ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 131อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 144อ่านอรรถกถา 35 / 171อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
สัจจวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์

               ๔. สัจจวิภังคนิเทศ๑-               
               วรรณนาสุตตันตภาชนีย์               
               ว่าด้วยอุเทศวาร               
____________________________
๑- บาลีข้อ ๑๔๔

               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในสัจจวิภังค์ในลำดับแห่งธาตุวิภังค์ต่อไป.
               บทว่า จตฺตาริ (๔) เป็นคำกำหนดจำนวน.
               บทว่า อริยสจฺจานิ (อริยสัจ) เป็นคำแสดงไขธรรมที่กำหนดไว้.
               ก็พึงทราบวินิจฉัยในอุเทศวารมีคำว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ (ทุกขอริยสัจ) เป็นต้น.
                         วิภาคโต นิพฺพจน     ลกฺขณาทิปฺปเภทโต
                         อตฺถตฺถุทฺธารโต เจว   อนูนาธิกโต ตถา
                         กมโต อริยสจฺเจสุ      ยํ ญาณํ ตสฺส กิจฺจโต
                         อนฺโตคธานํ ปเภทา   อุปมาโต จตุกฺกโต
                         สุญฺญเตกวิธาทีหิ      สภาควิสภาคโต
                         วินิจฺฉโย เวทิตพฺโพ   วิญฺญุนา สาสนกฺกเม
                                        บัณฑิตผู้รู้แจ้ง พึงทราบวินิจฉัยใน
                         ลำดับคำสอน โดยวิภาค ๑ โดยวิเคราะห์
                         ศัพท์ ๑ โดยประเภทมีลักษณะเป็นต้น ๑
                         โดยอรรถ ๑ โดยถอดความ ๑ โดยไม่หย่อน
                         ไม่ยิ่ง ๑ โดยลำดับ ๑ โดยกิจแห่งญาณใน
                         อริยสัจ ๑ โดยประเภทแห่งธรรมที่หยั่งลง
                         ภายใน ๑ โดยอุปมา ๑ โดยจตุกะ (หมวด ๔) ๑
                         โดยสุญญตา (ว่าง) ๑ โดยเป็นธรรมอย่างเดียว
                         กันเป็นต้น ๑ โดยสภาคะและวิสภาคะ ๑.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยวิภาค               
               บรรดาอุเทศเหล่านั้น คำว่า โดยวิภาค ได้แก่ อรรถแห่งอริยสัจ ๔ มีทุกข์เป็นต้น พระองค์ทรงจำแนกไว้สัจจะละ ๔ ประการ เป็นของแท้ เป็นของไม่ผิด ไม่เป็นอย่างอื่นที่กุลบุตรผู้จะตรัสรู้ทุกข์เป็นต้น พึงตรัสรู้ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า๑-
               ทุกข์มีอรรถว่าบีบคั้น มีอรรถว่าอันปัจจัยปรุงแต่ง มีอรรถว่าให้เร่าร้อน มีอรรถว่าปรวนแปร อรรถ ๔ แห่งทุกข์นี้ เป็นอรรถของทุกข์ เป็นของแท้ เป็นของไม่ผิด ไม่เป็นอย่างอื่น. สมุทัยมีอรรถว่าประมวลมา มีอรรถว่าเป็นเหตุมอบให้ซึ่งผล มีอรรถว่าประกอบไว้ มีอรรถว่าเป็นเครื่องกังวล ฯลฯ นิโรธมีอรรถว่าสลัดออก มีอรรถว่าสงัด มีอรรถว่าอันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ มีอรรถว่าเป็นอมตะ ฯลฯ มรรคมีอรรถว่าการนำออก มีอรรถว่าเป็นเหตุ มีอรรถว่าเป็นทัสสนะ (เห็น) มีอรรถว่าเป็นอธิบดี อรรถ ๔ แห่งมรรคนี้เป็นอรรถของมรรค เป็นของแท้ เป็นของไม่ผิด ไม่เป็นอย่างอื่น ดังนี้.
               อนึ่ง พระบาลีมีอาทิอย่างนี้ว่า ทุกข์มีอรรถว่าบีบคั้น มีอรรถว่าอันปัจจัยปรุงแต่ง มีอรรถว่าให้เร่าร้อน มีอรรถว่าปรวนแปร เป็นอรรถที่ควรตรัสรู้ ดังนี้ พึงทราบสัจจะมีทุกข์เป็นต้น ด้วยอำนาจแห่งอรรถสัจจะอย่างละ ๔ ตามที่ทรงจำแนกไว้อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
               พึงทราบวินิจฉัยในสัจจะนี้โดยวิภาคก่อน.
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๕๔๕/หน้า ๔๔๙.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยวิเคราะห์ศัพท์               
               ก็ในข้อว่า โดยวิเคราะห์ศัพท์ และประเภทมีลักษณะเป็นต้นนี้ พึงทราบสัจจะโดยวิเคราะห์ศัพท์ก่อน.
               ในบทว่า ทุกฺขํ นี้ ศัพท์ว่า ทุ นี้ย่อมแสดงความน่าเกลียด.
               จริงอยู่ ชาวโลกเรียกบุตรที่น่าเกลียดว่า ทุปุตฺโต (บุตรน่าเกลียด) ส่วนศัพท์ว่า ขํ ย่อมปรากฏในความว่างเปล่า เพราะอากาศที่ว่างเปล่าเรียกกันว่า ขํ ก็สัจจะที่หนึ่งนี้ ชื่อว่า กุจฺฉิตํ (น่าเกลียด) เพราะเป็นที่ตั้งแห่งอุปัทวะมิใช่น้อย
               ชื่อว่า ตุจฺฉํ (ว่างเปล่า) เพราะเว้นจากความยั่งยืน ความงาม ความสุขและเป็นอัตตาที่ชนพาลคิดกัน๑- เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ทุกฺขํ๒- (ทุกข์) เพราะเป็นของน่าเกลียดและเป็นของว่างเปล่า.
               # ๑. คนพาลคิดเห็นว่า... เป็นของเที่ยง สวยงาม เป็นสุข และเป็นอัตตา
____________________________
๑- คนพาลคิดเห็นว่า ... เป็นของเที่ยง สวยงาม เป็นสุขและเป็นอัตตา.
๒- คำว่า ทุกขํ นี้ อีกนัยหนึ่งแยกศัพท์เป็น ทุ บทหน้าและขมธาตุ ลบที่สุดธาตุ สำเร็จรูปตามไวยากรณ์เป็น ทุกฺขํ แปลว่า ทนได้ยาก.

               ศัพท์ว่า สํ นี้ ในคำว่า สมุทยํ นี้ ย่อมแสดงการประกอบพร้อม เช่นในคำเป็นต้นว่า สมาคโม สเมตํ (การประชุมกัน รวมกัน) ศัพท์ว่า อุท นี้ ย่อมแสดงความเกิดขึ้น เช่นในคำเป็นต้นว่า อุปฺปนฺนํ อุทิตํ (เกิดขึ้นแล้ว ตั้งขึ้นแล้ว). แต่ศัพท์ว่า อย ย่อมแสดงถึงเหตุ๓- ก็เมื่อมีการประกอบด้วยปัจจัยที่คงอยู่ สัจจะที่สองนี้ก็เป็นเหตุคือการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ทุกฺขสมุทยํ (ทุกขสมุทัย) เพราะสัจจะที่สองนี้เป็นเหตุเกิดทุกข์.
____________________________
๓- สมุทยํ ในที่นี้ก็คือ สํ + อุท + อย สำเร็จรูปเป็น สมุทยํ.

               อนึ่ง สัจจะที่สาม เพราะศัพท์ว่า นิ ย่อมแสดงความไม่มี และศัพท์ว่า โรธ ย่อมแสดงถึงผู้ท่องเที่ยว๔- เพราะฉะนั้น ในสัจจะที่สาม (นิโรธ) นี้จึงได้แก่ความไม่มีความท่องเที่ยวไปแห่งทุกข์ กล่าวคือการท่องเที่ยวไปในสังสารเพราะว่างจากคติทั้งปวง.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อพระโยคาวจรบรรลุสัจจะที่สามนั้นแล้ว ความไม่มีการท่องเที่ยวไปแห่งทุกข์กล่าวคือการท่องเที่ยวไปในสังสาร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ทุกฺขนิโรธํ (ทุกขนิโรธ) เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อการท่องเที่ยวไปนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่าทุกขนิโรธ เพราะเป็นปัจจัยแก่ความไม่เกิด คือความดับสนิทแห่งทุกข์.
____________________________
๔- ศัพท์นิโรธ อีกอย่างหนึ่ง ศัพท์ว่า นิ หมายถึงความไม่มี ศัพท์ว่า โรธ หมายถึงเรือนจำสังสาร นิโรธ จึงแปลได้อีกว่า ไม่มีเรือนจำในสังสาร.

               อนึ่ง สัจจะที่ ๔ นี้ย่อมดำเนินไปสู่ความดับทุกข์ เพราะมุ่งหน้าต่อพระนิพพานนั้นด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ และเป็นปฏิปทาเพื่อถึงความดับทุกข์ เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
               ก็เพราะพระอริยะมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นย่อมแทงตลอดสัจจะเหล่านั้น ฉะนั้น สัจจะเหล่านั้นจึงตรัสเรียกว่า อริยสัจจะ เหมือนอย่างพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า จตฺตาริมานิ ภิกฺขเว อริยสจฺจานิ กตมานิ ฯเปฯ อิมานิ โข ภิกฺขเว จตฺตาริ อริยสจฺจานิ อริยา อิมานิ ปฏิวิชฺฌนฺติ ตสฺมา อริยสจฺจานีติ วุจฺจนฺติ๕-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน? คือทุกขอริยสัจ ... ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ ประการเหล่านี้แล พระอริยะทั้งหลายย่อมแทงตลอดอริยสัจเหล่านี้ เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกว่า อริยสัจ ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าอริยสัจ เพราะอรรถว่าเป็นสัจจะของพระอริยะดังนี้บ้าง เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า สเทวเก ภิกฺขเว โลเก ฯเปฯ สเทวมนุสฺสาย ตถาคโต อริโย ตสฺมา อริยสจฺจานีติ วุจฺจนฺติ
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอริยะในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสัจจะของพระอริยะ.๕-
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอริยสัจ เพราะความที่อริยสัจเหล่านั้นอันพระอริยะตรัสรู้แล้วบ้าง เพราะความสำเร็จโดยความเป็นอริยะบ้าง เหมือนอย่างที่ตรัสว่า อิเมสํ โข ภิกฺขเว จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ ยถาภูตํ อภิสมฺพุทฺธตฺตา ตถาคโต อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ อริโยติ วุจฺจติ
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวโลกเรียกว่า อริยะ เพราะตรัสรู้อริยสัจ ๔ เหล่านี้แลตามความจริง.
               อีกอย่างหนึ่งแล ชื่อว่าอริยสัจ เพราะอรรถว่าเป็นสัจจะอันประเสริฐ คำว่า อริยะนี้มีอธิบายว่า เป็นของแท้ เป็นของไม่ผิด ไม่เป็นของคลาดเคลื่อน เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า อิมานิ โข ภิกฺขเว จตฺตาริ อริยสจฺจานิ ตถานิ อวิตถานิ อนญฺญกานิ ตสฺมา อริยสจฺจานีติ วุจฺจนฺติ
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้แลเป็นของแท้ไม่แปรผัน ไม่เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าอริยสัจ (สัจจะอันประเสริฐ) ดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในสัจจะนี้โดยวิเคราะห์เพียงเท่านี้.
____________________________
๕- มหาวาร เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๗๐๘/หน้า ๕๔๕.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยประเภทมีลักษณะเป็นต้น               
               พึงทราบวินิจฉัยโดยประเภทมีลักษณะเป็นต้นอย่างไร.
               จริงอยู่ ในสัจจะ ๔ เหล่านี้ ทุกขสัจจะมีการเบียดเบียนเป็นลักษณะ มีความให้เร่าร้อนเป็นรส มีปวัตติเป็นปัจจุปัฏฐาน. สมุทยสัจจะมีเหตุเป็นแดนเกิดเป็นลักษณะ มีการไม่เข้าไปตัดเป็นรส มีปลิโพธเป็นปัจจุปัฏฐาน. นิโรธสัจจะมีความสงบเป็นลักษณะ มีการไม่จุติเป็นรส มีการไม่มีนิมิตเป็นปัจจุปัฏฐาน. มรรคสัจจะมีการนำออกเป็นลักษณะ มีการประหาณกิเลสเป็นรส มีวุฏฐานะ (คือการออก) เป็นปัจจุปัฏฐาน.
               อีกอย่างหนึ่ง สัจจะ ๔ นี้มีปวัตติ (การเป็นไป) มีปวัตตนะ (เหตุให้เป็นไป) มีนิวัตติ (ความกลับ) มีนิวัตตนะ (เหตุให้กลับ) เป็นลักษณะโดยลำดับ๑- และมีสังขตะ (คือธรรมชาติอันปัจจัยปรุงแต่ง) มีตัณหา มีอสังขตะ (คือธรรมชาติอันปัจจัยไม่ปรุงแต่ง) มีทัสสนะ (การเห็น) เป็นลักษณะตามลำดับเหมือนกันแล.
               พึงทราบวินิจฉัยโดยประเภทมีลักษณะเป็นต้นในที่นี้ด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๑- คำว่า ประวัติหมายถึงทุกขสัจจะ ปวัตตนะหมายถึงสมุทัย นิวัตติหมายถึงนิโรธ นิวัตตนะ หมายถึงมรรค (ผู้แปล)

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยอรรถ               
               ก็ในข้อว่า โดยอรรถและโดยถอดความ นี้ พึงทราบโดยอรรถก่อน หากมีคำถามว่า อะไรเป็นอรรถของสัจจะ ก็จะพึงมีคำตอบอย่างพิสดารว่า
               ภาวะใด เมื่อบุคคลเพ่งอยู่ด้วยปัญญาจักษุ ย่อมไม่วิปริตเหมือนมายากล ไม่ลวงตาเหมือนพยับแดด ไม่เป็นสภาวะที่ใครๆ หาไม่ได้เหมือนอัตตาของพวกเดียรถีย์ โดยที่แท้เป็นโคจร (อารมณ์) ของอริยญาณโดยประการมีการเบียดเบียน (ทุกขสัจ) มีเหตุเป็นแดนเกิด (สมุทัยสัจ) มีความสงบ (นิโรธสัจ) มีการนำออก (มรรคสัจ) ซึ่งเป็นของแท้ไม่วิปริต เป็นของจริงทีเดียว ภาวะที่สัจจะเป็นของแท้ ไม่วิปริต เป็นของจริง เป็นดังลักษณะไฟและเป็นดังธรรมดาของสัตว์โลก (ต้องเกิดแก่เจ็บตาย) นั้น บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นอรรถของสัจจะ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
               อิทํ ทุกฺขนฺติ โข ภิกฺขเว ตถเมตํ อวิตถเมตํ อนญฺญถเมตํ
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า นี้ทุกข์ดังนี้แล นั่นเป็นของแท้จริง นั่นเป็นของไม่ผิด นั่นไม่เป็นไปโดยประการอื่นเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง
                         นาพาธกํ ยโต ทุกฺขํ  ทุกฺขา อญฺญํ น พาธกํ
                         พาธกตฺตนิยาเมน   ตโต สจฺจมิทํ มตํ
                                        นอกจากทุกข์แล้ว ตัวเบียดเบียนย่อม
                         ไม่มี ตัวเบียดเบียนอื่นนอกจากทุกข์ก็หามีไม่
                         เพราะฉะนั้น ทุกข์นี้ บัณฑิตจึงรู้ว่าเป็นสัจจะ
                         โดยกำหนดอรรถว่าเป็นตัวเบียดเบียน.
                         ตํ วินา นาญฺญโต ทุกฺขํ  น โหติ น จ ตํ ตโต
                         ทุกฺขเหตุนิยาเมน       อิติ สจฺจํ วิสตฺติกา
                                        เว้นจากตัณหานั้นแล้วทุกข์ย่อมไม่มี
                         แต่เหตุอื่น และทุกข์นั้นย่อมไม่มีจากตัณหานั้น
                         ก็หาไม่ เพราะฉะนั้น ตัณหาตัวซัดส่ายไปใน
                         อารมณ์ต่างๆ นั้น บัณฑิตจึงรู้ว่าเป็นสัจจะ
                         โดยกำหนดอรรถว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์.
                         นาญฺญา นิพฺพานโต สนฺติ  สนฺตํ น จ น ตํ ยโต
                         สนฺตภาวนิยาเมน          ตโต สจฺจมิทํ มตํ
                                        ความสงบอื่นนอกจากพระนิพพาน
                         แล้วย่อมไม่มี และพระนิพพานนั้นเว้นจาก
                         ความสงบก็หามีไม่ เพราะฉะนั้น พระนิพพานนี้
                         บัณฑิตจึงรู้ว่าเป็นสัจจะ โดยกำหนดอรรถว่า
                         เป็นความสงบ.
                         มคฺคา อญฺญํ น นิยฺยานํ  อนิยฺยาโน น จาปิ โส
                         ตจฺฉนิยฺยานภาวตฺตา    อิติ โส สจฺจสมฺมโต
                                        นอกจากมรรคแล้ว เครื่องนำออก
                         อย่างอื่นย่อมไม่มี แม้มรรคนั้นมิใช่เครื่อง
                         นำออกก็หาไม่ เพราะฉะนั้น มรรคนั้น
                         บัณฑิตจึงรู้ว่าเป็นสัจจะ เพราะอรรถว่าเป็น
                         เครื่องนำออกอย่างแท้จริง.
                         อิติ ตจฺฉาวิปลฺลาส  ภูตภาวํ จตูสุปิ
                         ทุกฺขาทีสฺววิเสเสน  สจฺจตฺถํ อาหุ ปณฺฑิตา
                                        บัณฑิตทั้งหลายกล่าวภาวะอันแท้ไม่
                         แปรผัน เป็นของจริงในสัจจะทั้ง ๔ มีทุกข์เป็นต้น
                         โดยไม่แปลกกันว่า เป็นอรรถแห่งสัจจะ
                         ด้วยประการฉะนี้แล.

               พึงทราบวินิจฉัยสัจจะโดยอรรถ ดังพรรณนามาฉะนี้.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยถอดความ               
               พึงทราบวินิจฉัย โดยถอดเอาความ อย่างไร?
               สัจจศัพท์ในอธิการนี้ ย่อมปรากฏในอรรถมิใช่น้อย อย่างไร?
               คือสัจจศัพท์ย่อมปรากฏในวาจาสัจจะ (พูดจริง) เหมือนในประโยคมีอาทิว่า สจฺจํ ภเณ น กุชฺเฌยฺ บุคคลพึงกล่าวคำสัตย์ ไม่พึงโกรธ.
               ที่ปรากฏในวิรติสัจจะ (มุสาวาทวิรัติ) เหมือนในประโยคมีอาทิว่า สจฺเจ ฐิตา สมณพฺราหฺมณา สมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในสัจจะ.
               ที่ปรากฏในทิฏฐิสัจจะ (จริงโดยทิฏฐิ) เหมือนในประโยคมีอาทิว่า กสฺมา นุ สจฺจานิ วทนฺติ นานาปวาทิยาเส กุสลาวทานา เพราะเหตุไรหนอ พวกสมณพราหมณ์จึงกล่าวสัจจะไปต่างๆ คือเป็นผู้อ้างตนว่าเป็นผู้ฉลาดกล่าวยืนยันสัจจะหลายอย่าง.
               ที่ปรากฏในปรมัตถสัจจะ คือนิพพานและมรรค เหมือนในประโยคมีอาทิว่า เอกํ หิ สจฺจํ น ทุติยมตฺถิ สัจจะมีอย่างเดียวไม่มีอย่างที่สอง. ที่ปรากฏในอริยสัจจะ เหมือนในประโยคมีอาทิว่า จตุนฺนํ สจฺจานํ กติ กุสลา บรรดาสัจจะ ๔ สัจจะที่เป็นกุศลมีเท่าไร.
               แม้ในที่นี้ สัจจศัพท์นี้นั้นย่อมเป็นไปในอริยสัจจะ (สัจจะอันประเสริฐ) ดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยโดยถอดความในสัจจะนี้ ฉะนี้.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยไม่หย่อนไม่ยิ่ง               
               ในข้อว่า ไม่หย่อนไม่ยิ่ง นี้ หากมีคำถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอริยสัจไว้ ๔ เท่านั้นไม่หย่อนไม่ยิ่ง.
               ตอบว่า เพราะไม่มีสัจจะอย่างอื่น และนำออกข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่ได้.
               จริงอยู่ สัจจะอื่นยิ่งกว่าสัจจะ ๔ เหล่านี้ หรือว่าบรรดาสัจจะ ๔ เหล่านี้จะพึงนำออกไปสักข้อหนึ่ง หาได้ไม่. เหมือนอย่างที่ตรัสไว้มีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้ พึงเอ่ยอ้างว่า ทุกข์ที่พระสมณโคดมแสดงไว้นี้ ไม่ใช่ทุกขอริยสัจ ทุกขอริยสัจเป็นอย่างอื่น เราจักเว้นทุกขอริยสัจนี้ แล้วบัญญัติทุกขอริยสัจอื่น ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะที่เป็นได้ ดังนี้.
               และดังที่ตรัสไว้มีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า นั่นมิใช่ทุกขอริยสัจ ข้อที่หนึ่งที่สมณโคดมทรงแสดงไว้ เราจักบอกเลิกทุกขอริยสัจข้อที่หนึ่งนั้นเสีย แล้วบัญญัติทุกขอริยสัจข้อที่หนึ่งอย่างอื่นใหม่ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ดังนี้.๑-
____________________________
๑- สํ. มหาวาร. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๖๙๓/หน้า ๕๓๘.

               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะตรัสบอกความเป็นไปแห่งทุกข์ ก็ตรัสบอกพร้อมทั้งเหตุ และเมื่อจะตรัสบอกความไม่เป็นไป ก็ตรัสบอกพร้อมทั้งอุบาย (เป็นเครื่องสลัดออก) เพราะฉะนั้น จึงตรัสอริยสัจไว้ ๔ เท่านั้น เพราะความที่สัจจะเหล่านั้นมีความเป็นไป (ปวัตติ) ความไม่เป็นไป (นิวัตติ) และเหตุแห่งความเป็นไป ความไม่เป็นไปทั้งสองอันมีสัจจะ ๔ นี้เป็นอย่างยิ่ง.
               อนึ่ง พระองค์ตรัสอริยสัจ ๔ เท่านั้น แม้ด้วยอำนาจแห่งปริญเญยธรรม (ธรรมที่ควรกำหนดรู้) ปหาตัพพธรรม (ธรรมที่ควรละ) สัจฉิกาตัพพธรรม (ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง) ภาเวตัพพธรรม (ธรรมที่ควรเจริญ) และตรัสไว้ ๔ ด้วยด้วยอำนาจแห่งตัณหา วัตถุที่อาศัยเกิดของตัณหา ความดับตัณหาและอุบายเป็นเครื่องดับตัณหา และตรัสไว้ ๔ แม้ด้วยอำนาจแห่งความอาลัย เหตุที่ยินดีในอาลัย การถอนขึ้นซึ่งอาลัยและอุบายเป็นเหตุถอนขึ้นซึ่งอาลัย.
               พึงทราบวินิจฉัยโดยไม่หย่อนไม่ยิ่งในอธิการนี้ ด้วยประการฉะนี้.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยลำดับ               
               ข้อว่า โดยลำดับ แม้นี้ ได้แก่ลำดับแห่งเทศนานั่นเอง ก็ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ ทุกขสัจจะเป็นสัจจะที่รู้ได้ง่าย เพราะเป็นของหยาบและเพราะเป็นของทั่วไปแก่สัตว์ทั้งหมด ฉะนั้นจึงตรัสไว้ก่อน สมุทัยสัจจะตรัสไว้ในลำดับแห่งทุกขสัจจะนั้นเพื่อแสดงเหตุของทุกขสัจจะนั้นเอง นิโรธสัจจะตรัสไว้โดยลำดับสมุทัยสัจจะนั้น เพื่อแสดงให้รู้ว่า เพราะเหตุดับ ผลจึงดับ มรรคสัจจะตรัสไว้ในที่สุด เพื่อแสดงอุบายเครื่องบรรลุนิโรธสัจจะนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสทุกข์ก่อน เพื่อให้เกิดความสังเวชแก่พวกสัตว์ผู้ยินดีและปรารถนาความสุขในภพ ตรัสสมุทัยในลำดับแห่งทุกข์นั้น เพื่อให้รู้ว่า ทุกข์นั้นตัณหามิได้สร้างแล้วย่อมไม่มา มันย่อมมีเพราะเหตุภายนอกมีพระอิศวรบันดาลก็หาไม่ ที่แท้มันย่อมมีเพราะตัณหานี้ ต่อจากนั้นก็ตรัสนิโรธ เพื่อให้เกิดความโล่งใจ ด้วยการเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแก่สัตว์ผู้มีใจสลดซึ่งแสวงหาอุบายเป็นเครื่องออกจากทุกข์ เพราะความเป็นผู้ถูกทุกข์พร้อมทั้งเหตุ (ตัณหา) ครอบงำแล้ว ต่อจากนั้นก็ตรัสมรรคอันเป็นธรรมให้ถึงนิโรธ เพื่อบรรลุนิโรธ.
               พึงทราบวินิจฉัยแม้โดยลำดับในสัจจะนี้ ด้วยประการฉะนี้.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยกิจแห่งญาณในอริยสัจ               
               ข้อว่า โดยกิจแห่งญาณในอริยสัจ นี้ อธิบายว่า พึงทราบวินิจฉัยแม้โดยกิจแห่งสัจจญาณ.
               จริงอยู่ สัจจญาณมี ๒ อย่าง คือ
                         อนุโพธญาณ (ญาณที่รู้โดยลำดับ)
                         ปฏิเวธญาณ (ญาณที่แทงตลอด).
               บรรดาญาณทั้ง ๒ นั้น อนุโพธญาณเป็นโลกิยะย่อมดำเนินไปในนิโรธและมรรค ด้วยอำนาจแห่งการสดับฟังเป็นต้น. ปฏิเวธญาณเป็นโลกุตระ ทำนิโรธให้เป็นอารมณ์แล้วแทงตลอดสัจจะแม้ทั้ง ๔ โดยกิจ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า โย โกจิ ภิกฺขเว ทุกฺขํ ปสฺสติ ทุกฺขสมุทยมฺปิ โส ปสฺสติ ทุกฺขนิโรธมฺปิ ปสฺสติ ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทมฺปิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งเห็นทุกข์ ผู้นั้นย่อมเห็นแม้ทุกขสมุทัย ย่อมเห็นแม้ทุกขนิโรธ ย่อมเห็นแม้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.๑-
               พึงกล่าวพุทธวจนะ (ในสูตรนี้) แม้ทั้งหมด.
____________________________
๑- สํ. มหาวาร. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๗๑๑/หน้า ๕๔๗.

               อนึ่ง ญาณที่เป็นโลกิยะในสัจจญาณ ๔ เหล่านี้ ทุกขญาณ (ญาณในทุกข์) ย่อมห้ามสักกายทิฏฐิที่กำลังเป็นไปด้วยอำนาจแห่งความครอบงำโดยปริยุฏฐาน. สมุทยญาณ (ญาณในสมุทัย) ย่อมห้ามอุจเฉททิฏฐิ. นิโรธญาณ (ญาณในนิโรธ) ย่อมห้ามสัสสตทิฏฐิ. มรรคญาณ (ญาณในมรรค) ย่อมห้ามอกิริยทิฏฐิ.
               อีกอย่างหนึ่ง ทุกขญาณย่อมห้ามความปฏิบัติผิดในผลกล่าวคือความสำคัญในเบญจขันธ์ซึ่งปราศจากความยั่งยืน ความงาม ความสุขและอัตตาว่ามีความยั่งยืน มีความงาม มีสุขและมีอัตตา สมุทยญาณย่อมห้ามความปฏิบัติผิดให้เหตุ ที่เป็นไปในการนับถืออย่างยิ่งคือในสิ่งที่มิใช่เหตุว่าเป็นเหตุ โดยเข้าใจว่าโลก ย่อมเป็นไปโดยพระอิศวรโดยพระผู้เป็นประธาน โดยพระกาฬ และโดยภาวะของตนเองเป็นต้น นิโรธญาณย่อมห้ามความปฏิบัติผิดในนิโรธที่ยึดถือในอรูปโลก และในภูมิที่เป็นยอดโลกเป็นต้น ว่าเป็นพระนิพพาน๒- มรรคญาณย่อมห้ามความปฏิบัติผิดในอุบายที่เป็นไปด้วยความยึดถือในมรรคที่ไม่บริสุทธิ์ อันต่างโดยกามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยคว่าเป็นมรรคอันบริสุทธิ์ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงประพันธ์คำคาถานี้ไว้ว่า
                         โลเก โลกปฺปภเว   โลกตฺถคเม สิเว จ ตทุปาเย
                         สมฺมุยฺหติ ตาว     นโร น วิชานาติ ยาว สจฺจานิ
                                        นรชน ยังไม่รู้แจ้งสัจจะทั้งหลาย
                         ตราบใด เขาก็ย่อมลุ่มหลงในโลก (ทุกข์) ใน
                         เหตุเกิดของโลก (สมุทัย) ในพระนิพพาน
                         อันเป็นที่ดับไปแห่งโลก และในอุบายของ
                         ความดับโลกนั้น (มรรค) อยู่ตราบนั้น.

               พึงทราบวินิจฉัยโดยกิจแห่งญาณในอริยสัจจะนี้ ด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๒- พวกอุทกดาบสและอาฬารดาบส ถืออรูปโลกว่าเป็นนิพพาน พวกนิครนถ์ถือยอดภูมิ (โลกถูปิกา) ว่าเป็นนิพพาน (มหาฎีกา).

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยประเภทแห่งธรรมที่หยั่งลงภายใน               
               ข้อว่า โดยประเภทแห่งธรรมที่หยั่งลงภายใน ความว่า จริงอยู่ ยกเว้นตัณหาและอนาสวธรรม (ธรรมที่ไม่มีอาสวะ) แล้วธรรมทั้งหมดที่เหลือนับว่าหยั่งลงภายใน ในทุกขสัจ. ตัณหาวิจริต ๓๖ หยั่งลงภายใน ในสมุทยสัจ. นิโรธสัจไม่มีอะไรเจือปน. ธรรมมีวิมังสิทธิบาท ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละและธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ โดยมีสัมมาทิฏฐิเป็นประมุขเป็นธรรมหยั่งลงภายใน ในมรรคสัจ. วิตก ๓ มีเนกขัมมวิตกเป็นต้นโดยอิงอาศัยสัมมาสังกัปปะเป็นธรรมหยั่งลงภายใน วจีสุจริต ๔ โดยอิงอาศัยสัมมาวาจาเป็นธรรมหยั่งลงภายใน กายสุจริต ๓ โดยอิงอาศัยสัมมากัมมันตะเป็นธรรมหยั่งลงภายใน ความมักน้อยและความสันโดษโดยมีสัมมาอาชีวะเป็นประมุขเป็นธรรมหยั่งลงภายใน นับเข้าในมรรคสัจ.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะทั้งหมดเหล่านี้เป็นอริยกันตศีล เพราะศีลอันบุคคลพึงรับด้วยมือคือศรัทธา และเพราะความที่ศีลจะมีอยู่ก็เพราะความที่สัมมาวาจาเป็นต้นเหล่านั้นมีอยู่ สัทธินทรีย์ สัทธา พละ ฉันทิทธิบาท จึงเป็นชาติหยั่งลงในภายใน. สัมมัปปธาน ๔ วิริยิทธิบาท วิริยินทรีย์ วิริยพละ วิริยสัมโพชฌงค์ โดยอิงอาศัยสัมมาวายามะเป็นธรรมหยั่งลงภายใน สติปัฏฐาน ๔ สตินทรีย์ สติพละและสติสัมโพชฌงค์ โดยอิงอาศัยสัมมาสติ เป็นธรรมหยั่งลงภายใน สมาธิอย่างละ ๓ คือสมาธิมีวิตกและมีวิจารเป็นต้น จิตตสมาธิ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ ปิติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิ สัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เป็นธรรมหยั่งลงภายใน คือนับเข้าในมรรคสัจ.
               พึงทราบวินิจฉัยแม้ประเภทแห่งธรรมที่หยั่งลงภายในสัจจะนี้ ด้วยประการฉะนี้.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยอุปมา               
               ก็ในข้อว่า โดยอุปมา นี้ พึงเห็นทุกขสัจเหมือนของหนัก สมุทัยสัจเหมือนการถือของหนัก นิโรธสัจเหมือนวางของหนัก มรรคสัจเหมือนอุบายเป็นเครื่องวางของหนัก.
               อนึ่ง ทุกขสัจเป็นดังโรค สมุทยสัจเป็นดังสมุฏฐานของโรค นิโรธสัจเป็นดังความสงบของโรค มรรคสัจเป็นดังเภสัช.
               อีกอย่างหนึ่ง ทุกขสัจเปรียบเหมือนมีภิกษาหาได้โดยยาก สมุทยสัจเปรียบเหมือนฝนไม่ดี นิโรธสัจเปรียบเหมือนมีภิกษาหาได้ง่าย มรรคสัจเปรียบเหมือนฝนดี.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบสัจจะเหล่านี้โดยอุปมาประกอบด้วยคนมีเวร มูลเหตุแห่งเวร การถอนขึ้นซึ่งเวร อุบายการถอนขึ้นซึ่งเวร และพึงทราบด้วยต้นไม้มีพิษ รากเหง้าของต้นไม้มีพิษ การโค้นตัดต้นไม้มีพิษ อุบายโค้นตัดต้นไม้มีพิษ และพึงทราบด้วยมีภัย เหตุที่มีภัย ความปลอดภัย อุบายให้ปลอดภัย และพึงทราบด้วยฝั่งนี้ ห้วงน้ำใหญ่ของฝั่งนี้ ฝั่งโน้น และผู้พยายามให้ถึงฝั่งโน้นนั้นแล.
               พึงทราบวินิจฉัยโดยอุปมาในอริยสัจนี้ ด้วยประการฉะนี้.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยจตุกะ (หมวด ๔)               
               ข้อว่า โดยจตุกะ ความว่า ก็บรรดาสัจจะ ๔ เหล่านี้ ธรรมที่เป็นทุกข์แต่ไม่ใช่ทุกข์อริยสัจก็มี ธรรมที่เป็นอริยสัจไม่เป็นทุกข์ก็มี ธรรมที่เป็นทุกข์ด้วยเป็นอริยสัจด้วยก็มี ธรรมที่ไม่เป็นทุกข์และไม่ใช่อริยสัจก็มี.
               ในสมุทัยเป็นต้นก็นัยนี้.
               ในจตุกะนั้น ธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตด้วยมรรคและสามัญผลทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นสังขารทุกข์ โดยพระบาลีว่า ยทนิจฺจํ ตํ ทุกฺขํ (สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์)๑- แต่ไม่ใช่อริยสัจ นิโรธเป็นอริยสัจแต่ไม่เป็นทุกข์. ส่วนอริยสัจทั้ง ๒ นอกนี้ (สมุทัยและมรรค) พึงเป็นทุกข์ เพราะความไม่เที่ยง แต่ไม่ใช่ทุกข์โดยที่กุลบุตรผู้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้ากำหนดรู้ ส่วนอุปาทานขันธ์ ๕ เว้นตัณหาแล้วเป็นทั้งทุกข์ เป็นทั้งอริยสัจโดยประการทั้งปวง ธรรมที่สัมปยุตด้วยมรรคและสามัญผลทั้งหลายไม่ใช่ทุกข์โดยสภาวะที่กุลบุตรผู้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อกำหนดรู้ ทั้งไม่ใช่อริยสัจ.
               พึงทราบการประกอบแม้ในสมุทัยเป็นต้น๒- ตามสมควรแล้ววินิจฉัยในอริยสัจนี้โดยจตุกะ ด้วยประการฉะนี้แล.
____________________________
๑- สํ. ขนฺธวาร เล่ม ๑๗/ข้อ ๔๒/หน้า ๒๘.
๒- ในข้อสมุทัยเป็นต้น กิเลสที่เป็นสมุทัย (นอกจากตัณหา) เป็นสมุทัย เพราะอรรถว่าทำให้เกิดทุกข์ แต่ไม่ใช่อริยสัจที่เป็นสมุทัย นิโรธเป็นอริยสัจ แต่ไม่เป็นสมุทัย ทุกข์และมรรครวม ๒ พึงเป็นสมุทัยก็ได้เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดผลของตน แต่ไม่เป็นสมุทัยที่เป็นปหาตัพพธรรม ตัณหาเป็นทั้งสมุทัยเป็นทั้งอริยสัจ ธรรมที่สัมปยุตด้วยมรรคและสามัญผลไม่เป็นสมุทัยที่จะต้องละ และไม่เป็นอริยสัจ (เป็นสัจจวิมุตติ).
               ในนิโรธ สังขารนิโรธและนิโรธสมาบัติเป็นนิโรธแต่ไม่เป็นนิโรธอริยสัจ สมุทัยเป็นอริยสัจแต่ไม่เป็นนิโรธ ทุกข์และมรรคทั้ง ๒ เป็นนิโรธก็ได้เพราะเป็นขณนิโรธ แต่ไม่ใช่นิโรธสัจจะ อสังขตะเป็นทั้งนิโรธเป็นทั้งอริยสัจธรรม ที่สัมปยุตด้วยมรรคและสามัญผลไม่เป็นนิโรธและไม่ใช่อริยสัจ.
               องค์มรรคอื่นจากอริยมรรคเป็นมรรคแต่ไม่ใช่อริยมรรค นิโรธเป็นอริยสัจ แต่ไม่เป็นมรรค ทุกข์และสมุทัยทั้ง ๒ เป็นมรรคก็ได้เพราะเป็นทางไปสู่ภพ แต่มิใช่อริยมรรคที่ควรเจริญเพื่อนิโรธ นิโรธคามินีปฏิปทาเป็นทั้งมรรค เป็นทั้งอริยสัจโดยประการทั้งปวง ธรรมที่สัมปยุตด้วยมรรคและสามัญผลไม่เป็นมรรคและไม่เป็นอริยสัจ (เก็บความจากมหาฎีกา).

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยสุญญตา (ว่าง)               
               ในข้อว่า โดยสุญญตาและโดยเป็นธรรมอันเดียวกันเป็นต้น นี้พึงทราบโดยสภาพว่างก่อน.
               จริงอยู่ โดยปรมัตถ์ สัจจะทั้งหมดทีเดียว พึงทราบว่า เป็นสภาพว่าง เพราะไม่มีผู้เสวย ไม่มีผู้ทำ ไม่มีผู้ดับ ไม่มีผู้เดิน ด้วยเหตุนั้น นักปราชญ์จึงประพันธ์คำคาถานี้ไว้ว่า
                                   ทุกฺขเมว หิ น โกจิ ทุกฺขิโต
                                   การโก น กิริยาว วิชฺชติ
                                   อตฺถิ นิพฺพุติ น นิพฺพุโต ปุมา
                                   มคฺคมตฺถิ คมโก น วิชฺชติ

                                   ความจริง ทุกข์เท่านั้นมีอยู่ แต่
                         บุคคลไรๆ ผู้เป็นทุกข์หามีไม่ การทำมีอยู่
                         แต่ผู้ทำหามีไม่ ความดับมีอยู่ แต่บุคคลผู้
                         ดับหามีไม่ ทางมีอยู่ แต่บุคคลผู้เดินหามีไม่.
๑-
               อีกอย่างหนึ่ง
                                   ความว่างในสัจจะ ๔ เหล่านั้น พึง
                         ทราบอย่างนี้ คือ สัจจะ ๒ บทแรกว่างจาก
                         ความเที่ยง ความงาม ความสุข และอัตตา
                         อมตบทคือพระนิพพานว่างจากอัตตา มรรค
                         ว่างจากความยั่งยืน ความสุข และอัตตา.
               อีกอย่างหนึ่ง สัจจะ ๓ ว่างจากนิโรธ และนิโรธก็ว่างจากสัจจะ ๓ ที่เหลือ.
               อีกอย่างหนึ่ง ในสัจจะ ๔ เหล่านี้ เหตุว่างจากผล เพราะไม่มีทุกข์ในสมุทัย และไม่มีนิโรธในมรรค เหตุไม่ร่วมกับผล เหมือนดังปกติ (ประพฤติ)๒- ของลัทธิทั้งหลายมีปกติวาทีเป็นต้น. และผลเล่าก็ว่างจากเหตุ เพราะความทุกข์กับสมุทัย และนิโรธกับมรรคมิได้เป็นอันเดียวกัน ผลนั้นมิได้เป็นอย่างเดียวกับเหตุ เป็นเหตุผล เหมือนอณูทั้ง ๒ ของลัทธิทั้งหลายมีสมวายวาทีเป็นต้น เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์จึงประพันธ์คำคาถานี้ไว้ว่า
                         ตยมิธ นิโรธสุญฺญํ   ตเยน เตนาปิ นิพฺพุติ สุญฺญา
                         สุญฺโญ ผเลน เหตุ   ผลํปิ ตํ เหตุนา สุญฺญํ
                                        บรรดาอริยสัจจะ ๔ นี้ สัจจะ ๓ ว่าง
                         จากนิโรธ นิโรธ (นิพฺพุติ) เล่าก็ว่างจากสัจจะ ๓
                         แม้นั้น สัจจะที่เป็นเหตุว่างจากสัจจะที่เป็นผล
                         แม้สัจจะที่เป็นผลนั้นเล่าก็ว่างจากสัจจะที่เป็น
                         เหตุ ดังนี้.

               พึงทราบวินิจฉัยโดยสุญญตา (ว่าง) อย่างนี้ก่อน.
____________________________
๑- ทุกข์เป็นสัจจะ ส่วนบุคคลเป็นบัญญัติ สัจจะเป็นของมีอยู่โดยปรมัตถ์ บัญญัติไม่มีโดยปรมัตถ์
การกระทำมีอยู่ ท่านหมายเอาตัณหาเป็นเหตุกระทำ มิได้หมายเอาบุคคลซึ่งเป็นบัญญัติ.
ความดับหมายถึงนิพพาน ไม่ใช่บุคคลเป็นผู้ดับ.
ทางหมายถึงมรรค ๘ มีอยู่จริง ส่วนบุคคลผู้เดินไม่มี เพราะมิใช่บุคคล.

๒- ลัทธิภายนอกชื่อว่าปกติวาที มีความเห็นว่า ปกติเดิมเหตุรวมอยู่กับผล ต่อมาจึงแยกออกเป็นคนละอย่าง ลัทธิสมวายวาทีก็ทำนองเดียวกัน.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยเป็นธรรมอย่างเดียวเป็นต้น               
               ข้อว่า โดยเป็นธรรมอย่างเดียวเป็นต้น ความว่า ก็บรรดาสัจจะ ๔ เหล่านั้น ทุกข์ทั้งหมดทีเดียว ชื่อว่ามีอย่างเดียวเพราะเป็นปวัตติ (คือเป็นธรรมหมุนไปในวัฏฏะ) เป็น ๒ อย่างโดยเป็นนามและรูป. เป็น ๓ อย่างโดยแยกเป็นอุปปัตติภพ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ. เป็น ๔ อย่างโดยประเภทแห่งอาหาร ๔. เป็น ๕ อย่างโดยประเภทแห่งอุปาทานขันธ์ ๕.
               แม้สมุทัยชื่อว่ามีอย่างเดียว เพราะเป็นสภาพให้วัฏฏะหมุนไป เป็น ๒ อย่างโดยเป็นธรรมสัมปยุตด้วยทิฏฐิและไม่สัมปยุตด้วยทิฏฐิ เป็น ๓ อย่างโดยแยกเป็นกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา. เป็น ๔ อย่างเพราะเป็นโทษอันมรรค ๔ พึงละ. เป็น ๕ อย่างโดยแยกอารมณ์ มีความยินดียิ่งในรูปเป็นต้น. เป็น ๖ อย่างโดยประเภทแห่งกองตัณหา ๖.#-
____________________________
#- กองตัณหา ๖ คือ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธรรมตัณหา.

               นิโรธชื่อว่ามีอย่างเดียว เพราะเป็นอสังขตธาตุ แต่โดยปริยาย (อ้อม) นิโรธเป็น ๒ อย่างโดยเป็นสอุปาทิเสสนิพพานและอนุปาทิเสสนิพพาน เป็น ๓ อย่างเพราะสงบภพทั้ง ๓. เป็น ๔ อย่างเพราะเป็นอารมณ์ให้มรรค ๔ บรรลุ. เป็น ๕ อย่างเพราะสงบความยินดียิ่ง ๕ (มีรูปารมณ์เป็นต้น) เป็น ๖ อย่างโดยประเภทแห่งความสิ้นไปแห่งกองตัณหา ๖.
               แม้มรรคเล่าก็ชื่อว่ามีอย่างเดียว เพราะเป็นธรรมควรเจริญ เป็น ๒ อย่างโดยแยกเป็นสมถะและวิปัสสนา. อีกอย่างหนึ่ง เป็น ๒ อย่างโดยประเภทแห่งทัสสนะ (โสดามรรค) และภาวนา (มรรค ๓ ที่เหลือ). เป็น ๓ อย่างโดยประเภทธรรมขันธ์ ๓ (มีศีลขันธ์เป็นต้น).
               จริงอยู่ มรรคนี้ เพราะเป็นสัปปเทสธรรม๒- จึงสงเคราะห์ (รวมเข้า) ด้วยขันธ์ ๓ ที่เป็นนิปปเทสธรรม๓- เหมือนหัวเมืองรวมอยู่ด้วยราชอาณาจักรฉะนั้น.
               เหมือนอย่างพระธัมมทินนาเถรีกล่าวแก้ปัญหาวิสาขอุบาสกว่า
               ดูก่อนวิสาขะผู้มีอายุ ขันธ์ ๓ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงสงเคราะห์ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ส่วนอริยมรรคมีองค์ ๘ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๓ แล
               ดูก่อนท่านวิสาขะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ พระองค์ทรงสงเคราะห์ในศีลขันธ์ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ พระองค์ทรงสงเคราะห์ในสมาธิขันธ์ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ พระองค์ทรงสงเคราะห์ในปัญญาขันธ์ ดังนี้๔-
               เพราะในอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ มรรคมีสัมมาวาจาเป็นต้นเป็นศีลอย่างเดียว ฉะนั้น มรรค ๓ มีสัมมาวาจาเป็นต้นนั้น พระองค์จึงทรงสงเคราะห์ด้วยศีลขันธ์โดยกำเนิดของตน
               แม้ในพระบาลีพระองค์ทรงทำนิเทศไว้ด้วยสัตตมีวิภัตติว่า สีลขนฺเธ๕- ดังนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็พึงทราบด้วยอำนาจแห่งตติยาวิภัตติเท่านั้น.
____________________________
๒- สัปปเทสธรรม หมายถึง ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้เป็นบางส่วน (ส่วนเล็ก).
๓- นิปปเทสธรรม หมายถึง ธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยสิ้นเชิง (ส่วนใหญ่).
๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๐๘/หน้า ๕๔๙.
๕- คำว่า สีลขนฺเธ แปลว่า ในศีลขันธ์ แต่ท่านอรรถกถาจารย์ให้แปลว่าด้วยศีลขันธ์.

               อนึ่ง ในมรรค ๓ มีสัมมาวายามะเป็นต้น สมาธิย่อมไม่อาจแน่วแน่ (เป็นอัปปนา) ด้วยความมีอารมณ์เป็นหนึ่งในอารมณ์ตามธรรมดาของตนได้ แต่เมื่อวิริยะยังกิจคือการประคองจิตไว้ให้สำเร็จ และเมื่อสติยังกิจคือการไม่ฟั่นเฟือนให้สำเร็จอยู่ สมาธิก็ย่อมแน่วแน่ได้.
               ในข้อนั้นมีอุปมาดังนี้ เปรียบเหมือนสหาย ๓ คนเข้าไปสู่อุทยานด้วยประสงค์ว่า พวกเราจักเล่นนักขัตฤกษ์๖- คนหนึ่งเห็นต้นจำปามีดอกบานสะพรั่ง แม้เอื้อมมือไปก็ไม่อาจเก็บได้ ที่นั้นสหายคนที่สองจึงก้มหลังให้ สหายคนที่หนึ่งนั้นแม้ยืนบนหลังสหายคนที่สองแล้วสั่นอยู่ ไม่อาจเก็บดอกไม้ได้ ทีนั้นสหายคนที่สามนอกนี้จึงเอียงไหล่ไป สหายคนที่หนึ่งนั้นจึงยืนบนหลังสหายคนหนึ่ง เหนี่ยวไหล่สหายคนหนึ่ง จึงเลือกเก็บดอกไม้ทั้งหลายตามชอบใจ ประดับกายเล่นนักษัตรฉันใด ข้ออุปไมยนี้พึงเห็นฉันนั้น.
____________________________
๖- งานประจำปี.

               จริงอยู่ ธรรม ๓ มีสัมมาวายามะเป็นต้น เกิดพร้อมกันเหมือนสหาย ๓ คน เข้าไปสู่อุทยานพร้อมกัน. อารมณ์เหมือนต้นจำปามีดอกบานสะพรั่ง. สมาธิไม่สามารถแน่วแน่โดยความมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ในอารมณ์ตามธรรมดาของตนเหมือนสหายคนที่หนึ่ง แม้เอื้อมมือไปก็ไม่อาจเก็บได้. วายามะ (ความเพียร) เหมือนสหายคนที่ก้มหลังให้. สติเหมือนสหายคนที่ยืนให้ไหล่ บรรดาสหาย ๓ คนนั้น สหายคนหนึ่งนี้ยืนบนหลังสหายคนหนึ่ง ยึดไหล่สหายคนหนึ่ง ย่อมอาจเก็บดอกไม้ได้ตามปรารถนาฉันใด สมาธิก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อความเพียรยังกิจคือการประคองจิตให้สำเร็จอยู่ และเมื่อสติยังกิจคือการไม่ฟั่นเฟือนให้สำเร็จอยู่ ได้อุปการะแล้วย่อมอาจแน่วแน่โดยมีอารมณ์เป็นหนึ่งในอารมณ์ เพราะฉะนั้น ในมรรค ๓ เหล่านี้ มรรคคือสมาธิเท่านั้น พระองค์ทรงสงเคราะห์ด้วยสมาธิขันธ์โดยกำเนิดของตน ส่วนมรรคมีวายามะและสติ ทรงสงเคราะห์ด้วยสมาธิขันธ์โดยกิริยา (คือโดยเป็นธรรมมีอุปการะ).
               แม้ในสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะเล่า ปัญญา (สัมมาทิฏฐิ) ก็ไม่อาจวินิจฉัยอารมณ์ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตามธรรมดาของตนได้ แต่เมื่อวิตก (สัมมาสังกัปปะ) กระทบแล้วๆ ให้อยู่ ก็อาจตัดสินได้.
               อย่างไร?
               เปรียบเหมือนเหรัญญิก (เจ้าหน้าที่ดูเงิน) วางเหรียญกหาปณะในมือ แม้เป็นผู้ใคร่เพื่อจะตรวจส่วนทั้งปวงของเหรียญ ก็ไม่อาจเพื่อใช้เปลือกตาพลิกไปรอบๆ ได้ แต่เมื่อใช้ข้อนิ้วพลิกไปๆ ก็อาจเพื่อแลดูข้างโน้นข้างนี้ได้ฉันใด ปัญญาก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่อาจวินิจฉัยอารมณ์ด้วยสามารถแห่งความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น ตามธรรมดาของตน แต่ย่อมอาจวินิจฉัยอารมณ์ที่วิตกมีการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์เป็นลักษณะ มีการทำจิตให้กระทบอารมณ์บ่อยๆ เป็นกิจ ดุจการกระทบอยู่และดุจจับพลิกกลับไปมาให้อยู่นั่นแหละ เพราะฉะนั้น ในอธิการแม้นี้ สัมมาทิฏฐิเท่านั้นพระองค์ทรงสงเคราะห์ไว้ด้วยปัญญาขันธ์ เพราะกำเนิดของตน ส่วนสัมมาสังกัปปะเป็นธรรมอันพระองค์ทรงสงเคราะห์ในปัญญาขันธ์โดยกิริยา มรรคย่อมถึงการสงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๓ เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงกล่าวว่า มรรคมี ๓ อย่างโดยประเภทแห่งขันธ์ ๓. มรรคมี ๔ อย่างด้วยสามารถแห่งมรรค ๔ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง สัจจะทั้งหมดนั่นแหละมีอย่างเดียว เพราะเป็นภาวะที่มีอยู่โดยแท้จริง หรือเพราะเป็นอภิญไญยธรรม (ธรรมที่พึงรู้ยิ่ง) มี ๒ อย่าง โดยเป็นโลกิยะและโลกุตระ และเป็นสังขตะและอสังขตะ มี ๓ อย่าง โดยเป็นธรรมที่พึงละด้วยทัสสนะและภาวนา โดยเป็นธรรมไม่พึงละด้วยทัสสนะและภาวนา และโดยเป็นธรรมที่พึงละก็ไม่ใช่ ไม่พึงละก็ไม่ใช่ มี ๔ อย่าง โดยประเภทปริญไญยธรรมเป็นต้นแล.
               พึงทราบวินิจฉัยในอธิการนี้โดยเป็นธรรมอย่างเดียว ด้วยประการฉะนี้.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยสภาคะและวิสภาคะ               
               ข้อว่า โดยสภาคะและวิสภาคะ ความว่า สัจจะทั้งหมดนั่นแหละ ชื่อว่าเป็นสภาคะ (คือมีส่วนเสมอ) กันและกัน โดยเป็นของแท้ โดยเป็นของว่างจากอัตตาและโดยเป็นสิ่งที่แทงตลอดได้ยาก เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนอานนท์ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน อย่างไหนหนอจะทำได้ยากกว่ากัน หรือจะให้เกิดขึ้นได้ยากกว่ากัน คือการที่ยิงลูกศรให้เข้าไปติดๆ กันโดยช่องดาลเล็กแต่ที่ไกลได้ไม่ผิดพลาด กับการยิงปลายขนทรายด้วยขนทรายที่แบ่งออกเป็น ๗ ส่วน๑- ดังนี้
               พระอานนท์ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การยิงปลายขนทราย ด้วยปลายขนทรายที่แบ่งออกเป็น ๗ ส่วน กระทำได้ยากกว่าและให้เกิดขึ้นได้ยากกว่า พระเจ้าข้า
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
               ดูก่อนอานนท์ ชนเหล่าใดย่อมแทงตลอดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ชนเหล่านั้นย่อมแทงตลอดได้ยากกว่าโดยแท้ ดังนี้๒-.
____________________________
๑- ปลายขนทรายแบ่งเป็น ๗ ส่วน ติดที่ปลายลูกศรแล้วยิงปลายขนทรายนั้นให้ถูกเป็นการยาก แต่พระองค์ตรัสว่า การแทงตลอดสัจจะยากกว่า (เก็บจากมหาฏีกา).
๒- สํ. มหาวาร เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๗๓๘/หน้า ๕๖๖.

               ชื่อว่า วิสภาคะ (มีส่วนไม่เสมอกัน) โดยการกำหนดลักษณะของตน ก็สัจจะ ๒ ข้อแรก ชื่อว่าเป็นสภาคะ เพราะเป็นของลึกซึ้ง ด้วยอรรถว่าหยั่งลงได้โดยยาก เพราะเป็นโลกีย์ และเพราะความเป็นไปกับอาสวะ ชื่อว่าเป็นวิสภาคะ เพราะแยกออกโดยเป็นผลและเหตุ และเพราะเป็นธรรมที่ควรรู้ และเป็นธรรมที่ควรละ (ปริญฺเญยฺยปหาตพฺพกิจ)
               สัจจะ ๒ แม้ข้างหลังก็เป็นสภาคะ คือมีส่วนเสมอกัน เพราะหยั่งลงได้ยากโดยความเป็นของลึกซึ้ง เพราะเป็นโลกุตระ และเพราะเป็นอนาสวะ.
               อนึ่ง สัจจะ ๒ ข้อหลังเป็นวิสภาคะ เพราะแยกเป็นวิสยะและวิสยี๓- และเพราะเป็นสัจฉิกาตัพพะ (ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง) และภาเวตัพพะ (ธรรมที่ควรเจริญ).
               อนึ่ง สัจจะที่ ๑ และที่ ๓ ชื่อว่าเป็นสภาคะกัน เพราะอ้างถึงผล ชื่อว่าเป็นวิสภาคะกัน เพราะเป็นสังขตะและอสังขตะ.
               อนึ่ง สัจจะที่ ๒ และที่ ๔ ชื่อว่าเป็นสภาคะกัน เพราะอ้างถึงเหตุ ชื่อว่าเป็นวิสภาคะกัน เพราะเป็นกุศลและอกุศลโดยส่วนเดียว. ก็สัจจะที่ ๑ และที่ ๔ ชื่อว่าเป็นสภาคะกัน เพราะเป็นสังขตะ ชื่อว่าเป็นวิสภาคะกัน เพราะเป็นโลกิยะและโลกุตระ. ก็สัจจะที่ ๒ ที่ ๓ เป็นสภาคะกันโดยเป็นเนวเสกขานาเสกขา และชื่อว่าเป็นวิสภาคะ เพราะเป็นสารัมมณะและอนารัมมณะ (มีอารมณ์และไม่มีอารมณ์).
                         อิติ เอวํ ปกาเรหิ      นเยหิ จ วิจกฺขโณ
                         วิชญฺญา อริยสจฺจานํ  สภาควิสภาคตํ
                                        บัณฑิตผู้ฉลาด พึงรู้แจ้งซึ่งความที่
                         อริยสัจทั้งหลายเป็นสภาคะ (มีส่วนเสมอกัน)
                         และเป็นวิสภาคะ (มีส่วนไม่เสมอกัน) โดย
                         ประการและโดยนัยทั้งหลายอย่างนี้ ด้วย
                         ประการฉะนี้แล.

____________________________
๓- วิสยะในที่นี้คือนิโรธ วิสยีคือมรรค.

               วรรณนานิเทศวาร               
               ว่าด้วยทุกขอริยสัจ (บาลีข้อ ๑๔๕)               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทรงแสดงจำแนกสัจจะ ๔ มีทุกข์เป็นต้น ที่พระองค์ทรงยกขึ้นแสดงโดยย่อ จึงเริ่มนิเทศวารนี้ว่า ตตฺถ กตมํ ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ชาติปิ ทุกฺขา ในอริยสัจ ๔ นั้น ทุกขอริยสัจเป็นไฉน แม้ชาติก็เป็นทุกข์ ดังนี้เป็นต้น.
               ในนิเทศแห่งทุกขอริยสัจนั้น บัณฑิตพึงทราบ ชาติ พึงทราบอรรถแห่งชาติเป็นทุกข์ พึงทราบชรา พึงทราบอรรถแห่งชราเป็นทุกข์ พึงทราบมรณะ พึงทราบอรรถแห่งมรณะเป็นทุกข์ พึงทราบโสกะ พึงทราบอรรถแห่งโสกะเป็นทุกข์ พึงทราบปริเทวะ พึงทราบอรรถแห่งปริเทวะเป็นทุกข์ พึงทราบทุกข์ พึงทราบอรรถแห่งทุกข์เป็นทุกข์ พึงทราบโทมนัส พึงทราบอรรถแห่งโทมนัสเป็นทุกข์ พึงทราบอุปายาส พึงทราบอรรถแห่งอุปายาสเป็นทุกข์ พึงทราบอัปปิยสัมปโยคะ พึงทราบอรรถแห่งอัปปิยสัมปโยคะเป็นทุกข์ พึงทราบปิยวิปปโยคะ พึงทราบอรรถแห่งปิยวิปปโยคะเป็นทุกข์. พึงทราบอิจฉา (ความปรารถนา) พึงทราบอรรถแห่งความปรารถนาเป็นทุกข์ พึงทราบขันธ์ พึงทราบอรรถแห่งขันธ์เป็นทุกข์ นี้เป็นมาติกาเพื่อประโยชน์ในการกล่าวทุกขอริยสัจในนิเทศวารนั้น.
               จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่าทุกข์นี้มีประการต่างๆ เป็นอเนก คือ
                         ทุกขทุกข์ (ทุกข์เพราะทนได้ยาก)
                         วิปริณามทุกข์ (ทุกข์เพราะเปลี่ยนแปลง)
                         สังขารทุกข์ (ทุกข์ของสังขาร)
                         ปฏิจฉันนทุกข์ (ทุกข์ปกปิด)
                         อัปปฏิจฉันนทุกข์ (ทุกข์เปิดเผย)
                         ปริยายทุกข์ (ทุกข์โดยอ้อม)
                         นิปปริยายทุกข์ (ทุกข์โดยตรง).
               บรรดาทุกข์เหล่านั้น ทุกขเวทนาที่เป็นไปทางกายและจิต ชื่อว่าทุกขทุกข์ เพราะเป็นทุกข์ทั้งโดยสภาวะทั้งโดยชื่อ. สุขเวทนา ชื่อว่าวิปริณามทุกข์ เพราะเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ โดยการเปลี่ยนแปลง. อุเบกขาเวทนาและสังขารทั้งหลายที่เหลือเป็นไปในภูมิ ๓ ชื่อว่าสังขารทุกข์ เพราะถูกความเกิดและดับบีบคั้น.
               ก็ความบีบคั้น (ด้วยความเกิดและดับ) ย่อมมีแม้แก่มรรคและผลทั้งหลายเหมือนกัน เพราะฉะนั้น พึงทราบว่าธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าสังขารทุกข์ ด้วยอรรถว่านับเนื่องด้วยทุกขสัจจะ.
               ความป่วยไข้ทางกายและจิตมีปวดหู ปวดฟัน ความเร่าร้อนเกิดแต่ราคะ ความเร่าร้อนเกิดแต่โทสะเป็นต้น ชื่อว่าปฏิจฉันนทุกข์๑- เพราะต้องถามจึงรู้และเพราะก้าวเข้าไปแล้วก็ไม่ปรากฏ ท่านเรียกว่าทุกข์ไม่ปรากฏดังนี้บ้าง. ความป่วยไข้มีการถูกลงกรรมกรณ์ ๓๒ เป็นต้น เป็นสมุฏฐาน ชื่อว่าอัปปฏิจฉันนทุกข์ เพราะไม่ถามก็รู้ได้ และเพราะเข้าถึงแล้วก็ปรากฏ ท่านเรียกว่าปรากฏทุกข์บ้าง. ทุกข์แม้ทั้งหมดมีชาติเป็นต้น อันมาแล้วในวิภังค์แห่งทุกขสัจจะ เว้นทุกขทุกข์ที่เหลือ ชื่อว่าปริยายทุกข์ เพราะเป็นวัตถุ (ที่อาศัยเกิด) แห่งทุกข์นั้นๆ. ทุกขทุกข์ ชื่อว่านิปปริยายทุกข์.
               ในบรรดาทุกข์เหล่านั้น พึงกล่าวทุกขอริยสัจตั้งไว้ใน ๒ บท นี้คือปริยายทุกข์และนิปปริยายทุกข์ ก็ธรรมดาอริยสัจนี้ย่อมมาในพระบาลีโดยย่อบ้าง โดยพิสดารบ้าง ในที่มาโดยย่อควรจะกล่าวโดยย่อก็ได้ โดยพิสดารก็ได้ แต่ในที่มาโดยพิสดารสมควรกล่าวโดยพิสดารเท่านั้น ไม่ควรกล่าวโดยย่อ ในที่นี้ทุกข์นี้นั้นมาโดยพิสดารดังนั้น พึงกล่าวโดยพิสดารอย่างเดียว ฉะนั้น คำนี้ใดที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้มีอาทิว่า พึงทราบชาติ พึงทราบอรรถของชาติเป็นทุกข์ เพราะถือเอาพระบาลีในนิเทศวารมีอาทิว่า ตตฺถ กตมํ ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ชาติปิ ทุกฺขา ในอริยสัจ ๔ นั้น ทุกขอริยสัจเป็นไฉน แม้ชาติก็เป็นทุกข์ ดังนี้.
____________________________
๑- ปฏิจฉันนทุกข์ที่ว่าทางกาย คือปวดหู ปวดฟัน ท่านหมายเอาทุกข์เล็กน้อยจึงไม่มีใครรู้ต้องถามจึงรู้.

               ว่าด้วยนิเทศแห่งชาติโดยสมมติกถา (บาลีข้อ ๑๔๖)               
               บรรดาทุกขอริยสัจนั้น พึงทราบคำว่า ชาติ เป็นต้นก่อน ก็บัณฑิตพึงทราบชาติด้วยสามารถแห่งบทภาชนีย์นี้ว่า ตตฺถ กตมา ชาติ ยา เตสํ เตสํ สตฺตานํ ตมฺหิ ตมฺหิ สตฺตนิกาเย ชาติ ในทุกขอริยสัจนั้น ชาติเป็นไฉน ความเกิด ความเกิดพร้อม ... ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของสัตว์นั้นๆ อันใด ... เป็นต้น. อรรถวรรณนาในนิเทศแห่งชาตินั้น ดังต่อไปนี้.
               คำว่า เตสํ เตสํ สตฺตานํ (ของสัตว์นั้นๆ) นี้เป็นอรรถแสดงถึงความทั่วไปแก่สัตว์มิใช่น้อย โดยย่อ คือเมื่อกล่าวคำอย่างนี้ว่า ความเกิดของเทวทัต ความเกิดของโสมทัต ดังนี้ แม้ทั้งวัน สัตว์ทั้งหลายย่อมไม่ถึงการกำหนดถือเอาได้ ย่อมไม่สำเร็จการแสดงในสัตว์อื่นๆ ได้ทั้งหมด แต่ด้วยสองบทนี้ สัตว์บางชนิดย่อมไม่เป็นอันกำหนดถือเอาได้ ย่อมไม่สำเร็จการแสดง ในสัตว์อื่นๆ อย่างไรก็หามิได้ เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า ยา เตสํ เตสํ สตฺตา นํ (ของสัตว์เหล่านั้นๆ อันใด).
               คำว่า ตมฺหิ ตมฺหิ (นั้นๆ) นี้เป็นเนื้อความแสดงความทั่วไปของสัตว์นิกายมิใช่น้อยด้วยสามารถแห่งคติและชาติ.
               คำว่า สตฺตนิกาเย ได้แก่ ในหมู่สัตว์ คือในกลุ่มสัตว์ ในประชุมสัตว์.
               บทว่า ชาติ คือ ศัพท์ว่าชาตินี้มีอรรถเป็นอเนก.
               จริงอย่างนั้น ศัพท์ว่าชาตินี้ มาในภพ ในประโยคนี้ว่า๑- เอกมฺปิ ชาตึ เทฺวปิ ชาติโย (ย่อมระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง) เป็นต้น.
               มาในนิกาย (หมู่) ในประโยคนี้ว่า๒- อตฺถิ วิสาเข นิคนฺถา นาม สมณชาติ (ดูก่อนนางวิสาขา สมณนิกายหนึ่งมีชื่อว่านิครนถ์)
               มาในบัญญัติ ในประโยคนี้ว่า ติริยา นาม ติณชาติ นาภิยา อุคฺคนฺตฺวา นภํ อาหจฺจ ฐิตา อโหสิ (ติณชาติชื่อ ติริยา ขึ้นจากนาภีแล้วได้ตั้งจดท้องฟ้า)
               มาในสังขตลักษณะ ในประโยคนี้ว่า๓- ชาติ ทฺวีหิ ขนฺเธหิ สงฺคหิตา (ชาติสงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๒)
               มาในปฏิสนธิ ในประโยคนี้ว่า๔- ยํ ภิกฺขเว มาตุ กุจฺฉิสฺมึ ปฐมํ จิตฺตํ อุปฺปนฺนํ ปฐมํ วิญฺญาณํ ปาตุภูตํ ตทุปาทาย สาวสฺส ชาติ (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตดวงแรกใดเกิดแล้วในอุทรมารดา วิญญาณดวงแรกปรากฏแล้ว ปฏิสนธินั้นนั่นแหละอาศัยจิตที่เกิดขึ้นและวิญญาณนั้น)
               มาในประสูติ ในประโยคนี้ว่า๕- สมฺปติ ชาโต โข อานนฺท โพธิสตฺโต (ดูก่อนอานนท์ พระโพธิสัตว์ในบัดดลที่ประสูติแล)
               มาในตระกูล ในประโยคนี้ว่า๖- อนุปกฏฺโฐ ชาติวาเทน (ไม่มีใครคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงตระกูล)
               มาในอริยศีล ในประโยคนี้ว่า๗- ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต (ดูก่อนน้องหญิง จำเดิมแต่เราเกิดแล้วโดยอริยชาติ).(๒)
____________________________
๑- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๒๗/หน้า ๑๗.
๒- อํ. ติก เล่ม ๒๐/ข้อ ๕๑๐.
๓- อภิ. ธาตุ เล่ม ๓๖/ข้อ ๖๗.
๔- วิ. มหาวคฺค เล่ม ๔/ข้อ ๑๔๑/หน้า ๑๘๗.
๕- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๓๗๗/หน้า ๒๕๓.
๖- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๖๔๙/หน้า ๕๙๔.
๗- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๕๓๑/หน้า ๔๘๕.

               แต่ศัพท์ชาติในอธิการนี้ ย่อมควรในขันธ์ที่เกิดครั้งแรกพร้อมทั้งวิการ เพราะฉะนั้น คำว่าชาตินี้ ในอาการนี้จึงเป็นรูปเฉพาะตนโดยสภาวะว่า ความเกิดของสัตว์ผู้กำลังเกิด. บทที่ทรงเพิ่มด้วยอุปสรรคว่าสัญชาติ ด้วยอำนาจแห่งความเกิดพร้อม. ชื่อว่าโอกกันติ ด้วยอำนาจความหยั่งลง.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าชาติ ด้วยอรรถว่าการเกิด ชาตินั้นประกอบไว้ด้วยสามารถแห่งสัตว์ผู้มีอายตนะบกพร่อง ชื่อว่าสัญชาติ ด้วยอรรถว่าเกิดพร้อม สัญชาตินั้นประกอบไว้ด้วยสามารถแห่งสัตว์ผู้มีอายตนะสมบูรณ์. ชื่อว่าโอกกันติ ด้วยอรรถว่าหยั่งลง โอกกันตินั้นประกอบไว้ด้วยอำนาจสัตว์ผู้เกิดในไข่และเกิดในครรภ์ เพราะสัตว์เหล่านั้นย่อมหยั่งลงสู่ฟองไข่และมดลูก ก็เมื่อหยั่งลงย่อมถือปฏิสนธิ ดุจสัตว์ทั้งหลายผู้เข้าไปอยู่. ชื่อว่าอภินิพพัตติ ด้วยอรรถว่าบังเกิดยิ่ง อภินิพพัตตินั้นประกอบไว้ด้วยอำนาจแห่งสัตว์ผู้เกิดในเถ้าไคลและโอปปาติกสัตว์ เพราะสัตว์เหล่านั้นย่อมเกิด ปรากฏทันที.
               นี้เป็นสมมติกถา ก่อน.

               ว่าด้วยนิเทศแห่งชาติโดยปรมัตถกถา               
               บัดนี้ เป็นกถาว่าด้วยปรมัตถ์ จริงอยู่ ขันธ์ทั้งหลายนั่นเอง ย่อมปรากฏโดยปรมัตถ์ ไม่ใช่สัตว์ และในพระบาลีนั้น บทว่า ขนฺธานํ (แห่งขันธ์ทั้งหลาย) พึงทราบการถือเอาขันธ์หนึ่งในเอกโวการภพ ขันธ์สี่ในจตุโวการภพ ขันธ์ห้าในปัญจโวการภพ.
               บทว่า ปาตุภาโว (ความปรากฏ) ได้แก่ ความเกิดขึ้น.
               ในบทว่า อายตนานํ นี้ พึงทราบการสงเคราะห์ด้วยสามารถมนายตนะที่เกิดขึ้นในภพนั้น.
               บทว่า ปฏิลาโภ (ความได้เฉพาะ) ได้แก่ ความปรากฏในการสืบต่อนั่นเอง เพราะการปรากฏนั้นนั่นแหละ ชื่อว่าการได้เฉพาะ.
               คำว่า อยํ วุจฺจติ ชาติ (นี้เรียกว่าชาติ) ความว่า นี้เรากล่าวเรียกว่า ชาติ.
               ก็ชาตินี้นั้น ตตฺถ ตตฺถ ภเว ปฐมาภินิพฺพตฺติลกฺขณา มีการเกิดก่อนในภพนั้นๆ เป็นลักษณะ นิยฺยารสา มีการมอบให้เป็นกิจ๑- อตีตภวโต อิธ อุมฺมุชฺชนปจฺจุปฏฺฐานา มีการจากภพอดีตมาโผล่ขึ้นในภพนี้เป็นปัจจุปัฏฐาน ผลวเสน ทุกฺขวิจิตฺตตาปจฺจุปฏฺฐานา วา อีกอย่างนี้ มีความวิจิตร (รวบรวมไว้) ซึ่งทุกข์ด้วยอำนาจผลเป็นปัจจุปัฏฐาน.
____________________________
๑- ผู้รู้อธิบายว่า มีการเป็นไปคล้ายกับหมอบขันธ์ที่มีขอบเขตในแต่ละภพให้แก่สัตว์เป็นกิจ.

               พึงทราบอรรถแห่งชาติเป็นทุกข์               
               บัดนี้ พึงทราบข้อว่า พึงทราบอรรถแห่งชาติเป็นทุกข์. จริงอยู่ ชาตินี้ตัวเองไม่เป็นทุกข์ แต่ตรัสว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นที่ตั้งให้ทุกข์เกิด.
               ถามว่า ก็ชาตินี้เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ชนิดไหน?
               ตอบว่า ชาตินี้เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์นั้นแม้ทั้งหมด คือทุกข์ที่เป็นไปในอบายที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศไว้ ด้วยสามารถอุปมาในสูตรทั้งหลายมีพาลปัณฑิตสูตรเป็นต้น และทุกข์อันต่างด้วยทุกข์มีการหยั่งลงสู่ครรภ์เป็นมูลเป็นต้น ในมนุษยโลกเกิดขึ้นในสุคติภูมิ. ในอธิการนี้ พึงทราบทุกข์อันต่างด้วยทุกข์มีการหยั่งลงสู่ครรภ์เป็นมูลเป็นต้นต่อไป.

               ว่าด้วยทุกข์มีการหยั่งลงสู่ครรภ์เป็นมูล               
               จริงอยู่ สัตว์นี้เมื่อบังเกิดในท้องมารดา มิได้บังเกิดในที่ทั้งหลายมีดอกอุบล ดอกปทุมและดอกปุณฑริกเป็นต้น โดยที่แท้ ย่อมบังเกิดในบริเวณท้องซึ่งน่าเกลียดอย่างยิ่ง เป็นการหมกอยู่ในป่าใหญ่คือสิ่งไม่สะอาดและกลิ่นเหม็นยิ่งนัก อบอวลด้วยกลิ่นซากศพต่างๆ มืดตื้อคับแคบอย่างยิ่ง ในท่ามกลางพื้นท้องและกระดูกสันหลังภายใต้กระเพาะอาหารใหม่บนกระเพาะอาหารเก่า เหมือนหนอนเกิดอยู่ในปลาเน่า ในขนมบูดและน้ำครำเป็นต้น. สัตว์นั้นบังเกิดในท้องนั้นแล้วถูกไออุ่นที่เกิดในท้องมารดา ๑๐ เดือนอบดุจห่อข้าว นึ่งอยู่ดุจก้อนแป้ง เว้นจากอาการมีการคู้เข้าและเหยียดออกเป็นต้น เสวยอยู่ซึ่งทุกข์มีประมาณยิ่งแล.
               ทุกข์นี้ เป็นทุกข์มีการหยั่งลงสู่ครรภ์เป็นมูลก่อน.

               ว่าด้วยทุกข์มีการบริหารครรภ์เป็นมูล               
               อนึ่ง สัตว์นั้นย่อมเสวยทุกข์ใดมีประมาณยิ่ง ด้วยพากเพียรของมารดามีการคร่าไป คร่าไปทั่ว ซัดลง ซัดขึ้นเป็นต้น ในอิริยาบถทั้งหลายมีการลื่นถลา การเดิน การนั่ง การลุกขึ้นและในการหมุนตัวเป็นต้นโดยผลุนผลัน เป็นเหมือนลูกแพะในเงื้อมมือของนักเลงสุรา และเป็นเหมือนลูกงูในเงื้อมมือของหมองู. และสัตว์นั้นย่อมเสวยทุกขเวทนากล้าอันใด คือในเวลาที่มารดาดื่มน้ำเย็น ก็เป็นเหมือนบังเกิดในสีตนรก ในเวลาที่มารดากลืนกินยาคูร้อนและภัตร้อนเป็นต้นก็เป็นเหมือนฝนถ่านเพลิงประพรมไปโดยรอบ ในเวลาที่มารดากลืนของเค็มและเปรี้ยวเป็นต้นก็เป็นเหมือนสัตว์ถึงกรรมกรณ์โดยวิธีราดด้วยน้ำด่างเป็นต้น.
               ทุกข์นี้ เป็นทุกข์มีการบริหารครรภ์เป็นมูล.

               ว่าด้วยทุกข์มีความวิบัติแห่งครรภ์เป็นมูล               
               อนึ่ง เมื่อมารดาของสัตว์นั้นมีครรภ์หลง ทุกข์ใดย่อมเกิดขึ้นโดยอาการมีการผ่าตัดเป็นต้น ในที่เป็นที่เกิดแห่งทุกข์อันไม่ควรเห็นแม้แต่มิตร อำมาตย์และเพื่อนเป็นต้น.
               ทุกข์นี้ มีการพิบัติแห่งครรภ์เป็นมูล.

               ว่าด้วยทุกข์มีการคลอดเป็นมูล               
               ทุกข์ใดย่อมเกิดขึ้นแก่สัตว์ผู้ถูกลมกรรมชวาตของมารดากำลังคลอดให้พลิกกลับลงไปโดยลำดับสู่ทางกำเนิดอันน่ากลัวยิ่ง ดุจปล่องเหว ผลักไปทางช่องกำเนิดอันคับแคบยิ่ง ดุจช้างใหญ่ถูกผลักออกทางช่องลูกดาล และดุจสัตว์นรกถูกภูเขากระทบบดให้แหลกเป็นจุณไป.
               ทุกข์นี้ ชื่อว่ามีการคลอดเป็นมูล.

               ว่าด้วยทุกข์มีการออกนอกครรภ์เป็นมูล               
               อนึ่ง ทุกข์ใดย่อมเกิดแก่สัตว์ผู้คลอดแล้วซึ่งมีสรีระยังอ่อนแอเช่นกับแผลใหม่ ในคราวที่เขาเอามือจับอาบน้ำชำระและเช็ดด้วยท่อนผ้าเป็นต้น ก็จะเป็นเช่นกับเจาะด้วยเข็มและการผ่าด้วยมีดโกน.
               ทุกข์นี้ เป็นทุกข์มีการออกนอกครรภ์มารดาเป็นมูล.

               ว่าด้วยทุกข์มีความพยายามของตนเป็นมูล               
               เบื้องหน้าแต่นี้ไป ในปวัตติกาล ทุกข์ใดย่อมมีแก่สัตว์ผู้ฆ่าตนเองก็ดี ผู้ประกอบความเพียรโดยการทำตัวให้เร่าร้อน ให้เร่าร้อนทั่วด้วยสามารถแห่งวัตรมีอเจลกวัตรเป็นต้นก็ดี ผู้อดอาหารและผู้ผูกแขวนตัวด้วยอำนาจความโกรธก็ดี.
               ทุกข์นี้ เป็นทุกข์มีการพยายามของตนเป็นมูล.

               ว่าด้วยทุกข์มีความพยายามของผู้อื่นเป็นมูล               
               อนึ่ง ทุกข์ใดย่อมเกิดแก่ผู้เสวยทุกข์มีถูกฆ่าและจองจำเป็นต้นจากผู้อื่น ทุกข์นี้ เป็นทุกข์มีการพยายามของผู้อื่นเป็นมูล.
               ชาตินี้เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์นี้แม้ทั้งหมดด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวคำคาถานี้ไว้ว่า
                                   ชาเยถ โน เจ นรเกสุ สตฺโต
                                   ตตฺถคฺคิทาหาทิกมปฺปสยฺหํ
                                   ลเภถ ทุกฺขํ น กุหึ ปติฏฺฐํ
                                   อิจฺจาห ทุกฺขาติ มุนีธ ชาตึ

                                   หากว่า สัตว์ไม่พึงเกิดในนรกไซร้
                         เขาก็ไม่พึงได้ทุกข์ มีการถูกเผาไหม้ในนรก
                         นั้นเป็นต้น ที่ใครๆ อดกลั้นไม่ได้ ไม่มีที่พึ่ง
                         ในที่ไหนๆ เพราะเหตุนั้น พระมุนีจึงกล่าว
                         ความเกิดในโลกนี้ว่า เป็นทุกข์.

                                   ทุกฺขํ ติรจฺเฉสุ กสาปโตท
                                   ทณฺฑาภิฆาฏาทิภวํ อเนกํ
                                   ยนฺตํ กถํ ตตฺถ ภเวยฺย ชาตึ
                                   วินา ตหึ ชาติ ตโตปิ ทุกฺขา

                                   ความทุกข์ในพวกสัตว์เดรัจฉาน มี
                         การกระหน่ำด้วยแส้ ปฏักและท่อนไม้
                         มิใช่น้อย เว้นชาติเสีย ทุกข์พึงมีในเป็นต้น
                         พวกสัตว์นั้นได้อย่างไร แม้เพราะเหตุนั้น
                         ชาติจึงชื่อว่า เป็นทุกข์ในพวกสัตว์นั้น.

                                   เปเตสุ ทุกฺขํ ปน ขุปฺปิปาสา
                                   วาตาตปาทิปฺปภวํ วิจิตฺตํ
                                   ยสฺมา อชาตสฺส น ตตฺถ อตฺถิ
                                   ตสฺมาปิ ทุกฺขํ มุนิ ชาติมาห

                                   อนึ่ง ทุกข์เพราะหิวกระหายในพวก
                         เปรต มีแดนเกิดแต่ลมและแดดเป็นต้น
                         ชนิดต่างๆ ย่อมไม่มีแก่สัตว์ผู้ไม่เกิดในพวก
                         เปรตนั้น แม้เพราะเหตุนั้น ท่านผู้รู้ก็กล่าวว่า
                         ชาติเป็นทุกข์.

                                   ติพฺพนฺธนกาเร จ อสยฺหสีเต
                                   โลกนฺตเร ยํ อสุเรสุ ทุกฺขํ
                                   น ตํ ภเว ตตฺถ น จสฺส ชาติ
                                   ยโต อยํ ชาติ ตโตปิ ทุกฺขา

                                   อนึ่ง ทุกข์ในพวกอสุรกายที่มีใน
                         โลกันตร์ ซึ่งเย็นทนไม่ได้ มืดตื้อจะไม่พึง
                         มีในพวกอสุรกายนั้น เพราะไม่มีความเกิด
                         แม้เหตุนั้น ชาตินี้ ก็ชื่อว่า เป็นทุกข์.

                                   ยญฺจาปิ คูถนรเก วิย มาตุ คพฺเภ
                                   สตฺโต วสญฺจิรมโต พหิ นิกฺขมญฺจ
                                   ปปฺโปติ ทุกฺขมติ โฆรมิทํปิ นตฺถิ
                                   ชาตึ วินา อิติปิ ชาติรยํ หิ ทุกฺขา

                                   อนึ่ง สัตว์ในครรภ์มารดา อันเป็น
                         ราวกะคูถนรก โดยการอยู่ตลอดกาลนานก็ดี
                         ออกจากครรภ์มาในภายนอกก็ดี ย่อมถึงทุกข์
                         แม้ใดอันร้ายแรง ทุกข์แม้นี้เว้นความเกิด
                         เสียย่อมไม่มี แม้เพราะเหตุนั้น ความเกิด
                         นั่นแหละ ชื่อว่า เป็นทุกข์.

                                   กึ ภาสิเตน พหุนา นนุ ยํ กุหิญฺจิ
                                   อตฺถีธ กิญฺจิรปิ ทุกฺขมิทํ กทาจิ
                                   เนวตฺถิ ชาติวิรเห ยทโต มเหสิ
                                   ทุกฺขาติ สพฺพปฐมํ อิมมาห ชาตึ

                                   ประโยชน์อะไร ด้วยการกล่าวมาก
                         ไป ทุกข์แม้ไรๆ ในโลกนี้ ซึ่งมีในที่ไหนๆ นี้
                         จะไม่มีได้ในกาลไหนๆ เพราะเว้นจากความ
                         เกิด มิใช่หรือ เพราะเหตุนั้น พระมหาฤาษีจึง
                         ตรัสความเกิดนี้ว่า เป็นทุกข์ก่อนทุกข์ทั้งปวง
                         ดังนี้.

               ว่าด้วยนิเทศชรา (บาลีข้อ ๑๔๗)               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศชรา ต่อไป.
               บทว่า ชรา (ความคร่ำคร่า) เป็นรูปความเฉพาะตนโดยภาวะของตน.
               บทว่า ชิรณตา (ภาวะที่คร่ำคร่า) เป็นศัพท์แสดงถึงอาการ.
               ศัพท์ทั้ง ๓ มีคำว่า ขณฺฑิจฺจํ (ความที่ฟันหลุด) เป็นต้น เป็นศัพท์แสดงถึงกิจในเมื่อล่วงกาลผ่านไป สองศัพท์หลังเป็นการอธิบายความตามปกติ.๑-
               จริงอยู่ ชรานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโดยภาวะของตนด้วยบทว่า ความคร่ำคร่า นี้. เพราะเหตุนั้น บทว่า ความคร่ำคร่า นี้จึงเป็นรูปความเฉพาะตนโดยสภาพแห่งบทว่า ความคร่ำคร่า นั้น. ทรงแสดงชรานั้นโดยอาการ ด้วยบทว่า ชิรณตา (ภาวะที่คร่ำคร่า) เพราะเหตุนั้น ศัพท์ว่าชิรณตา นี้จึงเป็นการอธิบายถึงอาการของชรานั้น.
               ด้วยบทว่า ขณฺฑิจฺจํ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงชราโดยกิจ คือการกระทำความเป็นผู้มีฟันและเล็บหักในเมื่อล่วงกาลผ่านไป. ด้วยบทว่า ปาลิจฺจํ (ความที่ผมหงอก) นี้ ทรงแสดงชราโดยกิจ คือการทำความเป็นผู้มีผมและขนหงอก. ด้วยบทว่า วลิตฺตจตา (ความที่หนังเหี่ยวย่น) นี้ ทรงแสดงชราโดยกิจ คือการทำความเป็นผู้มีเนื้อเหี่ยวแล้ว หนังย่นแล้ว เพราะเหตุนั้น ศัพท์ทั้ง ๓ มีอาทิว่า ขณฺฑิจฺจํ (ความที่ฟันหลุด) เหล่านี้ จึงเป็นศัพท์แสดงกิจในเมื่อล่วงกาลผ่านไปของชรานั้น.
               ด้วยศัพท์ทั้ง ๓ นั้น พระองค์ทรงแสดงปากฏชราว่า ชรานั้นเป็นธรรมชาติปรากฏแล้ว ด้วยสามารถแห่งการเห็นภาวะเหล่านี้เป็นของพิการไป เปรียบเหมือนทางเดินของน้ำหรือลมหรือไฟ ย่อมปรากฏเพราะความที่หญ้าและต้นไม้เป็นต้นหักโค้นทลายแล้วหรือถูกไฟไหม้ และทางที่เป็นไปแล้วนั้นมิใช่น้ำเป็นต้นเหล่านั้นเลย ข้อนี้ฉันใด ทางเดินของชราก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมปรากฏในที่มีฟันเป็นต้น ด้วยอำนาจลักษณะมีภาวะที่หักเป็นต้น ใครๆ แม้ลืมตาดูก็รู้ได้ แต่ลักษณะมีภาวะที่ฟันหักเป็นต้นเท่านั้น มิใช่ชรา เพราะชรามิใช่สิ่งที่พึงรู้แจ้งด้วยตา.
               อนึ่ง ชรานั้น พระองค์ทรงแสดงโดยปกติ กล่าวคือความสิ้นอายุและความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์มีจักษุเป็นต้น ซึ่งปรากฏเฉพาะในเมื่อล่วงกาลผ่านไปเท่านั้น ด้วยบทเหล่านี้ว่า อายุโน สํหานิ อินฺทฺริยานํ ปริปาโก (ความเสื่อมสิ้นแห่งอายุ และความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์) เพราะเหตุนั้น สองศัพท์หลังเหล่านี้ พึงทราบว่า เป็นศัพท์อธิบายความตามปกติของชรานั้น บรรดาบททั้ง ๒ (คือความเสื่อมสิ้นแห่งอายุและความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์) นั้น เพราะอายุของผู้ถึงชราแล้วย่อมเสื่อม ฉะนั้น ชรา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสโดยผลูปจารนัยว่า ความเสื่อมสิ้นแห่งอายุ.
               อนึ่ง เพราะอินทรีย์มีจักษุเป็นต้น ในเวลาที่ยังเป็นหนุ่มเป็นของผ่องใสดี สามารถรับวิสัยของตน แม้ละเอียดได้โดยง่ายทีเดียว เมื่อเขาถึงชราแล้ว เป็นอินทรีย์หง่อมแล้ว สับสนไม่คล่องแคล่ว ไม่สามารถรับวิสัยของตนแม้หยาบได้ ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า อินฺทฺริยานํ ปริปาโก (ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์) โดยผลูปจารนัยทีเดียว.
____________________________
๑- คือ อายุโน สํหานิ ความเสื่อมสิ้นแห่งอายุ และ อินฺทฺริยานํ ปริปาโก ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์.

               ว่าด้วยชรา ๒ อย่าง               
               อนึ่ง ชราแม้ทั้งหมด ที่ทรงยกขึ้นแสดงไว้อย่างนี้นั้นมี ๒ อย่าง คือ
                         ปากฏชรา
                         ปฏิจฉันนชรา.
               บรรดาชราทั้ง ๒ นั้น ชราในรูปธรรม ชื่อว่าปากฏชรา เพราะแสดงภาวะมีการหักเป็นต้นในอวัยวะมีฟันเป็นต้น ส่วนชราในอรูปธรรม ชื่อว่าปฏิจฉันนชรา เพราะไม่แสดงพิการเช่นนั้น.
               ในชราทั้ง ๒ นั้น ภาวะมีความเป็นผู้มีฟันหักเป็นต้นใดนี้ ย่อมปรากฏภาวะความเป็นผู้มีฟันหักนั้น เป็นวรรณะ (สี) เท่านั้น เพราะความที่อวัยวะมีฟันเป็นต้นเช่นนั้น เป็นสิ่งที่รู้ได้โดยง่าย บุคคลเห็นวรรณะ (สี) นั้นด้วยจักษุแล้วก็คิดโดยมโนทวาร ย่อมทราบชราว่า ขันธ์เหล่านี้ถูกชราประหารแล้ว ดุจการแลดูวัตถุทั้งหลายมีเขาโคเป็นต้นที่ผูกไว้ในที่เป็นที่ตั้งแห่งน้ำก็จะทราบได้ว่า น้ำมีภายใต้ ฉะนั้น.
               ชรานี้ มีอีก ๒ อย่าง คือ
                         อวีจิชรา (ชราไม่มีร่องรอย)
                         สวีจิชรา (ชรามีร่องรอย).
               บรรดาชราทั้ง ๒ นั้น ชรา (ความคร่ำคร่า) ของแก้วมณี ทอง เงิน แก้วประพาฬ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เป็นต้น ชื่อว่าอวีจิชรา เพราะความพิเศษแห่งสีเป็นต้นในระหว่างๆ เป็นของที่รู้ได้โดยยาก เหมือนความแปลกแห่งสีเป็นต้นของสัตว์มีชีวิตในพวกมันททสกะเป็นต้น และสิ่งไม่มีชีวิตในพวกที่เป็นดอกไม้ผลไม้และใบอ่อนเป็นต้น. มีอธิบายว่าเป็นนิรันตรชราคือชราไม่มีระหว่าง. แต่ชรา (ความคร่ำคร่า) ในสิ่งอื่นๆ จากวัตถุมีแก้วมณีเป็นต้นนั้น ชื่อว่าสวีจิชรา เพราะความแปลกแห่งสีเป็นต้นในระหว่างๆ เป็นสิ่งที่รู้ได้ง่าย.
               ในชราทั้ง ๒ นั้น สวีจิชรา พึงทราบอย่างนี้ ด้วยอำนาจแห่งอุปาทินนรูปและอนุปาทินนรูป.
               จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่า ฟันน้ำนมของพวกเด็กๆ ย่อมเกิดก่อนทีเดียว ฟันเหล่านั้นไม่ถาวร แต่เมื่อฟันเหล่านั้นหักไปแล้ว ฟันก็จะตั้งขึ้นอีก ฟัน (แท้) เหล่านั้นครั้งแรกเป็นสีขาว ย่อมเป็นสีดำในเวลาถูกลมคือชรากระทบ.
               อนึ่ง ผมครั้งแรกย่อมเป็นสีแดงบ้าง ย่อมเป็นสีดำบ้างขาวบ้าง. ส่วนผิวย่อมมีสีแดง เมื่อบุคคลกำลังเจริญๆ บุคคลขาวก็จะปรากฏเป็นสีขาว บุคคลดำก็จะปรากฏเป็นสีดำ แต่เมื่อถูกลมคือชรากระทบแล้ว ผิวนั่นก็จะจับรอยย่น. ข้าวกล้าแม้ทั้งหมดในเวลาที่หว่านแล้ว ย่อมงอกเป็นสีขาว ภายหลังจะเป็นสีเขียว แต่ในเวลาถูกลมคือชรากระทบแล้วก็เป็นสีเหลือง จะแสดงแม้ด้วยหน่อมะม่วงก็ควรเหมือนกัน. คำว่า อยํ วุจฺจติ ชรา (นี้เรียกว่าชรา) ความว่า นี้เรากล่าวให้ชื่อว่า ชรา.
               ก็ชรานี้นั้น ขนฺธปริปากลกฺขณา มีความแก่ของขันธ์เป็นลักษณะ มรณูปนยนรสา มีการนำเข้าไปหาความตายเป็นกิจ โยพฺพนวินาสปจฺจุปฏฺฐานา มีความพินาศแห่งวัยหนุ่มสาวเป็นปัจจุปัฏฐาน.

               พึงทราบอรรถแห่งชราเป็นทุกข์               
               ก็พึงทราบวินิจฉัยในข้อว่า พึงทราบอรรถแห่งชราเป็นทุกข์ นี้ต่อไป.
               แม้ชรานี้ตัวเองไม่เป็นทุกข์ แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งของทุกข์.
               ถามว่า เป็นที่ตั้งของทุกข์ไหน.
               ตอบว่า ของทุกข์ทางกาย และทุกข์คือโทมนัส.
               จริงอยู่ อัตภาพของคนชราแล้วย่อมทุรพล เหมือนเกวียนเก่าคร่ำคร่า เมื่อเขาพยายามเพื่อจะยืนหรือเดินหรือนั่ง ย่อมเกิดทุกข์ทางกายอย่างรุนแรง. เมื่อบุตรและภรรยาไม่คอยสนใจเหมือนแต่ก่อนก็เกิดโทมนัส. พึงทราบชราเป็นทุกข์โดยความเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ทั้งสองด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง (ท่านประพันธ์เป็นคาถาไว้ว่า)
                                   อนึ่ง สัตว์ย่อมถึงทุกข์ใด ทั้งทางกาย
                         และทางใจ เพราะความที่อวัยวะหย่อนยาน
                         เพราะความพิการแห่งอินทรีย์ เพราะความ
                         พินาศแห่งความหนุ่มสาว เพราะกำลังถูก
                         บั่นทอน เพราะปราศจากคุณมีสติเป็นต้น
                         และบุตรภรรยาของตนก็ไม่เลื่อมใส และถึง
                         ความเป็นคนพาลอย่างยิ่ง ทุกข์ทั้งหมดนี้ มี
                         ชราเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น ชราจึงเป็นทุกข์แล.

               ว่าด้วยนิเทศมรณะโดยสมมติ               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศมรณะ ต่อไป.
               ที่ชื่อว่าจุติ ด้วยอำนาจแห่งสัตว์ผู้เคลื่อน (จากภพ) คำว่าจุตินี้เป็นคำพูดธรรมดาของจุติที่เป็นขันธ์ ๑ ขันธ์ ๔ และขันธ์ ๕.
               บทว่า จวนตา (ภาวะที่เคลื่อน) เป็นบทแสดงไขถึงลักษณะโดยกล่าวภาวะ.
               บทว่า เภโท (ความทำลาย) เป็นบทอธิบายความเกิดขึ้นแห่งภังคะของขันธ์ที่จุติ.
               บทว่า อนฺตรธานํ (ความหายไป) เป็นบทอธิบายความไม่มีฐานะโดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่งของจุติขันธ์ที่แตกทำลาย ดุจหม้อที่แตกไปฉะนั้น.
               บทว่า มจฺจุมรณํ แปลว่า มฤตยูคือความตาย มัจจุผู้กระทำซึ่งที่สุด ชื่อว่ากาละ การกระทำของกาละนั้นชื่อว่ากาลกิริยา (ความทำกาละ).
               มรณะโดยสมมติ เป็นคำอันข้าพเจ้าแสดงแล้วเพียงเท่านี้.

               ว่าด้วยนิเทศแห่งมรณะโดยปรมัตถ์               
               บัดนี้ เพื่อกำหนดมรณะโดยปรมัตถ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ขนฺธานํ เภโท (ความแตกแห่งขันธ์) เป็นต้น.
               จริงอยู่ ว่าโดยปรมัตถ์ ขันธ์ทั้งหลายเท่านั้นย่อมแตกไป ขึ้นชื่อว่าสัตว์ไรๆ ย่อมตายหามีไม่ แต่เมื่อขันธ์ทั้งหลายกำลังแตก สัตว์ก็ย่อมมีโวหารว่ากำลังตาย เมื่อขันธ์แตกแล้วก็มีโวหารว่า สัตว์ตายแล้ว. ก็ในอธิการนี้ ความแตกแห่งขันธ์ทั้งหลาย ด้วยอำนาจจตุโวการภพและปัญจโวการภพ. ความทอดทิ้งกเฬวระ (ซากศพ) ด้วยอำนาจเอกโวการภพ. อีกอย่างหนึ่ง ความแตกแห่งขันธ์ทั้งหลายย่อมมีด้วยอำนาจขันธ์ ๔ (จตุโวการภพ) พึงทราบความทอดทิ้งซากศพไว้ ด้วยอำนาจบททั้ง ๒ ที่เหลือ.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะการเกิดแห่งกเฬวระ กล่าวคือรูปกาย ย่อมมีในภพแม้ทั้ง ๒.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะขันธ์ทั้งหลายในจาตุมหาราชิกาเป็นต้นย่อมแตกไปอย่างเดียว ไม่มีอะไรๆ ต้องทอดทิ้ง ฉะนั้น ความแตกแห่งขันธ์ทั้งหลายย่อมมีด้วยอำนาจแห่งขันธ์ในจาตุมหาราชิกาเป็นต้นเหล่านั้น ความทอดทิ้งซากศพย่อมมีในพวกมนุษย์เป็นต้น.
               ก็ในนิเทศนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ความตายโดยเหตุแห่งการทอดทิ้งร่างกายว่า การทิ้งซากศพ ดังนี้.
               ด้วยบทว่า ชีวิตินฺทฺริยสฺส อุปจฺเฉโท (ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์) นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ขึ้นชื่อว่าความตายของขันธ์ที่เนื่องด้วยอินทรีย์เท่านั้น มีอยู่ ขึ้นชื่อว่าความตายของขันธ์ไม่เนื่องด้วยอินทรีย์หามีไม่ แต่คำว่า ข้าวกล้าตาย ต้นไม้ตาย นี้เป็นเพียงโวหารเท่านั้น แต่เมื่อว่าโดยอรรถแล้ว คำพูดเช่นนี้ย่อมแสดงถึงความที่สรรพสิ่งทั้งหลายมีข้าวกล้าเป็นต้นเป็นของสิ้นไปเสื่อมไปนั่นเอง.
               คำว่า อิทํ วุจฺจติ มรณํ (นี้เรียกว่ามรณะ) ความว่า แม้ทั้งหมดนี้ เราก็ให้ชื่อว่ามรณะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ในคำว่า มรณะ นี้ พึงทราบประเภทแม้นี้ คือ
                         ขณิกมรณะ (ตายทุกขณะ)
                         สมมติมรณะ (ตายโดยสมมติ)
                         สมุจเฉทมรณะ (ตายโดยตัดขาด).
               บรรดามรณะเหล่านั้น ความแตกแห่งรูปธรรมและอรูปธรรมในประวัติกาล ชื่อว่าขณิกมรณะ. ความตายนี้ว่า ท่านติสสะตาย ท่านปุสสะตายเป็นต้น ชื่อว่าสมมติมรณะ. การทำกาละของพระขีณาสพไม่มีปฏิสนธิ ชื่อว่าสมุจเฉทมรณะ. แต่ในนิเทศนี้ พระองค์ประสงค์เอาสมมติมรณะ แม้คำว่าความตายเพราะความเกิดเป็นปัจจัย ความตายด้วยความพยายาม ความตายโดยหน้าที่ ความตายเพราะสิ้นอายุดังนี้ ก็เป็นชื่อความตายโดยสมมตินั่นเอง.
               ความตายโดยสมมตินี้นั้น จุติลกฺขณํ มีการเคลื่อนจากภพเป็นลักษณะ วิโยครสํ มีการพรากไปเป็นกิจ วิปฺปวาสปจฺจุปฏฺฐานํ มีการปราศจากภพเก่าเป็นปัจจุปัฏฐาน.

               พึงทราบอรรถแห่งมรณะเป็นทุกข์               
               อนึ่ง พึงทราบวินิจฉัยในคำนี้ว่า พึงทราบอรรถแห่งมรณะเป็นทุกข์ ต่อไป.
               แม้มรณะนี้ตัวเองก็ไม่เป็นทุกข์ แต่พระองค์ตรัสว่า ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ เพราะเวทนามีในสรีระแม้เกิดในที่สุดแห่งความตายจะเผาสรีระ เหมือนคบหญ้าติดไฟที่ถือไว้ทวนลม ในเวลาที่นิมิตแห่งนรกเป็นต้นปรากฏ โทมนัสรุนแรงย่อมเกิดขึ้น.
               พึงทราบมรณะว่าเป็นทุกข์ โดยเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์แม้ทั้ง ๒ นี้ ด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง
                                   เพราะความตายนี้ เป็นวัตถุที่ตั้งแห่ง
                         ทุกข์ใจ ของคนใกล้ตายที่เป็นคนลามกซึ่ง
                         เห็นนิมิต มีกรรมอันลามกเป็นต้นอยู่โดย
                         ลำดับ สำหรับคนดี ผู้ไม่สามารถข่มความ
                         พลัดพรากจากวัตถุอันเป็นที่รัก (คือสัตว์และ
                         สังขารอันเป็นที่รักใคร่) ได้ แม้ทุกข์ซึ่งเกิด
                         ในสรีระมีโรคลมอันตัดข้อต่อ และเส้นเอ็น
                         เป็นต้น ซึ่งข่มไม่ได้ แก้ไขไม่ได้ ที่มีแก่
                         เหล่าสัตว์ทั้งปวงที่กำลังถูกโรคเสียดแทงเป็น
                         ธรรมดา โดยไม่แปลกกันนี้ ฉะนั้น มรณะนี้
                         พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นทุกข์
                         เหมือนกัน.

               ว่าด้วยทุกข์ทั้ง ๓ ดังข้าศึก ๓ คน               
               อีกนัยหนึ่ง ขึ้นชื่อว่าชาติ ชราและมรณะเหล่านี้ ย่อมเที่ยวแสวงหาโอกาส ดุจปัจจามิตรผู้เข่นฆ่าสัตว์เหล่านี้ คือเปรียบเหมือนข้าศึก ๓ คนของบุรุษผู้คอยโอกาสเฝ้าดูอยู่ คนหนึ่งพูดว่า ข้าจักกล่าวชมชื่อป่าโน้นแล้ว จักพาเขาไปในป่านั้น ในเรื่องนี้ไม่มีอะไรที่ทำได้ยากสำหรับเรา. คนที่ ๒ พูดว่า ในเวลาที่เจ้าพาคนนี้ไป เราจักโบยตีกระทำให้ทุรพล ในเรื่องนี้ไม่มีอะไรยากสำหรับเรา. คนที่ ๓ พูดว่า เมื่อเจ้าโบยตีทำบุรุษนี้ให้หมดกำลังแล้ว ชื่อว่าเอาดาบคมตัดศีรษะ จงเป็นหน้าที่ของเราเถิด ดังนี้. ข้าศึกทั้ง ๓ นั้นครั้นพูดอย่างนั้นแล้วก็กระทำอย่างนั้น.
               ในการอุปมานั้น ชื่อว่าการคร่าออกจากวงของเพื่อนและญาติแล้วให้เกิดในภพใดภพหนึ่ง ดุจเวลาที่ข้าศึกคนที่หนึ่งกล่าวชมป่าแล้วพาบุรุษนั้นไปในป่านั้น พึงทราบว่า เป็นหน้าที่ของชาติ (ความเกิด). การที่ขันธ์ซึ่งเกิดขึ้นแล้วตกไป (คืออ่อนกำลังลง) แล้วทำให้เป็นผู้พึ่งคนอื่นและมีเตียงนอนเป็นเบื้องหน้า ดุจข้าศึกคนที่ ๒ โบยตีทำให้เป็นผู้ทุรพล พึงทราบว่า เป็นหน้าที่ของชรา. การให้ถึงความสิ้นชีวิต ดุจข้าศึกคนที่ ๓ เอาดาบคมตัดศีรษะ พึงทราบว่า เป็นหน้าที่ของมรณะ ฉะนั้น.
               อีกประการหนึ่ง ในทุกข์ทั้ง ๓ นี้ พึงเห็นชาติทุกข์เหมือนการเข้าสู่ทางกันดารใหญ่ที่มีโทษ. พึงเห็นชราทุกข์เหมือนความเป็นผู้ทุรพลที่อดข้าวและน้ำในทางกันดารนั้น. พึงเห็นมรณทุกข์เหมือนการให้ถึงความพินาศด้วยเครื่องผูกมัดเป็นต้น แก่คนทุรพลผู้มีความพยายามให้อิริยาบถเป็นไปถูกขจัดแล้วแล.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ สัจจวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 131อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 144อ่านอรรถกถา 35 / 171อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=2637&Z=2865
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=2078
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=2078
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :