ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 737อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 741อ่านอรรถกถา 35 / 750อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
อัปปมัญญาวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์

               อรรถกถาอัปปมัญญาวิภังค์               
               วรรณนาสุตตันตภาชนีย์               
               บัดนี้ บัณฑิตพึงทราบอัปปมัญญาวิภังค์ ในลำดับแห่งฌานวิภังค์นั้นต่อไป.
               คำว่า ๔ เป็นคำกำหนดจำนวน.
               คำว่า อปฺปมญฺญาโย ได้แก่ ชื่อว่าอัปปมัญญาทั้งหลาย เพราะอำนาจแห่งการแผ่ไปไม่มีประมาณ.
               จริงอยู่ ภิกษุนั้นย่อมแผ่อัปปมัญญาเหล่านั้นไปยังสัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ด้วยสามารถแห่งอารมณ์ หรือว่าย่อมแผ่ไปด้วยสามารถแห่งการแผ่ไปอันไม่มีส่วนเหลือแม้สัตว์ผู้เดียว เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเมตตาเป็นต้นว่า เป็นอัปปมัญญาทั้งหลายด้วยสามารถแห่งการแผ่ไปในสัตว์อันไม่มีขอบเขตดังนี้.
               คำว่า อิธ ภิกฺขุ ได้แก่ ภิกษุในพระศาสนานี้.
               คำว่า เมตฺตาย ได้แก่ ประกอบด้วยเมตตา.
               คำว่า เจตสา ได้แก่ ด้วยจิต.
               คำว่า เอกํ ทิสํ ได้แก่ ทิศหนึ่ง. คำนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาสัตว์ที่ภิกษุกำหนดครั้งแรก ด้วยสามารถแห่งการแผ่ไป อันเนื่องด้วยทิศหนึ่ง.
               คำว่า ผริตฺวา (แปลว่า แผ่ไป) ได้แก่ สัมผัสแล้วกระทำให้เป็นอารมณ์.
               คำว่า วิหรติ ได้แก่ ให้วิหารธรรม ในอิริยาบถอันตนตั้งมั่นแล้วด้วยพรหมวิหารเป็นไป.
               คำว่า ตถา ทุติยํ (แปลว่า ทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น) อธิบายว่า บรรดาทิศทั้งหลายมีทิศตะวันออกเป็นต้น ภิกษุนั้นย่อมแผ่ไปยังสัตว์ในทิศใดทิศหนึ่งอยู่ ในทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น ในทิศที่ ๓ ในทิศที่ ๔ ก็อย่างนั้น.
               คำว่า อุปริทิสํ นี้ พึงทราบคำอธิบายตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วโดยนัยแห่งคำว่า อิติ อุทฺธํ นั้นนั่นแหละ (อุทฺธํ แปลว่า ในทิศเบื้องบน).
               คำว่า อโธ ติริยํ ได้แก่ ทิศเบื้องขวางก็ดี พึงแผ่เมตตาไป ฉันนั้นนั่นแหละ.
               อนึ่ง คำว่า อโธ นี้ ได้แก่ ทิศเบื้องต่ำ.
               คำว่า ติริยํ ได้แก่ อนุทิศ (คือทิศน้อย) อธิบายว่า ภิกษุยังจิตอันสหรคตด้วยเมตตาให้แล่นออกไปบ้าง ให้แล่นกลับมาบ้าง (ให้ระลึกไปมา) ในทิศทั้งปวง ด้วยอาการอย่างนี้ เปรียบเหมือนม้าแล่นไปมาอยู่ในสนามแห่งม้า ฉันนั้น.
               การแผ่เมตตาโดยเจาะจง (โอธิโส) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนดทิศหนึ่งๆ แสดงแล้วด้วยคำมีประมาณเพียงเท่านี้. แต่คำว่า สพฺพธิ (แปลว่า ภิกษุแผ่เมตตาจิตไปในสัตว์ทั้งปวง) เป็นต้น ตรัสไว้เพื่อแสดงการแผ่ไปโดยไม่เจาะจง (อโนธิโส).
               ในคำเหล่านั้น คำว่า สพฺพธิ แปลว่า ในสัตวโลกทั้งปวง.
               คำว่า สพฺพตฺตตาย (แปลว่า เพราะเป็นผู้มีจิต (มีตน) เสมอในสัตว์ทุกหมู่เหล่า) ได้แก่ เพราะความที่เมตตาจิตนั้นเป็นไปในสัตว์ทั้งปวงทุกหมู่เหล่า อันต่างด้วยสัตว์ทั้งหลายมีสัตว์ชนิดเลว ปานกลาง อุกฤษฏ์ เป็นมิตรสหาย และสัตว์ผู้เป็นกลาง (คือมิใช่มิตร มิใช่ศัตรู) เป็นต้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิบายคำว่า เพราะเป็นผู้มีจิต (มีตน) เสมอกัน โดยตรัสว่า เพราะไม่ทำการแบ่งแยกว่า นี้เป็นสัตว์อื่น ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า สพฺพตฺตตาย นี้ ได้แก่ โดยความเป็นจิตที่ประกอบด้วยเมตตาทั้งปวง คือทรงอธิบายว่า เป็นผู้มีจิตเมตตา มิได้ฟุ้งไปเป็นอย่างอื่นแม้หน่อยหนึ่ง.
               คำว่า สพฺพาวนฺตํ (แปลว่า ทั้งปวง) อธิบายว่า ประกอบด้วยสัตวโลกทั้งปวง.
               คำว่า โลกํ ได้แก่ สัตวโลก. สำหรับในข้อนี้ตรัสว่า มีจิตอันสหรคตด้วยเมตตา อีกเพื่อแสดงปริยาย (คือคำไวพจน์) แห่งคำว่า วิปุเลน (แปลว่า ไพบูลย์) คือแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์นั้นนั่นแหละเป็นต้น.
               อนึ่ง ศัพท์ว่า ตถา ก็ดี (ตถาศัพท์) ศัพท์ว่า อิติ ก็ดี (อิติศัพท์) พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสซ้ำในการแผ่ไปโดยไม่เจาะจงนี้ เหมือนการแผ่เมตตาจิตไปโดยเจาะจง ฉะนั้น จึงตรัสว่า เมตฺตาสหคเตน เจตสา ซ้ำอีก. อีกอย่างหนึ่ง คำว่า เมตฺตาสหคเตน เจตสา นี้ ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งคำนิคม (คือคำที่ตรัสสรุปความ).
               อนึ่ง ในคำว่า วิปุเลน นี้ บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นเมตตาอันไพบูลย์ด้วยสามารถแห่งการแผ่ไป. ก็เมตตาจิตนั้นเป็นจิตกว้างขวาง (คือเป็นจิตมหัคคตะ) ด้วยสามารถแห่งภูมิ. เมตตาจิตนั้นเป็นจิตหาประมาณมิได้ ด้วยสามารถแห่งการกระทำให้คล่องแคล่ว และพึงทราบว่า เป็นจิตไม่มีประมาณด้วยสามารถแห่งการกระทำสัตว์ให้เป็นอารมณ์. เมตตาจิตนั้นเป็นจิตไม่มีเวร เพราะละธรรมอันเป็นข้าศึก คือการเบียดเบียน. เมตตาจิตนั้นเป็นจิตไม่มีความพยาบาท เพราะละโทมนัส พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอธิบายว่า เป็นจิตไม่มีทุกข์ ดังนี้. เนื้อความที่ได้พรรณนามานี้ เป็นอรรถแห่งมาติกาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้โดยนัยว่า เมตฺตาสหคเตน เจตสา ด้วยจิตอันสหรคตด้วยเมตตา เพียงนี้ก่อน.

               เมตตาอัปปมัญญา               
               บัดนี้ พึงทราบบทภาชนีย์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า กถญฺจ ภิกฺขเว เมตฺตาสหคเตน เจตสา เป็นต้น. ในบทภาชนีย์นั้น กรรมฐานอันประกอบด้วยเมตตานี้ เป็นสัปปายะแก่บุคคลผู้มีโทสจริต เพราะเหตุนั้น เมตตานี้จึงชื่อว่าถึงอัปปนาในบุคคลตามความเหมาะสม. เพื่อแสดงซึ่งบุคคลอันเป็นที่ตั้งแห่งเมตตานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เสยฺยถาปิ นาม เอกํ ปุคฺคลํ เป็นต้น.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า เสยฺยถาปิ นาม เป็นนิบาตลงในอรรถแห่งความอุปมา. อธิบายว่า เปรียบเหมือนบุคคลเห็นบุคคลคนหนึ่ง.
               คำว่า ปิยํ (แปลว่า ผู้เป็นที่รักใคร่) ได้แก่ เป็นที่ตั้งแห่งความรัก.
               คำว่า มนาปํ (แปลว่า ชอบใจ) ได้แก่ ผู้กระทำความเจริญให้หทัย.
               บรรดาคำเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นที่รัก เพราะอำนาจแห่งการเคยอยู่ร่วมกันในกาลก่อน หรือว่าโดยประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบัน. ชื่อว่าเป็นที่ชอบใจ เพราะการประกอบด้วยคุณมีศีลเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ความเป็นแห่งบุคคลผู้เป็นที่รัก พึงทราบด้วยความที่ตนเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทาน. ความเป็นแห่งบุคคลผู้ชอบใจ พึงทราบด้วยความเป็นผู้มีวาจาไพเราะและประพฤติประโยชน์. ก็ในที่นี้ การละพยาบาทของเขา ย่อมมีเพราะความที่บุคคลนั้นเป็นบุคคลที่รัก แต่นั้น เมตตาก็ย่อมแผ่ไปได้โดยง่าย. ความวางเฉยย่อมไม่ตั้งอยู่ในเพราะความเป็นผู้ชอบใจ อนึ่งบุคคลใดย่อมเข้าไปตั้งไว้ซึ่งหิริโอตตัปปะ แต่นั้นเมตตาของเขาย่อมไม่เสื่อม เพราะความเป็นผู้ตามรักษาซึ่งหิริโอตตัปปะ. ฉะนั้น คำว่า ปิยํ (แปลว่าผู้เป็นที่รัก) มนาปํ (แปลว่า เป็นที่ชอบใจ) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำคำอธิบายว่า เหมือนบุคคลเห็นบุคคลคนหนึ่งผู้เป็นที่รักใคร่ชอบใจแล้ว พึงทำบุคคลผู้เป็นที่รักใคร่ชอบใจนั้นให้เป็นอุปมา (เครื่องเปรียบเทียบ).
               คำว่า เมตฺตาเยยฺย (แปลว่า พึงแผ่เมตตาไป) อธิบายว่า พึงกระทำเมตตา คือพึงยังเมตตาให้เป็นไปในบุคคลนั้น.
               คำว่า เอวเมว สพฺเพ สตฺเต (แปลว่า ในสัตว์ทั้งปวง ... ฉันนั้นนั่นแหละ) อธิบายว่า พึงแผ่เมตตาไปยังบุคคลผู้เป็นที่รักฉันใด ย่อมแผ่เมตตาอันเข้าถึงซึ่งความเป็นผู้ชำนาญในการบรรลุอัปปนาในบุคคลนั้น ไปยังสัตว์ทั้งปวงแม้ในบุคคลผู้ปานกลาง ผู้มีเวร โดยลำดับฉันนั้น.
               คำว่า เมตฺติ เมตฺตายนา เป็นต้น มีเนื้อความอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั่นแหละ.
               คำว่า วิทิสํ วา (แปลว่า ทิศต่างๆ) เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วเพื่อให้เนื้อความแห่งคำว่า ติริยํ วา (แปลว่า ทิศเบื้องขวาง) นี้แจ่มแจ้ง.
               คำว่า ผริตฺวา (แปลว่า แผ่ไปแล้ว) ได้แก่ ถูกต้องแล้ว ด้วยสามารถกระทำให้เป็นอารมณ์.
               คำว่า อธิมุญฺจิตฺวา ได้แก่ น้อมไป โดยความเป็นจิตอันยิ่ง.
               อธิบายว่า น้อมไปแล้ว น้อมไปดีแล้ว ให้ระลึกดีแล้ว ให้แผ่ไปแล้วด้วยดีฉันใด ชื่อว่าน้อมจิตไปแล้ว ฉันนั้น.
               ในนิทเทสแห่งคำว่า สพฺพธิ เป็นต้น บทเหล่านี้ทั้ง ๓ เป็นบทสงเคราะห์ในธรรมทั้งปวง (คือกรุณา มุทิตา อุเบกขา) เพราะฉะนั้น เพื่อแสดงอรรถแห่งบทเหล่านั้นโดยความเป็นอันเดียวกัน จึงตรัสว่า สพฺเพน สพฺพํ เป็นต้น. เนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแหละ.
               ในนิทเทสแห่งคำว่า วิปุลา (แปลว่า อันไพบูลย์) เป็นต้น ก็เพราะเมตตาจิตใด เป็นธรรมชาติถึงอัปปนา จิตนั้นชื่อว่าเป็นจิตไพบูลย์ จิตนั้นชื่อว่าเป็นจิตกว้างขวางด้วยสามารถแห่งภูมิโดยกำหนด. ก็จิตใดเป็นจิตกว้างขวาง จิตนั้นชื่อว่าเป็นจิตไม่มีประมาณด้วยสามารถแห่งอารมณ์อันหาประมาณมิได้. จิตใดหาประมาณมิได้ จิตนั้นชื่อว่าไม่มีเวร ด้วยสามารถแห่งการประหารศัตรู. จิตใดไม่มีเวร จิตนั้นชื่อว่าไม่มีความพยาบาท. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ยํ วิปุลํ ตํ มหคฺคตํ เป็นต้น (แปลว่า จิตใดไพบูลย์ จิตนั้นกว้างขวางเป็นต้น).
               อนึ่ง ในข้อนี้ อเวโร อพฺยาปชฺโฌ นี้ ท่านตรัสแล้วโดยปริยายแห่งลิงควิปลาส (หมายความว่า จิตเป็นนปุงสกลิงค์ ตัวคุณนามเป็นปุงลิงค์ โดยภาษาไวยากรณ์). อีกอย่างหนึ่ง ท่านใช้ศัพท์ว่า อเวโร อพฺยาปชฺโฌ นี้ เข้ากับ มน ศัพท์ (คือใจ ซึ่งเป็นประเภทเดียวกัน) เช่นจิตใดหาประมาณมิได้ มนะ คือใจนั้น ชื่อว่าไม่มีเวร. ใจใดไม่มีเวร ใจนั้นชื่อว่าไม่มีความพยาบาท ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ในข้อว่า จิตใดไพบูลย์ จิตนั้นกว้างขวาง เป็นต้นนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า บทข้างหลังๆ อธิบายบทข้างหน้าๆ หรือว่า บทข้างหน้าๆ อธิบายบทข้างหลังๆ ดังนี้ ก็ได้.

               กรุณาอัปปมัญญา               
               แม้คำว่า เสยฺยถาปิ นาม เอกํ ปุคฺคลํ ทุคฺคตํ ทุรุเปตํ (แปลว่า เหมือนบุคคลเห็นบุคคลหนึ่ง ผู้ตกทุกข์ได้ยาก พึงสงสารฉะนั้น) นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพื่อแสดงบุคคลอันเป็นที่ตั้งแห่งกรุณา. จริงอยู่ ความเป็นแห่งกรุณาอันมีกำลัง ย่อมเกิดในเพราะบุคคลเห็นปานนี้.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า ทุคฺคตํ ได้แก่ ผู้ถึงซึ่งความพรั่งพร้อมด้วยทุกข์.
               คำว่า ทุรุเปตํ ได้แก่ ผู้เข้าถึงแล้วด้วยกายทุจริตเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบเนื้อความในข้อนี้นั่นแหละว่า บุคคลผู้ดำรงอยู่ในความเป็นผู้มืดด้วยสามารถแห่งคติวิบัติ ตระกูลวิบัติและโภควิบัติ เป็นต้น ชื่อว่าทุคคตะ (คือผู้ตกทุกข์). บุคคลผู้ดำรงอยู่ในความเป็นผู้มืดในภพเบื้องหน้า เพราะความที่ตนเป็นผู้เข้าถึงแล้วด้วยกายทุจริตเป็นต้น ชื่อว่า ทุรุเปโต (คือบุคคลผู้เข้าถึงได้ยาก).

               มุทิตาอัปปมัญญา               
               แม้คำว่า "เอกํ ปุคฺคลํ ปิยํ มนาปํ" (แปลว่า เหมือนบุคคลคนหนึ่งผู้เป็นที่รักใคร่ ชอบใจแล้ว) นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพื่อแสดงบุคคลอันเป็นที่ตั้งแห่งมุทิตา. ในข้อนี้ พึงทราบว่า บุคคลผู้ดำรงอยู่ในความเป็นผู้รุ่งเรืองด้วยสามารถแห่งคติสมบัติ ตระกูลสมบัติและโภคสมบัติเป็นต้น ชื่อว่าผู้เป็นที่รักใคร่. และพึงทราบว่า บุคคลผู้ดำรงอยู่ในความเป็นผู้มีความรุ่งเรืองในภพเบื้องหน้า เพราะเป็นผู้เข้าถึงแล้วด้วยกายสุจริตเป็นต้น ชื่อว่าผู้เป็นที่ชอบใจ.

               อุเบกขาอัปปมัญญา               
               แม้คำว่า "เนว มนาปํ น อมนาปํ" (แปลว่า เหมือนบุคคลเห็นบุคคลคนหนึ่ง ผู้เป็นที่ชอบใจก็ไม่ใช่ ไม่เป็นที่ชอบใจก็ไม่ใช่) นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วเพื่อแสดงซึ่งบุคคลอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา. ในข้อนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ชื่อว่าผู้เป็นที่ชอบใจก็ไม่ใช่ เพราะความที่ตนมิใช่ถึงพร้อมด้วยความเป็นมิตร. ชื่อว่าไม่เป็นที่ชอบใจก็ไม่ใช่ เพราะความที่ตนมิใช่ถึงพร้อมด้วยความเป็นอมิตร. คำใดยังเหลืออยู่ที่จะพึงกล่าวในที่นี้ คำนั้นทั้งหมดข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในจิตตุปปาทกัณฑ์ ในหนหลังนั่นแหละ.
               แม้วิธีการเจริญภาวนาของกรรมฐานเหล่านี้ ข้าพเจ้าก็กล่าวไว้แล้วโดยพิสดารในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั่นแหละ.

               วรรณนาสุตตันตภาชนีย์ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ อัปปมัญญาวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 737อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 741อ่านอรรถกถา 35 / 750อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=8980&Z=9142
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=9549
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=9549
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๗  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :