาระที่ ๗ บัณฑิตพึงทราบความเป็นแห่งอภิญเญยยะ (ธรรมที่พึงรู้ยิ่งหรือธรรมที่ควรรู้ยิ่ง) ด้วยสามารถแห่งการรู้ยิ่งซึ่งการกำหนดธรรมอันเป็นไปกับด้วยลักษณะ.
               ความเป็นแห่งปริญเญยยะ (แปลว่า ธรรมควรกำหนดรู้) พึงทราบด้วยสามารถแห่งปริญญาทั้งหลาย คือญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา. ก็ในข้อนั้น บัณฑิตพึงทราบด้วยสามารถแห่งญาตปริญญาและตีรณปริญญาเท่านั้น. ในคำว่า รูปขันธ์เป็นอภิญเญยยะเป็นปริญเญยยะ ไม่ใช่ปหาตัพพะเป็นต้น นั่นแหละ.
               สมุทยสัจจะ บัณฑิตพึงทราบด้วยสามารถแห่งปหานปริญญา ในคำว่า สมุทยสัจจะ เป็นอภิญเญยยะ เป็นปริญเญยยะ เป็นปหาตัพพะเป็นต้น.

               อธิบายสารัมมณานารัมมณาทิวาระที่ ๘               
               ในวาระที่ ๘ บัณฑิตพึงทราบความไม่มีอารมณ์ (อนารัมมณะ) และมีอารมณ์ (อารัมมณะ) ด้วยสามารถแห่งอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้น และแห่งวิญญาณทั้งหลายมีจักขุวิญญาณเป็นต้น.

               อธิบายทัสสนวาระที่ ๙               
               ในวาระที่ ๙ มีเนื้อความตื้นทั้งนั้น.

               อธิบายทัสสนวาระที่ ๑๐               
               แม้ในวาระที่ ๑๐ คำใดที่ข้าพเจ้าพึงกล่าว คำนั้นทั้งหมด ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในวาระว่าด้วยปัญหาปุจฉกะนั้นๆ นั่นแล.

               วรรณนาธัมมหทยวิภังค์ในสัมโมหวิโนทนีอรรถกถาวิภังค์               
               จบเพียงเท่านี้.               

               นิคมคาถา               
                                   พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเคารพ
                         ธรรม ทรงมีหมู่ทวยเทพนับพันห้อมล้อม
                         แล้วทรงแสดงพระอภิธรรมแก่เทพทั้งหลาย
                         ผู้เคารพธรรม ในเทพนคร.
                                   ทรงเป็นนาถะพระองค์เดียวไม่มีบุรุษ
                         เป็นสหาย ตรัสวิภังคปกรณ์อันเป็นปกรณ์ที่
                         ๒ มีคุณบริสุทธิ์ประดับด้วยวิภังค์ ๑๘ วิภังค์
                         อันใดไว้
                                   เพื่อประกาศอรรถแห่งปกรณ์นั้น
                         ข้าพเจ้าผู้ชื่อว่า พุทธโฆสะ ผู้อันพระสังฆ-
                         เถระนิมนต์แล้ว ด้วยคุณอันตนตั้งอยู่ คือ
                         มีอินทรีย์อันสำรวมแล้ว มีคติไม่ชักช้า มี
                         ความรู้ดี ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงถือเอา
                         อรรถกถาเริ่มรจนาในอรรถอันละเอียดอ่อน
                         ด้วยดี ชื่อว่า สัมโมหวิโนทนี เพื่อบรรเทา
                         โมหะความหลงมาอธิบาย สัมโมหวิโนทนีนี้
                         รวมเอาสาระแห่งอรรถกถาของอาจารย์ใน
                         ปางก่อนไว้ บัดนี้ปกรณ์นี้ถึงที่สุดแล้วด้วย
                         พระบาลี ๔๐ ภาณวาร ปราศจากอันตรายแล้ว
                         ฉันใด ขอมโนรถแม้ทั้งปวงของสรรพสัตว์
                         ทั้งหลาย จงปราศจากมลทินทั้งหลาย จง
                         สำเร็จสมปณิธานความปรารถนาฉันนั้นเถิด.
                                   ก็บุญใดที่ข้าพเจ้ารจนาปกรณ์นี้ให้
                         สำเร็จแล้ว เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัท-
                         ธรรม ด้วยอานุภาพแห่งบุญนั้น ขอสัตว์
                         โลกพร้อมทั้งเทวโลก จงได้รับบุญนั้นด้วย.
                                   ขอพระสัทธรรมจงตั้งอยู่ดีตลอด
                         กาลนาน ขอสัตว์โลกผู้ยินดียิ่งในพระธรรม
                         จงเจริญทุกเมื่อ และขอชนบททั้งหลาย
                         จงถึงพร้อมด้วยความสุขมีความเกษมสำราญ
                         มีภิกษาหาได้ง่ายเป็นต้น ตลอดกาลเป็นนิตย์.
               ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ อรรถกถาวิภังคปกรณ์ชื่อว่าสัมโมหวิโนทนีนี้ อันพระเถระผู้อันครูทั้งหลายเรียกว่า พุทธโฆสะ ผู้ประดับด้วยศรัทธา พุทธิ (ความรู้) และวิริยะอันหมดจดอย่างยิ่ง ผู้ยังเหตุแห่งคุณมีศีล อาจาระ อัชชวะ (ความซื่อตรง) และมัททวะ (ความอ่อนโยน) เป็นต้นให้ตั้งขึ้นแล้ว ผู้สามารถในการสางความรกชัฏ (คือวินิจฉัยข้อความที่ยุ่งยาก) ในความแตกต่างกันแห่งลัทธิของตนและผู้อื่น ผู้ประกอบด้วยความสว่างแห่งปัญญา ผู้มีกำลังแห่งญาณอันไม่ข้องขัดในสัตถุศาสน์ สามารถแยกแยะการศึกษาพระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถา ผู้เป็นมหาไวยากรณ์ (คือเป็นผู้อธิบายอันกว้างขวาง) ผู้ประกอบด้วยความงามแห่งถ้อยคำอันไพเราะเป็นเลิศ ทั้งเปล่งออกไปได้คล่องซึ่งเกิดแต่กรณสมบัติ เป็นนักพูดชั้นเยี่ยมโดยพูดได้ทั้งผูกและแก้ ผู้เป็นกวีใหญ่ ผู้เป็นอลังการแห่งวงศ์ของเหล่าพระเถระผู้อยู่ในมหาวิหาร ซึ่งเป็นประทีปแห่งเถรวงศ์๑- มีความรู้อันตั้งมั่นด้วยดีในอุตตริมนุษยธรรม อันประดับด้วยคุณมีอภิญญา ๖ เป็นต้น แตกฉานในปฏิสัมภิทาแวดล้อมแล้ว ผู้มีความรู้หมดจดไพบูลย์เป็นผู้กระทำปกรณ์นี้ไว้.
                                   ขอปกรณ์ อันแสดงนัยแห่งปัญญา
                         วิสุทธินี้ จงตั้งอยู่ในโลก เพื่อกุลบุตรทั้งหลาย
                         ผู้แสวงหาธรรมเครื่องสลัดตนออกจากโลก
                         ตราบเท่าที่พระนามว่า พุทโธ ขององค์
                         พระโลกเชษฐ์มหาฤๅษีเจ้า ผู้มีจิตบริสุทธิ์
                         ผู้คงที่ ยังเป็นไปในโลก เทอญ.
               ขุนเขายังดำรงอยู่ตราบใด พระจันทร์ยังส่องแสงอยู่เพียงใด ขอพระสัทธรรมของพระโคดม ผู้ทรงมีพระยศใหญ่ จงดำรงอยู่เพียงนั้นเทอญ.
____________________________
๑- ตั้งแต่ คำว่า ซึ่งเป็นประทีปแห่งเถรวงศ์... ฯลฯ ... ปฏิสัมภิทาแตกฉาน เป็นคำขยายความแสดงคุณสมบัติของพระเถระผู้อยู่ในมหาวิหาร มิใช่ของผู้รจนาคัมภีร์นี้.

               จบบริบูรณ์.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ธัมมหทยวิภังค์ สัพพสังคาหิกวารเป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 1072อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 1073อ่านอรรถกถา 35 / 1087อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=13904&Z=13972
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=13196
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=13196
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :