ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 795อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 801อ่านอรรถกถา 35 / 835อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
ญาณวิภังค์ เอกกนิเทศ-ปัญจกนิเทศ

               อรรถกถาเอกกนิทเทส               
               อธิบายญาณวัตถุหมวด ๑               
               บัดนี้ เป็นการปฏิเสธการแสดงสาธารณเหตุ ในคำว่า เป็น น เหตุ ทั้งนั้น ในนิทเทสวาระที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มไว้ในมาติกาตามที่ทรงตั้งไว้ว่า ปญฺจวิญฺญาณา น เหตุเมว เป็นต้น.
               ในคำเหล่านั้น คำใดที่จะพึงกล่าวโดยนัยว่า จตุพฺพิโธ เหตุ เป็นต้น (แปลว่า เหตุมี ๔ อย่าง) คือ.
               ๑. เหตุเหตุ
               ๒. ปัจจยเหตุ
               ๓. อุตตมเหตุ
               ๔. สาธารณเหตุ.
               คำนั้นทั้งหมด ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในการวรรณนาเนื้อความแห่งคำทั้งหลายในรูปกัณฑ์ว่า สพฺพํ รูปํ น เหตุเมว เป็นต้น (แปลว่า รูปทั้งหมดเป็นนเหตุทั้งนั้น) นั่นแหละ.
               ในคำว่า อเหตุกเมว เป็นต้น บัณฑิตพึงทราบ อักษร ด้วยสามารถแห่งพยัญชนะสนธิ. คือเป็น อเหตุกาเอว (แปลว่า เป็นอเหตุกะทั้งนั้น). แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้แหละ.
               อีกอย่างหนึ่ง ในหมวดแห่งธรรมมีคำว่า เหตู ธมฺมา น เหตู ธมฺมา เป็นต้น วิญญาณ ๕ เป็นเหตุธรรม หรือไม่เป็นดังนี้ บัณฑิตพึงทราบเนื้อความของบททั้งปวงในที่นี้โดยส่วนเดียวว่า ก็วิญญาณ ๕ เป็นนเหตุทั้งนั้น เป็นอเหตุกะทั้งนั้น ดังนี้.
               บทว่า อพฺยากตเมว (แปลว่า เป็นอัพยากตะทั้งนั้น) นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยสามารถแห่งวิบากอัพยากตะ.
               บทว่า สารมฺมณเมว นี้ ตรัสด้วยสามารถแห่งอารมณ์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว (โอลุพฺภารมฺมณวเสน).
               จริงอยู่ อารมณ์มี ๒ อย่าง คือปัจจยารัมมณะได้แก่อารมณ์อันเป็นปัจจัย โอลุพภารัมมณะได้แก่อารมณ์อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว. แต่ในที่นี้เป็นหน้าที่ของโอลุพภารัมมณะนั่นแหละ.
               แม้ปัจจยารัมมณะก็ย่อมได้เหมือนกัน.
               บทว่า อเจตสิกเมว แปลว่า ธรรมอันไม่ประกอบจิต. ในอเจตสิกธรรม (ธรรมที่ไม่ใช่เจตสิก) ๓ อย่าง คือจิต รูปและพระนิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอา จิต เท่านั้น.
               บทว่า โน อปริยาปนฺนเมว ได้แก่ ธรรมอันนับเนื่องแล้วโดยความเป็นธรรมอันนับเนื่องด้วยคติ จุติและภพในสังสารวัฏ ชื่อว่าโน อปริยาปันนะ. สภาวธรรมใดย่อมไม่นำออกจากโลก คือจากวัฏฏะ เพราะเหตุนั้น สภาวธรรมนั้น จึงชื่อว่าเป็นอนิยยานิกะ.
               คำว่า อุปฺปนฺนํมโนวิญฺญาณวิญเญยฺยเมว นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในรูปกัณฑ์ว่า ธรรมที่เกิดขึ้นแล้วอันวิญญาณ ๖ พึงรู้ได้ เพราะกระทำแม้มโนวิญญาณอันเป็นวิสัยแห่งอดีตเป็นต้น เพราะปรารภรูปเป็นต้นอันกำลังเกิดขึ้นให้เป็นไปแก่จักขุวิญญาณเป็นต้น. ก็วิญญาณ ๕ แม้กำลังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่เป็นอารมณ์แก่จักขุวิญญาณเป็นต้น ย่อมเป็นไปแก่มโนวิญญาณเท่านั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มโนวิญฺญาณวิญฺเญยฺย (แปลว่า วิญญาณ ๕ เป็นธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณ) ดังนี้.
               คำว่า อนิจฺจเมว ได้แก่ วิญญาณ ๕ ชื่อว่าเป็นอนิจจะทั้งนั้น เพราะอรรถว่ามีแล้วหามีไม่ (เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป).
               คำว่า ชราภิภูตเมว ได้แก่ วิญญาณ ๕ ชื่อว่าชราภิภูตะ เพราะอันชราครอบงำแล้ว.
               คำว่า อุปฺปนฺนวตฺถุกา อุปฺปนฺนารมฺมณา (แปลว่า วิญญาณ ๕ มีวัตถุอันเกิดแล้ว มีอารมณ์อันเกิดขึ้นแล้ว) บัณฑิตพึงทราบว่า ท่านปฏิเสธอนาคต.
               จริงอยู่ วิญญาณ ๕ นั้นย่อมไม่เกิดขึ้นในเพราะอารมณ์และวัตถุที่เป็นอนาคตทั้งหลาย.
               คำว่า ปุเรชาตวตฺถุกา ปุเรชาตารมฺมณา (แปลว่า วิญญาณ ๕ มีวัตถุเกิดก่อน มีอารมณ์เกิดก่อน) ได้แก่ เป็นการปฏิเสธการเกิดขึ้นพร้อมกัน.
               จริงอยู่ วิญญาณ ๕ นั้นย่อมไม่เกิดขึ้นเพราะอาศัยวัตถุ หรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน. ก็วิญญาณ ๕ นั้นเป็นธรรมชาติเกิดภายหลัง ย่อมเกิดขึ้นในเพราะวัตถุและอารมณ์ที่เกิดก่อน.
               คำว่า อชฺฌตฺติกวตฺถุกา (แปลว่า วิญญาณ ๕ มีวัตถุเป็นภายใน) นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยสามารถแห่งวัตถุภายในอันเป็นของตน.
               จริงอยู่ วิญญาณ ๕ นั้นย่อมเกิดขึ้นเพราะกระทำปสาทรูป ๕ อันเป็นภายในให้เป็นวัตถุที่อาศัยเกิด.
               คำว่า พาหิรารมฺมณา (แปลว่า มีอารมณ์ภายนอก) ได้แก่ มีอารมณ์มีรูปเป็นต้นภายนอกเป็นอารมณ์. ในข้อนั้นบัณฑิตพึงทราบธรรมหมวด ๔.
               จริงอยู่ วิญญาณ ๕ นั้น ชื่อว่าเป็นภายใน มีวัตถุเป็นภายใน เพราะกระทำปสาทะให้เป็นวัตถุ ที่อาศัยเกิด.
               มโนวิญญาณ ชื่อว่าเป็นภายใน มีวัตถุภายนอก เพราะเวลาเกิดขึ้น กระทำหทัยรูปให้เป็นวัตถุที่อาศัยเกิด. ขันธ์ ๓ อันสัมปยุตด้วยวิญญาณ ๕ เป็นภายนอก มีวัตถุเป็นภายใน. ขันธ์ ๓ อันสัมปยุตด้วยมโนวิญญาณเป็นภายนอก มีวัตถุเป็นภายนอก เพราะเวลาเกิดขึ้นกระทำหทยรูปให้เป็นที่อาศัย.
               คำว่า อสมฺภินฺนวตฺถุกา ได้แก่ มีวัตถุอันยังไม่แตกดับ. จริงอยู่ วิญญาณ ๕ เหล่านั้นย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะอาศัยวัตถุอันเป็นอดีตซึ่งดับไปแล้ว. แม้เพราะความที่วิญญาณ ๕ มีอารมณ์อันยังไม่แตกดับ ก็นัยนี้.
               ในคำว่า อญฺญํ จกฺขุวิญฺญาณสฺส วตฺถุ จ อารมฺมณญฺจ เป็นต้น ก็วัตถุและอารมณ์ของจักขุวิญญาณเป็นอย่างหนึ่ง ของโสตวิญญาณเป็นต้นก็เป็นอย่างหนึ่ง. จักขุวิญญาณแม้ถึงความสำเร็จแล้ว ย่อมไม่เกิดต่อจากความสำเร็จโดยกระทำวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งในโสตปสาทเป็นต้นให้เป็นวัตถุ หรือทำรูปอย่างใดอย่างหนึ่งในเสียงเป็นต้นให้เป็นอารมณ์. แต่จักขุวิญญาณย่อมเกิดขึ้น เพราะทำจักขุปสาทเท่านั้นให้เป็นวัตถุและทำรูปให้เป็นอารมณ์. วัตถุก็ดี ทวารก็ดี อารมณ์ก็ดีของจักขุวิญญาณ ย่อมไม่ก้าวไปสู่วัตถุอื่น หรือไปสู่ทวารอื่น หรืออารมณ์อื่น อันเนื่องกันด้วยประการอย่างนี้.
               จักขุวิญญาณมีวัตถุที่เนื่องกัน มีทวารที่เนื่องกัน มีอารมณ์ที่เนื่องกันเท่านั้น จึงเกิดขึ้น.
               แม้ในโสตวิญญาณเป็นต้น ก็นัยนี้นั่นแหละ.
               ในข้อว่า น อญฺญมญฺญสฺส โคจรวิสยํ ปจฺจานุโภนฺติ นี้ (แปลว่า วิญญาณ ๕ ย่อมไม่เสวยอารมณ์ของกันและกัน)
               อธิบายว่า วิญญาณเหล่านั้นย่อมไม่เสวยอารมณ์สักอย่างหนึ่งของกันและกันอย่างนี้ คือจักขุวิญญาณย่อมไม่เสวยอารมณ์ของโสตวิญญาณ หรือว่าโสตวิญญาณก็ย่อมไม่เสวยอารมณ์ของจักขุวิญญาณ เป็นต้น.
               จริงอยู่ ถ้าจักขุวิญญาณประมวลมาซึ่งสีอันต่างด้วยสีเขียวเป็นต้นเป็นอารมณ์แล้วพึงมอบให้แก่โสตินทรีย์ว่า "เชิญเถิด ท่านจงกำหนดสีนั้น จงชี้แจงว่าอารมณ์นั้นชื่ออะไร" ดังนี้.
               แม้เว้นจักขุวิญญาณเสียแล้ว พึงกล่าวตามธรรมดาของตนเฉพาะหน้าอย่างนี้ว่า แน่ะอันธพาล ท่านค้นหาอยู่สักร้อยปีก็ตาม สักพันปีก็ตาม เว้นจากเรา (จักขุวิญญาณ) ท่าน (โสตวิญญาณ) จักทราบสีนั้นได้ที่ไหน ท่านจงนำสีนั้นมา จงน้อมไปที่จักขุปสาท เราจักรู้ซึ่งอารมณ์นั้นจะเป็นสีเขียวหรือสีเหลืองก็ตามที ก็เพราะนั่นมิใช่วิสัยของธรรมอื่น นั่นเป็นวิสัยของเราเท่านั้น.
               แม้ในวิญญาณที่เหลือก็นัยนี้. ด้วยอาการอย่างนี้ วิญญาณ ๕ จึงชื่อว่าย่อมไม่เสวยอารมณ์ของกันและกัน.
               คำว่า สมนฺนาหรนฺตสฺส ได้แก่ เมื่อนำอาวัชชนะมาอยู่นั่นแหละ ปัญจวิญญาณจึงเกิดขึ้น.
               คำว่า มนสิกโรนฺตสฺส ได้แก่ เมื่อทำไว้ในใจโดยการคำนึงถึงนั่นแหละ ปัญจวิญญาณจึงเกิด.
               จริงอยู่ จิตเหล่านี้ (ปัญจวิญญาณ) ย่อมเกิดขึ้นในเวลานึกถึง หรือในเวลากระทำไว้ในใจด้วยอาวัชชนะ.
               คำว่า น อพฺโพกิณฺณา (แปลว่า ไม่สับสนกันก็หาไม่) ได้แก่ ไม่ถูกแทรกแซงด้วยวิญญาณอื่นย่อมเกิดติดต่อกันไปก็หาไม่. การเกิดร่วมกันแม้แห่งจิตทั้งปวง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธแล้วด้วยบทว่า น อปุพฺพํ อจริมํ นี้ และทรงปฏิเสธการเกิดขึ้นโดยลำดับแห่งกันและกันด้วยบทว่า น อญฺญมญฺญสฺส สมนนฺตรา นี้. ชื่อทั้งหลายของอาวัชชนะมี ๔ เท่านั้น ซึ่งมีคำว่า อาวัฏฏนา (แปลว่า ความสนใจ).
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกอาวัชชนะนั้นว่าอาวัฏฏนา เพราะการหมุนเวียนเปลี่ยนไปแห่งภวังค์ ตรัสเรียกว่าอาโภคะ (แปลว่า ความคำนึง) เพราะความคำนึงของจิตนั้นนั่นแหละ ตรัสเรียกว่าสมันนาหรณะ เพราะประมวลมาซึ่งรูปเป็นต้น ตรัสเรียกว่ามนสิการ เพราะการทำไว้ในใจของจิตเหล่านั้นแหละ. ความสามารถเพื่อทำหน้าที่ (กิจ) แห่งอาวัฏฏนา (ความสนใจ) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้ในฐานะแห่งอาวัชชนะของวิญญาณ ๕ โดยสังเขปในที่นี้ และทรงปฏิเสธจิตแต่ละดวงเกิดร่วมกันด้วยอาการอย่างนี้.
               คำว่า น กิญฺจิ ธมฺมํ ปฏิวิชานาติ (แปลว่า บุคคลย่อมไม่รู้แจ้งซึ่งธรรมอะไรๆ ด้วยวิญญาณ ๕) อธิบายว่า บุคคลย่อมไม่รู้แจ้งซึ่งกุศลหรืออกุศลแม้สักอย่างหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วอย่างนี้ว่า "ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า" เป็นต้น.
               คำว่า อญฺญตฺร อภินิปาตมตฺตา (แปลว่า สักแต่ว่าเป็นที่ตกไปแห่งอารมณ์อันใดอันหนึ่ง)
               อธิบายว่า วิญญาณ ๕ สักแต่ว่าเป็นที่ตกไป โดยเว้นรูปเป็นต้นแล้วย่อมไม่รู้อะไรๆ ข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิบายไว้ว่า บุรุษแม้เป็นผู้ฉลาดดีแล้วก็ย่อมไม่รู้ธรรมอื่นสักอย่างหนึ่งในบรรดากุศลและอกุศลด้วยวิญญาณ ๕ เว้นรูปที่มาสู่คลอง. อนึ่ง จักขุวิญญาณในที่นี้ ย่อมเป็นสักแต่ว่าการเห็นเท่านั้น. แม้โสตวิญญาณเป็นต้น ก็ย่อมสักแต่ว่า การฟัง... การดม... การลิ้ม และการสัมผัสเท่านั้น. ก็การรับรู้อารมณ์โดยสักแต่ว่าการเห็นเป็นต้น ชื่อว่าการรายงาน (หรือการบอกกล่าว) ซึ่งธรรมเหล่านั้นอย่างอื่นมีกุศลเป็นต้น หามีไม่.
               คำว่า มโนธาตุยาปิ (แปลว่า แม้ด้วยมโนธาตุ) ได้แก่ แม้ด้วยมโนธาตุ คือสัมปฏิจฉนจิต.
               อนึ่ง ในคำว่า มโนธาตุยาปิ นี้ ปิอักษร เป็นคำประมวลมาซึ่งเนื้อความ เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบเนื้อความในที่นี้ อย่างนี้ว่า บุคคลย่อมไม่รู้แจ้งซึ่งธรรมอะไรๆ อันเป็นกุศลได้ ด้วยวิญญาณอันเป็นไปทางทวาร ๕ แม้ทั้งหมด คือแม้ด้วยมโนธาตุ แม้ด้วยมโนวิญญาณธาตุซึ่งต่อจากมโนธาตุนั้น.
               แม้ในคำว่า น กิญฺจิ อิริยาปถํ กปฺเปติ เป็นต้น (แปลว่า บุคคลย่อมไม่สำเร็จอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยวิญญาณ ๕) ก็นัยนี้. จริงอยู่ บุคคลย่อมไม่สำเร็จอิริยาบถอะไรๆ ในการเดินเป็นต้นได้ด้วยวิญญาณอันเป็นไปทางทวาร ๕.
               บุคคลย่อมไม่ตั้งกายกรรม ไม่ตั้งวจีกรรมด้วยวิญญาณ ๕ ย่อมไม่สมาทานธรรมอันเป็นกุศลอกุศลด้วยวิญญาณ ๕ ย่อมไม่เข้าสมาธิ (สมาบัติ) อันเป็นโลกิยะหรือโลกุตตระ ย่อมไม่ออกจากสมาธิ อันเป็นโลกิยะ หรือโลกุตตระด้วยวิญญาณ ๕ ย่อมไม่จุติ (เคลื่อน) จากภพ ย่อมไม่เกิดขึ้นในภพด้วยวิญญาณ ๕.
               จริงอยู่ กิจ (หน้าที่ของจิต) มีการรู้แจ้งซึ่งธรรมอันเป็นกุศลและอกุศลเป็นต้น มีการจุติเป็นปริโยสาน แม้ทั้งหมดนั้น ย่อมมีได้ด้วยจิตทางมโนทวารเท่านั้น ย่อมไม่มีด้วยจิตอันเป็นไปทางทวาร ๕ เพราะฉะนั้น วิถีจิตแม้ทั้งปวงอันเป็นไปกับด้วยชวนะในเพราะการทำซึ่งกิจนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงปฏิเสธแล้วในวิญญาณ ๕ นี้.
               อนึ่ง กิจทั้งหลายที่กล่าวแล้วเหล่านี้ย่อมไม่มีแก่จิตอันประกอบด้วยวิญญาณ ๕ นี้ ฉันใด แม้การก้าวลงสู่นิยามธรรมก็ฉันนั้น. คือว่าบุคคลย่อมไม่ก้าวลงสู่มิจฉัตตนิยาม๑- หรือสัมมัตตนิยาม๒- ได้ด้วยวิญญาณ ๕.
____________________________
๑- อภิ.สํ. ๓๔/ข้อ ๖๘๑ ได้แก่อนันตริยกรรม ๕ และนิยตมิจฉาทิฏฐิ.
๒- ได้แก่โลกุตตรมรรค ๔.

               จริงอยู่ ชวนะ (ของปัญจทวาร) ย่อมไม่แล่นไป (เสพอารมณ์) เพราะปรารภนามและโคตร ย่อมไม่แล่นไปเพราะปรารภบัญญัติอันมีกสิณเป็นต้น ย่อมไม่เป็นไปด้วยสามารถแห่งวิปัสสนาอันมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ ย่อมไม่เป็นไปด้วยสามารถแห่งวิปัสสนาอันมีกำลังคือวุฏฐานคามินี ย่อมไม่แล่นไปเพราะปรารภรูปและอรูปธรรม ย่อมไม่แล่นไปสู่พระนิพพาน.
               อนึ่ง ปฏิสัมภิทาญาณย่อมไม่เกิดด้วยชวนะ (ในปัญจทวาร) นั้น อภิญญาญาณ สาวกปารมีญาณ ปัจเจกโพธิญาณ สัพพัญญุตญาณ ก็ย่อมไม่เกิดด้วยชวนะนั้น. ก็แต่ว่า ธรรมมีประเภทต่างๆ แม้ทั้งหมด ย่อมมีได้ในชวนะทางมโนทวารเท่านั้น.
               คำว่า น สุปติ น ปฏิพุชฺฌติ น สุปินํ ปสฺสติ (แปลว่า บุคคลย่อมไม่หลับ ไม่ตื่น ไม่ฝัน ด้วยวิญญาณ ๕) อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธวิถีจิตพร้อมด้วยชวนะในฐานะทั้ง ๓ เหล่านี้ว่า บุคคลย่อมไม่ก้าวลงสู่ความหลับ ย่อมไม่หลับ ย่อมไม่ตื่น ย่อมไม่เห็นสุบิน (ฝัน) อะไรๆ ด้วยจิตอันเป็นไปทางปัญจทวารแม้ทั้งหมด.
               จริงอยู่ เมื่อบุคคลกำลังหลับสนิท ถึงจะยังไส้เทียนใหญ่ให้ติดไฟลุกโพลงแล้วน้อมแสงสว่างนั้นเข้าไปใกล้นัยน์ตาของบุคคลนั้น ปฐมภวังค์ย่อมไม่หมุนไป (ยังไม่เปลี่ยนไป) สู่อาวัชชนะอันเป็นไปทางจักขุทวาร ก่อน.
               ก็จิตอันประกอบด้วยมโนทวารเท่านั้นย่อมหมุนไป ลำดับนั้น ชวนจิตเสพอารมณ์แล้วก็หยั่งลงสู่ภวังค์.
               ในวาระที่ ๒ ภวังคจิตย่อมหมุนไปสู่อาวัชชนจิตอันเป็นจักขุทวาร. ต่อจากนั้น จักขุวิญญาณเป็นต้น มีชวนะเป็นปริโยสาน ย่อมเป็นไป. ลำดับนั้น ภวังคจิต จึงเป็นไปอีก.
               ในวาระที่ ๓ เมื่อภวังค์หมุนไปสู่อาวัชชนะอันเป็นมโนทวารแล้ว ชวนะอันเป็นมโนทวารวิถี จึงแล่นไป. ท่านกล่าวว่า เพราะรู้ด้วยจิต (ชวนจิตทางมโนทวาร) นั้น บุคคลจึงแลดู จึงทราบอะไรๆ ได้ในที่นี้.
               โดยทำนองเดียวกัน เมื่อบุคคลกำลังหลับสนิท ใครๆ ประโคมดนตรีที่ใกล้หูหรือน้อมดอกไม้ซึ่งมีกลิ่นหอมก็ตาม เหม็นก็ตามไปใกล้จมูก หรือใส่เนยใส หรือใส่น้ำอ้อยเข้าไปในปาก หรือเอาฝ่ามือประหารที่หลังก็ตาม. ปฐมภวังค์ก็ยังไม่หมุนไปสู่อาวัชชนะอันเป็นไปทางโสตทวารเป็นต้นก่อน.
               จิตอันเป็นมโนทวารเท่านั้นย่อมหมุนไป ลำดับนั้น ชวนะเสพอารมณ์แล้วก็หยั่งลงสู่ภวังค์.
               ในวาระที่ ๒ ภวังค์จึงหมุนไปสู่อาวัชชนะทั้งหลายอันเป็นไปทางโสตทวารเป็นต้น จากนั้น โสตะ ฆานะ ชิวหา กายวิญญาณเป็นต้นมีชวนะเป็นปริโยสาน ย่อมเป็นไป. ต่อจากนั้น ภวังค์ก็เป็นไปอีก.
               ในวาระที่ ๓ ครั้นเมื่อภวังค์หมุนไปสู่อาวัชชนะอันเป็นมโนทวารแล้ว ชวนะอันเป็นมโนทวาร ก็แล่นไป. เพราะรู้ด้วยจิต (ชวนจิตอันเป็นมโนทวารวิถี) นั้น บุคคลจึงรู้เสียงอะไรๆ ในที่นี้ว่า เป็นเสียงสังข์ เป็นเสียงกลอง. หรือรู้กลิ่นอะไรๆ ในที่นี้ว่า เป็นกลิ่นเกิดแต่ราก กลิ่นเกิดแต่แก่น. หรือรู้รสอะไรๆ ที่เขาใส่เข้าไปในปากของตน ว่าเป็นเนยใส น้ำอ้อย หรือรู้ว่าการประหารนี้ ใครตี ใครทุบ ใครประหารที่หลัง ดังนี้ บุคคลจึงชื่อว่าย่อมตื่นด้วยชวนจิตอันเป็นไปทางมโนทวารเท่านั้น ด้วยอาการอย่างนี้ บุคคลจึงมิได้ตื่นขึ้นด้วยจิตอันเป็นไปทางปัญจทวาร.
               บุคคลย่อมเห็นแม้สุบิน (ฝัน) ด้วยชวนจิตทางมโนทวารนั้นนั่นแหละ มิได้ฝันเห็นจิตอันเป็นไปทางปัญจทวาร.

               เหตุแห่งการฝัน ๔               
               ก็แล บุคคลเมื่อเห็นสุบิน (ฝัน) นั้นๆ ย่อมฝันเห็นด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ
                         โดยธาตุกำเริบ
                         โดยเคยประสพมา
                         โดยเทวดาดลใจ
                         โดยบุพนิมิต
               ใน ๔ อย่างนั้น บุคคลมีธาตุกำเริบ เพราะประกอบด้วยปัจจัยทำให้ผิดปกติของน้ำดีเป็นต้น จึงชื่อว่าย่อมฝันไปเพราะธาตุกำเริบ. จริงอยู่ เมื่อฝันไปต่างๆ ย่อมเป็นราวกะว่า กำลังตกลงไปจากภูเขา ราวกะว่ากำลังเดินไปทางอากาศ และเป็นราวกะว่าถูกเนื้อร้าย ช้างร้ายและโจรเป็นต้นติดตามแล้ว.
               ว่าโดยเคยประสพมา บุคคลเมื่อฝัน ย่อมฝันเห็นอารมณ์อันตนเคยประสพมาแล้วในกาลก่อน.
               ว่าโดยเทวดาดลใจ เทวดาย่อมน้อมอารมณ์มีอย่างต่างๆ เข้าไป เพราะความเป็นผู้ใคร่จะให้ประโยชน์ หรือเพราะความประสงค์จะให้เกิดความเสื่อม หรือเพื่อให้เกิดความเจริญ หรือเพื่อให้เกิดความพินาศแก่บุคคลผู้ฝันนั้น. บุคคลนั้นย่อมฝันเห็นอารมณ์เหล่านั้น ด้วยอานุภาพแห่งเทวดาเหล่านั้น.
               ว่าโดยบุพนิมิต บุคคลเมื่อฝันเห็น ย่อมฝันเห็นสุบินอันเป็นบุพนิมิต (ลางที่บอกเหตุขึ้นก่อน) แห่งความเจริญ หรือความพินาศ ด้วยสามารถแห่งบุญและบาปย่อมเป็นดุจพระมารดาของพระโพธิสัตว์ ทรงสุบินนิมิตในการได้เฉพาะซึ่งพระราชบุตร ย่อมเป็นดุจพระโพธิสัตว์ทรงมหาสุบินนิมิต ๕ ข้อ และย่อมเป็นดุจพระเจ้าโกศลทรงสุบินนิมิต ๑๖ ข้อ.
               ในเหตุ ๔ เหล่านั้น บุคคลย่อมฝันเห็นสิ่งใดโดยธาตุกำเริบและโดยการกินก่อนนอน สิ่งนั้นมิใช่ความจริง. บุคคลย่อมฝันเห็นสิ่งใดโดยเทวดาดลใจ สิ่งนั้นเป็นจริงก็ได้ ไม่จริงก็ได้ เพราะว่า เทวดาโกรธแล้ว ใคร่เพื่อจะให้ถึงความพินาศด้วยอุบายของตน จึงกระทำการดลใจแสดงสิ่งนั้นให้วิปริตไปก็ได้.
               ได้ยินว่า ในมหาวิหารอันประเสริฐในพระนครโรหนะ พระมหาเถระไม่ขออนุญาตพระภิกษุสงฆ์ สั่งให้ตัดต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นไม้โกรธพระเถระแล้ว ครั้งแรกนั่นแหละทำประเล้าประโลม (ชื่นชม) พระเถระ. ภายหลังบอกในสุบินนิมิตว่า "พระราชาผู้เป็นอุปัฏฐากของท่านจักสวรรคตภายใน ๗ วัน นับแต่วันนี้" ดังนี้. พระเถระนำเรื่องนั้นไปบอกแก่นางสนมของพระราชา. เทวดานั้นก็แกล้งร้องเสียงดังราวกะว่าถูกประหารครั้งหนึ่ง. พระราชาทรงถามว่า "นั่นอะไรกัน". เทวดานั้นทูลว่า พระเถระกล่าวอย่างนี้. พระราชาให้ราชบุรุษนับจำนวนวัน ครั้นพระชนม์ชีพของพระองค์เกิน ๗ วันแล้ว ทรงกริ้วจึงให้ราชบุรุษตัดมือและเท้าของพระเถระเสีย.
               ก็บุคคลย่อมเห็นสิ่งใดโดยบุพนิมิต สิ่งนั้นย่อมเป็นจริงโดยส่วนเดียว. และประเภทแห่งความฝันย่อมมีแม้เพราะความแตกต่างกันไปตามการเกี่ยวข้องด้วยมูลเหตุทั้ง ๔ เหล่านี้ทีเดียว.
               อนึ่ง พระเสกขะและปุถุชนเท่านั้น ย่อมฝันเห็นสุบินนิมิตแม้ทั้ง ๔ อย่าง เพราะความที่ตนยังมิได้ละวิปัลลาส ๔.
               สำหรับพระอเสกขบุคคล ย่อมไม่ฝัน เพราะท่านมีวิปัลลาส ๔ อันละได้แล้ว.
               ถามว่า ก็บุคคลเมื่อจะฝัน หลับแล้วย่อมฝัน หรือตื่นแล้วย่อมฝัน หรือว่าทั้งมิใช่หลับแล้วทั้งมิใช่ตื่นแล้ว ย่อมฝัน ดังนี้.
               ตอบว่า ก็ในที่นี้ ความฝันจะเป็นอย่างไร พึงทราบดังนี้
               ถ้าว่า บุคคลหลับแล้วย่อมฝันไซร้ ข้อนี้ย่อมไม่ตรงตามพระอภิธรรม เพราะว่า (ในพระอภิธรรม) บุคคลย่อมหลับด้วยภวังคจิต และภวังคจิตซึ่งมีรูปนิมิตเป็นต้นเป็นอารมณ์นั้น มิได้สัมปยุตด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้น. ส่วนบุคคลฝันอยู่ จิตทั้งหลายเช่นนี้ (คือจิตที่สัมปยุตด้วยราคะเป็นต้น) ย่อมเกิดได้.
               ถ้าบุคคลตื่นแล้วย่อมฝันได้ ข้อนี้ ก็ไม่ตรงตามพระวินัย เพราะว่า บุคคลตื่นแล้วย่อมฝันเห็นสิ่งใดนั้นย่อมเห็นด้วยจิตอันเป็นไปกับด้วยอัพโพหาริก (คือสิ่งที่กล่าวอ้างไม่ได้) ด้วยว่า ชื่อว่าอนาบัติในเพราะการก้าวล่วงพระบัญญัติที่ภิกษุทำแล้วด้วยจิตอันเป็นไปกับด้วยสิ่งที่กล่าวอ้างไม่ได้ มิได้มี. อนึ่ง เมื่อบุคคลทำกรรมด้วยจิตที่กำลังฝันซึ่งเป็นการล่วงพระบัญญัติ ย่อมเป็นอนาบัติโดยส่วนเดียว.
               ถ้าบุคคลไม่หลับ ไม่ตื่น ย่อมฝันได้ เขาย่อมจะชื่อว่า ไม่ฝันเห็นซึ่งสุบิน (ในที่นี้) ก็ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้นมีอยู่ ความไม่มีแห่งสุบินเทียวย่อมปรากฏ ความมีแห่งสุบินก็ย่อมไม่ปรากฏ ข้อนี้เป็นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลถูกความง่วงดุจลิงหลับครอบงำแล้วย่อมฝัน. สมจริงดังที่กล่าวไว้ว่า ดูก่อนมหาราช บุคคลถูกความง่วงดุจลิงหลับครอบงำแล้วย่อมฝัน ดังนี้.
               คำว่า กปิมิทฺธปเรโต ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยการหลับดุจลิง.
               เหมือนอย่างว่า การนอนหลับของลิงย่อมเป็นไปเร็ว ฉันใด ชื่อว่าการนอนหลับของบุคคลเพราะความเกลื่อนกล่นแล้วด้วยกุศลจิตเป็นต้นซึ่งเป็นไปรวดเร็วบ่อยๆ อันใดก็ฉันนั้น. การถอนขึ้นจากภวังค์บ่อยๆ ในเพราะความเป็นไปของการหลับอันใด บุคคลผู้ประกอบด้วยการหลับนั้นย่อมฝัน เพราะเหตุนั้น การฝันนี้ย่อมเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นอัพยากตะบ้าง.
               ในการฝันเหล่านั้น เมื่อบุคคลฝันว่าทำการไหว้พระเจดีย์ การฟังธรรม การแสดงธรรมเป็นต้น ย่อมเป็นกุศล เมื่อฝันว่าทำปาณาติบาตเป็นต้น ย่อมเป็นอกุศล พ้นจากจิตทั้งสองนี้ ในขณะแห่งอาวัชชนะและตทารัมมณะ พึงทราบว่าเป็นอัพยากตะ. แม้ในเวลาที่กล่าวว่า๑- สิ่งนี้เราเห็นแล้ว สิ่งนี้เราได้ยินแล้ว สิ่งที่ปรากฏแล้วนั่นแหละ ก็เป็นอัพยากตะเช่นกัน.
____________________________
๑- บาลีใช้ ทิฏฐํวิย เม สุตํวิย เม เช่นเดียวกับคำว่า รูปอันเราเห็นแล้ว เสียงอันเราได้ยินแล้ว ซึ่งจัดเป็นอัพยากตะ เพราะเป็นรูป.

               ถามว่า กุศลธรรมและอกุศลธรรมที่บุคคลทำในขณะฝันเป็นธรรมมีวิบากหรือไม่?
               ตอบว่า มีวิบาก แต่กรรมที่ทำในเวลาฝันนั้นไม่อาจให้ปฏิสนธิได้ เพราะความที่วิบากนั้นมีกำลังทราม. แต่ครั้นเมื่อปฏิสนธิเป็นไปแล้วด้วยกรรมอย่างอื่นให้ผลแล้ว (กรรมที่ทำในเวลาฝัน) ย่อมให้ผล.
-----------------------------------------------------
               เอวํ ยาถาวกวตฺถุวิภาวนา ปญฺญาติ ปญฺจนฺนํ วิญฺญาณานํ น เหตฺวฏฺโฐ
ยาถาวฏฺโฐ, ตํ ยาถาววตฺถุํ ๑- วิภาเวตีติ ยาถาวกวตฺถุวิภาวนา. ตถา ปญฺจนฺนํ
วิญฺญาณานํ อเหตุกฏฺโฐ ชราภิภูตฏฺโฐ น สุปินํ ปสฺสนฏฺโฐ ยาถาวฏฺโฐ ตํ ๒-
ยาถาววตฺถุํ วิภาเวตีติ ยาถาวกวตฺถุวิภาวนา. อิติ ยา เหฏฺฐา "ยาถาวกวตฺถุวิภาวนา
ปญฺญา"ติ มาติกาย นิกฺขิตฺตา. สา เอวํ ยาถาวกวตฺถุวิภาวนา ปญฺญาติ เวทิตพฺพา.
ตสฺสาเอว จ วเสน เอวํ เอกวิเธน ญาณวตฺถูติ เอวํ เอเกกโกฏฺฐาเสน
ญาณคณนา เอเกน วา อากาเรน ญาณปริจฺเฉโท โหตีติ. ๓-
@เชิงอรรถ: ม. ยถาวฏฺฐํ, ฉ. ยาถาวฏฺฐํ วตฺถุํ ฉ.ม. อยํ ปาโฐ น ทิสฺสติ ฉ.ม. โหติ

---------------------------
               คำว่า เอวํ ยาถาวกวตฺถุวิภาวนาปญฺญา (แปลว่า ความรู้เรื่องวิญญาณ ๕ ดังกล่าวมานี้ ชื่อว่าปัญญา) บัณฑิตพึงทราบว่า มิใช่เป็นการอธิบายถึงเหตุของวิญญาณ ๕ แต่เป็นการอธิบายความเป็นจริงของวิญญาณ ๕ เท่านั้น.
               คำว่า ตํ ยาถาวกวตฺถุํ วิภาเวติ ได้แก่ เป็นการชี้แจงถึงเรื่องวิญญาณ ๕ ตามความเป็นจริง. บัณฑิตพึงทราบคำอธิบาย ความรู้เรื่องวิญญาณ ๕ ตามความเป็นจริงอันนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้ในมาติกาว่า ความรู้เรื่องวิญญาณ ๕ ตามความเป็นจริงอันใด ชื่อว่าปัญญาในหนหลัง ดังพรรณนามาฉะนี้. และพึงทราบว่า การนับญาณด้วยสามารถแห่งธรรมหมวดหนึ่ง หรือการนับญาณด้วยอาการอย่างหนึ่ง อย่างนี้ว่า เอกวิเธน ญาณวตฺถุ ดังวรรณนามาฉะนี้.
---------------------------
               คำว่า เอวํ ยาถาวกวตฺถุวิภาวนา ปญฺญา (ความรู้เรื่องวิญญาณ ๕ ดังกล่าวมานี้ ชื่อว่าปัญญา) ได้แก่ การอธิบายวิญญาณ ๕ ว่าเป็น นเหตุ เป็นการอธิบายตามความเป็นจริง. ปัญญาชื่อว่าเป็นเครื่องแสดงเรื่องของวิญญาณ ๕ ตามความเป็นจริง เพราะอรรถว่า ยังเรื่องตามความเป็นจริงนั้นให้แจ่มแจ้ง. เหมือนอย่างนั้น การอธิบายวิญญาณ ๕ ว่าเป็น อเหตุกะ ว่าถูกชราครอบงำ ว่าไม่ฝัน เป็นการอธิบายตามความเป็นจริง.
               ปัญญาชื่อว่าเป็นเครื่องแสดงเรื่องของวิญญาณ ๕ ตามความเป็นจริง เพราะอรรถว่า ยังเรื่องตามความเป็นจริงนั้นให้แจ่มแจ้ง. ปัญญาใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้ในมาติกาในหนหลังว่า "เป็นเครื่องแสดงเรื่องของวิญญาณ ๕ ตามความเป็นจริง"
               ปัญญานั้นพึงทราบว่า "ความรู้เรื่องของวิญญาณ ๕ ดังกล่าวมานี้ ชื่อว่า ปัญญาเป็นเครื่องแสดงเรื่องวิญญาณ ๕ ตามความเป็นจริง" ดังพรรณนามาฉะนี้. ก็การนับญาณด้วยธรรมหมวดหนึ่ง หรือการนับญาณด้วยอาการอย่างหนึ่ง อย่างนี้ว่า เอวํ เอกวิเธน ญาณวตฺถุ (ญาณวัตถุหมวดละ ๑ ย่อมมี ด้วยประการฉะนี้) ย่อมมีด้วยอำนาจแห่งปัญญานั้นนั่นแหละ.
-----------------------------------------------------
               ญาณวัตถุหมวดหนึ่ง จบ.               

               อธิบายญาณวัตถุหมวด ๒               
               คำว่า จตูสุ ภูมีสุ กุสเล (แปลว่า ในกุศลธรรมในภูมิ ๔) ได้แก่ ปัญญาเป็นกุศลอันเป็นไปในภูมิ ๔ ของพระเสกขะและปุถุชนทั้งหลาย พึงทราบวินิจฉัยในที่นี้ว่า ปัญญาใดย่อมยังประโยชน์กล่าวคือวิบากอันนับเนื่องแล้วด้วยภูมิของตน ให้เกิดขึ้น ให้ผลิตผล คือให้เป็นไปทั่วในประโยชน์ ๕#- ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในปฏิสัมภิทาวิภังค์ เพราะเหตุนั้น ปัญญานั้นจึงชื่อว่าอัตถชาปิกา.
               คำว่า อรหโต อภิญฺญํ อุปฺปาเทนฺตสฺส สมาปตฺตึ อุปฺปาเทนฺตสฺส กิริยาพฺยากตา (แปลว่า ปัญญาที่เป็นกิริยาอัพยากตะของพระอรหันต์ผู้กำลังยังอภิญญาให้เกิดขึ้น ผู้กำลังยังสมาบัติให้เกิดขึ้น) ได้แก่ ปัญญาอันเป็นกิริยาในกามาวจร ในเวลาทำบริกรรมแห่งอภิญญาและสมาบัติ.
               จริงอยู่ ปัญญานั้นย่อมยังประโยชน์กล่าวคือกิริยาอันต่างด้วยอภิญญาและสมาบัติให้เกิด ให้ผลิตผล ให้เป็นไปทั่ว เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า อัตถชาปิกปัญญา.
____________________________
#- คือ ๑. สัจจวาระ ๒. เหตุวาระ ๓. ธรรมวาระ ๔. ปัจจยาการวาระ ๕. ปริยัตติธรรมวาระ.

               นัยแห่งอรรถกถาอันเป็นบาลีมุตตกะ นัยหนึ่ง               
               ก็ปัญญาแม้ใด เป็นกามาวจรกิริยาซึ่งเกิดขึ้นก่อน ย่อมเป็นปัจจัยแก่กามาวจรกิริยาที่เกิดภายหลังด้วยอำนาจอนันตรปัจจัย. ปัญญาแม้นั้นชื่อว่าอัตถชาปิกปัญญา เพราะย่อมยังประโยชน์กล่าวคือกิริยานั้นให้เกิดขึ้น. แม้ปัญญาในรูปาวจรทั้งหลาย ก็นัยนี้.
               พึงทราบในนิทเทสแห่งบทที่ ๒ มีคำว่า จตูสุ ภูมีสุ วิปาเก (แปลว่า ในวิบากธรรมในภูมิ ๔) ได้แก่ ปัญญาในกามาวจรวิบาก ชื่อว่าชาปิตัตถา เพราะยังประโยชน์ในกามาวจรวิบากให้เกิดแล้วดำรงอยู่ ด้วยสามารถแห่งปัจจัยมีสหชาตปัจจัยเป็นต้น. แม้ปัญญาในวิบากมีรูปาวจรปัญญาเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง ปัญญานี้ แม้ทั้งหมด ชื่อว่า ชาปิตัตถา เพราะให้เกิด ให้ผลิตผลให้เป็นไปทั่วด้วยเหตุทั้งหลายของตนๆ และแม้ตัวเองก็เป็นประโยชน์ ดังนี้บ้าง. แม้ในปัญญาอันเป็นกิริยาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ปัญญาของพระอรหันต์เมื่อขณะที่อภิญญาเกิดแล้ว เมื่อขณะที่สมาบัติเกิดแล้วดังนี้ ก็นัยนี้แหละ.

               นัยแห่งอรรถกถาอันเป็นบาลีมุตตกะ นัยหนึ่ง               
               ก็แม้ปัญญาในกิริยาอันเป็นกามาวจร ชื่อว่าชาปิตัตถา เพราะยังประโยชน์กล่าวคือกามาวจรกิริยาให้เกิดแล้วดำรงอยู่ด้วยอำนาจแห่งสหชาตปัจจัยเป็นต้น.
               แม้ในปัญญาอันเป็นกิริยาในรูปาวจรและอรูปาวจร ก็นัยนี้แหละ.
               อีกอย่างหนึ่ง ปัญญานี้แม้ทั้งหมด ชื่อว่าชาปิตัตถา เพราะให้เกิด ให้ผลิตผล ให้เป็นไปทั่ว ด้วยเหตุทั้งหลายของตนๆ และแม้ตัวเองก็เป็นประโยชน์ดังนี้บ้าง. คำที่เหลือทั้งหมดในที่นี้ ปรากฏชัดแล้วทั้งนั้น เพราะมีนัยดังที่กล่าวแล้วในอรรถกถาแห่งธัมมสังคหะ ฉะนี้แล.
               ญาณวัตถุหมวด ๒ จบ.               

               อธิบายญาณวัตถุหมวด ๓               
               จินตามยปัญญา               
               ปัญญาอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกว่า โยคะ ในคำว่า โยควิหิเตสุ นี้ มีอธิบายว่า ในการจัดแจงด้วยปัญญา ชื่อว่าน้อมนำไปด้วยปัญญา. อายตนะคือบ่อเกิดแห่งการงานในคำว่า กมฺมายตเนสุ นี้ ชื่อว่าการงานนั่นแหละ.
               อีกอย่างหนึ่ง แม้แต่คำว่า การงานนั้นด้วย อายตนะนั้นด้วย มีอยู่แก่บุคคลผู้มีอาชีพเป็นต้น ดังนี้ ก็ชื่อว่าบ่อเกิดแห่งการงาน. แม้ในคำว่า สิปฺปายตเนสุ ก็นัยนี้.
               ในคำเหล่านั้น การงานมี ๒ อย่าง คือ หีนกรรมและอุกกัฏฐกรรม (ชนิดเลวและดี).
               ใน ๒ อย่างนั้น การงานของช่างไม้ การงานของผู้เทดอกไม้เป็นต้น ชื่อว่าหีนกรรม (ชนิดเลว). กสิกรรม วาณิชกรรม โครักขกรรมเป็นต้น ชื่อว่าอุกกัฏฐกรรม (ชนิดดี).
               แม้ในศิลปะก็มี ๒ อย่าง คือ ชนิดเลวและดี.
               ใน ๒ อย่างนั้น ศิลปะของช่างสาน ศิลปะของช่างหูก ศิลปะของช่างหม้อ ศิลปะของช่างหนังและศิลปะของช่างตัดผมเป็นต้น ชื่อว่าชนิดเลว. ศิลปะที่ใช้ปัญญา (มุทฺธา) ศิลปะการคำนวณ (คณนา) ศิลปะขีดเขียน (เลขํ) เป็นต้น ชื่อว่าชนิดดี. ฐานะแห่งวิชชา ชื่อว่าวิชชาเทียว. ฐานะแห่งวิชชานั้นต้องประกอบโดยธรรม ท่านจึงถือเอา. ก็หมอ พ่อค้าซึ่งมีวิชชาเช่นกับมนต์เครื่องคุ้มครอง คือทำให้นาคงงงวย เช่นกับมนต์ของบุคคลผู้เป่าไม้เลาแม่น จักษุวิทยา ศัลยกรรมเป็นต้น ท่านไม่ถือเอา เพราะความที่ศิลปะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้นั้นไม่เข้าไปรวมอยู่ในศิลปะอันมีคำว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ กระผมปรารถนาเพื่อศึกษาศิลปะ ดังนี้.

               นัยแห่งหีนกรรม               
               พึงทราบในข้อนี้ว่า บุรุษผู้ฉลาดคนหนึ่งสร้างบ้าน ปราสาท ยาน เรือเป็นต้นโดยธรรมดาของตนเองเพื่อต้องการอยู่เป็นสุขของมนุษย์ทั้งหลาย เพราะว่า บุรุษผู้ฉลาดคนนั้นดำรงอยู่ด้วยการกระทำประโยชน์เกื้อกูล โดยคิดว่า มนุษย์เหล่านี้เป็นทุกข์เพราะไม่มีที่เป็นที่อยู่อาศัย จึงสร้างบ้านอันต่างด้วยบ้านมีรูปยาวและสี่เหลี่ยมเป็นต้นขึ้น และเพื่อป้องกันความหนาวและร้อนก็สร้างปราสาทอันต่างด้วยปราสาทมีชั้นเดียวและสองชั้นเป็นต้น เมื่อยานพาหนะไม่มีอยู่ ก็คิดว่า ชื่อว่าการสัญจรไปมาเป็นทุกข์ เพื่อต้องการบรรเทาความปวดเมื่อยแข้งเป็นต้น ก็สร้างพาหนะเป็นเครื่องนำไปมีเกวียนและรถเป็นต้น ครั้นเมื่อเรือไม่มีอยู่ ก็คิดว่า ชื่อว่าเครื่องสัญจรไปในสมุทรเป็นต้นไม่มี จึงสร้างเรือมีประการต่างๆ.
               บุรุษผู้ฉลาดนั้น ย่อมไม่เห็นวัตถุทั้งหลายเหล่านั้นทั้งหมดที่บุคคลอื่นกระทำอยู่ มิได้เก็บเอาของที่บุคคลอื่นทำแล้วมา ย่อมไม่ได้ฟังจากผู้อื่น ก็แต่ว่า เขาย่อมกระทำด้วยความคิดตามธรรมดาของตน.
               จริงอยู่ การงานอันบุคคลผู้มีปัญญา แม้กระทำตามธรรมดาของตน ย่อมเป็นเช่นกับการงานทั้งหลาย อันชนเหล่าอื่นเรียนมากระทำให้สำเร็จนั่นแหละ. นี้เป็นนัยในหีนกรรม (การงานอันต่ำ) ก่อน.

               นัยแห่งอุกกัฏฐกรรม               
               แม้ในอุกกัฏฐกรรม (การงานอันสูง) บัณฑิตคนหนึ่งคิดว่า เมื่อกสิกรรมไม่มีอยู่ ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายย่อมไม่เป็นไป ดังนี้ เพื่อต้องการให้อยู่เป็นสุขของมนุษย์ทั้งหลาย จึงสร้างอุปกรณ์การทำนามีแอกและไถเป็นต้น. โดยทำนองนั้น ย่อมสร้างวาณิชยกรรมและโครักขกรรมขึ้น. เขาย่อมไม่เห็นการงานเหล่านั้นทั้งหมดที่บุคคลอื่นทำอยู่ ฯลฯ ย่อมเป็นเช่นกับการงานที่บุคคลอื่นเรียนมา ทำให้สำเร็จแล้วนั่นแหละ. นี้เป็นนัยในอุกกัฏฐกรรม (การงานอันสูง).

               นัยแห่งศิลปะทั้ง ๒ อย่าง               
               ในบ่อเกิดแห่งศิลปะแม้ทั้งสอง บัณฑิตคนหนึ่งประสงค์จะให้มนุษย์ทั้งหลายมีความผาสุก จึงจัดสร้างหีนศิลปะมีศิลปะของช่างสานเป็นต้นขึ้น และสร้างศิลปะอันสูงสุดกล่าวคือเพื่อให้ได้จำนวนโดยสูงสุดแห่งหัตถกรรม สร้างอุปกรณ์คำนวณกล่าวคือเพื่อมิให้ขาดปริมาณ สร้างเครื่องขีดเขียนอันเป็นแบบอย่างต่างๆ เป็นต้น. บัณฑิตนั้นมิได้เห็นสิ่งเหล่านั้นแม้ทั้งหมดที่บุคคลอื่นทำอยู่ ฯลฯ ย่อมเป็นเช่นกับศิลปะที่บุคคลอื่นเรียนมาแล้วทำให้สำเร็จนั่นแหละ. ข้อนี้เป็นนัยในบ่อเกิดแห่งศิลปะ.
               อนึ่ง บัณฑิตบางพวกยังฐานะแห่งวิชาทั้งหลาย มีมนต์อันยังนาคให้งง (ให้หมุนไป) เป็นต้นให้เกิดขึ้น เพื่อต้องการเยียวยามนุษย์ทั้งหลายผู้เข้าไปเล่นกับอมนุษย์มีงูเป็นต้น. บัณฑิตนั้น ย่อมไม่เห็นฐานะแห่งวิชาเหล่านั้นซึ่งบุคคลอื่นทำอยู่ ไม่ได้เรียนฐานะแห่งวิชาที่บุคคลอื่นเรียนแล้ว ทั้งมิได้ฟังต่อบุคคลอื่น แต่ว่า เขาย่อมกระทำด้วยความคิดตามธรรมดาของตน.
               จริงอยู่ ฐานะแห่งวิชานั้นอันบุคคลผู้มีปัญญา แม้ทำตามธรรมดาของตน ก็ย่อมเป็นเช่นกับบุคคลอื่นที่เรียนมากระทำอยู่ให้สำเร็จนั่นแหละ.
               คำว่า กมฺมสฺสกตํ วา (แปลว่า กัมมัสสกตาญาณ) ได้แก่ ญาณ คือการรู้อย่างนี้ว่า นี้เป็นกรรมของสัตว์ทั้งหลาย นี้เป็นกรรมของตน นี้มิใช่กรรมของตน ดังนี้.
               คำว่า สจฺจานุโลมิกํ วา (แปลว่า สัจจานุโลมิกญาณ) ได้แก่ วิปัสสนาญาณ.
               จริงอยู่ วิปัสสนาญาณนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า สัจจานุโลมิกญาณ ก็เพราะคล้อยตามสัจจะ ๔.
               บัดนี้ เพื่อแสดงซึ่งอาการ คือความเป็นไปแห่งสัจจานุโลมิกญาณที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า รูปํ อนิจฺจนฺติ วา เป็นอาทินั้น (แปลว่า รูปไม่เที่ยง). ก็รูปมีความไม่เที่ยงเป็นลักษณะนั่นแหละ มาแล้วในข้อว่า รูปํ อนิจฺจํ นี้ มิใช่มีทุกข์เป็นลักษณะ หรือมีอนัตตะเป็นลักษณะ. แต่พึงทราบว่า เมื่อว่าโดยอำนาจแห่งอรรถ (เนื้อความ) แล้ว สภาวะเหล่านั้นพึงเป็นอย่างเดียวกัน เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ยญฺหิ อนิจฺจํ ตํ ทุกฺขํ ยํ ทุกฺขํ ตํ อนตฺตา (แปลว่า สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา) ดังนี้.
               คำว่า ยํ เอวรูปึ (แปลว่า อันใด ซึ่งมีลักษณะอย่างนั้น) ได้แก่ ญาณใดเป็นสภาวะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิบายไว้ตอนหลังอย่างนี้ ญาณนั้นชื่อว่าอนุโลมิกญาณ.
               คำว่า ขนฺตึ๑- เป็นต้น เป็นไวพจน์ของปัญญาทั้งนั้น.
               จริงอยู่ ปัญญานั้นชื่อว่าอนุโลมิกะ เพราะอรรถว่าย่อมอนุโลม (คือ คล้อยตาม) ซึ่งเหตุอันเป็นการกระทำ ๕ อย่าง มีบ่อเกิดแห่งการงานเป็นต้น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในหนหลัง โดยการเห็นซึ่งธรรมอันไม่เป็นข้าศึก ดังนี้. อนึ่ง ปัญญาชื่อว่าอนุโลมิกะ เพราะอรรถว่าย่อมคล้อยตามประโยชน์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้ด้วย ย่อมคล้อยตามมัคคสัจจะดังนี้ด้วย ย่อมคล้อยตาม เพราะการคล้อยตามพระนิพพานอันเป็นปรมัตถสัจจะ ดังนี้ก็ได้.
               ญาณใดย่อมอดทน ย่อมสามารถ ย่อมอาจเพื่อเห็นซึ่งเหตุเป็นที่กระทำ (การณะ๒-) แม้ทั้งหมดเหล่านี้ เพราะเหตุนั้น ญาณนั้น จึงชื่อว่าขันติ.
               คำว่า ปสฺสติ ได้แก่ ทิฏฐิญาณ.
               คำว่า โรเจติ ได้แก่ รุจิญาณ.
               คำว่า มุจติ ได้แก่ มุติญาณ.
               พระบาลีว่า มุทตีติ มุทีติ ชื่อว่า มุติญาณ ดังนี้ก็มี.
               คำว่า เปกฺขติ ชื่อว่า เปกขญาณ.
               ธรรมทั้งหลายมีบ่อเกิดแห่งการงานเป็นต้นแม้ทั้งหมดเหล่านั้น ย่อมเข้าไปประจักษ์แจ้ง แก่ญาณนั้น จึงชื่อว่าธัมมนิชฌานขันติญาณ.
               อนึ่ง เมื่อว่าโดยพิเศษ ธรรมทั้งหลายกล่าวคือ ขันธ์ ๕ เมื่อเข้าไปเพ่งพิจารณา ย่อมให้ประจักษ์แจ้งด้วยสามารถแห่งความเป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาบ่อยๆ เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้น จึงชื่อว่าธัมมนิชฌานขันติญาณ.
____________________________
๑- คือ ขันติญาณ ทิฏฐิญาณ รุจิญาณ มุติญาณ เปกขญาณ ธัมมนิชฌานขันติญาณ.
๒- การณะ คือ กัมมะ ศิลปะ วิชา กัมมัสสกตาญาณ สัจจานุโลมิกญาณ.

               คำว่า ปรโต อสุตฺวา ปฏิลภติ (แปลว่า บุคคลมิได้ฟังจากผู้อื่นย่อมได้...) ได้แก่ มิได้ฟังคำแนะนำของผู้อื่น คิดอยู่เองนั่นแหละ ย่อมได้...
               คำว่า อยํ วุจฺจติ (แปลว่า นี้เรียกว่า) ได้แก่ ปัญญานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า จินตามยปัญญา.
               ก็จินตามยปัญญานั้น ย่อมไม่เกิดแก่บุคคลพวกใดพวกหนึ่ง ย่อมเกิดขึ้นแก่พระมหาสัตว์ทั้งหลาย ผู้รู้ยิ่งเท่านั้น.
               สัจจานุโลมิกญาณแม้ในที่นี้ ก็ย่อมเกิดแก่พระโพธิสัตว์ทั้งสอง (ทฺวินฺนํเยว โพธิสตฺตานํ) เท่านั้น.
               ปัญญาที่เหลือ บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีปัญญามากแม้ทั้งหมดซึ่งมีบารมีเต็มแล้ว.

               อธิบายสุตมยปัญญา               
               ในคำว่า ปรโต สุตฺวา ปฏิลภติ นี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ปัญญาทั้งหมดที่บุคคลได้แล้ว เพราะเห็นบ่อเกิดแห่งการงานเป็นต้นอันบุคคลอื่นกำลังทำอยู่ หรือทำเสร็จแล้วก็ดี ฟังถ้อยคำของใครๆ ผู้บอกอยู่ก็ดี เรียนเอาในสำนักของอาจารย์ก็ดี ชื่อว่าบุคคลฟังจากผู้อื่นแล้วนั่นแหละ.

               อธิบายภาวนามยปัญญา               
               คำว่า สมาปนฺนสฺส (แปลว่า ผู้เข้าสมาบัติ) อธิบายว่า ปัญญาในภายในสมาบัติของบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยสมาบัติ ชื่อว่าภาวนามยปัญญา.

               อธิบายทานมยปัญญา               
               คำว่า ทานํ อารพฺภ (แปลว่า ปรารภทาน) ได้แก่ อาศัยทาน. อธิบายว่า มีเจตนาในทานเป็นปัจจัย. คำว่า ทานาธิคจฺฉ (แปลว่า บุคคลผู้ให้ทาน) อธิบายว่า บุคคลผู้กำลังน้อมเข้าไปให้อยู่ซึ่งทาน ชื่อว่าผู้ให้ทาน. คำว่า ยา อุปฺปชฺชติ (แปลว่า ย่อมเกิดขึ้น) ได้แก่ ปัญญาใดอันสัมปยุตด้วยเจตนาในทาน ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ ปัญญานี้ ชื่อว่าทานมยปัญญา. ก็เมื่อบุคคลคิดว่า เราจักให้ทานดังนี้ ก็ให้ทานอยู่ ครั้นให้ทานแล้ว ก็พิจารณาอยู่ซึ่งทานนั้น.
               ทานมยปัญญานั้น ย่อมเกิดขึ้นโดยอาการ ๓ อย่าง คือ
                         ปุพพเจตนา
                         มุญจนเจตนา
                         อปรเจตนา
.

               อธิบายสีลมยปัญญา               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาปัญญาอันสัมปยุตด้วยเจตนาในศีล แม้ในคำว่า สีลํ อารพฺภ สีลาธิคจฺฉ นี้ว่าเป็นสีลมยปัญญา. ก็เมื่อคิดว่า เราจักยังศีลให้บริบูรณ์ ดังนี้ แล้วก็ยังศีลนั้นให้บริบูรณ์อยู่ ครั้นยังศีลให้บริบูรณ์แล้ว ก็พิจารณาศีลนั้นอยู่ สีลมยปัญญานี้จึงเกิดขึ้นโดยอาการ ๓ อย่าง คือปุพเจตนา มุญจนเจตนา อปรเจตนา. สำหรับภาวนามยปัญญา ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแหละ.

               อธิบายอธิสีลปัญญาเป็นต้น               
               ในอธิสีลปัญญาเป็นต้น บัณฑิตพึงทราบศีลเป็นต้น โดยเป็นไปอย่างละ ๒ คือ ศีล อธิศีล, จิต อธิจิต, ปัญญา อธิปัญญา. ในคำเหล่านั้น ศีล ๕ ก็ดี ศีล ๑๐ ก็ดี ชื่อว่าศีล ด้วยสามารถแห่งการสงเคราะห์ลงในแบบแผนนี้ว่า ความอุบัติขึ้นแห่งพระตถาคตทั้งหลาย หรือไม่ทรงอุบัติขึ้นก็ตามที ธาตุ ธัมมฐิติ ธัมมนิยามเหล่านั้นก็ดำรงอยู่แล้วเทียว. จริงอยู่ เมื่อพระตถาคตทรงอุบัติขึ้นก็ดี ยังไม่ทรงอุบัติขึ้นก็ดี ศีลนั้นก็มีอยู่.
               ถามว่า เมื่อพระตถาคตยังมิได้ทรงอุบัติขึ้น ใครเล่าย่อมบัญญัติศีล (คือย่อมประกาศให้รู้).
               ตอบว่า ดาบส ปริพาชก สัพพัญญูโพธิสัตว์ และพระเจ้าจักรพรรดิราชย่อมบัญญัติศีล.
               เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว ภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ อุบาสกและอุบาสิกา ย่อมประกาศให้รู้ซึ่งศีลนั้น. อนึ่ง เมื่อพระตถาคตทรงอุบัติขึ้นแล้วนั่นแหละ ปาฏิโมกขสังวรศีลอันเป็นศีลยิ่งกว่าศีลทั้งหมดจึงปรากฏขึ้น เมื่อพระตถาคตยังมิได้ทรงอุบัติ ปาฏิโมกขสังวรศีลนั้นก็มิได้ปรากฏ ด้วยว่า พระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น ย่อมบัญญัติประกาศซึ่งปาฏิโมกขสังวรศีลนั้น หาใช่เป็นวิสัยของชนเหล่าอื่นที่จะบัญญัติว่า ชื่อว่าศีลข้อนี้ ย่อมมีเพราะการก้าวล่วงในเรื่องนี้ ดังนี้. อันนี้เป็นวิสัยแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น และเป็นกำลังของพระพุทธเจ้าทั้งหลายด้วยประการฉะนี้. ปาฏิโมกขสังวรศีลนี้เป็นอธิศีล เหตุใด เพราะเหตุนั้นเพื่อทรงแสดงอธิสีลปัญญา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปาฏิโมกฺขสํวรํ สํวรนฺตสฺส เป็นต้น (แปลว่า ปัญญาเกิดแก่ผู้สำรวมด้วยปาฏิโมกขสังวรศีล).
               อนึ่ง สมาบัติ ๘ อันเป็นเครื่องดำเนินไปในวัฏฏะ ชื่อว่าจิต ด้วยสามารถแห่งการสงเคราะห์ไว้ด้วยแบบแผนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในหนหลัง. จริงอยู่ จิตอันเป็นไปในสมาบัติ ๘ เหล่านั้น เมื่อพระตถาคตทรงอุบัติแล้วก็ตาม ไม่ทรงอุบัติก็ตาม จิตเช่นนั้นย่อมเกิดขึ้นได้.
               ถามว่า เมื่อพระตถาคตยังมิได้ทรงอุบัติขึ้น ใครเล่า ย่อมยังจิตอันเป็นไปในสมาบัติเหล่านั้นให้เกิดขึ้น.
               ตอบว่า ดาบส ปริพาชก พระสัพพัญญูโพธิสัตว์และพระเจ้าจักรพรรดิราช.
               ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอุบัติแล้ว ชนทั้งหลายผู้ปรารถนาคุณวิเศษแม้มีภิกษุเป็นต้น ย่อมยังจิตเช่นนั้นให้เกิดขึ้นได้. แต่ว่า สมาบัติ ๘ อันเป็นบาทให้วิปัสสนาอันยิ่งกว่าจิตทั้งปวงเกิดขึ้นนั้น เมื่อพระตถาคตทรงอุบัติแล้วเท่านั้นจึงมีได้ ยังมิได้ทรงอุบัติขึ้น จิตเช่นนั้นหามีได้ไม่. พระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น ย่อมทรงบัญญัติประกาศจิตอันเป็นไปในสมาบัติ ๘ อันเป็นบาทแห่งวิปัสสนาเหล่านั้นไว้ ด้วยประการฉะนี้ สมาบัติ ๘ เป็นอธิจิตได้ เหตุใด เพราะเหตุนั้นเพื่อแสดงปัญญาอันบรรลุเป็นอธิจิตนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า รูปาวจรารูปาวจรสมาปตฺตึ สมาปชฺชนฺตสฺส เป็นต้น (แปลว่า ปัญญา...อันใด เกิดขึ้นแก่โยคาวจรบุคคลผู้เข้ารูปาวจรสมาบัติและอรูปาวจรสมาบัติ).
               ก็กัมมัสสกตาญาณ ชื่อว่าปัญญา ด้วยสามารถแห่งการสงเคราะห์ไว้ในแบบแผนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วในหนหลังนั่นแหละ.
               จริงอยู่ เมื่อพระตถาคตทรงอุบัติแล้วก็ดี ยังมิทรงอุบัติก็ดี กัมมัสสกตาญาณนั้น ก็มีได้ คือ เมื่อพระตถาคตยังมิทรงอุบัติขึ้น กัมมัสสกตาญาณนั้นย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจของการให้ทานของเวลามพราหมณ์และของพระเวสสันดร เป็นต้น. ครั้นเมื่อพระตถาคตทรงอุบัติแล้ว ประมาณบุคคลผู้ยังมหาทานให้เป็นไปด้วยญาณนั้นหาได้ไม่.
               ปัญญาในมรรคและผลเป็นสภาพยิ่งกว่าปัญญาทั้งหมด เมื่อพระตถาคตทรงอุบัติแล้วเท่านั้น จึงเป็นสภาวะแผ่ออกไป เมื่อยังมิได้ทรงอุบัติขึ้น หาเป็นเช่นนั้นไม่. ด้วยประการฉะนี้ ปัญญาในมรรคและผล ชื่อว่าอธิปัญญา เหตุใด เพราะเหตุนั้น เพื่อแสดงซึ่งปัญญา ด้วยอธิปัญญา จึงตรัสคำว่า จตูสุ มคฺเคสุ เป็นต้น.
               ถามว่า ในส่วนทั้ง ๖ เหล่านี้ คือ ศีล อธิศีล จิต อธิจิต ปัญญา อธิปัญญา พึงมีไซร้ วิปัสสนาปัญญา อาศัยธรรมอันไหนเป็นไป.
               ตอบว่า อาศัยอธิปัญญา.
               ในข้อนี้ เปรียบเหมือนบุคคลเรียกว่า อธิฉัตรและอธิธัชซึ่งมีปริมาณมาก เพราะอาศัยฉัตร (ร่ม) หรือธัช (ธง) ซึ่งมีปริมาณน้อย ฉันใด แม้ข้อนี้ก็ฉันนั้น ชื่อว่าปาฏิโมกขสังวรศีลอันเป็นอธิศีลก็เพราะอาศัยศีล ๕ และศีล ๑๐ อันเป็นเบื้องต้น.
               สมาบัติ ๘ อันเป็นบาทให้วิปัสสนาเกิดขึ้น ชื่อว่าอธิจิต เพราะอาศัยสมาบัติ ๘ อันเป็นไปในวัฏฏะ.
               และพึงทราบว่า วิปัสสนาปัญญาและปัญญาในมรรคในผล ชื่อว่าอธิปัญญา ดังนี้ ก็เพราะอาศัยกัมมัสสกตาปัญญา ดังนี้.

               อธิบายอายโกศลเป็นต้น               
               ในนิทเทสแห่งอายโกศลเป็นต้น คำว่า อาโย ได้แก่ ความเจริญอายะ คือความเจริญนั้นมี ๒ อย่าง คืออนัตถหานิ (การละความพินาศคืออกุศลธรรม) และอัตถุปปัตติ (การยังประโยชน์คือกุศลธรรมให้เกิดขึ้น).
               คำว่า อปาโย ได้แก่ ความไม่เจริญ. ความไม่เจริญแม้นั้น ก็มี ๒ คืออัตถหานิ (การละสิ่งเป็นประโยชน์คือกุศลธรรม) และอนัตถุปปัตติ (การยังสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์คืออกุศลธรรม ให้เกิดขึ้น) ย่อมมี เหตุใด เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อิเม ธมฺเม มนสิกโรโต เป็นต้น.
               คำว่า อิทํ วุจฺจติ อธิบายว่า ปัญญาอันใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกชื่อว่า อายโกศล ก็เพราะเป็นไปในการละ คือไม่ให้อกุศลธรรมเหล่านี้เกิดขึ้น และเพราะการดำรงอยู่ในการเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย. ก็แลปัญญานี้ใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นี้ชื่อว่าอปายโกศล ดังนี้ ปัญญานั้น เมื่อพิจารณาอยู่ ย่อมรู้ในการยังไม่เกิดขึ้นและการดับไปแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมรู้ในการเกิดขึ้นและความตั้งอยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย ดังนี้.
               ถามว่า ความเป็นคนฉลาดในอายะ คือ ความเจริญนั้นจงยกไว้ก่อน ความเป็นคนฉลาดในอปายะ คือความไม่เจริญ ชื่อว่าปัญญานั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร.
               ตอบว่า เพราะว่า เมื่อบุคคลพิจารณาด้วยปัญญาของตนอย่างนี้ ย่อมรู้ชัดว่า กุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป และย่อมรู้ชัดว่า อกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น อกุศลกรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ ดังนี้ บุคคลนั้น ครั้นทราบอย่างนี้แล้ว ย่อมไม่ให้เพื่อการเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมละอกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว และย่อมยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ย่อมยังกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ถึงความบริบูรณ์ ด้วยการเจริญปัญญา. แม้ความเป็นผู้ฉลาดในอปายะด้วยอาการอย่างนี้ บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นปัญญา ดังพรรณนามาฉะนี้.
               ก็ในคำว่า สพฺพาปิ ตตฺรุปายาปญฺญา อุปายโกสลฺลํ นี้ (แปลว่า ปัญญาแม้ทั้งหมดที่เป็นอุบายแก้ไขในกิจรีบด่วน หรือภัยที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ชื่อว่าอุปายโกศล) บัณฑิตพึงทราบด้วยสามารถแห่งการรู้ถึงเหตุในการเกิดขึ้นแห่งฐานะ เพื่อแก้ไขในกิจการที่รีบด่วน หรือภัยที่เกิดขึ้นนั่นแหละ.
               คำที่เหลือในที่ทั้งปวง มีอรรถตื้นทั้งนั้นแล.
               ญาณวัตถุหมวด ๓ จบ.               

               อธิบายญาณวัตถุหมวด ๔               
               ในคำว่า อตฺถิ ทินฺนํ เป็นต้น (แปลว่า ทานที่ให้แล้วมีผล) บัณฑิตพึงทราบเนื้อความโดยอุบายนี้ว่า ผลมีอยู่เพราะทานอันตนให้แล้วเป็นปัจจัย ดังนี้.
               คำว่า อิทํ วุจฺจติ (แปลว่า นี้เรียกว่ากัมมัสสกตาญาณ) อธิบายว่า ญาณใดย่อมรู้ว่า นี้เป็นกรรมของตน นี้มิใช่ของตน ดังนี้ ญาณนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกชื่อว่ากัมมัสสกตาญาณ.
               ในบรรดากรรมทั้งสอง (คือทั้งของตนและมิใช่นั้น)
               กรรม คือ กายทุจจริต ๓ วจีทุจจริต ๔ มโนทุจจริต ๓ เหล่านี้ ไม่ชื่อว่าเป็นกรรมของตน.
               สุจริตกรรมแม้ทั้ง ๑๐ อย่างในทวารทั้ง ๓ ชื่อว่าเป็นกรรมของตน.
               อกุศลแม้ทั้งหมดจะเป็นของตน หรือของบุคคลอื่นก็ตาม ไม่ชื่อว่าเป็นกรรมของตน.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะทำลายซึ่งประโยชน์ และเพราะการเกิดขึ้นแห่งความเสื่อม.
               กุศลแม้ทั้งหมดจะเป็นของตนเอง หรือของผู้อื่นก็ตาม ชื่อว่าเป็นกรรมของตน.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะการทำลายสิ่งซึ่งมิใช่ประโยชน์ และเพราะให้ประโยชน์เกิดขึ้น.
               ครั้นเมื่อกุศลสามารถเพื่ออันยังประโยชน์ (ความเจริญ) ให้เกิดขึ้นอย่างนี้ การกำหนดจำนวนบุคคลผู้ตั้งอยู่ในกัมมัสสกตาญาณนั้นว่า
               กัมมัสสกตาญาณนี้ คือผู้ให้ทานมากแล้วยังศีลให้บริบูรณ์ สมาทานอุโบสถ แล้วเสวยความสุขด้วยความสุข เสวยสมบัติด้วยสมบัติ แล้วบรรลุพระนิพพาน นับประมาณมิได้.
               เหมือนอย่างว่า บุรุษมีทรัพย์ยังบุคคลให้ยกวัตถุทั้งหลายมีเนยใส น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเป็นต้น และเกลือ เมล็ดงา ข้าวสารเป็นต้น ใส่เกวียน ๕ เล่ม ดำเนินไปสู่ทางกันดาร (ท่องเที่ยวไปในวัฏฏะ) ครั้นเมื่อความต้องการด้วยกิจอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เขาย่อมไม่คิด คือไม่สะดุ้ง ย่อมดำเนินไปจนถึงที่อันเกษมนั้น เพราะความที่อุปกรณ์ทั้งปวงเป็นของอันเขาครอบครองแล้วฉันใด บุคคลผู้ตั้งอยู่ในกัมมัสสกตาญาณแม้นี้ ให้ทานเป็นอันมาก ฯลฯ ย่อมดำเนินไปจนถึงพระนิพพาน จะนับจะประมาณหาได้ไม่.
               คำว่า ฐเปตฺวา สจฺจานุโลมิกํ ญาณํ (แปลว่า ยกเว้นสัจจานุโลมิกญาณ) อธิบายว่า ยกเว้นวิปัสสนาญาณซึ่งมีชื่อว่า สัจจานุโลมิกญาณ เพราะการคล้อยตามมัคคสัจจะและปรมัตถสัจจะแล้ว กุศลปัญญาที่เหลือเป็นไปกับด้วยอาสวะ ชื่อว่ากัมมัสสกตาญาณทั้งนั้น.

               อธิบายมัคคสมังคิญาณ               
               ในคำว่า มคฺคสมงฺคิสฺส ญาณํ ทุกฺเขเปตํ ญาณํ (แปลว่า มัคคสมังคิญาณ คือความรู้แม้ในทุกข์นี้) ได้แก่ มัคคสัจจะหนึ่งเท่านั้นที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาในฐานะ ๔ ด้วยสามารถแห่งการแทงตลอดสัจจะหนึ่งในสัจจะ ๔.

               อธิบายธัมมญาณเป็นต้น               
               คำว่า ธมฺเม ญาณํ (แปลว่า ธัมมญาณ) นี้ ปัญญาในมรรค ชื่อว่าธัมมญาณ ด้วยสามารถแห่งการแทงตลอดสัจจะหนึ่งในสัจจะ ๔ จงยกไว้ก่อน ปัญญาในผล ชื่อว่าธัมมญาณได้อย่างไร ปัญญาในผลชื่อว่าธัมมญาณได้ด้วยสามารถแห่งนิโรธสัจจะ.
               จริงอยู่ ปัญญาแม้ทั้งสองนั้น (คือในมรรคในผล) พึงทราบว่า ชื่อว่าธัมมญาณ เพราะความที่ญาณนั้นเป็นไปในธรรม คืออริยสัจ ๔ อันเป็นปัจจัยอื่นอีก ซึ่งยังอรรถให้แจ่มแจ้งโดยกิจและโดยอารมณ์.
               ในคำว่า โส อิมินา ธมฺเมน นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ธรรมโดยโวหารกล่าวว่าเป็นโคจร เพราะความที่มัคคญาณทั้งหลายเป็นธัมมโคจร. อีกอย่างหนึ่ง คำนี้เป็นตติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ซึ่งธรรมนี้ และทรงอธิบายว่า มัคคญาณอันรู้ซึ่งสัจธรรม ๔ แล้วดำรงอยู่.
               คำว่า ทิฏฺเฐน (แปลว่า ทรงเห็นแล้ว) อธิบายว่า ทรงเห็น คือทรงเห็นธรรมแล้วดำรงอยู่.
               คำว่า ปตฺเตน (แปลว่า ทรงบรรลุแล้ว) คือ ทรงบรรลุซึ่งธรรม เพราะความที่พระองค์ทรงบรรลุอริยสัจ ๔ แล้วดำรงอยู่.
               คำว่า วิทิเตน (แปลว่า ทรงรู้แจ้งแล้ว) ได้แก่ สัจจะ ๔ เป็นธรรมอันพระองค์รู้แจ้งแล้ว จึงกระทำให้ปรากฏด้วยมัคคญาณ. เพราะฉะนั้น อริยสัจ ๔ นั้นจึงชื่อว่าเป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้แจ้งแล้ว ด้วยเหตุนั้น จึงชื่อว่ามีธรรมอันทรงรู้แจ้งแล้ว.
               คำว่า ปริโยคาฬฺหา (แปลว่า ทรงหยั่งถึงแล้ว) ได้แก่ ทรงหยั่งลงสู่สัจธรรมทั้ง ๔ แล้วดำรงอยู่.
               คำว่า นยํ เนติ (แปลว่า ส่งนัยไป) ได้แก่ ทรงน้อมไป ทรงนำไป ชื่อว่าทรงส่งนัยไปในอดีตและอนาคต. อนึ่ง ในที่นี้เป็นกิจ (หน้าที่) ของปัจจเวกขณญาณ หาใช่เป็นกิจของมัคคญาณไม่. ก็นัย คือมัคคญาณอันพระศาสดากระทำแล้วให้เป็นเช่นกับการน้อมไปในอดีตและอนาคต. เพราะเหตุไร เพราะความที่เป็นปัจจเวกขณะนั้น มีมรรคเป็นเหตุ. จริงอยู่ ปัจจเวกขณะนั้น ย่อมมีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีมรรคอันเจริญแล้ว. เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงทรงทำนัย คือมัคคญาณนั้นให้เป็นเช่นกับการน้อมไป. อีกนัยหนึ่ง พึงทราบอธิบายในข้อนี้ อย่างนี้ว่า
               มัคคญาณนี้ใดอันมีสัจจะ ๔ เป็นโคจร อันทรงรู้แล้วมีอยู่ เพราะญาณนี้นั้นเป็นเหตุ พระองค์จึงทรงน้อมไปซึ่งนัยกล่าวคือปัจจเวกขณญาณในอดีตและอนาคต.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงน้อมไปซึ่งนัยด้วยญาณนั้นโดยประการใด เพื่อแสดงซึ่งอาการนั้นจึงตรัสคำว่า เย หิ เกจิ อตีตมทฺธานํ เป็นอาทิ.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า อพฺภญฺญึสุ (แปลว่า ได้รู้แล้ว) ได้แก่ สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งแทงตลอดแล้วในความรู้ทั้งหลาย. คำว่า อิมํเยว (แปลว่า นี้เอง) ได้แก่ สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งได้รู้ทุกข์ใดในอดีต จักไม่รู้แจ้งทุกข์นี้นั่นแหละหามิได้.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิบายไว้เช่นนี้ ก็เพราะอรรถเป็นอย่างเดียวกัน.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วแม้ในอดีตว่า เว้นตัณหาสมณพราหมณ์ทั้งหลายรู้แล้วซึ่งขันธ์อันเป็นไปในภูมิ ๓ นั่นแหละ เป็นทุกขสัจจะ รู้แล้วซึ่งสมุทัย คือตัณหานั่นแหละ รู้แล้วซึ่งนิโรธสัจจะ คือพระนิพพานนั่นแหละ รู้แล้วซึ่งมัคคสัจจะ คืออริยมรรคนั่นแหละ แม้ในอนาคตก็จักแทงตลอดอย่างนี้เทียว แม้ในปัจจุบันก็จักแทงตลอดอย่างนี้แหละ. ชื่อว่านัยทั้งหลายอื่นก็ตรัสไว้แล้วด้วยอรรถคล้ายกันทั้งนั้นแล.
               คำว่า อิทํ วุจฺจติ อนฺวเย ญาณํ (แปลว่า นี้เรียกว่าอันวยญาณ) นี้ ย่อมตรัสว่า นี้เป็นญาณเครื่องนำไป นี้เป็นญาณเครื่องน้อมไป นี้ญาณเป็นเหตุ.
               คำว่า ปริจฺเฉทญาณํ ได้แก่ ญาณเป็นเครื่องกำหนดจิต.
               คำว่า ปรสตฺตานํ (แปลว่า ของสัตว์อื่น) ได้แก่ สัตว์ที่เหลือเว้นตนเอง. คำว่า ปรสตฺตานํ นี้เป็นไวพจน์ของคำว่า สัตว์ที่เหลือ.
               คำว่า เจตสา เจโต ปริจฺจ ปชานาติ (แปลว่า กำหนดรู้จิตของสัตว์เหล่าอื่นด้วยจิต) อธิบายว่า กำหนดจิตของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นด้วยจิตของตน แล้วรู้ได้โดยประการต่างๆ ด้วยสามารถแห่งจิตมีจิตมีราคะเป็นต้น. คำใดที่พึงกล่าวในบรรดาคำว่า จิตมีราคะเป็นต้น คำนั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในสติปัฏฐานวิภังค์ในหนหลังแล้วแล.
               ก็นัยพิเศษ ในปริจจญาณนี้ แม้โลกุตตรจิตก็ย่อมได้ในคำว่า อนุตฺตรํ วา จิตฺตํ วิมุตฺตํ วา จิตฺตํ (แปลว่า จิตเป็นอนุตตระ หรือ จิตหลุดพ้น) นี้. จริงอยู่ จิตของผู้อื่น แม้ปัญญายังไม่เข้าไปเห็น ก็ชื่อว่าเป็นวิสัยของญาณนั่นแหละ.
               คำว่า อวเสสาปญฺญา (แปลว่า ปัญญาที่เหลือ) ได้แก่ เว้นปัญญา ๓ อย่างมีธัมมญาณเป็นต้น (คือเว้นธัมมญาณ อันวยญาณและปริจจญาณ) ที่เหลือแม้ทั้งหมด ชื่อว่าญาณ เพราะฉะนั้น ญาณนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่าสัมมติญาณ. อนึ่ง พึงทราบวจนัตถะว่า ชื่อว่าสัมมติญาณ เพราะอรรถว่าความรู้ในสมมติ.
               คำว่า กามาวจรกุสเลปญฺญา (แปลว่า ปัญญาในกามาวจรกุศล) อธิบายว่า ปัญญานี้ย่อมสั่งสมซึ่งจุติและปฏิสนธิในวัฏฏะโดยส่วนเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นปัญญานั้น จึงชื่อว่าอาจยโนอาจยปัญญา เพราะสั่งสมอันหาความสิ้นสุดมิได้. แต่ปัญญาในโลกุตตรมรรค ไม่สั่งสมซึ่งจุติและปฏิสนธิ ฉะนั้น จึงตรัสเรียกว่าอปจยโนอาจยปัญญา. ปัญญาในรูปาวจร ย่อมสั่งสมจุติปฏิสนธิ ย่อมทำลายซึ่งกิเลสทั้งหลาย และธรรมทั้งหลายอันมีกิเลสเป็นมูลด้วย ด้วยสามารถแห่งการข่มไว้. ปัญญาที่เหลือย่อมสั่งสมจุติและปฏิสนธิก็ไม่ใช่ ไม่สั่งสมก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกว่า เนวาจยโนอปจยปัญญา ดังนี้.
               คำว่า น จ อภิญฺญาโย ปฏิวิชฺฌติ (แปลว่า แต่ไม่ได้แทงตลอดอภิญญา) นี้ ตรัสหมายเอาปัญญาในปฐมฌาน. จริงอยู่ ปัญญานั้นย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความเบื่อหน่ายต่อกิเลส เพราะความที่ปฐมฌานนั้นเป็นธรรมอันพระโยคาวจรพึงบรรลุด้วยความสงัดจากกาม ก็บุคคลผู้มีราคะไปปราศแล้วในกามทั้งหลาย ย่อมมีด้วยปัญญาในปฐมฌานนั้น. อนึ่ง บุคคลผู้ปราศจากความยินดี เพราะปฐมฌานนั้น ย่อมไม่ชื่อว่า แทงตลอดซึ่งอภิญญาทั้ง ๕#- เพราะมิได้บรรลุฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญา และชื่อว่าไม่แทงตลอดสัจจะทั้งหลาย เพราะความที่ปฐมฌานนั้นมีนิมิตเป็นอารมณ์ ด้วยอาการอย่างนี้ ปัญญานั้นจึงชื่อว่าย่อมมีเพื่อความเบื่อหน่ายต่อกิเลสอย่างเดียว ย่อมไม่มีเพื่อการแทงตลอดสัจจะทั้งหลาย.
____________________________
#- อภิญญาทั้ง ๕ คือ ๑. อิทธิวิธญาณ ๒. ทิพโสตธาตุญาณ ๓. เจโตปริยญาณ ๔. บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ๕. จุตูปปาตญาณ.

               คำว่า เสฺวว (แปลว่า บุคคลนั้น...นั่นแล) ได้แก่ บุคคลผู้บรรลุปฐมฌานแล้วดำรงอยู่.
               คำว่า กาเมสุ วีตราโค สมาโน (แปลว่า ผู้ปราศจากความยินดีในกามทั้งหลาย) ได้แก่ ผู้มีราคะไปปราศแล้วด้วยอำนาจกามทั้งหลายอันตนข่มไว้แล้วอย่างนั้นนั่นแหละ.
               คำว่า อภิญฺญาโย ปฏิวิชฺฌติ (แปลว่า แทงตลอดอภิญญา) นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาปัญญาในจตุตถฌาน.
               จริงอยู่ ปัญญาในจตุตถฌาน ย่อมแทงตลอดอภิญญา ๕ เพราะเป็นบาทแห่งอภิญญาบ้าง ย่อมแทงตลอดอย่างนั้นแหละเพราะบรรลุความเป็นอภิญญาบ้าง ฉะนั้น ปัญญานั้นย่อมมีเพื่อการแทงตลอด แต่ไม่มีเพื่อความเบื่อหน่าย ก็เพราะความที่ปัญญาในปฐมฌานเท่านั้นเป็นธรรมเพื่อความเบื่อหน่ายแม้ในกิเลสทั้งหลาย.
               ถามว่า ปัญญาในทุติยฌานและตติยฌานนี้ใด ปัญญานี้นั้น ย่อมเสพส่วนไหน (หมายความว่าปัญญาในฌานทั้งสองนี้พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้จะสงเคราะห์ในฌานที่ ๑ หรือที่ ๔)
               ตอบว่า ปัญญาในทุติยฌานและตติยฌาน ย่อมเสพ (คือจัดเข้าในประเภทปฐมฌาน) ด้วยอำนาจแห่งโสมนัสก็ได้ และย่อมเสพจตุตถฌานด้วยอำนาจแห่งความไม่มีวิตกก็ได้ ปัญญาในทุติยฌานและตติยฌานนั้น บัณฑิตพึงทำอธิบายให้เป็นปัญญาเพราะอาศัยปฐมฌาน หรือว่า อาศัยจตุตถฌานด้วยอาการอย่างนี้.
               คำว่า นิพฺพิทาย เจว ปฏิเวธาย จ (แปลว่า เพราะความเบื่อหน่ายและเพราะการแทงตลอด) ได้แก่ มัคคปัญญา ย่อมเกิดความเบื่อหน่าย เพราะความเบื่อหน่ายในวัฏฏะแม้ทั้งหมด และด้วยการแทงตลอด เพราะการแทงตลอดซึ่งอภิญญา ๖.

               อธิบาย หานคามินีปัญญา เป็นต้น               
               ในคำว่า ปฐมสฺส ฌานสฺส ลาภึ (แปลว่า พระโยคาวจรผู้ได้ปฐมฌาน) เป็นต้น อธิบายว่า บุคคลนี้ใดได้ปฐมฌานซึ่งมีคุณอันน้อยมีอยู่ สัญญามนสิการเป็นธรรมสหรคตด้วยสามารถแห่งอารมณ์ ย่อมปรากฏ ย่อมท้วง ย่อมรบกวนพระโยคาวจรให้เสื่อมจากฌานนั้น เพราะฉะนั้น ปัญญาในปฐมฌานนั้นจึงเสื่อม เสื่อมรอบด้วยสามารถแห่งสัญญามนสิการอันเข้าไปเพ่งกามของบุคคลนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเรียกปัญญานั้นว่า หานภาคินี ดังนี้.
               คำว่า ตทนุธมฺมตา (แปลว่า สมควรแก่ธรรมนั้น) ได้แก่ เป็นสภาพสมควรแก่ปัญญานั้น.
               คำว่า สติ สนฺติฏฺฐติ (แปลว่า สติ...ย่อมตั้งมั่น) นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอามิจฉาสติ มิได้หมายเอาสัมมาสติ.
               จริงอยู่ สภาพอนุรูปแห่งปฐมฌานอันไม่น่ายินดี ก็ยินดีอยู่ เพราะเห็นปฐมฌานโดยเป็นธรรมประณีตแล้ว ความใคร่ (ตัณหา) ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลใด ปัญญาในปฐมฌานนั้นของบุคคลนั้น ย่อมไม่เสื่อม และก็ย่อมไม่เจริญด้วยอำนาจแห่งความใคร่ (นิกันติ) ย่อมเป็นปัญญาอันมีส่วนแห่งการดำรงอยู่ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกปัญญานั้นว่า ฐิติภาคินี ดังนี้.
               คำว่า อวิตกฺกสหคตา (แปลว่า สหรคตด้วยฌานอันไม่มีวิตก) ได้แก่ ชื่อว่าสหรคตด้วยฌานอันไม่มีวิตก เพราะมนสิการทุติยฌานอันไม่มีวิตก ด้วยสามารถแห่งอารมณ์อันสงบประณีต. คำว่า สมุทาจรนฺติ ได้แก่ ย่อมรบกวน ย่อมเตือนซึ่งพระโยคาวจรผู้ออกจากปฐมฌานอันคล่องแคล่วนั้น เพื่อต้องการบรรลุทุติยฌาน. อธิบายว่า ปัญญาในปฐมฌานนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า วิเสสภาคินี เพราะความเป็นฐานะ คือการเกิดขึ้นแห่งทุติยฌานอันเป็นของวิเศษ ด้วยสามารถแห่งสัญญามนสิการทั้งหลาย อันเข้าไปเพ่งซึ่งทุติยฌานอันมีในเบื้องบนแห่งปฐมฌานนั้น.
               คำว่า นิพฺพิทาสหคตา (แปลว่า สหรคตด้วยนิพพิทาญาณ) ได้แก่ บุคคลผู้ได้ปฐมฌานนั้นออกจากฌานแล้ว สหรคตด้วยวิปัสสนาญาณ กล่าวว่านิพพิทา
               จริงอยู่ ครั้นเมื่อการแตกไปแห่งองค์ของฌานกำลังเป็นไป วิปัสสนาญาณ ย่อมเบื่อหน่าย ย่อมเดือดร้อน เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกว่า นิพพิทาญาณ ดังนี้.
               คำว่า สมุทาจรนฺติ ได้แก่ ย่อมเดือดร้อน ย่อมรบกวน เพื่อต้องการกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน.
               คำว่า วิราคูปสญฺหิตา (แปลว่า ประกอบด้วยวิราคะ) ได้แก่ ประกอบด้วยพระนิพพาน กล่าวคือวิราคะ.
               จริงอยู่ วิปัสสนาญาณอันมรรคนี้สามารถทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานคือวิราคะ เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกว่า ประกอบด้วยวิราคะ เพราะความเป็นไป. แม้สัญญามนสิการอันสัมปยุตด้วยวิราคะนั้น ก็ชื่อว่าประกอบด้วยวิราคะนั่นแหละ ว่าด้วยอำนาจแห่งสัญญามนสิการทั้งหลายของวิปัสสนานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า นิพเพธภาคินี เพราะความเป็นปทัฏฐาน (คือเป็นเหตุเกิดขึ้น) แห่งการแทงตลอดในฐานะทั้ง ๔ ด้วยประการฉะนี้. แม้ปัญญาในทุติยฌานเป็นต้น บัณฑิตพึงทราบเนื้อความโดยนัยนี้แหละ.

               อธิบายปฏิปทาปัญญา ๔               
               คำว่า กิจฺเฉน กสิเรน สมาธึ อุปฺปาเทนฺตสฺส (แปลว่า ผู้ยังสมาธิให้เกิดขึ้นโดยยากลำบาก) ได้แก่ ผู้ยังโลกุตตรสมาธิให้เกิดขึ้นลำบาก อยู่ด้วยสัมปโยคะอันเป็นไปกับสังขาร ยากลำบาก เป็นทุกข์ คือว่า ข่มกิเลสทั้งหลายแล้วมาถึงได้โดยยากลำบากเป็นทุกข์ในกาลที่เข้าถึงบุพภาค.
               คำว่า ทนฺธํ ตณฺฐานํ อภิชานนฺตสฺส (แปลว่า รู้ฐานะนั้นก็ช้า) อธิบายว่า ในการอาศัยวิปัสสนาในกิเลสทั้งหลายที่ตนข่มไว้แล้วสิ้นกาลนาน จึงรู้ จึงบรรลุ จึงถึงฐานะ กล่าวคือโลกุตตรสมาธินั้นช้า ค่อยๆ เป็นไป.
               คำว่า อยํ วุจฺจติ (แปลว่า นี้เรียกว่า) ได้แก่ ปัญญานี้ใดย่อมเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้ คือปัญญานี้แม้เกิดขึ้นแล้วในขณะแห่งจิตดวงหนึ่งในกาลแห่งมรรค เพราะความที่ปฏิปทาซึ่งข่มกิเลสได้โดยยาก และเพราะความที่ปัญญาที่อาศัยอยู่ในวิปัสสนาดำเนินไปช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า ทุกขาปฏิทาทันธาภิญญา (ปฏิบัติลำบากตรัสรู้ได้ช้า) ด้วยสามารถแห่งการบรรลุ ดังนี้.
               แม้ในบททั้ง ๓ ข้างหน้าบัณฑิตพึงทราบเนื้อความโดยนัยนี้แหละ.

               อธิบายอารัมมณปัญญา ๔               
               คำว่า สมาธิสฺส น นิกามลาภิสฺส (แปลว่า พระโยคาวจรผู้ได้สมาธิยังไม่ชำนาญคล่องแคล่ว) ได้แก่ พระโยคาวจรใดไม่ได้สมาธิตามความต้องการพระโยคาวจรนั้น ชื่อว่าได้สมาธินั้นยังไม่ชำนาญคล่องแคล่ว. อธิบายว่า สมาธิของบุคคลใด ไม่เป็นปัจจัยเพื่อความพยายาม คือเพื่อประโยชน์ในการเข้าสมาธิในเบื้องบนๆ สมาธิของบุคคลนั้นมีปกติในฌานอันมีคุณน้อย.
               คำว่า อารมฺมณํ โถกํ ผรนฺตสฺส (แปลว่า แผ่อารมณ์ไปเล็กน้อย) อธิบายว่า อารมณ์นั้น ชื่อว่าไม่เจริญแล้ว เพราะทำบริกรรมในปริตตารมณ์มีประมาณเท่ากระด้งหรือถ้วยเป็นประมาณ (หมายถึงนิมิต) แล้วบรรลุอัปปนาในอารมณ์นั้นนั่นแหละ จึงชื่อว่าแผ่อารมณ์ไปเล็กน้อย ดังนี้.
               ในบทที่เหลือทั้งหลายก็นัยนี้.
               จริงอยู่ พระโยคาวจรผู้ได้ฌานอันคล่องแคล่ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ชื่อว่าผู้ได้สมาธิอันชำนาญคล่องแคล่ว ดังนี้ เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อบุคคลผู้ได้สมาธิอันยังไม่ชำนาญคล่องแคล่ว. ก็คำว่า แผ่อารมณ์ไปหาประมาณมิได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยเป็นปฏิปักษ์ต่อการแผ่อารมณ์ไปเล็กน้อย.
               คำที่เหลือเช่นกับที่กล่าวมาแล้วนั่นแหละ.

               อธิบาย มัคคสมังคิญาณ เป็นต้น               
               คำว่า ชรามรเณเปตํ ญาณํ (แปลว่า ญาณแม้ในชราและมรณะ) นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งการแทงตลอดเป็นอันเดียวกันแห่งสัจจะทั้ง ๔ เพราะกระทำพระนิพพานนั่นแหละให้เป็นอารมณ์.
               ก็คำว่า ชรามรณํ อารพฺภ (แปลว่า ปรารภชราและมรณะ) เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งการกำหนดสัจจะในบุพภาคในเวลาที่ปรารภวัตถุ (วัตถุสัจจะ) หนึ่งๆ เป็นไป.
               คำที่เหลือในบททั้งปวงมีอรรถตื้นทั้งนั้นแล.
               ญาณวัตถุหมวด ๔ จบ.               

               อรรถกถาปัญจกนิทเทส               
               อธิบายญาณวัตถุหมวด ๕               
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ปัญญาที่แผ่ปีติไป เป็นต้น. ปัญญาใดเกิดขึ้นแผ่ไปซึ่งปีติ เพราะเหตุนั้น ปัญญาในฌานทั้งสองนั้น จึงชื่อว่าแผ่ปีติไป. ปัญญาใดเกิดขึ้นแผ่ไปซึ่งความสุข เพราะเหตุนั้น ปัญญาในฌานทั้ง ๓ นั้น จึงชื่อว่าแผ่ความสุขไป. ปัญญาใดเกิดขึ้นแผ่จิตไปสู่บุคคลอื่น เพราะเหตุนั้น ปัญญากำหนดจิตบุคคลอื่นนั้น จึงชื่อว่าแผ่จิตไป. ปัญญาใดเกิดขึ้นแผ่อาโลกะ คือแสงสว่างไป เพราะเหตุนั้น ปัญญาอันเป็นทิพยจักษุนั้น จึงชื่อว่าแผ่แสงสว่างไป. ปัจจเวกขณญาณ ชื่อว่าปัจจเวกขณนิมิต. คำว่า ปญฺญา ปีติผรณตา เป็นต้น ในฌาน ๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ โดยคำเช่นกับที่กล่าวแล้วนั่นแหละ.
               ก็ในคำเหล่านั้น การแผ่ปีติไป การแผ่สุขไป เป็นดุจเท้าทั้งสอง การแผ่จิตไป การแผ่อาโลกะ คือแสงสว่างไปเป็นราวกะมือทั้งสอง ฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญาเป็นราวกะกายในท่ามกลาง ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงสัมมาสมาธิมีองค์ ๕ ราวกะบุรุษผู้ถึงพร้อมแล้ว ด้วยส่วนประกอบแห่งร่างกาย (คืออวัยวะน้อยใหญ่) ด้วยประการฉะนี้. คำว่า อยํ ปญฺจงฺคิโก สมฺมาทิฏฐิ (แปลว่า นี้เรียกว่าสัมมาสมาธิมีองค์ ๕) อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสมาธิแห่งฌานอันเป็นบาทว่า พระโยคาวจรนี้ประกอบแล้วด้วยองค์ ๕ เช่นกับด้วยมือ เท้าและศีรษะ ว่าเป็นสัมมาสมาธิ ดังนี้.

               อธิบายสัมมาสมาธิมีฌาน ๕               
               สมาธิในอรหัตตผล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาในคำว่า อยํ สมาธิ ปจฺจุปฺปนฺนสุโข เจว เป็นต้น (แปลว่า สมาธินี้มีสุขในปัจจุบันด้วย) ก็สมาธินั้น ชื่อว่ามีสุขในปัจจุบัน เพราะความเป็นสุขในขณะแห่งสมาธินั้นแน่วแน่แล้วๆ สมาธิที่เกิดก่อนๆ เป็นปัจจัยแก่สมาธิที่เกิดหลังๆ จึงชื่อว่ามีสุขเป็นวิบากต่อไป เพราะความที่สุขนั้นเป็นปัจจัย. สมาธินั้นย่อมยังผลจิตอันสงบ อันสุขุม อันประณีต อันเป็นมธุรรูป (รูปที่ดี) ให้ตั้งขึ้น.
               จริงอยู่ เมื่อบุคคลออกจากผลสมาบัติแล้ว กายวิญญาณที่สหรคตด้วยความสุขอาศัยโผฏฐัพพะมีสัมผัสเป็นสุขอันเข้าถึงกายทั้งปวง ย่อมเกิดขึ้น ชื่อว่ามีสุขเป็นวิบากต่อไปโดยปริยายแม้นี้. สมาธินี้ ชื่อว่าอริยะ (ไกล) เพราะไกลจากกิเลสทั้งหลาย. ชื่อว่าหาอามิสมิได้ เพราะความไม่มีนิมิต คือกาม วัฏฏะและโลก. ชื่อว่าบุรุษผู้มีปัญญาทรามเสพไม่ได้ เพราะความที่มหาบุรุษทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นเสพแล้ว. ชื่อว่าสงบแล้ว เพราะสงบจากองค์ (คือส่วนประกอบหรือเหตุ) เพราะสงบจากอารมณ์ และเพราะสงบแล้วจากความกระวนกระวายจากกิเลสทั้งปวง ชื่อว่าประณีต เพราะอรรถว่าไม่เดือดร้อน. ชื่อว่าได้ความสงบระงับ เพราะได้ความสงบระงับกิเลส หรือว่า เพราะความที่ภาวะคือความสงบระงับจากกิเลสอันตนได้แล้ว.
               จริงอยู่ คำว่า ความสงบระงับ ชื่อว่า ปฏิปัสสัทธิ นี้ ย่อมชื่อว่าเป็นธรรมเอกโดยอรรถ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าได้ความสงบระงับ แม้เพราะความเป็นพระอรหันต์อันตนได้แล้ว และเพราะกิเลสสงบระงับไปแล้ว. ชื่อว่าบรรลุแล้วโดยความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะความที่ตนบรรลุแล้วโดยความเป็นธรรมแน่วแน่ หรือเพราะความที่บรรลุแล้วซึ่งความเป็นสมาธิ. ชื่อว่า ไม่ได้บรรลุโดยการข่มนิวรณ์ ห้ามกิเลสที่เป็นสสังขาริก เพราะความที่สมาธินั้นไม่ได้ข่มปัจจนิกธรรม (ธรรมอันเป็นข้าศึก) แล้วห้ามกิเลสทั้งหลายด้วยจิตอันประกอบพร้อมเป็นไปกับสังขารแล้วจึงบรรลุ เหมือนสมาธิอันเป็นไปกับด้วยอาสวะซึ่งมีคุณอันน้อย. ก็เมื่อพระโยคาวจรเข้าสมาธินั้น (สัมมาสมาธิ) หรือว่า ออกจากสมาธินั้น ย่อมเป็นผู้มีสติเข้าสมาธิ และมีสติออกจากสมาธิ.
               อีกอย่างหนึ่ง มีสติอยู่ย่อมเข้าสมาธิ และมีสติอยู่ย่อมออกจากสมาธิด้วยสามารถแห่งกาลตามที่กำหนดไว้ได้ เพราะฉะนั้น ในข้อนี้ ญาณใดอันไม่มีสิ่งอื่นเป็นของเฉพาะตนเท่านั้น ย่อมเกิดแก่ผู้พิจารณาอยู่อย่างนี้ว่า สมาธินี้ มีความสุขในปัจจุบันด้วย มีสุขเป็นวิบากต่อไปด้วย ดังนี้ นี้เป็นองค์หนึ่ง (ในบรรดาองค์ ๕) แม้ในองค์ที่เหลือก็นัยนี้. สมาธินี้ ชื่อว่าสัมมาสมาธิ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วด้วยปัจจเวกขณญาณ ๕ เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ญาณวัตถุหมวด ๕ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ญาณวิภังค์ เอกกนิเทศ-ปัญจกนิเทศ จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 795อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 801อ่านอรรถกถา 35 / 835อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=10829&Z=11352
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=10166
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=10166
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :