ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 860อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 908อ่านอรรถกถา 35 / 926อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
ขุททกวัตถุวิภังค์ ทุกนิเทศ

               อรรถกถาทุกนิทเทส               
               อธิบายมาติกาหมวดสอง               
               ในทุกมาติกาทั้งหลาย บัณฑิตพึงทราบนิทเทสแห่งความโกรธเป็นต้น โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแหละ. ก็ในนิทเทสแห่งความผูกโกรธเป็นต้นอันเป็นอนาคต คือ บุคคลใดย่อมผูกโกรธไว้ในกาลก่อน ภายหลังความโกรธเกิดขึ้นอีก ดังนี้ ก็ชื่อว่าอุปนาหะ ความผูกโกรธ. อาการแห่งความผูกโกรธ ชื่อว่ากิริยาที่ผูกโกรธ. ความเป็นแห่งบุคคลผู้ผูกโกรธ ชื่อว่าสภาพที่ผูกโกรธ.
               คำว่า อฏฺฐปนา (ความตั้งไว้) ได้แก่ การตั้งความโกรธไว้ติดต่อกันของความโกรธอันเกิดขึ้นครั้งแรก.
               อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ โดยการกำหนดเขตแดนของความโกรธอันเกิดขึ้นครั้งแรก. การตั้งความโกรธไว้ตามปกติ เรียกว่า การทรงไว้ซึ่งความโกรธ. การตั้งความโกรธบ่อยๆ โดยส่วนทั้งปวง ชื่อว่าความดำรงความโกรธไว้. การไม่แสดงความแตกต่างกันแห่งความโกรธหลังกับความโกรธอันเกิดขึ้นก่อนแล้วทำไว้โดยความเป็นอันเดียวกัน ชื่อว่าความสั่งสมความโกรธไว้. ความสืบต่อความโกรธครั้งหลังกับด้วยความโกรธครั้งแรก ชื่อว่าความผูกพันความโกรธไว้.
               คำว่า ความยึดมั่นความโกรธ ได้แก่ การทำความโกรธให้มั่นคง.
               คำว่า อยํ วุจฺจติ ความว่า ลักษณะนี้ มีความเข้าไปผูกไว้เป็นลักษณะ มีความไม่สละคืนซึ่งเวรเป็นรส พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกลักษณะนี้ว่า อุปนาหะ ความผูกโกรธ ดังนี้.
               อธิบายว่า บุคคลผู้ประกอบความโกรธด้วยลักษณะใด ย่อมไม่อาจเพื่อสละเวร ชื่อเห็นปานนี้ บุคคลนี้ย่อมติดตามซึ่งความโกรธอื่นๆ อีก ด้วยลักษณะว่า บุคคลนี้ไม่สมควรพูดกะเราอย่างนี้ ดังนี้ ความโกรธของเขา ย่อมลุกโพลงทีเดียว ราวกะฟืนไม้สนอันไฟติดทั่วแล้ว ความโกรธนั้นย่อมไม่สะอาด เป็นราวกะหนังหมีอันบุคคลทำความสะอาดอยู่ และเป็นราวกะผ้าเก่าอันเปื้อนด้วยไขมันหรือน้ำมัน.
               ชื่อว่า มักขะ ความลบหลู่คุณท่าน ด้วยสามารถแห่งความเป็นของเปรอะเปื้อน คือว่าบุคคลแม้ประพฤติด้วยสามารถแห่งความเป็นผู้ลบหลู่คุณของผู้อื่นนั้น ย่อมเปรอะเปื้อนโทษนั้นก่อน เหมือนคูถอันเป็นของตนเองย่อมเปรอะเปื้อนตนก่อนกว่า. สองบทจากนั้น เป็นคำอธิบายสภาพแห่งกิริยาอาการ.
               ความเป็นแห่งบุคคลผู้แข็งกระด้างหยาบช้า ชื่อว่าสภาพที่ลบหลู่.
               อธิบายว่า คุณแม้มีประมาณน้อย ย่อมไม่มีเพราะอาศัยความลบหลู่ดูหมิ่น เพราะฉะนั้น สภาพนั้น จึงชื่อว่าเป็นการพูดเปลืองน้ำลาย. การกระทำแห่งบุคคลผู้ลบหลู่คุณของผู้อื่น ชื่อว่ากระทำความลบหลู่.
               จริงอยู่ เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นภิกษุก็ตาม เมื่ออาศัยภิกษุอยู่ โกรธแล้ว ด้วยเหตุมีประมาณเล็กน้อยเท่านั้น ย่อมดูหมิ่น และคุณคือความที่บุคคลนั้นอาศัยผู้อื่นอยู่ ย่อมไม่มีแก่เขา เพราะเหตุแห่งความโกรธนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าพูดไปให้เปลืองน้ำลาย (การพูดให้น้ำลายตกไปเปล่าๆ) จึงชื่อว่าเป็นการกระทำซึ่งความเป็นผู้ลบหลู่ดูหมิ่น และเป็นราวกะว่าเหยียบย่ำความดีของผู้อื่นไว้ด้วยเท้า. การกระทำอันนั้นของผู้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสเรียกว่า มักขะ ความลบหลู่คุณท่าน. ก็เมื่อว่าโดยลักษณะ มักขะนี้มีการลบหลู่คุณของผู้อื่นเป็นลักษณะ มีการยังคุณของผู้อื่นให้พินาศไปเป็นรส มีการตัดทำลายกิริยาอาการอันบุคคลอื่นทำดีแล้วเป็นปัจจุปัฏฐาน (เป็นเหตุใกล้ให้เกิดขึ้น).
               บุคคลใดย่อมตีเสมอเขา เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่าปลาสะ ผู้ตีเสมอเขา. อธิบายว่า แสดงคุณของผู้อื่น ย่อมทำคุณทั้งหลายคล้ายกับเป็นคุณของตนๆ. วิถีทางของบุคคลผู้ตีเสมอกับผู้อื่น ชื่อว่าปลาสายนา. ปลาสะ ความตีเสมอนั้นด้วย เป็นอาหารเพราะการนำมาซึ่งความชนะของตนด้วย ชื่อว่าปลาสาหาร.
               คำว่า วิวาทฏฺฐานํ ได้แก่ เหตุแห่งความวิวาทกัน.
               การถือเอาธุระ (หน้าที่การงาน) เสมอกัน ชื่อว่าการแข่งดี. การไม่สละธุระอันตนถือเอาแล้ว ชื่อว่าการไม่ลดละ. ก็เมื่อว่าโดยลักษณะเป็นต้น ปลาสะนั้น มีการแข่งดีเป็นลักษณะ มีการกระทำคุณทั้งหลายของตนให้เสมอกันกับคุณของบุคคลอื่นเป็นรส มีการเอาใจใส่โดยกำหนดยึดถือคุณของผู้อื่นเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               จริงอยู่ บุคคลผู้ตีเสมอย่อมไม่ให้ธุระ (การงาน) แก่บุคคลที่สอง ย่อมยังคุณของตนให้แผ่ออกไปเสมอๆ คือว่า ครั้นเมื่อพระสูตรทั้งหลายหรือการณะทั้งหลายจำนวนมาก อันภิกษุอื่นแม้นำมาแล้วในโรงสนทนาธรรม ย่อมจะกล่าวขยายความออกไปซึ่งคุณของตนให้เสมอๆ กับผู้อื่นว่า ในวาทะของท่าน และวาทะของเรา เหตุอันแตกต่างกัน ชื่อว่ามีอยู่หรือ ถ้อยคำของพวกเราก็เป็นเช่นเดียวกับท่านนั่นแหละ เปรียบเหมือนแท่งทองคำอันบุคคลผ่าออกแล้วก็เป็นทองคำนั่นแหละ มิใช่หรือดังนี้.
               นิทเทสแห่งอิสสา ความริษยา และมัจฉริยะ ความตระหนี่ มีเนื้อความอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วทั้งนั้นแล.

               มายานิทเทส               
               อธิบายมายา ความเจ้าเล่ห์               
               คำว่า วาจํ ภาสติ ได้แก่ ภิกษุผู้ก้าวล่วงพระบัญญัติอันรู้อยู่นั่นแหละ ทำให้เป็นภาระหนัก ย่อมพูดราวกะว่าตนเป็นผู้เข้าไปสงบ ด้วยประสงค์จะให้ผู้อื่นรู้ว่า ชื่อว่าฐานะคือการล่วงพระบัญญัติ ย่อมไม่มีแก่ตัวเอง ดังนี้.
               คำว่า กาเยน ปรกฺกมติ ได้แก่ ภิกษุนั้นย่อมทำวัตรปฏิบัติด้วยกาย โดยคิดว่า ใครๆ อย่าได้รู้ซึ่งบาปกรรมนี้ อันเราทำแล้ว ดังนี้.
               ลักษณะนี้ ชื่อว่ามายา ความเจ้าเล่ห์ เป็นราวกะว่าการเล่นกล (จักขุโมหนมายา) เพราะการปกปิดไว้ซึ่งโทษอันตนรู้อยู่. ความเป็นแห่งบุคคลผู้มีมายา ชื่อว่า มายาวิตา. สัตว์ทั้งหลายทำบาปแล้ว ก็ยังล่วงละเมิดคือทำบาปอีก เพราะความเป็นผู้ปกปิดไว้ ด้วยสภาวะใด สภาวะนั้นชื่อว่าความเจ้าเล่ห์. ชื่อว่าลวง เพราะย่อมลวงโดยให้เห็นเป็นไปโดยประการอื่น ด้วยการกระทำทางกายและวาจาฯ สัตว์ทั้งหลายย่อมทำซึ่งความฉ้อโกง ด้วยสภาวะใด สภาวะนั้นชื่อว่าความฉ้อโกงฯ. อธิบายว่า ย่อมทำให้เปล่าประโยชน์. ชื่อว่าความกลบเกลื่อน เพราะยังบาปทั้งหลายให้เกิดสับสนกันไป ด้วยกล่าวคำว่า เราย่อมไม่ทำอย่างนี้ ดังนี้. ชื่อว่าความหลีกเลี่ยง เพราะการเว้นด้วยคำพูดว่า เราย่อมไม่ทำอย่างนี้.
               ชื่อว่าความซ่อน เพราะความไม่สำรวมด้วยกายเป็นต้น. การซ่อนโดยส่วนทั้งปวง ชื่อว่าการซ่อนบัง. ชื่อว่าการปกปิด เพราะย่อมปกปิดบาปด้วยกายกรรม วจีกรรม ราวกะคูถอันบุคคลปกปิดไว้ด้วยหญ้าและใบไม้ทั้งหลาย. การปกปิดโดยส่วนทั้งปวง ชื่อว่าความปิดบัง. ชื่อว่าความไม่เปิดเผย เพราะย่อมไม่ทำให้แจ้ง. ชื่อว่าความปิดบังมิดชิด เพราะไม่แสดงให้ปรากฏ. การปกปิดด้วยดี ชื่อว่าความปกปิดมิดชิด. ชื่อว่าการกระทำที่ชั่ว เพราะทำบาปแม้อีกด้วยสามารถแห่งการซ่อนเร้นอันตนทำแล้ว.
               คำว่า อยํ วุจฺจติ ความว่า ลักษณะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า มายา อันมีการซ่อนปิดไว้อันตนทำแล้วเป็นลักษณะ. บุคคลประกอบด้วยลักษณะนี้ใด ย่อมเป็นราวกะถ่านเพลิงอันปิดไว้ด้วยขี้เถ้า ย่อมเป็นราวกะตอไม้อันน้ำปกปิดไว้ ย่อมเป็นราวกะว่าศัสตราอันบุคคลพันไว้ด้วยเศษผ้า.

               สาเถยยนิทเทส               
               อธิบายสาเถยยะ ความโอ้อวด               
               การไม่กล่าวโดยชอบ เพราะแสดงคุณอันตนไม่มีอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้โอ้อวด. ความโอ้อวดโดยส่วนทั้งปวง ชื่อว่าเป็นผู้โอ้อวดมาก.
               คำว่า ยํ ตตฺถ ได้แก่ ความโอ้อวดอันใดในบุคคลนั้น. ความคดโกง คือการแสดงคุณอันไม่มีอยู่ ชื่อว่าการโอ้อวด. อาการแห่งความโอ้อวด ชื่อว่าความเป็นแห่งบุคคลผู้โอ้อวด.
               คำว่า กกฺขรตา ได้แก่ ความเป็นแห่งความกระด้างมีความไม่อดทนต่อสิ่งอันไม่เป็นภัยราวกะความหยาบกระด้างของก้านปทุม. แม้คำว่า สภาพที่กระด้าง ก็เป็นไวพจน์ของความโอ้อวดนั้นนั่นแหละ. ความคดโกงอันมั่นคง ราวกะเสาเขื่อน อันบุคคลขุดหลุมฝังตั้งไว้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยบททั้งสอง คือการพูดเป็นเหลี่ยมเป็นคู สภาพที่พูดเป็นเหลี่ยมเป็นคู.
               คำว่า อิทํ วุจฺจติ ความว่า ความโอ้อวดมีการประกาศคุณอันไม่มีอยู่ของตนเป็นลักษณะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า สาเถยยะ ความโอ้อวด. ความโอ้อวดนั้นอันใครๆ ไม่อาจเพื่อรู้ซึ่งการกล่าวลวงของผู้ประกอบด้วยอาการใด อาการนั้นย่อมเป็นเช่นกับสุกรยักษ์ ที่กล่าวไว้ดังนี้ว่า
                                   ยักษ์นั้น ย่อมแปลงเพศเป็นสุกรอยู่
                         ข้างซ้าย เป็นแพะอยู่ข้างขวา เป็นโคแก่มี
                         เขายาว เป็นละมั่งส่งเสียงร้อง ดังนี้.

               นิทเทสแห่งอวิชชาเป็นต้น มีเนื้อความดังที่กล่าวไว้แล้วนั่นแหละ.

               อนาชชวนิทเทส               
               อธิบายอนาชชวะ ความไม่ซื่อตรง               
               อาการแห่งความเป็นผู้คดโกง ชื่อว่าอนาชชวะ คือความไม่ซื่อตรง. ความเป็นแห่งบุคคลผู้ไม่ซื่อตรง ชื่อว่าสภาพไม่ซื่อตรง. ความคดโค้งแห่งดวงจันทร์ ชื่อว่า ชิมฺหตา คือความไม่ตรง.
               คำว่า วงฺกตา ได้แก่ ความคดดังโคมูตร (เยี่ยวโค).
               คำว่า กุฏิลตา (แปลว่า ความโค้ง) ได้แก่ ความโค้งดังปลายงอนของไถ.
               ความคดแห่งกายวาจาและจิตนั่นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยบทแม้ทั้งปวงเหล่านี้.

               อมัททวนิทเทส               
               อธิบายอมัททวะ ความไม่อ่อนโยน               
               ความเป็นแห่งบุคคลผู้ไม่อ่อนโยน ชื่อว่าอมุทุตา. อาการแห่งความไม่อ่อนโยน ชื่อว่าอมัททวตา. ความเป็นแห่งบุคคลผู้กระด้าง ชื่อว่ากักขฬิยะ. ความเป็นแห่งบุคคลผู้หยาบคาย ชื่อว่าผารุสิยะ. ความเป็นแห่งจิตอันแข็งกระด้าง เพราะความไม่ประพฤติอ่อนน้อม ชื่อว่า อุชุจิตฺตตา.
               ศัพท์ว่า อมุทุตา ท่านแสดงเนื้อความแห่งผู้ไม่อ่อนน้อมนั้นให้วิเศษขึ้นอีก.
               คำว่า อุชุจิตฺตตา ความเป็นผู้มีจิตถือรั้น ไม่ใช่ความเป็นจิตซื่อตรง.
               นิทเทสแห่งอขันติ ความไม่อดทนเป็นต้น บัณฑิตพึงทราบเนื้อความตรงกันข้ามกับนิทเทสแห่งขันติความอดทนเป็นต้น.

               สัญโญชนนิทเทส               
               อธิบายสัญโญชน์ กิเลสเครื่องผูกไว้               
               กามภพ ชื่อว่า (สัญโญชน์) ภายใน. รูปภพและอรูปภพ ชื่อว่า (สัญโญชน์) ภายนอก.
               จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมอาศัยอยู่ในกามภพสิ้นกาลเล็กน้อย คืออาศัยอยู่สิ้นกาลอันเป็นส่วนที่ ๔ (๑/๔) แห่งกัปเท่านั้น ในส่วนแห่งกัปทั้งสามที่เหลือนอกนี้ กามภพย่อมว่างเปล่า.
               สัตว์ทั้งหลายย่อมอาศัยอยู่ในรูปภพและอรูปภพตลอดกาลเป็นอันมาก แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น เพราะจุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นมีมากในกามภพ ส่วนในรูปภพและอรูปภพมีน้อย ก็จุติและปฏิสนธิในที่ใดมีมาก ความอาลัยก็ดี ความปรารถนาก็ดี ความอยากก็ดีย่อมมีมาก ในที่นั้นจุติและปฏิสนธิในที่ใดมีน้อย ในภพนั้นก็มีกิเลสเครื่องผูกน้อย เพราะฉะนั้น กามภพจึงชื่อว่าเป็นอัชฌัตตะ ภายใน ส่วนรูปภพและอรูปภพ ชื่อว่าเป็นพหิทธา ภายนอก. เครื่องผูกในกามภพกล่าวคือภายใน ชื่อว่าสัญโญชน์ภายใน เครื่องผูกในรูปภพและอรูปภพกล่าวคือภายนอก ชื่อว่าสัญโญชน์ภายนอก.
               บรรดาสัญโญชน์เหล่านั้นทั้งภายในและภายนอก มีอย่างละ ๕ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สัญโญชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำมี ๕ สัญโญชน์อันเป็นส่วนเบื้องบนมี ๕ ดังนี้.
               ในข้อนั้น พึงทราบวจนัตถะ ดังนี้.
               กามธาตุ พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ชื่อว่า โอรํ (แปลว่า เบื้องต่ำ) สัญโญชน์ใดย่อมเสพซึ่งธรรมเบื้องต่ำนั้น โดยอาศัยความเกิดขึ้นและความสำเร็จในกามธาตุนั้น เพราะเหตุนั้น สัญโญชน์นั้นจึงชื่อว่าโอรัมภาคิยะ อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ. รูปธาตุและอรูปธาตุ พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ชื่อว่า อุทฺธํ (แปลว่า เบื้องบน) สัญโญชน์ใดย่อมเสพซึ่งธรรมเบื้องบนนั้น โดยความเกิดขึ้นและความสำเร็จในรูปธาตุและอรูปธาตุนั้น เพราะเหตุนั้น สัญโญชน์นั้นจึงชื่อว่าอุทธัมภาคิยะ อันเป็นไปในส่วนเบื้องบน.

               ทุกนิทเทส จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ขุททกวัตถุวิภังค์ ทุกนิเทศ จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 860อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 908อ่านอรรถกถา 35 / 926อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=12174&Z=12334
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=12520
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=12520
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :