ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 778อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 784อ่านอรรถกถา 35 / 789อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
ปฏิสัมภิทาวิภังค์ อภิธรรมภาชนีย์

               วรรณนาอภิธรรมภาชนีย์               

               บรรดาปฏิสัมภิทา ๔ เหล่านั้น ปฏิสัมภิทา ๓ คือ ธัมมะ นิรุตติ ปฏิภาณปฏิสัมภิทา เป็นโลกียะ. อัตถปฏิสัมภิทาเป็นมิสสกะ คือเป็นโลกิยะก็มี เป็นโลกุตตระก็มี.
               จริงอยู่ อัตถปฏิสัมภิทานั้นเป็นโลกุตตระด้วยสามารถแห่งญาณในมรรคและผลอันมีพระนิพพานเป็นอารมณ์.
               ในอภิธรรมภาชนีย์ พระองค์ทรงจำแนกปฏิสัมภิทาเหล่านั้นโดยวาระทั้ง ๔ ด้วยสามารถแห่งกุศล อกุศล วิบาก และกิริยา. ในวาระเหล่านั้น กุศลจิตมีประมาณเท่าไร พระองค์ทรงจำแนกไว้ในจิตตุปปาทกัณฑ์ในหนหลัง บัณฑิตพึงทราบว่า ปฏิสัมภิทาอย่างละ ๔ ในจิตตนิทเทสหนึ่งๆ พระองค์ทรงจำแนกไว้แล้วด้วยสามารถแห่งกุศลจิตเหล่านั้นแม้ทั้งหมดมีประมาณเท่านั้น.
               แม้ในอกุศลจิตทั้งหลาย ก็นัยนี้แหละ.

               ปฏิสัมภิทา ๓ (เว้นปฏิสัมภิทา)๑-               
               ในวาระว่าด้วยวิบากและกิริยา ท่านเว้นธัมมปฏิสัมภิทาเสีย เพราะความที่วิบากและกิริยาทั้งหลายท่านสงเคราะห์ด้วยอัตถปฏิสัมภิทา.๒- ในวิปากจิตก็ดี ในกิริยาจิตก็ดี อย่างหนึ่งๆ ท่านจำแนกปฏิสัมภิทาไว้อย่างละ ๓ เท่านั้น.
____________________________
๑- ธัมมะ ได้แก่ กามาวจรกุศลจิต รูปาวจรกุศลจิต อรูปาวจรกุศลจิต โลกุตตรจิตและอกุศลจิต.
๒- อัตถะ ได้แก่ อเหตุกกุศลวิปากจิต กามาวจรวิปากจิต รูปาวจรวิปากจิต อรูปาวจรวิปากจิต โลกุตตรวิปากจิตและอกุศลวิปากจิต.

               พระบาลีท่านแสดงย่อไว้เพียงแต่หัวข้อ. ปฏิสัมภิทา ๓ เหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบด้วยสามารถแห่งความพิสดารอันมาแล้วในหนหลังแล.
               ถามว่า ก็ในวาระว่าด้วยกุศลและอกุศลทั้งหลาย ท่านกล่าวว่า ญาณในวิบากแห่งธรรมเหล่านั้นว่าเป็นอัตถปฏิสัมภิทา ในวาระว่าด้วยวิบากและกิริยานี้ ท่านไม่กล่าวว่า ญาณในธรรมเหล่านั้นว่าเป็นธัมมปฏิสัมภิทา เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลัง.
               แม้อัตถปฏิสัมภิทานี้ก็ไม่พึงกล่าวในที่นี้ เพราะท่านกล่าวไว้ในหนหลังแล้วว่า ญาณในวิบากของธรรมเหล่านั้นว่า เป็นอัตถปฏิสัมภิทา ดังนี้. ที่จริงไม่ควรกล่าวเสียเลยก็หาไม่.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะความที่ปฏิสัมภิทานี้ ท่านไม่กล่าวด้วยสามารถแห่งจิตตุปปาทของวิบากและกิริยา.
               อนึ่ง ในวาระว่าด้วยกิริยา ท่านจำแนกปฏิสัมภิทาไว้อย่างละ ๓ เท่านั้น ในวาระแม้ทั้งสองเหล่านี้ คำว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกิริยาของธรรมเหล่าใด ดังนี้ ไม่สมควร. ในวาระเหล่านั้น บัญญัติอย่างนี้ว่า ผัสสะนี้ เวทนานี้แห่งธรรมทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วโดยนัยว่า ยาย นิรุตฺติยา เตสํ ธมฺมานํ ปญฺญตฺติ โหติ เป็นต้น (แปลว่า บัญญัติแห่งธรรมเหล่านั้น ย่อมมีด้วยนิรุตติใด)
               ในคำเหล่านั้น คำว่า ธมฺมนิรุตฺตาภิลาเป ญาณํ (แปลว่า ความรู้แตกฉานในอันกล่าวธัมมนิรุตติ) ได้แก่ ญาณในอันกล่าวธรรมด้วยสภาวบัญญัติ คือธัมมนิรุตตินั้นอันเป็นไปในอรรถและในธรรม. แม้ในข้อนี้ ท่านก็กล่าวว่าญาณอันเกิดขึ้นแล้วกระทำอภิลาปสัททะ (เสียงในการกล่าว) ให้เป็นอารมณ์.
               คำว่า เยน ญาเณน แปลว่า ด้วยปฏิภาณปฏิสัมภิทาใด.
               คำว่า ตานิ ญาณานิ ชานาติ ได้แก่ ย่อมรู้ซึ่งญาณในปฏิสัมภิทา ๓ นอกจากนี้.
               บัดนี้ เพื่อแสดงซึ่งความเป็นไปในญาณทั้งหลาย ที่รู้ซึ่งญาณใด โดยประการใดเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อิมานิ ญาณานิ อิทมตฺถโชตกานิ ดังนี้ (แปลว่า ญาณเหล่านี้ส่องเนื้อความนี้).
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า อิทมตฺถโชตกานิ (แปลว่า ส่องเนื้อความนี้) ได้แก่ ส่อง คือประกาศซึ่งเนื้อความนี้. อธิบายว่า ญาณ ๓ เหล่านี้ ย่อมส่อง ย่อมประกาศ ย่อมกำหนดซึ่งเนื้อความ ชื่อนี้.
               คำว่า อิติ ญาเณสุ ญาณํ (แปลว่า ความรู้แตกฉานในญาณทั้งหลายโดยอาการอย่างนี้) ได้แก่ ความรู้ในญาณทั้ง ๓ เป็นไปโดยอาการอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิภาณปฏิสัมภิทา.
               ในปฏิสัมภิทา ๔ เหล่านั้น ปฏิภาณปฏิสัมภิทานี้ย่อมรู้ซึ่งกิจของปฏิสัมภิทาทั้งหลายเหล่านี้ว่า นี้เป็นกิจของปฏิสัมภิทานี้ และนี้เป็นกิจของปฏิสัมภิทานี้ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ตัวเองก็ย่อมไม่อาจเพื่อกระทำกิจ (คือทำหน้าที่) ของปฏิสัมภิทาเหล่านั้นได้ เปรียบเหมือนพระธรรมกถึกผู้เป็นพหูสูต ย่อมไม่อาจเพื่อกระทำกิจของพระธรรมกถึกผู้เป็นอัปปสูต (ผู้มีสุตะน้อย) ได้.
               ได้ยินว่า ภิกษุ ๒ รูป รูปหนึ่งเป็นพหูสูต รูปหนึ่งเป็นอัปปสูต. ภิกษุทั้งสองรูปนั้นเรียนการบอกธรรมอย่างหนึ่งด้วยกัน. ในสองรูปนั้น ผู้มีสุตะน้อยได้เป็นผู้มีเสียงไพเราะ ส่วนรูปที่เป็นพหูสูตมีเสียงเบา (ไม่ไพเราะ) ในสองรูปนั้น ภิกษุผู้อัปปสูตยังบริษัททั้งสิ้นให้หวั่นไหว (คือให้ติดใจ) ด้วยสมบัติคือเสียงของตนในสถานที่ตนไปแล้วๆ แล้วจึงแสดงธรรม. มหาชนฟังธรรมของท่านอยู่ต่างก็มีจิตร่าเริงยินดีกล่าวว่า รูปนั้นกล่าวธรรม เห็นจะเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎกรูปหนึ่ง. แต่ภิกษุพหูสูตกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจักทราบได้ในเวลาฟังธรรมว่า ภิกษุรูปนี้ทรงพระไตรปิฎกหรือไม่. ภิกษุผู้พหูสูตนั้นถึงจะกล่าวอย่างนี้ แต่เธอก็ไม่สามารถยังบริษัททั้งสิ้นให้หวั่นไหวแล้วแสดงธรรมเช่นนั้นได้ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้น เพราะความที่ภิกษุพหูสูตไม่มีความสามารถในการแสดง.
               บัณฑิตพึงทราบว่าในปฏิสัมภิทา ๔ เหล่านั้น ปฏิภาณปฏิสัมภิทาย่อมรู้ซึ่งกิจของปฏิสัมภิทา ๓ นอกจากนี้ เหมือนภิกษุพหูสูตรู้อยู่ซึ่งกิจการงานของภิกษุผู้เป็นอัปปสูต แต่ตัวเอง (ปฏิภาณปฏิสัมภิทา) ไม่สามารถเพื่อกระทำกิจนั้นได้ ดังนี้.
               ในกาลบัดนี้ เพื่อจำแนกปฏิสัมภิทาทั้งหลายด้วยสามารถแห่งการเกิดขึ้นของกุศลจิตเป็นต้นแล้วแสดงเขตอันเป็นฐานแห่งการเกิดขึ้นของปฏิสัมภิทาเหล่านั้น จึงตรัสคำว่า จตสฺโส ปฏิสมฺภิทา (แปลว่า ปฏิสัมภิทา ๔) เป็นต้นอีก. บรรดาปฏิสัมภิทาเหล่านั้น คำว่า ติสฺโส ปฏิสมฺภิทา กามาวจรกุสลโต จตูสุ ญาณสมฺปยุตฺตจิตฺเตสุ (แปลว่า ปฏิสัมภิทา ๓ เกิดในจิตที่สัมปยุตด้วยญาณ ๔ ฝ่ายกามาวจรกุศล) นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วด้วยสามารถแห่งพระเสกขะทั้งหลาย.
               จริงอยู่ ธัมมปฏิสัมภิทากระทำธรรมมีประการ ๕ อย่าง (มีสัจจวาระ เหตุวาระ ธัมมวาระ ปัจจยาการวาระและปริยัตติวาระ) ที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในหนหลังในเวลาพิจารณาธรรม (คือเหตุ) แม้แห่งธรรมเหล่านั้นให้เป็นอารมณ์ แล้วเกิดขึ้นในกุศลจิตอันสัมปยุตด้วยญาณ ๔. โดยทำนองเดียวกัน นิรุตติปฏิสัมภิทากระทำเสียงในเวลาพิจารณานิรุตติให้เป็นอารมณ์แล้วเกิดขึ้น. ปฏิภาณปฏิสัมภิทากระทำญาณ (ความรู้) ในญาณในที่ทั้งปวงในเวลาพิจารณาญาณให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น.
               ส่วนคำว่า "กิริยโต จตูสุ" นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วด้วยสามารถแห่งพระอเสกขบุคคล. จริงอยู่ ธัมมปฏิสัมภิทากระทำธรรม ๕ ประการตามที่กล่าวแล้วในหนหลังในเวลาพิจารณาธรรม (คือเหตุ) แห่งธรรมเหล่านั้น ให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นในกิริยาจิตอันสัมปยุตด้วยญาณ ๔. โดยทำนองเดียวกัน นิรุตติปฏิสัมภิทากระทำเสียงในเวลาพิจารณานิรุตติ ให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น. ปฏิภาณปฏิสัมภิทากระทำญาณในที่ทั้งปวงในเวลาพิจารณาญาณ ให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น.
               แต่ข้อว่า "อตฺถปฏิสมฺภิทา เอเตสุ เจว อุปฺปชฺชติ" (แปลว่า อัตถปฏิสัมภิทาย่อมเกิดขึ้นในจิตตุปบาทเหล่านี้ด้วย ย่อมเกิดในมรรค ๔ และผล ๔ ด้วย) นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยสามารถแห่งพระเสกขะและพระอเสกขะ.
               จริงอย่างนั้น อัตถปฏิสัมภิทานี้กระทำอรรถมีประเภทตามที่กล่าวแล้วในหนหลังในเวลาพิจารณาอรรถของพระเสกขะทั้งหลายให้เป็นอารมณ์แล้ว เกิดในกุศลจิตอันสัมปยุตด้วยญาณ ๔ ทั้งเกิดในมรรคในผล ในเวลาแห่งมรรคและผลด้วย. ก็ปฏิสัมภิทานี้กระทำอรรถมีประเภทดังกล่าวแล้วในหนหลัง ในเวลาพิจารณาอรรถของพระอเสกขะให้เป็นอารมณ์ ย่อมเกิดขึ้นในกิริยาจิตอันสัมปยุตด้วยญาณ ๔.
               อนึ่ง ปฏิสัมภิทาเหล่านี้ เมื่อเกิดแก่พระเสกขะและพระอเสกขะ ย่อมเกิดในภูมิเหล่านี้ (ภูมิ ๔) ในกาลแห่งผล คือในสามัญญผล อันตั้งอยู่ในเบื้องบนอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงนัยนี้ไว้ เพื่อแสดงถึงภูมิ ดังพรรณนามาฉะนี้.

               วรรณนาอภิธรรมภาชนีย์ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ปฏิสัมภิทาวิภังค์ อภิธรรมภาชนีย์ จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 778อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 784อ่านอรรถกถา 35 / 789อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=10143&Z=10512
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=9890
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=9890
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๗  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :