ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 84อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 97อ่านอรรถกถา 35 / 99อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
อายตนวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์

               ๒. อายตนวิภังคนิเทศ (บาลีข้อ ๙๗)               
               วรรณนาสุตตันตภาชนีย์               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงสุตตันตภาชนีย์ในอายตนนิเทศอันเป็นลำดับต่อจากขันธวิภังคนิเทศนั้นก่อน จึงตรัสพระบาลีว่า ทฺวาทสายตนานิ จกฺขฺวายตนํ รูปายตนํ (อายตนะ ๑๒ คือจักขานะ รูปายตนะ) เป็นต้น ในอายตนะเหล่านั้น พึงทราบโดยนัยบาลีมุตตกะก่อน.
                         อตฺถลกฺขณตาวตฺถ    กมสํเขปวิตฺถารา
                         ตถา ทฏฺฐพฺพโต เจว  วิญฺญาตพฺโพ วินิจฺฉโย
                                        บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยโดยอรรถ ๑
                         โดยลักษณะ ๑ โดยความมีเพียงเท่านั้น ๑
                         โดยลำดับ ๑ โดยย่อ ๑ โดยพิสดาร ๑
                         โดยเป็นธรรมอันบัณฑิตพึงเห็น ๑.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยอรรถ               
               ในคำวินิจฉัยเหล่านั้น พึงทราบอรรถโดยแปลกกันก่อน.
               ๑. จกฺขตีติ จกฺขตีติ จกฺขุ๑- ชื่อว่าจักขุ เพราะอรรถว่าย่อมเห็น. อธิบายว่า ย่อมชอบ คือทำรูปให้แจ่มแจ้ง.
               ๒. รูปยตีติ รูปํ ชื่อว่ารูป เพราะอรรถว่าย่อมให้ปรากฏ. อธิบายว่า รูปเมื่อถึงวิการแห่งวรรณะ ย่อมแสดงภาวะของตนไปสู่หทัย.
               ๓. สุณาตีติ โสตํ ชื่อว่าโสต เพราะอรรถว่าได้ยิน.
               ๔. สปฺปตีติ สทฺโท ชื่อว่าสัททะ เพราะอรรถว่าออกไป คือเปล่งออกไป.
               ๕. ฆายตีติ ฆานํ ชื่อว่าฆานะ เพราะอรรถว่าสูดดม.
               ๖. คนฺธยตีติ คนฺโธ ชื่อว่าคันธะ เพราะอรรถว่าส่งกลิ่น คือย่อมแสดงที่อยู่ของตนให้ปรากฏ.
               ๗. ชีวิตํ อวหายตีติ ชิวฺหา ชื่อว่าชิวหา เพราะอรรถว่านำมาซึ่งชีวิต.
               ๘. รสนฺติ ตํ สตฺตาติ รโส ชื่อว่ารส เพราะอรรถว่าเป็นที่ยินดี คือเป็นที่ชอบใจของสัตว์ทั้งหลาย.
               ๙. กุจฺฉิตานํ สาสวธมฺมานํ อาโยติ กาโย ชื่อว่ากาย เพราะอรรถว่าเป็นบ่อเกิดของธรรมมีอาสวะอันบัณฑิตเกลียด คำว่า อาโย คือที่เกิด.
               ๑๐. ผุสฺสิยตีติ โผฏฺฐพฺพํ ชื่อว่าโผฏฐัพพะ เพราะอรรถว่าอันกายย่อมถูกต้อง.
               ๑๑. มนุยตีติ มโน ชื่อว่ามนะ เพราะอรรถว่าย่อมรู้.
               ๑๒. อตฺตโน ลกฺขณํ ธารยตีติ ธมฺมา ชื่อว่าธรรม เพราะอรรถว่าย่อมทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน.
               แต่เมื่อว่าโดยอรรถไม่แปลกกัน พึงทราบว่า ที่ชื่อว่าอายตนะ เพราะเป็นเครื่องต่อ (อายตนโต) ๑ เพราะการแผ่ธรรมอันเป็นบ่อเกิดแห่งอาสวะทั้งหลาย (อายานํ ตนนโต) ๑ เพราะนำไปสู่สังสารต่อไป (อายตสฺส จ นยนโต) ๑.
____________________________
๑- จกฺขุวิญฺญาณธิฏฐิตํ หุตฺวา สมวิสมํ จกฺขติ อาจิกฺขนฺตํ วิย โหตีติ จกฺขุ แปลว่า รูปใดเป็นที่ตั้งอยู่แห่งจักขุวิญญาณ ย่อมเห็นประจักษ์ คือย่อมเป็นราวกะบอกอารมณ์ที่ดีและไม่ดี เพราะฉะนั้น รูปนั้นจึงชื่อว่าจักขุ ได้แก่จักขุปสาท หรือเรียกว่าตา.
คำที่เป็นชื่อของตา มีมากเช่น จกฺขุ อกฺขิ นยนํ เนตฺตํ โลจนํ ทิฏฺฐิ ทสฺสนํ เปกฺขนํ อจฺฉิ ปมฺหํ ปมุขํ
ดังคาถาประพันธ์ไว้ว่า

                         จกฺขกฺขิ นยนํ เนตฺตํ    โลจนํ ทิฏฺฐิ ทสฺสนํ
                         เปกฺขนํ อจฺฉิ ปมฺหนฺตุ  ปมุขนฺติ ปวุจฺจติ
                                        จากธาตุปฺปทีปิกา

               จริงอยู่ ในบรรดาอายตนะทั้งหลายมีจักขุและรูปเป็นต้น มีอธิบายไว้ว่า ธรรมทั้งหลายคือจิตและเจตสิกมีอารมณ์ตามทวารนั้นๆ ย่อมเจริญขึ้น ย่อมตั้งขึ้น ย่อมสืบต่อ ย่อมขยายไปด้วยกิจ มีการเสวยอารมณ์เป็นต้นของตนๆ นี้เป็นคำอธิบายข้อที่ ๑.
               ก็เมื่อธรรมอันเป็นอายะ (คือเป็นบ่อเกิดของอาสวะมีอยู่) ธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่านั้นก็ย่อมแผ่ไป คือย่อมยังธรรมอันเป็นบ่อเกิดแห่งอาสวะนี้ให้กว้างขวาง นี้เป็นคำอธิบายข้อที่ ๒.
               ก็อายตนะเหล่านี้ย่อมนำไป คือย่อมให้เป็นไปถ่ายเดียวสู่สังสารทุกข์อันยาวนานมาแต่อดีต เป็นไปล่วงไปในสังสารอันมีเงื่อนเบื้องต้นและที่สุดอันรู้ไม่ได้ ให้หวนกลับมิได้ นี้เป็นคำอธิบายข้อที่ ๓. ด้วยประการฉะนี้ ธรรมเหล่านี้แม้ทั้งหมด จึงตรัสเรียกว่า ชื่อว่า อายตนะ อายตนะ เพราะเป็นเครื่องต่อ เพราะเป็นการแผ่ธรรมอันเป็นบ่อเกิดแห่งอาสวะทั้งหลาย และเพราะนำไปสู่สังสารอันยาวนานต่อไป.
               อีกอย่างหนึ่ง บัณฑิตพึงทราบว่า ชื่อว่าอายตนะ เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่ เพราะอรรถว่าเป็นอากร เพราะอรรถว่าเป็นที่ประชุม เพราะอรรถว่าเป็นถิ่นเกิด เพราะอรรถว่าเป็นการณะ.
               จริงอย่างนั้น โวหารทางโลก เขาเรียกที่อยู่อาศัยว่าอายตนะ เช่นในประโยคมีอาทิว่า อิสฺสรานํ (ที่อยู่ของพระอิศร) วาสุเทวายตนํ (ที่อยู่ของพระวาสุเทพ). อากรคือบ่อเกิด เรียกว่าอายตนะ เช่นในประโยคมีอาทิว่า สุวณฺณายตนํ (บ่อทอง) รตนายตนํ (บ่อรัตนะ). ก็โวหารในศาสนาเรียกที่ประชุมว่าอายตนะ เช่นในประโยคมีอาทิว่า มโนรเม อายตเน เสวนฺติ นํ วิหงฺคมา๑- (เมื่ออายตนะคือที่ประชุมอันเป็นที่รื่นเริงใจมีอยู่ พวกนกก็พากันไปอาศัยต้นไม้นั้น). ถิ่นที่เกิดเรียกว่าอายตนะ เช่นในประโยคมีอาทิว่า ทกฺขิณาปโถ คุนฺนํ อายตนํ (ทักขิณาบถ คือทางทิศใต้ของอินเดีย เป็นถิ่นเกิดของโคทั้งหลาย). การณะ เรียกว่าอายตนะ เช่นในประโยคมีอาทิว่า ตตฺร ตเตฺรว สกฺขิภพฺพตํ ปาปุณาติ สติ สติอายตเน๒- (เมื่ออายตนะคือเหตุเป็นเครื่องระลึกมีอยู่ เธอก็จะบรรลุผลในจตูปปาตญาณนั้นๆ โดยแน่นอน).
____________________________
๑- อํ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๓๘/หน้า ๔๖
๒- อํ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๒๓/หน้า ๒๐

               อีกอย่างหนึ่ง ธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่านั้นๆ ย่อมอาศัยอยู่ในอายตนะทั้งหลายมีจักขุเป็นต้น เพราะความเป็นไปเนื่องด้วยจักขุเป็นต้นนั้น เพราะเหตุนั้น อายตนะมีจักขุเป็นต้น จึงชื่อว่าเป็นนิวาสถาน คือเป็นที่อยู่อาศัยของจิตและเจตสิกเหล่านั้น.
               อนึ่ง จิตและเจตสิกเหล่านั้นเกลื่อนกล่นในอายตนะมีจักขุเป็นต้น เพราะอาศัยจักขุเป็นต้นนั้น และเพราะความที่มีรูปเป็นต้นนั้นเป็นอารมณ์ มีอยู่ เพราะเหตุนั้น อายตนะมีจักขุเป็นต้น จึงชื่อว่าเป็นอากร คือเป็นบ่อเกิดของจิตและเจตสิกเหล่านั้น.
               อนึ่ง จักขุเป็นต้นชื่อว่าเป็นที่ประชุม (สโมสรณ์) ของจิตและเจตสิกเหล่านั้น เพราะเป็นที่ประชุมด้วยอำนาจเป็นวัตถุทวารและอารมณ์ในอายตนะนั้นๆ.
               อนึ่ง อายตนะมีจักขุเป็นต้น เป็นถิ่นเกิดของจิตและเจตสิกเหล่านั้น เพราะความเกิดขึ้นในอายตนะนั้นนั่นแหละ โดยความเป็นที่อาศัย (นิสสยปัจจัย) และเป็นอารมณ์ (อารัมมณปัจจัย) ของจิตและเจตสิกเหล่านั้น.
               อนึ่ง อายตนะมีจักขุเป็นต้น เป็นเหตุ (การณะ) ของจิตและเจตสิกเหล่านั้น เพราะความที่อายตนะมีจักขุเป็นต้นเหล่านั้นไม่มี จิตและเจตสิกก็หามีไม่.
               ธรรมเหล่านี้ เรียกว่าอายตนะ ด้วยเหตุแม้เหล่านี้ คือเพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่อาศัย เพราะอรรถว่าเป็นอากร เพราะอรรถว่าเป็นที่ประชุม เพราะอรรถว่าเป็นถิ่นเกิด เพราะอรรถว่าเป็นเหตุ ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น ว่าโดยอรรถตามที่กล่าวมา จักขุนั้นด้วย เป็นอายตนะด้วย จึงชื่อว่าจักขวายตนะ ฯลฯ ธรรมเหล่านั้นด้วย เป็นอายตนะด้วย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าธรรมายตนะ.
               พึงทราบวินิจฉัยในอายตนะเหล่านี้ โดยอรรถอย่างนี้ก่อน.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยลักษณะ               
               ก็ข้อว่า โดยลักษณะ นั้นคือ พึงทราบวินิจฉัยในอายตนะเหล่านี้โดยลักษณะแห่งอายตนะมีจักขุเป็นต้น ก็แต่ลักษณะนั้นของอายตนะมีจักขุเป็นต้นเหล่านั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในนิเทศแห่งรูปกัณฑ์ในหนหลังนั่นแหละ.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยความมีเพียงเท่านั้น               
               ข้อว่า โดยความมีเพียงเท่านั้น ได้แก่ โดยความมีจำนวนเพียงเท่านั้น คำนี้มีอธิบายว่า หากมีผู้สงสัยว่า ก็อายตนะแม้มีจักขุเป็นต้น ก็เป็นธรรมนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์มิได้ตรัสว่า ธรรมายตนะ เท่านั้น แต่ตรัสอายตนะ ๑๒ อย่างดังนี้ เพราะเหตุไร?
               ข้อนี้ ควรแก้ความสงสัยว่า ที่ตรัสไว้ ๑๒ อย่าง เพราะทรงกำหนดทวารและอารมณ์อันเป็นที่เกิดขึ้นแห่งวิญญาณกาย ๖.#-
               จริงอยู่ ในอายตนวิภังค์นี้มีประเภทอายตนะเหล่านั้น โดยกำหนดความเป็นทวารและความเป็นอารมณ์ของวิญญาณกาย ๖ มีเพียงนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่าอายตนะมี ๑๒ ด้วยว่า จักขายตนะนั่นแหละเป็นทวารเกิดขึ้นของวิญญาณกายซึ่งนับเนื่องในวิถีของจักขุวิญญาณและรูปายตนะนั่นแหละก็เป็นอารมณ์
               อนึ่ง อายตนะนอกนี้เป็นทวารเกิดขึ้นแก่วิญญาณกายนอกนี้ แต่อายตนะที่เป็นเอกเทศแห่งมนายนะกล่าวคือ ภวังคจิตนั่นเองเป็นทวารเกิดขึ้นของวิญญาณกายที่ ๖ และธรรมายตนะที่ไม่ทั่วไปเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น จึงตรัสอายตนะไว้ ๑๒ เพราะกำหนดทวารเกิดขึ้นและอารมณ์ของวิญญาณกาย ๖ ไว้ด้วยประการฉะนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในอายตนะนั้นโดยความมีเพียงเท่านั้น อย่างนี้.
____________________________
#- วิญญาณกาย คือกองแห่งวิญญาณมี ๖ อย่าง.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยลำดับ               
               ข้อว่า โดยลำดับ ความว่า ในบรรดาลำดับทั้งหลายมีลำดับแห่งการเกิดขึ้นเป็นต้นตามที่กล่าวไว้แล้วในก่อน๑- ลำดับแห่งเทศนาเท่านั้นย่อมควรในอายตนวิภังค์แม้นี้. เพราะว่า บรรดาอายตนะทั้งหลายที่เป็นภายใน จักขายตนะชื่อว่าย่อมปรากฏ เพราะความมีรูปที่เห็นได้และกระทบได้เป็นอารมณ์ เพราะเหตุนั้น จึงทรงแสดงจักขายตนะก่อน ต่อจากนั้นก็ทรงแสดงโสตายตนะเป็นต้นซึ่งมีรูปที่เห็นไม่ได้และกระทบได้เป็นอารมณ์.
               อีกอย่างหนึ่ง ในบรรดาอายตนะทั้งหลายที่เป็นภายใน พระองค์ทรงแสดงจักขายตนะและโสตายตนะก่อน เพราะความที่อายตนะทั้งสองนั้นเป็นธรรมมีอุปการะมากโดยเป็นเหตุให้เกิดทัศนานุตริยะ (การเห็นอันยอดเยี่ยม) และสวนานุตริยะ (การได้ฟังอันยอดเยี่ยม) ต่อจากนั้นก็ทรงแสดงอายตนะ ๓ มีฆานายตนะเป็นต้น ในที่สุด ทรงแสดงมนายตนะไว้ เพราะความที่ธรรมแม้ทั้ง ๕ ก็เป็นอารมณ์เป็นที่เที่ยวไป (ของมนายตนะนั้น).
               อนึ่ง ในอายตนะทั้งหลายอันเป็นภายนอก พระองค์ทรงแสดงอายตนะมีรูปเป็นต้นในลำดับของอายตนะภายในนั้นๆ เพราะความเป็นอารมณ์ของจักขายตนะเป็นต้น. อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบลำดับแห่งอายตนะเหล่านั้นอย่างนี้แหละแม้โดยกำหนดเหตุเกิดขึ้นของวิญญาณ ข้อนี้ สมด้วยพระบาลีที่ตรัสว่า จักขุวิญญาณย่อมเกิดเพราะอาศัยจักขุและรูป ฯลฯ มโนวิญญาณย่อมเกิดเพราะอาศัยมนะและธรรมทั้งหลาย ดังนี้.
               พึงวินิจฉัยในอายตนะเหล่านี้โดยลำดับ อย่างนี้.
____________________________
๑- ท่านกล่าวลำดับไว้ ๕ คือ
               ๑. อุปฺปตฺติกฺกโม ลำดับแห่งการเกิด
               ๒. ปหานกฺกโม ลำดับแห่งการละ
               ๓. ปฏิปตฺติกฺกโม ลำดับแห่งการปฏิบัติ
               ๔. ภูมิกฺกโม ลำดับแห่งภูมิ
               ๕. เทสนากฺกโม ลำดับแห่งการเทศนา.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยย่อและพิสดาร               
               ข้อว่า โดยย่อและโดยพิสดาร ความว่า ก็เมื่อว่าโดยย่อ เพราะความที่มนายตนะและธรรมานะส่วนหนึ่ง พระองค์ทรงสงเคราะห์เข้าเป็นนาม อายตนะที่เหลือจากนั้นทรงสงเคราะห์เข้าเป็นรูป อายนะแม้ทั้ง ๑๒ จึงเป็นเพียงนามกับรูปเท่านั้น แต่เมื่อว่าโดยพิสดาร บรรดาอายตนะทั้งหลายที่เป็นภายใน จักขายตนะสักว่าเป็นเพียงเฉพาะจักขุปสาทด้วยสามารถแห่งการเกิดก่อน แต่เมื่อว่าโดยประเภทแห่งปัจจัย คติ นิกายและบุคคล เป็นอนันตประเภท (มีประเภทหาขอบเขตมิได้) อายตนะ ๔ มีโสตายตนะเป็นต้นก็เป็นอนันตประเภทเหมือนกัน.
               มนายตนะมี ๘๑ ประเภท โดยประเภทแห่งกุศล อกุศล วิบาก กิริยาวิญญาณ ที่เป็นไปในภูมิ ๓ แต่เมื่อว่าโดยประเภทแห่งวัตถุและปฏิปทาเป็นต้นก็เป็นอนันตประเภท. รสายตนะที่เป็นรูปขันธ์ ว่าโดยประเภทแห่งสมุฏฐานมี ๔ ประเภท สัททายตนะ (อายตนะคือเสียง) ว่าโดยสมุฏฐานมี ๒ ประเภท แต่เมื่อว่าโดยประเภทสภาคะและวิสภาคะแล้ว อายตนะแม้ทั้งหมดเป็นอนันตประเภท. โผฏฐัพพายตนะมี ๓ ประเภทด้วยอำนาจแห่งปฐวีธาตุ เตโชธาตุและวาโยธาตุ แต่เมื่อว่าโดยสมุฏฐานมี ๔ ประเภท เมื่อว่าโดยสภาคะและวิสภาคะเป็นอนันตประเภท. ธรรมายตนะเป็นอนันตประเภท ด้วยอำนาจแห่งธรรมารมณ์เป็นไปในภูมิ ๓ ฉะนี้แล.
               พึงทราบวินิจฉัยอายตนะโดยย่อและพิสดารอย่างนี้.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยเป็นธรรมพึงเห็น               
               ก็ในข้อว่า โดยเป็นธรรมอันบัณฑิตพึงเห็น นี้ ความว่า อายตนะทั้งหมดเหล่านั้นแหละ พึงเห็นโดยการยังไม่มาถึง (อนาคมนโต) และโดยการไม่ออกไป (อนิคฺคมนโต).
               จริงอยู่ อายตนะเหล่านั้นเมื่อก่อนแต่ผุดขึ้นย่อมมาจากที่ไหนๆ ก็หาไม่ แม้หลังจากความสลายแล้วจะไปสู่ที่ไหนๆ ก็หาไม่ โดยที่แท้ เมื่อก่อนแต่ผุดขึ้น อายตนะเหล่านี้ยังไม่ได้ภาวะของตนโดยเฉพาะ หลังจากสลายไปก็มีภาวะของตนแตกหมดแล้ว เหตุที่มันเป็นไปได้ในเบื้องต้นเบื้องปลายและท่ามกลางก็เพราะปัจจัย เพราะฉะนั้น พึงเห็นอายตนะทั้งหลายโดยการยังไม่มาถึงและโดยการไม่ออกไป.
               อนึ่ง พึงเห็นอายตนะเหล่านี้ โดยความไม่เคลื่อนไป (นิรีหโต) และไม่มีความพยายาม (อพฺยาปารโต).
               จริงอยู่ อายตนะทั้งหลายมีจักขุและรูปเป็นต้นจะได้มีความคิดอย่างนี้ว่า โอหนอ ชื่อว่าวิญญาณพึงเกิดขึ้น เพราะพวกเราพบกัน ดังนี้ก็หาไม่ และอายตนะเหล่านั้นจะขวนขวายเพื่อความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณโดยความเป็นทวาร โดยความเป็นวัตถุ หรือโดยความเป็นอารมณ์ก็หาไม่ คือไม่ต้องขวนขวายพยายาม โดยที่แท้ มันเป็นเรื่องธรรมดาเท่านั้นที่จักขุวิญญาณเป็นต้นจะเกิดขึ้น เพราะความที่อายตนะมีจักขุและรูปเป็นต้นพบกัน เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงเห็นอายตนะทั้งหลายโดยความไม่เคลื่อนไปและโดยความไม่มีความพยายาม.
               อีกอย่างหนึ่ง บัณฑิตพึงเห็นอายตนะภายในเหมือนเรือนว่าง เพราะเว้นจากความยั่งยืน จากความงาม จากสุขและจากอัตภาพ พึงเห็นอายตนะภายนอกเหมือนพวกโจรปล้นชาวบ้าน เพราะกระทบอายตนะภายใน. ข้อนี้สมดังพระดำรัสที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักขุถูกรูปที่ชอบใจและไม่ชอบใจกระทบ ดังนี้ บัณฑิตควรให้พิสดาร. อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นอายตนะภายในเหมือนสัตว์ ๖#- ชนิด พึงเห็นอายตนะภายนอกเหมือนที่เที่ยวหากินของสัตว์เหล่านั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในอายตนะนี้โดยเป็นธรรมพึงเห็นด้วยประการฉะนี้.
____________________________
#- สัตว์ ๖ ชนิด คือ งู จระเข้ นก สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ลิง.

               อธิบายอายตนะโดยไตรลักษณ์               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ามีความประสงค์จะทรงแสดงอาการแห่งอายตนะเหล่านั้นอันบัณฑิตพึงเห็นแจ้งตามความเป็นจริง จึงเริ่มคำมีอาทิว่า จกฺขุํ อนิจฺจํ (จักขุไม่เที่ยง) ดังนี้.
               บรรดาอายตนะเหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบว่า จักขุ ชื่อว่าไม่เที่ยง ด้วยอรรถว่ามีแล้วหามีไม่ ดังนี้ก่อน. ชื่อว่าความไม่เที่ยง ด้วยเหตุ ๔ อย่างแม้อื่นอีก คือโดยมีความเกิดขึ้นและมีความเสื่อมไปเป็นที่สุด ๑ โดยความแปรปรวนไป ๑ โดยความเป็นของชั่วคราว ๑ โดยปฏิเสธความเที่ยง ๑.
               จักขุนั้นนั่นแหละ ชื่อว่าเป็นทุกข์ ด้วยอรรถว่าบีบคั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง จักขุนี้เกิดขึ้นแล้วย่อมถึงซึ่งการตั้งอยู่ (ฐิติ) เมื่อตั้งอยู่ ย่อมลำบากด้วยชรา ถึงชราแล้ว ย่อมแตกดับไปแน่แท้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะเหตุ ๔ เหล่านี้ คือโดยความเป็นของบีบคั้นเนืองๆ ๑ โดยความเป็นของทนได้ยาก ๑ โดยเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ ๑ โดยปฏิเสธความสุข ๑.
               อนึ่ง จักขุนั้น ชื่อว่าเป็นอนัตตา ด้วยอรรถว่าไม่เป็นไปในอำนาจ.
               อีกอย่างหนึ่ง ความที่จักขุนั้นเป็นไปในอำนาจของใครๆ ในฐานะ ๓ เหล่านี้
               คือจักขุนี้เกิดขึ้นแล้วขอจงอย่าถึงการตั้งอยู่ ถึงการตั้งอยู่แล้ว จงอย่าแก่ ถึงการแก่แล้ว จงอย่าแตกดับ ดังนี้ หามีได้ไม่ เป็นของสูญไปจากอาการที่เป็นไปในอำนาจนั้น เพราะฉะนั้น จักขุนั้นจึงชื่อว่าเป็นอนัตตา เพราะเหตุ ๔ เหล่านี้ คือโดยความเป็นของสูญ ๑ โดยความไม่มีเจ้าของ ๑ โดยเป็นสิ่งที่ควรทำตามชอบใจไม่ได้ ๑ โดยปฏิเสธต่ออัตตา ๑.
               ที่ชื่อว่า มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เพราะมีภพและคติต่างๆ เพราะความเปลี่ยนไปแห่งภพหน้าและภพหลัง เพราะเว้นจากความเป็นปกติ คำว่า มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดานี้ เป็นไวพจน์ของความไม่เที่ยงนั่นเอง. แม้ในอายตนะทั้งหลาย มีคำว่า รูปไม่เที่ยง เป็นต้น ก็มีนัยนี้แล.
               อีกอย่างหนึ่ง ในอายตนะเหล่านี้ ยกเว้นจักขุเสียแล้ว ธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ไม่เที่ยง หาใช่จักขุไม่๑- แต่ว่า จักขุเป็นจักขุด้วย เป็นสภาวะไม่เที่ยงด้วย ธรรมที่เหลือก็เหมือนกันเป็นทุกข์ หาใช่จักขุไม่ แต่จักขุเป็นจักขุด้วย เป็นทุกข์ด้วย ธรรมที่เหลือเป็นอนัตตา หาใช่จักขุไม่ แต่จักขุเป็นจักขุด้วย เป็นอนัตตาด้วย ฉะนี้แล.
               แม้ในรูปเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
____________________________
๑- อายตนะที่เป็นรูปมีจักขายตนะเป็นต้นไม่เกิดในอรูปภูมิ จึงไม่เห็นอายตนะที่เป็นรูปนั้นโดยความเป็นอนิจจังเป็นต้น.

               ถามว่า ก็ในสุตตันตภาชนีย์นี้ พระตถาคตทรงแสดงลักษณะอะไร.
               ตอบว่า ทรงแสดงอนัตตลักษณะแห่งอายตนะ ๑๒ อย่าง.
               จริงอยู่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อจะทรงแสดงอนัตตลักษณะ ย่อมแสดงโดยความไม่เที่ยงบ้าง โดยความเป็นทุกข์บ้าง โดยทั้งความไม่เที่ยงและโดยความเป็นทุกข์บ้าง ในลักษณะทั้ง ๓ เหล่านั้น พระองค์ทรงแสดงอนัตตลักษณะ โดยความไม่เที่ยงในสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดพึงกล่าวว่าจักขุเป็นอัตตา คำของผู้นั้นย่อมไม่ควร จักขุย่อมปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม ก็สิ่งใดแลปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม สิ่งนั้นของบุคคลนั้นต้องกล่าวอย่างนี้ว่า อัตตาของเราเกิดขึ้นและเสื่อมไป ฉะนั้น คำของผู้ที่กล่าวว่า จักขุเป็นอัตตานั้นจึงไม่ควร ดังนี้ จักขุเป็นอนัตตา๒- ดังนี้.
               พระองค์ทรงแสดงอนัตตลักษณะโดยความเป็นทุกข์ ในสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้ารูปนี้จักได้เป็นอัตตา รูปนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และใครๆ ก็พึงได้ในรูปว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราจงอย่าเป็นอย่างนี้ ดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะรูปเป็นอนัตตา ฉะนั้น รูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และใครๆ ไม่พึงได้ในรูปว่า ขอรูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้ ดังนี้.
               พระองค์ทรงแสดงอนัตตลักษณะทั้งโดยไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ในพระสูตรทั้งหลายมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นพึงเห็นด้วยสัมมัปปัญญา ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่นั่นนั่นไม่ใช่อัตตาของเรา๓- ดังนี้.
____________________________
๒- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๘๑๘/หน้า ๕๑๒.
๓- สํ. ขนฺธวารวคฺค. เล่ม ๑๗/ข้อ ๔๒/หน้า ๒๘.

               ถามว่า ทรงแสดงอย่างนี้ เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะความไม่เที่ยงและความทุกข์ปรากฏ.
               จริงอยู่ เมื่อถ้วยชาม หรือขัน หรือวัตถุอะไรๆ ตกจากมือแตกแล้ว ชนทั้งหลายย่อมพูดว่า โอ! มันไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงชื่อว่าปรากฏแล้วอย่างนี้ ก็เมื่อฝีต่อมเป็นต้นตั้งขึ้นในอัตภาพแล้ว หรือว่าถูกตอหรือหนามทิ่มเอาแล้วก็ย่อมพูดว่า โอ! เป็นทุกข์ ทุกข์ชื่อว่าปรากฏแล้วอย่างนี้.
               อนัตตลักษณะไม่ปรากฏ มืดมน ไม่แจ่มแจ้ง แทงตลอดได้โดยยาก แสดงได้โดยยาก ทำให้เข้าใจได้โดยยาก. แต่อนิจจลักษณะและทุกขลักษณะ พระตถาคตทั้งหลายจะทรงอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่ทรงอุบัติขึ้นก็ตาม ย่อมปรากฏ. อนัตตลักษณะ เว้นจากการบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าแล้วย่อมไม่ปรากฏ ย่อมปรากฏในพุทธุปบาทเท่านั้น.
               จริงอยู่ ดาบสและปริพาชกทั้งหลายผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก แม้มีสรภังคศาสดาเป็นต้นย่อมสามารถกล่าวว่า อนิจจัง ทุกขัง ได้ แต่ไม่สามารถจะกล่าวว่า อนัตตา ได้ แม้ถ้าพวกดาบสเป็นต้นเหล่านั้นพึงสามารถกล่าวคำว่า อนัตตา ในบริษัทที่ประชุมกันแล้ว บริษัทที่ประชุมกันก็จะพึงแทงตลอดมรรคและผล เพราะการประกาศให้รู้อนัตตลักษณะไม่ใช่วิสัยของใครๆ อื่น เป็นวิสัยของพระสัพพัญญูพุทธเจ้าเท่านั้น อนัตตลักษณะนี้จึงไม่ปรากฏแล้วด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น พระศาสดาเมื่อจะแสดงอนัตตลักษณะจึงทรงแสดงโดยความไม่เที่ยงบ้าง โดยความเป็นทุกข์บ้าง โดยทั้งความไม่เที่ยงทั้งความเป็นทุกข์บ้าง แต่ในอายตนวิภังค์นี้ พึงทราบว่า ทรงแสดงอายตนะนั้นทั้งโดยความไม่เที่ยง ทั้งโดยความเป็นทุกข์ ดังนี้.
               ถามว่า ก็ลักษณะเหล่านี้ย่อมไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการอะไร ไม่แทงตลอดอะไรและอันอะไรปิดบังไว้.
               ตอบว่า อนิจจลักษณะก่อน ย่อมไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการ ไม่แทงตลอดความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป และเพราะสันตติปิดบังไว้. ทุกขลักษณะย่อมไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการ ไม่แทงตลอดความบีบคั้นเนืองๆ และเพราะอิริยาบถทั้งหลายปิดบังไว้. อนัตตลักษณะย่อมไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการ ไม่แทงตลอดการแยกธาตุต่างๆ และเพราะอันฆนสัญญาปกปิดไว้.
               ก็พระโยคาวจรกำหนดความเกิดและความเสื่อมเพิกสันตติได้แล้ว อนิจจลักษณะย่อมปรากฏโดยกิจตามความเป็นจริง มนสิการการบีบคั้นเนืองๆ สับเปลี่ยนอิริยาบถได้แล้ว ทุกขลักษณะย่อมปรากฏโดยกิจตามความเป็นจริง เมื่อแยกธาตุต่างๆ แล้วทำการแยกความเป็นก้อน อนัตตลักษณะย่อมปรากฏโดยกิจตามความเป็นจริง.
               อนึ่ง ในอธิการนี้ พึงทราบวิภาค (การจำแนก) นี้ คือ
                         อนิจฺจํ (ความไม่เที่ยง)
                         อนิจฺจลกฺขณํ (ลักษณะแห่งความไม่เที่ยง)
                         ทุกฺขํ (ความทุกข์)
                         ทุกฺขลกฺขณํ (ลักษณะแห่งทุกข์)
                         อนตฺตา (ไม่ใช่อัตตา)
                         อนตฺตลกฺขณํ (ลักษณะแห่งอนัตตา).
               บรรดาวิภาคทั้ง ๖ เหล่านั้น คำว่า อนิจจัง ได้แก่ ขันธ์ ๕ เพราะเหตุไร?
               เพราะความที่ขันธ์ ๕ มีความแปรเปลี่ยนไปด้วยความเกิดและความเสื่อม หรือว่า เพราะมีแล้วกลับไม่มี. ความที่ขันธ์ ๕ มีความแปรเปลี่ยนไปด้วยความเกิดและความเสื่อม หรือว่าความเปลี่ยนแปลงแห่งอาการ (ลักษณะ) กล่าวคือเป็นแล้วกลับไม่เป็น ชื่อว่าอนิจจลักษณะ.
               เบญจขันธ์นั้นนั่นเอง ชื่อว่าทุกข์ เพราะพระบาลีว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ดังนี้ เพราะเหตุไร? เพราะมีการบีบคั้นเนืองๆ อาการ (คือลักษณะ) ที่บีบคั้นเนืองๆ ชื่อว่าทุกขลักษณะ.
               ก็เบญจขันธ์นั้นนั่นเอง ชื่อว่าอนัตตา เพราะพระบาลีว่า สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ดังนี้ เพราะเหตุไร? เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ อาการ (คือลักษณะ) ที่ไม่เป็นไปในอำนาจ ชื่อว่าอนัตตลักษณะ เพราะฉะนั้น อนิจจัง ทุกขังและอนัตตา จึงเป็นอย่างหนึ่ง อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะและอนัตตลักษณะ จึงเป็นอย่างหนึ่ง.
               จริงอยู่ คำว่า ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ นี้แม้ทั้งหมด ชื่อว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่วิการ (การเปลี่ยนแปลง) แห่งอาการ (ลักษณะ) มีประการตามที่กล่าวแล้ว ชื่อว่าอนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะและอนัตตลักษณะ ฉะนี้แล.
               อนึ่ง ว่าโดยสังเขปในอายตนวิภังค์นี้ อายตนะ ๑๐ เป็นกามาพจร อายตนะ ๒ (คือมนายตนะและธรรมายตนะ) เป็นไปในภูมิ ๓ วาระว่าด้วยการพิจารณา พึงทราบว่า ตรัสไว้ในอายตนะแม้ทั้งหมดแล.
               วรรณนาสุตตันตภาชนีย์ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ อายตนวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 84อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 97อ่านอรรถกถา 35 / 99อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=1727&Z=1754
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=1134
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=1134
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :