ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 114อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 124อ่านอรรถกถา 35 / 131อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
ธาตุวิภังค์ อภิธรรมภาชนีย์

               วรรณนาอภิธรรมภาชนีย์               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงธาตุแม้ทั้งหมดในอภิธรรมภาชนีย์โดยรวบรัดเท่านั้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า อฏฺฐารส ธาตุโย จกฺขุธาตุ รูปธาตุ (ธาตุ ๑๘ คือจักขุธาตุ รูปธาตุ) ดังนี้.
               ในการวรรณนาอภิธรรมภาชนีย์นั้น พึงทราบวาระด้วยอุเทศก่อน.
                         อตฺถโต ลกฺขณาทีหิ   กมตาวตฺวสงฺขโต
                         ปจฺจยา อถ ทฏฺฐพฺพา  เวทิตพฺโพ วินิจฺฉโย
                                        พึงทราบวินิจฉัยโดยอรรถ โดย
                         ลักษณะเป็นต้น โดยลำดับ โดยมีจำนวน
                         เท่านั้น โดยการนับ โดยปัจจัย และโดยเป็น
                         ธรรมที่ควรเห็น.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยอรรถ               
               บรรดาอุทเทสเหล่านั้น คำว่า โดยอรรถ พึงทราบวินิจฉัยโดยอรรถที่แปลกกันของธรรมมีจักขุเป็นต้น โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ที่ชื่อว่าจักขุ เพราะอรรถว่าย่อมเห็น. ชื่อว่ารูป เพราะอรรถว่าย่อมแสดงตนให้ปรากฏ. ความรู้ (วิญญาณ) ทางจักขุ ชื่อว่าจักขุวิญญาณ ดังนี้ก่อน.
               ส่วนโดยไม่แปลกกันมีวินิจฉัย ดังนี้
               ที่ชื่อว่าธาตุ เพราะอรรถว่าย่อมจัดแจง เพราะอรรถว่าย่อมทรงไว้ เพราะอรรถว่าเป็นการจัดแจง เพราะอรรถว่าเป็นเหตุทรงไว้โดยประการต่างๆ หรือเพราะอรรถว่าเป็นที่ทรงไว้.
               จริงอยู่ ธาตุทั้งหลายที่เป็นโลกีย์ เป็นธาตุที่กำหนดไว้โดยความเป็นเหตุ ย่อมจัดแจงสังสารทุกข์ไว้หลายประการ เหมือนธาตุที่เป็นทองและเงินเป็นต้นที่บุคคลจัดทำเป็นทองและเงินเป็นต้น.
               อนึ่ง ธาตุทั้งหลายอันสัตว์ย่อมทรงไว้ คือรองรับไว้ เหมือนของหนักที่แบกไปอยู่.
               อนึ่ง ธาตุเหล่านี้ชื่อว่าเป็นเพียงจัดแจงทุกข์ไว้เท่านั้น เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ.
               อนึ่ง ธาตุเหล่านี้เป็นเหตุให้พวกสัตว์ทั้งหลายท่องเที่ยวไปสู่สังสารทุกข์.
               อนึ่ง ธาตุที่เป็นเหตุเหล่านี้เป็นที่ตั้ง คือเป็นที่ยังสังสารทุกข์ให้สถิตอยู่ ในบรรดาจักขุเป็นต้น ธรรมแต่ละอย่าง ท่านเรียกว่าธาตุ ด้วยอรรถว่าย่อมจัดแจง ย่อมทรงไว้เป็นต้น ด้วยอำนาจการมีอยู่ตามที่มีอยู่จริง ดังพรรณนามาฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ขึ้นชื่อว่าอัตตาของพวกเดียรถีย์ย่อมไม่มีโดยภาวะของตนฉันใด ธาตุเหล่านี้ย่อมเป็นฉันนั้นหามิได้ ก็ที่เรียกว่าธาตุ เพราะอรรถว่าย่อมทรงไว้ซึ่งสภาวะของตน เปรียบเหมือนส่วนแห่งศิลามีหรดาลและมโนศิลาเป็นต้นอันวิจิตรในโลก เรียกว่าธาตุ ฉันใด ธาตุ (มีจักขุเป็นต้น) แม้เหล่านี้ก็เรียกว่าธาตุฉันนั้นเหมือนกัน เพราะธาตุอันวิจิตรเหล่านี้เป็นอวัยวะที่พึงรู้ได้ด้วยญาณเท่านั้น หรือว่าในส่วนทั้งหลายมีรสและเลือดเป็นต้นซึ่งกำหนดด้วยลักษณะที่ตรงกันข้ามซึ่งกันและกันอันเป็นส่วนของกายที่ตั้งขึ้น คือสรีระ ท่านเรียกชื่อว่าธาตุ ฉันใด ในส่วนของอัตภาพกล่าวคือเบญจขันธ์แม้นี้ ก็พึงทราบว่า ชื่อว่าธาตุ ฉันนั้นนั่นแหละ เพราะว่าจักขุเป็นต้นเหล่านี้ ท่านกำหนดโดยลักษณะที่ต่างซึ่งกันและกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ธาตุ นี้ เป็นเพียงชื่อของสิ่งที่ปราศจากชีวะ.
               จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงธาตุ เพื่อถอนความสำคัญว่ามีชีวะไว้ในคำทั้งหลายมีอาทิว่า ฉ ธาตุโร อยํ ภิกฺขุ ปุริโส (ดูก่อนภิกษุ คนนี้มีธาตุ ๖) ดังนี้ เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า ชื่อว่าจักขุธาตุ เพราะอรรถว่าเป็นจักขุด้วย เป็นธาตุด้วย ฯลฯ ชื่อว่ามโนวิญญาณธาตุ เพราะอรรถว่าเป็นมโนวิญญาณด้วย เป็นธาตุด้วย โดยอรรถตามที่กล่าวแล้วแล.
               พึงทราบวินิจฉัยในธาตุนี้โดยอรรถอย่างนี้ก่อน.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยลักษณะเป็นต้น               
               ก็คำว่า โดยลักษณะเป็นต้น ในที่นี้ พึงทราบวินิจฉัยโดยลักษณะเป็นต้นเหล่านั้น แห่งธรรมมีจักขุเป็นต้นเหล่านั้น โดยนัยตามที่กล่าวไว้ในหนหลังนั่นแล.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยลำดับ               
               ในข้อว่า โดยลำดับ แม้ในที่นี้ บรรดาลำดับทั้งหลายมีลำดับแห่งการเกิดเป็นต้นตามที่กล่าวไว้ก่อน ลำดับคือการแสดง (เทศนา) เท่านั้นสมควร ก็ลำดับแห่งการแสดงนี้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยอำนาจการกำหนดตามลำดับเหตุและผล.
               จริงอยู่ สองบทคือจักขุธาตุและรูปธาตุนี้เป็นเหตุ คำว่า จักขุวิญญาณธาตุ นี้เป็นผล.
               พึงทราบวินิจฉัยในบททั้งปวงโดยลำดับดังกล่าวมานี้.
____________________________
๑- ลำดับมี ๕ ตามที่กล่าวไว้ในเชิงอรรถหน้า ๑๖๘.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยมีจำนวนเท่านั้น               
               ข้อว่า โดยมีจำนวนเท่านั้น ได้แก่ โดยจำนวนมีอยู่เท่านั้น คำนี้มีอธิบายว่า ก็ในบทแห่งพระสูตรและพระอภิธรรมเหล่านั้นๆ ธาตุแม้อื่นๆ ย่อมปรากฏมีอาทิอย่างนี้ว่า อาภาธาตุ สุภธาตุ อากาสานัญจายตนธาตุ วิญญาณัญจายตนธาตุ อากิญจัญญายตนธาตุ เนวสัญญานาสัญญายตนธาตุ สัญญาเวทยิตนิโรธธาตุ กามธาตุ พยาปาทธาตุ วิหิงสาธาตุ เนกขัมมธาตุ อัพยาปาทธาตุ อวิหิงสาธาตุ สุขธาตุ ทุกขธาตุ โสมนัสธาตุ โทมนัสธาตุ อุเปกขาธาตุ อวิชชาธาตุ อารัมภธาตุ นิกกมธาตุ ปรักกมธาตุ หีนธาตุ มัชฌิมธาตุ ปณีตธาตุ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ สังขตธาตุ อสังขตธาตุ โลกเป็นอเนกธาตุ และมีธาตุต่างๆ ดังนี้.๑-
____________________________
๑- ธาตุมีมาก ในที่นี้ท่านแสดงไว้ ๓๕ ธาตุ.

               หากมีคำถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงกำหนดจำนวนธาตุทั้งหมด ทรงกำหนดไว้ ๑๘ ธาตุเท่านั้น.
               ตอบว่า เพราะธาตุทุกอย่างมีอยู่โดยสภาวะรวมอยู่ภายในธาตุ ๑๘ เหล่านั้น.
               จริงอยู่ อาภาธาตุก็คือรูปธาตุนั่นเอง ก็สุภธาตุเป็นธาตุที่เนื่องด้วยรูปธาตุเป็นต้น เพราะเหตุไร? เพราะเป็นสุภนิมิต (เครื่องหมายของความดี)
               จริงอยู่ สุภนิมิต ชื่อว่า สุภธาตุและสุภนิมิตนั้นจะพ้นไปจากรูปเป็นต้น ก็ไม่มี.
               อีกอย่างหนึ่ง สุภธาตุก็คือรูปธาตุเป็นต้นที่เป็นอารมณ์ของกุศลวิบากนั่นแหละ เพราะฉะนั้น สุภธาตุนี้จึงเป็นเพียงรูปธาตุเป็นต้นนั่นเอง. จิตในอากาสานัญจายตนธาตุเป็นต้นได้แก่มโนวิญญาณธาตุ. ธาตุที่เหลือเป็นธรรมธาตุ. ส่วนสัญญาเวทยิตนิโรธธาตุโดยสภาวะย่อมไม่มี เพราะสัญญาเวทยิตนิโรธธาตุนั้นเป็นเพียงการดับธาตุทั้งสอง (คือสัญญาและเวทนา) เท่านั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง กามธาตุย่อมเป็นเพียงธรรมธาตุ เหมือนอย่างพระดำรัสที่ตรัสไว้ (ข้อ ๑๒๒) ว่า ตตฺถ กตมา กามธาตุ กามปฏิสํยุตฺโต ตกฺโก ฯ เป ฯ มิจฺฉาสงฺกปฺโป ในธาตุ ๖ กามธาตุเป็นไฉน? ความตรึก ความตรึกอย่างแรง ความดำริอันประกอบด้วยกาม ฯลฯ มิจฉาสังกัปปะ นี้เรียกว่ากามธาตุ.
               อีกอย่างหนึ่ง กามธาตุก็คือธาตุแม้ ๑๘ อย่าง เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า เบื้องล่างนับแต่อเวจีนรกเป็นที่สุด เบื้องบนกำหนดเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีเป็นที่สุด ในระหว่างนี้ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอันใดซึ่งท่องเที่ยวไปในที่นี้ นับเนื่องในเขตนี้ ธรรมนี้เรียกว่ากามธาตุ.
               เนกขัมมธาตุคือธรรมธาตุนั่นเอง. อีกอย่างหนึ่ง เพราะพระบาลีว่า กุศลธรรมแม้ทั้งหมด ชื่อว่าเนกขัมมธาตุ ดังนี้ เนกขัมมธาตุนั้นก็ย่อมเป็นมโนวิญญาณธาตุได้เหมือนกัน. พยาปาทธาตุ วิหิงสาธาตุ อัพยาปาทธาตุ อวิหิงสาธาตุ สุขธาตุ ทุกขธาตุ โสมนัสธาตุ โทมนัสธาตุ อุเปกขาธาตุ อวิชชาธาตุ อารัมภธาตุ นิกกมธาตุ ปรักกมธาตุ เป็นธรรมธาตุนั่นเอง. หีนธาตุ มัชฌิมธาตุ ปณีตธาตุ เป็นเพียงสักว่าธาตุ ๑๘ เท่านั้น เพราะจักขุธาตุเป็นต้นที่เป็นหีนะ (เลว) ชื่อว่าหีนธาตุ จักขุเป็นต้นที่เป็นมัชฌิมะและปณีตะก็จัดเป็นมัชฌิมธาตุและปณีตธาตุ.
               แต่เมื่อว่าโดยนิปปริยาย (โดยตรง) ธรรมธาตุและมโนวิญญาณธาตุที่เป็นอกุศลเป็นหีนธาตุ. กุศลและอัพยากตะทั้ง ๒ ที่เป็นโลกิยะก็ดี จักขุธาตุเป็นต้นก็ดีเป็นมัชฌิมธาตุ. ส่วนธรรมธาตุและมโนวิญญาณธาตุที่เป็นโลกุตระเป็นปณีตธาตุ.
               ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุก็คือโผฏฐัพพธาตุนั่นเอง. อาโปธาตุและอากาศธาตุก็คือธรรมธาตุ วิญญาณธาตุย่อเข้าในวิญญาณธาตุ ๗ มีจักขุวิญญาณเป็นต้น. ธาตุ ๑๗ และส่วนหนึ่งแห่งธรรมธาตุเป็นสังขตธาตุ แต่ส่วนหนึ่งแห่งธรรมธาตุนั่นแหละเป็นอสังขตธาตุ ก็โลกที่เป็นอเนกธาตุและนานาธาตุ เป็นสักแต่ว่าประเภทของธาตุ ๑๘ เท่านั้นแล. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธาตุไว้ ๑๘ เท่านั้น เพราะธาตุทั้งหมดมีอยู่โดยสภาวะรวมอยู่ภายในแห่งธาตุ ๑๘ นั้น ดังพรรณนามาฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธาตุไว้ ๑๘ เท่านั้น เพื่อจะถอนความสำคัญว่ามีชีวะของสัตว์ผู้มีความสำคัญว่ามีชีวะในวิญญาณซึ่งมีการรู้อารมณ์เป็นสภาวะ.
               จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความสำคัญว่ามีชีวะในวิญญาณซึ่งมีการรู้อารมณ์เป็นสภาวะมีอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เพื่อจะถอนขึ้นซึ่งความสำคัญว่ามีชีวะอันนอนเนื่องอยู่สิ้นกาลนานของสัตว์เหล่านั้น จึงประกาศความมีมากมายแห่งธาตุนั้นโดยแยกเป็นจักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุและมโนวิญญาณธาตุ และประกาศความที่ธาตุเหล่านั้นเป็นของไม่เที่ยง เพราะต้องเป็นไปเนื่องด้วยปัจจัยมีจักขุและรูปเป็นต้น จึงทรงประกาศธาตุไว้ ๑๘ อย่าง.
               อนึ่ง เหตุอะไรๆ อื่นโดยยิ่งที่พระองค์ทรงประกาศธาตุ ๑๘ อย่าง ด้วยอำนาจอัชฌาศัยของเวไนยสัตว์ และด้วยอำนาจอัชฌาศัยเวไนยสัตว์โดยเทศนาที่ไม่ย่อและไม่พิสดารเกินไปนี้โดยแท้.
                                   จริงอยู่ ความมืดในหทัยของเวไนยสัตว์
                         จะถึงความย่อยยับไปโดยพลัน อันขจัดได้ด้วย
                         เดชแห่งพระสัทธรรมของพระองค์ได้โดยประการ
                         ใดๆ พระองค์ก็ทรงประกาศธรรมโดยนัยอันย่อ
                         และพิสดาร โดยประการนั้นๆ แล.
               พึงทราบวินิจฉัยในธาตุนี้ โดยจำนวนมีเท่านั้นอย่างนี้.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยการนับ               
               ข้อว่า โดยการนับ คือว่าโดยชาติ จักขุธาตุ ได้แก่จักขุประสาทย่อมถึงการนับว่าเป็นธรรมอันหนึ่งเท่านั้นก่อน โสตธาตุ ฆานธาตุ ชิวหาธาตุ กายธาตุ รูปธาตุ สัททธาตุ คันธธาตุ รสธาตุก็เป็นอย่างละหนึ่งเหมือนกัน ด้วยอำนาจเป็นโสตประสาทเป็นต้น แต่โผฏฐัพพธาตุย่อมถึงการนับว่าเป็นธรรม ๓ อย่างด้วยอำนาจแห่งปฐวีธาตุ เตโชธาตุและวาโยธาตุ.
               จักขุวิญญาณธาตุย่อมถึงการนับว่าเป็นธรรม ๒ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งวิบากที่เป็นกุศลและอกุศล. โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ ก็ถึงการนับว่าเป็นธรรมอย่างละ ๒ อย่างเหมือนกัน. แต่มโนธาตุย่อมถึงการนับว่าเป็นธรรม ๓ อย่าง คือ ด้วยสามารถเป็นอาวัชชนะของปัญจทวาร ๑ ด้วยสามารถเป็นสัมปฏิจฉนะของกุศลวิบาก ๑ ของอกุศลวิบาก ๑ ธรรมธาตุย่อมถึงการนับว่าเป็นธรรม ๒๐ คือ ด้วยสามารถแห่งอรูปขันธ์ ๓ (เวทนา สัญญา สังขารขันธ์) ด้วยสามารถแห่งสุขุมรูป ๑๖#- และด้วยสามารถแห่งอสังขตธาตุ ๑. มโนวิญญาณธาตุย่อมถึงการนับว่าเป็นธรรม ๗๖ อย่าง ด้วยสามารถแห่งวิญญาณที่เป็นกุศล อกุศลและอัพยากตะที่เหลือแล.
               พึงทราบวินิจฉัยในธาตุนี้โดยการนับอย่างนี้.
____________________________
#- สุขุมรูป ๑๖ คือ อาโปธาตุ ๑ หทยรูป ๑ อาหารรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ ภาวรูป ๒ วิญญัตติรูป ๒ ลหุตารูป ๓ ลักขณรูป ๔.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยปัจจัย               
               ข้อว่า โดยปัจจัย พึงทราบวินิจฉัยโดยความที่จักขุธาตุเป็นต้น เป็นปัจจัยในจักขุวิญญาณเป็นต้น ก็ความที่จักขุธาตุเป็นต้นเหล่านั้น เป็นปัจจัยนั้นจักแจ่มแจ้งในนิเทศวาร.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยเป็นธรรมควรเห็น               
               ข้อว่า โดยเป็นธรรมควรเห็น พึงทราบวินิจฉัยในธาตุนี้ โดยเป็นธรรมที่ควรเห็น เพราะสังขตธาตุทั้งหมดทีเดียว พึงเห็นโดยความเป็นของว่างจากที่สุดเบื้องต้นและเบื้องปลาย โดยความเป็นของสูญจากความยั่งยืน ความงาม ความสุข ความเป็นอัตตาและโดยความเป็นไปเนื่องด้วยปัจจัย.
               ก็ว่าโดยความแปลกกันในอธิการแห่งธาตุนี้ จักขุธาตุพึงเห็นเหมือนพื้นกลอง รูปธาตุพึงเห็นเหมือนไม้ตี จักขุวิญญาณธาตุพึงเห็นเหมือนเสียงกลอง.
               อนึ่ง จักขุธาตุพึงเห็นเหมือนพื้นกระจก รูปธาตุพึงเห็นเหมือนหน้า จักขุวิญญาณธาตุพึงเห็นเหมือนนิมิตของหน้า (เงาหน้า).
               อีกอย่างหนึ่ง จักขุธาตุพึงเห็นเหมือนลำอ้อยและเมล็ดงา รูปธาตุพึงเห็นเหมือนเครื่องหีบ จักขุวิญญาณธาตุพึงเห็นเหมือนน้ำอ้อยและน้ำมันงา.
               อนึ่ง จักขุธาตุพึงเห็นเหมือนไม้สีไฟอันล่าง รูปธาตุพึงเห็นเหมือนไม้สีไฟอันบน จักขุวิญญาณธาตุพึงเห็นเหมือนไฟ.
               ในโสตธาตุเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ส่วนมโนธาตุ ว่าโดยตามที่เกิดขึ้นพึงเห็นเหมือนการเที่ยวไปก่อน (เกิดก่อน) และเที่ยวไปตาม (เกิดหลัง) ของธาตุมีจักขุวิญญาณเป็นต้น ว่า โดยธรรมธาตุ เวทนาขันธ์พึงเห็นเหมือนลูกศรและหลาว สัญญาและสังขารขันธ์พึงเห็นเหมือนคนกระสับกระส่าย เพราะถูกลูกศรและหลาว คือเวทนาเสียบแทง.
               อีกอย่างหนึ่ง สัญญาของพวกปุถุชนพึงเห็นเหมือนกำมือเปล่าเพราะเกิดความหวังอันเป็นทุกข์ และเหมือนเนื้อป่าไม่ถือนิมิตตามความเป็นจริง สังขารทั้งหลายพึงเห็นเหมือนบุรุษโยนของใส่หลุมถ่านเพลิง เพราะการส่งจิตไปปฏิสนธิ เป็นเหมือนพวกโจรถูกราชบุรุษติดตาม เพราะการติดตามของชาติทุกข์ และพึงเห็นเหมือนเมล็ดพืชต้นไม้มีพิษ เพราะเป็นเหตุแห่งความสืบต่อของขันธ์ อันนำมาซึ่งความฉิบหายทั้งปวง. รูปพึงเห็นเหมือนจักรกรด เพราะเป็นเครื่องหมายของอุปัทวะมีนานาชนิด.
               แต่อสังขตธาตุพึงเห็นโดยความเป็นอมตะ โดยความเป็นธรรมสงบและโดยเป็นธรรมเกษม เพราะเหตุไร? เพราะความเป็นปฏิปักษ์ต่อความฉิบหายทั้งมวล. มโนวิญญาณธาตุพึงเห็นเหมือนลิงในป่าใหญ่เพราะแม้ปล่อยอารมณ์ที่ตนจับไว้แล้วก็ยึดอารมณ์อื่นเป็นไปอีก เป็นเหมือนม้ากระจอกเพราะฝึกได้ยาก เป็นเหมือนท่อนไม้ที่โยนไปในอากาศ เพราะจะตกไปในอารมณ์ที่มันชอบ และเป็นเหมือนนักเต้นรำบนเวทีเพราะประกอบด้วยกิเลสมีประการต่างๆ โดยมีโลภะและโทสะเป็นต้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศวาร ต่อไป๑- :-
               คำว่า จกฺขญฺจ ปฏิจฺจ รูเป จ (อาศัยจักขุประสาทและรูปารมณ์) อธิบายว่า เพราะอาศัยจักขุประสาทและรูปารมณ์ทั้ง ๒ นี้ด้วย เพราะอาศัยธรรมอื่น คือกิริยามโนธาตุและขันธ์ ๓ (เวทนา สัญญา สังขารขันธ์) ที่สัมปยุตกันด้วย เพราะจักขุ (ประสาท) เป็นนิสสยปัจจัย รูปเป็นอารัมมณปัจจัย กิริยามโนธาตุ (อาวัชชนจิต) เป็นวิคตปัจจัย อรูปขันธ์ ๓ (เวทนา สัญญา สังขารขันธ์) เป็นสหชาตปัจจัยของจักขุวิญญาณธาตุ เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณธาตุนี้จึงชื่อว่าย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย ๔ เหล่านี้.
               แม้ในคำว่า อาศัยโสตประสาทเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า นิรุทฺธสมนนฺตรา๒- ตัดบทเป็น นิรุทฺธาย สมนนฺตรา แปลว่า ในลำดับแห่งการดับของจักขุวิญญาณธาตุ.
               บทว่า ตชฺชา มโนธาตุ (มโนธาตุที่สมกัน) ได้แก่ มโนธาตุ ๒ อย่างโดยเป็นกุศลวิบากและอกุศลวิบาก ซึ่งเกิดในอารมณ์นั้นทำหน้าที่รับอารมณ์.
____________________________
๑- บาลีข้อ ๑๒๕ หน้า ๑๐๘.
๒- บาลีข้อ ๑๓๐ หน้า ๑๑๐.

               ข้อว่า สพฺพธมฺเมสุ วาปน ปฐมสมนฺนาหาโร (หรือว่าความพิจารณาอารมณ์ทีแรกในธรรมทั้งปวง) ความว่า เมื่อธรรมทั้งปวงมีจักขุวิญญาณเป็นต้นเหล่านี้จะเกิดขึ้น (มโนธาตุนี้) ก็พิจารณาอารมณ์ก่อน. อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบเนื้อความในที่นี้อย่างนี้ว่า มโนธาตุนี้พิจารณาอารมณ์ทีแรกในธรรมทั้งปวงกล่าวคืออารมณ์ของจักขุวิญญาณธาตุเป็นต้น พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอากิริยามโนธาตุ (อาวัชชนจิต) ที่ทำกิจพิจารณาอารมณ์ทางปัญจทวารด้วย บทว่า สพฺพธมฺเมสุ วาปน ปฐมสมนฺนาหาโร นี้.
               ปิอักษร ในข้อว่า มโนธาตุยาปิ อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุทฺธสมนนฺตรา นี้ มีอรรถว่าประมวลมา เพราะฉะนั้น ในที่นี้ว่า มโนธาตุยาปิ มโนวิญฺญาณธาตุยาปิ (เมื่อมโนธาตุก็ดี เมื่อมโนวิญญาณธาตุก็ดี) พึงทราบเนื้อความว่า
               เมื่อมโนธาตุที่เป็นวิบาก (สัมปฏิจฉนจิต) เกิดขึ้นดับไปแล้ว มโนวิญญาณธาตุที่เป็นวิบาก (สันติรณจิต) อันใดเกิดขึ้นทำกิจพิจารณาอารมณ์ต่อกันทันที เมื่อมโนวิญญาณธาตุที่เป็นวิบากนั้นเกิดขึ้นดับไปแล้ว มโนวิญญาณธาตุที่เป็นกิริยา (โวฏฐัพพนจิต) อันใดเกิดขึ้นทำกิจตัดสินอารมณ์ ต่อจากนั้น เมื่อมโนวิญญาณธาตุที่เป็นกิริยานั้นเกิดขึ้นดับไปแล้ว มโนวิญญาณธาตุอันใดเกิดขึ้นทำกิจชวนะในลำดับติดต่อกัน มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุเหล่านั้นแม้ทั้งหมด พึงทราบว่า ตรัสไว้ด้วยบทว่า มโนธาตุยาปิ นั้นดังนี้.
               บทว่า มนญฺจ ปฏิจฺจ (อาศัยมโน) ได้แก่ ภวังคจิต.
               บทว่า ธมฺเม จ (ธรรมารมณ์) ได้แก่ ธรรมารมณ์อันเป็นไปในภูมิ ๔.
               คำว่า เกิดมโนวิญญาณ ได้แก่ ชวนจิตเกิดพร้อมกับพิจารณา ก็ในฐานะนี้ พระมหาเถระทั้งหลายถือเอาปัญหาที่พวกได้ยึดถือมาแล้ว ได้ยินว่า พระมหาธัมมรักขิตเถระได้จับมือพระทีฆภาณกอภัยเถระกล่าวว่า ในอาคตสถานชื่อว่า ปฏิจฺจ (อาศัย) ดังนี้ ไม่ควรทำอาวัชชนะให้แยกกัน ควรทำอาวัชชนะให้อาศัยภวังค์เท่านั้น เพราะในคำว่า มโน นี้ได้แก่ภวังค์พร้อมทั้งอาวัชชนะ. ในคำว่า มโนวิญญาณ นี้ก็ได้แก่มโนวิญญาณในชวนะ ดังนี้.
               ก็ในอภิธรรมภาชนีย์นี้ตรัสธาตุที่เป็นกามาพจร ๑๖ อย่างที่เป็นไปในภูมิ ๔ เจือกันไปทั้งโลกิยะและโลกุตระ ๒ อย่าง ด้วยประการฉะนี้.
               วรรณนาอภิธรรมภาชนีย์ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ธาตุวิภังค์ อภิธรรมภาชนีย์ จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 114อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 124อ่านอรรถกถา 35 / 131อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=2252&Z=2366
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=1921
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=1921
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :