ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 416อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 431อ่านอรรถกถา 35 / 458อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
สติปัฏฐานวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์

หน้าต่างที่ ๔ / ๔.

               อรรถกถาเวทนานุปัสสนานิทเทส               
               แม้ในเวทนานุปัสสนานิทเทส พึงทราบเช่นเดียวกับคำที่กล่าวแล้วในหนหลัง โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ. ก็ในข้อว่า สุขํ เวทนํ เวทยมาโน เป็นต้น คำว่า สุขํ เวทนํ อธิบายว่า เมื่อเสวยสุขเวทนาอันเป็นไปทางกายหรือทางจิต ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนา ดังนี้.
               ในข้อนี้เปรียบเหมือนทารกทั้งหลาย แม้ยังนอนหงายอยู่ในเวลาที่ดื่มน้ำนมเป็นต้น เมื่อเสวยสุขเวทนา ก็ย่อมรู้ว่าเราเสวยสุขเวทนา ก็จริง ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็มิได้ตรัสหมายเอาความรู้เช่นนั้น. ด้วยว่า ความรู้เช่นนั้น ย่อมไม่ละสัตตูปลัทธิ (คือความเห็นว่าเป็นสัตว์) ย่อมไม่เพิกถอนสัตตสัญญา (คือความสำคัญว่าเป็นสัตว์) ทั้งมิใช่กรรมฐาน หรือมิใช่การเจริญสติปัฏฐาน. แต่ความรู้ของภิกษุนี้ย่อมละสัตตูปลัทธิ ย่อมเพิกถอนสัตตสัญญา ทั้งเป็นกรรมฐานด้วยเป็นการเจริญสติปัฏฐานด้วย. เพราะว่า ข้อนี้ ท่านกล่าวหมายเอาการเสวย คือ ความรู้สึกอย่างนี้ว่า ใครเสวยเวทนา เวทนาของใคร เวทนามีอะไรเป็นเหตุ ดังนี้.
               ในปัญหาเหล่านั้น ข้อว่า ใครเสวยเวทนา ความว่า ใครๆ คือ สัตว์หรือว่าบุคคลย่อมเสวยเวทนาหามิได้. ข้อว่า เวทนาของใคร ความว่า มิใช่เวทนาของใครๆ ไม่ว่าเป็นสัตว์ หรือบุคคล. ข้อว่า เวทนามีอะไรเป็นเหตุ ความว่า ก็เวทนานั้นแล มีวัตถุเป็นอารมณ์. เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นทราบชัดอย่างนี้ว่า เวทนาเทียว อันเขาย่อมเสวย เพราะทำวัตถุแห่งสุขเป็นต้นนั้นๆ ให้เป็นอารมณ์ แต่เพราะถือเอาความเป็นไปแห่งเวทนานั้น ก็ย่อมเป็นเพียงโวหารว่า เราเสวยเวทนา ดังนี้ ครั้นทำวัตถุให้เป็นอารมณ์อย่างนี้แล้ว เมื่อกำหนดว่า เราเสวยเวทนา ดังนี้ พึงทราบว่าเขาผู้นั้นย่อมทราบชัดว่า เราเสวยสุขเวทนาอยู่ ดังนี้. เหมือนพระเถระรูปใดรูปหนึ่ง ในจิตตลบรรพต.
               ได้ยินว่า พระเถระ ในเวลาที่ท่านไม่สบาย นอนร้องครวญครางอยู่ เพราะเวทนากล้า พลิกกลับไปมา. ภิกษุหนุ่มองค์หนึ่งมาถามท่านว่า ท่านขอรับ ท่านเจ็บปวดตรงไหน. พระเถระตอบว่า ผู้มีอายุ ขึ้นชื่อว่าที่เป็นที่เจ็บปวดอันเป็นส่วนตรงไหน ไม่มี เราเสวยเวทนา เพราะทำวัตถุให้เป็นอารมณ์อย่างนี้. ภิกษุหนุ่มจึงเรียนท่านว่า จำเดิมแต่กาลที่ท่านทราบอย่างนี้ การอดกลั้นไม่ควรหรือขอรับ. พระเถระกล่าวว่า เราจะอดกลั้น. ภิกษุหนุ่มจึงกล่าวว่า การอดกลั้นเป็นการดี. พระเถระอดกลั้นแล้ว ลมแผ่ไปจนถึงหัวใจ ได้ทำลำไส้ให้เป็นก้อนแก่ท่านบนเตียงนอน. พระเถระให้ภิกษุหนุ่มดู แล้วกล่าวว่า ผู้มีอายุ อดกลั้นขนาดนี้ ควรหรือยัง. ภิกษุหนุ่มได้เป็นผู้นิ่ง. พระเถระประกอบวิริยสมาธิแล้วบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา เป็นพระอรหันต์ผู้สมสีสี (ผู้มีที่สุดเสมอกัน คือการสิ้นชีวิตพร้อมกับการบรรลุพระอรหัต) ปรินิพพานแล้ว.
               ก็สุขเวทนาฉันใด ทุกขเวทนา ฯลฯ เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส ฉันนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสรูปกรรมฐานแล้ว เมื่อจะตรัสอรูปกรรมฐานอย่างนี้ จึงตรัสด้วยสามารถแห่งเวทนา.
               จริงอยู่ กรรมฐานมี ๒ คือรูปกรรมฐานและอรูปกรรมฐาน. กรรมฐานนั้นนั่นแหละ ตรัสว่า รูปปริคฺโห (คือการกำหนดรูป) บ้าง อรูปปริคฺคโห (คือ การกำหนดอรูป) บ้าง. ในกรรมฐาน ๒ นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสรูปกรรมฐานจึง ตรัสการกำหนดธาตุ ๔ ด้วยสามารถแห่งมนสิการโดยสังเขปบ้าง โดยพิสดารบ้าง. การมนสิการแม้ทั้ง ๒ นั้น ข้าพเจ้าก็แสดงไว้โดยอาการทั้งปวงในวิสุทธิมรรคนั่นแหละ. พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสอรูปกรรมฐาน ย่อมตรัสด้วยสามารถแห่งเวทนาโดยมาก.
               อนึ่งความถือมั่นในอรูปกรรมฐานมี ๓ อย่าง คือด้วยสามารถแห่งผัสสะ ๑ ด้วยสามารถแห่งเวทนา ๑ และด้วยสามารถแห่งจิต ๑ คืออย่างไร? คือว่า ก็เมื่อพระโยคาวจรกำหนดรูปกรรมฐานโดยสังเขปหรือโดยพิสดาร การที่จิตและเจตสิกตกไปในอารมณ์ครั้งแรกนั้น ผัสสะอันกระทบซึ่งอารมณ์นั้นก็เกิดขึ้น ปรากฏแก่พระโยคาวจรบางรูป. พระโยคาวจรทั้งหลายย่อมเสวยอารมณ์นั้น เวทนาเมื่อเกิดขึ้นก็ย่อมปรากฏแก่พระโยคาวจรบางรูป. วิญญาณอันเกิดขึ้นกำหนดรู้อารมณ์นั้นอยู่ ก็ย่อมปรากฏแก่พระโยคาวจรบางรูป.
               ในความถือมั่น ๓ อย่างนั้น ผัสสะย่อมปรากฏแก่ภิกษุใด แม้ภิกษุนั้นย่อมกำหนดธรรมหมวด ๕ มีผัสสะเป็นต้นทีเดียวว่า "มิใช่ผัสสะอย่างเดียวเท่านั้นย่อมเกิดขึ้น แม้เวทนาอันเสวยอยู่ซึ่งอารมณ์นั่นแหละ ก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยผัสสะนั้น แม้สัญญาอันจำซึ่งอารมณ์นั้น แม้เจตนาอันคิดซึ่งอารมณ์นั้น แม้วิญญาณอันรู้แจ้งซึ่งอารมณ์นั้น ก็ย่อมเกิดขึ้นด้วยผัสสะนั้น ดังนี้ เวทนาย่อมปรากฏแก่ภิกษุใด แม้ภิกษุนั้นก็ย่อมกำหนดธรรมหมวด ๕ มีผัสสะเป็นต้นนั่นแหละว่า มิใช่เวทนาอย่างเดียวเท่านั้นเกิดขึ้น แม้ผัสสะอันกระทบอยู่ซึ่งอารมณ์นั้นนั่นแหละย่อมเกิดขึ้นกับเวทนานั้น แม้สัญญาอันจำซึ่งอารมณ์นั้น แม้เจตนาอันคิดซึ่งอารมณ์นั้น แม้วิญญาณอันรู้แจ้งซึ่งอารมณ์นั้น ก็ย่อมเกิดขึ้นกับเวทนานั้น ดังนี้. วิญญาณย่อมปรากฏแก่ภิกษุใด แม้ภิกษุนั้นก็ย่อมกำหนดธรรมหมวด ๕ มีผัสสะเป็นต้นนั่นแหละว่า มิใช่วิญญาณอย่างเดียวเท่านั้นเกิดขึ้น แม้ผัสสะอันกระทบอยู่ซึ่งอารมณ์นั้นนั่นแหละ ย่อมเกิดขึ้นกับวิญญาณนั้น แม้เวทนาอันเสวยอยู่ซึ่งอารมณ์นั้น แม้สัญญาอันจำซึ่งอารมณ์นั้น แม้เจตนาอันคิดซึ่งอารมณ์นั้น ก็ย่อมเกิดขึ้นกับวิญญาณนั้น ดังนี้.
               เมื่อภิกษุนั้นใคร่ครวญอยู่ว่า ธรรมหมวด ๕ มีผัสสะเป็นต้นเหล่านี้อาศัยอะไร ดังนี้ เธอย่อมทราบชัดว่า อาศัยวัตถุ ขึ้นชื่อว่าวัตถุ ก็คือกรชกาย ท่านกล่าวหมายเอาวัตถุคือกรชกายในที่นี้ไว้ว่า ก็แล วิญญาณของเรานี้อาศัยในกรชกายนี้เกี่ยวเนื่องในกรชกายนี้ ดังนี้ เมื่อว่าโดยอรรถ กรชกายนั้นคือมหาภูตรูปและอุปาทารูปทั้งหลาย.
               ในข้อนี้ พระโยคาวจรย่อมเห็นนามรูปนั่นแหละอย่างนี้ว่า วัตถุเป็นรูปธรรมหมวด ๕ มีผัสสะเป็นต้น เป็นนามดังนี้. รูปในที่นี้ก็คือรูปขันธ์ นามก็คืออรูปขันธ์ ๔ เพราะฉะนั้น นามรูป จึงเป็นเพียงขันธ์ ๕ เพราะว่า ขันธ์ ๕ นอกจากนามรูป หรือว่า นามรูป นอกจากขันธ์ ๕ ย่อมไม่มี. ภิกษุนั้นใคร่ครวญอยู่ว่า ขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้น มีอะไรเป็นเหตุ ดังนี้ ย่อมเห็นว่า มีอวิชชาเป็นต้น เป็นเหตุ ในลำดับนั้น จึงยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ ด้วยสามารถแห่งนามรูป พร้อมด้วยปัจจัยว่า นี้เป็นปัจจัย นี้เป็นปัจจยุปบัน (คือธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย) สัตว์หรือว่าบุคคลอื่นไม่มี มีแต่เพียงกองแห่งสังขารล้วนๆ เท่านั้น ดังนี้ พิจารณาเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยลำดับแห่งวิปัสสนา เที่ยวไปอยู่. หวังอยู่ซึ่งการแทงตลอดว่า ในวันนี้ ในวันนี้ ดังนี้ ก็หรือว่า เธอได้อุตุสัปปายะ ปุคคลสัปปายะ โภชนสัปปายะและธัมมัสสวนสัปปายะ ในวันเช่นนั้นแล้ว นั่งโดยบัลลังก์เดียวนั่นแหละ ยังวิปัสสนาให้ถึงที่สุดแล้วดำรงอยู่ในพระอรหัต. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกรรมฐานแก่ชนแม้ทั้ง ๓ เหล่านี้ จนถึงพระอรหัต ด้วยประการฉะนี้.
               ก็แล ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสอรูปกรรมฐาน ก็ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งเวทนา. จริงอยู่ อรูปกรรมฐานที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอยู่ ด้วยสามารถแห่งผัสสะหรือด้วยสามารถแห่งวิญญาณ ย่อมไม่ปรากฏ คล้ายกับความมืด เพราะกรรมฐานนั้นย่อมปรากฏด้วยสามารถแห่งเวทนา.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะความเกิดขึ้นแห่งเวทนาทั้งหลาย ย่อมปรากฏ เพราะว่า ความเกิดขึ้นแห่งสุขเวทนาและทุกขเวทนาทั้งหลายปรากฏอยู่ คือในกาลใด สุขเวทนาเกิดขึ้น ทำให้สรีระทั้งสิ้นกระเพื่อมอยู่ สั่นไหวอยู่ ซาบซ่านแผ่ไปอยู่ เป็นราวกะให้เคี้ยวกินเนยใสอันชำระแล้วตั้งร้อยครั้ง ราวกะให้ดับอยู่ซึ่งความเร่าร้อนด้วยน้ำตั้งพันหม้อ ย่อมให้เปล่งวาจาว่า สุขหนอ สุขหนอ ดังนี้. ในกาลใด ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ก็ทำให้สรีระทั้งสิ้นกระเพื่อมอยู่ สั่นไหวอยู่ ซาบซ่านแผ่ไปอยู่ เป็นราวกะเข้าไปสู่กระเบื้องที่ร้อน ราวกะราดอยู่ด้วยน้ำทองแดงที่ละลายแล้ว ราวกะกำคบเพลิงไม้ที่ใส่เข้าไปในหญ้าและต้นไม้ใหญ่ที่แห้งในป่า ทำให้บ่นเพ้อรำพันอยู่ว่า ทุกข์จริง ทุกข์จริง ดังนี้. ความเกิดขึ้นแห่งสุขเวทนาและทุกขเวทนา ย่อมปรากฏดังพรรณนามาฉะนี้.
               ส่วนอทุกขมสุขเวทนา ชี้แจงให้เห็นได้โดยยาก ไม่แจ่มแจ้งดังความมืด. แต่ย่อมปรากฏแก่ผู้ถือเอาโดยนัยว่า อทุกขมสุขเวทนานั้นเป็นอาการปานกลาง ด้วยสามารถแห่งการปฏิเสธความยินดีและยินร้าย เพราะความสุขและความทุกข์ปราศจากไป. เปรียบเหมือน นายพรานเนื้อตามรอยเท้าเนื้อตัวที่หนีขึ้นไปบนระหว่างแผ่นหิน ในเวลาอื่นพบรอยเท้าเนื้อที่ฝั่งนี้ของแผ่นหิน แม้ไม่เห็นรอยเท้าในท่ามกลาง ก็จะทราบได้โดยนัยว่า เนื้อนี้ขึ้นไปจากที่ตรงนี้ ลงมาจากที่ตรงโน้น ในท่ามกลาง มันจักไปบนแผ่นหินโดยประเทศตรงนี้ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้น เพราะว่า ความเกิดขึ้นแห่งสุขเวทนาย่อมปรากฏเป็นราวกะว่า รอยเท้าในที่เป็นที่ขึ้นไป ความเกิดขึ้นแห่งทุกขเวทนาย่อมปรากฏเป็นราวกะว่า รอยเท้าในที่เป็นที่ก้าวลง อทุกขมสุขเวทนานี้ย่อมปรากฏแก่ผู้ถือเอาโดยนัยว่า อทุกขมสุขเวทนาเป็นอาการปานกลาง ด้วยสามารถแห่งการปฏิเสธความยินดีและยินร้าย ในเพราะการปราศจากสุขและทุกขเวทนา ราวกะการถือเอาโดยนัยว่า เนื้อนี้ขึ้นไปบนแผ่นหินตรงนี้ ลงไปตรงโน้น ในท่ามกลางมันจะเดินไปตรงนี้ ฉะนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสรูปกรรมฐานก่อนแล้ว เมื่อจะตรัสอรูปกรรมฐานในภายหลังอย่างนี้ จึงทรงยักย้ายเปลี่ยนไปแสดงด้วยสามารถแห่งเวทนา. ก็พระองค์ทรงแสดงอย่างนี้ ในสติปัฏฐานวิภังค์นี้อย่างเดียวเท่านั้น หามิได้ ทรงแสดงรูปกรรมฐานก่อนแล้ว ทรงแสดงอรูปกรรมฐานยักย้ายไปด้วยสามารถแห่งเวทนาในภายหลัง ในสูตรทั้งหลายเป็นเอนก คือในทีฆนิกาย มีมหานิทานสูตร สักกปัญหสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร ในมัชฌิมนิกาย มีสติปัฏฐานสูตร จุลลตัณหาสังขยสูตร มหาตัณหาสังขยสูตร จุลลเวทัลลสูตร รัฏฐปาลสูตร มาคันทิยสูตร ธาตุวิภังค์ อาเนญชสัปปายสูตร ในสังยุตตนิกาย มีจุลลนิทานสูตร รุกโขปมสูตร ปริวิมังสนสูตร สกลเวทนาสังยุตตสูตรทั้งหลาย. ก็ในสติปัฏฐานวิภังค์แม้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรูปกรรมฐานก่อน แล้วทรงยักย้ายแสดงอรูปกรรมฐาน ด้วยสามารถแห่งเวทนาในภายหลังเช่นในสูตรเหล่านั้นๆ แล.
               ในคำว่า เมื่อเสวยสุขเวทนา เป็นต้นนั้น พึงทราบปริยายแห่งการรู้อีกอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้.
               ข้อว่า ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนา อธิบายว่า ภิกษุนั้นเสวยอยู่ซึ่งสุขเวทนา ย่อมรู้ชัดว่า เราเสวยอยู่ซึ่งสุขเวทนา เพราะความไม่มีทุกขเวทนาในขณะแห่งสุขเวทนา ด้วยเหตุนั้น ในข้อนั้น เขาผู้นั้นย่อมทราบในที่นี้ว่า เพราะทุกขเวทนาอันใดเคยมีมาก่อน บัดนี้ ทุกขเวทนาอันนั้นมิได้มี และเพราะไม่มีเวทนาอื่นจากสุขเวทนานี้ ขึ้นชื่อว่าเวทนา จึงเป็นสิ่งไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ดังนี้.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนอัคคิเวสนะ ในสมัยใดเสวยสุขเวทนา สมัยนั้นไม่เสวยทุกขเวทนา ไม่เสวยอทุกขมสุขเวทนา สมัยนั้นย่อมเสวยแต่สุขเวทนาเท่านั้น ดูก่อนอัคคิเวสนะ ในสมัยใดเสวยทุกขเวทนา ฯลฯ เสวยอทุกขมสุขเวทนา สมัยนั้นไม่เสวยสุขเวทนา ไม่เสวยทุกขเวทนา สมัยนั้นย่อมเสวยอทุกขมสุขเวทนาเท่านั้น ดูก่อนอัคคิเวสนะ แม้สุขเวทนาแลก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา แม้ทุกขเวทนาแล ฯลฯ ดูก่อนอัคคิเวสนะ แม้อทุกขมสุขเวทนาแลก็ไม่เที่ยง มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ฯลฯ มีความดับไปเป็นธรรมดา ดูก่อนอัคคิเวสนะ อริยสาวกสดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในเวทนาอันเป็นสุขบ้าง ย่อมเบื่อหน่ายในเวทนาอันเป็นทุกข์บ้าง ย่อมเบื่อหน่ายในเวทนาอันเป็นอทุกขมสุขบ้าง เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า เราหลุดพ้นแล้ว เธอย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่พึงทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก ดังนี้.
               ในคำว่า หรือเมื่อเสวยสุขเวทนามีอามิสเป็นต้น พึงทราบว่า เคหสิตโสมนัสเวทนา ๖ ที่อาศัยอามิส คือ กามคุณ ๕ ชื่อว่าสุขเวทนามีอามิส. เนกขัมมสิตโสมนัส ๖ ชื่อว่าสุขเวทนาไม่มีอามิส. เคหสิตโทมนัสเวทนา ๖ ชื่อว่าทุกขเวทนามีอามิส. เนกขัมมสิตโทมนัสเวทนา ๖ ชื่อว่าทุกขเวทนาไม่มีอามิส. เคหสิตอุเบกขาเวทนา ๖ ชื่อว่าอทุกขสุขเวทนามีอามิส. เนกขัมมสิตอุเบกขาเวทนา ๖ ชื่อว่าอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส. การจำแนกเวทนาเหล่านั้นมาแล้วในบาลีอุปริปัณณาสก์แล.
               คำว่า โส ตํ นิมิตฺตํ ได้แก่ ภิกษุนั้น... ซึ่งนิมิตแห่งเวทนานั้น.
               คำว่า พหิทฺธา เวทนาสุ (ในเวทนาภายนอก) คือ ในเวทนาทั้งหลายของบุคคลอื่น.
               คำว่า สุขํ เวทนํ เวทยมานํ คือ รู้บุคคลอื่นกำลังเสวยสุขเวทนา.
               คำว่า อชฺฌตฺตพหิทฺธา (ทั้งภายในและภายนอก) คือ ย่อมน้อมจิตเข้าไปในเวทนาทั้งหลายของตนตามกาลสมควร ของผู้อื่นตามกาลสมควร เพราะในวาระนี้ มิได้กำหนดตน มิได้กำหนดผู้อื่น ฉะนั้น เพื่อทรงแสดงเพียงการกำหนดเวทนาเท่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุในศาสนานี้ เมื่อเสวยสุขเวทนา ฯลฯ ข้อความที่เหลือในที่นี้ ง่ายทั้งนั้น. ในข้อนี้ ท่านกล่าววิปัสสนาไว้ล้วนๆ แล.
               อรรถกถาเวทนานุปัสสนานิทเทส จบ.               

               แม้ในจิตตานุปัสสนานิทเทส พึงทราบเช่นกับคำที่กล่าวแล้วในหนหลัง โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ.
               ก็ในข้อว่า สราคํ วา จิตฺตํ เป็นต้น บทว่า สราคํ คือ จิตสหรคตด้วยโลภะ ๘ อย่าง.
               บทว่า วีตราคํ คือ จิตเป็นกุศลและอัพยากตะฝ่ายโลกีย์. แต่เพราะการพิจารณานี้ ไม่ใช่ธรรมสโมธานฉะนั้น จึงไม่ได้โลกุตรจิตแม้สักบทเดียวในที่นี้. อกุศลจิตเหล่าใด เป็นไปกับด้วยราคะเป็นต้น อันพระโยคาวจรย่อมละได้ ด้วยสามารถแห่งอรรถอันหนึ่ง คือปหานะ อกุศลจิตเหล่านั้น ท่านก็ไม่ถือเอา เพราะไม่ได้ในบททั้งสองนี้โดยตรง. อกุศลจิต ๔ ที่เหลือไม่เกี่ยวกับบทหน้าและบทหลัง.
               บทว่า สโทสํ คือ จิตสหรคตด้วยโทมนัส ๒ อย่าง.
               บทว่า วีตโทสํ คือ จิตที่เป็นกุศลและอัพยากตะฝ่ายโลกีย์. อกุศลจิต ๑๐ ที่เหลือ ไม่เกี่ยวกับบทหน้าและบทหลัง.
               บทว่า สโมหํ ได้แก่ จิต ๒ อย่าง คือ จิตที่สหรคตด้วยวิจิกิจฉาและจิตที่สหรคตด้วยอุทธัจจะ. แต่เพราะโมหะย่อมเกิดขึ้นในอกุศลจิตทั้งปวงฉะนั้น อกุศลจิต แม้ที่เหลือย่อมเป็นไปในที่นี้ทั้งหมด เพราะว่า อกุศลจิต ๑๒ ท่านถือเอาแล้วในทุกะนี้เหมือนกัน.
               บทว่า วีตโมหํ คือ จิตที่เป็นกุศลและอัพยากตะฝ่ายโลกีย์.
               บทว่า สงฺขิตฺตํ คือ จิตที่ตกไปในถีนมิทธะ (คือความซบเซา). จริงอยู่ จิตนั้นชื่อว่าหดหู่แล้ว.
               บทว่า วิกฺขิตฺตํ คือ จิตที่สหรคตด้วยอุทธัจจะ. จริงอยู่ จิตนั้นชื่อว่าจิตซ่านไปแล้ว.
               บทว่า มหคฺคตํ คือ รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต.
               บทว่า อมหคฺคตํ คือ กามาวจรจิต.
               บทว่า สอุตฺตรํ คือ กามาวจรจิต.
               บทว่า อนุตฺตรํ คือ รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต. อีกอย่างหนึ่งในจิตทั้งสองนี้ สอุตตรจิตได้แก่รูปาวจรจิต และอนุตตรจิตได้แก่อรูปาวจรจิต นั่นแหละ.
               บทว่า สมาหิตํ ได้แก่ จิตของผู้มีอัปปนาสมาธิ หรืออุปจารสมาธิ.
               บทว่า อสมาหิตํ คือ จิตที่เว้นจากสมาธิทั้งสอง.
               บทว่า วิมุตฺตํ คือ จิตที่หลุดพ้นแล้ว ด้วยตทังควิมุตติ และวิกขัมภนวิมุตติ.
               บทว่า อวิมุตฺตํ คือ จิตที่เว้นจากวิมุตติทั้งสอง ส่วนสมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติและนิสสรณวิมุตติ ไม่มีโอกาสในที่นี้.
               ข้อว่า สราคมสฺส จิตฺตํ ได้แก่ จิตของเขาผู้นั้นมีราคะ. คำที่เหลือมีอรรถตื้นทั้งนั้น เพราะมีนัยตามที่กล่าวไว้แล้วในหนหลัง. ในข้อแม้นี้ ท่านก็กล่าววิปัสสนาล้วนๆ ฉะนี้แล.
               อรรถกถาจิตตานุปัสสนานิทเทส จบ.               

               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการกำหนดรูปขันธ์ ด้วยกายานุปัสสนา ตรัสการกำหนดเวทนาขันธ์ ด้วยเวทนานุปัสสนา และตรัสการกำหนดวิญญาณขันธ์ ด้วยจิตตานุปัสสนานั่นแหละ ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ เพราะฉะนั้น บัดนี้ เพื่อจะตรัสการกำหนดสัญญาขันธ์และสังขารขันธ์ โดยถือเอาหัวข้อแห่งสัมปยุตตธรรม แสดงธัมมานุปัสสนา จึงตรัสว่า กถญฺจ ภิกฺขุ เป็นอาทิ.

               อรรถกถานีวรณปัพพะ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺตํ คือ (เมื่อกามฉันทะภายในจิต) มีอยู่ ด้วยสามารถแห่งการปรากฏเนืองๆ. บทว่า อสนฺตํ คือ ไม่มีอยู่ด้วยสามารถแห่งการไม่ปรากฏ หรือว่าเพราะละได้แล้ว.
               คำว่า ยถา จ คือ กามฉันทะจะเกิดขึ้น ด้วยเหตุใด.
               คำว่า ตญฺจ ปชานาติ ได้แก่ ย่อมทราบชัดซึ่งเหตุนั้น.
               พึงทราบเนื้อความในบททั้งปวง โดยนัยนี้แล.
               ในบทเหล่านั้น กามฉันทะเกิดขึ้น เพราะอโยนิโสมนสิการในสุภนิมิต. ขึ้นชื่อว่าสุภนิมิต แม้สิ่งที่งาม ก็เป็นสุภนิมิต แม้อารมณ์ในสิ่งที่งาม ก็เป็นสุภนิมิต. ชื่อว่าอโยนิโสมนสิการ คือไม่มนสิการในอุบาย (วิธีที่ควร) มนสิการผิดทาง คือมนสิการในสิ่งที่ไม่เที่ยง ว่าเที่ยง หรือในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข หรือในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ว่าเป็นตัวตน หรือในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม ดังนี้.
               เมื่อยังมนสิการนั้นเป็นไปให้มากในธรรมทั้ง ๔ เหล่านั้น กามฉันทะย่อมเกิดขึ้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุภนิมิตมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในสุภนิมิตนั้น นี้เป็นอาหาร เพื่อให้กามฉันทะที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้น หรือว่าเพื่อให้กามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้วให้งอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้น ดังนี้.
               อนึ่ง กามฉันทะนั้นละได้ด้วยโยนิโสมนสิการในอสุภนิมิต. ขึ้นชื่อว่าอสุภนิมิต แม้สิ่งที่ไม่งาม ก็เป็นอสุภนิมิต แม้อารมณ์ในสิ่งที่ไม่งาม ก็เป็นอสุภนิมิต. ชื่อว่าโยนิโสมนสิการ คือมนสิการในอุบาย มนสิการถูกทาง คือมนสิการในสิ่งที่ไม่เที่ยง ว่าไม่เที่ยง หรือในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นทุกข์ หรือในสิ่งที่ไม่ใช่อัตตา ว่าเป็นอนัตตา หรือในสิ่งที่ไม่งาม ว่าไม่งาม ดังนี้. เมื่อยังมนสิการนั้นเป็นไปให้มากในธรรม ๔ เหล่านั้นอยู่ ย่อมละกามฉันทะได้. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสุภนิมิตมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในอสุภนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารเพื่อให้กามฉันทะที่ยังไม่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้น หรือว่าเพื่อการละกามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อละกามฉันทะ คือ
               ๑. การเรียนอสุภนิมิต
               ๒. การประกอบเนืองๆ ในอสุภภาวนา
               ๓. ความเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย
               ๔. ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ
               ๕. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
               ๖. สัปปายกถา
               จริงอยู่ เมื่อพระโยคาวจรเรียนเอาอสุภนิมิต ๑๐ อย่างก็ดี ย่อมละกามฉันทะได้ เมื่อเจริญอสุภะก็ดี เมื่อมีทวารอันเขาปิดแล้วในอินทรีย์ทั้งหลายก็ดี เมื่อเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร เพราะเมื่อโอกาสแห่งคำข้าว ๔-๕ คำมีอยู่ ก็ดื่มน้ำแทนแล้วให้ชีวิตเป็นไปโดยปกติก็ดี ย่อมละกามฉันทะได้.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า
                                   ไม่บริโภคอาหารอีก ๔-๕ คำ แล้ว
                         พึงดื่มน้ำแทนเป็นการเพียงพอเพื่ออยู่เป็น
                         สุขของภิกษุผู้มีความเพียร.
               แม้เมื่อเสพกัลยาณมิตรผู้ยินดีในอสุภภาวนา เช่นกับพระติสสเถระผู้เจริญอสุภกรรมฐาน ก็ย่อมละกามฉันทะได้. ย่อมละกามฉันทะได้ แม้ด้วยสัปปายกถาอันอาศัยอสุภะ ๑๐ ในอิริยาบถทั้งหลาย มีการยืนและการนั่งเป็นต้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ธรรมทั้ง ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อการละกามฉันทะ ดังนี้. ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดว่า กามฉันทะอันละแล้วด้วยธรรมทั้ง ๖ ประการเหล่านี้ ไม่เกิดต่อไปด้วยอรหัตมรรค ดังนี้.
               ก็พยาบาทเกิดขึ้น เพราะอโยนิโสมนสิการในปฏิฆนิมิต. ในคำเหล่านั้นแม้ปฏิฆะ ก็ชื่อว่าปฏิฆนิมิต แม้อารมณ์ในปฏิฆะ ก็ชื่อว่าปฏิฆนิมิต. อโยนิโสมนสิการมีลักษณะอย่างเดียวกันในที่ทั้งปวงนั่นแหละ. เมื่อยังมนสิการนิมิตนั้นให้เป็นไปมากในนิมิตนั้น พยาบาทย่อมเกิดขึ้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิฆนิมิตมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในปฏิฆนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารเพื่อให้พยาบาทที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้น หรือว่า เพื่อให้พยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์มากขึ้น ดังนี้.
               อนึ่ง พยาบาทนั้นละได้ด้วยเมตตาเจโตวิมุตติ. ในคำเหล่านั้น อัปปนาก็ดี อุปจาระก็ดี ย่อมควรในคำที่ท่านกล่าวว่า เมตตา. แต่คำว่า เจโตวิมุตติ ได้แก่ อัปปนาเท่านั้น. โยนิโสมนสิการมีลักษณะตามที่กล่าวแล้วนั่นแหละ. เมื่อยังมนสิการให้เป็นไปมากในเมตตาเจโตวิมุตตินั้น ย่อมละพยาบาทได้. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมตตาเจโตวิมุตติมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในเมตตาเจโตวิมุตตินั้น นี้เป็นอาหารเพื่อให้พยาบาทที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น หรือว่าเพื่อการละพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อการละพยาบาท คือ
               ๑. การเรียนเมตตานิมิต
               ๒. การประกอบเนืองๆ ในเมตตาภาวนา
               ๓. การพิจารณากัมมัสสกตา
               ๔. การกระทำการใคร่ครวญให้มาก
               ๕. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
               ๖. สัปปายกถา
               จริงอยู่ แม้เมื่อเรียนเมตตา ด้วยสามารถแห่งการแผ่ไปสู่ทิศโดยเจาะจงและไม่เจาะจงอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมละพยาบาทได้. แม้เมื่อเจริญเมตตาด้วยสามารถแห่งการแผ่ไปสู่ทิศเจาะจงและไม่เจาะจง ก็ย่อมละพยาบาทได้. แม้เมื่อพิจารณากัมมัสสกตา ของตนและของผู้อื่น อย่างนี้ว่า ท่านโกรธเขาแล้วจักทำอะไร จักอาจเพื่อยังคุณมีศีลเป็นต้นของเขาให้พินาศไปได้หรือ ท่านมาด้วยกรรมของตน ท่านก็จักไปด้วยกรรมของตนนั่นแหละ มิใช่หรือ. ขึ้นชื่อว่า ความโกรธผู้อื่น ย่อมเป็นเช่นกับผู้ต้องการจับถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลว จับซี่เหล็กอันร้อนและคูถเป็นต้นแล้วประหารผู้อื่น แม้ความโกรธของท่านนี้จักทำอะไร จักอาจเพื่อยังคุณมีศีลเป็นต้นของเราให้พินาศไปได้หรือ เรามาด้วยกรรมของตนแล้ว ก็จักไปด้วยกรรมของตนเท่านั้น ความโกรธนี้จักตกไปเบื้องบนของเขาแน่นอน เหมือนกับของขวัญที่บุคคลไม่ยอมรับ และเหมือนกับกำธุลีซัดไปทวนลม ดังนี้ ก็ย่อมละความโกรธได้.
               เมื่อตั้งอยู่ในความใคร่ครวญพิจารณากัมมัสสกตาของตนและของคนอื่นอย่างนี้ ครั้นใคร่ครวญพิจารณาแล้วซึ่งกัมมัสสกตาทั้งสองแล้วตั้งอยู่ในการใคร่ครวญพิจารณาก็ดี, เมื่อเสพกัลยาณมิตรผู้ยินดีในเมตตาภาวนา เช่นกับพระอัสสคุตตเถระก็ดี ย่อมละพยาบาทได้. ย่อมละพยาบาทได้แม้ด้วยสัปปายกถาอันอาศัยซึ่งเมตตา ในอิริยาบถทั้งหลายมีการยืนและการนั่งเป็นต้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อการละพยาบาทดังนี้. ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดว่า พยาบาทอันละด้วยธรรม ๖ ประการเหล่านี้ไม่เกิดต่อไป ด้วยอนาคามิมรรค ดังนี้.
               ความเกิดขึ้นแห่งถีนมิทธะในธรรมทั้งหลายมีอรติเป็นต้น ย่อมมีด้วยอโยนิโสมนสิการ. ความไม่พอใจ ชื่อว่าอรติ. ความเกียจคร้านทางกาย (หรือความเฉื่อยชาทางกาย) ชื่อว่าตันที. ความบิดกาย (หรือความบิดขี้เกียจ) ชื่อว่าวิชัมภิตา. ความซบเซาเพราะภัต ความกระวนกระวายเพราะภัต (ความเมาภัต) ชื่อว่าภัตตสัมมทะ. อาการหดหู่แห่งจิต ชื่อว่า เจตโส ลีนัตตัง.
               เมื่อให้อโยนิโสมนสิการเป็นไปให้มากในธรรมมีอรติเป็นต้นเหล่านี้ ถีนมิทธะย่อมเกิดขึ้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อรติ (ความไม่พอใจ) ตันที (ความเกียจคร้านทางกาย) วิชัมภิตา (ความน้อมกายหรือบิดกาย) ภัตตสัมมทะ (ความเมาภัต) และความที่จิตหดหู่มีอยู่ การทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารเพื่อให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือเพื่อความไพบูลย์ยิ่งขึ้นของถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว" ดังนี้.
               อนึ่ง การละถีนมิทธะย่อมมีด้วยโยนิโสมนสิการ ในอารัพภธาตุเป็นต้น. ความเพียรที่เริ่มครั้งแรก ชื่อว่าอารัพภธาตุ. ความเพียรที่มีกำลังมากกว่าอารัพภธาตุนั้นเพราะขจัดความเกียจคร้านได้แล้ว ชื่อว่านิกกมธาตุ. ความเพียรที่มีกำลังกว่าแม้นิกกมธาตุนั้น เพราะย่ำยีฐานะอื่นๆ ชื่อว่าปรักกมธาตุ. เมื่อยังมนสิการในความเพียร ๓ ประเภทนี้เป็นไปให้มาก ย่อมละถีนมิทธะได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อารัพภธาตุ นิกกมธาตุ ปรักกมธาตุ มีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธาตุเหล่านั้น นี้เป็นอาหารเพื่อมิให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดขึ้นมิให้เกิดขึ้น หรือว่า เพื่อการละถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว" ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อการละถีนมิทธะ คือ
               ๑. การถือเอานิมิตในอติโภชนะ (บริโภคมากเกินไป)
               ๒. การเปลี่ยนอิริยาบถ
               ๓. มนสิการในอาโลกสัญญา
               ๔. การอยู่กลางแจ้ง
               ๕. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
               ๖. สัปปายกถา
               จริงอยู่ เมื่อบริโภคอาหารอันควรแก่การนำมาซึ่งประโยชน์เพียงพอแก่ความต้องการแล้ว นุ่งห่มผ้าสาฎกอันมีค่าน้อยนั่งอยู่ในที่พักอันเป็นเวลากลางคืนหรือกลางวัน กระทำสมณธรรมอยู่ ถีนมิทธะย่อมมาท่วมทับ เป็นราวกะว่าถูกช้างใหญ่ทับอยู่. ถือเอานิมิตในโภชนะอันเกินว่า "ก็โภชนะอันเกินนี้ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้เว้นโอกาส (ช่องว่าง) แห่งคำข้าวอีก ๔-๕ คำ แล้วดื่มน้ำยังอัตภาพให้เป็นไปตามปกติ" ดังนี้ย่อมละถีนมิทธะได้.
               ถีนมิทธะย่อมครอบงำในอิริยาบถใด เมื่อเปลี่ยนอิริยาบถอื่นจากนั้นก็ดี มนสิการแสงสว่างแห่งพระจันทร์ แสงสว่างแห่งประทีป แสงสว่างแห่งดวงไฟในเวลาราตรี และแสงสว่างแห่งอาทิตย์ในเวลากลางวันก็ดี เมื่ออยู่ที่กลางแจ้งก็ดี เมื่อเสพกัลยาณมิตรผู้ละถีนมิทธะเช่นกับพระมหากัสสปเถระก็ดี ย่อมละถีนมิทธะได้. ย่อมละถีนมิทธะได้ แม้ด้วยสัปปายกถาอันอาศัยซึ่งธุดงค์ ในอิริยาบถทั้งหลายมีการยืนและการนั่งเป็นต้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ธรรมทั้งหลาย ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อการละถีนมิทธะ ดังนี้. ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดว่า "ก็ถีนมิทธะอันละแล้วด้วยธรรม ๖ ประการเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นต่อไป ด้วยอรหัตมรรค" ดังนี้.
               อุทธัจจกุกกุจจะเกิดขึ้น เพราะอโยนิโสมนสิการ ในเพราะความไม่เข้าไปสงบแห่งจิต. อาการแห่งจิตอันไม่เข้าไปสงบ ชื่อว่าอวูปสมะ แต่เมื่อว่าโดยอรรถ คำว่าอวูปสมะนี้ก็คือ อุทธัจจกุกกุจจะนั่นแหละ. เมื่อยังอโยนิโสมนสิการในอุทธัจจกุกกุจจะนั้นให้เป็นไปมากอยู่ อุทธัจจกุกกุจจะย่อมเกิดขึ้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความไม่เข้าไปสงบแห่งจิต มีอยู่ การทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในธรรมนั้น นี้เป็นอาหารเพื่อให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือว่า เพื่อความไพบูลย์มากขึ้นแห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว" ดังนี้.
               อนึง การละอุทธัจจกุกกุจจะย่อมมีด้วยโยนิโสมนสิการ ในเพราะความสงบแห่งจิต กล่าวคือสมาธิ. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเข้าไปสงบแห่งจิต มีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมนั้น นี้เป็นอาหารเพื่อมิให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น หรือว่าเพื่อการละอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรมทั้งหลาย ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อการละอุทธัจจกุกกุจจะ คือ
               ๑. ความเป็นพหูสูต (การสดับตรับฟังมาก)
               ๒. ปริปุจฉกถา (การสอบถาม)
               ๓. ความเป็นผู้ชำนาญในพระวินัย
               ๔. การคบบุคคลผู้เจริญ
               ๕. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
               ๖. สัปปายกถา
               จริงอยู่ แม้เมื่อเรียนพุทธพจน์และอรรถ ๑ นิกาย หรือว่า ๒-๓-๔-๕ นิกาย แม้ด้วยการสดับมาก ก็ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะได้. เมื่อเป็นผู้มากด้วยการสอบถามถึงสิ่งที่ควรและไม่ควรก็ดี เมื่อเป็นผู้รู้ชำนาญในพระวินัยบัญญัติ เพราะความเป็นผู้ชำนาญอันตนประพฤติแล้วก็ดี เมื่อเข้าไปหาพระเถระผู้ใหญ่ผู้เจริญ เช่นกับพระอุบาลีเถระก็ดี ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะได้. ย่อมละอุทธัจจะกุกกุจจะได้ แม้ด้วยสัปปายกถาอันอาศัยสิ่งที่ควรและไม่ควร. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อการละอุทธัจจกุกกุจจะดังนี้. ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดว่า "ก็อุทธัจจะอันละด้วยธรรม ๖ ประการเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยอรหัตมรรค และกุกกุจจะอันละได้ด้วยธรรม ๖ ประการเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยอนาคามิมรรค" ดังนี้.
               วิจิกิจฉาเกิดขึ้นเพราะอโยนิโสมนสิการในธรรมทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย. วิจิกิจฉานั่นเอง ชื่อว่าธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย เพราะความเป็นเหตุแห่งความสงสัยบ่อยๆ. เมื่อให้อโยนิโสมนสิการในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยนั้นเป็นไปให้มาก วิจิกิจฉาย่อมเกิดขึ้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยมีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารเพื่อให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือว่าเพื่อความไพบูลย์ยิ่งขึ้นของวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนี้.
               อนึ่ง วิจิกิจฉานั้นละได้ด้วยโยนิโสมนสิการในกุศลธรรมเป็นต้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอันเป็นกุศลและอกุศล อันเป็นโทษและไม่เป็นโทษ อันควรเสพและไม่ควรเสพ อันเลวและประณีต อันเปรียบด้วยธรรมดำและธรรมขาว มีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารเพื่อมิให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น หรือว่าเพื่อการละวิจิกิจฉาที่เกิดแล้ว ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อการละวิจิกิจฉา คือ
               ๑. ความเป็นพหูสูต
               ๒. ความเป็นผู้สอบถาม
               ๓. ความเป็นผู้ชำนาญในพระวินัย
               ๔. ความเป็นผู้มากด้วยอธิโมกข์
               ๕. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
               ๖. สัปปายกถา
               จริงอยู่ แม้เมื่อเรียนพุทธพจน์และอรรถ ๑ นิกาย หรือว่า ๒-๓-๔-๕ นิกาย แม้ด้วยความเป็นผู้สดับฟังมาก ก็ย่อมละวิจิกิจฉาได้. เมื่อปรารภพระรัตนตรัยมากด้วยการสอบถามก็ดี เป็นผู้ชำนาญในการประพฤติวินัยก็ดี เมื่อมากด้วยอธิโมกข์ กล่าวคือความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยก็ดี เมื่อเสพกัลยาณมิตร เช่นกับพระเถระชื่อว่าวักกลิ ผู้น้อมไปด้วยศรัทธาก็ดี ย่อมละวิจิกิจฉาได้. และย่อมละวิจิกิจฉาได้แม้ด้วยสัปปายกถา อันอาศัยคุณของพระรัตนตรัยในอิริยาบถทั้งหลายมีการยืนและการนั่งเป็นต้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อการละวิจิกิจฉา ดังนี้. ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดว่า ก็วิจิกิจฉาอันละได้ด้วยธรรม ๖ ประการเหล่านี้ ไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยโสดาปัตติมรรคดังนี้.
               อรรถกถานีวรณปัพพะ จบ.               

               อรรถกถาโพชฌังคปัพพะ               
               สติสัมโพชฌงค์               
               ในโพชฌังคปัพพะ คำว่า "สนฺตํ" ได้แก่ มีอยู่ด้วยสามารถแห่งการได้เฉพาะ.
               คำว่า "อสนฺตํ" ได้แก่ ไม่มีด้วยสามารถแห่งการไม่ได้.
               ก็ในคำว่า "ยถา จ อนุปฺปนฺนสฺส" เป็นต้น พึงทราบความเกิดขึ้นแห่งสติสัมโพชฌงค์ก่อนอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมนั้น นี้เป็นอาหารเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือว่าย่อมเป็นไปเพื่อความงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้นของสติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนี้.
               บรรดาคำเหล่านั้น สตินั่นแหละ ชื่อว่าธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสติสัมโพชฌงค์. โยนิโสมนสิการมีลักษณะตามที่กล่าวแล้วนั่นแหละ. เมื่อยังมนสิการนั้นเป็นไปให้มาก ในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสติสัมโพชฌงค์นั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๔ ประการย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสติสัมโพชฌงค์ คือ
               ๑. สติสัมปชัญญะ
               ๒. ความเว้นจากบุคคลผู้หลงลืมสติ
               ๓. การเสพบุคคลผู้มีสติตั้งมั่น
               ๔. ความเป็นผู้น้อมจิตไปในสติสัมโพชฌงค์นั้น
               จริงอยู่ สติสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้น ด้วยสติสัมปชัญญะในฐานะทั้ง ๗ มีการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้น ด้วยการเว้นบุคคลผู้หลงลืมสติเช่นกับในเรื่องพนักงานคลังแห่งภัต ด้วยการเสพบุคคลผู้มีสติตั้งมั่นเช่นกับด้วยพระติสสทัตตเถระและพระอภัยเถระ และด้วยความเป็นผู้มีจิตน้อมไปโอนไปเอียงไป เพื่อให้สติเกิดขึ้นในอิริยาบถทั้งหลายมีการยืนและการนั่งเป็นต้น. ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดว่า ก็ภาวนาของเธออันเกิดขึ้นด้วยเหตุ ๔ อย่างนี้ย่อมบริบูรณ์ด้วยอรหัตมรรค ดังนี้.

               ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์               
               ก็ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอันเป็นกุศลและอกุศล ฯลฯ อันเปรียบด้วยธรรมดำและธรรมขาวมีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมนั้น นี้เป็นอาหารเพื่อความเกิดขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือว่า ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความเจริญงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๗ ประการย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือ
               ๑. การสอบถาม
               ๒. การทำวัตถุให้สะอาด
               ๓. การปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน
               ๔. การเว้นจากบุคคลผู้มีปัญญาทราม
               ๕. การเสพบุคคลผู้มีปัญญาดี
               ๖. การพิจารณาดำเนินไปด้วยญาณอันลึกซึ้ง
               ๗. การน้อมจิตไปในธัมมวิจยสัมโพชฌงค์นั้น
               บรรดาธรรมเหล่านั้น ข้อว่า การสอบถาม ได้แก่ ความเป็นผู้มากด้วยการสอบถามอันอาศัยอรรถแห่งขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ องค์แห่งมรรค ฌาน สมถะและวิปัสสนา.
               ข้อว่า การทำวัตถุให้สะอาด ได้แก่ การทำวัตถุทั้งภายในและภายนอกให้สะอาด. เพราะว่าเมื่อใด ผม เล็บ ขนทั้งหลายของเธอยาว หรือว่า ร่างกายของเธอมีโทษมาก เปื้อนด้วยเหงื่อไคล เมื่อนั้น ชื่อว่าวัตถุภายในไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์. ก็เมื่อใด จีวรของเธอเก่าคร่ำคร่ามีกลิ่นเหม็น หรือว่า เสนาสนะสกปรกรกรุงรัง เมื่อนั้น ชื่อว่าวัตถุภายนอกไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ ฉะนั้น เธอพึงทำวัตถุภายในให้สะอาด โดยการโกนผมเป็นต้นด้วย โดยการทำสรีระให้เบาด้วยการชำระเบื้องบน (สระศีรษะ) ชำระเบื้องต่ำ (การถ่ายท้อง) เป็นต้นด้วย โดยการอาบน้ำลูบไล้ร่างกายด้วย. พึงทำวัตถุภายนอกมีการเย็บ การซัก การย้อมและของใช้เป็นต้นให้สะอาด เพราะว่า เมื่อวัตถุภายในและภายนอกอย่างหนึ่งไม่สะอาด แม้ญาณอันดี ในจิตและเจตสิกอันดี ก็ไม่แจ่มแจ้ง ไม่บริสุทธิ์ เปรียบเหมือนแสงสว่างของเปลวประทีปอันเกิดขึ้น เพราะอาศัยไส้และน้ำมันแห่งโคมประทีป ฉะนั้น. แต่เมื่อวัตถุภายในและภายนอกสะอาด ญาณอันดีในจิตเจตสิกอันดี ก็แจ่มแจ้งบริสุทธิ์ เปรียบเหมือนแสงสว่างแห่งเปลวประทีปอันเกิดขึ้น เพราะอาศัยไส้และน้ำมันแห่งประทีปฉะนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า การทำวัตถุให้สะอาด ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความเกิดขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ดังนี้.
               การทำอินทรีย์ทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้นให้เสมอกัน ชื่อว่าการปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน.
               ก็ถ้าว่า สัทธินทรีย์ของเธอกล้า อินทรีย์นอกนี้อ่อนไซร้ ทีนั้น วิริยินทรีย์ก็ไม่อาจทำหน้าที่ คือเพียรประคอง (ปคฺกิจฺจํ). สตินทรีย์ก็ไม่อาจทำหน้าที่ คือการตั้งมั่น (อุปฏฺฐานกิจฺจํ). สมาธินทรีย์ก็ไม่อาจทำหน้าที่ คือการไม่ฟุ้งซ่าน (อวิกฺเขปนกิจฺจํ), ปัญญินทรีย์ก็ไม่อาจทำหน้าที่ คือการเห็น (ทสฺกิจฺจํ). เพราะฉะนั้น สัทธินทรีย์มีกำลังกล้า ก็พึงให้ลดลงด้วยการพิจารณาสภาวธรรม หรือว่า เมื่อมนสิการโดยประการใด สัทธินทรีย์มีกำลัง ก็พึงให้ลดลงโดยไม่มนสิการ โดยประการนั้น. ในข้อนี้มีเรื่องของพระวักกลิเถระเป็นอุทาหรณ์.
               ก็ถ้าว่า วิริยินทรีย์มีกำลังไซร้ ทีนั้น สัทธินทรีย์ก็ไม่อาจทำหน้าที่ คือน้อมใจเชื่อ (อธิโมกฺกิจฺจํ) อินทรีย์นอกนั้นก็ไม่อาจทำหน้าที่อันต่างด้วยหน้าที่นอกนี้ (คือไม่ทำหน้าที่ของตนๆ) เพราะฉะนั้น พึงให้วิริยินทรีย์นั้นลดลง โดยการเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เป็นต้น. แม้ในข้อนี้ก็พึงแสดงเรื่องของพระโสณเถระเป็นนิทัสสนะ. แม้ในอินทรีย์ที่เหลือก็ฉันนั้น คือเมื่ออินทรีย์หนึ่งมีกำลัง ก็พึงทราบว่า อินทรีย์นอกนี้ไม่สามารถในหน้าที่ควรทำของตน.
               ก็ว่าโดยพิเศษในที่นี้ บัณฑิตทั้งหลายสรรเสริญความเสมอกันแห่งศรัทธากับปัญญา และแห่งสมาธิกับวิริยะ เพราะว่า บุคคลมีศรัทธากล้าแต่ปัญญาอ่อน ย่อมเป็นผู้เลื่อมใสอันเปล่า คือย่อมเลื่อมใสในสิ่งที่มิใช่วัตถุ (วัตถุคือพระรัตนตรัย). บุคคลมีปัญญากล้าแต่ศรัทธาอ่อน ย่อมซ่องเสพพวกคนคดโกง ย่อมเป็นผู้แก้ไขไม่ได้ เป็นราวกะว่าโรคที่กล้าอันเกิดแต่ยารักษาไม่ได้ฉะนั้น คือมีสักว่าจิตตุปบาทนั่นแหละแล่นไปว่าเป็นกุศล แต่ไม่ทำบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้น ย่อมเกิดในนรก. แต่เพราะความที่อินทรีย์ทั้งสองเสมอกัน เขาจึงเลื่อมใสในวัตถุ (คือพระรัตนตรัย) ทีเดียว.
               อนึ่ง โกสัชชะย่อมครอบงำบุคคลผู้มีสมาธิกล้ามีวิริยะอ่อน เพราะความที่สมาธิเป็นฝักฝ่ายแห่งโกสัชชะ. อุทธัจจะย่อมครอบงำบุคคลผู้มีวิริยะกล้ามีสมาธิอ่อน เพราะความที่วิริยะเป็นฝักฝ่ายแห่งอุทธัจจะ. แต่สมาธิอันวิริยะประกอบดีแล้ว ย่อมไม่ได้เพื่ออันตกไปในโกสัชชะ. วิริยะอันสมาธิประกอบดีแล้ว ก็ย่อมไม่ได้เพื่ออันตกไปในอุทธัจจะ เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรพึงทำอินทรีย์แม้ทั้งสองนั้นให้เสมอกัน ด้วยว่าอัปปนาย่อมเกิดขึ้นเพราะความเสมอกันแห่งอินทรีย์ทั้งสอง.
               อีกอย่างหนึ่ง ศรัทธาแม้มีกำลัง ก็ย่อมควรสำหรับสมาธิกัมมิกบุคคล (ผู้บำเพ็ญสมาธิ) คือ เมื่อบุคคลนั้นเชื่อมั่นอยู่อย่างนั้นจักบรรลุอัปปนาได้. แต่ในสมาธิและปัญญา เอกัคคตามีกำลังจึงควรแก่สมาธิกัมมิกบุคคล เพราะเขาจักบรรลุอัปปนาได้ด้วยอาการอย่างนั้น. ก็สำหรับวิปัสสนากัมมิกบุคคล (ผู้บำเพ็ญวิปัสนา) ปัญญามีกำลังจึงควร เพราะเขาจะถึงการแทงตลอดลักษณะได้ด้วยอาการอย่างนั้น. แต่เพราะสมาธิและปัญญาทั้งสองเสมอกัน อัปปนาจึงมีได้โดยแท้.
               ส่วนสติมีกำลังในที่ทั้งปวงจึงควร เพราะว่าสติย่อมรักษาจิตมิให้ตกไปสู่อุทธัจจะ เพราะอำนาจแห่งศรัทธา วิริยะและปัญญาเป็นฝักฝ่ายแห่งอุทธัจจะ และรักษาจิตมิให้ตกไปสู่โกสัชชะ เพราะสมาธิเป็นฝักฝ่ายแห่งโกสัชชะ. เพราะฉะนั้น สตินั้นพระโยคาวจรพึงปรารถนาในที่ทั้งปวง เหมือนการปรุงรสด้วยเกลือในกับข้าวทั้งปวง และเหมือนอำมาตย์ผู้ทำงานทั้งปวงในราชกิจทั้งปวง. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ก็สติแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นคุณธรรมจำปรารถนาในที่ทั้งปวง. เพราะเหตุไร เพราะจิตมีสติเป็นที่พึ่ง และมีสติเป็นเครื่องบำรุงรักษา เว้นจากสติแล้วการยกและการข่มจิตก็หามีไม่แล.
               การเว้นไกลจากบุคคลผู้มีปัญญาไม่ดี คือไม่มีปัญญาหยั่งลงในประเภทแห่งขันธ์เป็นต้น ชื่อว่าการเว้นจากบุคคลผู้มีปัญญาทราม. การคบบุคคลผู้ประกอบด้วยอุทยัพพยปัญญาอันกำหนดเอาซึ่งลักษณะแห่งปัญญาดี ชื่อว่าการเสพบุคคลผู้มีปัญญา. การพิจารณาประเภทแห่งธรรมอันลึกซึ้งเป็นไปในขันธ์ด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง ชื่อว่าการพิจารณาดำเนินไปด้วยญาณอันลึกซึ้ง. ความเป็นผู้มีจิตน้อมไปโอนไปเอียงไป เพื่อยังธัมมวิสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้นในอิริยาบถทั้งหลาย ชื่อว่าความน้อมจิตไปในธัมมวิจยสัมโพชฌงค์นั้น. ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดว่า ก็ภาวนาของเธออันเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้ ย่อมบริบูรณ์ด้วยอรหัตมรรค ดังนี้.

               วิริยสัมโพชฌงค์               
               วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อารัพภธาตุ นิกกมธาตุ ปรักกมธาตุ มีอยู่ การทำให้มากขึ้นซึ่งโยนิโสมนสิการในธาตุเหล่านั้น นี้เป็นอาหาร เพื่อให้วิริยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือว่าย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้นของวิริยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว" ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๑๑ ประการย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งวิริยสัมโพชฌงค์ คือ
               ๑. การพิจารณาภัยในอบาย
               ๒. ความเป็นผู้เห็นอานิสงส์ของความเพียร
               ๓. การพิจารณาวิถีเป็นที่ดำเนินไป
               ๔. การประพฤติเอื้อเฟื้อต่อบิณฑบาต
               ๕. การพิจารณาความยิ่งใหญ่แห่งความเป็นทายาท
               ๖. การพิจารณาความยิ่งใหญ่แห่งพระศาสดา
               ๗. การพิจารณาความยิ่งใหญ่แห่งชาติ
               ๘. การพิจารณาความยิ่งใหญ่แห่งสพรหมจารี
               ๙. การเว้นบุคคลผู้เกียจคร้าน
               ๑๐. การเสวนากับบุคคลผู้มีความเพียรอันเริ่มแล้ว
               ๑๑. ความน้อมจิตไปในวิริยะนั้น
               ในข้อเหล่านั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้น แม้แก่ผู้พิจารณาอยู่ซึ่งภัยในอบายอย่างนี้ว่า "ในคราวที่เสวยทุกข์ใหญ่จำเดิมแต่กรรมกรณ์ด้วยเครื่องจองจำ ๕ อย่างในนรกทั้งหลายก็ตาม ในคราวที่ถูกจับด้วยแหเครื่องซัดไปและไซเป็นต้น ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉานก็ตาม ในคราวที่เป็นสัตว์นำเกวียนไปถูกเขาทิ่มแทงด้วยเครื่องประหารมีปฏักและหนามแหลมเป็นต้นก็ตาม ในคราวที่เป็นผู้อาดูรด้วยความหิวระหายตลอดพันปีเป็นอเนกบ้าง ตลอดพุทธันดรหนึ่งบ้างก็ตาม ในคราวที่เสวยทุกข์มีลมแดดเป็นต้น ด้วยอัตภาพ มีเพียงกระดูกและหนัง มีอัตภาพสูงใหญ่ประมาณ ๑๐ ศอก ๘๐ ศอก ในพวกอสูรชื่อกาฬกัญชิกาก็ตาม ไม่อาจเพื่อให้วิริยสัมโพชฌงค์เกิดได้ ดูก่อนภิกษุ กาลนี้นั่นแหละเป็นกาลสมควรของเธอ เพื่อกระทำความเพียร" ดังนี้.
               วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่ผู้พิจารณาเห็นอานิสงส์อย่างนี้ว่า "ผู้เกียจคร้านไม่อาจเพื่อได้โลกุตรธรรม ๙ ผู้มีความเพียรอันปรารภแล้วเท่านั้นอาจเพื่อได้ นี้เป็นอานิสงส์ของความเพียร" ดังนี้.
               วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้น แม้แก่ผู้พิจารณาวิถีแห่งการดำเนินไปอย่างนี้ว่า "พระโยคาวจรนั้นพึงดำเนินไปตามทางที่พระสัมพุทธะ พระปัจเจกพุทธะและพระมหาสาวกทั้งหลายของพระพุทธเจ้าดำเนินไปแล้วนั่นแหละ เพราะทางนี้ผู้เกียจคร้านไม่อาจเพื่อดำเนินไปได้" ดังนี้.
               วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่ผู้พิจารณาความประพฤติเอื้อเฟื้อต่อบิณฑบาตอย่างนี้ว่า "ชนเหล่าใดย่อมบำรุงท่านด้วยบิณฑบาตเป็นต้น มนุษย์เหล่านั้น มิใช่ญาติมิใช่ทาสกรรมกรของท่าน ทั้งมิได้ให้บิณฑบาตเป็นต้น อันประณีตแก่ท่านด้วยการคิดว่า พวกเราอาศัยท่านเป็นอยู่ ดังนี้ ที่แท้เขาหวังซึ่งผลอันใหญ่แห่งการกระทำของตนอยู่จึงให้ แม้พระศาสดาก็ไม่ทรงอนุญาตปัจจัยทั้งหลายแก่ท่านเพราะพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า ภิกษุนี้บริโภคปัจจัยเหล่านี้แล้วจักเป็นผู้มีร่างกายแข็งแรงอยู่เป็นสุข ดังนี้ โดยที่แท้ ทรงอนุญาตปัจจัยทั้งหลายแก่ท่าน ด้วยทรงประสงค์ว่า ภิกษุนี้บริโภคปัจจัยเหล่านี้แล้วกระทำสมณธรรม แล้วจักพ้นจากวัฏฏทุกข์ ดังนี้ บัดนี้ ท่านนั้นเกียจคร้านอยู่ ไม่ประพฤติเอื้อเฟื้อต่อบิณฑบาตนั้น เพราะภิกษุผู้มีความเพียรอันเริ่มแล้วเท่านั้น ชื่อว่ามีการประพฤติเอื้อเฟื้อต่อบิณฑบาต" ดังนี้.
               ในข้อนี้ มีเรื่องพระเถระชื่อว่ามหามิตตะเป็นนิทัสสนะ.
               ได้ยินว่า พระเถระอาศัยอยู่ในถ้ำ (ที่กำบัง) ของชาวนา ก็ในบ้านเป็นที่โคจรของท่าน อุบาสิกาคนหนึ่งปฏิบัติบำรุงพระเถระเสมือนบุตร วันหนึ่งอุบาสิกานั้นเมื่อจะไปป่า จึงสั่งธิดาว่า "ลูกแม่ ข้าวสารเก่าอยู่ในที่โน้น น้ำนม เนยใส น้ำอ้อย อยู่ที่ตรงโน้น เจ้าจงหุงภัตพร้อมด้วยน้ำนมเนยใสและน้ำอ้อยถวายในเวลาที่พระผู้เป็นเจ้ามิตตะพี่ชายของเจ้ามา แล้วเจ้าจงบริโภค" ดังนี้. ธิดากล่าวว่า "ก็แม่เล่า จะบริโภคอะไร." อุบาสิกากล่าวว่า "เมื่อวานนี้ ปาริวาสิกภัต (ข้าวที่หุงสำหรับภิกษุผู้อยู่ปริวาส) เหลืออยู่ แม่จะบริโภคภัตนั้นกับน้ำผักดอง." ธิดากล่าวว่า "กลางวันแม่จะบริโภคอะไร." มารดากล่าวว่า "เจ้าจงเอาใบผักใส่เข้าไปแล้วหุงข้าวต้มมีรสเปรี้ยวด้วยข้าวปลายเกรียน (ข้าวสารแหลกๆ) แล้วตั้งไว้เถิดแม่" ดังนี้.
               พระเถระห่มจีวรนำบาตรออกมา ได้ยินเสียงนั้น จึงโอวาทตนเองว่า "ได้ยินว่า มหาอุบาสิกาจะกินปาริวาสิกภัตด้วยน้ำผักดอง แม้กลางวันก็จะกินข้าวต้มรสเปรี้ยวด้วยใบผัก แต่ว่าอุบาสิกาบอกข้าวสารเก่าเป็นต้นเพื่อประโยชน์แก่ท่าน ก็มหาอุบาสิกานั้นแล มิได้หวังนา สวน ข้าวและวัตถุ เพราะอาศัยท่านเลย แต่เขาปรารถนาอยู่ซึ่งสมบัติ ๓ (คือมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ) จึงให้ ท่านจักอาจเพื่อให้สมบัติเหล่านั้นแก่เขาหรือไม่ ก็แลบิณฑบาตนี้ ท่านยังมีราคะ โทสะ โมหะ ไม่ควรจะกิน"
               ครั้นโอวาทตนแล้ว ก็เก็บถุงบาตรปลดลูกดุม (ที่จีวร) กลับเข้าไปสู่ถ้ำชาวนานั้นแหละ แล้ววางบาตรไว้ใต้เตียง พาดจีวรไว้ที่ราวจีวรแล้วนั่งอธิษฐานความเพียรว่า "เรายังไม่บรรลุพระอรหัตแล้ว จักไม่ออกไป" ดังนี้เป็นผู้ไม่ประมาทตลอดกาลนาน เป็นภิกษุผู้มั่นคงแล้ว เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตในเวลาก่อนภัตทีเดียว เป็นพระขีณาสพผู้เบิกบานนั่งอยู่ ราวกะดอกปทุมแย้มบานอยู่ฉะนั้น.
               เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นไม้ใกล้ประตูถ้ำชาวนา เปล่งอุทานว่า
                                   ข้าแต่บุรุษผู้อาชาไนย ข้าพเจ้าขอ
                         นอบน้อมท่าน ข้าแต่บุรุษผู้สูงสุด ข้าพเจ้า
                         ขอนอบน้อมท่าน ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ผู้ใด
                         หมดอาสวะแล้ว ผู้นั้นเป็นทักขิเณยยบุคคล
                         ดังนี้.
               แล้วกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ หญิงแก่ถวายภิกษาแก่พระอรหันต์ผู้เช่นกับท่านผู้เข้าไปเพื่อบิณฑบาตจักพ้นจากทุกข์ ดังนี้. พระเถระลุกขึ้นแล้วเปิดประตูออกไปตรวจดูเวลา ทราบว่า ยังเช้าอยู่ จึงถือบาตรและจีวรเข้าไปสู่บ้าน. แม้ทาริกาเตรียมอาหารเสร็จแล้ว ก็เปิดประตูนั่งแลดูอยู่ด้วยคิดว่า "บัดนี้ พี่ชายของเราจักมา". เมื่อพระเถระมาถึงประตูบ้าน ทาริกานั้น จึงรับบาตรแล้วทำให้เต็มด้วยข้าวเจือด้วยน้ำนมปรุงด้วยเนยใสและน้ำอ้อย แล้วจึงวางไว้บนมือของพระเถระ พระเถระกระทำอนุโมทนาว่า "จงเป็นสุขเถิด" แล้วหลีกไป แม้ทาริกานั้นก็ยืนแลดูพระเถระอยู่ ในเวลานั้นผิวพรรณของพระเถระบริสุทธิ์ งามยิ่งนัก อินทรีย์ทั้งหลายผุดผ่องไพโรจน์ยิ่ง เป็นราวกะว่าผลตาลสุกที่หลุดจากขั้ว ฉะนั้น. มหาอุบาสิกากลับมาจากป่า จึงถามธิดาว่า "ลูกแม่ พี่ชายของเจ้ามาแล้วหรือ" ธิดานั้นได้บอกความเป็นไปทั้งปวงนั้น มหาอุบาสิกาทราบว่า วันนี้กิจแห่งบรรพชิตแห่งบุตรของเราถึงที่สุดแล้ว จึงกล่าวว่า "ลูกแม่ พี่ชายของเจ้าจะไม่เดือดร้อนในพระพุทธศาสนา" ดังนี้.
               วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้น แม้แก่ผู้พิจารณาความยิ่งใหญ่แห่งความเป็นทายาท (คือผู้รับมรดก) ว่า ชื่อว่ามรดกของพระศาสดา คืออริยทรัพย์นั้นยิ่งใหญ่แล มรดกนั้นอันผู้เกียจคร้านไม่อาจเพื่อได้ เหมือนอย่างว่า บิดามารดาทำบุตรผู้ปฏิบัติผิดให้มีในภายนอกว่า "ผู้นี้มิใช่บุตรของเรา" บุตรนั้นย่อมไม่ได้มรดกโดยกาลอันล่วงไปแห่งบิดามารดา ฉันใด แม้ผู้เกียจคร้านก็ฉันนั้น ย่อมไม่ได้มรดกคืออริยทรัพย์นี้ ผู้มีความเพียรอันปรารภแล้วนั่นแหละ จึงจะได้" ดังนี้.
               วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้น แม้แก่ผู้พิจารณาความยิ่งใหญ่ของพระศาสดาอย่างนี้ "ก็พระศาสดาของท่านยิ่งใหญ่ยิ่งนัก แม้หมื่นโลกธาตุก็หวั่นไหว ในเวลาที่พระศาสดาของท่านทรงถือปฏิสนธิในครรภ์พระมารดาแม้ในเวลาออกทรงผนวช แม้ในเวลาตรัสรู้ ในเวลาทรงแสดงธรรมจักร ในเวลาทำยมกปาฏิหาริย์ ในการเสด็จลงจากเทวโลก ในการปลงพระชนมายุสังขาร แม้ในการปรินิพพานเล่า หมื่นโลกธาตุก็หวั่นไหว การที่ท่านบวชในพระศาสนาของพระศาสดาเห็นปานนี้แล้วเป็นผู้เกียจคร้าน ควรแล้วหรือ" ดังนี้.
               วิริยสัมโพฌงค์ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่ผู้พิจารณาความยิ่งใหญ่แห่งชาติอย่างนี้ว่า "แม้ว่าโดยชาติ บัดนี้ท่านไม่เป็นผู้มีชาติลามก คือประสูติในราชวงศ์ของพระเจ้าโอกากราชซึ่งเป็นมาโดยมหาสมมตวงศ์ อันไม่แตกแยกกัน (ตัวท่านก็นับว่า) เป็นราชนัดดาของพระเจ้าสิริสุทโธทนมหาราชและพระมหามายาเทวี เป็นน้องของพระราหุลผู้เจริญ การที่ท่านเป็นราชบุตรเห็นปานนั้นแล้ว เป็นผู้เกียจคร้านอยู่ สมควรแล้วหรือ" ดังนี้.
               วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่ผู้พิจารณาความยิ่งใหญ่แห่งสพรหมจารี (เพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์) อย่างนี้ว่า "พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะและพระอสีติมหาสาวกทั้งหลาย แทงตลอดโลกุตธรรมได้ด้วยความเพียรเท่านั้น ตัวท่านจะดำเนินไปตามทางของสพรหมจารีเหล่านั้น หรือไม่" ดังนี้.
               เมื่อเว้นบุคคลผู้เกียจคร้าน คือสละความเพียรทางกายและทางใจ เช่นกับงูเหลือมกินแล้วก็นอนก็ดี เมื่อเสพบุคคลผู้มีความเพียรอันปรารภแล้วมีตน ส่งไปแล้วก็ดี มีจิตน้อมไป โอนไป เอียงไป เพื่อให้วิริยะเกิดขึ้นในอิริยาบถทั้งหลายมีการยืนการนั่งเป็นต้นก็ดี วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้น. ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดว่า ก็ภาวนาของเธออันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ย่อมบริบูรณ์ด้วยอรหัตมรรค ดังนี้.

               ปีติสัมโพชฌงค์               
               ปีติสัมโพชฌงค์เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งปีติสัมโพชฌงค์ มีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารเพื่อให้ปีติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือว่าย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้นของปีติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว" ดังนี้.
               ในข้อนั้น ปีตินั่นแหละ ชื่อว่าธรรมเป็นที่ตั้งแห่งปีติสัมโพชฌงค์ การทำไว้ในใจเพื่อให้ปีตินั้นเกิดขึ้น ชื่อว่าโยนิโสมนสิการ.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๑๑ ประการย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งปีติสัมโพชฌงค์ คือ
                         ๑. พุทธานุสสติ
                         ๒. ธัมมานุสสติ
                         ๓. สังฆานุสสติ
                         ๔. สีลานุสสติ
                         ๕. จาคานุสสติ
                         ๖. เทวตานุสสติ
                         ๗. อุปสมานุสสติ
                         ๘. การเว้นบุคคลผู้ (มีจิต) เศร้าหมอง
                         ๙. การคบบุคคลผู้ (มีจิต) ผ่องแผ้ว
                         ๑๐. การพิจารณาพระสูตรอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส
                         ๑๑. การน้อมจิตไปในปีตินั้น
               จริงอยู่ แม้เมื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ปีติสัมโพชฌงค์ก็จะเกิดแผ่ไปตลอดสรีระทั้งสิ้นจนถึงอุปจารสมาธิ. แม้เมื่อระลึกถึงคุณของพระธรรมและพระสงฆ์ก็เหมือนกัน. เมื่อบรรพชิตพิจารณาจตุปาริสุทธิศีล ซึ่งรักษาไว้ไม่ให้ด่างพร้อยสิ้นกาลนานก็ดี เมื่อคฤหัสถ์พิจารณาศีล ๕ ศีล ๑๐ ก็ดี ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้น เมื่อบรรพชิตพิจารณาถึงจาคะว่า เราได้ให้โภชนะอันประณีตแก่เพื่อนพรหมจรรย์ก็ดี แม้คฤหัสถ์เมื่อพิจารณาถึงทานอันถวายแล้วแก่ท่านผู้มีศีลในกาลเห็นปานนั้นก็ดี ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้น. เทวดาประกอบด้วยคุณเหล่าใดย่อมถึงความเป็นเทวดา แม้เมื่อพิจารณาซึ่งความที่คุณทั้งหลายเห็นปานนั้นมีอยู่ในตน ปีติสัมโพชฌงค์ก็เกิดขึ้น. เมื่อกิเลสอันข่มไว้ด้วยสมาบัติมีอยู่ แม้เมื่อพิจารณาว่า กิเลสทั้งหลายไม่เกิดขึ้นตลอด ๖๐ ปีบ้าง ๗๐ ปีบ้าง ดังนี้ ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้น. เมื่อเว้นบุคคลผู้มีจิตเศร้าหมอง คือมีความเศร้าหมองอันสะสมไว้แล้ว โดยไม่กระทำความเคารพในการดูพระเจดีย์ ดูต้นโพธิ์และดูพระเถระ เพราะไม่มีความเลื่อมใสเสน่หาในพระพุทธเจ้าเป็นต้น เช่นกับธุลีบนหลังลาก็ดี เมื่อเสพบุคคลผู้ผ่องแผ้ว มีจิตอ่อน มากไปด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเป็นต้นก็ดี ปีติสัมโพชฌงค์ก็เกิดขึ้นได้. เมื่อพิจารณาพระสูตรอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสอันแสดงถึงคุณของพระรัตนตรัยก็ดี เมื่อมีจิตน้อมไป โอนไป เอียงไปเพื่อให้ปีติเกิดขึ้นในอิริยาบถทั้งหลายมีการยืนและการนั่งเป็นต้นก็ดี ปีติสัมโพชฌงค์ก็เกิดขึ้น. ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดว่า ภาวนาของเธออันเกิดขึ้นแล้วด้วยอาการอย่างนี้ ย่อมบริบูรณ์ด้วยอรหัตมรรค ดังนี้.

               ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์               
               ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ มีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารเพื่อให้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือว่า ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้นของปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๗ ประการย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คือ
               ๑. การเสพโภชนะอันประณีต
               ๒. การเสพอุตุอันสบาย
               ๓. การเสพอิริยาบถอันสบาย
               ๔. การประกอบความเพียรปานกลาง
               ๕. การเว้นบุคคลผู้มีกายอันกระสับกระส่าย
               ๖. การเสพบุคคลผู้มีจิตอันสงบ
               ๗. ความน้อมจิตไปในปัสสัทธินั้น
               จริงอยู่ เมื่อบริโภคโภชนะอันเป็นสัปปายะอันประณีต อันเป็นที่ชอบใจก็ดี เสพอุตุอันเป็นสัปปายะในฤดูทั้งหลายอันหนาวและร้อน และเสพอิริยาบถอันเป็นสัปปายะในอิริยาบถทั้งหลายมีการยืนและการนั่งเป็นต้นก็ดี ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้น. แต่ว่า บุคคลใดผู้เป็นชาติแห่งมหาบุรุษ ย่อมเป็นผู้อดทนในอุตุและอิริยาบถทั้งปวงเทียว ท่านมิได้กล่าวหมายเอาบุคคลผู้เป็นมหาบุรุษชาตินั้น. ความที่บุคคลใดเป็นผู้มีสภาคะและวิสภาคะมีอยู่ เมื่อบุคคลนั้นนั่นแหละเว้นอุตุและอิริยาบถอันเป็นวิสภาคะ แล้วเสพอยู่ซึ่งสภาคะ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้น. การพิจารณากัมมัสสกตาทั้งของตนเองและของผู้อื่น ท่านเรียกว่า การประกอบความเพียรปานกลาง ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดด้วยความเพียรอันปานกลางนั้น. บุคคลใดเบียดเบียนผู้อื่นด้วยท่อนไม้เป็นต้นเที่ยวไป แม้เว้นบุคคลผู้มีกายอันกระสับกระส่ายเห็นปานนี้ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ก็เกิดขึ้น. แม้เสพบุคคลผู้มีกายอันสงบแล้ว ผู้มีมือและเท้าอันสำรวมแล้ว ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ก็ย่อมเกิดขึ้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่ผู้มีจิตน้อมไป โอนไป เอียงไป เพื่อให้ปัสสัทธิเกิดในอิริยาบถทั้งหลายมีการยืนและการนั่งเป็นต้น. ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดว่า ภาวนาของเธออันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ย่อมบริบูรณ์ด้วยอรหัตมรรค ดังนี้.

               สมาธิสัมโพชฌงค์               
               สมาธิสัมโพชฌงค์เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมถนิมิตอัพยัคคนิมิต มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในนิมิตเหล่านั้น นี้เป็นอาหารเพื่อให้สมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น หรือว่าย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้นของสมาธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนี้.
               ในข้อนั้น สมถะนั่นแหละ ชื่อว่าสมถนิมิต และชื่อว่าอัพยัคนิมิต เพราะอรรถว่าไม่ฟุ้งซ่าน.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๑๑ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสมาธิสัมโพชฌงค์ คือ
               ๑. การทำวัตถุให้สะอาด
               ๒. การปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน
               ๓. ความเป็นผู้ฉลาดในนิมิต
               ๔. ความยกจิตในสมัย
               ๕. ความข่มจิตในสมัย
               ๖. ความให้จิตร่าเริงในสมัย
               ๗. ความวางจิตเฉยในสมัย
               ๘. ความเว้นบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น
               ๙. การเสพบุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น
               ๑๐. การพิจารณาฌานวิโมกข์
               ๑๑. ความน้อมจิตไปในสมาธินั้น
               ในธรรมเหล่านั้น ข้อว่า การทำวัตถุให้สะอาด และการปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ. ความเป็นผู้ฉลาดในการเรียนกสิณนิมิต ชื่อว่าความเป็นผู้ฉลาดในนิมิต. ข้อว่า ความยกจิตในสมัยใด จิตหดหู่ด้วยความเพียรอันย่อหย่อนเกินไปเป็นต้น สมัยนั้นต้องยกจิตนั้นให้ตั้งขึ้นด้วยธัมมวิจยะ วิริยะและปีติสัมโพชฌงค์.
               ข้อว่า การข่มจิตในสมัย คือ ในสมัยใด จิตฟุ้งซ่านด้วยความปรารภความเพียรเกินไปเป็นต้น ในสมัยนั้นต้องข่มจิตนั้นให้ตั้งขึ้นด้วยปัสสัทธิ สมาธิและอุเบกขาสัมโพชฌงค์.
               ข้อว่า ความให้จิตร่าเริงในสมัย คือ ในสมัยใดไม่มีอัสสาทะ (คือไม่มีความชอบใจ) เพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาอันอ่อน หรือเพราะไม่บรรลุความสุขอันเกิดแต่ความเข้าไปสงบ สมัยนั้นต้องให้จิตสังเวชด้วยการพิจารณาสังเวควัตถุ ๘ ประการ.
               ชื่อว่า สังเวควัตถุ ๘ คือชาติ ชรา พยาธิและมรณะ รวมเป็น ๔ อปายทุกข์เป็นที่ ๕ วัฏฏมูลทุกข์ในอดีตเป็นที่ ๖ วัฏฏมูลทุกข์ในอนาคตเป็นที่ ๗ อาหารปริเยฏฐิมูลกทุกข์ในปัจจุบันเป็นที่ ๘. และยังความเลื่อมใสให้เกิดขึ้นด้วยการระลึกถึงพระรัตนตรัย นี้ท่านเรียกว่า การยังจิตให้ร่าเริงในสมัย. ชื่อว่าการวางจิตเฉยๆ ในสมัย คือ ในสมัยใด จิตไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน มีอัสสาทะ ดำเนินไปสู่สมถวิถี เป็นไปโดยชอบในอารมณ์ เพราะอาศัยการปฏิบัติโดยชอบ สมัยนั้น มิต้องขวนขวายในการยก การข่มและในการยังจิตให้ร่าเริง เปรียบเหมือนสารถีไม่ต้องขวนขวายในม้าทั้งหลายที่เป็นไปดีแล้ว ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า การวางจิตเฉยๆ ในสมัย.
               ชื่อว่า การเว้นบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น คือการเว้นไกลจากบุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่าน คือไม่บรรลุอุปจาระหรืออัปปนา. ชื่อว่า การเสพบุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น คือการเสพ การคบ การเข้าไปซ่องเสพ บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยอุปจาระหรืออัปปนา. ชื่อว่า การน้อมจิตไปในสมาธินั้น คือความเป็นผู้มีจิตน้อมไป โอนไป เอียงไป เพื่อให้สมาธิเกิดขึ้นในอิริยาบถทั้งหลายมีการยืนและการนั่งเป็นต้น. เพราะสมาธิสัมโพชฌงค์นั้นย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติอยู่อย่างนี้. ภิกษุนั้นจึงทราบชัดว่า ภาวนาของเธออันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ย่อมบริบูรณ์ได้ด้วยอรหัตมรรค ดังนี้.

               อุเปกขาสัมโพชฌงค์               
               อุเปกขาสัมโพชฌงค์เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเปกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมนั้น นี้เป็นอาหารเพื่อให้อุเปกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่ได้เกิด ให้เกิดขึ้น หรือว่าย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้นแห่งอุเปกขาสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนี้. ในข้อนั้น อุเปกขานั่นแหละ ชื่อว่าธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุเปกขาสัมโพชฌงค์.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๕ ประการ เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งอุเปกขาสัมโพชฌงค์ คือ
               ๑. ความวางเฉยในสัตว์
               ๒. ความวางเฉยในสังขาร
               ๓. ความเว้นบุคคลผู้ยึดถือสัตว์และสังขาร
               ๔. ความเสพบุคคลผู้วางเฉยในสัตว์และสังขาร
               ๕. ความน้อมจิตไปในอุเปกขานั้น
               บรรดาธรรมเหล่านั้น ความวางเฉยในสัตว์ ย่อมตั้งขึ้นด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ ด้วยการพิจารณากัมมัสกตาอย่างนี้ว่า ตัวท่านมาด้วยกรรมของตน แล้วก็จักไปด้วยกรรมของตนนั่นแหละ แม้บุคคลอื่นนั้น ก็มาด้วยกรรมของตน แล้วก็จักไปด้วยกรรมของตนเหมือนกัน ท่านรักใครกันเล่า ดังนี้ และด้วยการพิจารณานิสสัตตะอย่างนี้ว่า ว่าโดยปรมัตถ์ สัตว์ย่อมไม่มีเลย ท่านนั้นรักใครหนอ ดังนี้.
               ความวางเฉยในสังขาร ย่อมตั้งขึ้นด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ ด้วยการพิจารณาความเป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของอย่างนี้ว่า จีวรนี้เข้าถึงการเปลี่ยนแปลงไปแห่งสีโดยลำดับ และเข้าถึงความเป็นของคร่ำคร่าแล้วจะเป็นท่อนผ้าสำหรับเช็ดเท้า แล้วก็จักเป็นสิ่งที่เขาพึงเอาปลายไม้เท้าเขี่ยทิ้งไป ก็ถ้าว่าเจ้าของจีวรนั้นพึงมีไซร้ เจ้าของนั้นก็จะไม่พึงให้จีวรนั้นพินาศไปอย่างนี้ ดังนี้ และด้วยการพิจารณาโดยความเป็นของชั่วคราวอย่างนี้ว่า จีวรนี้เป็นของไม่ยั่งยืน เป็นของชั่วคราว ดังนี้. อนึ่ง ในจีวรฉันใด พึงกระทำการประกอบแม้ในบริขารทั้งหลายมีบาตรเป็นต้นฉันนั้นเถิด.
               ในข้อว่า ความเว้นบุคคลผู้ยึดถือสัตว์และสังขารนี้ อธิบายว่า บุคคลใดเป็นคฤหัสถ์ ย่อมยึดถือบุตรธิดาเป็นต้นของตนนั่นแหละว่าเป็นของเรา หรือว่าเป็นบรรพชิต ย่อมยึดถืออันเตวาสิกและอุปัชฌาย์เป็นต้นว่าเป็นของเรา บุคคลนั้นย่อมกระทำกิจทั้งหลายมีการโกนผม การเย็บจีวร การซัก การย้อม การรมบาตรเป็นต้นให้แก่ผู้นั้น เมื่อไม่เห็นชนเป็นที่รักนั้นแม้สักครู่หนึ่งก็คิดว่า สามเณรรูปโน้นไปไหน ภิกษุหนุ่มรูปโน้นไปไหน จะแลดูข้างโน้นข้างนี้ ราวกะว่าเนื้อสมันหันไปข้างโน้นข้างนี้ แลดูอยู่ (ระวังภัย) แม้ถูกผู้อื่นขอว่า ขอท่านส่งผู้นี้ไปเพื่อช่วยประโยชน์ในการตัดผมเป็นต้นสักครู่ ดังนี้ ก็ย่อมไม่ให้ด้วยกล่าวว่า พวกเรายังไม่ให้เขาทำการงานแม้ของพวกเราเพื่อตน ท่านพาเขาไปจักให้เขาลำบาก ดังนี้ นี้ชื่อว่าการยึดถือสัตว์.
               ส่วนบุคคลใดย่อมยึดถือสิ่งของทั้งหลายมีจีวร บาตร ถุงบาตรและไม้เท้าคนแก่เป็นต้นว่าเป็นของเรา บุคคลนั้นย่อมไม่ให้บุคคลอื่นแตะต้องแม้ด้วยมือ แม้เมื่อคนอื่นขอยืมชั่วคราวก็กล่าวว่า แม้เราก็ถนอมสิ่งนี้อยู่ไม่ใช้สอย เราจักให้ท่านทำไมกัน ดังนี้ นี้ชื่อว่าการยึดถือสังขาร.
               แต่ว่าบุคคลใดวางตนเป็นกลาง คือวางเฉยในวัตถุแม้ทั้งสอง (คือสัตว์และสังขาร) เหล่านั้น นี้ชื่อว่าความวางเฉยในสัตว์และสังขาร. อุเปกขาสัมโพชฌงค์นี้ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้เว้นไกลจากบุคคลผู้ยึดถือสัตว์และสังขารเห็นปานนี้บ้าง ย่อมเกิดแก่ผู้เสพบุคคลผู้วางเฉยในสัตว์และสังขารบ้าง ย่อมเกิดแก่ผู้มีจิตน้อมไป โน้มไป โอนไป เอียงไป เพื่อให้อุเบกขานั้นเกิดขึ้น ในอิริยาบถทั้งหลายมีการยืนและการนั่งเป็นต้นบ้าง ดังพรรณนามาฉะนี้. ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดว่า ภาวนาของเธออันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ย่อมบริบูรณ์ด้วยอรหัตมรรค ดังนี้.
               คำที่เหลือในที่ทั้งปวง มีอรรถตื้นทั้งนั้นแล.
               อรรถกถาโพชฌังคปัพพะ จบ.               

               ในข้อทั้งสอง (คือนีวรณบรรพและโพชฌงคบรรพ) แม้นี้ ท่านก็กล่าวว่าเป็นวิปัสสนาล้วนๆ เทียว. โดยประการที่พรรณนามา สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ย่อมได้ในจิตต่างๆ ในส่วนเบื้องต้น เพราะว่าพระโยคาวจรกำหนดกายด้วยจิตอย่างหนึ่ง ย่อมกำหนดเวทนาด้วยจิตอย่างหนึ่ง ย่อมกำหนดจิตด้วยจิตอย่างหนึ่ง ย่อมกำหนดธรรมทั้งหลายด้วยจิตอย่างหนึ่ง แต่ในขณะแห่งโลกุตตรมรรค ย่อมได้จิตอย่างเดียวกันโดยแท้.
               จริงอยู่ สติสัมปยุตด้วยวิปัสสนาของพระโยคาวจรผู้กำหนดกายมาตั้งแต่ต้น ชื่อว่ากายานุปัสสนา บุคคลผู้ประกอบด้วยสตินั้น ชื่อว่ากายานุปัสสี. สติอันสัมปยุตด้วยมรรคในขณะแห่งมรรคของพระโยคาวจร ผู้ขวนขวายวิปัสสนาแล้วบรรลุอริยมรรค ชื่อว่ากายานุปัสสนา บุคคลผู้ประกอบด้วยสตินั้น ชื่อว่ากายานุปัสสี. สติอันสัมปยุตด้วยวิปัสสนาของพระโยคาวจรผู้กำหนดเวทนา ผู้กำหนดจิต ผู้กำหนดธรรมทั้งหลายมาแล้ว ชื่อว่าเวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา. บุคคลผู้ประกอบด้วยสตินั้น ชื่อว่าเวทนานุปัสสี จิตตานุปัสสี ธัมมานุปัสสี.
               สติอันสัมปยุตด้วยมรรคในขณะแห่งมรรคของพระโยคาวจรผู้ขวนขวายวิปัสสนาแล้วบรรลุอริยมรรค ชื่อว่าเวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา. บุคคลผู้ประกอบด้วยสตินั้น ชื่อว่าเวทนานุปัสสี จิตตานุปัสสี ธัมมานุปัสสี.
               เทศนาปุคคลาธิษฐาน จบเพียงเท่านี้.               

               ก็สติอันกำหนดกาย ละวิปัลลาสในกายว่าเป็นของงาม ย่อมสำเร็จด้วยมรรค เพราะเหตุนั้น สตินั้นจึงชื่อว่ากายานุปัสสนา. สติกำหนดเวทนา ละวิปลาสในเวทนาว่าเป็นสุข ย่อมสำเร็จด้วยมรรค เพราะเหตุนั้น สตินั้นจึงชื่อว่าเวทนานุปัสสนา. สติกำหนดจิต ละวิปลาสในจิตว่าเป็นสภาพเที่ยง ย่อมสำเร็จด้วยมรรค เพราะเหตุนั้น สตินั้นจึงชื่อว่าจิตตานุปัสสนา. สติกำหนดธรรม ละวิปลาสในธรรมทั้งหลายว่าเป็นอัตตา ย่อมสำเร็จด้วยมรรค เพราะเหตุนั้น สตินั้นจึงชื่อว่าธัมมานุปัสสนา.
               ด้วยประการฉะนี้ สติอันสัมปยุตด้วยมรรคอย่างเดียวเท่านั้น ย่อมได้ชื่อ ๔ อย่าง เพราะอรรถว่ายังกิจ ๔ อย่างให้สำเร็จ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ก็ในขณะแห่งมรรค สติปัฏฐาน ๔ ย่อมได้ในจิตอย่างเดียวเท่านั้น ดังนี้.
               วรรณนาสุตตันตภาชนีย์ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ สติปัฏฐานวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 416อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 431อ่านอรรถกถา 35 / 458อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=5874&Z=6259
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=5445
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=5445
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :