ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 416อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 431อ่านอรรถกถา 35 / 458อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
สติปัฏฐานวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์

หน้าต่างที่ ๒ / ๔.

               ๑. เกสา (ผมทั้งหลาย)               
               ผมทั้งหลายก่อน ว่าโดยสีตามปกติมีสีดำ เหมือนสีลูกมะคำดีควายสดๆ ว่าโดยสัณฐาน ยาวกลม มีสัณฐานคล้ายคันชั่ง ว่าโดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน ว่าโดยโอกาส ที่ข้างทั้งสองกำหนดด้วยจอนหู ข้างหน้ากำหนดด้วยหน้าผาก ข้างหลังกำหนดด้วยกกคอ หนังสดที่หุ้มกะโหลกศีรษะ เป็นโอกาส (คือที่ตั้ง) แห่งผมทั้งหลาย ว่าโดยปริจเฉท ผมทั้งหลายเบื้องต่ำกำหนดด้วยพื้นรากของผม ที่หยั่งลึกลงไปในหนังหุ้มศีรษะประมาณปลายเมล็ดข้าวเปลือก เบื้องบนกำหนดด้วยอากาส (ที่ว่าง) โดยรอบ กำหนดด้วยเส้นผมด้วยกัน. การกำหนดว่า ผมสองเส้น มิได้รวมเป็นเส้นเดียวกันนี้ ชื่อว่าสภาคปริจเฉท. การกำหนดว่า ผมไม่ปะปนกันด้วยโกฏฐาส ๓๑ ที่เหลืออย่างนี้ว่า ผมมิใช่ขน ขนมิใช่ผม ธรรมดาว่าผมย่อมเป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่ง นี้ชื่อว่าวิสภาคปริจเฉท. นี้เป็นการกำหนดผมทั้งหลายโดยสีเป็นต้น.
               ก็พึงทราบการกำหนดผมเหล่านั้น โดยความเป็นปฏิกูล ๕ อย่าง ด้วยสามารถแห่งสีเป็นต้นดังต่อไปนี้.
               จริงอยู่ ชื่อว่าผมทั้งหลายเหล่านี้ แม้โดยสีก็เป็นปฏิกูล แม้โดยสัณฐาน แม้โดยกลิ่น แม้โดยอาสยะ (อาศัย) และแม้โดยโอกาส ก็เป็นของปฏิกูล ด้วยว่า ชนทั้งหลายเห็นอะไรๆ ที่มีสีคล้ายผม ในภาชนะที่ใส่ข้าวยาคู หรือภาชนะที่ใส่ภัต แม้อันเป็นที่ชอบใจ ก็ย่อมจะรังเกียจโดยกล่าวว่า นี้มันปนผม จงนำมันออกไปเสีย. ผมเป็นของปฏิกูลโดยสีอย่างนี้.
               แม้ชนทั้งหลายบริโภคอาหาร ในเวลากลางคืน ถูกต้องเส้นป่านหรือเส้นปอ ซึ่งมีสัณฐานเหมือนผมทั้งหลาย ก็รังเกียจฉันนั้นนั่นแหละ. ผมเป็นของปฏิกูลโดยสัณฐานอย่างนี้.
               อนึ่ง กลิ่นของผมเว้นจากการตกแต่งด้วยสิ่งของมีการทาด้วยน้ำมันและอบด้วยดอกไม้เป็นต้น ย่อมเป็นกลิ่นน่ารังเกียจอย่างยิ่ง กลิ่นของผมที่ใส่เข้าไปในไฟ ย่อมมีกลิ่นน่ารังเกียจมากกว่านั้น. แท้จริง เมื่อว่าโดยสีและสัณฐาน จะไม่พึงเป็นของปฏิกูลก็ได้ แต่เมื่อว่าโดยกลิ่นแล้ว ย่อมเป็นของปฏิกูลทีเดียว. เปรียบเหมือนก้อนอุจจาระของเด็กเล็ก เมื่อว่าโดยสีก็มีสีเหมือนขมิ้น แม้ว่าโดยสัณฐานก็มีสัณฐานเหมือนแง่งขมิ้นและซากสุนัขดำที่พองขึ้น อันเขาทิ้งไว้ในที่ที่ทิ้งขยะ โดยสีก็มีสีเหมือนผลตาลสุก โดยสัณฐานก็มีสัณฐานเหมือนตะโพนที่เขาปล่อยกลิ้งไป แม้เขี้ยวของมันก็เช่นกับดอกมะลิตูม เพราะเหตุนั้น อุจจาระเด็กเล็กและซากสุนัขดำ แม้ทั้งสอง เมื่อว่าโดยสีและสัณฐานไม่พึงเป็นของปฏิกูลก็ได้ แต่เมื่อว่าโดยกลิ่นแล้ว ย่อมเป็นของปฏิกูลนั่นแหละฉันใด แม้ผมทั้งหลายก็ฉันนั้น เมื่อว่าโดยสีและสัณฐาน ไม่พึงเป็นของปฏิกูลก็ได้ แต่เมื่อว่าโดยกลิ่นแล้ว ย่อมเป็นของปฏิกูลแท้.
               ก็ผักสำหรับแกงอันเกิดขึ้นในที่อันไม่สะอาด ด้วยการหลั่งไหลไปแห่งน้ำครำจากหมู่บ้าน ย่อมเป็นของน่ารังเกียจ ไม่น่าบริโภคสำหรับชนชาวนครทั้งหลายฉันใด แม้ผมทั้งหลายก็ฉันนั้น ชื่อว่าน่ารังเกียจยิ่งนัก เพราะเกิดขึ้นด้วยน้ำที่ไหลซึมออกมาจากน้ำเหลือง เลือด น้ำอุจจาระ น้ำปัสสาวะ น้ำดีและเสมหะเป็นต้น นี้เป็นปฏิกูลแห่งผมเหล่านั้น โดยอาสยะ (โดยอาศัย).
               อนึ่ง ผมเหล่านี้เกิดขึ้นที่กองแห่งโกฏฐาส ๓๑ (อันไม่สะอาด) ดุจผักหญ้าเกิดขึ้นที่กองแห่งคูถ ผมเหล่านั้น ชื่อว่าน่ารังเกียจอย่างยิ่ง เพราะเกิดในที่อันไม่สะอาด ดุจผักที่เกิดขึ้นในที่ป่าช้าและกองขยะเป็นต้น และดุจดอกไม้มีบัวหลวงบัวสายเป็นต้น ที่เกิดขึ้นในที่ไม่สะอาดมีคูเมืองเป็นต้น นี้เป็นความปฏิกูลแห่งผมเหล่านั้นโดยโอกาส (คือที่ตั้งอยู่). ก็ความเป็นปฏิกูลแห่งผมทั้งหลายฉันใด พึงกำหนดความเป็นปฏิกูลแห่งโกฏฐาสทั้งปวง ๕ อย่าง ด้วยสามารถแห่งความปฏิกูล โดยสี สัณฐาน กลิ่น อาสยะและโอกาสฉันนั้นเถิด. แต่ว่า เมื่อว่าโดยสี สัณฐาน ทิศ โอกาสและปริจเฉท แม้ในโกฏฐาสทั้งปวง พึงกำหนดแต่ละแผนก.

               ๒. โลมา (ขนทั้งหลาย)               
               บรรดาโกฏฐาสเหล่านั้น พึงกำหนดขนทั้งหลายก่อน ว่าโดยสีตามปกติ ไม่ดำสนิทเหมือนผม แต่เป็นสีดำปนเหลือง โดยสัณฐาน มีสัณฐานปลายโค้งเหมือนรากต้นตาล โดยทิศ เกิดในทิศทั้ง ๒ โดยโอกาส เว้นโอกาสที่ผมทั้งหลายตั้งอยู่และพื้นฝ่ามือฝ่าเท้าแล้ว โดยมากเกิดตามหนังหุ้มสรีระที่เหลือ โดยปริจเฉท เบื้องล่างกำหนดด้วยพื้นรากของขนที่หยั่งลึกเข้าไปในหนังหุ้มสรีระประมาณลิกขา๑- หนึ่ง เบื้องบนกำหนดด้วยอากาศ โดยรอบ กำหนดเส้นขนด้วยกัน การกำหนด ขนสองเส้นมิได้รวมเป็นเส้นเดียว นี้เป็นสภาคปริจเฉทแห่งขนเหล่านั้น ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับเส้นผมนั่นแหละ.
____________________________
๑- คำว่า ลิกขา นี้ เป็นชื่อมาตราวัดระยะความยาวในอภิธานัปปทีปิกา กล่าวดังนี้
               ๓๖ ปรมาณู   เท่ากับ ๑ อณู
               ๓๖ อณู       " ๑ ดัชชารี
               ๓๖ ดัชชารี    " ๑ รถเรณู
               ๓๖ รถเรณู     " ๑ ลิขา
               ๗ ลิขา         " ๑ อูกา
               ๗ อูกา         " ๑ ธัญญมาส
                ฯลฯ

               ๓. นขา (เล็บทั้งหลาย)               
               คำว่า นขา เป็นชื่อของใบเล็บ ๒๐ อัน เล็บทั้งปวงนั้น ว่าโดยสี เป็นสีขาว ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานดังเกล็ดปลา. ว่าโดยทิศ เกิดในทิศทั้ง ๒ คือ เล็บเท้าเกิดในทิศเบื้องต่ำ เล็บมือเกิดในทิศเบื้องบน. ว่าโดยโอกาส ตั้งอยู่เฉพาะที่หลังตอนปลายนิ้วทั้งหลาย. ว่าโดยปริจเฉท ในทิศทั้ง ๒ กำหนดด้วยเนื้อปลายนิ้ว ข้างในกำหนดด้วยเนื้อหลังนิ้ว ข้างนอกและปลายกำหนดด้วยอากาศ เบื้องขวางกำหนดเล็บด้วยกัน. การกำหนดว่า เล็บ ๒ อัน มิได้รวมเป็นอันเดียวกัน นี้ เป็นสภาคปริจเฉท ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับเส้นผมนั่นแหละ.

               ๔. ทนฺตา (ฟันทั้งหลาย)               
               คำว่า ทนฺตา คือ กระดูกฟัน ๓๒ ซี่ สำหรับผู้มีฟันบริบูรณ์. แม้ฟันเหล่านั้นว่าโดยสี ก็มีสีขาว. ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานมิใช่น้อย.
               จริงอยู่ บรรดาฟันเหล่านั้น ฟัน ๔ ซี่ตรงกลางฟันแถวล่างก่อน มีสัณฐานดุจเมล็ดน้ำเต้าที่เขาปักเรียงกันไว้ที่ก้อนดินเหนียว. สองข้างฟันกลาง ๔ ซี่นั้น ฟันข้างละซี่ มีรากเดียว มีปลายเดียว มีสัณฐานดังดอกมะลิตูม. ถัดจากนั้น ฟันข้างละซี่ มีราก ๒ มีปลาย ๒ มีสัณฐานดังไม้ค้ำยานน้อย (เกวียน). ถัดไป ฟันข้างละ ๒ ซี่ มีราก ๓ มีปลายก็ ๓. ถัดไป ฟันข้างละ ๒ มีราก ๔ มีปลาย ๔. แม้ฟันแถวข้างบน ก็นัยนี้นั่นแหละ. ว่าโดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน. ว่าโดยโอกาส ตั้งอยู่ที่กระดูกกรามทั้ง ๒. ว่าโดยปริจเฉท ข้างล่างกำหนดด้วยพื้นรากของฟันอันตั้งอยู่ที่กระดูกกราม เบื้องบนกำหนดด้วยอากาศ เบื้องขวางกำหนดฟันด้วยกัน. การกำหนดว่า ฟัน ๒ ซี่ มิได้รวมเป็นซี่เดียวกัน นี้เป็นสภาคปริจเฉท ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับเส้นผมนั่นแหละ.

               ๕. ตโจ (หนัง)               
               คำว่า ตโจ คือ หนังหุ้มสรีระทั้งสิ้น เหนือหนังนั้นมีผิวสีดำคล้ำ เหลืองเป็นต้น ผิวหนังนั้นเมื่อดึงออกจากสรีระทั้งสิ้น ก็จะมีประมาณเท่าเมล็ดในพุทรา. หนังนั้นว่าโดยสี มีสีขาวเท่านั้น ก็ความที่หนังเป็นสีขาวนั้น ย่อมปรากฏเมื่อผิวถลอกออกไป เพราะเปลวไฟลวก หรือถูกประหารด้วยเครื่องประหารเป็นต้น. ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานเหมือนร่างกายนั่นแหละ นี้เป็นความสังเขปในข้อว่า ว่าโดยสัณฐาน.
               ก็ว่าโดยความพิศดาร หนังนิ้วเท้ามีสัณฐานดังรังของตัวไหม. หนังหลังเท้ามีสัณฐานดังรองเท้าหุ้มส้น. หนังแข้งมีสัณฐานดังใบตาลห่อข้าว. หนังขามีสัณฐานดังถุงยาวบรรจุข้าวสาร. หนังตะโพกมีสัณฐานดังผืนผ้ากรองน้ำอันเต็มด้วยน้ำ. หนังหลังมีสัณฐานดังหนังหุ้มโล่. หนังท้องมีสัณฐานดังหนังหุ้มรางพิณ. หนังอกโดยมากมีสัณฐาน ๔ เหลี่ยม. หนังแขนทั้ง ๒ มีสัณฐานดังหนังหุ้มแล่งธนู. หนังหลังมือมีสัณฐานดังฝักมีด หรือดังถุงโล่. หนังนิ้วมือมีสัณฐานดังฝักกุญแจ. หนังคอมีสัณฐานดังเสื้อปิดคอ. หนังหน้าซึ่งมีช่องน้อยช่องใหญ่มีสัณฐานดังรังตั๊กแตน. หนังศีรษะมีสัณฐานดังถลกบาตร.
               วิธีการกำหนดหนัง พระโยคาวจรผู้จะกำหนดหนังเป็นอารมณ์ พึงส่งญาณไปบนหน้า ตั้งแต่ริมฝีปากบนขึ้นไป แล้วกำหนดหนังหุ้มหน้าก่อน. แต่นั้น พึงกำหนดหนังหน้าผาก. จากนั้น ก็พึงส่งญาณไประหว่างกะโหลกศีรษะและหนังศีรษะ ดุจสอดมือไประหว่างบาตรกับถลกบาตรที่สวมไว้ฉะนั้น โดยแยกความที่หนังติดกันกับกะโหลกศีรษะออก กำหนดแต่หนังศีรษะ. ต่อไปก็กำหนดหนังคอ. ต่อไปกำหนดหนังมือขวา ทั้งโดยอนุโลม (จากหัวไหล่ลงไปทางแขน) ทั้งโดยปฏิโลม (จากข้อมือขึ้นไปถึงหัวไหล่). ลำดับนั้น ก็พึงกำหนดหนังมือซ้าย โดยนัยนั้นนั่นแหละ. ต่อไปก็กำหนดหนังหลัง. ครั้นกำหนดหนังนั้นๆ แล้ว พึงกำหนดหนังเท้าขวาทั้งโดยอนุโลม ทั้งโดยปฏิโลม. ลำดับนั้น พึงกำหนดหนังเท้าซ้าย โดยนัยนั้นนั่นแหละ. จากนั้น พึงกำหนดหนังท้องน้อย หนังหน้าท้อง หนังอก หนังคอ โดยลำดับทีเดียว. ลำดับนั้นพึงกำหนดหนังใต้คาง ถัดจากหนังคอขึ้นไปจนถึงริมฝีปากล่างเป็นที่สุดจึงเสร็จ. เมื่อพระโยคาวจรกำหนดหนังใหญ่ๆ อยู่อย่างนี้ แม้หนังเล็กๆ ก็ย่อมปรากฏ. ว่าโดยทิศ เกิดในทิศทั้ง ๒ ว่าโดยโอกาส ตั้งคลุมสรีระทั้งสิ้น. ว่าโดยปริจเฉท เบื้องล่างกำหนดด้วยพื้นที่ตั้งอยู่ เบื้องบนกำหนดด้วยอากาศ. นี้เป็นสภาคปริจเฉท ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับเส้นผมนั่นแหละ.

               ๖. มํสํ (เนื้อ)               
               คำว่า มํสํ คือ ชิ้นเนื้อ ๙๐๐ ชิ้น. ชิ้นเนื้อแม้ทั้งปวงนั้นว่าโดยสี มีสีแดงเช่นกับดอกทองกวาว. ว่าโดยสัณฐาน เนื้อปลีแข้ง มีสัณฐานดังข้าวห่อด้วยใบตาล. เนื้อหลัง มีสัณฐานดังแผ่นตาลงบ. เนื้อสีข้างทั้ง ๒ มีสัณฐานดังการฉาบทาด้วยดินเหนียวบางๆ ในท้องยุ้งข้าว. เนื้อถันทั้ง ๒ มีสัณฐานดังก้อนดินเหนียวที่เขาแขวนห้อยไว้. เนื้อแขนทั้ง ๒ มีสัณฐานดังหนูตัวใหญ่ที่เขาถลกหนังทำไว้เป็นสองส่วน. เมื่อพระโยคาวจรกำหนดเนื้อชิ้นใหญ่ๆ อยู่อย่างนี้ แม้เนื้อชิ้นเล็กๆ ก็ย่อมปรากฏ. ว่าโดยทิศ เกิดในทิศทั้ง ๒. ว่าโดยโอกาส ตั้งฉาบติดกระดูก ๓๑๐*(พม่า ๓๐๐ ท่อนเศษ) ท่อน ว่าโดยปริจเฉท เบื้องล่างกำหนดด้วยพื้นที่ตั้งอยู่ที่ร่างกระดูก เบื้องบนกำหนดด้วยหนัง เบื้องขวางกำหนดเนื้อด้วยกัน. นี้เป็นสภาคปริจเฉท ส่วนวิสภาคปริจเฉทเป็นเช่นกับเส้นผมนั่นแหละ.

               ๗. นหารู (เอ็นทั้งหลาย)               
               คำว่า นหารู คือ เอ็น ๙๐๐ เส้น ว่าโดยสี เอ็นทั้งหมดมีสีขาว. ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานต่างๆ.
               จริงอยู่ เอ็นเหล่านั้น เอ็นใหญ่ที่รึงรัดสรีระตั้งแต่เบื้องบน แห่งคอหยั่งลงไปข้างหน้าหทัย ๕ เส้น ข้างหลัง ๕ เส้น ข้างขวา ๕ เส้น ข้างซ้าย ๕ เส้น แม้รึงรัดมือขวา ข้างหน้ามือก็ ๕ เส้น ข้างหลังมือก็ ๕ เส้น แม้ที่รึงรัดมือซ้ายก็อย่างนั้น ที่รึงรัดเท้าขวา ข้างหน้าเท้าก็ ๕ เส้น ข้างหลังก็ ๕ เส้น แม้ที่รึงรัดเท้าซ้ายก็อย่างนั้น เอ็นใหญ่ ๖๐ เส้น รึงรัดหยั่งลงตลอดกายอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ จึงชื่อว่าสรีรธารกา (ทรงไว้ซึ่งสรีระ) ท่านเรียกว่า กัณฑรา ดังนี้บ้าง เอ็นเหล่านั้นแม้ทั้งหมดมีสัณฐานดังต้นคล้าอ่อนๆ ส่วนเอ็นเหล่าอื่นที่รึงรัดส่วนนั้นๆ อยู่ คือที่เล็กกว่า (สรีรธารกา) นั้น มีสัณฐานดังเชือกด้าย. เอ็นเหล่าอื่นที่เล็กกว่านั้น มีสัณฐานดังเถากระพังโหม. เอ็นเหล่าอื่นที่เล็กกว่านั้น มีสัณฐานดังสายพิณใหญ่. เอ็นเหล่าอื่นอีกมีสัณฐานดังเส้นด้ายใหญ่. เอ็นที่หลังมือ และเท้า มีสัณฐานดังตีนนก. เอ็นที่ศีรษะมีสัณฐานดังตาข่ายคลุมหัวเด็ก. เอ็นที่หลังมีสัณฐานดังอวนเปียกที่เขาแผ่ผึ่งแดด. เอ็นที่เหลือซึ่งไปตามอวัยวะน้อยใหญ่นั้นๆ มีสัณฐานดังเสื้อร่างแหที่คลุมสรีระ. ว่าโดยทิศ เอ็นเกิดในทิศทั้ง ๒. ว่าโดยโอกาสตั้งยึดกระดูกทั้งหลาย ในสรีระทั้งสิ้น. ว่าโดยปริจเฉท เบื้องต่ำกำหนดด้วยพื้นอันตั้งอยู่บนกระดูก ๓๐๐ ท่อน เบื้องบนกำหนดด้วยประเทศที่ตั้งอยู่จดเนื้อและหนัง เบื้องขวางกำหนดซึ่งกันและกัน. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของเอ็นเหล่านั้น ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับเส้นผมนั่นแหละ.

               ๘. อฏฺฐี (กระดูกทั้งหลาย)               
               คำว่า อฏฺฐี ความว่า เว้นกระดูกฟัน ๓๒ ซี่ กระดูกที่เหลือมีประมาณ ๓๐๐ ท่อน คือ
                         กระดูกมือ ๖๔ ท่อน
                         กระดูกเท้า ๖๔ ท่อน
                         กระดูกอ่อนติดเนื้อ ๖๔ ท่อน
                         กระดูกส้นเท้า ๒ ท่อน
                         กระดูกข้อเท้าสองข้าง ๒ ท่อน
                         กระดูกแข้งสองข้าง ๒ ท่อน
                         กระดูกเข่าสองข้าง ๒ ท่อน
                         กระดูกขา ๒ ท่อน
                         กระดูกสะเอว ๒ ท่อน
                         กระดูกสันหลัง ๑๘ ท่อน
                         กระดูกซี่โครง ๒๔ ท่อน
                         กระดูกหน้าอก ๑๔ ท่อน
                         กระดูกใกล้หัวใจ ๑ ท่อน
                         กระดูกไหปลาร้า ๒ ท่อน
                         กระดูกสะบัก ๒ ท่อน
                         กระดูกแขนท่อนบน ๒ ท่อน
                         กระดูกแขนท่อนล่างสองข้าง ๔ ท่อน
                         กระดูกคอ ๗ ท่อน
                         กระดูกคาง ๒ ท่อน
                         กระดูกดั้งจมูก ๑ ท่อน
                         กระดูกเบ้าตา ๒ ท่อน
                         กระดูกหู ๒ ท่อน
                         กระดูกหน้าผาก ๑ ท่อน
                         กระดูกกระหม่อม ๑ ท่อน
                         กระดูก (กะโหลก) ศีรษะ ๙ ท่อน
               กระดูกเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ว่าโดยสี มีสีขาว. ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานต่างๆ.
               จริงอยู่ บรรดากระดูกเหล่านั้น กระดูกนิ้วเท้าท่อนปลาย มีสัณฐานดังเมล็ดบัว กระดูกท่อนกลางถัดจากท่อนปลาย มีสัณฐานดังเมล็ดขนุน กระดูกท่อนโคน มีสัณฐานดังบัณเฑาะว์. กระดูกหลังเท้า มีสัณฐานดังหมู่ต้นคล้าที่ถูกทุบ. กระดูกส้นเท้า มีสัณฐานดังจาวตาลลอนเดียว. กระดูกข้อเท้า มีสัณฐานดังลูกสะบ้าคู่. กระดูกแข้งในที่เป็นที่ตั้งจดข้อเท้า มีสัณฐานดังหน่อไม้อ่อนที่ปอกเปลือก กระดูกแข้งท่อนเล็ก มีสัณฐานดังคันธนู ท่อนใหญ่ มีสัณฐานดังหลังงูที่แห้งแล้ว. กระดูกเข่า มีสัณฐานดังต่อมน้ำที่แหว่งไปข้างหนึ่ง ตรงที่เป็นกระดูกแข้งจดกระดูกเข่านั้น มีสัณฐานดังเขาโคปลายทู่. กระดูกขาอ่อน มีสัณฐานดังด้ามพร้า หรือด้ามขวานที่เขาทำหยาบๆ ที่ตรงกระดูกขาอ่อนจดอยู่ที่กระดูกสะเอวนั้น มีสัณฐานดังลูกสะบ้ากีฬา ตรงที่กระดูกสะเอวจดกระดูกขานั้น มีสัณฐานดังผลมะงั่วใหญ่ปลายปาด. กระดูกสะเอวแม้ ๒ อัน มีสัณฐานดังเตาของนายช่างหม้อ แยกแต่ละอันมีสัณฐานดังคีมของนายช่างทอง. กระดูกตะโพกตอนปลาย มีสัณฐานดังพังพานงูที่เขาจับคว่ำหน้า มีช่องน้อยช่องใหญ่ ๗ แห่ง. กระดูกสันหลังข้างใน มีสัณฐานดังห่วงแผ่นตะกั่วที่วางซ้อนๆ กันไว้ ข้างนอกมีสัณฐานดังลูกประคำ ในระหว่างๆ แห่งกระดูกเหล่านั้น มีเดือยสองสามอันเช่นกับฟันเลื่อย.
               บรรดากระดูกซี่โครง ๒๔ ซี่ ซี่ที่ไม่เต็มมีสัณฐานดังเคียวที่ไม่เต็มเล่ม ซี่ที่เต็มมีสัณฐานดังเคียวเต็มเล่ม กระดูกซี่โครงแม้ทั้งหมดมีสัณฐานดังปีกกางของไก่ขาว. กระดูกอก ๑๔ ชิ้น มีสัณฐานดังลูกกรงคานหามเก่า. กระดูกใกล้หัวใจ มีสัณฐานดังจวัก. กระดูกไหปลาร้า มีสัณฐานดังด้ามมีดโลหะเล่มเล็ก. กระดูกสะบัก มีสัณฐานดังจอบชาวสีหฬที่เหี้ยนไปข้างหนึ่ง. กระดูกต้นแขน มีสัณฐานดังด้ามแว่น ท่อนปลายมีสัณฐานดังรากตาลคู่. กระดูกข้อมือ มีสัณฐานดังห่วงแผ่นตะกั่วที่เขาเชื่อมติดกันตั้งไว้. กระดูกหลังมือ มีสัณฐานดังกองต้นคล้าที่ทุบแล้ว. กระดูกข้อโคนนิ้วมือ มีสัณฐานดังบัณเฑาะว์ ท่อนกลางมีสัณฐานดังเมล็ดขนุนไม่เต็มเม็ด ท่อนปลายมีสัณฐานดังเมล็ดตุมกา. กระดูกคอ ๗ ชิ้น มีสัณฐานดังแว่นหน่อไม้ไผ่ที่เขาใช้ไม้เสียบตั้งไว้โดยลำดับ. กระดูกคางล่าง มีสัณฐานดังคีมเหล็กของนายช่างโลหะ ท่อนบนมีสัณฐานดังเหล็กขูด. กระดูกเบ้าตาและกระดูกหลุมจมูก มีสัณฐานดังเต้าของลูกตาลอ่อนที่ควักจาวออกแล้ว. กระดูกหน้าผาก มีสัณฐานดังเปลือกสังข์ที่ตั้งคว่ำหน้า. กระดูกกกหู มีสัณฐานดังฝักมีดโกนของช่างกัลบก. กระดูกที่ตั้งติดกันเป็นแผ่นตอนบนของกระดูกหน้าผากและกระดูกกกหู มีสัณฐานดังท่อนแผ่นผ้าเต็มหม้อที่ยับยู่ยี่. กระดูกกระหม่อม มีสัณฐานดังกะโหลกมะพร้าวเบี้ยวที่ปาดหน้าแล้ว. กระดูกศีรษะมีสัณฐานดังกะโหลกน้ำเต้าเก่าที่เขาเย็บติดกันตั้งไว้.
               ว่าโดยทิศ เกิดในทิศทั้งสอง. ว่าโดยโอกาส ตั้งอยู่ในสรีระทั้งสิ้นโดยไม่แปลกกัน. แต่เมื่อว่าโดยแปลกกันในที่นี้ กระดูกศีรษะตั้งอยู่บนกระดูกคอ. กระดูกคอตั้งอยู่บนกระดูกสันหลัง. กระดูกสันหลังตั้งอยู่บนกระดูกสะเอว. กระดูกสะเอวตั้งอยู่บนกระดูกขาอ่อน กระดูกขาอ่อนตั้งอยู่บนกระดูกเข่า. กระดูกเข่าตั้งอยู่บนกระดูกแข้ง. กระดูกแข้งตั้งอยู่บนกระดูกข้อเท้า. กระดูกข้อเท้าตั้งอยู่บนกระดูกหลังเท้า. ว่าโดยปริจเฉท ภายในกำหนดด้วยเยื่อในกระดูก ข้างบนกำหนดด้วยเนื้อ ที่ปลายและโคนกำหนดกระดูกด้วยกัน. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของกระดูกเหล่านั้น ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั้นแหละ.

               ๙. อฏฺฐิมิญฺชํ (เยื่อในกระดูก)               
               คำว่า อฏฺฐิมิญฺชํ คือ เยื่อที่อยู่ภายในกระดูกเหล่านั้นๆ เยื่อในกระดูกนั้นว่าโดยสี มีสีขาว.
               ว่าโดยสัณฐาน เยื่อที่อยู่ภายในแห่งกระดูกท่อนใหญ่ๆ มีสัณฐานดังยอดหวายใหญ่ที่เขาลนไฟยัดไว้ในกระบอกไม้ไผ่ เยื่อที่อยู่ภายในกระดูกท่อนเล็กๆ มีสัณฐานดังยอดหวายเล็กที่เขาลนไฟยัดไว้ในปล้องแห่งข้อไม้ไผ่ (บางแห่งว่า ในปล้องไม้อ้อ) ว่าโดยทิศ เกิดในทิศทั้งสอง. ว่าโดยโอกาส ตั้งอยู่ภายในกระดูกทั้งหลาย. ว่าโดยปริจเฉท กำหนดด้วยพื้นภายในแห่งกระดูกทั้งหลาย. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของเยื่อในกระดูก ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.

               ๑๐. วกฺกํ (ไต โบราณว่า ม้าม)               
               คำว่า วกฺกํ คือ ไต เป็นก้อนเนื้อ ๒ ก้อนมีขั้วเดียวกัน ไตนั้นว่าโดยสี มีสีแดงอ่อนดังสีเม็ดไม้ทองหลาง. ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานดังสะบ้าคู่สำหรับเล่นของเด็กๆ หรือมีสัณฐานดังผลมะม่วงคู่มีขั้วเดียวกัน. ว่าโดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน. ว่าโดยโอกาส ตั้งอยู่โดยเป็นขั้วเดียวกับด้วยเอ็นใหญ่ มีรากเดียวกัน ออกจากหลุมคอไปหน่อยหนึ่งแล้วก็แยกออกเป็น ๒ เส้น โอบเนื้อหัวใจ. ว่าโดยปริจเฉท ไตกำหนดได้ด้วยส่วนที่เป็นไต. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของไต ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.

               ๑๑. หทยํ (เนื้อหัวใจ)               
               คำว่า หทยํ คือ เนื้อหัวใจ เนื้อหัวใจนั้นว่าโดยสี มีสีแดงดังสีหลังกลีบดอกปทุม.
               ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานดังดอกปทุมตูม ที่เขาปลิดกลีบข้างนอกออกแล้วตั้งคว่ำลง ภายนอกเกลี้ยง แต่ภายในเป็นเช่นกับภายในผลบวบขม เนื้อหัวใจของคนมีปัญญาแย้มบานหน่อยหนึ่ง ของคนผู้ไร้ปัญญาเป็นดังดอกบัวตูมนั่นแหละ ก็ภายในของเนื้อหัวใจนั้นเป็นหลุมมีประมาณจุเมล็ดในดอกบุนนาคได้ ในที่ใด โลหิตมีประมาณกึ่งฟายมือขังอยู่ มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุอาศัยที่ใดเป็นไปอยู่ ก็แลโลหิตนั้นๆ ในที่นั้นๆ ของคนมีราคจริตเป็นสีแดง ของคนมีโทสจริตเป็นสีดำ ของคนมีโมหจริตเป็นเช่นกับสีน้ำล้างเนื้อ ของคนมีวิตักกจริตเป็นสีเช่นกับน้ำต้มถั่วพู ของคนมีสัทธาจริตเป็นสีดังดอกกรรณิการ์ ของคนมีปัญญาจริต ใส ผุดผ่อง ไม่หมองมัว ขาว บริสุทธิ์ ย่อมปรากฏรุ่งเรืองอยู่ดุจแก้วมณีบริสุทธิ์ที่เจียระไนแล้ว.
               ว่าโดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน. ว่าโดยโอกาส ตั้งอยู่ใกล้ท่ามกลางระหว่างถันทั้ง ๒ ในภายในสรีระ. ว่าโดยปริจเฉท กำหนดโดยส่วนที่เป็นเนื้อหัวใจ. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของเนื้อหัวใจ ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.

               ๑๒. ยกนํ (ตับ)               
               คำว่า ยกนํ คือ แผ่นเนื้อคู่ ตับนั้นว่าโดยสี มีสีแดงพื้นเหลือง ไม่แดงจัดดังสีหลังกลีบกุมุท (ดอกบัวแดง). ว่าโดยสัณฐาน ที่โคนเป็นแผ่นเดียวกัน ที่ปลายเป็น ๒ แฉก มีสัณฐานดังใบทองหลาง.
               อนึ่ง ตับนั้น สำหรับของคนไม่มีปัญญา เป็นแผ่นใหญ่แผ่นเดียวเท่านั้น ของคนมีปัญญา เป็นแผ่นเล็กๆ ๒ หรือ ๓ แผ่น.
               ว่าโดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน. ว่าโดยโอกาส อาศัยอยู่ข้างขวาภายในระหว่างถันทั้งคู่ตั้งอยู่. ว่าโดยปริจเฉท ตับก็กำหนดโดยส่วนที่เป็นตับ. นี้เป็นสภาคปริจเฉท ส่วนวิภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.

               ๑๓. กิโลมกํ (พังผืด)               
               คำว่า กิโลมกํ คือ พังผืด เป็นเนื้อสำหรับหุ้มมี ๒ ชนิด โดยแยกเป็นพังผืดชนิดปกปิดและพังผืดชนิดที่ไม่ปกปิด พังผืดแม้ทั้งสองนั้นว่าโดยสี มีสีขาวดังสีผ้าทุกูล (ผ้าทำด้วยเปลือกไม้) เก่า.
               ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่ของตน. ว่าโดยทิศ พังผืดชนิดที่ปกติ เกิดในทิศเบื้องบน พังพืดนอกนี้เกิดในทิศทั้งสอง. ว่าโดยโอกาส พังผืดชนิดที่ปิด ตั้งหุ้มหัวใจและไตอยู่ พังผืดชนิดที่ไม่ปกติ ตั้งยึดเนื้อใต้หนังในสรีระทั้งสิ้น. ว่าโดยปริจเฉท เบื้องล่างกำหนดด้วยเนื้อ เบื้องบนกำหนดด้วยหนัง และเบื้องขวางกำหนดโดยส่วนที่เป็นพังผืด. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของพังผืด ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.

               ๑๔. ปิหกํ (ม้าม โบราณว่า ไต)               
               คำว่า ปิหกํ คือ เนื้อเป็นดังลิ้นอยู่ในท้อง ม้ามนั้นว่าโดยสี มีสีนิล (คือสีน้ำเงินแก่) ดุจดอกคนทิสอ. ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานดังลิ้นลูกโคดำ ยื่นออกไปประมาณ ๗ นิ้ว. ว่าโดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน. ว่าโดยโอกาส อาศัยตั้งอยู่ข้างบนพื้นท้องทางซ้ายของหัวใจ เมื่อมันออกมาข้างนอกเพราะถูกประหารด้วยเครื่องประหาร สัตว์ทั้งหลายก็จะสิ้นชีวิต. ว่าโดยปริจเฉท กำหนดโดยส่วนที่เป็นม้าม. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของม้าม ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.

               ๑๕. ปปฺผาสํ (ปอด)               
               คำว่า ปปฺผาสํ คือ ปอด แยกออกจะเป็นชิ้นเนื้อ ๓๒ ชิ้น ปอดนั้นว่าโดยสี มีสีแดงดังผลมะเดื่อไม่สุกจัด. ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานดังขนมชิ้นหนาๆ ที่ตัดไม่เสมอกัน ส่วนภายในมันซีดเผือด เพราะถูกไอร้อนที่เกิดแต่กรรมเผาผลาญโดยไม่มีสิ่งที่กินและดื่มเข้าไป เหมือนก้อนใบไม้ที่เขาเคี้ยวกินแล้ว (เหลือแต่กาก) หารสและโอชะมิได้. ว่าโดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน. ว่าโดยโอกาส ตั้งห้อยปกคลุมหัวใจและตับ อยู่ระหว่างถันทั้ง ๒ ในภายในสรีระ. ว่าโดยปริจเฉท กำหนดด้วยส่วนที่เป็นปอด. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของปอด ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.

               ๑๖. อนฺตํ (ไส้ใหญ่)               
               คำว่า อนฺตํ ได้แก่ ไส้ใหญ่ สำหรับของผู้ชายยาวประมาณ ๓๒ ศอก ของผู้หญิงยาวประมาณ ๒๘ ศอก เป็นไส้ทบ เพราะขดไปมาในที่ ๒๑ แห่ง. ไส้ใหญ่นั้นว่าโดยสี มีสีขาวดังสีก้อนกรวดขาว.
               ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานดังงู (ปลาไหลเผือก) ที่เขาตัดหัวขดไว้ในรางเลือด. ว่าโดยทิศ เกิดในทิศทั้ง ๒. ว่าโดยโอกาส ตั้งอยู่ภายในสรีระ มีคอและทวารหนักเป็นเขตแดน โดยเนื่องเป็นอันเดียวกัน คือเบื้องบนตั้งอยู่ที่หลุมคอ เบื้องล่างตั้งอยู่ที่ทวารหนัก. ว่าโดยปริจเฉท กำหนดส่วนที่เป็นไส้ใหญ่. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของไส้ใหญ่ ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.

               ๑๗. อนฺตคุณํ (ไส้น้อย)               
               คำว่า อนฺตคุณํ คือ ไส้ที่เป็นสายพันอยู่ในที่ขนดไส้ใหญ่ ไส้น้อยนั้นว่าโดยสี มีสีขาวดังรากจงกลนี. ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานดังรากจงกลนีนั่นแหละ. ว่าโดยทิศ เกิดในทิศทั้งสอง. ว่าโดยโอกาส ไส้น้อยนั้นตั้งยึดขนดไส้ใหญ่ไว้เป็นมัดเดียวกันดุจสายเชือกเครื่องยนต์ที่ยึดแท่นยนต์ไว้ในเวลาที่เครื่องยนต์ดึงของนายช่างผู้ทำการงานทั้งหลาย มีการเจาะและการถากเป็นต้น ซึ่งตั้งอยู่ในระหว่างขนดไส้ใหญ่ในที่ ๒๑ แห่ง เหมือนเชือกที่เย็บร้อยในระหว่างมณฑลเชือกสำหรับเช็ดเท้า ฉะนั้น. ว่าโดยปริจเฉท กำหนดโดยส่วนที่เป็นไส้น้อย. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของไส้น้อย ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.

               ๑๘. อุทริยํ (อาหารใหม่)               
               คำว่า อุทริยํ ได้แก่ ของที่กิน (ข้าว) ที่ดื่ม (น้ำ) ที่เคี้ยว (ผลไม้เป็นต้น) ที่ลิ้ม (น้ำผึ้งเป็นต้น) เข้าไปอยู่ในท้อง. อาหารใหม่นั้น ว่าโดยสี มีสีดังอาหารที่กลืนเข้าไป. ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานดังถุงบางๆ ที่บรรจุข้าวสาร. ว่าโดยทิศเกิดในทิศเบื้องบน. ว่าโดยโอกาส ตั้งอยู่ในอุทร (กระเพาะอาหาร) อวัยวะเยื่อลำไส้ เช่นกับโป่งผ้าที่เกิดขึ้นตรงกลางแห่งผ้าเปียกที่เขารวบชายไว้ เรียกว่าอุทร. อุทรนั้นข้างนอกเกลี้ยง ข้างในเช่นกับผ้าที่ห่อเศษเนื้อหรือผ้าห่อประจำเดือนที่เปื้อนแล้ว แม้จะกล่าวว่า เช่นกับภายในแห่งลูกขนุนละมุด ก็ควร. ในอุทรเล่า ก็มีหมู่หมอนทั้งหลายแยกออกได้ถึง ๓๒ ตระกูล คือมีพยาธิไส้เดือน พยาธิตัวกลม พยาธิเสี้ยนตาล พยาธิปากเข็ม (ตัวจิ๊ด) พยาธิตัวแบน พยาธิเส้นด้ายเป็นต้น เป็นตระกูลต่างๆ เกลื่อนกล่นอาศัยอยู่เที่ยวไปเป็นหมู่ๆ ครั้นเมื่อน้ำและข้าวเป็นต้นไม่มีอยู่ มันก็จะพลุ่งพล่านกัดกินเนื้อที่มันอาศัยอยู่ ในเวลาที่กลืนอาหารมีน้ำและข้าวเป็นต้นลงไป มันก็จะพากันชูปากขึ้นรับ ตะลีตะลานยื้อแย่งคำข้าวที่กลืนลงไปครั้งแรก ๒-๓ คำ. ที่อุทรนั้นแล เป็นดุจเรือนคลอด วัจจกุฏี (เรือนถ่าย) โรงพยาบาลและสุสาน (ป่าช้า) ของหนอนเหล่านั้น. อาหารทั้งหลายมีน้ำและข้าวเป็นต้น มีประการต่างๆ ที่แหลกด้วยสากคือฟัน พลิกกลับไปมาด้วยมือคือลิ้น คลุกเคล้าด้วยน้ำลาย ขณะนั้นแหละก็จะเป็นสิ่งที่ปราศจากคุณสมบัติของสี กลิ่น รสเป็นต้น เป็นเช่นกับข้าวย้อมด้ายของนายช่างหูกหรือเป็นเช่นสุนัขกับรากสุนัข ครั้นตกลงไปในคอก็จะคลุกเคล้าด้วยน้ำดี น้ำเสลดเดือดขึ้นแล้วด้วยกำลังแห่งความเผาของไฟในท้อง (ธาตุไฟย่อยอาหาร) อากูลไปด้วยหมู่หนอน ปล่อยพองขึ้นข้างบนโดยลำดับ ถึงซึ่งความเป็นสิ่งสกปรก มีกลิ่นเหม็นยิ่งนัก ตั้งอยู่ในอุทรนั้น.
               เปรียบเหมือนเมื่อฝนเมล็ดหนา ตกลงมาในฤดูแล้ง ซากสัตว์ต่างๆ จำเดิมแต่มูตร คูถ ท่อนหนัง กระดูก เอ็น น้ำลาย น้ำมูกและเลือดเป็นต้น ที่น้ำพาไปตกลงที่แอ่งน้ำโสโครกใกล้ประตูบ้านของคนจัณฑาล และผสมเข้ากับโคลนตมสองสามวันก็มีหมู่หนอนเกิดขึ้นแล้ว แอ่งน้ำนั้นเดือดขึ้นแล้วด้วยความร้อนด้วยกำลังแห่งแสงแดด ปล่อยฟองขึ้นข้างบนบ่อยๆ เป็นของมีสีเขียวคล้ำ เป็นสิ่งน่ารังเกียจด้วยกลิ่นเหม็นอย่างยิ่ง ถึงซึ่งความเป็นรูปไม่น่าเข้าไปใกล้ ไม่น่าเห็น จะป่วยกล่าวไปไยถึงการเป็นสิ่งน่าดม น่าลิ้มเล่าแม้ฉันใด น้ำและข้าวเป็นต้นมีประการต่างๆ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อันสากคือฟันบดละเอียดแล้ว อันมือคือลิ้น ตวัดพลิกกลับไปมา แล้วคลุกเคล้าด้วยน้ำลาย ปราศจากความถึงพร้อมด้วยสีกลิ่นและรสเป็นต้นในทันที เสมือนรากสุนัขในรางสุนัข รวมกันคลุกเคล้าด้วยน้ำดีและเสลด เดือดด้วยแรงไฟและความร้อนในท้อง หนอนตระกูลใหญ่น้อยปล่อยฟองฟอดขึ้นข้างบนถึงความเป็นกองขยะมีกลิ่นเหม็นน่าเกลียดอย่างยิ่ง ตั้งอยู่ แม้เพราะฟังเรื่องอุทรไรเล่า ความไม่ชอบใจในน้ำและข้าวเป็นต้น ก็เกิดขึ้นได้ จะกล่าวไปไยถึงความไม่ชอบใจในน้ำและข้าวเป็นต้น เพราะการแลดูด้วยปัญญาจักษุเล่า.
               อนึ่ง ในอุทรใด ในอุทรนั้นที่มีของกินมีน้ำและข้าวเป็นต้น ตกลงไปแล้วย่อมถึงซึ่งการแยกเป็นส่วนๆ ๕ ส่วน คือสัตว์ (พยาธิ) ทั้งหลายย่อมเคี้ยวกินเสียส่วนหนึ่ง ไฟธาตุย่อมเผาผลาญเสียส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่งก็เป็นมูตร ส่วนหนึ่งก็เป็นคูถ ส่วนหนึ่งถึงความเป็นอาหารไปเพิ่มพูนโกฏฐาสมีเลือดและเนื้อเป็นต้นให้เจริญ. ว่าโดยปริจเฉทกำหนดด้วยเยื่ออุทร และส่วนที่เป็นอุทริยะ (คืออาหารใหม่). นี้เป็นสภาคปริจเฉทของอาหารใหม่ ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.

               ๑๙. กรีสํ (อาหารเก่า)               
               คำว่า กรีสํ คือ อุจจาระ อุจจาระนั้นว่าโดยสี มีสีดังอาหารที่กลืนเข้าไปนั่นแหละโดยมาก. ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่. ว่าโดยทิศ เกิดในทิศเบื้องต่ำ. ว่าโดยโอกาส ตั้งอยู่ที่กระเพาะอุจจาระ (ปกฺกาสเย ที่พักอาหารสุก). ชื่อว่ากระเพาะอุจจาระ เป็นเช่นกับกระบอกไม้ไผ่ สูงประมาณ ๘ องคุลี อยู่ตอนสุดของลำไส้ใหญ่ ในระหว่างนาภี (สะดือ) ตอนล่างกับโครงกระดูกสันหลัง. อาหารอย่างใดอย่างหนึ่งมีน้ำและข้าวเป็นต้น ตกไปแล้วในกระเพาะอาหาร (อามาสเย ที่พักอาหารดิบ) เดือดเป็นฟองด้วยไฟในอุทร (ไฟธาตุ) สุกไปๆ แหลกละเอียดแล้ว ราวกะบดด้วยลูกหินบด แล้วเคลื่อนไปๆ ตามโพรงแห่งลำไส้ใหญ่ ตกไปทับถมกันอยู่ราวกับดินสีเหลืองที่เขาขยำใส่ไว้ในปล้องไม้ไผ่ เปรียบเหมือนน้ำฝนอันตกลงข้างบนๆ ไหลลงมา ทำให้ภาคพื้นเบื้องต่ำขังอยู่เต็ม ฉะนั้น.
               ว่าโดยปริจเฉท กำหนดด้วยเยื่อกระเพาะอุจจาระและโดยส่วนที่เป็นอุจจาระ. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของกรีสะ ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.

               ๒๐. มตฺถลุงฺคํ (มันสมอง)๑-               
               คำว่า มตฺถลุงฺคํ คือ กองเยื่อที่ตั้งอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ. มันสมองนั้นว่าโดยสี มีสีขาวดังดอกเห็ด แม้จะกล่าวว่า มีสีดังนมสดที่ยังไม่เปลี่ยนเป็นนมส้มก็ควร. ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่. ว่าโดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน. ว่าโดยโอกาส อาศัยแนวประสาน ๔ แห่ง ตั้งรวมกันอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ ดุจก้อนแป้ง ๔ ก้อนที่เขาตั้งไว้รวมกัน. ว่าโดยปริจเฉท กำหนดด้วยพื้นภายในกะโหลกศีรษะ และโดยส่วนที่เป็นมันสมอง. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของมัตถลุงคัง ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.
____________________________
๑- บาลีกล่าวรวมไว้ใน อฏฺฐิมิญฺชํ เยื่อในกระดูก.

               ๒๑. ปิตฺตํ (น้ำดี)               
               คำว่า ปิตฺตํ ได้แก่ น้ำดี ๒ ชนิด คือน้ำดีที่อยู่ในถุงน้ำดี (พทฺธปิตฺตํ) และน้ำดีที่ไม่อยู่ในถุง (อพทฺธปิตฺตํ). ในน้ำดีทั้ง ๒ นั้น น้ำดีที่อยู่ในถุง ว่าโดยสี มีสีดังน้ำมันมะซางข้นๆ น้ำดีที่ไม่อยู่ในถุง มีสีดังดอกพิกุลแห้ง ว่าโดยสัณฐาน น้ำดีแม้ทั้ง ๒ มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่. ว่าโดยทิศ น้ำดีในถุงเกิดในทิศเบื้องบน น้ำดีนอกนี้เกิดในทิศทั้ง ๒. ว่าโดยโอกาส เว้นผมขน เล็บ ฟันและหนังที่แห้งกระด้างแล้ว ตั้งอยู่เอิบอาบซึมซาบในสรีระที่เหลือ ดุจหยาดน้ำมันในน้ำเอิบอาบซึมซาบแผ่ไปฉะนั้น เมื่อน้ำดีนี้กำเริบ นัยน์ตาของสัตว์ย่อมเหลือง ย่อมวิงเวียนศีรษะ ร่างกายย่อมหวั่นไหว ย่อมคัน. น้ำดีที่ขังอยู่ในถุงน้ำดี ตั้งอยู่ในฝัก (ถุง) ของน้ำดี เช่นกับฝักของบวบใหญ่ มันติดอยู่ที่เนื้อตับในระหว่างหัวใจกับปอด. เมื่อน้ำดีนี้กำเริบ สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นบ้า มีจิตวิปลาส ละทิ้งหิริโอตตัปปะ ย่อมกระทำสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ย่อมกล่าวสิ่งที่ไม่ควรกล่าว ย่อมคิดสิ่งที่ไม่ควรคิด.
               ว่าโดยปริจเฉท กำหนดโดยส่วนที่เป็นน้ำดี. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของน้ำดี ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.

               ๒๒. เสมฺหํ (เสมหะหรือเสลด)               
               คำว่า เสมฺหํ คือ เสลด มีประมาณเต็มกอบหนึ่ง อยู่ภายในร่างกาย. เสมหะนั้นว่าโดยสี มีสีขาว ดังสีน้ำใบแตงหนู. ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่. ว่าโดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน. ว่าโดยโอกาส ตั้งอยู่ที่เยื่ออุทรในเวลาที่กลืนน้ำและข้าวเป็นต้น ก็เมื่อน้ำและข้าวเป็นต้นตกลงไป มัน (เสมหะ) ก็จะแยกออกจากกันแล้วก็กลับหุ้มปกปิดตามเดิม เปรียบเหมือนแหนในน้ำ ครั้นเมื่อไม้หรือกระเบื้องตกลงไป มันก็จะแยกออกจากกันแล้วก็กลับหุ้มเข้าตามเดิม ฉะนั้น.
               อนึ่ง เมื่อเสมหะมีน้อยไป อุทรจะส่งกลิ่นเหม็นซากสัตว์อันน่ารังเกียจอย่างยิ่ง ดุจหัวฝีหรือไข่เน่าที่แตก ฉะนั้น. และเพราะกลิ่นอันฟุ้งขึ้นจากอุทรนั้น ลมเรอก็ดี ปากก็ดี ย่อมมีกลิ่นเหม็นเช่นกับซากสัตว์เน่า ทั้งเขาผู้นั้น ย่อมจะถูกขับไล่ว่า ออกไป เจ้าตัวส่งกลิ่นเหม็น.
               อนึ่ง เสมหะนั้นมีมากแล้ว มันก็จะปิดกั้นกลิ่นสัตว์ไว้ภายในอวัยวะอุทรนั่นแหละเหมือนแผ่นกระดานที่ปิดวัจจกุฏี ฉะนั้น.
               ว่าโดยปริจเฉท กำหนดส่วนที่เป็นเสมหะ. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของเสมหะ ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.

               ๒๓. ปุพฺโพ (น้ำเหลือง น้ำหนอง)               
               คำว่า ปุพฺโพ ว่าโดยสี มีสีดังใบไม้เหลือง. แต่ในร่างกายของผู้ตาย มีสีดังน้ำข้าวข้นที่บูด. ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่. ว่าโดยทิศ เกิดในทิศทั้งสอง. ว่าโดยโอกาส ชื่อว่าโอกาสของปุพโพมิได้ขังอยู่เป็นนิตย์ ก็แต่เมื่อส่วนแห่งร่างกายใด ถูกกระทบด้วยตอไม้ หนามแหลม เครื่องประหารและเปลวไฟเป็นต้นโลหิตก็จะห้อขึ้น หรือว่าต่อมมีฝีเป็นต้นเกิดขึ้นในที่ใดๆ ปุพโพนั้นก็พึงก่อตัวขึ้นในที่นั้นๆ.
               ว่าโดยปริจเฉท กำหนดโดยส่วนที่เป็นปุพโพ. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของปุพโพ ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.

               ๒๔. โลหิตํ (โลหิต เลือด)               
               คำว่า โลหิตํ ได้แก่ โลหิต ๒ ชนิด คือ สันนิจิตโลหิต (โลหิตที่ขัง) และสังสรณโลหิต (โลหิตที่ไหลเวียนไป). ใน ๒ อย่างนั้น สันนิจิตโลหิต ว่าโดยสี มีสีดังน้ำครั่งข้นที่แก่ไฟ. สังสรณโลหิต มีสีดังน้ำครั่งใสๆ ว่าโดยสัณฐาน แม้ทั้งสองมีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่. ว่าโดยทิศ สันนิจิตโลหิตเกิดในทิศเบื้องบน โลหิตนอกนี้เกิดในทิศทั้งสอง ว่าโดยโอกาส สังสรณโลหิตตั้งแผ่ไปสู่อุปาทินนกสรีระทั้งสิ้นตามเส้นโลหิต เส้นผม ขน เล็บ ฟันและหนังที่แห้งกระด้าง. สันนิจิตโลหิตมีประมาณบาตรหนึ่ง (ขนาดใบเล็ก) ตั้งอยู่เต็มส่วนใต้ของที่ตั้งของตับ ค่อยๆ ไหลไปบนไต หัวใจ ตับ ปอด ทำให้ไต หัวใจ ตับ ปอดชุ่มอยู่เสมอ เพราะว่าเมื่อโลหิตนไม่ทำให้ไต หัวใจเป็นต้นชุ่มอยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมกระหาย.
               ว่าโดยปริจเฉท กำหนดส่วนที่เป็นโลหิต. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของโลหิต ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.

               ๒๕. เสโท (เหงื่อ)               
               คำว่า เสโท คือ อาโปธาตุที่ไหลออกตามรูขนเป็นต้น. เหงื่อนั้นว่าโดยสี มีสีดังน้ำมันงาใส. ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่. ว่าโดยทิศ เกิดในทิศทั้งสอง ว่าโดยโอกาส ชื่อว่าโอกาสของเหงื่อมิได้มีอยู่เป็นนิตย์ เหมือนโลหิต แต่เมื่อใด ร่างกายย่อมร้อนด้วยความร้อนของไฟ ของแสงแดดและความเปลี่ยนแปลงของอุตุเป็นต้น เมื่อนั้น เหงื่อก็จะไหลออกจากรูผมและขนทั้งปวง ราวกะกำสายบัวพอถอนขึ้นพ้นจากน้ำซึ่งมีรากเหง้าขาดไม่เสมอกัน น้ำก็จะไหลออกไป ฉะนั้น เพราะฉะนั้น แม้สัณฐานของเสโทนั้น ก็พึงทราบด้วยสามารถแห่งช่องรูผมและขนนั่นแหละ. พระโยคีผู้กำหนดเสโทเป็นอารมณ์ พึงมนสิการเสโทตามที่ขังอยู่เต็มในช่องรูผมและขนนั่นแล.
               ว่าโดยปริจเฉท กำหนดโดยส่วนที่เป็นเสโท. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของเสโท ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.

               ๒๖. เมโท (มันข้น)               
               คำว่า เมโท คือ มันข้น. มันข้นนั้นว่าโดยสี มีสีดังขมิ้นที่ผ่าออกแล้ว. ว่าโดยสัณฐาน สำหรับบุคคลผู้มีร่างกายอ้วนก่อน มีสัณฐานดังผ้าทุกูลเก่ามีสีขมิ้นตั้งอยู่ในระหว่างหนังกับเนื้อ. ส่วนบุคคลผู้มีร่างกายผอม มีสัณฐานดังผ้าทุกูลเก่ามีสีขมิ้นที่ทำเป็น ๒-๓ ชั้น อาศัยเนื้อเหล่านี้คือ เนื้อแข้ง เนื้อขา เนื้อหลังติดอยู่กับกระดูกสันหลัง และเนื้อท้องน้อย. ว่าโดยทิศ เกิดในทิศทั้งสอง ว่าโดยโอกาส สำหรับคนอ้วน มันแผ่ไปสู่สรีระทั้งสิ้น สำหรับคนผอมอาศัยเนื้อแข้งเป็นต้นตั้งอยู่ มันข้นนี้ แม้ถึงการนับว่าเป็นน้ำมันได้ แต่เพราะเป็นของน่ารังเกียจอย่างยิ่ง ชนทั้งหลายจึงมิได้ถือเอาเพื่อใช้ทาศีรษะและใช้เป็นน้ำมันหยอดจมูกเป็นต้น.
               ว่าโดยปริจเฉท เบื้องต่ำกำหนดด้วยเนื้อ เบื้องบนกำหนดด้วยหนัง เบื้องขวางกำหนดโดยส่วนที่เป็นมันข้น. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของมันข้น ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.

               ๒๗. อสฺสุ (น้ำตา)               
               คำว่า อสฺสุ คือ อาโปธาตุอันไหลออกจากนัยน์ตา. ว่าโดยสี มีสีดังน้ำมันงาใส. ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่. ว่าโดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน. ว่าโดยโอกาส ตั้งอยู่ที่เบ้าตา แต่ว่าน้ำตานั้นมิได้ขังอยู่ในเบ้าตาทุกเมื่อ เหมือนน้ำดีในถุงน้ำดี ก็เมื่อใดสัตว์ทั้งหลายเกิดโสมนัสหัวเราะใหญ่ เกิดโทมนัสร้องไห้คร่ำครวญ กินอาหารอันเป็นวิสภาคมีอย่างนั้นเป็นรูป (หมายความว่า กินอาหารชนิดที่ทำให้น้ำตาไหลได้) และเมื่อใด ดวงตาของสัตว์ทั้งหลายกระทบกับควันละอองธุลีเป็นต้น มัน (น้ำตา) ย่อมมาตั้งอยู่ที่เบ้าตา หรือย่อมไหลออก เพราะการเกิดขึ้นด้วยโสมนัส, โทมนัส, อาหารอันเป็นวิสภาค, และอุตุเหล่านั้น.
               ก็พระโยคีผู้กำหนดน้ำตาเป็นอารมณ์ พึงกำหนดด้วยสามารถแห่งน้ำตาที่ตั้งอยู่เต็มเบ้าตานั่นแหละ. ว่าโดยปริจเฉท กำหนดโดยส่วนที่เป็นน้ำตา. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของน้ำตา ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.

               ๒๘. วสา (มันเหลว)               
               คำว่า วสา คือ น้ำมันเหลว. น้ำมันเหลวนั้นว่าโดยสี มีสีดังน้ำมันมะพร้าว แม้จะกล่าวว่า มีสีดังน้ำมันที่ลาดลงในข้าวตัง ก็ควร. ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานแผ่ไปดังหยาดน้ำมันที่ลอยคว้างอยู่เหนือน้ำอันใสในเวลาที่ทำการชำระล้าง. ว่าโดยทิศ เกิดในทิศทั้งสอง ว่าโดยโอกาส โดยมากตั้งอยู่ที่ฝ่ามือ หลังมือ ฝ่าเท้า หลังเท้า ปลายจมูก หน้าผากและจะงอยบ่า ก็แต่มันเหลวนั้นมิได้ละลายอยู่ในที่เหล่านั้นทุกเมื่อ เมื่อใด ส่วนของร่างกายเหล่านั้นเกิดความร้อนขึ้นด้วยไฟ, แสงแดด, อุตุวิสภาคะและธาตุวิสภาคะ เมื่อนั้น จึงซ่านไปข้างโน้นข้างนี้ ราวกะการแผ่ไปของหยาดน้ำมันเหนือน้ำใสในเวลาทำความสะอาดนั้น ฉะนั้น. ว่าโดยปริจเฉท กำหนดโดยส่วนที่เป็นมันเหลว. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของมันเหลว ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.

               ๒๙. เขโฬ (น้ำลาย)               
               คำว่า เขโฬ คือ อาโปธาตุที่ประสมขึ้นเป็นฟองภายในปาก. เขฬะนั้นว่าโดยสี มีสีขาวดังฟองน้ำ ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่ แม้จะกล่าวว่า มีสัณฐานดังฟองน้ำ ก็ควร. ว่าโดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน. ว่าโดยโอกาส ออกจากกระพุ้งแก้มทั้งสองมาตั้งอยู่ที่ลิ้น แต่มิได้ขังอยู่ในที่นั้นทุกเมื่อ แต่เมื่อใด สัตว์ทั้งหลายเห็นหรือนึกถึงอาหารเห็นปานนั้น (หมายถึงอาหารที่ทำให้น้ำลายออกได้) หรือว่า วางสิ่งอะไรๆ มีรสร้อน ขม เผ็ด เค็มและเปรี้ยวลงไปในปาก หรือว่าเมื่อใดหัวใจของสัตว์เหล่านั้นอ่อนเพลีย หรือเกิดความหิวกระหายในอะไรๆ ขึ้น เมื่อนั้นน้ำลายเกิดขึ้นแล้วก็หยั่งลงที่กระพุ้งแก้มทั้งสองข้างมาอยู่ที่ลิ้น. อนึ่ง น้ำลายนั้นที่ปลายลิ้นมีน้อย ที่โคนลิ้นมีมาก มิรู้จักหมดสิ้นไป ทั้งสามารถเพื่อจะยังอะไรๆ มีข้าวเม่าหรือข้าวสาร หรือของที่ควรเคี้ยว ที่ใส่เข้าไปในปากให้ชุ่มอยู่ ดุจบ่อน้ำที่เขาขุดไว้ใกล้หาดทราย ฉะนั้น.
               ว่าโดยปริจเฉท กำหนดโดยส่วนที่เป็นน้ำลาย. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของน้ำลาย ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.

               ๓๐. สิงฺฆานิกา (น้ำมูก)               
               คำว่า สิงฺฆานิกา ได้แก่ น้ำไม่สะอาดอันไหลออกจากมันสมอง. น้ำมูกนั้นว่าโดยสี มีสีดังเยื่อในจาวตาลอ่อน. ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่. ว่าโดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน. ว่าโดยโอกาส ตั้งอยู่เต็มโพรงจมูก แต่มิได้ขังอยู่ในที่นั้นทุกเมื่อ ก็แลเมื่อใด สัตว์ทั้งหลายร้องไห้ หรือเป็นผู้มีธาตุกำเริบอันเกิดขึ้นด้วยอาหารอันแสลงหรือฤดูเปลี่ยนแปลง เมื่อนั้น มันสมองที่ถึงความเป็นเสมหะเสีย จึงเคลื่อนหยั่งลงตามช่องเพดานข้างบนมาตั้งอยู่เต็มโพรงจมูก หรือย่อมไหลออกไป เปรียบเหมือนคนห่อนมส้มด้วยใบบัว แล้วเอาหนามแทงข้างล่าง ทีนั้น น้ำเหลวของนมส้มก็จะไหลออกตามช่องนั้น แล้วพึงตกไปภายนอก ฉะนั้น.
               ก็พระโยคีผู้กำหนดน้ำมูกเป็นอารมณ์ พึงกำหนดด้วยสามารถแห่งน้ำมูกที่ตั้งอยู่เต็มจมูก แล. ว่าโดยปริจเฉท กำหนดโดยส่วนที่เป็นน้ำมูก. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของน้ำมูก ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.

               ๓๑. ลสิกา (ไขข้อ)               
               คำว่า ลสิกา ได้แก่ ไขลื่นเป็นมันที่มีกลิ่นเหม็นสางภายในข้อต่อของร่างกาย. ไขข้อนั้นว่าโดยสี มีสีดังยางดอกกรรณิการ์. ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานตามที่ตั้งอยู่. ว่าโดยทิศ เกิดในทิศทั้งสอง ว่าโดยโอกาส ตั้งอยู่ที่ข้อต่อ ๑๐๘ แห่ง ซึ่งทำกิจคือการหยอดทาข้อต่อกระดูกทั้งหลายให้สำเร็จอยู่. ก็ไขข้อนั้นของผู้ใดมีน้อยไป เมื่อผู้นั้นลุกขึ้น นั่งลง ก้าวไปข้างหน้า ถอยมาข้างหลัง คู้ เหยียด กระดูกทั้งหลายจะลั่นดังกฏะๆ เหมือนคนที่เที่ยวดีดนิ้วมือ เมื่อเดินทางไกล แม้ประมาณโยชน์หนึ่งหรือสองโยชน์ วาโยธาตุก็จะกำเริบ ร่างกายย่อมเป็นทุกข์ แต่ของผู้ใดมีมาก กระดูกทั้งหลายย่อมไม่ส่งเสียงดังกฏะๆ ในเวลาลุกขึ้นและนั่งลงเป็นต้น เมื่อเดินทางไกล วาโยธาตุก็ไม่กำเริบ ร่างกายก็ไม่เป็นทุกข์.
               ว่าโดยปริจเฉท กำหนดโดยส่วนที่เป็นไขข้อ. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของไขข้อ ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.

               ๓๒. มุตฺตํ (น้ำมูตร)               
               คำว่า มุตฺตํ ได้แก่ น้ำมูตร ว่าโดยสี มีสีดังน้ำด่างถั่วเหลือง. ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานดังน้ำอยู่ในหม้อน้ำที่เขาตั้งปิดปาก. ว่าโดยทิศ เกิดในทิศเบื้องต่ำ. ว่าโดยโอกาส ตั้งอยู่ภายในกระเพาะปัสสาวะ, ถุงแห่งกระเพาะปัสสาวะ ท่านเรียกว่ากระเพาะปัสสาวะ. ในกระเพาะนั้นเล่า น้ำมูตรย่อมไหลออกจากสรีระ แต่ทางที่เข้าไปของน้ำปัสสาวะมิได้ปรากฏ ส่วนทางที่ออกไปย่อมปรากฏ เปรียบเหมือนน้ำครำที่ซึมเข้าไปในหม้อน้ำเกลือ (หม้อเนื้อหยาบ) ที่ปิดปากอันเขาทิ้งไว้ในแอ่งน้ำครำ ทางเข้าของมันมิได้ปรากฏ ฉะนั้น. อนึ่ง ในกระเพาะไรเล่า เต็มแล้วด้วยน้ำมูตร ความขวนขวายของสัตว์ทั้งหลายจึงเกิดว่า เราจักถ่ายปัสสาวะดังนี้.
               ว่าโดยปริจเฉท กำหนดโดยภายในแห่งกระเพาะ และโดยสิ่งที่เป็นน้ำมูตร. นี้เป็นสภาคปริจเฉทของน้ำมูตร ส่วนวิสภาคปริจเฉทเช่นกับผมนั่นแหละ.
               ก็แล พระโยคาวจร ครั้นกำหนดโกฏฐาสทั้งหลายมีผมเป็นต้นโดยสี สัณฐาน ทิศ โอกาสและปริจเฉทอย่างนี้แล้ว เมื่อจะมนสิการด้วยสามารถแห่งการก้าวล่วงบัญญัติ โดยใส่ใจว่าปฏิกูล ปฏิกูล ๕ อย่างด้วยสี สัณฐาน กลิ่น อาสยะและโอกาส โดยนัย อนุปุพฺพโต (โดยลำดับ) นาติสีฆโต (โดยไม่เร็วเกินไป) นาติสณิกโต (โดยไม่ช้าเกินไป) เป็นต้น โดยพิจารณากายนี้ว่า อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย เกสา ในกายนี้มีผมเป็นต้น ธรรมทั้งปวงเหล่านั้น (โกฏฐาสทั้งหมด) ก็ย่อมปรากฏ ดุจไม่ก่อนไม่หลังกัน เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีตาดี แลดูพวงดอกไม้ ๓๒ สี ที่เขาร้อยไว้ด้วยด้ายเส้นเดียว ดอกไม้ทั้งหลายย่อมปรากฏ ดุจไม่ก่อนไม่หลัง ฉะนั้น.
               ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ในกถาแห่งมนสิการโกศลว่า ก็เมื่อพระโยคาวจรมนสิการว่า เกสา มนสิการไปจนจดโกฏฐาสสุดท้ายว่า มุตฺตํ นี้นั่นแหละ. ก็ถ้าว่า จิตจะพิจารณามนสิการไปในภายนอกบ้างไซร้ เมื่อโกฏฐาสทั้งปวงปรากฏแล้ว ในลำดับนั้น มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายผู้เดินไปมา ก็จะละอาการว่าเป็นสัตว์ ปรากฏแก่พระโยคาวจรนั้นโดยเป็นกองแห่งโกฏฐาสเท่านั้น และอาหารมีน้ำและข้าวเป็นต้น อันสัตว์เหล่านั้นกลืนเข้าไปอยู่ ก็ย่อมปรากฏราวกะของที่เขาใส่เข้าไปในกองแห่งโกฏฐาส.
               ในลำดับนั้น เมื่อพระโยคาวจรมนสิการเนืองๆ ว่า ปฏิกูล ปฏิกูล ด้วยการมนสิการโกศล โดยอนุปุพฺมุญฺโต (การปล่อยลำดับ) เป็นต้น อัปปนาก็ย่อมเกิดขึ้นโดยลำดับ. ในการเกิดขึ้นแห่งอัปปนานั้น การปรากฏด้วยอำนาจแห่ง สี สัณฐาน ทิศ โอกาสและปริจเฉท เป็นอุคคหนิมิต. การปรากฏแห่งโกฏฐาสด้วยอำนาจแห่งปฏิกูลโดยอาการทั้งปวง เป็นปฏิภาคนิมิต.
               เมื่อพระโยคาวจรรับอารมณ์ปฏิภาคนิมิตนั้นมามนสิการอยู่ ตรึกอยู่บ่อยๆ นามขันธ์ ๔ ก็จะมีปฏิกูลเป็นอารมณ์ อัปปนาก็จะดำรงอยู่ด้วยอำนาจแห่งปฐมฌาน. ในปุพภาค จิตมีบริกรรมและอุปจารเป็นไปกับด้วยวิตก วิจาร มีปีติสหรคตด้วยโสมนัส มีปฏิกูลเป็นนิมิต แม้อัปปนาก็มีวิตก วิจาร ปีติสหรคตด้วยโสมนัสเทียว. แต่ว่าโดยลำดับแห่งภูมิ อัปปนานั้นเป็นมหัคคตะ เป็นรูปาวจร. ก็โสมนัสย่อมเกิดขึ้นเพราะความเป็นผู้มีปกติเห็นอานิสงส์ในอารมณ์แม้ปฏิกูลนั้น. อีกอย่างหนึ่ง โสมนัสนั้นย่อมเกิดขึ้นด้วยกำลังแห่งอารมณ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน. ส่วนทุติยฌานเป็นต้นมิได้เกิดขึ้นในอารมณ์ปฏิกูลนั้น.
               ถามว่า เพราะอะไร.
               ตอบว่า เพราะความเป็นอารมณ์อันหยาบ.
               จริงอยู่ ปฏิกูลนี้เป็นอารมณ์หยาบ ทุติยฌานเป็นต้นจึงมิได้เกิดขึ้น.
               ในอธิการนี้ ความเป็นเอกัคคตาแห่งจิต ย่อมเกิดได้ด้วยกำลังแห่งวิตกเท่านั้น มิได้เกิดขึ้นด้วยการก้าวล่วงวิตกเลย.
               นี้เป็นกรรมฐานกถาด้วยอำนาจแห่งสมถะก่อน.

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ สติปัฏฐานวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 416อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 431อ่านอรรถกถา 35 / 458อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=5874&Z=6259
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=5445
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=5445
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :